กล่าวได้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เป็นแดนสนธยาสำหรับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่น ที่คิดจะเข้าไปแย่งส่วนแบ่ง เพราะไม่ใช่แค่เรื่องกำแพงภาษีหรือข้อจำกัดมากมาย แต่ยังมีเรื่องชาตินิยมด้วย วันนี้เราจึงพาไปชมรถยนต์สัญชาติอเมริกัน 7 รุ่นที่มียอดขายใช้ได้ในประเทศอื่น แต่ไม่ใช่กับแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งแม้บางรุ่นจะติดตรารถยนต์ญี่ปุ่นแล้วก็ไม่ช่วย ส่วนจะมีรุ่นใดบ้างนั้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้


Ford Taurus

 

เดิมที Ford Taurus พัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับการมาของ Toyota และ Honda ในสหรัฐฯ ด้วยการปรับไปใช้ดีไซน์ที่พริ้วไหวขึ้น และปรับมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ก่อนที่จะส่งไปบุกตลาดญี่ปุ่นในปี 1988 โดยมีให้เลือกทั้งตัวถัง Sedan และ Wagon ทั้งยังมีตัวแรงในรหัส SHO เสียด้วย โฉมแรกได้ออกจำหน่ายจนถึงปี 1991 ก่อนที่จะมีเจนเนอเรชั่นที่สองตามมา และมียอดขายสะสมครบ 10,000 คันในปี 1996

ในปี 1996 ยังเป็นปีสุดท้ายที่มีการสั่งนำเข้า Ford Taurus ไปยังประเทศญี่ปุ่นด้วย เป็นจำนวน 10,372 คัน และมีส่งเข้าไปอีก 2 คันในปี 1997 ซึ่งเป็นยอดคงค้างจากปี 1996 ตามมาด้วยการขายของในสต็อคไปจนอำลาตลาดญี่ปุ่น สำหรับสาเหตุที่ Ford Taurus ไม่เป็นที่นิยมนั้น มีการวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะภาษีที่คำนวณตามความจุเครื่องยนต์ ประกอบกับค่าเงินเย็นตกในช่วงนั้น ส่งผลให้ค่าตัวของ Ford Taurus สูงเกินไป


Toyota Voltz

 

Toyota Voltz เป็นรถยนต์ที่พัฒนาขึ้นร่วมกับ Pontiac Vibe และยังออกจำหน่ายในสหรัฐฯ ด้วยชื่อ Toyota Matrix ด้วย สำหรับ Voltz ที่หวังเจาะตลาดญี่ปุ่นนั้น วางตำแหน่งไว้ใกล้กับ Toyota Corolla Wagon ออกจำหน่ายผ่านเครือข่าย Netz ที่มีเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ และเปิดตัวในปี 2002 ก่อนจะยุติการจำหน่ายในอีกสองปีต่อมาหรือ 2004 โดยในปีนั้นมียอดขายราว 10,000 คัน


Toyota Cavalier

 

อันที่จริง Toyota Cavalier ถือกำเนิดจาก Chevrolet แต่มีรายงานว่าสาเหตุที่ Toyota ยอมนำมาติดตราบริษัทแล้วส่งมาทำตลาดในญี่ปุ่น เป็นเพราะเงื่อนไขตกลงกับนักการเมืองในอเมริกา ที่เล็งขึ้นภาษีเหล็กในสหรัฐฯ ในปีแรกที่รถยนต์รุ่นนี้ออกขายในสหรัฐฯ ได้กวาดยอดขายไปราว 11,000 คัน ก่อนที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกวิจารณ์เรื่องคุณภาพ ไม่ใช่แค่เฉพาะกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง QC ของ Toyota เองด้วย


Ford Mustang

 

