ช่วงทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 1990 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชาวต่างชาติต่างพากันเรียกญี่ปุ่นว่า เป็น สัตว์เศรษฐกิจ เพราะมันคือช่วงเวลาที่ ประชาชนชาวอาทิตย์อุทัย ทุ่มเททำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย เริ่มมีรายได้ และการเก็บออมเยอะมาก ไม่ค่อยมีเวลาใช้เงิน จนธนาคาร และสถาบันการเงินในประเทศ ต้องหาทางปล่อยกู้ให้กับนักธุรกิจที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ไม่เพียงเท่านััน ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นต่างเริ่มลงทุนในตลาดหุ้น และเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กันอย่างหนัก จนเกิดภาวะ เศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy) อันนำพาไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ เข้าสู่ภาวะขาลง ซบเซาลงตั้งแต่ปี 1990 และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวแต่อย่างใด

ช่วงเวลานั้น ผู้ผลิตรถยนต์ชาวญี่ปุ่น ต่างเผชิญกับภาวะการกดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป เช่น การจำกัดจำนวนนำเข้ารถยนต์ ไปทั้ง 2 ตลาด โดยสมัครใจ จนผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น ยอมหาทางออกไปตั้งโรงงาน ในดินแดนเหล่านั้นเสียเองเลย

กระนั้น เมื่อมองกลับมาดูตลาดญี่ปุ่นในบ้านตนเอง การแข่งขันในหมู่บริษัทรถยนต์ด้วยกัน สูงขึ้นมาก ผู้ผลิตหลายราย ตัดสินใจ เพิ่มเครือข่ายจำหน่ายใหม่ๆ แยกออกจากแบรนด์ดั้งเดิม เพื่อเพิ่มทางเลือกจำนวนรุ่นรถยนต์ที่แตกหน่อกิ่งก้านจากรถยนต์รุ่นปกติ ให้มากขึั้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่หลากหลายรสนิยม และดูไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด จนเกิดกระแสความนิยมต่างๆ ตามมา

ช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 ตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่นช่วงดังกล่าว เป็นยุคที่ถูกเรียกว่า “Hi-so Car Boom” หมายความว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ต้องการรถยนต์ที่ตกแต่งอย่างหรูหราไม่แพ้รถยนต์ราคาแพงเช่น Toyota Crown หรือ Nissan Cedric แต่มีขนาดกำลังดี ราคาเหมาะสม ตัวรถต้องมีสี Two-tone หรือ สีขาว จะเป็นขาวธรรมดา หรือขาวมุก ย่อมได้ทั้งสิ้น ภายในห้องโดยสารต้อง ตกแตงด้วย เบาะกำมะหยี่สีแดง สวมผ้าลูกไม้สีขาว ที่พนักศีรษะ กับช่วงครึ่งท่อนของเบาะหน้า-หลัง หน้าปัด Digital กระจกหน้าต่างสีชา เพียงเท่านี้ ก็ทำให้บรรดาคุณแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ที่เปิดดูใบปลิวโฆษณา ซึ่งมักแนบมาพร้อมหนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันเสาร์ – อาทิตย์ ก็แทบจะกรีดร้อง ลากจูงสามีไปดูรถยนต์คันจริงที่โชว์รูมใกล้บ้าน หรือไม่ก็โทรศัพท์ เรียกให้ พนักงานขาย นำรถยนต์มาให้ดูและทดลองขับกันถึงหน้าประตูบ้านกันเลย!

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งในกระแสความนิยม ของบรรดาลูกค้าชาวญี่ปุ่นในยุคนั้น ที่เราอยากจะพูดถึง นั่นคือ รถยนต์นั่งแบบ 4 ประตู Hardtop หรือ ใช้บานประตูแบบ Frame-less Door แต่มีตัวถัง ในระดับพิกัด Compact C-Segment หรือ ขนาดกลาง D-Segment

กระแสนี้ แท้จริงแล้ว เกิดขึ้นในตลาดญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงปี 1974-1975 อันเป็นช่วงเวลาที่ งานออกแบบรถยนต์นั่งจากสหรัฐอเมริกา ทั้ง General Motors , Ford , Chrysler และ American Motors ซึ้งใช้บานประตูแบบ Frame-less Door และหลังคาแบบ Hardtop ไม่มีเสาค้ำยันกลาง B-Pillar กำลังมีอิทธิพลต่อความคิดในหมู่พนักงานแผนกออกแบบ ในบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น อย่างมาก

ผู้ที่เริ่มนำตัวถัง Hardtop 2 ประตู มาใช้ในตลาดญี่ปุ่น นั่นคือ Mitsubishi Colt Galant GTO ในปี 1969 และ Mitsubishi Colt Galant Hardtop 2 ประตู ปี 1970 จากนั้น ผู้ที่เริ่มนำตัวถัง Hardtop 4 ประตู มาใช้ในตลาดแดนอาทิตย์อุทัย คือ Nissan Cedric / Gloria 230 Hardtop Coupe 2 และ 4 ประตู ในปี 1971 ตามด้วย Toyota Crown กะโห้ 1972 แน่นอนว่า ความหรูหราแบบนั้น กลายเป็นภาพจำในหมู้ผู้บริโภคว่า ถ้าใช้รถยนต์ที่มีงานออกแบบลักษณะนี้ จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ทางสังคมของครอบครัวตน ในหมูู่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี

ต่อมา Nissan ตัดสินใจลองทำ Nissan BLUEBIRD 910 ขับเคลื่อนล้อหลัง ตัวถัง Hardtop ทั้ง 2 และ 4 ประตู ออกมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี 1981 พอมียอดขายไปได้ระดับหนึ่ง จนต่อยอดมายัง Bluebird U11 ขับเคลื่อนล้อหน้า ในปี 1983 ตามด้วย Bluebird U12 ATTESA (1987-1991) ต่อเนื่อง ไปจนถึง รุ่น U13 ในรหัสรุ่น ARX (1991-1996) ซึ่งมีหลุดเข้ามาเป็น Taxi Meter บ้านเรา 200 คัน ก่อนจะเลิกทำไปในรุ่น U14 ซึ่งเป็น Bluebird แท้ๆ รุ่นสุดท้าย และไม่ส่งมาประกอบขายในเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมมองย้อนกลับไปในยุคนั้น ผู้ที่จุดกระแสการนำ โครงสร้างตัวถังแบบ Hardtop Saloon พร้อมกับประตูรถแบบ Frame-less Door  มาย่อขนาดและใช้กับรถยนต์ขนาดกลาง C – Segment CD-Segment รวมทั้ง D-Segment ได้สำเร็จเป็นรายแรกในญี่ปุ่น นั่นคือ Toyota CARINA ED (ย่อมาจาก Exciting Dressy) เปิดตัวออกสู่ตลาดเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น ในปี 1985 ด้วยเส้นสายที่ดูหรูหรา ร่วมสมัย แถมยังมีบานประตูไร้เสากรอบ ในราคาที่เอื้อมถึงได้ง่ายกว่า Toyota CROWN ทำให้ Carina ED กลายเป็นรถยนต์ที่ชาวญี่ปุ่น ต่างพากันกล่าวขวัญถึงเป็นอันมาก ตลอดปี 1985 – 1986 และสร้างยอดขายกับรายได้รวมทั้งผลกำไรให้ Toyota อย่างเป็นกอบเป็นกำ

การถือกำเนิดของ Carina ED ทำให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น แทบทุกราย (ยกเว้น Daihatsu และ Suzuki) ต่างพากันทำการบ้าน และซุ่มพัฒนา รถยนต์แบบเดียวกันนี้ของตนเอง ออกมากันยกใหญ่ นอกจาก Nissan ที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมี Mitsubishi Motors ซึ่งทำ Galant Hardtop 2 ประตู ออกมาตั้งแต่ปี 1970 รวมทั้ง Galant Lambda ในปี 1976 ก็ตัดสินใจทำ Galant Hardtop 4 ประตู ออกมาในปี 1985 หลังจากนั้นหากเราไม่นับ Mitsubishi DIAMANTE Saloon ไซส์ใหญ่แล้ว รถยนต์ที่พอมีขนาดใกล้เคียงกับ Carina ED ก็มีแค่ Mitsubishi Emerald สร้างขึ้นบนพื้นฐานของ Galant Ultima และ Eterna ที่ตามออกมาในปี 1993 แต่ยังมีเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar อยู่ และนั่นคือ Frameless Door Saloon ขนาดกลาง รุ่นสุดท้ายของพวกเขา ก่อนถูกยกเลิกการผลิตไปในปี 1998

ขณะเดียวกัน Honda ก็ซุ่มทำ Integra Generation 3 รวมทั้งรุ่นพี่อย่าง Accord INSPIRE Generation แรก และ Vigor Generation 3 ออกสู่ตลาดในปี 1989   Subaru นั้น พวกเขาใช้บานประตู Frame-less door มาตั้งแต่รุ่น Leone Hardtop 2 Door ในปี 1971 สืบทอดมาจนถึง Legacy (1989 – 2009) และ Impreza (1992 – 2009) แล้ว ทว่า รถยนต์ทุกรุ่นที่กล่าวถึงใน 2 ย่อหน้านี้ ยังคงมีเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar เอาไว้อยู่ จึงไม่อาจถือว่าเป็นรถยนต์ Hardtop ได้อย่างแท้จริง เป็นได้แค่เพียงรถยนต์แบบ Frame-less door เท่านั้น

เรื่องตลกก็คือ แม้แต่ Toyota เอง ก็ยังได้รับเสียงเรียกร้องจาก โชว์รูมเครือข่ายจำหน่าย Toyota และ Toyopet ว่า อยากได้ Toyota Corona ในแบบ Hardtop 4 ประตู นี้ด้วย เพื่อไม่ให้น้อยหน้า Carina ED ซึ่งทำตลาดผ่านเครือข่ายจำหน่าย Toyota AUTO ในเวลานั้น (ต่อมา เครือข่าย AUTO ถูกแปลงร่างเป็น เครือข่าย NetZ ในปี 1999) จน Toyota ต้องยอมทำฝาแฝดให้กับ Carina ED ออกมาในชื่อ Toyota Corona EXIV ออกสู่ตลาดในปี 1990 บนโครงสร้างวิศวกรรม ร่วมกับตระกูล Corona , Carina และ Celica แน่นอนว่า ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รวม 2 Generation ก่อนจะยุติการทำตลาดในเดือนธันวาคม 1998

