เมื่อวันที่ 22-23 สิงหาคม 2023 ทาง BMW ได้เชิญทีมงานไปร่วมงาน BMW Driving Challenge 2023 ในรอบสื่อ เพื่อสัมผัสประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ประสิทธิภาพสูงของค่ายรุ่นต่าง ๆ ที่สนาม Chang International Circuit จังหวัดบุรีรัมย์
โดยงาน BMW Driving Challenge นี้ เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี สำหรับผู้ที่สนใจ 32 ท่าน สำหรับรอบลูกค้านั้นจัดขึ้นในวันที่ 20-22 สิงหาคม ก่อนหน้ารอบของสื่อ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 37,500 บาท ต่อท่าน (ราคา Early Bird 29,900 บาท) และมีค่าใช้จ่ายเสริมสำหรับผู้ติดตาม 5,500 บาท (ห้องพักเพิ่ม 9,000 บาท) โดยราคานี้รวมที่พัก 2 คืน ที่โรงแรม Modena by Fraser และอาหาร 5 มื้อ และรถรับส่งจากสนามบิน แต่ไม่รวมค่าเดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์
จุดประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้ แบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน โดยส่วนแรกนั้น นี่เป็นการเสริมสร้างทักษะการขับขี่รถยนต์ของผู้ร่วมงาน เนื่องด้วยด่าน Challenge ต่าง ๆ ภายในกิจกรรมนั้น ล้วนแล้วมีเป้าหมายในการเสริมสร้างทักษะที่แตกต่างออกไป ซึ่งต่างก็เป็นทักษะที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากจะขับขี่รถในระดับ Advance
ในขณะที่จุดประสงค์ที่สอง นี่เป็นการให้ผู้ร่วมงานมาทดลองขับรถยนต์ BMW ที่มีการวางจำหน่ายอยู่ ณ ปัจจุบัน สำหรับรถที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Ultimate Driving Machine ถ้าหากขับขี่อยู่เพียงแค่ท้องถนนสาธารณะ ก็ไม่อาจที่จะเข้าถึงประสิทธิภาพของรถเหล่านี้อย่างสูงสุด ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
ดังนั้น งาน BMW Driving Challenge นี้ จึงเป็นเหมือนทั้งงานที่ได้ความรู้ ได้ทักษะ และได้ความสนุกด้วย
ในบทความนี้ เราจะมา Recap ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ในงาน BMW Driving Challenge จัดไว้ให้กับผู้ร่วมงาน รวมไปถึงบอกเล่าประสบการณ์และความรู้สึกในการขับขี่รถยนต์รุ่นต่าง ๆ ที่ถูกใช้ภายในงาน
ก่อนอื่น เราขอเริ่มต้นที่ตัวกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานก่อน
Ideal Line / Track Driving
สนาม Chang International Circuit จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสนามแข่งรถขนาดใหญ่ที่ได้รับการรับรอง FIA Grade 1 เหมือนกับสนามอย่าง Sepang Circuit ของมาเลเซีย ซึ่งหมายความว่าสนามแห่งนี้ถูกออกแบบให้มีโซน Run-off (บริเวณนอกแทรค) ที่กว้าง และมีแบริเออร์คุณภาพสูง จึงเป็นสนามที่มีความปลอดภัยสูงมาก ปลอดภัยถึงขนาดสามารถที่จะจัดแข่งขันรถยนต์ Formula 1 กันได้เลย ความยาวสนาม 4.554 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 12 โค้ง สนามแห่งนี้ถูกออกแบบโดย Hermann Tilke ซึ่งเป็นนักออกแบบสนามแข่งขันรถชื่อดังอื่น ๆ อย่าง Sepang ที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือสนาม Yas Marina และ Circuit of the Americas (COTA)
ในกิจกรรม Ideal Line นั้น ผู้ร่วมงานจะได้ขับตามรถ Pace Car กำหนดความเร็ว นำขบวนรถจำนวนทั้งสิ้น 4 คัน เพื่อดูไลน์สนามที่เหมาะสมและรวดเร็วที่สุด อีกทั้งในสนามยังมีการวาง Marker ระบุตำแหน่งสำหรับการเบรก หักเลี้ยวเข้า และเติมคันเร่งออก ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ไม่เคยขับรถในสนาม ก็จะสามารถทำความคุ้นเคยได้ไม่ยากเลย
