นับตั้งแต่ Mitsubishi Model-A รถยนต์คันแรก ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ Mitsubishi ออกสู่สายตาชาวโลก เมื่อปี 1917 จวบจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ที่ Mitsubishi Motors ได้สร้างสรรค์รถยนต์หลากรุ่นหลายแบบ ออกสู่ตลาด จนเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคต่างๆมามากมาย นานับประการ
ในบรรดารถยนต์ Mitsubishi ที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆนั้น นอกเหนือจากรถยนต์นั่งรุ่น Lancer และ Galant รวมทั้ง SUV ผู้บุกเบิกตำนานตำนาน เจ้าสมรภูมิหฤโหด Paris – Dakar อย่าง Pajero / Montero / Shogun แล้ว รถกระบะ ตระกูล L200 ถือเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่คนไทยจดจำกันได้มากที่สุดทั้งในด้านสมรรถนะของเครื่องยนต์ ช่วงล่างที่เกาะถนน แข็งแกร่ง และรองรับงานบรรทุกได้ดี อีกทั้งยังมีห้องโดยสารที่ให้ความสบายเหนือกว่าคู่แข่ง และความคุ้มค่าที่ลูกค้าได้รับจากตัวรถในทุกๆด้าน จนกลายเป็นว่า ทุกวันนี้ รถกระบะตระกูล L200 คือตัวทำรายได้หลักที่สำคัญให้กับ Mitsubishi Motors ไปแล้ว!

ตลาดรถกระบะในประเทศไทย เริ่มต้นก่อร่างสร้างฐานกันมาตั้งแต่ช่วง ทศวรรษที่ 1970 ตามความเคลื่อนไหวของตลาดโลก แต่เอาเข้าจริง รถกระบะ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย น่าจะเป็นช่วงหลังจากปี 1980 เป็นต้นมา ตลอดในช่วง 2 ทศวรรษ (1980 – 1999) เป็นช่วงเวลาที่ตลาดรถกระบะในบ้านเรา มีการแข่งขันกันสนุกสนานมาก มีตั้งแต่
หนึ่งในกลยุทธ์การตลาด ที่ผู้ผลิตรถกระบะยุคนั้น ชอบใช้เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำนั้น คือการเลือกใช้ ดารา นักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียง มาเป็น Presenter ประกอบภาพยนตร์โฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ หรือแม้กระทั่ง ไปร่วมงานออกกิจกรรมพบปะลูกค้าในต่างจังหวัด (Event Marketing) อันเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนา วิธีการทำตลาดรถกระบะในเมืองไทย จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแตกต่าง โดดเด่น และดุเดือด ไม่เหมือนชาติใดในโลก
ถ้าจะย้อนความทรงจำกัน รายแรกที่นำ Presenter มาใช้จนผู้คนในยุครุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เราจดจำกันได้ คือ Toyota กับการนำ พระเอกชื่อดังในยุคนั้น (และกลายมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเขตสมุทรปราการในทุกวันนี้) อย่าง กรุง ศรีวิไล มาแสดงในภาพยนตร์โฆษณา Toyota Hilux Five Star ช่วงปี 1980 ก่อนจะตามด้วย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ในโฆษณาของ Toyota Hilux Hercules Hero ในปี 1987 ต่อเนื่อง รวม 2 ปี จนสิ้นสุดในช่วงสิ้นปี 1988 หลังจากนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็น ใคร ถ้าคุณมีชื่อเสียงโด่งดังระดับขวัญใจประชาชนชาวไทย คุณจะถูกทาบทามมาเป็น Presenter ของรถกระบะ Toyota กันได้ไม่ยากเลย