Mazda Motor Corporation ผู้ผลิตรถยนต์ชาวเมืองนักสู้ Hiroshima มองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในตลาดแดนอาทิตย์อุทัย แล้วก็เกิดอาการร้อนรนทนไม่ไหว ในช่วงปี 1983 อันเป็นปีเดียวกับที่ ผู้ผลิตแต่ละรายเริ่มวางแผน และวิสัยทัศน์ สำหรับทศวรรษที่ 1990 Mazda ก็ซุ่มเตรียมการขยายทางเลือกรุ่นรถยนต์ในตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่นอย่างมโหฬาร แต่ก่อนจะไปถึงการทำให้ทุกแผนสำเร็จขึ้นจริง พวกเขาจำเป็นต้องสร้างรถยนต์ Hardtop 4 ประตู ขนาดกลางขึ้นมาสักรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าในตลาดญี่ปุ่น ด้วยเกรงว่า หากไม่ทำ ก็จะตกขบวน ปล่อยให้เพื่อนฝูงเขากอบโกยไปสบายใจเฉิบ

สิ่งที่ Mazda ทำก็คือ สร้างรถยนต์คันนี้ ขึ้นบนพื้นตัวถัง MA Platform ร่วมกับ Mazda Capella / 626 รุ่นปี 1987 – 1991 โดยใช้เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ร่วมกับ 626 รุ่นนั้น ให้มากที่สุด เพื่อประหยัดต้นทุนการพัฒนา แต่ไปมุ่งเน้นงานออกแบบตัวถังภายนอก รวมทั้งภายในห้องโดยสาร ให้หรูหราแปลกตาและล้ำอนาคตตามสไตล์ของ Mazda แทน

Mazda เลือกใช้ชื่อ PERSONA กับ รถยนต์ Hardtop Sedan 4 ประตู คันนี้ โดยชื่อรุ่น Persona มาจาก ภาษา Latin แปลว่า “Individual Person” หรือ “ปัจเจกบุคคล” (ผู้ซึ่งมีความแตกต่าง อย่าง เฉพาะตัว)

Mazda เผยโฉม Persona เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1988 ณ สถานที่ อย่าง Design Studio ของ Mazda ที่ Hiroshima ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลก เพราะปกติ สถานที่แบบนี้ เป็นเขตหวงห้าม ที่สงวนไว้กับกลุ่มพนักงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ในระดับ ลับสุดยอด ของทุกบริษัทรถยนต์ แต่ในตอนนั้น Mazda ต้องการสื่อสาร ว่าพวกเขามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับงานออกแบบ ของรถยนต์รุ่นนี้ จึงตัดสินใจ จัดงานเปิดตัว Persona กันใน Design Studio เสียเลย! แน่นอนว่า ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งสายยานยนต์ และสาย Life Style ในญี่ปุ่น มากพอสมควร

Persona มีความยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1.335 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,575 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,460 และ 1,465 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 60 ลิตร น้ำหนักรถเปล่า 1,170 -1,250 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย

จุดเด่นสำคัญของ Persona อยู่ที่ การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก ให้เปี่ยมด้วยความสุขุม ดูหรูหรา และสง่างาม โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก นักแสดงชื่อดังอย่าง Ingrid Bergman เส้นสายภายนอก ดูเรียบง่าย ลื่นไหล แต่มีความ Premium อยู่ในที มีการใช้แถบโครเมียมประดับตกแต่งไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ทั้งบริเวณกรอบไฟหน้า กระจังหน้า แนวเส้นกรอบกระจกทุกบาน ไปจนถึง กรอบไฟท้าย ลากยาวถึงแผงทับทิมประดับพร้อมไฟถอยหลัง

รุ่นย่อย Type A จะสวมล้อกระทะเหล็ก ขนาด 14 นิ้ว ส่วนรุ่น Type B จะมาพร้อม ล้ออัลลอย 14 นิ้ว ทั้ง 2 แบบ สวมยางติดรถขนาด 185/70R14 87S

อีกจุดเด่นที่สำคัญ ห้องโดยสาร ซึ่งถูกออกแบบให้แปลกใหม่เกินกว่ารถยนต์ร่วมยุคสมัยเดียวกันคันอื่นๆ ทั้งการลากแนวเส้นเชื่อมต่อแผงหน้าปัด Dashboard กับแผงประตูคู่หน้า เท่านั้นไม่พอ ทีมออกแบบยังสร้างความต่อเนื่องจากแผงประตูคู่หน้า ต่อเนื่องไปยังแผงประตูคู่หลัง แล้วลากเส้นต่อไปยังพนักพิงเบาะหลัง จนกลายเป็นเส้นเดียวกัน วนรอบครบ Loop ในลักษณะคล้ายกับการนั่งอยู่ในอ่าง Jacuzzi