ภายในกิจกรรม สนามจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน ประกอบด้วยส่วน High Speed ซึ่งจะใช้โค้ง 1 2 และ 3 และส่วน Technical ซึ่งใช้โค้ง 5 ถึง 12 โดยส่วนของโค้ง 4 นั้นเป็นจุดกลับรถของทั้งสอง Section
ในส่วนของ High Speed นั้น สำหรับปีนี้ รถที่ได้ขับคือ BMW M2 ใหม่ล่าสุด และ BMW X4M Competition ส่วนของ Technical นั้นจะเป็นรถ BMW M340i
Gymkhana
ถ้าหากส่วนในสนาม Technical นั้น ยังคดเคี้ยวและคับแคบไม่สะใจพอ ส่วน Gymkhana จะเป็นส่วนที่ตอบสนองความต้องการนี้ได้ การขับขี่ในแทรค Gymkhana นั้น เป็นสนามที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า แต่ต้องอาศัยความแม่นยำ และความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายเทน้ำหนักของรถมากถึงจะทำเวลาได้เร็ว
นอกจากนี้ สนาม Gymkhana ยั้งถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน ถ้าหากขับบนถนนยังไม่น่าตื่นเต้น ภายในงานยังได้จัดแทรคแบบ Dirt หรือพื้นผิวทางฝุ่นเอาไว้ให้สำหรับผู้ที่อยากรู้ว่าการขับขี่ Rally นั้นเป็นอย่างไร ทั้งสองส่วนนี้มีการจับเวลาเพื่อค้นหาผู้ที่สามารถขับในสนาม Gymkhana ได้รวดเร็วที่สุดด้วย
สำหรับกิจกรรม Gymkhana On-Road นั้น รถที่ใช้คือ BMW 330e M Sport ส่วน Gymkhana Off-Road นั้น ใช้เป็น BMW iX xDrive 40 M Sport ซึ่งในส่วนของ Track Driving ผู้จัดไม่อนุญาตให้ปิดระบบช่วยเหลือการทรงตัว Dynamic Stability Control แต่ในส่วนของ Gymkhana นั้นสามารถทำได้ ถ้าหากต้องการ จึงสามารถขับให้ท้ายออกเล่น ๆ ได้
Oversteer Control
กิจกรรมอีกส่วนหนึ่ง คือด่าน Oversteer ที่ทางผู้จัดจะเตรียมแทรคคล้ายกับสนาม Gymkhana เอาไว้ แต่ตรงส่วนนี้จะมีการใช้รถน้ำมาทำให้ผิวถนนเปียกท่วม ตั้งใจให้มีความลื่นสำหรับการใช้สาธิตการควบคุมรถในสภาวะที่รถเสียอาการไปแล้ว
ในกิจกรรม Oversteer นี้ วิทยากรจะให้ท่านปล่อยให้รถหมุนไปเลยในรอบแรก เพื่อรู้ว่าอาการของรถนั้นเป็นอย่างไร ก่อนที่ในรอบถัด ๆ มา จะค่อย ๆ ให้พยายามเรียนรู้การควบคุมคันเร่งเพื่อให้ท้ายกวาดออก ควบคู่กับการควบคุมพวงมาลัยกลับไม่ให้รถหมุน ซึ่งถ้าหากทำได้ดีพอ ก็จะสามารถ Drift ออกจากโค้งอย่างเท่ ๆ ได้เลย
โดยรถที่ใช้ในกิจกรรม Oversteer Control นี้ ก็เป็นรถ BMW 330e M Sport คันเดียวกับที่ใช้ในกิจกรรม Gymkhana นั่นเอง และในกิจกรรมนอกเหนือจากการปล่อยให้ท้ายปัดแล้ว ก็จะมีการสาธิตการทำงานของระบบ DSC ที่สามารถควบคุมการทรงตัวของรถให้เกิดความปลอดภัยด้วย
เมื่อเสร็จสิ้นการอธิบายกิจกรรมต่าง ๆ แล้วนั้น เราจะมาพูดถึงความรู้สึกของรถยนต์ที่ได้ทดลองขับในงานกันบ้าง ตามจุดประสงค์ของงานอีกมุม ที่ต้องการจะนำเสนอประสิทธิภาพของรถ BMW ขั้นสูงสุด ในแบบที่การขับขี่บนท้องถนนสาธารณะนั้นไม่สามารถทำได้
BMW M2
ราคาจำหน่าย (รวม BSI) : 6,499,000 บาท
เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์วขนาด 3.0 ลิตร 2,993 ซีซี กำลังสูงสุด 460 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 550 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหลัง
