Porsche คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2025 นั้น รถที่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน (Plug-in hybrid/Battery EV) จะมียอดขายเป็นอัตราส่วน 50% ของรถทั้งหมดของค่าย เพื่อให้ถึงเป้าหมายดังหวัง นอกจากบรรดารถตระกูล e-Hybrid อย่าง Panamera กับ Cayenne แล้ว Taycan ก็คือหมากอีกตัวที่ Porsche ตั้งมั่นให้เป็นรถรุ่นใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษรุ่นหนึ่ง เป็นก้าวแรกของ Porsche ในการสร้างรถยนต์ไฟฟ้ามาขายจริง และเน้นการขายแบบจำนวนมาก ไม่ใช่รุ่นพิเศษที่ผลิตจำนวนน้อย

ด้วยมาตรการมลภาวะที่เข้มงวดขึ้นทั้งในยุโรปและอเมริกา ตลอดจนความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในตลาดใหญ่อย่างจีน Taycan จึงเปรียบเสมือนจุดกำเนิดใหม่ทางด้านเทคโนโลยี และมีศักยภาพที่จะทำรายได้ให้กับ Porsche อย่างยั่งยืน

Porsche จัดงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ให้กับ Taycan ในเวลาเดียวกัน 3 แห่งทั่วโลก รวมถึงที่ประเทศจีน

ผม Pan Paitoonpong และพี่แมน ทัศนัย ไรวา นักออกแบบรถชาวไทย สื่อมวลชน และเจ้าของ Channel: Luxman ได้รับเชิญไปร่วมงานเปิดตัวที่เกาะผิงตัน เมืองฝูโจ่ว สาธารณรัฐประชาชนจีน แม้จะยังไม่ได้มีโอกาสขับ แต่ก็ได้สัมผัสรถตัวจริงแบบ Exclusive รับทราบข้อมูลจากการบรรยาย ตลอดจนผู้บริหารจาก Porsche ที่เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์พิเศษ ทำให้เป็นที่มาของการแยกคอลัมน์รายละเอียดเจาะลึก Porsche Taycan นี้ออกมาต่างหาก สำหรับท่านที่ต้องการข้อมูลแบบละเอียดโดยเฉพาะ

ที่มาของชื่อ Taycan

อ่านออกเสียงว่า “ไท้ข่าน” ส่วนการสะกดชื่อเป็นภาษาไทย หากจะให้เขียนว่า พอร์ชเฉอะ ไท้ข่าน ตามหลักการออกเสียงที่ถูกต้อง ก็อาจจะดูแล้วฮามากกว่า ดังนั้นทาง AAS ผู้แทนจำหน่ายในไทยจะใช้วิธีสะกดว่า “ปอร์เช่ ไทคานน์” กรุณาอย่าถามว่าทำไมต้องมี “น์” ตามหลัง เพราะไม่ทราบ ผู้เขียนเดาว่าเพื่อให้เน้นการออกเสียงชัดเจน และถ้าไม่มีนอหนูการันต์ ก็จะเป็น ไทคาน ไท=เป็นอิสระ คาน=ที่อยู่ของคนโสด อาจไม่ได้เป็นมงคลสำหรับคนที่มุ่งหวังมีภรรยานัก

แล้วคำว่า Taycan มันแปลว่าอะไร? เฉลย.. มันเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาตุรกี Tay คือม้าหนุ่มคึกคัก และ Can คือ Soul หรือจิตวิญญาณ รวมกันก็แปลว่า “จิตวิญญาณของม้าหนุ่มคะนองเดช” ซึ่งก็คือม้าตัวที่อยู่บนโลโก้ของ Porsche นั่นล่ะครับ คำว่า Taycan ยังพ้องเสียงกับคำว่า “Taikan” ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าการสัมผัส/ประสบการณ์สัมผัสทางกาย อีกด้วย

การที่จะได้มาซึ่งชื่อ Taycan นี่ก็ไม่ใช่ว่านั่งอยู่ในส้วมนึกขึ้นได้ก็จดลงกระดาษ Porsche ต้องใช้ทีมใหญ่ทั้งทีมในการเลือกให้ได้ตามเงื่อนไขที่ทางการตลาดกำหนด เช่น ต้องไม่ใช่ชื่อที่เคยใช้มาก่อน และต้องไม่ใช่ตัวเลข แถมยังต้องมีความหมายที่สอดคล้องกับแบรนด์ของ Porsche ช่วยกันคิดจนได้มา 600 ชื่อ จากนั้นก็คัดออกทีละอัน โดยในระหว่างนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา 23 คน ที่พูดได้หลายภาษา ช่วยคัดกรอง ในกรณีที่คำหนึ่งคำที่มีความหมายดีในภาษาหนึ่ง อาจจะฟังดูอัปมงคลในอีกภาษานึง

การออกแบบและการจัดพื้นที่ – สัมภาษณ์พิเศษ คุณ Peter Varga ผู้อำนวยการประจำฝ่ายออกแบบภายนอก แห่ง Style Porsche

อันที่จริงแล้วในการออกแบบรถ Taycan มีหลายคนที่ช่วยร่วมมือลงแรง Lead Designer ของโครงการนี้คือคุณ Emiel Burki แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้บริหารระดับสูงประจำฝ่ายออกแบบอย่าง Michael Maur ในขณะที่คุณ Peter Varga จะคอยกำกับดูแลการออกแบบรูปทรงภายนอกของรถ

ในการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของ Porsche คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในแง่ของการออกแบบ?

“มีอยู่หลายเรื่องครับ แต่ปัญหาที่หนักสุดคือ เราจะจัดพื้นที่มันยังไง เพราะแบตเตอรี่จะต้องอยู่ที่พื้นรถ ผู้โดยสารก็นั่งอยู่บนนั้น แต่เงื่อนไขในการออกแบบของเราก็คือ ต้องดูเตี้ย แบน แบบรถสปอร์ต เราก็คิดวิธีการออกแบบให้มีช่องว่างระหว่างแบตเตอรี่ ตรงที่วางเท้าของคนนั่งหลัง วิธีนี้ทำให้มีพื้นที่เหยียดขาได้มากขึ้น นอกจากนี้ ส่วนที่ยากของ Taycan คือทำยังไงให้คนมองรถเราแล้วรู้ว่านี่คือ Porsche แม้จะเอามือปิดป้ายยี่ห้อไว้ และในขณะเดียวกัน Taycan ก็ต้องมีเอกลักษณ์ของตัวเองแบบที่ Porsche รุ่นอื่นไม่มี”

“จุดที่เราเลือกว่ามันต้องเหมือนรถรุ่นอื่น คือการรักษาสัดส่วนความยาวของหน้ารถ ท้ายรถ ความลาดของหลังคา เราตั้งใจว่ารถคันนี้จะต้องถอดสัดส่วนมาจาก 911 และการที่ Taycan ไม่มีเครื่องยนต์ ทำให้เรากดส่วนหน้าของรถให้เตี้ยได้..เหมือน 911 ซึ่งไม่มีเครื่องยนต์อยู่ข้างหน้า ความลาดของท้ายรถ และไฟท้ายยาวซ้ายจรดขวาแบบ Light Bar นั่นคือส่วนที่เราเลือกแล้วว่า Taycan ต้องมี”

แล้วส่วนไหนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Taycan?

