บ่ายวันเสาร์ วันหนึ่ง ปลายเดือนธันวาคม 2018
หลังงาน Motor Expo ในปีนั้น สิ้นสุดลง มีกระแสข่าว แพร่สะพัดออกไปในช่วงเวลานั้น ว่า GM หรือ General Motors (Thailand) มีแผนจะเปิดตัว SUV รุ่นใหม่ ในเมืองไทย ภายในปี 2019 นี้ อยางน้อย 1 รุ่น เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปริศนา ในสายตาของบรรดาสื่อมวลชนสายยานยนต์ และผู้คนทั่วไปที่ติดตามขาวสารในแวดวงนี้อย่างยิ่ง
ไม่แปลกหรอกครับ ชื่อของ Chevrolet ห่างหายจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในตลาดบ้านเรา ไปนานมาก และพวกเขาควรมีของใหม่ๆ มาช่วยยืนยันการันตี ว่าจะยังคงทำตลาดในบ้านเราอยู่ต่อไป…ในตอนนั้น
สื่อหลายสำนัก ก็เดากันไปคนละทิศคนละทาง บ้างก็เดาว่าเป็น Chevrolet Blazer รุ่นใหม่ ซึ่งเพิ่งเผยโฉมในสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นพอดี ซึ่งในความจริงคือ เป็นไปไม่ได้ที่จะมาผลิตขายในไทย เพราะ SUV ทรงโค้งมนรุ่นนั้น ถูกพัฒนามาให้ทำตลาดเฉพาะประเทศที่ขับรถด้วยพวงมาลัยฝั่งซ้าย เท่านั้น
บ้างก็เดาว่า เป็น Chevrolet Equinox ตามที่ผมเคยนำเสนอไปในบทความสรุปรถใหม่ เมื่อ 2 ปีก่อนหน้า ซึ่ง ณ ตอนนั้น โปรเจกต์นี้ ยังลูกผีลูกคน ท้ายสุด พวกเขาก็ทำเวอร์ชันพวงมาลัยขวา ส่งขายตลาด Australia และ New Zealand ในชื่อ Holden Equinox โดยไม่ขยายมาตั้งสายการประกอบในเมืองไทยให้เปลืองงบประมาณและเสียเวลา ด้วยเหตุผลที่ว่า ทำราคาขายในบ้านเราไม่ได้ มันแพงเกินไป
นิสัยของ GM อย่างหนึ่งที่คุณควรรู้ก็คือ เวลาพวกเขาคิดจะทำรถยนต์สักรุ่น GM จะพัฒนาแต่รุ่นพวงมาลัยซ้ายเป็นหลัก และไม่ได้คิดวางแผนเผื่อรองรับตลาดพวงมาลัยขวาไว้ล่วงหน้าก่อนเลย ถ้ารถรุ่นนั้นไม่ได้ถูกเตรียมการให้นำไปจำหน่ายในตลาดพวงมาลัยขวา มาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ซึ่งนี่คือวิธีคิดที่แตกต่างจากบรรดาบริษัทรถยนต์ฝั่งยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้น แม้พวกเขาทำรถยนต์ออกมาหลายรุ่นหลายแบรนด์มาก แต่จำนวนทางเลือกที่มีอยู่ สำหรับตลาดพวงมาลัยขวาอย่างเมืองไทย และอีก 16 ประเทศที่เหลือ แทบไม่ค่อยมี!
หลายคนคาดเดากันไปต่างๆ นาๆ จนกระทั่ง บายวันเสาร์วันนั้น มีคำถามเข้ามายังรายการวิทยุ DR!VE By J!MMY ณ วันที่เรายังอยู่ที่คลื่นเก่า FM 105 ณ. RCA (ตอนนี้ ย้ายไป FM 98.0 EDS บ่าย 2 วันเสาร์แล้ว) ว่า GM มีแผนจะเปิดตัว SUV รุ่นใดกันแน่ ตอนนั้นผมก็คิดไม่ออก พยามนึกอยู่ตั้งนาน จนกระทั่ง มีคุณผู้อ่านท่านหนึ่ง ส่งเบาะแสมาในระหว่างที่เรากำลังจัดรายการกันสดๆ ผ่านทาง Facebook Live ว่า ใช่รถคันนี้หรือเปล่า?
พอเปิดรูปดู มันคือ SUV หน้าตาเหลี่ยมสัน ทันสมัย แปะตรา Chevrolet Captiva แต่ไปเปิดตัวบนแท่นหมุน ในงานแสดงรถยนต์เล็กๆ อย่าง Bogota Motor Show ที่ประเทศ Colombo เป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2018
ผมถึงกับร้องลั่น…รถคันนี้หรือเปล่า ที่จะถูกส่งมาขายในบ้านเรา?
พวกเขาตัดสินใจ นำรถยนต์ Baojun 530 ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัทร่วมทุนของตนในเมืองจีน คือ SGMW (SAIC – GM – Wulling) ซึ่งประกอบจากโรงงานของพันธมิตรชาวมังกร ที่ Indonesia เข้ามาขายในเมืองไทย โดยสวมแบรนด์ดั้งเดิมที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดี นั่นคือ Chevrolet CAPTIVA ใหม่ นั่นเอง
ใช่ เราอ่านเกมถูก ปลายสายโทรศัพท์ ซึ่งก็คือ คุณมุก PR ของ GM Thailand ตอนนั้น ไม่ได้ยืนยันเต็มปากเต็มคำ แต่บอกแค่ว่า “พี่ก็รู้แล้วนี่” ผมถึงกับอึ้ง และได้แต่บอกต่อไปว่า…”จะเอา รถคันนี้ มาขายในเมืองไทยหนะ คิดดีแล้วเหรอ? นี่คือ รถจีน Baojun 530 ไม่ใช่เหรอ? แล้วคนไทยจะยอมรับได้เหรอ กับคุณภาพของรถจากเมืองจีน?….. ”
ฯลฯ อีกมากมาย
สารพัดคำถาม และความเป็นห่วงที่ถาโถมเข้าใส่ ทำให้ มุก ตัดสินใจ คุยกับคุณ Sean นายฝรั่งของเขา และทีม GM Thailand จนได้ข้อสรุปว่า พวกเขาจะจัดทัวร์ทริปพิเศษ Exclusive และ ลับสุดยอด ให้กับทีม Headlightmag เพื่อจะ “รับฟัง” ความคิดเห็นของเรา หลังจากได้ยลโฉมรถคันจริง ของ SUV รุ่นใหม่ ก่อนใครในประเทศนี้…
20 มกราคม 2019
บรรยากาศของ ศูนย์การผลิต ของ General Motors (Thailand) ที่นิคมอุตสาหกรรม Eastern Seaboard อำเภอ ปลวกแดง จังหวัดระยอง ยามเช้าวันอาทิตย์นั้น ช่างผิดแผกไปจาก เดือนมิถุนายน ปี 2007 อันเป็นครั้งที่ 2 และถือเป็นครั้งหลังสุดที่ผมได้มาเยือนโรงงานแห่งนี้ เมื่อครั้งที่ GM เปิดตัว Chevrolet Captiva รุ่นแรก C100 อย่างชัดเจน
ปกติแล้ว ต่อให้เป็นวันอาทิตย์ สายการผลิตก็ยังคงเดินเครื่องต่อไป ผู้คนในโรงงานเดินกันขวักไขว่ บ้างประชุมงาน บ้างออกมาพักข้างนอก หรือไม่ก็ยืนต่อคิวซื้ออาหารมื้อเที่ยง อยู่ในโรงอาหาร Canteen ขนาดใหญ่ ที่เคยถูกปรับปรุงเรื่องเสียงก้องดัง ด้วยงบประมาณถึง 2 ล้านบาท ในยุคสมัยที่โรงงานเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ
ทว่า วันนั้น สิ่งที่ผมเห็นกับสายตาตัวเองคือ โรงงาน เงียบเหงามาก เพราะวันนั้น สายการผลิตถูกปิด คนทำงานในวันนั้น มีเพียงแค่จำนวนนับนิ้วได้ ด้วยฝ่ามือเพียงข้างเดียว บรรยากาศมันช่างวังเวงเหลือเกิน ช่วยไม่ได้ครับ ในเมื่อกำลังการผลิตหลักแสนคัน ถูกใช้ไปเพียงแค่ 1 ใน 3 ของศักยภาพทั้งหมดที่แท้จริง ย่อมนำมาซึ่งความหวั่นใจอยู่ไม่น้อย
ผม พี่แพน และน้องหมู เราต่างสวมแว่นตา Safety ดู Video สาธิตด้านความปลอดภัย ตามกฎของทางโรงงาน ที่เข้มงวดมาก ถึงขนาดว่า ห้ามใส่กางเกงยีนส์ เข้าพื้นที่โรงงาน เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว เราก็พากันเดินผ่านประตูรั้ว ตรงไปตามทาง ไม่ไกลจากประตูทางเข้านัก เราข้ามถนนหลัก เลี้ยวขวา และเดินไปยังพื้นที่ปิดแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อเปิดประตูเลื่อนแบบโกดังขนาดยักษ์หนักอึ้งเข้าไป เราก็พบ รถคันหนึ่ง จอดสงบนิ่งอยู่ในนั้น……คันเดียว ตามลำพัง
เรามีโอกาสได้ขลุกอยู่กับ SUV สีดำคันนั้น ในสภาพ Prototype พวงมาลัยซ้าย อยู่นานเลยทีเดียวหละ ทั้งเปิดประตู ขึ้นไปนั่งทั้งเบาะหน้า เบาะแถวกลาง พยายามยัดร่างของตัวผมเอง กับพี่แพน ขึ้นไปนั่งบนเบาะแถว 3 ซึ่งเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเอาเรื่อง เปิดฝากระโปรงหน้า ดูเครื่องยนต์ ถกเถียงกันเรื่องการยกแผงพลาสติกชิ้นใหญ่ออก ซึ่งสุดท้าย ก็พบว่า ทำไม่ได้ เนื่องจากมันเป็นจุดติดตั้ง เสาเหล็กค้ำยันฝากระโปรงหน้า รวมทั้งชุดเครื่องเสียงของเวอร์ชันขายจริงในไทย ที่จะแตกต่างจากรถคันที่เราเห็นนี้คนละเรื่อง ฯลฯ ตลอดเวลาครึ่งชั่วโมงตรงนั้น เรา 3 คน พูดคุยแสดงความเห็นเกี่ยวกับ SUV คันนั้น อย่างตรงไปตรงมา อย่างหนักหน่วง คนของ GM Thailand ก็รับฟังเป็นอย่างดี
เราเดินออกมาจากโรงงานในวันนั้น มองไปรอบๆตัว ได้แต่ถอนหายใจ ด้วยความรู้สึกสังหรณ์อยู่ไม่น้อยว่า เวลาแห่งการลาจากเมืองไทย ของ GM ดูช่างใกล้ความจริงเข้าไปทุกที…และในวันนั้น อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมจะได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานแห่งนี้ ในฐานะ “ศูนย์การผลิตของ GM Thailand”
เพราะก่อนหน้านี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวลอยเข้าหูมาเรื่อยๆ ถึงความพยายามในการขายโรงงาน GM ในเมืองไทย มาตลอด มีตั้งแต่ Volkswagen ที่เคยมาเยี่ยมชมโรงงาน ไปจนถึง เสนอขายให้กับ SAIC บริษัทแม่ของ MG แต่ท้ายที่สุด การเจรจาจบลงที่ SAIC เลือกจะไปซื้อที่ดิน สร้างโรงงานของตนเองดีกว่า (ซึ่งในภายหลัง ได้รับการยืนยันจาก “หลายฝ่าย หลายคน ทั้งใน และนอก GM ว่าเป็นเรื่องจริง) ต่อให้ GM จะใช้วิธีจัดการกับพนักงานที่นำข่าวนี้ไปลือกันในองค์กร ในช่วงนั้น ด้วยการ คาดโทษและไล่ออก ก็ตาม แต่ความจริง มันก็เห็นๆกันอยู่ โรงงานแทบร้าง ประกอบรถกันน้อยมาก มีเพียงแค่ยอดส่งออกจาก Australia / New Zealand และตะวันออกกลาง เท่านั้นที่ยังคงหล่อเลี้ยงโรงงาน ระยอง ให้อยู่รอดมาได้ ส่วนยอดขายในประเทศไทยนั้น แทบไม่ต้องพูดถึง Chevy ทุกรุ่น ทำตัวเลขออกมาอยู่แถวท้ายตาราง ในทุกกลุ่มตลาด แถมยังมีตัวเลขแค่หลักร้อยกว่าคันต่อเดือน ทางเดียวที่จะรอด ก็คือ สายป่านต้องยาวเท่านั้น แต่ GM ไม่ได้มีเงินเยอะมากขนาดนั้น
ผมรู้อยู่เต็มอกมานานแล้วละ ว่าท้ายสุด พวกเขาจะต้องยกเลิกการทำตลาดรถยนต์ในเมืองไทยเข้าสักวันหนึ่ง…แม้กระทั่ง หลังการเปิดตัวของ Chevrolet Captiva รุ่นใหม่ในเมืองไทย ความรู้สึกของผมก็ยังคงมีอยู่ เหมือนรู้ชัดว่า มันกำลังจะเกิดขึ้น…
เพียงแต่ ผมคิดว่ามันน่าจะเกิดสักปี 2025 และเชื่อแน่ว่า ไม่มีใครหรอกจะคาดคิด ว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดุจสายฟ้าแลบ เช่นนี้….
1 ปีผ่านไป…
17 กุมภาพันธ์ 2020
“พี่จิมๆ……..”
เสียงโทรศัพท์ ปลุกผมยามเช้า เป็นเสียงคุ้นเคยสำหรับผม
เจ้าเติ้งหนะเอง…แต่ทำไมเสียงมันฟังดูตื่นๆ Alert พิกล
“…………..ดูข่าวเร็วๆๆๆๆ……………Chevrolet ประกาศเลิกขายรถในไทยแล้วนะ!”
“หาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาา!”
ความง่วงมลายหายไปในฉับพลัน ผมกระโดดพรวดพราดลุกจากเตียง มานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เพื่อมารับรู้ข่าวร้ายที่สุดของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เมืองไทย ในปีที่โรคระบบทางเดินหายใจจากเชื้อ Coronavirus ในชื่อ Covid-19 กำลังระบาดหนักไปทั่วทุกมุมโลก และสร้างความชิบหายวายป่วงไว้กับผู้คนจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเรา
GM ประกาศถอนการลงทุนในไทย เลิกทำตลาดรถยนต์ Chevrolet ในประเทศไทย รวมทั้ง รถยนต์ Holden ใน Australia และ New Zealand รวมทั้งขายกิจการ “ศูนย์การผลิตรถยนต์ในจังหวัดระยอง” ให้กับกลุ่ม Great Wall จากเมืองจีน ซึ่งเตรียมจะเข้ามาเปิดตลาดรถยนต์ในบ้านเราปลายปี 2020 นี้
เท่ากับว่า GM จะเลิกผลิต รถยนต์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 และเลิกจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้ง เลิกส่งออกรถยนต์ จากบ้านเรา ตั้งแต่ 1 มกราคม 2021 เป็นต้นไป คงเหลือไว้เพียงแค่ งานบริการหลังการขาย ให้กับรถยนต์ที่จำหน่ายไปแล้ว เท่านั้น ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ เท่ากับว่า GM ยุติการทำตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา ในทุกประเทศลงอย่างสมบูรณ์แล้ว ในปี 2020 นี้ เหตุผลโดยสรุปก็คือ…
– ขาดทุนสะสมมานาน ในแทบทุกตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา ยอดขายไม่ดีเท่าที่ตั้งเป้าหมายไว้
– การแข่งขันในระดับโลกรุนแรงมาก GM ต้องการสำรองเงินไว้ทำรถยนต์ EV ขายในสหรัฐฯ และจีน
– ภาษีนำเข้ารถในไทยแพงมาก ถ้าไม่มีโรงงานในประเทศ ก็ทำรถขายในราคาแข่งกับชาวบ้านเขาไม่ได้
– ตลาด Australia และ New Zealand ยอดขายก็แย่ ขาดทุนหนักขึ้น
– Great Wall Motor จากจีน อยากจะสยายปีก มาขอซื้อโรงงาน GM ระยองพอดี ไหนๆก็ไหนๆ ขายทิ้งเลยแล้วกัน
(คำประกาศอย่างเป็นทางการ Click Here)
(ยอดขายรถยนต์ Chevrolet ในไทย ปี 2019 Click Here)
การประกาศดังกล่าว เปรียบเสมือน คำสั่งฟ้าผ่า ทำให้ พนักงานของ GM Thailand และ Chevrolet ทั้งฝั่งสำนักงาน และ โรงงานที่ ระยอง รวมไปถึง บรรดาดีลเลอร์ผู้จำหน่ายทั่วประเทศ ผู้ผลิตชิ้นส่วน (Supplier) และผู้บริโภคชาวไทยทุกคน ต่าง Shock ตื่นตระหนกและตกใจกับข่าวที่ออกมา เพราะก่อนหน้านี้ แทบไม่มีสัญญาณบ่งชี้ใดๆ ว่า GM ที่ Detroit จะสั่ง ถอดปลั๊ก กดสวิตช์ปิดเครื่อง ถอนตัวบินกลับสหรัฐฯ รวดเร็วดุจสายฟ้าแลบกันขนาดนี้
แน่นอนว่า พนักงานทั้งหมด จะถูกเลิกจ้าง ตามกำหนดเวลา ประมาณ 3 ระลอก โดย กลุ่มที่ 2 จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 และ กลุ่มสุดท้าย จะอยู่ในช่วงปลายปีนี้ โดยจะเหลือไว้แค่ กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับ ศูนย์บริการ และอะไหล่ เพื่อบริการลูกค้า Chevrolet ที่เหลืออยู่ ไปอีก อย่างน้อย ประมาณ 10 ปี
ไม่เพียงเท่านั้น บรรดารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีการเตรียมนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ก็ถูกยกเลิกทั้งหมด ตั้งแต่ SUV รุ่น Equinox ,Baojun 510 ไปจนถึง Colorado และ Trailblazer ทั้งรุ่น Minorchange รอบสุดท้าย ที่จะต้องเปิดตัวในไทย ปี 2020 นี้ และรุ่นใหม่ Full Modelchange ที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เพื่อออกสู่ตลาด ปี 2023 ซึ่งรวมถึงรถกระบะจากแบรนด์อื่นที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมงานกันอยู่ด้วย แม้กระทั่ง Chevrolet Silverado Full Size Truck ที่ ทาง GM Thailand ใช้กำลังภายใน เตรียมสั่งนำเข้ามาเปิดตัว ในงาน Bangkok International Motor Show ซึ่งเดิมที มีกำหนดจัดงานช่วงปลายเดือนมีนาคม 2020 (หากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด Covid19) ก็ยังต้องถูกยกเลิก และต้องส่งคืนรถกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ทั้งที่รถล็อตแรก กำลังลงเรือใกล้เทียบท่าเรือแหลมฉบังแล้ว!
เพียง 2 วันหลังจากนั้น 19 กุมภาพันธ์ 2020 GM Thailand ประกาศ โละสต็อก ลดราคารถยนต์ทุกรุ่นที่ยังค้างอยู่ตามดีลเลอร์ต่างๆ ครั้งมโหฬาร โดยเฉพาะ Captiva ซึ่งมีอยู่อีกประมาณ 2,000 คัน ก็อยู่ในข่ายถูกสั่งลดราคาด้วย โดยเฉพาะรุ่น LS 5 ที่นั่ง ซึ่งหั่นราคาลงมาฮวบฮาบ ถึง 500,000 บาท เหลือเพียง 499,000 บาท!!!!!
แน่นอนว่า ราคาที่ประกาศออกมา กลายเป็นเรื่อง Talk of the town ไปทันที นอกจากผู้คนจะแห่เข้ามาดูข่าวสารการลดราคาครั้งนี้ ใน Headlightmag.com ของเรา จน ยอดผู้ชม พุ่งทะลุทุกสถิติเดิม คือ 200,000 กว่า UIP ตลอด 2-3 วันในช่วงนั้น ถึงขั้น Server ล่มแล้วล่มเล่าเฝ้าแต่ล่ม กันแล้ว ผู้คนต่างพากันแห่ไปที่โชว์รูม Chevrolet ทั้ง 86 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อไปดูตัวรถคันจริง และแย่งชิงสิทธิ์การจับจองเป็นเจ้าของกันอย่างล้นหลาม ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้รุ่น LS ขายหมดเกลี้ยง ภายใน 1-2 วัน เท่านั้น ส่วนรุ่นอื่นๆ ยังคงมีเหลือค้างในสต็อกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมากๆแล้ว แค่ระดับหลักสิบคันเท่านั้น จนถึงตอนนี้ ส่วนลูกค้าที่อุดหนุน Captiva ใหม่ไปก่อนหน้าการประกาศลดราคาบ้าดีเดือด ต่างก็โกรธเกรี้ยว ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ให้ GM ชดเชยส่วนต่างที่เสียไปจากการหั่นราคาเพื่อล้างสต็อกในครั้งนี้
คำถามที่หลายคนคงยังสงสัยก็คือ Captiva ใหม่ มันมีอะไรดีพอให้ผู้คนแห่แหนกันไปสั่งจองมากขนาดนี้เหรอ? ทั้งที่ก่อนการลดราคา แทบไม่มีใครเหลียวแลมันเลย แล้วสมรรถนะของมัน ดีพอจะต่อกรกับ คู่แข่งร่วมพิกัดเดียวกันได้ไหวหรือเปล่า? ความคุ้มค่าละ? ถ้า GM จะเลิกทำตลาด Chevrolet ในไทย แล้วยังจะหาอะไหล่กับช่างซ่อมได้อยู่หรือเปล่า?
