ตามปกติแล้ว เดือนมีนาคม มักจะเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งเหยิงที่สุด ช่วงหนึ่ง ของวงการรถยนต์ ในทุกๆปี เพราะถ้าคุณเปิดปฏิทินดู ก็จะพบว่า นี่คือห้วงเวลาในการจัดงานแสดงรถยนต์ 1 ใน 3 งานหลักประจำปี อย่าง Bangkok International Motor Show ซึ่งมักจัดขึ้น ราวๆ ปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ปี 2020 นี้ เราคงต้องจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์กันเลยละ เพราะใครเล่าจะไปนึกว่า เชื้อ Virus ตัวเล็กๆ อย่าง Corona Virus หรือที่ถูกเรียกกันใหม่ว่า COVID-19 ที่เพิ่งเริ่มอุบัติและแพร่กระจายขึ้นจากมณฑล Wuhan ในประเทศจีน ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2019 นั้น ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกหย่อมหญ้าบนพื้นพิภพโลกาได้มโหฬารและมหากาฬ ถึงเยี่ยงนี้ แถมความรุนแรงในการระบาด ยังไม่มีทีท่าจะลดราวาศอกลงในช่วง 1-2 เดือนนี้เอาเสียเลย
นอกเหนือจากการปิดเมือง ในหลายประเทศแล้ว บรรดา กิจกรรม ซึ่งจะต้องจัดขึ้น โดยมีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมงาน ทั้งวงการดนตรี กีฬา หรืองานธุรกิจต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก จำเป็นต้องหยุด เลื่อน หรือยกเลิก กันไป เพื่อความปลอดภัย และสุขอนามัยที่ดี ของประชากรทั่วทุกสารทิศ
วงการรถยนต์เองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตั้งแต่เริ่มมีรายงานว่า บรรดาพนักงานของบริษัทรถยนต์ต่างๆ อาจถึงขั้นต้องกักบริเวณ นั่งทำงานอยู่กับบ้าน รอดูอาการป่วย หรือต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในจีน และในหลายประเทศ เนื่องจากชิ้นส่วนอะไหล่จากเมืองจีน ไม่สามารถผลิตส่งมอบได้
ไม่เพียงเท่านั้น งานแสดงรถยนต์ขนาดใหญ่ อย่าง Geneva Motor Show ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ต้องประกาศยกเลิกกลางคัน ตามนโยบายของรัฐบาล Switzerland ทุกบริษัทต่างได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า เพราะได้ลงทุนลงแรง สร้างบูธจัดแสดงขนาดใหญ่ ทำได้เพียง เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ผ่านการถ่ายทอดสด ทาง Internet หรือ Social Media กันไปก่อน โดยที่ยังไม่รู้ว่า รถยนต์รุ่นใหม่เหล่านั้น จะพร้อมออกขายจริงได้เมื่อไหร่
สำหรับประเทศไทย ผู้ผลิตและนำเข้ารถยนต์หลายราย ตัดสินใจประกาศเลื่อนงานแถลงข่าวเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของพวกตนกันออกไป บางงาน จำเป็นต้อง ปล่อยรถออกสู่ตลาด ขึ้นโชว์รูม ทั้งที่ต้องยกเลิกงานเปิดตัว (เช่น Mazda CX-30) บางราย เลื่อนงานแถลงข่าวออกไปไม่มีกำหนด (Audi Q7 Minorchange & A6 Saloon , Lamborghini Huracan EVO, MG ZS Minorchange, Nissan Kick e-Power ฯลฯ) โดยไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ งาน Bangkok Motor Show ในปีนี้ จะยกเลิกหรือไม่ ฯลฯ
ท่ามกลางความกังวลใจของผู้คนทั้งสังคม….ยังมีอีก 2 บริษัท ซึ่งเตรียมแผนส่งรถยนต์รุ่นใหม่ ออกสู่ตลาดไปแล้ว โดยตั้งใจจะไม่จัดงานเปิดตัวตั้งแต่แรก จึงแทบไม่ค่อยได้รับผลกระทบอะไรมากนัก…รายแรกหนะคือ Suzuki ซึ่งปล่อยทั้ง Sedan รุ่น Ciaz Minorchange และ Suzuki Ertiga รุ่นปรับอุปกรณ์ ออกสู่ตลาดไปแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อีกค่ายหนึ่งที่เหลือ…? ก็คงจะหนีไม่พ้น รถคันที่คุณกำลังจะได้อ่านบทความข้างล่างนี้….