“ไฟหน้า…แน่นอนว่าคุณยังเห็นไฟ Daytime Running Light แบบ 4 จุด ซึ่งตรงนั้นเราจะนับเป็นเอกลักษณ์ของ Porsche แต่ถ้าสังเกตดีๆ DRL แต่ละดวงของ Taycan จะแผ่กว้างกว่าของรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้ โคมไฟของ Taycan จะออกแบบให้เหมือนลอยอยู่ตรงกลาง มีช่องว่างมืดๆอยู่รอบดวงไฟ และยังมีการออกแบบให้มีเส้นลากย้อยลงมาด้านล่าง ซึ่งไม่ได้ทำมาเล่นๆ มันคือสิ่งที่มีผลต่อการจัดการกระแสลมด้านหน้ารถทั้งนั้น”

รถยนต์ไฟฟ้า ไม่มีเครื่องยนต์ การออกแบบจึงเปิดกว้างมากขึ้น มีข้อได้เปรียบของรถยนต์ไฟฟ้าจุดไหนบ้างที่ Porsche เลือกที่จะใช้/ไม่ใช้ ใน Taycan?

“เราศึกษาข้อได้เปรียบของรถ EV และใช้มันมากที่สุดเท่าที่จะไม่แหกกฎการออกแบบของเราเอง ข้อได้เปรียบของรถไฟฟ้าคือการมีแบตเตอรี่อยู่ที่พื้นรถ ตอนแรกอาจดูเป็นข้อเสียเปรียบ แต่การเอาแบตเตอรี่ไปถ่วงไว้จุดล่างของรถ ก็ให้ผลดีในแง่การขับขี่ ซึ่งก็ตรงกับปรัชญาของเรา แม้ Taycan จะหนักพอๆกับ Cayenne แต่มันก็เป็น คือ Porsche ที่มีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงต่ำที่สุด นั่นก็คือ ต่ำกว่า Porsche 911 (992) เสียด้วยซ้ำ”

“ส่วนข้อได้เปรียบไหนที่เราไม่ใช้ ก็คือเรื่องที่มันจะแหกกฎของเรา ซึ่งสำหรับ Taycan นี้ กฎเหล็กคือมันต้องดูเหมือนรถสปอร์ต เหมือน 992 ที่มีสี่ประตู ดังนั้นฝากระโปรงหน้าที่เรากดให้ต่ำ แน่นอนว่าเรื่องเนื้อที่เก็บสัมภาระด้านหน้าก็ต้องลดลง ตำแหน่งการขับขี่..เราก็ตั้งกฎว่าต้องใกล้เคียงกับ 911 ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวม มันอาจไม่ใช่รถที่ภายในโปร่งโล่งกว้าง ประตูแต่ละบานไม่ได้ใหญ่เข้าออกสะดวกเท่า Panamera จริงๆเรื่องพวกนี้ถ้าเราจะทำให้มันนั่งสบายก็ได้ แต่ก็จะไม่ได้ทรงรถเปรียวแบบที่เราตั้งใจ นี่คือเรื่องที่เราเข้าใจดี และเรายอมแลกเพื่อให้ Taycan เป็นรถมีทรงภายนอก สปอร์ตที่สุดในเซกเมนต์ ถ้าใครอยากได้รถพื้นที่ภายในเยอะๆ..ผมจะบอกให้ว่า รอดูรถ EV รุ่นต่อๆไปที่จะตามมาจากเราดีกว่า”

 

ภายใน เส้นสายแบบ Porsche แต่เทคโนโลยีเอาใจสาย IT

เส้นสายต่างๆที่เห็น อยู่ภายใต้การดูแลของ Ivo van Hulten ผู้อำนวยการประจำฝ่ายออกแบบภายใน แต่ในกรณีของดีไซน์สำหรับ Taycan นี้ สะบัดปากกาโดยคุณ Thorsten Klein ซึ่งเป็นเจ้าของรถ 911 ปี 1973 ดังนั้นก็ไม่แปลกที่เขาจะเอาแรงบันดาลใจจากรถรุ่นนั้นมา “Modernize” ให้กลายเป็นภายในของ Taycan ตำแหน่งการขับขี่อยู่ต่ำกว่า Panamera และใกล้เคียง 911 นอกจากนี้ จุดเด่นคือแผงหน้าปัดขนาด 16.9 นิ้ว แบบตั้งขึ้นมาโดยไม่มีเบ้าครอบ คล้ายของ 992 แต่ไม่มีวัดรอบอนาล็อก

การปรับตั้งค่าต่างๆของรถ เช่นการปรับช่วงล่าง ระบบไฟฟ้า ระบบ Infotainment และระบบนำทาง จะทำผ่านจอกลางขนาด 10.9 นิ้ว ที่มีแผนผังเมนูออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับ Taycan ส่วนจอด้านล่างลงมานั้น จะมีขนาด 8.4 นิ้ว เป็นจอแบบ Haptic กดแล้วกิ๊ก หรือมีอาการสั่นตอบสนอง มีระบบรองรับ Apple CarPlay และระบบสั่งการด้วยเสียงโดยใช้คำสั่งว่า “Hey Porsche”

ลูกเล่นที่เป็นออพชั่นเสียเงินเพิ่มอีกอย่างคือจอทัชสกรีนสำหรับฝั่งคนนั่ง ขนาด 10.9 นิ้ว ซึ่งสามารถแสดงผลได้หลากหลายโดยดึงข้อมูลจากส่วนกลางของรถ และคนนั่งก็สามารถช่วยป้อนข้อมูลสำหรับระบบนำทางให้คนขับได้ เลือกเพลง จัดลิสต์ที่ชอบได้ และในยามที่ไม่มีคนนั่งก็สามารถปิดได้

ณ จุดนี้ จะสังเกตได้ว่า Taycan มี “จอ” ต่างๆมากกว่า Porsche รุ่นอื่นทั้งหมด Thorsten Klien อธิบายว่า ทาง Porsche เชื่อว่าลูกค้าที่ซื้อรถ EV จะมีแนวโน้มเสพย์ติด IT มากกว่าลูกค้าทั่วไป และต้องการสิ่งต่างๆอยู่บนจอมากกว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้ Taycan ไม่มีสวิตช์แบบปุ่มแข็งมากเท่า Panamera หรือ 992

Taycan เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแค่ 2 เกียร์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเล่นเกียร์ +/- บริเวณคอนโซลจึงเคลียร์ กลายเป็นที่วางแก้วแทน ส่วนคันโยกสำหรับเปลี่ยนเกียร์ P-R-N-D กลับถูกย้ายไปอยู่ที่แผงแดชบอร์ด โดยถ้าเป็นรถพวงมาลัยซ้าย สวิตช์เกียร์จะอยู่ที่ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย ส่วนอีกฝั่งของคอพวงมาลัยจะเป็นปุ่มสำหรับสตาร์ท

