Honda Freed ในประเทศไทย 

ก่อนเข้าสู่บทความเราต้องขอย้อนดูประวัติศาสตร์ของฮอนด้า ออโตโมบิลประเทศไทย เกี่ยวกับการบุกตลาดรถยนต์อย่างจริงจังกว่า 20 ปี

 

ครั้งหนึ่งเคยทดลองนำเข้าฮอนด้า โอดิสซี่ย์ อย่างเป็นทางการเมื่อราวปี 1997

เป็นการชิมลางตลาดมินิแวนไซส์กลางใหญ่ต่อจากมิตซูบิชิ สเปซวากอนและไครสเลอร์ โวยาเจอร์

ก็ถือว่าทำยอดขายได้เรื่อยๆพอประมาณเพราะตัวเลือกในตลาดตัวนี้น้อยและราคาที่ตั้งในตอนนั้นสมเหตุสมผลเพราะภาษีนำเข้ายุคเสรียังค้ำอยู่

 

ทำให้ฮอนด้าย่ามใจนำเข้าโอดิสซีย์โฉมที่สองในปี 2000 แต่มาในจังหวะไม่ดีเพราะเป็นช่วงหมดยุคทองของรถนำเข้าด้วยกำแพงภาษีสูงถึง 200%

ทำให้ตั้งราคาที่จัดว่าแพงระยับและตัวรถจะดูดึงดูดใจน้อยกว่ารุ่นเก่าเสียอีก

ไม่เข็ดอีกก็ยังนำเข้าโอดิสซีย์โฉมที่ 3 เข้ามาอีกแต่สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเดิมจึงต้องยุติการนำเข้า

 

แต่จุดเปลี่ยนพลิกผันสำคัญอยู่ตรงที่ GM Thailand ตัดสินใจบุกตลาดอาเซียนและเมืองไทยอย่างจริงจังในรอบ 70 กว่าปี

วาดโปรเจคท์พันล้านด้วยการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ระยองเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกในภูมิภาค

แผนดั้งเดิมคือการนำแบรนด์ Opel มาบุกตลาดครั้งแรกด้วยการส่งรุ่น Astra Model G/B

และมีการวิ่งทดสอบกันทำให้นิตยสารยักษ์ใหญ่เล่มหนึ่งแอบถ่ายเก็บมาไว้ได้

 

แต่แล้วความเคลื่อนไหวก็เงียบสนิทจนกระทั่งโรงงานที่ระยองเสร็จเรียบร้อยซุ่มเดินไลน์สายการผลิตรถรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมาขายในไทย

นั่นคือ เชฟโรเลต ซาฟิร่า โชว์ตัวครั้งแรกในงาน BOI Fair 2000 ที่เมืองทองธานี(พื้นที่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารแชลเลนเจอร์เรียบร้อยแล้ว) เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

ถึงขั้นตั้งพาวิลเลี่ยน GM ขนาดใหญ่ข้างในจะอวดโฉม ซาฟิร่า ยนตรกรรมอเนกประสงค์ 7 ที่นั่งแบบผ่าครึ่งพร้อมวิดีโอวอลล์พรีเซนเทชันเพื่อสร้างการรับรู้ของรถคันนี้ก่อนที่เปิดตัวคันจริงหลัง

 

จากนั้นไม่นานด้วยคำถามที่ยิงสลุตมาว่าทำไมถึงใช้ชื่อ Chevrolet แทนที่จะเป็น Opel แถมยังมาด้วยตลาดมินิแวนราคา 1 ล้านนิดๆประกอบในประเทศ

คำตอบที่ได้รับคือแบรนด์ Opel ตายสนิทแบบไม่ต้องรอลมหายใจครั้งสุดท้ายการใช้ชื่อใหม่คือความถูกต้อง

และตลาดมินิแวนราคา 1 ล้านขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่คนไทยยังต้องการอยู่มากแถมไม่มีคู่แข่งจะหาเรื่องไปบุกลุยตลาดรถเก๋งในถิ่นที่มีคู่แข่งเยอะขนาดนั้นคงไม่ใช่เรื่อง 

และก็เป็นจริงซาฟิร่าสร้างความพึงพอใจให้กับ GM อย่างมากทั้งแบรนด์และตัวรถได้รับการตอบรับที่ดียอดขายที่โดดเด่นทำให้ฮอนด้าส่งรถมาสู้ศึก

 

ฮอนด้า สตรีม เปิดตัวเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543 ในประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมล้นหลามแต่ก็แย่งยอดขายซีวิค 5 ประตูโดยปริยาย

(อันเป็นต้นเหตุทำให้ฮอนด้าถอดซีวิค 5 ประตูในบ้านเกิด) ส่งไปลงหลักปักฐานที่อินโดนีเซียอันเป็นประเทศที่ได้รับฉายา World Of MPV

