เมื่อพูดถึงอุปกรณ์โกงมลพิษในอุตสาหกรรมยานยนต์ หลายคนคงนึกถึง dieselgate ของ Volkswagen ซึ่งคดีความดังกล่าวนำไปสู่การเปิดโปงผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น รวมถึงรายล่าสุดอย่าง Toyota ในออสเตรเลีย ที่มีคดีความขึ้นศาลฐานต้องสงสัยว่าใช้อุปกรณ์ลักษณะคล้ายกัน เพื่อให้ผ่านเกณฑ์การทดสอบมลพิษ แต่พอนำไปใช้งานจริงแล้ว กลับปล่อยมลพิษสูงกว่านั้นมาก
เอกสารที่ทีมทนาย Maddens Lawyers ยื่นฟ้อง Toyota Motor Corporation Australia (TMCA) ระบุว่าบริษัทได้ปรับตั้ง ECU ให้ควบคุมลักษณะการทำงานของระบบ EGR โดยกำหนดให้ปิดการทำงานของ EGR พร้อมทั้งปรับเวลาการทำงานของระบบหัวฉีด เมื่อคันเร่งเปิดมากกว่า 42% ผลลัพธ์คือสมรรถนะจะดีขึ้น แต่อัตราการปล่อยกาซพิษอย่าง nitrous oxide จะสูงขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งนี่คือสภาวะการใช้งานจริง
แต่สำหรับลักษณะการทดสอบมลพิษนั้น ในเอกสารระบุว่าเปิดคันเร่งน้อยกว่า 42% ทำให้รถยนต์ที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวผ่านเกณฑ์การทดสอบนั่นเอง คาดว่ารถยนต์ Toyota เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับผลกระทบจากอุปกรณ์ดังกล่าวในออสเตรเลีย ล้วนถูกจำหน่ายหลังวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2016 และอาจมีจำนวนมากกว่า 500,000 คัน ส่วนรุ่นที่เข้าค่าย ประกอบด้วย
- HiLux, LandCruiser Prado, Fortuner, Granvia และ HiAce รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รหัส 1GD-FTV ขนาด 2.8 ลิตร
- HiLux รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รหัส 2GD-FTV ขนาด 2.4 ลิตร
- LandCruiser รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รหัส F33A-FTV ขนาด 3.3 ลิตร
- LandCruiser รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รหัส 1VD-FTV ขนาด 4.5 ลิตร
- RAV4 รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รหัส 2AD-FHV / 2AD-FTV ขนาด 2.2 ลิตร
Maddens Lawyers ได้ระบุว่านี่อาจเป็นหนึ่งในเคสฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในออสเตรเลีย พร้อมทั้งเชิญชวนให้เจ้าของรถยนต์รุ่นที่เข้าข่าย ไม่ว่าจะเป็นมือที่เท่าใดก็ตามให้มาร่วมลงทะเบียน เพราะถ้าฟ้องชนะ อาจได้เงินเยียวยาจาก Toyota เพื่อชดเชยมูลค่าของรถยนต์รุ่นที่ได้รับผลกระทบ และมีราคาลดลงในตลาดมือสอง คิดเป็นหลักหมื่น AUD หรือหลักแสนบาทต่อรายเลยทีเดียว