By Gigabright
แม้ว่า Nissan Motor จะเพิ่งเปิดตัว Nissan Kicks E-Power รุ่นไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทยไป แต่ก็ยังเป็นที่คลางแคลงใจหลายคนอยู่ว่า อนาคตของแบรนด์จะเป็นอย่างไร อาจเป็นเพราะแบบแผนการตลาดมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน อย่างการประกาศลดราคารถยนต์ใหม่ป้ายแดงครั้งใหญ่ โดยมีหมายเหตุว่าเป็นโปรโมชั่นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (ซึ่งอันที่จริงลูกค้าทั่วไปก็สามารถติดต่อกับผู้แทนจำหน่ายโดยตรงได้เช่นกัน) สร้างความคึกคักให้กับโชว์รูมนิสสันทั่วประเทศได้อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความสงสัยให้กับใครหลายคนว่า Nissan จะม้วนเสื่อกลับบ้านเหมือนค่ายที่เพิ่งใช้วิธีเดียวกันนี้หรือเปล่า?
ล่าสุด สำนักงานใหญ่ของ Nissan Motor ในเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ได้แถลงผลประกอบการณ์ปีงบประมาณ 2019 และมีการเปลี่ยนแปลงแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจฉบับใหม่ซึ่งเป็นแผนระยะยาว มีผลบังคับใช้ไปจนถึงปีงบประมาณ 2023 เลยทีเดียว ในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้องค์กรมีความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยมีการลดทอนค่าใช้จ่ายและสิ่งที่ไม่จำเป็นออก รวมถึงจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ภายในองค์กรใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากแผนเดิมที่มุ่งเน้นเพียง เรื่องการขยับขยายของแบรนด์เท่านั้น ภายใต้แผนกลยุทธ์ใหม่ครั้งนี้ Nissan ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าภายในปีงบประมาณ 2023 จะสามารถเพิ่มผลกำไรจากการดำเนินงานได้อีก 5 เปอร์เซ็นต์, ครองส่วนแบ่งทางการตลาดโลกไว้ที่ 6 เปอร์เซ็นต์เอาไว้ได้เช่นเดิม และการมีสัดส่วนของมูลค่าการลงทุนร่วมกับ บริษัทคู่ค้าในจีนถึงครึ่งหนึ่งอีกด้วย
Makoto Uchida ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Nissan ได้กล่าวว่า “การปรับแผนกลยุทธ์ในครั้งนี้เราจะให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ยั่งยืนมากกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ ยกระดับคุณภาพของแบรนด์ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของ Nissan ซึ่งค่านิยมขององค์กรว่า Nissan-ness” ที่จะตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม ผ่านผลงานที่ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความประณีต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันได้ อันประกอบไปด้วย 2 กลยุทธ์หลัก คือ
- การเป็นองค์กรที่มีความเป็นเหตุเป็นผล เสริมความแข็งแกร่งขององค์กร ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น และมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ผ่านนโยบายต่างๆ เช่น
- ปรับลดกำลังการผลิตลง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้ที่ 4 ล้านคันต่อปี อันเป็นจำนวนที่ผ่านการวิเคราะห์ จากความสามารถการผลิตในช่วงกะปกติแล้ว
- การตั้งเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เพื่อสร้างผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น
- การพิจารณาปรับผังโครงสร้างรุ่นของรถยนต์ ที่ทำการตลาดทั่วโลกให้ลดลงเหลือ 55 รุ่นจากเดิม 69 รุ่น
- การปรับลดค่าใช้จ่ายประจำในส่วนต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 300,000 ล้านเยน (ราว 89,000 ล้านบาท)
- แผนการปิดตัวลงของฐานการผลิตในยุโรป ที่เมืองบาร์เซโลนา
- การควบรวมรุ่นรถยนต์ในตลาดอเมริกาเหนือ ให้เหลือเพียงรุ่นที่เป็นตัวหลักเท่านั้น
- การปิดตัวลงของโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศอินโดนีเซีย โดยยึดเอาประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน
- การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และกำลังในการผลิตร่วมกันระหว่างบริษัทคู่ค้าในเครือข่ายพันธมิตร
- การจัดลำดับความสำคัญของตลาดและรุ่นรถยนต์ โดยมีแผนการดังนี้
- การให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในประเทศ ที่เป็นตลาดหลักของ Nissan ก่อน นั่นก็คือ ญี่ปุ่น จีน และ อเมริกาเหนือ
- การยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด ของแบรนด์ในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และอเมริกาใต้ จากความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตร Renault Nissan Mitsubishi Alliance
- เน้นการพัฒนารถยนต์ในกลุ่มหลัก เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย รถยนต์ไฟฟ้า, รถสปอร์ต, รถ C และ D segment
- แผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ 12 รุ่น ภายใน 18 เดือนข้างหน้า ผ่านแคมเปญ “Nissan next: From A-Z”
- การขยายตัวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่าง e-POWER จะทำให้จำนวนของรถยนต์กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคัน ภายในปีงบประมาณ 2023
- ความคาดหวังจากการเปิดตัวรถยนต์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) 2 รุ่น และ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (e-POWER) 4 รุ่นใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ว่าจะมีการเติบโตนับเป็นร้อยละ 60 ของยอดขายรวมทั้งหมดได้
- การเปิดตัวระบบช่วยเหลือการขับขี่อัจฉริยะในรถยนต์รุ่นต่างๆกว่า 20 รุ่น สู่ท้องตลาดมากกว่า 20 ประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้มีรถยนต์จาก Nissan กว่า 5 ล้านคันที่ติดตั้งระบบเหล่านี้บนท้องถนนภายในปีงบประมาณ 2023
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บรรดาแฟนของ Nissan คงจะพอยิ้มได้ขึ้นมาได้บ้างว่า อย่างน้อยรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแบรนด์นี้ก็ยังคงมีความพยายาม ที่จะต่อสู้เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแนวหน้าแห่งวงการยานยนต์โลก ให้จนได้ แม้ว่าจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้างก็ตาม และประเด็นที่เป็นหัวข้อถกเถียงของแฟนรถยนต์ในไทยหลายคน ก็คงจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนขึ้นเสียที
ว่า Nissan จะยังคงปักหลักอยู่ในประเทศไทยไม่ได้หนีหายไปไหน ซึ่งผมเองก็หวังเอาไว้เล็กๆว่า การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ของแบรนด์สู่ความเป็น “Nissan-ness” นี้ จะนำพาเอาฉายาเดิมของค่ายที่ว่า “อยากได้หรอ… ไม่ขาย” และ “เจ้าพ่อตลาดวาย” (Nissan-late) ออกไปกับพร้อมยุคเก่าด้วยเช่นกัน
ที่มา: Nissan