เพราะที่นี่หากใครอยากครองความยิ่งใหญ่ต้องมีมินิแวนขายก็ได้เวลาเสียทีที่ฮอนด้า

ไทยนำเข้ามาทำตลาดในไทยเพื่อท้าชนเชฟโรเลต ซาฟิร่าเจ้าตลาดแบบผูกขาดมาเกือบ 2 ปี

ความมั่นใจของฮอนด้าคือความอเนกประสงค์ที่มากกว่านั่งได้ 7 ที่นั่งจริง

และสมรรถเครื่องยนต์ที่เหนือกว่าทำตลาดภายใต้คอนเซปต์ 7 day 7 seater ยกชุดภาพยนต์โฆษณาจากญี่ปุ่นเลย

 

แต่ฮอนด้าก็ได้รับบทเรียนอย่างหนึ่งว่ารถรุ่นใดๆไม่อาจประสบความสำเร็จได้แม้แบรนด์ฮอนด้าจะแข็งแรงกว่าเชฟโรเลตหลายเท่านัก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณภาพการประกอบที่ทำได้ไม่ถึงมาตรฐานคนไทยยอมรับได้

ประการต่อมาคือรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูแล้วคนส่วนใหญ่ที่มีบุคลิคพ่อบ้านเท้าแรงหรือแม่บ้านโมเดิร์นอาจไม่เข้าตานัก

ประการสุดท้ายคือยุทธวิธีที่เชฟโรเลตใช้สกัดฮอนด้า สตรีมทุกวิถีทาง ใช้กลยุทธ์อันพลิกแพลงโดยเฉพาะแคมเปญ “สเต๊กกับซูชิ”

ชูจุดขายของความแข็งแกร่งของโครงสร้างตัวถังและระบบกันสะเทือนที่ยอดเยี่ยม

ซื้อใจคนใช้รถแนวนี้เพราะความปลอดภัยย่อมมาเป็นที่หนึ่งทำให้รอดตัวจากการถูกโจมตีครั้งนี้อย่างฉิวเฉียด

 

และเมื่อเจ้าตลาดอันดับ 1 ของประเทศไทยตัวจริงส่งมินิแวนมาบ้างเพราะเห็นช่องทางอันสดใสเมื่อโตโยต้ารู้คุณสมบัติรถของตนเองอย่างไร

ทั้งสวยงาม สปอร์ต นั่ง 7 คนได้จริง สมรรถนะดี การทรงตัวดี(แต่แลกกับความแข็งของช่วงล่าง)

นั่นคือ โตโยต้า วิช ความหวังใหม่ของวงการมินิแวนเป็นประวัติศาสตร์ของโตโยต้าไทยที่งัดข้อทีมงานในญี่ปุ่นให้อนุมัติการประกอบรถคันนี้ในไทยใช้เวลาตั้งสายพานผลิต

แค่ 10 เดือนเพราะนำเข้าชิ้นส่วน CKD จากญี่ปุ่นเกือบทั้งคัน ประกอบกับวางแผนการทำตลาดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนทุกอย่างสมบูรณ์แบบแน่นอนว่าเป้าหมายไม่ใช่ที่ 2

แต่ต้องเป็นอันดับ 1 ไม่ผิดพลาดประการใดยอดขายพุ่งฉิวแตะ 1,500 คัน/เดือนในปีแรกทันทีแน่นอนว่า เชฟโรเลต ซาฟิร่า เจ้าตลาดเก่าและฮอนด้า สตรีม ก็ถึงกาลอวสานไปในบัดดล

 

โตโยต้า ลองเปิดเกมส์ใหม่บุกตลาดมินิแวนราคาต่ำกว่า 7 แสนบาทซึ่งเป็นเซกเมนต์ใหม่สดๆซิงๆ

อาศัยความร่วมมือจากไดฮัทสุ อินโดนีเซียช่วยพัฒนาและผลิตภายใต้โครงการ under-IMV หรือชื่อเครื่องหมายทางการค้าว่า Avanza

ที่มิได้เกี่ยวข้องกับไฮลักซ์ วีโก้แต่อย่างใดแค่ขอใช้ชื่อว่าเป็นรถแนวไหนก็เท่านั้น

โตโยต้าไทยก็เริ่มเดินเกมส์รุกนำ Avanza โชว์โฉมแบบลับๆล่อๆในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ปี2004

ครั้งนั้นโหมโฆษณาผ่านสื่ออย่างหนักกับรถที่ไม่ได้เปิดตลาดด้วยสโลแกน คาดในสิ่งที่คุณคาดไม่ถึง พบกับรถคอมแพคท์ใหม่ที่งานนี้

สร้างความคาดหวังให้กับคนทั่วไปมากมากเสียจนโตโยต้ารับมือกับสถานการณ์นี้ไม่ไหว

เพราะลูกค้าบ่นด้วยความไม่พอใจว่าทำไมเราต้องส่องรถคันนี้แทนที่จะให้นั่งรถถึงข้างในประกอบกับการประกอบต่างๆ ที่ไม่เข้ามาตรฐาน

ทำให้มีกระแสลบที่มากพอๆกับกระแสบวกจนหลวมตัวจองในวันนั้นกันเลยทีเดียว

 

