คุณยังจำได้ไหมครับ? เมื่อครั้งที่เรายังเยาว์วัย เราต่างเติบโตขึ้นมา พร้อมกับรถยนต์ที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่า เวลาที่คุณเห็นรถยนต์สวยๆ สักรุ่น แล่นผ่านสายตาคุณไป สายตาจะพลันเป็นประกาย หัวใจคุณจะเต้นรัว แล้วเราก็เกิดกิเลส อยากได้รถคันนั้น กับเขาบ้าง
ชีวิตของคนเราทุกคน ตั้งแต่เยาว์วัย จนเติบใหญ่ น่าจะเคยมีความประทับใจ หรือชื่นชอบในเรือนร่างและเส้นสาย ของรถยนต์ สักรุ่น แน่นอนว่า ความชอบนั้น มันสัมพันธ์กับการที่คุณ เกิดมาเป็นคนในยุคสมัยใด หากเป็นคนรุ่น Lost Generation ที่มีชีวิตในช่วงก่อน และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อาจจะชอบรถยนต์ในยุค 1950 – 1959 หากเป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ปู่ยาตายายเรา หรือ Baby Boomer ก็อาจหลงไหลในรถยนต์ยุค 1960 – 1969 คนอเมริกันยุคถัดมา อาจจะมีจิตฝักใฝ่ผู้กพันกับรถยนต์ Muscle Cars อย่าง Ford Mustang , Pontiac GTO หรือ Dodge Charger ในช่วงยุค 1964 – 1975 หากเป็นคนวัย Generation X หรือ กลุ่ม Yuppies ก็อาจจะชื่นชอบรถยนต์จากยุโรป โดยเฉพาะปลายปี 1986 – 1993 หรือที่เรียกว่า รถยนต์ยุคทศวรรษ 1980’s – 1990’s เช่น Mercedes-Benz 190E W201 หรือ E-Class W124 ไปจนถึง BMW 3 Series E30 กับ E36 หรือไม่ก็เหลียวหลังไปมอง รถสปอร์ตจากญี่ปุ่น ยุค 90s อย่าง Nissan Skyline GT-R R32 , Toyota Supra , Mazda efini RX-7 ฯลฯ ส่วนคนรุ่น Generation Y ก็น่าจะชื่นชอบรถยนต์ยุคปี 2000 ที่พวกเขาทันเห็นในวัยเด็ก ฯลฯ
บางคนอาจคิดว่า ฝันเหล่านั้น มันไกลเกินเอื้อม แต่บางคนก็เอาฝันนั้น มาเป็นแรงผลักดันให้ตนเองประสบความสำเร็จในเวลาหลายปีต่อมา ทว่า เมื่อถึงเวลานั้น รถยนต์ที่เราอยากได้ ก็ไม่มีขายเสียแล้ว! ต้องไปตามหาในตลาดรถยนต์มือสองแทน ซึ่งก็หาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางรุ่นบางคันที่ได้รับความนิยมก็ถูกปั่นราคาขายต่อขึ้นไปจน over เกินจริง
สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว รถยนต์แนวที่ชวนให้หวนนึกถึงอดีต แบบ Nostalgia มีออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ เรื่อยๆ ในช่วงปี 1990 ถึง 2010 แม้ว่า จะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่น กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจฝืดเคือง จากวิกฤติการณ์ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ตลาดหุ้นดำดิ่ง ในระยะยาวจนกลายเป็น Lost decades ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ความฝันอยากได้รถยนต์ประเภทสร้างขึ้นเป็นพิเศษ จำนวนจำกัด ก็ยังคงมีอยู่ในใจของกลุ่มผู้บริโภคหลายๆคน
ในมุมของผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของแดนอาทิตย์อุทัย จากจังหวัด AICHI อย่าง Toyota Motor แล้ว การที่พวกเขาผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านปัญหาและอุปสรรคมาได้มากมาย จนวันนี้ ปาเข้าไป เกือบ 90 ปี แล้วนั้น พวกเขาทำรถยนต์ออกมาขายในจำนวนมากมาย หลายพันล้านคัน มีทั้งรุ่นที่ประสบความสำเร็จ เช่น Corolla , Camry . Hilux, RAV4 ฯลฯ และรุ่นที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปก่อนวัยอันสมควร เช่น Nadia , Opa , Progress ฯลฯ
ถึงกระนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความสำเร็จของ Toyota ในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางรากฐานในอดีตมาอย่างดีให้กับรถยนต์รุ่นสำคัญรุ่นหนึ่ง ซึ่งถือเป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล ที่มีอายุการทำตลาดยืนยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Toyota และของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก นั่นคือ Toyota CROWN
