ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารรถยนต์หรือเป็นพวก Car Fever อาจจะไม่เคยได้ยินเครื่องยนต์ Rotary หรือระบบ Wankle เท่าไรนัก ด้วยข้อจำกัดนานานับประการ แต่อีกไม่นานนักจะมีคนขุดเทคโนโลยีติดตั้งในรถยนต์ Hybrid และรถไฟฟ้าแบบขยายระยะทางวิ่งได้

เทคโนโลยีเครื่องยนต์ Rotary หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเครื่องยนต์ระบบ Wankel เคยรุ่งเรืองสมัยยุค 70 ด้วยเทคโนโลยีที่แปลกใหม่แต่ก็มีข้อเสียคือยังปล่อยไอเสียมากกว่าเครื่องยนต์ระบบอื่นและอัตราสิ้นเปลืองทำได้ไม่ดีนัก ยิ่งเมื่อเจอสถานการณ์ราคาน้ำมันระดับโลกค่อย ๆ สูงขึ้นก็ทำให้การพัฒนาการเครื่องยนต์ Rotary เริ่มไร้พัฒนาการมาตั้งแต่ปลายยุค 70 เป็นต้นมา

นับแต่นั้นเครื่องยนต์ Rotary แทบจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกลืมไปตั้งแต่ยุค 80 จนถึงปัจจุบัน เราคงเห็นเพียงแค่ค่าย Mazda ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ Rotary กับรถยนต์สปอร์ต RX-8 เท่านั้นซึ่งก็มียอดขายอันน้อยนิดตามอัตภาพ (รถสปอร์ตส่วนใหญ่ไม่ได้ขายด้วยจำนวนที่มาก)

หลังจากห่างหายไปแสนนาน วันนี้โอกาสที่เครื่องยนต์ Rotary จะฟื้นคืนชีพจนเห็นหน้าค่าตาในรถยุคปัจจุบันเริ่มมีอีกครั้ง แต่สถานะเครื่อง Rotary ยุคนี้คือการเป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพื่อประกบกับชุดมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ Hybrid หรือรถไฟฟ้าแบบขยายระยะทางวิ่งได้ (Extended-Range EV) แบบเดียวกับ Chevrolet Volt

แนวคิดปลุกผีเครื่อง Rotary ดังกล่าวเกิดจากบริษัท AVL Powertrain Engineering Inc ผู้พัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในชั้นนำของโลกเพราะเล็งเห็นคุณสมบัติอันโดดเด่นของเครื่อง Rotary เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ

 Mr. Gary Hunter ผู้เชี่ยวชาญเครื่องยนต์ดีเซลประจำ AVL กล่าวขณะประชุม ณ สำนักวิจัยคมนาคมแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแนว่า รถยนต์ไฟฟ้าชนิดขยายระยะทางได้จะต้องมีเครื่องยนต์สันดาปภายในปั่นกำลังเมื่อประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่กำลังจะหมดไป ส่วนใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบทั้งนั้นซึ่งล้วนแต่ใหญ่โตจนกินเนื้อที่ห้องโดยสารหรือห้องสัมภาระทั้งนั้น

Mr.Hunter จึงเล็งเห็นประโยชน์ของเครื่องยนต์ Rotary สามารถลดขนาดเครื่องยนต์และความจุกระบอกสูบลงได้และยังให้สมรรถนะที่เหนือกว่าเครื่องยนต์แบบลูกสูบ ยกตัวอย่างเครื่องยนต์ Rotary ขนาด 250 ซีซี จะให้สมรรถนะเทียบเท่า เครื่องยนต์แบบลูกสูบ 2 สูบ 570 ซีซี แถมน้ำหนักเบาเครื่องยนต์ Rotary เบากว่าเครื่องยนต์ลูกสูบถึง 11 กิโลกรัมอีกต่างหาก

โปรดอย่าหาว่า Mr.Hunter และ AVL มีความคิดที่เพ้อเจ้อเป็นอันขาดเพราะขณะนี้ AVL ร่วมกันพัฒนาเครื่องยนต์ Rotary ขนาดเล็กสำหรับปั่นกำลังไฟฟ้าให้กับรถยนต์ BMW และ MINI เรียบร้อยแล้ว

