เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2020 Porsche ได้มีการเปิดตัว Taycan สปอร์ตสี่ประตูพลังไฟฟ้าเวอร์ชั่นขับเคลื่อนล้อหลังที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งนับเป็นรุ่นย่อยราคาเบา (Entry variant) ของตระกูล Taycan โดยปรับรูปแบบรถจากการใช้มอเตอร์ 2 ตัว (หน้าและหลัง) ขับเคลื่อน 4 ล้อ ในรุ่น Turbo และ Turbo S มาเป็นมอเตอร์เดี่ยววางด้านหลังขับเคลื่อนล้อหลัง โดยรุ่นที่ใช้แบตเตอรี่มาตรฐาน 79.2kWh จะได้พลังสูงสุดใน Launch Mode 408 แรงม้า และเพิ่มเป็น 476 แรงม้าเมื่อสั่งแบตเตอรี่ Performance Battery Plus ที่เพิ่มความจุเป็น 93.4 kWh พิสัยทำการ 414 และ 489 กิโลเมตร (NEDC) ตามลำดับ
แต่ถึงจะเป็นรุ่นย่อยที่พลังน้อยสุด แต่ก็หาใช่ว่าจะไม่มีความแสบ ต่อให้เป็นรถ EV รักโลก แต่ก็ยังพกม้ามามากกว่า 400 ตัว และเมื่อได้รับการปรับจูนช่วงล่างและระบบการทรงตัวจนแม่นยำ ก็สามารถใช้เพื่อการขับแบบซนเชิง Acrobatic ได้เช่นเดียวกับรถสปอร์ตเครื่องสันดาปภายใน
Porsche Taycan เข้าสู่ทำเนียบแห่งการบันทึกสถิติที่สุดในโลก Guinness World Records เป็นที่เรียบร้อยด้วยตำเเหน่งรถไฟฟ้าที่สามารถดริฟท์ได้เป็นระยะทางยาวไกลที่สุด ขับโดย Dennis Retera หัวหน้าทีม Instructor ของ Porsche Experience Centre (PEC) ณ สนามแข่ง Hockenheim Ring โดยใช้เวลาดริฟท์ไม่หยุดต่อเนื่อง 55 นาที วิ่งรอบ Skid pad ร่วม 210 รอบ วัดเป็นระยะทางได้ 42.171 กิโลเมตรตามข้อมูลเครื่องบันทึก GPS ความเร็วเฉลี่ย 46 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อาจจะดูเหมือนง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ เพราะตามกฎของ Guinness World Records เพื่อให้ได้ตำแหน่ง “ดริฟท์ต่อเนื่องยาวที่สุด” ตัวรถต้องห้ามหยุดสไลด์ และล้อรถจะต้องอยู่ในมุม Countersteer (เช่นหน้ารถหันไปทางซ้าย ล้อก็ต้องเลี้ยวไปทางขวา) ตลอด ถ้ารถหมุน หยุด หรือคืนล้อเกินแนวตรงเมื่อไหร่ ถือว่าสิ้นสุดการทดสอบ ทำให้ต้องมีสักขีพยานจำนวนมาก ทั้งคน และเครื่องมือ อุปกรณ์แจ้งพิกัดผ่านดาวเทียม GPS และ เซนเซอร์ yaw rate ซึ่งติดตั้งภายในรถ ถูกนำมาใช้เพื่อการจดบันทึกสถิติในครั้งนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งกล้องที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาหอบังคับการของสนามทำหน้าที่ถ่ายทำภาพยนตร์ขั้นตอนการขับขี่โดยตลอด
Dennis Retera เปิดเผยระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า “ผมปิดระบบช่วยเหลือด้านการขับขี่ออกเพื่อให้รถสามารถกวาดท้ายได้ต่อเนื่อง แต่ในการขับแบบนี้จะใช้คันเร่งแบบตะบี้ตะบันไม่ได้ ผมกดคันเร่งเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น แล้วก็เริ่มทำให้รถท้ายปัดด้วยการเล่นกับจังหวะการยกคันเร่ง ถ่ายน้ำหนักมาข้างหน้าระหว่างเลี้ยว จากนั้นเมื่อรถเริ่มสไลด์ ก็ใช้การคุมพวงมาลัยเอา พอรถเริ่มสไลด์มากเกิน ผมจะยกคันเร่งออกเพียงเล็กน้อย แล้วรถก็กลับมาเข้าไลน์เดิม”
Joanne Brent ตัวแทนจาก Guinness World Records เคยทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการสร้างสถิติในหลายรูปแบบในรถยนต์หลายรุ่น แต่สำหรับ Taycan นั้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการดริฟท์ต่อเนื่องโดยรถยนต์ไฟฟ้า Brent และ ผู้ชำนาญการจาก Guinness ใช้ความพิถีพิถันอย่างยิ่ง ในการจดบันทึกการทำสถิติตลอดระยะทาง
นับว่าเป็นวิธีประชาสัมพันธ์ทางการตลาดอีกวิธีหนึ่งที่ดูจะได้ผล ในแง่การนำพาภาพลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้าจากรถทรงแปลก รักโลก ขับไม่สนุก เลี้ยวไม่คล่อง มาเป็นแนวคิดใหม่ที่ว่า รถยนต์ จะขับเคลื่อนด้วยพลังจากอะไร ก็สามารถปรับให้เป็นรถสำหรับนักขับตัวจริงได้ ถ้าบริษัทรถยนต์ตั้งใจจะทำ ส่วนใครที่สงสัยว่า AAS จะนำ Taycan รุ่นขับหลังมาขายหรือไม่นั้น ผู้เขียนยังไม่มีข้อมูลยืนยัน 100% แต่พิจารณาจากนโยบายการรุกตลาด Plug-in/EV กับกลยุทธ์การตั้งราคาที่ผ่านมา ผู้เขียนขออนุญาตแทงเดาเลยว่า ปีหน้าเจอกัน และราคาถูกกว่ารุ่น 4S อาจจะขึ้นต้นด้วยเลข 6 ในรุ่นเริ่มต้นและ 7 เมื่ออัดออพชั่นเพิ่ม