ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องเสื่อมเสียในวงการรถยนต์ในขณะนี้ คงจะนึกถึงเหตุการณ์ใดไม่ได้นอกจากการโกงค่ามลพิษ
เครื่องยนต์ดีเซลของค่าย Volkswagen ที่นำไปสู่การลาออกของ CEO, การขุดคุ้ยของสื่อ, การสืบสวนของเจ้าหน้าที่,
ค่าปรับมหาศาล, และยังซวยไปถึงผู้ผลิตรายอื่นๆด้วยที่เป็นที่สงสัยว่ามีใครทำอย่าง Volkswagen หรือไม่ อันที่จริงแล้ว
ในประวัติศาสตร์วงการรถยนต์ไม่ได้มีเรื่องเสื่อมเสียเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวอื่นๆอีกมากที่วันนี้เราจะมาสรุป
ให้ฟังทั้งการ recall ครั้งใหญ่, การโยนความผิดไปมา, และอื่นๆของผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก
Chevrolet Convair (1965) ‘ไม่ปลอดภัยในทุกช่วงความเร็ว จัดว่าเป็นภัยอันตรายของรถยนต์สหรัฐเลยทีเดียว’ เป็นคำ
จำกัดความของ Ralph Nader ผู้รณรงค์ความปลอดภัยของรถยนต์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นที่ใช้อธิบาย Chevrolet Convair
ที่มีเครื่องยนต์วางหลังซึ่งไม่ต้องถามว่าน้ำหนักรถจะไปหนักที่ไหน แล้ว Chevrolet ดันให้ช่วงล่างหลังแบบอิสระ swing axel
แบบไม่มี anti-roll bar มาให้ด้วย ซึ่งจะไม่มีปัญหาอะไรแถมให้การควบคุมที่ดีด้วยถ้าใช้ลมยางตามมาตรฐานแต่
ความเป็นจริงแล้วผู้ใช้รถส่วนใหญ่จะเติมลมยางแข็งมากกว่าปกติ ซึ่งผลที่ตามมาคือ “เลื้อยเป็นงู”
Audi 5000 (1986)
ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1986 รายการ 60 Minutes ได้นำวีดีโอของ Audi 5000 มาออกอากาศซึ่งเป็นภาพที่ Audi
รุ่นดังกล่าวมีปัญหาควบคุมไม่ได้และวิ่งชนโรงจองรถยนต์ ซึ่งแม้ว่าในปี 1989 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางหลวง
แห่งชาติหรือ National Highway Traffic Administration (NHTSA) จะออกมาเปิดเผยว่าปัญหาดังกล่าวเกิดมาจาก
ความผิดพลาดของผู้ใช้งานด้วยที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับแป้นเบรกรถรุ่นนี้อยู่ใกล้กับแป้นคันเร่งมากกว่าปกติ แต่ถึงกระนั้น
ยอดขาย Audi ในประเทศสหรัฐนั้นทรุดชนิดดิ่งเหวจากยอดขาย 75,000 คันในปี 1985 เหลือ 12,000 คันในปี 1991
DeLorean (1982)
ปั๊ม DMC-12 ขายอยู่ดีๆแต่ดันเงินช็อตธุรกิจร่อแร่ เจ้าของแบรนด์รถยนต์ตัวถังสแตนเลส ออกแบบด้วย Giugiaro
ประตูปีกนก พร้อมโครงสร้างจาก Lotus อย่าง John DeLorean จึงหลงทางผิดเข้าไปหาธุรกิจมืดหวังเอาเงินมาต่อยอด
DeLorean แต่ซวยที่ว่าคนที่มาติดต่อดันเป็น FBI ที่ปลอมตัวมาล่อซื้อซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีใหญ่โตและตามมา
ด้วยการล่มสลายของรถยนต์ยี่ห้อ DeLoRean ในภายหลัง ซึ่งถ้าอยากอ่านประวัติตัวเต็มต่อนั้นไปอ่านต่อที่บทความ
DeLorean DMC-12 By Pan Paitoonpong ได้เลย
Takata Seatbelt (1995)
Supplier จากญี่ปุ่นที่ผลิตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่กลับไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถนั้นเริ่มต้นเมื่อมีผู้ใช้ Honda
หลายรายร้องเรียนว่าเข็มขัดนิรภัยนั้นล็อคไม่อยู่เวลาเกิดอุบัติเหตุและในบางรายกลับล็อคตายปลดไม่ได้ด้วยซ้ำ
ซึ่งแม้ว่าในตอนแรกผู้ผลิตจะโบ้ยว่าเป็นความผิดของผู้ใช้งานที่ใช้ไม่เป็นก่อนที่จะค้นพบในภายหลังว่าจริงๆแล้ว
พลาสติกชิ้นส่วนภายในตัวล็อคนั้นเมื่อโดนแดดนานๆแล้วจะกรอบเลยล็อคไม่อยู่หรือไม่ก็แตกจนปลดเข็มขัดไม่ได้เลย
เวลาเกิดอุบัติเหตุ
Ford Explorer/ Firestone (2000)
แม้ว่า SUV ในช่วงยุค 1990 จะไม่ได้เป็นที่นิยมมากเหมือนในยุคนี้แต่ Ford Explorer จัดว่าขายดิบขายดีทีเดียว อย่างไรก็ดี
เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 รายโดยเนื่องมาจากรถรุ่นนี้วิ่งอยู่ดีๆแล้วยางระเบิดซึ่งไม่ใช่แค่นั้นเพราะรถจะคว่ำแถมมา
