1 มิถุนายน 2024

ระหว่างที่ผมกำลังง่วนอยู่กับการเตรียมข้อมูลก่อนไปงานเปิดตัวและกิจกรรมทดสอบรถฝูงใหม่ (ดูจากปริมาณรถแล้วใช้คำอื่นไม่ได้จริงๆ ครับ) ในบ้านเรา จู่ๆ ก็มีเสียงเรียกเข้าจากโทรศัพท์มือถือ…พี่ J!MMY นั่นเอง

ดวงตาขอผมเบิกกว้างเล็กน้อย ก่อนจะกดรับสาย พลางลุ้นว่าจะมีเหตุด่วนอะไรหรือเปล่า ? ปลายสายเริ่มกล่าวทักทายด้วยน้ำเสียงปกติ  ผมคิดในใจ… โล่งแล้ว

“พี่จะส่งคิวไปทดสอบ Hilux Revo GR Sport ใหม่ ที่ Australia แทนพี่นะ”

อ้าววว ! ไม่โล่งซะแล้ว!

ผมรีบตอบตกลงอย่างไม่ลังเล แม้ใจจะแอบกังวลเรื่องการบริหารงานทยอยเข้ามาภายใต้เวลาอันจำกัด แต่นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้ลองทดสอบรถในดินแดนที่ขึ้นชื่อว่ามีสภาพภูมิประเทศสุดโหด มีทุกสภาพอากาศให้ได้เผชิญ เรียกได้ว่ารถรุ่นไหนที่ทนความทรหดของออสเตรเลียได้ ก็ไม่มีพื้นที่ใดบนโลกใบนี้ที่น่ากลัว นอกจากนี้ ผมยังจะได้เข้าไปบุกหลังบ้านฝ่ายงานออกแบบ Hilux Revo GR Sport ใหม่ รวมถึงรถยนต์รุ่นอื่นๆ ของ Toyota ด้วย

แล้วทำไมพี่ J!MMY ไม่ไปทริปนี้เองละ?

 

เรื่องของเรื่องก็คือ ช่วงเดือน พฤษภาคม -มิถุนายน ที่ผ่านมา พี่ J!MMY เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล 2 สัปดาห์ อันที่จริงก็น่าจะหายทันการเดินทางไปทริปนี้แหละครับ แต่เมื่อ ทางทีม PR และ ฝ่าย Vehicle Testing ของ Toyota ได้เดินทางไปสำรวจเส้นทางจริงมาแล้ว เรา (อันหมายถึงทั้ง พี่ J!MMY และ ทาง Toyota) ประเมินร่วมกันว่า สภาพร่างกายพี่ J!MMY ในขณะนั้น ไม่น่าจะรับมือกับทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว รวมทั้งเส้นทางที่ค่อนข้างทุระกันดาร เอาเรื่อง เจ้าตัวก็ไม่อยากให้เกิดความเสี่ยงที่จะไปเป็นภาระกับเพื่อนร่วมทริปคนอื่นๆ ผมจึงได้รับโทรศัพท์ข้างต้น นั่นละครับ

เมื่อดำเนินการทำเรื่องขอ VISA เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย วันที่ 16 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ผมก็ลากกระเป๋าเดินทางออกจากบ้าน ไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อร่วมทริปทดสอบ Toyota Hilux Revo GR รุ่นปรับโฉม Minorchange หรือ GR Sport Wide Tread กับทาง Toyota Motor (ประเทศไทย) ที่ Australia

ขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ในชีวิตเลยว่า… เป็นทริปทดลองขับที่ใช้พลังงานสูงปรี๊ดดดดดครั้งนึงเลยละครับ !

 

เราเริ่มออกเดินทางจากประเทศไทย วันที่ 16 มิถุนายน 2024 เวลา 15.30 น. โดยสารการบิน Singapore Airline บินไปลงที่สิงคโปร์เพื่อทำการเปลี่ยนเครื่อง แล้วบินข้ามทวีปต่อไปยาวๆ จนถึงออสเตรเลีย เวลา 10.00 น. ของวันถัดมา

ในวันแรกที่เดินทางถึง ทางทีมงานของ Toyota ปล่อยให้เราพักผ่อนตามอัธยาศัยที่โรงแรม Grand Hyatt Melbourne จากนั้น วันต่อมา เราเดินทางไปยังศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ Center of Excellence ของทาง Toyota Motor Corporation Australia (TMCA) เพื่อเยี่ยมชมเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนารถของ Toyota ฝั่งออสเตรเลีย รวมถึงรับฟังบรรยายข้อมูลเชิงลึกของ Hilux Revo GR Sport Wide Tread

 

การได้เข้าไปเยี่ยมชมศูนย์ผลิตภัณฑ์ (Product Center) ซึ่งตั้งอยู่ใน Toyota Center of Excellence หรือ TMCA CoE เมือง Altona รัฐ Victoria ประเทศออสเตรเลีย ทำให้ผมได้เห็นเบื้องหลังการออกแบบภายนอกของ Hilux Revo GR Sport Wide Tread การขึ้นรูปด้วยดินเหนียว หรือ Clay Model ยังคงเป็นวิธีการมาตรฐานอุตสาหกรรมในการพัฒนาและปรับปรุงการออกแบบของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ผสานกับการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ การสแกน และขึ้นรูปชิ้นส่วนแม่แบบด้วยเครื่อง CNC มูลค่าหลายล้านเหรียญ Australia

นอกเหนือจากโมเดลดินเหนียวของ Hilux Revo GR Sport แล้ว ที่ศูนย์ผลิตภัณฑ์แห่งนี้ ยังมีการจัดแสดงรถยนต์หลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Toyota Hilux TRD Concept รถยนต์ต้นแบบที่เคยนำมาโชว์ตัวที่งาน Thailand International Motor Expo 2015 ในฐานะร่างจำแลงของ Hilux Revo TRD เวอร์ชั่นจำหน่ายจริง ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเรา ช่วงเดือน มีนาคม 2016 รวมถึง Toyota Hilux Tonka Concept กระบะต้นแบบที่ได้แรงบันดาลใจ มาจากรถตักทรายเด็กเล่นชื่อดัง เป็นการนำรถกระบะ Toyota Hilux รุ่น SR5 ตัวถัง Double Cab มาดัดแปลงโดยภายนอกกลับเฉดสีเป็นสีเหลือง Sun Fusion ตัดด้วยสีดำทั้งคัน เปลี่ยนกันชนหน้า-หลังใหม่ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สำหรับลุยทาง Off-road เต็มระบบ

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมี Toyota Publica ปี 1963 (บ้านเราเรียกว่า Toyota 800) มาจอดโชว์ในฐานะรถยนต์ Toyota รุ่นแรกที่ถูกประกอบขึ้นในออสเตรเลีย จัดแสดงเคียงบ่าเคียงใหล่กับ Toyota Camry Atara SX รถยนต์คันสุดท้ายที่ออกจากสายพานการผลิตของโรงงาน TMCA เมื่อวันที่ ตุลาคม 2017 ได้รับการการตกแต่งด้วยสติ๊กเกอร์ลายพิเศษ พร้อมโลโก้ Unique Commemorative Edition เป็น Camry โฉมเดียวกันที่เคยนำเข้ามาจำหน่ายบ้านเราในชื่อ Camry ESPORT เมื่อช่วงเดือน มิถุนายน 2015 นั่นล่ะครับ

 

หลังภารกิจการเข้าชมสำนักงาน Toyota R&D ณ เมือง Altona เสร็จสิ้นลง เช้าวันรุ่งขึ้นเราเริ่มออกเดินทางจาก Melbourne ในช่วงเช้าตรู่ เพื่อขึ้นเครื่องบินเล็กของสายการบิน Qantas จากสนามบิน Melbourne ไปยัง Port Augusta ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐ South Australia จากนั้นจึงเริ่มขับ Hilux GR Sport เวอร์ชั่นออสเตรเลีย ไปยังอุทยานแห่งชาติ Ikara – Flinder Ranges อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางทดสอบทั้งบน Off-road สุดท้าทายของทริปนี้

การลองขับวันแรก เป็นทาง On-road ปกติ และ Off-road ทางฝุ่นและทางลุยแบบเบสิค แม้จะเส้นทางไม่ยาก แต่ด้วยระยะทางค่อนข้างไกล ประมาณ 250 กิโลเมตร ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าประมาณหนึ่ง เพื่อให้สัมผัสถึงสมรรถนะของตัวรถได้ดีขึ้นและพัฒนาการของ Hilux GR Sport วันที่ 2 ของการทดลองขับ ทาง Toyota และ Havas (ทีมเอเจนซี่ทางฝั่งออสเตรเลีย) จึงจัดสถานีให้ได้ทดสอบกันอย่างเต็มที่ และในวันที่ 3 ของการทดลองขับ เรายังคงใช้ชีวิตอยู่หลังพวงมาลัยต่อเพื่อขับบนทาง On-road อีกราวๆ 300 กิโลเมตร ไปร้านอาหาร Watervale ก่อนจะนั่งรถบัสไปที่เมือง Adelaid อีกประมาณ 130 กิโลเมตร จากนั้นช่วงเช้ามืดของวันสุดท้าย ก็นั่งเที่ยวบินขากลับซึ่งต้องมีการ Transit ที่สิงคโปร์อีกครั้ง ก่อนถึงเมืองไทยประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 22 มิถุนายน

สำหรับคนทั่วไป ตารางกิจกรรมและการทดสอบเช่นนี้ไม่ถือว่าโหดเกินจะรับมือ แต่สำหรับตัวผมที่โดนไข้หวัดโจมตีตั้งแต่ช่วงกลางทริปจนกระทั่งจบทริป จึงต้องใช้พลังงานเยอะพอสมควร ต้องขอขอบคุณทางทีม Toyota รวมถึงพี่ๆ นักข่าวท่านอื่นที่ให้การดูแลช่วยเหลือเป็นอย่างดี

แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังต้องวิจารณ์ Hilux Revo GR Sport Wide Tread ในบทความนี้ อย่างตรงไปตรงมาเช่นเคย ไม่มีการอวยใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อคุณผู้อ่านที่ต้องการศึกษาข้อมูล รวมถึงเป็นข้อแนะนำให้กับทีม Toyota ในการพัฒนาปรับปรุง Hilux รุ่นต่อไป

 

Toyota Hilux Revo GR Sport Wide Tread ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการพัฒนา Hilux Revo GR Sport Wide Tread ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 เวลานั้นทาง Toyota ออสเตรเลีย เริ่มมีการวางแผนที่จะพัฒนาต่อยอดรถรุ่นใหม่ จึงได้มองหาแรงบันดาลใจจากรถแข่ง GR Hilux ซึ่งสามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันหลายรายการ นับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ นักออกแบบและวิศวกรของ Toyota ออสเตรเลีย จึงพัฒนารถกระบะ Hilux ที่มีคุณสมบัติด้านสมรรถนะการขับขี่ที่สามารถขับลุยได้ในทุกเส้นทางแบบเดียวกับรถแข่ง GR Hilux คันดังกล่าว

