ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรอบตัวเราอยู่เสมอ และเมื่อมีหนึ่งอย่างที่เปลี่ยนไป อีกสิบอย่างก็จะต้องเปลี่ยนตามอย่างเลี่ยงมิได้
วันหนึ่ง เราใช้นาฬิกาไก่ขันเพื่อปลุกให้ตื่น ฟังวิทยุจาก Walkman พาหญิงที่คุณแอบชอบไปถ่ายรูปแถวเซ็นเตอร์พอยท์ด้วยกล้องฟิล์ม กลับบ้านไปจะโทรคุยเล่าให้เพื่อนฟังก็ต้องใช้โทรศัพท์บ้าน นั่นคือถ้าพี่สาวคนโตของคุณไม่ได้ใช้มันอยู่ อยากดูทีวีก็ต้องตบตีกับน้อง อยากดูวิดิโอก็ต้องไปเช่าจากร้านหน้าปากซอย โทรศัพท์มือถือทั้งบ้านมีเครื่องเดียว คือของพ่อ เครื่องละเกือบแสนบาท อันเท่าท่อนแขนและทำได้แค่ใช้โทร และเห็นได้ชัดว่าพ่อไม่ได้ใช้มันเพื่อโทรหาแม่หรอก
อีกวันหนึ่งเราตื่นมา แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ทุกอย่างที่เราเคยทำเมื่อ 30 ปีก่อนด้วยอุปกรณ์มากมายหลายชิ้น ณ บัดนี้สามารถทำได้ด้วย สมาร์ทโฟนแบนๆเครื่องเดียว
ใครบางคนเคยพูดไว้เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วว่า ไปรษณีย์จะตาย ..แล้ว Fast Forward มาปี 2019 ไปรษณีย์ตายมั้ย? ไม่ตาย แถมถุงกระเป๋าของบุรุษไปรษณีย์ประจำซอยชินเขตของเราเมื่อก่อนลีบเล็ก มีแต่จดหมาย ทุกวันนี้พองราวลูกนิมิตยักษ์ห้อยออกมาจากสองข้างของมอเตอร์ไซค์ มีแต่พัสดุ สินค้า สารพัดอย่าง ทำเอาค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศสูงปรี๊ด
คุณจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี ทำได้ทั้งก่อกำเนิดสิ่งใหม่ และส่งเสริมให้สิ่งเก่าๆถูกกลืนกินไปกับเวลาอย่างช้าๆ แต่ถ้ามีการปรับตัวให้ทันการ คุณจะลอยอยู่เหนือคลื่นกาลเวลาอย่างสง่างามแถมอาจจะรุ่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
Toyota เอง ก็เป็นบริษัทที่ทำรถ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตมนุษย์อย่างหนึ่งซึ่งมีการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีอย่างรุนแรง อยู่ภายใต้สภาวะที่ต้องพึ่งพาหลายปัจจัย พร้อมจะรุ่ง และพร้อมจะล่มได้ทุกครั้งที่ปฏิทินพลิกหน้าไป แล้วพวกเขามีแผนอย่างไรที่จะอยู่ให้รอดพ้น และยังสามารถคงความเป็นผู้นำทางธุรกิจต่อไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่กลายเป็นองค์กรล้าหลังที่ค้นพบทางแก้เมื่อทุกอย่างสายเกินไป
ในช่วงกลางเดือนตุลาคม เวลาคาบเกี่ยวกับ Tokyo Motor Show 2019 นี่เอง ทาง Toyota ได้จัดสัมนาใหญ่ ดึงเอาสื่อมวลชนจากทุกชาติที่มี Toyota ขาย เข้ามาฟังแผนการของพวกเขาที่เตรียมไว้สำหรับอนาคต ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เราเข้าเรียน ฟัง และจด เหมือนสมัยยังเป็นนักศึกษา เพียงแต่ว่าไม่มีการสอบไล่ มีแต่บทความที่ต้องพยายามถ่ายทอดให้ทุกท่านได้อ่าน
หลังจากฟังบรรยาย อ่านเอกสารอีกร้อยหน้า เตะเอาภาษาเชิงประชาสัมพันธ์/โปรโมทผลิตภัณฑ์จ๋าออก แล้วพยายามจับประเด็นที่คิดว่าจะมีบางท่านอาจจะสนใจ ผมได้พยายามกลั่นกรองออกมาเป็น Special Report นี้ ..ซึ่งเขียนโดยรู้อยู่แก่ใจว่าบทความแบบนี้ไม่มีใครสนใจที่จะอ่าน ดังนั้น ก็จะขอเขียนแบบตามใจตัวเอง โดยแบ่งประเด็นต่างๆจากสิ่งที่ได้รับรู้มา
เพื่อให้สะดวกต่อการอ่าน จะขอเรียนแจ้งคำย่อต่างๆที่จะใช้ในบทความนี้ เพื่อป้องกันความสับสน
- ไฮบริด/Hybrid/HEV หมายถึง รถที่มีทั้งเครื่องยนต์ มอเตอร์ และแบตเตอรี่ความจุต่ำ ทำงานประสานกัน
- Plug-in Hybrid/PHEV หมายถึง รถ HEV ที่สามารถเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ และบังคับวิ่งในโหมดไฟฟ้าล้วนได้ต่อเนื่อง 5 กิโลเมตรหรือไกลกว่า
- Fuel-cell EV/FCEV หมายถึงรถยนต์พลังไฟฟ้า ไม่มีเครื่องยนต์ มีมอเตอร์ แบตเตอรี่ และใช้ไฮโดรเจนในการสร้างพลังไฟฟ้า
- Battery EV/BEV หมายถึงรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ไม่มีเครื่องยนต์ มีมอเตอร์ แบตเตอรี่ ชาร์จไฟจากแหล่งพลังงานนอกรถ
- รถถ่าน คำนี้ ผู้เขียนเอามาจากคนอื่น และจะใช้เพื่อเรียกเหมารวม HEV, PHEV, FCEV และ BEV ที่แบกแบตเตอรี่สำหรับการขับเคลื่อน เป็นคำสั้นเขียนง่ายจำง่าย ไม่ใช่คำดูถูก กรุณาอย่าดราม่า
- Internal Combustion Engine/ICE หมายถึงเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบที่เราคุ้นกันในปัจจุบัน ทั้งเบนซิน และดีเซล
- Artificial Intelligence/AI หมายถึงระบบสมองกลที่สามารถคิด สั่งการ และตอบโต้กับสิ่งต่างๆรอบด้าน
เมื่อโลกจะไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน..เมื่อคนซื้อรถน้อยลง และคนที่ซื้อก็ไม่ได้อยากจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับ Toyota จะเตรียม “เล่นกับอนาคต” ในแบบนั้นไว้อย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ ที่มาจากปากของผู้บริหาร Toyota เอง รวมถึงท่านประธาน Akio Toyoda ด้วย
ทำไม บริษัทที่รวยสุดขีดจากการขายรถ ถึงต้องคิดให้มาก กว่าการทำรถขาย?
