ย้อนกลับไปช่วงตุลาคม 2009 Tata ก็ได้รับรายงานเหตุเคราะห์ร้ายรถต้นทุนต่ำบรรลือโลกรุ่น Nano ไฟไหม้ไปแล้วถึง 3 คัน วิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าชิ้นส่วนพลาสติคละลายตัวไปขัดขวางการทำงานระบบอิเล็กทรอนิคส์บางอย่าง อันก่อให้เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว

 
 

นั่นก็ทำให้ Tata ต้องพิสูจน์ตนเองด้านคุณภาพของรถ Nano ไปอีกนานจนกว่า ผู้รับสารในปัจจุบันเชื่อถือได้ว่า Nano เป็นรถที่ไม่มีปัญหาใหญ่จริง ๆ  แต่ยังไม่ทันไรเหตุการณ์ร้าย ๆ ก็เกิดขึ้นมาอีกแล้ว

Mr. Satish Sawant ตัวแทนประกันภัยผู้ครอบครอง Tata Nano ในเขตเมือง Prabhadevi เมือง Mumbai ไม่คาดฝันว่าจะเกิดเหตุร้ายกับตนเช่นกัน

ระหว่างทางขับรถกลับบ้าน นาย Sawant สังเกตเห็นคนขับรถจักรยานยนต์รายหนึ่งบิดเร่งแซงพร้อมชี้ไม้ชี้มือให้สังเกตด้านหลังรถว่าที่เขาขับกำลังเกิดเพลิงไหม้ พอหันหลังปุ๊บนาย Sawant อาศัยสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์รีบกระโดดลงจากรถเพื่อเอาชีวิตรอดเสียก่อน

สเปค Tata Nano ที่นาย Sawant ขับขี่อยู่เป็นรุ่นท้อปที่มีมูลค่า 2 แสนกว่าบาทติดตั้งเครื่องปรับอากาศและกระจกไฟฟ้าเหมือนกับรถหรูหราที่ขายในอินเดีย  ไม่เหมือนกับรุ่นล่างสุดไร้ระบบไฟฟ้าใด ๆ ที่เคยสร้างความฮือฮาให้กับชาวโลกด้วยราคา 8 หมื่นบาท แต่ที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นรุ่นย่อยไหน ๆ ก็คือ ติดตั้งเครื่องยนต์ไว้ด้านหลังอันเป็นต้นตอของเพลิงไหม้ครั้งนี้

ในเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่มีหลักฐานประจักษ์สายตาขนาดนี้จึงมีคำถามในใจว่า Tata Nano มีความน่าเชื่อถือเพียงไร ในแง่สุดยอดด้านวิศวกรรมไม่มีอะไรให้คาใจ แต่คุณภาพและความปลอดภัยของรถมันจะหล่นหายไปตามราคาอย่างนั้นหรือ?

การเกิดเหตุเพลิงไหม้จากห้องเครื่อง Tata Nano ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า Tata ออกแบบระบบระบายความร้อนห้องเครื่องที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจนทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ทำงานผิดปกติซึ่งน่าจะหมายถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ หลอมละลายมาขัดขวางการทำงานของระบบบางอย่างเอาไว้

ทั้งนี้ เราคงไม่สามารถสรุปเอาเองตามใจกันได้เพราะเรายังไม่เห็นเหตุการณ์จริง เราต้องรอคอยคำชี้แจงจาก Tata Motor ถึงอุบัติภัยครั้งนี้จะดีกว่าครับ