แนวคิดในการออกแบบ Hilux GR Sport รุ่นปรับโฉม Minorchange คือการพัฒนารถกระบะ Hilux ให้มีสมรรถนะสูงขึ้นไปอีกขั้น นอกจากจะขับขี่ด้วยความเร็วสูงบนเส้นทาง Off-road ได้อย่างดีแล้ว รถคันนี้จะต้องต้องตอบโจทย์การขับขี่บนถนนทั่วไปโดยให้สมรรถนะการขับขี่ที่เร้าใจบนทาง On-road ด้วยเช่นกัน 

การออกแบบภายนอกของ Hilux GR Sport ใหม่ ได้รับการพัฒนาโดยทีมงานออกแบบของ Toyota ที่เมือง Altona ประเทศออสเตรเลีย อาศัยทำงานร่วมกับทีมวิศวกรรมตัวถังของ Toyota Motor Asia (Thailand) ด้านภายในห้องโดยสาร ทีมงานฝั่ง Toyota Motor Asia (Thailand) จะรับหน้าที่เป็นผู้นำด้านการออกแบบ ขณะที่การพัฒนาระบบช่วงล่างและระบบส่งกำลังนั้นมีการออกแบบ วางโครงสร้าง และทดสอบโดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทีมงาน Toyota ในประเทศ Argentina และ Toyota Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น 

ปี 2021 เป็นช่วงเวลาที่ Toyota Hilux GR Sport ใหม่ คลอดออกมาเป็น รถต้นแบบ Prototype เพื่อนำไปทดสอบและประเมิณผล ทีมวิศวกร Toyota ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการวิ่งทดสอบในเนินทรายรอบๆ เมือง Robe รัฐ South Australia พื้นที่ทะเลทรายรอบๆ เมือง Mildura และที่ราบสูงของ Victoria อีกทั้งยังมีการทดสอบที่ระดับความสูงมากในประเทศ Argentina

เมื่อการทดสอบในขั้นสุดท้ายเสร็จสิ้น Hilux GR Sport จึงถูกเปิดผ้าคลุมเผยออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2023 สเมือนเป็นการตอบคำถามของใครหลายคนโดยเฉพาะแฟนตัวยงของ Hilux ที่อยากรู้ว่า Toyota จะสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับรถกระบะที่กำลังอยู่ในช่วงปลายอายุตลาดอย่างไร…

แม้ในจุดเริ่มต้น รถรุ่นนี้จะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเอาใจสิงห์กระบะชาวออสซี่เป็นหลัก แต่หลังจากที่โปรเจคนี้ถูกเสนอต่อคุณ​Konichi หัวหน้าวิศวกรของ Hilux รุ่นปัจจุบัน ผ่านเทคโนโลยี Virtual Reality เขารู้สึกประทับใจมากถึงขั้นสนับสนุนให้มีการพัฒนารถรุ่นนี้เพื่อขายในตลาดอื่นๆ นอกเหนือจาก Australia ด้วย 

จึงเป็นที่มาของการที่เราได้เห็น Hilux GR Sport ใหม่ พรางตัววิ่งทดสอบบนสภาพถนนและสภาพอากาศเมืองไทยช่วงปลายปี 2023 (ย้อนกลับไปอ่านได้ที่นี่ Click Here) ก่อนจะมีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ Toyota ALIVE บางนา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2024 เป็นการเผยโฉมพร้อมกันกับบรรดา Hilux Revo รุ่นปรับโฉม Minochange 2024 หรือรุ่น EURO 5

นับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบัน Hilux Revo GR Sport Wide Tread มียอดจองสะสมในประเทศไทยอยู่ที่ 1,550 คัน นับเป็นตัวเลขที่เกินความคาดหมายของ Toyota ไปพอสมควร เพราะ Tarket Booking ในช่วงแรก (4 เดือน) มีการตั้งเป้ากันเอาไว้ที่ 600 คัน เท่านั้น

ถึงจุดนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า วิธีคิดหรือแนวทางการออกแบบภายนอกของ Hilux Revo GR Sport Wide Tread ให้แตกด่างและดุดันยิ่งขึ้นกว่าเดิม จะเป็นอย่างไร… เดี๋ยวผมมาเขียนให้อ่านในบทความหน้า เอ้ย ! พารากราฟหน้าครับ

 

งานออกแบบ และความแตกต่าง จากรุ่นเดิม
Design & the different from previous models

Hilux Revo GR Sport Wide Tread มีแนวคิดการในออกแบบคือ “High-speed Off-road, Sporty On-road” เพื่อยกระดับการขับขี่ทั้งในทางเรียบและทางฝุ่น ก่อนจะมาเป็นดีไซน์ที่เราเห็นกันอยู่ ทีมนักออกแบบ ณ Center of Excellence ได้ร่างภาพสเก็ตช์เบื้องต้น (Initial Ideation) ออกมาทั้งหมด 6 แบบ โดยแบบที่ถูกเลือกนั้นมีชื่อว่า “Dune Soarer” แปลเป็นไปตรงๆ ว่า โลดโผนโจนทะยานบนเนินทราย ได้รับแรงบันดาลใจจากรถแข่ง GR Hilux ที่คว้าชัยในสนามแข่งขันรถยนต์ทางฝุ่น Dakar Rally

ดีไซน์แบบ Dune Soarer ถูกนำมาปรับแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างไอเดียในอุดมคติและหลักวิศวกรรม กรอบกระจังหน้าออกแบบเป็นรูปตัว G อักษรตัวแรกของแบรนด์ Gazoo เสริมด้วยสัญลักษณ์ T O Y O T A บริเวณกึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยชุดไฟหน้า Full-LED แบบรมดำ ทำให้ดูเป็นชิ้นเดียวกัน และทำให้ด้านหน้ารถดูกว้างขึ้น ถัดลงมาที่เปลือกกันชน มีการออกแบบกรอบไฟตัดหมอกให้เป็นชิ้นเดียวคิ้วซุ้มล้อสีดำที่ถูกขยายออก เพิ่มช่องรีดอากาศ (Air Cirtain) เพื่อลดแรงลมปะทะด้านหน้าจากพื้นที่หน้าตัดรถที่กว้างขึ้น

เกิดเป็น Toyota ต้องอดทน จิงโจ้ชนต้องไม่ตุย !  (ตุย เป็น คำสแลงของเด็กรุ่นใหม่ มาจากคำว่า ตาย)

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของดีไซน์ชายขอบล่างกันชนหน้าออกแบบที่ออกแบบให้มีความลาดเอียงเพื่อเพิ่มองศามุมไต่ (Approach Angle) ล้อไปกับองศาของแผ่นกันกระแทกใต้ห้องเครื่องส่วนหน้า ในเวอร์ชั่นออสเตรเลียจะเป็นวัสดุอะลูมิเนียมอัลลอย ความหนา 4 มิลลิเมตร ส่วนเวอร์ชั่นไทยจะเป็นโลหะพ่นทับด้วยสีดำให้ดูกลืนไปกับช่วงล่าง และขยายคลุมไปถึงช่วงแขนแร็คพวงมาลัย

 

ด้านข้างตัวรถมีการติดตั้งคิ้วซุ้มล้อสีดำยื่นออกมาชัดเจน ในแง่ของความสวยงามมันยังไม่ดูสมส่วนและเป็นหนึ่งเดียวกับรถทั้งคันเหมือน Ranger Raptor ที่ใช้ Fender ตีโป่งกว่าเป็นพิเศษเฉพาะรุ่น สำหรับ Hilux Revo GR Sport Wide Tread เวอร์ชั่นไทยจะมาพร้อมสปอร์ตบาร์ทรงหูช้างที่ช่วยส่งกระแสลมหมุนวนหลังตัวรถให้ออกไปไกลมากที่สุด ส่วน Hilux GR Sport เวอร์ชั่นออสเตรเลียจะไม่มีการติดตั้งบาร์นี้มาให้จากโรงงาน เพื่อให้ลูกค้าชาวออสซี่ไปติดตั้งเองทีหลังตามความเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคน เช่นเดียวกับบันไดข้าง เวอร์ชั่นไทยจะยกชุดมาจาก Revo รุ่นยกสูงปกติ ส่วนเวอร์ชั่นออสเตรเลียจะอัพเกรดมาใช้บันไดเหล็กหนา 2 มิลลิเมตร ทนต่อการเบียดกระแทก บันไดทั้ง 2 แบบ ไม่ได้ยื่นออกมาด้านข้างตัวรถมากนัก หลังขับลุยหนักๆ จึงมักมีคราบโคลนติดอยู่บริเวณประตูมากกว่า Hilux Revo รุ่นปกติทั่วไป

บั้นท้ายมีการติดตั้งกันชนสีดำแบบเดียวกันรุ่นเดิม แต่เสริมด้วยคานเหล็กป้องกันการกระแทกบริเวณด้านหลัง ไม่มีขอลากจูงที่ทำจากเหล็กหนา 20 มิลลิเมตร รองรับการน้ำหนัก 8,000 กิโลกรัม เหมือนเวอร์ชั่นออสเตรเลีย บริเวณฝาท้ายกระบะไม่ได้มีอะไรบ่งบอกความเป็น GR Sport มากไปกว่าโลโก้เล็กๆ บริเวณมุมฝั่งขวา ทำให้ดูโล่งๆ คลีนๆ ผมมองว่าทีมออกแบบของ Toyota คิดถูกที่ไม่แปะสติ๊กเกอร์สีดำ – แดงมาให้รกหูรกตาเหมือนรุ่นที่แล้ว

ส่วนยางติดรถนั้น คราวนี้ Toyota ใจป้ำ สวมยาง BF Goodrich All Terrain KO2 ขนาด 265/65 R17  ซึ่งเป็นยางรุ่นเดียวกับ Ford Ranger Raptor มาให้ จากโรงงาน พูดกันตามตรง KO2 เป็นยาง All Terrain ที่ดีอันดับต้นๆ ของตลาด ทั้งความมั่นใจการยึดเกาะถนนบนทางราดยางมะตอย และความยืดหยุ่นนุ่มนวลขณะขับขี่ไปบนเส้นทาง Off-Road

นอกเหนือจากสีตัวถังภายนอกสีขาว Platinum White Pearl ที่เห็นอยู่ในบทความนี้แล้ว Hilux Revo GR Sport Wide Tread ยังมีสีให้เลือกอีก 2 สี ได้แก่ สีแดง Emotional Red และสีดำ Attitude Black ให้เลือกด้วยเช่นกัน

 

ขนาดตัวรถ / Dimension

Hilux Revo GR Sport Wide Tread มีมิตัวถังภายนอกยาว 5,320 มิลลิเมตร กว้าง 2,020 มิลลิเมตร สูง 1,880 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ (Wheelbase) ยาว 3,085 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Front Tread) 1,675 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Tread) 1,705 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดใต้ท้องรถ (Ground Clearance) หากวัดที่เฟรมแชสซีส์จะอยู่ที่ 254 มิลลิเมตร แต่เมื่อวัดที่จุดต่ำสุดของเพลาขับหลังจะเท่ากับรุ่นก่อนหน้าที่ 217 มิลลิเมตร นำ้หนักตัวรถ อ้างอิงจาก EcoSticker อยู่ที่ 2,135 กิโลกรัม

เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม จะพบว่า Hilux Revo GR Sport Wide Tread สั้นลง 5 มิลลิเมตร แต่กว้างขึ้น 120 มิลลิเมตร สูงขึ้น 15 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้าเพิ่มขึ้น 140 มิลลิเมตร และความความช่วงล้อหลังเพิ่มขึ้น 155 มิลลิเมตร

หากนำไปเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม Wide Tread Pick-up อย่าง Ford Ranger Raptor จะพบว่า Hilux Revo GR Sport สั้นกว่า 40 มิลลิเมตร แคบกว่า 8 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 46 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 185 มิลลิเมตร แม้ตัวเลขจะต่างกันไม่มากอย่างที่คิด แต่เวลาจอดเทียบข้างกัน Ranger Raptor จะดูล่ำบึ๊กกว่าพอสมควร เนื่องจากเปลือกตัวถังภายนอกบริเวณแก้มข้างมันถูกตีโป่งออกมาให้กว้างขึ้น ต่างจาก Hilux Revo GR Sport ที่มีตัวเลขมิติกว้างขึ้นจากคิ้วซุ้มล้อเพียงอย่างเดียว

 

ภายในห้องโดยสาร / Interior

กุญแจรีโมทเป็นแบบเดียวกันกับรถ Toyota หลายรุ่นในยุคปัจจุบัน ด้านหลังมีโลโก้ GR ประดับอยู่เพื่อสร้างความแตกต่างจากรุ่นปกติ แต่ถ้าหากบ้านของคุณ เป็นสาวกค่ายสามห่วงทั้งครอบครัว ก็ยังมีโอกาสที่คุณจะหยิบกุญแจสลับกับรถ Toyota คันอื่นๆ ได้แน่ๆ

ระบบกุญแจเป็นแบบ Keyless System มีกุญแจ Wave Key ฝังมาให้ไขเปิดประตูในยามฉุกเฉิน การใช้งานปกติสามารถพกรีโมทไว้กับตัว เมื่อเดินเข้าใกล้รถสามารถสั่งล็อกหรือปลดล็อกประตูได้ทันทีด้วยการกดปุ่มที่อยู่ด้านข้างมือจับที่บานประตูคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง หรือจะสั่งล็อก – ปลดล็อกด้วยการกดปุ่มที่รีโมทได้ด้วยเช่นกัน

 

การปีนเข้า – ออก จาก ช่องประตูคู่หน้า ยังไม่แตกต่างจากเดิม ยังคงมีขนาดเท่าเดิม แม้จะไม่ใหญ่โตนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเข้า – ออก ภายในห้องโดยสารของรถกระบะยกสูง เกิดความยากเย็นเท่าไรนัก เพียงแค่เอื้อมมือไปจับมือจับ ที่ติดตั้งมาให้บริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ครบทั้ง 4 ตำแหน่ง แล้วก้าวเท้าขึ้นไปเหยียบบันไดพลาสติกสีดำกัดลายที่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ข้ามธรณีประตูที่เกือบจะเรียบไปกับพื้นห้องโดยสาร ก็สามารถหย่อนก้นลงไปนั่งบนเบาะนั่งทุกตำแหน่งได้อย่างง่ายดาย

แผงประตูด้านข้าง ออกแบบมาเหมือน Hilux Revo รุ่นปกติ แต่เพิ่มการบุหนังสังเคราะห์สีดำ เปลี่ยนแถบประดับ Trim พลาสติกตกแต่ง มาเป็น สีดำ Metallic และ สีเทา Smoke Silver ขลิบด้วยด้าย มือจับเปิดประตูด้านใน เป็นพลาสติกชุบโครเมียม มีพนักวางแขนติดตั้งอยู่ในระดับเหมาะสมดีแล้ว แถมยังหุ้มหนังสังเคราะห์ สีดำ ในบริเวณดังกล่าว เพื่อความสบายในการวางท่อนแขนมากยิ่งขึ้น ด้านล่าง มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ และช่องใส่เอกสารมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ใช้งานได้อเนกประสงค์ ดีกว่าคู่แข่งหลายคันในตลาด

 

เบาะนั่งยังคงมีโครงสร้างหลักและการออกแบบจุดต่างๆ เหมือนรุ่นเดิมทุกตำแหน่ง เบาะนั่งฝั่งคนขับมาพร้อมสวิตช์ปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง ทั้งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับองศาความตั้งชันของพนักพิงหลัง ปรับความสูง – ต่ำ ของเบาะรองนั่ง และปรับมุมเงยเบาะรองนั่ง แต่ยังไม่มีปรับดันหลัง (Lumbar Support) มาให้ ส่วนเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า ยังคงเป็นก้านคันโยกแบบธรรมดาอยู่ แต่สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอน – ตั้งพนักพิงหลังได้ตามปกติ

พนักพิงหลัง ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแอ่งเว้าลึกลงไป โดยเฉพาะช่วงกลางแผ่นหลัง ถ้านั่งรอสัญญาณไฟแดงแยกแครายช่วงเวลาเร่งด่วน อาจจะยังพอรับได้ แต่ถ้านั่งขับทางไกลเป็นเวลานาน ทำเอาปวดหลังอยู่บ้างเหมือนกัน ส่วนปีกเบาะด้านข้างโอบกระชับลำตัวของคนไซส์กลางแบบผมได้กำลังดี ความนุ่มของฟองน้ำอยู่ในระดับกลางๆ

ขณะเดียวกัน เบาะรองคู่หน้า มีขนาดกำลังดี ไม่ยาว แต่ก็ไม่สั้นจนเกินไป มุมเงยของเบาะรองนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า แม้จะปรับไม่ได้ แต่องศาปกติถือว่าทำมาค่อนข้างเหมาะสมแล้ว

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioner & Load Limiter ปรับระดับสูง – ต่ำได้ ที่บริเวณมือจับ ซึ่งติดตั้งอยู่ตรงเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar เปลี่ยนสายเข็มขัดจากสีดำ เป็นสีแดง เพื่อเพิ่มบุคลิก Sport ให้กับตัวรถ

 

การลุกเข้า – ออกจากเบาะหลัง ยังคงทำได้ดีตามเดิม เหตุผลเพราะ Toyota ยังคงติดตั้งมือจับบริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการโหน ยกตัวคุณขึ้นไปนั่งบนรถ หรือประคองค้ำยันร่าง ตอนลงจากรถ เป็นเรื่องน่ายินดีว่า แม้จะเริ่มเข้าใกล้ปลายอายุตลาดของ Hilux Revo แล้ว แต่ Toyota ยังไม่ถอดมือจับคู่นี้ออกไปเพื่อลดต้นทุน

รายละเอียดการตกแต่งแผงประตูคู่หลัง ยังคงเหมือนรุ่นเดิม กระจกหน้าต่างด้านหลัง ยังคง เลื่อนลงมาได้จนสุดขอบราง พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง ออกแบบสอดคล้องกับแผงประตูคู่หน้า ด้วยวัสดุบุนุ่มหุ้มหนังสังเคราะห์ แบบเดียวกัน สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีตั้งแต่ข้อศอกเช่นเดียวกัน ด้านล่าง มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ มาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง

 

เบาะนั่งด้านหลัง หุ้มด้วยวัสดุ ที่แทบไม่แตกต่างจาก Hilux Revo GR Sport รุ่นก่อนเลย พนักพิงหลัง ตั้งชันประมาณหนึ่ง มีมุมเอนอยู่บ้างเล็กน้อย เท่ารุ่นเดิม มีมุมเอียงใกล้เคียงเบาะหลังของ Ford Ranger Raptor แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการออกแบบ จากลักษณะของหัวเก๋งด้านหลังสุด ทำให้ไม่สามารถปรับมุมเอนของพนักพิงหลังได้มากกว่าที่เห็นอยู่นี้แล้ว ถ้านั่งเดินทางไกล ถือว่า พอจะสบายอยู่บ้าง

ด้านบนของพนักพิง ซัพพอร์ตช่วงหัวไหล่ผู้โดยสารได้ดี แม้ว่าช่วงกลางจะบุ๋มลงไปสักหน่อย ส่วนช่วงเอว ถือว่า ยังรองรับได้ดีอยู่ประมาณหนึ่ง และการได้ผ้า Suede มาใช้ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความสบาย ให้กับแผ่นหลังมากขึ้นอีกนิดหน่อย

พนักศีรษะ มีฟองน้ำเสริมข้างในเป็นแบบนิ่มกลางๆ แน่นนิดๆ ไม่ดันกบาล แต่มีขนาดใหญ่ อาจจะบดบังทัศนวิสัยขณะถอยหลังเข้าจอดได้บ้าง ส่วนพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง สามารถวางแขนได้เกือบพอดี ตั้งแต่ข้อศอกลงไป

เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น ตามสไตล์ของรถกระบะ 4 ประตูทั่วไป แต่ตัวเบาะ ออกแบบให้มีหลุมสำหรับหย่อนก้นลงไปได้สบายๆ ฟองน้ำเป็นแบบนุ่มแน่น นั่งแล้ว ไม่ถึงขั้นต้องชันขามากนัก ถือว่า เบาะรองนั่งด้านหลัง ดีงามมากเป็นอันดับต้นๆของบรรดารถกระบะ 4 ประตูในตลาดบ้านเรา

เบาะรองนั่ง ยังคงสามารถแบ่งฝั่ง ซ้าย – ขวา แยกกัน ในอัตราส่วน 60 : 40 ยกขึ้นมา โดยใช้ขอเกี่ยวดั้งไว้กับเสาพนักศีรษะ เพื่อเพิ่มพื้นที่วางสิ่งของทรงสูง ในยามจำเป็น เช่นต้นไม้พร้อมกระถาง หรือข้าวของที่ต้องวางพาดในแนวทะแยงตั้ง ได้อีกด้วย เหมือนเบาะ Ultra Seat ของ Honda Jazz นั่นเอง อีกทั้งใต้เบาะ ยังมีช่องเก็บเครื่องมือประจำรถพร้อมฝาปิดพลาสติกบุทับด้วยพรมปูพื้นรถอีกชั้นหนึ่ง

พื้นที่เหนือศีรษะ (Headroom) สำหรับคนตัวสูงไม่เกิน 180 เซ็นติเมตร ยังคงถือว่า สบายมากๆ แต่ถ้าสูงเกินกว่านี้ หากท่อนขายาวกว่าช่วงลำตัว ก็จะนั่งสบาย หัวไม่ติด อาจต้องชันขาเพิ่มนิดนึง แต่ถ้าช่วงลำตัวยาวกว่าท่อนขา ก็อาจเหลือพื้นที่ว่างเหนือศีรษะลดลง ส่วนพื้นที่วางขา (Legroom) ก็ยังคงเหมือนรถรุ่นเดิม

เข็มขัดนิรภัยด้านหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง ปรับระดับสูง – ต่ำไม่ได้ เปลี่ยนสายเข็มขัดเป็นสีแดง เช่นเดียวกับด้านหน้า ส่วนด้านบน มีขอเกี่ยวยึดสัมภาระ รวมทั้งมี จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ครบทั้งฝั่งซ้ายและขวา ส่วนมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) นั้น ให้มาครบ 4 ตำแหน่ง