BMW M2 G87 ใหม่ที่เพิ่งถูกเปิดตัวไปเมื่อต้นปีนี้ เป็นเหมือนกับรถ Flagship ประจำงานในปีนี้ หลายคนกำลังให้ความสนใจ เพราะ M2 ขึ้นชื่อว่าเป็น BMW ใน Line-up รุ่นสุดท้ายที่ให้อารมณ์และความรู้สึกเหมือน BMW แบบดั้งเดิม แม้แต่ทาง BMW เองก็เปรียบเทียบมันกับรถระดับตำนานอย่าง BMW M3 E30 แต่ในความเห็นของเรา สิ่งเดียวที่ BMW M2 เจเนอเรชั่นใหม่ ยังคงเหมือนกับ M3 E30 ก็คือการที่มันเป็นรถสปอร์ต 2 ประตู ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ขับเคลื่อนล้อหลังเพียงเท่านั้น
ในตัวกิจกรรมหลัก BMW M2 ถูกใช้ในการขับ Track Section High Speed ซึ่งมีทางตรงยาว ใช้ความเร็วได้สูงมาก ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่จะต้องยกคันเร่งและเบรกเพื่อเข้าโค้งแฮร์พิน T3 ของสนามบุรีรัมย์
แน่นอนว่าในเรื่องของอัตราเร่งจากเครื่องยนต์ S58 3.0 ลิตร 460 แรงม้า ย่อมทำได้ดี โดยเฉพาะเมื่อรวมกับระบบส่งกำลัง 8 จังหวะ ซึ่งมีโหมดที่เลียนแบบการเปลี่ยนเกียร์และจังหวะการส่งกำลังของระบบเกียร์คลัชคู่ DCT ถ้าหากเลือกโหมดนี้ ตัวรถจะกระตุกรุนแรง ไม่เหมือนสำหรับขับปกติบนถนน แต่สร้างความตื่นเต้นเพราะคันเร่งตอบสนองได้ในทันที และในจังหวะเปลี่ยนเกียร์ก็จะมีเสียง “ตด” เหมือนเกียร์ DCT เลยเช่นกัน
ในเรื่องของแฮนลิ่ง การขับขี่ BMW M2 ก็ตอบสนองได้ตามใจผู้ขับขี่อยู่มาก และแรงยึดเกาะของยาง Michelin Pilot Sport 4S ก็มากพอในระดับที่รถ BMW ในอดีตรุ่นอื่น ๆ ไม่สามารถเทียบได้เลย อีกทั้งการปรับเซ็ตช่วงล่าง รวมไปถึงขนาดของยางหน้า-หลัง ยังส่งผลให้รถมีลักษณะของแฮนลิ่งที่ Neutral ไม่ Understeer มากจนเกินไป และไม่ Oversteer มากจนควบคุมไม่ได้ แต่เราต้องขอระบุอีกครั้งว่า ภายในงาน ไม่อนุญาตให้ผู้ร่วมปิดระบบ DSC เราจึงไม่สามารถตอบคำถามถึงแฮนลิ่งเมื่อเกินขีดจำกัดขั้นสุดไปได้
ปัญหาของ BMW M2 คือ ถ้าหากท่านคิดว่าตัวรถจะสื่อสารกลับมา สร้างความตื่นเต้นในแบบที่หลายท่านอาจจะคาดหวัง อย่างเช่นที่ BMW M2 F87 เจเนอเรชั่นที่แล้วเคยทำเอาไว้จนได้รับการยกย่องนั้น BMW M2 G87 ใหม่ มีน้ำหนักตัวที่มาก ความรู้สึกของความเร็วแม้ว่าจะวิ่งในระดับ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็หนักแน่นและไม่สั่นสะเทือน ไม่มีความรู้สึกน่าตื่นตกใจแต่อย่างใด ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นข้อดี แต่บางคนก็อาจจะมองว่าเป็นข้อเสีย
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่เป็นสายเลี้ยว และชอบการขับขี่ในทางคดเคี้ยว BMW M2 G87 แม้จะมีพวงมาลัยที่ยังคงมีความหนืดมากกว่ารถรุ่นอื่น ๆ แต่แรงสะเทือนที่ส่งกลับมาถึงพวงมาลัยนั้นไม่ได้มีความ Direct เลย อย่างที่เห็นได้ชัดจากเวลาปีน Curb ในสนาม แรงสั่นสะเทือนแทบไม่ปรากฎถึงผู้ขับขี่ ความพยายามลดแรงสะเทือนนี้ เกิดจากความคาดหวังของผู้ใช้งานในด้าน NVH ซึ่งก็มีข้อดีในการขับขี่ประจำวัน รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ขับขี่แม้แต่ในสนามเอง แต่สำหรับคนที่ชอบรถดิบ ๆ ที่สื่อสารกับผู้ขับขี่ชัดเจน ก็อาจจะผิดหวังได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับรถรุ่นอื่น ๆ ในท้องตลาดแล้ว BMW M2 G87 ก็ไม่ใช่รถที่ Isolate ผู้ขับขี่จากท้องถนนมากที่สุดอยู่ดี และผู้ขับขี่ก็ยังสามารถสนุกกับเรื่องอื่น ไม่ว่าจะทั้งการควบคุมตัวถัง หรือความแรงของเครื่องยนต์ได้อยู่
ส่วนเรื่องของระบบเบรกนั้น เราจะอธิบายเพียงแค่ว่า มันสามารถหน่วงความเร็วได้ดีตามคาดนั่นแหละครับ น้ำหนักแป้นหนืดกำลังดี ควบคุมให้อยู่ในระดับที่ระบบ ABS ยังไม่ทำงาน จึงหยุดได้เร็วที่สุดได้ง่าย ซึ่ง BMW ทุกคันที่อยู่ในงานนั้นมีลักษณะแป้นเบรกที่คล้ายกัน และ Capacity ของทั้งขนาดจาน ขนาดปั้มใหญ่มากพอที่จะตอบสนองการขับขี่ในสนามได้ดี