เพื่อไม่ให้มีเรื่องราวค้างคาใดๆ ดังนั้น ทุกความคาใจ ในรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นสุดท้ายของ Chevrolet สำหรับตลาดเมืองไทย ผมอยากจะเล่าทุกสิ่งทุกอย่าง ในมุมที่ผมได้เคยสัมผัส ลองขับ และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน สักครั้ง ก่อนที่พวกเขาจะทะยอยเก็บของ และบินกลับสหรัฐอเมริกาไป ในอีกไม่นานนี้ ทุกคำตอบ ในทุกประเด็น รอให้คุณได้ค้นพบอยู่แล้วในบทความข้างล่างนี้
แต่ก่อนอื่น ไหนๆก็ไหนๆ ในเมื่อนี่คือ บทความรีวิวรถยนต์ Chevrolet รุ่นสุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมก็คงต้องขอทิ้งทวนด้วยการฉายหนังซ้ำ ย้อนอดีตกลับไปยังจุดกำเนิดต้นเรื่องถึงความเป็นมาของ Chevrolet Captiva ในเวอร์ชันปรับปรุงและแก้ไขจากบทความในสมัยก่อนๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เท่าที่จำเป็น เพื่อเก็บไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ว่า ครั้งหนึ่ง GM เคยนำรถยนต์รุ่นนี้ เข้ามาขายในบ้านเรา และทุกอย่างก็จบลงในแบบที่ทุกคนได้เห็น
History
จุดกำเนิดของ Captiva เริ่มต้นขึ้น เมื่อปี 1997 วิกฤติการเงิน ต้มยำกุ้ง Crisis ในภูมิภาคเอเซีย รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้หลายบริษัท ในเกาหลีใต้ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง Daewoo Motor เอง ก็ต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และจำเป็นต้องมีใครสักคนเข้ามาช่วยซื้อกิจการ เพื่อนำเงินลงทุนมาต่อยอด ดำเนินธุรกิจต่อไป
ย่างเข้าต้นทศวรรษ 2000 ขณะนั้น General Motors แห่งสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นเจรจากับ Daewoo Motor ในเกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2001 และตกลงเข้าซื้อกิจการรถยนต์ของ Daewoo ในลักษณะ ควบรวม Takeover
(จากเดิมที่ทั้งคู่เคยแบบ Joint-Venture) เมื่อ 21 กันยายน 2001 (การซื้อขายกิจการเสร็จสิ้น เมื่อ 30 เมษายน 2002) จนเกิดเป็นบริษัทใหม่ ชื่อ บริษัท GM Daewoo Auto Technology จำกัด หรือ GMDAT (ซึ่งปัจจุบัน ก็คือ GM Korea นั่นเอง)
เหตุผลของการเข้าซื้อกิจการก็คือ GM คิดอยากจะบุกตลาดรถยนต์ นอกเขตแดนอเมริกาเหนือ อย่างเต็มที่มากขึ้น แต่ถ้าจะพัฒนารถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ก็จะเจอปัญหาเรื่องต้นทุน อันเกิดจากค่าพัฒนารถ ค่อนข้างแพง แถมยังเจอปัญหาค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนด้านสวัสดิการสูง อันเนื่องมาจากอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานยานยนต์ UAW (United Auto Workers) ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของ GM มาช้านาน ทางออกที่พวกเขาทำได้ คือ หาแหล่งพัฒนารถยนต์ ที่มีต้นทุนถูกกว่า
ขณะเดียวกัน Daewoo ยังมีศักยภาพอยู่ ทั้งการเป็น ฐานผลิตต้นทุนต่ำ และมีศูนย์วิจัยพัฒนาของตนเอง ที่เมือง Bupyeong-gu ใน Incheon ถ้าจะต้องแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งด้านการเงิน และแรงงาน ก็ต้องหาทางพัฒนารถยนต์ที่สามารถจะส่งออกไปทำตลาดได้ทั่วโลก โดยอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุนการพัฒนารถยนต์ในเกาหลี ที่ต่ำกว่าคู่แข่งเข้ามาช่วย การเข้าซื้อกิจการของ Daewoo ในตอนนั้น ทำให้ GM สามารถพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ สำหรับบุกตลาดทั่วโลก ด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก ผลผลิตที่ออกมา ตลอดช่วงทศวรรษ 2000 นั้น มีทั้ง Daewoo Lacetti (Chevrolet Optra และ Chevrolet Cruze) , Daewoo Kalos / Daewoo Gentra (Chevrolet Aveo ,Chevrolet Lova , Pontiac G3 , Holden Barina) รวมทั้งรถเก๋งไซส์ใหญ่ Daewoo Tosca (Chevrolet Epica , Holden Epica)
อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดกลุ่ม Compact SUV (C-SUV) ในช่วงปี 1993 – 2003 เริ่มทำให้ GM คิดว่า ต้องทำรถยนต์สักรุ่นเพื่อส่งเข้าไปแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก กับเขาด้วย ดังนั้น GM จึงมอบหมายให้ GMDAT ที่ Incheon เริ่มพัฒนา C-SUV ของตนเองขึ้นมา ขึ้นบนพื้นตัวถังชื่อ Theta Platform ภายใต้รหัสโครงการ C100
GM เผยโฉม เวอร์ชันต้นแบบของ Captiva ออกสู่สาวตาชาวโลกครั้งแรก ในชื่อ Chevrolet S3X ในงาน Paris Auto Salon เดือนกันยายน ปี 2004 เพื่อบ่งบอกว่า ตอนนี้ GM กำลังเตรียมพร้อมจะส่ง C-SUV รุ่นแรกของพวกเขา ออกสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง ในอีก 2 ปีครึ่ง ให้หลัง
หลังจากหยั่งกระแส ให้ลูกค้ารอคอยมานานพอสมควร 25 มกราคม 2006 GM เผยโฉม เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ S3X โดยใช้ชื่อ Chevrolet Captiva ก่อนจะนำไปอวดโฉมสู่สายตาสาธารณะชนเป็นครั้งแรกในโลก ณ งาน Geneva Motor Show เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2006 ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มเปิดตัวรถยนต์รุ่นนี้ ในเวอร์ชันจำหน่ายจริง ครั้งแรก ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในชื่อ Daewoo Winstorm (และใช้ชื่อนี้จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2010 ซึ่งเป็นปีที่ GM ตัดสินใจยุติแบรนด์ Daewoo ในเกาหลีใต้ เปลี่ยนมาเป็น Chevrolet เหมือนสากลโลก)
ข้ามมายังดินแดน Down Under บ้าง GM-Holden เปิดตัว Holden Captiva เวอร์ชัน Australia / New Zealand เมื่อ 12 กันยายน 2006 และเริ่มนำเข้ารถสำเร็จรูปทั้งคัน จากโรงงานในเกาหลีใต้ เข้าไปจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2006 ก่อนที่ จะมีการเปลี่ยนมานำเข้า Captiva จากโรงงานในระยอง เข้าไปขายเป็นการทดแทนชั่วคราว เมื่อเดือนมิถุนายน 2007 จนถึงปลายปี 2008
เวอร์ชันไทย ของ Chevrolet Captiva เปิดตัวครั้งแรกในงาน Bangkok International Motor Show เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2007 แต่ต้องรออีก 2 เดือนให้หลัง สายการผลิต ที่โรงงานในจังหวัดระยอง จึงจะเริ่มเดินเครื่องเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2007 และเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าได้ในเดือนกรกฎาคม 2007
มิติตัวถังยาว 4,635 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,720 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,705 มิลลิเมตร ช่วงแรกที่ทำตลาด เวอร์ชันไทย มีขุมพลังให้เลือก 2 ขนาด คือ เครื่องยนต์ รหัส Family II เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,405 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 87.5 x 100 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.6 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ 136 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม.ที่ 2,200 รอบ/นาที
และเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83 x 92 มิลลิเมตร กำลังอัด 17.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Direct Injection ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิคส์ ผ่านรางแรงดันสูง Common-Rail (VCDi) พ่วง Turbocharger แบบแปรผันครีบ 150 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที ทั้ง 2 ขุมพลัง มีให้เลือกทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตโนมัติ AWD ถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ลูกเดียวกัน (ในบางตลาด เครื่องยนต์เบนซิน Family II จะมีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ)
ส่วนตลาด Australia / New Zealand จะยังไม่มีเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร แต่มีขุมพลังพิเศษผลิตโดย Holden โรงงานในบ้านตัวเอง เป็นเครื่องยนต์ Alloytech เบนซิน V6 สูบ ทำมุม 60 องศา DOHC 24 วาล์ว 3.2 ลิตร 3,195 ซีซี กำลังอัด 10.3 : 1 หัวฉีด Sequential Fuel Injection พร้อมระบบแปรผันหัวแคมชาฟต์ ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย และระบบแปรผันท่อร่วมไอดี (Variable Intake Manifold) 227 แรงม้า (HP) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 297 นิวตันเมตร (30.26 กก.-ม.) ที่ 3,200 รอบ/นาที พ่วงเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ AWD
พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลัง เป็นแบบอิสระ Multi-Link 4 จุดยึด ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ พร้อม ABS , EBD ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
โรงงานที่ผลิต Captiva รุ่นแรก นั้น มีด้วยกัน 6 โรงงาน ทั้งในโรงงาน Bupyeong-gu เมือง Incheon เกาหลีใต้ โรงงาน Ust-Kamenogorsk ใน คาซัคสถาน โรงงาน Saint Petersburg ในรัสเซีย โรงงาน Asaka ที่ Uzbekistan (ปัจจุบัน ปิดแล้ว) และโรงงาน Hanoi ใน Vietnam และโรงงานที่ระยอง ในประเทศไทย
รุ่นปรับโฉม Minorchange ครั้งที่ 1 (C140) เผยโฉมครั้งแรกในโลก พร้อมกับญาติพี่น้องจาก GM Korea ทั้ง Chevrolet Orlando รุ่นแรก , Chevrolet Aveo (Sonic) 5 ประตู และ Chevrolet Cruze 5 ประตู ณ งาน Paris Motor Show เมื่อ 30 กันยายน 2010 เป็นการเปิดตัว สำหรับตลาดยุโรป ก่อน
ตามด้วยการเปิดตัวในตลาด Australia/New Zealand ด้วยชื่อ Holden Captiva-7 Series-II เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2011 มาพร้อมเปลือกกันชนหน้าออกแบบขึ้นใหม่เป็นพิเศษสำหรับแบรนด์ Holden โดยเฉพาะ
ต่อเนื่องกันด้วยการเปิดตัวในตลาดเกาหลีใต้ เมื่อ 5 เมษายน 2011 ก่อนส่งขึ้นโชว์รูม วันที่ 15 เมษายน 2011 คราวนี้ GM Korea ตัดสินใจยุติการใช้ชื่อ Daewoo Winstorm แล้วเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Chevrolet Captiva เหมือนตลาดโลก เพราะพวกเขารับรู้ดีว่า Winstorm มีปัญหาในเกาหลีใต้ มากเอาเรื่อง ถึงขั้นที่ Ankush Arora, Vice president ของ GM Korea ด้านการขาย การตลาด และบริการหลังการขาย ณ ตอนนั้น ถึงกับกล่าวว่า “ก่อนอื่น นี่ไม่ใช่ Windstorm ทุก feedback จากลูกค้าที่เราได้รับจาก Windstorm ถูกนำมาปรับปรุงใน new Captiva ”
จากนั้น Shanghai GM (SAIC) ก็นำ Captiva Minorchange ไปขึ้นสายการผลิตเพื่อจำหน่ายในเมืองจีน โดยเปิดตัวในงาน AutoShanghai เมื่อ 19 เมษายน 2011 ก่อนจะตามด้วย การเปิดตัวเวอร์ชัน South Africa เมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 ไม่เพียงเท่านั้น GM Japan ยังประกาศเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2011 ว่าจะนำเข้า Captiva ไปจำหน่ายในญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคม 2011 อีกด้วย!
Captiva Minorchange มีการปรับปรุงหลักๆ คือ ชิ้นส่วนด้านหน้าทั้งหมด ถูกออกแบบขึ้นใหม่ โดยอิงกับ Chevrolet Aveo (Sonic) เปลี่ยนชุดไฟหน้า เปลือกกันชนหน้า กระจังหน้า ไฟตัดหมอกหน้า ฝากระโปรงหน้า กาบข้างคู่หน้า รวมทั้งชุดไฟท้าย LED แถมยังเปลี่ยนมาใช้ระบบเบรกมือแบบสวิตช์ ไฟฟ้า เพิ่มสารพัดตัวช่วยนอกเหนือจากระบบเบรก ABS กับ EBD ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC (Electronic Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Traction Control (TCS) ระบบ Brake Assist (BAS) รวมทั้งถุงลมนิรภัย มากถึง 6 ใบ และเข็มขัดนิรภัยลดแรงปะทะ-ดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter สำหรับเบาะคู่หน้าของทุกรุ่น
Captiva Minorchange มีขุมพลังหลัก ให้เลือก 3 ขนาด เริ่มด้วย เครื่องยนต์ ECOTEC เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.4 ลิตร 2,384 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 88 x 98 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.4 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบแปรผันวาล์ว DVVT 165 แรงม้า (HP) หรือ 167 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 230 นิวตันเมตร (23.43 กก.-ม.) ที่ 4,600 รอบ/นาที พ่วงเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ 6 จังหวะ 6T40 (เป็นขุมพลังหลัก มีจำหน่ายในทุกตลาด รวมทั้งจีนและญี่ปุ่น)
ตามด้วย เครื่องยนต์ ใหม่ ที่เพิ่มเข้ามาให้กับ Captiva เป็นครั้งแรก ในรหัส LS1 เบนซิน V6 สูบ ทำมุม 60 องศา DOHC 24 วาล์ว 3.0 ลิตร 2,997 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 89 x 80.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.7 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ SIDI (Spark Ignition Direct Injection) ระบบแปรผันวาล์ว DVVT 255 แรงม้า (HP) หรือ 258 แรงม้า (PS) ที่ 6,900 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 288 นิวตันเมตร (29.34 กก.-ม.) ที่ 6,800 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 6T40 (มีเฉพาะ ตลาด Europe Australia / New Zealand และกลุ่ม Arabia หรือตะวันออกกลาง)
ปิดท้ายด้วย เครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.2 ลิตร 2,231 ซีซี. กำลังอัด 16.3 : 1 เสื้อสูบเหล็กหล่อ ฝาสูบอะลูมีเนียม จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิคส์ ตามราง Common-Rail พ่วง Turbocharger 181 แรงม้า (HP) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 1,750 – 2,750 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 6T45 (มีใน ตลาด Europe , Australia / New Zealand) ทุกรุ่น ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ 4 ล้ออัตโนมัติ
ส่วนเวอร์ชันไทย Captiva Minorchange เริ่มขึ้นสายการผลิตที่โรงงานระยอง เมื่อ 6 มิถุนายน 2011 ส่วนการเปิดตัวมีขึ้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2011 ฝ่ายการตลาด สร้างสีสัน ด้วยการเลือกให้ คุณมอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และภรรยา หรือคุณเกม เป็น คู่พรีเซ็นเตอร์
จุดเด่นของการเปลี่ยนแปลงสำหรับเวอร์ชันไทย นอกจากเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ เพิ่มเบรกมือไฟฟ้า ฯลฯ แล้ว ยังมีการ Upgrade เครื่องยนต์ รุ่น เบนซิน เป็นแบบใหม่ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,384 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 88 x 98 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.4 : 1 หัวฉีด Multi-Point พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟท์ ทั้ง ฝั่งไอดี กับไอเสีย Double CVC (Continous Variable Camshaft) เพิ่มกำลังสูงสุด เป็น 168 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด สูงขึ้นเป็น 22.3 กก.-ม.ที่ 4,600 รอบ/นาที รองรับน้ำมัน Gasohol E85 รวมทั้งปรับปรุงช่วงล่าง ด้วยการเปลี่ยนมาใช้เหล็กกันโคลงขนาดใหญ่ขึ้น ปรับตั้งช็อกอัพและเปลี่ยน มาใช้สปริงชุดใหม่ รวมถึงการติดตั้งระบบลิงค์ไฮโดรลิกที่ช่วงล่างด้านหลังเพื่อลดแรงสั่นสะเทือน และเพิ่มระบบช่วงล่างยกตัวอัตโนมัติ (Self-Levelizer) ที่จะช่วยปรับระดับของช่วงล่างหน้า/หลัง ให้อยู่ในระนาบเดียวกัน ขณะบรรทุกหนัก
รุ่นเบนซิน 2.4 ลิตร ใหม่ ออกสู่ตลาดก่อน จากนั้น รุ่นเครื่องยนต์ Diesel Turbo ซึ่งเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ใหม่ ที่พัฒนาขึ้นสำหรับตลาดเมืองไทยโดยเฉพาะ ด้วยเหตุผลด้านภาษีสรรพสามิต เป็นเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86 x 86 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.3 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดระบบ Common Rail แรงดันในระบบสูงสุด 1,800 บาร์ แรงขึ้นจากเดิม เป็น 163 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 36.7 กก.-ม. ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,750 – 2,750 รอบ/นาที พร้อมเกียร์อัตโนมัติรุ่นใหม่ 6 จังหวะ รุ่น 6T45 ตามออกมาอย่างเงียบๆ โผล่ขึ้นโชว์รูมในช่วงเดือนตุลาคม แต่มีการปรากฎโฉมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน Motor Expo เดือนธันวาคม 2011 นั่นเอง
(รายละเอียด อ่านได้ ใน Full Review Click Here)
20 มกราคม 2014 GM Thailand เปิดตัว Chevrolet Captiva Limited Edition สีขาว Metallic White มาพร้อมกรอบไฟท้ายแบบใส (ไม่มีใน LTZ) ล้ออัลลอย 19 นิ้ว จอ TouchScreen 7 นิ้ว ควบคุมระบบนำทาง GPS Navigation System เครื่องปรับอากาศ และชุดเครื่องเสียง ตั้งราคา 1,489,000 บาท จำกัดจำนวน 600 คันเท่านั้น
21 มีนาคม 2014 GM Thailand เปิดตัว Chevrolet Captiva รุ่นปรับโฉม เพิ่มระบบเครื่องปรับอากาศแยกฝั่ง Dual Zone และระบบ Keyless Entry
รุ่นปรับโฉม Minorchange ครั้งที่ 2 เผยโฉมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 ก่อนจะถูกส่งขึ้นเปิดตัวครั้งแรกในงาน Dubai International Motor Show เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 ตามมาด้วยการเปิดตัวเวอร์ชันไทย ณ งาน Motor Expo เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2015 ก่อนที่จะตามด้วย Holden Captiva-7 สำหรับตลาด Australia/New Zealand เมื่อ 2 ธันวาคม 2015 หรืออีกไม่กี่วันหลังจากนั้น โดยในทุกตลาด ต่างยังคงใช้ขุมพลังเดิมของตนต่อไป
การปรับรายละเอียดครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ การเปลี่ยนกระจังหน้าแบบ Dual Port โดยปรับขนาดให้ช่องด้านบน เล็กลงและติดตราโบว์ไทคั่นตรงกลาง ส่วนช่องดักอากาศด้านล่างเปลี่ยนมาเป็นแบบหกเหลี่ยมขนาดใหญ่ขึ้น เปลี่ยนรายละเอียดของกันชนหน้าและกรอบไฟตัดหมอกออกแบบใหม่ให้ดูมีมิติมากขึ้น ไฟหน้าทรงใหม่ ติดตั้งไฟ Daytime Running Light มาให้ โดยในรุ่น LTZ จะได้ล้อขนาด 19 นิ้วลาย 5 ก้านเดิมแต่เปลี่ยนมาใช้สีเทา-เงินแบบทูโทน ส่วนไฟท้ายเปลี่ยนเป็นแบบ LED
ส่วนภายในห้องโดยสาร เปลี่ยนมาใช้พวงมาลัยทรงสปอร์ตแบบ 3 ก้าน พร้อมกับเปลี่ยนแผงควบคุมคอนโซลกลางใหม่ ย้ายปุ่มควบคุมอุปกรณ์ ให้สูงใกล้มือผู้ขับขี่มากขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มเครื่องเสียงที่มีระบบ MyLink รองรับการใช้งานแอปพลิเคชันทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto ผ่านสาย USB นอกจากนี้ รุ่น LTZ ยังเพิ่มระบบแจ้งเตือนสิ่งกีดขวางด้านหน้า, ระบบตรวจจับยานพาหนะในมุมอับสายตาของกระจกมองข้าง (Side Blind Zone Alert ) และระบบตรวจจับยานพาหนะที่แล่นผ่านด้านหลังรถ ขณะถอยออกจากมุมอับ RCTA (Rear Cross-Traffic Alert) ถือเป็รถยนต์ประกอบในประเทศไทย รุ่นแรกๆ ที่มีระบบนี้มาให้
ตลอดอายุตลาด ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2007 – 2014 GM Thailand ผลิตและจำหน่าย Captiva ไป 32,912 คัน แต่สถานการณ์หลังจากนั้น ก็ไม่สู้ดีนัก เพราะการแข่งขันในตลาด C-SUV ที่รุนแรง อีกทั้ง แบรนด์ Chevrolet ในไทย
ก็มีปัญหาด้านภาพลักษณ์ จากทั้งคุณภาพของตัวรถ การบริการหลังการขาย อย่างหนัก มีส่วนช่วยให้ยอดขาย ของ Captiva ร่วงลงเรื่อยๆ ปี 2014 ทำยอดขายได้ 2,530 คัน ปี 2015 ลดลงมาครึ่งหนึ่ง เหลือ 1,321 คัน ส่วนปี 2016 แม้จะมีการปรับโฉม Minorchange อีกรอบ แต่ด้วยเหลือแค่ 590 คัน ปี 2017 หล่นลงเหลือ 483 คัน ก่อนจะจบลงที่ปี 2018 ด้วยตัวเลขเพียง 123 คัน สรุปรวมแล้ว Captiva รุ่นแรก C100 & C140 มียอดขายสะสมในประเทศไทย ตลอด 11 ปี รวม 37,959 คัน
หลังจากอยู่ในโชว์รูมทั่วโลกมานาน ถึง 10 ปี GM เริ่มทะยอยยุติการทำตลาด Captiva รุ่นแรก ใน Australia / New Zealand เมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 จากนั้น ในอีก 1 ปีต่อมา GM จึงประกาศ ยุติการผลิต และการทำตลาด Chevrolet Captiva C100 ในทุกประเทศทั่วโลก ไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2018 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ GM ปิดโรงงานใน Asaka ที่ Uzbekistan รวมทั้ง ยุติการผลิตรถยนต์นั่งในประเทศไทย แต่ยังผลิตรถกระบะ Colorado และ SUV/PPV รุ่น Trailblazer ต่อมาจนถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2020
ตอนนั้น ผมคิดว่า GM ก็ช่างประหลาดเสียเหลือเกิน ในขณะที่ชาวบ้านชาวช่อง เขากำลังทำ C-SUV ออกมาขายกันอย่างเมามันโดยถ้วนหน้า แต่ GM กลับโยนผ้าขาวขึ้นไปบนสังเวียนกันดื้อๆเสียอย่างนั้น
แท้จริงแล้ว GM เขากำลังอยู่ในระหว่าง เตรียมความพร้อม ในการวางแผนหาทาง ทำเงิน จากผลผลิตที่มาจาก พันธมิตร ในเครือข่าย จากเมืองจีน แทนเกาหลีใต้อยู่นั่นเอง! และพวกเขา ก็คิดทำอะไรชุ่ยๆ ง่ายๆ ตามนิสัยเดิม ไม่มีผิด คือ นำเอาชื่อ Chevrolet Captiva ไปสวมให้กับ รถยนต์รุ่นใหม่ ที่เป็นผลผลิตจาก SGMW เพื่อหวังส่งไปทำตลาดทั่วโลก ทั้งที่ SUV รุ่นใหม่คันนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับ Captiva รุ่นแรกเลยด้วยประการทั้งปวง!