 

กระบะท้ายมีมิติเท่ากันกับ Hilux Revo ตัวถัง Doublecab รุ่นปกติ มีความยาว 1,555 มิลลิเมตร กว้าง 1,540 มิลลิเมตร และลึก 480 มิลลิเมตร ด้านในกระบะมีขอยึดแบบพับเก็บได้ 2 ตำแหน่ง บานฝาท้ายยังคงติดตั้งคานช่วยผ่อนแรงและมีกลอนล็อกฝาท้ายมาให้เช่นเคย

มิติกระบะท้ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง มีดังนี้ (ยาว x กว้าง x ลึก

  • Toyota Hilux Revo : 1,555 x 1,540 x 480 มิลลิเมตร
  • Isuzu D-Max : 1,495 x 1,530 x 490 มิลลิเมตร
  • Ford Ranger : 1,549 x 1,560 x 511 มิลลิเมตร
  • Mazda BT-50 Pro : 1,549 x 1,560 x 513 มิลลิเมตร
  • Mitsubishi Triton : 1,520 x 1,470 x 475 มิลลิเมตร
  • Nissan Navara : 1,560 x 1,503 x 474 มิลลิเมตร
  • MG Extender : 1,485 x 1,510 x 530 มิลลิเมตร

 

แผงหน้าปัดด้านหน้าได้รับการเปลี่ยนวัสดุตกแต่งเป็นลาย Hydrograph คล้ายลายเคฟลา เสริมด้วยวัสดุสีดำ Gloss Black บริเวณโดยรอบหน้าจอกลางและกรอบช่องแอร์ด้านข้าง โทนสีการตกแต่งยังคงเป็นธีมดำ – แดง แต่มีการสลับกันเล็กน้อย ฝีเข็มตามจุดต่างๆ เช่น พวงมาลัย และเบาะนั่ง เปลี่ยนจากด้ายสีแดงเป็นด้ายสีเทา ส่วนสายเข็มขัดเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีแดง

โดยรวมภายในห้องโดยสารยังมีบรรยากาศเดิมๆ ของ Hilux Revo รุ่นปัจจุบันอยู่เต็มพิกัด แม้ดีไซน์ของแผงหน้าปัดจะดูเริ่มเชยเมื่อเทียบกับรถรุ่นใหม่ๆ ทว่าในแง่ของการใช้งานไม่ค่อยมีเรื่องให้ติ การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ถือว่าทำออกมาเน้นการใช้งานที่สะดวกสบายเป็นหลัก มีช่องเก็บของและช่องวางแก้วน้ำมาให้จุใจในแบบที่คนชอบสะสมพระเครื่อง (ในรถ) หรือคอกาแฟ ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่อย่างใจต้องการ

 

ชุดมาตรวัดยกมาจาก GR Sport รุ่นเดิม เป็นแบบอนาล็อก เรืองแสงสีขาวตัดกับเข็มสีแดง พร้อมพื้นหลังกราฟฟิคลายตาข่าย วงกลมฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว และปริมาณน้ำมันคงเหลือในถัง ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดความเร็วรอบเครื่องยนต์ และอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น

ตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-information Display) แบบสี TFT ขนาด 4.2 นิ้ว มีฟังก์ชันการแสดงผลเหมือนรุ่นเดิม เพิ่มเติมคือหน้าจอแสดงผลการสะสมของเขม่าไอเสียในระบบ Diesel Particulate Filter (DPF) โดยรวมยังคงเป็นชุดมาตรวัดที่อ่านค่าต่างๆ ได้ง่ายดาย ชัดเจน แต่อาจไม่ดูทันสมัยเมื่อเทียบกับหน้าจอของรถยุคใหม่ๆ 

 

ชุดเครื่องเสียงแบบ หน้าจอ TouchScreen ถูก Upgrade เป็นเวอร์ชั่นใหม่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เป็น 10.25 นิ้ว ภาพกราฟฟิคต่างๆ เปลี่ยนไปจากหน้าจอของรุ่นเดิม และไม่เหมือนกับรถรุ่นอื่นๆ ของ Toyota แอบคล้ายหน้าจอ Android อยู่พอสมควร การสั่งงานใช้การสัมผัส 100% ไม่มีปุ่มกด Shortcut หรือสวิตช์หมุนปรับเสียง จูนคลื่นวิทยุ แม้แต่ชิ้นเดียว ทำให้การปรับเลือกเมนูต่างๆ ทำให้ยากขึ้นเล็กน้อย แลกกับการแสดงผลที่คมชัดขึ้น ระบบสัมผัสตอบสนองไวติดมือกว่าเดิม

ฟังก์ชั่นยอดนิยมมีมาให้ไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งวิทยุ AM/FM ระบบเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth ระบบเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน Apple CarPlay และ Android Auto แบบไม่ต้องเสียบสาย ชุดเครื่องเสียง เป็นลำโพง + Tweeter รวม 6 ตำแหน่ง แต่น่าเสียดายว่า ยังไม่ได้อัพเกรดขึ้นไปใช้ชุดลำโพงจาก JBL เหมือนเวอร์ชั่นออสเตรเลีย

กล้องรอบคันยังคงมีมาให้เหมือนเดิม แต่ด้วยรูปลักษณ์ของจอเป็นทรง แบนและยาว การแสดงภาพรอบตัวรถเลยดูเล็กเกินไปหน่อย ความคมชัดของภาพในเวลากลางวันที่มีแสงสว่าง พอใช้ได้ แต่พออยู่ในที่มืด มีแสงน้อย สภาพก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็นในภาพประกอบข้างบนนี้…

 

คอนโซลกลาง ออกแบบให้มีช่องชาร์จโทรศัพท์มือถือ Wireless Charger ซึ่งต้องบอกว่า ค่อนข้างตื้นไปหน่อย อยากให้มีความลึกเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาโทรศัพท์ดิ้นตกลงไปอยู่ที่พื้นรถ ระหว่างเจอเส้นทางขรุขระ ถัดมาเป็นช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ด้านข้างเบรกมือ มีช่องใส่ของจุกจิกเล็กๆ ชั่วคราว พอจะวางสิ่งของขนาดเล็กได้บ้าง

กล่องคอนโซลกลาง มีขนาดใหญ่ ใส่กล้องถ่ายรูปขนาด Compact หรือ กล้องถ่ายรูป Mirror Less 1 ตัว ได้สบายๆ ส่วนด้านหลังเบาะคู่หน้า มี กระเป๋าท้องจิงโจสำหรับเก็บหนังสือ นิตยสาร หรือเอกสาร ตะขอเกี่ยวถุงข้าวแกง มีมาให้ถึง 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมี ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง รวมถึงยังมีช่องชาร์จแบบ USB-A 2 ตำแหน่ง เพิ่มเติมเข้ามาให้ด้วย

 

******* รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *******
******** Technical Information & Test Drive *********

ด้านขุมพลังขับเคลื่อน หากไม่ปรับอะไรเลยก็คงจะใช้คำว่า “High-performance” ได้ไม่เต็มปาก งานนี้ทีมวิศวกรฝั่งเครื่องยนต์จึงทำการอัพเกรดขุมพลัง 1GD-FTV ให้มีเรี่ยวแรงมากพอลากจูงเทรลเลอร์หนักๆ โดยเฉพาะในตลาดออสเตรเลีย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการขับขี่บนพื้นทราย รวมถึงพื้นโคลนซึ่งต้องใช้กำลังเครื่องยนต์ที่สูง

พื้นฐานเครื่องยนต์ ยังคงเป็นรหัส 1GD-FTV ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ความจุ 2.8 ลิตร ขนาด 2,755 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 92.0 x 103.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct-injection ผ่านราง Commonrail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบแปรผันครีบ (VN-Turbo) ชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ยกมาจาก Hilux Revo รุ่นปรับโฉม Minorchange ปี 2020 แต่มีการปรับจูน ECU ใหม่ เพื่อควบคุมการทำงานของครีบเทอร์โบแปรผัน และการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ได้กำลังและแรงฉุดลากเพิ่มขึ้นอีก 10% 

ทำให้ Hilux Revo GR Sport Wide Tread มีพละกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 150 กิโลวัตต์ เป็น 165 กิโลวัตต์ หรือจาก 204 แรงม้า (PS) เป็น 224 แรงม้า (PS) ที่ 3,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 500 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 2,800 รอบ/นาที เป็น 550 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 2,800 รอบ/นาที อัตราการปล่อยก๊าซ CO2 อ้างอิงตาม Eco Sticker เพิ่มขึ้นจาก 195 กรัม/กิโลเมตร เป็น 221 กรัม/กิโลเมตร ทะลุเพดาน 200 กรัม/กิโลเมตร เสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มจาก 9% เป็น 12% รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุด ไบโอดีเซล B20

มีรูปแบบการขับขี่ หรือ Drive Mode เลือกปรับได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • ECO คันเร่งตอบสนองช้า เหมาะสำหรับการขับขี่แบบเน้นประหยัดน้ำมัน รวมถึงการขับขี่บนพื้นลื่น ลดความการเกิดล้อหมุนฟรี
  • NORMAL เป็นโหมดการขับขี่แบบปกติ การตอบสนองของคันเร่งอยู่กึ่งกลางระหว่าง Eco และ Sport
  • SPORT คันเร่งสนองไว การตัดต่อเกียร์เร็วขึ้น ลากเกียร์ต่ำรอบสูงนานขึ้น เหมาะการเรียกพละกำลังออกมาใช้งาน

 

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยน ECU เพิ่มพละกำลังแล้ว เครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร Turbo ใน Hilux Revo GR Sport Wide Tread ยังมีการเพิ่มชุดกรองเขม่าไอเสีย Diesel Particulate Filter (DPF) เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กให้ได้ตามมาตรฐานมลพิษ EURO 5 ซึ่งทางภาครัฐ จะประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2025 นี้ เช่นเดียวกันกับเครื่องยนต์ดีเซลในรถรุ่นอื่นๆ อาทิ Hilux Revo รุ่นปกติ, Hilux Champ, Fortuner และ Majesty ที่ออกจำหน่ายตั้งแต่เดือน เมษายน 2024 เป็นต้นมา

ระบบ DPF คือ ตัวกรองเขม่าไอเสียขนาดเล็ก ที่อยู่ถัดจาก Diesel Oxidation Catalyst (DOC) เมื่อขับรถไปทุกๆ 200 – 300 กิโลเมตร เขม่าไอเสียเริ่มสะสมเยอะขึ้นจนถึงระดับที่กำหนด ตัวกรองจะทำความสะอาดตัวเองโดยอัตโนมัติ มีการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังตัว DPF พร้อมโชว์ข้อความ “อยู่ระหว่างการทำความสะอาดระบบกรองไอเสีย” หรือ “DPF Regeneration in Progress” บนหน้าจอชุดมาตรวัด ในระหว่างนี้ถ้าสังเกตเห็นความเร็วรอบเดินเบาสูงขึ้นหรือมีควันสีขาวออกมาจากท่อไอเสีย ก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของระบบ

ในบางกรณีที่อาจเกิดการอุดตันของเขม่าเยอะเกินไป เช่น ขับด้วยความเร็วต่ำมากๆ หรือสตาร์ทและดับเครื่องยนต์บ่อยๆ จนกระทั่งไฟเตือน DPF แสดงขึ้นบนหน้าจอชุดมาตรวัด ผู้ขับขี่สามารถสั่งเผาเขม่าได้เองด้วยการกดปุ่ม DPF บริเวณแผงควบคุมเหนือหัวเข่าขวาคนขับ วิธีการไม่ยุ่งยาก เพียงแค่จอดรถนิ่งๆ และตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่มีวัตถุไวไฟอยู่ใกล้กับท่อไอเสีย โดยระบบจะใช้เวลาประมาณ 15 – 40 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณเขม่าสะสม ซึ่งสามารถกดดูได้ในหน้าจอ MID บนชุดมาตรวัด

หลักการทำงานของ DPF ใน Toyota จะคล้ายๆ กับของ Isuzu D-Max และ Nissan Navara MY 2025 ต่างกันที่ Layout การว่างตำแหน่งหัวฉีดเผาเขม่า ของ Isuzu จะใช้หัวฉีดปกติ 1-2-3-4 แต่ของ Toyota จะมีหัวฉีดที่ 5 แยกออกมายิงตรงเข้า DPF ลดโอกาสเสี่ยงที่น้ำมันจะไหลลงร่องแหวน ลงแคร้งชาฟท์ ไปจบที่น้ำมันเครื่องเกิน แบบที่เคยเกิดขึ้นกับรถญี่ปุ่นค่ายหนึ่ง

(เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ DPF โปรดอ่านคู่มือการใช้งานของรถ หน้า 352 – 355)

 

ระบบส่งกำลังยังคงใช้บริการเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Sequential Shift +/- และแป้น Paddle Shift จาก AISIN เหมือนเคย แต่คราวนี้มีการปรับจูนสมองกลเกียร์ใหม่ เพื่อลดเวลาตัด – ต่อเกียร์ จาก 1.4 วินาที เร็วขึ้นเป็น 1 วินาทีถ้วน เมื่อใช้โหมด SPORT โดยอัตราทดในแต่ละเกียร์และอัตราทดเฟืองท้ายยังคงเท่าเดิม ดังนี้ 

เกียร์ 1 ………………………………….. 3.600
เกียร์ 2 …………………………………. 2.090
เกียร์ 3 …………………………………. 1.488
เกียร์ 4 …………………………………. 1.000
เกียร์ 5 …………………………………. 0.687
เกียร์ 6 …………………………………. 0.580
เกียร์ถอยหลัง ………………………… 3.732
อัตราทดเฟืองท้าย…………………… 3.909

สำหรับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นแบบ Part-time 4WD เลือกปรับได้ทั้ง ขับเคลื่อน 2 ล้อ (2H) ขับเคลื่อน 4 ล้อ ความเร็วสูง (4H) และขับเคลื่อน 4 ล้อ ความเร็วต่ำ ใช้อัตราทดพิเศษเพื่อเพิ่มกำลังฉุดลาก (4L) การปรับโหมดต่างๆ ใช้วิธีการหมุนสวิตช์ไฟฟ้า Shift-On-The-Fly การปรับไปมาระหว่าง 2H และ 4H ทำได้ในขณะที่วิ่งความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนโหมด 4L ยังต้องหยุดรถและเข้าเกียร์ N ก่อนทุกครั้ง ตามปกติ และแน่นอนว่ายังคงมีระบบล็อกเฟืองขับหลัง Rear-Differential Lock มาให้ 

สมรรถนะจากเครื่องยนต์ 1GD-FTV เวอร์ชันปรับปรุงใหม่ 244 แรงม้า 550 นิวตันเมตร จะเป็นอย่างไร เรายังคงทำการทดลองจับเวลาหาอัตราเร่ง ตามมาตรฐานเดิม โดยผู้ทดสอบ เป็นพี่ J!MMY และน้อง Mark Pongswang น้ำหนักตัวรวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ลองกันยามค่ำคืน ผู้คนสัญจรน้อย เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า ตามปกติ ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับกระบะตระกูล Hilux รุ่นย่อยอื่นๆ และคู่แข่งในตลาดกระบะ 1 ตัน ตัวถัง Double Cab ที่เราเคยทำตัวเลขผลทดสอบกันไว้ มีดังนี้

 

ก่อนอื่นต้องแจ้งให้ทราบถึง ตัวเลขบนมาตรวัด เทียบกับความเร็วบน GPS กันเสียก่อน

– ความเร็วบนมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS ขึ้น 93.0 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– ความเร็วบนมาตรวัด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS ขึ้น 103.0 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Hilux Revo GR Sport Wide Tread ตอกตัวเลขอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เอาไว้ที่ 10.03 วินาที ไม่หนีจาก GR Sport 4×4 รุ่นเดิมที่ได้เวลาเฉี่ย 10.15 วินาที น้ำหนักตัวรถและล้อที่เพิ่มขึ้นราวๆ 40 กิโลกรัม ส่งผลต่ออัตราเร่งในช่วงออกตัวก็จริงอยู่ แต่พอเป็นช่วงลอยลำไปแล้วไม่ค่อยส่งผลมากนัก นั่นทำให้อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Hilux Revo GR Sport Wide Tread เร็วขึ้นจาก 7.15 เป็น 6.86 วินาที ใน D โหมด Normal ส่วนโหมดเกียร์ S โหมด Sport พอไม่มี Response Time ช่วง Kickdown ก็ทำเวลาดีขึ้นจาก 6.83 เป็น 6.57 วินาที

บางท่านอาจสงสัยว่า การเปิดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4H ช่วยให้เร่งได้เร็วขึ้นหรือไม่ ? บนทางเรียบพื้นแห้งในแบบที่เราใช้ทดสอบกันปกติ การปั่น 4 ล้อ ไม่ส่งผลต่ออัตราเร่งเลย การใช้โหมด 4H พร้อมกับปิดการทำงานของระบบ Traction Control จะช่วยเพิ่มแรงตะกุยเพื่อให้คุณพุ่งไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นก็ต่อเมื่อวิ่งอยู่บนทางลื่น เช่น พื้นดิน โคลน หรือทราย เท่านั้น

ภาพรวมด้านอัตราเร่ง แม้พัฒนาการจะไม่ได้ก้าวกระโดดเหมือนตอนอัพเกรดเครื่องยนต์ 1GD-FTV จาก 177 แรงม้า 450 นิวตันเมตร เป็น 204 แรงม้า 500 นิวตันเมตร ในรุ่นปรับโฉม Minorchange ปี 2020 แต่ก็ยังถือว่าเป็น Hilux Revo ขับ 4 ยกสูง จากโรงงาน ที่แรงที่สุด ณ เวลานี้

ด้านเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ยังคงทำงานได้ดี ในเกียร์ D ปกติ กระทืบคันเร่งเต็มออกตัว สมองกลเกียร์ตัดขึ้นเกียร์สูงไวขึ้นที่ความเร็วรอบประมาณ 3,600 – 3,700 แทนที่จะลากยาวต่อเนื่องไปจนถึง 4,000 – 4,200 รอบ/นาที เหมือนรุ่นเดิม โดยรวมยังเป็นเกียร์ที่งานได้นุ่มนวลราบเรียบ จังหวะ Kickdown ไม่คิดนาน ทำงานสมัครสมานสามัคคีกันดีกับคันเร่งและเครื่องยนต์ ในรุ่นถัดๆ ไป ผมมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องปรับอัตราทดแต่ละเกียร์หรือซอยให้ถี่ยิบขึ้น สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีกำลังสูงและช่วง Powerband กว้างแบบนี้

เทียบกับคู่ชกกระบะสายลุยอย่าง Ford Ranger Raptor หากเป็นรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร Bi-Turbo 210 แรงม้า 500 นิวตันเมตร ในการขับแบบทั่วไป คู่นี้มีบุคลิกคล้ายกัน คือ แรงบิดดีตั้งแต่ช่วงรอบกลาง ประมาณ 1,500 รอบ/นาที เป็นต้นไป แต่พอเป็นเกมอัตราเร่ง กดออกตัวพร้อมกัน Hilux Revo GR Sport ซึ่งมีแรงม้าแรงบิดมากกว่า แถมพกวิชาตัวเบามาด้วย จะขึ้นนำแบบม้วนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ และหากเทียบกับ Raptor รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน V6 3.0 ลิตร Twin-Turbo 397 แรงม้า 583 นิวตันเมตร คงต้องปล่อยไดโนเสาร์พลังแรงเขาไป กว่าที่ Hilux Revo GR Sport จะขึ้นนำไป ก็ต้องรอให้ Ford โดนล็อกความเร็วที่ 187 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่กว่าจะถึงจุดนั้น คงทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นกันไปแล้ว

 

การไต่ความเร็วจากจุดหยุดนิ่งไปจนถึงความเร็ว Top Speed ในจังหวะออกตัวช่วงแรกๆ แรงถีบไม่ได้ต่างจาก Hilux Revo GR Sport 204 แรงม้า เท่าไหร่นัก แต่พอลอยลำไปซักระยะหนึ่งแล้ว รุ่น 224 แรงม้า จะไหลต่อเนื่องมากกว่า ในจังหวะเปลี่ยนเกียร์จาก 4 ไป 5 ที่ความเร็วประมาณ 135 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่งจะเริ่มแผ่วลงนิดๆ แต่ก็ยังไหลไปได้เรื่อยๆ เมื่อความเร็วขึ้นไปแตะระดับ 178 กิโลเมตร/ชั่วโมง กำลังจากฝูงม้า 224 ตัว จะเริ่มต้านกระแสลมที่ไหลผ่านตัวที่ใหญ่โตไม่ไหว ค่อยๆ ไหลไปแบบเอื่อยๆ จนกระทั่ง ECU สั่งหรี่ลิ้นคันเร่งเพื่อล็อกความเร็วที่ 195 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,400 รอบ/นาที ณ เกียร์ 5

ทังนี้ เราทดลองความเร็วสูงสุดเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงทางด้านงานวิศวกรรมและผลการทดลองขับเท่านั้น ไม่แนะนำให้คุณผู้อ่านทดลองด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

การเก็บเสียงรบกวน การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน
*********** Noise Vibration & Harshness **********

ประเด็นนี้ มีเรื่องที่ต้อง Update กันเล็กน้อย จริงอยู่ว่า ในภาพรวมนั้น การเก็บเสียงจากห้องเครื่องยนต์ที่ดังเข้ามายังห้องโดยสาร ในช่วงความเร็วต่ำ ค่อนข้างน้อย อาจจะดังกว่า Isuzu D-Max รุ่นล่าสุด และ Ford Ranger อยู่นิดนึง แต่ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม การใส่ยาง BF Goodrich KO2 มาให้ มีส่วนช่วยเพิ่มความเงียบขณะขับขี่ บนทางลาดยางมะตอย ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากรุ่น 4×4 ปกติ อยู่เล็กน้อย

เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ รวมทั้งเสียงจากยาง KO2 ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ เสียงรบกวนจากยางค่อนข้างน้อย ถึงขนาดว่า ต่อให้คุณใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังนั่งพูดคุยกันในห้องโดยสารได้ (ถ้าพื้นถนนเป็นยางมะตอยที่เรียบสนิทพอ)

แต่หลังจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ จะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วรถที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ เสียงลมที่เล็ดรอดมาตามยางขอบประตูคู่หน้า ที่จะเริ่มดังชัดเจน หลัง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้นไป ยังคงเป็นสิ่งที่รอการปรับปรุงเพิ่มเติมในรถรุ่นต่อไป

 

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheels

ระบบบังคับเลี้ยวยังคงยืดหยัดใช้พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮดรอลิก แม้จะยังไม่หันไปคบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS แต่ก็มีระบบ VFC (Variable Flow Control) หรือระบบแปรผันวาล์วปรับอัตราการไหลของน้ำมัน เข้ามาช่วยให้น้ำหนักพวงมาลัยไม่หนืดเกินไปในช่วงความเร็วต่ำ และไม่เบาโหวงจนน่ากังวลในย่านความเร็วสูง เมื่อปรับโหมดการขับเคลื่อนเป็น 4H หรือ 4L น้ำหนักพวงมาลัยจะเบาลงกว่าปกติอีกระดับ รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด อยู่ที่ 6.4 เมตร เท่าเดิม

ฟีลลิ่งพวงมาลัยแทบเหมือนเดิมเป๊ะ น้ำหนักพวงมาลัยช่วงความเร็วต่ำหนืดพอๆ กันกับ Hilux Revo ยกสูง รุ่นปรับโฉมเมื่อปี 2020 เป็นต้นมา แต่เบากว่ารุ่นแรกๆ สมัยปี 2015 ชัดเจน เมื่อใช้ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป น้ำหนักพวงมาลัยอยู่ในระดับพอดีไม่เบาจนเกินไป ควบลงถนน Off-road อาการ Kickback หรืออาการดีดไปมาซ้ายทีขวาทีเวลาวิ่งบนพื้นหินก้อนใหญ่ๆ เช่น ช่วงทางเข้าคลองมะเดื่อ ยังพอมีบ้าง แต่ก็ไม่น่าใช่ปัญหาของสายลุยโหด

เทียบกับพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิกในรถกระบะรุ่นท็อปๆ ในตลาด Hilux Revo GR Sport Wide Tread ถือว่าค่อนข้างดี แรงสะเทือนที่ส่งจากล้อมาที่พวงมาลัยน้อยกว่า Isuzu D-Max V-Cross อัตราทดเฟืองพวงมาลัยกระชับกว่า Nissan Navara PRO-4X กระนั้น ในแง่ความคล่องตัวเมื่อขับลัดเลาะไปตามซอยแคบในเมือง พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ Ford Ranger Raptor ยังตอบโจทย์มากกว่า หรือต่อให้เป็นการขับที่ความเร็วสูง พวงมาลัยของ Revo GR Sport Wide Tread ก็ยังไม่ได้เบาหวิวน่ากลัวเลย เพราะเซ็ตมาเหมาะสมกับน้ำหนักตัวรถและความกว้างของยาง 285 มิลลิเมตร

 

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ระบบกันสะเทือนเป็นจุดสำคัญของ Hilux Revo GR Sport Wide Tread ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นกว่า Hilux Revo รุ่นปกติ รวมถึง GR Sport รุ่นเดิม จุดประสงค์หลัก คือ ต้องการให้มีสมรรถนะที่ดีขึ้นทั้งด้านการขับขี่บนทาง On-road และ Off-road ช่วงล่างโดยรวมถูกยกสูงขึ้น 15 มิลลิเมตร ด้านหน้ายังคงเป็นแบบอิสระปีกนกคู่ (Double Wishbone) แต่มีการเปลี่ยนชิ้นส่วนปีกนกบนและปีกนกล่างให้ยาวขึ้น รองรับความกว้างฐานล้อคู่หน้า (Front Tread) ที่เพิ่มขึ้น 140 มิลลิเมตร ชุดคอยล์สปริงและช็อคอัพได้รับการออกแบบให้ยาวขึ้นตามความสูงของช่วงล่าง

ช่วงล่างด้านหลังยังคงยืนหยัดกับแหนบแผ่นซ่อน (Leaf Spring) ยังไม่ได้อัพเกรดไปใช้คอยล์สปริงเหมือน Ford Ranger Raptor เพลาหลังถูกขยายเพื่อให้ได้ความกว้างล้อคู่หลัง (Rear Tread) เพิ่มขึ้นอีก 155 มิลลิเมตร มีพื้นที่ระหว่างล้อกับแหนบมากพอสำหรับย้ายตำแหน่งวางช็อกอัพไปอยู่ด้านนอกแชสซีส์ (Outboard Shock Mount) ชุดแหนบแผ่นเป็นแบบ 4+1 (แหนบปกติ 4 แผ่น + แหนบบรรทุก 1 แผ่น) วางไว้เหนือเพลาเสริมด้วยชุดรองเพลาที่ปรับองศาเพลาหลังและเพลากลางให้อยู่ในระนาบเดียวกันเป็นเส้นตรง

ชุดช็อกอัพทั้งหน้าและหลัง เป็นแบบ Monotube ได้รับการปรับจูนร่วมกับ KYB สเป็คไทยและออสเตรเลียเซ็ตมาต่างกันเล็กน้อย ของบ้านเราจะหนืดน้อยกว่า หรือพูดง่ายๆ คือนุ่มกว่า เป็นการปรับเซ็ตให้เหมาะสมกับยางของ Revo GR Sport Wide Tread เวอร์ชั่นไทย ซึ่งใช้ยาง BFGoodrich All-Terrain T/A KO2 แก้มยางแข็งกว่า Bridgestone Dueler A/T ของแดนจิงโจ้ โดยรวมแล้วทำให้ระยะใต้ท้องรถ หรือ Ground Clearance สูงขึ้นจากเดิม 37 มิลลิเมตร เมื่อวัดบริเวณใต้ห้องโดยสาร แต่ถ้าวัดที่จุดต่ำสุดของเพลาหลังก็แทบไม่ต่างจากเดิม เพราะความสูงล้อไม่หนีกัน

เดิมที Hilux Revo GR Sport 4×4 รุ่นก่อนหน้านี้ ถือว่าเป็นรถกระบะที่เซ็ตช่วงล่างมาจบที่สุดในบรรดา Hilux Revo รุ่นยกสูงทั้งหมด มีความเฟิร์มในแบบที่วิ่งความเร็วสูงแล้วมั่นใจ แม้จะมีอาการสะเทือนอยู่บ้างในช่วงความเร็วต่ำ แต่อาการดีดดิ้นคล้ายโดนเตะจากเสยจากบั้นท้ายเวลาวิ่งผ่านรอยต่อบนทางด่วนน้อยลงกว่า Hilux Revo เวอร์ชั่นก่อนหน้านั้นประมาณหนึ่ง พอขยับมาเป็น Hilux Revo GR sport Wide Tread ที่มีความกว้างช่วงล้อหน้า – หลังกว้างขึ้น ยิ่งช่วยลดอาการโคลงตัวในระนาบซ้ายขวาลงไปได้อีก การวิ่งเข้าโค้งยาวๆ ที่ความเร็วสูง หรือการหักหลบกระทันหัน ช่วงล่างมีอาการยุบตัวค่อนข้างน้อย แม้ว่าตัวรถจะสูงขึ้น 15 มิลลิเมตร และมีจุดศูนย์กลางมวลที่สูงตามไปด้วย ทว่าช่วงล่างของรถกลับให้ความมั่นใจกว่ารุ่นเดิมแบบสัมผัสได้

บุคลิกช่วงล่างของ Revo GR sport Wide Tread มีความหน้านุ่มนิดๆ หลังแข็งหน่อยๆ เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ระหว่าง ความนิ่งเน้นขณะวิ่งบนทางเรียบ และความหยืดหยุ่นของช่วงล่าง พยายามทำให้ล้อสัมผัสกับพื้นได้มากที่สุดในขณะปีนป่าย

หากเทียบกับคู่ชกตรงรุ่นอย่าง Ford Ranger Raptor รายนั้นจะได้เปรียบในด้านการซับแรงสะเทือนที่ทำได้เนียนกว่า อาการกระแทกจากช่วงล่างด้านหลังตอนวิ่งรอยต่อทางด้วยหรือผิวถนนไม่เรียบน้อยกว่า เวลาเอาไปวิ่งกระโดดเนินบนทางลุยเป็นมิตรกับกระดูกต้นคอ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมากกว่า ขณะที่ Hilux Revo GR Sport Wide Tread นั้น จะมาตีตื้นทำคะแนนได้ก็ต่อเมื่อเป็นการยัดโค้งเร็วๆ แล้วตัวรถนิ่งกว่า ให้ความรู้สึกมั่นใจกว่าเล็กน้อย

ดูเหมือนว่าทีมวิศวกรของ Toyota จะจงใจเซ็ตช่วงล่างด้านหลัง เผื่อเอาไว้สำหรับการรองรับน้ำหนักบรรทุกหรือการลากจูงอยู่ประมาณหนึ่ง มีช่วงที่ผมได้ลองขับพร้อมกับมีผู้โดยสารนั่งไปด้วยอีก 3 คน แถมสัมภาระอีกเล็กน้อย ช่วงล่างของ Hilux Revo GR Sport Wide Tread ที่แข็งเฟิร์มในยามวิ่งตัวเปล่า กลับมีความสุขุมขึ้น ความแข็งของช่วงล่างเมื่อถูกกดทับด้วยน้ำหนักราวๆ 300 กิโลกรัม กลายเป็นสมดุลที่กำลังดีสำหรับการขับขี่บนทาง On-road ขึ้นมาทันที

 

ระบบห้ามล้อ / Brake

ระบบห้ามล้อเป็นอีกหนึ่งสิ่งของ Hilux Revo ที่ถูกพัฒนามาอยู่ตลอดๆ ในรุ่น Minorchange ก่อนหน้านี้มีการปรับปรุงBrake Actuator หรือ ชุดวาล์วควบคุมแรงดันน้ำมันเบรก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกสูบเบรก ทำให้ผ้าเบรกจับและปล่อยจานเบรกได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลดีต่อระบบช่วยเหลือต่างๆ ที่อาศัยการทำงานของเบรก เช่น ระบบป้องกันกันลื่นไถล A-TRC (Active Traction Control) และระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC (Downhill Assist Control)

ในรุ่น GR Sport Wide Tread มีการอัพเกรดระบบห้ามล้อ เป็นจานเบรกแบบมีครีบระบายความร้อน (Ventilated Disc) ทั้ง 4 ล้อ ตัวคาลิเปอร์พ่นทับด้วยสีแดงเพิ่มความเด่นเมื่อถูกสวมทับด้วยล้ออัลลอยสีดำ มาพร้อมเทคโนโลยีต่างๆ ที่รถในยุคนี้ถึงมี ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Distribution) ตลอดจนระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) ซึ่งเปรียบเสมือนการมีเท้าจากสวรรค์มาช่วยเหยียบเบรกอีกแรงในจังหวะนรก เช่น มอเตอร์ไซค์วิ่งตัดหน้า 

