ก้าวต่อไปของยานพาหนะสำหรับใช้ในเมืองมิได้หมายความว่าจะต้องมาในรูปแบบรถยนต์นั่งขนาดจิ๋ว 4 ล้อติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปด้านท้าย มีโอเวอร์แฮงค์หน้าและท้ายที่สั้นกะทัดรัดอีกต่อไป ยานพาหนะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันในเมืองจะต้องมีคุณสมบัติความคล่องตัว ซอกแซกไปได้แทบทุกหนแห่ง รถยนต์ขนาดจิ๋ว 4 ล้อคงมิอาจตอบสนองจุดนี้ได้เต็มที่นัก

หลายคนคงงุนงงกันว่าทำไมผู้ผลิตรถยนต์ถึงต้องลดขนาดตัวถังและเปลี่ยนรูปแบบจากรถยนต์ 4 ที่นั่งมาเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่มีคำนิยามใด ๆ สำหรับรถประเภทใหม่ แต่ศัพท์เรียกเฉพาะยานพาหนะหน้าตาประหลาด ๆ เราเรียกรวม ๆ กันว่า Urban Community นั่นเป็นเพราะขนาดตัวเมืองที่มีขนาดเท่าเดิมแต่จำนวนประชากรที่หนาแน่นทำให้ทุกตารางเมตรในเมืองย่อมมีค่า

 
 

GM ค่ายรถยักษ์ใหญ่อเมริกันมีวิสัยทัศน์ยาวไกลเฉกเช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและยุโรปหลายค่ายที่เล็งเห็นแล้วว่ายานพาหนะสำหรับคนเมืองน่าจะมีความจำเป็นอย่างสูงภายในปี 2573 หรือปี 2030 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าที่คาดการณ์กันว่า 60% ของประชากรโลกหรือจำนวน 8,000 กว่าล้านคนจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น และนั่นก็จะทำให้พวกเรา ๆ ท่าน ๆ แย่งกันกินแย่งกันใช้ ระบบสาธารณูปโภคระดับพื้นฐานไม่น่าจะเพียงพอต่อการบริโภคของประชากรในเขตเมืองเหล่านี้ได้แน่นอน

 
 

ดังนั้น GM และ Shanghai Automotive Industry Corporation หรือ SAIC จึงร่วมกันพัฒนายานพานะสำหรับคนเมืองในยุคหน้าภายใต้โครงการ EN-V ย่อมาจาก Electric Networked-Vehicle ยานพาหนะไฟฟ้าในเครือข่าย เป็นเทคโนโลยีที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อลดข้อจำกัดในการเดินทาง และลดปัญญาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี อีเอ็น- วี จะเป็นยานพาหนะขนาดสองที่นั่ง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความคับคั่งของการจราจร ปัญหาในการหาที่จอดรถ ปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นในเมืองใหญ่ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านการออกแบบของจีเอ็ม

 
 

งานนี้ GM และ SAIC ลงทุนพัฒนายานพาหนะต้นแบบภายใต้โครงการ EN-V ถึง 3 แบบ 3 รส เพื่อจัดในงานแสดง Shanghai World Expo 2010 ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2010 สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือยานพาหนะต้นแบบทั้ง 3 คันถูกพัฒนาขึ้นตามหลักปรัชญาของประเทศจีน โดยมุ่งเน้นถึงความภาคภูมิใจ (Jiao/Pride) ความน่าหลงใหล (Miao/Magic) ความสนุกสนาน (Xiao/Laugh) ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นที่แตกต่างกันไป

“EN-V เป็นเทคโนโลยีซึ่งรวมเอาความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีสื่อสารที่ไร้ขีดจำกัดมาพลิกโฉมยานยนต์ยุคใหม่ จะทำให้การขับขี่ยานพาหนะในโลกอนาคตไม่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถช่วยลดปัญหาด้านการจราจรและการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ยังสามารถสร้างความสนุกสนานในการขับขี่ และการออกแบบที่มีสีสัน”นาย เควิน เวลล์ ประธานกรรมการบริษัทจีเอ็ม ไชน่า กรุ๊ป กล่าว

 
 

EN-V  ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทคโนโลยีต้นแบบ PUMA (Personal Urban Mobility and Accessibility) ซึ่ง จีเอ็ม ได้ทำงานร่วมกับทาง เซ็กเวย์ และพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ขึ้นมา โดยได้ทำการเปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนของปีที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นระบบขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมอเตอร์ไฟฟ้าจะให้กำลังขับในช่วงของการเร่งความเร็ว และยังจะช่วยในการควบคุม การชะลอความเร็ว และการหยุดรถอีกด้วย ซึ่งนับว่าแตกต่างไปจากรถยนต์ในยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงที่ใช้ระบบเบรคเพียงอย่างเดียวในการชะลอและหยุดรถ ทั้งนี้ระบบเทคโนโลยีEN-V จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้แบตเตอรี่ลิเทียมอิออน ซึ่งสามารถขับได้ระยะไกลถึง 40 กิโลเมตรต่อการชาร์ตแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้ยานพาหนะแต่ละคันสามารถสื่อสารระหว่างกัน พร้อมระบบเซนเซอร์ และกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ช่วยบอกระยะห่างระหว่างยานพาหนะ เพื่อการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วต่อสิ่งกีดขวาง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพการขับขี่ อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยทั้งหมดนี้จะเป็นการเชื่อมต่อกันผ่านระบบจีพีเอส เป็นผลทำให้ยานพาหนะสามารถขับเคลื่อนได้เองอย่างอัตโนมัติ และปราศจากการควบคุมจากผู้ขับขี่