แน่นอนว่า ความสำเร็จของ Toyota ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ก็คงต้องย้อนกลับไปยังการถือกำเนิดของ Toyopet Crown รุ่นแรก (รหัสรุ่น RS) ซึ่งเปิดตัว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1955 นี่คือรถยนต์ที่ จุดประกายให้ชาวญี่ปุ่น เริ่มรู้จักกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ผลิตในบ้านเกิดตัวเองมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้น ในการนำพาญี่ปุ่น ก้าวเข้าสู่ยุคประชายนต์นิยม (Motorization) ในปี 1965 ต่อเนื่องไปสู่การเป็นมหาอำนาจในอุตสาหกรรมยานยนต์ ช่วงหลังทศวรรษ 1970 จวบจนปัจจุบัน
ด้วยรูปทรงอันแสนจะ Classic ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรถยนต์ American ในยุคสมัยนั้น คงจะมีบางคน เกิดนึกตั้งคำถามพิเรนทร์ขึ้นมาว่า ถ้าในปัจจุบันนี้ จะมีการทำรถยนต์ขึ้นมาสักรุ่น ออกจำหน่าย โดยมีงานออกแบบจากเค้าโครงเส้นสายของ Crown รุ่นแรก มันจะออกมามีหน้าตาอย่างไรกัน?
ไม่ต้องหาคำตอบที่ไหนอื่นไกลครับ Toyota เคยทำรถยนต์แบบที่ว่านั่น ออกมาขายแล้ว! เพียงแต่ว่า ผลิตออกมาในจำนวนจำกัดแค่ 1,072 คัน และ เรื่องราวทั้งหมดนั้น มันเกิดขึ้น มาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2000 แล้วละ!
ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 1999 (พุทธศักราช 2542) เป็นวันที่ Toyota Motor Corporation ผลิตรถยนต์ในโรงงานของตนที่ญี่ปุ่น ออกจำหน่ายทั่วโลก ครบ 100 ล้านคัน พอดี ดังนั้น จึงมีการคิดสร้างรถยนต์รุ่นพิเศษ เพื่อร่วมฉลองความสำเร็จในโอกาสดังกล่าว
สำหรับ Toyota แล้ว หากจะย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาในอดีตนั้น มันก็มีรถยนต์อยู่ 2 รุ่น ซึ่งน่าจะถูกนำกลับมาผลิตขึ้นใหม่ นั่นคือ Toyota AA Sedan ปี 1937 แต่ก็ถูกนำกลับมาทำใหม่เรียบร้อยแล้ว บนโครงสร้างของ Toyota Hilux ใช้ชื่อว่า Toyota Classic ออกสู่ตลาด ในปี 1997 ซึ่งเราเคยนำเสนอเรื่องราวของรถคันนี้ไปแล้ว ในบทความนี้ (CLICK HERE)
ดังนั้น อีกรุ่นหนึ่งที่ถือว่าเป็นรถยนต์ระดับตำนานรุ่นสำคัญของ Toyota นั่นคือ Toyota CROWN ซึ่งถือว่าเป็นรถยนต์นั่งโดยสารส่วนบุคคล ที่ผลิตออกขายในญี่ปุ่น ยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา รุ่นที่ 10 ซึ่งเปิดตัวในงาน Tokyo Motor Show เดือนตุลาคม 1999 ก็มีขนาดตัวถังใหญ่โตเกินไป เมื่อเทียบกับ Toyopet CROWN รุ่นแรก ดังนั้น เมื่อมองไปยังบรรดารถยนต์ ทุกรุ่นที่มีจำหน่ายอยู่ในตอนนั้น ดูเหมือนว่า จะมีรถยนต์รุ่นหนึ่ง ซึ่งดูทรงแล้ว เหมาะสมจะมาเป็นพื้นฐานให้กับ รถยนต์รุ่นพิเศษคันใหม่นี้มากที่สุด นั่นคือ Toyota Progrès
Toyota Progrès นั้น ถือได้ว่าเป็นรถยนต์ Sedan ขับเคลื่อนล้อหลัง ขนาดกลาง ที่ วิศวกรของ Toyota อย่าง Mr.Akihiro Wada รองประธานฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี ในขณะนั้น ภาคภูมิใจเป็นพิเศษ เพราะ ตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาในปี 1990 Progrès ถูกวางเป้าหมายให้เป็น “รถยนต์หรูขนาดเล็ก” ที่ต้องมีความละเอียดในการผลิต ขั้นสุดยอด ไม่แพ้ Toyota Century ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่น Flagship ของ Toyota เพื่อต่อกรกับรถยนต์อย่าง Mercedes-Benz C-Class W202 แต่ต้องเรียบหรู และดู Over Engineered ในระดับเดียวกับ Mercedes-Benz S-Class W140 ทำให้ Wada ระดมทีมงานสร้าง พัฒนา และผลิต กลุ่มเดียวกับที่ทำ Toyota Century มาร่วมสร้างรถยนต์รุ่น Progrès นี้ด้วยกัน และออกอวดโฉมสู่สายตาสาธารณชน ในงาน Tokyo Motor Show เดือนตุลาคม 1997 ภายใต้ชื่อ Toyota NC250 ก่อนจะเปิดตัวออกสู่ตลาดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1998