ภายในห้องโดยสาร ด้านบนและด้านล่าง ถูกแบ่งพื้นที่เป็น 2 Layer และมีให้เลือก  2 โทนสี หากเลือกภายในสีเทา ก็จะได้ แผงหน้าปัดกับแผงประตูครึ่งท่อนบน เป็นสีเทาเข้ม และเบาะนั่ง สีเทาก่อน แต่ถ้าเลือกสีเบจ จะได้ แผงหน้าปัดกับแผงประตูครึ่งท่อนบน เป็นสีน้ำตาลกาแฟ และตัวเบาะนั่ง เป็นสีเบจ รุ่น Type A จะหุ้มเบาะนั่งด้วยผ้า Gross ส่วนรุ่น Type B จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์อย่างดี

อีกทั้งโครงสร้างของเบาะหลัง ทั้งพนักพิง และเบาะรองนั่ง หากสังเกตดีๆ จะมีหน้าตาคล้ายกับ Sofa ตาม Cocktail Lounge โดยในรุ่น Type B ทั้ง 1,800 และ 2,000 ซีซี จะเพิ่ม พนักวางแขน แบบตายตัว ทรงกล่องทิชชู่ พับเก็บไม่ได้ มาคั่นไว้ตรงกลาง เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวระหว่างผู้โดยสารด้านหลัง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา

ส่วนคันโยกมือจับเปิดประตู ติดตั้งบริเวณครึ่งท่อนล่างของแผงประตูทั้ง 4 บาน อยู่ใต้พนักวางแขน ซึ่งออกแบบให้ราบเรียบ และเน้นความสบายในการวางแขนเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน มือจับเปิดประตู ติดตั้งในแนวเฉียง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากรถยนต์ฝั่งยุโรปในยุคสมัยเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบแผงบังแสง ครอบเหนือมาตรวัด แล้วติดตั้งแผงควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ขนาบข้างชุดมาตรวัดทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อให้อุปกรณ์บางอย่าง อยู่ใกล้มือผู้ขับขี่ ลดการละสายตาจากพื้นถนน อันเป็นแนวคิดเดียวกับรถยนต์ญี่ปุ่นในยุค 1980 – 1990 รุ่นอื่นๆ เช่น Isuzu Piazza ปี 1981 หรือ Nissan Fairlady Z (300zx รุ่น Z32) ปี 1990  โดยแผงสวิตช์ฝั่งซ้าย ควบคุมทั้ง ระดับความดังของเครื่องเสียง และสวิตช์พัดลมของเครื่องปรับอากาศ ส่วนฝั่งขวา เอาไว้ควบคุม กระจกมองข้าง ปรับ และพับเก็บด้วยสวิตช์ไฟฟ้า รวมทั้งไล่ฝ้า และระดับความสว่างของมาตรวัดเรืองแสงสีเขียว

ความกล้าหาญในการออกแบบดังกล่าว ทำให้ Mazda Persona กลายเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นรุ่นแรกๆที่ มีภายในห้องโดยสาร ที่ล้ำอนาคตในลักษณะนี้ และเป็นต้นแบบ ให้กับ ห้องโดยสารของทั้งรถยนต์จาก Mazda ด้วยกันเอง อย่าง Eunos COSMO Generation ที่ 3  ในปี 1989 ไปจนถึงคู่แข่งอย่าง Honda Prelude Generation ที่ 4 ในปี 1991

Mazda นำเอางานออกแบบภายในห้องโดยสารของ Persona ขึ้นมาชูเป็นจุดเด่นในงานโฆษณา ของรถยนต์รุ่นนี้ ภายใต้ Slogan “INTERIORISM” และด้วยความสวยงามของภายในรถ นิตยสาร Best Cars ซึ่งถือว่าเป็นนิตยสารรถยนต์รายสัปดาห์ ยอดขายอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น มาจนถึงปัจจุบัน จึงมอบรางวัล Best Car Interior ให้กับ Mazda Persona ในปี 1988 กันเลยทีเดียว!

อุปกรณ์อำนวยความสะดวก มีทั้ง กระจกมองข้างแบบปรับและพับเก็บ รวมทั้งกางออกได้ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ช่องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ซ่อนไว้ที่บานประตูด้านหลัง นั่นแปลว่า ถ้าคุณมีผู้โดยสารด้านหลัง ต้องลงจากรถ ขณะที่คุณนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับ หรือผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย อาจต้องปลดเข็มขัดออกก่อน เพื่อให้ผู้โดยสารด้านหลัง เปิดประตูคู่หลังกางออกได้ โดยที่สายเข็มขัดจะไม่รัดตนึงสรีระของคุณมากเกินไป ส่วนเข็มขัดนิรภัยด้านหลัง มีมาให้เป็นแบบ คาดเอว 2 จุด แค่ 2 ตำแหน่ง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา

ไม่เพียงเท่านั้น Persona ยังเป็นรถยนต์ Mazda รุ่นแรกๆ ที่ติดตั้ง เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอ Digital บอกอุณหภูมิ และช่องแอร์แบบ Swing สามารถเลือกให้ครีบช่องอากาศข้างใน ส่ายไป-มา ได้ (อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถูกนำมาติดตึ้งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย กับ Mazda 626 CRONOS ทั้ง Sedan 4 ประตู และ 5 ประตู ในปี 1992) รวมทั้งยังมีเสาอากาศแบบปรับขึ้น-ลง ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ช่องใส่หนังสือ ด้านหลังเบาะคู่หน้า