ในญี่ปุ่น ปัญหาใหญ่ของวงการรถก็คือการที่คนไม่ยอมใช้เงิน เมื่อไม่ยอมใช้เงินก็เท่ากับว่าไม่อยากซื้อรถใหม่ ผมเคยสัมนากลุ่มกับเด็กนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโต พบว่าพวกเขารู้สึกสงสัย “ทำไมเด็กมหาลัยไทยมีรถทุกคนเลย” นั่นเพราะคนรุ่นใหม่ในแดนอาทิตย์อุทัย ไม่ได้มองรถในแบบเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขา สมัยก่อน รถคือเครื่องแสดงออกถึงฐานะ รสนิยม ความมั่งคั่ง แต่กับเด็กรุ่นนี้ รถ คือสิ่งที่ไม่รู้จะมีไว้ทำไม สิ้นเปลือง เกะกะเป็นภาระ อยากไปไหนก็มีรถไฟไปถึง ที่ไหนรถไฟเข้าไม่ถึง ก็เช่ารถเอา
นอกจากเรื่องทัศนคติของวัยรุ่นที่เปลี่ยนไป ในอีกฟากหนึ่ง สังคมปัจจุบันโลก เรามีอัตราส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และคนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีบุตรหลานคอยดูแลขับรถไปส่งตามที่ที่ต้องการเสมอ ครั้นจะให้ขับรถ บางคนก็ไม่กล้า ในญี่ปุ่นไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวผู้สูงอายุขับรถชนคนตาย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้เฒ่าจำนวนมากแห่กันคืนใบขับขี่ แต่ในขณะเดียวกัน คนเหล่านี้ก็ยังอยากจะมียานพาหนะสักแบบที่ไม่ต้องใช่รถยาว 4-5 เมตร อาจจะเป็นสกูตเตอร์เล็ก ขี่ไปหาเพื่อนในแถบใกล้ๆบ้านได้
ส่วนชนชั้นกลาง และวัยทำงาน ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนหรอกที่อยากมีรถ บางคนมีเพราะความจำเป็น อย่างในบางประเทศที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่พัฒนาเท่าที่ควร มีรถไฟฟ้า แต่ก็วิ่งผ่านแค่เส้นหลัก บางคนอยากขึ้นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวไปทำงาน แต่บ้านดันอยู่ห่างสถานีรถไฟฟ้า 5-6 กิโลเมตร จะให้เดินตากแดดตากฝนไปกลับก็ไม่สะดวก จะให้นั่งแท็กซี่ไปต่อรถไฟฟ้า ก็ไม่ได้มีความคุ้มค่าเลย สู้นั่งแท็กซี่ต่อไปถึงจุดหมายยังดีเสียกว่า
Toyota มองเห็นสิ่งเหล่านี้ในสังคม และคิดได้ว่า ถ้าขืนขายแต่รถต่อไป ก็คงไม่มีวันรอดแน่ ในงาน CES2018 ประธาน Akio Toyoda จึงได้ผุดนโยบายที่จะเปลี่ยน Toyota จากการเป็นผู้ผลิตและผู้ค้ารถ ไปสู่ Mobility Company แปลเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า อะไรที่มีล้อ จะเล็กจะใหญ่ Toyota จะบริการให้หมด ไม่ว่าคุณจะรวยล้นฟ้าหรือจนกรอบ ผลิตภัณฑ์หรือบริการสักอย่างที่ Toyota มี ก็จะเข้าไปถึงคุณได้เสมอ มีเงินเยอะ ก็ซื้อรถใหม่ มีเงินไม่เยอะ ก็มีบริการรถมือสอง ไม่มีเงินจะซื้อ..ก็เช่า ไม่มีเงินเช่า? ก็เรียกใช้บริการเป็นครั้งคราว
นอกจากนี้ Toyota จะแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในเกือบทุกธุรกิจรอบการสัญจร นอกจากจะวิจัย สร้าง และขายยานพาหนะแล้ว ยังรวมไปถึงการขยายปั๊มเติมไฮโดรเจน, สถานีชาร์จไฟ, การดูแลเรื่องการรับเทิร์นรถมาขายมือสอง, การบริหารจัดการทรัพยากรแบตเตอรี่, กิจการรถเช่า, กิจการขนส่ง ตลอดจนนำตัวเองไปเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างๆที่ต้องใช้บริการใดๆก็ตามที่ Toyota มี และพัฒนาให้ธุรกิจห้างร้านเหล่านั้นเจริญงอกงาม แน่นอนว่างอกมากก็มีเงินกลับมาอุดหนุน Toyota มากขึ้น หว่านพืชหวังผล ตามปกติของโลกการค้า แต่ลงลึกในทุกรายละเอียด ไหลเข้าทุกซอกมุมของชีวิตราวน้ำรั่วเข้าท้องเรือ
เมื่อธุรกิจมีการแผ่ขยายกว้างในหลายรูปแบบ วันหนึ่ง ถึงคนจะหยุดซื้อรถ แต่คนไม่มีปีก บินไม่ได้ ยังไงก็ต้องเรียกใช้อะไรสักอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Toyota ฟังดู Evil แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ แล้วบริษัทจะเอาอะไรมารับประกันความอยู่รอดของพวกเขา
ถ้า CP จะครองโลกด้วยอาหาร..ผมคิดว่า Toyota ก็ครองโลกด้วยการแทรกซึมเข้าสู่ทุกการเดินทางบนล้อของประชาชนอย่างที่ไม่มีบริษัทรถใดเคยทำมาก่อน
Mobility for all หรือ การสัญจรทางบกแบบครบวงจร
อีกหน่อยเราจะได้ยินคำว่า Mobility บ่อยขึ้น เมื่อก่อน เราจะไปไหนบนล้อ ก็จะมีแต่คำว่า Car (รถ) Truck (รถปิคอัพ/รถบรรทุก) Motorcycle (สองล้อ) หรืออะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ในยุคนี้ เขาเรียกการเดินทางบนล้อแบบรวมๆว่า Mobility ซึ่งหมายถึงการขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายนั่นเอง
ต่อจากหัวข้อที่แล้ว เรื่องการผันตัวจาก Car Company เป็น Mobility Company พร้อมคำขวัญใหม่คือ Mobility for all (people) นั่นหมายความว่าเราจะเห็นสิ่งต่างๆเหล่านี้ผุดออกมาในแบรนด์ Toyota มากขึ้น และคำว่า For all ยังรวมถึงผู้คนทุกวัย ผู้สูงอายุ ผู้มีความอุปสรรคทางร่างกายทั้งหลาย
คนทั่วไป อยู่ในประเทศที่ระบบสถานีชาร์จไฟยังไม่พัฒนา ต้องเดินทางไกลบ่อย..เอารถเก๋ง/SUV ไฮบริดไปใช้
คนที่อยู่ในสังคมเมือง ไม่มีรถของตัวเอง สถานีรถไฟฟ้าอยู่ไกลเกินกว่าจะเดิน แต่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร…เอารถไฟฟ้า BEV ที่นั่งเดี่ยวหรือสองที่นั่งไปใช้สิ ขับง่าย ราคาถูก หาที่จอดก็ง่าย หรือจะขึ้นรถบัส ก็มีรถของ Toyota บริการ วันไหนอยากขับรถเที่ยว นู่น รถเช่าของ Toyota ก็มี
ตำรวจ ยาม หรือพนักงานในสนามบิน ที่ต้องทำงานในสถานที่กว้างแต่ทางเดินแคบ เอารถเข้าไปขับไม่ได้…เอาแท่นขับแบบยืนหรือแบบนั่งก็ได้ ใช้สะดวก
คนพิการ? ไม่ต้องห่วง มีรถแบบที่สามารถรองรับรถเข็นได้ ขับไปยังจุดหมายเองได้ ถ้ารถเข็นมันเหนื่อยไป มีมอเตอร์ขับเทียบติดตั้งกับรถเข็น กลายเป็นสกูตเตอร์เบาๆ วิ่ง 10-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็มีให้
และอีกหน่อย จะพัฒนาไปไกลถึงขนาดเรียกรถเปล่ามาหาหน้าบ้าน แล้วขับใช้งานไป พอเลิกใช้ก็กด Return รถ แล้วรถก็วิ่งกลับไปหาบริษัทเองได้ อย่าเพิ่งคิดว่าเพ้อ ปัจจุบันนี้ Toyota กำลังพัฒนารถตามแนวคิด “CASE” ซึ่งย่อมาจาก “Connected” cars, “Autonomous / Automated” driving, “Shared”, and “Electric” นอกจากขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแล้ว ยังขับตัวมันเองได้ ส่งผลให้อนาคต รุ่นลูกของคุณไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถ แต่จะมีรถเปล่า ซึ่งจอดอยู่ ณ บริษัทพันธมิตรของ Toyota รอให้คนกดเรียกใช้ เมื่อถึงเวลา ก็วิ่งไปหาคุณเอง
ทั้งหมดนี้จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติขั้นสูง ปัจจุบัน Toyota เองก็มีหน่วยงาน TRI (Toyota Research Institute) ซึ่งพัฒนาระบบติดตั้งในรถทดลอง Lexus LS500h ซึ่งเป็นแบบ Level 4 ซึ่งอยู่ในระดับที่ก้าวล้ำไปกว่าระบบใน Tesla ณ ปัจจุบัน การเป็น Level 4 หมายถึง ถ้ากฎหมายอำนวย คุณสามารถปล่อยให้รถขับตัวมันเองได้เลย ระบบจะเลิกทำงานก็ต่อเมื่อเข้าตาจน เช่น ไม่สามารถโหลดข้อมูลถนนที่วิ่ง ไม่มีข้อมูลแผนที่เส้นทาง ณ จุดนั้น หรือสภาพอากาศแย่มากๆ มันถึงจะส่งสัญญาณให้คนมาขับ แน่นอนว่า การเปลี่ยนเลนเข้าทางร่วม การเร่งแซงรถช้า การเข้าซองจอด รถพวกนี้สามารถทำเองได้แล้ว
Mobility for all ของ Toyota ครอบคลุมความต้องการในการสัญจรหมด แม้กระทั่งสำหรับคนที่ขับรถไม่เป็น คุณคงเริ่มเห็นอนาคตแล้วใช่มั้ยครับ? อย่างไรก็ตาม ทั้งแนวคิด Mobility for all กับ CASE มันก็จะส่งผลให้เกิดประเด็นถัดมา ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการขายรถ และการใช้รถแบบที่เราคุ้นเคยกันมา?
