Better than cream cheese and bagels , Better than honey on bread
Better than champagne and pretzels , Better than breakfast in bed

Better than chili rellenos , Better than chocolate e’clairs
Better than hothouse tomatoes , Better than fresh Bartlett pears

Better than dining a la carte
Or simply gastronomic art
Better than anything except being in love

Better than making a million
Better than being a queen
Better than oil wells and gold mines
Better than pastures of green
Better than finding a horseshoe
Better than losing your head
Better than anything ever thought of
Better than anything ever said

Better than singing right out loud
Or being, ha, spotted in a crowd
Better than anything except being in love

(Musical Interlude)

Better than elephants,are dancing
Better than clowns on parade
Better than peanuts and popcorn
Better than pink lemonade
Better than rides on the midway
Better than seals blowing horns
Better than men shot through cannons
Better than fresh ears of corn

Better than balancing on a wire
Or watching tigers jump through fire
Better than anything except being in love

Better than driving ’round the park
Or watching fireflies after the dark
Better than anything except being in love.

เสียงเพลง Better than Anything ร้องโดย Dianne Reeves นักร้องเพลง Jazz / Blues ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ เพิ่งจะจบลงไป
จากหน้าเว็บไซต์ของ Mercedes-benz.com และแน่นอนว่า เพลงนี้ก็กลายเป็นอีกเพลงหนึ่ง ที่ผมชื่นชอบไปเลย เป็น
เพลงเก่านานมากแล้วครับ และเวอร์ชันนี้ ก็ถือเป็นเวอร์ชันที่ผมชอบมากที่สุด เท่าที่เคยฟังเพลงนี้มา

เพลงนี้ และภาพยนตร์ Promotion Video ที่คุณเห็นข้างบนนี้ มาจากแคมเปญเปิดตัว E-Class รุ่นนี้ในระดับสากล  ถูกเผยแพร่
เป็นครั้งแรก ในช่วงจังหวะพอดีกับที่เว็บไซต์ Headlightmag.com กำลังเตรียมการเปิดตัว เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2009 และเป็น
แคมเปญโฆษณาที่ผมค่อนข้างชื่นชอบมาก เพราะ การนำนักแข่งรถ Formular 1 อย่าง Jean Alessi มาขับรถให้นักร้องหญิงผิวสี
ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในตำนาน มาร้องเพลง Better than anything โดยบันทึกเสียงกันสดๆ ในรถ E-Class ใหม่นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคย
มีใครทำมาก่อน และมันแสดงออกให้เราได้เห็นถึง ความสมบูรณ์แบบ อย่างลงตัว ที่มาพร้อมกับบรรยากาศผ่อนคลายอย่างที่
ทีมวิศวกรของ Daimler AG. ตั้งใจให้ E-Class ใหม่ ได้เป็น

ถึงจะเป็นที่รู้กันดีว่า Mercedes-Benz E-Class เป็นรถยนต์ที่เน้นความสบายในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร หรือผู้ขับขี่
ยิ่งพอได้พิสูจน์กับตัวเอง เมื่อครั้งที่ทาง Mercedes-Benz Thailand เชิญให้ไปร่วมทดลองขับ ทั้ง E500 และ E300 ใหม่ กันไกล
ถึงภูเก็ต ขึ้นมากรุงเทพฯ (อย่างที่ได้เคยทำบทความ First Impression ไปแล้ว คลิกอ่านได้ที่นี่) ผมก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้น ว่า สิ่งที่
ผู้คนมากมาย เคยกล่าว เคยเล่าถึงนั้น ก็เป็นความจริงอยู่

แต่…ถ้าผมจะต้องขับใช้งาน E-Class ใหม่ในชีวิตประจำวันขึ้นมาละ? อัตราเร่งจะเป็นอย่างไร ประหยัดน้ำมันแค่ไหน?
การตอบสนองในภาพรวม บนเส้นทางที่เราคุ้นเคย จะเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์คันอื่นๆ และที่สำคัญ มัน
จะเป็น E-Class รุ่นใหม่ รุี่นแรก ที่กลับมา ชนะใจตาแพน Commander CHENG! ของเรา ในฐานะลูกค้าเก่าของ E-Class
รุ่น W124 ได้อีกครั้งหรือเปล่า?

Mercedes-Benz Thailand เลือกที่จะตอบคำถามผม โดยจัดรถทดลองขับมาให้เรา 3 จาก 4 รุ่น นั่นคือ E200 CGI
Blue Efficiency Elegance คันสีเทาฟ้า อันเป็นรุ่นพื้นฐาน ตามด้วย E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde เป็น
รถคันสีเงิน Silver (โปรดอย่าเรียกว่า สีบรอนซ์เงิน เพราะไม่มีสีแบบนั้นในโลกนี้) ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ลาย 5 ก้านคู่
และ E250 CDI Blue Efficiency Elegance ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ลาย 19 ก้านคู่ โดยไม่มีรุ่น E300 Avantgarde ดังนั้น
เราจึงไม่มีตัวเลขของรุ่น E300 มาให้คุณได้เปรียบเทียบกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก เพราะความจริงแล้ว
ตัวเลขยอดขายของ E-Class ใหม่ ส่วนใหญ่ จะมาจาก 3 รุ่นย่อยที่เห็นอยู่นี้กันเป็นหลัก ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จึงน่า
จะเป็นประโยชน์กับใครที่คิดจะซื้อรถยนต์ขนาดกลางระดับ Premium Mid-size แบบนี้มากกว่า

แต่กว่าที่เราจะได้ลองขับกันครบถ้วนตามตั้งใจ ก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนานมาก เรียกได้ว่าข้ามปีกันเลยทีเดียว
E200 CGI คือรถคันแรกที่เราได้รับมาทำรีวิว และนั่นก็เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2010 เวลาผ่านพ้นมาถึงเดือน
มีนาคม 2011 เราจึงทำตัวเลขของ E250 CGI และ E250 CDI กันเสร็จเรียบร้อย เหตุผลไม่มีอะไรมากครับ แค่ว่า
เวลาว่างของผม กับเวลาว่างของคิวรถทดลองขับนั้น ไม่ตรงกันเท่าไหร่

ดังนั้น การนำเสนอภาพถ่ายในรีวิวนี้ จึงขอเรียงลำดับจาก E200 CGI Elegance คันสีเทาฟ้า E250 CGI Avantgarde
ล้อ 17 นิ้ว 5 ก้านคู่ และ E250 CDI Elegance ล้อ 17 นิ้ว ลาย 10 ก้านคู่ เพื่อความสะดวกในการแยกแยะจำแนกรุ่น
ของคุณผู้อ่าน เนื่องจากถ้าดูผ่านๆ คุณอาจจะมองหาความแตกต่างได้ยากสักหน่อย

และนับจากนี้ไป ก็จะถึงเวลาที่หลายๆคน รอคอย บทความที่ถูกดองและบ่มจนได้ที่ จะมีรสชาติหอมหวานดุจไวน์
ชั้นดีหรือไม่ E-Class ใหม่ จะตอบโจทย์ที่มากมายในใจของคุณผู้อ่านได้ดีเพียงใด ขอเชิญสัมผัสได้ ณ บัดนาว!

E-Class คือรถยนต์รุ่นหลัก รุ่นสำคัญที่สุด ของค่ายรถยนต์ตราดาวสามแฉก เพราะนอกจากจะเป็นรถยนต์รุ่นที่
ทำรายได้หลักให้กับกลุ่ม Daimler-Benz AG ตั้งแต่ช่วงฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงยุคที่ไปควบรวม
กิจการกับ Chrysler สหรัฐอเมริกา มาเป็น DaimlerChrysler AG เมื่อปี 1998 กระทั่งแยกขาดตัดสัมพันธ์ เปลี่ยน
มาเป็น Daimler AG ในทุกวันนี้ ก็ปาเข้าไป 64 ปี เข้าให้แล้ว นับตั้งแต่ วันแรกที่สื่อมวลชนเห็นคันจริง ไปจนถึง
เดือนสุดท้ายที่สายการผลิตของรถรุ่น Estate ซึ่งมักเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะเลิกทำตลาดเสมอ จะยุติลง E-Class แต่ละ
รุ่น มักจะเป็นรถยนต์ที่สร้างสถิติต่างๆให้โลกได้จดจำไว้มากมาย

การจะมานั่งร่ายประวัติศาสตร์ E-Class ให้หมดครบถ้วน ในบทความนี้ นอกจากจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นแล้ว ความยาว
ของรายละเอียดต่างๆนั้น มันมากพอให้เขียนเป็นหนังสือ Text Book ขนาดใหญ่ หนาเป็นร้อยๆหน้า เอาไว้ประดับ
ห้องสมุดกันเลยทีเดียว ขืนใส่มาให้อ่านกันจนครับ ก็คาดว่า จะผิดวัตถุประสงค์กันไป เพราะนี่ไม่ใช่บทความในส่วน
ของ J!MMY’s Library หรือ REWIND By Commander CHENG! ที่จะมานั่งย้อนประวัติรถเก่าให้ได้ศึกษากัน และ
ต่อให้เขียนกันจริงๆ ก็ต้องใช้เวลายาวนานมากๆ เพราะต้องนั่งศึกษากันข้ามเดือนข้ามปีแน่ๆ ถ้าจะเล่นกันชนิดที่ว่า
ละเอียดถึงแก่นรากฝอยอย่างที่พวกเราชอบทำกันมาตลอด คุณๆก็คงไม่ต้องได้อ่านกันพอดี

ถึงกระนั้น ผมก็อยากจะสรุปไฮไลต์สำคัญของ E-Class ให้ได้เป็นเครื่องเคียงอาหารสมองกันไว้สักหน่อย ว่า 64 ปี
ที่ผ่านมา กับ 7 เจเนอเรชัน ก่อนหน้านี้ Mercedes-Benz ได้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมแปลกใหม่ มาติดตั้งให้กับ
E-Class แต่ละรุ่นกันอย่างไรบ้าง อีกทั้งแต่ละรุ่น ได้รับความนิยมด้วยจำนวนยอดขาย ซึ่งอ้างอิงจากตัวเลขอย่างเป็น
ทางการของ Daimler AG. มากมายเพียงใด โดยเราจะไล่ไปจาก รถคันซ้ายบนสุด จนถึง คันขวาล่างสุด

รุ่นแรก W136 และ W191 (8 กันยายน 1946 – 1955) เป็นรุ่นที่ใช้ตัวถังเหล็กทั้งคัน เป็นครั้งแรกจากรุ่น 170S มี
เครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ ใช้ครั้งแรกใน 170 D ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ  Short arm/long arm ในรุ่นปี 1949

W120 และ W121 หรือรุ่น Ponton (8 กันยายน 1953 – 1962) ยอดผลิตรวม 11 รุ่นย่อย (ไม่นับ R121 และ
190SL Roadster) อยู่ที่ 442,963 คัน เป็นรุ่นแรกที่ออกแบบในลักษณะ 3 Box Design เพื่อช่วยลดปัญหาด้าน
เสียงกระแสลม และเพิ่มความประหยัดน้ำมัน ponton ถือเป็น Mercedes-Benz มีช่วงล่างแบบ Rear Single-Joint
Swing Axel ในปี 1955

รุ่นที่ 2 W110 นิยมเรียกว่ารุ่นหางปลา หรือ Fintail (แฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ กันยายน 1961 – 1968)
ยอดผลิตรวม 622,453 คัน
จุดเด่นของรุ่นนี้ อยู่ที่การนำเทคโนโลยีโครงสร้างตัวถังนิรภัย ซึ่งมีพื้นที่
ด้านหน้าและด้านหลังของรถ ออกแบบในลักษณะของ Crumple Zones ตั้งแต่แรกเริ่ม และมีการนำ
ระบบเบรกแบบ 2 วงจร หรือ Dual-circuit brake system พร้อมกับ brake booster และดิสก์เบรก
มาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1963 อีกด้วย

รุ่นที่ 3 W114 และ W115 นิยมเรียกว่ารุ่น ทับ 8 หรือ Stroke 8 (มกราคม 1968 – ธันวาคม 1976) ยอดผลิต
รวมทั้ง 41 รุ่นย่อย อยู่ที่ 1,919,056 คัน
ไฮไลต์ อยู่ที่การติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบ Diagonal swing axle
หรือระบบกันสะเทือนหลัง rear axle พร้อม semi-trailing arm กับ auxiliary rubber springs และเหล็กกัน
โคลง torsion bar เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน จากนั้นในปี 1973 มีการปรับปรุงไฟท้ายแบบใหม่ ให้ช่วยลดการ
เกาะตัวสะสมของฝุ่นละออง เพื่อทัศนวิสัยที่ดียิ่งขึ้น และนอกจากนี้ รุ่น 240D 3.0 ลิตร ยังเป็นรถยนต์ผลิต
เพื่อการจำหน่ายจริงแบบแรกในโลก ที่ถูกติดตั้งเครื่องยนต์ Diesel 5 สูบเรียง

รุ่นที่ 4 W123 (มกราคม 1976 – มกราคม 1986) ยอดผลิตรวมทั้ง 36 รุ่นย่อย อยู่ที่ 2,696,914 คัน ถือว่าเป็น
Mercedes-Benz ที่คนไทยอุดหนุนกันมากขึ้นกว่าทุกรุ่นในอดีตก่อนหน้านั้น ทุกวันนี้ยังหลงเหลือ รถสภาพดีๆ แล่น
อยู่เต็มบ้านเต็มเมือง และเป็นรุ่นแรกที่ธนบุรีประกอบรถยนต์ผู้จำหน่าย Mercedes-Benz ยุคก่อนปี 1998 สั่งมา
ขึ้นไลน์ประกอบในเมืองไทย ติดตั้งระบบกันสะเทือนหน้าแบบ Double-wishbone หรือปีกนกคู่ พร้อมกับระบบ
zero scrub radiusในรุ่น Station Wagon มีการติดตั้งระบบยกบั้นท้าย ด้วยลูกตุ้มไฮโดรลิค ลดอาการท้ายห้อย
 hydropneumatic level control แกนพวงมาลัยนิรภัยยุบตัวได้ จากพื้นฐานงานออกแบบของวิศวกรประจำค่าย
Mercedes-Benz เจ้าแห่งนักประกดิษฐ์ที่ชื่อ Bela Barenyi อีกทั้งในปี 1980 รุ่น 300 TD Diesel Turbo ก็
ก็กลายเป็นรถยนต์เยอรมันี เจ้าแรกที่ติดตั้งเครื่องยนต์ Diesel Turbo ไม่เพียงแค่นั้น แต่ยังมีให้เลือกใช้งานได้
หลากหลายพลังงานทางเลือก ตั้งแต่น้ำมัน Hydrogen มอเตอร์ไฟฟ้า หรือ ก๊าซเหลวติดรถยนต์

รุ่นที่ 5 W124 หรือรุ่นโลงจำปา (พฤศจิกายน 1984 – 22 มิถุนายน 1995) ยอดผลิตรวมทั้ง Saloon Estate Coupe
และ Cabriolet รวมแล้วมากถึง 2,399,280 คัน
จุดเด่นอยุ่ที่การออกแบบเส้นสายภายนอก จากปลายปากกาของ
ดีไซน์เนอร์ระดับตำนาน Bruno Sacco อีกทั้งเพื่อให้ลู่ลม และลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลงจากเดิม W124 ยัง
เป็นรุ่นแรกที่ถูกจับมาวางเครื่องยนต์ V8 รวมทั้งเทคโนโลยีเครื่องยนต์แบบ 4 วาล์ว/สูบ ทั้งในรุ่นเบนซิน และ
Diesel เมื่อปี 1991 ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระสตรัต ด้านหลังแบบ Multi-Link พร้อมเทคโนโลยีลดอาการ
หน้ามุด Anti-dive และรวมถึง ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4MATIC แบบใหม่

ที่สำคัญ ปี 1993 ยังเป็นปีแรกที่ Mercedes-Benz เปลี่ยนระบบการเรียกชื่อรุ่นรถยนต์ของตนใหม่ พร้อมกัน
ทั่วโลกโดยเริ่มเรียกรถยนต์รุ่นกลางว่า E-Class และเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรแบ่งประเภทคลาส นำหน้า ก่อนจะ
ตามด้วยตัวเลข 3 หลัก บอกแทนขนาดความจุเครื่องยนต์ ซึ่งภายหลัง ตัวเลข 3 หลัก เปลี่ยนมาหมายถึงพละ
กำลังที่เครื่องยนต์ในรถคันนั้น สามารถทำออกมาได้เทียบเท่า

(รายละเอียดเพิ่มเติม ของ E-Class รุ่น W124 อ่านได้ในบทความ ของ Commander CHENG คลิกที่นี่)


รุ่นที่ 6 W210 New Eyes (23 มิถุนายน 1995 – 2002)

ยอดผลิต รวม ทั้ง ซาลูน และเอสเตท 1,653,437 คัน แบ่งเป็น Sedan 1,374,199 คัน และ Estate 279,238 คัน
รุ่นนี้ มีการติดตั้งระบบควบคุมเสถียรภาพตอนออกตัว Electronic Traction System (ETS) มาให้ ส่วนเครื่องยนต์
Diesel 4 สูบ Direct-injection Turbocharger  พร้อม Intercooler ถูกนำมาติดตั้งใน E 290 Turbodiesel พอเข้าสู่
ปี 1997 มีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4MATIC เวอร์ชันใหม่ ทำงานร่วมกับระบบ ETS และในการปรับโฉม
Minorchange ปี 1999 Mercedes-Benz นำเทคโนโลยี Cmmon Rail มาติดตั้งลงใน E-Class เป็นครั้งแรก

รุ่นที่ 7 W211 ( 2002 – 2009) ยอดผลิตทั้งหมด เกินกว่า 1.6 ล้านคัน

ไฮไลต์ของรุ่นนี้ อยู่ที่การติดตั้งระบบกันสะเทือนหน้าแบบ 4 Link และด้านหลังแบบ Multi Link ทำจากอะลูมีเนียม
ติดตั้งระบบเบรกไฟฟ้า Electrohydraulically controlled Sensotronic Brake Control (SBC) ที่ต่อมาต้องถูกถอดทิ้งไป
ในรุ่นปรับโฉม Minorchange ช่วงปี 2006 ถุงลมนิรภัยคู่หน้าแบบ Adaptive พองตัวตามแรงปะทะการชน และมี
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ทำงานตามน้ำหนักของผู้โดยสารและผู้ขับขี่ ตรวจจับด้วยเซ็นเซอร์ใต้เบาะด้านวิศวกรรม มี
การแกน balancer Shaft 2 แกน มาใช้กับเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ Common Rail Turbo ในรุ่น E220 CDI และมี
ระบบ Supercharger แบบ TWINPULSE ในรุ่น E 200 KOMPRESSOR

เกริ่นแต่โดยย่อเพียงเท่านี้ก็คงพอจะทราบกันแล้วว่า รถยนต์นั่งขนาดกลางของค่ายดาวดวงเด่นแห่งซิงเดลฟิงเกน
ถือได้ว่า โดดเด่นแจ่มจรัสป็นดาวค้างฟ้า ในใจของผู้คนทั่วโลกมานานขนาดนี้ได้ ก็เพราะ ทีมวิศวกรของ ค่าย
พยายามเติมเต็มด้วยเทคโนโลยีทั้งด้านสมรรถนะ และความปลอดภัย ลงในรถยนต์รุ่นสำคัญที่สุดของบริษัท
กันอย่างนี้นี่เอง

หลังจากที่รุ่น W211 อยู่ในตลาดมาได้ 7 ปีเต็ม ก็ถึงเวลาที่ รถรุ่นใหม่จะต้องถูกสร้างขึ้น เพื่อรับช่วงการทำตลาด
ต่อไป งานพัฒนาจะเริ่มขึ้นในช่วงใด ไม่ปรากฎแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะอยู่ในช่วงราวๆ ปี 2005 – 2006

Stefen Kohl : Director of Advanced Design ของ Mercedes-Benz อธิบายถึงการออกแบบเส้นสายของ 
E-Class ใหม่เอาไว้ว่า “Mercedes-Benz แต่ละรุ่น ต่างก็จะมีบุคลิกในรูปแบบของตัวเอง สำหรับเราแล้ว E-Class 
เป็นรถยนต์ Bussiness Saloon ที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้น งานออกแบบของรถรุ่นนี้ จะต้องสะท้อนถึง คุณค่า ความ
ปลอดภัย ความอุ่นใจ และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัว แต่จะต้องเร้าความรู้สึกไปด้วยพร้อมๆกัน”

Hans-Dieter Futschik : Director Exterior Design ของโครงการ E-Class W212 เล่าว่า “ในรถรุ่นใหม่นี้
เรามุ่งเน้นให้ตัวรถมีบุคลิกทะมัดทะแมงขึ้น โดยเลือกที่จะใช้เส้นสายเรียบง่าย จัดวางในตำแหน่งพื้นผิวที่เหมาะสม
เพื่อสร้างความโฉบเฉี่ยวให้กับตัวรถ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า งานออกแบบภายนอกและภายในรถนั้น สอดคล้อง และ
สอดรับกัน เพราะเรานำบางบุคลิกของเส้นสายภายนอกตัวรถ ไปประยุกต์เข้ากับภายในของตัวรถด้วย”

หลังการออกแบบภาพรวมผ่านพ้นไป ก็ถึงเวลาของการสร้างรถต้นแบบ Prototype หลายร้อยคัน เพื่อทดสอบทั้งใน
ห้องปฏิบัติการณ์ ทั้งเรื่องของเสียงรบกวนทั้งจากเครื่องยนต์ สู่ห้องโดยสาร ไปจนถึง เสียงเครื่องยนต์ ที่ต้องเงียบ
กำลังดี ไม่ดังเกินข้อกำหนดต่างๆ การทดสอบความทนทานต่อสภาพอากาศร้อนจำลอง รวมทั้ง ความรวดเร็วในการ
ทำงานของเครื่องปรับอากาศ การทดสอบด้านอากาศพลศาสตร์ Aero Dynamic การทดสอบหาการสั่นสะเทือน ของ
โครงสร้างตัวถัง ความทนทานของชิ้นส่วนต่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ฯลฯ อีกมากมาย

เมื่อผ่านพ้นการทดสอบในห้องปฏิบัติการณ์ และในสนามทดสอบ ก็ถึงเวลาที่ ทีมวิศวกรจะต้องนำ รถ Prototype
เหล่านี้ ส่งขึ้นเครื่องบิน ไปวิ่งทดสอบสภาพถนนต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ทีมวิศวกรของ Mercedes-Benz ยังคงรักษา
ขนบเดิม ในการนำรถต้นแบบ แล่นเพื่อทดสอบความทนทาน โดยมุ่งเน้นให้ทุกชิ้นส่วนทำงานสัมพันธ์กันอย่างดี
และปราศจากปัญหาคลอดระยะทาง และไม่ใช่เพียงแค่ทดสอบด้วยมุมมองของทีมวิศวกรที่พัฒนารถรุ่นนี้ขึ้นมา
หากแต่ยังมองจากมุมของผู้ใช้รถอีกด้วย

ไม่ว่าจะอยู่ในขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิหนาวเย็นระดับติดลบต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ซึ่งมักจะมีผลต่อประสิทธิภาพการ
ทำงานของอุปกรณ์อีเล็กโทรนิคส์ในรถทั้งคัน หรือจะเป็นสภาพอากาศอันร้อนผ่าวในดูไบ สาธารรัฐอาหรับเอมิเรต
บนถนนไฮเวย์ใน Texas สหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นเส้นทางทุระกันดาน เต็มไปด้วยทางฝุ่น ซึ่งเติมความโหดร้าย
ทารุนด้วยสภาพอากาศร้อนอย่างใน นามีเบีย ทุกชิ้นส่วนจะต้องผ่านการตรวจสอบให้เหนือกว่ามาตรฐานทีกำหนดไว้

ในที่สุด E-Class ใหม่ รหัสรุ่น W212 ตัวถัง Saloon ก็เริ่มเผยโฉมผ่านทาง Internet เป็นครั้งแรก เมื่อ 15 ธันวาคม 2008
(แม้ว่าก่อนหน้านี้ ภาพถ่ายสำหรับจัดทำ Catalog และ Brochure จะหลุดออกสู่ Internet เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2008 หรือ
เพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

ตามด้วยการนำไปเปิดผ้าคลุมครั้งแรกในโลก ที่งาน Detroit Auto Show (NAIAS) เมื่อ 10 มกราคม 2009 เปิดรับจอง
วันที่ 12 มกราคม 2009 และเริ่มออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ 3 มีนาคม 2009 จากนั้น รุ่น Coupe ทรงเสน่ห์ รหัสรุ่น
C207 ก็เผยโฉมตามมาติดๆ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2009 ทั้งคู่ นำไปอวดโฉมครั้งแรก ในงาน Geneva Motor Show
วันที่ 3 มีนาคม 2009 และเริ่มทำตลาดเมื่อ 22 เมษายน 2009

ส่วนรุ่น Estate หรือ Station Wagon 5 ประตู รหัสตัวถัง S211 อวดโฉม ครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2009
และถูกส่งขึ้นโชว์รูมถึงมือลูกค้าเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009 ปิดท้ายด้วยการเผยโฉมรุ่นเปิดประทุน Cabriolet ครั้งแรก
เมื่อ 15 ธันวาคม 2009 อวดโฉมสู่สายตาประชาชนครั้งแรกในงาน NAIAS หรือ Detroit Auto Show 2010 เมื่อ
11 มกราคม 2010 และเริ่มส่งขึ้นโชว์รูมทั่วโลกเมื่อ 27 มีนาคม 2010 และสุดท้าย ตัวถังพิเศษ Long Wheelbase
E-Class Saloon L หรือรุ่นขยายความยาวตัวถังเป็น 5,012 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ เพิ่มเป็น 2,014 มิลลิเมตร สำหรับ
ตลาดเมืองจีน เปิดตัวในงาน Auto China เมื่อ 23 เมษายน 2010