เป็นแพคเกจด้วย เมื่อคนเริ่มสงสัยสงครามสาดโคลนจึงเริ่มขึ้นระหว่าง Ford กับ Firestone ที่เป็น supplier ยางให้กับรถรุ่นนี้
โดยที่ผู้ผลิตรถแจ้งแจ้งว่ายางห่วยส่วนผู้ผลิตยางสวนกลับว่ารถหนะซิห่วย จุดศูนย์ถ่วงก็สูงดันทำช่วงล่างห่วยแตกมาอีก
ซึ่งสุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่างสองบริษัทที่มีมา 95 ปีจึงขาดสะบั้นลงและก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจริงๆแล้วอะไรกันแน่ที่ห่วย
Toyota & Lexus (2007-2009)
ในปี 2007 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางหลวงแห่งชาติหรือ National Highway Traffic Administration (NHTSA)
พบว่า Lexus ES350 มีปัญหาคันเร่งค้างเนื่องจากพรมเข้าไปขัดกับคันเร่งซึ่งแม้ว่า Toyota จะตรวจสอบเจอเองก่อนหน้านั้นแล้ว
และรู้ด้วยว่าจริงๆแล้วเป็นที่ขาคันเร่งมีชิ้นส่วนที่ไปเกี่ยวกับส่วนอื่นจนคันเร่งค้างได้ แต่กลับเก็บเงียบเป็นความลับซึ่งเมื่อ
เรื่องแดงขึ้นมาจึงทำการเรียกคืนพรมพื้นจำนวน 55,000 คันมาเปลี่ยนและอบรมให้ตัวแทนจำหน่ายติดตั้งพรมด้วยวิธีใหม่
ซึ่งถ้าไม่ทำตามแล้วสุดท้ายคันเร่งก็ค้างอยู่ดี และในปี 2009 มีครอบครัวชาว California เคราะห์ร้ายถึง 4 คนเสียชีวิต
ยกครัวใน ES350 รุ่นเดิมด้วยเหตุคันเร่งค้าง ทีนี้หละ Toyota ถึงยอม recall รถยนต์จำนวน 9.3 ล้านคันทั่วโลก
มาแก้ปัญหาคันเร่งค้างได้
Takata Airbag (2013)
Supplier เจ้าเก่ากลับมาใหม่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมกับถุงลมนิรภัยที่ผลิตขึ้นที่โรงงานในประเทศเม็กซิโก เมื่อตัวจุดระเบิดที่มี
ammonium nitrate ดันไปทำปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศทั่วไปจนแรงระเบิดแรงกว่าที่คำนวณ ไว้ทีนี้ความซวย
เลยตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างต่ำ 8 รายในรถยนต์ Honda (อีกแล้ว) ที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนแต่กลับเสียชีวิต
เพราะโดนแรงระเบิดอัดหน้า ซึ่งนำไปสู่การเรียกคืนรถที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 34 ล้านคัน
Immobilizer (2014)
มีผู้ผลิตรถยนต์ถึง 24 รายรวมไปถึง Audi, Fiat, Honda, Ferrari, Porsche, และ Volkswagen ที่นำระบบ Keyless Entry
และ immobilizer มาใช้และประสบปัญหารถหายเป็นว่าเล่นซึ่งนักวิจัยจาก Volkswagen ได้ค้นพบว่าระบบ Immobilizer
นั้นมีการถอดรหัสที่ง่านมากซึ่งโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ธรรมดาก็สามารถถอดรหัสได้โดยการดักสัญญาณที่เจ้าของรถ
ใช้ในตอนแรกและนำมาถอดรหัสอีกครั้งเพื่อขโมยรถชนิดที่ไม่ต้องใช้กุญแจกันเลย ซึ่งข้อมูลนี้ถูกเก็บเป็นความลับอยู่นาน
เนื่องจากนักวิจัยกลัวว่าหากเผยแพร่แล้วจะเป็นการชี้นำให้คนหันมาสร้างอาชีพเสริมด้วยการขโมยรถ แต่สุดท้ายแล้วก็มี
การเปิดเผยออกมาพร้อมกับการพัฒนาระบบ Immobilizer ให้มีการเข้ารหัสที่ยากขึ้นและจำนวนรถหายจึงลดลง
จนอยู่ในระดับปกติ
GM Ignition Key (2015)
สดๆร้อนๆไม่นานนักก่อนหน้านี้ที่กลับตัวกุญแจเจ้าปัญหาที่มีความสามารถในการดับเครื่องยนต์เองอัตโนมัติตอนที่รถ
กำลังวิ่งอยู่ซึ่งเมื่อดับเครื่องแล้วทำให้ระบบถุงลมนิรภัยและระบบเบรก ABS ไม่ทำงานซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียถึง 90 ศพ
และผู้บาดเจ็บอีก 163 รายจากปัญหาดังกล่าว สุดท้าย GM ยอมรับผิดและจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
รวมถึงค่าปรับอีก 35 ล้านดอลล่าร์สหรัฐให้กับกรมขนส่งเพราะทำการเรียกคืนช้าจนนำไปสู่ความสูญเสียจำนวนมาก
ที่มา : topgear, carthrottle,