ไม่ต้องเป็นเจ้าของรถ vs ความภูมิใจจากการซื้อรถ
ในงาน Tokyo Motor Show 2019 ท่านประธาน Akio Toyoda พูดเอาไว้ได้น่าสนใจว่า
“เมื่อตอนที่โลกรู้จักรถยนต์ ม้า 15 ล้านตัวในอเมริกาโดนปลด เพราะคนหันไปใช้รถยนต์แทน…แต่คุณสังเกตมั้ยครับว่าทุกวันนี้เรายังมีม้าแข่ง หรือชอบไปดูการแข่งม้าในสนามกันอยู่”
เขารู้ดีว่าคนที่ใช้รถ มีทั้งคนที่มองรถเป็น ม้าสำหรับใช้งาน และม้าสำหรับแข่ง และถ้ามองในมิติของความผูกพันธ์ ก็มีทั้งคนที่มองรถเป็นเหมือนข้าวของเครื่องใช้ และมีคนที่มองรถเป็นเหมือนเพื่อนคู่ชีพ และส่วนมาก คนที่มองรถเป็นม้าแข่ง ก็จะมีความผูกพันธ์กับรถสนิทแน่นแฟ้นมากกว่าคนทั่วไป
สำหรับคนกลุ่มที่มองรถ/ยานพาหนะเป็นของสำหรับใช้งาน แนวคิด “ใช้รถโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของรถ” จะตอบโจทย์คนเหล่านั้น .ในอนาคต ประเทศที่มีระบบถนน/แผนที่ และการสื่อสารเอื้ออำนวยต่อรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ อาจจะได้ใช้รถอย่างเจ้า e-Palette ในภาพข้างบน ซึ่งเปรียบเสมือนรถสองแถวจากโลกอนาคต ที่คุณใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือเรียกมาใช้ในยามต้องการได้
แม้กระทั่งในปัจจุบัน Toyota ก็เข้าไปเจรจาร่วมมือกับบริษัทอย่าง Uber และ GRAB ให้การสนับสนุนลงลึกถึงขั้นวิจัยร่วมกับ GRAB ที่สิงคโปร์ เพื่อหาหนทางในการลดระยะเวลาในการเซอร์วิสรถ Prius จาก 70 เหลือ 30 นาทีมาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น Shard Mobility หรือเรื่องง่ายกระทั่งการเรียก GRAB จุดประสงค์ก็คือ ทำให้คนรู้สึกไม่จำเป็นต้องซื้อรถอีกต่อไป ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตคนในประเทศอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมที่กำลังหันหลังให้รถ กับสิงคโปร์ ซึ่งการจะมีรถสักคันมันช่างยากเย็นแสนเข็ญ
..น่าแปลกมั้ยครับ ที่บริษัทขายรถแท้ๆ กลับมุ่งเป้าไปที่บริการ ซึ่งทำให้คนไม่จำเป็นต้องซื้อรถ?
ถ้าคิดว่าแปลก ก็อย่าเพิ่งคิดว่า Toyota จะทิ้งการผลิตรถแบบเดิม เพราะไม่ใช่ทุกประเทศหรอกครับที่ผู้คนจะมีความคิดในแบบเดียวกัน ดูอย่างตอนนี้สิครับ คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มองว่ารถคือภาระ แต่คนไทยรุ่นใหม่นี่ รถ ยังเป็นสิ่งของที่ Must have และคุ้มค่าการเสียรายได้จำนวนมากเพื่อให้ได้มีสักคัน บนโลกนี้ยังมีที่ให้ Toyota ขายรถได้เสมอถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนของเขา
Akio Toyoda ยังเผยแนวคิดว่า อันที่จริง บริการประเภทใช้รถโดยไม่ต้องซื้อรถน่ะ ส่วนหนึ่งก็ทำมาด้วยความเข้าใจ ว่าในโลกนี้ มีหลายคนที่อยากได้รถสปอร์ต รถเปิดประทุน หรือรถในฝันแบบต่างๆ แต่ซื้อไม่ได้ เพราะมีที่จอดแค่คันเดียว มีเงินพอซื้อรถแค่คันเดียว แต่ก็ต้องเจียดไปให้กับรถที่สามารถขับขี่ได้ทุกวัน ดังนั้น ถ้า Toyota มอบวิธีการไปทำงานและการเดินทางในชีวิตประจำวันในแบบที่ประหยัดงบประมาณได้อย่างนี้ คนเหล่านั้น ก็จะมีเงินเหลือไปซื้อรถสปอร์ตได้
“อย่างรถคันนี้ไงครับ” Akio Toyoda พูด พร้อมกับผายมือไปทางรถต้นแบบ e-RACER (อย่างในภาพข้างบน) “ในอนาคต เราจะมีให้คุณเลือก ทั้งม้างาน และม้าแข่ง แต่คุณจ่ายเงินซื้อแค่ม้าแข่งตัวที่คุณรักจริงๆก็พอ”
ดังนั้น เท่าที่พอจับความได้ ในประเด็นของ การใช้บริการแบบไม่ต้องซื้อ VS การซื้อรถเป็นของตัวเอง ก็สรุปได้ดังนี้
- ในตลาดที่ไม่เหมาะกับการใช้บริการ Shared Mobility => ขายรถเหมือนเดิมต่อไปจนกว่าตลาดนั้นจะพร้อม และสนับสนุนบริการแท็กซี่หรือบริษัทรับส่ง เช่น Uber กับ GRAB
- ในตลาดที่เหมาะกับการใช้ Shared Mobility => ย้ายไปใช้ Shared Mobility มีการสนับสนุนบริษัทรับส่งผู้โดยสาร ส่วนการขายรถ จะเน้นโมเดลสปอร์ตหรือรถแปลกๆมากเป็นพิเศษ
ถ้าวันหนึ่ง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI รุดหน้าไปมาก Toyota มีจุดยืนด้านการใช้สมองกลเหล่านี้อย่างไร
ก่อนอื่น ขอแนะนำให้รู้จักกับรถคันข้างบนนี้ ซึ่งมีชื่อว่า LQ เป็นรถต้นแบบที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Concept-i ปี 2017 มันคือรถที่ฝังระบบ AI เอาไว้ในรถ และ AI นี้ มีชื่อว่า Yui (ออกเสียงว่า ยู-อิ เหมือน ยูอิ โคมิเนะ) แต่สื่อไทยรวมหัวกันเรียกว่าน้องยุ้ย เนื่องจากชื่อไปพ้องกับสื่อมวลชนท่านหนึ่งในทริปพอดี
น้องยุ้ยไม่ใช่แค่ระบบสั่งการผ่านเสียง หรือทำตัวแบบ SIRI แต่เป็นระบบที่คอยตรวจสอบสภาพร่างกายของคนขับ รวมถึงลักษณะการขับขี่ ยุ้ยสามารถตรวจพบความเมื่อยล้าจากท่านั่งของคุณแล้วสั่งนวดเบาะยังจุดที่เกิดความล้าได้ เมื่อคุณเริ่มขับเร็ว น้องยุ้ยจะเลือกเพลงที่เข้ากับการขับของคุณมาเปิดให้โดยอัตโนมัติ เมื่อคุณพาแฟนไปดินเนอร์ อารมณ์กำลังอินเลิฟ ยุ้ยจะทำเป็นนกรู้ เปิดเพลงโรแมนติก และเปิดน้ำหอมกลิ่นอ่อนๆ ปรับโทนแสงไฟในรถ สร้างบรรยากาศ ซึ่งชวนต่อยอดให้คุณได้
นี่ยังไม่นับเรื่องการที่ยุ้ยสามารถเข้าควบคุมรถ ขับขี่อัตโนมัติในระดับ Level 4 (อีกหนึ่งผลงานของ TRI) จอดรถเองได้ และยังมีของล้ำสมัยในรถอีกมากตามสไตล์รถต้นแบบจากอนาคต แต่คำถามคือ Toyota มองระบบ AI เหล่านี้อย่างไร AI เจ๋งกว่าคน หรือคนจะมีอำนาจเหนือ AI
คำตอบคืออย่างหลัง Toyota มีความชัดเจนว่า หน้าที่ของ AI ในรถยนต์นั้น มีไว้เพื่อ “To serve, To protect, and to provide comfort” ระบบอัตโนมัติต่างๆ มีไว้เพื่อสร้างความสุขให้กับมนุษย์ แต่มันไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ ตรงไหนก็ตามที่คนขับอยากจะสั่งการเอง ขับเอง ทำเอง ก็ต้องสามารถทำได้