เพียงแค่สัปดาห์แรกที่รุ่น Saloon เปิดตัวในเยอรมันและยุโรป มีลูกค้ากว่า 350,000 ราย ที่ เข้าไปเยี่ยมชมรถคันจริงตาม
โชว์รูมต่างๆ และในจำนวนนี้ 50,000 กว่าราย ตัดสินใจสั่งจองเป็นเจ้าของทันที ถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวเลยทีเดียว
และเมื่อเวลาผ่านพ้นไปจนถึง 23 กรกฎาคม 2010 Daimler AG ก็ประกาศว่า E-Class ใหม่ มียอดขายเกินกว่า 300,000 คัน
แบ่งเป็น รุ่น Saloon ประมาณ 230,000 คัน ส่วนรุ่น Coupe และ Cabriolet รวมกันได้ราวๆ 60,000 กว่าคัน รุ่น Estate อยู่ที่
ราวๆ 28,000 คัน เฉพาะในเยอรมันี อันเป็นตลาดสำคัญของรุ่น Estate ตัวเลขยอดขายก็ปาเข้าไป 21,500 คัน ถือว่าเพิ่มขึ้น
ค่อนข้างสูง แล้วลองคิดดูว่าตัวเลขข้างต้น คือตัวเลขที่นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2009 จนถึง 23 กรกฎาคม 2010 เท่านั้น

มาถึงวันนี้ตัวเลขล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2011 สดๆ ร้อนๆ E-Class ใหม่ ทำตัวเลขยอดขาย ทะยานขึ้นไปผ่านหลัก
500,000 คันเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็นรุ่น Saloon W212 ประมาณ 376,000 คัน รุ่น Coupe กับ Cabriolet รวมแล้ว 110,000 คัน
ส่วนรุ่น Estate ก็สูงขึ้นเป็น 64,000 คัน

ตลาดใหญ่ที่สุดของ E-Class ใหม่ อยู่ที่สหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนยอดขายมากถึง 20 เปอร์เซนต์ จากยอดขายทั่วโลก
โดยในสหรัฐฯ รถรุ่นนี้ครองอันดับ 1 ในกลุ่ม Premium Mid-size รองลมาคือตลาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามด้วย
สหพันธรัฐเยอรมันี อันเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับรถรุ่น Estate ขณะเดียวกัน รุ่น Coupe และ Cabriolet จะขายดีที่สุด
ในสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นเยอรมันี และ สหราชอาณาจักร

นอกจากจะทำรายได้ให้ค่ายรถยนต์ตราดาวอย่างเป็นกอบเป็นกำแล้ว E-Class ใหม่ ยังคว้ารางวัลต่างๆ มามากมาย
อาทิ Auto Bild Design Award 2009 จากนิตยสาร Auto Bild ในเยอรมัน รางวัล Best Car of the Year จากนิตยสาร
auto motor und sport ในเยอรมัน (ซึ่งปกติ นิตยสารเล่มนี้ ก็ถูกมองว่าค่อนข้างเอนเอียง เทใจให้ Mercedes-Benz
มากกว่าปกติอยู่แล้ว) รางวัล GOOD DESIGN Award จาก Chicago Athenaeum ฯลฯ อีกมากมาย

ส่วนในเมืองไทย ทันทีที่มีการเปิดเผยภาพถ่ายแรกของ E-Class Saloon ลงสู่ Internet ปฏิกิริยาของลูกค้า ต่างพากัน
เฝ้ารอว่า เมื่อไหร่ Mercedes-Benz Thailand จะเริ่มเปิดตัวพร้อมทำตลาดกันได้เสียที บ้างก็เดาไปเรื่อยเปื่อย จนพ้น
งาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคม 2009 ไปแล้ว ก็ยังไม่เห็นวี่แวว ว่า รุ่น Saloon จะพร้อม
ออกสู่ตลาดเมืองไทยได้เลย

ในเมื่อ E-Class รุ่นนี้ เข้ามาทำตลาดล่าช้า ไม่ทันใจเศรษฐีเมืองไทย ที่พร้อมจะจ่ายตังค์ให้แล้ว ผู้นำเข้ารายย่อยอย่าง
TSL ก็เลยจัดการเปิดตัว รุ่น E220 CDI , E250 CDI รุ่นธรรมดา และ Full Option เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2009 ตัดหน้า
ทั้ง Mercedes-Benz Thailand หนะยังไม่พอ ยังไปชิงเปิดตัวตัดหน้า ผู้ค้ารายย่อยด้วยกันเองอย่าง BRG หรือ เบนซ์
รามคำแหงกรุ๊ป ที่ ตั้งใจจะเปิดตัว E-Class เพียงวันเดียวเท่านั้น งานนี้สำเร็จได้ด้วยกลเม็ดการชิงนำรถออกจากท่าเรือ
ในคืนวันที่ 23 มิถุนายน และก็โทรเชิยสื่อมวลชน กันในช่วงดึกของคืนนั้นเลยทีเดียว ชิงความได้เปรียบกันอย่างชนิด
ที่เรียกว่า ถึงพริกถึงขิง

จนในที่สุด Mercedes-Benz Thailand ต้อง ออกมาชี้แจงว่า รถที่ผู้นำเข้ารายย่อย หรือ เกรย์มาร์เก็ต ทุกรายที่นำเข้ามานั้น
อาจมีปัญหากับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายในบ้านเรา เพราะเครื่องยนต์ Diesel Common Rail ของ E-Class ใหม่ ทุกคัน ถูก
ปรับแต่งให้มีมาตรฐานมลพิษต่ำถึงระดับ Euro 5 จึงต้องใช้แต่น้ำมันที่มีความสะอาดสูงมาก มีค่ากำมะถันต่ำกว่า 50 ppm
ขณะที่น้ำมัน Diesel ในบ้านเรา ก็ยังไม่สะอาดพอที่จะใช้กับเครื่องยนต์เหล่านี้ พร้อมกับแจ้งว่า อดใจรออีกนิด ทาง
บริษัทแม่ที่เยอรมัน กำลังทำเครื่องยนต์ Diesel เวอร์ชันพิเศษ สำหรับตลาดเอเซีย ซึ่งรองรับการใช้น้ำมันที่มีค่ากำมะถัน
สูงอยู่ และไม่ได้ติตั้งตัวกรองอนุภาพ DPF (Diesel Particular Filter) มาให้ เวอร์ชันไทย กำลังเตรียมขึ้นสายการผลิตอยู่

และเพื่อเป็นการดักคอลูกค้าล่วงหน้าMercedes-Benz Thailand เลยขนเอา E500 คันสีช็อกโกแล็ต ลงเรือมา เรียกน้ำย่อย
กันก่อน ในการเปิดตัวรอบ Pre-Launch ที่โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ จัดกันตั้งแต่เช้าตรู่ วันที่ 24 สิงหาคม 2009

เมื่อการเตรียมตัว ทั้งฝึกอบรมช่าง พนักงานขาย ผู้จำหน่าย และเตรียมเรื่องอะไหล่กับบริการหลังการขาย พร้อมแล้ว
Mercedes-Benz Thailand ก็จัดงาน เปิดตัว E-Class ใหม่อย่างเป็นทางการ (ซะที) ที่ ลานมรกต เซ็นทรัล ชิดลม ค่ำวันที่
13 พฤศจิกายน 2009 ในช่วงแรก หากไม่นับรุ่น E-Class Coupe ที่เปิดตัวรุ่นพวงมาลัยขวา ครั้งแรกของโลก ในงาน
Bangkok International Motor Show ปลายเดือนมีนาคม 2009 แล้ว ตัวถัง Saloon จะมีเฉพาะรุ่น E250 CGI Avantgarde
นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน ด้วยราคา 4,649,000 บาท (แต่ถ้ามี Panoramic Glass Roof  ราคาก็เพิ่มเข้าไปเป็น 4,799,000 บาท)

แต่พอผ่านพ้นปีใหม่ 2010 มาได้เพียง 2 สัปดาห์ Mercedes-Benz ก็เปิดตัว E300 Avantgarde ประกอบในประเทศ
อย่างเป็นทางการเมื่อ 21 มกราคม 2010 พร้อมกับ S-Class Minorchange ประกอบ ในประเทศ และจัดทริปพากลุ่ม
สื่อมวลชน ไปทดลองขับกันที่ ภูเก็ต แวะพักที่กระบี่

จากนั้น ในงาน Bangkok Ingternational Motor Show มีนาคม 2010 รุ่น E200 CGI Blue Efficiency Elegance และ
E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde ประกอบในประเทศ จึงตามออกมาสมทบด้วยค่าตัวที่ย่อมเยากว่ากันนิดหน่อย
ทำตลาดมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และยังครองแชมป์ รถยนต์ Premium Midsize Saloon ที่ยขายดีที่สุดในเมืองไทย
ไปตามความคาดหมาย ตลอดทั้งปี 2010

E-Class Saloon W212 นั้น มีตัวถังที่ใหญ่โตขึ้นกว่า W211 รุ่นเดิม ในเกือบจะทุกมิติ แต่ก็ไม่ได้ใหญ่กว่าเดิมมากมายนัก
ความยาว ทั้งคันอยู่ที่ 4,868 มิลลิเมตร กว้าง 1,854 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาว 2,874 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถเปล่าๆ รุ่น E200 CGI Elegance อยู่ที่ 1,635 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 535 กิโลกรัม รวมน้ำหนักทั้งสิ้น
2,150 กิโลกรัม รุ่น E250 CGI Avantgarde อยู่ที่ 1,650 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 535 กิโลกรัม รวมน้ำหนักสูงสุด
2,185 กิโลกรัม และรุ่น E250 CDI Elegace หนักกว่าเพื่อน อยู่ที่ 1,735 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 545 กิโลกรัม
รวมน้ำหนักสูงสุด 2,280 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับ E-Class W211 รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,856 มิลลิเมตร กว้าง 1,822 มิลลิเมตร สูง 1,483 มิลลิเมตร 
ระยะฐานล้อ 2,854 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า ตัวรถยาวขึ้นแค่ 14 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 32 มิลลิเมตร เตี้ยลง 13 มิลลิเมตร แต่
มีระยะฐานล้อยาวกว่าเดิม 20 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ภายนอก มาในแนวเหลี่ยมสันมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม เน้นบุคลิกของรถให้ดูทะมัดทะแมงขึ้น จุดเด่นของงานออกแบบ
ในรถรุ่นนี้ ที่ช่วยจำแนกเอกลักษณ์พิเศษ เพื่อการจดจำ อยู่ที่ งานออกแบบชุดไฟหน้าของทุกรุ่น เปลี่ยนจากแบบ กลมคู่ ที่
เคยเรียกกันว่า New Eyes มาเป็นแบบ สี่เหลี่ยมคู่ เล่นแนวเส้นตัดกับทั้งกระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า และแนวขอบฝา
กระโปรงหน้า

รุ่น E200 CGI และ E250 CDI Elegance ในเวอร์ชันไทย ที่เห็นในรูปข้างบนนี้ จะใช้เปลือกกันชนหน้าแบบมาตรฐาน พร้อม
ไฟตัดหมอกหน้าแบบคู่ ขณะที่ E250 CGI Avantgarde (และ E300 Avantgarde กับ E500 Avantgarde) จะใช้ เปลือก
กันชนหน้าแบบสปอร์ต พร้อมไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นไฟส่องสว่างขณะขับขี่กลางวัน หรือ Daytime
Running Lights
ไปในตัว ผมพยายามจะปิดไฟนี้ทิ้ง แต่ก็ปิดไม่ได้แหะ มันเลยต้องเปิดส่องสว่างไว้ตลอดเวลาที่ผมขับรถ
อยุ่บนถนน ในช่วงกลางวัน

ในรุ่น E250 CGI Avatgarde และ E250 CDI Elegance จะติดตั้งชุดไฟหน้าแบบ Bi-Xenon พร้อมระบบปรับระดับโคมไฟหน้า
อัจฉริยะ หากคุณขับรถในยามค่ำคืน เมื่อต้องสวนทางกับรถคันข้างหน้า ไฟหน้าจะลดแสงสว่างลงให้เอง เพื่อลดการแยงตา
ผู้ขับขี่รถคันที่แล่นสวนมา และเฉพาะรุ่น E250 CGI Avantgarde จะมีที่ฉีดน้ำล้างไฟหน้ามาให้ทั้ง 2 ฝั่ง รุ่นอื่นไม่มีมาให้

นอกจากนี้ยังมี ระบบไฟส่องสว่างเพิ่มเติมขณะหมุนพวงมาลัย Cornerling Lamp ถ้าหมุนพวงมาลัยทางซ้าย ไฟคัดหมอก
ฝั่งซ้ายจะสว่างขึ้นมา และถ้าหมุนพวงมาลัยมาทางขวา ไฟคัดหมอก คู่ขวา ก็จะสว่างขึ้นตาม เพิ่มทัศนวิสัยในช่วงกลางคืน

กระจังหน้า ของ E-Class ใหม่ ยังคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเอาไว้ นั่นคือ เป็นลายซี่นอน ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า E200 CGI
Elegance และ E250 CDI Elegance จะใช้กระจังหน้าลายซี่นอน แบบ 4 เส้น ขณะที่รุ่น E250 CGI Avantgarde จะใช้
กระจังหน้า ซี่นอนแบบ 3 เส้น ส่วนกรอบประตูทั้ง 4 บาน ถูกพ่นเป็นสีดำ หมดเรียบร้อยแล้ว เหมือน C-Class ใหม่

ทุกรุ่น ติดตั้ง กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถัง มาพร้อมไฟเลี้ยวรูปตัว C บนฝังตัวบนกรอบพลาสติก เสาอากาศ เป็นแบบ
ครีบฉลาม ตามสมัยนิยม ส่วนกระจกหน้าต่าง ทุกคันจะเป็นแบบกรองแสง ด้วยสีชา โทนเขียว จากโรงงาน

อีกจุดเด่นในการออกแบบของ E-Class W212 อยู่ที่ แนวเส้นเหนือซุ้มล้อคู่หลัง ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก บรรพุบุรุษ
ต้นตระกูลนั่นคือ Mercedes-Benz 180 “Ponton” ส่วนชุดไฟท้ายเปลี่ยนแนวทางใหม่ กลับมาเป็นแบบเรียงตามแนวนอน
เป็นแบบ LED เช่นเดียวกับไฟเบรกดวงที่ 3 ขนาดยาว ก็เป็นแบบ LED เช่นเดียวกัน

ทุกรุ่น สวมเข้ากับยางขนาด 245/45 R17 โดยล้ออัลลอย 17 นิ้ว ของรุ่น E200 CGI Elegance และ E250 CDI Elegance
จะเป็นลาย 10 ก้านคู่ ขณะที่รุ่น E250 CGI Avantgarde จะเป็นล้ออัลลอย 17 นิ้ว ลาย 5 ก้านคู่ คล้ายแฉกดาว

E-Classs ใหม่ ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศต่ำเพียง Cd 0.25 เท่านั้น ถือได้ว่า เป็นรถยนต์นั่งที่ผลิคจำหน่ายจริง
Mass Production Car ซึ่งมีความลู่ลมมากที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา!!

การเปิดประตูเข้าสู่ห้องโดยสารนั้น ทุกรุ่นจะ ยังคงใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล Infared พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer
มีทั้งปุ่มปลด และสั่งล็อก รวมทั้งปุ่มเปิดฝากระโปรงหลัง เป็นมาตรฐาน แต่ยังไม่มีระบบ Keyless GO ซึ่งเพียงแค่ พกรีโมท
กุยแจไว้กับตัว เอานิ้วแตะกับมือจับประตู ให้ถูกตำแหน่งของมัน ระบบก็จะสั่งล็อก – ปลดล็อก ให้เดินเข้า – ออก จากรถ
แลัว กดปุ่มติดเครื่องยนต์ได้เลย มาให้แต่อย่างใด เพียงแต่ว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถ้าลูกค้าสั่งซื้อเพิ่มเติม Mercedes-Benz เขาก็
สามารถสั่งติดตั้งให้คุณได้ ในฐานะ “อุปกรณ์ตกแต่งพิเศษ หรือ Option”

จริงๆแล้ว สำหรับรถระดับนี้ KEYLESS GO น่าจะมีมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานได้แล้วนะครับ ผมว่านะ

เมื่อเปิดประตูกางออกมา บรรยากาศที่แปลกตาไปจาก Mercedes-Benz รุ่นหลังๆ ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ ชัดเจน สัมผัสได้เลย
ว่ามีกลิ่นอายของความสุขุม ดูภูมิฐานไปพร้อมกับความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ในรุ่น E200 CGI Blue Efficiency Elegance คันนี้
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ตกแต่งในแบบ Elegance เราจึงได้เห็นโทนสี Sahara Beige อ่อนๆ ตัดสลับกับลายไม้ Burr Walnut

ขณะที่รุ่น E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde จะตกแต่งด้วยโทนสีดำ ตัดกับเทาอ่อนๆจางๆ ที่เรียกว่า Basault Grey และ
ประดับหน้าปัด ด้วยลายไม้โทนสีเข้ม

Mercedes-Benz ยังคงออกแบบ แผงประตูข้าง ได้ดีเหมือนเช่นเคย พื้นที่วางแขน ยังคงใช้การได้ดีเยี่ยม มีแสงไฟ Ambient Light
แอบซ่อนอยู่ใต้ เพียงแต่ว่า แผงประตูด้านข้าง แม้จะวางเอกสารได้ แต่ยังไม่ใหญ่พอให้วางขวดน้ำ หรือแก้วน้ำเพิ่มเติมได้มากเกิน
ไปกว่าที่มีมาให้ 2 ตำแหน่งบนคอนโซลกลาง

ส่วนรุ่น E250 CDI Blue Efficiency Elegance นั้น ตกแต่งในแบบ Elegance ดังนั้น โทนสีและวัสดุที่ใช้ในห้องโดยสาร
จึงเหมือนกันกับที่คุณจะพบได้ใน E200 CGI Blue Efficiency Elegance ทุกประการ แทบไม่ผิดเพี้ยน

การเข้าออกจากตัวรถนั้น สำหรับผม ถือว่าสะดวกสบายตามปกติ ในแบบที่ รถยนต์ Premium Saloon ควรจะเป็นอยู่แล้ว
แต่สำหรับคนที่มีสรีระร่างใหญ่โต เท่าพญาคชสารอย่างตาแพน Commander CHENG ของพวกเรา ผู้มีน้ำหนักตัวมากถึง
140 กิโลกรัม แน่นอนว่า เขาจะหย่อนก้นลงนั่งหรือลุกออกจากตัวรถ ได้สะดวกสบายกว่า BMW 5 Series F10 ตัวใหม่
อย่างแน่นอน แพนบ่นว่า สำหรับ E-Class แล้ว ช่องกรอบทางเข้าห้องโดยสาร ของบานประตูคู่หน้า มีขนาดใหญ่กว่า
F10 ชัดเจน และ นั่นทำให้เขาแทบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในการเบียดตัวลงนั่งในห้องโดยสาร ของ E-Class
W212 ใหม่เท่าใดนัก

เบาะคู่หน้าของทุกรุ่น ปรับตำแหน่งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับพนักพิงเอนหลัง ไปจนถึง พนักศีรษะ ที่สั่งเลื่อน
ขึ้น-ลง ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ ที่เชื่อมกับการปรับตำแหน่งกระจกมองข้าง และพวงมาลัย
รวม 3 ตำแหน่ง แถมยังมีสวิชต์ กลมๆ ดำๆ แบนๆ ที่พลาสติกด้านข้างแถวๆเบาะรองนั่ง สำหรับปรับพนักพิง ให้ดันหลัง
ได้ตามตำแหน่งที่ต้องการด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกัน

รูปทรงของเบาะคู่หน้า แตกต่างจากรุ่นเดิม W211 พอสมควร โดยพนักพิงหลังนั้น ออกแบบมาให้รองรับสรีระบริเวณ
หัวไหล่ค่อนข้างดี ขณะเดียวกัน พนักศีรษะ จะค่อนข้างแข็งนิดนึง แต่ไม่ถึงกับแข็งมาก เบาะรองนั่ง คนขับมีความยาว
พอดีๆ ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า เบาะรองนั่งของ E-Class จะไม่หนานัก และมีรุปลักษณืชวนให้นึกถึงเบาะนั่งของรถยนต์
Mercedes-Benz รุ่นเก่าๆ หลายรุ่นอยู่เหมือนกัน

เบาะนั่งคู่หน้าของ E200 CGI Blue Efficiency Elegance เดินแนวตะเข็บด้วยลายเส้นตรงแนวตั้ง ชวนให้นึกถึง E-Class
รุ่นเก่าๆ เป็นอย่างมาก

ขณะที่ E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde จะมีลายตะเข็บบนเบาะ ทั้งคู่หน้า และเบาะหลัง แตกต่างจาก รุ่น E200 CGI
คือ เป็นลายตะเข็บแนวตรงขวาง เหมือนกับใน E300 ที่ผมเคยลองขับมาก่อนหน้านี้ แต่ในภาพรวมแล้ว โครงสร้างของเบาะ
คู่หน้า ก็แทบไม่ต่างกันเลย

พื้นที่วางแขน ตรงคอนโซลกลาง ที่กั้นระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ออกแบบมาให้สะดวกต่อการวางแขนของผู้ขับขี่พอใช้ได้
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ และพื้นที่วางขา ก็ยังคงปลอดโปร่งโล่งสบาย และทำได้ดีสมกับที่เป็น Mercedes-Benz

เพียงแต่ว่า วัสดุหุ้มเบาะ ของทุกรุ่นเป็นหนัง แม้จะดูเหมือนว่าใช้หนังคุณภาพดี แต่ผิวสำผัส ก็ยังค่อนข้างแข็งอยู่ เมื่อเทียบกับ
คู่แข่งคันอื่นๆ ในตลาด ข้อดีมีอยู่บ้างก็คือ เมื่อผ่านการใช้งานอย่างหนัก เบาะหนังแบบนี้จะเสื่อมสภาพช้ากว่า เบาะที่หุ้มด้วย
หนังซึ่งนุ่มและลื่นมือกว่านี้ ชัดเจนมาก ผมสังเกตจากรถทดลองขับ Demo Car ที่ใช้งานมาแล้ว 31,000 กิโลเมตรเศษๆ ใน
E250 CDI พบว่า สภาพข้างในยังคงเหมือนรถใหม่ออกจากโชว์รูมเกินกว่า 95 % ขณะที่เบาะหนังแบบนุ่มลื่นมืออย่างที่ผม
ชื่นชอบ ใน Volvo S80 มันเริ่มส่อให้เห็นวี่แววจะเสียรูปทรงไปตั้งแต่ 2,500 – 3,000 กิโลเมตรแรกแล้ว ถ้าคุณใช้แบบ ไม่ดูแล
รักษาอย่างทะนุถนอมเลย อย่างที่รถ Demo ส่วนใหญ่เจอกันมา

ส่วนรุ่น E250 CDI ก็จะมีลายตะเข้บตรงกลางเบาะคู่หน้า เหมือนกับรุ่น E200 CGI นอกนั้น อุปกรณ์ติดตั้งจากโรงงาน
จะแทบไม่แตกต่างกันมากนัก

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากใน E-Class ใหม่ก็คือ ทันทีที่คุณขึ้นมานั่งบนเบาะนั่ง แล้วคาดเข็มขัด ระบบเข็มขัดนิรภัยแบบ
ELR 3 จุด ทั้ง 5 ตำแหน่ง มีระบบผ่อนแรง และดึงรั้งกลับเองอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter จะทำการ ดึงกระชับ
สายเข็มขัด ให้กระชับตัว เพื่อวัดขนาดสรีระผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพื่อจะรัดตรึงทุกคนให้อยู่กับเบาะนั่ง ได้ถุกต้อง ไม่แน่น
รัดหน้าอกมากเกินไปขณะเกิดการชน เวลานี้ E-Class ใหม่ ดูเหมือนเป็นรถยนต์รุ่นเดียวในพิกัด ที่มีเทคโนโลยีเข็มขัด
นิรภัยแบบรั้งตัวผู้ขับ วัดขนาดก่อนล่วงหน้าแบบนี้

เมื่อเปิดประตูหลัง….เอ่อ… เพื่อไม่ให้มันติดเรต ก็คงต้องเปลี่ยนไปใช้เป็นคำว่า เมื่อเปิดประตูทางเข้าผู้โดยสารด้านหลัง
จะพบว่า ช่องทางเข้า มีความยาวเพิ่มขึ้นจาก W211 รุ่นเดิม 11 มิลลิเมตร ทำให้การก้าวเข้า ออก จากรถ ทำได้สะดวกขึ้น
กว่าเดิมนิดนึง  ขอบทางเข้าด้านบน ช่วยลดโอกาสที่ศีรษะจะโขกเข้าไป ได้พอสมควร นี่ละ ผลของการเพิ่มระยะฐานล้อไง!