ช่องลมปรับอากาศที่คอนโซลกลางของ Taycan เหมือนกับ Panamera ตรงที่ ต้องใช้จอในการบังคับทิศทางลม ไม่สามารถเอื้อมมือปรับได้เลยง่ายๆแบบ Cayenne ดังนั้นภาวนาอย่าให้จอเสียก็แล้วกัน

 

จากที่ได้ลองนั่งดู พบว่า ตำแหน่งการขับขี่จะเตี้ย เกือบจะเท่ากับ 911 (992) ห้องโดยสารในแนวกว้าง ก็จะให้ความรู้สึกว่ากว้างแค่พอๆกับ 992 ทั้งๆที่ตัวรถจริงนั้นกว้างกว่า Panamera เสียอีก แนวหลังคาเตี้ยแบบรถคูเป้ เป็นรถที่เข้าออกประตูหน้ายากกว่า 992 อีกเนื่องจากหลังคาเตี้ยเหมือนกันแต่ Taycan ประตูสั้นกว่า ต้องก้มหัวมาก และงอขามาก ต้องให้คนตัวผอมๆขับจะดีกว่า แต่พอเข้าไปนั่งแล้ว จะสบายขึ้น ตัวเบาะมีความแข็งนุ่มพอเหมาะสำหรับรถสปอร์ต พนักพิงศีรษะอยู่ในตำแหน่งที่นั่งแล้วรู้สึกคล้าย 992

ส่วนเบาะหลังนั้น เข้าออกประตูกลับง่ายกว่าด้านหน้า แต่อย่าคาดหวังมากเรื่องพื้นที่ เพราะแนวหลังคาเตี้ยคล้าย Mercedes-Benz CLA แต่ยังมีเนื้อที่วางขาให้พอนั่งได้ใกล้เคียงรถ C-Segment ขับหน้าของญี่ปุ่น ถ้าต้องการเรื่องความสบายจากพื้นที่ Taycan คงไม่ตอบโจทย์ ให้คิดซะว่ามันเป็น 911 ที่มีสี่ประตู แล้วมันจะง่ายต่อการเข้าใจ

Dimension ขนาดมิติตัวถัง

  • ยาว  4,963 มิลลิเมตร
  • กว้าง  1,966 มิลลิเมตร
  • สูง  1,381 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ  2,900 มิลลิเมตร
  • ความกว้างฐานล้อหน้า/หลัง (Front/Rear Track)
    • รุ่น Turbo เท่ากับ 1,702/1,667 มิลลิเมตร
    • รุ่น Turbo S 1,690/1,655 มิลลิเมตร
  • ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน Cd
    • รุ่น Turbo เริ่มต้นที่ 0.22
    • รุ่น Turbo S เริ่มต้นที่ 0.25

Porsche Taycan เทียบกับ Panamera พบว่า Taycan สั้นกว่า Panamera 86 มิลลิเมตร กว้างกว่า 29 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 42 มิลลิเมตร ส่วนระยะฐานล้อ สั้นกว่า 50 มิลลิเมตร อันที่จริงก็เรียกได้ว่าขนาดตัวของ Taycan พอๆกันกับ Panamera เมื่อมองที่ตัวเลข แต่เมื่อเห็นตัวจริง จะรู้สึกว่า Taycan ดูเล็กกว่าด้วยความเตี้ยกว่าและสั้นกว่าของตัวรถ

ช่องเก็บของใน Taycan มีสองแห่ง ด้านหน้า เอาไว้เก็บสายไฟและปลั๊กเป็นหลัก มีลักษณะแคบลึก จุได้ 81 ลิตร ส่วนด้านท้ายนั้นจะมีความจุ 366 ลิตร ลึกพอสำหรับการใส่กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ 1 ใบและขนาดกลาง 1 ใบ

ขุมพลังขับเคลื่อน

ในเบื้องต้น Porsche Taycan มี 2 รุ่นย่อย กับ 2 ระดับขุมพลัง โดยทั้ง 2 รุ่น ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanently Excited Synchronous 2 ตัว วางมอเตอร์ไว้ด้านหน้า และ ด้านหลังหลังอย่างละชุด เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตัวมอเตอร์สามารถปั่นรอบได้สูงสุด 16,000 รอบต่อนาที

รุ่น Turbo

ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กำลังสูงสุด 625 แรงม้า (PS) แบตเตอรี่ขนาด 93.4 kWh ซึ่งเมื่อใช้โหมด Launch Control ระบบจะปลดปล่อยพลังเพิ่มเป็น 680 แรงม้า แรงบิดสูงสุดขณะใช้ Launch Mode อยู่ที่ 850 นิวตันเมตร

  • อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 3.2 วินาที
  • อัตราเร่ง 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 10.6 วินาที
  • ควอเตอร์ไมล์ 11.1 วินาที
  • ความเร็วสูงสุด 260 กิโลเมตร/ชั่วโมง (locked)
  • อัตราสิ้นเปลืองกำลังไฟฟ้า 26 kWh/100 กิโลเมตร
  • น้ำหนักตัวถัง ตามมาตรฐาน EU 2,305 กิโลกรัม
  • พิสัยทำการ เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม (มาตรฐาน WLTP) 381-450 กิโลเมตร

รุ่น Turbo S

ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กำลังสูงสุดในโหมดปกติจะเท่ากันกับรุ่น Turbo (625 แรงม้า) แต่ในโหมด Launch Control กำลังสูงสุดจะเพิ่มเป็น 761 แรงม้า (PS) และ แรงบิดสูงสุด 1,050 นิวตันเมตร

  • อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 2.8 วินาที
  • อัตราเร่ง 0-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.3 วินาที
  • อัตราเร่ง 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 9.8 วินาที
  • ควอเตอร์ไมล์ 10.8 วินาที
  •  ความเร็วสูงสุด 260 กิโลเมตร/ชั่วโมง(locked)
  • อัตราสิ้นเปลืองกำลังไฟฟ้า 26.9 kWh/100 กิโลเมตร
  • น้ำหนักตัวถัง ตามมาตรฐาน EU 2,295 กิโลกรัม
  • พิสัยทำการ เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม (มาตรฐาน WLTP) 388-412 กิโลเมตร

ทั้งสองรุ่น มีพื้นฐานของมอเตอร์เหมือนกัน ดังจะสังเกตได้ว่าในโหมดปกติจะมีพลังเท่ากัน แต่รุ่น Turbo S จะมีชุด Inverter สำหรับมอเตอร์หน้าที่รองรับการปลดปล่อยพลังได้มากกว่า

ทำไมยังเรียกว่ารุ่น Turbo และ Turbo S ทั้งๆที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า?