เจ้าหน้าที่ของทาง TRI อธิบายว่า พวกเขาเรียกแนวความคิดแบบนี้ว่า “JIDOKA” หรือ Automation with human touch ซึ่งมีความเชื่อว่า เครื่องจักร มีไว้เพื่อทำให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้นและมนุษย์คือความสำคัญสูงสุด ไอเดียนี้ สืบทอดมาจากวิธีคิดของบรรพบุรุษตระกูล Toyoda ซึ่งก็คือคุณ Sakichi Toyoda
ในสมัยโบราณ Toyota ยังไม่ทำรถขาย แต่มีโรงงานทอผ้าขนาดใหญ่ (ปัจจุบันมรดกเหล่านี้ยังหลงเหลืออยู่ในพิพิธภัณฑ์เทคนิคของ Toyota ที่เมือง Nagoya) คุณ Sakichi ประดิษฐ์เครื่องทอผ้าพร้อมระบบ Fail-safe ซึ่งถ้าหากมีกระสวยด้ายหรือชิ้นส่วนสักชิ้นหลุดออกจากที่ของมัน เครื่องทอทั้งเครื่องจะหยุดทำงานทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าผืนนั้นเสียทรง Sakichi เลือกที่จะไม่ใช้คนมานั่งเฝ้าเครื่องทั้งวันเพราะเขาเชื่อในความคิดที่เรียกว่า “IKIGAI” แปลเป็นไทยก็คือ ความรู้สึกมีค่าในตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง อันเกิดจากการได้ทำงาน
การจ้างคนมานั่งเฝ้าแท่นทอผ้า ไม่ได้ค่าตอบแทนที่ดี มีโอกาสพลาดสูง และคนงานก็ไม่ได้ภูมิใจที่จะบอกคนรอบตัวว่า “ข้าเป็นคนนั่งเฝ้าแท่น” Sakichi จึงพยายามให้เครื่องจักรเข้ามามีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานการผลิต แล้วย้ายเอาแรงงานมนุษย์ไปทำในสิ่งอื่นที่จะก่อให้เกิด IKIGAI มากขึ้น
ดังนั้นแล้ว เมื่อ TRI ประยุกต์ JIDOKA และ IKIGAI มาใช้กับการสร้าง AI อย่างน้องยุ้ย มันก็คือการที่ให้เจ้าของรถเลือกเอง
..งานไหนที่รู้สึกว่าไม่ชอบใจ ไม่ภูมิใจ สุขใจที่จะทำ เช่น ขับในช่วงรถติดแบบงามวงศ์วานหลัง 5 โมงเย็น..ก็ให้ยุ้ยเอาไปทำ
..งานแบบไหนที่ทำแล้วรู้สึกชอบ พอใจ อยากจะทำ มนุษย์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถ ก็จะได้ทำ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผม เรายังต้องผ่านจุดที่สามารถโปรแกรม AI อย่างยุ้ย ให้รู้จักผสานตรรกศาสตร์ เข้ากับศีลธรรม ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก สิ่งที่ทำให้คนต่างจากเครื่องจักรก็คือศีลธรรม แม้ว่าเครื่องจักรจะไม่รู้จักการแคพหน้าจอดาราดังๆแล้วเอามานินทาในกลุ่มไลน์ แต่มันเองก็ไม่สามารถจำแนกอัตลักษณ์บุคคล จำแนกความจำเป็นตามสถานการณ์ได้หมดทุกเคส
ผมยกตัวอย่างให้ฟัง ว่าสมมติว่าบ้านคุณอยู่ริมคลอง ถนนตรงนั้นแคบมาก คุณเปิดระบบขับอัตโนมัติเอาไว้ แล้วจู่ๆ มีเด็กวิ่งมาเก็บลูกบอลข้างหน้ารถ ถ้า AI เป็นสมองกลคำนวณ และมันมองเห็นแล้วว่าที่สปีดขนาดนั้น ถ้าเบรก ก็ไม่ทัน ถ้าหักหลบขวา ชนกำแพง ถ้าหักหลบซ้าย ลงคลอง ตายแบบนมเปียกชื้นได้ AI ก็จะเข้าโหมดของมัน “To serve and to protect” มันจะเลือกทางใดก็ตามที่จะปกป้องคนในรถอย่างแน่นอน
แต่กลับกัน ถ้ามันเป็นคุณเองที่อยู่หลังพวงมาลัย สัญชาติญาณของมนุษย์มักจะตอบสนองด้วยการหักหลบ ไม่ว่าจะหลบในลักษณะปฏิกริยาอัตโนมัติ หรือหลบเพราะไม่อยากได้ชื่อว่าชนเด็กตายก็ตาม
เรื่องพวกนี้ล่ะครับ ที่ทำให้บางประเทศไม่อนุญาตให้คุณเปิดระบบอัตโนมัติขับแล้วไปนั่งเอกเขนกอยู่บนเบาะหลัง เช่นที่สวีเดน ซึ่งกฎหมายระบุชัดเจนว่า ถ้ารถยนต์จะเคลื่อนไปได้ ต้องมีคนขับอยู่หลังพวงมาลัยเท่านั้นและคนที่นั่งหลังพวงมาลัย รับผิดชอบต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้น
มองโลกแห่งการขับเคลื่อน: อีก 30 ปี โลกก็ยังต้องพึ่งพาไฮบริด
ถึงแม้วันที่โลกเมินเครื่องยนต์ ICE จะใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ในมุมมองของ Toyota ดังจะเห็นได้จากภาพข้างบนนี้ก็คือ แม้จะถึงปี 2050 บนโลกใบนี้ ก็จะยังต้องมีเครื่อง ICE (เบนซิน/ดีเซล) อยู่ เพราะไม่ใช่ทุกประเทศในโลกที่จะมีความพร้อมขยับเข้าสู่สังคมปลอดไอเสียปลายท่ออย่างเต็มรูปแบบ อันเนื่องมาจาก ความเชื่อของคนที่มีต่อไฮบริด ความพร้อมในการติดตั้งสถานีชาร์จไฟ หรือเรื่องง่ายๆที่สุดเช่น ปริมาณแท่นชาร์จไฟกับปริมาณรถไม่เพียงพอต่อกัน
ลองนึกภาพว่าถ้าประเทศไทยจะมีแต่รถ BEV ช่วงสงกรานต์ คุณคิดว่าคนรอชาร์จไฟจะเยอะขนาดไหน ขนาดเข้าปั๊มเติมคันละ 5-8 นาทียังล้นปั๊ม นับประสาอะไรกับการจอดเพื่อชาร์จไฟนาน 30-60 นาที และมันไม่ใช่แค่ประเทศไทยหรอกที่จะมีปัญหานี้
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คุณจะเห็นได้ว่ารถถ่านจะเข้ามาแทนที่รถ ICE ล้วนอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากปี 2020 เป็นต้นไป Toyota และ Lexus จะเน้นการทำตลาด HEV และ PHEV อย่างต่อเนื่อง รถบางรุ่น ในบางตลาดจะเหลือแต่ขุมพลังไฮบริดให้เลือก นอกจากนั้นแล้ว ก็จะทำการเปิดตัวรถ BEV อย่างต่อเนื่อง ในปี 2025 หลังจากที่แบตเตอรี่ Solid state แบบใหม่พร้อมสำหรับการผลิตแบบจำนวนมาก Toyota ทุกรุ่นทุกโมเดล จะมีขุมพลังแบบ BEV ให้เลือกซื้อได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่บนส่วนไหนของโลก
หลังจากปี 2030 เป็นต้นไป มันมีความเป็นไปได้ ว่าแม้แต่รถกระบะ ก็จะมีตัวท้อปที่มาพร้อมถ่าน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีมอเตอร์และแบตเตอรี่ไม่ว่ามันจะเล็กหรือใหญ่ มีส่วนช่วยเสริมพลังขับมากขนาดไหน เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา Toyota เชื่อมาตลอดว่า “การลด CO2 ของทางค่าย ไม่ได้เกิดจากการขายแค่ BEV บวกกับรถธรรมดา แต่เกิดจากการผลักดันรถประเภท HEV ให้ขายในอัตราส่วนได้มากที่สุด”
หลังจากปี 2040 เป็นต้นไป คุณอาจจะพบว่า มีรถเหลือเพียงไม่กี่รุ่นในโชว์รูม Toyota ที่ไม่มีมอเตอร์ และอย่างที่ผมบอก รถบางรุ่นที่เคยมีแต่เครื่องเบนซิน ก็อาจจะเหลือแต่เพียงขุมพลังไฮบริด ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนแอนตี้รถถ่านและอยากใช้รถเก๋ง Toyota เวลาของคุณเหลือน้อยแล้วสำหรับการซื้อรถของพวกเขา