อีกความแปลกประการหนึ่งของ Persona นั่นคือ ไม่มีลิ้นชักเก็บของ Glove Compartment ที่ใต้ช่องแอร์ของผู้โดยสารฝั่งซ้าย แต่กลับย้ายตำแหน่ง ลิ้นชักพร้อมฝาปิดดังกล่าว มาไว้ใต้แผงควบคุมกลางแทน! เปิดลงมาได้แบบ Soft Open รวมทั้งยังมี ช่องเก็บของจุกจิกพร้อมฝาปิด ติดตั้งที่แผงคอนโซลติดกับฐานคันเกียร์ และเบรกมือ

ด้านความบันเทิง ทุกรุ่นติดตั้ง วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น Cassette Tape มาให้ พร้อมกับเสาอากาศไฟฟ้า Power Antenna แต่ถ้าคุณอยากได้เครื่องเล่น CD ก็สามารถสั่งซื้อและติดตั้งเพิ่มเติม ในฐานะ Maker Option หรืออุปกรณ์ตกแต่งพิเศษจากผู้ผลิต ได้อีกด้วย

ขุมพลังมีให้เลือก 2 ขนาด

– เครื่องยนต์ รหัส F8 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,789 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 77.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.8 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI 97 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.6 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ EC-AT ขับเคลื่อนล้อหน้า

– เครื่องยนต์ รหัส FE เบนซิน 4 สูบ วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square) กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ EC-AT ขับเคลื่อนล้อหน้า

รายละเอียดงานวิศวกรรมต่างๆ ใช้ร่วมกันได้กับ Mazda Capella / 626 ปี 1987 – 1991 ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง แบบ Hydraulic ระบบกันสะเทือนทั้ง ด้านหน้าและด้านหลังเป็นแบบ McPherson Strut ระบบห้ามล้อ ของรุ่น 1,800 ซีซี คู่หน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน คู่หลังเป็นดรัมเบรก Leading & Trailing ส่วนรุ่น 2,000 ซีซี จะ Upgrade เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ โดยคู่หน้ามีครีบระบายความร้อน

Persona ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นด้วยทางเลือก 2 ระดับการตกแต่ง 2 เครื่องยนต์ (รุ่น 1,800 ซีซี. รหัส E-MA8P ส่วน รุ่น 2,000 ซีซี. ใช้รหัส E-MAEP) 2 ระบบส่งกำลัง รวม 8 รุ่นย่อย ราคาขาย มี ดังนี้

– 1,800 TYPE-A เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 1,525,000 Yen
– 1,800 TYPE-A เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ 1,625,000 Yen
– 2,000 TYPE-A เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 1,719,000 Yen
– 2,000 TYPE-A เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ 1,819,000 Yen
– 1,800 TYPE-B เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 1,710,000 Yen
– 1,800 TYPE-B เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ 1,810,000 Yen
– 2,000 TYPE-B เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 1,904,000 Yen
– 2,000 TYPE-B เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ 2,040,000 Yen


ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ สำหรับ Persona รุ่นปี 1988 – 1989

1 กันยายน 1989 Mazda สร้างประวัติศาสตร์ในตลาดญี่ปุ่น ด้วยการเปิดตัว Brand และ เครือข่ายจำหน่ายใหม่ (Dealer Channel) 2 แบรนด์ นั่นคือ Autozam (อ่านว่า ออ-โต้-แซม) สำหรับ ทำตลาดรถยนต์ขนาดกระทัดรัด เช่น Autozam Carol , Autozam Revue (บ้านเรารู้จักในชื่อ Mazda 121 Gen 2 รุ่น อาราเร่) รวมทั้งยังรับหน้าที่ จำหน่าย และให้บริการรถยนต์ LANCIA จาก Italy

อีกแบรนด์หนึ่งนั่นคือ EUNOS (อ่านว่า ยู-โนส) สำหรับทำตลาดรถยนต์ Mazda ที่ถูกดัดแปลงให้ดูสปอร์ต และหรูขึ้นกว่ารุ่นปกติ เน้นบุคลิกการขับขี่แบบ Fun to Drive เช่น EUNOS 100 ซึ่งก็คือ การนำ Mazda Familia / 323 ASTINA มาปรับโทนให้ดูเรียบหรูขึ้นนิดๆ หรือจะเป็นรถสปอร์ต EUNOS Roadster ซึงก็คือ Mazda MX-5 Miata โฉมแรก รหัส NA กับ EUNOS COSMO ซึ่งเป็น Generation ที่ 3 ของรถยนต์แนว Grand Touring Coupe รวมทั้งยังรับหน้าที่ จำหน่าย และให้บริการรถยนต์ CITROEN จากฝรั่งเศส ทั้งรุ่น BX และ XM อีกด้วย