Development Story
Captiva ใหม่ที่คุณเห็นอยู่นี้ ถือกำเนิดขึ้น จากแนวคิดของทาง SGWM (SAIC – GM – Wulling Automobile Company Ltd.) บริษัทรถยนต์ ที่ถือกำเนิดขึ้นได้จากความร่วมมือกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ General Motors สำนักงานในจีน (GM China) , SAIC Motor Corporation Limited (SAIC : Shanghai Automotive Industries Corporation) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในจีน และ Liuzhou Wulling Motor Co.,Ltd. บริษัทผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก
(รายละเอียดความเป็นมาของ SGMW อ่านได้ในบทความนี้ Click Here)
ในอดีตกาลก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตรถยนต์ชาวจีน ทุกราย ไม่เคยคิดสนใจจะส่งออกรถยนต์ของตนไปขายในต่างประเทศ เนื่องจาก แค่ลำพัง ผลิตจำหน่ายให้ลูกค้าในแดนมังกรเอง ก็ได้กำไรเหลือเฟือ ไม่ต้องขวนขวายดิ้นรนให้เสียเวลาและเสียเงิน อาจจะมีบางแบรนด์ อย่าง Brilliance , Chery , Great Wall ฯลฯ ที่เคยลองหยั่งเชิงตลาดนอกประเทศจีน และ ยอดขายของพวกเขา ก็ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากขณะนั้น คุณภาพรถยนต์ที่ผลิตจากชาวจีน ย่ำแย่มากๆ
ทว่า ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีน เริ่มลดความร้อนแรงลง ผู้บริโภคชาวจีน เริ่มซื้อรถยนต์ จากผู้ผลิตสัญชาติจีนด้วยกันเองลดลง เนื่องจากช่วงก่อนหน้านั้น พวกเขามีฐานะที่ดีขึ้น จึงหันไปอุดหนุน รถยนต์จากยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งผลิตในประเทศจีนเอง มากกว่า จะอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่น ด้วยเหตุผลด้านคุณภาพของตัวรถ และความไว้เนื้อเชื่อใจในแบรนด์ระดับโลก ที่สูงกว่า แบรนด์ท้องถิ่น ผู้ผลิตรถยนต์ชาวจีน จึงพยายาม ยกระดับมาตรฐานรถยนต์ของตนให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถส่งออกไปขายในตลาดสากลได้ง่ายขึ้น
ด้าน SGMW เองต้องการพัฒนา C-Segment SUV รุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อทำตลาดแทน Baojun 560 Minivan 7 ที่นั่ง รุ่นเก่า ซึ่งเปิดตัว และทำตลาดเฉพาะในเมืองจีน มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2015 โดยคราวนี้ พวกเขาจะปรับรูปแบบตัวรถ จาก Minivan มาเป็น SUV-Style แทน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งในจีน และในประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ Asia ไปจนถึง South America โดยอาศัยทีมงานวิศวกรทั้งจากอังกฤษ และจีน โดย SGWM วางแผนให้มีการผลิต ทั้งโรงงานของตนทั้งในประเทศจีน India และ Indonesia พูดง่ายๆ คราวนี้ พวกเขาต้องหาตลาดส่งออกให้กับรถรุ่นนี้ด้วย
รูปลักษณ์ภายนอกของ SUV รุ่นใหม่นี้ โดยเฉพาะด้านหน้าของรถ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องบินรบล่องหน F-35 Stealth ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา โดย Colin Phipps ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของศูนย์ GM Advance Design ในประเทศจีน กล่าวว่า “เส้นสายบริเวณด้านหน้ารถ รวมทั้งฝากระโปรงหน้าของ Captiva ใหม่นั้นถ่ายทอดพลัง และแสดงถึงความโดดเด่น ไฟเลี้ยวทรงเรียวบาง รวมถึงโครงสร้างด้านข้างตัวถังที่แข็งแกร่งและปราดเปรียว ยังมอบความรู้สึกสปอร์ตอันเป็นเอกลักษณ์ของ Chevrolet ยุคใหม่ ที่พบได้บ่อยขึ้น ”
ตามแผนของ GM , SAIC และ SGMW ต่างฝ่าย ต่างจะเปิดตัว SUV คันนี้ ในชื่อที่ต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศที่ถูกส่งเข้าไปทำตลาด โดย SGMW เริ่มเผยโฉม SUV คันนี้ เป็นครั้งแรกในโลก ภายใต้ชื่อ Baojun 530 ณ งาน Auto Guangzhou เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2017 ก่อนจะจัดงานเปิดตัวเพื่อออกสู่ตลาดเมืองจีน เป็นแห่งแรก ที่เมือง Guangzhou เมื่อ 12 มีนาคม 2018 ในช่วงแรก มีเครื่องยนต์ให้เลือก ทั้งแบบ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.8 ลิตร 135 แรงม้า (PS) พ่วงเกียร์ธรรมดากึ่งอัตโนมัติ AMT 5 จังหวะ และ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร Turbo 150 แรงม้า (PS) พ่วงเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ คลัตช์คู่ DCT 7 จังหวะ
เพียง 1 ปีต่อมา SGMW ปรับอุปกรณ์ ให้กับ Baojun 530 เป็นครั้งแรก เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา โดยถอดเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร พร้อมเกียร์ AMT ออกไป ส่วนรุ่น เบนซิน 1.5 Turbo เปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT ที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง SAIC กับ BOSCH โดยยังคงมีเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ให้เลือกอยู่
ล่าสุด 20 ตุลาคม 2019 SGMW ปรับโฉม Minorchange ให้กับ Baojun 530 อีกครั้ง เปลี่ยนกระจังหน้า ชุดไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟตัดหมอกหน้า รวมทั้งเปลือกกันชนด้านหลัง ให้เป็นแบบใหม่ ที่ดูเรียบหรู เข้ากับ Theme การออกแบบของแบรนด์ Baojun มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนแผงหน้าปัดใหม่ ให้มีจอ Multi-Infotainment แบบเดียวกับ Captiva เวอร์ชันไทย พร้อมกับเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านขวา ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า และเบาะนั่งแถวกลาง แบบ Captain Seat ที่เพิ่มมาให้เลือกเป็นพิเศษ
สำหรับตลาดนอกประเทศจีน SGMW เจรจากับทั้ง พันธมิตร อย่าง GM และ MG เพื่อนำไปจำหน่าย ตามความเหมาะสม ในแต่ละประเทศ โดยเริ่มต้นจาก Indonesia ซึ่ง GM ถอนตัวออกมาแล้ว และ SAIC ก็ยังไม่ได้มีแผนจะเปิดตัวแบรนด์ MG ของตน ที่นั่น จึงเป็นหน้าที่ของ SGMW ที่จะทำตลาดด้วยแบรนด์ของตนเอง SGMW ส่ง Baojun 530 ไปเผยโฉมในงาน Gaikindo Indonesia International Auto Show เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ด้วยชื่อ Wuling ALMAZ ก่อนเปิดตัวเวอร์ชันขายจริง ผลิตที่ Indonesia เมื่อ 23 มกราคม 2019 และเริ่มทำตลาดจริง 27 กุมภาพันธ์ 2019 และได้รับความนิยมจากลูกค้ามากพอสมควร
จากนั้น GM South America ก็นำ Baojun 530 ไปเปลี่ยนกระจังหน้า และปรับปรุงอุปกรณ์นิดหน่อย แล้วส่งไปเปิดตัวในงาน Bogota Motor Show ที่ประเทศ Colombia ในชื่อ Chevrolet Captiva เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2018 เหตุผลของการเปิดตัวที่ Colombia เพราะยอดขาย Chevrolet ที่นั่น ในปี 2018 สูงถึง 49,866 คัน ตลาดที่นั่น ใหญ่พอให้ GM เห็นความสำคัญ และส่งรถยนต์รุ่นนี้ ไปเผยโฉมแบบ World Premier ภายใต้ชื่อ Captiva
การทำตลาดของ Captiva ใน South America เริ่มขึ้น เมื่อ 29 เมษายน 2019 โดยประเทศที่จะนำ SUV รุ่นนี้เข้าไปขาย มีเพียงแค่ Colombia, Ecuador, Peru, Bolivia, Chile และ Uruguay เท่านั้น โดยเริ่มด้วย Peru ก่อนเป็นประเทศแรกในกลุ่มนี้ วางเครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตร Turbo พร้อมเกียร์อัตโนมัติ CVT เหมือนกันกับเวอร์ชันไทย
ขณะเดียวกัน SGMW ก็ส่ง SUV รุ่นนี้ ให้กับทาง SAIC-MG นำไปเปิดตัวเป็นรถยนต์ MG รุ่นแรกในตลาด India ภายใต้ชื่อ MG Hector เมื่อ 27 มิถุนายน 2019 มีให้เลือก ทั้งเครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตร Turbo ทั้งแบบปกติ และแบบพ่วงระบบ Mild Hybrid รวมทั้ง เครื่องยนต์ Diesel 2.0 ลิตร Turbo ชูจุดขาย ด้านการเป็น Internet Car และเป็น รถยนต์ ขุมพลัง Mild Hybrid 48V รุ่นแรก สำหรับตลาดแดนภารตะ MG Hector ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะมียอดสั่งจองเข้ามาถึง 10,000 คัน ในเวลาเพียง 23 วัน หลังการเปิดรับจอง (4 มิถุนายน 2019)
สำหรับประเทศไทย เรื่องราวเบื้องหลังในการนำรถยนต์รุ่นนี้เข้ามาทำตลาด เริ่มต้นขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2018 นี่เอง!
ตอนนั้น SGMW กำลังนำ Baojun 530 มาแปลงเป็น Chevrolet Captiva ให้กับตลาด South America ซึ่งเป็นรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ในขณะเดียวกัน ก็ทำ Wulling Almaz พวงมาลัยขวา ให้ตลาด Indonesia จู่ๆ Mike Devereux ผู้บริหาร GM ที่ย้ายมารับตำแหน่ง Executive vice president ของ SGMW เกิดไอเดียว่า ถ้าจะนำ Baojun 530 มาดัดแปลงขายในตลาดที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวา แล้วประกอบที่โรงงานใน Indonesia ส่งมาขายในเมืองไทย โดยอาศัยสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้า AFTA (Asian Free Trade Area) ซึ่งอยู่ที่ 0% มันก็ทำได้ และไม่ยุ่งยาก เหมือนโครงการอื่นๆในอดีตของ GM ด้วย
ตอนแรก SGMW ลองคุยกับ SAIC ว่า นอกเหนือจากการนำ Baojun 530 คันนี้ ไปทำตลาดใน India ภายใต้ชื่อ MG Hector แล้ว ถ้าจะนำมาเปิดตัวภายใต้แบรนด์ MG ในเมืองไทย ด้วย จะเป็นไปได้ไหม? อย่างไรก็ตาม ทาง MG ในไทย มีแผนเปิดตัว MG HS ซึ่งเป็น SUV ที่มีขนาดตัวถังใหญ่กว่า (เทียบเท่ากับ Baojun RS5) ในช่วงเวลาเดียวกันอยู่แล้ว จึงปฏิเสธทาง SGMW ไป
แล้วถ้าจะส่งมาเปิดตัวในบ้านเรา ด้วยชื่อ Chevrolet เหมือนในตลาดอเมริกาใต้ละ? SGMW จึงลองหันไปคุยกับ GM Thailand เพื่อหาความเป็นไปได้ พอดีจังหวะเวลานั้น ผู้บริหารของ GM Thailand เล็งเห็นว่า แบรนด์ Chevrolet ในเมืองไทย ซบเซา มานานหลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งของปัญหานั้น นอกจากที่จะต้องปรับปรุงบริการหลังการขายแล้ว พวกเขายังห่างหายจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในเมืองไทย ไปหลายปี ดังน้น ถ้าในเมื่อพวกเขาต้องการสร้างยอดขายกลับมาอีกครั้ง GM จำเป็นต้องมีทางเลือกให้กับลูกค้า บนโชว์รูม มากกว่าแค่เพียงรถกระบะ Colorado และ SUV/PPV รุ่น Trailblazer ซึ่งจอดคอยลูกค้าบนโชว์รูมมานานหลายปีแล้ว
GM Thailand เลยถามต่อไปยังตัวแทนโชว์รูมผู้จำหน่าย หรือ ดีลเลอร์ในบ้านเราว่า สนใจไหม แต่มีข้อแม้อยู่ว่า เนื่องจาก ประเทศไทย ไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักในการทำรถยนต์รุ่นนี้มาตั้งแต่แรก ดังนั้น การจะขอให้เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เป็นพิเศษ เฉพาะในเมืองไทย ทั้งที่ยอดขายน่าจะไม่สูงนักนั้น เป็นเรื่องที่ทาง SGMW เขาทำไม่ได้ เนื่องจากรายละเอียด Option และชิ้นส่วนหลักต่างๆ ถูกกำหนด ลงบนพิมพ์เขียวหลัก และถูกนำไปสั่งผลิตในปริมาณมากๆหมดแล้ว จึงยากและไม่คุ้มทุนต่อการแก้ไข ถ้าเราไม่ได้สั่งรถมาขายหลักหมื่นคันขึ้นไป
GM Thailand ก็เลย จัดทริป พาบรรดาผู้จำหน่าย บินไปเจอรถคันจริง และทดลองขับกันสั้นๆ ที่โรงงานของ SGMW ในเมืองจีน ผลตอบรับก็คือ ผู้ร่วมทริปส่วนใหญ่ ชอบ และคิดว่า น่าจะขายในเมืองไทยได้
หลังการศึกษาวิจัยตลาดเสร็จสิ้นลง ในเดือนตุลาคม 2018 การเตรียมงาน เพื่อนำรถยนต์รุ่นนี้ เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย จึงเริ่มขึ้น เมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2018 นั่นเอง!! รถยนต์ต้นแบบ เริ่มสร้างขึ้นและส่งมาที่เมืองไทย ในเดือนมกราคม 2019 (ก็ช่วงที่เขาเปิดให้ผมเข้าไปดูรถคันสีดำ ตามที่เล่าไปข้างบนนั่นแหละ)
ระหว่าง กำลังนำรถยนต์ตัวอย่าง ไปทดสอบค่ามลพิษ ที่ ห้องปฏิบัติการณ์ของ สถาบันยานยนต์ ณ บางปู เพื่อยื่นขออนุญาต นำเข้ารถยนต์มาจำหน่าย ตามขั้นตอนปกติ GM Thailand นำ Chevrolet Captiva มาจอดอวดโฉมเป็นครั้งแรกในเมืองไทย บนเวทีของงานแสดงรถยนต์ อย่าง Bangkok International Motor Show เมื่อ 26 มีนาคม 2019
ทว่า กระแสตอบรับนั้น กลับไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่คิด ด้วย 2 สาเหตุสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ผู้บริโภค ยังคงจดจำเรื่องราวไม่ดีของแบรนด์ ในอดีต ทั้งที่ตนเองและคนรอบข้างประสบพบเจอมา อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ ลูกค้าสมัยนี้ เขารู้อยู่แล้วว่า รถคันนี้ เป็นผลงานจากบริษัทพันธมิตรของ GM ในประเทศจีน ซึ่งต้องยอมรับความจริงกันว่า ลูกค้าชาวไทย มีภาพจำที่ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อนึกถึงสินค้าจากประเทศจีน
ดังนั้น GM Thailand จึงแก้ปัญหาด้วย 2 วิธีการ นั่นคือ
– ส่งทีมงาน บินไปทำงาน ถึงโรงงาน Wulling ที่ Indonesia โดยมุ่งเน้นกำชับ ตรวจสอบคุณภาพการประกอบของรถอย่างหนักหน่วง และละเอียดละออ จนถึงขั้นที่ ผู้บริหารใหญ่ ชาวอเมริกัน ใน SGMW ที่จีน ถึงกับออกปากเลยว่า ไม่เคยเห็นทีมงานประเทศไหน ใส่ใจกับคุณภาพของรถมากขนาดนี้มาก่อน!
– จัดทริป พาสื่อมวลชน ไปเยี่ยมชม กิจการของ พันธมิตร SGMW กันถึงเมืองลิ่วโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน กันเลยทีเดียว เพื่อไปดูให้เห็นว่า ฐานการพัฒนา Captiva ใหม่ นั้น มันไม่ใช่บริษัทรถยนต์ชาวจีนธรรมดาๆทั่วๆไป อย่างที่คนไทยเคยคิดและเข้าใจอีกต่อไป (รายละเอียดของทริปดังกล่าว คลิกอ่านต่อได้ที่นี่ Click Here!)
ระหว่างนั้น มีการเตรียมงานในด้านต่างๆ ตัวรถ ทดสอบมาตรฐานมลพิษ เสร็จสิ้นลงในเดือนพฤษภาคม เริ่มฝึกอบรมกับฝ่ายขาย ในเดือนมิถุนายน และได้รับการรับรองผล Lab อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม จนสามารถออก ECO Sticker ได้ในเดือนสิงหาคม
การเปิดตัวออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2019 โดยจะเริ่มเปิดให้ลูกค้าเข้ามาชมและทดลองขับได้ที่โชว์รูม GM ทั่วเมืองไทย ตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2019 เป็นต้นมา ด้วยป้ายราคา ดังนี้
- 1.5 TURBO LS (5 Seats) 959,000 บาท*
- 1.5 TURBO LS (7 Seats) 989,000 บาท*
- 1.5 TURBO LT (7 Seats) 1,099,000 บาท**
- 1.5 TURBO Premier (7 Seats) 1,199,000 บาท**
* รุ่น 1.5 TURBO LS 5 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง ราคาพิเศษ สำหรับลูกค้า 300 ท่านแรก ที่จอง และ รับรถภายในปี 2019 นี้ (จากราคาปกติ 999,000 / 1,029,000 บาท) พร้อมฟรีประกันชั้น 1 นาน 1 ปี ทุกคัน
** ฟรีโปรแกรมเช็คระยะ ฟรีค่าบำรุงรักษา 50,000 กิโลเมตร หรือ 30 เดือน (รวมแบตเตอรี่ ยางปัดน้ำฝน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย) ในรุ่น LT / Premier สำหรับลูกค้า 700 ท่านแรกที่จอง และ รับรถภายในปี 2019
และงานในวันนั่นถูกจารึกไว้ว่า เป็นงานเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ครั้งสุดท้าย ในประวัติศาสตร์ของ GM ในเมืองไทย แน่นอนว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ เทใจอุดหนุนรุ่น Premier กันเสียเยอะ ส่วนรุ่น LT นั้น มีประปราย แต่รุ่น LS กลับขายไม่ดีเลย
หลังการเปิดตัวไปได้สักพัก ข้ามช่วงเวลาฉลองปีใหม่ 2020 มาได้เพียงไม่กี่วัน GM Thailand ประกาศเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2020 ลดราคา รุ่น LS 5 ที่นั่ง จาก 999,000 บาท ลงมา 130,000 บาท เหลือ 869,000 บาท เพื่อหวังจะระบายสต็อกรุ่น LS ซึ่งเป็นรุ่นที่ขายไม่ออก เพราะลูกค้าพากันอุดหนุนรุ่น Premier และ LT มากกว่า
จากนั้น 1 เดือน กับ 12 วัน ถัดมา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2020 หลังการประกาศยุติการทำตลาดแบรนด์ Chevrolet ในเมืองไทย GM Thailand ประกาศลดราคา Captiva ทุกรุ่น แบบเทกระจาด ล้างสต็อก รุ่นละ 500,000 บาท จำนวนประมาณ 2,000 คัน ดังนี้
- 1.5 TURBO LS (5 Seats)
999,000499,000 บาท* - 1.5 TURBO LS (5 Seats)
1,029,000529,000 บาท* - 1.5 TURBO LT (7 Seats)
1,099,000599,000 บาท* - 1.5 TURBO Premier (7 Seats)
1,199,000699,000 บาท*
(ราคานี้ยังไม่รวม VAT 7% ไม่รวมค่าประกันภัยชั้น 1 ฟิล์มกรองแสง ค่าจดทะเบียน ค่ามัดจำป้ายแดง ค่าใช้จ่ายออกรถใช้เงินประมาณ 70,000 บาท สามารถกู้ไฟแนนซ์ได้เต็มจำนวน ผ่อนสูงสุด 84 เดือน เดือนละ 7,000 กว่าบาท ในรุ่น LS)
การประกาศกระหน่ำลดราคาดังกล่าว ส่งผลให้ลูกค้าพากันหลั่งไหลเข้าไปสั่งจอง Captiva ใหม่ ในสต็อกกันจนเกลี้ยง ปัจจุบัน หลังจากตรวจสอบข้อมูล ยังพอจะมี Captiva รุ่น LT และ Premier หลงเหลืออยู่ในบางโชว์รูมผู้จำหน่ายทั่วประเทศ รวมๆกันแล้ว ไม่น่าจะเกิน 10 คัน สุดท้าย
Exterior
Captiva ใหม่ มีขนาดตัวถังยาว 4,ุ655 มิลลิเมตร กว้าง 1,836 มิลลิเมตร สูง 1,760 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/60 R17
Chevrolet Captiva ใหม่ มีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,655 มิลลิเมตร กว้าง 1,835 มิลลิเมตร สูง 1,760 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,554 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,549 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ Ground Clearance 175 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวของแต่ละรุ่นย่อย ตามที่ Chevrolet แจ้งไว้ในโบรชัวร์ มีดังนี้
– 1.5 Turbo LS 5 Seats 1,520 กิโลกรัม
– 1.5 Turbo LS 7 Seats 1,580 กิโลกรัม
– 1.5 Turbo LT 7 Seats 1,600 กิโลกรัม
– 1.5 Turbo Premier 7 Seats 1,630 กิโลกรัม