BMW X4M Competition
ราคาจำหน่าย (รวม BSI) : 8,799,000 บาท
เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์วขนาด 3.0 ลิตร 2,993 ซีซี กำลังสูงสุด 510 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 650 นิวตันเมตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ
BMW X4M Competition เป็นอีกหนึ่งรถที่ถูกใช้ใน High Speed Section สลับกับในปีที่แล้วซึ่งถูกใช้ในส่วนของ Technical Section ด้วยความเป็นรถ Crossover Coupe แม้ว่าจะไม่มีขนาดใหญ่มาก แต่เมื่อขึ้นไปนั่งบนเบาะผู้โดยสาร ความเป็นรถ Crossover ก็เด่นชัดมาก โดยเฉพาะเมื่อสลับตำแหน่งมาจากรถอย่าง BMW M2 หรือ 3-Series ทั้ง 2 รุ่นที่ถูกใช้ในงาน
ด้วยตำแหน่งการขับเช่นนั้น ความคาดหวังของผู้ขับขี่ก็คงจะเป็นความรู้สึกว่า Center of Gravity จะต้องสูง ซึ่งทำให้รถมีอาการโยกเมื่อเข้าโค้งมากกว่ารถเตี้ย และเมื่อขับความเร็วสูง ลมที่ปะทะด้านข้างก็จะสร้างความรู้สึกโคลงมากกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลเลยแม้แต่นิดเดียว BMW X4M Competition แม้ว่าจะมีช่วงล่างที่สูงกว่ารถเก๋ง แต่เมื่อหักเข้าโค้งไปแล้ว Body Roll นั้นมีน้อยมากจนอาจจะต้องตั้งคำถามกันเลยทีเดียวว่า นี่คือรถ Crossover จริงหรือ? และในเรื่องของลมปะทะด้านข้างนั้น ต่อให้ขับที่ความเร็วเกือบ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็บอกได้เลยว่าแทบจับความรู้สึกไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถฝืนกฎของฟิสิกส์ได้ และเมื่อถึงการเข้าโค้งจริง ๆ เห็นได้ชัดว่า BMW X4M Competition ถูกปรับเซ็ตมาให้มีอาการ Understeer อย่างเห็นได้ชัด เมื่อหักพวงมาลัยเข้าไปแล้ว หน้ารถจะบานออกก่อน และคุณไม่สามารถที่จะใช้คันเร่งเติมในการช่วยเลี้ยวได้ ถ้ากดเต็มออกไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือหน้ารถบานออกเพิ่มเพียงอย่างเดียว
เมื่อรวมกับการตอบสนองของพวงมาลัยพาวเวอร์แบบไฟฟ้า ซึ่งถูกปรับมาให้ Isolate ความรู้สึกจากท้องถนนมาสู่ผู้ขับขี่มาก เหมือนกับรถสมัยใหม่แทบทุกรุ่น BMW X4M Competition ก็ไม่อาจเทียบกับรถสปอร์ตจริง ๆ รุ่นอื่นที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ขับ ซึ่งก็สมเหตุสมผลแล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ BMW X4M Competition ทำได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับรถ BMW รุ่นอื่น ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ในตระกูล B58/S58 ก็คือการตองสนองของขุมพลังเข้ากับระบบส่งกำลัง สิ่งที่ BMW M2 ทำได้ดี BMW X4M ก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน และระบบเบรก แม้ว่าจะเป็นรถที่คันใหญ่และหนัก ก็ตอบสนองได้ดี ไม่เกิดอาการเฟดแต่อย่างใด
BMW iX xDrive 40 M Sport
ราคาจำหน่าย (รวม BSI) : 5,299,000 บาท
มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กำลังสูงสุด 326 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 630 นิวตันเมตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ
BMW iX xDrive 40 M Sport เป็นรถที่เราได้ทดลองขับในส่วนของ Gymkhana Off-road ซึ่งหลายคนก็อาจจะสงสัยว่า รถยนต์ขุมพลังไฟฟ้า น้ำหนักเกือบ 2.5 ตัน เอามาขับในสนามที่มีความคับแคบ ขรุขระ อีกทั้งยังเป็นทางฝุ่นที่มีแรงยึดเกาะน้อย มันเหมาะสมแล้วหรือ?