แป้นเบรกมีลักษณะการตอบสนองดีคล้ายรุ่นก่อนหน้านี้ คือ น้ำหนักแป้นเบรกเบาปานกลาง ไม่ต้านเท้า ระยะฟรีแป้นค่อนข้างน้อย การตอบสนองมีความเป็นธรรมชาติ เหยียบน้อยหน่วงน้อย เหยียบมากหน่วงเยอะ การกะระยะเบรกให้รถหยุดตรงป้ายยังคงทำได้อย่างง่ายดาย ในแง่ของการหยุดยั้งความเร็วไม่ได้รู้สึกว่าดีไปกว่าดรัมเบรกอย่างมีนัยยะสำคัญ ยกเว้นการระบายความร้อนเวลาเบรกหนักจากความเร็วสูงซ้ำๆ หลายรอบ ซึ่งเบรกแบบจานทำได้ดีกว่า

เทียบกับเบรกของค่ายคู่แข่ง หากเป็นการขับแบบปกติทั่วไป ผมไม่ได้รู้สึกว่ามีคันไหนดีหรือด้อยไปกว่ากันมากนัก เว้นเสียแต่ว่าจะขับแบบท้ามฤตยู เบรกของ Hilux Revo GR Sport ดูจะเอาน้ำหนักตัวรถ (ที่เบากว่า) ได้อยู่หมัดกว่า เหมาะกับคนเท้าหนักมากกว่านิดๆ

ภาพรวมแล้ว ระบบห้ามล้อ ของ Revo GR Sport Wide Tread ยังให้ความมั่นใจในการตอบสนองภาพรวม ดีกว่า Ford Ranger Raptor นิดหน่อย แต่สิ่งที่ทำให้ Ranger Raptor ดูมีแต้มต่อมากกว่า คงจะเป็นเบรกมือไฟฟ้า + Auto Brake Hold ซึ่งก็พอจะเป็นเรื่องราวดีๆ ให้ชีวิตในวันรถติดได้อยู่ เพราะ ระบบเบรกมือใน Hilux ยังคงเป็นคันโยกกลไก ด้านข้างลำตัวคนขับตามเดิม

 

อุปกรณ์ความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ติดตั้งมาให้ใน Hilux Revo GR Sport ใหม่ มีดังนี้

  • ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง
    • ถุงลมนิรภัยคู่หน้า
    • ถุงลมนิรภัยด้านข้าง
    • ม่านถุงลมนิรภัย
    • ถุงลมนิรภัยหัวเข่าคนขับ
  • โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA
  • คานนิรภัยด้านข้าง
  • เซ็นเซอร์กะระยะด้านหลัง – ด้านหลัง
  • ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System)
  • ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Distribution)
  • ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist)
  • ระบบควบคุมการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control)
  • ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี A-TRC (Active Traction Control)
  • ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพ่วงท้าย TSC (Trailler Sway Control)
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน DAC (Downhill Assist Control)
  • ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control)
  • ระบบป้องกันการออกตัวแบบผิดวิธี DSC (Drive Start Control)
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน DRCC (Dynamic Radar Cruise Control)
  • ระบบความปลอดภัยก่อนการชน PCS (Pre-collision System)
  • ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมหน่วงพวงมาลัยกลับ LDA with SA (Lane Departure Assist with Steering Assist)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในมุมอับสายตาด้านข้าง BSM (Blind Spot Monitoring)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert)

 

******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
*************Fuel Consumption Test *************

การปรับจูนขุมพลัง 1GD-FTV ให้มีเรี่ยวแรงมากขึ้น การเพิ่มชิ้นส่วนเครื่องยนต์เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กตามมาตรฐาน EURO5 ตลอดจนการเสริมมาดภายหล่อดุพร้อมลุย หลายท่านคงอยากทราบว่า Hilux Revo GR Sport Wide Tread จะมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยเท่าไหร่ ? เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power-D ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับ สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ผู้ทดลองในคราวนี้เป็นพี่ J!MMY และน้อง Mark Pongswang ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันแล้ว ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ตามมาตรฐานการทดสอบของ Headlightmag เช่นเคย

 

เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถังขนาด 80 ลิตร เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา เปิดไฟหน้า เซ็ต Trip Meter เป็น 0 จากนั้นจึงออกรถ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ทะลุออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ถนนพระราม 6 เพื่อเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายอุดรรัถยาที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับทวนกระแสลมกลับเข้ากรุงเทพฯ กันอีกครั้ง

การทดลองในครั้งนี้ ยังคงยึดมาตรฐานการทดลองปกติ คือ วิ่งที่ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส นั่ง 2 คน เปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control เพื่อรักษาความเร็ว เมื่อถึงทางลงจากทางด่วนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน และเลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ให้เต็มถัง แค่เพียงให้หัวจ่ายตัด เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

 

ผลการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมา ดังนี้

ระยะทางที่วิ่งไป บนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 93.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมัน Diesel Techron Power-D เติมกลับ 8.05 ลิตร 
คำนวณแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.62 กิโลเมตร/ลิตร

 

เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดนัก สำหรับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ด้อยลงเมื่อเทียบรุ่นก่อน น้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้นจากชิ้นส่วนช่วงล่าง ล้อและยาง ตลอดจนอุปกรณ์ตกแต่งรอบคันที่ทำให้พื้นที่หน้าตัดตัวรถกว้างขึ้น ต้านลมมากขึ้น ส่งผลให้ Hilux Revo GR Sport กินจุขึ้นจาก 13.70 กิโลเมตร/ลิตร เป็น 11.62 กิโลเมตร/ลิตร แต่เมื่อเทียบกับกระบะคู่แข่งสไตล์เดียวกันอย่าง Ford Ranger Raptor ดีเซล ซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 10.58 กิโลเมตร/ลิตร ก็ยังถือว่าเป็นมิตรต่อกระเป๋าสตางค์มากกว่าอยู่นิดหน่อย

ในแง่ของการใช้งานจริงซึ่งอาจต้องเผชิญกับรถติดในเมืองบ้าง Hilux Revo GR Sport จะมีอัตราสิ้นเปลืองลดต่ำลงมาอยู่ที่ราวๆ 9 กิโลเมตร/ลิตร ในสภาวะเดียวกันนี้ Ranger Raptor ดีเซล จะบริโภคเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ 7 – 8 กิโลเมตร/ลิตร

 

********** บทสรุป **********

Hilux Revo เวอร์ชั่นเข้ายิม หล่อเท่กว่าเดิม พลังเยอะกว่าเก่า แถมยังทรงตัวดีขึ้นทั้งทางลุยและทางเรียบ  
นับเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่ดีขึ้นของ Hilux Revo รุ่นปัจจุบัน แต่ผมว่า… ยังดีขึ้นกว่านี้ได้อีกนะ 

หลังจากที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Toyota Hilux GR Sport รุ่นปรับโฉม Minorchange เวอร์ชั่นออสเตรเลีย 3 วันเต็ม กับระยะทางการขับขี่และโดยสารบนเส้นทาง On-road / Off-road ราวๆ 500 กิโลเมตร และยืมรถทดสอบเวอร์ชั่นไทยมาทดลองขับซ้ำอีกครั้ง นับว่ามากพอที่จะทำให้ผมได้รู้จักกับเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของรถกระบะ Hilux Revo รุ่นปัจจุบัน แม้จะเป็นการปรับโฉมในช่วงปลายอายุตลาด แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เพิ่มเข้ามา ก็ถือว่าสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้อยู่ไม่น้อย

Hilux Revo GR Sport Wide Tread เปรียบเสมือน ผู้ชายที่ขลุกอยู่ในยิม 4 – 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลาแรมปี จนกระทั่งมีรูปร่างใหญ่โตจากมัดกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนดีไซน์ด้านหน้าเกือบทั้งแผง ขยายความกว้างช่วงล้อให้มากขึ้น 140 – 155 มิลลิเมตร ติดตั้งล้ออัลลอยสีดำ พร้อมยาง All-terrain และเสริมด้วยซุ้มล้อสีดำชิ้นโต ช่วยเสริมบุคคลิกภายนอกให้ดูหล่อเท่กว่าเดิม เวลาวิ่งไปบนถนน คนที่ไม่สนใจเรื่องรถอาจเฉยๆ แต่สำหรับสิงห์กระบะ มองแว๊บแรกก็จะรู้เลยว่านี่คือ Hilux Revo รุ่นท็อปราคาล้านห้าทอนพัน

เช่นเดียวกัน การ Upgrade งานวิศวกรรมด้านต่างๆ ทั้งการปรับจูนเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร Turbo ให้แรงขึ้นเป็น 224 แรงม้า 550 นิวตันเมตร การปรับช่วงตัดต่อเกียร์ให้เร็วขึ้นอีก 0.4 วินาที ในโหมด Sport จนสามารถเร่งความได้ไวขึ้น แบกน้ำหนักหรือลากจูงได้เยอะขึ้น รวมถึงการอัพเกรดชิ้นส่วนช่วงล่าง อาทิ ช็อกอัพ คอยล์สปริง แหนบแผ่นซ้อน จนทำให้รถมีความมั่นคงขึ้นทั้งในทางเรียบและทางฝุ่น ก็ดูคล้ายกับการเพิ่ม Muscle Mass ช่วงแกนกลางลำตัว ช่วยควบการเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น

ผมไม่รู้สึกลังเลใจ หากจะบอกกับคุณผู้อ่านว่า นี่คืออีกหนึ่งพัฒนาการที่ดีของ Hilux Revo โฉมปัจจุบัน และเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดในบรรดา Hilux Revo ทั้งหมดในเวลานี้ แต่ใช่ว่ามันจะเป็นรถไร้ที่ติซึ่งไม่มีจริงบนโลกใบนี้ หรือไร้ด้านที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก…

ประการแรกคือช่วงล่าง แม้จะมีการปรับปรุงขนานใหญ่จนขับแล้วรู้สึกมั่นใจขึ้นทั้งในช่วงซัดทางตรงและการเล่นบทโหดในทางโค้ง แต่เวลาแล่นผ่านรอยต่อบนทางด่วน หรือวิ่งรูดรอยปะถนนยางมะตอย ยังคงมีอากาศดีดจากช่วงล่างด้านหลังราวกับว่ามีใครซักคนยื่นเท้ามาเตะเสยที่ก้น

อาการที่ว่านี้น้อยลงกว่า Revo สมัยปี 2015 ก็จริง แต่มันยังโผล่มาสร้างความน่ารำคาญนิดนึงอยู่ดีใน GR Sport รุ่นปัจจุบัน จะบอกว่าเป็นอาการปกติของรถกระบะช่วงล่างแหนบก็ดูจะไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะใน Ford Ranger อาการเตะที่ว่านี้แทบจะไม่ปรากฎให้รู้สึกเลย หรือแม้กระทั่งรุ่นอื่นๆ อย่าง Mitsubishi Triton, Nissan Navara จะยังมีเตะบ้าง แต่ก็เป็นแรงเตะของเด็กอนุบาล ไม่ใช่แรงเด็กประถม 6 เหมือนใน Hilux Revo

ประการต่อมา คือ ควรจะมีอุปกรณ์เพิ่มความสะดวกสบาย อาทิ เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Brake Hold หรือจะเป็นกระจกมองข้างแบบ Reverse Link ปรับมุมมองกระจกมองข้างลงอัตโนมัติขณะถอยหลัง ที่ผ่านมา Toyota เคยทำให้เห็นแล้วการเพิ่มอุปกรณ์เหล่านี้มาให้ในช่วงกลางอายุตลาด ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปหากพวกเขาคิดจะทำ จริงอยู่ว่าลูกค้าสายลุยตัวจริงอาจไม่สนใจอ็อพชั่นอำนวยความสะดวกเหล่านี้ซักเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่ายังมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง และต้องการรถกระบะซักคันที่สามารถเดินทางไปไหนต่อไปไหนได้อย่างไร้ความกังวลในช่วงฤดูที่ถนนกลายสภาพเป็นคลอง การมีอ็อพชั่นสำหรับสายรักสบายก็อาจจะช่วยดึงดูดคนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น

เพียงแค่นี้ ก็จะทำให้ Hilux Revo GR Sport Wide Tread ดูมีความน่าคบหามากขึ้น

 

แล้วเมื่อเทียบกับคู่แข่งล่ะ เป็นอย่างไร ?