Mitsubishi Xpander นั้น ถูกส่งเข้ามาเปิดตัวในเมืองไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อ 17 สิงหาคม 2018 ตามหลังการเปิดตัวในตลาดหลักอย่าง Indonesia ถึง 1 ปีเต็ม ด้วยเหตุผลที่ว่า หลังการเปิดตัวใน Indonesia ยอดขายของ Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตลาดประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ รุ่นนี้ กลับขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพียงเปิดตัวในแดนอิเหนาได้เดือนเดียว มียอดสั่งจองสูงถึง 12,000 คัน กว่าที่โรงงานใน Indonesia จะเคลียร์ยอดสั่งจองทั้งหมดจนจบสิ้น กว่าจะดำเนินเรื่อง เพื่อเตรียมนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย เลยลากยาวนานกว่าที่ควรเป็น อย่างที่เห็น
พอเปิดตัวในเมืองไทย Xpander ก็ขายดิบายดี กลายเป็นม้ามืด ที่จู่ๆ พุ่งแรงขึ้นแซงหน้า คู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน ขึ้นแท่น แชมป์ยอดขายอันดับ 1 ในกลุ่ม Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ในปี 2019 อย่างสวยงาม ด้วยเหตุผลที่ง่ายดายในการอธิบาย นั่นคือ…
“ก็รถมันสวยไง!”
เรื่องความสวยในสายตาผู้บริโภคนี่เป็นเรื่องนานาจิตตัง ก็จริงอยู่ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ พากันทุ่มเทใจไปจอง Xpander ทั้งที่ คู่แข่งอย่าง Suzuki Ertiga มีราคาถูกกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า อัตราเร่งดีกว่า นั่นก็เพราะความสวย โฉบเฉี่ยว ดูล้ำอนาคต บนเส้นสายของตัวรถที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า โดนใจบรรดาคุณพ่อบ้านแม่บ้าน หลายๆครอบครัว
งานนี้คงต้องยกความดีให้กับ Mr.Tsunehiro Kunimoto และทีมงานออกแบบ ของ Mitsubishi Motors ทุกคน ที่ สร้างงาน Design ซึ่งแตกต่าง และสร้างบุคลิก “Mitsubishi-ness” ในสายตาลูกค้า ได้สำเร็จ เกินความคาดหมาย
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ Xpander ยังต้องมีอายุทำตลาดอีกนาน การต่อยอด สร้างสีสัน ให้กับตัวรถ จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อรักษายอดขาย ให้คงไว้ในระดับ เกือบๆ 1,000 คัน/เดือน ดังนั้น พวกเขาจึงซุ่ม พัฒนาทั้งรุ่นปรับโฉม Minorchange (ที่ใกล้จะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า) รวมทั้ง เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ ที่สร้างความแตกต่างไปจาก Minivan แบบเดิมๆ ด้วยการผสมผสาน บุคลิกของ SUV ยกสูงเข้ามาผสมผสานด้วยกัน จนออกมากลายเป็น Mitsubishi Xpander Cross
Xpander Cross เปิดตัวครั้งแรก ที่ Indonesia เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 ในฐานะรุ่นย่อยใหม่ ในระดับ Top สุดของตระกูล และเพิ่งถูกนำเข้าในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน มาเปิดตัวในเมืองไทย อย่างรวดเร็ว เมื่อ 16 มีนาคม 2020
Xpander Cross แตกต่างจาก Xpander รุ่นปกติ มากถึง 18 รายการ อย่างที่น้อง Moo Cnoe ของเรา ได้สรุปเอาไว้ให้แล้ว ดังนี้
- เปลี่ยน ช่วงล่าง ช็อคอัพ และ สปริงใหม่ ยกสูงอีก 20 มิลลิเมตร
