แทนที่ Toyota จะป้องกันคู่แข่งหน้าเก่าที่ฟิตปั๋งด้วยการพัฒนาคุณภาพตัวรถเพิ่มขึ้น
เพื่อให้ทิ้งห่างคู่แข่งไปอีกขั้น แต่กลับใช้วิธีหาวิธีลดต้นทุนเพิ่มเพื่อจะได้หั่นราคารถจาก
ป้ายลงอีก 30% ภายใน 3 ปีข้างหน้า เหตุที่ต้องทำเพราะต้องป้องกันตัวจากค่ายรถยนต์
ที่โดดเด่นทั้งคุณภาพและต้นทุนทั่วโลกจู่โจม Toyota
คู่แข่งที่สำคัญของ Toyota อีกไม่นานนักและกำลังจะสยายปีกอย่างแข็งแกร่งกลับ
ไม่ใช่ GM ไม่ใช่ Ford ไม่ใช่ค่ายรถคู่แข่งสัญชาติเดียวกันอย่าง Honda และ Nissan
แต่กลับเป็นกลุ่มค่ายรถยนต์ที่สามารถเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาได้อย่าง Volkswagen
ที่อยากจะชิงดำแย่งตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกและ Hyundai ที่เริ่มทำรถออกได้
มีคุณภาพโดดเด่นน่าเป็นเจ้าของขณะที่ต้นทุนก็ต่ำจนตั้งราคาถูกกว่า Toyota
และมีกำไรได้ รวมไปถึงค่ายรถสัญชาติจีนและอินเดียด้วย
Mr. Takeshi Shirane กรรมการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อกล่าวเปิดเผยต่อสำนักข่าว Reuters
ว่า “เมื่อเทียบราคารถกับ Hyundai รถของเราแพงกว่าคู่แข่งถึง 30% ทั่วโลก”
“และนั่นก็คือเป้าหมายที่ Toyota ตั้งไว้ว่าจะต้องทำราคารถให้ต่ำลงอีก 30%”
แผนการดังกล่าวมีชื่อว่า RR-CI อันเป็นแผนที่ Toyota จะต้องให้วิศวกรและฝ่ายจัดซื้อ
ทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการออกแบบและการผลิตตามแบบ 165 ชิ้นส่วน
ที่กำหนดเพื่อช่วยทำให้ต้นทุนต่ำลง และยังสามารถรับฟังความคิดเห็นจากซัพพลายเออร์ได้อีกด้วย
แผนการ RR-CI เริ่มปฏิบัติการตั้งแผนกเฉพาะและพยายามฝึกฝนฝีมือเพื่อให้รับกับโครงกานี้
เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยจะทำงานกันทีละโมเดลเท่านั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด
Shirane ยกตัวอย่างรถรุ่น Corolla เป็นรถที่มีจำหน่ายทั่วโลกและมีแบบพิมพ์เขียวหลัก 1 ชุดจริง
แต่ชิ้นส่วนประกอบบางชิ้นกลับไม่อาจจะสั่งพิมพ์เขียวได้เหมือนกันทั่วโลกได้
ดังนั้นแผนการ RR-CI จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนารถ Toyota รุ่นใหม่นับต่อไปนี้โดยยึดหลัก 3 ประการ
คือ คุณภาพ (มีหัวข้อนี้อยู่ด้วยแต่จะทำตามได้หรือเปล่าคงอีกเรื่อง), ราคาต่ำ และนวตกรรมการลดต้นทุน
Toyota อาจจะต้องหาชิ้นส่วนในท้องถิ่นที่มีราคาต่ำกว่าและดีกว่า แม้อาจจะทำให้ต้องเขียนพิมพ์เขียวขึ้นมาใหม่
แม้จะเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ในการหาทางลดราคาลงอีก 30% แต่เชื่อว่าผลลัพธ์ในการวิจัยหาทาง
ลดต้นทุนชิ้นส่วนทั้งหมด 165 ชิ้นน่าจะถูกประกาศสู่สาธารณะชนได้ และหากผลการค้นคว้าดังกล่าว
ลุล่วงรถยนต์ Toyota ตั้งแต่รุ่นปี 2013 ขึ้นไปก็จะมีราคาถูกลง
เหตุที่ Toyota ต้อง Aggressive กับการลดต้นทุนอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อป้องกัน
มิให้ค่ายรถที่ผลิตจากจีนและอินเดียมีต้นทุนต่ำจนสู้กับ Toyota ได้ ที่สำคัญ Toyota
เองกลับไม่สามารถเข้าไปเจาะตลาดเกิดใหม่ได้แข็งแกร่ง เพราะที่แล้วมา Toyota ไม่ได้เน้น
ตลาดกลุ่มนี้เท่าไรเลยจนคู่แข่งร่วมชาติและต่างสัญชาติเข้าไปเจาะไข่แดงจนแข็งแกร่งมาก
Toyota เองก็ต้องปรับตัวและหาทางส่งรถยนต์ราคาไม่แพงลงสู่ตลาดกลุ่มเหล่านี้ให้ได้
อีกประการสำคัญคือการจู่โจมไม่หยุดยั้งของกลุ่ม Volkswagen ที่เริ่มมีกระบวนการลดต้นทุน
อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น อย่างน้อย ๆ การแชร์แพลทฟอร์มร่วมกับค่ายรถในเครือก็ช่วย ลดต้นทุน
และเพิ่มคุณค่าของชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกันได้
โดยเฉพาะแผนการล้ม Toyota ภายในปี 2018 เป็นสิ่งที่ Toyota เกรงกลัวกันมากที่สุด
เพราะ Volkswagen ถือเป็นเจ้าพ่อตลาดรถประเทศตลาดเกิดใหม่ของโลก และตลาดนี้
จะมีอนาคตที่มั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ
Volkswagen ครองความยิ่งใหญ่ในตลาดจีนมานานหลายปีนัก แต่กลับกัน Toyota
กลับมียอดขายแพ้เบอร์ 1-5 ของตลาดรถเมืองจีน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไร Toyota เอง
ก็เคยหยุดพักการบุกตลาดในจีนอยู่ช่วงหนึ่ง จากที่เคยส่งรถมาทำตลาดอย่างรวดเร็วกลับกลาย
เป็นว่า Toyota ส่ง Yaris และ Vios ช้ากว่าตลาดโลกเกือบ 3 ปีและพลาดโอกาสไป
น่าเสียดาย
Toyota จึงริเริ่มแผนการลดต้นทุนสุดระห่ำด้วยการส่งวิศวกรและฝ่ายจัดซื้อเข้าไปประจำการ
ในประเทศจีน 150 คนตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้วเพื่อสังเกตและเรียนรู้ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่นั่น
Toyota เองก็มีความท้าทายในการต่อกรกับคู่แข่งขันที่แข็งแกร่งอย่างมากเช่นกัน
และ Toyota ก็มั่นใจว่าตนเองเป็นบริษัทที่มีการลดต้นทุนอันดับ 1 ของโลก
จนยากที่จะมีใครเทียบเคียงได้
กลายเป็นว่าอนาคตของ Toyota ตั้งแต่ปี 2013 ขึ้นอยู่กับป้ายราคาในโชว์รูมเสียแล้ว
แทนที่จะเป็นนวตกรรมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนโลกได้ และนั่นทำให้เรารู้สึกได้ว่ามันเป็นการ
Back To Basic ในสมัยที่แบรนด์รถญี่ปุ่นเพิ่งตั้งไข่กันได้นั่นเอง