ส่วนเครื่องยนต์ Rotary สำหรับการทดลองติดตั้งในรถ Hybrid หรือรถไฟฟ้าแบบขยายระยะทางเครื่องนี้ถูกผลิตเพื่อสาธิตการทำงานและการนำไปใช้ประโยชน์จริงได้ ซึ่งถือว่า AVL ประสบความสำเร็จในแนวคิดดังกล่าวแล้ว เพียงแต่ว่า AVL เป็นบริษัทออกแบบและพัฒนาเครื่องยนต์เท่านั้น คงไม่สามารถจะไปผลิตเครื่องแข่งกับยักษ์ใหญ่กว่าได้

เครื่องยนต์ Rotary ที่นำมาสาธิตมีความจุกระบอกสูบ 254 ซีซี น้ำหนักเบามหัศจรรย์แค่ 29 กิโลกรัม พร้อมสตาร์ตเตอร์และตัวกำเนิดไฟฟ้าในตัว เมื่อผนวกรวมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเชื่อมต่อระบบระบายความร้อนเรียบร้อยน้ำหนักก็ตกอยู่ราว 65 กิโลกรัม

สมรรถนะเครื่อง Rotary 254 ซีซีตัวนี้ให้พละกำลัง 15 กิโลวัตต์ หรือ 20 แรงม้า (HP) ที่รอบ 5,000 รอบต่อนาที แต่หากรู้สึกว่ายังไม่อยากสะใจก็สามารถขยายสมรรถนะเป็น 25 กิโลวัตต์หรือ 33 แรงม้า (HP) ที่ 7,000 รอบต่อนาที

และหากจะต้องติดตั้งกับรถ Hybrid หรือรถไฟฟ้าชนิดขยายระยะทางขนาดใหญ่ขึ้นก็ต้องเลือกเครื่องยนต์ Rotary ที่มีความจุกระบอกสูบใหญ่กว่าเล็กน้อยขนาด 357 ซีซี ให้สมรรถนะ 36 กิโลวัตต์หรือ 48 แรงม้าที่ 7,000 รอบต่อนาทีและสามารถเพิ่มสมรรถนะได้ถึง 50 กิโลวัตต์หรือ 67 แรงม้า (HP)

จากการทดสอบระยะสั้น ๆ ด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์ Rotary 15 กิโลวัตต์ มีถังน้ำมัน 10 ลิตรรผนวกมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่ลิเธี่ยมอัตรากินไฟ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถวิ่งในโหมด EV ระยะทางสูงสุด 30 กิโลเมตร ผลออกมาก็น่าพอใจมาก มันสามารถขยายระยะทางวิ่งได้สูงสุด 200 กิโลเมตร ให้อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในแค่ 12 วินาทีเท่านั้น

แต่ก็น่าแปลกใจที่ AVL ไม่สามารถระบุว่ามันจะมีค่าไอเสียคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณเท่าไรเพราะยังเป็นข้อสงสัยที่ค้างคาใจกันอยู่มาก แต่เชื่อลึก ๆ ว่าหากเครื่องยนต์ Rotary มีขนาดเล็กมากเช่นนี้ก็น่าจะมีค่าไอเสียอยู่ในมาตรฐานเป็นที่น่าพอใจ ส่วนเรื่องอัตราสิ้นเปลืองก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรถยนต์แล้วว่าควรเพิ่มสมรรถนะมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เสียมากกว่า เพราะไม่สามารถเพิ่มสมรรถนะเครื่องยนต์สันดาปปั่นกำลังไฟฟ้าได้แบบก้าวกระโดดแล้ว

นอกจากนี้ในงานประชุมดังกล่าว J. Gary Smyth ผู้อำนวยการระดับสูงประจำ GM Science Labs ภูมิภาคอเมริกาเหนือกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตอันใกล้ของกลุ่มรถยนต์ที่มีพลังงานไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบ จะต้องเป็นรถไฟฟ้า 100% และรถไฟฟ้าที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กปั่นกำลังไฟฟ้าหรือที่เรียกกันว่า EREV

ขณะเดียวกัน Mr.Smyth ก็สำทับไปว่ารถประเภท EREV อย่างเช่น Chevrolet Volt น่าจะตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีกว่ารถไฟฟ้าล้วนๆ  แน่นอน GM มองว่ายอดขายในระยะแรกไม่ใช่ปัญหาแต่ GM จะมองยอดขายในระยะยาวมากกว่า (ทำนองว่าระยะแรกไม่สามารถทำยอดขายสู้ Nissan Leaf ได้แน่นอน แต่ด้วยประสิทธิภาพที่ตรงใจลูกค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าน่าจะตอบสนองความต้องการระยะยาวมากกว่า)