Progrès มีความยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,435 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวถึง 2,780 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง 1,475 และ 1,460 มิลลิเมตร ระยะห่างจาก พื้นถนน ถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 160 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,460 – 1,480 กิโลกรัม
วางเครื่องยนต์ 2 แบบ คือ 1JZ-GE เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,491 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 71.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT-i รวมทั้งมีระบบ ลิ้นคันเร่งไฟฟ้า ETCS-i กำลังสูงสุด 200 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.5 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้งรุ่น NC250 แบบธรรมดา และแบบ Walnut Package
อีกขุมพลัง เป็นเครื่องยนต์รหัส 2JZ-GE เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,997 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.3 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT-i ลิ้นคันเร่งไฟฟ้า ETCS-i กำลังสูงสุด 215 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 294 นิวตันเมตร (30.0 กก.-ม.) ที่ 3,800 รอบ/นาที วางในรุ่น NC300 แบบธรรมดา และแบบ Walnut Package
ทั้ง 2 เครื้่องยนต์ ใน 4 รุ่นย่อย ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ Super ECT-iE พร้อมระบบ Flex Lock-up Torque Converter พร้อมระบบ Navi Ai-Shift เปลี่ยนเกียร์ตามข้อมูลถนนจากระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS เป็นครั้งแรกในโลก
ทุกรุ่นย่อย ติดตั้งพวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง ระบบกันสะเทือน ทั้งด้านหน้าและหลัง เป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone ระบบห้ามล้อ เป็น Disc Break 4 ล้อ คู่หน้า มีครีบระบายความร้อน พร้อมตัวช่วยครบ ทั้ง ABS (Anti-Lock Brake System) ,Break Assist , VSC (Vehicle Stability Control) , TRC (Traction Control) ถุงลมนิรภัย และม่านลมนิรภัยรวม 6 ใบ พนักศีรษะ WiL (Whiplash injury Lessening) บนโครงสร้างตัวถัง GOA แถมด้วยระบบ Redar Cruise Control และ จอระบบนำทาง EMV (Electro Multi Vision) ยกชุดมาจาก Toyota Celsior (Lexus LS400) รุ่นที่ 2
ทว่า ด้วยหน้าตาที่แสนจะ “เฉิ่มเชย” โดยเฉพาะรูปทรงไฟหน้าที่ประหลาดสุดขั้ว ทำให้ลูกค้าวัยชรา พากันเมินหน้าหนี Progrès ขายไม่ดี และต้องยุติการผลิตไปเดือนมิถุนายน 2007 กระนั้น ยอดขายที่ย่ำแย่ ทำให้ Toyota ต้องเร่งพัฒนา Toyota Brevis ออกสู่ตลาดในวันที่ 4 มิถุนายน 2001 เพื่อให้ถูกอกถูกใจกลุ่มลูกค้ารุ่นใหญ่ ที่อยากได้รถยนต์ Sedan หรู แต่มีปัญหาเรื่องขนาดของช่องจอดรถที่บ้าน จนอุดหนุนรถยนต์ขนาดใหญ่กว่า อย่าง Toyota Crown หรือ Century ไปจนถึง รถยุโรป อย่าง Mercedes-Benz หรือ BMW ไม่ได้