Toyota ยังไม่ทิ้ง Fuel-cell EV
แม้ว่าทั้งโลกจะหันความสนใจไปหา BEV กันหมด อย่างไรก็ตาม มีค่ายญี่ปุ่นอย่าง Toyota (Mirai) และ Honda (Clarity) ที่ยังมีความเชื่อมั่นในรถแบบ FCEV ซึ่งมีความแตกต่างจาก BEV ตรงที่ใช้ไฮโดรเจนแทนการรับไฟฟ้าจากภายนอก เวลาไฮโดรเจนหมด ก็แค่ขับไปเติมไฮโดรเจน การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทำให้ไม่ปล่อย CO2 ที่ปลายท่อ ในขณะเดียวกันการใช้ไฮโดรเจนก็ทำให้สามารถใช้เป็นรถวิ่งระยะไกลได้ ขอเพียงแค่มีปั๊มเติมไฮโดรเจนรองรับ ทำให้กลายเป็นรถไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไม่ต้องปรับพฤติกรรมเยอะ แค่เปลี่ยนจากปั๊มน้ำมัน เป็นปั๊มไฮโดรเจน
คุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ Toyota ยังฮึดสู้ พัฒนา Mirai เจนเนอเรชั่นที่สอง ซึ่งมาปรากฏตัวในงาน Tokyo Motor Show ภายใต้ชื่อ Mirai Concept อย่างไรก็ตาม จากที่คุยกับผู้บริหารมา Mirai Concept นั้น ถือว่ามีความใกล้เคียงกับรถเวอร์ชั่นผลิตขายจริงมากแล้ว
Toyota ค้นพบว่า ในใจของลูกค้ารถ FCEV แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ต่างจากคนที่ใช้รถเบนซินหรือดีเซลเท่าไหร่ Mirai รุ่นที่แล้วมีรูปโฉมที่ล้ำอนาคตก็จริงอยู่ แต่ท้ายสุด ลูกค้าต้องการรถที่สวย ปราดเปรียว ไม่ได้ต้องการให้ดีไซน์ของตัวรถคอยตะโกนบอกคนรอบข้างว่า “เห้ย ผมรักโลกมากกว่าพวกคุณ” เช่นเดียวกับเรื่องความหรูหราทันสมัย อุปกรณ์ครบ และสำคัญที่สุดคือเรื่องของการขับขี่ เพราะคนที่ใช้ FCEV ก็ต้องการคุณภาพช่วงล่างที่ดี ไม่ใช่ว่ารักโลกแล้วช่วงล่างต้องหย่อนยานคลานตามเต่า
ดังนั้น เมื่อ Mirai ใหม่ออกขาย มันจะเป็นรถที่คนเห็นแล้วอยากได้มากกว่ารุ่นเดิม ด้วยส่วนหน้ารถยาว ท้ายสั้น หลังคาเตี้ยลงถึง 65 มิลลิเมตร สัดส่วนใกล้เคียงรถอย่าง Porsche Panamera หรือ Tesla S มากกว่าจะเป็นรถรักโลก แล้วยังวิ่งได้ระยะไกลขึ้นกว่าเดิม 30% มีอัตราเร่งที่ดีขึ้น Mirai จะเป็นตัวเสริม Line-up ให้กับ Toyota โดยทำหน้าที่เชื่อมสะพานระหว่างคนที่ชอบรถด้วยรูปทรง มีมลภาวะต่ำแบบรถ BEV แต่วิ่งได้ไกลกว่า
เพื่อให้ครบตามแนวคิด Mobility for all ทาง Toyota ก็ยังนำไปใช้ในรถบัสต้นแบบชื่อ “SORA” ซึ่งมีถังบรรจุไฮโดรเจนแรงดันสูงติดตั้งไว้บนหลังคา 10 ถัง และติดตั้ง Fuel Cell Stack ไว้ท้ายรถ ส่งกำลังไฟให้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีแรงบิด 335 นิวตันเมตร จำนวน 2 ตัว ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้ลองโดยสารไปกับขบวนผู้สื่อข่าว “ยืนเบียดเต็มพื้นที่” รถก็ยังสามารถออกตัวแรงจนอยากจะด่าคนขับ มีพละกำลังต่อเนื่องไม่แพ้รถบัสเมืองที่เราเคยเจอมา
นอกจากการเป็นรถบัส/รถประจำทางสำหรับอนาคตแล้ว Toyota ยังออกแบบให้ SORA สามารถผันตัวเองเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้า โดยใช้ไฮโดรเจนที่อยู่ในรถ สร้างกระแสไฟ 9kW ในประมาณ 235 หน่วย (kWh) ถ้านึกไม่ออกว่ามากเท่าไหร่ ก็ให้คิดถึงบ้านชนชั้นกลางทั่วไป 235 หน่วยนี่คือพอให้คนในบ้านแบบนั้นอยู่สุขสบายไปได้ครึ่งเดือน
สาเหตุที่ต้องทำ SORA ให้สามารถเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ ก็เนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวปี 2011 ทำให้ญี่ปุ่นต้องหาทุกวิถีทางในการรับมือหลังเกิดภัยพิบัติ รถบัสอย่าง SORA สามารถใช้สร้างไฟฟ้าป้อนให้กับศูนย์ผู้อพยพได้นานพอที่หน่วยกู้ภัยและรัฐบาลจะคืนสภาวะปกติให้สังคม
ไม่ใช่แค่เพียง SORA ที่จะนำไปใช้ขนส่งนักกีฬาใน Olympic2020 เท่านั้นนะครับ Toyota ยังมีแผนที่จะผลิตชุดคิทไฮโดรเจนจำนวนมาก เพื่อส่งให้กับลูกค้าต่างประเทศ นำไปติดตั้งในรถบัสที่ตัวเองผลิตขาย พูดชื่อก็ได้ว่ามี FOTON, KingLong, SinoHytec และ CaetanoBus ซึ่งยิ่งมีคนสั่งเยอะ ความคุ้มค่าที่จะเดินสายการผลิตขุมพลังไฮโดรเจนยิ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะอยู่รอดปลอดภัยไปถึงอนาคต
ข้อจำกัดของไฮโดรเจนมีเพียงอย่างเดียวคือ สาธารณูปโภค หรือพูดง่ายๆคือ ปั๊ม และเครือข่ายการขนส่งไฮโดรเจน ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศที่มีพร้อมแบบญี่ปุ่น และไม่ใช่ทุกประเทศที่อยากเอาอย่างญี่ปุ่น ขึ้นอยู่กับว่าในประเทศนั้นธุรกิจของใครเส้นใหญ่กว่า ก็อาจจะมีการหาทางกีดกันไม่ให้โครงข่ายสาธารณูปโภคไฮโดรเจนเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เหมือนกับที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ก็ไม่อยากให้รถ EV ทั้งหลายเจริญเติบโตเร็วนัก
การทุ่มเงินจำนวนมาก ให้ความสำคัญกับ FCEV ของ Toyota แทนที่จะขยับไป ฺBEV เหมือนคู่แข่ง ก็คือเหรียญที่ Toyota โยนไปเมื่อสิบปีก่อน เหรียญยังไม่ตกถึงพื้น ไม่รู้หัวหรือก้อย แต่ Toyota ยินดีจะเสี่ยง
แนวโน้มของรถ BEV ในโลก และการสนับสนุนจากรัฐ
ข้อมูลของ Toyota ที่ให้ผมมานี้ เป็นยอดขายของรถ BEV ในประเทศหัวหอกหลักในการนำเทรนด์รถถ่าน ณ สิ้นปี 2018
- ประเทศจีน อุดหนุน BEV ไป 707,800 คัน แต่เมื่อเทียบกับรถทั้งหมดในประเทศ BEV ฟันยอดไปแค่ 3.3% โดยรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเงิน/ส่วนลดสำหรับคนที่จะซื้อรถ BEV เป็นมูลค่าประมาณ 280,000 บาทไทย
- อเมริกาตามมาเป็นอันดับสอง มี BEV ถูกขายไปทั้งสิ้น 228,600 คัน เทียบเป็นอัตราส่วนน้อยแค่ 1.3% ของรถทั้งหมดที่ขายในประเทศ รัฐบาลกลางให้ส่วนลดภาษีมูลค่าสูงสุดสำหรับ BEV ไม่เกิน 224,000 บาทไทย
- นอร์เวย์ มี BEV ขายไปทั้งสิ้นแค่ 46,000 คัน ก็จริง แต่เทียบกับรถทั้งหมดที่ขายไปในประเทศแล้ว ได้อัตราส่วนสูงที่สุดในโลก คือ 31.2% (ทุก 10 คันที่ถอยออกจากโชว์รูม เป็นรถ BEV 3 คัน) โดยรัฐบาลเอาใจคนรัก BEV อย่างสุดโต่ง ให้ส่วนลดภาษี BEV มูลค่าเกือบสี่แสนบาท แล้วยังงดเว้นภาษีนำเข้า และ VAT ทั้งหมดสำหรับคนที่ซื้อด้วย
- เยอรมนี มีรถ BEV ถูกขายออกไปทั้งสิ้น 37,300 คัน คิดเป็นอัตราส่วน 1.1% ของรถที่ขายทั้งหมด รัฐบาลให้ส่วนลดต่อคันแค่ 145,000 บาท
- ที่ฝรั่งเศส ขายได้ 32,200 คัน คิดเป็นอัตราส่วน 1.5% ผู้ซื้อได้ส่วนลดประมาณ 230,000 บาท
พูดง่ายๆก็จะเห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งที่ Toyota ไม่รีบร้อนขายรถ BEV เพราะเข้าใจในการเจริญเติบโตของยอดขายว่าส่วนสำคัญที่ผลักดันให้รถ BEV ขายได้เยอะ ก็คือส่วนลดแลกแจกแถมจากรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน Demand ที่เห็น แม้จะเป็น Demand จริง แต่ก็ถูกกระตุ้นโดยสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เพราะถ้ารถทั้งประเทศกลายเป็นรถไฟฟ้า กระทรวงการคลังแต่ละประเทศไม่ยอมต่ออายุส่วนลดในลักษณะนี้แน่
ตัวอย่างก็มีให้เห็น เช่นที่ฮ่องกง ถ้าใครเคยไปจะเห็นได้ว่า มี Tesla วิ่งเยอะมาก Elon Musk เคยบอกว่าฮ่องกงมีประชากร Tesla ต่อประชากรคนเยอะสุด แต่พอปี 2017 รัฐบาลตัดท่อน้ำเลี้ยง Tesla ส่งผลให้ราคาตามป้ายสูงขึ้นเกือบเท่าตัว Tesla ที่เคยขายได้ปีละมากกว่า 2,000 คัน ก็ลดเหลือแค่หลักสิบ
คุณคงจะเห็นแล้วว่า วันที่รถ BEV จะครองโลกจริงๆ ยังมาไม่ถึง และจะยังมาไม่ถึงอีกนาน ในความคิดของผม มันน่าจะเป็นไปตามรูปแบบที่ Toyota คาดการณ์มากกว่า ปี 2050 รถที่มีเครื่องยนต์ จะยังครองตลาดอยู่ถึง 80% แต่มันคือรถ ICE เบนซินดีเซลที่ไม่มีถ่านไม่มีมอเตอร์ต่างหาก ที่จะสูญพันธ์ลงอย่างรวดเร็วนับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป
ความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ BEV ในประเทศพัฒนาแล้ว
ในประเทศไทย เมื่อเราพูดถึงอุปสรรคทางแนวคิดและการปฏิบัติ คนส่วนมากจะนึกถึง
- ราคาแพงและตัวเลือกไม่เยอะ – รถ BEV ในไทยที่เป็นรถจริงวิ่งไกลๆได้ ราคาถูกที่สุดคือ MG ZS EV ประมาณ 1.2 ล้านบาท ในขณะที่ประชากรชนชั้นกลางของประเทศ สามารถซื้อรถได้ในราคาไม่เกินล้านบาท
- ราคาขายต่อ และการซ่อมบำรุง – คนไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเงินหายาก และรถบางคันเมื่อซื้อเข้าบ้านแล้ว จะใช้ต่อเนื่องจนกว่าจะพังแบบซ่อมไม่ไหว ซึ่งเป็นธรรมชาติการใช้รถที่ต่างจากอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป
- พิสัยทำการ – คนไทยส่วนมากจะไม่ปลื้มถ้า BEV วิ่งได้ไม่ถึง 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม แม้ว่าในชีวิตจริงโอกาสที่จะเดินทางมากขนาดนั้น เกิดขึ้นไม่บ่อย
สำหรับประเทศแนวหน้าของตลาด BEV นั้น Toyota ได้ทำการวิจัยมา และได้ข้อมูลความกังวลของผู้ใช้ในลักษณะต่อไปนี้
- ไม่ต้องการรถที่แรงหรือแพง แต่อยากได้รถ BEV ใช้สำหรับขับไปมาในท้องถิ่น ระยะใกล้
- อยากได้ยานพาหนะขนาดเล็ก เพราะหาที่จอดง่าย (ปัญหาสำคัญสำหรับญี่ปุ่น และยุโรปในเขตเมือง)
- ในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าจำนวนมากอยากได้รถที่มีขนาดเล็ก เพราะร่างกายและประสาทสัมผัสไม่เหมาะกับการขับรถไซส์ปกติ
- อยากได้ BEV ที่มีเทคโนโลยีความปลอดภัยสูง ปกป้องทั้งคนในรถและนอกรถ หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้ (เพราะในเมืองนอก เวลามีอุบัติเหตุ ไม่ได้เคลียร์กันง่ายแบบประเทศไทย และอาจเป็นคดีความยาว แม้จะเป็นเรื่องเล็ก)
- โดยปกติ มักไปไหนมาไหนคนเดียว อย่างมากก็มีผู้โดยสารติดไปแค่คนเดียว ถ้ามีรถที่ขนาดเล็กและราคาถูกลงจะยิ่งดี
- ไม่อยากเอารถมาจอดที่บ้านเพราะเป็นภาระ ไม่อยากซื้อรถใช้ แต่บางทีเวลาจะไปไหนมาไหนก็อยากมีรถให้ใช้เฉพาะช่วงเวลานั้นได้ แน่นอนว่าขับเอง ไม่งั้นคงเรียก GRAB ไปแล้วสิ
- อยากได้รถที่พอใช้ไปนานๆแล้วแบตเตอรี่ไม่เสื่อมสภาพ เคยวิ่งได้กี่กิโลเมตรก็อยากให้วิ่งได้เท่านั้นไปตลอด
ดังนั้น Toyota จึงอาศัยเวที Olympic และ Paralympic 2020 นี้ล่ะ ในการนำเทคโนโลยีที่พวกเขาคาดว่าน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยานพาหนะในรูปข้างบน ไม่ว่าจะเป็น Ultra-compact BEV ขนาดเล็กที่ลำตัวสั้นกว่าฐานล้อของรถ C-Segment รถสามล้อพร้อมระบบช่วยทรงตัว คุณย่าซิ่งได้ อย่าง i-Road ก็มา
ผมได้มีโอกาสลองขี่ i-Road สั้นๆเพียง 2 นาทีในสนามทดสอบของ Toyota พบว่ามันแคบเกินกว่าจะให้ซูโม่นั่ง ผมลักไก่โดยการเปิดกระจกขับเพื่อห้อยแขนออกมานอกรถ มันมีทรงเหมือนมอเตอร์ไซค์ที่มีหลังคา แต่มีพวงมาลัยแบบรถยนต์ เวลาเลี้ยวขวา ตัวรถจะเอียงขวาเหมือนมอเตอร์ไซค์ และมีระบบช่วงล่างที่คอยคุมองศาการเอียงและล้อ สามารถเลี้ยวในจุดแคบๆได้คล่อง ..ลองนึกว่าถ้ามี i-Road ให้ผมขับจากบ้านไปสถานีรถไฟฟ้าใกล้บ้านได้ ความจำเป็นในการมีรถก็หายไปเยอะแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีรถสามล้อขนาดเล็กไร้หลังคา ทั้งยืน และนั่ง หรือแม้แต่รถเทียมกับรถเข็นผู้พิการทางขา น่าแปลกมั้ยครับที่ Toyota จะดูเหมือนให้ความสนใจกับยานพาหนะระดับมด มากกว่าการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า B หรือ C-Segment เสียอีก อาจจะเป็นได้สองอย่างคือ..ฟลุค..หรือไม่งั้น เขาก็ทำวิจัยมาแล้วว่าคนต้องการอะไรมาเติมเต็มการเดินทางในชีวิตจริง
ทำไม Toyota ถึงมัวรอช้า ไม่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนขายตั้งนานแล้ว?
ผู้บริหาร Toyota กล่าวในระหว่างการบรรยายว่า ในปัจจุบันนี้ ไม่มีค่ายไหนที่สร้างรถแบบ BEV ขายแล้วได้กำไร (ผมลืมยกมือแล้วถามว่า Tesla ล่ะครับพี่ – ทั้งค่ายเขานี่ไฟฟ้าล้วนเลยนะ)
เหตุผลของ Toyota ก็คือ..แบตเตอรี่ในรถ EV ที่มีความจุมากพอจะให้รถวิ่งได้เกิน 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็มนั้น มีมูลค่าลูกละประมาณ 1 ล้านเยน (280,000 บาท) และระบบขับเคลื่อน มอเตอร์ คอมเพรสเซอร์ ปั้๊มเบรก ก็มีราคาต้นทุนของมันที่ไม่ได้น้อยไปกว่ารถยนต์
ดังนั้นเมื่อมองโอกาสในการขายเป็นหลัก สมมติว่า Toyota ทำ BEV Altis ขายแล้วตั้งราคา 1.4 ล้านบาท คุณคิดว่าจะรอดหรือไม่? ถ้าคิดว่าไม่ มันก็ดูสมเหตุผลแล้วที่ในเชิงธุรกิจ รถไฮบริดจะน่าเล่นมากกว่า อย่างน้อยก็สามารถใช้แบตเตอรี่ Ni-Mh ได้ ซึ่งต้นทุนต่อยูนิตการเก็บไฟ ถูกกว่าแบบ Lithium-Ion และในรถไฮบริด HEV การใช้แบตเตอรี่ Lithium-Ion ทำแบตเตอรี่ความจุไฟต่ำ ก็ยังไม่ให้ความคุ้มค่าในการลงทุนอยู่ดี
ที่สำคัญก็คือ Toyota อ่านเกมออกนานแล้วว่า เมื่อรัฐบาลนานาประเทศงัดกฎเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองของรถทั้งค่ายแบบเฉลี่ย (CAFE-Corporate Average Fuel Economy) มาใช้ ต่อให้คุณขายรถ FCEV หรือ BEV ได้เป็นอัตราส่วน 20% ของรถทั้งหมดที่ขาย มันก็ยังไม่พอที่จะบรรลุเป้าหมาย CAFE ที่รัฐกำหนดอยู่ดี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำรถรุ่นปกติของค่ายให้มีขุมพลังแบบไฮบริดทั้งแบบธรรมดาและ Plug-in เพื่อเข้ามาช่วยลดมลภาวะลงด้วย และ Toyota ตัดสินใจนำ HEV และ PHEV ออกมาจำหน่ายก่อน เพราะวิจัยเสร็จเร็ว สร้างออกมาได้เร็ว และเริ่มต้นเทรนด์รถถ่านได้ก่อนชาวบ้าน
และเมื่อเริ่มเดินเกมก่อน ก็สามารถควบคุมและคาดคะเนความจำเป็นของรถ FCEV/BEV ได้ว่าต้องมาเร็วหรือช้าแค่ไหน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องบริหารงานวิจัยแบบร้อนรนภายหลังเหมือนค่ายที่ทำแต่รถเบนซิน/ดีเซล แล้วจู่ๆก็ต้องรีบมาทำรถไฟฟ้าเลย
ปัจจุบัน Toyota ยังไม่มีรถ Battery EV ขาย เพราะต้องการ “เล่น” กับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ จนได้คุณสมบัติที่ต้องการ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ แม้จะไม่มีการเปิดเผยเป็นตัวเลข แต่สรุปใจความก็คือ ต้องทนร้อน ต้องขนาดเล็ก ต้องชาร์จได้ไว และเสื่อมอายุขัยช้า
ในระหว่างนี้ รถ HEV จะเป็นม้างานหลักในการทำหน้าที่ลดค่า CO2 ให้กับรถของค่าย สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก C-HR ที่ขายไป 40% เป็นไฮบริด และ Camry 70% เป็นรุ่นไฮบริด ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก ผู้บริหารยังบอกอีกว่า สลับกันกับที่หลายคนเข้าใจ อเมริกาซึ่งดูจะเฮี๊ยบเรื่องสภาวะแวดล้อม แต่รถไฮบริดของ Toyota กลับทำอัตราส่วนยอดขายได้น้อยกว่าเอเชีย ญี่ปุ่น และจีนเสียอีก
นอกจากนี้ อีกจุดหนึ่งที่มีผลชะลอการเกิดของรถ BEV ภายใต้แบรนด์ Toyota ก็คือเรื่องแบตเตอรี่ ฺBEV มีจุดอ่อนที่เมืองหนาว เปิด Heater แรง ยิ่งมีระบบ Autopilot และข้าวของต่างๆในรถเยอะยิ่งกินไฟหนัก ขณะนี้ ด้วยเทคโนโลยี Solid-state Battery ที่กำลังพัฒนาอยู่ใกล้จะทำให้ Toyota บรรลุความฝันของพวกเขาแล้ว ถ้าหากให้ผลิตใส่รถไม่กี่คัน หรือผลิตได้โดยข้อจำกัดทางต้นทุนไม่เยอะนัก ก็พร้อมจะทำได้เลย ดังนั้น หากเป็นแบรนด์หรูอย่าง Lexus คุณจะได้เห็น BEV คันแรกของค่ายที่ขายจริง ภายในปี 2020 นี้!
แต่หากต้องผลิตใส่รถเป็นจำนวนมากแล้วขายจริง หรือพูดง่ายๆคือ ขายในแบรนด์ Toyota เราก็อาจจะต้องรอถึงประมาณปี 2024-2025 โดยในระหว่างนี้ แผนของ Toyota ก็คือลด CO2 โดยเฉลี่ยของรถทุกรุ่นในค่ายลงด้วยการขายรถ ICE น้อยลงและเพิ่มอัตราส่วนของรถ HEV/PHEV ให้ได้มากที่สุด
นโยบายในการเพิ่มจำนวนรถ BEV ของ Toyota ในอนาคตนอกเหนือจากการขายตามปกติ
- สรรหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการผลักดันการเจริญเติบโตของรถ BEV ให้มากขึ้น
- สนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีความจำเป็นต้องใช้รถ BEV ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ โดยก้าวเข้าไปมีส่วนในการวางแผนพัฒนาการขนส่ง การบำรุงรักษา และการใช้งานในองค์กรนั้นๆ
- ในประเทศที่ผู้คนชินและยอมรับรถ BEV อยู่แล้ว ก็จะมีการพัฒนาแพลทฟอร์มและองค์ประกอบการขับเคลื่อนหลัก จากนั้น ออกแบบภายนอกและห้องโดยสารให้เข้ากับความต้องการอันหลากหลายของลูกค้าในประเทศนั้น โดยส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและราคาขายหน้าโชว์รูมน้อยที่สุด
- พัฒนาแบตเตอรี่ให้มีขีดความสามารถขั้นสูงสุด โดยถือเอาแบตเตอรี่เป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด ต่อการขยายตัวประชากรรถ BEV ในภายหน้า
ในภาพข้างบน คือบรรดาบริษัทต่างๆที่เข้าร่วมกับ Toyota ในการพัฒนาขีดความสามารถของแบตเตอรี่ ซึ่งในจำนวนนั้นก็มี GS Yuasa และ Panasonic ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ชั้นนำ และมี BYD ค่ายรถจีน ซึ่งมีความสามารถในการวิจัยแบตเตอรี่สูงเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดจีน ที่มียอดขาย BEV สูงที่สุดในโลก
ท้ายสุด ถ้าอนาคตขึ้นอยู่กับรถถ่าน จะทำอย่างไรไม่ให้ขยะแบตเตอรี่ล้นโลก?