การสร้างความคาดหวังว่าราคาจะพอๆกับซับคอมแพคท์ 5 ประตู ในวันนั้นเป็นตัวเร่งตัดสินใจจองรถและคาดหวังไว้สูง

พอได้ฤกษ์การเปิดตัวปรากฏว่าลูกค้าส่วนใหญ่ผิดหวังที่ได้ใช้เครื่อง 1.3 ลิตรแต่ราคาแพงกว่าฮอนด้า แจ๊ซเสียด้วยซ้ำ

ทั้งคุณภาพการประกอบและวัสดุภายในห้องโดยสารไม่น่าประทับใจนัก แต่ก็มีจุดดีตรงที่เบาะแถวที่ 3 นั่งได้ดีเกินคาดทีเดียว

ผลจากกระแสวันนั้นทำให้เกิดภาพพจน์ติดลบเจ้า Avanza โดยปริยาย และใครบางคนก็เก็บเอาไว้เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำสอง

 

พฤษภาคม 2008 ฮอนด้า มอเตอร์ญี่ปุ่นได้ฤกษ์เปิดตัว Honda Freed มินิแวนขนาด B-segment

ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง Global Small Platform ที่ใช้ร่วมกับ Jazz และ City รุ่นปัจจุบัน

เพื่อทดแทน Mobilio เปิดตัวปี 2002 ที่ไม่ประสบความสำเร็จอีกครั้งหลังจากเสียสูญไปกับ CAPA

ฮอนด้าคงสังเกตเห็นว่าทำไมมินิแวนของตนจึงขายไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็นแถมยังเพลี่ยงพล้ำให้กับ Toyota Sienta

หนำซ้ำรถที่ดัดแปลงจาก Mobilio กลายเป็นรถทรงกล่อง 5 ที่นั่งเอาใจวัยรุ่นนามว่า Mobilio Spike ที่มาท้าชนทั้ง Nissan Cube และ Toyota bB

ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกันการไม่ประสบความสำเร็จแบบซ้ำซ้อนเช่นนี้ฮอนด้าคงยอมไม่ได้

 

ฮอนด้า ฟรีด คือคำตอบที่จะอุดช่องว่างมินิแวนขนาดเล็กของตนด้วยการลบจุดด้อยทั้งหมดทั้งมวลให้หมดไปอันได้แก่

-ดีไซน์ตัวถังที่ดูไม่แข็งทื่อเหมือนอดีตเพิ่มเส้นพลิ้วไหวไม่แตกต่างจากรถเก๋ง

-ตัวรถออกแบบละม้ายรถทรงตู้อันเป็นทรงมาตรฐานรถยอดนิยมในญี่ปุ่นสังเกตได้จากยอดขาย Toyota Noah/Voxy,Nissan Serena และ Honda StepWGN

ที่ค้างฟ้าไม่เสื่อมคลาย

-ออกแบบห้องโดยสารให้ปลอดโปร่งสร้างบรรยากาศที่น่านั่งมากกว่าเดิม

-พื้นที่ห้องโดยสารปรับปรุงใหม่ทั้งหมดโดยให้พื้นห้องโดยสารต่ำวางเบาะไว้สูงขึ้นคล้ายรถตู้ทำให้ผู้โดยสารทั้ง 3 ตอนนั่งสบายกว่าเดิม

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Honda Freed ในประเทศไทยหลังจากที่คุณ JIMMY ส่งภาพรถคันนี้ขณะวิ่งทดสอบ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง

ทำให้เราได้ทราบว่าฮอนด้านำรถตัวอย่างสำรวจตลาดว่าลูกค้ามีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน

ควรตั้งราคาเท่าไรและขับทดสอบสภาพในไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว

รายละเอียดทางเทคนิคยืนยันแล้วว่ารูปร่างหน้าตาภายนอกจะเหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่นทุกประการ

รวมทั้งใช้เครื่องยนต์บล๊อก 1.5 ลิตร รหัส L15A i-vtec รุ่นใหม่

แต่ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดคือ ฟรีด จะวางเครื่องสเปคเดียวกับฮอนด้า ซิตี้/แจ๊ซ เวอร์ชันไทยบล๊อก L15A7 120 แรงม้าหรือไม่?

เพราะฮอนด้า ฟรีด เวอร์ชันญี่ปุ่นจะวางเครื่องยนต์ 118 แรงม้า ซึ่งแรงน้อยกว่า 2 แรงม้า

 

กำหนดวางจำหน่ายในไทยภายในปีนี้แต่ยังไม่ทราบวันและเวลาที่แน่ชัดว่าช่วงใด

แต่หากท่านใดคาดหวังว่าจะได้เห็นในมอเตอร์โชว์นี้ต้องผิดหวัง 100%

ที่แน่ๆโรงงานอินโดนีเซียรับหน้าเสื่อผลิตฟรีดคันนี้ป้อนตลาดในประเทศและอาเซียน

คงต้องรอพิสูจน์ว่าจะถูกตาต้องใจมากน้อยแค่ไหน

งานนี้ศึกมินิแวนระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาทอาจจะระอุอีกรอบ