หนึ่งในตลาดที่แบรนด์รถยนต์จากเมืองน้ำหอมยังคงลุยชิงส่วนแบ่งทางการตลาดแบบไม่เกรงใจจ่าฝูง ก็คือรถ Crossover ขนาดเล็กรุ่น C3 ที่มีงานออกแบบและงานวิศวกรรมแตกต่างจาก เวอร์ชันตลาดโลกหรือยุโรป โดยนอกจากจะวางจำหน่ายในอินเดียแล้ว อย่างข้ามน้ำข้ามทะเลไปขายยังทวีปอเมริกาใต้อีกด้วย ที่ซึ่งความนิยมรถยกสูงขนาดเล็กอยู่ในขณะนี้

งานออกแบบภายนอก มีเพียง ป้ายโลโก้บอกชื่อรุ่น ที่เพิ่มเติมตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตัว e ไว้บ่งบอกความแตกต่าง และปลายท่อไอเสียที่หายไปเท่านั้น โดยเส้นสายของตัวรถจากมีความแข็งแรงบึกบึน มากกว่าเวอร์ชั่นตลาดโลก รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ภายนอกที่มีความทันสมัยน้อยกว่า

 

งานออกแบบด้านหน้าก็ยังคงมีกระจังหน้าขนาดใหญ่ ถึงแม้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะถูกถอดออกไป โดยในเวอร์ชั่นนี้ เส้นสายด้านข้างบ่งบอกความเป็นรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก มากกว่าที่จะเป็นรถเพื่อเอาใจวัยรุ่นสาวๆ และมีเส้นสายที่อ่อนช้อย เหมือนเวอร์ชั่นยุโรป

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของรถยนต์ค่ายจ่าโทตัวถังยกสูง นั่นก็คือ แผงกันกระแทกบริเวณชายประตูทั้ง 4 บานสีดำ ที่ออกแบบได้โดดเด่นเสริมบุคลิกให้กับตัวรถได้เป็นอย่างดี

ด้านท้ายยังคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายด้วยฝากระโปรงท้ายบานใหญ่ และไฟท้ายขนาดไม่ใหญ่นัก ที่ยังคงใช้หลอดไส้เหมือนรถปกติทั่วไป โดยเมื่อก้มลงมองใต้ท้อง จะสังเกตเห็นแพ็คแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ด้านล่าง อย่างไรก็ตาม ทาง Citroen ได้ทำการยกสูงเพื่อให้มีระยะต่ำสุดจากพื้นเหลือเพียงพอที่จะขับโลดแล่นไปตามเส้นทางต่างๆ ได้อย่างไร้ความกังวล

 

งานออกแบบภายในที่ยังคงใช้ร่วมกับรุ่นปกติ มีเพียงหัวเกียร์ที่เปลี่ยนมาใช้แบบปุ่มไฟฟ้าแทน นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งจอกลางระบบ infotainment ขนาด 10.2 นิ้ว ในขณะที่จอมาตรวัดใช้แบบเรียบง่ายเท่านั้น ระบบปรับอากาศแบบลูกบิดพร้อมฮีตเตอร์ และระบบความปลอดภัยที่มาพร้อมถุงลมนิรภัยคู่หน้าเท่านั้น

ขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าให้พละกำลังสูงสุด 57 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 143 นิวตัน-เมตร ที่มีขีดจำกัดการทำงาน ด้วยอัตราเร่งจาก 0-60 กม./ชม. ภายในเวลา 6.8 วินาที และความเร็วสูงสุดเพียง 107 กม./ชม. จึงไม่สามารถเทียบเท่า รถ EV แบบปกติทั่วไปได้ ทำงานร่วมกับแบตเตอรี่ความจุเพียง 29.2 kWh

แต่ทว่า สิ่งที่ได้แลกกลับมาคือระยะทางวิ่งสูงสุดต่อหนึ่งรอบตามมาตรฐาน ARAI จากอินเดีย ที่สูงถึง 320 กิโลเมตร ในขณะที่ระบบชาร์จไฟ ก็ยังคง มีให้เลือกทั้งสองรูปแบบได้แก่ไฟบ้าน AC ที่กำลังไฟสูงสุด 3.3 kW โดยใช้เวลาชาร์จจาก 0-100% ภายในเวลา 10.5 ชั่วโมง และระบบชาร์จเร็ว DC ที่สามารถชาร์จจาก 10-80%ภายในเวลา 57 นาที

 

โดยโจทย์การทำรถ e-C3 ก็เพื่อต่อกรกับคู่แข่งตัวฉกาจสัญชาติอินเดียบ้านเกิดอย่าง Tata Tiago EV ที่มีราคาจำหน่ายจับต้องได้ อย่างไรก็ตาม Citroen ประเทศอินเดียยังไม่ได้เผยราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในขณะนี้ เพียงแต่บอกว่าจะเปิดรับออเดอร์จากลูกค้าตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมเป็นต้นไป และจะพร้อม ส่งมอบถึงลูกค้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์โดยทันที

ต้องจับตาดูว่า ทางหัวเรือใหญ่ Stellantis จะมีแผนส่งออก Citroen e-C3 เวอร์ชั่นอินเดีย ที่ผลิตภายในประเทศ ไปที่ตลาดอื่นนอกเหนือจากอเมริกาใต้อีกหรือไม่

ที่มา: Carscoops ,