แผงประตูด้านข้าง ราวกับถอดแบบตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หน้ามาเลยทีเดียว แต่มีช่องใส่ของขนาดเล็กมาก
ใต้ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง จะมีช่องเขี่ยบุหรี่มาให้ทุกรุ่น เช่นเดียวกับ ช่องใส่หนังสือ ด้านหลังพนักพิง
เบาะคู่หน้า

บานประตูทุกบาน จะมีไฟส่องสว่างยามค่ำคืน เพื่อช่วยให้รถคันที่แล่นตามมาข้างหลัง ไม่ว่าจะมุมมองไหน ได้รู้ว่า
รถของคุณ กำลังเปิดประตูอยู่ ใช้ความระมัดระวังด้วย จะได้ไม่ต้องเจออุบัติเหตุ อย่างน้องฮ้ง น้องรอบข้างผมคนหนึ่ง
ใน TIIDA Club ที่โดนรถ 6 ล้อ มาสอยประตูฝั่งคนขับ ทั้งที่ฮ้งกำลังเปิดประตูจะขึ้นรถ แถมรถของตนยังจอดริมถนน
ค่อนข้างลึกมากพอที่น่าจะรอดพ้นได้แล้ว ก็ยังไม่รอด

ท่านใดที่เปิดประตูขึ้น-ลงจากรถ ในบริเวณริมถนน ที่มีการสัญจรพลุกพล่าน ก็ขอให้ใช้ความระมัดระวังกันนิดนึงนะครับ
เพราะต่อให้มีไฟส่องสว่างอย่างที่ E-Class คันนี้มี ถ้าพวกขับรถชุ่ยๆ มันไม่สนใจ ไม่ทันระวัง โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุ
ก็มีสูงอยู่ดีครับ

 

เบาะหลังของ E-Class ใหม่นั้น ค่อนข้างแข็ง และอาจจะนั่งไม่สบายเท่ากับเบาะของ BMW 5 Series และ Volvo S80
คือนอกจากจะไม่ถึงกับนุ่มด้วยเหตุที่ฟองน้ำเสริมบุข้างในค่อนข้างแข็งราวกับเพื่อตั้งใจให้มันคงรูปได้นานหลายปีแล้ว
พนักพิงหลังเอง ก็ยังเรียบไปสักหน่อย ไม่ซัพพอร์ตบริเวณไหล่ให้สบายเท่าที่ควร

ส่วนเบาะรองนั่งนั้น มีขนาดสั้นไปนิดหน่อย เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เหลือ ถึงแม้จะรองรับบั้นท้ายได้นุ่มกำลังดี แต่ด้วยความที่
มันสั้นไปหน่อย ทำให้นั่งไม่เต็มที่ เบาะรองนั่งไม่รองรับมาถึงข้อพับ ทำให้นุึกถึงเบาะหลังของ Honda Accord รุ่นที่ 7
ซึ่งแม้ว่า เบาะของ E-Class ใหม่ จะไม่เลวร้ายเท่านั้นแน่ๆ แต่ ก็มีเบาะรองนั่งที่สั้นไป ใกล้เคียงกันเลย พนักศีรษะของเบาะหลัง
มีขนาดใหญ่ มาเป็นก้อน แต่แอบแข็งนิดหน่อย ด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัย ในการปกป้องศีรษะขณะเกิดอุบัติเหตุ แต่สามารถ
พับลงมาได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ใต้แผงสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง บนแผงหน้าปัด

เบาะหลังของ E200 CGI Blue Efficiency Elegance เดินแนวเส้นตะเข็บเป็นลายเส้นตรงแนวตั้ง เหมือนกันกับเบาะหน้า

ส่วนเบาะหลังของ E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde ก็จะเดินแนวเส้นตะเข็บลายเส้นตรงแนวขวาง อย่างที่เห็น

แต่ประเด็นหนึ่งที่ E-Class ใหม่ เหนือกว่า ทั้ง BMW 5 Series และ Volvo S80 ก็คือ พื้นที่วางขาด้านหลัง ซึ่งเพิ่มขึ้น
จากรถรุ่นก่อน 11 มิลลิเมตร ยิ่งมีพื้นที่วางขาด้านยาวขึ้นเท่าใด ความสบายในการเดินทางไกลของผู้โดยสารบนเบาะ
หลัง ก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าหากคุณเป็นคนที่มีสรีระผอมบาง คิดจะนั่งไขว่ห้าง เต๊ะท่าสูบไปป์ คราวนี้ก็ทำได้
ถนัดแล้ว  เพียงแต่ ต้องยอมรับว่า พื้นที่วางขาของ E-Class ยังน้อยกว่า Skoda Superb ชัดเจน อีกทั้งเบาะหลัง ของ
E-Class ใหม่ ก็ยังไม่สามารถพับลงมาเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของได้

นั่นเลยกลายเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกันอย่างประหลาด ระหว่าง 2 ยักษ์เยอรมัน ในการทำรถยนต์ประเภทนี้ กล่าวคือ
BMW จะทำเบาะหลังของ 5 Series รุ่นใหม่ออกมาได้นุ่มสบายกว่า E-Class แต่พื้นที่วางขากลับมาน้อยกว่า E-Class
นั่งแล้วผู้ใหญ่หลายคนอาจรู้สึกอึดอัดกว่า ขณะที่ E-class ใหม่ พื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง กว้างกว่า โล่งกว่า
แต่เบาะหลัง ก็ยังไม่สบายเท่ากับ 5 Series

เหมือนว่า 2 ค่ายนี้ เขาจะแอบไปคุยกันมาก่อนหรือเปล่าไม่รู้ ว่า เดี๋ยวเธอทำเบาะแบบนั้นนะ ฉันจะทำพื้นที่วางขาแบบนี้?

E250 CDI Blue Efficiency Elegance  ลายของเบาะหลัง จะเป็นแนวตะเข็บเส้นตรง แนวตั้ง เหมือน E200 CGI นั่นเอง

พื้นที่เหนือศีรษะ ของผู้โดยสารด้านหลัง สำหรับรถยนต์ Premium Midsize Saloon ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะลูกค้า
จำนวนไม่น้อย ที่จะใช้ชีวิตอยู่บนเบาะหลังของรถ มากกว่าเบาะคนขับ และมันต้องมีความปลอดโปร่งพอสมควร สำหรับ
E-Class ใหม่แล้ว ต่อให้คุณจะตัวสูงแตะ 185 – 190 เซ็นติเมตร คุณก็จะไม่มีปัญหากับพื้นที่เหนือศีรษะเลย เมื่อต้องนั่ง
บนเบาะหลัง

ทุกรุ่น มีม่านบังแดดที่กระจกมองหลัง และที่กระจกหน้าต่างด้านข้างมาให้เหมือนกันหมด เช่นเดียวกับ พนักวางแขน
แบบพับเก็บได้ ซึ่งมีความยาวพอดีๆ แต่อาจมีรูปแทรงที่ดูทื่อมะลื่อไปนิดนึง เมื่อเปิดฝาขึ้นมาจะพบช่องใส่ของขนาด
เล็ก พอให้วางซองเอกสารหรือข้าวของสำคัญส่วนตัวได้นิดหน่อยเท่านั้น และมีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ซึ่งต้องกดปุ่ม
เพื่อยกหงายกางออกมาใช้งาน และมีเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ครบทั้ง 3 ที่นั่ง รวมทั้งพนักศีรษะสำหรับผู้โดยสารคนกลาง

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังของทั้ง 3 รุ่นนั้น เหมือนกันหมด ดังนั้น จึงขอจับรวบยอดอธิบายด้วยรูปเพียงชุดเดียวไปเลย
จะสะดวก (ต่อคนทำรีวิว) มากกว่า แหะๆๆ

แม้ว่าฝากระโปรงหลังของรุ่น E500 จะเป็นระบบไฟฟ้า พร้อมสวิชต์ เปิด – ปิด พร้อมระบบดีดกลับเมื่อเจอศีรษะหรือ
อวัยวะของคุณไปกีดขวางมันเข้า แต่อย่าได้หวังจะพบอุปกรณ์ดังกล่าว ในรถรุ่นประกอบในประเทศทั้ง 3 คัน ในรีวิวนี้

เพราะการเปิดฝากระโปรงหลังของ E-Class ใหม่ แม้จะใช้สวิชต์ไฟฟ้า ทั้งจากแผงประตูด้านข้างคนขับ หรือบริเวณ
แผงโลหะเหนือป้ายทะเบียน ไปจนถึงสวิชต์บนรีโมทกุญแจ ทันทีที่เปิดฝากระโปรงหลัง คุณควรระมัดระวังขอบล่าง
ของฝากระโปรง ดีดขึ้นมาเสยปลายคางของคุณ มันแรงน้องๆ หมัด upper-cut ของ เขาทราย แกแล็กซี กันเลยทีเดียว
และอาจจะทำให้คุณหน้าหงายล้มลงไปกองกับพื้น รอกรรมการนับสิบ ได้เลย! ไม่เข้าใจเลยจริงๆว่า ทั้งที่เขียนตำหนิ
ไปแล้ว ในรีวิว E200 NGT รุ่น W211 ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2008 แต่ทำไม ฝากระโปรงหลังของรถรุ่นใหม่ ยังคงดีดตัวขึ้น
อย่างรุนแรง จากสปริงที่ซ่อนอยู่ข้างใน หรือคงต้องรอให้มีลูกค้าฝรั่งตาน้ำข้าวสักคนบาดเจ็บจนเกิดกรณีฟ้องร้องใน
สหรัฐอเมริกาเสียก่อนหรือเปล่า ถึงจะได้หาทางแก้ไขกันละเนี่ย?

ฝากระโปรงหลังมีแผงสะท้อนแสงสามเหลี่ยม ติดมาให้ ในกรณีที่คุณต้องจอดรถเปลี่ยนยาง ขณะเดินทางไกล
พร้อมกับสวิชต์ล็อกฝากระโปรงท้าย หลังเปิดใช้งานเสร็จแล้ว สามารถปลดล็อกได้จากสวิชต์ภายในรถ และที่รีโมท
กุญแจ แต่จะเดินมาเปิดฝากระโปรงเองดื้อๆ ระบบก็จะไม่เปิดให้คุณครับ

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง 540 ลิตร (ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน) ตัวเลขค่อนข้างเยอะ ถ้าเทียบกับรถยนต์ทั่วไป
ดูเหมือนว่าจะใส่ถุงกอล์ฟได้ 3 ถุงแน่ๆ แถมด้วยกระเป๋าเสื้อผ้าเดินทางแบบหิวพกติดตัวได้ อีกสัก 2 ใบ แต่ถ้าอยากรู้ว่า
ขนาดน่าจะใหญ่โตประมาณไหน วิธีการทดลองที่ง่ายที่สุด ไม่เสียเวลา และไม่ต้องคิดอะไรให้มากความที่สุด ก็คงจะต้อง
เป็นวิธีการเดิมๆ ที่ผมเคยใช้มาแล้ว กับรถยนต์หลายๆรุ่น หลายๆยี่ห้อ…..และพักนี้ ไม่ค่อยได้ใช้วิธีการนี้แล้วสักเท่าไหร่

เชื่อไหมว่า ผมสามารถเข้าไปนอนได้อย่างสบายๆ แถมยังมีพื้นที่เหลือมากพอให้กลิ้งตัวไปมาอีกสัก 2-3 ตลบด้วยเถอะนั่น!
นี่ถ้าได้หมอนมาสักใบหนึ่ง ผมจะหลับสบายไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว…แต่ถ้าใครจะมาปิดประตุรถ ผมก็ไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่
เพราะมีการติดตั้ง ที่เปิดฝากระโปรงหลัง จากด้านใน มาให้ในกรณีที่มีเด็กน้อยหนีเข้าไปเล่นซ่อนแอบ แล้วอยากจะหาทางออก

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ขนาดมาตรฐาน พร้อมล้ออัลลอย และแม่แรงยกรถ พร้อมเครื่องมือ
ที่จำเป็นอีกเพียงนิดหน่อย ไม่มากนัก เมืองไทย ยังคงไม่คุ้นชินกับการใช้ยางแบบ Run Flat Tyre ด้วยเหตุผลของ
ค่ายางที่จะต้องเปลี่ยนแต่ละครั้ง ยังค่อนข้างแพงอยู่ ถ้าไม่ได้การรับประกันแบบเบ็ดเสร็จ ก็คงไม่คุ้มที่จะเปลี่ยน
มาใช้ยางแบบ Run Flat ในตอนนี้

บรรยากาศของห้องโดยสาร ถูกออกแบบให้เน้นความสบาย ราวกับการได้เปิดประตูเข้ามานั่งอยู่ในบ้าน สถานที่ซึ่ง
ทำให้คุณรู้สึกได้ถึงอีกโลกหนึ่งที่สงบอย่างแตกต่าง ในทันทีที่ปิดประตูรถและนั่งอยู่บนเบาะ เสียงรบกวน ความ
ตึงเครียด และความวุ่นวาย ในชีวิตประจำวันจะถูกล็อกเอาไว้ให้อยู่แต่ด้านนอกของตัวรถ

แผงหน้าปัด ออกแบบในทรงเหลี่ยมสัน เน้นควยามสะดวกในการใช้งาน และอ่านข้อมูลขณะขับขี่เป็นหลัก
และคราวนี้ตำแหน่งชุดมาตรวัด กับพวงมาลัย ก็ยังคงแอบเยื้องไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย พอให้จับสังเกตได้นิดนึง
เหมือนเช่นที่เราเคยพบมาแล้วใน E-Class W211 รุ่นก่อน และ Mercedes-Benz อีกหลายรุ่น ตามเคย อยู่ดี

ในรุ่น E200 CGI Blue Efficiency Elegance ตกแต่งด้วยโทนสีเบจ และใช้งานไม้ Burr Walnut ทำให้บรรยากาศ
ภายในรถดูสว่าง และโปร่งสบายตา

ขณะที่รุ่น E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde (เริ่มรำคาญกับการเขียนชื่อรุ่นยาวเฟื้อยแบบนี้แล้วแหะ)
จะมาในโทนสีดำ ตัดกับสีเทาอ่อนๆ

ทุกรุ่น มีไฟอ่านหนังสือมาให้ทั้งด้านหน้า 2 ตำแหน่ง ซ้าย – ขวา และที่เพดาน เหนือศีรษะผู้โดยสารด้านหลัง
อีก 2 ตำแหน่ง ส่วนแผงบังแดด เป็นแบบมีฝาปิด พับเก็บได้ แต่ไม่มีไฟส่องแต่งหน้ามาให้ คงเพราะคิดว่า
ไฟอ่านหนังสือนั่น น่าจะเพียงพอสำหรับสุภาพสตรีที่จะใช้แต่งหน้าให้ละเอียดอยู่แล้ว และยังมีกะจกมองข้าง
กับกระจกมองหลัง ตัดแสงอัตโนมัติขณะขับรถกลางคืน ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

และรุ่น E250 CDI Blue Efficiency Elegance ก็จะตกแต่งแบบเดียวกับ E200 CGI ทุกรุ่นจะมีการประดับ Trim
การตกแต่ง ด้วย โครเมียมให้เยอะที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฐานแป้นเกียร์ คันเกียร์ หัวเกียร์ แผงประตูด้านข้าง สวิชต์
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า พวงมาลัย ฯลฯ อีกมากมาย

มาดู การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์พื้นฐานที่ต้องใช้ร่วมกันทุกรุ่นก่อน

พวงมาลัยของทุกรุ่นมีขนาดใหญ่ เป็นแบบ 4 ก้าน หุ่มด้วยหนังแบบ Nappa คอพวงมาลัย สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ
และปรับระยะใกล้ – ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ที่คอพวงมาลัยฝั่งซ้ายมือ มากถึง 25 มิลลิเมตร จากตำแหน่ง
ที่ปรับตั้งมาจากโรงงาน ถือว่าปรับระดับได้มากที่สุดในบรรดารถยนต์ในกลุ่ม Premium Midsize ด้วยกันทั้งหมด

สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เป็นแบบ One-Touch กดครั้งเดียว ทำงานได้ทั้งขาขึ้น และขาลง ครบทั้ง 4 บาน ส่วน
สวิชต์ปรับกระจกมองข้าง ใช้งานง่าย ไม่ยากอย่างที่คิด ถ้าเข้าเกียร์ถอยหลัง แล้วกดเลือกสวิชต์กระจกมองข้างฝั่งซ้าย
มันก็จะปรับตัวเองสะท้อนภาพ กดลงไปยังพื้นถนน เพื่อช่วยให้การถอยรถเข้าจอดริมถนน ไม่ไปเบียดขอบฟุตบาธ

สวิชต์ ปรับเบาะคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้า ด้วยไฟฟ้า มีหน่วยความจำมาให้มากถึง 3 ตำแหน่ง จะใช้งาน ก็ให้
กด M ค้างไว้ 1-2 วินาที แล้วก็กดตัวเลข ตำแหน่งหน่วยความจำ ที่เราต้องการให้ระบบมันจำตำแหน่งเบาะคนขับ
กระจกมองข้าง และตำแหน่งพวงมาลัย เอาไว้

คันเร่งจะเป็นแบบ Organ Type หรือมีรูปทรงแบบแป้นเหยียบของ เครื่องดนตรีอย่าง ออร์แกน ซึ่งจะช่วยตัดปัญหา
คันเร่งค้าง จากพรมปูพื้นไปติดใต้คันเร่ง อย่างรถทั่วๆไปได้แน่นอน ส่วน เบรกมือ จะยังคงเป็นแบบ แป้นเหยียบ
เรียกว่า เบรกจอด หรือ Parking Brake ติดตั้งอยู่ฝั่งซ้ายมือสุดของ พื้นที่วางขา หรือถ้าให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ตำแหน่ง
เดียวกับแป้นคลัชต์ ในรถเกียร์ธรรมดานั่นแหละ จะใช้งาน ก็เหยียบแป้นให้จมลึก แต่ถ้าจะปลดเบรกจอดออก ต้อง
ไปดึงคันโยก สีดำ บริเวณ ใต้สวิชต์เปิดไฟหน้า และไฟตัดหมอก วึ่งตอนที่ดึงออกมา เสียงจะดัง ชวนให้ตกใจอยู่
สักหน่อยนะครับ

ในรุ่น E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde นั้น จะแตกต่างจากรุ่นอื่น ตรงที่ ชุดมาตรวัด 5 วงกลม จะถูกรองพื้น
ด้วยแผงประดับสีเงิน Silver ขณะที่รุ่นอื่นๆ จะรองพื้นด้วยสีดำตามปกติ

ส่วนรุ่น E250 CDI Blue Efficiency Elegance ก็จะตกแต่งภายในด้วยโทนสีเหมือนกับ E200 CGI Blue Efficiency
Elegance เพียงแต่ชุดมาตรวัด จะแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น

ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control ติดตั้งเป็นก้านสวิชต์โยก บริเวณคอพวงมาลัยฝั่งซ้ายมือ ด้านบนสุด
เหนือก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว และใบปัดน้ำฝน การใช้งานค่อนข้างง่าย คือ แค่กระดิกก้านสวิชต์ ถ้ากระดิกขึ้น ก็เท่ากับล็อก
ความเร็วให้สูงขึ้น ถ้ากระดิกก้านสวิชต์ลง หรือ เหยียบแป้นเบรก คือยกเลิกการทำงาน มีมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ครบทุกรุ่น!

ข้อดีที่แตกต่างจากรถยี่ห้ออื่น ก็คือ มีการติดตั้งระบบ Speed Limit วิธีใช้งาน ก็แค่กดลงไปที่ก้านสวิชต์ จนไฟสีเหลือง
สว่างขึ้น เพื่อช่วยล็อกความเร็วสูงสุดเอาไว้ไม่ให้เกินไปกว่าระดับที่คุณตั้งใจ เพื่อไม่ให้ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด
สมมติว่า ล้อกเอาไว้ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อให้คุณจะเหยียบคันเร่งจมมิด แค่ไหนก็ตาม รถก็จะแล่นให้คุณเพียง
แค่ 110 กิดลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น ถ้าต้องการปลดระบบออก ก็กดลงไปบนก้านสวิชต์เดียวกัน จนไฟสีเหลืองดับลง

แต่ข้อที่ควรปรับปรุงคือ ด้วยเหตุที่ตำแหน่งติดตั้งของมัน อยู่ใกล้กับ ก้านสวิชต์ไฟเลี้ยวค่อนข้างมาก ดังนั้น โอกาสที่
คนซึ่งไม่เคยขับ Mercedes-Benz รุ่นหลังๆมาก่อน จะเอามือไปเปิดระบบ เพราะคิดว่าเป็นก้านไฟเลี้ยวนั้น เป็นไปได้
ค่อนข้างสูงอยู่ อย่างน้อย ตาแพน Commander CHENG! ของเรา ก็ทำแบบนี้มาแล้ว 2-3 ครั้ง

มาตรวัดของทุกรุ่นถุกออกแบบมาให้เป็นแบบ 5 วงกลม 2 วงซ้าย และ 2 วงขวา ซ้อนกัน เน้นให้มีไฟสัญญาณเตือน
เท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ทุกรุ่น จะติดตั้งจอ Multi Information ตรงกลาง มาตรวัดความเร็ว เหมือน Mercedes-Benz
รุ่นใหม่ๆ รุ่นอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นได้ทั้ง มาตรวัดระยะทางแบบ Trip Meter (มีเพียง Trip เดียว ไม่มีแยก Trip A
หรือ B มาให้ ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้ามีมาให้สักหน่อย ก็น่าจะดี สำหรับคนที่ต้อง จับระยะท่าง 2 รูปแบบพร้อมกัน) แสดง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเฉลี่ย หรือ แบบ Real-Time ระยะเวลาที่ใช้ไปในการขับขี่ เริ่มตั้งแต่ติดเครื่องยนต์
ครั้งแรก ตามที่ตั้งไว้ ระยะทางที่น้ำมันซึ่งยังเหลืออยู่ในถัง จะพอให้รถแล่นต่อไปได้ แสดงผล เป็นเข็มทิศ Digital
แสดงความเร็วของรถในแบบ Digital แถมยังเป็นหน้าจอของการปรับตั้งค่า อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถ ใช้เป็นหน้าจอ
ของโทรสัพท์ เมื่อต่อเชื่อมเข้ากับระบบ Bluetooth และที่สำคัญคือ ยังเป็นหน้าจอที่ใช้แสดงผลการทำงานของชุด
เครื่องเสียง ได้อีกด้วย ทั้งเปลี่ยนคลื่นวิทยุ หรือเปลี่ยน Trackใน CD ก็สามารถเลือกแสดงผลขึ้นหน้าจอได้ทันที

การควบคุม ก็ใช้ สวิชต์ วงกลม ฝั่งซ้ายมือบนพวงมาลัยนั่นละครับ ขึ้นหน้า ถอยหลัง ซ้าย ขวา และปุ่ม OK ตรงกลาง
นั่นละครับ เพียงแต่ว่า ถึงแม้ทีมออกแบบจะพยายาม ลดการละสายตาจากถนน ด้วยวิธีการนี้ แต่ในความเป็นจริง กว่า
ที่คุณจะเข้าถึงแต่ละเมนูนั้น ก็คงต้องละสายตาออกจากถนนอยู่ดี แถมอาจต้องละออกมานานนิดนึงด้วยซ้ำ เพราะจะ
เมนูใช้งานที่ต้องการ มันก้ไม่ง่าย ไม่ใช่แบบ เจอปุ๊บ ก็คลิกใช้งานได้ปั๊บทันที

สรุปว่า ไอเดียดี ความคิดดี ความตั้งใจดี ความพยายามดี แต่ Logic ในการใช้งาน ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะใช้งานยาก
อยู่เหมือนกัน สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องอีเล็กโทรนิคส์ คงปวดหัวกบาลแยกกันเลยทีเดียว ฝากไปปรับปรุ่งแก้ไขในรถรุ่น
ต่อๆไป ทุกรุ่นด้วยจะดีมากครับ

ส่วนหน้าจอของรุ่น ขุมพลัง Diesel หรือ E250 CDI Blue Efficiency Elegance นั้น จะต่างกันตรงที่ ตัวเลขในมาตรวัด
รอบเครื่องยนต์ จะลดน้อยลงไปสักหน่อย นตามธรรมเนียม เนื่องจาก เครื่องยนต์ดีเซล จะทำงานได้ในรอบที่ไม่สูงเท่า
เบนซินเลยไม่รู้ว่าจะทำตัวเลขรอบ / นาที ให้เยอะเกินจำเป็นไปทำไม ทีมวิศวกร เลยออกแบบมาให้ดูอย่างที่เห็น

ในรุ่น E500 และ E300 ที่เคยผ่านมือมา คันเกียร์แบบ 7G-TRONIC จะอยู่ที่คอพวงมาลัย เป็นสวิชต์เล็กๆ แต่ในรถรุ่นที่ใช้เกียร์
อัตโนมัติ 5 จังหวะ อย่างเช่นทั้ง 3 คันนี้ จะยังมีคันเกียร์ ติดตั้งให้ใช้งานอยู่ เพื่อคงความรู้สึกในการขับรถยนต์ยุคปัจจุบันเอาไว้
สำหรับลูกค้าอีกไม่น้อย ที่อาจไม่คุ้นชิน กับคันเกียร์รูปแบบใหม่ๆ

คอนโซลกลาง จะมีจอมอนิเตอร์ 7 นิ้วมาให้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น จอดังกล่าว จะแสดงผลให้กับ ระบบสวิชต์หมุนตรง
บริเวณ ถัดจากคันเกียร์ลงไป ควบคุมได้ทั้ง ชุดเครื่องเสียง และระบบต่างๆ ภายในรถ

เครื่องปรับอากาศของ E200 CGI เป็นแบบ THERMATIC แยกฝั่งซ้าย – ขวา เฉพาะตอนหน้า ส่วนด้านหลัง มีช่องแอร์สำหรับ
ผู้โดยสารตอนหลัง แยกออกไปให้ ตรงด้านหลัง กล่องเก็บของที่คั่นกลางระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า

ชุดเครื่องเสียงของ E-Class W212 ทุกรุ่น เป็นแบบ Audio 20 พร้อมเครื่องเล่น CD/DVD/MP3 แบบ 6 แผ่น in Dash พร้อม
หน่วยความจำ 40-GB และสล็อดสำหรับเสียบ SD Memory Cards ไว้อ่านไฟล์เพลงจากในการ์ดได้

แต่เฉพาะในรุ่น E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde นอกเหนือจากชุดเครื่องเสียง Audio 20 แบบปกติแล้ว ยังมีระบบ
COMAND APS Multimedia System ให้เลือกติดตั้งเพิ่มเติมด้วย ระบบนี้ จะประกอบด้วยจอมอนิเตอร์ 7 นิ้ว พร้อมระบบ
นำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System แสดงผลและข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ ระบบโทรศัพท์ แบบมี Bluetooth ในตัว
ควบคุมความบันเทิงได้ ผ่านระบบสั่งการด้วยเสียง (LINGUATRONIC)  ควบคุม การทำงานได้จาก สวิชต์ MultiFunction
บนพวงมาลัย

อีกทั้งเครื่องปรับอากาศยังจะต่างจากรุ่นอื่น ตรงที่ยกระดับเป็นระบบ THERMOTRONIC นอกจากแยกฝั่ง ซ้าย – ขวา
ที่ด้านหน้าแล้ว ยังมีสวิชต์ควบคุมระบบ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง มาให้ด้วย เช่นในรูปถัดลงไปข้างล่าง มาพร้อมกับ
ฟังกชันการทำงาน ที่เลือกได้ 3 Mode เริ่มจาก “Diffuse” สำหรับคนที่อยากได้ความเย็นในแบบเอื่อยๆ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ
ถ้าต้องการลมแรงขึ้น ให้เลือกไปที่ “Medium” หรือ เลือกใน Mode “Concentrated” เพื่อตั้งอุณหภูมิเฉพาะสำหรับพื้นที่
ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิและกระแสลมบริเวณพื้นห้องโดยสารให้ เย็นขึ้นหรืออุ่นขึ้น
แตกต่างจากอุณหภูมิของห้องโดยสารได้อีกด้วย

ดูเหมือนว่า แผงควบคุมชุดเครื่องเสียง จะมีปุ่มเยอะไปหมด แต่ปุ่มหลักๆที่ถูกใช้งานบ่อยๆ จะมีรูปทรงแตกต่าง และ
โดดเด่นพอให้ผู้ขับขี่สามารถคลำหาใช้งานได้ โดยไม่ต้องละสายตาจากถนน แต่จะว่าไป ในเมื่อ ควบคุมได้จากบน
พวงมาลัยแล้ว จะต้องไปกดที่แผงสวิชต์กันอีกทำไมกันหว่า?