เพียงแค่กดคันเร่งออกไปก็ได้คำตอบแล้วครับ เพราะ BMW iX สามารถที่จะตะกุยดินเร่งส่งตัวถังขนาดยักษ์ออกไปได้อย่างรวดเร็ว และสัมผัสได้ในทันทีว่าล้อหลังนั้นช่วยส่งกำลังมาก ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจและจะทำให้การขับในสนาม Gymkhana Off-road นี้ไปได้ด้วยดีขึ้น
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม สิ่งหนึ่งก็คือแรงบิดจากมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ทำให้การส่งกำลังนั้นทันทีทันใจมากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป แต่ในอีกส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนที่สำคัญกว่าคือ ในการขับบนพื้นผิวที่แรงยึดเกาะน้อย แบบทางดินที่ใช้ในสนามนี้ การที่จะเลี้ยวได้เร็วที่สุด ต้องอาศัยหลักที่เป็นตรงกันข้ามกับการขับบนผิวถนนที่แรงยึดเกาะมากอย่างสิ้นเชิง เรียกได้ว่าตรงกันข้ามเลยทีเดียว
เนื่องจากทางดินที่ตะกุยขึ้นมาได้นั้น เมื่อล้อของรถหักเลี้ยวไปแล้ว แทนที่แก้มยางล้อหน้าจะช่วยเสริมการยึดเกาะ แต่มันกลับจะลื่น ทำให้รถไม่สามารถเลี้ยวได้แทน สิ่งที่ผู้ขับขี่ต้องทำจึงเป็นการทำให้ยางโดยเฉพาะของล้อหลัง ขยับไปกับผิวถนนในทางด้านข้าง การยึดเกาะจึงสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พูดแบบนี้อาจจะไม่เห็นภาพ แต่อธิบายง่าย ๆ ก็คือทำให้ท้ายของรถนั้นกวาดออกนั่นเอง นี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ในการขับแข่งแรลลี่ที่ใช้ความเร็วจริง ๆ คุณมักจะเห็นว่ารถเลี้ยวไปทางด้านข้าง มากกว่าการขับบนทางเรียบ
นั่นทำให้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่พ่วงมากับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวแยกจากกันของ BMW iX สร้างข้อดีในการขับขี่บนผิวแทรคดินเช่นนี้ เพราะว่ามอเตอร์ไฟฟ้าไม่มีการเชื่อมต่อหน้าหลังผ่านเพลา คอมพิวเตอร์จึงสามารถควบคุมการส่งกำลังไปยังล้อหน้าและหลังได้อย่างอิสระ ในการขับสนาม Gymkhana Dirt เช่นนี้ สิ่งที่ผู้ขับต้องทำ จึงเป็นการโยกรถให้ท้ายรถนั้นเสียอาการ ก่อนที่จะใช้กำลังจากล้อทั้ง 4 ตะกุยออกจากโค้งไปอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่ง BMW iX สามารถทำได้แม้กระทั่งส่งกำลังไปยังล้อหลัง เพื่อสะบัดท้ายรถนั้นออกไปมากกว่าเดิม ตามความต้องการของผู้ขับขี่ และช่วยให้รถสามารถเลี้ยวได้แม้ว่าจะเป็นสภาพทางฝุ่นก็ตาม
หลายท่านอ่านดูแล้ว เราต้องอธิบายต่อว่ามันไม่ได้ถึงกับเลี้ยวได้อย่างกับเป็นรถแข่ง Subaru Impreza WRC แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่านี่คือ SUV หนัก 2.5 ตัน ความสามารถในการตอบสนองเช่นนี้ ถือว่าทำได้ดีเกินความคาดหวังมาก และเป็นการใช้ข้อดีของระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้ามาเสริมประสิทธิภาพของรถ
BMW M340i xDrive
ราคาจำหน่าย (รวม BSI) : 4,199,000 บาท
เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์วขนาด 3.0 ลิตร 2,998 ซีซี กำลังสูงสุด 387 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ
BMW M340i xDrive เป็นรถที่เราได้ขับในส่วนของ Track Driving Technical Section หรือส่วนของสนามตอนหลังที่มีความซับซ้อนมากกว่าส่วน High Speed เนื่องจากนี่เป็นรถที่มีการเปิดตัวมานาน และมีคนพูดถึงกันไปเยอะแล้ว เราก็จะอธิบายกันแค่สั้น ๆ
BMW M340i xDrive ยังคงเป็นหนึ่งในรถสำหรับท้องถนน ในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่ผสานเอาประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของเครื่องยนต์ ช่วงล่าง รวมไปถึงความอเนกประสงค์จากการเป็นรถ 4 ประตู อีกทั้งยังมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ไม่เลวร้ายเลยตามการทดสอบของเรา ไม่น่าแปลกครับที่รถรุ่นนี้จะได้รับคำชื่นชมในรีวิว และเป็นรถที่หลายคนฝันหาอยากจับจองเป็นเจ้าของ
คำถามคือ แล้วเมื่อมันมาอยู่ในสนามแข่งละ? การตอบสนองของมันเป็นอย่างไร? ข้อสรุปสั้น ๆ ก็คือ BMW M340i ก็ยังคงเป็น 3-Series ที่ตอบสนองได้ดีตามที่ทุกท่านทราบนั่นแหละครับ แต่เมื่อมันมาอยู่กับรถอย่าง BMW M2 และทางเราก็ได้ขับแบบติด ๆ กัน เราก็หนีความจริงไม่พ้นว่า มันไม่มีทางสู้กับรถตระกูล M อย่างแท้จริงได้ ทั้งในเรื่องของความคมขณะหักเลี้ยวเข้าโค้ง หรือพละกำลังจากเครื่องยนต์
อย่างไรก็ดี ในฐานะ Overall Package BMW M340i ก็ยังคงเป็นรถที่หาตัวจับได้ยาก และถ้าหากคุณใช้งานมันอยู่แค่บนท้องถนน อาจจะมีเอามาขับในสนามเล่น ๆ บ้างบางครั้ง นี่ก็ยังคงเป็นรถที่น่าสนใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งของ BMW
BMW 330e M Sport
ราคาจำหน่าย (รวม BSI) : 2,999,000 บาท
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์วขนาด 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 292 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหลัง
BMW 330e M Sport เป็นรถที่ถูกใช้ในส่วนของ Gymkhana On-road และส่วน Oversteer เช่นเดียวกับ M340i xDrive มันเป็นรถที่ถูกทำตลาดมานาน และมีคนพูดถึงกันไปมากแล้ว เราจึงจะไม่สรุปอะไรมากมายนัก
BMW 330e ถึงแม้ว่าจะเป็นรถ Plug-in Hybrid แต่ก็ยังคงคาแรกเตอร์ของความเป็น BMW ขนาดเล็ก 4 ประตู ขับเคลื่อนล้อหลังเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งความสามารถในการเลี้ยวให้ท้ายปัด อีกทั้งพละกำลังของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ที่ผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อใช้โหมด Xtra Boost และปิดระบบ DSC คุณสามารถที่จะ Drift รถคันนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และถ้าหากคุณขับแบบฮึกเหิม 330e นี้ก็สามารถจะพาคุณหมุนเคว้ง 360 องศาได้อย่างง่ายดาย
สรุปได้ง่าย ๆ ว่า BMW 330e แม้ว่าจะกลายมาเป็นรถพ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ถ้าท่านชอบขับรถแบบท้ายปัดเพิ่มความตื่นเต้น ก็ยังสามารถทำได้เช่นเดิมครับ