- เปลี่ยน ล้ออัลลอย เป็นขนาด 17 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ สีทูโทน พร้อมยาง ขนาด 225/50 R17
- เปลี่ยน ล้ออะไหล่ เป็น ล้ออัลลอย พร้อมยาง Full Size
- เปลี่ยน ไฟหน้า เป็นแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ LED
- เปลี่ยน ไฟตัดหมอกคู่หน้า เป็นแบบ LED
- เปลี่ยน กระจังหน้า เป็นแบบ Cross Design
- เพิ่ม การ์ดกันชนล่าง ด้านหน้า สีดำ
- เพิ่ม การ์ดกันชนล่าง ด้านหลัง สีดำ
- เพิ่ม การ์ดกันกระแทกประตูด้านข้าง สีดำ
- เพิ่ม คิ้วซุ้มล้อ สีดำ
- เพิ่ม ราวหลังคา Rack Roof
- เปลี่ยน คิ้วเหนือป้ายทะเบียน สีดำเงา Black Gloss
- เปลี่ยน เสาอากาศ เป็นแบบครีบฉลาม Shark Fin
- เปลี่ยน โทนสี ภายในห้องโดยสาร สีทูโทน ดำ – น้ำตาล
- เปลี่ยน หนังหุ้มเบาะ ใหม่ สีทูโทน ดำ – น้ำตาล
- ปรับปรุง Graphic หน้าจอต้อนรับ ของ จอแสดงข้อมูลบนชุดมาตรวัด ให้เป็น Xpander Cross
- เพิ่ม สีตัวถังภายนอก ใหม่ ส้ม Sunrise Orange Metallic
- เปลี่ยน สีตัวถังภายนอก เดิม สีเทา Titanium Grey เป็น Graphite Grey
- ราคาปรับเพิ่ม 40,000 บาท
นอกนั้น ทุกอย่าง ยังคงเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า สัมผัสจากการนั่งบนเบาะ ทั้งคู่หน้า แถวกลาง และด้านหลัง รวมทั้ง ตำแหน่งของอุปกรณ์บนแผงหน้าปัด ชุดเครื่องเสียง พวงมาลัย ก้านสวิตช์ต่างๆ รวมทั้งข้อดีข้อด้อยต่างๆ ในประเด็นเหล่านี้ ก็จะยังคงไม่แตกต่างจาก Xpander รุ่นปกติ
อย่างไรก็ตาม การยกพื้นรถให้สูงขึ้น 20 มิลลิเมตร ย่อมส่งผลให้ การก้าวเข้า – ออก จากตัวรถ สำหรับผู้โดยสารสาย สว.(สูงวัย) สะดวกสบายขึ้นเล็กน้อย ประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล เพราะคราวนี้ คุณไม่จำเป็นต้องหย่อนก้นลงนั่ง แต่สามารถก้าวขาเข้าไป แล้วค่อยเคลื่อนตัวเข้าไปนั่งได้เลย ถ้าต้องการลงจากรถ ก็หันตัว หมุนลงมา แล้วเอาขา วางไว้บนพื้นถนน ลุกขืนขึ้นง่ายดายกว่า Xpander รุ่นปกติ นิดหน่อย
ด้านงานวิศวกรรม Mitsubishi Motors ยังคงไม่ได้ปรับปรุงขุมพลังเดิมแต่อย่างใด เราจึงยังเห็นเครื่องยนต์ 4A91 บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก เท่ากับ 75.0 x 84.8 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC (Mitsubishi Innovative Valve timing Electronic Control system) กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร (14.36 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุดได้ถึงระดับ Gasohol E20 มาประจำการ อยู่ใน Xpander Cross กันอยู่ดี
ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วย เกียร์อัตโนมัติ ลูกเดิม แบบ 4 จังหวะ พร้อม Torque Converter ปกติ เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังคงไม่มีโหมด +/- หรือแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift มาให้ตามเคย ใช้น้ำมันเกียร์ “ATF-MA1 เท่านั้น” ปริมาณที่ใช้ 4.9 ลิตร
อัตราทดเกียร์ลูกนี้ มีดังนี้
- เกียร์ 1 …………………2.875
- เกียร์ 2 …………………1.568
- เกียร์ 3 …………………1.000