เมื่อเทียบกับ Chevrolet Captiva รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,673 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,756 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,707 มิลลิเมตร จะพบว่า Captiva ใหม่จะมีขนาดสั้นลง 18 มิลลิเมตร แคบลง 14 มิลลิเมตร แต่สูงขึ้น 4 มิลลิเมตร และ ระยะฐานล้อ ยาวขึ้น 43 มิลลิเมตร หากมองเผินๆ อาจเรียกได้ว่า ขนาดตัวรถจะพอๆกัน หรือไล่เลี่ยกับ Captiva รุ่นเดิม แต่คราวนี้ ตัวรถจะถูกวางตำแหน่งทางการตลาด ให้มีราคาถูกลงกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับคูแข่งแต่ละคัน คุณจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้น เริ่มกันด้วยคู่ปรับโดยตรงอย่าง MG HS ซึ่งมีความยาว 4,574 มิลลิเมตร กว้าง 1,876 มิลลิเมตร สูง 1,664 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,720 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Captiva สั้นกว่า HS ถึง 81 มิลลิเมตร แถมยังแคบกว่า 41 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า 96 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อสั้นกว่า 30 มิลลิเมตร
เมื่อเทียบกับ Honda CR-V ที่มีความยาว 4,571 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,667 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,662 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Captiva ยาวกว่า 84 มิลลิเมตร แคบกว่า 20 มิลลิเมตร สูงกว่า 93 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 88 มิลลิเมตร
และเมื่อเทียบกับ Mazda CX-5 ที่มีความยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,680 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Captiva ยาวกว่าถึง 105 มิลลิเมตร แคบกว่า 5 มิลลิเมตร สูงกว่า 80 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 50 มิลลิเมตร
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ Subaru Forester ที่มีความยาว 4,625 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Captiva ยาวกว่า 30 มิลลิเมตร กว้างกว่า 20 มิลลิเมตร สูงกว่า 30 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 80 มิลลิเมตร
หรือเปรียบเทียบกับ Nissan X-Trail ที่มีความยาว 4,690 มิลลิเมตร กว้าง 1,830 มิลลิเมตร สูง 1,740 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,705 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Captiva สั้นกว่า 35 มิลลิเมตร กว้างกว่า 5 มิลลิเมตร สูงกว่า 20 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 45 มิลลิเมตร
เมื่อดูตัวเลขมิติตัวถังภายนอก เทียบกันกับคู่แข่งในกลุ่ม Compact SUV จะพบว่า Captiva มีความสูงมากที่สุด ส่วนความยาว และความกว้าง ยังคงเกาะกลุ่มไล่เลี่ยกันไปกับคู่แข่ง
รูปลักษณ์ภายนอก มาในสไตล์ เฉียบคม เน้นเส้นสายเหลี่ยมสัน ในแนวนอน ออกแบบมาเกือบจะลงตัว ติดขัดแค่ ตำแหน่งล้อคู่หน้า ใกล้ชิดกับบานประตูคู่หน้ามากไปหน่อย แบบเดียวกับ Toyota Corolla Altis รุ่นปี 2001 – 2007
ด้านหน้า ชุดโคมไฟหน้าย้ายตำแหน่งลงมาอยู่บนเปลือกกันชนหน้า แบบเดียวกันกับรถยนต์ ยุคใหม่ หลายๆ รุ่น โดยรุ่น LS และ LT จะได้ไฟหน้าแบบ Projector Lens หลอดฮาโลเจน พร้อมไฟหรี่ และไฟเลี้ยวแบบธรรมดา อยู่ด้านล่างสุด ส่วนไฟหน้าแบบ LED Projector Lens พร้อมไฟตัดหมอกคู่หน้า ถูกสงวนไว้เฉพาะรุ่นท็อป Premier เท่านั้น
ส่วนชุดโคมไฟทรงเรียวยาวที่ติดกับชายฝากระโปรงหน้า จะทำหน้าที่เป็นไฟส่องสว่างในเวลากลางวันแบบ LED (LED Daytime Running Light) และเมื่อเปิดไฟเลี้ยว ไฟ DRL ก็จะสลับการทำงานไปเป็นไฟเลี้ยวแบบ LED แทน ซึ่งมีให้เฉพาะรุ่น Premier เท่านั้น
ทุกรุ่นย่อย จะได้กระจังหน้าพลาสติกสีดำด้าน ตกแต่งด้วยแถบโครเมียมแนวนอน วางเรียงกัน 3 ชั้น พร้อมโลโก้ Bow-tie สีทอง แต่กรอบกระจังหน้าของรุ่น LS จะเป็นวัสดุสีเงิน ในขณะที่รุ่น LT และ Premier จะเป็นโครเมียมแบบด้าน
เมื่อมองจากด้านข้าง จะเห็นเส้น Character line ที่มีเหลี่ยมสันคมชัด ลากจากมุมไฟ LED Daytime Running Light และไฟเลี้ยว ผ่านแก้มด้านข้าง บานประตูหน้า – หลัง ไปจรดกับปลายสุดของไฟท้าย กรอบกระจกหน้าต่างด้านข้าง ของรุ่น LS จะเป็นสีดำ แต่รุ่น LT และ Premier จะประดับด้วยแถบโครเมียม มือจับประตูในรุ่น LS จะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ในขณะที่รุ่น LT และ Premier จะตกแต่งด้วยแถบโครเมียม กระจกมองข้างของทุกรุ่นย่อยถูกฝังอยู่กับมุมเสาหลังคา A-Pillar ฝาครอบเป็นสีเดียวกับตัวรถ พร้อมไฟเลี้ยวในตัวแบบ LED
ทุกรุ่นจะ ติดตั้งเสาอากาศแบบครีบฉลาม และราวหลังคาสีเงินมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ต่อเสริม เช่น กล่องเก็บสัมภาระบนหลังคา (Roof Box)
คิ้วเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 รวมถึงชายล่างของบานประตูคู่หน้า และคู่หลัง เป็นพลาสติกสีดำด้าน ถูกออกแบบให้คลุมลงไปจนถึงใต้ท้องรถ แบบเดียวกันกับรถ SUV รุ่นใหม่หลายรุ่น ช่วยลดปัญหาคราบฝุ่นโคลน ติดขากางเกง หรือกระโปรง ขณะก้าวขึ้น – ลงจากรถ
บั้นท้ายของทุกรุ่นย่อย มาพร้อมชุดไฟท้ายทั้ง 2 ฝั่ง ที่ถูกออกแบบรวมเป็นชิ้นเดียวกันกับบานฝากระโปรงท้าย เชื่อมต่อกันด้วยแถบพลาสติกสีเงิน เหนือช่องติดแผ่นป้านทะเบียน ไฟหรี่เป็นแบบหลอดไส้ แต่ไฟเลี้ยวเป็นหลอด LED กระจกบังลมหลังมีระบบไล่ฝ้า ก้านปัดน้ำฝน พร้อมระบบฉีดน้ำทำความสะอาด ด้านบนสุดเป็นสปอยเลอร์หลังสีเดียวกับตัวรถ พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED
ชายล่างของเปลือกกันชนหลังตกแต่งด้วยพลาสติกสีดำด้าน และสีเทาดำ ทุกรุ่นย่อยจะถูกติดตั้งเซ็นเซอร์กะระยะด้านหลังมาให้ 4 จุด ไฟถอย ไฟตัดหมอกหลัง แผงไฟทับทิมเรืองแสงสีแดง รวมทั้งไฟหรี่ และไฟฉุกเฉินสำรองเมื่อเปิดฝากระโปรงท้าย ออกแบบมาเป็นชุดเดียวกัน คาดยาวตั้งแต่มุมฝั่งขวาไปจนถึงฝั่งซ้าย
ล้ออัลลอยของรุ่น LS และ LT จะเป็นลาย 5 ก้าน ขนาด 17 x 6.5 นิ้ว ส่วนรุ่น Premier จะเป็นล้อลาย 10 ก้าน ปัดเงา ขนาด 17 x 6.5 นิ้ว ทุกรุ่นย่อยสวมด้วยยาง GT Radial SAVERO SUV ขนาด 215/60 R17
Interior
ระบบกลอนประตูของรุ่น LS ยังคงเป็นกุญแจแบบ Wave Key สามารถสั่งล็อก – ปลดล็อก ประตู และฝากระโปรงท้าย ได้จากสวิตช์บนกุญแจรีโมท เหมือน Chevrolet รุ่นอื่นๆ
ส่วนรุ่น LT และ Premier จะเป็นกุญแจรีโมทแบบ PEP Smart Keyless Entry เมื่อพกกุญแจรีโมทแล้วเดินเข้าใกล้ตัวรถ สามารถกดปุ่มด้านข้างมือจับเปิดประตูเพื่อสั่งล็อก – ปลดล็อก นอกจากนี้ ยังสามารถกดปุ่มสวิตช์บนกุญแจรีโมท เพื่อสั่งล็อก – ปลดล็อก ประตู และฝากระโปรงท้าย ได้เช่นเดียวกัน
ในกรณีที่พลังงานในแบตเตอรี่ของกุญแจรีโมทแบบ PEP Smart Keyless Entry หมด ให้เปิดฝาครอบรูกุญแจออก แล้วเสียบกุญแจ หมุนทวนเข็มนาฬิกา เพื่อล็อกรถ หรือหมุนตามเข็มนาฬิกา เพื่อปลดล็อกรถ
การเข้า – ออก จากบานประตูทั้ง 4 ถือว่า สะดวกสบายพอสมควร ด้วยการออกแบบให้ชายประตูด้านล่าง คลุมทับกรอบประตูด้านล่าง ช่วยให้ขากางเกง หรือชายกระโปรง ไม่เลอะฝุ่นโคลนบริเวณด้านล่างของตัวถัง แถมยังมียางขอบชยประตูด้านล่างขนาดใหญ่ ช่วยลดเสียงรบกวนจากพื้นถนนขึ้นมายังห้องโดยสารได้มาก นี่คืองานออกแบบที่ผู้ผลิตฝั่งญี่ปุ่น และฝั่งอเมริกาเหนือให้ความสำคัญ แต่กลับถูกเมินเฉยจากบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ Premium Brand จาก Europe หลายราย
อย่างไรก็ตาม ใช้ว่า ไม่มีอะไรให้ระวังเลย เพราะต่อให้คุณจะปรับเบาะคนขับ ให้กดลงต่ำขนาดไหน ยังไงๆ ก็มีโอกาสที่ศีรษของคุณ จะโขกเข้ากับส่วนโค้งช่วงกลางของเสากรอบหลังคาด้านบน แน่นอน ดังนั้น ขอแนะนำให้ก้มหัวเพิ่มมากขึ้น ระหว่างสอดลำตัวเข้าไปนั่งบนเบาะรถ
แผงประตูด้านข้าง ท่อนบน ของทุกรุ่น เป็นวัสดุ Plastic Recycle ขึ้นรูปสีดำ มือจับเปิดประตูด้านในของรุ่น LS จะเป็นสีเงิน แต่รุ่น LT และ Premier จะเป็นแบบ Plastic ชุบโครเมียม จุดเด่นอยู่ที่การออกแบบมือจับประตูสี Aluminum ทรงโค้งมน คล้ายกับหูหิ้วกระเป๋าถือสตรีราคาแพง ตัดกับแผง Plastic Trim สีดำเงา Piano Black ของแผงสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ตัดสลับกับวัสดุบุนุ่มหุ้มหนังสีครีม บริเวณมุมเสาหลังคา A-Pillar ติดตั้งลำโพง Tweeter มาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง
พนักวางแขนด้านข้างประตู ของรุ่น LS จะบุฟองน้ำ หุ้มด้วยผ้ายีนส์ Blue Denim เดินตะเข็บด้ายสีขาว ส่วนรุ่น LT และ Premier จะบุฟองน้ำ หุ้มด้วยหนังสีขาว White Pearl ตัวพนักวางแขน มีตำแหน่งสูงอย่างเหมาะสม สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีๆ ตั้งแต่ช่วงข้อศอกเลยทีเดียว
ท่อนล่างของแผงประตูด้านข้าง ของทุกรุ่น จะมีลำโพง Subbase ติดตั้งมาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง มีช่องวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ให้ถึง 2 ตำแหน่ง วางข้าวของจุกจิกพอได้ แต่ไม่สามารถวางเอกสารขนาดใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องขอเตือนกันเลยก็คือ บานประตูทั้ง 4 มีน้ำหนักค่อนข้างมากเกินไป มันหนักกว่า Lexus RX300 Minorchange และหนักกว่าบานประตูของ Mercedes-Benz และ Volvo รุ่นใหม่ๆ เอาเรื่อง ดังนั้น ควรใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาประตูหนีบมือ หรือเปิดประตูไปกระแทกรถคันข้างๆ
เบาะนั่งคู่หน้า เบาะนั่งคู่หน้า ของรุ่น LS จะหุ้มด้วยผ้ายีนส์ Blue Denim สีดำสลับสีฟ้า ในขณะที่รุ่น LT และ Premier จะหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์สีดำ Charcoal Black กลไกการปรับเบาะนั่งของทั้งรุ่น LS และ LT จะเป็นคันโยกแบบธรรมดา แต่ที่พิเศษขึ้นมา ก็คือ เฉพาะรุ่น Premier เบาะนั่งเฉพาะฝั่งคนขับ สามารถปรับตำแหน่งเอน – ตั้งชัน หรือ เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ได้ 6 ทิศทาง นอกจากนี้ ด้านหลังพนักพิงหลังเบาะนั่งคู่หน้า ยังมีช่องเก็บนิตยสารมาให้ด้วย
เบาะคู่หน้า นั่งไม่สบายเอาเสียเลย มีพนักพิงหลัง บุด้วยฟองน้ำสไตล์ แน่นและแข็ง ที่ถูกออกแบบให้ดันบริเวณช่วงกลางหลังและบั้นเอวชัดเจน แต่กลับกลายเป็นว่า บริเวณทีอยู่เหนือขึ้นไป (ช่วงกลางหลัง ระหว่างหัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง) กลับบุ๋มลงไป หากมีพนักศีรษะแบบปกติธรรมดาทั่วไป ก็ยังพอนั่งได้บ้าง
ทว่า เมื่อต้องมาเจอกับ พนักศีรษะ ซึ่งถูกออกแบบมาให้ มีฟองน้ำเสริมด้านในค่อนข้างแข็ง แถมยังอยู่ในตำแหน่งที่ “ดันกระบาลชิบหาย ในระดับ ดันทุรัง” เท่ากับ Hyundai Tucson รุ่นปี 2012 ทำให้ผมถึงกับปวดต้นคอไปจนถึงกลางหลังเลยทีเดียว ซ้ำร้าย พนักศีรษะยังสามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้เพียงเท่านั้น ไม่อาจปรับระยะดันกบาลได้เลย ทำให้ผมถึงกับทุกข์ทรมาณจากการนั่งอยู่บนเบาะคนขับของ Captiva ใหม่ อย่างมาก
กระนั้น เรื่องแปลกก็คือ หากปรับพนักพิงในตำแหน่งนั่งขับตามปกติทั่วไปที่ถูกหลักสรีรศาสตร์ กลับกลายเป็นว่า คุณจะปวดเมื่อยช่วงหลัง แทบทุกส่วน แต่ถ้าคุณปรับพนักพิงให้เอนลงไปนิดหน่อย คุณจะได้ความสบายที่ต้องการ กลับคืนมา แต่ต้องแลกกับการนั่งยืดแขนจนสุดเพื่อไปจับพวงมาลัย เนื่องจากตำแหน่งองศาของวงพวงมาลัย ค่อนข้างเงยขึ้นแบบแปลกๆ คล้ายกับ Mitsubishi Space Wagon 2.4 ลิตร ปี 2004 และ Suzuki Ertiga รุ่นล่าสุด 2018 ซึ่งนั่นจะทำให้การบังคับควบคุมรถ ทำได้ไม่สะดวกเอาเสียเลย
เบาะรองนั่ง เสริมด้วยฟองน้ำที่นุ่มแอบแน่นแต่เกือบเเข็ง มีความยาวค่อนข้างเยอะ แถมยังตั้งใจออกแบบบริเวณขอบตรงกลาง ให้ยาวพอและนุ่มสบายพอที่จะรองรับช่วงขาพับ แต่แอบดันช่วงขาพับขึ้นมานิดนึงเหมือนกัน
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ธรรมดา สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ในตำแหน่งเบาะแถวกลาง ถือว่า ทำได้ประเสริฐและดีงามมาก เนื่องจากช่องประตูค่อนข้างใหญ่โต จึงสะดวกต่อการลุกขึ้น – ลง เข้า – ออก ของผู้โดยสารทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่สะดวก และแน่นอนว่า ชายล่างของบานประตูคู่หลัง ก็ยังคลุมทับลงมาถึงด้านล่างของกรอบช่องทางเข้า – ออก ช่วให้ก้าวขึ้น – ลง สะดวก ลดปัญหา ขากางเกงและชายกระโปรงเปื้อนฝุ่นโคลน จากใต้ท้องรถเช่นกัน
แผงประตูคู่หลัง ใช้โทนสีและวัสดุตกแต่งเหมือนกับแผงประตูคู่หน้า โดยมี Plastic ครึ่งท่อนบนเหมือนกันเปี๊ยบ แต่ไม่มีมือจับประตูทรงสวยนั่นมาให้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน มีลำโพง Tweeter ขนาดเล็กที่อยู่ติดกับมือจับเปิดประตูด้านใน มีมาให้เฉพาะรุ่น LT และ Premier เท่านั้น
พนักวางแขนหลังบนแผงประตูด้านหลังทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งได้รับการออกแบบให้ลาดลงเล็กน้อย แต่ยังสามารถวางแขนและข้อศอกได้สบายเหมือนแผงประตูคู่หน้า ส่วนแผงประตูด้านล่าง ติดตั้งลำโพง Sub base มาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง เพียงแต่ว่า ช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท มีมาให้เพียงช่องเดียว และน่าเสียดายว่า กระจกหน้าต่าง ไม่สามารถเลื่อนลงมาจนสุดขอบรางได้
ด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง 2 ช่อง รวมทั้งมีช่องเสียบชาร์จ USB อีก 2 ตำแหน่ง ส่วนด้านหลังของเบาะคู่หน้า ก็มีช่องใส่หนังสือมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง
เบาะนั่งแถวที่ 2 ของแต่ละรุ่นย่อย แยกเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ ใช้วัสดุหุ้มเบาะ และเย็บตะเข็บด้าย เหมือนกันกับเบาะนั่งคู่หน้า พนักพิงหลังสามารถปรับเอน และแยกพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 พนักพิงหลังเบาะนั่งตำแหน่งกลาง สามารถดึงลงมาเป็นพนักวางแขนได้ พร้อมกับช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง พนักพิงศีรษะทั้ง 3 ตำแหน่ง เป็นทรงตัว L คว่ำ ปรับระดับสูง – ต่ำได้
พนักพิงหลังที่แน่น แต่แอบนุ่ม รองรับแผ่นหลังได้สบายพอใช้ ครึ่งท่อนบน พยายามจะนูนขึ้นมารองรับช่วงสะบักและหัวไหล่ ขณะที่พื้นที่ตรงกลางตัวพนักพิงหลัง เว้าลงไปนิดนึง ช่วยเสริมให้การดันช่วงหัวไหล่ของ พนักพิงหลังครึ่งท่อนบน ทำได้กำลังดี แต่อาจจะไม่สบายแผ่นหลังในภาพรวมทั้งหมด
พนักวางแขน แบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้ว 2 ช่อง เมื่อดึงลงมาใช้งานแล้ว พบว่าติดตั้งมาให้ในตำแหน่งสูงไปนิดนึง ทำให้การวางแขนของผู้โดยสารด้านหลังสูงไม่เท่ากัน พนักพิงหลังบุด้วยฟองน้ำ แน่น Firm เกือบแข็ง ออกแบบให้มีพื้นที่เสริมช่วงหัวไหล่ไปจนถึงข้างลำตัวในลักษณะตัว U คว่ำ ช่วงรองรับช่วงไหล่ได้ดี ส่วนพื้นที่รองรับกลางหลัง ซึ่งเล่นระดับเว้าลงไปนิดๆนั้น ถูกออกแบบให้มีส่วนนูนให้เสริมเข้ามารองรับช่วงศรีระกลางหลังได้ดีพอสมควร
พนักศีรษะเป็นรูปตัว L คว่ำหากไม่ยกใช้งานจะดันช่วงกลางหัวไหล่อย่างหนัก แต่เมื่อยกขึ้นใช้งานแต่ก็ล็อคตำแหน่งได้ 4 ตำแหน่ง จุดที่ควรปรับปรุงคือขอบด้านล่างของพนักศีรษะ แอบมีมุมเงยนิดๆ ด้วยความจงใจในการออกแบบเพื่อรองรับท้ายทอย แต่กลายเป็นว่าเมื่อใช้งานจริง มุมเงยดังกล่าว แอบก่อความรำคาญให้ผู้โดยสารเอาเรื่องทีเดียวโดยเฉพาะปรับเอนตอนนอน
เบาะรองนั่งบุด้วยฟองน้ำสไตล์เดียวกับพนักพิงหลังคือแน่นเฟริมแต่ถ้าใช้นิ้วกดจะเข้าใจว่ามันนิ่ม มีมุมเงยในระดับเหมาะสมรองรับช่วงขาได้เกือบถึงข้อพับ ส่วนเบาะรองนั่งนั้น มีความยาวเหมาะสม ใช้ฟองน้ำ ค่อนข้างนุ่มกว่า และพอจะให้ความสบายในการเดินทางไกลได้อยู่
พื้นที่วางขาหรือ Legroom นั้น มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบพื้นตัวถังบริเวณดังกล่าวให้เป็นแบบ Flat Floor โดยไม่มีอุโมงค์เพลากลาง ขึ้นมาขวางเป็นอุปสรรค ดังนั้น การวางขา หรือการลุกเข้า – ออก ข้ามจากฝั่งซ้าย ไป ขวา สามารถทำได้อย่างอิสระมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่วางขา จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการปรับเบาะ หากถอยเบาะหลังจนสุดราง ชนิดที่ไม่คิดจะเผื่อให้ผู้โดยสารแถว 3 จะมีพื้นที่วางขาเหลือเลย คุณก็จะมีพื้นที่วางขาที่ยาวมากในระดับใกล้เคียง BMW 7 Series จนสามารถนั้งไขว้ห้างได้ถึง 2 ข้าง แต่ถ้าคุณคิดจะเอื้อเฟื้อพื้นที่วางขให้ผู้โดยสารแถว 3 ก็ต้องทำใจว่า พื้นที่วางขาของผู้โดยสารแถว 2 อย่างคุณ จะลดน้อยลงเหลือในระดับที่พอกันกับ รถยนต์ C-Segment Sedan จากญี่ปุ่นอย่าง Mazda 3 ใหม่
พื้นที่เหนือศีรษะ ของผู้โดยสารแถว 2 นั้น หากคุณมีส่วนสูง 170 เซ็นติเมตร คุณก็จะยังมีพื้นที่เหลือประมาณ 3 นิ้วมือมนุษย์ในแนวนอน แต่ถ้าคุณมีสรีระร่าง สูงถึง 180 เซ็นติเมตร ก็อาจจะเหลือพื้นที่เหนือศีรษะลดลงเพียง 1 นิ้วมือในแนวนอน ขึ้นอยู่กับความสูงของสรีระช่วงลำตัวคุณเองด้วย
ด้านบนหลังคา มีมือจับศาสดาไว้ให้ยึดเหนี่ยวจิตใจ 3 ตำแหน่ง โดยมี ไฟอ่านหนังสือ ติดตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันมาให้ด้วย ส่วนเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารแถวกลาง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง
ประเด็นที่ผมอยากให้ทุกคน ใช้ความระมัดระวัง “อย่างหนัก” นั่นคือ เบาะแถวกลาง สามารถเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้ด้วยคันโยกใต้เบาะก็จริง แต่ด้วยการออกแบบที่ไม่รัดกุม ทำให้ มุมของคันโยก อยู่ใกล้กับรางเบาะซึ่งทำจากเหล็ก ถ้าใครเผลอ ปรับเลื่อนเบาะด้วยการใช้นิ้วปลดล็อกคันโยก จากบริเวณเฉพาะ มุมโค้งด้านข้าง นิ้วของคุณอาจไปสับเข้ากับ รางเบาะได้
ผู้คนรอบข้างผม บางคน บาดเจ็บจากกรณีนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคุณ Pan Paitoonpong ของเรา ที่นิ้วถึงกับเขียวปั๊ด น้อง Toyd The Coup Channel ก็ร้องลั่นรถ ระหว่างถ่ายทำคลิปรายการงานเปิดตัวรถคันนี้ หรือแม้แต่ พี่เต้ย นิธิ ท้วมปฐม จากช่อง Youtube Channel AutoLifeThailand ที่เจอถังขั้น หนังนิ้วฉีกเลือดออกกันมาแล้ว!