2 เครือข่ายจำหน่ายดังกล่าว ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์ Mazda เดิม โดยในตอนนั้น ยังมีเครือข่าย Autorama สำหรับทำตลาดรถยนต์ Ford ทั้งที่ผลิตโดย Mazda เอง อย่าง Festiva, Laser , Telstar , Spectrum และ รถยนต์ นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ทั้ง Tarus , Thunderbird , Lincoln และ Explorer

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 1991 Mazda ยังเปิดตัวเครือข่าย efini (อ่านว่า  แอง-ฟิ-นี) สำหรับทำตลาดรถยนต์ระดับหรู และมี efini RX-7 รหัสรุ่น FD3S เป็น Halo Car ประจำแบรนด์ ตามออกมาในปี 1991 อีกด้วย

ตามแผนเดิม แบรนด์ EUNOS จะต้องมีรถยนต์ Sedan ขนาดกลาง 1 รุ่น เพื่อเอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ทว่า ในตอนนั้น EUNOS 500 Sedan ทรงโค้งมนที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานงานวิศวกรรมร่วมกับ Mazda 626 CRONOS , Mazda MX-6, efini MS-6, efini MS-8 , Autozam CLEF และ Ford Telstar Gen.3 ยังไม่แล้วเสร็จ Mazda จึงตัดสินใจเพิ่มทางเลือกที่แตกต่าง นั่นคือ นำ Mazda Persona มาปรับปรุงให้ดูสปอร์ต มาดเข้มขึ้น สำหรับทำตลาดในโชว์รูมเครือข่ายจำหน่าย EUNOS ภายใต้ชื่อ EUNOS 300 ออกมาขัดตาทัพไปก่อน

แบรนด์ EUNOS เปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1989 โดยเริ่มต้นจาก EUNOS Roadster และ CITROEN BX ส่วน EUNOS 300 ออกสู่ตลาดในอีก 2 เดือนถัดมา พร้อมกับ EUNOS 100 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1989

EUNOS 300 มีความแตกต่างจาก Persona ทั้งการเปลี่ยนมาใช้กระจังหน้าลายใหม่ แบบซี่เฉียงแนวทะแยงสลับกัน พร้อมสัญลักษณ์แบรนด์ EUNOS ขณะเดียวกัน ชุดไฟหน้าเปลี่ยนมาเป็นแบบเรียวยาว ที่เพิ่มไฟตัดหมอกสีเหลืองเข้าไปในโคมชุดเดียวกัน แต่ไม่มีเส้นเชื่อมโคมไฟหน้าใต้กระจังหน้า

ขณะที่ชุดไฟท้าย ก็เปลี่ยนลวดลายใหม่ มาเป็นแบบ 6 วงรี แนวเรียบ ทรงสปอร์ตเพิ่มสปอยเลอร์ด้านหลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 สวมด้วยล้ออัลลอย ลายใหม่ 7 ก้าน ขนาด 6JJ x 15″ พร้อมยางขนาด 195/60R15 86H

ทว่า การปรับปรุงดังกล่าวนั้น พูดกันตามตรง ถ้าคุณไม่ใช่มนุษย์ช่างสังเกต คุณจะแทบมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง Eunos 300 กับ Mazda Persona เอาเสียเลย!

นอกจากนี้ยังมีการ Upgrade ภายในห้องโดยสาร ให้มีแต่โทนสี เทาเข้ม แต่สามารถเลือกได้ตามแต่ละรุ่นย่อยทั้ง 4 หากเป็นรุ่น TYPE-A (รหัสรุ่น E-MA8PE) จะใช้ผ้าหุ้มเบาะกำมะหยี่ลายใหม่ แต่ถ้าเป็นรุ่น TYPE-B (รหัสรุ่น E-MAEPE) จะติดตั้งชุดเบาะหนังสีเทาเข้ม มาให้จากโรงงาน วงพวงมาลัย เปลี่ยนมาเป็นแบบ 4 ก้าน พร้อมสัญลักษณ์ EUNOS บนแป้นแตรตรงกลาง พวงมาลัยชุดนี้ ถูกใช้กับ Mazda รุ่นอื่นๆ ทั้ง EUNOS 100 , EUNOS PRESSO ฯลฯ เครื่องปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ ทุกรุ่นติดตั้ง วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่นเทป Cassette มาให้ แต่ถ้าใครอยากได้ เครื่องเล่น CD สามารถสั่งซื้อได้เป็นอุปกรณ์พิเศษ

ทว่า เหนือสิ่งอื่นใด ความแตกต่างสำคัญ อยู่ที่ ขุมพลัง แม้จะมีให้เลือก 2 ขนาดเหมือนเดิม แต่มีการ Upgrade ให้เป็น เวอร์ชันใหม่ที่มีเรี่ยวแรงเพิ่มมากขึ้น จาก Persona รุ่นแรก รายละเอียดมีดังนี้

– เครื่องยนต์ใหม่ รหัส F8-DE เบนซิน 4 สูบ “DOHC” 16 วาล์ว 1,789 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 77.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.8 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.0 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ EC-AT ขับเคลื่อนล้อหน้า