ส่วนรุ่น E250 CDI ก็จะมีเครื่องปรับอากาศมาให้แค่แบบ THERMATIC เช่นเดียวกับ E200 CGI ผมชอบการออกแบบ
สวิชต์เครื่องปรับอากาศของ E-Class รุ่นนี้มาก เพราะใช้งานง่าย แม้จะอยู่ในตำแหน่งเตี้ยไปหน่อย แต่แค่กระดิกนิ้ว
ลงไปบนสวิชต์ที่ต้องการใช้งาน ทุกอย่าง ก็ควบคุมได้โดยง่าย ทันที

ข้อเสียของเครื่องปรับอากาศใน E-Class ใหม่ทุกรุ่น อันที่จริง ต้องพูดถึง Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ ด้วยนั่นแหละ คือ
ระบบจะถูกปรับตั้งมาให้ เปิดรับอากาศข้างนอก ถ่ายเทเข้ามาในรถ ซึ่งสามารถปรับตั้งได้จากศูนย์บริการ ว่าให้เปิดรับ
อากาศ ทุกๆ 15 หรือ 30 นาที ปัญหาคือ มันเหมาะกับสภาพอากาศที่มีมลพิษน้อยๆ อย่างในสวิสเซอร์แลนด์ เบลเยียม
เยอรมัน แต่ไม่ใช่กับกรุงเทพมหานคร เมืองในฝัน อันเต็มไปด้วยหมอกจางๆและควัน ซึ่งคล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้
(แทบจะร้องออกมาเป็นเพลงเก่า พี่เบิร์ด เขาแล้วเชียว) ขับๆอยู่ ได้กลิ่นควันจากนอกรถเข้ามา ก็รู้เลยว่า ต้องเอื้อมมือ
ไปปิดสวิชต์ ให้อากาศมันหมุนเวียนแค่ภายในรถก็พอ

รู้อยู่เต็มอกครับว่า ตามหลักการที่ถูกต้อง เราควรจะเปิดรับอากาศถ่ายเทจากภายนอกเข้ามา เพื่อให้มีอ๊อกซิเจน เพิ่มขึ้น
คนขับจะได้ไม่ง่วงนอน ลดอุบัตอิเหตุ แต่ สำหรับบ้านเราแล้ว อากาศภายในรถ มันยังจะบริสุทธิ์มากกว่า อากาศจาก
ภายนอกเลย ดังนั้น อยากจะฝากให้ลองหาทาง แก้ไขโปรแกรมของระบบ คือ ปลดการทำงานของระบบอัตโนมัตินี้
ทิ้งไปเลยได้ไหมครับ ขนาด BMW ตอนนี้ เขายังทำระบบเดียวกันนี้เอาไว้ให้เลือกได้ 3 แบบ คือ เปิด ปิด หรือ ทำงาน
อัตโนมัติ ดังนั้น ในฐานะ ผู้นำแห่งโลกยนตรกรรม Mercedes-Benz ก็น่าจะทำฟังก์ชันนี้ ให้มีทางเลือกสำหรับผู้ขับขี่
ได้เลือกเองเสียบ้างน่าจะดีกว่าครับ

ด้านความบันเทิง ก็ใช้ชุดเครื่องเสียง Audio 20 มาให้แบบเดียวกันกับ E200 CGI ไม่มีผิดเพี้ยน คุณภาพเสียง ก็ยังถือว่า
พอใช้ได้ เหมาะกับเพลงแนวเย็นๆ ฟังสบายๆ กลุ่ม Jazz หรือ Guitar Solo  อย่าง Depapepe เพียงแต่ว่า โทนเสียงใสนั้น
ใสขึ้นกว่าที่เคยได้ยินมาใน เครื่องเสียงของ E-Class W211 เดิม เพราะปกติแล้ว เสียงใสจากเครื่องเสียงในรถยุโรป มัก
ค่อนข้างอู้อี้กว่ารถญี่ปุ่นอยู่เสมอ จะหาเครื่องเสียงที่ดีมาจากโรงงานเลย ก็เห็นจะมีแค่ Volvo เท่านั้น แต่ตอนนี้ คุณภาพ
เสียงจากลำโพง ใน E-Class ใหม่ทุกคัน ก็ถือว่า ไม่เลวร้าย ดีกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด เพียงแต่ว่า ฟังได้ดี
เสียงเบสมีมิตินิดๆหน่อยๆ 

ชุดเครื่องเสียงของ E-Class ใหม่ทุกรุ่น จะติดตั้ง ช่อง Media Interface มาให้ในลิ้นชักเก็บของ ฝั่งขวา ตำแหน่งเดียวกับ
ใน C250 CDI Blue Efficiency เป๊ะ เพียงแต่คุณต้องซื้อ สายสัญญาณต่อเชื่อม USB สำหรับเสียบเข้ากับ เครื่องเล่นเพลง
iPod หรือ MP3 ไปจนถึงสามารถเสียบเข้ากับเครื่อง BlackBerry ได้ อย่างที่เห็นอยู่นี้ ซึ่งจะมีขายแยกต่างหาก จะว่าไป
ขอเป็นของแถมจากพนักงานขายเขาได้หรือเปล่า ก็ลองพุดคุยตอนเจรจาตกลงซื้อขายกันเอาเองนะครับ

และนี่คือหน้าตาของช่องเก็บของ ซึ่งมีขนาดลึกพอประมาณ แบ่งเป็น 2 ชั้น อันเป็นที่สิงสถิตของ ช่อง Media Interface
ผมมองว่า หากเป็นรุ่นปรับโฉมต่อจากนี้ ถ้าย้ายตำแหน่งช่อง Media Interface เข้ามาให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้ขับขี่
มากกว่านี้ น่าจะดีกว่า อย่างน้อย ติดตั้งไว้ในช่องเก็บของคอนโซลด้านข้าง ก็น่าจะดีกว่า

(ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ใต้เบาะนั่งด้านหน้า ฝั่งผู้โดยสาร จะมีกล่องใส่ของ พร้อมฝาปิด เหมาะแก่การเก็บรองเท้า
หรืออาวุธปืน ขณะเดินทางไกลๆ นอกจากนี้ ข้างแผงคอนโซลกลาง ยังมีช่องตาข่าย สำหรับเสียบข้าวของจุกจิก
มาให้อีกด้วย ติดตั้งมาให้ครบทุกรุ่น)

กล่องเก็บของในแผงคอนโซลกลาง คั่นระหว่างผู้ขับขี่กับผู้โดยสารนั้น มีขนาดใหญ่โต และใส่ข้าวของได้มากมาย
อเนกประสงค์กว่า BMW ซีรีส์ 5 ใหม่ชัดเจน มีพื้นที่เหลือพอให้ติดตั้ง Media Interface ได้แน่ๆ เพียงแต่ว่า อาจต้อง
เพิ่มความยาวสายไฟที่จะต่อเชื่อมเข้ากับระบบ และดัดแปลงอุปกรณ์กันอีกนิดหน่อย

ช่องวางแก้ว มีมาให้ 2 ตำแหน่ง พร้อมตัวล็อก และฝาเลื่อนเปิด-ปิด ซึ่งดูจะยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก หากต้องยึดขวดน้ำขนาด
7 บาทเอาไว้ ขณะขับรถ ส่วนฝาปิดกล่องคอนโซล อันเป็นพื้นที่วางแขนในตัวนั้น สามารถเปิดได้ ด้วยปุ่มปลดล็อก ทั้งด้าน
ข้างผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร แถมในกล่องใส่ของนั้น มีไฟส่องสว่างมาให้ด้วย สวยงามในตอนกลางคืน

ในรุ่น E250 CGI Avantgarde จะมีสวิชต์เครื่องปรับอากาศ แยกพื้นที่ THERMOTRONIC สำหรับผู้โดยสารตอนหลังมาให้
พร้อมกับช่องเขี่ยบุหรี่และช่องเสียบปลั๊กไฟ 12 Volt อยู่ด้านใต้แผงควบคุมสวิชต์เครื่องปรับอากาศ ต้องกดฝาปิดจึงจะเผย
ออกมาอย่างที่เห็น และเป็นเพียงรุ่นเดียวใน 3 คันนี้ ที่มีมาให้

เรื่องที่น่าตลกก็คือ ถ้าคุณอยากได้ E250 CDI Elegance ในราคาตั้งขาย 4,199,000 บาท คุณจะไม่ได้สวิชต์เครื่องปรับอากาศ
สำหรับผู้โดยสารตอนหลังที่เห็นอยู่นี้แต่อย่างใด ทั้งที่ต้องจ่ายแพงกว่า E250 CGI Avantgarde รุ่นธรรมดาที่ไม่มีระบบหน้าจอ
Command APS ถึง 40,000 บาท อันที่จริงจะบอกว่า เป็นเพราะ E250 CDI ในบ้านเรา ถูกจัดให้ตกแต่งด้วยกลุ่มอุปกรณ์แบบ
Elegance ซึ่งเน้นความหรู แต่ความจริงแล้ว ถ้ามีทางเลือกให้ลูกค้า ได้เลือกติดตั้งข้าวของ สิ่งละอันพันละน้อย ที่พวกเขา
ต้องการ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกว่าที่เป็นอยู่นี้แน่ๆ

ทุกรุ่นติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ช่วยกะระยะ ขณะถอยหลังเข้าจอด PARKTRONIC พร้อมสัญญาณไฟเตือนระยะห่างจากกันชน
ถึงวัตถุ ติดตั้งไว้ ตรงกลางด้านบนสุดของแผงหน้าปัด และ ตรงกลาง ด้านบนสุดของเพดานหลังคา เหนือผู้โดยสารตอนหลัง
เหมือนเช่น Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ คันอื่นๆ ในระยะหลังๆมานี้ ไฟสีเหลือง หมายถึงระยะห่างใกล้เข้ามา เตือนให้ระวัง  
ไฟสีแดง แสดงว่า กระชั้นชิดแล้ว พอได้แล้ว อย่าขยับรถเข้าไปใกล้กว่านี้ เสียงของระบบในขณะทำงาน ดังพอสมควร

ทัศนวิสัยด้านหน้า แน่นอนว่าการมองทางข้างหน้า ก็ยังคงสะดวกโยธิน ไม่มีปัญหาอะไร น่าจะถูกใจคนที่ชอบจับรถโดย
ยังต้องเห็นฝากระโปรงหน้า ในรุ่น E200 CGI Elegance ยังคงมีดวงดาวติดตั้งให้บนฝากระโปรงหน้า แน่นอนว่า เอกลักษณ์
การขับรถโดยมีดวงดาวนำทาง (อยู่หน้ารถ) ก็จะยังคงมีอยู่แบบนี้ต่อไปในรถรุ่นนี้

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา พอจะมีการบดบังบ้างนิดนึง ขณะเข้าโค้งเลี้ยวขวา บนถนนสวนกัน 2 เลน กระจกมองข้าง
แม้จะมีขนาดใหญ่พอประมาณ แต่เมื่อปรับตำแหน่งให้ถูกต้องตามหลักการขับรถให้ปลอดภัยแล้ว จะพบว่า ขอบพลาสติก
มุมขวาล่าง ถูกสะท้อนเข้ามายังพื้นที่มุมขวาล่างของกระจกมองข้าง มากพอสมควร ดังนั้น การมองเห็นภาพรถที่แล่นขนาบ
มาทางด้านขวา จะถูกบดบังไปในบางมุม เพราะฉะนั้น ควรใช้ความระมัดระวังในการเปลี่ยนเลน (อย่าลืมว่า ทั้ง 3 คันที่เรา
นำมาทดลองนี้ เป็นรถประกอบในประเทศ ไม่มีระบบ แจ้งเตือนรถที่แล่นมาด้านข้าง หรือ Blind Spot Assist เหมือนอย่างที่
E500 ซึ่งผมเคยลองขับและทำรีวิวให้คุณได้อ่านไปแล้วนั้น เขามีมาให้)

แต่พอเป็นเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย ทัศนวิสัยกลับไม่มีปัญหาอะไรมากมายนัก เสาหลังคาดูค่อนข้างหนาและใหญ่
กระจกมองข้างเป็นแบบมีพื้นที่ด้านบนตัดเฉียง คงเพราะวิศวกร คิดว่า พื้นที่ด้านบนนั้น ไม่ค่อยจำเป็นเท่าใดนัก
จากที่เห็นในรูป จะพบว่า ขอบฝั่งซ้ายสุดของกระจกมองข้าง เหมือนจะทำออกมาให้พอดีกับการมองเห็นรถเก๋ง
ทั้งคัน หรือไม่ก็รถบรรทุกขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่ในการขับรถบนถนนเมืองไทยนั้น ยิ่งคุณเห็นวัตถุต่างๆ จากกระจก
มองข้างมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดความเสียหาย ทั้งในการถอยหลังเข้าจอด หรือจากการเปลี่ยนเลนโดยขาด
การตัดสินใจที่แม่นยำ อย่างฉับไว จากข้อมูบลในกระจกมองข้างนั้น จะเพิ่มมากขึ้น อยากให้คำนึงถึงการปรับปรุง
กระจกมองข้างด้วยสักนิดจะดีมากครับ

ในมุมที่มักจะถูกใช้ในการเหลียวมอง เพื่อการถอยหลังเข้าจอดนั้น จะพบว่า เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ฝั่งซ้าย
มีขนาดใหญ่ แต่ด้วยพื้นที่กระจก ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความโปร่งมากขึ้น แม้ว่าจะบดบังจักรยานยนต์
ที่แล่นมาด้านข้าง เกือบจะมิดทั้งคัน แต่อย่างน้อย ก็จะยังเห็นหมวกกันน็อกของพวกเขาอยู่ ก็ยังดี

ผมเลือกถ่ายภาพนี้มาให้คุณ โดยยกพนักศีรษะขึ้นไว้ใช้งาน โดยไม่ได้กดสวิชต์ให้มันลดระดับลง เพื่อให้คุณ
ได้เห็นภาพในความเป็นจริง หากต้องถอยหลัง ขณะมีผู้โดยสารนั่งอยู่ ก็น่าจะพอมองเห็นภาพได้บ้างตามสมควร

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในตลาดโลก E-Class ใหม่ W212 ตัวถัง Saloon 4 ประตู มีทางเลือกเครื่องยนต์มากถึง 12 ขุมพลัง ใน 16 รุ่นย่อย
และนี่ว่ากันเฉพาะตัวถัง 4 ประตู เพียงอย่างเดียวนะครับ เลือกกันให้ตาหูเหลือกแหลกลาญไปข้างนึงเลยทีเดียว
และแน่นอน ยังคงยืนหยัดกับการเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนยล้อหลังเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาโดยตลอด เพียงแต่ว่า
ในต่างประเทศ จะมีระบบขับเคลื่อน สี่ล้อ 4 MATIC มาให้เลือกด้วย รวม 4 รุ่นย่อย สำหรับทวีปยุโรป ซึ่งมักมี
หิมะตก ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายๆครอบครัวที่นั่น แต่ไม่ใช่กับเมืองไทย

สำหรับเวอร์ชันไทยแล้ว นับตั้งแต่เปิดตัว มาจนถึงวันนี้ E-Class ใหม่ มีทางเลือกเครื่องยนต์ทั้งหมด 4 แบบ จาก
ทั้งหมด 5 รุ่นย่อย ในรีวิวฉบับ First Impression เมือ่ปีที่แล้ว เราได้ทดลองขับรุ่น E500 ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุด (หาก
ไม่นับ E63 AMG ที่ตามออกมาในตลาดโลก หลังจากนั้นไม่นานนัก) และ รุ่น E300 Avantgarde อันเป็นรุ่นท็อป
สำหรับรถประกอบในประเทศ

โดยเครื่องยนต์ของรุ่น E300 เวอร์ชันไทย ประกอบในประเทศไทย นั้นเป็นบล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว 2,996 ซีซี
หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ กำลังอัด 11.3 : 1 กำลังสูงสุด 219 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร
(30.57 กก.-ม.) ที่ 2,500 – 5,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7G-TRONIC พร้อมคันเกียร์ แบบ DIRECT
SELECT เป็นก้านเล็กๆ ติดตั้งอยู่บนคอพวงมาลัย และใช้วิธีการกระดิกนิ้ว เพื่อเปลี่ยนเกียร์ ตัวเลขที่ทางโรงงาน
เคลมไว้คือ อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 7.4 วินาที ความเร็วสูงสุดที่ 247 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนรุ่น E500 มาพร้อมขุมพลัง ขนาดใหญ่โต บล็อก V8 DOHC 32 วาล์ว 5,462 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ลิ้นปีกผีเสื้อ
ไฟฟ้า Drive By Wire กำลังอัด 10.7 : 1 กำลังสูงสุด มากถึง 388 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด มากถึง
530 นิวตันเมตร (54.007 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,800 – 4,800 รอบ/นาที ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ
7 จังหวะ 7G-TRONIC พร้อมคันเกียร์ แบบ Direct Select  เช่นกัน ยังประทับใจในอัตราเร่งที่พาผมออกตัวอย่างสุภาพ
และกลายสภาพเป็นไฮโซผู้ทรงอำนาจยามเกรี้ยวกราดได้ในชั่วเสี้ยววินาที

แต่ขุมพลังใน E-Class ใหม่ W212 เวอร์ชันไทย ทั้ง 3 คัน ที่เรานำมาทำรีวิวกันครั้งนี้ เป็นเครื่องยนต์เดียวกันกับที่เรา
เคยพบเจอ ประสบการณ์มาแล้ว ใน C-Class Blue-Efficiency ทั้ง C250 CGI และ C250 CDI เพียงแต่ คราวนี้ ในเมื่อ
ทั้ง 2 ขุมพลัง ย้ายนิวาสถานมาสิงสถิตอยู่ในห้องเครื่องยนต์ของรถที่มีขนาดใหญ่โตกว่าอย่าง E-Class แล้ว ผลงาน
ที่ทำได้ จะยังคงน่าประทับใจเหมือนเดิมหรือเปล่า?

เริ่มต้นกันที่รุ่นเบนซิน E200 CGI Blue Efficiency Elegance จะใช้เครื่องยนต์ รหัส M271 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,796 ซีซี เสื้อสูบทำจากอะลูมีเนียมหล่อขึ้นรูป เช่นเดียวกับฝาสูบ ที่ทำจาก อะลูมีเนียม แบบ High-Strength หล่อขึ้นรูป
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82.0 x 85.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.3 : 1 แต่มาพร้อมเทคโนโลยี ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรง
เข้าห้องเผาไหม้ Direct Injection ด้วยหัวฉีดที่ถูกติดตั้งทำมุม 30 องศา กับห้องเผาไหม้ มีแรงดันสูงสุดถึง 140 บาร์ และ
เป็นหัวฉีดแบบมีหลายรูในหัวเดียว หรือ Multi-hole หรือและคราวนี้ ก็ถอด Supercharge ออก แล้วติดตั้ง Turbocharger
เพียงลูกเดียว เข้าไปทำหน้าที่แทน โดยมีการปรับบูสต์ของ Turbo เอาไว้ที่ 0.85 Bar

กำลังสูงสุดของ เครื่องยนต์ M271 ใน E200 CGI Blue Efficiency Elegance อยู่ที่ 184 แรงม้า (PS) ที่ 5,250 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด อยู่ที่ 270 นิวตันเมตร (27.51 กก.-ม.) ที่ 1,800 – 4,600 รอบต่อนาที
ถ้าคุณดูจากกราฟแรงม้า / แรงบิดนี้
จะพบว่าความน่าสนใจของ M271 เวอร์ชันนี้ อยุ่ที่ พละกำลังของเครื่องยนต์ ซึ่งหลั่งไหลต่อเนื่อง และมีแต่เพิ่มมากขึ้น
เรื่อยๆ จนถึงรอบสูงสุด แถวๆ 5,000 รอบ/นาที และมันยังคงมีเรี่ยวแรงพาคุณพุ่งต่อไปอีกสักหน่อยในช่วงใกล้รอบ
เครื่องยนต์สูงสุดหรือ Red Line แถมยังมีแรงบิดสูงสุด ออกมาอย่างต่อเนื่องในแบบ Flat Torque อย่างที่เห็น ซึ่งนั่น
จะช่วยให้คุณ พารถพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเรี่ยวแรงที่…พอตัวเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ในรุ่น E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde ก็จะวางเครื่องยนต์ M271 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,796 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82.0 x 85.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.3 : 1 พร้อมระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้า
ห้องเผาไหม้ Direct Injection และพ่วง Turbocharger มาให้ ลูกเดียว เหมือนกันเป๊ะ

แต่ความแตกต่าง ที่ทำให้ E250 CGI แรงกว่า E200 CGI หนะ อยู่ที่ การปรับบูสต์ของ Turbo ให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 Bar
ซึ่งจะต้องมีการปรับจูนกล่องสมองกลคอมพิวเตอร์ของเครื่องยนต์ (ECU : Engine Control Unit) ให้มีโปรแกรมทำงาน
สอดคล้องกันด้วย

 

พละกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เป็น 310 นิวตันเมตร (31.58 กก.-ม.) ที่ รอบระหว่าง 2,000 – 4,300 รอบ/นาที
ถ้าดูจากกราฟแรงม้า/แรงบิด จะเห็นว่า
ลักษณะของกราฟ ก็แทบไม่ต่างจาก E200 CGI เลย เพียงแต่ว่า พละกำลังที่เรียกออกมาได้ในช่วงจังหวะรอบเครื่องยนต์
เดียวหกัน เพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างชัดเจน

และท้ายสุด รุ่น E250 CDI Blue Effciency วางเครื่องยนต์ใหม่ รหัส OM651 ซึ่งถูกนำมาใช้ครั้งแรกในบ้านเรา กับรุ่น
C250 CDI Blue Efficiency เมื่อกลางปี 2010 เป็นแบบ Diesel 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว 2,143 ซีซี อัตราส่วน
กำลังอัด 16.3 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail พ่วง Turbocharger มาให้ถึง 2 ลูก แน่นอนว่า
ต้องพ่วง Intercooler มาให้เพื่อช่วยลดความร้อนของไอดีก่อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ตามสูตร