เพื่อความปลอดภัย กรุณาจำเอาไว้เลยว่า ถ้าจะใช้คันโยกใต้เบาะ เพื่อเลื่อนเบาะแถวกลาง กรุณา ใช้วิธี เอามือลอดใต้หว่างขา แล้วจับคันโยกบริเวณตรงกลาง “เท่านั้น” จึงจะปลอดภัย นิ้วไม่ขาด
ส่วนการเข้า – ออก จากบานประตูตู่หลัง ไปยัง พื้นที่เบาะแถว 3 นั้น จะสะดวกเฉพาะการขึ้น – ลง จากบานประตูฝั่งซ้าย เนื่องจาก เบาะแถวกลาง มีเพียงฝั่งซ้ายเท่านั้น ที่สามารถดึงคันโยกเพื่อพับพนักพิงหลังลง แล้วยก Flip ขึ้นเพื่อเปิดช่องให้คนที่มีสรีระใหญ่โตอย่างผม สามารถปีนเข้า – ออก ได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับเบาะแถวกลาง ฝั่งขวา ไม่สามารถทำได้ เพราะรางเบาะติดอยู่กับพื้นรถเลย ไม่ได้ล็อกอยู่กับขอเกี่ยวที่พื้นรถเหมือนเบาะฝั่งซ้าย
เบาะนั่งแถวที่ 3 สำหรับรุ่น 7 ที่นั่ง ก็ยังคงใช้วัสดุหุ้มเบาะ และเย็บตะเข็บด้าย เหมือนกันกับเบาะนั่งคู่หน้า และเบาะนั่งแถวที่ 2 พนักพิงหลังแยกพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50 พนักพิงศีรษะสามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ นอกจากนี้ยังติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเบาะหลังแบบ ELR 3 จุด มาให้ครบทั้ง 2 ตำแหน่ง
เบาะหลัง มีพนักพิงหลัง ที่ออกแบบมาตายตัว ไม่สามารถปรับเอนได้ ค่อนข้างตั้งชันประมาณหนึ่ง แม้จะมีพื้นที่พอให้คนตัวใหญ่อย่างผม นั่งลงไปได้ แต่ก็ไม่สบายเท่ากับ เบาะแถว 3 ของ Captiva รุ่นเดิม พนักศีรษะ ยกขึ้นใช้งานได้แค่ 1 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งก็จะชนกับกระจกบังลมด้านหลัง บริเวณไล่ฝ้า พอดี ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่งค่อนข้าง บาง บุฟองน้ำมาแนวนุ่มหน่อยๆ เมื่อนั่งจริง ต้องนั่งชันขา ส่วนพื้นที่วางขา ก็ขึ้นอยู่กับความเมตตา ของผู้โดยสารแถวกลาง ว่าจะปรับเลื่อนขึ้นหน้า หรือถอยหลัง ให้คุณมากน้อยเพียงใด แต่ถึงแม้ว่าจะเลื่อนเบาะแถวกลาง ลงมาจนเกือบสุด ก็พอจะมีพื้นที่วางขาได้แบบพอดีเป๊ะ ไม่อาจกระดิกกระเดี้ยได้ง่ายนัก กระนั้น คุณยังสามารถสอดเท้าเข้าไปวางใต้เบาะรองนั่งแถวกลางได้
ส่วนช่องแอร์สำหรับเบาะนั่งแถวที่ 3 จะฝังตัวอยู่ด้านข้างผนัง ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งสามารถปรับระดับความแรงพัดลม ได้จากสวิตช์บนพนักวางแขนฝั่งซ้าย โดยตำแหน่ง พนักวางแขนนั้น เป็นแผง Plastic พร้อมช่องวางแก้วน้ำ ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง คลุมซุ้มล้อคู่หลังเอาไว้ ออกแบบมาให้อยู่ในตำแหน่งที่วางแขนได้พอดี นอกจากนี้ ยังมีช่องเสียบชาร์จมือถือ USB สำหรับผู้โดยสารแถว 3 อยู่ที่พนักวางแขนฝั่งขวา อีก 1 ตำแหน่ง
ยืนยันว่ายังไงๆ พื้นที่ในการโดยสาร รวมถึงลักษณะทางกายภาพของเบาะหลัง แถว 3 ใน Captiva รุ่นเดิม ดีกว่ารุ่นใหม่ ชัดเจนครับ
ฝาท้าย เปิดยกได้ด้วยระบบกลอนโซลินอยด์ไฟฟ้าธรรมดา ค้ำยันด้วยช็อกอัพ 2 ต้น มีไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝน พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง มาให้ครบถ้วน น่าเสียดายว่า ไม่มีระบบเตะเปิดฝาท้ายด้วยไฟฟ้ามาให้ จากโรงงาน แต่ถ้าอยากได้ ก็คงต้องสั่งซื้อเป็นอุปกรณ์ติดตั้งพิเศษ จากผู้จำหน่าย แยกต่างหาก
เมื่อเปิดฝากระโปรงท้ายขึ้น ก็จะพบกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังที่มีความยาว 979 มิลลิเมตร ความจุ 587 ลิตร (ตามที่โบรชัวร์ Baojun 530 เวอร์ชันจีนระบุเอาไว้) เมื่อพับพนักพิงหลังเบาะนั่งแถวที่ 2 และ 3 ลงทั้งหมด จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,065 ลิตร มีไฟส่องสว่างด้านข้างมาให้
ถ้าคุณจะเดินทางกันทั้งครอบครัว ด้วยสมาชิก 5 คน การพับเบาะแถว 3 ลงมา น่าจะทำให้คุณมีพื้นที่พอจะใส่กระเป๋าเดินทาง ไและข้าวของต่างๆได้หลายรูปแบบ แต่ถ้าเดินทางกัน 7 คนแล้ว พื้นที่ด้านหลัง ก็ยังต้องทำใจอยู่ดี ว่าเล็กไป
พื้นห้องเก็บสัมภาระเป็นช่องสำหรับเก็บเครื่องมือพื้นฐาน และแม่แรงยกรถ รวมถึงลำโพง Subwoofer สำหรับรุ่น Premier ด้วย
การใช้งานยางอะไหล่ จะต้องเปิดพื้นห้องเก็บสัมภาระขึ้นมาก่อน แล้วใช้บล็อก 6 เหลี่ยม ขันน็อตที่อยู่ฝั่งซ้าย เพื่อให้ยางอะไหล่ค่อยๆ หย่อนตัวลงไปใต้ท้องรถ
แผงหน้าปัด ของ Captiva เวอร์ชันไทย จะแตกต่างจาก Baojun 530 เวอร์ชันแรกในปี 2017 แต่จะเหมือนกันกับ Wuling Almaz เวอร์ชัน Indonesia ด้านบนเป็นพลาสติกขึ้นรูปกัดลาย สีดำ ถัดลงมากึ่งกลาง ในรุ่น LS จะเสริมด้วยฟองน้ำ หุ้มด้วยหนังลายยีนส์ Blue Denim เย็บตะเข็บด้ายสีขาว กรอบช่องแอร์ตกแต่งด้วยวัสดุสีเงิน แต่ในรุ่น LT และ Premier จะเสริมด้วยฟองน้ำ หุ้มด้วยหนังสีขาว White Pearl เย็บตะเข็บด้ายสีขาว ส่วนกรอบช่องแอร์ตกแต่งด้วยโครเมียม
บริเวณกึ่งกลางแผงหน้าปัดด้านหน้า เป็นหน้าจอ Center Screen ขนาดใหญ่ 10.4 นิ้ว ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง เป็นช่องแอร์กลางแนวตั้ง ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาเป็นสวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazard Lights ส่วนฝั่งซ้ายเป็นสวิตช์เปิด – ปิด การทำงานของระบบป้องกันการลื่นไถล Traction Control ด้านล่างสุดของหน้าจอ เป็นแผงสวิตช์ AC / Home / ปิดการทำงานของหน้าจอ / ลดเสียง / เพิ่มเสียง
จากฝั่งซ้ายมาทางขวา แผงควบคุมบริเวณบานประตูฝั่งคนขับ ประกอบด้วยสวิตช์ควบคุมการเลื่อนขึ้น – ลง ของกระจกหน้าต่างแบบ One-touch ทั้งขาขึ้น และขาลง เฉพาะฝั่งคนขับ และปุ่มปิดการทำงานของสวิตช์เลื่อนกระจกหน้าต่าง ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า และด้านหลัง
บริเวณใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ ของทุกรุ่น เป็นแผงสวิตช์หมุน สำหรับปรับระดับไฟหน้า และสวิตช์ปรับตั้งมุมองศากระจกมองข้าง สวิตช์พับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า (เฉพาะรุ่น LT และ Premier) และสวิตช์เรียกดูภาพจากกล้อง 360 องศา (เฉพาะรุ่น Premier) เมื่อมองถัดลงไปด้านล่าง ก็จะพบกับก้านสวิตช์ดึงเปิดฝากระโปรงหน้า และฝาปิดถังน้ำมัน
ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา สำหรับควบคุมการเปิด – ปิด ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไฟตัดหมอกคู่หน้า (เฉพาะรุ่น LT และ Premier) และไฟตัดหมอกหลัง เช่นเดียวกับรถญี่ปุ่นทั่วๆ ไป
ส่วนก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย สำหรับควบคุมการทำงานของระบบปัดน้ำฝนด้านหน้า และด้านหลัง ซึ่งระบบปัดน้ำฝนด้านหน้า ของรุ่น LT และ Premier จะมาพร้อมฟังก์ชันปรับตั้งหน่วงเวลาได้
พวงมาลัยของทุกรุ่น เป็นแบบ 3 ก้าน วงพวงมาลัยของรุ่น LS และ LT จะเป็นวัสดุยูรีเทนสีดำ ตกแต่งด้วยวัสดุสีเงิน แต่รุ่น Premier จะเป็นวงพวงมาลัยแบบหุ้มหนังสีดำ ตกแต่งด้วยวัสดุสีเงิน สวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ของทุกรุ่นย่อย สำหรับควบคุมชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์ ส่วนสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย สำหรับควบคุมการทำงานของ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control และหน้าจอ MID แบบ TFT นิ้ว ซึ่งมีมาให้เฉพาะรุ่น Premier เท่านั้น
ชุดมาตรวัด ในรุ่น LS และ LT จะเป็นแบบอนาล็อก วงกลม 2 วง สเกลและตัวเลขเป็นสีขาว ส่วนเข็มเป็นสีแดง วงกลมฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว สูงสุดที่ 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนวงกลมฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ Red Line เริ่มต้นที่ 6,000 รอบ/นาที และตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi Information Display) แบบดิจิตอล แสดงมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือในถัง ตำแหน่งเกียร์ ODO มิเตอร์ Trip มิเตอร์ อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเรียลไทม์ และค่าเฉลี่ย ระยะทางที่สามารถแล่นต่อไปได้ รวมทั้งการปรับระดับความสว่างของชุดมาตรวัด ด้วยก้านสวิตช์ที่ยื่นออกมาจากฝั่งขวาของชุดมาตรวัด
ส่วนชุดมาตรวัด สำหรับรุ่น Premier นั้น จะเป็นแบบอนาล็อก พร้อมวงแหวนสีฟ้า เข็มสีแดง 2 วง มาพร้อม หน้าจอสี TFT ขนาด 7 นิ้ว รวมอยู่ในชุดเดียวกัน วงกลมฝั่งขวาจะเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ แบบหมุนทวนเข็มนาฬิกา Red Line เริ่มต้นที่ 6,250 รอบ/นาที วงกลมฝั่งซ้ายจะเป็นมาตรวัดความเร็ว ส่วนหน้าจอแสดงผลการขับขี่ MID (Multi Information Display) แบบสีตรงกลาง จะแสดงค่ามาตรฐาน ได้แก่ มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ระยะที่แล่นต่อได้ ตำแหน่งเกียร์ และระยะทางที่วิ่งไปแล้วทั้งหมด ส่วนค่าที่สามารถเรียกดูเพิ่มเติม ได้แก่ สถานะของตัวรถ ความเร็วแบบตัวเลข เวลาการขับ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง Trip มิเตอร์ การเชื่อมต่อโทรศัพท์ และสารพัดการตั้งค่า
จากซ้าย ไป ขวา
กล่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า (Glove Compartment) มีขนาดใหญ่พอสมควร ต่อให้วางคู่มือผู้ใช้รถรวมทั้งสมุดรับประกันคุณภาพ และเอกสารประกันภัย ก็ยังมีพื้นที่เหลือพอสำหรับวางกล้องถ่ายรูปขนาด Compact ได้อยู่ดี
สิ่งที่ควรปรับปรุงก็คือ ตำแหน่งของสวิตช์ไฟฉุกเฉิน ใต้ช่องแอร์คู่กลาง ฝั่งขวา เพราะในจังหวะคับขัน ที่จะต้องชะลอรถ จากอุบัติเหตุข้างหน้า พอจะเอื้อมมือหาปุ่มไฟฉุกเฉิน เพื่อเปิดเตือนรถคันที่แล่นตามผมมา กลับต้องใช้เวลาเป็นวินาที กว่าจะระลึกได้ว่า ปุ่มมันอยู่ใต้ช่องแอร์นี่หว่า ถ้าย้ายตำแหน่งติดตั้งไปไว้ด้านบนสุด เหนือหน้าจอกลาง น่าจะดีกว่า
แผงควบคุมกลางทั้งหมด ถูกยกพื้นที่ไว้ให้กับ จอ Monitor สี แบบ Touch Screen ขนาดใหญ่เบ้อเร่อ 10.4 นิ้ว โดย Interface ของหน้าจอ Home Page จะมีเมนูการใช้งานหลัก วางเรียงต่อกัน ดังนี้ (เริ่มจากแถวบนสุดจากซ้ายไปทางขวา และล่างสุดจากซ้ายไปทางขวา) การเล่นเพลง การเชื่อมต่อ Chevrolet Link เครื่องเล่นวิทยุ FM/AM การเชื่อมต่อโทรศัพท์ การแจ้งเตือนแรงดันลมยาง และการตั้งค่าตัวรถ นอกจากนี้ แถบเครื่องมือลัดด้านล่างของหน้าจอยังมีเมนูสำหรับ การเล่นเพลง เครื่องปรับอากาศ และกล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา อีกด้วย
เครื่องปรับอากาศของรุ่น LS และ LT จะเป็นแบบธรรมดา แต่รุ่น Premier จะเป็นแบบอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการควบคุมเครื่องปรับอากาศของทั้งคู่ ทั้งการปรับระดับความแรงพัดลม การปรับระดับความเย็น (รุ่น LS และ LT) การกำหนดอุณหภูมิ (รุ่น Premier) รูปแบบการเป่าลม การควบคุมอากาศหมุนเวียนภายในรถ และระบบไล่ฝ้าทั้งหลาย ยังต้องอาศัยการสัมผัสที่หน้าจอกลางเหมือนกันอยู่ดี
ชุดเครื่องเสียงของทุกรุ่นย่อย เป็นวิทยุ AM/FM มีฟังก์ชันเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือไร้สาย Bluetooth พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB Port และช่องเสียบ AUX รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto (Android Auto เริ่มใช้งานได้ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2020) รุ่น LS จะติดตั้งลำโพงพร้อม tweeter แบบธรรมดามาให้ 6 ตำแหน่ง ในขณะที่รุ่น LT และ Premier จะติดตั้งลำโพงที่พัฒนาโดย Infinity by Harman มาให้ทั้งหมด 8 ตำแหน่ง (รวม Subwoofer) คุณภาพเสียง ถือว่า พอรับได้ ไม่แย่
เมนูการตั้งค่าตัวรถ สามารถเข้าไปปรับตั้งค่าต่างๆ ของตัวรถได้ ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมต่อ Bluetooth การปรับอีควอไลเซอร์ของเสียง ระดับเสียง หน้าจอ ภาษา วันที่และเวลา หน้าต่างรถยนต์ การล็อกรถ ไฟรถ และอื่นๆ แต่หน้าจอทำงานค่อนข้างช้า และต้องอาศัยการสัมผัส เบาๆ ไม่ใช่กดหนักๆ ลงไป เอาเถอะครับ มัน response ได้ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ก็ยังยอมรับได้กว่าหน้าจอ Monitor ที่ตรวจหวยได้ด้วย ของ MG HS นั่นแล้วกัน!
จอแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา รับสัญญาณภาพจากกล้อง 4 ตัว ที่ติดตั้งอยู่รอบตัวรถ สามารถเลือกปรับมุมมองได้ 3 ส่วน ส่วนแรก (ด้านบน) เลือกได้ว่าจะให้แสดงมุมมองด้านหน้า หรือด้านหลัง ส่วนที่ 2 (ฝั่งซ้าย) เลือกปรับมุมมองด้านข้างรถฝั่งซ้าย หรือฝั่งขวา และส่วนที่ 3 (ฝั่งขวา) แสดงภาพจากมุมมองด้านบน ระบบฯ จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเซ็นเซอร์ด้านหน้าตรวจจับได้ว่ารถเข้าใกล้วัตถุมากเกินไป หรือ เข้าเกียร์ถอยหลังนอกจากนี้ ยังมีเส้นกะระยะตามองศาการหมุนพวงมาลัยมาให้ ทั้งหมดนี้ ถูกสงวนไว้สำหรับรุ่นท็อป Premier เท่านั้น
ด้านข้างลำตัวคนขับ ฝั่งซ้าย มีช่องวางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง ติดตั้งบนพื้นที่เดียวกันกับ สวิตช์เบรกมือไฟฟ้า EPB (Electronic Parking Brake) พร้อมระบบ Auto Brake Hold สวิตช์ล็อก – ปลดล็อก และสวิตช์เปิด – เปิดการทำงานของเครื่องปรับอากาศด้านหลัง (ยกเว้นรุ่น LS 5 ที่นั่ง) มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่สวิตช์เปิด – ปิด เซ็นเซอร์กะระยะด้านหน้าจะมีมาให้เฉพาะรุ่น Premier เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง ด้านบนเป็นฝาปิดแบบผ่อนแรง บุด้วยฟองน้ำ หุ้มด้วยหนัง เย็บตะเข็บด้ายสีขาว ทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนตรงกลางสำหรับเบาะนั่งคู่หน้าด้วย
เมื่อมองขึ้นไปด้านบน จะพบกับผ้าบุนุ่มบนเพดานหลังคาโทนสีเบจ กระจกมองหลังของรุ่น จะเป็นแบบตัดแสงรบกวน ด้วยการดึงก้านสลักที่อยู่ด้านหลัง ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ ของรุ่น LS และ LT จะเป็นหลอดไส้ธรรมดา แต่รุ่น Premier จะเป็นหลอด LED พร้อมช่องเก็บแว่นตา
ม่านบังแดดคู่หน้า พร้อมกระจกแต่งหน้าสำหรับคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้า มีมาให้ครบทุกรุ่นย่อย แต่รุ่น Premier จะติดตั้งไฟส่องสว่างมาให้เป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ในรุ่น Premier ยังมาพร้อมหลังคา Panoramic Glass Roof พร้อมม่านบังแดด เลื่อนเปิด – ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แบบ Auto One-Touch มีมือจับศาสดามาให้ 3 ตำแหน่ง (เว้นฝั่งคนขับไว้) โดยมีไฟอ่านแผนที่ LED สีขาวนวล ติดตั้งมาให้แบบลวกๆ แอบมีเผยอๆนิดๆ อยู่ด้านข้างมือจับศาสดา เหนือบานประตูคู่หลัง รวม 2 ตำแหน่ง
ทัศนวิสัย / Visibility
การติดตั้งเบาะนั่งคู่หน้าให้สูงกว่ารถเก๋งทั่วไป จนสูงเกือบเท่าบรรดา SUV/PPV ช่วยให้ทัศนวิสัยด้านหน้าของ Captiva ดูปลอดโปร่งโล่งสบายตาอยู่พอสมควร ต่อให้ปรับตำแหน่งเบาะลงต่ำสุด (ซึ่งก็ยังสูงอยู่ดีนั้น) คุณก็จะยังคงเห็นขอบฝากระโปรงหน้า ซึ่งนี่คือ ลักษณะของรถที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะชื่นชอบ เพราะมันช่วยให้การกะระยะจากวัตถุด้านหน้า ทำได้สะดวกขึ้น
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ค่อนข้างหนา โดยฝั่งขวา แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาจากทางโค้ง อยู่บ้างในบางจังหวะ ส่วนเสาคู่หน้าฝั่งซ้าย ก็ไม่บดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะกำลังรอเลี้ยวกลับรถมากนัก
กระจกมองข้าง ทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ถูกออกแบบมาให้ มองเห็นพื้นที่ด้านข้างเยอะมากขึ้น รวมทั้งการออกแบบกรอบกระจกมองข้างด้านใน ให้ลดการเบียดบังพื้นที่ ขอบกระจกฝั่งริมนอกสุด ช่วยเพิ่มการมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
ทัศนวิสัยด้านหลัง ถือว่าพอมีช่องหน้าต่าง ในรูปทรงที่เอื้อต่อการมองเห็นยานพาหนะโดยรอบคันรถ ได้ดีอยู่ประมาณหนึ่ง จนกว่าคุณจะยกพนักศีรษะด้านหลังขึ้นมา หรือมีผู้โดยสารนั่งอยู่ด้านหลัง แน่นอนครับ พวกเขาก็จะบดบังการมองเห็นของคุณตามปกติ
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
********** Technical Information & Test Drive session **********
ในตลาดต่างประเทศ SGMW เลือกวางขุมพลังให้กับ ทั้ง Baojun 530 , MG Hector และ Wulling Almaz ให้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยทางเลือกหลัก 2 เครื่องยนต์ 3 ระบบส่งกำลัง ดังนี้
Chinesse Domestic Model (Baojun 530)
ช่วงแรกที่เปิดตัว (12 มีนาคม 2018 – 26 พฤศจิกายน 2018) 530 มีขุมพลัง 2 แบบ ดังนี้
– เครื่องยนต์ รหัส LJ4 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี. หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ 137 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 186 นิวตันเมตร (18.95 กก.-ม.) ที่ 3,600 – 4,600 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์กึ่งอัตโนมัติ AMT 5 จังหวะ
– เครื่องยนต์ รหัส LJO เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,451 ซีซี. หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พ่วง Turbocharger จาก Honeywell 150 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 230 นิวตันเมตร (18.95 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 3,800 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ คลัตช์คู่ Dual Clutuch DCT 6 จังหวะ
– 26 พฤศจิกายน 2018 SGMW เปิดตัว 530 รุ่นปี 2019 โดยตัดขุมพลังเบนซิน 1.8 ลิตร 137 แรงม้า (PS) และเกียร์ AMT 5 จังหวะ ออกไป เหลือแต่เครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตร Turbo ซึ่งยังคงมีเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ให้เลือกตามเดิม แต่มีการถอดเกียร์ DCT 6 จังหวะ ทิ้งไป แล้วแทนที่ด้วย เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ลูกใหม่ จากความร่วมมือของ SGMW – BOSCH ทำให้ตัวเลขสมรรถนะของขุมพลัง เบนซิน 1.5 ลิตร Turbo ลดลงเล็กน้อย เหลือ 147 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แต่แรงบิดสูงสุด กลับเพิ่มขึ้น เป็น 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 3,600 รอบ/นาที
– ขุมพลัง 1.5 ลิตร Turbo เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์ CVT ชุดนี้ ยังคงใช้งานลากยาวมาจนถึงรุ่นปี 2020 แต่มีการปรับปรุงตัวเลขพละกำลังเล็กน้อย เป็น 147 แรงม้า (PS) ที่ 5200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 2,200 – 3,400 รอบ/นาที
India Version (MG Hector)
ลูกค้าชาวภารตะ มีทางเลือกขุมพลัง 3 แบบ บนพื้นฐานงานวิศวกรรมหลัก 2 แบบ ดังนี้
– รุ่น เบนซิน 1.5 Turbo วาง เครื่องยนต์ รหัส LJO เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,451 ซีซี. หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พ่วง Turbocharger จาก Honeywell 143 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 3,600 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ คลัตช์คู่ Dual Clutuch DCT 6 จังหวะ
– รุ่น HYBRID (ครับ อ่านไม่ผิด) วางเครื่องยนต์ รหัส LJO เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,451 ซีซี. หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พ่วง Turbocharger จาก Honeywell 150 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 3,600 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เพียงอย่างเดียว เสริมการทำงานด้วย ระบบ Mild Hybrid ประกอบด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาดเล็ก E-Boost ช่วยเพิ่มแรงบิดได้ 20 นิวตันเมตร ในยามที่ผู้ขับขี่ต้องการอัตราเร่ง ทำงานร่วมกับ แบ็ตเตอรีขนาด 48V มาพร้อมระบบดับและติดเครื่องยนต์เองอัตโนมัติ ขณะจอดติดไฟแดง Engine Idle Start Stop System รวมทั้งระบบนำพลังงานจากการเบรก เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า กลับเข้าแบ็ตเตอรี Regenerative Braking MG India เคลมไว้ว่า ระบบนี้ จะช่วยให้ประหยัดน้ำมันขึ้น 12% และลดการปล่อยมลพิษลง 11%
– รุ่น Diesel Turbo วางเครื่องยนต์ MultiJet II Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,956 ซีซี. จ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ บนรางแรงดันสูง Common-Rail พ่วง Turbocharger 170 แรงม้า (PS) ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.66 กก.-ม.) ที่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เพียงอย่างเดียว