เป็นโจ๊กขบขันที่แม้แต่นาย Elon Musk เจ้าของแบรนด์ Tesla ยัง Tweet แซะ แต่เหตุผลของการใช้ชื่อรุ่น Turbo และ Turbo S ทั้งๆที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้านั้น ก็เพื่อความง่ายสำหรับลูกค้าตัวจริงในการจำแนกว่า Taycan รุ่นย่อยนั้นมีความแรงหรือความหรูประมาณไหน ถ้าใช้ชื่อรุ่นแปลกๆ เช่น Taycan EV2, EV4 หรืออะไรทำนองนี้ ลูกค้าก็อาจจะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ แต่ถ้าใช้ชื่อรุ่นย่อยในแบบที่คุ้นหู เช่น  Taycan 4S, Taycan Turbo หรือ Taycan Turbo S มันก็ทำให้ลูกค้าตัวจริงนึกภาพได้ง่าย เพราะเป็นชื่อรุ่นย่อยที่มีใช้อยู่กับรถรุ่นอื่นๆในค่ายอยู่แล้ว เช่น เห็น Turbo S ปุ๊บ รู้เลยว่านี่คือรุ่นย่อยที่แรง แพง และหรูสุดแล้ว

โหมดการขับเคลื่อน

RANGE

  • เน้นการประหยัดพลังงานและวิ่งได้ไกล
  • ความเร็วสูงสุด ไม่เกิน 90-140 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ปรับค่าได้- ยกเลิกโดยอัตโนมัติเมื่อกดคันเร่งลึกเร็ว)
  • ระบบขับเคลื่อนทำงาน 4 ล้อ แต่ในบางสถานการณ์เช่นเมื่อแบตเตอรี่เหลือน้อย จะขับเคลื่อนแค่ 2 ล้อหน้า
  • ช่วงล่าง ปรับความสูงลดลงจากระดับปกติ 22 มิลลิเมตร + สปอยเลอร์หลังปรับลดแรงเสียดทานอากาศ
  • ระบบปรับอากาศ ปั๊มไฮดรอลิก ช่วงล่าง และไฟหน้า ถูกปรับการทำงานให้กินไฟน้อยที่สุด

NORMAL

  • ปรับการส่งพลังให้สัมพันธ์กับคันเร่งตามปกติ
  • ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ทำงานในแบบที่เซฟพลังงาน
  • ช่องรับอากาศ เปิดเฉพาะเมื่อต้องระบายความร้อน
  • สปอยเลอร์หลังทำงานตามระดับความเร็ว เช่นเดียวกับระบบปรับความสูงช่วงล่าง
  • ความหนืดของช่วงล่าง ปรับไว้ตำแหน่ง Comfort
  • ระบบปรับอากาศและ Adaptive Cruise Control ทำงานตามปกติ

SPORT

  • ปลดล็อคให้มอเตอร์ปล่อยกำลังได้เต็มที่ (680 แรงม้าในรุ่น Turbo 761 แรงม้าในรุ่น Turbo S)
  • ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่งกำลังไปด้านหลังมากกว่าด้านหน้า และพร้อมปรับกำลังได้ตามการขับขี่
  • ระบบระบายความร้อนแบตเตอรี่ทำงานมากกว่าปกติ
  • ช่องรับอากาศด้านหน้าทำงานตามคำสั่งของ ECU คุมระบบระบายความร้อน
  • สปอยเลอร์หลังปรับตามความเร็วของรถ
  • ระบบปรับอากาศทำงานตามปกติ
  • ระบบ Adaptive Cruise Control ยังทำงาน แต่จะเร่งหรือชะลอความเร็วในลักษณะที่ไวขึ้น
  • ช่วงล่างปรับลดความสูงลง 22 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ใช้
  • ความหนืดของโช้คอัพและระบบเลี้ยวล้อหลัง ปรับเป็นโหมด SPORT

SPORT +

  • ระบบระบายความร้อนทำงานเต็มพิกัด
  • ช่องรับอากาศเปิดตลอดเวลา
  • สปอยเลอร์หลังกางชันและเร็วกว่าปกติ
  • โช้คอัพ ระบบเลี้ยวล้อหลัง และเหล็กกันโคลงไฟฟ้า PDCC ปรับไปโหมดพร้อมสำหรับลงสนามแข่ง
  • ช่วงล่างจะปรับลงต่ำกว่าระดับปกติ 22 มิลลิเมตรและคาไว้เช่นนั้นตลอด

หมายเหตุ: โหมด INDIVIDUAL และ SPORT + จะมีใน Taycan ที่ติดตั้ง Sport Chrono Pack ซึ่งจะมาพร้อมกับสวิตช์เลือกโหมดทรงกลมที่พวงมาลัย รุ่น Turbo S จะมีมาให้จากโรงงาน แต่รุ่น Turbo จะนั้นต้องเสียเงินสั่งเพิ่ม

เป็นรถไฟฟ้าที่มี 2 เกียร์

Porsche Taycan มีระบบส่งกำลังแบบ 2 อัตราทด โดยชุดเกียร์นี้จะประกบอยู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าด้านหลัง (มอเตอร์หน้าจะมีชุดส่งกำลังแบบ Single-speed แต่ควบคุมความเร็วสัมพันธ์กับล้อหลังด้วยสมองกล) ประกอบด้วย 3 Shaft เมื่อจะใช้เกียร์ 1 ก็จะใช้วิธีการเปลี่ยนเกียร์แบบเฟืองสไลด์ล็อค และมีอัตราทดอยู่ที่ = มอเตอร์หมุน 15 รอบ: เฟืองเกียร์หมุน 1 รอบ (15 : 1) ในขณะที่เกียร์ 2 นั้น จะมีอัตราทด 8 : 1

ระบบนี้ความทนทานสูงเพราะออกแบบมาให้รองรับแรงบิดได้มากกว่า 1,050 นิวตัน แม้จะมีแค่ 2 จังหวะ แต่ตัวเกียร์มีน้ำหนักค่อนข้างมากคือ 70 กิโลกรัม

ในโหมด Sport และ Sport + นั้น รถจะออกตัวด้วยเกียร์ 1 เพื่อให้มีอัตราเร่งที่ดี แต่ในโหมดอื่นๆ จะออกตัวด้วยเกียร์ 2 เพื่อความง่ายในการควบคุมคันเร่งและลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าลง นอกจากนี้ใช้ชุดเกียร์ 2 จังหวะก็ยังมีชุด Limited-slip differential ที่ควบคุมการจับส่งกำลังขับด้วยระบบไฟฟ้า

แบตเตอรี่และระบบไฟฟ้า

ระบบไฟฟ้าของ Taycan เป็นแบบ 800v ซึ่งนับเป็น EV รุ่นแรกที่ใช้ระบบนี้ โดยให้ผลดีในด้านสมรรถนะ รองรับการใช้งานแบบหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องได้ดีกว่าคู่แข่ง