Brevis มีความยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,720 มิลลิเมตร สูง 1,460 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวถึง 2,780 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง 1,490 และ 1,475 มิลลิเมตร ระยะห่างจาก พื้นถนน ถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 160 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,520 – 1,550 กิโลกรัม
วางเครื่องยนต์ 2 แบบ คือ 1JZ-FSE เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,491 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 71.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI แบบ Direct Injection (D4) พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT-i รวมทั้งมีระบบ ลิ้นคันเร่งไฟฟ้า ETCS-i กำลังสูงสุด 200 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.5 กก.-ม.) ที่ 3,800 รอบ/นาที มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง Ai250 และขับเคลื่อน 4 ล้อ Ai250 i-Four
อีกขุมพลัง เป็นเครื่องยนต์รหัส 2JZ-FSE เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,997 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.3 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI แบบ Direct Injection (D4) พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT-i รวมทั้งมีระบบ ลิ้นคันเร่งไฟฟ้า ETCS-i กำลังสูงสุด 220 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 294 นิวตันเมตร (30.0 กก.-ม.) ที่ 3,600 รอบ/นาที มีเฉพาะรุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง Ai300 เท่านั้น
รุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง ใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ Super ECT แต่รุ่น Ai Four ขับเคลื่อน 4 ล้อ จะพ่วงเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ECT-iE พร้อมระบบ Flex Lock-up Torque Converter
ทุกรุ่นย่อย ติดตั้งพวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง ระบบกันสะเทือน ทั้งด้านหน้าและหลัง เป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone ระบบห้ามล้อ เป็น Disc Break 4 ล้อ คู่หน้า มีครีบระบายความร้อน พร้อมตัวช่วยครบ ทั้ง ABS (Anti-Lock Brake System) , EBD (Electronic Break Force Distribution) ,Break Assist , VSC (Vehicle Stability Control) , TRC (Traction Control) ถุงลมนิรภัย และม่านลมนิรภัยรวม 6 ใบ พนักศีรษะ WiL (Whiplash injury Lessening) บนโครงสร้างตัวถัง GOA
แม้ว่า ทั้ง 2 รุ่น อาจทำยอดขายได้ไม่ดีนัก ตลอดอายุตลาด ถึงกระนั้น Platform รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง รวมทั้งงานวิศวกรรมต่างๆของ Progrès และ Brevis มันดีพอในขณะนั้น ที่จะถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เมื่อ Toyota ตัดสินใจสร้างรถยนต์รุ่นพิเศษ เพื่อฉลองความสำเร็จในโอกาสผลิตรถยนต์ ครบ 100 ล้านคัน ในปี 1999 – 2000
รถคันนี้ ถูกตั้งชื่อว่า Toyota ORIGIN
Toyota Origin ถูกเผยโฉมออกมาครั้งแรก ในงาน Tokyo Motor Show วันที่ 22 ตุลาคม 1999 ร่วมกับบรรดารถยนต์ต้นแบบ หลากหลายรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ในขั้นตอน ใกล้เตรียมออกจำหน่าย ในช่วง 1-2 ปี หลังจากนั้น ได้แก่ HV-M4 (ร่างจำแลงของ Estima 2nd Generation) , Opa, Bb Open Deck, NCSV (ต่อมาเป็น Corolla Series NCV), WiLL Vi, Celica Cruising Deck ฯลฯ