Indonesia & Thai Version
เนื่องจาก ขุมพลังเบนซิน 1.8 ลิตร น่าจะมีเรี่ยวแรงไม่คณาเท้าขวาคนไทย ส่วนขุมพลัง Diesel 2.0 ลิตร Turbo ก็น่าจะมีต้นทุนที่สูง แถมยังอาจไม่รองรับกับคุณภาพน้ำมันบ้านเราที่สะอาดกว่า India ดังนั้น สำหรับตลาดแดนอิเหนา และเมืองไทยบ้านเรา โรงงาน Wulling กำหนดให้ Wulling Almaz เวอร์ชัน Indonesia และ Chevrolet Captiva สเป็คไทย มีขุมพลังให้เลือกเพียงแบบเดียวเท่านั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารต้นทุน รวมทั้งยังเกิดความสะดวกในการสต็อกอะไหล่ การฝึกอบรมด้านเทคนิค และการซ่อมบำรุง เป็นหลัก
คือ เครื่องยนต์ รหัส LJO เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,451 ซีซี. กระบอกสูบ-ช่วงชัก 73.8 x 84.7 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.8 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ MFI (Multi Fuel Injection) พร้อมระบบวาล์วแปรผันคู่ DVVT (Dual Variable Valve Timing) พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger จาก Honeywell
เครื่องยนต์รุ่นนี้ ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานจาก เครื่องยนต์รหัส LL5 (S-TECH III) ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันระหว่าง GMDAT กับ Suzuki เมื่อหลายปีก่อน
ด้วยเหตุผลด้านมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวด ในระดับ Euro 4 รวมทั้งคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงในบ้านเรา ทำให้ตัวเลขกำลังสูงสุดจะลดลงมา จาก 147 แรงม้า (PS) เหลือ 143 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 2,400 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุดได้แค่แก๊สโซฮอล (Gasohol) E10 เท่านั้น!! ปล่อยมลพิษ ตามมาตรฐานการทดสอบของรัฐบาลไทย (อ้างอิงมาตรฐาน UNECE) ที่ 198 กรัม/กิโลเมตร
เครื่องยนต์ดังกล่าว ถ่ายทอดกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT รุ่น CTF-25A พร้อมโปรแกรมสร้างแบ่งอัตราทดพูลเลย์ จำลอง 8 จังหวะ “Shift Control” ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง SAIC-GM-Wuling (SGMW) และ BOSCH จากเยอรมนี
คันเกียร์ มี Mode + / – เพื่อให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ (ล็อคตำแหน่งพูเลย์ตามโปรแกรมของสมองกลเกียร์) ขณะขับขี่ได้ตามความต้องการ วิธีใช้งาน คือ โยกคันเกียร์ไปทางขวา จากนั้น โยกไปข้างหน้าเพื่อขึ้นเกียร์ (Shift Up)โยกมาข้างหลังเพื่อลดเกียร์ (Shift Down) น่าเสียดายว่า เวอร์ชันไทย ทุกรุ่นย่อย ไม่ได้ติดตั้งแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddleshift มาให้ลูกค้าในบ้านเราเลยแม้แต่คันเดียว
อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
- อัตราทดเกียร์ส่งกำลัง : 2.631-0.378
- อัตราทดเกียร์ถอยหลัง : 1.754
- อัตราทดเฟืองท้าย : 5.511
ในกรณีที่คุณจำเป็นต้องจอดรถขวางชาวบ้าน ไม่ต้องกังวลครับ Captiva ใหม่นี้ ออกแบบให้คุณสามารถปลดเกียร์ว่าง จอด ดับเครื่อง ล็อครถได้ แต่มันจะยุ่งยากกว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆหน่อย วิธีการ มีดังนี้
- เอานิ้วกดปุ่มเบรกมือไฟฟ้า กดลงค้างไว้ อย่าเพิ่งยก
- ดับเครื่องยนต์ วิธีนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้เบรกมือไฟฟ้าจับเบรกตอนดับเครื่องยนต์
- เอานิ้วคลำหาปุ่ม ซึ่งซ่อนอยู่ในถุงเกียร์หนัง ทางด้านซ้ายของคันเกียร์
- หาเจอแล้วก็เอานิ้วกดคาไว้ เอาอีกมือนึงเลื่อนคันเกียร์มายังตำแหน่งเกียร์ว่าง (N)
ตัวเลขสมรรถนะบนถนนเมืองไทย จะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงใช้วิธีการจับเวลา หาอัตราเร่งกันเหมือนเดิม นั่นคือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ และผู้โดยสาร รวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้
อันที่จริง ตัวเลขอัตราเร่ง ของ Captiva นั้น มันไม่ได้แย่ เมื่อเทียบกับ Captiva รุ่นเดิม ซึ่งใช้เครื่องยนต์ Diesel 2.0 ลิตร Turbo ก็ยิ่งเห็นว่า พวกเขาพยายามกันเต็มที่ จน Captiva ใหม่ มีอัตราเร่งที่ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมชัดเจนมาก นี่คือผลลัพธ์จากการนำเทคโนโลยี Downsizing มาใช้กับเครื่องยนต์ยุคใหม่ ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้ามองอย่างเป็นกลาง และเป็นธรรม Subaru Forester 2.0 ลิตร รุ่นล่าสุด ก็ทำตัวเลขออกมาได้เท่ากันกับ Captiva ใหม่ พอดี เพียงแต่ว่า เมื่อดูตัวเลข ช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้ว มันด้อยกว่าชาวบ้านเขาจนยากจะปฏิเสธ และตัวเลขที่เห็นนั้น มาจากการที่เรากดจับเวลากัน หลายสิบรอบ เพื่อหาค่ากลาง ที่ตัวรถทำได้จริง แต่มีอีกหลายสิบครั้ง ที่ตัวเลขไปโผล่แถวๆ 10 วินาที ต้นๆ เสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราเร่งบนตารางเหล่านี้ คงเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันให้เราได้เห็นอยู่ดีว่า GM ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ หรือในจีน ก็ทำเครื่องยนต์สันดาป 4 สูบ ออกมาให้มีสมรรถนะดีได้แค่ประมาณหนึ่ง หากมองจชากตัวเครื่องเปล่าๆ แต่พอมาใส่กับตัวรถคันจริง พวกเขาดูเหมือนจะลืมเรื่องการลดน้ำหนักชิ้นส่วนต่างๆ ลง ผลก็คือ ต้องปล่อยให้เครื่องยนต์ มาแบกรับภาระตัวรถอันหนักอึ้ง ตัวเลขจึงออกมาเป็นแบบนี้ อัตราเร่งจึงออกมาสู้ชาวบ้านเขาไม่ได้เลย
อันที่จริง เรี่ยวแรงที่มีให้หนะ ไม่ได้ถึงกับน่าเกลียด แต่มันซวยตรงที่ พอมาเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ที่แรงกว่าแทบทั้งหมด Captiva ใหม่ จึง อืดไปหน่อย และตัวเลขก็หล่นลงไปอยู่ท้ายตาราง แค่นั้นเอง
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
คำตอบก็คือ การตอบสนองของคันเร่ง มันไม่โอเคเลยยังไงละครับ!
การไต่ความเร็วขึ้นไปจากจุดหยุดนิ่งนั้น ทันทีที่คุณกดคันเร่งลงไปจมมิด เข็มวัดรอบจะกวาดขึ้นไป สุดที่ราวๆ 5,200 รอบ/นาที จากนั้น ถ้าคุณยังกดคันเร่งแช่จมมิดต่อไป รอบเครื่องยนต์จึงจะไต่เพิ่มขึ้นให้อีกเล็กน้อย ไปสุดที่แถวๆ 5,400 รอบ/นาที ก่อนจะค่อยๆลดลงมาอยู่ในระดับ 5,000 รอบ/นาที
ขณะเดียวกัน เข็มความเร็วก็ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ (ออกแนวเฉื่อยหน่อยๆ) อย่างต่อเนื่อง พอๆกันกับ Subaru Forester 2.0 ลิตร จนกระทั่งถึงช่วงหลัง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป จึงจะเริ่มไต่ขึ้นช้าลงนิดหน่อย และต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง จึงจะขึ้นไปจบที่ ความเร็วสูงสุด
(ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบทั้งสิ้น ในทุกกรณี)
ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่เครื่องยนต์มีมาให้ ไม่ได้อืดมากจนเกินจะรับได้หรอกครับ แต่สิ่งที่เป็นตัวถ่วงสำคัญ คือ การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้า ที่มีนิสัย โคตรเอาแต่ใจตัวเอง เหมือนรปภ.กะดึก ถูกปลุกระหว่างแอบงีบหลับยาม หรือนักเรียน ม.ปลาย ที่งัวเงียตื่นจากภวังค์ และกำลังตั้งสติก่อนจะรู้ตัวในอีก 2 วินาทีต่อมา ว่าเช้านี้มีสอบปลายภาค!
แต่ถึงจะรู้ตัวแล้ว พี่แกก็ยังดูเนือยๆ ไม่กระวีกระวาด ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี้กระเปร่า เหมือนอย่างที่รถยนต์ซึ่งใช้เครื่องยนต์ Turbo ควรเป็นกัน แต่กลับค่อยๆลากขึ้นไป ตอบสนองแบบตามใจตัวเอง ชิบหาย ในสไตล์เดียวกับคันเร่งของ MG HS ไม่มีผิด!
จังหวะแรกที่คุณจุ่มคันเร่งลงไป จะแค่เบาๆ หรือลึกๆ ขนาดไหนไหน ระบบไฟฟ้าก็สั่งการไปยังกล่องสมองกลของเกียร์และเครื่องยนต์ ได้ช้าพอๆกับ ชุดเครื่องเสียงของ Captitva นี่แหละ การตอบสนองที่ช้าแบบนี้ ก่อปัญหาในการเหยียบคันเร่ง ขณะเลี้ยวกลับรถ หรือช่วงออกจากไฟแดง แถมยังตอบสนองไม่ทันใจเลย
ไม่ใช่เเค่ในจังหวะออกตัวเท่านั้น หากแต่ในระหว่างเดินทาง ถ้าคุณคิดจะเร่งแซงอย่างเร่งด่วน เพื่อหลีกหนีจากสถานการณ์คับขัน การกดคันเร่ง แค่ครึ่งตีน หรือเต็มตีน ก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย หนำซ้ำ คุณยังต้องรออีกอย่างน้อยๆ 1.5 – 2 วินาที กว่าที่รถจะตอบสนอง จนทำให้เสียจังหวะ และเสียโอกาสในการเร่งแซงขึ้นไป จนล่าช้ากว่าความตั้งใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับเพื่อนร่วมทางได้ ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้ง ผมเหยียบคันเร่งไปเพื่อหวังให้รถทะยานขึ้นหน้าไปอีกนิด กลับกลายเป็นว่า รถเพิ่มแรงส่งให้ทะยานมากเกินไปกว่าที่ผมต้องการนิดนึงด้วยซ้ำ ในบางกรณี
พูดกันตรงๆ ถ้าคุณลองหักเวลาในการตอบสนองของคันเร่ง ออกไปอีกประมาณ 1.5-2 วินาที ผลก็จะออกเป็นว่าพละกำลังที่เครื่องยนต์บล็อกนี้มีมาให้ มันก็ทำอัตราเร่งได้ไม่ได้น่าเกลียดเลยนะ ตัวเลขจะหล่นลงมาเหลือแถวๆ 10 วินาทีปลายๆ ถึง 11 วินาที กลางๆ ซึ่งจะแแข่งขันกับชาวบ้านชาวช่องเขาได้สูสีขึ้นกว่านี้ นั่นแปลว่า หากเป็นไปได้ SGMW ควรไปปรับปรุงการตอบสนองของคันเร่ง และอัพเกรดระบบไฟฟ้า ให้ไวกว่านี้
ถ้าคุณคิดว่า จะลองเปลี่ยนไปใช้เกียร์ S เพื่อหวังให้ตอบสนองไวขึ้น บอกเลยครับ ว่า มันจะได้ผลเฉพาะตอนเร่งแซงเท่านั้น และเอาเข้าจริง รอบเครื่องยนต์ก็แค่ดีดขึ้นไป นิดหน่อย แล้วก็กลับมาเหี่ยวลงตามเดิมอยู่ดี ถ้าคุณเหยียบคันเร่งไม่ลึกพอ ทำให้ผลลัพธ์ ก็แทบไม่ต่างกันนัก ทว่า ถ้าลองออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง กลับทำเวลาได้อืดกว่า โดยเปล่าประโยชน์ อย่างพิศวงงงงวยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมพบเจอก็คือ ตลอดระยะเวลาที่ผมนำ Captiva Premier มาลองขับ พบว่าเกียร์ CVT เอง ก็มีอาการเย่อเกิดขึ้นอยู่บ้างเหมือนกัน ในเวลาถอนเท้าออกจากคันเร่ง เพียงแต่ว่า มันเกิดขึ้นในบางจังหวะ ไม่ได้บ่อยนัก ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ควรจะมีในเกียร์ CVT รุ่นใหม่ๆ เลย
อาการต่างๆเหล่านี้ ผมได้แต่บอกว่า คงต้องทำใจ เพราะ GM น่าจะไม่เหลือทีมงานวิศวกรพอจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ในเมืองไทย ให้คุณได้อีกต่อไปแล้ว จะเหลืออยู่ก็แค่ ทีมช่าง และทีมฝ่ายอะไหล่เท่านั้น
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร / Noise Vibration & Harshness
การเก็บเสียงทำได้ดีมาก แทบไม่อยากเชื่อว่า Captiva จะถูกออกแบบให้มีวัสดุซับเสียง รวมทั้งยางขอบประตูที่แน่นหนาดีเพียงพอจนทำให้เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวถัง ค่อนข้างเงียบมาก จนถึงความเร็วสูงถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงจะเริ่มได้ยินเสียงลมเข้ามาบ้าง นี่คือจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะในบรรดารถยนต์ระดับราคา 1 ล้านบาท บวกลบ แทบไม่มีรถยนต์คันไหน ที่เก็บเสียงกระแสลมจากภายนอก และให้ความรื่นรมย์ในการเดินทางใกล้เคียงกับรถยนต์ Premium จาก Europe ได้ดีเท่านี้มาก่อน!
แต่…เมื่อนั่งฟังไปสักพัก ความรื่นรมณ์ที่ว่า ก็จะหายไป ในทันทีที่คุณได้ยินเสียงของเครื่องยนต์ ซึ่งครางในย่านความถี่ต่ำ และดัง เหมือนเครื่องยนต์ดีเซลของเรือข้ามฝากท่าพระจันทร์! ความสงบในห้องโดยสาร พลันหายไป จนเป็นความรู้สึกใหม่ที่ประหลาดและแสนเซ็ง ว่าเหตุใดหนอ เสียง Turbo ในรอบต่ำ ช่างละม้ายคล้ายกับเครื่องสูบน้ำการเกษตรในขณะที่เสียง Blow off valve จาก Turbo ในช่วงรอบสูง มันวี๊ดดังเหมือนเสียงมอเตอร์ของเครื่องปั่นน้ำผลไม้ !!
อย่างไรก็ตาม เรื่องเสียงรบกวนจากระบบขับเคลื่อนยังไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับ ปัญหากลิ่นจากภายนอกรถเล็ดลอดเข้ามาในห้องโดยสารได้ ทั้งที่ผมยังเปิดใช้ระบบอากาศหมุนวนในยามค่ำคืนที่ต้องขับผ่านจุดที่มีการเผาหญ้า โอ้โห!!!เหม็นชิบหายเลยครับ! อย่างกับ Honda BR-V ล็อตแรกที่มีปัญหาเดียวกัน (แต่ได้ยินว่าแก้ไขไปแล้ว) ก็ไม่ปาน
ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel
พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.95 เมตร การจัดวางองศาพวงมาลัย มาในสไตล์คล้ายคลึงกับ บรรดา Minivan อย่าง Mitsubishi Space Wagon รุ่นปี 2004 – 2014 หรือ Suzuki Ertiga รุ่นล่าสุด คือ ตำแหน่งพวงมาลัยจะเงยขึ้นนิดๆ ตามความสูงของตำแหน่งเบาะคนขับ จนอยู่ก้ำกึ่งตรงกลาง ระหว่าง พวงมาลัยของรถเก๋งบ้านๆ กับพวงมาลัยของรถตู้ ดังนั้น การปรับตำแหน่งพวงมาลัย ให้พอดีกับท่านั่งขับตามปกติที่ถูกต้อง อาจไม่ได้ตรงดังใจเป๊ะ แต่ต้องหาจุดสมดุลย์ที่สุดเท่าที่พอจะเป็นไปได้
ในช่วงความเร็วต่ำ จนถึงไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัย ถูกเซ็ตมาให้มีน้ำหนักเบาหวิว ในช่วงความเร็วต่ำ (แต่ยังไม่ถึงขั้นเบาโหวง) ระยะฟรีของพวงมาลัยมีพอสมควร การบังคับเลี้ยวทำได้ง่ายเพราะ แรงขืนที่พวงมาลัยน้อยมากๆ ช่วยให้การเลี้ยวลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยต่าง หรือถอยหลังเข้าจอด ทำได้ง่ายดาย เบาแรงดี
หลังจากนั้น เมื่อใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น พวงมาลัยจะเริ่มหนืดและหนักขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้การถือพวงมาลัยในช่วงความเร็วสูง เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึง Top speed อยู่ในระดับที่ พอไว้ใจได้ และสัมผัสขณะถือครองพวงมาลัยไปตรงๆ หรือ on center feelings พอยอมรับได้ ไม่ต้องคัดซ้ายคัดขวาไปมามากนัก ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีจนถึงขั้นต้องมอบประกาศเกียรติคุณกันขนาดนั้น
แต่ถ้าจะต้องบังคับเลี้ยวเข้าโค้งแล้วละก็ หากเป็นโค้งยาวๆต่อเนื่อง การควบคุมพวงมาลัยให้นิ่ง อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความมั่นใจ ก็จะลดน้อยลงไปตามแรงขืนที่มือ ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าจะต้องรีบเร่งทำเวลา เลี้ยวซ้าย – ขวา ไปมา บนถนนซึ่งเต็มไปด้วยทางโค้งรูปตัว S คุณอาจจำเป็นต้อง แตะเบรกชะลอรถก่อนเข้าโค้งบ่อยสักหน่อย มันไม่ใช่รถที่พร้อมจะพาคุณยัดโค้ง แล้วออกโค้งได้ดีหรือเร็วเลย ตรงกันข้าม พวงมาลัยที่ตอบสนองเฉื่อยๆแบบนี้ เหมาะกับคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ในการขับรถมากนัก และเป็นคนขับรถไม่เร็ว มิเช่นนั้น หากคุณเป็นนักซิ่งเลือดเดือด คุณจะไม่ชอบการตอบสนองของพวงมาลัย Captiva ใหม่ ไปเลย
ระบบกันสะเทือน / Suspension
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut พร้อม Coil Spring กับ เหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Multi-Link พร้อม Coil Spring กับ เหล็กกันโคลง
ช่วงล่าง ถูกเซ็ตมาในแนวนุ่ม แอบหนึบนิดๆ ไม่เยอะ แค่พอประมาณ ไม่มากนัก เน้นความนุ่มสบาย สำหรับการเดินทางไปตรงๆ บนทางหลวงแผ่นดินทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เป็นหลักมากกว่า โดยมีบุคลิกเหมือนกับช่วงล่างที่มีน้ำหนักปานกลาง แต่ต้องแบกน้ำหนักตัวรถไว้ค่อนข้างเยอะ จึงดูเหมือนจะ Firm ทั้งที่จริงแล้ว ออกจะมีอาการโยนเกือบจะยวบยาบเสียด้วยซ้ำในบางกรณี
ช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ไปในเมือง ตามตรอก ซอก ซอย ช่วงล่างพยายามดูดซับการกระแทก เอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าเจอหลุมบ่อหรือลูกระนาดก็จะมีอาการรีบาวน์ของโช้คอัพและสปริง ให้สัมผัสได้ชัดเจน ส่วนความนุ่มนวลจะมีมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับยางติดรถ ซึ่งในกรณีของ Captiva ใหม่ นั้น
แต่ในช่วงความเร็วสูง จะเก็บอาการจากพื้นถนนและรอยต่อส่งขึ้นมาให้ผู้ขับขี่ยังรู้สึกอยู่ ถึงแม้จะเข้าโค้งต่อเนื่องยาวๆได้ดีกว่าที่คิดหน่อยๆ แต่อย่าได้คิดเอารถคันนี้หักหลบสิ่งกีดวางกระทันหัน เพราะมีโอกาสที่จะที่เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดได้สูงอยู่
Lane change ถ้ามีการเปลี่ยนเลนกระทันหันที่ความเร็วสูงมีอาการบั้นท้ายออกซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นกับsuv สูงๆที่เซ็ตมานุ่ม
ส่วนการเข้าโค้งนั้น หากเป็นโค้งยาวๆ ต่อเนื่อง ตัวรถเอียงกะเท่เร่เยอะเอาเรื่อง แต่ถ้า บนทางโค้งนั้น มีพื้นผิวเป็นลอนคลื่น คุณจะยิ่งพบอาการ ยวบยาบของช่วงล่าง ได้มากขึ้น แลเะถ้าคุณจำเป็นต้องเข้าโค้งที่คดเคี้ยวไปมา เช่นเส้นทางขึ้นเขาแถบภาคเหนือ ขอแนะนำว่า ขับขี่ในโหมดสันติรักเด็กรักโลกไป เป็นการดีที่สุด มันไม่เหมาะกับการเล่นบทบู๊ ในวันที่ชีวิตต้องการความเร่งรีบเอาเสียเลย
ถ้าไม่เชื่อ เราลองมาดูตัวเลขบนมาตรวัด ขณะแล่นผ่านทางโค้ง 5 แห่ง บนทางด่วนเฉลิมมหานคร ในกรุงเทพฯ อันเป็นทางโค้งที่ผมใช้ในการทดลองเป็นประจำยามดึกดื่น ราวๆ ตี 2 ขึ้นไป (ทดลอง ช่วงปลายปี 2019 ก่อนการระบาดของ Covid 19) ซึ่งน่าจะทำให้คุณเห็นภาพชัดเจนขึ้น
เริ่มต้นด้วย โค้งขวารูปเคียว เหนือ ย่านมักกะสัน ตามปกติแล้ว มาตรฐานที่รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในโค้ง ช่วง 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Captiva ทำได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง และไปได้แค่นั้น ถ้ามากกว่านี้ ก็มีสิทธิ์แถออกไปปะทะกับกำแพงกั้นทางได้
ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Captiva พุ่งเข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 100 และ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะ เมื่อตั้งลำได้ ก็เข้าสู่โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึงแค่ 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางและช่วงล่างของรถ จะเริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว ไม่สามารถแตะ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ ในโค้งสุดท้าย
ภาพรวมแล้ว ช่วงล่าง ถูกเซ็ตมาให้เน้นความสบายในการเดินทาง เป็นหลัก ให้การทรงตัวในชวงความเร็วสูงพอได้ แต่ไม่ได้ออกแบบมาเอาใจคุณพ่อบ้านแม่บ้านที่ชอบสาดโค้งเลยทั้งสิ้น ถ้าขับแบบสงบๆ ไม่คิดจะไปท้ารบกับใคร ผมว่าคุณน่าจะใช้ชีวิตอยู่กับช่วงล่างของ Captiva ใหม่ได้
ระบบห้ามล้อ / Brake System
Captiva ให้ ดิสก์เบรก มาครบทั้ง 4 ล้อ แต่ เฉพาะคู่หน้าเท่านั้น ที่จะมีรูระบายความร้อน เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution) และระบบเสริมแรงดันน้ำมันเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist) ทำงานร่วมกับ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESC (Electronic Stability Control) ระบบป้องกันการลื่นไถล และล้อหมุนฟรี TCS (Traction Control System) และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist)
แป้นเบรคเบามาก เหยียบลงไปประมาณ 30% แรกแทบไม่ค่อยรู้ว่ารถหน่วงความเร็วลงเท่าไหร่ คือมันก็โหวงนิดๆนั้นแหละ แต่มันยังไม่มากพอ ต้องเหยียบลงไปเกิน 40% คุณจึงจะเริ่มสัมผัสได้ว่า รถถูกหน่วงความเร็วลงมาอย่างที่ใจต้องการ แต่พอเหยียบลงไปลึกประมาณ 50% แป้นเบรคจะหนืดขึ้นแต่ขณะแรงต้านเท้าเพิ่มจากเดิมไม่มากนัก แต่ถ้าถึงขั้นต้องเบรคกระทันหัน รถจะมีอาการ “หน้าทิ่มแบบนุ่มๆ” พร้อมๆกับที่ไฟฉุกเฉิน ESS จะทำงานทันทีที่เมื่อเกิดเบรคกระทันหัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระมัดระวังก็คือ จากการทดลองเปลี่ยนเลนกระทันหันที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยหมุนพวงมาลัย ด้วยความไวแตกต่างกัน ผมพบว่า ถ้าหักพวงมาลัยเปลี่ยนหักหลบและเปลี่ยนกระทันหันเร็ว รถจะเสียการทรงตัวชัดเจน โปรแกรม ESP จะตอบสนองได้ไวประมาณหนึ่ง แต่ถ้าคุณหักพวงมาลัยเปลี่ยนเลนไวแต่ไม่เร็วพอหรือไม่มากพออย่างใดอย่างนึงหรือทั้ง 2 อย่าง กว่าจะรอให้ ESP เริ่มทำงาน บั้นท้ายของรถก็จะเริ่มปัดออกหน่อยๆ แล้ว ซึ่งบางครั้ง มันไม่ทันการณ์
ขอยืนยันเลยว่า โปรแกรมคุมการทรงตัวของ Nissan Navara และรถยนต์ Toyota แทบทุกรุ่นทำงานได้ไวกว่า ระบบ ESP ของ Captiva ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ควร Upgrade ระบบไฟฟ้าและโปรแกรมควบคุมการทรงตัว ESP ให้ทำงานไวกว่านี้ด้วยเถิด!