 
 

สำหรับเทคโนโลยีนี้จะสามารถค้นหาข้อมูลการจราจรในเวลาปัจจุบันได้ทันที ทำให้สามารถเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วที่สุด เทคโนโลยีใหม่นี่ยังรวมถึงระบบเครือข่ายไร้สายที่ผู้ขับขี่สามารถติดต่อกับผู้ขับขี่รายอื่น เพื่อนฝูง และลูกค้าได้ พร้อมกันนี้ จีเอ็ม ยังตอกย้ำความเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบเทคโนโลยียานยนต์ ด้วยโครงการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย คาร์เนกี้ เมลลอน แห่ง เมืองพิทส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย โดยได้มีการริเริ่มโครงการ “The Boss” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนารถยนต์สำหรับผู้ที่มีอุปสรรคปัญหาด้านร่างกายต่อการขับขี่รถยนต์อีกด้วย

เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่สามารถทำให้การขับขี่แบบอิสระไร้ผู้ขับขี่เป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีระบบการเตือนก่อนการออกตัวของยานพาหนะ ระบบการค้นหามุมอับของสายตาขณะขับขี่ หรือ แม้แต่ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการนำไปใช้ในยานพาหนะบางรุ่นของจีเอ็มในปัจจุบันบ้างแล้ว” นาย อลัน ทอป รองประธานบริหารด้านงานวิจัยและพัฒนาของจีเอ็ม กล่าว

 
 

ยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยี EN-V มีน้ำหนักที่เบาเพียง 500 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 1.5 เมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ในปัจจุบันที่มีน้ำหนักมากถึง 1,500 กิโลกรัม และยาวกว่าถึง 3 เท่า อีกทั้งยังต้องการพื้นที่ในการจอดรถมากกว่า 10 ตารางเมตร ซึ่งหมายความว่าที่จอดรถยนต์ทั่วไปสามารถรองรับยานพาหนะ EN-V ได้มากถึง 5 คัน

ทางด้านการออกแบบโดยอาศัยหลักปรัชญาของประเทศจีน โดยเริ่มตั้งแต่ความสนุกสนานในการขับขี่ (Xiao/Laugh) ที่ได้ถูกริเริ่มขึ้นโดยทีมออกแบบของ จีเอ็ม โฮลเดนประเทศออสเตรเลีย โดยเลือกสีฟ้าสดใสเป็นจุดเด่น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากท้องทะเลในวันที่อากาศแจ่มใส ขณะที่รูปลักษณ์ที่เน้นถึงความภาคภูมิใจ (Jiao/Pride) ได้ถูกออกแบบโดยทีมงานออกแบบของ จีเอ็ม ยุโรป ที่มีต้นแบบมาจากรถไฟความเร็วสูงของประเทศญี่ปุ่น และหน้ากากที่ใช้ในการแสดงอุปรากรจีน ส่วนแนวคิดความน่าหลงใหล (Miao/Magic) ได้รับการออกแบบมาจากทีมงานของ จีเอ็ม ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นความแข็งแรง ทะมัดทะแมง

 “เมื่อแนวคิดทั้งสามมารวมกันจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของยานพาหนะEN-V แสดงออกมาถึงรูปลักษณ์ภายนอกอันสง่างาม สีสันเย้ายวนใจ ส่วนภายในบ่งบอกถึงความหรูหรา ซึ่งคอนเซ็ปต์ในการออกแบบยานพาหนะ
EN-V นี้ เป็นการระดมความคิดของทีมออกแบบของจีเอ็มทั่วโลก” นาย เครย์ ดีน ผู้อำนวยการฝ่ายการออกแบบ บริษัท จีเอ็ม แห่งภูมิภาคอเมริกาเหนือ กล่าวเสริม

 
 

ในส่วนวัสดุ ตัวถังEN-Vรุ่นนี้ ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุพลาสติกสังเคราะห์โพลีคาร์บอเนต และสาร
อะคลีลิก ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ในการผลิตยานพาหนะเพื่อการแข่งขัน เครื่องบินรบ ยานอวกาศ เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบา การนำนวัตกรรมใหม่ทางด้านวัสดุเหล่านี้มาใช้ก่อให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้สำหรับทีมงานการออกแบบของจีเอ็ม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนารยนต์แห่งโลกอนาคต

“ในอนาคตเราจะเดินทางสัญจรไปในเมืองใหญ่ๆ อย่างนครเซี่ยงไฮ้ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยียานยนต์อันทันสมัย ผนวกกับโครงสร้างของระบบสาธารณูปโภคด้านการคมนาคมที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับเทคโนโลยียานยนต์รุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิทยาการใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยในเรื่องการเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม” นาย อลัน ทอป กล่าวทิ้งท้าย