ถึงจะเคยเล่าให้อ่านไปแล้วในรีวิว C-Class c250 CDI Blue Efficiency แต่ คิดว่าหลายๆคนอาจไม่เคยอ่าน ก็เลย
อยากจะฉายหนังซ้ำกันตรงนี้อีกรอบหนึ่งว่า เครื่องยนต์ OM651 มีสารพัดเทคโนโลยี ที่ประโคมกันอัดแน่นเข้าไป
เพื่อให้มีสมรรถนะดีขึ้นกว่าเครื่องยนต์ Diesel Turbo รุ่นเก่าๆ ของ Mercedes-Benz ดังต่อไปนี้

– เสื้อสูบ ผลิตจากเหล็กหล่อ ฝาสูบ ทำจากอะลูมีเนียม
– เฟืองขับเพลาลูกเบี้ยว camshaft drive วางด้านหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ บังคับเกี่ยวกับความปลอดภัย
   หากเกิดอุบัติเหตุกับคนเดินถนน (<—— ต้องคิดกันถึงขนาดนี้เลยเชียวหรือ?)
– ใช้ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Common Rail  4th Generation เพิ่มแรงดันในระบบขึ้นจากเดิม 400 บาร์
   จนสูงสุดได้ถึงระดับ 2,000 บาร์ พร้อมหัวฉีดไฟฟ้าแบบ piezo ใหม่ที่มี เข็มควบคุมการฉีดโดยตรง
   เพื่อการกำหนดเวลาในการฉีดเชื้อเพลิง ได้ยืดหยุ่นยิ่งกว่า ให้เครื่องเดินเรียบขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงยิ่งขึ้น
   และปล่อยมลพิษน้อยลงในเวลาเดียวกัน
– แรงดันเริ่มต้นการจุดระเบิดสูงสุดที่ 200 บาร์ ช่วยเพิ่มกำลังอัดต่อความจุกระบอกสูบ ได้อย่างดี
– มีช่องระบายน้ำแบบสองตอนในฝาสูบช่วยลดความร้อนสูงสุดในบริเวณของผนังห้องเผาไหม้
  ช่องระบายน้ำนี้เอง ที่ช่วยให้สามารถเพิ่มแรงดันจุดระเบิดถึง 200 บาร์ และอัตรากำลังต่อความจุ
   กระบอกสูบอยู่ในระดับสูงได้
– กระบอกลูกสูบทำจากเหล็กหล่อ สำหรับเครื่องยนต์ OM651 รุ่นนี้มีการปรับแต่งและขัดให้ละเอียด
  กว่าลูกสูบในเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นก่อนๆ รุ่นก่อน เพื่อช่วยลดการเสียดทานในห้องเผาไหม้
– มีการใช้ Balancer Shaft ของ Lanchester สองตัว ติดตั้งอยู่ใต้เสื้อสูบ ของเครื่องยนต์ ติดตั้งใน
  ลูกปืนแบบทรงกระบอก roller bearings แบบความฝืดต่ำแทนที่จะใช้แบริ่งแบบแบนธรรมดา
  ที่มีความฝืดมากกว่า เพื่อเป็นการชดเชยแรงเฉื่อยที่พบในเครื่องยนต์แถวเรียง 4 สูบทั่วไป  
– ระบบอัดอากาศ เป็นแบบ Turbocharge ทำงานแบบสองจังหวะ (Dual Stage)
– มี Intercooler ช่วยลดอุณหภูมิของไอดี ก่อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้
– หัวฉีดสเปรย์น้ำมันหล่อลื่น และปั๊มน้ำ ทำงานตามความจำเป็น เพื่อช่วยลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
–  ปั๊มน้ำมันเครื่อง ออกแบบมาพิเศษ ให้มีการควบคุมการไหลเวียนของน้ำมันเครื่องอย่างเหมาะสม
– Fly Wheel หรือ ล้อช่วยแรง เป็นแบบสองชั้น two-mass fly wheel ออกแบบพิเศษ เพื่อให้เกิด
  แรงบิดสูงที่รอบเครื่องยนต์ต่ำ ลดการสั่นสะเทือนของเพลาข้อเหวี่ยง crankshaft และทำให้เครื่องยนต์
  เดินเรียบยิ่งขึ้น

กำลังสูงสุด จะเท่ากันกับ E250 CGI คือ 204 แรงม้า (PS) แต่มาถึงในรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่า ณ ระดับ 4,200 รอบ/นาที
ส่วนแรงบิดสูงสุด จะแรงมากมายมหาศาลกว่าเพื่อนเขา คือสูงถึง 500 นิวตันเมตร หรือ 50.95 กก.-ม. ที่ รอบเครื่องยนต์
ตั้งแต่ 1,600 – 1,800 รอบ/นาที หากสังเกตจากกราฟแรงม้า/แรงบิดข้างบนนี้ จะพบว่า ในช่วงตั้งแต่ รอบเดินเบา จนถึง
ระดับ 1,500 รอบ/นาทีนั้น แรงบิดจะพรั่งพรูออกมาจากเครื่องยนต์ ได้มากมายมหาศาล และเหมาะกับนักขับรถที่ชอบ
ออกตัวเร็วๆ และต้องการอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งที่ดีๆ อีกทั้ง แม้ว่าในกราฟที่เห็น จะเริ่มเหี่ยวหลัง 2,000 รอบ/นาที
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ถ้าคุณเหยียบคันเร่งลากรอบเครื่องยนต์ต่อไปอีก เครื่องยนต์ก็ยังจะมีแรงบิดออกมาให้ใช้ในระดับ
เกินกว่า 300 นิวตันเมตร ลากกันได้ยาวต่อเนื่องไปจนสุด 4,500 รอบ/นาที เกียร์ ก็จะตัดเปลี่ยนขึ้นเป็นจังหวะถัดไปให้

ทั้งรุ่น E200 CGI และ E250 CGI จะถ่ายทอดแรงบิดลงสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
ลูกเดียวกัน มาพร้อมโหมดบวก-ลบ ที่ใช้วิธี ขยับคันเกียร์ไปฝั่งซ้าย เพื่อลดตำแหน่งเกียร์ ตบคันเกียร์มาฝั่งขวา
เพื่อจะเพิ่มคำแหน่งเกียร์ รวมทั้งยังมีปุ่มปลี่ยนเป็น Sport Mode กับ Comfort Mode ซึ่งเมื่อเราลองเล่นดูแล้ว
ก็ยังหาความแตกต่างจากทั้งตัวเลขอัตราเร่ง และความรู้สึกในขณะขับขี่ ไม่เจอ คือจะช่วยให้แค่ลากรอบขึ้นได้
อีกนิดหน่อยแค่นั้นเลยจริงๆ ไม่ได้ช่วยให้อัตราเร่งดีขึ้น หรือไวขึ้นแต่อย่างใด อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1……………..3.95
เกียร์ 2……………..2.42
เกียร์ 3……………..1.49
เกียร์ 4……………..1.00
เกียร์ 5……………..0.83
เกียร์ถอยหลัง R1…..3.15
เกียร์ถอยหลัง R2…..1.93
เฟืองท้าย…………..3.27 <——เพิ่มจาก 3.07 ใน C250 CDI Blue Efficiency

แต่ในรุ่น E250 CDI Blue Effciency แม้จะใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ เหมือนกัน แต่อัตราทดเกียร์
จำเป็นต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับแรงบิด ของเครื่องยนต์ ดีเซล เทอร์โบ อีกสักหน่อย ออกมาเป็น
อย่างที่เห็นอยู่นี้

เกียร์ 1……………..3.60
เกียร์ 2……………..2.19
เกียร์ 3……………..1.41
เกียร์ 4……………..1.00
เกียร์ 5……………..0.83
เกียร์ถอยหลัง R1…..3.17
เกียร์ถอยหลัง R2…..1.93
เฟืองท้าย…………..2.65

เราทำการทดลองจับอัตราเร่งกันโดยใช้มาตรฐานเดิม นั่นคือ ใช้เวลากลางคืน บนถนนโล่งๆมากๆ
เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ในรุ่น E200 CGI และ E250 CGI ผู้จับเวลา และสักขีพยานของเรา คือ BnN
หรือ น้องกล้วย แห่ง The Coup Channel ของเรานี่เอง น้ำหนักตัวผู้ขับขี่ 95 กิโลกรัม BnN หนัก
48 กิโลกรัม ผอมอย่างไร ก็ผอมอยู่อย่างนั้น

ยกเว้นรุ่น E250 CDI ซึ่ง ผู้ร่วมทดลอง และจับเวลา จะเป็นตา Nick คุณผู้อ่านของเรา Login ในเว็บ
ของเราด้วยชื่อ Lecter The Ripper (ซึ่งที่บ้านของ Nick ก้เป็นลูกค้า Mercedes-Benz E-Class อยู่ 1 คัน
พอดี) Nick มีน้ำหนักตัวในวันที่เราจับเวลา อยู่ที่ 69 กิโลกรัม

ผลการจับเวลา พร้อมกับตัวเลขเมือ่เปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกันในตาราง สิ่งที่คุณจะพบว่า E-Class ใหม่ อาจจะชนะ Volvo S80 ในเกมจับเวลา
แทบจะทุกตารางในทุกรุ่นย่อย แบบไม่ต้องคิดมาก ทว่า เมื่อต้องมาเทียบกับคู่แข่งอย่าง BMW ซีรีส์ 5 ใหม่
ดูเหมือนว่า ในเกมนี้ หากเป็นรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน E-Class จะมีแต้มต่อเหนือกว่า เพราะมีตัวประกบ 523i
มากถึง 2 รุ่น และดูเหมือนว่า E200 CGI จะทำตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ออกมาได้ดีพอกันกับ 523i
(9.69 และ 9.65 วินาที ตามลำดับ) ขณะที่ E250 CGI  เอาชนะ 523i ไปได้สบายๆ ด้วยตัวเลข 8.56 วินาที
ซึ่งก็ทำได้ดีกว่า 520d ด้วยซ้ำ (8.79 วินาที)

แต่พอเป็นช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง E200 CGI กลับทำเวลาด้อยกว่า 523i อยู่ถึง 1 วินาที! โอเค
นั่นยังไม่เท่าไหร่ พอมาเทียบกับ E250 CGI แล้ว พี่ชายกลับทำตัวเลขได้ด้อยกว่า 523i ราวๆ 0.3 วินาที โดย
ประมาณ ขณะที่ท้อปสปีดนั้น ทั้ง 3 รุ่น ทำได้ในช่วง 235 – 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากมาตรวัด เช่นเดียวกัน
โดย E250 CGI ชนะไปในเกมนี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลย เพราะในชีวิตจริง เราจะใช้ความเร็วสูงสุด
ของรถกันสักกี่ครั้งเชียวละ?

มาดูรุ่น Diesel กันบ้าง คราวนี้ Mercedes-Benz เหมือนจะเสียเปรียบกว่าหน่อย เพราะ E250 CDI Blue Efficiency
ต้องประกบทั้ง 520d และ 525d ผลกลับกลายเป็นว่า E250 CDI ทำตัวเลขออกมาด้อยกว่า ซีรีส์ 5 ทั้ง 2 รุ่น อย่าง
ชัดเจน ราวๆ 0.3 – 0.4 วินาที ขณะที่อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แตกต่างกันถึง 0.5 วินาที ซึ่งถ้า
ถามว่า น้อง NICK กดนาฬิกาจับเวลาช้ากว่าน้องกล้วยหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่เลยครับ นิก กดได้ไวและแทบ
จะในทันที ที่ผมบอกให้เขา “หยุด” แต่เราต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่รถคันนี้จะมาอยู่ในมือของผม E250 CDI คันนี้
เพิ่งผ่านเทศกาล มหกรรม “ลงแขก” จากผู้เข้าร่วมงาน Mercedes-Benz Driving Experience ที่สัตหีบมาหมาดๆ
ด้วยคิวของรถที่ค่อนข้างจะแน่นเอี๊ยด ทำให้ทาง Mercedes-Benz ทำได้แค่เพียงล้างรถให้สะอาด เติมน้ำมัน
เต็มถังก่อนส่งรถให้ผมในวันรุ่งขึ้น จึงยังไม่มีเวลาตรวจเช็คสภาพความเสียหายต่างๆ รวมทั้ง reset ความจำ
ในสมองกลเกียร์มาให้แต่อย่างใด ถือว่า สภาพรถไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขด้อยกว่าที่ควรเป็น
ไปส่วนหนึ่ง

แต่ ถ้าหยุดคิดสักนิด แล้วย้อนกลับมามองลักษณะทางกายภาพของเครื่องยนต์ทั้ง 2 ค่าย ในพิกัดที่ต้องแข่งขัน
ด้วยกันอย่าง Premium Mid-size Saloon แบบนี้ คุณจะพบความแตกต่าง…

เพื่อให้ได้อัตราเร่งอย่างที่เห็น BMW ต้องใช้เครื่องยนต์ ที่มีความจุกระบอกสูบมากถึง 2,996 ซีซี หรือตีเสียว่า
3,000 ซีซี วางในตัวถังของ ซีรีส์ 5 แต่ในทางตรงกันข้าม Mercedes-Benz กลับใช้เครื่องยนต์ OM651 ที่มี
ความจุกระบอกสูบเพียง 2,143 ซีซี เพื่อให้ได้อัตราเร่งที่ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ ของ 525d มากที่สุด นี่ถือว่า
เครื่องยนต์ OM651 ตัวนี้ ไม่ธรรมดา และอาจหาญชาญชัยมาก ในการท้ารบปรบมือกับ BMW ดังนั้น เราจึง
ไม่อาจพูดได้เต็มปากนักว่าเครื่องยนต์ Diesel Turbo commonRail ตัวนี้ มันอืดกว่า BMW แถมตรงกันข้าม
เรายังต้องปรบมือให้มันด้วยซ้ำที่ทำตัวเลขออกมาได้ดีอย่างที่เห็นอยู่นี้ แม้จะวางในตัวถังที่หนัก 1.6 ตัน
แบบนี้ก็ตาม

แล้วเหตุผลอื่นๆที่ทำให้ตัวเลขของ E-Class ออกมาดีกว่า S80 แต่เหนือกว่า และด้อยกว่ากว่า ซีรีส์ 5 ใหม่ไป
ไม่มากอย่างที่ควรจะเป็นกันละ? มีนะครับ ไม่ใช่ไม่มี

ไม่ใช่ว่าเครื่องยนต์ของ E-Class ไม่ดีแต่อย่างใด ทว่า การจับเวลาของเรานั้น ใช้มาตรฐานเดียวกันคือ
สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติทุกคัน เราจะไม่มีการเหยียบคันเร่งเบิ้ลเครื่องเลี้ยงรอบเครื่องยนต์รอก่อน
เหมือนเช่นที่ต้องทำกับเกียร์ธรรมดาแต่อย่างใด ดังนั้น ทันทีที่ผมบอกให้น้องกล้วย กดนาฬิกาจับเวลา
ด้วยคำว่า “ไป” เท้าขวาของผม จะต้องเหยียบคันเร่งลงไปจมมิดในทันทีพร้อมกันเป๊ะ

สิ่งที่จะทำให้ตัวเลขช้าหรือเร็ว ต่อจากนี้ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่ ความว่องไว
ในการทำงานของคันเร่ง กับลิ้นปีกผีเสื้อ ซึ่งปัจจุบันนี้ มักนิยมใช้ระบบคันเร่งไฟฟ้าและเกียร์อัตโนมัติ
ที่ควบคุมด้วยสมองกลไฟฟ้า กันส่วนใหญ่ และ E-Class ใหม่ ก็เป็นหนึ่งในรถจำนวนนั้น

มาดูเรื่องเกียร์กันก่อนเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ แม้จะทำงานราบรื่น นุ่มนวล แทบไม่มีอาการกระตุกหรือ
กระชากใดๆให้เห็นเลย ถึงจะมี ก็เป็นเพียงแค่ พอให้จับจังหวะได้ว่า เกียร์กำลังเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นไป
นิดๆ  แต่ในช่วงจังหวะที่ต้องเรียกใช้พละกำลังขณะเร่งแซง ยังแอบมึนงงอยู่บ้างในบางครั้ง ยังตอบสนอง
ได้ไม่ไวเท่าที่ควร

ขณะที่คันเร่งไฟฟ้านั้น จริงอยู่ว่า คันเร่งไฟฟ้า ไม่ได้ Delay มากนัก แต่ในบางจังหวะที่ผมต้องการเร่งแซง
ถ้าเป็นช่วงที่เหยียบคันเร่งเอาไว้อยู่แล้ว การตอบสนอง ถึงจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีแต่ยังค่อนข้างไวกว่า
Volvo S80 เดิมอยู่นิดหน่อย และมีความไว ใกล้เคียงกันกับ คันเร่งไฟฟ้าที่พบใน BMW ซีรีส์ 5 ใหม่ ต่างกัน
แค่ว่า ในบางจังหวะ พอเหยียบลงไปปุ๊บ  ถ้าเหยียบไม่สุด รถก็จะไม่มีการตอบสนองใดๆกลับมา มันคงงงว่า
คนขับจะมาไม้ไหน ถึงได้เหยียบคันเร่งลงไป แค่ครึ่งๆกลางๆ ไม่ได้เหยียบจมมิดอย่างที่มันถูกโปรแกรมไว้
ก็เลยงงๆ คิดนาน บางที มันดันคิดได้ว่า งั้นอย่าเพิ่งทำงานเลยดีกว่า เผื่อเจ้านายเขาอาจจะตัดสินใจไม่แซงต่อ
ก็เป็นได้ ผมเดาว่า สมองกลมันคงคิดอะไรแบบนี้อยู่กระมัง ที่ฮาไปกว่านั้นก็คือ นอกจากจะใช้เวลาในการเลือก
ตำแหน่งเกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็ว ของรถ และน้ำหนักการกดคันเร่งของผู้ขับขี่แล้ว บางครั้งพอคุณเริ่มจับ
จังหวะการทำงานของมันได้ ในช่วงความเร็วประมาณ 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอย้ายความเร็วไปเป็นช่วงที่
สูงขึ้นกว่านั้น อื่นๆ จู่ๆก็ดันจะฉลาดและทำงานเร็วขึ้นมาเสียดื้อๆ

อีกทั้งปุ่มเลือก Mode การขับขี่ C (มาจาก Comfort) และ S (มาจาก Sport ซึ่งตามหลักแล้ว ควรลากรอบ
ได้ยาวกว่าปกติ อีกนิดหน่อย) ที่มีมาให้ในรถทั้ง 3 คันนั้น เราไม่แน่ใจว่ามันทำงานตามหน้าที่ของมันจริงหรือเปล่า
เพราะพอกดใช้งานไป เวลาลากรอบเครื่องยนต์ ก็ไม่เห็นจะตอบสนองอะไรต่างจากเดิมมากมายเท่าไหร่เลย (หากกด
คันเร่งจมมิดกันอยู่แล้ว)

อย่างไรก็ตาม พอถึงช่วงเวลาที่ต้องขับใช้งานในชีวิตจริงเมื่อมองในภาพรวม ของการประสานงานใน
ทุกชิ้นส่วน E200 CGI กลับทำอัตราเร่งได้เร็ว พอให้เกิดความรู้สึกประหลาดใจนิดหน่อย เครื่องยนต์
M271 พาตัวรถหนัก 1.5 ตันเศษๆ ทะยานขึ้นไปอย่างนุ่มๆ แต่สัมผัสได้เลยว่า ทะยานขึ้นไปอย่างผู้มี
พละกำลังรอให้เรียกใช้งานอยู่ ไม่อืด ไม่ยืดยาด ไม่ล่าช้า ถ้ามองรวมไปถึงการเร่งแซง อัตราเร่ง ที่มี
ให้ใช้งานนั้น ก็ชวนให้รู้สึก Delightful ขึ้นมาได้ว่า รถก็เร่งแซงได้ดีนะ ต้องถือว่า ทำได้ดีมากๆ จริงๆ

ขณะที่ E250 CGI ที่ถูกปรับแต่งบูสต์ของ Turbo ให้เพิ่มขึ้นมากกว่ากัน และมีการจูนโปรแกรมกล่อง ECU
ให้รถแรงมากขึ้นอีกนิด แน่นอนว่า บุคลิกการตอบสนองในภาพรวม ก็จะคล้ายกับ E200 CGI นั่นละครับ
เพียงแต่ว่า พละกำลังที่มีมาให้นั้น แรงกว่ากันชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกตัว หรือจังหวะการเร่งแซงใน
รูปแบบใดก็ตาม อาจจะมีบางจังหวะ ที่คันเร่งไฟฟ้า และเกียร์ เพิ่งจะได้รับคำสั่ง หลังเหยียบคันเร่งจมมิด
ลงไป เลยตัดสินใจช้านิดนึง แต่ก็ไม่ช้ามากจนเกินทันการณ์แต่อย่างใด

ส่วน E250 CDI นั้น ทันทีที่ออกรถ แรงบิดมหาศาลถึง 500 นิวตันเมตร จะดึงรถให้พุ่งออกไป อย่างรวดเร็ว
ทันใจ ทันท่วงที หลังติดเบาะกันเลยทีเดียว ต้องการอัตราเร่งเมื่อใด แค่เหยียบคันเร่งลงไปสักนิดหน่อย
ราวๆ เกือบครึ่งหนึ่งของ ระยะคันเร่ง เพียงเท่านั้น รถก็จะพาคุณพุ่งพรวดไปข้างหน้า อย่างฉับไว บุคลิก
ภาพรวม ก็ไม่ต่างจาก สัมผัสที่ผมเคยพบมาจาก C250 CDI Blue Efficiency นั่นละครับ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้อัตราเร่งออกมา ดีใช้ได้เมื่อเทียบกับขนาดความจุของเครื่องยนต์ ก็คือ การติดตั้ง Turbo
 2 ลูก ต่อเนื่องกันแบบ Sequential กล่าวคือ ในช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ เช่นตอนขับคลานๆ หรือความเร็ว
คงที่ อากาศจะถูกป้อนเข้า Turbo ลูกเล็ก แล้วพอภเหยียบคันเร่งจนรอบเครื่องยนต์สูงขึ้น ระบบก็ค่อยปล่อย
อากาศ เข้าไปอัดใน Turbo ลูกใหญ่กว่า แม้จะทำให้มีท่อทางเดินอากาศ ขวักไขว่ไปมา ชวนปวดกบาลเมื่อ
มองด้วยสายตาอยู่บ้าง แต่ก็คุ้มกับผลลัพธ์ที่ออกมา เพราะแรงบิด มีประจำการให้เรียกใช้งานได้ตลอด และ
เวลามาถึงในแต่ละที ก็จัดหนักให้ผู้ขับขี่ แทบจะสุดสิ้นศักยภาพของมันเลยทีเดียว

แต่แม้เครื่องยนต์จะทำหน้าที่ได้ดีเพียงใด แม้จะแรงเร้าใจมากกว่าที่เจอมาในรถหลายๆคันก็จริง กระนั้น
ก็ยังแค่เกือบสะใจ เกือบจะเสร็จสมอารมณ์หมาย ยังไม่ถึงขั้นต้องหาหัวหมูมาตั้ง แล้วจุดธูปกราบไหว้ที่
หน้ารถแต่อย่างใด คือ แม้ว่าเครื่องยนต์จะเป็นตัวเดียวกันกับใน C-Class แต่ถ้าจะให้รถมันพุ่งได้พริ้ว แบบ
C-Class คงเป็นไปได้ยากหน่อย เพราะ E-Class มีขนาดใหญ่กว่า ถึงน้ำหนักมากกว่ากันนิดหน่อยก็ตาม
อีกส่วนหนึ่งก็มาจากระบบส่งกำลัง ที่มีอยู่แค่ 5 จังหวะ เพราะว่า อัตราทดเกียร์ 1 ไปหมดเอาในช่วง ราวๆ
60 กิโลเมตร/ชั่วโมง คือไม่รู้ว่าพี่ๆวิศวกร เค้าจะทดให้มันยาวไปไหนกันหว่า การตอบสนองในช่วงเกียร์ 1
และ 2 เลยออกมาคล้ายกับเครื่องยนต์เบนซิน Turbo มากๆ (แต่แน่นอน แรงฉุดดึงรถที่ออกมา ต่างกันเยอะ)

ผมเชื่อแน่ว่า ถ้าได้เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONIC ที่คาดว่าน่าจะเข้าประจำการใน E-Class ใหม่
เวอร์ชันประกอบไทยเร็วๆนี้ ตัวเลขทั้งหมด น่าจะออกมาดีกว่านี้ได้อีก จากที่ต้องถือว่า ดีกว่าที่คิดอยู่แล้ว
ในตอนนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องสมรรถนะจากเครื่องยนต์ ถือว่า สบายใจได้เลย สอบผ่าน ขี้หมูขี้หมา ก็ได้
อย่างน้อย เกรด A- ละกัน อาจยังไม่ถึง A หรือ A++ แต่ก็ทำให้ผมยิ้มออกได้ทุกครั้งที่ได้ขับขี่