แม้เกาะหนึ่งในญี่ปุ่นจะเคยสั่งซื้อ Ford Mustang เพื่อนำไปทำเป็นรถตำรวจในยุค 70’s แต่เป็นเวลานานอยู่กว่า Ford จะกลับมาทำตลาดอย่างเป็นทางการที่แดนอาทิตย์อุทัยในยุค 90’s ซึ่งแม้ Ford Mustang จะขายได้บ้างผ่านผู้แทนจำหน่ายอิสระ แต่กับ Ford เองยอดขายก็ไม่ได้หวือหวาอะไร เพราะกำแพงภาษีและราคาเชื้อเพลิงเช่นเคย Ford เองก็ดูเหมือนจะเข้าใจ เลยเปิดตัวรุ่นพิเศษหรือเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นยอด ก่อนสุดท้ายที่ Ford ถอนตัวออกจากญี่ปุ่นในปี 2016


Ford Probe

 

Ford Probe มีต้นกำเนิดจาก Mazda ในสมัยที่ Ford ยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักอยู่ งานดีไซน์จึงค่อนข้างเอาใจอเมริกันชน ซึ่งแม้จะใช้เวลาดัดแปลงเป็นรุ่นพวงมาลัยขวานานถึง 20 เดือน ก่อนเปิดตัวในปี 1994 แต่ Ford Probe ยังไม่สามารถเอาชนะใจชาวญี่ปุ่นได้ เนื่องจากขนาดตัวถังใหญ่และความจุเครื่องยนต์สูง ประกอบการเป็นรถยนต์นำเข้า ทำให้โดนภาษีสูงตามระเบียบ ยอดขายเลยไม่ปังเหมือนในสหรัฐฯ


Chrysler Neon

 

Chrysler Neon เป็นการทดสอบของบริษัทว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หากบริษัทเลือกใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาด โดยในสหรัฐฯ Neon วางตำแหน่งไว้เจาะตลาดเริ่มต้น แต่ไม่ใช่กับรุ่นพวงมาลัยขวาที่ทำตลาดในปี 1996 – 2001 โดยเปลี่ยนเป้าหมายเป็นระดับบน อัดแน่นด้วยอุปกรณ์มาตรฐานและติดตั้งเบาะหนังมาให้ แต่นั่นยังเรียกได้ว่า ไม่ได้โดดเด่นจากคู่แข่งในตลาดมากนัก เลยไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร


Ford Explorer

 

Ford Explorer เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นในปี 1995 โดยหวังเจาะตลาดรถยนต์ในกลุ่ม SUV เบาะสามแถว ซึ่งเป็นตลาดที่มีเจ้าตลาดครองบัลลังค์อย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่แค่หนึ่งแต่มีถึงสามรุ่นทั้ง Toyota Land Cruiser, Mitsubishi Pajero และ Nissan Patrol ประกอบกับปัจจัยภาพลักษณ์แบรนด์ Ford ไม่ค่อยดีเท่าใดนักเรื่องคุณภาพในสายตาชาวญี่ปุ่น เลยไม่ประสบความสำเร็จนัก


 

สำหรับรายชื่อรถยนต์จากสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จเพียงรุ่นเดียวในลิสต์นี้คือ Dadjiban ชื่อที่ชาวญี่ปุ่นมีไว้เรียกรถตู้อเมริกันขนาดใหญ่อย่างของ Dodge หรือ Chevrolet Astro โดยอันที่จริงแล้ว จุดเริ่มต้นคือนักแข่งจักรยานยนต์มองหายานพาหนะทางเลือกไว้ขนมอเตอร์ไซต์แข่ง รถตู้ราคาไม่แรงเหล่านี้จึงถูกนำเข้ามาโดยผู้นำเข้าอิสระเพื่อมาตอบโจทย์ตรงนี้ แต่ดันกลายเป็นกระแสซะอย่างงั้น แล้วเกิดความนิยมจนกลายเป็น รายการแข่งขันรถตู้ประเภทนี้กันเลยทีเดียว

 

ที่มา: motortrend