มองกันแค่เฉพาะในยุคของ Hilux Viigo นับตั้งแต่เปิดตัว ในเดือนสิงหาคม 2004 จนถึง การเปลี่ยนโฉมเป็น Hilux Revo ในเดือนสิงหาคม 2015 เราได้เห็น ทั้ง พี่แอ๊ด คาราบาว , คุณปัญญา นิรันดร์กุล ควงคู่กับ คุณมยุรา เศวตศิลา จากรายการเกมส์โชว์ยอดฮิต “ชิงร้อยชิงล้าน” ของ “Work Point Entertainment” หรือแม้กระทั้ง นักฟุตบอลระดับโลกอย่าง Ronaldo ก็ถูกเทียบเชิญ มาเป็น Presenter ให้กับ Hilux Vigo กันมาหมดแล้ว
ตรีเพชรอีซูซุ เซลส์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่าย รถกระบะ Isuzu ยังไม่ได้นำ Presenter มาปรากฎออกสื่อโดยตรง แต่ใช้วิธี คุยกับทาง GRAMMY (GMM GRAMMY ในปัจจุบัน) ว่าจ้าง วงดนตรีวัยรุ่น ที่กำลังมาแรงในตอนนั้น อย่าง “วงไมโคร” ให้ช่วยทำเพลงชื่อ “Dynamic Wave” ประกอบภาพยนตร์โฆษณาเปิดตัว Isuzu Faster Z New 2500Di (TFR) ออกมาในเดือนสิงหาคม 1988 หลังจากนั้น ก็เว้นช่วงไปอีกนาน ข้ามรอยต่อมาจนถึงต้นยุค 2000 จึงจะเริ่มใช้ Presenter อย่าง ก๊อต จักรพรรณ อาบครบุรี มาถ่ายทำโฆษณากับ D-Max Platinum แล้วตามด้วย นักร้องนักแสดง ทั้ง คุณจอห์น นูโว คุณก้อง สหรัฐ สังคปรีชา หรือแม้แต่ คุณมอส ปฐิพาณ ปฐวิกาญจน์ ก็เคยปรากฎตัวในฐานะ Presenter ของ Isuzu มาหมดแล้ว ทั้งบนสื่อโฆษณา และงานกิจกรรม Event กับลูกค้าตามต่างจังหวัด
ฝั่งของ กมลสุโกศล ผู้ผลิตและจำหน่ายรถกระบะ Mazda ในเมืองไทย สมัยนั้น นำ คุณโชค บุญกุล เจ้าของฟาร์มโชคชัย มาปรากฎตัว ในภาพยนตร์โฆษณาของ Mazda B-2200 Magnum รุ่นปรับอุปกรณ์ ในปี 1988 – 1989 พร้อมกับวลีเด็ดว่า “ใครว่า กระบะ จะสปอร์ต ไม่ได้?” จากนั้น ก็ตามติดด้วยการนำ พี่แอ๊ด คาราบาว มาเป็น Presenter ให้กับรถกระบะ Mazda Familia ตัวถังใหม่ Super Cab ในปี 1989 เว้นช่วงไปนานจนถึงปี 1995 นักมวยแชมป์เหรียญทอง Olympic คนแรกของไทย อย่าง สมรักษ์ คำสิงห์ กำลังโด่งดังมากพอที่จะชักชวนมาเป็น Presenter ให้กับรุ่นปรับโฉม Minorchange ของรถกระบะ Mazda B-2500 ที่เปลี่ยนชื่อรุ่นจาก Magnum มาเป็น Fighter แทน แต่หลังจากนั้น เราก็ไม่เห็น Presenter รถกระบะจากค่าย Mazda กันอีกเลย
ด้าน Nissan ในยุคนั้น ทั้งรถกระบะ Professional D จนถึงรุ่น BigM ทางสยามกลการแทบไม่มีการใช้ Presenter ใดๆมาช่วยเลย มากสุด ก็แค่ร่วมงานกับ คุณ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) ทำเพลงประกอบโฆษณา ชุด “คนล่าฝัน” อันโด่งดัง จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของ Nissan Motor Thailand นี่ละ เราถึงได้เห็น คุณแบงค์ วง CLASH มาเป็น Presenter ให้กับ Nissan NP300 Navara ในเดือนกรกฎาคม 2004 