สำหรับใครที่เป็นสาวกรถยนต์แบรนด์ Volvo แดนไวกิ้ง เมื่อยุค 90 ลงไป คงจะคุ้นชินกับรถยนต์นั่งระดับหรู เน้นความสบายสูงสุด ที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐาน P90 Platform เครื่องยนต์วางตามยาวด้านหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ในรุ่น 740 940 960 และ S90
จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็น P80 platform ในรุ่น 850 S70/V70 และ C70 ในปี 1994 ตลอดจน P2 platform ในปี 1998 และ P3 platform ในปี 2006 สำหรับ S60 S80 XC70 V70 ทั้ง 2 เจเนอร์เรชั่น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ SPA platform แบบ Modular ที่ร่วมพัฒนากับ Geely ในปี 2014 โดยทั้งหมดนี้จัดว่าเป็นพื้นฐานสำหรับเครื่องยนต์วางหน้าตามขวางขับเคลื่อนล้อหน้า
Volvo EX90
จนกระทั่ง Volvo ได้เปิดตัว EX90 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2022 ตามหลัง Polestar 3 ที่เปิดตัวก่อนหน้าได้ไม่นานนักในเดือนตุลาคม 2022 โดยทั้ง 2 รุ่นใช้พื้นฐานใหม่ร่วมกันนั่นก็คือ SPA2 platform ที่ถูกพัฒนามาเพื่อขุมพลังไฟฟ้าล้วนโดยเฉพาะ
และถึงแม้ทั้งสองรุ่นจะถูกเปิดตัวด้วยขุมพลังไฟฟ้ามอเตอร์คู่ขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ทางทีมพัฒนาได้เผยข้อมูลทางเทคนิคว่า แท้จริงแล้วทั้ง 2 รุ่นถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงสร้างของรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังตั้งแต่แรก เปรียบเสมือนการย้อนยุคงานวิศวกรรมเมื่อครั้งยุค 90 ตอนต้นและช่วงก่อนหน้าที่ทำให้แฟนๆค่าย volvo หายคิดถึงกันได้บ้าง
Polestar 3
แท้จริงแล้วงานโครงสร้างวิศวกรรมของรถยนต์ขุมพลังไฟฟ้าล้วนโดยส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้ติดตั้งมอเตอร์ไว้ที่เพลาล้อคู่หลังเป็นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นการลดความซับซ้อนในส่วนของระบบบังคับเลี้ยวที่เพลาล้อคู่หน้า อย่างไรก็ตามยังคงมีรถ EV หลายรุ่นที่ยังใช้พื้นฐานงานโครงสร้างวิศวกรรมของรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าเป็นหลัก เนื่องจากไม่ใช่ Platform สำหรับรถ EV ล้วน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ขุมพลังที่หลากหลาย และมีให้เลือกทั้งขุมพลังเครื่องยนต์สันดาปภายในและขุมพลังไฟฟ้าล้วน
Polestar 4
ในขณะที่รถ EV รุ่นใหม่ๆหลายๆ รุ่นไม่เว้นแม้แต่กลุ่มราคาเริ่มต้นที่จะต้องได้ตัวอย่างเช่น mg 4 (Mulan) หรือรถ EV รุ่นเริ่มต้นจากค่ายเยอรมันอย่าง Volkswagen ID.3 ก็ล้วนแล้วแต่ยึดแนวทางการออกแบบเช่นนี้
จะมีเพียงค่ารถยนต์บางค่ายที่ยังคงยืนหยัดกับงานวิศวกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้ากับแพลตฟอร์มกับพื้นฐานของรถยนต์กำลังไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น Renault Megane E-Tech ที่ใช้งานวิศวกรรมร่วมกับ Nissan Ariya รวมไปถึง Toyota bZ4X เป็นต้น
Polestar 2
สำหรับค่าย volvo เองก็ยังมีรถ 2 รุ่นที่ยังใช้พื้นฐานระบบงานวิศวกรรมขับเคลื่อนล้อหน้าวางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ XC40 Recharge (EV) C40 และ Polestar 2 ที่ใช้พื้นฐาน Compact Modular Architecture (CMA) Platform โดยในรุ่น XC40 ยังมีเครื่องยนต์สันดาปภายในให้เลือก
สุดท้ายนี้ ข้อได้เปรียบสำคัญของการเปลี่ยนมาใช้พื้นฐานงานวิศวกรรมสำหรับขุมพลังไฟฟ้าล้วนเป็นแบบขับเคลื่อนล้อหลัง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน รวมไปถึงการออกแบบชิ้นส่วนช่วงล่างที่สามารถทำได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับรถยนต์ที่มีน้ำหนักมาก แต่ต้องการความสุนทรีย์ในการเดินทางอย่าง EX90
ที่มา: Techzle