การทุบอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการตัดราคาของผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์จีน ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกลับไปหาผู้ผลิตรถยนต์จีนร่วมชาติเช่นกัน จนเกิดการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ตลาดเช่นนี้ แบรนด์รถยนต์จีนที่สายป่านยาวไม่พอหรือทุนไม่มากพอ อาจจะล้มเองดังที่เกิดขึ้นแล้วกับ WM Motor ซึ่งยื่นล้มละลายไปแล้วเมื่อปี 2023
นักวิเคราะห์จาก Alixpartners ได้วิเคราะห์ว่าในอนาคตอันใกล้จะมีแบรนด์รถยนต์จีนแบรนด์อื่นอีก ที่มีจุดจบแบบเดียวกับ WM Motor พร้อมกับระบุว่าในปัจจุบัน มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนอยู่ราว 137 แบรนด์ แต่ในปี 2030 นั้น Alixpartners เชื่อมั่นว่าจะคงเหลือเพียง 19 แบรนด์เท่านั้น ที่ยังคงทำผลกำไรได้อยู่ พร้อมกับให้เหตุผลว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากสงครามราคา ที่ผู้ผลิตรถยนต์จีนเป็นผู้เริ่มเองแต่แรก
การเล่นสงครามราคานั้น บริษัทที่จะเล่นได้ต้องมียอดขายเป็นจำนวนมาก ถึงสามารถเฉือนผลกำไรในแต่ละหน่วย แล้วรอผลกำไรจากยอดขายรวมทั้งหมดอย่าง BYD ที่มีกำลังทำได้ เป็นเหตุให้แบรนด์นี้สามารถลดราคาได้แบบลดแล้วลดอีก ซึ่งนั่นยังเป็นการฆ่าคู่แข่งที่มีผลกำไรต่อหน่วย ไม่มากพอในเวลาเดียวกัน เพราะทุกครั้งที่คู่แข่งต้องตัดราคาสู้ นั่นหมายความว่ากำไรของยอดขายแต่ละหน่วย ที่จะมาต่อลมหายใจบริษัทได้ลดลงด้วย
Bloomberg ยังรายงานผลวิเคราะห์จากอีกแห่งด้วยว่า ในอนาคตอาจจะยังเหลือรถยนต์จีนแบรนด์รองอยู่บ้าง เพียงแต่ว่าต้องเปลี่ยนเทคนิคเพื่อการอยู่รอด โดยอาจเปลี่ยนไปขอส่วนแบ่งไม่มากจากตลาดแทน ส่วนแบรนด์ที่เดิมแข็งแรงอยู่แล้ว จะยิ่งแกร่งขึ้นไปอีก และมีการวิเคราะห์ด้วยว่าในปี 2030 แบรนด์รถยนต์จีนอาจคว้าส่วนแบ่งจากตลาดทั่วโลกได้สูงถึง 33%
นอกจากนั้น ยังมีการเปิดเผยอีกสถิติที่น่าตกใจเกี่ยวกับบริษัทรถยนต์จีนว่า โดยเฉลี่ยแรงงานที่ทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์ใหญ่ทั่วไป จะสามารถทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 20 ชั่วโมงต่อเดือน แต่ไม่ใช่กับแบรนด์รถยนต์จีนที่ให้พนักงานทำงานล่วงเวลาหรือ OT ได้มากกว่าถึง 7 เท่า ซึ่งคิดเป็น 140 ชั่วโมงต่อเดือน
ที่มา: carscoops