ปัจจุบันรถกระบะสาย Off-road ที่เหมาะจะนำมาขึ้นชกเป็นคู่ต่อสู้กับ Hilux Revo GR Sport Wide Tread อย่างสมน้ำสมเนื้อ คงจะหนีไม่พ้น Ford Ranger Raptor (รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร Bi-Turbo ราคา 1,799,000 บาท) กระบะพันธุ์อเมริกันรุ่นนี้ ถือได้ว่าเป็นผู้สร้างปรากฎการณ์ใหม่กับอุตสาหกรรมรถกระบะ จนผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นต้องส่งคู่แข่งมาแย่งชิงส่วนแบ่ง การตัดสินใจเลือกมวยคู่นี้ คุณต้องตอบคำถามตัวเองหรือครอบครัวให้ได้ก่อนว่า จะซื้อรถคันนี้มาใช้งานในรูปแบบใด ?

หากคุณเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเป็นหลัก ต้องการรถกระบะสำหรับลุยน้ำรอการระบาย เผื่อบรรทุกข้าวของต่างๆ หรือมีโอกาสขับไปเที่ยวต่างจังหวัดไกลบ้างในช่วงวันหยุด ลุยไปบนเส้นทางสมบุกสมบันได้ แต่ยังเสียดายรถอยู่

ถ้ามองจากมุมนี้ Ranger Raptor (ดีเซล 2.0 ลิตร Bi-Turbo) จะเหมาะกับคุณมากกว่า จากช่วงล่างที่ซับแรงสะเทือนได้ดีกว่า พวงมาลัยน้ำหนักกำลังดีทุกย่านความเร็ว ในเมืองขับง่าย เดินทางไกลไม่เครียด มีเบรกมือไฟฟ้า + Auto Hold ช่วยทุ่นแรงยามรถติด รวมถึงมีอุปกรณ์กิ๊บเก๋มาให้มากกว่า ทั้งระบบไฟหน้า LED ปรับจานฉายตามพวงมาลัย แผ่นปิดกระบะท้ายแบบไฟฟ้า ฯลฯ แต่อาจเสียคะแนนไปนิดๆ ตรงที่มิติตัวถังใหญ่บ้านเบิ้มเกินไป เวลาวิ่งในซอยแคบในเมือง หรือขับเข้าห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่มีหลังคาลานจอดรถสูงไม่ถึง 2 เมตร อาจจะกะระยให้ดี ไม่งั้นอาจมีครูด

แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่โซนชานเมืองหรือต่างจังหวัด คุ้นเคยกันการขับรถลุยแบบหนักๆ ชอบออกทริปขึ้นเขาลงห้วยกับกลุ่มเพื่อนฝูง เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณะในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่แคร์ว่า รถจะโทรมจะพังแค่ไหน เพราะซ่อมเองได้ หรือไม่ก็นำไปติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเพิ่มเติมเองอยู่แล้ว

แน่นอนว่าถ้าเป็นเช่นนี้ คุณอาจไม่สนใจว่ารถจะมีโหมดการขับขี่พิเศษต่างๆ มาให้หรือไม่ ขอแค่รถมีเรี่ยวแรงมากพอสำหรับแบกสัมภาระหนักปีนเนินสูงชันได้อย่างสบายๆ มียาง All-Terrain ช่วยตะกุยขึ้นจากโคลน ร่อง ความสูงใต้ท้องรถ รวมถึงมุมต่างๆ ของตัวรถ เพียงพอต่อการลุยหนัก และที่สำคัญชิ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องยนต์กลไกจะต้องทนทาน ไม่เปราะบาง สามารถการันตีเจ้าของได้ว่า เข้าป่าแล้วจะกลับออกมาได้ชัวร์ๆ Hilux Revo GR Sport Wide Tread ก็ดูจะมีแต้มต่อมากกว่า ส่วนต่างที่ถูกกว่า 200,000 บาท คุณจะเอาไปเป็นงบเปลี่ยนยางชุดต่อไป หรือแปรสภาพเป็นของแต่งที่ถูกใจ ก็สุดแล้วแต่ปรารถนา

แล้วถ้าจะเลือก Toyota ละ? มีตัวเลือกอะไรบ้าง?

Toyota Hilux Revo GR Sport รุ่นปรับโฉม Minorchange เวอร์ชั่นไทย จะใช้ชื่อ Wide Tread ต่อท้าย มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย ดังต่อไปนี้

  • Hilux Revo GR Sport Wide Tread 2.8 6AT 4×4 Standard (ไม่มี Sportbar) ราคา 1,479,000 บาท
  • Hilux Revo GR Sport Wide Tread 2.8 6AT 4×4 ราคา 1,499,000 บาท

ทุกรุ่นมาพร้อมการรับประกันคุณภาพตัวรถ หรือ Warranry นาน 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน และสามารถเข้าเช็คระยะโดยไม่มีค่าแรงจนถึง 100,000 กิโลเมตร

ส่วนต่างเพียงแค่ 2 หมื่นบาท กับ Sport Bar น่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ไม่ยาก เพราะคนที่คิดจะซื้อรถรุ่นนี้ ส่วนต่างเพียงแค่นี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแต่คราวนี้ ขึ้นอยู่กับว่า คุณอยากจะหา Sport Bar ที่มีงานออกแบบถูกใจคุณไหม หรือว่า จะยอมซื้อมาให้ครบๆ จบกับ Part ตรงรุ่น นั่นสุดแท้แล้วแต่คุณผู้อ่าน

 

ถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงจับประเด็นได้แล้วว่า Hilux Revo GR Sport Wide Tread ใหม่ เป็นการปรับโฉม Minorchange ครั้งท้ายๆ แล้ว นี่ไม่ใช่เพียงแค่การจับ Hilux Revo มาแต่งหน้าทาปากเสริมหล่อ แต่ยังมีการปรับปรุงงานวิศวกรรมด้านต่างๆ เพื่อ Up Skill ของขุนศึกรุ่นเก๋าให้มีฝีไม้ลายมือฉกาจขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะบอกว่า Hilux Revo เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของโฉมปัจจุบัน และเมื่อเทียบกับคู่แข่ง มันก็มีข้อดีในบางด้านที่สามารถต่อสู้ในอย่างสมศักดิ์ศรี แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเทพในระดับที่สยบคู่ต่อสู้ให้ตายสนิทได้

นอกเหนือจากข้อควรปรับปรุงตามที่เขียนไปแล้วข้างต้น ผมยังมองว่า Toyota นั้น เก่งกล้าพอที่จะดัน Hilux Revo GR Sport ให้มีสมรรถนะสุดโต่งได้มากกว่านี้

ผลสำรวจตลาดของ Hilux Revo GR Sport Wide tread อาจชี้ชัดว่า คุณสมบัติของตัวรถเมื่อเทียบกับราคาที่เป็นอยู่นั้น จะช่วยให้ Toyota เจาะตลาดในกลุ่มนี้ได้ไม่ลำบากเกินไปนัก แต่อย่าลืมว่า คู่แข่งอย่าง Ranger Raptor เขาก็พิสูจน์ให้เห็นในตลาดบ้านเราแล้วว่า ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อรถกระบะเวอร์ชั่นพิเศษคันละล้านกลางแตะสองล้าน หากรถคันนั้นมีดีและโดดเด่นเพียงพอ

ในรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ที่อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างนี้ สิ่งที่ผมหวังจะได้เห็นก็คือ การเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มใหม่ TNGA-F (Toyota New Global Architecture-Frame) ซึ่ง Stiff ขึ้นกว่าเดิม 30% การอัพเกรดช่วงล่างด้านหลังเป็นคอลย์สปริงเพื่อลดการดีดเด้ง ตลอดจนการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ใน SUV สายลุยประจำตระกูลอย่าง Land Cruiser มาติดตั้งให้กับ Hilux Revo GR Sport บ้าง อาทิ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Full-time 4WD (มี Center Differential) ระบบ Multi-terrain Select ที่การขับเคลื่อนให้เหมาะกับแต่ละสภาพถนน รวมไปถึงระบบ Crawl Control ช่วยขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ โดยการส่งกำลังหรือสั่งเบรกในแต่ละล้อ ฯลฯ

ผมเชื่อเหลือเกินว่า เทคโนโลยีต่างๆ ที่น่าสนใจเหล่านี้ หากถูกหล่อรวมเข้ากับคุณงามความดีที่มีอยู่แล้ว ทั้งด้านความแรงแบบเหลือๆ ช่วงล่างที่พร้อมบู๊ ตลอดจนความน่าไว้วางใจในระยะยาว ทั้งตัวรถและศูนย์บริการ จะทำให้ Hilux Revo GR Sport เป็นรถที่มีความน่าสนใจขึ้นไปอีก

จนถึงขั้นอาจเปลี่ยนความคิดของใครหลายคนให้รู้สึกว่า รถ Toyota ไม่ได้มีดีแค่ความทน 

————————————-///————————————-

ปล. Update จาก พี่ J!MMY

Next Generation ของ Hilux และ Fortuner จะใช้ Frame ชุดเดิม ไม่ใช่ TNGA-F แต่เป็นการนำเฟรมเดิมไปปรับปรุงลดข้อด้อยต่างๆในปัจจุบันลงให้มากที่สุด และกว่าจะเปิดตัวได้ อาจต้องรอกันจนถึงปี 2026!!

 

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
และเอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้

Yutthapichai Phantumas (QCXLOFT)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน 
ลิขสิทธิ์ภาพกราฟฟิค เป็นของ Toyota Motor Corporation และ
 Toyota Motor Thailand
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
2 กันยายน
2024

Copyright (c) 2024 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 2nd, 2024