เครื่องยนต์ V6 และ V8 เป็นของคู่กันกับลูกค้าชาวสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ที่ต้องการสมรรถนะอย่างถึงที่สุดโดยไม่สนใจอะไรมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ต้องไปย้อนยุคกำเนิด Motorization เพียงแค่ย้อนกลับไปยุค 5-20 ปีก่อนก็ได้ว่าเครื่องยนต์สูบเยอะ  ๆ ซีซีเยอะ ๆ ยังเป็นที่นิยมอย่างมากราวกับว่าชาวอเมริกันมีบ่อขุดน้ำมันสามัญประจำบ้านเสียอย่างนั้น (ทั้ง ๆ มะกันก็ไปดูดของเขามาก็เยอะครับ)

 
 

แต่แล้ววิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เริ่มบูดเน่าตั้งแต่กันยายน 2008 และยังกระแทกซ้ำด้วยภาวะวิกฤตน้ำมันแพงในช่วงนั้นส่งผลให้พฤติกรรมการใช้รถของชาวสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไป อยู่ดี ๆ จิตสำนึกประหยัดน้ำมันก็รีบเข้าสิงโดยพลันทั้ง ๆ ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวสหรัฐอเมริกาใช้รถที่กินน้ำมันล้างผลาญกันมาตลอด

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่ารถยนต์ที่มีสูบใหญ่ ความจุกระบอกสูบเยอะจึงมียอดขายย่ำแย่ในปี 2009 จนแทบจะสูญพันธุ์จากท้องตลาด

วารสารด้านยานยนต์ชื่อดัง Ward’s Auto รายงานว่าราคาน้ำมันที่เคยพุ่งกระฉูดมากกว่า 2 ดอลลาร์ต่อแกลลอนส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์ V6 และ V8 มีส่วนแบ่งยอดขาย 57.1% ขณะที่ปี 2008 มีส่วนแบ่ง 63.9% หรือหากย้อนหลังไปปี 2004 รถเครื่องยนต์เหล่านั้นก็มีส่วนแบ่งถึง 76.2%

สัดส่วนเปลี่ยนไปเยอะจริง ๆ ครับ

แต่ถ้ามองภาพรวมของตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาแล้วล่ะก็ถือว่ามียอดขายตกต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปีนี้เลยทีเดียว ยอดขายรวมประจำปี 2009 มียอดขายเพียงแค่ 7,943,327 คัน และยิ่งเห็นชัดว่าตกต่ำลงพอสมควรเมื่อเทียบกับปี 2008 ที่มียอดขาย 13,117,992 คัน

เครื่องยนต์ V8 มักจะใส่กับกระบะเล็กรุ่นบนสุดเท่านั้นหาได้น้อยมากในตลาดรถยนต์นั่ง  สัดส่วนเครื่องยนต์ V8 ในรถกระบะเล็กอยู่ในระดับ 40% ในปี 2009 แม้จะลดลงจากปี 2008 เพียงแค่ 0.9% แต่ในตลาดรถยนต์นั่งเครื่องยนต์ V8 มีส่วนแบ่งแค่ 4.9% ตกต่ำอย่างขีดสุด ผิดกับยุคเครื่อง V8 รุ่งเรืองสุดขีดที่มีส่วนแบ่งถึง 88.9% ในยุคปี 1969

ขณะเดียวกันเครื่องยนต์บล๊อค 4 สูบมีส่วนแบ่งยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 51.7% ในปี 2008 เป็น 61.9% ในปี 2009 ในตลาดรถยนต์นั่ง ส่วนตลาดกระบะขนาดเล็กก็เติบโตมีส่วนแบ่ง 14.8%

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง Ward’S Survey ว่าเครื่องความจุกระบอกสูบต่ำกว่า 3.0 ลิตร ค่อย ๆ ไต่จำนวนส่วนแบ่งยอดขายจาก 10 ปีที่แล้วที่มีส่วนแบ่ง  29.6% และเพิ่มขึ้นอีกในปี 2007 เป็น 32.6% และปี 2008 มีส่วนแบ่งเพิ่มอีกเป็น 36.5% และท้ายที่สุดปี 2009 มีส่วนแบ่งยอดขายในตลาดรวมถึง 43.1%

ที่น่าแปลกคือเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรเทียบเท่าหรือต่ำกว่ากลับมีส่วนแบ่งยอดขายในปี 2009 ลดลงเหลือ 7.1% ขณะที่เครื่องยนต์ตั้งแต่ 2.0-2.9 ลิตร กลับมีส่วนแบ่ง 36% เพิ่มจากปีที่แล้วด้วยซ้ำ นั่นก็แสดงว่าคนอเมริกันพยายามหาจุดสมดุลระหว่างความแรงและความประหยัดในสายตาของพวกเขา และถ้าจะวิเคราะห์จากความหมายของผลวิจัยนี้ก็สรุปว่า คนอเมริกันจำนวนมากยังไม่ยอมรับรถยนต์ขนาด 1.3-1.8 ลิตรได้เท่าที่ควร สอดคล้องกับยอดขายรถขนาดซับคอมแพคท์ที่ยังไม่มีรุ่นใดทำยอดขายเกือน 1 หมื่นคันต่อเดือนเลยสักราย

ข้อมูลที่น่าสนใจคือเครื่องยนต์ขนาด 3.0-3.9 ลิตรมีส่วนแบ่งยอดขายฮวบฮาบลงจากปี 2008 4% เหลือ 29% ในปี 2009 เครื่องยนต์ขนาด 4.0-4.9 ลิตรลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2008 เหลือ 11.3%

ข้อมูลที่น่าสนใจที่ Ward’s Survey นำมาตีแผ่คือสัดส่วนเครื่องยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อเพิ่มพละกำลังนั้นค่อย ๆ ทะยานเพิ่มขึ้น ได้แก่เครื่องยนต์ติดเทอร์โบและเครื่องยนต์พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้าหรือ Hybrid

ยอดขายเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลพุ่งกระฉูดจาก 338,541 ในปี 2008 เป็น 380,325 ในปี 2009 นั่นเป็นเพราะยอดขายจากเก๋งดีเซลบางรุ่นที่นำเข้าจากฐานการผลิตเมกซิโกอย่าง Volkswagen Jetta

ยอดขายเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปี 2008 เป็น 2.9% ในปี 2009 ส่วนเครื่องยนต์เบนซินซูเปอร์ชาร์จโผล่พ้นน้ำมีส่วนแบ่งยอดขาย 0.1%

ยอดขายรถยนต์ Hybrid ก็มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 2.1% ในปี 2008 เป็น 2.4% ถือว่าไม่น้อยหน้าเลย นี่ยังไม่รวมเครื่องยนต์พลังงานทางเลือก Flex Fuel ที่มียอดขายค่อย ๆ ทะยานขึ้นภายใต้สภาวะน้ำมันไม่คงที่อีกด้วย

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าแนวโน้มเทคโนโลยี Booster แรงม้า แรงบิด แต่ไม่ทำให้รถกินน้ำมันเพิ่มขึ้นต้องเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดความจุกระบอกสูบ และท้ายที่สุดก็จะแทนที่เครื่องยนต์บล๊อกใหญ่ ๆ ในอนาคตครับ