แบตเตอรี่หนัก 630 กิโลกรัม ติดตั้งอยู่ที่พื้นรถ และไม่ได้เป็นแบตเตอรี่ที่ “แขวน” ไว้ใต้ท้องเฉยๆ แต่ตัว Battery Pack เองนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถที่ให้ความแข็งแกร่ง ความปลอดภัย และเสริมความเหนียวต้านแรงบิดเค้นให้กับตัวถัง แบตเตอรี่มีความจุไฟ 93.4 kWh หรือ 93.4 หน่วย แต่จะดึงมาใช้จริง 83kWh ตัวแบตเตอรี่ประกอบด้วยเซลล์เก็บไฟของ LG 384 ชุด

ทั้งรุ่น Turbo และ Turbo S จะมีหม้อแปลง (Inverter) ที่มอเตอร์หลังแบบ 600 แอมป์ แต่สำหรับมอเตอร์ชุดหน้านั้น รุ่น Turbo ธรรมดาจะได้ Inverter แบบ 300 แอมป์ในขณะที่รุ่น Turbo S จะใช้แบบ 600 แอมป์เช่นเดียวกับมอเตอร์หลัง โดยทีมวิศวกรแจ้งว่าการที่รุ่น Turbo S มีขนาด Inverter โตกว่าก็เพื่อไว้ใช้ตอนกระทืบคันเร่งออกตัวแรงๆ นอกนั้นแล้วทั้งสองรุ่นนี้เหมือนกันเกือบหมด ตามที่สังเกตได้ว่า หากไม่ใช้ Launch Mode ออกตัว รุ่น Turbo S กับ Turbo ธรรมดานั้นจะมีกำลังไม่ต่างกัน

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า, Inverter, และเกียร์ 2 จังหวะ ออกแบบโดย Porsche เอง และสามอย่างหลังนี้ก็สร้างขึ้นที่โรงงานใน Zuffenhausen ของ Porsche

จุดเด่นสำคัญอีกประการคือการชาร์จไฟ ระบบรองรับการชาร์จของ Taycan นั้นสามารถรับกำลังไฟได้สูงสุดถึง 270kW ซึ่งทำให้คุณสามารถเสียบชาร์จไฟเพียง 5 นาที ก็จะได้พลังมากพอที่จะวิ่งได้ถึง 100 กิโลเมตร หรือใช้เวลาราว 23 นาทีเพื่อให้วิ่งได้ประมาณ 400 กิโลเมตร นับเป็นความสะดวกสบายที่ทำให้คนใช้ Porsche เลิกกลัวเรื่องพิสัยทำการที่สั้นของรถไฟฟ้า..แต่..ถ้าจะชาร์จได้เร็วขนาดนี้ก็ต้องใช้แท่นชาร์จพลังสูงพิเศษ 800 volt ด้วย ซึ่ง Porsche กำลังทยอยติดตั้งแท่นชาร์จพิเศษนี้ตามดีลเลอร์ในสหรัฐอเมริกา

สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ชาร์จตามบ้าน หากให้แทนชาร์จ Porsche Mobile Charger 240v AC 11kW  ก็จะใช้เวลาเพิ่มเป็น 9 ชั่วโมงโดยประมาณ ส่วนแท่นชาร์จแบบที่พบติดตั้งตามบ้านเรือนในประเทศไทย (7.2 kW) จะใช้เวลานานกว่า 12 ชั่วโมง (ถ้าเริ่มต้นที่แบตเตอรี่ 0%) ส่วนแท่นชาร์จแรงดันต่ำ หรือไฟบ้าน รับรองว่ามีเกิน 1 วัน

เสียงแห่งการขับเคลื่อน

เมื่อเข้าโหมด Sport หรือ Sport + ระบบ Porsche Electric Sport Sound จะทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ Porsche บอกว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยที่จะต้องแต่งเสียงสังเคราะห์ให้เหมือนกับเครื่องยนต์ 6 สูบหรือ 8 สูบ เสียงของรถยนต์ไฟฟ้า ก็ควรเป็นเสียงแบบรถยนต์ไฟฟ้า แต่หาวิธีในการสร้างเสียงให้มีความเร้าใจ และล้ำยุคในแบบของมันเอง ดังนั้นไม่ต้องหวังที่จะกดปุ่มเลือกเสียงได้ตามใจชอบ

AERODYNAMICS

Taycan Turbo มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน Cd=0.22 ซึ่งเป็น Porsche ที่มีค่า Cd น้อยที่สุด เนื้อที่ภาคตัดขวางด้านหน้า 2.33 ตารางเมตร จากตัวรถที่เตี้ย ลิ่ม และกว้าง ออกแบบโดยทดสอบในอุโมงค์ลมนานถึง 1,500 ชั่วโมง และก่อนหน้านั้นก็มีการจำลองแบบโดยใช้ CFD-Computational Fluid Dynamics Simulation และสร้างแบบจำลอง 1:3 มาทดสอบในอุโมงค์ลมก่อนอีก 900 ชั่โมง

องค์ประกอบด้านอากาศพลศาสตร์ในรถคันนี้ ประกอบด้วย ช่วงรับอากาศที่ซ่อนหลังไฟหน้า พาลมไปเข้าบริเวณตอนบนของซุ้มล้อหน้า ไล่อากาศ ลดกระแสลมวน การที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้สามารถเก็บรายละเอียดใต้ท้องได้เรียบสนิท เพราะไม่ต้องเผื่อที่สำหรับท่อไอเสีย ช่วงล่างมีแผ่นปิดกันลมวน แต่ยังมีช่องดักและปล่อยอากาศตามจุดต่างๆ ด้านหลังมีครีบรีดอากาศขนาดใหญ่ นี่คือจุดที่ Porsche ใช้ความได้เปรียบจากการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่

ด้านหน้าของรถ มีช่องลม ซึ่งสามารถปรับเปิดปิดเป็นองศาได้ตามต้องการ แยกการทำงานฝั่งซ้าย/ขวา ซึ่งจะส่งลมต่อไปยังหม้อน้ำระบายความร้อนที่ติดอยู่ด้านหน้า ขอบนอกของตัวรถ นอกจากนี้กระแสลมบางส่วนจะถูกเบี่ยงไปเป่าระบบเบรก ระบบสมองกลจะคอยคำนวณภาระของระบบเบรก และปรับช่องเป่าลมให้ช่วยระบายความร้อนเมื่อจำเป็น ส่วนด้านหลัง มีสปอยเลอร์ที่ปรับได้ 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับโหมดการขับขี่ที่เลือก และความเร็วที่ใช้ ชิ้นส่วนต่างๆที่ขยับได้เหล่านี้ Porsche เรียกว่า PAA-Porsche Active Aerodynamics

 

โครงสร้างตัวถัง – เปลือกนอกทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียม

อะลูมิเนียมแบบ die-cast จะถูกใช้สำหรับบริเวณจุดยึดสตรัท, แท่นมอเตอร์, แท่นเกียร์และคานข้างด้านหลัง ซึ่งเป็นจุดที่มีแรงกระทำสูง ส่วนเบ้าโช้คจะใช้อะลูมิเนียมฟอร์จ คานข้างด้านหน้าเป็นอะลูมิเนียมแบบมี Extrude section ขอบล่างของประตูเป็นแบบ 7-chamber extrude section ที่หากเทียบกับการใช้โครงคานเหล็กแบบเก่า จะลดชิ้นส่วนลงจาก 15 เหลือ 3 ชิ้น และทำให้น้ำหนักเบาลง 3.4 กิโลกรัมต่อข้าง

ส่วนห้องโดยสาร รวมถึงเสา A และ B-pillar, โครงสร้างหลังคาด้านข้าง จะใช้เหล็กกล้าแบบ Hot-formed ส่วนคานหน้าบริเวณใกล้ผนังห้องมอเตอร์หน้านั้นใช้วัสดุแมงกานีส-โบรอน ส่วนที่ยากก็คือ ส่วนประกอบบางชิ้นจะมาในลักษณะท่อน และในท่อนนั้นจะมีแผ่นโลหะค้ำข้างในเพื่อเสริมความแข็งแรง ต้องใช้ขั้นตอนการผลิตแบบพิเศษ ตัวถังของรถภายนอก ทำมาจากอะลูมิเนียมล้วน เมื่อนับรวมทั้งคัน Taycan จะมีส่วนประกอบที่เป็นอะลูมิเนียม 37%

สำหรับช่องติดตั้งแบตเตอรี่นั้น อยู่ใต้พื้นรถ Porsche เรียกแบตเตอรี่ของตัวเองอย่างน่าเหงื่อตกกีบว่า “Performance Battery Plus”  ซึ่งเคสที่หุ้มแบตเตอรี่นั้นไม่ได้ทำหน้าที่แค่กันกระแทก แต่ยังออกแบบให้เมื่อติดตั้งแล้ว มีหน้าที่ในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างตัวถัง รับแรงบิดเค้นขณะเข้าโค้งได้ด้วย ซึ่งชุดเคสแบตเตอรี่นี้จะถูกยึดกับกับตัวถังด้วยน็อตขนาดใหญ่ 28 ตัว

ช่วงล่างและเบรก-เผื่อรับ 761 แรงม้าและ 2.3 ตัน

ระบบบังคับเลี้ยวของ Taycan เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า แปรผันน้ำหนักและความไวตามลักษณะการขับขี่ โดยในตำแหน่งถือตรง และเบี่ยงซ้าย/ขวาเล็กน้อย จะมีอัตราทดเฟือง 15.5 : 1 (ใกล้เคียง Golf GTi Mk6) แต่เมื่อหักเลี้ยวมากขึ้น อัตราทดเฟืองจะไวถึง 9.3 : 1 (หาตัวเทียบไม่ได้ แต่บอกได้ว่าขนาด WRX STi สเป็ค Nurburgring ยังทด 11.0 :1) รถที่มีระบบเลี้ยวล้อหลัง อัตราทดเฟืองจะปรับเป็น 14.2 : 1 – 9.3 : 1 แทน รัศมีวงเลี้ยวอยู่ที่ 11.7 เมตร และสำหรับรถที่ติดตั้งระบบเลี้ยวล้อหลัง อยู่ที่ 11.2 เมตร (Taycan Turbo S จะมีระบบนี้ให้จากโรงงาน)

รูปแบบของช่วงล่าง ด้านหน้า เป็นแบบอิสระ ดับเบิลวิชโบน ปีกนกทำจากอะลูมิเนียมฟอร์จ ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ ชิ้นส่วนทำมาจากอะลูมิเนียมฟอร์จ ยกเว้นปีกนกล่างที่ยึดล้อ ทำมาจาก อะลูมิเนียมหล่อข้างในกลาง ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับของ Panamera แต่อันที่จริงต้องออกแบบใหม่เกือบหมด เพราะมอเตอร์และ Inverter กินเนื้อที่บริเวณล้อทั้ง 4 ไปมาก

Taycan ทั้งสองรุ่น จะใช้ระบบรองรับน้ำหนักที่เป็นแบบถุงลม Three-chamber air spring พร้อมทั้งโช้คอัพแบบปรับความแข็งอ่อนได้ และเป็นโช้คอัพแบบ Monotube มีเหล็กกันโคลงไฟฟ้า 48V PDCC-Porsche Dynamic Chassis Control เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ

ช่วงล่างของ Taycan สามารถปรับความสูง/ต่ำได้ตามสถานการณ์จำเป็น โดยในตำแหน่ง “ยก” ก็สามารถปรับสูงจากระยะปกติ 20 มิลลิเมตร เพื่อให้ขับผ่านลูกระนาดได้ง่าย (ใช้ได้ถึงความเร็ว 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง) จากนั้นเมื่อรถวิ่งเกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะปรับลดระดับลง 10 มิลลิเมตร และเมื่อถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะลดลงเพิ่มอีก 12 มิลลิเมตร (เท่ากับต่ำกว่าระยะปกติ 22 มิลลิเมตร) ในโหมด RANGE และ SPORT + จะคาไว้ที่ตำแหน่งเตี้ยสุดตลอดเวลา

รุ่น Turbo จะใส่ล้อ 20 นิ้ว ยางหน้า 245/45R20 กระทะล้อ 9 นิ้ว ยางหลังขนาด 285/40R20 กระทะล้อกว้าง 11 นิ้ว และใช้เบรก PSCB – Porsche Surface Coated Brake ซึ่งเป็นจานเบรกเหล็ก แต่เคลือบด้วยสารผสมทังสเตน-คาร์ไบด์ ทำให้มีแรงเสียดทานเวลาเบรกเยอะขึ้นในขณะที่ออกอาการเฟดยากขึ้น แต่ระบบเบรกนี้ให้พูดตามตรง ต้นทุนจะถูกกว่า และค่าบำรุงรักษาถูกกว่าเบรกเซรามิก จานเบรกหน้าขนาด 16.4 นิ้ว (415 มิลลิเมตร) จับคู่กับคาลิเปอร์ 10 Pot ส่วนเบรกหลัง ใช้ขนาด 14.4 นิ้ว (365 มิลลิเมตร) กับคาลิเปอร์แบบ 4 Pot ดูรายละเอียดแล้ว..เหมือนเบรกของ Cayenne Turbo V8 มาก

รุ่น Turbo S จะได้ล้อ 21 นิ้ว ยางหน้า 265/35R21 กระทะล้อ 9.5 นิ้ว ยางหลังขนาด 305/30R21 11.5 นิ้ว และยังได้เบรก PCCB- Porsche Ceramic Composite Brake หรือชุดเบรกเซรามิก น้ำหนักเบากว่าจานเบรกแบบเหล็ก 50% แต่ให้ประสิทธิภาพในการหยุดดีที่สุด คาลิเปอร์หน้า 10 Pot จับคู่ จานเบรกหน้าขนาด 420 มิลลิเมตร (16.5 นิ้ว) ด้านหลังเป็นคาลิเปอร์ 4 Pot กับจานขนาด 410 มิลลิเมตร (16.1 นิ้ว) เบรกหลังขนาดเหมือน Cayenne Turbo PCCB package แต่เบรกหน้าจะมีขนาดจานเล็กกว่ากันอยู่ 20 มิลลิเมตร