เรื่องเสียงรบกวนในห้องโดยสารนั้น ผมกับแพน เราเห็นตรงกันเรื่องหนึ่งว่า ถ้าจะเทียบกับรถรุ่นที่แพงกว่านี้
และมีขนาดใหญ่กว่านี้ อย่าง Lexus LS460L หรือ BMW 730d กับ 740Li ที่เราเคยลองขับกันมา ผมยืนยันเลย
ว่า ยังไงๆ E-Class ก็จะมีเสียงกระแสลมเล้ดรอดเข้ามาให้ได้ยินเยอะกว่า แต่ก็ไม่มากนัก อีกทั้ง ถ้าเปรียบเทียบ
ให้ถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการเทียบกับคู่แข่งแท้ๆอย่าง BMW ซีรีส์ 5 ใหม่ F10 ทั้ง 4 คัน และ Volvo S80 ใหม่ จะ
พบว่า ความแตกต่างกัน แทบน้อยมาก S80 อาจจะดังกว่ากันนิดนึง เมื่อพ้นความเร็ว 140 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไป ซีรีส์ 5เริ่มดังขึ้นที่ความเร็วแถวๆ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง E-Class ใหม่ ก็เริ่มมีเสียงของกระแสลมไหล
ผ่านตัวรถ ดังเข้ามาให้ได้ยินเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ระดับ 160  กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผมมองว่า
เรื่องเสียง กลับกลายเป็นประเด็นไม่สำคัญนักของรถคันนี้ไปเลย

ระบบบังคับเลี้ยวของ E-Class ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ บนพื้นฐานของรูปแบบพวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์
ผ่อนแรง แบบปรับอัตราทดแปรผัน (Rack and Pinion Steering with Hydraulic Power steering and Variable Gear Ratio)
Mercedes-Benz อ้างว่า มีการปรับปรุงให้แตกต่างจากรถรุ่นเดิม โดยขึ้นอยู่กับว่า คุณจะหมุนพวงมาลัยมากน้อยแค่ไหน

ในสภาวะถือพวงมาลัยตรงๆนิ่งๆ อัตราทดเฟืองจะไม่ไวมากนัก เพื่อให้บังคับรถแล่นไปตรงๆ ได้มั่นใจขึ้น เมื่อเทียบกับ
รถรุ่นเดิม ตราบใดที่คุณยังไม่เริ่มเลี้ยวหมุนพวงมาลัยเกินกว่า 5 องศา  (ก้านพวงมาลัยด้านบนสุด ฝั่งซ้าย หรือขวา ก็ตาม
หมุนลงมาอยู่ที่ด้านล่างสุดของพวงมาลัย ถือว่า เลี้ยว 90 องศา) แต่ถ้าหมุนพวงมาลัยเลี้ยวเกิน 100 องศา เช่นตอนเข้าจอด
หรือเลี้ยวโค้งลึกๆ เยอะๆ ในความเร็วต่ำๆ แถวๆ 40 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราทดเฟืองจะถูกปรับทดให้ไวขึ้น เพื่อให้
เบาแรง และหมุนพวงมาลัยได้คล่องแคล่วขึ้น

ขณะที่ปั้มเพาเวอร์ไฮโดรลิคนั้น จะมีวาล์วโซลินอยด์ ควบคุมการเปิด – ปิดท่อ Bypass สำหรับน้ำมันไฮโดรลิค ด้วยระบบ
อีเล็กโทรนิคส์ ที่จะช่วยควบคุมน้ำมันในระบบให้เป็นไปตามต้องการ ช่วยลดแรงดันและปริมาณน้ำมันในระบบ ขณะ
ขับขี่ในทางตรง

(ส่วนในรุ่นเครื่องยนต์ V6 และ V8 จะมีเทคโนโลยี ระบบ Direct Steer ให้เลือกติดตั้งได้ แต่ในเมื่อรถทั้ง 3 รุ่น
ที่เรานำมาลองขับกัน จากที่เช็คกับแค็ตตาล็อกแล้ว ไม่มีระบบดังกล่าว ดังนั้น เราคงไม่ต้องพูดถึงกันมากนัก)

แต่ในความเป็นจริง จากที่ผมได้ลองขับ E-Class Saloon ใหม่ มาทั้งหมด 5 คัน การตอบสนองนั้น ต่อให้คุณมีประสาท
สัมผัสที่ไวมาก ถ้าจะให้เปรียบเทียบในตระกูล W212 ด้วยกันเอง ก็แทบหาความแตกต่างไม่เจอ การปรับแต่งพวงมาลัย
เน้นให้ควบคุมรถได้ ง่าย คล่องเบาสบาย น้ำหนักเบาในช่วงขับขี่ในเมือง ตามตรอก ซอก ซอย ด้วยความเร็วต่ำกำลังดีแล้ว
แต่ความหนืดจะน้อยไปนิด น้ำหนักเบาไปหน่อย ในช่วงความเร็วเดินทาง ถึงความเร็วสูง ยิ่งพอเป็น E250 CDI ที่มีสภาพ
ผ่านศึกมาเยอะแล้ว ยอมรับว่า การทดลองหาความเร็วสูงสุดนั้น หวาดเสียวที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 5 คัน ที่ผมเคยเจอมา

สิ่งที่เราอยากได้คือ การเพิ่มความหนืดในรุ่น Avantgarde ให้มากกว่า Elegance อีกนิด เพื่อสร้างความแตกต่าง และเสริม
บุคลิกเอาใจคนชอบขับรถมากขึ้นอีกสักหน่อย อีกทั้งยังขอให้ปรับปรุงช่วง On Center Feeling หรือ สัมผัสในการถือ
ประคองพวงมาลัยให้รถแล่นไปข้างหน้า ตรงๆ ระยะฟรีเหมือนจะน้อย เพราะแค่ หักนิดเดียว รถก็เบนหัวออกไปตาม
ทิศทางที่ขยับพวงมาลัยให้ แต่พอใช้ความเร็วสูง จะพบเลยว่า ระยะฟรีที่เราสัมผัสได้ในตอนแรกนั้น พอมาใช้ในช่วงนี้
แล้ว ผมว่า มันมีระยะฟรีเนยอะไปหน่อย บางจังหวะที่บังคับรถอยู่ จะรู้สึกเหมือนกับว่า โหวงๆ นิดหน่อย ถ้าสามารถ
เพิ่มความหนืดได้อีกสักนิด จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ด้วยความเร็วสูงได้มากกว่านี้อีก

ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลังเป็นแบบอิสระ Milti-Link ในเมืองนอก
มีระบบช่วงล่างถุงลม Airmatic ให้เลือกใช้ในรุ่นแพงๆบางรุ่น แต่สำหรับเมืองไทย มีติดตั้งมาให้กับ E500 เท่านั้น
ส่วนรุ่นประกอบในประเทศ ทั้ง E200 CGI E250 CGI E250 CDI และ E300 ทั้งหมด จะใช้ช็อคอัพ และสปริงเหล็ก
แบบมาตรฐาน

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ 3-Link แม็คเฟอร์สันสตรัต ออกแบบให้มีการจัดวางตำแหน่งของล้อหน้าใหม่ ต่างไป
จากรถรุ่นก่อน นอกจากนี้ แขนยึด และปีกนกต่างๆ ผลิตขึ้นจากทั้ง อะลูมีเนียม และเหล็ก ตามความจำเป็นในแต่ละ
ชิ้นส่วน เพื่อช่วยทั้งการลดน้ำหนัก และความแข็งแรงทนทานมากยิ่งขึ้น (อีกทั้งยังช่วยให้ต้นทุนการผลิตถูกลงได้อีก)
เมื่อเทียบกับรถรุ่นก่อน W211 ที่ใช้ช่วงล่างซึ่งมีสัดส่วนการทำแขนยึด และปีกนกต่างๆจากอะลูมีเนียม มากกว่ารุ่นนี้

ช็อกอัพทั้ง 4 ต้น ของรถรุ่นประกอบในประเทศ ซึ่งไมได้ใช้ระบบ Airmatic แต่อย่างใดนั้น จะเป็นแบบ Double tube
พร้อมหัวช็อกอัพแบบ Three-phase Head bearing ทำงานด้วยกลไกแบบ hydromechanical เพียวๆ ปราศจาก เซ็นเซอร์
หรือระบบอีเล็กโทรนิคส์ใดๆทั้งสิ้น นี่ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ระบบไฟฟ้าจะไม่ต้องมาวุ่นวายกับชีวิตเรามากนัก เพราะ
ถ้ามันพังไป หรือเจอความชื้นใดๆ จนมันเริ่มรวน การเสีรยเงินซ่อม หรือเปลี่ยนระบบไฟฟ้า เหล่านี้ ถือว่า แพงจน
ขนหน้าแข้งเศรษฐีร่วงกันเลยทีเดียว และ Mercedes-Benz คิดถูกแล้ว ที่ไม่นำระบบไฟฟ้าอันน่าปวดกบาลเหล่านั้น
มาติดตั้งกับช่วงล่างของ E-Class ใหม่ เวอร์ชันประกอบในไทย โดยไม่จำเป็น

โครงสร้างหลักๆ ข้างในช็อกอัพ คือท่อ bypass duct และลูกยาง control piston ที่จะเคลื่อนตัวในน้ำมันไฮโดรลิค เมื่อล้อ
เคลื่อนตัวขึ้น หรือเจอแรงกระแทกในช่วงความเร็วต่ำ ลูกยาง control piston จะเคลื่อนตัวไปอุดรูท่อ Bypass เพื่อให้น้ำมัน
ไฮโดรลอิก ไหลไปยังท่อ Bypass ดังกล่าวมากขึ้น ถ้าล้อเคลื่อนตัวยก หรือลงหลุม รุนแรงขึ้น ลูกสูบ control piston ถูกดัน
ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่กำหนดไว้ น้ำมันไฮโดรลิกจะลดการไหลเข้าท่อ Bypass duct น้อยลง พอแรงกระแทกหายไป ลูกยาง
ก็จะลอยตัวกลับมานิดหน่อย น้ำมันในกระบอกช็อกอัพจะไหลเวียนได้ตามปกติ Mercedes-Benz บอกว่า ผลที่ได้คือ
ช็อกอัพที่มีบุคลิก “นุ่มกว่าเดิม” เพื่อเน้นความสบายในการขับขี่ เพราะนี่เป็นวิธีที่ช็อกอัพช่วยปรับความหนืดด้วยตัวมันเอง

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ถูกติดตั้งเข้ากับ SubFrame ร่วมกันกับเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และชุด
เฟืองพวงมาลัย โดน Subframe นั้น ถูกออกแบบให้มีความแข็งแกร่ง และ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการส่งอาการไปให้
ผู้ขับขี่รับรู้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มสัมผัสให้ผู้ขับขี่ได้รู้สึกถึงความแม่นยำในการบังคับควบคุมมากขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม

ด้านระบบกันสะเทือนหลังแบบ Multi-Link ถูกออกแบบให้ชุดช็อกอัพ และสปริง ติดตั้งแยกจากกัน มีการออกแบบ
คานไขว้ ทำจากเหล็กกล้าที่มีความแข็งแกร่งสูง อย่างที่เห็นในรูป ให้เป็นจุดยึดข้อต่อของปีกนกต่างๆ เพื่อลดแรง
สะเทือนที่จะเข้าสู่พื้นที่ผู้โดยสารด้านหลัง ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งยังออกแบบให้หลายชิ้นส่วน
ทำจากอะลูมีเนียม เพื่อช่วยลดน้ำหนักให้เบากว่าเดิมอีกด้วย

แม้ว่าพื้นฐานในภาพรวมจะเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุที่ Mercedes-Benz แบ่งระดับการตกแต่งเอาไว้ แตกต่างกัน ทั้ง
Elelgance และ Avantgarde นั่นหมายความว่า ทั้ง 3 คันที่อยู่ในรีวิวนี้ จะถูกปรับเซ็ตค่าความแข็ง และหนืดของ
ช็อกอัพมาให้แตกต่างกันไปตามรูปแบบการตกแต่งของตัวรถ

โดยรุ่น E200 CGI และ E250 CDI ซึ่งตกแต่งแบบ Elegance จะใช้ช่วงล่างในแบบ “นิ่มมากในความเร็วปานกลาง
และในย่านความเร็วสูง แต่แอบมีตึงตังบ้างนิดเดียว น้อยมากๆ ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะกำลังคลานไปตามเนิน
ลูกระนาดต่างๆ

อย่่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ช่วงล่างแบบ Elegance จะถูกปรับเซ็ตมาให้เน้น นุ่มและนิ่มนวลเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก
และผมมองว่า เหมาะกับคนที่คิดว่าจะซื้อ E-Class เอาไว้ขับใช้งานในเมืองเป็นหลัก ในชีวิตนี้ เหยียบคันเร่งยังไงๆ
ก็ไม่เกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะหากพ้นจาก 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงไป รถรุ่น Elegance ทั้ง E200 CGI และ
E250 CDI จะเริ่มมีอาการให้เราได้พบกัน ทั้งด้านหน้าที่ลอยขึ้นนิดนึง เริ่มต้องใช้สมาธิในการควบคุมพวงมาลัยเพิ่ม
มากขึ้น การจัมพ์ขึ้นหรือลง0kdคอสะพานที่ไม่สูงชันมากนัก บนทางด่วนอุตราภิมุข ช่วงเชียงราก บ่งบอกให้เรารู้ว่า
การควบคุมอาการของช่วงล่างด้านหลังนั้น ยังไม่ดีเท่าที่ควร จะเป็น ยังพอจะพบอาการท้ายลอยๆ และเหมือนมีการ
ให้ตัวซ้าย – ขวานิดๆ แอบโผล่มาให้พบ ซึ่งคงต้องบอกกันตามตรงว่า W211 ตัวเก่า คุมอาการบั้นท้ายได้ดีกว่านี้
ชัดเจน บนถนนเส้นเดียวกัน และรูปแบบคอสะพานไม่สูงนัก จุดเดียวกัน

แม้ว่าช่วงล่างแบบนี้ อาจจะเหมาะสมสำหรับ E200 CGI หรือบรรดา E-Class แรงน้อยๆ คันอื่นๆ ในตระกูล W212
แต่อยากจะบอกว่า สำหรับรถที่มีเครื่องยนต์ประเสริฐขั้นเทพอย่าง E250 CDI นั้น ผมอยากจะขอให้ Mercedes-Benz
ติดตั้งช่วงล่างแบบ Avantgarde ให้จะดีกว่านี้ เพราะมันเป็นช่วงล่างที่จะเหมาะกับพละกำลังของเครื่องยนต์มากกว่านี้
เราอยากได้รถที่ใช้ความเร็วสูงๆ แล้ว ยังคงมั่นใจได้กับการตอบสนองของช่วงล่าง ที่ไม่นิ่มไปหน่อย แบบนี้

ขณะที่ช่วงล่างของรุ่น E250 CGI Avatgarde นั้น จะถูกปรับแต่งให้รถ “เตี้ยลงกว่าเดิมนิดหน่อย” ระยะห่างจากพื้นรถ
ถึงพื้นตัวถังจะลดลงไป 15 มิลลิเมตร ปัญหาต่างๆ ที่พบเจอในรถรุ่น Elegance นั้น หายไปเสียสิ้น ช่วงล่างที่มาในแนว
นุ่มก็จริงอยู่ กลับให้ความมั่นใจในการขับขี่ดีกว่ารุ่น Elegance ชัดเจนมาก อย่างไรก็ตาม ความนิ่ง สงบ สบาย นั้น ก็
ไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกสนุกในการขับขี่เท่าที่ควร มันทำให้ E-Class กลายเป็นรถที่ ขับไปได้เรื่อยๆ สบายๆ มากกว่า

ที่น่าสังเกตก็คือ สิ่งที่่ช่วงล่างทั้งแบบ Elegance และ Avantgarde เหมือนกันนั้น อยู่ที่การตอบสนองในขณะเข้าโค้ง
หากใช้ความเร็วในโค้งระดับไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับรูปแบบ ความยาว และองศาของทางโค้ง) คุณ
จะพบว่า หากใช้ความเร็วดเข้าโค้งมากไปนิดนึง รถจะเอียงก็จริง แต่มันพยายามจะบอกกับคุณว่า “เจ้านาย เข้าโค้ง
เร็วไปหน่อยนะ” แต่รถก็จะพยายามฝืนเผื่อไปให้คุณได้อีกนิดหน่อย เพื่อจะประคับประคองให้ออกจากโค้งได้
อย่างสบายๆ

อีกประเด็นที่น่าสังเกตไม่แพ้กันก็คือ ถ้าให้พูดกันตรงๆ บุคลิกของช่วงล่าง E-Class ใหม่นั้น มีความคล้ายคลึงกับ
Nissan Teana ใหม่ อยู่พอสมควร คือมาในแนวนุ่มสบายๆ พอให้มั่นใจได้ อย่างไรก็ตาม Teana ใหม่ จะนิ่ง
ในย่านความเร็ว 160 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง มากกว่า ช่วงล่างแบบ Elegance และเทียบเท่าช่วงล่างรุ่น Avantgarde
แต่การเก็บแรงสะเทือนในช่วงคลานในเมือง ย่านความเร็วต่ำ E-Class ใหม่ ก็ยังทำได้ดีกว่า Teana อยู่นิดหน่อย

ทำไมผมถึงเปรียบเทียบช่วงล่างของ E-Class ใหม่กับ รถอย่าง Teana ตรงนี้ขอให้อ่านดีๆ ครับ

เพราะว่า ในขั้นตอนการพัฒนา teana J32 รุ่นปัจจุบันนั้น Nissan เลือกใช้ ช่วงล่างของ Mercedes-Benz E-Class
W211 รุ่นที่แล้ว เป็น Benchmark ในการปรับปรุงช่วงล่างของตน ให้ตอบสนองได้ดีใกล้เคียวงกับ E-Class ดังนั้น
ในฐานะที่เป็น ช่วงล่างซึ่ง Nissan เลือกที่จะตั้งธงเพื่อพัฒนาให้เทียบเท่า นั่นก็หมายความว่า ช่วงล่างแนวนุ่มๆ
แบบนี้ของ E-Class ย่อมต้องโดดเด่นในด้านการตอบสนองผู้โดยสาร และผู้ขับขี่ ในประเด็นความสบาย ขณะ
เดินทางไกลอย่างชัดเจน นั่นเอง!

ยิ่งถ้าเทียบกับ Volvo S80 ใหม่ซึ่งผมเคยเรียกเล่นๆในหมู่เพื่อนฝูงว่า “เจ้าพ่อย้วย” มาวันนี้ ช่วงล่างที่นิ่มเกินไป
ถูกปรับแต่งให้ดีขึ้น พอจะเข้าโค้งได้ดีขึ้นกว่าเดิมนิดนึง แต่ ด้วยน้ำหนักตัวที่กดลงบนช่วงล่างค่อนข้างมาก
และความแข็งแกร่งของโครงสร้างตัวถัง กับระบบกันสะเทือน ช่วยให้ S80 สามารถรักษาความนิ่ง บนถนน
แบบลอนคลื่น รวมทั้งความนิ่งขณะขับขี่ในย่านความเร็วสูง เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ได้ดีกว่า W212
ที่ใช้ช่วงล่าง Elegance ชัดเจนมาก แต่ เมื่อเทียบกับช่วงล่าง Avatgarde แล้ว การเข้าโค้ง W212 ก็ยังให้ความ
มั่นใจได้เหนือกว่า S80 ชัดเจน

ดังนั้น โปรดระลึกเอาไว้เสมอว่า ช่วงล่างธรรมดาของ E-Class ใหม่ ถูกออกแบบมาให้เอาใจผู้ใหญ่ ที่ชอบรถช่วงล่าง
แนวนุ่มๆนิ่มๆ นั่งสบายๆ ดังนั้น มันจะไม่เหมาะให้คุณเอาไปลองเล่นอะไรสนุกๆ ซนๆ เลยแม้แน้อย ถ้าเข้าใจจุดนี้
คุณก็จะใช้ชีวิตกับช่วงล่างแบบนี้ได้อย่างมีความสุข 

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ มีขนาดจานเบรกแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นย่อย หากเป็นรุ่น E200 CGI จานเบรก
คู่หน้าแบบมีรูระบายความร้อน จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 295 มิลลิเมตร หนา 28 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง มีเส้นผ่า
ศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร หนา 10 มิลลิเมตร เป็นจานเบรกชุดเดียวกับที่ใส่อยู่ใน E250 CGI Elegance Coupe คันสีดำ
ที่เราเคยทดลองขับไปแล้ว

แต่ถ้าเป็นรุ่น E250 CGI Avantgarde และ E250 CDI Elegance จานเบรกคู่หน้าแบบมีรูระบายความร้อน จะมีขนาดใหญ่
โตขึ้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 332 มิลลิเมตร หนา 32 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลังมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร และหนา
10 มิลลิเมตร เท่ากันกับ E200 CGI และ รุ่น E250 CGI Coupe Elegance และทุกรุ่นย่อย ใช้คาลิปเปอร์เบรกแบบลูกสูบเดี่ยว

ส่วนเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่ มีมาให้ครบในทุกรุ่น เรียกว่า ระบบรวมโปรแกรมควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic
Stability Program) ซึ่งรวมระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบป้องกัน
ล้อหมุนฟรี ASR (Acceleration Skid Control) ระบบ เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BAS (Brake Assist System) และ
ระบบ ADPATIVE BRAKE ซึ่งจะทำงานในทันทีที่เซ็นเซอร์พบว่า ผู้ขับขี่ถอนคันเร่งอย่างฉับพลัน แรงดันน้ำมันเบรก
จะถูกปรับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหยุดรถอย่างฉุกเฉิน และเมื่อผู้ขับขี่เหยียบเบรกอย่างรุนแรง
ภายในเสี้ยววินาที ระบบฯ จะช่วยชะลอความเร็ว และหยุดรถได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ด้วยระยะเบรกที่สั้นกว่า ในเวลาที่
น้อยกว่าปกติ

อีกทั้งยังมี เบรกมือไฟฟ้า พร้อมฟังก์ชัน HOLD การทำงานก็คือ ในขณะคลานไปตามการจราจรติดขัด ถ้าเข้าเกียร์ D
และกดปุ่ม HOLD เอาไว้ ระบบจะป้องกันไม่ให้ รถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าโดยไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกตลอดเวลา
จนกว่าจะต้องการออกรถ ค่อยเหยียบคันเร่ง หรือไม่ก็ กดสวิชต์ ยกเลิกการทำงาน รวมทั้งยังมีระบบ Start-Off Assist
ที่ช่วยในกรณีรถติดบนทางลาดชัน หากเข้าเกียร์ D ค้างไว้ แล้วถอนเท้าออกจากเบรก รถจะหยุดนิ่งในเวลา 2-3 วินาที
เพื่อให้คุณเหยียบคันเร่ง ส่งรถเคลื่อนตัวขึ้นไปตามทางลาดชันได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่ารถจะไหลไปชน
รถคันข้างหลัง

การตอบสนองของระบบเบรกนั้น E-Class ถือว่าทำได้น่าประทับใจใช้ได้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นช่วงคลานในเมือง
ช่วงความเร็วต่ำๆ ขับเข้าไปในตรอก ซอก ซอย ต่างๆ หรือจะเบรกกระทันหัน เพราะมอเตอร์ไซค์ขี่ออกมาตัดหน้า
การทำงานเป็นไปอย่างนุ่มนวล แค่ใช้เท้าแตะลงไปบนแป้นเบรก ลงน้ำหนักไม่ต้องเยอะนัก แป้นเบรกที่ตอบสนอง
ได้นุ่มเท้ามาก แต่มีแรงต้านในระดับเหมาะสม สร้างความรู้สึกมั่นใจขณะเบรก ยิ่งถ้าเป็นการหน่วงรถลงมาจากระดับ
ความเร็วสูงๆ แป้นเบรกของ E-Class นั้น ถือว่าตอบสนองได้ดีกว่า BMW ซีรีส์ 5 ใหม่ อยู่นิดหน่อย และภาพรวมของ
ระบบเบรก ก็ทำได้ดีมากๆ ที่สุด เช่นเดียวกับ E250 CGI Elegance Coupe ที่เราเคยนำมาทดลองขับกันนั่นละครับ

ด้านความปลอดภัย ถึงแม้ในเวอร์ชันต่างประเทศ จะมีอุปกรณ์อีเล็กโทรนิคส์ ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองชีวิตผู้โดยสารอีก
หลายรายการ อาทิ ระบบ Blind Spot Assist แจ้งเตือนรถคันที่แล่นตามมาด้านข้าง ที่กระจกมองข้าง (มีใน E500 ที่สั่ง
เข้ามาขายในบ้านเรา) ระบบ Lane Keeping Assist เตือนเมื่อผู้ขับขี่เริ่มขับเป๋ออกนอกเลนถนน ระบบ Night View
Assist เป็นกล้อง Infared จับวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวในความมืด แล้วแสดงผลบนหน้าปัดรถ จากใน S-Class
ฯลฯ อีกหลายรายการ แต่เนื่องจาก E-Class W212 ทั้ง 3 คันที่เรานำมาทดลองขับ เป็นรถประกอบในประเทศ และ
ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ติดตั้งมาให้ เราจึงจะขอกล่าวถึงอุปกรณ์ความปลอดภัย ที่มีมาให้ในรถประกอบในไทย ทั้ง
3 คันนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อมานั่งดูในรายการอุปกรณ์มาตรฐานของแต่ละรุ่นแล้ว ผมว่า ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่า เวอร์ชัน
ยุโรปเขาเลยทีเดียว

เพราะเวอร์ชันไทยของ E-Class ใหม่ ทุกคัน ถูกติดตั้งระบบ PRE-SAFE มาให้เช่นเดียวกับ Mercedes-Benz รุ่นใหม่
คันอื่นๆ หลักการทำงานก็คือ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์คับขัน ทันทีที่เซ็นเซอร์ของระบบช่วยเบรก BAS (Brake Assist)
รับรู้ว่า มีการเหยียบเบรกกระทันหัน หรือเมื่อระบบควบคุมเสถียรภาพ ลดการลื่นไถลทั้งในโค้ง ขณะออกตัว หรือเมื่อ
อยู่บนพื้นลื่น ESP (Electronic Stability Program มีมาให้ในรถประกอบในไทย ทุกคัน) ตรวจจับได้ว่ารถเริ่มสูญเสีย
การทรงตัว การทำงานของระบบปกป้องก่อนเกิดเหตุต่างๆ จะเริ่มขึ้นทันที ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที

ขั้นแรกเข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า แบบ Pretensioner & Load Limiter ผ่อนแรง และรั้งกลับ
อัตโนมัติ จะปรับตัวกระชับเข้ากับร่างกาย ผู้ขับขี่ ขณะเดียวกัน พนักพิงเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้า จะถูกปรับให้
ตั้งตรงขึ้น ซันรูฟและกระจกหน้าต่างทุกบานจะเลื่อนปิดเองทันทีโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกัน การหลุด
กระเด็นของผู้ขับขี่และผู้โดยสารออกไปนอกตัวรถ และพนักศีรษะของเบาะคู่หน้า NECK-PRO จะเตรียมพร้อม
รองรับศีรษะของผู้ขับขี่กับผู้โดยสารตอนหน้า ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันภายในเสี้ยววินาที

หากรถหยุดนิ่งสนิท ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light ในชุดไฟเลี้ยวทั้ง 2 ฝั่ง จะติดขั้นเองโดยอัตโนมัติ เพื่อเตือนให้
รถคันข้างหลังที่ขับตามมา รู้ว่า คุณเพิ่งจะหยุดกระทันหัน “ระวังนะ อย่าเพิ่งมาเสยบั้นท้ายฉันเชียวละ!”

แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุ โครงสร้างตัวถังนิรภัย Crumple Zone ถุงลมนิรภัย คู่หน้า (หรือด้านข้าง หากเป็นการชนด้านข้าง)
ม่านลมนิรภัยด้านข้าง รวมทั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับเบาะหลัง จะพองตัวออกมาอย่างฉับพลันด้วยความเร็วใน
ระดับ 1/1000 วินาที พนักพิงศีรษะแบบ NECK-PRO head restraints จะยกตัวขึ้นรองรับศีรษะ ขณะที่แกนพวงมาลัย
สามารถยุบตัวได้มากถึง 100 มิลลิเมตร เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่ รวมถึงอุปกรณ์นิรภัยต่าง ๆ จะทำงานร่วมกัน
อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกคน

หลังเกิดอุบัติเหตุ หากมันร้ายแรงมาก ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของชุดควบคุมจะตัดการจ่ายเชื้อเพลิงโดยอัตโนมัติ พร้อม ๆ
กับสั่งการให้เครื่องยนต์หยุดทำงานในทันที ขณะเดียวกันประตูทุกบาน จะถูกปลดล็อกโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับ
กระจกหน้าต่างจะถูกปรับเลื่อนลงเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ ฝุ่นควันจากถุงลมนิรภัยระบายออกได้รวดเร็ว ช่วยให้อากาศ
ภายในห้องโดยสารถ่ายเทได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ บนกระจกรถยนต์ยังมีเครื่องหมายบอกตำแหน่งของการตัดตัวถัง
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัยให้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ได้อย่างทันท่วงที

ที่สำคัญ ทุกระบบที่กล่าวมาข้างต้น ถูกติดตั้ง ใน E-Class ใหม่ ประกอบในประเทศ ทุกคัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นถูกสุด หรือ
รุ่นแพงสุด โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น

เหนือสิ่งอื่นใด จุดแข็งที่สำคัญที่สุดของ Mercedes-Benz ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา คือการเป็นผู้ริเริ่มนำโครงสร้าง
นิรภัย แบบยุบตัวและกระจายแรงปะทะ Crumple Zone อันเป็นแนวคิดของ วิศวกรระดับตำนานของค่ายดาวสามแฉก
ในยุคทศวรรษ 1960 มาใช้ในรถยนต์เพื่อการผลิตออกจำหน่ายจริง ตั้งแต่ปี 196x เป็นต้นมา

และวันนี้ E-Class ใหม่ ก็ถูกยกระดับการพัฒนาด้านโครงสร้างตัวถังไปอีกขั้น ด้วยการนำเหล็กแบบ Ultra-high-strength
steel alloys มาใช้ในตัวรถโดยรวมแล้วมากถึง 72 เปอร์เซนต์ ถือว่ามากที่สุดในบรรดารถยนต์ที่ผลิตออกจำหน่ายจริงทั้งหมด
โดยแบ่งสัดส่วน การใช้วัสดุในตัวรถ เป็นเหล็ก High-Strength Steel 56 เปอร์เซนต์ เหล็กแบบ Modern High-Strength Steel
8 เปอร์เซนต์ เหล็กแบบ Ultra-high-strength 3 เปอร์เซนต์ Ultra-high-strength แบบ Hot roll หรือ แบบรีดร้อน 5 เปอร์เซนต์
อะลูมีเนียม 8 เปอร์เซนต์ พลาสติก 3 เปอร์เซนต์ และ อีก 17 เปอร์เซนต์ เป็นวัสดุประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังมีการออกแบบให้มี
การกระจายแรงปะทะจากการชนที่ดีขึ้นกว่ารถรุ่นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชนในแบบ Offset-crash หรือไม่เต็มพื้นที่
ด้านหน้ารถ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมากที่สุด จากผลวิจัยด้านอุบัติเหตุรถยนต์ทั่วโลกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากนี้
ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างตัวถังด้านข้าง โดยเฉพาะ เสาหลังคากลาง B-Pillar ให้สามารถรองรับและส่งกระจายแรงปะทะ
ไปทั่วทั้งคันรถให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้โดยสารในรถ

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง ฝากระโปรงหน้าแบบ Active Bonnet ให้กับ E-Class W212 ประกอบในไทย ทุกคัน ทันทีที่
มีคนข้ามถนนตัดหน้า จนคุณหลบไม่ทัน และต้องชนเต็มๆ ฝากระโปรงหน้าแบบ Active Bonnet จะยกตัวเด่งขึ้นมารับ
สรีระของผู้ที่คุณขับไปชนเขา เพื่อลดการบาดเจ็บทั้งบริเวณศรีษะ และลำตัว แม้ว่าฝากระโปรงหน้าของคุณอาจจะบุบ
แต่อย่างน้อย โอกาสรอดชีวิตของคนเดินถนนผุ้สะเพร่าคนนั้น ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทำหน้าที่ปกป้องผู้โดยสารจากเหตุไม่คาดฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น เมื่อออกแบบโครงสร้างเสร็จแล้ว ทีมวิศวกรด้านความปลอดภัยของ Daimler AG จึง
ป้อนข้อมูลทุกอย่าง เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อจำลองรูปแบบการชน Virtual Crash Test มากถึง 17,000 รูปแบบ

ข้อมูลที่ได้ จุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข จะถูกนำมาปรับปรุงในขั้นถัดมา คือการสร้างรถยนต์ต้นแบบ หลายร้อยคัน เพื่อ
จำลองการชน ในห้องปฏิบัตอิการทดสอบการชน มากถึง 150 ครั้ง (ผู้ผลิตรายอื่นๆ เฉลี่ย อยู่แถวๆ 50 ครั้ง บวกลบ ส่วน
รถยุโรปยี่ห้ออื่นๆ มีตั้งแต่ 100 – 250 ครั้ง ไม่ค่อยเกินจากนี้)

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทาง EuroNCAP ได้ทดสอบการชนของ E-Class W212 โดยเลือกเอารถรุ่น E220 CDI พวงมาลัยซ้าย ที่
ไม่มีจำหน่ายในไทย ไปทำการทดสอบการชน และทำคะแนนในภาพรวมได้ถึง 5 ดาว ซึ่งเป็นการยืนยันถึงมาตรฐาน
ด้านความปลอดภัยของ Mercedes-Benz ที่ยังคงสูงส่งอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์เสมอมา รายละเอียดในการทดสอบ
คลิกเข้าไปดูได้ที่นี่ www.euroncap.com/results/mercedes_benz/e_class/2010/397.aspx

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

นอกเหนือจากเรื่องความแรงของเครื่องยนต์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากรู้ก็คือ รถยนต์ระดับ Premium Midsize ในสมัยนี้
หากเป็นเครื่องยนต์เบนซินแล้ว เริ่มทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีขึ้นกว่าระดับ 10 – 11 กิโลเมตร/ลิตร กันหรือยัง โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง เมื่อ Mercedes-Benz บอกว่า รถของพวกเขานั้น อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี Blue Efficiency ซึ่งมีตั้งแต่ความพยายาม
ในการลดน้ำหนักส่วนเกินที่ไม่จำเป็นออกจากโครงสร้างตัวรถทั้งคัน ไปจนถึงการออกแบบด้านอากาศพลศาสตร์ ที่ช่วย
ลดการต้านลม ฯลฯ อีกมากมาย ฉะนั้น มาดูกันดีกว่า ว่า E-Class ใหม่ จะประหยัดขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม ได้มากน้อยแค่ไหน?

เรายังหาคงทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ด้วยวิธีการดั้งเดิม ในรุ่น เบนซิน เราจะเริ่มกันที่ E200 CGI Blue Efficiency
ผมกับ กล้วย BnN แห่ง The Coup Channel ของเรา พาไปเติมน้ำมัน 95 Techron ที่สถานีบริการ Caltex ถนนพหลโยธิน ฝั่ง
ตรงข้ามกับโชว์รูม เบนซ์ราชครู ในช่วงบ่ายวันเสาร์ ด้วยเหตุผลเดียวคือ ที่นี่ยังคงมีน้ำมันเบนซิน 95 ให้เติมอยู่เพียงแห่งเดียว
ในละแวกพหลโยธิน สะพานควาย สามเสน และบางซื่อ

เรายังคงใช้น้ำมัน เบนซิน 95 มาตรฐาน ที่ไม่ใช่แก็สโซฮอลล์ เพราะในอดีตหลายปีที่ผ่านมา เราใช้น้ำมันเบนซิน 95 ในการ
จับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมานานแล้ว เพื่อควบคุมตัวแปรการทดลอง ให้อยุ่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน มากที่สุด เท่าที่จะ
เป็นไปได้ เนื่องจาก รถบางคัน เติมได้แค่ 95 บางคันเติมได้ทั้ง 95 และ 91 เพื่อไม่ให้วุ่นวาย ก็จับเติมแต่ 95 กันไปเลย เป็น
อันว่า สิ้นเรื่อง และที่เราจะยังไม่ใช่แก็สโซฮอลล์ ในการทดลองของเรา เพราะรู้ว่า ตัวเลจที่ได้ มักจะต่ำกว่าความเป็นจริงไป
1 – 2 กิโลเมตร/ลิตร โดยประมาณ ขึ้นอยู่กับรถแต่ละคัน ทั้งหมดนี้ เป็นไปเพื่อให้ผลที่ได้ออกมา พอจะนำไปอ้างอิงได้บ้าง

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เซ็ต 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้วก็ข้บรถออกจากปั้ม เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน
แล้วเลี้ยวก็ลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกสู่ถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายอุดรรัถยา หรือ
เส้นเชียงราก ที่อยุธยา ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตลอดเส้นทาง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน (ผม 95 กิโลกรัม และ
กล้วย BnN หนัก 48 กิโลกรัม)

พอถึงปลายสุดทางด่วน เราก็เลี้ยวกลับ ขึ้นทางด่วนย้อนเส้นทางเดิมอีกครั้ง แล่นมาเรื่อยๆ ยาวๆ สบายๆ จนลงทางด่วนที่
อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน ไปเลี้ยวกลับอีกครั้งที่หน้าโชว์รูม เบนซ์ ราชครู แล้วขับเข้าสถานี
บริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron อีกครั้ง เต็มถัง และแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนกันกับครั้งแรก
ที่เราเติมน้ำมันเข้าไป

อุณหภูมิขณะทดลองอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส 
มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ E200 CGI Elegance Blue Efficiency กันครับ

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 92.2 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.07 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.04 กิโลเมตร/ลิตร

ก็คงต้องถือว่า ตัวเลขที่ออกมา สมเหตุสมผล เพราะรถที่มีเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี ลากน้ำหนักตัวมากขนาดนี้
ให้อัตราเร่งออกมาอย่างนี้ แต่กินน้ำมันประมาณนี้ ถือว่าทำได้ดีตามสมควรแล้ว เพราะคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน
อย่าง BMW 523i ก็ทำได้ตัวเลข ในระดับเดียวกันนี้ แต่พวกเขาต้องใช้เครื่องยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ
ใหญ่กว่านี้นิดนึง

แต่ถ้าถามว่า น้ำมัน 1 ถัง ความจุ 80 ลิตร จะพา E200 CGI Elegance คันนี้ แล่นไปได้ไกลแค่ไหน
จากการเติมน้ำมันกลับเข้าไปจนเต็ม เซ็ต 0 บน Trip Meter ขับใช้งาน มาคืนที่สำนักงานใหญ่ของ
Mercedes-Benz Thailand ที่อาคารรัจนากร ถนนสาทร ตัวเลขทำได้ที่ 417.6 กิโลเมตร เข็มน้ำมัน
เพิ่งจะหล่นลงมาต่ำกว่าครึ่งถังนิดเดียว

ลองนึกเปรียบเทียบกันดูนะครับ รถยนต์นั่ง B-Segment 1,500 ซีซี ทั่วไปในตลาดบ้านเราตอนนี้ ความจุถังน้ำมัน
เฉลี่ยอยู่ที่ 45 ลิตร โดยปกติแล้ว ถ้าขับใช้งานจริงๆ น้ำมัน 1 ถัง รถยนต์ขนาดเล็กเหล่านั้น ก็จะแล่นได้ในระดับ
400 กิโลเมตรเศษๆ โดยประมาณ ไฟเตือนน้ำมันหมด จึงจะสว่างขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับเข็มน้ำมันของรถคันนี้
ซึ่งหล่นลงมาในระดับพอกันนี้ ดังนั้น ก็ถือว่า ประหยัดน้ำมันแล้วในระดับหนึ่ง

รุ่นต่อมา ที่เราจะทำการทดลองกันคือ E250 CGI Avantgarde Blue Efficiency ใช้เครื่องยนต์ M271 1,800 ซีซี
เหมือนกัน เพียงแต่ปรับแต่งให้มีกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ในเมื่อเป็นเครื่องยนต์เดียวกัน E200 CGI
ดังนั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ออกมา ก็น่าจะไม่แตกต่างกันมากนัก…และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

เราใช้มาตรฐานการทดลองเหมือนกัน คือ เติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ธรรมดา ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex
ถนนพหลโยธิน เยื้องกับโชว์รูม เบนซ์ ราชครู เติมกันจนเต็มถัง แค่หัวจ่ายตัดก็พอแล้ว สักขีพยานและผู้ช่วย
ในการทดลอง ก็ยังเป็นคนเดียวกัน คือ คุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Channel ของเรา ดังนั้น น้ำหนักของผม
และของกล้วย ก็จะเท่ากัน ไม่ต่างจากเดิม อ้างอิงได้จากการทดลอง E200 CGI ข้างบนนี้

จากนั้น เซ็ต 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้วก็ขับรถออกจากปั้ม เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน
หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะออกสู่ถนนพระราม 6 เพื่อขึ้นทางด่วน มุ่งหน้า
ไปยังปลายสุดทางด่วนสายอุดรรัถยา ที่อยุธยา ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตลอดเส้นทาง เปิดแอร์
และนั่ง 2 คน เหมือนกัน

พอถึงปลายสุดทางด่วน เราก็เลี้ยวกลับ ขึ้นทางด่วนย้อนเส้นทางเดิมอีกครั้ง แล่นมาเรื่อยๆ ยาวๆ สบายๆ จนลงทางด่วนที่
อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน ไปเลี้ยวกลับอีกครั้งที่หน้าโชว์รูม เบนซ์ ราชครู แล้วขับเข้าสถานี
บริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron อีกครั้ง เต็มถัง และแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนกันกับครั้งแรก
ที่เราเติมน้ำมันเข้าไป

อุณหภูมิขณะทดลองอยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส มาดูตัวเลขของ E250 CGI คันนี้กันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด อยู่ที่ 93.1 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.98 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.33 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขดูเหมือนจะดีขึ้นกว่า E200 CGI นิดนึง แต่อย่าลืมว่า รถคันนี้ สวมล้อ 17 นิ้ว เข้าไปด้วย ถ้าจะถามว่า ทำไมตัวเลข
ของ E250 CGI ดีกว่า E200 CGI อยู่ 0.3 ลิตร บอกให้ก็ได้ครับว่า มาจาก ค่าความเพี้ยนของการเติมน้ำมัน โดยปกติแล้ว
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าตัวเลขเมื่อหารกันออกมา เฉลี่ยแล้ว ต่างกัน ไม่เกิน 0.5 กิโลเมตร/ลิตร บวก-ลบ แม้จะดู
เหมือน E200 CGI กินกว่า แต่จะถือว่า ยังอยู่ในพิสัยที่พอรับได้ และต้องถือว่า ตัวเลขที่ออกมา “อยู่ในระดับเดียวกัน
หรือใกล้เคียงกัน”

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะพา E250 CGI คันนี้แล่นไปได้ไกลแค่ไหน พอเราเติมน้ำมันกลับเข้าไปเสร็จ เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter
จากนั้น ก็ขับใช้งานตามปกติ จนกระทั่งวันส่งคืนรถ เราใช้งานไปทั้งหมด 518.7 กิโลเมตร โดยที่เข็มน้ำมัน ร่วงลงมาเหลือ
น้ำมันอยู่ในถังราวๆ 1 ใน 4 ของความจุ 80 ลิตร

เฮ้! รุ่นเบนซิน นี่เอาเข้าจริงก็ถือว่า แล่นได้ระยะทางเยอะนะเนี่ย ถ้าวิ่งกันเนียนๆ น้ำมัน 1 ถัง อาจแล่นได้ราวๆ 650 จนถึง
700 กิโลเมตร น้ำมันจึงจะหมดถังพอดี ก็น่าจะทำได้อยู่นะ

แต่ถ้าต้องการความประหยัดจริงๆ แล้วละก็ มองรุ่น Diesel อย่าง E250 CDI Elegance Blue Efficiency เอาไว้ได้เลยครับ
เพราะมันประหยัดกว่ารุ่นเบนซิน ชนิด ห่างกันไกลโยชน์ เลยนั่นเอง!

เราทดลองกันตามมาตรฐานเดิม เพียงแต่ คราวนี้ หากเป็นน้ำมัน Diesel เราจะหันไปเติมน้ำมัน Shell V Power B5 จากสถานี
บริการ Shell ปากซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน เติมกันจนเต็มถัง และเอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เช่นเดียวกันกับทั้ง 2 คันข้างต้น

จากนั้น เซ็ต 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ ออกรถ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปขึ้นทางด่วน พระราม 6 แล้วมุ่งหน้า
ไปยังปลายสุดทางด่วน อุดรรัถยา หรือสายเชียงราก ที่อยุธยา เลี้ยวกลับ แล้วขึ้นทางด่วนย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิม โดย
ยึดมาตรฐานเดิม คือใช้ความเร็ว ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เพียงแต่ว่า สักขีพยานและผู้ช่วยในการ
ทดลองของเราคราวนี้ เป็น น้องโจ๊ก V10 ThLnD สมาชิกในทีม The Coup ของเราอีกคนหนึ่ง ซึ่งห่างหายการร่วมงาน
ไปพักใหญ่ ด้วยภาระกิจส่วนตัว น้ำหนักของโจ๊ก อยู่ที่ 58 กิโลกรัม น้ำหนักผู้ขับ อยู่ที่ 95 กิโลกรัม

เรากลับมาลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวเข้าสถานีบริการน้ำมัน Shell ที่ติดอยู่กับ
โชว์รูม เบนซ์ ราชครู ตามเดิม แล้วเติมน้ำมัน Shell V Power B5 กลับเข้าไป แค่หัวจ่ายตัดก็พอ หัวจ่ายเดียวกันเป๊ะ

อุณหภูมิในการทดลองอยู่ที่ องศาเซลเซียส เรามาดูตัวเลขกันนะครับ ว่า E250 CDI จะทำตัวเลขได้เท่าไหร่?
ระยะทางที่แล่นมาทั้งหมด จากมาตรวัด อยุ่ที่ 92.7 กิโลเมตร



ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.46 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.97 กิโลเมตร/ลิตร
จ๊ากกกกกก! เบนซ์รุ่นใหญ่ บ้าอะไรเนี่ย ประหยัดกว่า Camry HYBRID (16.69 กิโลเมตร/ลิตร) แถมยังประหยัดใกล้เคียงกับ
รถเล็กๆ อย่าง Nissan March !!! เฮ่ยย บ้าไปแล้วเถอะ!!!

ก็บ้าไปแล้วหนะสิครับคุณผู้อ่าน ผมก็ไม่อยากเชื่อนักหรอก อยากจะบอกว่า รุ่น CDI นี่ ผมถังขั้นต้องทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงกันถึง 2 ครั้งเลยทีเดียว ครั้งแรก ปาเข้าไป 18 กิโลเมตร/ลิตร ด้วยซ้ำ นั่งคิดกับตัวเอง 2-3 วัน สรุปว่า ก่อนส่งรถคืน
ขอทำตัวเลขกันอีกสักทีสิน่า นี่ขนาดว่าทำการทดลองซ้ำ ตัวเลข ก็ยังอยู่ในแถบที่ประหยัดมากกว่ารถยนต์ขนาดเล็กธรรมดาๆ
ทั่วไปที่ขายกันอยู่ในบ้านเราตอนนี้ เกือบทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ และถือว่าประหยัดที่สุดในตระกูล E-Class W212 ที่เราได้ลองขับ

แต่ถ้าจะเทียบกับคู่แข่งแล้ว ต้องถือว่า ทั้ง BMW 520d F10 และ Volvo S80 D3 ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้ ประหยัด
กว่า E250 CDI ไปชัดเจนเหมือนกัน แต่ยังถือว่า ถ้าให้ต้องใช้งานในภาพรวม E250 CDI Blue Efficiency จัดเป็น 1 ในกลุ่ม
รถยนต์ Premium Midsize ที่ประหยัดน้ำมันที่สุดในกลุ่มนี้ ไปได้สบายๆ และไม่น่าเกลียดอีกด้วย

ส่วนตัวเลขในรุ่นอื่นๆนั้น ที่น่าสนใจก็คือ ในกลุ่มเครื่องยนต์เบนซินด้วยกันนั้น E200 CGI และ E250 CGI ทำตัวเลขด้อยกว่า
BMW 523i (F10) ไปแค่ 0.3 กิโลเมตร/ลิตร โดยประมาณ รวมทั้ง ด้อยกว่า Volvo S80 2.5FT ตอนที่ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ปกติ
ไปราวๆ 0.8 กิดลเมตร/ลิตร ซึ่งก็ถือว่า ยังไม่ได้แตกต่างมากถึงขั้นมีนัยสำคัญอะไรแต่อย่างใด

แล้วถ้าน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นไปได้กี่กิโลเมตรกัน? หลังการทดลองครั้งแรก ผมเซ็ต 0 บน Trip Meter เพื่อจะดูระยะทางที่แล่นได้
ทั้งหมด จนกระทั่ง วันที่ตัดสินใจกลับมาทำการทดลองอัตจราสิ้นเปลืองฯ กันอีกครั้ง ก่อนส่งคืนรถในวันสุดท้าย เข็มน้ำมันหล่น
จากระดับครึ่งถังลงไปนิดเดียว แต่ระยะทางทั้งหมดที่ทำได้ ปาเข้าไป 497 กิโลเมตร!! ถ้าเป็นแบบนี้ แสดงว่า น้ำมัน 1 ถัง ขับแบบ
เรื่อยๆ สบายๆ เผลอๆ ไปได้ไกลถึงภูเก็ตด้วยซ้ำเลยนะนั่น! คือถ้าไปถึงกระบี่หนะ ได้แน่ๆ ชัวร์ๆ สบายๆ 1 ถังคาดว่า น่าจะทำได้
800 กิโลเมตร แน่ๆ สำหรับ E250 CDI

********** สรุป **********
E200 CGI Elegance : แรงนิ่มๆ เน้นนุ่มๆ ถ้างบไม่พอ รุ่นนี้ก็เพียงพอ
E250 CGI Avantgarde : แรง และ ช่วงล่างดีสุดในตระกูล W212 (Best Choice of E-Class!)
E250 CDI Elegance : E-Class บ้าอะไรเนี่ย? “แรงจัด ประหยัดน้องๆ Nissan March” !!

“Better than anything except being in love…..”

เสียงของ Dianne Reeves ไม่ได้ดังขึ้นมาจากลำโพงในคอมพิวเตอร์ หากแต่มันดังขึ้นมาในหัวของผม ซึ่งกำลังพยายาม
นำบทความนี้มาถึงบทสรุปของมัน เครื่องหมายคำถาม ที่ผมเกิดนึกขึ้นมาได้ ถูกนำไปเติมต่อท้าย ชื่อบทความครั้งนี้
ประหนึ่ง ชวนให้คุณผู้อ่านสงสัย ว่ามันจริงหรือ ที่ E-Class ใหม่ จะเหมาะกับเพลงนี้อย่างแท้จริง?