ผู้เข้าชมงานในช่วงนั้น คงคิดว่า Origin น่าจะเป็นเพียงแค่รถยนต์ต้นแบบคันหนึ่งในงานแสดงรถยนต์ ที่มีแนวทางการออกแบบ ร่วมยุคสมัยนั้น อันเป็นช่วงที่วงการรถยนต์ทั่วโลก กำลังตื่นตาตื่นใจกับการนำรถยนต์รุ่นดังในอดีตหวนกลับมาทำใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Volkswagen New Beetle , MINI , หรือ Ford Thunderbird เวอร์ชันต้นแบบ ปี 1999 ที่ออกขายจริงในปี 2000 ในฐานะรถรุ่นปี 2001 เพียงแค่นั้น
ทว่า ถ้าสังเกตกันดีๆ ลักษณะของโครงประตู จนถึงบานประตู และมือจับประตู ทั้ง 4 บาน ชวนให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่า จะมีการผลิตออกจำหน่ายหรือไม่ เพราะดูแล้ว มันเหมือนกับลักษณะของรถยนต์ที่พร้อมจะถูกส่งขึ้นสายการผลิต มากกว่าจะเป็นเพียงแค่รถยนต์ต้นแบบทั่วๆไป
แน่นอนครับ มีไม่กี่คนที่สงสัย คนส่วนใหญ่ ใครจะไปคิดว่า หลังจากนั้น Toyota จะนำรถยนต์รูปทรง Retro ย้อนยุคอย่าง Origin ผลิตขายออกมาจริงๆ แม้จะมีการจำกัดจำนวนยอดผลิต ก็ตาม
Toyota ประกาศ เปิดตัวเวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Origin รหัสรุ่น GF-JCG17 สู่สายตาสาธารณชนครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2000 เพื่อจำหน่ายเฉพาะลูกค้าในญี่ปุ่น เท่านั้น โดยเริ่มส่งมอบ และขึ้นโชว์รูม เครือข่ายจำหน่ายหลัก Toyota Dealer Chanel เครือข่าย Toyopet Dealer Channel และ เครือข่าย Corolla Dealer Channel เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2000 ติดป้ายราคาเอาไว้สูงมากถึง 7,000,000 Yen ซึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ในตระกูล Toyota / Lexus ด้วยกัน ณ เวลานั้น ราคาขายของ Origin แพงกว่า Toyota Celsior Generation ที่ 3 (Lexus LS430) รุ่นย่อย C (F Package) ราคา 6,700,000 Yen ซึ่งเป็นรุ่นแพงสุดในตอนนั้น ถึง 300,000 Yen
Origin ถูกสร้างขึ้นบนโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องยนต์กลไกและงานวิศวกรรมร่วมกับ Toyota Progrès โดยมีขนาดตัวถังยาว 4,560 มิลลิเมตร กว้าง 1,745 มิลลิเมตร สูง 1,455 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวถึง 2,780 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง 1,475 และ 1,460 มิลลิเมตร ระยะห่างจาก พื้นถนน ถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 160 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,560 กิโลกรัม
หากเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่เป็นพื้นฐานหลักให้กับ Origin อย่าง Toyota Progrès แล้ว Origin จะมีความยาวมากกว่า Progrès 60 มิลลิเมตร กว้างกว่าถึง 45 มิลลิเมตร และสูงกว่า Progrès 20 มิลลิเมตร
Mr.Tsutomu Shimizu, Chief Engineer หัวหน้าโครงการพัฒนา Origin เล่าว่า “รถคันนี้มีความแตกต่างจากรถยนต์ร่วมยุคสมัยเดียวกันคันอื่นๆ จุดเด่นของตัวรถ อยู่ที่การนำเส้นสายของ Toyopet CROWN รุ่นแรก ปี 1955 มาเป็นต้นแบบ และแรงบันดาลใจ ในการรังสรรค์รูปลักษณ์ภายนอกของ Origin ให้เปี่ยมด้วยความ Classic และอัดแน่นไปด้วยความละเอียดในระดับลงลึกถึงรากเหง้าประวัติศาสตร์”
เริ่มกันที่ ชุดไฟหน้าเป็นแบบวงกลม กระจังหน้า คิ้วโครเมียม จนถึงเส้นสายตัวถังบริเวณเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ถูกออกแบบในสไตล์ย้อนยุค ให้มี Design element ละม้ายคล้ายคลึงกับ Toyopet CROWN รุ่นแรก ขณะเดียวกัน เส้นสายช่วงบั้นท้าย มีลักษณะเป็นครีบหางปลา (Fin Tail) สอดรับกับชุดไฟท้าย ทรงหยาดเพชร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมากจากรถยนต์ American ในยุค 1955 – 1960