ระบบเบรกที่ล้อ จะทำงานประสานกันกับระบบหน่วงความเร็วจากมอเตอร์ (Regenerative Braking System) ซึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปเมื่อปล่อยเท้าจากคันเร่ง ระบบ Regen. จะทำงานหน่วงมากจนบางครั้งสามารถเบรกได้ด้วยการยกคันเร่งหมด แต่ของ Taycan นั้น วิศวกรพยายามเซ็ตให้ระบบ Regen. ทำงานเท่าที่จำเป็นเมื่อยกคันเร่ง และค่อยไปทำงานหนักเมื่อมีการกดเบรก โดยแบ่งการทำงานกับชุดเบรกที่ล้อ เพื่อให้สามารถกำหนดแรงในการเบรกได้ง่าย เป็นคาแรคเตอร์ที่เหมาะกับรถที่เน้นความสปอร์ต (แต่ในการขับแบบโหมดสันติสุข Porsche บอกว่าระบบ Regen. จะรับหน้าที่ไป 90%)

สำหรับประสิทธิภาพการเบรกของ Taycan นั้น Porsche ตระหนักดีว่าแม้ Taycan จะไม่ใช่ SUV คันโต แต่มันก็หนักถึง 2.3 ตัน และมันต้องผ่านมาตรฐานการทดสอบเบรกของ Porsche

วิธีการทดสอบ? Porsche จะเร่งรถไปสู่ความเร็วที่มีค่าเท่ากับ 80% ของความเร็วสูงสุดของรถ (ซึ่งในกรณีของ Taycan คือ 208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จากนั้นกระทืบเบรกจนเหลือ 100 แล้วเร่งกลับขึ้นไป แล้วกระทืบให้เหลือ 100 อีกครั้ง ทำแบบนี้ 4 ครั้งแล้วพอครั้งที่ 5 ก็จะกระทืบเบรกจน ABS ทำงาน ความเร็วเหลือ 0 นี่คือนับเป็น 1 Set ..การจะผ่านมาตรฐานของ Porsche ได้ คือต้องทำแบบนี้ 5 Set อย่างต่อเนื่องไม่มีการพัก แล้วเบรกยังต้องทำงานได้อยู่

นอกจากนี้ การจัดการระบบควบคุมการทรงตัว PSM-Porsche Stability Management ของรถยนต์ที่เป็นไฟฟ้า ก็ต้องมานั่ง Reprogram ใหม่หมดเพราะใช้กับรถรุ่นอื่นในค่ายไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม การสั่งการด้วยระบบไฟฟ้าและการตอบสนองที่ว่องไวของมอเตอร์ วิศวกร Porsche จึงสามารถปรับจูนให้ระบบ PSM ใน Taycan ทำงานได้เร็วกว่าใน Panamera ถึง 5 เท่า และการตอบสนองของมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีต่อคำสั่งของ ECU นั้น ใช้เวลาแค่ 2 millisecond เท่านั้น

และถ้าคุณคิดว่าคุณรับมือกับม้า 625-761 ตัวไหว Porsche ยังอนุญาตให้คุณกด “PSM OFF” ได้อยู่ “และเมื่อผมบอกว่า Off มันก็หมายถึง Off จริงๆ คุณรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นเอาแล้วกัน” Dr.. Ingo Albers ผู้อำนวยการฝ่ายช่วงล่างและการขับเคลื่อนเขาบอกมาอย่างนั้น

ตัวผลิตภัณฑ์ในภาพรวมและการตลาด – สัมภาษณ์พิเศษ Dr. Gernot Döllner รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารด้าน Product & Concept

ทำไม Porsche ถึงต้องทำรถ EV ออกมา แล้ว Taycan จะมาแย่งลูกค้ากับ Panamera หรือไม่?

“Porsche เป็นบริษัทที่ยึดมั่นในการทำรถสปอร์ต แต่รถยนต์ไฟฟ้านั้น..คนจะมองว่ารถเหล่านี้เน้นการประหยัดพลังงาน แต่ในขณะเดียวกัน ทั้งคุณและผมทราบดีว่าอนาคตของยานพาหนะบนดิน เราจะเลี่ยงการใช้พลังไฟฟ้าไม่พ้น ถ้าเรารอนานไป คนอื่น ค่ายอื่นเขาพร้อม แล้วเรายังไม่ไปถึงไหน เรายอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้”

“และในแง่ของการมีเอกลักษณ์ของ Porsche ผมว่า Taycan เกิดมาเพื่อพิสูจน์ว่าบริษัททำรถสปอร์ตอย่างเรา สามารถสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่มีสมรรนะการขับขี่เป็นไปตามมาตรฐานของ Porsche ได้ และมันต้องเป็นรถที่มีบุคลิกการขับขี่ปราดเปรียวที่สุดใน Segment ของมัน”

“เรื่องตำแหน่งทางการตลาด ผมคิดว่าไม่น่าห่วง Taycan จะสไลด์เข้ามาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า Panamera และมีลักษณะที่ต่างกัน นอกจากเรื่องขุมพลังขับเคลื่อนแล้ว Panamera จะเป็นรถที่มีพิกัดโตกว่า มีภายในที่ใหญ่กว่า มีรุ่นฐานล้อยาวสำหรับผู้บริหาร แต่ Taycan นั้น มันคือรถที่พยายามทำตัวเองให้ใกล้เคียง 911 มากกว่าอย่างชัดเจน”

Porsche มีแผนจะทำตลาด Taycan ที่ไหนบ้าง?

“ทุกที่ที่สามารถรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้ มีตลาดในโลกนี้ให้เราเข้าหาได้อีกเยอะ แต่ถ้าถามว่าจะเน้นประเทศไหนเป็นหลัก สำหรับ Taycan นั้น ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของเราจะอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา, จีน, เยอรมนี, อังกฤษ และนอร์เวย์ นี่คือ 5 ประเทศหลักที่เราจะเน้น”

Taycan นับเป็น EV เวอร์ชั่นขายจริงคันแรกของ Porsche แล้วหลังจากนี้จะมีอะไรตามออกมาอีกหรือไม่?

“มีแน่นอนครับ รอดูกันได้เลยกับ Taycan Cross Turismo รถครอสโอเวอร์ EV ที่น่าจะเปิดตัวได้ในปี 2020-2021”

แล้วแพลทฟอร์มของ Taycan นี้ ค่ายอื่นในเครือมีส่วนช่วยพัฒนาด้วยหรือไม่?