**รถสองคันถัดจากนี้ เป็นรถที่เราต้องอธิบายก่อนว่า ถูกจัดไว้เฉพาะสำหรับงานในรอบสื่อเท่านั้น แต่โอกาสที่จะถูกนำมาใช้ในงาน BMW Driving Challenge ในปีหน้าก็มีอยู่เช่นกัน ถ้าหากท่านสนใจและอยากขับรถเหล่านี้ในสนาม โปรดติดตามตารางกิจกรรมนี้ผ่านทาง BMW**
รถสองรุ่นที่เสริมมานี้ ถูกนำมาแสดงถึงความสามารถของรถขุมพลังไฟฟ้า ในการขับขี่แบบรีดเอาประสิทธิภาพสูงสุดออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัยกันว่า มันจะทำได้เทียบเท่ารถสันดาปหรือไม่ และ BMW iX ในส่วนก่อนหน้านี้ ก็ถูกใช้ในจุดประสงค์เดียวกัน
BMW i4 eDrive 35 M Sport
ราคาจำหน่าย (รวม BSI) : 3,899,000 บาท
มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว กำลังสูงสุด 286 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหลัง
BMW i4 ถูกใช้ในส่วนของ Track Driving ขับตามไลน์สนาม ความแตกต่างคือ ในรอบสื่อมีช่วงที่ทางผู้จัดงานได้ให้เราขับรถคันนี้ในรอบสนามเต็ม ไม่ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน
ในเรื่องของแฮนลิ่งการขับขี่นั้น หลายท่านก็อาจจะตั้งข้อสงสัยไปก่อนเลยว่า รถยนต์ไฟฟ้า ต้องแบกแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักมาก แล้วจะทำได้ดีเทียบเท่ากับเหล่ารถสันดาปหรือไม่? ในประเด็นข้อนี้ เราสามารถยืนยันได้ว่า BMW i4 eDrive 35 M Sport มีอาการขณะเข้าโค้งใกล้เคียงจุดลิมิท (แต่อย่างที่ระบุไปแล้วว่า เราไม่สามารถปิด DSC เพื่อเล่นเกินลิมิทได้) คล้ายคลึงกับ BMW M340i เป็นอย่างมาก เพียงแต่ว่าความเฟิร์มของช่วงล่าง ซึ่งส่งผลต่อมาถึงความคมของการตอบสนอง ไม่อาจที่จะเทียบเท่าได้
อย่างไรก็ดี ถ้าหากเปรียบเทียบกับรถรุ่นอื่น ๆ ในท้องตลาดแล้ว BMW i4 ก็เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ตอบสนองการขับขี่ได้ดีเยี่ยมมาก แม้ว่าเมื่อใกล้ถึงลิมิท จะออกไปทาง Understeer มากกว่า แต่เราก็เข้าใจได้ว่านี่ไม่ใช่รถยนต์ตระกูล M ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ขับขี่อย่างเต็มที่ นี่คือรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับคนหมู่มากใช้ในการเดินทางเป็นหลัก การที่มันสามารถตอบสนองการขับขี่ได้ขนาดนี้ ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
ปัญหาที่เกิดขึ้น อันเป็นผลจากขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าคือ เนื่องจากผู้ร่วมงานนั้นมีจำนวนหลายสิบคน และรถที่ใช้ในส่วนนี้มีเพียงแค่ 2 คัน รวมไปถึงทางทีมงานได้คิวการทดสอบเป็นรายท้าย ๆ ปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลือนั้น ก็ลดลงไปเพียงไม่ถึง 40% ดีนัก และนั่นทำให้ในทางตรงของสนามซึ่งควรจะทำความเร็วได้มาก BMW i4 สามารถทำได้เพียง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพียงเท่านั้นในการทดลองของเรา
ถ้าหากพูดในเรื่องของการรักษาพละกำลังเอาไว้ให้ได้ตลอด รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่อาจที่จะเทียบกับรถสันดาปได้ รถสันดาป ตราบใดที่การรักษาอุณหภูมิอยู่ในระดับที่เหมาะสม และน้ำมันไม่หมด เราก็สามารถที่จะขับซัดเต็มที่ได้ตลอดเวลาโดยที่แรงม้าอาจจะตกเพียงเล็กน้อย สัมผัสได้นิดหน่อยเท่านั้น ไม่ใช่ว่าพละกำลังหายไปจนต้องตั้งคำถามว่าม้าหนีออกจากคอกไปหมดแล้วหรือ?