- เกียร์ 4 …………………0.697
- เกียร์ถอยหลัง ………….2.300
- อัตราทดเฟืองท้าย …….4.375
ด้วยระยะเวลาที่เราอยู่กับรถค่อนข้างจำกัด คือเพียงแค่ ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา จึงพอจะจับอาการของตัวรถได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
– เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ยังคงให้การตอบสนองในสไตล์เดิม คือ การไต่ความเร็วจากเกียร์ 1 ขึ้นไปหนะ ดูกระฉับกระเฉงดี อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาสวมล้อและยางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็น 17 นิ้ว ทำให้อัตราเร่งมีแนวโน้มว่าจะด้อยลงกว่า Xpander รุ่นปกติ เสียด้วยซ้ำ ยิ่งพอขึ้นเกียร์ 2 เท่านั้นแหละ เรี่ยวแรงก็หดหายลงไป หากคุณคิดจะเค้นแรงบิดออกมา บอกเลยว่า เอาเวลา ไปเค้นความจริงจากสามีของคุณ ในวันที่เขากลับบ้านดึกๆ ดูท่าจะง่ายกว่าเยอะ! ดังนั้น ถ้าอยากได้ความเท่จากรุ่น Cross ขอให้ทำใจในเรื่องอัตราเร่งไว้ก่อนตั้งแต่แรกเลย ว่า น่าจะอืด และกินน้ำมันกว่า Xpander รุ่นปกติอีกพอสมควร
-ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตอบสนองของช่วงล่าง การยกรถให้สูงขึ้นอีก 20 มิลลิเมตร แน่นอนว่า น่าจะเหมาะกับครอบครัวที่ตั้งบ้านเรือน อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำขังรอระบายลงท่อช้า เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณลุยน้ำท่วมได้ลึกขึ้นอีก 2 เซ็นติเมตรแล้ว ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ไปตามลูกระนาด และหลุมบอต่างๆ ช่วงล่างที่ปรับปรุงยกสูงมาใหม่นี้ ให้ความนุ่มนวล เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านหลังรถ อาการเด้งสะเทือนลดน้อยลงไป แต่ ต้องบอกไว้ก่อนว่า ผู้ขับขี่ยังคงรู้สึกได้ถึงอาการ Rebound ของช็อกอัพคู่หลังอยู่บ้าง หากขับขี่และนั่งโดยสารตามลำพังหรือแค่ 2 คน แต่ถ้าคิดจะรูดผ่านลูกระนาดต่างๆ อาจจะเจออาการช็อกอัพคืนตัวกลับค่อนข้างแรง จนเกิดอาการตึง! ซึ่งมักพบได้ในรถที่ใช้ช็อกอัพที่สั้น คล้ายๆกับ Honda Brio เพียงแต่ว่า ความหนึบแน่น ต่างกันคนละเรื่อง
ไม่เพียงเท่านั้น การทรงตัวในย่านความเร็วสูง หากขับขี่ ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในทางตรงๆ มันไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น รถยังคงแล่นตรงแหน่วไปได้อย่างราบเรียบ สบายๆ และรื่นรมณ์ แต่ถ้าเจอกระแสลมปะทะด้านข้าง รวมทั้งใสนขณะขับเข้าทางโค้งยาวๆ คุณอาจจะรู้สึกได้ว่า ต้องใช้ความพยายามในการควบคุมรถ เพิ่มจาก Xpander รุ่นปกติเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
– ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัย Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) ถูกปรับปรุงให้มีน้ำหนักเบาขึ้นจากรุ่นปกติ เล็กน้อย และเริ่มมีบุคลิก “เป็นธรรมชาติขึ้นนิดหน่อย” การประคองพวงมาลัย ในย่านความเร็วเดินทาง ไม่เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า ดีขึ้นจาก Xpander รุ่นปกติ นิดนึง กระนั้น ก็ยังคงพอสัมผัสได้อยู่ดีว่า นี่คือพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าชุดเดิม นั่นแหละ แต่นำไปปรับปรุงมาใหม่ เท่านั้น