ที่ผ่านมา Toyota เฝ้าสังเกตและวิจัยแบตเตอรี่ในรถไฮบริด/ไฮโดรเจน และพบว่าเมื่อผ่านการใช้งานไป 10 ปี ประสิทธิภาพการเก็บไฟของแบตเตอรี่จะลดลง 25% เป้าหมายของ Toyota ก็คือ ลดตัวเลขนี้ลงให้เหลือแค่ 10% เพื่อให้แบตเตอรี่ลูกหนึ่งสามารถใช้งานได้นาน ยิ่งใช้ได้นานเท่าไหร่ ปริมาณขยะแบตเตอรี่ที่จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มในอัตราที่ช้าลง
ดังนั้น สิ่งที่ Toyota ทำคือ สนับสนุนให้มีการใช้แบตเตอรี่ลูกหนึ่ง จนกว่าจะเหลือประสิทธิภาพน้อยชนิดไม่สามารถใช้งานได้จริงๆ ส่วนอีกประการหนึ่งคือการปฏิบัติตามหลัก 3R ซึ่งได้แก่
- Rebuild – คัดเอา Module ที่ยังเหลือประสิทธิภาพสูงจากแบตเตอรี่ใช้แล้ว แล้วนำมาประกอบขึ้นเป็นแบตเตอรี่ลูกใหม่ ซึ่งสามารถนำไปขายได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ถูกลงแค่ไหน เอ้าสมมติว่าแบตเตอรี่ใหม่ราคา 60,000 บาท แบตเตอรี่ Rebuild ก็จะแค่ประมาณ 20,000 บาทในกรณีรถไฮบริด และ 280,000 ก็เหลือราวๆ 100,000 บาทในกรณีรถ BEV และมีการรับประกันคุณภาพให้พอหอมปากหอมคอ
- Re-use – ส่วน Module ที่มีประสิทธิภาพไม่สูงพอจะนำไป Rebuild แต่ยังประจุไฟได้บ้าง ก็จะนำไปประกอบเป็น Storage สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรอง..ให้นึกถึง Powerbank ขนาดยักษ์..นำไปใช้กับอาคาร โรงงาน หรือบ้านคน สามารถใช้กับ Solar cell แล้วผลัดเวรกันจ่ายไฟกลางวัน/กลางคืนได้
- Recycle – Module ใดๆ ที่ประสิทธิภาพเหลือต่ำมาก ชนิดว่าเอาไปทำ Storage แล้วยังน่าเกลียด ทางไทยก็จะจัดการเอาไปฌาปนกิจ แล้วส่งอัฐิไปญี่ปุ่นเพื่อไปแยกนิคเกิลและโคบอลท์ออกมา (ต้องใช้กรรมวิธีขั้นสูงที่รัดกุมมาก เลยต้องขนไปที่นั่น) เมื่อสกัดออกมาได้แล้ว สารส่วนนี้จะนำไปใช้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ใหม่ได้อีกครั้ง
ทั้งสามอย่างอาจจะฟังดูแล้วง่าย ถ้ารถ 1,000 คันเป็นรถถ่านสัก 100 คัน แต่ถ้าถึงวันที่อัตราส่วนมันกลับกัน ในปี 2050 รถของ Toyota ในไทย 80% อาจจะเป็นรถถ่าน แล้วคิดดูว่าในแต่ละเดือนมีรถเหล่านี้ขายออกไป 10,000-15,000 คัน การจัดการของเสียจากแบตเตอรี่ จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าทุกวันนี้ และต้องหาทางจัดการควบคุมให้ได้ ไม่เช่นนั้นรถถ่านก็จะไม่เติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจาก 3R ที่ Toyota คิดมาใช้แล้ว ผมขอเสนอ R ตัวที่ 4 คือ Relocate
ซึ่งก็คือการเอาแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว อาจจะเหลือประสิทธิภาพ 75% แต่เจ้าของเก่าไม่แฮปปี้ที่จะใช้แล้ว ก็ยกออกมา เช็คความปลอดภัย เช็คประจุไฟ แล้วเอาไปใส่รถคันใหม่ขายลูกค้าเลย แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของลูกค้าและต้องมีส่วนลดที่แฟร์ต่อลูกค้าที่ยอมอุปการะแบตเตอรี่มือสอง
สมมติว่า ในปี 2030 ผมเดินเข้าไปซื้อ Camry ที่เป็น BEV ในโชว์รูมสักแห่ง นอกจากจะเลือกสีรถ และรุ่นย่อยต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ผมอาจจะต้องเลือกก็คือ แบตเตอรี่ ซึ่งอาจจะมาในลักษณะคล้ายแพ็คเกจโปรมือถือก็ได้
- Camry BEV + แบตเตอรี่ All New = 2,100,000 บาท
- Camry BEV + แบตเตอรี่ Rebuild เหลือประสิทธิภาพ 90% = 1,950,000 บาท
- Camry BEV + แบตเตอรี่เก่า Relocate มา เหลือประสิทธิภาพ 75% = 1,560,000 บาท
นี่แค่ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพนะครับ ความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ตามนี้ เพราะต้นทุนแบตเตอรี่ใหม่ลูกหนึ่ง ก็อย่างที่ทราบกันว่าประมาณ 280,000 บาทสำหรับแบตใหญ่รถ BEV ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะเหลือ 150,000 บาทแล้วก็เป็นได้ ดังนั้น ราคาต่างระหว่างรถติดแบต New กับแบตเตอรี่เก่า ในความเป็นจริงก็ไม่ควรเกิน 150,000 บาท
ดังนั้น ก็อยู่ที่บริษัท Toyota เอง ว่าจะยอมขาดกำไรต่อคัน ในรถที่ใช้แบตเตอรี่เก่าหรือไม่ และรัฐบาลจะช่วยลดภาษีให้กับรถ BEV ที่ใช้แบตเตอรี่แบบ Rebuild/Relocate มากแค่ไหน นี่เป็นเรื่องที่ผมมองว่าน่าติดตาม เพราะเราสามารถลดอัตราการเกิดของแบตเตอรี่ใหม่ได้ง่ายที่สุด ด้วยการเอาแบตเตอรี่เก่ามาใช้จนกว่ามันจะสูญประสิทธิภาพจริงๆ และถ้ามีเรื่องส่วนลดเป็นตัวล่อ มันจะทำให้ลูกค้ายินยอมได้ง่ายขึ้น เช่นสมมติซื้อรถแบตเตอรี่ Rebuild ที่เหลือประสิทธิภาพ 90% แปลว่า จากเดิมชาร์จแล้ววิ่งได้ไกล 400 กิโลเมตร ก็จะเหลือ 360 กิโลเมตร ถ้าแลกกับราคารถที่ถูกลงเป็นแสน ผมว่าหลายคนยอม
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เราไม่รู้ เช่น ปลายทาง เมื่อแบตเตอรี่สูญประสิทธิภาพหมดสิ้น เราจะมีวิธีกำจัดอย่างไร จะ Purify สารเคมีต่างๆอย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นี่คือสิ่งที่ยังไม่ได้อยู่ในการสัมนาครั้งนี้ แต่ไม่ช้าก็เร็ว Toyota จะต้องนำเสนอวิธีการจัดการ Battery Waste Management ต่อมหาชน ก่อนที่รถในค่ายเกิน 50% จะกลายเป็นรถถ่าน เพื่อความโปร่งใส
ท้ายสุด Toyota จะนำโลกการขับเคลื่อนจากอนาคตมาทดลองใช้ในชีวิตจริง ในมหกรรมกีฬา Olympic/Paralympic 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ หากคุณติดตามจากทางบ้าน ก็อย่าลืมดู Channel ต่างๆของ Toyota รวมถึงกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นบททดสอบเสมือนจริงด่านแรกของเทคโนโลยีหลากหลายจาก Toyota ไม่ว่าจะเป็น ระบบขับเคลื่อน พลัง FCEV หรือ BEV ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ AI อย่าง Yui หรือแม้กระทั่งยานพาหนะระดับ Micro อย่าง i-Road
อย่างไรก็ตาม การเปิดบ้าน แสดงแนวคิดและนวัตกรรมของ Toyota ในครั้งนี้ อาจทำให้ใครก็ตามที่ทนอ่านบทความนี้จบ มองเห็นแนวโน้มของอนาคตที่กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงวิธีที่คุณมองรถไปจากเมื่อ 20-30 ปีก่อนราวฟ้ากับเหว
แต่นี่ก็คือสัจธรรมในโลกธุรกิจ ที่เปรียบเสมือนนักเล่นกระดานโต้คลื่น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota เอง แม้จะมีเงินและพลังสมองไม่น้อย ก็ต้องพยายามทำตัวเป็นนักโต้คลื่น ที่อยู่เหนือคลื่นตลอดเวลา หากไม่ขยับปรับวิธีดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันนี้ อีกไม่นานพวกเขาอาจกลายเป็นองค์ใต้น้ำ ตกจากกระดาน หายไปจากสายตาของลูกค้าที่กำลังส่องกล้องมองชื่นชมอยู่บนฝั่ง
ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ก็อย่าได้ชะล่าใจ ผลกระทบที่มันเกิดจากพวกเรา ท้ายสุดมันก็จะเป็นบูมเมอแรงที่ไปวนผ่านบริษัทรถแล้วกลับมาหาเรา อนาคตกำลังจะมาแล้ว แต่คุณ จะยังอยู่กับอดีตที่คุณชื่นชอบได้อีกนานแค่ไหนกัน
พันธุ์สวัสดิ์…รายงาน
Toyota… ถ่ายภาพ
ทีมข่าว Headlightmag จาก กรุงโตเกียว
ขอขอบพระคุณ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย
สำหรับการเชิญเข้าร่วมรับฟังสัมนา ทดลองใช้เทคโนโลยี และจัดการเดินทางทั้งหมดอย่างเรียบร้อย