อย่างไรก็ตาม การทดสอบในงาน BMW Driving Challenge กับ BMW i4 นี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้งานอย่างหนักหน่วง เป็น Severe Use Case ซึ่งน้อยคนที่จะใช้แบบนั้นในชีวิตจริง และใครจะไปรู้ครับ ถ้าหากท่านขับรถสันดาปในสภาวะแบบเดียวกัน น้ำมันเครื่องอาจจะเดือดจนไม่สามารถหล่อลื่นได้ ข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้และปรับปรุง รวมไปถึงคำนึงตามการใช้งานด้วยครับ เราจะไปโทษว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบ BMW i4 ไม่เหมาะกับการขับขี่ในสนาม จากการที่มันต้องวิ่งกว่า 70-80 รอบสนามช้าง มันก็ไม่ถูกต้องนัก
โดยภาพรวมแล้ว ถ้าหากทางเราได้ขับเป็นคิวแรก ๆ และพละกำลังมีเต็มที่ตามที่ควรจะเป็น เราเชื่อครับว่า BMW i4 ก็สามารถสร้างความสนุกได้ใกล้เคียงกับรถสันดาป แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ในเรื่องของเสียงหรือความรู้สึกแบบดั้งเดิมก็ตาม เรื่องของการขับขี่ แฮนลิ่ง และพละกำลังนั้นไม่ใช่ปัญหาเลยแม้แต่นิดเดียว
BMW iX3 M Sport Pro
ราคาจำหน่าย (รวม BSI) : 3,699,000 บาท
มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว กำลังสูงสุด 286 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหลัง
ปิดท้ายกันด้วยงานเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เหมือนผู้จัดเตรียมไว้ให้บางกลุ่มไม่เบื่อกัน คือการขับ BMW iX3 ในแทรค Gymkhana On-Road ที่แตกต่างกันจากที่ได้ขับในรถ BMW 330e
อย่างที่ได้อ่านไปในส่วนของ BMW i4 ถึงปัญหาเรื่องพละกำลังเมื่อระดับแบตเตอรี่ต่ำลง อย่างน้อยเราก็ได้มาทดสอบพละกำลังจริง ๆ ด้วย BMW iX3 ที่ใช้ขุมพลังลักษณะคล้ายกัน แต่ก็เป็นในสนาม Gymkhana ที่ไม่ได้มีทางตรงเอาไว้ทดสอบมากขนาดนั้น แต่ถ้าหากถามว่า จังหวะออกตัวนั้นดึงติดเบาะไหม? ก็เช่นเดียวกับที่หลายท่านน่าจะทราบครับว่ารถขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าสามารถให้แรงบิดออกตัวที่ทันใจกว่ารถสันดาป อีกทั้งยังไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ให้เสียจังหวะ แม้จะมีตัวเลขแรงม้ามาแค่ 286 แรงม้า แต่ก็สามารถสร้างความตื่นเตน้ให้แก่ผู้ขับขี่ได้อยู่ดี
ในเรื่องของแฮนลิ่งในสนาม Gymkhana ของ iX3 เราไม่ได้จับความรู้สึกมามากนัก อีกทั้งยังไม่ได้ปิดระบบ DSC แม้ว่าเขาจะไม่ได้ห้าม แต่ถ้าเข้าใจว่ามันมีลักษณะคล้ายกับ BMW i4 ที่สูงขึ้น หนักขึ้น และคล่องตัวน้อยลง ก็น่าจะพอเห็นภาพได้ครับ ตัวรถนั้นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงแม้ว่าจะหักเลี้ยวแบบรุนแรงได้ดี อาการ Understeer จะมากหน่อยถ้าหากไม่ใช้การโยกรถ หรือ Weight Transfer มาช่วย แต่นั่นก็ดูไม่ใช่จุดประสงค์ หรือลักษณะการขับขี่ที่ผู้ซื้อ iX3 ส่วนมากจะขับกัน จริงไหมครับ?
สรุปภาพรวมของงาน
งาน BMW Driving Challenge 2023 นี้ ได้ทักษะการขับขี่ก็เรื่องหนึ่ง แต่ในมุมของสื่อ สิ่งที่สำคัญกว่า เราคิดว่าคือการแสดงถึงความสามารถของรถ BMW ที่มีขุมพลังในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะขุมพลังสันดาปแบบดั้งเดิม ไปจนถึงรถ Plug-in Hybrid ที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนผ่าน และรถ BEV 100% ที่กลายมาเป็นสิ่งใหม่หลังจากที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันมานาน
BMW ที่ใช้สโลแกนว่า Ultimate Driving Machine แม้ว่าจะเปลี่ยนขุมพลังไปเป็นรูปแบบใดก็ตาม มันยังคงต้องรักษาเอาไว้ซึ่งลักษณะบางอย่าง ความสนุกในการขับขี่ การตอบสนองที่เหนือกว่ารถคู่แข่งแม้ว่าจะเป็นเซกเมนต์ที่หลายคนไม่คาดคิดก็ตาม ไม่ต่างอะไรจากสมัยที่ BMW 2002 ถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถสปอร์ตแบบดั้งเดิม
สุดท้ายแล้ว การที่เราได้ไปขับรถจำนวน 7 รุ่น ตามที่ได้บอกเล่าไปด้านบนแล้ว ข้อสรุปเดียวที่เรามีหลังจากจบงาน ก็คงหนีไม่พ้นว่า BMW ยังคงเป็น Ultimate Driving Machine เหมือนเดิม ไม่ได้สูญเสียตัวตนไป แม้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนขุมพลังตามกระแสโลกก็ตามที