เมื่อต้นปี 2020 Citroën เปิดตัวรถ EV 2 ประตูขนาดเล็ก รุ่น Ami ที่เป็นการปัดฝุ่นชื่อรถในยุค 60s กลับมาใช้ใหม่ จัดอยู่ในประเภท Quadricycle ตามข้อกำหนดของ European Union classification และตามมาด้วย Citroën My Ami Cargo ในช่วงกลางปี 2021 ที่ถอดเบาะผู้โดยสารและเปลี่ยนเป็นที่เก็บสัมภาระ เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์
หลังจากนั้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2021 Opel ก็ได้ทำการเปิดตัว Rocks-e แฝดของ Citroën AMI ที่ใช้ชิ้นส่วนตัวถังร่วมกันในอัตราส่วนที่เรียกได้ว่า เป็นการ Rebadged engineering มากกว่าการออกแบบขึ้นใหม่ ด้วยขนาดที่เล็กจิ๋วแบบนี้ ทำให้กลายเป็นผู้บุกเบิกยานพาหนะ SUM (Sustainable Urban Mobility) ที่ส่งเสริมการเดินทางในเขตเมืองแบบไร้มลภาวะได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยขุมพลังไฟฟ้า 100% เน้นความคล่องตัวในการเคลื่อนตัวไปตามจราจรหนาแน่น
Opel Rocks-e KARGO ยังคงมีมิติตัวถังเหมือน Rocks-e รุ่นโดยสาร 2 ที่นั่ง ตัวถังยาว x กว้าง x สูง = 2,410 x 1,390 x 1,520 มิลลิเมตร และรัศมีวงเกลี้ยวแคบสุด 3.6 เมตร เพียงแต่ใช้แนวคิดเหมือน Citroën My Ami Cargo ก็คือการเน้นการใช้งานรูปแบบการขนส่งสินค้าในเขตเมือง ด้วยการถอดเบาะผู้โดยสารและติดตั้งสารพัดที่เก็บสัมภาระแทน
ชิ้นส่วนตัวถังที่มีความสมมาตรทั้งด้านหน้า-หลัง ซ้าย-ขวา เกือบทั้งคัน ยกเว้นหลังคาและประตู สิ่งที่จะทำให้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างด้านหน้า-หลัง ก็คือ ไฟหน้า LED-ไฟท้าย ประตูทั้ง 2 บ้านใช้ร่วมกันได้เนื่องจากมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน นั่นทำให้เมื่อนำมาติดตั้งกับตัวรถ ประตูฝั่งคนขับจะเปิดกลับทิศกับประตูฝั่งผู้โดยสาร เพราะต้องติดตั้งบานพับประตูตรงข้ามกัน นี่เป็นอีกแนวคิดอัญชาญฉลาดในการลดต้นทุน แต่ก็ยังเพิ่มความโดดเด่นด้วยหลังคา Panoramic glass roof เพื่อเพิ่มความโปร่งให้กับห้องโดยสารขนาดกะทัดรัด
การบรรจุสัมภาระสามารถทำได้ 2 ทาง ได้แก่ การเปิดประตูฝั่งผู้โดยสาร และ การหยิบสัมภาระโดยไม่ต้องลงจากรถ โดยการยกแผ่นกั้นสัมภาระขึ้นฝั่งหน้าต่างผู้โดยสาร แผ่นกั้นสัมภาระภายในห้องโดยสารออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการรองรับน้ำหนักสูงถึง 40 กิโลกรัม เพื่อใช้เป็นโต๊ะทำงานเคลื่อนที่หรือวางสัมภาระเพิ่มเติมได้
ห้องเก็บสัมภาระเป็นสัดส่วน มีฝาปิดมิดชิดความจุ 400 ลิตร รับน้ำหนักสูงสุด 140 กิโลกรัม ด้านล่างเป็นแบบพื้นเรียบปรับได้สองระดับ รองรับสัมภาระความสูง 1.2 เมตร ทั้งยังมีจุดยึดสำหรับป้องกันสัมภาระเสียหาย จากการขยับไปมาระหว่างเคลื่อนย้าย
ด้านใต้ยังมีช่องสำหรับใส่เอกสารหรือแผ่นรองเขียนขนาด A4 อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถยกขึ้นเพื่อทำเป็นแผ่นกั้นระหว่างฝั่งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร หรือจะถอดออกไปเลยก็ยังได้เพื่อรองรับสัมภาระที่มีความสูง และนำแผ่นไปซ่อนไว้หลังเบาะคนขับ
ช่องเก็บของที่อยู่ต่อจากแผ่นกั้นสัมภาระแบบมีฝาปิด สามารถใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมุดโน๊ต และเครื่องเขียนได้ โดยกล่องนี้จะไม่บดบังทัศนวิสัยรอบคันของผู้ขับขี่
ขุมพลังของ Opel Rocks-e KARGO ยังคงใช้มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 8 แรงม้า (PS) และสามารถเพิ่มเป็น 12 แรงม้า (PS) ขณะเร่งแซง แบตเตอรี่ ขนาด 5.5 kWh ความเร็วสูงสุดถูกจำกัดไว้ที่ 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขับขี่ได้ไกลสุดเป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน WLTP สามารถชาร์จไฟจนเต็มได้ภายในเวลา 4 ชั่วโมง ด้วยกระแสไฟ AC ขนาด 220V จากสายชาร์จที่ติดตั้งภายในตัวรถเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น
Opel ยังไม่ประกาศราคาของ Rocks-e KARGO แต่จะมีการวางจำหน่ายภายในปีนี้อย่างแน่นอน
หากอ้างอิงจากราคาของ Citroën My Ami Cargo ซึ่งอยู่ที่ 6,400 ยูโร (235,000 บาท) ทาง Opel อาจตั้งราคาไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะมีสเปคอ้างอิงกัน
————————///————————
ที่มา: Stellantis
รายละเอียดเพิ่มเติม Citroën My Ami Cargo , Citroën AMI