– เครื่องยนต์ใหม่ รหัส FE-ZE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square) กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ รุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.8 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ EC-AT กำลังสูงสุดจะลดลงจากรุ่นเกียร์ธรรมดา (แต่เพิ่มขึ้นจาก Persona 2,000 ซีซี รุ่นแรก) เป็น 145 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ทั้งคู่ มีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ตามเดิม

ด้านงานวิศวกรรมอื่นๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจาก Persona มากนัก ยกเว้นว่า ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ คู่หน้ามีครีบระบายความร้อนมาให้ สามารถเลือกสั่งติดตั้ง ระบบป้องกันล้อล็อก 4W-ABS (4 Sensors 4 Wheels Anti-Lock Braking System) เพิ่มเติมได้

ภาพยนตร์โฆษณา EUNOS 300 ในญี่ปุ่น (มีอยู่เรื่องเดียว เท่านั้น)

คล้อยหลังการเปิดตัว EUNOS 300 รวมทั้งข้ามช่วงปีใหม่ 1990 ไปรวมแล้วเพียง 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1990 เพิ่มรุ่นพิเศษ Mazda Persona COUTURE มีเฉพาะรุ่น 2,000 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ บนพื้นฐานจากการนำรุ่นย่อย Type B มาตกแต่งเพิ่มเติม ทั้งการติดตั้งเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มระบบป้องกันล้อล็อก 4W-ABS (Anti-Lock Brake System) เป็นครั้งแรก โดยใช้เซ็นเซอร์ ติดตั้งที่ล้อทั้ง 4 เป็นอุปกรณ์ติดตั้งพิเศษ เพื่อช่วยลดการล็อคของล้อขณะเหยียบเบรกกระทันหัน และช่วยให้ผู้ขับขี่ ควบคุมรถ หักหลบสถานการณ์ฉุกเฉินข้างหน้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Persona COUTURE มีให้เลือกเพียงรุ่นย่อยเดียว และมีสีตัวถังเพียงแบบเดียว นั่นคือ สีเงิน Silver stone Metallic ติดป้ายราคา ไว้ที่ 2,254,000 Yen

เรื่องตลกก็คือ เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการออกรุ่นพิเศษ COUTURE จู่ๆ Mazda ก็ปรับโฉม Minorchange ให้กับ Persona ในวันที่ 8 มีนาคม 1990 โดยเรียกรุ่นว่า Persona ’90 Model year ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง หากนำรถยนต์รุ่นปี 1989 และ 1990 มาจอดเปรียบเทียบกัน คุณจะแทบไม่เห็นความแตกต่างใดๆ เนื่องจากการปรับโฉม Minorchange ครั้งนี้ ควรเรียกว่าเป็นการปรับเสริม เพิ่มอุปกรณ์เสียมากกว่า เพราะระยะเวลาในการทำตลาด 1 ปี กับ 3 เดือน ยังสั้นเกินไป และไม่คุ้มที่จะปรับโฉมให้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก (เนื่องจากงานออกแบบเดิมทั้งหมด สวยงามลงตัวอยู่แล้ว)

รายการอุปกรณ์ที่มีการ Upgrade เพิ่มเข้ามานั้น มีไม่มากนัก หลักๆ จะเป็น เบาะนั่งคนขับปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มระบบป้องกันล้อล็อก 4W-ABS (Anti-Lock Brake System) ให้กับรุ่นย่อย Type-B

เหนือสิ่งอื่นใด การปรับปรุงที่สำคัญคือการ Upgrade ขุมพลังใหม่ กระนั้น เรื่องน่าแปลกใจก็คือ ในขณะที่ EUNOS 300 ได้เครื่องยนต์เวอร์ชันใหม่ ทั้ง 1,800 ซีซี. และ 2,000 ซีซี. แต่ Persona Minorchange 90 Model Year กลับมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เฉพาะรุ่น 1,800 ซีซี เท่านั้น ที่เป็นขุมพลังเวอร์ชันเดียวกับ EUNOS 300 ส่วนรุ่น 2,000 ซีซี. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ใดๆทั้งสิ้น เหตุผลก็เพราะเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่าง Persona ซึ่งเน้นทำตลาดลูกค้าที่ชอบความหรู กับ EUNOS 300 สำหรับลูกค้าที่ต้องการเติมความสปอร์ตขณะขับขี่ขึ้นอีกนิด รายละเอียดมีดังนี้

– เครื่องยนต์ “ใหม่” รหัส F8-DE เบนซิน 4 สูบ “DOHC” 16 วาล์ว 1,789 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 77.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.8 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.0 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ EC-AT ขับเคลื่อนล้อหน้า

– เครื่องยนต์ “เดิม” รหัส FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square) กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ EC-AT ขับเคลื่อนล้อหน้า

ส่วนรายละเอียดทางเทคนิคอื่นๆ ทั้งระบบกันสะเทือน พวงมาลัย และระบบห้ามล้อ ยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้รับการปรับปรุง แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่น โดยมีนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ Eiji Okuda เป็น Presenter ส่วนเพลงประกอบโฆษณา จาก วง NEW YORK VOICE ตามไปฟังกันได้ ที่นี่ CLICK HERE