– ระบบห้ามล้อยังคงเหมือนเดิม คือด้านหน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก น้ำมันเบรก ใช้ได้ทั้ง DOT3 หรือ DOT4 มาพร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) และระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) เสริมด้วยระบบควคุมเสถียรภาพและการทรงตัว ASC (Active Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCL (Traction Control) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA และระบบกระพริบไฟฉุกเฉินเมื่อผู้ขับขี่ เหยียบเบรกกระทันหัน ESS (Emergency Stop Signal)
แป้นเบรกมีระยะเหยียบ ยาวปานกลาง แรงต้านเท้าไม่เยอะ เหมาะกับคุณสุภาพสตรี ในการบังคับควบคุมแรงเบรจากเท้าขวาได้ตามใจชอบ เบรกให้รถชะลอหยุดนุ่มๆในขณะขับคลานๆไปตามการจราจรติดขัดในเมืองได้ง่ายอยู่ ไม่ยากเย็น ส่วนการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง มาในแนวนุ่มนวล ตามเดิม เพียงแต่เรายังไม่แน่ใจว่า มีการปรับปรุงให้ผ้าเบรก ทนต่อการเหยียบเบรกซ้ำในจังหวะถัดไป เพื่อลดอาการ Fade ลงแล้วหรือไม่
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ยกสูงให้เท่ขึ้น เข้า-ออกสะดวกขึ้น เน้นลุยน้ำท่วม
ช่วงล่างนุ่มขึ้นนิดๆ นอกนั้น ก็เป็นไปตามคาด
ผมออกจะแปลกใจเล็กน้อย ที่ได้ยินคุณผู้อ่าน หรือแม้กระทั่งเพื่อนฝูงรอบข้าง ถามไถ่ถึง Xpander Cross กันมาไม่น้อย อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขากำลังเล็ง Xpander รุ่นปกติกันอยู่แล้ว เลยอยากรอดูก่อนว่า รุ่นยกสูงขึ้น 20 มิลลิเมตร และเพิ่มอุปกรณ์ตกแต่ง จนกลายเป็นรุ่น Top of the line คันนี้ ดีพอจะจ่ายเงินเพิ่มจากรุ่นปกติหรือไม่
พอเห็นป้ายราคา 899,000 บาท สารภาพเลยว่า ผมแอบคิดหนักเหมือนกัน เพราะเงินส่วนต่าง 40,000 บาท แลกกับ ข้าวของที่เพิ่มเข้ามา ผมมองว่า มันอาจจะคุ้มค่า สำหรับคนที่ต้องการ Xpander ที่เพิ่มความสูงจากใต้ท้องรถ พอให้ลุยน้ำท่วมบริเวณปากซอยบ้านคุณ ได้สูงขึ้น แถมตัวรถก็ดูเท่ขึ้นอีกนิดหน่อย แต่ถ้าคุณไม่มีปัญหาดังกล่าว ผมมองว่า สิ่งที่เพิ่มเข้ามา แทบไม่จำเป็นเท่าใดเลย
เพราะความสูงที่เพิ่มเข้ามา แน่นอนว่า การทรงตัวในช่วงความเร็วเดินทาง จะยังพอรับได้อยู่ แต่ถ้าเจอกระแสลมปะทะด้านข้างแรงๆ ก็แอบชวนให้รู้สึกหวั่นไหวได้ไม่น้อยเหมือนกัน แถมการสวมล้อยางให้ใหญ่โตขึ้น ย่อมส่งผลถึงอัตราเร่งที่ลดลง และการกินน้ำมันที่เพิ่ขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระนั้น ถ้าคุณอยากรู้ว่า ตัวเลขอัตราเร่งจะดร็อปลงไปเท่าไหร่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะหดหายไปแค่ไหน นั้น ผมยังไม่ได้ทดลองใดๆทั้งสิ้น เนื่องจาก ในวันที่เราจะทดลองกันนั้น ตัวรถคันที่เราได้รับมา เกิดเหตุขัดข้อง นั่นคือ สตาร์ตไม่ติด จอดนิ่งคาปั้มน้ำมัน Caltex ย่านอารีย์ กลางดึก อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากทาง Mitsubishi Motors ส่งรถ Slide On มายกกลับไปให้วิศวกรได้ตรวจสอบกันแล้ว ปรากฎว่า ต้นเหตุเป็นเรื่องฮา มากๆ ครับ เป็นเรื่อง เส้นผมบังภูเขาและเป็นเรื่องที่ ตามปกติแล้ว มันไม่เกิดขึ้นกับรถยนต์ทั่วไปที่พร้อมส่งมอบให้ลูกค้าอย่างคุณผู้อ่านกันหรอกครับ