ความปลอดภัย / Safety features
นอกเหนือจาก ระบบ ABS , EBD ,BA (Brake Assist) ESC , TCS และ HAS แล้ว Captiva ใหม่ ยังถูกติดตั้ง อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เสริมมาให้ในระดับมาตรฐานที่รถยนต์ยุคใหม่ในปัจจุบัน ควรมีประจำการเป็นปกติสากลแล้ว ไม่ว่าจะเป็น…
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า SRS ในทุกรุ่น
– ถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารตอนหน้า เฉพาะรุ่น Premier และ LT (2 รุ่นนี้ รวมถุงลม 4 ใบ)
– เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ทุกตำแหน่ง (คู่หน้า ปรับระดับสูง – ต่ำได้)
– จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX
– ไฟกระพริบฉุกเฉินอัตโนมัติ ขณะเบรกกระทันหัน ESS (Emergency Stop Signal)
– ระบบตรวจวัด และแจ้งเตือนแรงดันลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitoring System) เฉพาะรุ่น Premier & LT
– กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา พร้อมเส้นกะระยะ (360 Degree View Camera) เฉพาะรุ่น Premier
– เซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอด ด้านหน้า (Front Park Sensor) เฉพาะรุ่น Premier
– เซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอด ด้านหลัง (Rear Park Sensor)
ทั้งหมดนี้ ถูกติดตั้งลงในโครงสร้างตัวถัง ซึ่งถูกออกแบบให้ ใช้เหล็กแบบ High Strength Steel มากกว่า 57% ของโครงสร้างตัวถังทั้งคันรถ และมีคานเหล็กนิรภัยกันกระแทกจากด้านข้าง ตามแนวทางมาตรฐานทดสอบการชน ของรัฐบาลจีน C-NCAP (China New Car Assessment Program)
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
***************** Fuel Consumption Test ******************
ตามปกติ เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงกลุ่มคนเล่นรถทั้งหลายว่า General Motors หรือ GM อาจจะเก่งในการทำเครื่องยนต์ ไซส์ใหญ่ พวก 3.6 ลิตร ขึ้นไปจนถึง 6 ลิตรกว่าๆ แต่พอเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ แล้วละก็ กลับตาลปัตร กลายเป็นว่า ตัวเลขสมรรถนะ และความประหยัดน้ำมัน มักด้อยกว่าคู่แข่งเสมอ ยิ่งพอเป็น เครื่องยนต์ จากผลงานของ ผู้ผลิตฝั่งจีน อย่าง SGMW เอง ผมก็ออกจะหวั่นใจ ว่าสิ่งที่ผมคิดมันอาจเป็นความจริง นั่นคือ ขุมพลังของ Captiva ใหม่นี้ อาจจะยังคงมีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม
ดังนั้น เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความเชื่อส่วนตัวของผม เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน ตามมาตรฐานเดิม คือ เติมน้ำมันให้เต็มถัง แค่หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว
เมื่อเติมน้ำมันเต็มถังความจุ 52 ลิตร เสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ Set 0 บน Trip Meter หมวด 1 บนปุ่ม Odo Meter และ Trip Meter โดย Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น ใหม่ ทั้งหมด
เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยทั้ง 2 คัน จะใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ
เรามาดูตัวเลขที่ Captiva Premier ทำได้กันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 94.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 8.06 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.76 กิโลเมตร/ลิตร
โอ้โห! แดกขนาดนี้ พี่นั่ง Time Machine เปิดวาร์ป มาจากโลกยุค 15 ปีที่แล้วเหรอไงครับ! อีบ้า! Lexus LC500 เครื่องยนต์ V8 5.0 ลิตร ยังประหยัดน้ำมันกว่ามึงเล้ยยยยยย!!! ตัวเลขต่ำกว่า 12 กิโลเมตร/ลิตร นี่ ไม่ได้เห็นมานานหลายปีแล้วนะ ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า ยังมีเครื่องยนต์ ที่แดกน้ำมันขนาดนี้หลงเหลือขายอยู่บนโลก ในปี 2020 นี้
ถ้าเปรียบเทียบกับตารางในกลุ่ม C-SUV ที่เราทำรีวิวกันมาทั้งหมด Captiva ใหม่ จะครองตำแหน่ง รองบ๊วย ในหมวดการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพราะอันดับโหล่สุด ตกเป็นของ MG GS แต่นั่นเขาวางเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 Turbo และทำตัวเลขได้แค่ 11.5 กิโลเมตร ตามมาตรฐานการทดลองของเรา ซึ่งการกินน้ำมันประมาณนี้ ผมถือว่า อาจยอมรับได้ ถ้าคุณไปเทียบกับ Nissan Bluebird Turbo ปี 1986 เครื่องยนต์ FJ20ET
แต่…นี่มันรถปี 2020 แล้วนะเว้ยเฮ้ย! มันควรจะประหยัดกว่านี้หรือเปล่า? ชาวจีนที่รัก?
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่า น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน บอกได้เลยว่า แม้ถังน้ำมันจะมีขนาดใหญ่ระดับปานกลางคือ 52 ลิตร แต่ หากคุณขับขี่ใช้งานตามปกติ แบบไม่ค่อยเจอรถติดเท่าไหร่ ขับบนทางด่วน ความเร็ว ไม่เกิน 120 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง บ้าง (รถมันไม่เอื้อให้คุณใช้ความเร็วสูงกว่านี้นัก) เมื่อไฟเตือนให้เติมน้ำมันจะเริ่มกระพริบเตือน นั่นหมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณแล่นไปได้แค่ ประมาณ 350 – 400 กิโลเมตร ชนิดที่ว่า อาจต้องมีลุ้น ต่อให้ขับเบาเท้าขวามากกว่านี้ ตัวเลขก็จะดีขึ้นกว่านีแค่ไม่เกิน 50 กิโลเมตร พูดกันตรงๆก็คือ Captiva ใหม่ กินน้ำมันกว่ารถรุ่นเดิมที่เราเคยทดลองขับกันมา ชัดเจนมาก!
********** สรุป **********
จุดเด่นคือ หน้าตาร่วมสมัย จุดด้อยคือ เบาะหน้า-กลาง แก้สมองกลเกียร์และคันเร่ง
จูนเครื่องให้ประหยัดกว่านี้ ขายในราคาถูกกว่านี้ แล้วค่อยมาคุยกันใหม่…
….แต่มันสายไปแล้วละ!
คุณอาจสงสัยว่า จนป่านนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ได้ผ่านพ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว GM ก็เลิกทำตลาดรถยนต์ในเมืองไทยแล้ว Captiva เอง ก็ขายไปจนหมดเกลี้ยงแล้ว เหลือติดโชว์รูมในต่างจังหวัดเพียงไม่กี่คันเท่านั้น (ณ วันที่บทความนี้เริ่มเผยแพร่) มันจะมีประโยชน์อันใดที่จะต้องทำรีวิวนี้ออกมาให้อ่านกันอีก?
เหตุผลที่ผมยังเดินหน้าเข็น บทความนี้ จนเสร็จออกมาให้คุณได้อ่านกันก็คือ ผมอยากจะบันทึกเรื่องราวที่ผมประสบพบเจอ ตลอดช่วงระยะเวลาห้วงสุดท้ายที่ GM ยังคงดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในบ้านเราเอาไว้ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์วงการยานยนต์ของเมืองไทย เพราะเชื่อแน่ว่า หลังจากนี้ คงจะไม่มีใครบันทึกเรื่องราวของ GM และ Chevrolet ในเมืองไทย ในระดับ “ละเอียดเท่าที่พอจะเปิดเผยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” เช่นนี้อีก
แน่นอนครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ GM Thailand จะยอมคล้อยตามการโน้มน้าวของ SGMW เพื่อนำ Baojun 530 ไปให้โรงงาน Wuliing ของตนใน Indonesia ประกอบส่งมาขายในเมืองไทย ด้วยชื่อ Chevrolet Captiva เท่าไหร่นัก
เป็นธรรมดา ที่ SGMW ต้องการขยายตลาด จะหวังพึ่งพายอดขายในประเทศจีนเพียงอย่างเดียว มันเสี่ยงเกินไป ขณะเดียวกัน เป็นธรรมดา ที่ GM Thailand ก็พยายามดิ้นรน จะสร้างยอดขายให้บริษัทแม่ ยังคงเห็นความสำคัญของการยืนหยัดอยู่ในตลาดรถยนต์ของประเทศไทย จึงจำเป็น ต้องหารถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้ามาเปิดตัว ทำตลาดในบ้านเราอีกครั้ง หลังจากที่ต้องเลิกผลิตและจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้ง Chevrolet Sonic และ Chevrlet Cruze ไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่พวกเขาก็ไม่คิดจะรื้อแผนการพัฒนาเจเนอเรชันต่อไปของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นนี้ มาทำต่อ
แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง นี่มันก็เป็น “วิถีปกติ” ของ GM ที่พวกฝรั่งมังค่า ณ สำนักงานใหญ่ในเมือง Detroit นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ นึกอยากจะส่งรถยนต์รุ่นไหน ไปใส่แบรนด์ใด หรือเอารถยนต์ที่พันธมิตรเครือข่ายของตน ทำออกมา ไปแปะตราขายกันมั่วซั่วเละเทะไปหมด เขาก็ทำ โดยไม่เคยคิดสนใจทั้งความต่อเนื่องของความเชื่อมั่นในแบรนด์จากมุมมองของผู้บริโภค ไม่เคยคิดสนใจแม้แต่รากเหง้าทางสายพันธ์ของตระกูลรถยนต์ที่ตนเคยทำขาย พูดให้ง่ายๆก็คือ รถห่าอะไรก็ตาม ที่มีแววว่า จะทำเงินได้ กูจะเอาไปขายที่ไหนก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ ขอใหได้เงิน โดยไม่แคร์ความรู้สึกของลูกค้าเลยแม้แต่น้อย
GM อาจจะใช้วิธีเช่นนี้ ได้กับรถบางตระกูล ตามความเหมาะสมของตลาด เช่น นำรถยนต์จาก พันธมิตรเก่าอย่าง Isuzu ไปขายในประเทศ Australia กับ New Zealand ด้วยชื่อ Holden ส่งไปขายในยุโรปด้วยชื่อ Opel ส่งไปขายในสหราชอาณาจักรด้วยชื่อ Vauxhall หรือส่งไปขายในตลาดอเมริกาใต้ ด้วยชื่อ Chevrolet ซึ่งในอดีต มันก็มีรถยนต์ที่พวกเขาใช้วิธีการนี้แล้วประสบความสำเร็จ เช่น รถกระบะ Compact size Pickup Truck ซึ่งพัฒนาร่วมกัน ออกมาขายในชื่อ Isuzu Faster / Chevrolet LUV (1972 – 2002) ตามด้วย Isuzu D-Max / Chevrolet Colorado (2002 – 2019) หรือแม้แต่ GM T-Body และ R-Body รถเก๋ง Compact Sedan & Coupe ที่เปิดตัวในชื่อ Isuzu Gemini (พฤศจิกายน 1974 – 1991) ซึ่งถูกนำไปเปลี่ยนชื่อในหลายตลาดจนแทบจะจำของเดิมไม่ได้ ตั้งแต่ Opel Gemini / Holden Gemini / Saehan or Daewoo Maepsy / Geo Spectrum / Isuzu I-Mark / Pontiac Sunburst / Chevrolet Chevette ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่งคุณไม่ต้องไปจำมันหรอก มันเยอะจัดขนาดที่ผมยังจำได้ไม่ครบเลยเถอะ!!!
แต่มันก็ไม่ใช่ทุกกรณีที่จะประสบความสำเร็จ ตัวอย่างที่เจ็บปวดและแสบสันที่สุดครั้งหนึ่ง ก็คือ เมื่อ GM เข้าซื้อหุ้นของ Fuji Heavy Industries (Subaru) จาก Nissan ซึ่งกำลังควบรวมกับ Renault ในปี 1999 จากนั้น พวกเขาก็พยายามหาผลกำไรจากการซื้อหุ้นครั้งนี้ ด้วยการออกไอเดีย ให้ Subaru ส่ง Forester ไปขายใน India ด้วยชื่อ Chevrolet Forester..!!! เอา Opel / Vauxhall / Chevrolet Zafira Made in Thailand ส่งกลับไปขายในญี่ปุ่นด้วยชื่อ Subaru Traviq!!! และที่บ้ามากสุด ก็คือ สั่งให้ Subaru ส่ง Impreza Wagon รุ่น 2 ให้ Saab ใน Sweden แปลงหน้า แปลงท้าย ส่งขายในตลาดอเมริกาเหนือ ในชื่อ Saab 9-2x ออกขายในปี 2004 – 2005 ด้วยความคิดแค่ว่า ทั้ง 2 บริษัท ต่างมีรากเหง้าจากการผลิตอากาศยานเหมือนกัน ลูกค้าชาวอเมริกันก็น่าจะชอบ!!! (ไอ้บ้า!!!!คิดไดแค่นี้จริงๆเหรอ???)
สุดท้าย ทุกรุ่นที่กล่าวมาในความร่วมมือกับ Subaru เจ๊งบ๊งหมด ยอดขายไม่ดีเอาเสียเลย เพราะลูกค้าในประเทศเหล่านั้น เขาไม่โง่ อย่างที่ ฝรั่งของ GM ใน Detroit ยุคนั้นเขาคิดกัน! สุดท้าย GM ก็ยอมแพ้ และขายหุ้นของ FHI ที่ตนถืออยู่ ออกไปทั้งหมด ในเดือนตุลาคม 2005 โดย Toyota ต้องเข้ามารับช่วงซื้อหุ้นเหล่านั้นแทน และเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง Toyota กับ Subaru จนถึงปัจจุบัน
Chevrolet Captiva รุ่นแรก เอง ก็ถือกำเนิดจาก แม่งานหลักฝั่งเกาหลีใต้ อย่าง GM Daewoo ออกขายในบ้านตัวเองด้วยชื่อ Daewoo Winstorm และส่งไปขายในตลาดโลกภายใต้ชื่อ Chevrolet Captiva ก่อนที่ต่อมา GM จะยกเลิกแบรนด์ Daewoo ที่คนเกาหลีใต้คุ้นเคยกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเลือกที่จะยัดเยียดให้เปลี่ยนมาใช้ แบรนด์ Chevrolet ในปี 2011 เพียงเพื่อความประหยัดในการบริหารจัดการต่างๆ และเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ GM ให้ดูสากลมากขึ้น แค่นั้น!!
พอมาถึงรุ่นที่ 2 Captiva ก็ยังคงหนีวงจรอุบาทว์นี้ไม่พ้น แถมคราวนี้ แทนที่จะให้ GM Korea เป็นแม่งานในการพัฒนารุ่นต่อไป กลับเลือกเปลี่ยนไปให้ SGMW พันธมิตรของ GM ในจีน อีกแห่งหนึ่ง (นอกเหนือจาก SAIC) นำเอา Baojun 530 ของตน มาแปะโลโก้ Bow-tie ส่งขายในชื่อ Chevrolet Captiva กันดื้อๆเสียอย่างนั้น โดยที่รถทั้ง 2 รุ่น ก็ไม่มีความเกี่ยวโยงญาติกรรมใดๆด้วยประการทั้งปวง
นีคือ หนึ่งวิธีการของ GM ที่พยายามจะแก้ปัญหา และเอาตัวรอดให้ได้ จากสภาพการณ์ต่างๆของโลก ที่บีบรัดองค์กรในด้านต่างๆ และวันนี้ การจับแพะชนแกะที่พวกเขาเคยทำมาตลอดนั้น มันอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป และกลายเป็นอีกเรื่องราวส่วนหนึ่ง ซึ่งไปสร้างภาพจำที่ไม่ดีในระยะยาว ให้เกิดแก่สายตาผู้บริโภค อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากเราไม่นับเรื่องราคาที่ถูกดัมพ์ลงมาจนถูกสุดกู่ ถ้าจะถามว่า Captiva คันนี้ มีคุณงามความดีอะไรบ้าง สิ่งเดียวที่ผมพอจะตอบได้ก็คือ รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูเฉียบคม ร่วมยุคสมัย รวมทั้งชิ้นส่วนตัวรถที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากในหลายๆจุด ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกหนักแน่น มั่นคง ให้บังเกิดขึ้นในใจของผู้บริโภคที่ไม่รู้เรื่องราวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์มากนัก ช่วงล่าง ก็พอจะรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ อยางไม่ขัดเขิน แม้จะไม่รองรับบทบู๊ในวันมามากก็ตามแต่ อีกทั้งพวงมาลัย ก็พอใช้งานได้ อยู่ในเกณฑ์กลางๆ ไม่ดีมาก และไม่แย่เกินไป กลายเป็นว่า มันเหมาะกับคุณแม่บ้าน ขับไปจ่ายตลาด หรือไปรับลูกที่โรงเรียน ในระยะที่ไม่ห่างไกลจากบ้านมากนัก เป็นหลัก เสียมากกว่า
นอกนั้น หนะเหรอครับ? พูดกันตามตรง ตัวรถมันถูกตั้งราคาให้แพงเกินกว่าตัวของมันเองมาตั้งแต่แรก!