“แพลทฟอร์มของ Taycan นั้น เป็น Pure Porsche เกิดโดยเรา พัฒนาโดยเรา มีแต่เรานี่ล่ะที่จะส่งให้ค่ายอื่นในเครือไปใช้ ยกตัวอย่างเช่นรถตระกูล e-tron ของ Audi ต่อไปเขาก็จะใช้แพลทฟอร์มที่ผลิตโดยเรา นอกจาก Audi แล้วก็อาจจะมีค่ายอื่นในเครือ VW Group ในขอหยิบยืมไปใช้ แต่ผมยังบอกไม่ได้ทั้งหมดว่าใครบ้าง”

พูดตามตรงว่า Tesla Model S ก็ทำรถในลักษณะเดียวกันกับ Taycan มาตั้งแต่ปี 2012 และสื่อต่างประเทศก็ชี้ให้เห็นว่าอัตราเร่งของ Tesla Model S P100D ก็เหนือกว่า แล้วอะไรคือจุดที่ Taycan จะชนะเขาได้?

“ผมคงไม่พูดว่า Tesla เป็นคู่แข่งของ Taycan โฟกัสเฉพาะที่รถของเราแล้วกัน สิ่งที่เราเน้นนอกเหนือจากความแรงก็คือ ความแรงที่ทำซ้ำได้หลายๆครั้ง เรานำมันไปวิ่งที่สนาม Nurburgring ซึ่งมีทั้งการสาดโค้งแบบรุนแรง สภาพพื้นแทร็คที่คาดเดายาก และมีช่วงทางตรงที่ต้องกดแช่นานๆ Taycan Turbo S ทำเวลาได้ 7 นาที 42 วินาที ซึ่งก็เร็วเท่ากับ 911 GT3 บอดี้ 997”

“นอกจากนี้ เรายังทดสอบระบบขับเคลื่อนอย่างหนักหน่วง ด้วยการนำไปวิ่งที่สนาม Nardo กดเต็มตลอดเวลา ไฟหมดก็กลับมาชาร์จแบบเร็วแล้ววิ่งต่อทันที เราทำระยะทาง 3,425 กิโลเมตรในเวลา 24 ชั่วโมง รวมเวลาที่ใช้ในการชาร์จไฟหลายครั้งด้วย แล้วก็ยังมีเรื่องการทดสอบอัตราเร่ง เราใช้วิธีจอด-ใส่ Launch Mode-แล้วออกตัว กดคันเร่งเต็มไปจนถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วเบรก จากนั้นทำซ้ำแบบเดิม เราสามารถทำได้ 20 ครั้งโดยที่ตัวเลขอัตราเร่งออกมาเท่าๆเดิมตลอด ต้องทำถึงครั้งที่ 26 นั่นล่ะ ตัวเลข 0-200 ถึงเพิ่มมา 1 วินาที ทั้งหมดนี้คือ ไม่มีจอดพักนะครับ”

[Panamera Turbo ขับโดยน้อง Lars Kern ทำเวลาในสนาม Nurburgringได้ 7 นาที 38 วิ คาดว่าเป็นเพราะการที่ Taycan วิ่งได้เร็วสุดแค่ 260 ในขณะที่ Panamera สามารถไปได้เกิน 300 – อันนี้ผู้เขียนเสริมให้ ไม่ได้แย้งออกไปตอนนั้นเพราะกลัวโดนด่า]

คำถามสุดท้ายอยากถามเผื่อลูกค้าที่เมืองไทยสักหน่อย Taycan เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และประเทศไทยก็น้ำท่วมบ่อยครั้งในตัวเมือง Taycan จะพร้อมรับมือเรื่องนี้หรือไม่?

“ผมคงบอกตัวเลขการลุยน้ำว่าลึกกี่เซนติเมตรไม่ได้ แต่ในการทดสอบ Porsche ทุกรุ่นเราพามันไปทดสอบลุยน้ำ ทดสอบน้ำรั่ว Taycan เองก็ถูกทดสอบด้วยมาตรฐานเดียวกัน สำหรับรถสปอร์ต มันคงไม่ใช่รถที่ออกแบบมาสำหรับลุยน้ำ มันไม่ใช่รถอย่าง Cayenne แต่ถ้าพูดง่ายๆก็คือ ตรงไหนที่รถซาลูนอย่าง Panamera สามารถแล่นลุยน้ำผ่านไปได้ Taycan ก็สามารถผ่านได้เช่นกัน และอาจจะมีโอกาสรอดมากกว่าด้วยซ้ำเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องยนต์ดูดน้ำเข้าห้องเผาไหม้”

และนี่คือรายละเอียดแบบเจาะลึก สำหรับ Porsche Taycan รถยนต์พลังไฟฟ้าสำหรับขายจริง คันแรกของ Porsche ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนแปลงแนวทางของค่ายอันส่งผลกระทบไปถึงอนาคต Taycan คันแรกจะถูกส่งถึงมือลูกค้าในเดือนธันวาคม 2019 ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น จะต้องรอจนถึงปี 2020 ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ณ บัดนี้ มีลูกค้าคนไทยได้วางเงินจอง 500,000 บาทสำหรับ Taycan ไปแล้วจำนวน 50 ท่าน

สำหรับแนวโน้มของราคา Taycan ให้สังเกตจากราคาของ Cayenne e-Hybrid และ Panamera 4 e-Hybrid โดยผู้เขียนอาศัยการประสบปเดา (ประสบการณ์+เดา) ว่า Taycan น่าจะมีราคาอยู่ในช่วงสอดกลางระหว่างรถสองรุ่นนี้ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รับในช่วงวันเปิดตัว Porsche จะมีรุ่นย่อย Taycan 4S ที่ราคาถูกกว่ารุ่น Turbo ตามมา รวมถึงมีความเป็นไปได้ ในการพัฒนารุ่นย่อยซึ่งใช้มอเตอร์เพียง 1 ตัว ขับเคลื่อนล้อหลัง ตามออกมาในปี 2021

ซึ่งนั่นก็จะยิ่งทำให้ราคารถหน้าโรงงานถูกลงไปอีก ลองนึกดูว่าถ้าคุณสามารถเป็นเจ้าของ Taycan ที่มีแรงม้า 300-350 แรงม้าได้ในราคาที่ถูกกว่า Macan ดู Taycan อาจจะกลายเป็นรถที่ขายดีที่สุดของ Porsche เคียงคู่ไปกับ SUV ของทางค่ายก็ได้

เรื่องนั้น เราคงต้องรอดูว่าเมื่อถึงเวลา Porsche จะใช้ท่าไม้ตายไหน เมื่อตลาดรถระดับสูงพลังไฟฟ้าทวีความสำคัญขึ้นไปบนโลกใบนี้


ขอขอบพระคุณ / Special thanks to

  • AAS Auto Service ผู้แทนจำหน่าย Porsche อย่างเป็นทางการในประเทศไทย
  • Porsche Asia Pacific/ Porsche China

สำหรับการเชิญเข้าร่วมเป็นเกียรติในการเปิดตัว Porsche Taycan และการประสานงานจนลุล่วงด้วยดี