เมื่อเป็นเช่นนี้ การออกแบบชิ้นส่วนตัวถังให้สอดรับกับชิ้นส่วนตัวถังทั้งหมด จึงยากต่อการใช้วิธี ปั้มแผ่นเหล็กขึ้นรูป ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ จำนวนมากๆ แบบรถยนต์ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่ Toyota เลือกทำก็คือ ใช้วิธีให้ช่างฝีมือ ที่ถูกฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ยาวนาน จนเชี่ยวชาญและชำนานงานมาหลายสิบปี ในการประกอบ Toyota Century มารับหน้าที่ ขึ้นรูปชิ้นส่วนตัวถังทั้งแผงบังโคลนเหนือซุ้มล้อคู่หน้า ชิ้นส่วนตัวถังด้านหลัง และแผงตัวถังด้านข้าง ทั้งหมด “ด้วยมือล้วนๆ ทุกคัน!!” อันเป็นวิธีการดั้งเดิมตั้งแต่สมัย Toyota AA รุ่นแรก ปี 1937 โดยเฉพาะเทคนิคในการตีขึ้นรูปแผงตัวถังด้านข้าง ของ Origin แต่ละคัน ให้มีความโค้งมน สันมุม เชื่อมต่อเนื่องไปทั้งคันตั้งแต่ด้านหน้าจรดด้านหลัง
เรียกได้ว่า หากไม่นับโครงสร้างตัวถังแล้ว ชิ้นส่วนเปลือกตัวถังภายนอกรอบคัน ถือเป็นงาน Hand made ของจริง!!! เพราะ Origin ถูกส่งขึ้นสายการผลิตร่วมกับ Century รุ่นปี 1998 และใช้ช่างฝีมือชุดเดียวกัน! ถ้าไม่เชื่อก็สังเกตรถคันข้างๆ โครงตัวถังสีดำในภาพข้างบนนี้ได้เลย!
อีกจุดเด่นสำคัญของ Origin คือการออกแบบประตูรถทั้ง 4 บาน ให้มีลักษณะของ Suicide Door หรือประตูฆ่าตัวตายในความหมายของฝรั่งมังค่า ถอดแบบมาจาก Toyopet CROWN รุ่นแรก ไม่ผิดเพี้ยน แม้ว่า จะมีความกังวลในด้านความปลอดภัย เพราะในอดีต เมื่อเบรก หรือเกิดการชน รถยนต์ในยุคโบราณที่ใช้ประตูลักษณะนี้ จะเปิดกางออกมาเอง จนผู้โดยสารด้านหลัง หลุดกระเด็นออกมานอกรถ เสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก
แต่ด้วยเทคโนโลยีโครงสร้างตัวถัง แบบกระจายแรงปะทะ ที่ถูกพัฒนาขึ้น บนแนวทาง GOA (Global Outstanding Assesment) ทำให้ถึงแม้ว่าจะใช้โครงสร้างประตูแบบ Suicide Door แต่วิศวกร Toyota ก็สามารถปรับปรุงจนมีความปลอดภัย และผ่านการทดสอบชนด้านข้างที่ความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผ่านมาตรฐาน JNCAP ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่งเริ่มมีในช่วงเวลานั้นได้
ไม่ใช่แค่การให้ความสำคัญกับพื้นผิวภายนอก ทว่า การพ่นสีตัวถังนั้น ก็ยังใช้วิธีการเดียวกับที่ใช้ในการพ่นสีเครื่องเขินแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม (Japanesse Tradition lacquerware) ที่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป พื้นผิวทั้งหมด จะถูกขัดเงาเพื่อสร้างพื้นผิวที่เรียบเนียน ทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพของสีที่คมชัด แวววาว เงางาม และมีความลึกของสี ในระดับเดียวกับ รถยนต์ระดับ Flagship อย่าง Toyota Century เลยทีเดียว
Origin มีสีตัวถังให้เลือก เพียง 3 สี ได้แก่ สีดำ เบอร์ 202 สีน้ำเงิน Blue Mica เบอร์ 8J9 และสี เทาฟ้า Light Grayish Blue Mica เบอร์ 8M3 ดังนั้น ถ้าคุณเห็นสีอื่นที่ไม่ใช่ 3 สีนี้ แสดงว่า เจ้าของเก่า เอาไปทำสีตามใจชอบของตนเองแน่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากๆ ที่งานสีตัวถังระดับบรมครู ถูกทำลายไปด้วยมือของลูกค้าเอง
ภายในห้องโดยสาร แม้จะใช้อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆร่วมกับ Progrès แต่มีการออกแบบและประดับตกแต่งด้วยรายละเอียดปลีกย่อยจากชิ้นงานซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ เริ่มกันที่ แผงหน้าปัด Dashboard ยกชุดมาจาก Progrès กันทั้งยวง ชุดมาตรวัดเป็นแบบ Optitron ซึ่ง Toyota เริ่มนำมาใช้ครั้งแรก ใน Celsior หรือ Lexus LS400 2nd Generation ปี 1995 และทะยอยกระจายสู่รุ่นล่างอื่นๆ ตลอดช่วงปี 1995 – 2003