เปิดประตูขึ้นไปนั่ง พนักพิงศีรษะก็ดันกบาล ทั้งเบาะหน้า-หลัง นั่งไม่สบายเท่าที่ควร สอบตกในประเด็น การออกแบบด้านสรีรศาสตร์ (Ergonomics Design) ในประเด็นที่เกี่ยวกับเบาะนั่ง แทบทั้งหมด เป็นประเด็นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ Chevrolet Spin ไม่มีผิด
ด้านเครื่องยนต์ มองผิวเผิน เหมือนจะตอบสนองพอใช้ได้ แต่การเซ็ตคันเร่ง กลับไม่ลงตัว จนตอบสนองล่าช้ากว่าสถานการณ์จริงที่ผู้ขับขี่เผชิญอยู่ แถมยังกินน้ำมันกว่ารถยนต์ Luxury Coupe เครื่องยนต์ V8 เสียอีก (ในการทดลองด้วยมาตรฐานเดียวกันเป๊ะ) เกียร์ CVT ยังแอบเย่อนิดๆ สมองกลเกียร์ยังทำงานไม่ฉลาดเท่าที่ควร ระบบตัวช่วย ESP ก็ทำงานล่าช้าเกินไป รถนี่เอียงกะเท่เร่จนเกือบจะคว่ำแล้ว ระบบมันเพิ่งจะได้สติว่าต้องทำงาน เสียอย่างนั้น โดยรวมแล้ว มันทำผลงานออกมาได้ไม่สมกับค่าตัวที่ตั้งไว้แต่แรกเลย
พูดกันตามตรงก็คือ ถ้า GM ยอมตั้งราคา Captiva ตอนเปิดตัว ในช่วง 7 แสนบาทต้นๆ จบที่ไม่เกิน 9 แสนบาท ต้นๆ ผู้บริโภคจะมองเห็นว่า ตัวรถนั้น ทำออกมาในระดับพอยอมรับได้ เครื่องยนต์ อาจจะแรงไม่เท่าชาวบ้าน แต่ ด้วยรูปทรง หน้าตา ที่ร่วมสมัย ภายใน ที่พอนั่งโดยสารได้ดีประมาณหนึ่ง และมีจอ Infotainment ขนาดใหญ่พอๆกับ Tesla มาให้ แถมยังนั่งโดยสารได้ 7 ที่นั่ง ในราคาดังกล่าว ก็อาจทำให้ลูกค้าบางส่วน ปันใจจาก Mitsubishi Xpander หรือ MG ZS ได้โดยไม่ยาก และอาจมียอดขายดีกว่านี้
อย่างไรก็ตามเหตุผลของการตั้งราคาไว้สูงขนาดนั้นก็คือ ตามแผนเดิม GM เคยแอบซุ่มเงียบเตรียม นำ Baojun 510 ญาติผู้น้องของ Captiva ในเมืองจีน เข้ามาขายในเมืองไทย ในปี 2020 โดยตั้งราคาให้ถูกกว่า Captiva อยู่แล้ว (ก่อนที่แผนทั้งหมดจะถูกยกเลิก หลังวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2020) ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงต้องตั้งราคา Captiva ใหม่ ในตอนแรก อย่างที่เห็นกันนั่นแหละครับ เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ
ผลของการตั้งราคา 959,000 – 1,199,000 บาท ในช่วงแรกนั่นแหละคือ ฝันร้าย เพราะแทนที่ลูกค้าจะมองว่า พวกเขาจะได้ SUV ขนาดกลาง ที่เพียบพร้อมเท่าๆ Honda CR-V แต่มีราคาถูกกว่าเยอะ กลับกลายเป็นว่า ลูกค้านำคุณสมบัติต่างๆของตัวรถ ไปเปรียบเทียบกับ MG HS ซึ่งมีราคาถูกกว่าแทน ยอดขายจึงไม่เดินเท่าที่ควร รุ่นที่พอขายได้ก็มีแต่รุ่น Premier เท่านั้น ส่วนรุ่นถูกสุด 5 ที่นั่ง LS เงียบสนิท
ยิ่งพอถึงเวลาให้สื่อมวลชนได้สัมผัสและลองขับรถคันขายจริง คุณจะพบว่า หลายบทความรีวิว จากสื่อหลายสำนัก ทั้ง Onlie – Offline หรือแม้แต่ใน YouTube ต่างพากันพูดถึงรถคันนี้ ในลักษณะ บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ทั้งที่ทุกๆคน รู้อยู่เต็มอกว่า รถมันไม่ได้ดีเด่นพอที่จะต่อกรกับคู่แข่งได้เลย แต่พวกเขาก็ไม่อยากพูดตรงไปตรงมากันมากนัก นั่นเพราะสื่อมวลชนหลายๆคน…เขาเข้าใจ และคำนึงถึง หัวอกหัวใจ ของทีมประชาสัมพันธ์ของ GM ในช่วงสุดท้าย ก่อนเลิกขายรถในบ้านเรา ต่างหาก ทีม PR และการตลาด ทำงานร่วมกันกับทีมอื่นๆ ในบริษัท อย่างแข็งขัน พวกเขาไม่ได้เป็นฝ่ายที่สมควรจะมานั่งรับคำด่าทอใดๆอันเกิดจากตัวรถ และผู้ที่สมควรจะถูกด่า ก็คือ ผู้บริหารของ GM หลายๆคน ใน Detroit เพราะคนเหล่านี้ไม่แคร์ ไม่แยแสอะไรไปมากกว่า ความอยู่รอดในตำแหน่งหน้าที่การงาน และสวัสดิการต่างๆตามสิทธิ์ที่ตนเองต้องได้รับ
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทันทีที่มีการประกาศโละสต็อก Chevrolet ทุกรุ่น รวมทั้ง Captiva ที่ลดราคาลงมาสะบั้นหั่นแหลก ขนาดนั้น ลูกค้าจำนวนมาก ต่างพากันแห่เข้าโชว์รูม Chevrolet ทั่วประเทศ เพื่อหาทางแย่งกันจับจอง เป็นเจ้าของ Captiva ใหม่ เท่าที่มีเหลืออยู่ในสต็อก กันอย่างบ้าคลั่ง โดยไม่แคร์ว่า อนาคต จะยังมีศูนย์บริการคอยซ่อมบำรุงหรือไม่ เท่าที่ผมลองสอบถามคนรอบข้างหลายๆรายดู ลูกค้าส่วนใหญ๋ ไม่กลัว และคิดว่า ใช้เงินไม่มาก ถอยรถออกมาราคาถูก ใช้สักไม่กี่ปี ก็ขายทิ้ง หรือถ้าราคามือสอง ร่วงต่ำเละเทะ ก็ยังยกให้คนรอบข้าง เอาไปใช้ต่อได้!
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีการประกาศเลิกทำตลาดแบรนด์ Chevy ในเมืองไทย แต่ลูกค้าที่แห่กันเข้าไปสั่งจอง Captiva ในสต็อกเหล่านั้น เป็นเพราะลูกค้าชาวไทย ยังคงพร้อมให้การสนับสนุนแบรนด์ Chevrolet ต่อไป แต่ในอดีตที่ผ่านมา GM ไม่เคย หารถยนต์ ที่มีคุณสมบัติครบในทุกๆด้าน มาผลิตขายคนไทย ในราคาที่เหมาะสม อย่าง Zafira หรือ Colorado กับ Trailblazer ได้ง่ายๆ เอาเสียเลย บางรุ่นที่ออกมา Option ก็ดูงั้นๆ ไม่แตกต่างจากชาวบ้านชาวช่อง เดือดร้อนเอเจนซีโฆษณา และทีมการตลาดที่ต้องช่วยกันขบคิดจนหัวแทบระเบิด เพื่อสร้างจุดขายให้รถดูแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด แถมยังเคยมีปัญหาจากตัวรถ เลยเถิดไปถึงปัญหาจากบริการหลังการขายมากมาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนลูกค้าที่เคยอุดหนุนไป ต่างพากันเอือมระอา และพูดจาปากต่อปาก ว่าอย่าซื้อ Chevy มาใช้อีก
การยอมยกธง โยนผ้าขาวขึ้นบนเวที ของ GM ในครั้งนี้ มีหลายคนคิดเห็นเลยเถิดไปว่า เป็นผลมาจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ สำหรับผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ในเชิงลึกทั้งหมด ต่างรู้ดีว่า เรื่องนี้ มันไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลมาจากปัญหาภายในของ GM เองทั้งหมด ที่สะสมกันมานาน จนทำให้ผลประกอบการตกต่ำเสียจนกระทั่งไม่อาจยืนหยัดอยู่ในประเทศไทยได้อีกต่อไป
พูดง่ายๆก็คือ “GM ทำตัวเองล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลนี้ ทั้งสิ้น!”
ปัญหาหลักๆที่ทำให้ GM ต้องเลิกผลิตและทำตลาดรถยนต์ในเมืองไทยนั้น แม้ว่า พวกเขาจะชี้แจงออกมาผ่านทาง เอกสารสื่อมวลชน อย่างที่ผมได้แปะ Link เอาไว้ข้างต้นแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ เพราะถ้าจะสืบสาวราวเรื่องกันจริงๆแล้ว เหตุผลสำคัญก็คือ ยอดขายลดลง ทั้งในเมืองไทย และในต่างประเทศ จนไม่คุ้มที่จะเดินเครื่องโรงงานในเมืองไทยกันต่อไป
ถ้าเช่นนั้น ทำไมยอดขายจึงลดลง?
ถ้าเป็นตลาดต่างประเทศ ในอดีต ศูนย์การผลิตของ GM Thailand ที่ระยอง ยังคงทำรายได้จากการส่งออกรถยนต์ ทั้งแบบสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU : Complete Built Unit) หรือชิ้นส่วนอะไหล่ (CKD : Complete Knock Down) ไปยังตลาดต่างๆทั่วโลก มาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งจะมาเริ่มสะดุด ในช่วงระยะหลังๆมานี้ ทั้งจากความตกต่ำของยอดขายใน Australia และ New Zealand จนยอดส่งออกไปยัง 2 ประเทศดังกล่าวลดลง จนต้องหาตลาดอื่นมาชดเชย แถมยังเจอวิกฤติโรคระบาด Covid-19 มากระหน่ำซ้ำเติม ผู้คนทั่วโลก จำเป็นต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ ลดลง จนยอดขายรถยนต์ถดถอยทั่วโลก ซึ่งประเด็นนี้ พอจะเข้าใจได้อยู่
ทว่า สำหรับตลาดในประเทศไทยแล้ว การที่ยอดขายของ GM / Chevrolet ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น เกิดจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้
1. ต้นทุนการทำรถยนต์ ที่แพงเสียจนกระทั่ง ไม่คุ้มต่อการผลิตออกจำหน่าย หรือไม่ก็ ทำราคาขายสู้กับคู่แข่งได้ยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การนำ Chevrolet Sonic มาผลิตขาย ทั้งที่ต้องขาดทุน คันละ 30,000 บาท ทุกคัน หรือแม้แต่ Chevrolet Cruze ที่มีน้ำหนักตัวรถมาก เพราะต้องใส่อุปกรณ์ตามมาตรฐาน ของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา NHTSA ให้เหมือนกับเวอร์ชันที่จำหน่ายในตลาดอื่นๆทั่วโลก จนต้นทุนแพงขึ้น และกำไรต่อคันไม่สูงตามเป้าหมายเท่าที่ควร
2. ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ของรถยนต์แต่ละรุ่นที่เข้ามาจำหน่าย ตามปกติแล้ว กระบวนการนำรถยนต์สักรุ่นเข้ามาขายในประเทศไทยนั้น GM เอง ก็มีปัญหาต่างๆให้คอยปรับปรุงและแก้ไขกันตามปกติ อยู่แล้ว เหมือนเช่นบริษัทรถยนต์อื่นๆ
ทว่า ในกรณีของรถยนต์บางรุ่น (Chevrolet Cruze) ซึ่งทีมวิศวกรตรวจพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลัง ในระหว่างการทดสอบก่อนการผลิตขายจริง เมื่อแจ้งเตือนไปยังฝ่ายบริหารแล้ว ผู้บริหารชาวต่างชาติบางคนในยุคอดีต บางคน กลับปล่อยให้มีการผลิตรถออกสู่ตลาดไป เพียงหวังให้มียอดขาย เพื่อเป็นผลงานในการที่ตนเองจะก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งสูงๆกว่าเดิม ในต่างประเทศ แค่นั้น
ผลร้ายที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อรถเกิดปัญหาขึ้นพร้อมๆกันหลายคัน ลูกค้าเริ่มทะยอยร้องเรียนและประจานลง สื่อสาธารณะ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ก็ต้องมานั่งตามแก้ปัญหาดังกล่าว ซ้ำร้ายกว่านั้น GM ยังประกาศว่า จะไม่รับฟังกรณีที่ลูกค้านำรถยนต์ของตนที่เกิดปัญหาไปประจานในสื่อสาธารณะ ยิ่งสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่ไม่เข้าใจในเหตุผลที่แท้จริง อีกมาก
3. ความคิดของคนในโรงงาน ในบางช่วงยุคสมัย ที่มั่นใจและภาคภูมิใจในคุณภาพการผลิตและระบบการตรวจสอบของตนเองมากเกินไป จนไม่ค่อยยอมรับว่า เคยเกิดปัญหาขึ้นกับรถยนต์หลายๆคันที่ส่งไปถึงมือของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ Chevrolet Captiva รุ่น C100 บางคัน มีปัญหา ชิ้นส่วนตัวถังบริเวณเสาหลังคาคู่หลัง กับกรอบประตูห้องเก็บสัมภาระ เชื่อมมาไม่ดี มีชิ้นส่วนเผยอ ต้องรอการดำเนินการไปๆมาๆ ระหว่าง ศูนย์บริการกับสำนักงานใหญ่
4. ผู้แทนจำหน่าย (Dealers) ในยุคก่อนๆ ก่อปัญหา และสร้างชื่อเสีย ไว้มากมาย จนเกินเยียวยา โชว์รูมผู้จำหน่ายรถยนต์ทุกราย ทุกค่าย ทุกแห่ง มีพันธะสัญญา ในฐานะ ตัวแทนของ สำนักงานใหญ่ ในการช่วยเหลือ ดูแลรถยนต์ของลูกค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เสมอ
สำหรับกรณีของ GM ผู้บริโภคชาวไทย เคยเจอปัญหาจากการบริการที่ไม่พึงประสงค์ของดีลเลอร์รายเก่าๆในอดีต มามากมาย ตั้งแต่เคสเล็กๆ น้อยๆ ช่างซ่อมไม่เก่ง วิเคราะห์ปัญหาไม่ตรงจุด ปัญหาการโดนซื้อตัวของช่าง ไปจนถึงการลาออกไปเปิดอู่เอง ซึ่งเป็นปัญหาสุดคลาสสิค ที่เจ้าของดีลเลอร์ทุกรายต้องเคยเจอ
ไปจนถึงเคสหนักที่สุด จากกรณี นำรถยนต์ ที่ลูกค้า เคยขอคืนเงิน เนื่องจากมีปัญหา ซ่อมไม่จบ ไปกรอเลขไมล์ และปรับสภาพ ขายต่อเป็นรถใหม่ป้ายแดงให้กับลูกค้าอีกคน ซึ่งมาประสบปัญหา เครื่องยนต์ดับกลางอากาศ กลางมอเตอร์เวย์ เมื่อลูกค้าโทรเข้าไปขอความช่วยเหลือ กับทางศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ กลับค้นพบความจริงว่า รถป้ายแดงของตนเองนั้น เคยเป็นรถใช้แล้ว ที่มีปัญหามาก่อนหน้านี้กับลูกค้ารายเก่า จนเกิดการร้องเรียน และทำให้ GM กับดีลเลอร์รายนั้น เสียชื่อเสียงอย่างหนัก แต่ทั้งที่เป็นปัญหาร้ายแรง GM กลับไม่ได้มีมาตรการลงโทษดีลเลอร์รายดังกล่าวออกมาให้สาธารณชนรับรู้เลย
5. ดีลเลอร์ เปลี่ยนเจ้าของ ย้ายสถานที่ ปิดตัว บ่อยมาก การเปิด – เลิกกิจการของ โชว์รูมและศูนย์บริการบ่อยๆ ทำให้ลูกค้า ไม่มั่นใจ และไม่สะดวกในการนำรถยนต์ไปรับบริการในโชวรูมแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ไกลออกไปมาก ถ้าขาดความสะดวกแล้ว ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้รถยี่ห้ออื่น ซึ่งมีโชว์รูมและศูนย์บริการ ใกล้บ้าน – สถานที่ทำงานของพวกเขามากกว่า ดีลเลอร์ดีๆ ก็มักอยู่แต่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นขอนแก่น สุรินทร์ ฯลฯ ซึ่งเจ้าของดีลเลอร์เหล่านั้น เขารักในงานที่ทำ เขาพร้อมทุ่มเทให้ลูกค้า แต่นอกนั้น ก็หาโชว์รูมที่ไว้ใจได้สำหรับลูกค้า ยากเหลิกเกิน
6. หน่วยงานด้าน Customer Relation ในอดีต ของสำนักงานใหญ่ มักทำงานโดยมีทัศนคติไม่ดีต่อลูกค้า เมื่อเกิดกรณีรถยนต์ลูกค้ามีปัญหา และอดทนปล่อยให้ช่างในโชว์รูมผู้จำหน่าย ซ่อม หรือแก้ไข แต่ปัญหายังไม่หายไป พอลูกค้าร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ กลับปล่อยปละละเลย ให้หลายปัญหาที่ควรจะแก้ไขได้จบ กลายเป็นกรณีคาราคาซังไว้ยาวนาน จนลูกค้าอิดหนาระอาใจ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย Chevrolet Zafira แล้ว และลากยาวต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปี 2015 กว่าที่จะมี ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และฝ่ายดูแลงานบริการหลังการขายที่ตั้งใจช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ก็ปาเข้าไปหลังปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยอดขายในเมืองไทย ของ Chevrolet เริ่มลดต่ำลงมาเรื่อยๆ แล้ว
7. ราคาขายต่อของรถยนต์มือสองในตลาด ตกต่ำ ในเมื่อรถยนต์ที่ผลิตออกมา มีปัญหาจุกจิกกวนใจ พ่อค้ารถมือสองเขาก็รับรู้ และตีประเมิณราคารับซื้อรถยนต์ของลูกค้าเข้าเต๊นท์ ไว้ต่ำกว่า ราคาที่ควรเป็น ผลก็คือ ราคาขายต่อของ Chevrolet อยู่ในระดับต่ำ มีเพียง Chevrolet Colorado กับ Trailblazer และ Captiva มือสอง ที่ยังพอมีลูกค้าอุดหนุนกันอยู่ หรือไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นลูกค้าที่มองหารถยนต์ไว้ใช้งานราคาถูกๆ เช่น Chevrolet Optra ซึ่ง ณ วันนี้ สามารถซื้อหาได้ในราคาต่ำกว่า 1 แสนบาท ลงไปแล้ว นอกนั้น แทบไม่ต้องพูดถึง กลายเป็นรถยนต์ที่ถูกจอดลืมไว้ในเต๊นท์ บางรายถึงขั้นไม่รับซื้อ ไมรับจัดไฟแนนซ์ให้ก็มี
ผลจากปัญหาต่างๆที่สะสม ทำให้ยอดขายของ GM เริ่มลดต่ำลง จนต้องประกาศยกเลิกการทำตลาด รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้ง Sonic และ Spin (นำเข้าจาก Indonesia) ไปเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 แต่ยังคงทะยอยขาย Cruze รุ่นปรับโฉม Minorchange ครั้งสุดท้าย ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2015
ปัญหาด้านบริการหลังการขายต่างๆ ของ GM Thailand เริ่มถูกแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่ช่วงปี 2016 – 2018 เป็นต้นมา พร้อมๆกับการปรับตัว Downsizing องค์กร ให้มีขนาดเล็กลง ย้ายสำนักงานในอาคาร รสา ริมถนนพหลโยธิน จากอาคาร ด้านหน้า ไปอยู่ด้านหลัง ลดจำนวนพนักงานลง จนเหมาะสมกับการทำตลาดรถกระบะ และ SUV เพียงไม่กี่รุ่น ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทีมงานคนไทย ของ GM Thailand กำลังพยายามดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด และพยายามแก้ไขปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น
ทว่า ไม่มีใครคิดหรอกครับว่า เรื่องราวของ Chevrolet ในเมืองไทย จะต้องยุติลงอย่างฉับพลัน กระทันหัน จากคำสั่งฟ้าผ่า เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา
สำหรับลูกค้าชาวไทย ที่ซื้อ Chevrolet ไปแล้ว และยังกังวลด้านบริการหลังการขาย ผมคงต้องบอกว่า GM Thailand ยังคงอยู่ครับ พวกเขาแค่เลิกผลิตรถยนต์ และเลิกขายรถยนต์ในไทย แต่พวกเขายังคงมีหนวยงานบริการหลังการขายอยู่ในเมืองไทยต่อไป และมีคลังอะไหล่ขนาดใหญ่ ซึ่งเพิ่งจะมีการซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น รองรับการสั่งซื้อ และส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของ GM ในภูมิภาค ASEAN และ รวมถึง Australia / New Zealand ในนามแบรนด์ AC Delco ที่ยังคงมีอยู่ในเมืองไทยด้วย ด้วย ดังนั้น เรื่องบริการหลังการขาย จึงยังไม่น่าเป็นห่วง อย่างน้อยก็ในช่วง 3 ปี นับจากนี ตลอดระยะเวลาที่การรับประกันคุณภาพรถใหม่ 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ยังคงดำเนินต่อไปให้กับลูกค้าที่ซื้อรถยยนต์ Chevrolet ในปี 2020
สำหรับ Captiva นั้น ยิ่งไม่ต้องห่วง ปริมาณอะไหล่ที่ GM Thailand สั่งมากองรอเอาไว้ตอนนี้ เยอะมากเท่าภูเขาเลากา ดังนั้น ในช่วง 4-5 ปีนี้ ยังไม่ต้องห่วงเรื่องการเคลมชิ้นส่วนอะไหล่ หรือเรื่องการซ่อมบำรุงตามอายุการใช้งานทั้งสิ้น
—- —– —– —– —– —-
การลาจากตลาดเมืองไทยของ General Motors เป็นกรณีศึกษาสำคัญ ที่แสดงให้เรา ทั้งในฐานะคนทำงานบริษัทรถยนต์ ผู้บริหาร นักการตลาด ผู้บริโภค หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป ได้เห็นว่า การทำตลาดรถยนต์ในเมืองไทย มันไม่ใช่เรื่องง่าย การที่คิดจะเอารถเข้ามาขาย แล้วหวังกอบโกยกำไร แต่ลืมใส่ใจเรื่องบริการหลังการขาย เป็นสันดานปกติของชาวต่างชาติ จำนวนไม่น้อย ที่บริหารกันชุ่ยๆ หวังแต่จะเอายอดขาย เอาผลงาน ไต่เต้าขึ้นตำแหน่งสูงๆ แต่กลับไม่แยแสเห็นหัวคนไทย หนำซ้ำบางคนยังเลือกที่จะกลบปัญหาซ่อนไว้ใต้พรมเช็ดเท้าในห้องทำงานตัวเอง แล้วทำเป็นลืมมันไปเสีย ต้องรอให้ทีมงานคนไทย มาปัดกวาดเช็ดถู แล้วค้นเจอ ต้องรอให้ลูกค้าเจอปัญหากับตัวเอง ต้องร้องเรียนโวยวาย จนทีมงานคนไทย ต้องมานั่งตามล้างตามเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวกันถึงทุกวันนี้
กรณีของ GM Thailand เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ถ้าคุณปล่อยปละละเลย งานบริการหลังการขาย มาตั้งแต่ต้น พอเกิดปัญหา แล้วค่อยมาแก้ไข ในวันที่ทุกอย่างสายเกินไป ผลสุดท้าย ก็จะมีจุดจบแบบนี้แหละครับ
ผมได้แต่หวังเอาไว้ว่า บรรดาบริษัทรถยนต์ทุกค่าย ทั้งที่ทำธุรกิจอยูในเมืองไทย และบรรดาสารพัดบริษัทขนาดใหญ่จากเมืองจีน ที่กำลังวางแผนเตรียมตัวจะเข้ามาบุกตลาดเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2020 – 2023 ได้โปรดศึกษาบทเรียนจากกรณีของ GM / Chevrolet โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย ให้ละเอียด และอย่าได้ปล่อยให้ประวัติศาสตร์เหล่นี้ เกิดขึ้นซ้ำรอย กับแบรนด์ของอย่างคุณเด็ดขาด เพราะผู้บริโภคชาวไทย จะไม่มีวันให้อภัยกับพวกคุณอีกเป็นครั้งที่ 2 อย่างแน่นอน
ลาก่อน GM และ Chevrolet พวกคุณคงกลับมาผลิตรถขายในเมืองไทยไม่ได้อีกแล้วละ
—————————///—————————-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
เตรียมข้อมูลเฉพาะรถทดลองขับ โดย : Yutthapichai Phantumas (QCXLOFT)
—————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในต่างประเทศ เป็นของบริษัทผู้ผลิต
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
15 มิถุนายน 2020
Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without
permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com
June 15th, 2020
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome , Click here