ความนิยมเครื่องยนต์ Rotary ในปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมมากนักด้วยเหตุผลด้านอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ามลภาวะดูจะไม่คุ้มค่าต่อการพัฒนาเท่าไรแม้ว่าจะให้สมรรถนะดีก็ตาม แต่ใช่ว่าเครื่องยนต์ชนิดนี้จะตายจากโลกเสียทีเดียว ผู้ผลิตรถยนต์และผู้พัฒนาเครื่องยนต์ต่างมองเห็นข้อดีของเครื่องยนต์ Rotary จนสามารถประยุกต์จนเหมาะสำหรับรถยนต์อีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือการเป็นเครื่องยนต์สันดาปปั่นพลังงานให้กับรถไฟฟ้าหรือรถ EREV

แนวคิดการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบ Rotary เพื่อการปั่นพลังงานไฟฟ้าสำรองแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าชนิดขยายระยะทางได้สามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบหลายประการ นั่นก็คือ ขนาดที่เล็กลงมาก ไม่จำเป็นต้องใช้ความจุกระบอกสูบมากนักสามารถเพิ่มเนื้อที่ห้องโดยสารหรือห้องสัมภาระได้ แต่สามารถปั่นพลังงานได้มากกว่า เมื่อความจุกระบอกสูบต่ำลงเท่าไร ค่าไอเสียก็ลดลงมากเท่านั้นซึ่งปิดจุดอ่อนของเครื่องยนต์ Rotary ได้ค่อนข้างแนบเนียน

ด้วยคุณงามความดีของเครื่องยนต์ Rotary สำหรับการใช้งานขยายระยะทางรถไฟฟ้าโดดเด่นมากขนาดนี้  Chery ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนจึงซุ่มพัฒนาเครื่องยนต์ขยายระยะทางรถไฟฟ้าชนิดนี้ความจุกระบอกสูบ 800 ซีซี สำหรับ Chery QQ3 EV

ผลการทดสอบเบื้องต้น หาก Chery QQ3 EV ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในชนิด Rotary เพื่อปั่นพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมรถคันนี้จะมีระยะทางวิ่งเพิ่มขึ้นอีก 50-70 กิโลเมตรหรือรวมระยะทางวิ่งสูงสุดทั้งหมดจะอยู่ประมาณ 160-220 กิโลเมตร ประสิทธิภาพถือว่าด้อยกว่าเครื่องยนต์ที่วิจัยจากบริษัท AVL พอสมควรตามบทความที่ผมเคยเผยแพร่ก่อนหน้านั้น

ไหน ๆ ก็มาถึงขั้นนี้แล้วเชื่อว่า Chery QQ3 EV เวอร์ชันขยายระยะทางน่าจะได้ถึงเวลาจำหน่ายในไม่ช้านัก แต่ว่าต้องทำใจกันเล็กน้อยเพราะดูท่าทีของ Chery ยังต้องพัฒนาเครื่องยนต์ Rotary สำหรับการปั่นพลังงานให้เจ๋งมากกว่านี้อีกเยอะมาก ๆ เพราะประสิทธิภาพในเบื้องต้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นครับ