ผมหายสงสัยไปหลายข้อ โดยเฉพาะคำถามที่เคยติดค้างในใจมาก่อนหน้านี้ที่ว่า “เมื่อไหร่ Mercedes-Benz จะรู้ตัวเสียที
ว่าตัวเอง ควรจะทำรถในแบบนุ่มๆ สบายๆ แบบที่คนจำนวนมากมาย ยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ แทนที่จะมัวไป
เสียเวลาอยู่กับความพยายามทำตัวรถให้ สปอร์ต และอัดแน่นไปด้วยสารพัดอุปกรณ์อีเล็กโทรนิคส์ ที่ยังพัฒนาไม่เสร็จดี
แล้วก็รีบนำมาติดตั้งในรถรุ่นจำหน่ายจริง

เวลาผ่านไปราวๆ 10 ปี มาวันนี้ Mercedes-Benz ดูเหมือนจะรู้ตัวแล้วละว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปแข่งขัน ทำรถเก๋ง
รุ่นยอดนิยมให้ออกมาเป็นแนวสปอร์ต สนุกกับการชับขี่ เหมือนอย่างที่ BMW เขาเป็น

E-Class ใหม่ คือตัวอย่างในการหยุดก้าวเดินไปข้างหน้า แล้วย้อนกลับมาพิจารณาถึงจุดแกร่งในแบรนด์ และรถยนต์
ของตนเอง ว่า มันเคยชนะใจผู้บริโภคด้วยเหตุผลใด มันแอบหลุดแนวทางไปเมื่อไหร่ แล้วตัดสินใจจะย้อนกลับมา
เดินบนทางที่ถูกที่ควร

ลุกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อ E-Class คือ ผู้ที่คาดหวังความนุ่มสบาย ในการเดินทาง บรรยากาศอันเป็นส่วนตัว และสงบในแบบที่
หารถยนต์รุ่นอื่นๆ เปรียบเทียบได้ไม่ง่ายนัก วันนี้ E-Class ใหม่ นำบรรยากาศที่น่าชื่นใจ สมัย W124 กลับมาให้เราได้
สัมผัสกันอีกครั้ง พร้อมกับเส้นสายที่ร่วมสมัย และแอบตรึงตาตรึงใจ เจ้าผู้การแพน Commander CHENG! (ในฐานะ
อดีตลูกค้าเก่า 280E W124 ก่อน Minorchange) เอาไว้ได้อย่างไม่อาจละทิ้งสายตาลงได้โดยง่าย

การขับขี่ที่รื่นรมณ์ ไม่ว่าสภาพการจราจรจะติดขัดขนาดไหน พายุฝนจะเทกระหน่ำลงมาเท่าไหร่ หรือบรรยากาศภายนอก
จะเลวร้ายอย่างไร การทำรถออกมาให้ผู้โดยสารรู้สึกว่า ตนได้นั่งอยู่ใน Saloon รุ่นหนึ่งที่ได้ชื่อว่า ดีที่สุดระดับหัวแถวของโลก
ด้วยความปลอดภัย ยังคงเป็นแนวทางที่ Mercedes-Benz ใหม่ เลือกที่จะนำมาใช้กับ E-Class รุ่นนี้ โดยไม่สนใจ ไม่แคร์กลุ่ม
ที่ชื่นชอบสมรรถนะการขับขี่ ในเชิงสปอร์ต เพราะถ้าต้องการเช่นนั้นจริง คงต้องขยับไปเล่นรุ่น E63 AMG กันไปเลย แต่
ก็ไม่ถึงกับต้องลงทุนกันขนาดนั้น ให้เปลืองเงินเล่นๆ

อีกข้อดีที่น่าชื่นชมของ E-Class ใหม่ คือพละกำลังจากเครื่องยนต์เบนซิน แค่ 1.8 ลิตร พอพ่วง Turbocharger เข้าไป เท่านั้นแหละ
พละกำลังก็พุ่งขึ้นไป มากพอให้เรียกใช้งานได้ ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ระดับ 2.5 ลิตร แบบไม่มีระบบอัดอากาศใดๆเลยทีเดียว
ยิ่งถ้าเป็นรุ่นเครื่องยนต์ Diesel CommonRail Twin Turbo นั่น ยิ่งทำให้ผมประทับใจกับอัตราเร่งที่พาให้หลังติดเบาะ แถมพก
ความประหยัดมาในระดับเหนือกว่า Toyota Camry Hybrid นิดหน่อย และไล่เลี่ยกับ Nissan March รุ่น CVT ในการทดลอง
อัตราสิ้นเปลืองของเรากันเลยทีเดียว นี่ละ เทคโนโลยีของ Mercedes-Benz ที่สั่งสมมานานกว่า 125 ปี!

อย่างไรก็ตาม E-Class ใหม่ ก็ยังมีจุดที่สามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ได้อีก และนั่นก็น่าจะช่วยให้ Mercedes-Benz
Thailand สามารถเพิ่มลูกค้าได้อีกไม่น้อยเลยทีเดียว

ประการแรก หลังจากที่ผมได้ลองขับ E-Class W212 Saloon มาจนครบทุกรุ่นแล้ว ผมมองว่า ถ้า Mercedes-Benz จะจัด
ให้มีรุ่นย่อยใหม่เกิดขึ้นมา นั่นคือ E250 CDI Blue Efficiency Avantgarde ออกมาให้ได้ แล้วเคาะราคาอย่าให้เกินระดับ
4,250,000 บาท มันจะเป็นทางเลือกที่ผสมผสาน สิ่งที่ดีที่สุด 2 สิ่ง ในตระกูล W212 ด้วยกัน เข้ามารวมกันไว้ในคันเดียว

นั่นคือพละกำลังจากเครื่องยนต์ที่ช่วยดึงหลังคุณให้ติดเบาะ ขณะเดียวกัน ช่วงล่างที่นุ่มกำลังดี และติดแข็งเล็กๆ นิดนึง
รวมทั้งการลดระยะห่างจากพื้นรถจนถึงพื้นถรร หรือ Ground Clearance ลง 15 มิลลิเมตร ช่วยให้รถ เกาะถนนได้ดี
ยิ่งขึ้นไปอีกในช่วงความเร็วสูงๆ อย่าลืมนะครับว่า คนไทยขับรถทางไกลกันเร็วมากๆ เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
และคนที่ซื้อรุ่น Diesel ไปใช้งานกัน คงมีไม่น้อย ที่เหยียบกันตีนมิดติดเหล็กรถ ดังนั้น พละกำลังขนาดนี้ ต้องใช้
ช่วงล่างแบบ Avantgarde เท่านั้นครับ ถึงจะเหมาะสม และไม่ทำให้ผู้ขับขี่ เครียดในช่วงความเร็วสูงจนเกินไป

ประการต่อมา ถึงแม้ว่า ทีมวิศวกรเยอรมันจะวิเคราะห์และวิจัยกันมาอย่างดีแล้วถึงเรื่องของเบาะนั่ง แม้กระทั่งการนำ
ค่าอ้างอิงมาตรฐานของเบาะกับสรีระของมนุษย์ (Seat measurement) มาใช้ในการออกแบบ แต่ผมมองว่า ยังขาดความ
พอดีไปนิดนึง

จริงอยู่ว่า การเพิ่มความสมดุลย์ ให้เท่ากัน ด้วยการเพิ่มระยะฐานล้อ และเพิ่มพื้นที่วางขา เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าภายใน
ห้องโดยสารด้านหลังมันโปร่ง โล่งสบาย แต่ถ้าจะให้ดีแล้ว ความวยาวของเบาะรองนั่งด้านหลัง ควรจะเพิ่มขึ้นกว่านี้
อีกสนักนิดนึง น่าจะช่วยให้เจ้าของรถหลายๆคน ผู้ซึ่งมักจะนั่งบนเบาะหลัง มากกว่าตำแหน่งคนขับ รู้สึกสบายช่วง
บั้นท้ายของพวกเขา ระหว่างหย่อนก้นลงนั่ง ตลอดการเดินทางมากกว่านี้ ขณะที่พนักพิงหลังเอง น่าจะรองรับกับช่วง
หัวไหล่เพิ่มมากกว่านี้อีกสักนิด น่าจะลงตัวขึ้นเยอะครับ

พวงมาลัยนั้น แม้ว่า ในช่วงความเร็วต่ำ เบากำลังดี หมุนได้คล่อง เบาแรงจนน่าพึงพอใจแล้วก็จริง แต่เมื่อใช้ความเร็วสูง
ขณะเดินทาง ผมมองว่าควรจะมีความหนืดในช่วงความเร็วพ้นจาก 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เพิ่มขึ้นกว่านี้ อีกไม่น้อย
และระยะฟรีควรลดลงจากนี้อีกนิดนึง ไม่ต้องมากนัก เพียงแค่นี้ การตอบสนองของพวงมาลัย ก็น่าจะดีขึ้นกว่านี้

และประการสุดท้าย เอาเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS มาติดตั้งให้ในทั้ง 3 รุ่นย่อยที่เห็นอยู่นี้ เพื่อจะช่วย
ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงขณะเดินทางไกล ของรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ดีขึ้นยิ่งกว่านี้ได้อีกนิดนึง และถ้าไล่อัตราทด
ให้ดีๆ จะช่วยดึงศักยภาพของเครื่องยนต์ Diesel ออกมาให้เราได้ประจักษ์มากยิ่งกว่านี้อีกครับ

สำหรับใครที่กำลังมองหารถยนต์นั่งขนาดกลาง ในกลุ่ม Premium Saloon แล้วยังคิดไม่ตกว่าควรจะซื้อรถรุ่นไหนดีนั้น
นอกเหนือจาก E-Class W212 ใหม่แล้ว ในบ้านเรา ยังมีทางเลือกอื่นๆ ให้คุณได้ลองมองละม้ายชายตามาดู แม้จะมี
อีกเพียง 3 ตัวเลือก แต่รับประกันว่า ถ้าไม่ใช่คนที่ยึดติดกับดวงดาวเป็นสรณะ ทั้ง 3 รุ่นที่เหลือ จะพาให้คุณอาจปวดหัว
แทบระเบิด เพราะแต่ละคัน มีจุดดีจุดเด่นจุดด้อย ที่แตกต่างกันไปคันละทิศคันละทาง  และทุกคัน ต่างก็จะมีจุดเด่น
บางอย่าง ที่โดดเด้ง ไปไกลกันสุดขอบโลกเลยทีเดียว

BMW 5 Series (รหัสตัวถัง F10)
คู่กัดตลอดกาล ของ E-Class  ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ มาวันนี้ เปลี่ยนโฉมใหม่ สวยงาม
ลงตัว และดูสุขุมขึ้น ที่สำคัญ ยกทัพขุมพลัง Diesel Common Rail Turbo มาให้เลือกกันอย่างจุใจ ชนิดไม่เคยมีมาก่อน
นอกจากจะแรงแล้ว ยังทำอัตราสิ้นเปลืองได้ประหยัดสะใจ พอๆกับ ECO Car กันเลยทีเดียว แถมคราวนี้ยังมีการปรับ
แต่งระบบกันสะเทือนให้สามารถเลือกได้ 3 ระดับความแข็ง – นุ่ม พร้อมระบบเลี้ยว 4 ล้ออัตโนมัติ (2 ข้อนี้ E-Class ไม่มี)
นี่ยังไม่นับกับสารพัดอุปกรณ์ ไฮเทค ที่อัดแน่นมา กะว่าจะไม่ให้น้อยหน้า E-Class ใหม่กันไปทีเดียว ที่สำคัญ มาพร้อม
การเคลมว่า มีระยะฐานล้อยาวที่สุดในตลาด ผคือยาวกว่า E-Class ว่างั้นเถอะ) แต่น่าเสียดายที่ BMW ใช้ประโยชน์จาก
ความยาวฐานล้อดังกล่าว ในการออกแบบพื้นที่วางขาด้านหลัง ได้ไม่เต็มที่เลย ต่อให้เบาะหลังนั่งสบายอย่างไรก็ตาม
พื้นที่วางขา กลับน้อยนิดเดียว และนั่นดูจะเป็นข้อเสียเพียงไม่กี่ข้อที่หลุดรอดหลงเหลือมาสู่เวอร์ชันจำหน่ายจริง
ในทุกวันนี้ เพราะบุคลิกการขับขี่ จะยังคงเอาใจคนชอบขับรถเอง เหมือนเช่นทุกรุ่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น
จะเหมาะกับคนที่ต้องการรถยนต์ Executive Saloon เพื่อขับใช้งานเอง รักความสนุกในการขับรถพอประมาณ และมี
ผู้โดยสารนั่งไปด้วยเรื่อยๆ แต่มั่นใจได้กว่ารุ่นเก่าเยอะ! แต่บริการหลังการขายนั้น โชคดีว่ามี ประกัน BSI 5 ปีแถมให้
จับเคลมได้แทบจะทุกชิ้น ไม่เช่นนั้น คงขายเหนื่อย เพราะอะไหล่ BMW นั้น โดยทั่วไปแล้ว เข้าขั้นแพงมาก

Volvo S80 : ถึงจะอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2008 แต่ S80 ก็ยังคงจุดเด่น เรื่องความคุ้มค่าจากออพชันที่มีมา เมื่อเทียบกับ
ราคาค่าตัวที่ต้องจ่ายออกไป ในภาพรวม โดยเฉพาะรุ่น S80 D3 ขุมพลัง Diesel Turbo 163 แรงม้า แรงบิดสูงสุดมากถึง
400 นิวตันเมคร ที่ดันพกพาความแรงมาพร้อม ความประหยัดทะลุพิกัด 18.6 กิโลเมตร/ลิตร แถมภายในห้องโดยสาร
ยังเป็นจุดเด่นของพวกเขา เพราะใช้หนังแท้เกรดดี มาทำแบบเดียวกับ Jaguar XF (แต่สกปรกง่ายชะมัด) ข้อด้อยก็คือ
ช่วงล่าง นุ่มนิ่มไปหน่อยสำหรับรถยนต์ระดับนี้ พอจะเข้าโค้งเมื่อไหร่ ถอนเท้าจากคันเร่งทันที แต่สิ่งที่ดึงดูดใจให้คุณ
อาจไขว้เชวได้ ก็คือ ราคา เพราะค่าตัวของ S80 ในตอนนี้ เริ่มต้นเพียง 2,499,000 บาท ในรุ่น 2.5 FT พื้นฐาน และ
ในรุ่น D3 ราคา 2,699,000 บาท คุณจะได้ทั้งระบบ redar cruise Control, Lane Keeping Assist ฯลฯ อีกมากมาย
พร้อมกับชุดเครื่องเสียง ที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุดในกลุ่ม ดังนั้น S80 จะเหมาะกับคนที่ต้องการรถยนต์ไว้ใช้งานทั้ง
เดินทางในเมือง หรือ ระหว่างเมือง และต้องการความนุ่มสบาย และความอุ่นใจจากระบบป้องกันหากเกิดอบัติเหตุ
เป็นปัจจัยสำคัญ…ถ้าคุณรับได้ กับราคาอะไหล่ที่จะแพงใช่เล่น ในระยะยาวหลัง 5 ปีขึ้นไป

Audi A6 : ข่าวร้ายก็คือ ผมไม่เคยทดลองขับ ผมไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับรถรุ่นนี้ ในเวอร์ชันไทยเลย พูดกันตามตรงก็คือ
ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะติดต่อกับใครได้ เขาจะมีรถให้ผมยืมมาทำรีวิวหรือเปล่า แต่เชื่อแน่ว่าคงจะไม่มี เหนือสิ่งอื่นใด
เรามาค้นหากันก่อนไหมว่า เราสามารถติดต่อกับ ผู้จำหน่ายในเมืองไทย ได้ด้วยหนทางใดบ้าง และโชว์รูมของพวกเขา
ที่น่าจะเหลืออยู่ไม่มากนักในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่แห่งใดบ้างนอกเหนือจากพระราม 9?

แล้วถ้า คุณ หรือใครสักคนในบ้าน เกิดชอบ E-Class มากกว่าละ? คำถามยอดฮิต ที่ผมมักได้รับมาเป็นประจำก็คือ
“ผมจะซื้อรถรุ่นไหนดี รุ่นนี้ดีหรือไม่…”

ผมก็คงไม่แปลกใจ เพราะจากทั้งหมด 6 รุ่นย่อย ตอนนี้ มีรุ่นประกอบในประเทศเหลืออยู่ 5 รุ่น (ตัด E500 ออกไป)
และแต่ละรุ่น ก็ยังมีความแตกต่างกันไม่ถึงกับมากมายนัก ราคาก็ปีนป่ายไล่เลี่ยกันอยู่ ถึงตรงนี้ ก็ต้องถามความต้องการ
ในใจของคุณดู ว่า คุณต้องการ อะไร และ แค่ไหน จาก E-Class ใหม่

ถ้าคิดจะใช้งานในเมืองเป็นหลัก หรือต้องการความนุ่มสบาย ในชีวิตไม่ใช่คนขับรถเร็วนัก แต่ก็ควรมีอัตราเร่งเผื่อ
เอาไว้บ้างในยามจำเป็น E200 CGI Blue Efficiency ราคา 3,749,000 บาท นี่แหละ เพียงพอเหลือเฟือแล้ว อัตราเร่ง
ถือว่า ไม่ขี้เหร่เลย แรงใช้ได้ ด้อยกว่า E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ประหยัด
น้ำมันระดับ 13.04 กิดลเมตร/ลิตร แถมอุปกรณ์ประจำรถ ก็มีมาให้อย่างเหมาะสม เบาะคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า แถม
มีหน่วยความจำ Memory ให้ 3 ตำแหน่ง ชุดเครื่องเสียงพื้นฐาน Audio 20 เล่น CD/MP3 ได้ 6 แผ่น In-Dash พร้อม
ช่องเสียบ Media Interface กับ Blackberry iPod ฯลฯ ได้อีก มีม่านไฟฟ้าด้านหลังมาให้ มี PAKRTRONIC ช่วยกะ
ระยะตอนถอยจอด ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ลายไม้ Burr Walnut ระบบ Adaptive Brake ระบบเตือนผู้ขับขี่ให้แวะพัก
Attention Assist มี ABD ESP มี PRE-SAFE Package พวงมาลัย Multi Function พร้อมจอบนหน้าปัด Airbag 6 ใบ
เฮ้! นี่ก็ถือว่าของเล่นเยอะใช้ได้แล้วนะ สำหรับรถรุ่นถูกสุดในตระกูลเนี่ย!

เพียงแต่ว่า ถ้าคุณเป็นคนขับรถออกทางไกลบ่อยๆ และต้องการช่วงล่างที่มั่นใจได้ แต่ยังคงความนุ่มสบายกำลังดี
ไว้ให้พ่อตาแม่ยาย ไม่บ่นอุบ E250 CGI Blue Efficiency Avantgarde ราคา 4,159,000 บาท คือคำตอบที่ดีที่สุด
ถือเป็น Best Choice
สำหรับ E-Class W212 ณ วันนี้ วันที่ รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 7G TRONIC ยังไม่คลอดออกมา

เพราะถึงจะใช้เครื่องยนต์ M271 เบนซิน บล็อกเดียวกันกับ E200 CGI แต่ด้วยการปรับบูสต์ Turbo ให้เพิ่มขึ้น
จูนกล่อง ECU ให้เหมาะสมขึ้น ก็ช่วยเรียกพละกำลังออกมาได้มากขึ้น ในขณะที่อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็
พอๆกันกับรุ่น E200 CGI (13.33 กิโลเมตร/ลิตร) เท่ากับรถยนต์ Compact C-Segment จากญี่ปุ่นและยุโรปตั้ง
หลายคัน อีกทั้งช่วงล่าง ที่เตี้ยกว่ากัน 15 มิลลิเมตร พร้อมกับช็อกอัพซึ่งมีความหนืดแตกต่างไปเล็กน้อย จะ
ช่วยให้การเดินทางไกลของคุณมั่นใจยิ่งกว่า ขณะที่ความนุ่มสบาย ก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากได้ระบบ
COMMAND APS คุณต้องจ่ายเพิ่มราวๆ 140,000 บาท เป็น 4,299,000 บาท
ซึ่งออกจะแพงไปหน่อย แต่
ขึ้นอยู่กับรสนิยม และความชอบของแต่ละครอบครัว

แต่ถ้าคุณคิดถึงความประหยัดน้ำมันเหนือสิ่งอื่นใด ขอแนะนำให้พุ่งไปหา E250 CDI Blue Efficiency Elegance
ราคา 4,199,000 บาท
ในทันทีแบบไม่ต้องคิดมาก เพราะนอกจากจะประหยัดได้มากถึง 16.9 กิโลเมตร/ลิตร แล้ว
ของแถมที่คุณยังจะได้รับเพิ่มเติมติดปลายนวมก็คืออัตราเร่งพุ่งโผนโจนทะยาน สำหรับการเร่งแซงรถพ่วงขณะ
เดินทางไกล เพียงแต่ว่าต้องทำใจกับช่วงล่างในแนวนุ่ม ซึ่งนิ่มไปนิดนึง เมื่อเทียบกับพละกำลังที่ตัวรถแสดงให้
เราเห็นว่ามันเยอะแยะมากมาย หลั่งไหลและพรั่งพรู ถือเป็นเครื่องยนต์ Mercedes-Benz ที่ผมประทับใจที่สุด
ตั้งแต่เคยทดลองขับรถยี่ห้อนี้มา

ไม่เช่นนั้น ก็ต้องรอ E200 NGT ที่จะคลอดตามมาหลังจากนี้ ซึ่งคุณจะเติมได้ทั้งน้ำมันเบนซินมาตรฐาน ไปจนถึง
เบนซิน แก็สโซฮอลล์ และแน่นอนว่า เติมก๊าซธรรมชาติอัด CNG ได้สบายๆ ถ้าคุณไม่กลัว คนขับ Taxi จะเยาะเย้ย
ถากถางคุณ เวลาไปเข้าคิวเติมก๊าซ กับพวกเขา ว่า “ขับเบนซ์ ซะเปล่า ไม่มีปัญญาเติมน้ำมันหรือไง ต้องมาแย่งก๊าซ
กับกรูเนี่ย?”

อันที่จริง มันควรจะเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภค ที่จะเลือกใช้รถยนต์ และเชื้อเพลิงอะไรก้ได้ตามความต้องการ และความ
เหมาะสมต่อชีวิตของเรา ถ้าคิดจะซื้อรถติดก๊าซ CNG มาใช้ ก็จงอย่าได้แคร์เสียงเยาะเย้ยถากถางจากความคิดแย่ๆ
เหล่านั้น เพราะพวกเขาไม่ได้ช่วยคุณ ออกเงินซื้อรถ และจ่ายค่าเชื้อเพลิงเลยแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือ
ทางอ้อม

ท้ายสุด สำหรับใครที่คิดจะซื้อรถยนต์ในกลุ่มนี้ หรือกลุ่มไหนๆ การทดลองขับ คือสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง การจ่ายเงินในระดับ 4 ล้านกว่าบาท นี่ถือเป็นการลงทุนซื้อทั้งความสบาย และอนาคตให้กับตัวคุณเอง และ
ครอบครัว

มันไม่ง่ายหรอกครับ การที่จะต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และต้องยอมละทิ้งอีกหลายสิ่งที่เหลือ ในโลกนี้ ไม่มีรถยนต์
รุ่นใด ยี่ห้อใด ตอบสนองความต้องการของคุณได้ครบถ้วนทุกอย่าง ทุกกระเบียดนิ้ว แม้แต่ Mercedes-Benz หรือ
Rolls Royce ก็ตาม

เพียงแต่ คุณลองตั้งคำถามกับตัวเองเอาไว้ให้ดีว่า ต้องการสิ่งใดบ้าง จากรถยนต์ 1 คัน

คำถามพื้นๆแบบนี้แหละ ที่จะนำคุณไปสู่การทดลองขับ ที่จะไขคำตอบ ว่ารถคันไหน ถึงจะเหมาะกับคุณ เพาะรถทั้ง 3 รุ่น
บุคลิกแตกต่างกันอย่างที่บอกไป ว่าไม่มากนัก แต่ก็ชัดเจนอยู่ในตัวของมันเองทั้งหมด

รถแบบที่ขับสนุก นั่งสบาย แต่แอบอึดอัดนิดหน่อย อย่าง BMW 5 Series รถแบบที่นั่งสบายไปหมด อุปกรณ์ความปลอดภัย
ดีเยี่ยมกว่าใคร ราคาก็ถูกกว่า แต่เครื่องก็อาจแรงน้อยกว่า และช่วงล่าง ก็อาจจะนิ่มไปหน่อย อย่าง Volvo S80 หรือรถแบบที่
ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สุนทรีย์ สงบ และสบายพอตัว แรงและประหยัดเกาะอยู่ในกลุ่มแต่ไม่ได้เหนือกว่า หรือด้อยกว่า
ในภาพรวม แต่มีภาพลักษณ์ทางสังคมที่เหนือกว่า อย่าง E-Class

ท้ายที่สุดแล้ว คุณก็ควรจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก ด้วยตัวเอง เพราะทั้งหมดนั่น….

มันเงินของคุณล้วนๆ เลยครับ
———————————————————————-

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร
บริษัท Mercedes-Benz Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม

รวมบทความทดลองรถยนต์ในกลุ่ม Premium Midsize Saloon คลิกที่นี่



J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิืธิ์ของ Daimler AG เยอรมัน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
17 พฤษภาคม 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures Except some studio shot from Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 17th,2011

 แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments Are Welcome Click here!