12 กุมภาพันธ์ 1992 มีการเพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ EUNOS 300 TYPE X ตกแต่งด้วยสี Two-tone แดงไวน์ ตัดกับสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งเป็นสีตัวถังเดียวกับให้เลือกใน EUNOS COSMO 13B Rotary นอกจากนี้ ยังสวมล้ออัลลอยจาก BBS มีให้เลือกทั้งรุ่น 1,800 ซีซี ราคา 2,113,000 Yen และรุ่น 2,000 ซีซี ราคา 2,283,000 Yen ทั้ง 2 รุ่น จำกัดจำนวนรวม 500 คัน เท่านั้น และถือเป็นการออกรุ่นพิเศษครั้งสุดท้าย ก่อนจะยุติบทบาทไป

แม้ว่า Mazda จะทุ่มโฆษณา Persona อยู่ประมาณหนึ่ง แต่เน้นทำตลาด EUNOS 300 ผ่านสื่อแบบยิงตรงสู่กลุ่มเป้าหมาย Direct Mail ซึ่งได้รับความนิยมในญี่ปุ่นช่วงนั้น ทว่า ยอดขายในภาพรวม ไม่สู้ดีนักโดยเฉพาะ EUNOS 300 นั้น ทำตัวเลขรวมได้เพียง 4,746 คัน ตลอดอายุตลาด เพราะลูกค้าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่ามีรถยนต์รุ่นนี้ขาย ในโชว์รูม Eunos อีกทั้งภาพจำของชาวญี่ปุ่น ในแบรนด์นี้ ถูกเทไปที่รถสปอร์ตเปิดประทุน EUNOS ROADSTER หรือ Mazda MX-5 Miata รุ่นแรก โฉม NA มากกว่า อีกทั้งชาวญี่ปุ่นยังไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง Persona กับ Eunos 300 มากพอที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจจ่ายเงินเพิ่มได้เลย

ด้วยเหตุนี้ Mazda จึงตัดสินใจ ยุติบทบาทการทำตลาด ทั้ง Persona และ EUNOS 300 ไปในเดือน ธันวาคม 1991 แต่ยังมีสต็อกเหลือพอให้สั่งซื้อต่อได้อีกราวๆ 3 เดือน แรกของปี 1992 เพื่อเตรียมหลีกทางให้กับ efini MS-8 ที่ถูกเปิดตัวในเดือน มีนาคม 1992 แทน

อย่างไรก็ตาม อนาคตของรถยนต์ Hardtop นั้น เริ่มไม่สดใสในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ด้วยเหตุที่หน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น เริ่มเพิ่มความเข้มงวดกับความปลอดภัยของโครงสร้างตัวถังรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในญี่ปุ่น จนถึงขั้นจัดตั้งมาตรฐานการทดสอบการชน JNCAP ทำให้รถยนต์ประเภท Hardtop เริ่มมีความปลอดภัยไม่เพียงพอที่จะผ่านมาตรฐานการชนด้านข้างของ JNCAP เพราะความปลอดภัยของหลังคาจากการพลิกคว่ำ ก็ยังคงเป็นอีกประเด็นสำคัญ การลดจำนวนเสาค้ำยันหลังคา จาก 6 ต้น ลงเหลือแค่ 4 ต้น โดยคิดไปว่าจะเสริมความหนาให้หลังคารถแทน เป็นแนวคิดที่หลายค่ายนิยมใช้กันในเวลานั้น และมันได้พิสูจน์ให้เห็นในกาลต่อมาแล้วว่า “ไม่ได้ผล”

นั่นเป็นเหตุให้ ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นแทบทุกราย ทะยอยยุติการผลิตรถยนต์ประเภท Hardtop ในช่วงปี 1996 – 1998 อันเป็นช่วงจังหวะที่รถยนต์หลายๆรุ่นเหล่านี้ มาถึงช่วงสุดท้ายของอายุตลาดพอดี โดยมีบางราย อย่าง Subaru ที่ยังคงทำรถยนต์แบบ Frame less Door แต่มีเสาหลังคากลาง B-Pillar แบบเต็มชิ้น ขึ้นไปถึงหลังคา พร้อมกับเพิ่มความหนาของยางขอบหน้าต่างที่ติดตั้งบริเวณกรอบประตู ให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาเสียงรบกวนลงไปให้ได้ ที่สำคัญคือ ทั้งหมดนี้ ต้องทำได้ในต้นทุนที่ถูกพอจะสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก ประเภทนี้ขึ้นมา แล้วได้กำไรคุ้มอีกต่างหาก!

Mazda Persona อาจไม่ประสบความสำเร็จนักในตลาดญี่ปุ่น แต่อย่างน้อย รถยนต์รุ่นนี้ กลายเป็นหนึ่งในผลงานจากชาว Hiroshima ที่ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการ การออกแบบรถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัย โดยเฉพาะในด้าน งานออกแบบภายในห้องโดยสาร ที่ไม่เหมือนใครในยุคนั้น ตราบจนปัจจุบันทุกวันนี้

——————–///———————-

J!MMY Thanesniratsai
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด มาจาก Catalog
โดย Mazda Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
11 สิงหาคม 2024

Copyright (c) 2024 Text
All pictures by Mazda Motor Corporation

Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 11th,2024

———————————————-