แบรนด์ Gordon Murray ภายใต้บริษัท Gordon Murray Automotive (GMA) เป็นผู้ผลิตซุปเปอร์คาร์สัญชาติอังกฤษ ที่มีผู้ก่อตั้งเป็นอดีตหัวหน้าทีมวิศวกรที่ออกแบบ McLaren F1 และผู้คร่ำหวอดในวงการ Formula 1 หลายสิบปี อย่าง ศาสตราจารย์ Gordon Murray โดยเมื่อปีที่แล้ว ทางค่ายเพิ่งจะเปิดตัวรุ่น T.50 และ T.50s Niki Lauda ซึ่งเป็นรถซุปเปอร์คาร์ 3 ที่นั่ง ตำแหน่งคนขับอยู่ตรงกลางเหมือน McLaren F1
ล่าสุด มีเพิ่งจะมีการเผยโฉม T.33 ซึ่งมาเป็นรูปแบบรถสปอร์ต 2 ที่นั่ง เครื่องยนต์วางกลางลำ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง โดยลดความดิบโหดจาก 2 รุ่นก่อนหน้า และเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยชูจุดเด่น 7 ประการ อันได้แก่
- การขับขี่ชั้นเลิศ ที่จะทำให้คนขับได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
- มีความพิเศษเฉพาะตัว เพราะ GMA ในแต่ละรุ่นจะถูกผลิตขึ้นมาไม่เกิน 100 คัน
- น้ำหนักตัวถังเบา ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดีไซน์ เพื่อไปให้ถึงขีดสุดของซุปเปอร์คาร์
- ความพรีเมี่ยมจากการที่ประกอบขึ้นด้วยมือทั้งคัน
- งานวิศวกรรมระดับแนวหน้า
- ดีไซน์ที่ดูไร้กาลเวลาและมีสัดส่วนที่สวยงาม
- ความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร แต่ละคันจะสามารถปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการขอเจ้าของรถ
ขนาดและมิติตัวถัง
- ยาว : 4,398 มิลลิเมตร
- กว้าง : 1,850 มิลลิเมตร
- สูง : 1,135 มิลลิเมตร
- ระยะฐานล้อ : 2,735 มิลลิเมตร
- น้ำหนักตัวรถ : 1,090 กิโลกรัม
ตัวถังภายนอกมีดีไซน์ไม่หวือหวาจนเกินไป เพราะต้องการรักษาความเป็น Timeless design แต่ยังคงไว้ซึ่งรายละเอียดตามจุดต่างๆ ที่แสดงออกถึงความโดดเด่น โดยลูกค้าสามารถปรึกษากับทีมดีไซน์ของ GMA ซึ่งสามารถปรับแต่งสีภายนอกและลวดลายของตัวรถ เพื่อให้รถของคุณออกมาไม่เหมือนใครแม้ในรุ่นเดียวกัน!
นอกเหนือไปจากนี้ ลูกค้าสามารถเลือกได้ระหว่างพวงมาลัยซ้ายและพวงมาลัยขวา และยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถสั่งให้ทีมดีไซน์ปรับแต่งภายใน เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของคุณได้อีกด้วย ทั้งในแง่ของสรีระศาสตร์และความสวยงาม นี่ยังไม่รวมถึงอ็อพชั่นต่างๆ ที่คุณสามารถเลือกเพิ่มเติมได้อย่างอิสระ
ขึ้นชื่อว่าเป็นซุปเปอร์คาร์ ย่อมจะไม่พูดถึงแอโรไดนามิคไปไม่ได้ เนื่องจากบริษัทนี้มีประสบการณ์กับวงการมอเตอร์สปอร์ตมาอย่างยาวนาน ผ่านระบบ Passive Boundary Layer Control (PBLC) system ที่เป็นการควบคุมกระแสการไหลวนของอากาศ ให้เกิดแรงกด-แรงยก ที่เหมาะสมกับรูปทรงตัวรถให้มากที่สุด ทำให้เจ้า T.50 อัดแน่นไปด้วยชุดดิฟฟิวเซอร์รอบคัน รวมไปถึงช่องดักลมต่างๆ ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน รวมไปถึง สปอยเลอร์หลังแบบพับเก็บได้อัตโนมัติ หรือสามารถสั่งการด้วยคนขับเองจากการกดปุ่ม ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าชุดพาร์ทของรถ Supercar แบบเดิมๆ ได้ถึง 30%
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ GMA ไม่ทำตามกระแสการออกแบบรถยนต์ทั่วไปในยุคปัจจุบัน พวกเค้าเลือกที่จะไม่ติดตั้งจอทัชสกรีนขนาดใหญ่รกตา ซึ่งนอกจากจะไม่สะดวกแล้ว ยังต้องใช้เวลาในการเข้าไปปรับแต่งเกินใช่เหตุ และสิ่งที่ตามมาก็คือ การรบกวนสมาธิของผู้ขับขี่ และนั่นไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในรถซุปเปอร์คาร์
ดังนั้นภายในของ T.33 จึงมีแต่ปุ่มควบคุมแบบหมุนที่ถูกจัดวางมาอย่างเหมาะสมและผลิตจากวัสดุอลูมิเนียมเกรดพรีเมี่ยม สำหรับการควบคุม ไฟหน้า ใบปัดน้ำฝน ระบบแอร์ โหมดการทำงานของเครื่องยนต์ และระบบแอโรไดนามิค แม้กระทั่งไฟเลี้ยวแบบด้านยก ก็ยังถูกเปลี่ยนมาเป็นปุ่มกดบนพวงมาลัยทีทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทรงย้อนยุค
คอนโซลกลางถูกยุบกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผงหน้าปัดฝั่งคนขับ แต่แทนที่ด้วยหน้าจอแสดงผลข้อมูลต่างๆ ประกบอยู่ทั้ง 2 ข้าง ของเรือนไมล์บอกรอบเครื่องยนต์แบบอนาล๊อกขนาด 120 มิลลิเมตร ซึ่งจอด้านขวาจะทำหน้าที่เป็นจอ Infotainment ที่ติดตั้ง Apple CarPlay และ Android Auto ส่วนจอด้านซ้ายจะแสดงข้อมูลต่างๆ ของตัวรถทั้งหมด ทั้ง เครื่องยนต์ การทรงตัว และแอโรไดนามิค
เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง
ขุมพลังเป็นเครื่องยนต์จาก Cosworth รหัส GMA.2 เบนซิน V12 DOHC 48 วาล์วขนาด 4.0 ลิตร (3,994ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.5 x 63.8 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ให้กำลังสูงสุด 615 แรงม้า (PS) ที่ 10,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 451 นิวตันเมตร ที่ 9,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ จาก Xtrac แบบ H-pattern หรือจะเลือกอ็อพชั่น ระบบเปลี่ยนเกียร์ด้วย paddle shift ที่เรียกว่า Instantaneous Gearchange System (IGS) ติดตั้งคลัทช์แบบลดแรงเฉื่อย เพื่อทำให้การเปลี่ยนเกียร์ฉับไวยิ่งขึ้น และที่ขาดไม่ได้ก็คือ Limited slip
GMA ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทางด้านสมรรถนะ แต่เคลมว่า 75% ของแรงบิดสูงสุด สามารถเรียกใช้งานได้ตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ 2,500 รอบ/นาที ด้วยเครื่องยนต์น้ำหนักเบาเพียงแค่ 178 กิโลกรัม เนื่องจากใช้วัสดุอลูมิเนียมทั้งบล๊อค รวมกับน้ำหนักตัวรถและน้ำหนักระบบเกียร์ IGS ที่เบาเพียงแค่ 78 กิโลกรัม (เกียร์ธรรมดาก็หนักเพียง 82 กิโลกรัม) ทำให้เจ้า T.33 มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักอยู่ที่ 564 แรงม้า (PS)/ตัน
ระบบบังคับเลี้ยว
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมระบบผ่อนแรงด้วยไฮดรอลิก ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การตอบสนองที่ดียิ่งขึ้น
ระบบกันสะเทือน
ระบบกันสะเทือนเป็นแบบ Double Wish Bone น้ำหนักเบาทั้งด้านหน้าและหลัง ทำงานร่วมกับโช้คที่ทำจากอลูมิเนียม ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ของช่วงล่างถูกออกแบบภายใต้แนวคิด Inclined Axis Shear Mounting (IASM) ที่ทำการติดตั้งช่วงล่างด้านหลังเข้ากับเสื้อเกียร์โดยตรง
ระบบห้ามล้อ
ใช้ชุดจานเบรกคาร์บอนเซรามิคจาก Brembo ด้านหน้าใช้คาลิปเปอร์เบรกจำนวน 6 ลูกสูบ จับคู่จานขนาด 370 มิลลิเมตร และด้านหลังใช้คาลิปเปอร์จำนวน 4 ลูกสูบ จับคู่จานขนาด 340 มิลลิเมตร
ล้อและยาง
ล้ออัลลอยเป็นแบบ Forged น้ำหนักเบา ล้อคู่หน้า มีขนาด 19 นิ้ว ส่วนคู่หลัง มีขนาด 20 นิ้ว โดยแต่ละล้อจะมีน้ำหนักเบาต่ำกว่า 7 กิโลกรัม และรัดด้วยยาง Michelin Pilot Sport 4 S ขนาด 235/35 R19 และ 295/30 R20
T.33 มีโรงสร้างตัวถังทำจากคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบา โดยใช้เทคโนโลยี iFrame® ในการขึ้นรูปชิ้นงาน ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ศาสตราจารย์ Gordon Murray ได้คิดค้นเพื่อมอบสมดุลให้กับความต้านทานต่อแรงเฉือน แต่ยังคงไว้ซึ่งน้ำหนักเบา ทำให้มันมีน้ำหนักตัวถังเบากว่าค่าเฉลี่ยของ Supercar ทั่วไปถึง 300 กิโลกรัม
ด้านระบบความปลอดภัย ยังมี Airbag คู่หน้า และ Airbag ที่ประตูทั้ง 2 ข้าง และต่างๆ เช่น ABS Stability control (ปรับแต่งได้) Traction control (ปรับแต่งได้) Power assisted brakes Power assisted steering และกล้องมองหลัง
แน่นอนว่าจำนวนการผลิตของรุ่นนี้จะไม่เกิน 100 คัน ตามแนวคิดของ GMA และรถทั้งหมดจะถูกผลิตขึ้นที่โรงงงานในเมือง Windlesham ทางตะวันตกของ London
ที่มา: Gordon Murray Automotive