พวงมาลัยปรับระดับสูง – ต่ำ และ ระยะใกล้ – ห่าง Telescopic ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า (พร้อมระบบจำตำแหน่งนั่งขับ Memory Seat & Steering Wheels) มีการประดับวงพวงมาลัยท่อนบน ด้วยไม้ Walnut แท้ๆ ส่วนสัญลักษณ์ของรุ่น Progrès ตรงกลาง ก็เปลี่ยนมาเป็นสัญลักษณ์ Toyota 3 ห่วง สีทอง มีสวิตช์ของ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Redar Cruise Control ซึ่งถือเป็นของเล่นใหม่ที่ Toyota เริ่มทะยอยติดตั้งลงมาในรถยนต์หลายรุ่นมากขึ้น
บนแผงควบคุมกลาง มีจอ Monitor สี ขนาด 7 นิ้ว แบบ Pop-up พับเก็บได้ แสดงระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS (Global Positioning System) โดยใช้ข้อมูลจากแผ่นแผนที่ DVD พร้อมระบบ ITS (Intelligent Transport Systems) เชื่อมต่อกับระบบศูนย์ข้อมูล MONET (Mobile Network) เพื่อสื่อสารและช่วยเหลือผู้ขับขี่ ทั้งการหาร้านอาหาร โรงแรม หรือช่วยเหลือกรณีประสบอุบัติเหตุ ประสานงานกับโรงพยาบาล ฯลฯ ยกชุดมาจาก Toyota Progrès ทั้งยวง
ความพิเศษอีกประการหนึ่งของระบบนำทางผ่านดาวเทียมใน Origin ก็คือ มีระบบ NAVI Ai-SHIFT หรือระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ โดยใช้ข้อมูลถนนจากระบบนำทาง เพื่อช่วยเปลี่ยนเกียร์ให้ผู้ขับขี่ เช่น เมื่อคุณพบว่า ทางข้างหน้า เป็นเส้นทางลงเนิน ข้อมูลจากระบบนำทาง จะถูกส่งไปยังสมองกลเกียร์ เพื่อสั่งลดเกียร์ลง 1 จังหวะ ร่วมกับการทำงานของระบบเบรกด้วย
ขณะเดียวกัน จอมอนิเตอร์ ของระบบนำทาง ยังใช้ควบคุมการทำงานของ วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่นแผ่น CD เชื่อมต่อกับระบบแจ้งข้อมูลยานพาหนะ การสื่อสาร และสภาพการจราจร VICS (Vehicle Information and Communication System) เพื่อช่วยให้ข้อมูลผู้ขับขี่ ได้หลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดแบบ Real-Time (ต้องสมัครสมาชิกเพิ่มเติม)
ด้านขุมพลัง ในเมื่อ Origin ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานงานวิศวกรรมของ Toyota Progrès รวมทั้ง Brevis ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวตามหลังออกมาในปี 2001 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ขุมพลังของ Origin จะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาผู้บริโภคชาวไทยที่นิยมหาซื้อเครื่องยนต์ Toyota รุ่นเก่าๆ จากเซียงกง ไปติดระบบ Gas LPG เพราะมันคือ…
เครื่องยนต์ ตระกูลใหม่ในยุคนั้นที่ชื่อว่า BEAMS (Breakthrough Engine with Advanced Mechanism System) รหัส 2JZ-GE เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,997 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT-i รวมทั้งมีระบบ ลิ้นคันเร่งไฟฟ้า ETCS-i นั่นเอง
กำลังสูงสุด 215 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 294 นิวตันเมตร (30.0 กก.-ม.) ที่ 3,800 รอบ/นาที
ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ Super ECT-iE พร้อมระบบ Flec Lock-up อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1…………………..2.804
เกียร์ 2…………………..1.531
เกียร์ 3…………………..1.000
เกียร์ 4…………………..0.705
เกียร์ถอยหลัง……………2.393
อัตราทดเฟืองท้าย…….…3.909
