ในยุคที่หลอดไฟรถยนต์รอบคัน ต่างหันมาใช้เทคโนโลยีหลอดประหยัดพลังงาน LED ที่ประกอบไปด้วยไดโอดเล็กๆ หลายๆ ชุด เพื่อความสว่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้ลำแสงส่องผ่านเส้นใยโปร่งแสง ตามลวดลายที่ต้องการ หรือ LED Tube

Mazda ขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถันในการพัฒนาชิ้นส่วนและงานออกแบบ เพื่อให้ได้ซึ่งสุดยอดผลิตภัณฑ์ เกินหน้าเกินตาคู่แข่งจากญี่ปุ่นรายอื่นๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ยุค SKYACTIV ที่ทาง Mazda ใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยได้อย่างละเอียดเกินคาด

โดยล่าสุดทางค่ายได้ออกมาเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของไฟเลี้ยวเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่มีความแปลกไม่เหมือนใครในรุ่น CX-30 ซึ่งวางจำหน่ายมาแล้วตั้งแต่ปี 2019 หากสังเกตการณ์กะพริบของไฟเลี้ยวทั้งที่ด้านล่างของกันชนหน้า และบริเวณไฟท้าย จะเห็นว่าจังหวะการกะพริบไม่เหมือนรถทั่วไป

 

จังหวะการกะพริบของไฟเลี้ยวนั้นจะมีความหน่วงเล็กน้อยในช่วงก่อนติดและดับสนิท ซึ่งทางทีมออกแบบไฟของ Mazda ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจังหวะการเต้นของหัวใจมนุษย์ เนื่องจากการกะพริบของไฟเลี้ยวนั้น เป็นแสงที่รบกวนสายตาของผู้ใช้รถใช้ถนนกันโดยทั่วไป ทั้งความสว่างและความถี่ในการกะพริบ

ทาง Atsushi Yoshida หัวหน้าวิศวกรแผนกไฟ จึงได้ศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของการเต้นหัวใจมนุษย์ จนสามารถหาความเชื่อมโยงกับจังหวะการติดและดับของไฟเลี้ยวอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การศึกษามีความยากลำบากกว่าจะนำมาใช้งานจริงได้ และใช้เวลากว่า 2 ปี ร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไฟรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Stanley เพื่อที่จะหาช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งก็คือช่วงเวลา 0.01 วินาที นั่นเอง

 

แท้จริงแล้ว ทางทีมออกแบบไฟของ Mazda ตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นครั้งแรกในรถ Mazda 3 ในช่วงปลายปี 2018 หรือก่อนหน้าเป็นเวลา 1 ปี แต่ด้วยวิธีการในตอนนั้นยังไม่สามารถทำให้การกะพริบของไฟเป็นจังหวะคงที่ได้ จึงต้องยกเลิกไปก่อน

ทั้งหมดนี้คือการแสดงให้เห็นว่า Mazda ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แม้กระทั่งจังหวะการกะพริบของหลอดไฟเลี้ยว เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาการสร้างรถยนต์เพื่อการขับขี่โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความเหนื่อยล้าทั้งทางสรีรศาสตร์และสายตาผู้ขับขี่

ที่มา: Carscoops