ปกติ เวลา รถจะถูกขนส่ง จะลงเรือ หรือขึ้นเทรลเลอร์ไปส่งโชว์รูมไกลๆ มันมีความเสี่ยงเรื่องไฟไหม้ ผู้ผลิตรถยนต์สมัยนี้ เค้าเลยทำระบบป้องกันไว้ในรูปแบบต่างๆ บางยี่ห้อ อาจจะต้องมี Code ปลดล็อก บางค่ายก็จะทำฟิวส์พิเศษไว้..หนึ่งในนั้น คือ ทำ Fuse สำหรับปลดตัดระบบไฟทั้งคัน ยกเว้นไฟจากเบรก เรียกว่า iod Fuse มันมีในรถทุกคัน ไม่ว่าจะประกอบจากโรงงานไหน
ปกติเวลารถผลิตเสร็จ ลงเรือมา หรือจะลงจากเทรลเลอร์ หน้าโชว์รูม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนเซ็นรับรถและส่งมอบรถ PDI (Pre-Delivery Inspectior) จะต้องออกแรงกดฟิวส์ตัวนี้ให้เข้าที่ ซึ่งจะต้องออกแรงกดมากๆ แค่นี้ ระบบไฟของรถก็จะเดินปกติ
แต่ เนื่องจากรถคันที่เรารับมา ทีมวิศวกรเขามีการตรวจเช็คกันเยอะ เขารู้ไงว่า รถคันนี้จะต้องส่งมาถึงมือของ J!MMY เขาเลยกังวล เอาไปเช็คกันอย่างดี เลยมีการถอดเข้าถอดออกเจ้าฟิวส์ตัวนี้หลายครั้งไปหน่อย มันเลยอาจหลวมได้บ้าง
ดังนั้น ในจังหวะที่ผมขับรถออกมาจาก Mega Bangna เพื่อขึ้นทางด่วน ไปยังปั้มน้ำมัน Caltex ที่อารีย์ จังหวะนั้น รถไปเจอรอยต่อ ตะแกรงฝาท่อระบายน้ำ ผมก็ขับทับผ่านไปด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันก็ดัง “ตึง” ตามปกติ เหมือนรถทุกคันที่แล่นผ่านจุดนั้น
จู่ๆจอเครื่องเสียงก็ดับเอง แล้วก็ Re boot ใหม่ อีกรอบ ผมเริ่มเอะใจแล้วว่า สงสัยระบบไฟฟ้า น่าจะได้รับการกระทบกระเทือนนิดๆแน่ๆ จนน่าจะทำให้ Fuse ตัวนี้ มันเกิดหลวมอีกครั้ง พอขับถึงปั้มได้ปกติ ดับเครื่องได้ แต่ติดเครื่องไม่ได้ นั่นเอง เลยต้องเรียก “ยานแม่” มารับกลับฐาน….
สรุปว่า เป็นปัญหาขี้ปะติ๋ว ตัวรถหลักๆไม่ได้มีปัญหาอะไร และ “นี่คือปัญหาเฉพาะรถคันนี้เท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับรถคันอื่นๆ” คุณผู้อ่าน สบายใจ อย่างที่ผมรู้สึกในตอนนี้ได้ครับ ไม่ได้น่ากังวลใดทั้งสิ้น และไม่เกี่ยวข้องกับปัญหา ปั้มติ๊ก ของ Xpander ซึ่งผมได้รับการยืนยันว่า แก้ไขจบไปแล้วเรียบร้อย ทะยอยเปลี่ยนปั้มติ๊กชุดใหม่ให้ลูกค้ากันไปแล้ว เท่ากับว่า ปัญหาประจำรุ่นของ Xpander ก็น่าจะจบสิ้นลงแล้ว
ดังนั้น ผมจะปล่อยให้ Mitsubishi Motors เอารถคันเดิม ไปทดลองให้แน่ใจว่า จะไม่เจอเหตุการณ์นี้อีก แล้วค่อยส่งรถกลับมาให้เราทำบทความ Full Review กันใหม่…อีกครั้ง
ภายในช่วง ต้นเดือนเมษายน 2020 ที่จะถึงนี้
——————///——————
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
– Teerapat Archawametheekun (Moo)
& Yuthapichai Phantumas (Q)
เตรียมข้อมูลตัวรถเบื้องต้น
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
16 มีนาคม 2020
Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 16th, 2020
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!