พวงมาลัย เป็นแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบ Hydraulic ระบบกันสะเทือนด้านหน้า และด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อม Coil Spring ทั้งคู่ ระบบห้ามล้อ เป็น Disc Brake ทั้ง 4 ล้อ คู่หน้าเป็นแบบมีครีบระบายความร้อน พร้อมตัวช่วยมาตรฐาน ได้แก่ ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Brake System) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ระบบควบคุมเสถียรภาภการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control) รวมทั้งระบบป้องกันล้อหมุฟรีขณะออกตัว TRC (Traction Control) สวมล้ออัลลอย ขนาด 15 นิ้ว x 6JJ พร้อมยางขนาด 195/65R15 91H (Dunlop SP Sport D8H) รวมทั้งมียางอะไหล่แถมมาให้ ด้านหลังรถ
ด้านอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ถูกติดตั้งมาครบครัน ล้ำหน้ากว่ารถยนต์ยุคปัจจุบัน อีก 10 ปีให้หลัง หลายๆรุ่นเสียด้วยซ้ำ ทั้ง ถุงลมนิรภัย SRS มีทั้งหมด 6 ใบ ทั้งคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย ไปจนถึง เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุดทุกตำแหน่ง โดยคู่หน้า จะเป็นแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter และปรับระดับสูง – ต่ำได้ พนักศีรษะ เป็นแบบ WIL (Whiplash Injury Lessening) ป้องกันการบาดเจ็บที่กระดูกต้นคอ ปรับความสูงได้ 3 ระดับ
Toyota ระบุลงในเอกสารสำรับสื่อมวลชน (Press Release) ว่า พวกเขาจะ ผลิต Origin ออกมาในจำนวนจำกัดเอาไว้เพียง 1,000 คัน เท่านั้น ทว่า ในความเป็นจริง โรงงาน Higashi Fuji ของ บริษัท Kanto Auto Works ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ ในเครือของ Toyota ที่รับผิดชอบการผลิต Origin ได้ผลิตรถยนต์ Sedan รุ่นพิเศษนี้ ออกมาทั้งหมด 1,073 คัน กลายเป็นหนึ่งในรถยนต์ Mass Production ที่มียอดผลิตน้อยที่สุด อีกรุ่นหนึ่งเท่าที่ Toyota เคยทำออกจำหน่าย (ส่วนรุ่นที่มียอดผลิตน้อยที่สุด คือ Toyota Classic รถยนต์ย้อนยุค บนพื้นฐานของ Toyota Hilux Mighty X ซึ่งมียอดผลิตเพียงแค่ 300 คัน เท่านั้น) โดย Origin คันสุดท้าย ถูกผลิตขึ้นในช่วงปลายเดือน มีนาคม 2001
ทุกวันนี้ Origin ยังพอจะมีขายอยู่ในตลาดรถยนต์มือสอง ของญี่ปุ่น อยู่บ้าง เพียงแต่ว่า ราคาขายของ Origin ในตลาดรถยนต์มือสองของญี่ปุ่นนั้น 3,190,000 – 5,980,000 Yen ซึ่งถือว่าแพงในระดับพอกันกับที่คุณสามารถซื้อรถยนต์ SUV ขนาดกลาง รุ่นใหม่ล่าสุดออกจากโชว์รูมได้เลยทีเดียว
สำหรับ Toyota แล้ว การนำ Origin ออกสู่ตลาด ไม่ได้เป็นเพียงแค่ การเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พวกเขาผลิตรถยนต์ออกมาครบ 100 ล้านคัน เท่านั้น หากแต่ยังเป็นโอกาสอันดี ในการส่งต่อองค์ความรู้ในด้านการใช้ทักษะส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดความประณีตของชิ้นงานฝีมือ (Craftmanship) ให้กับคนรุ่นใหม่ ที่มีแววจะพัฒนาต่อยอดตามธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นอีกด้วย แน่นอนว่า ประสบการณ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา Toyota Origin และ Toyota Century รุ่นก่อนๆ ถูกถ่ายทอดมายังรถยนต์ระดับสูงรุ่นใหม่ อย่าง Toyota Century SUV รุ่นล่าสุดด้วยเช่นกัน
——————–///——————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ เป็นลิขสิทธิ์ของ
“Toyota Motor Corporation.”
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
4 สิงหาคม 2024
Copyright (c) 2024 Text
All Pictures from “Toyota Motor Corporation.”
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 4th,2024
——————————————–