และนั่นคือหนังที่ค่อนข้างจะก่อความหายนะ เพราะคนไทยไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องทำภาพให้รถกระบะ ตีลังหาลงมาจากน้ำตกด้วย (นั่นเป็นไอเดียพิลึกบ้าๆ จากชาวฝรั่งเศส ใน Renault – Nissan สำนักงานใหญ่) ผลก็คือ ฉายออกอากาศเวอร์ชันเต็มได้แค่วันเดียว ถึงกับต้องหั่น Scene นั้นทิ้งออก ในวันรุ่งขึ้นทันที ล่าสุด ขนาดใช้บริการดาราดังแห่งยุค ณเดชน์ คูกิมิยะ มาเป็น Presenter ให้กับ Navara เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา หรือแม้แต่การนำนักมวยดังแห่งยุค อย่าง “ตะวันฉาย” มาเป็น Presenter เมื่อเดือนกันยายน 2024 ก็ไม่ได้ช่วยให้ ยอดขาย กระเตื้องขึ้นเลย
แต่ยังมีอีกค่ายหนึ่ง ที่ใช้บริการ Presenter ชื่อดังระดับโลก และผูกสัญญาใจกัน ต่อเนื่องยาวๆ มานานหลายสิบปี และยังคงถูกจดจำในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย นั่นคือ ดารานักบู๊ยอดพระกาฬอย่าง “เฉินหลง หรือ Jacky Chan” ที่ยังคงปักหลักอยู่กับ Mitsubihi Motors มานาน ตั้งแต่ ปี 1984 แม้บทบาทอาจจะลดลงไปแล้วในปัจจุบัน แต่ภาพเก่าๆเหล่านั้น ก็ยังเป็นตำนานในความทรงจำของคนไทยที่เกิดทันทศวรรษ 1980 อยู่ถึงทุกวันนี้
ถ้าคุณอยากรู้ ที่มาที่ไป ของรถกระบะ รุ่นที่ เฉินหลง ยอมมาเป็น Presenter ให้ ถึงในเมืองไทย เลื่อนบทความนี้ลงไปดูด้านล่างสุด ได้เลย แต่ถ้าอยากรู้จักกับรถกระบะขนาดมาตรฐาน รุ่นแรกของ Mitsubishi Motors รถกระบะรุ่นที่เริ่มต้นสร้างรากฐานการยอมรับในหมู่ลูกค้าบ้านเรา รถกระบะรุ่นแรกที่สร้างประวัติศาสตร์ส่งออก จากเมืองไทย สู่ 170 กว่าประเทศทั่วโลก นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยระดับมหาศาลกันทุกปี
คุณก็ควรจะเริ่มต้นอ่าน บทความนี้ ตั้งแต่บรรทัดนี้ เป็นต้นไปครับ!

1st Generation of L200 : Mitsubishi Forte
August 25th, 1978
ตำนานรถกระบะ Mitsubishi เริ่มขึ้นด้วยการเปิดตัวรถกระบะในพิกัด Compact Truck 1 ton เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1978 ในชื่อ “Mitsubishi Forte” โดยชื่อ “ฟอร์เต้” มีความหมายในภาษาอิตาลีว่า “แข็งแกร่ง” การทำตลาดเริ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก เมื่อ 1 กันยายน 1978 ก่อนจะส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยชื่อ Mitsubishi L200 ในช่วงปลายปี 1978
รูปลักษณ์ภายนอก ถูกสรรสร้างขึ้น โดยใช้พื้นฐานงานออกแบบห้องโดยสารจากรถยนต์นั่ง Sedan ขนาดกลาง กาแลนท์ ซิกม่า (GALANT Σ) รุ่นปี 1976 โดยรับเอางานดีไซน์บานประตูคู่หน้า เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar รวมทั้งงานออกแบบด้านหน้ารถ แบบเฉียง Slant Nose ด้วยดีไซน์ด้านหน้าเสมือนจมูกที่ยาวเป็นเอกลักษณ์ และการติดตั้งสเกิร์ตบนรถกระบะเป็นครั้งแรก รวมถึงโคมไฟหน้าแบบกลมสี่ดวง และมีการออกแบบ สเกิร์ตหน้า บริเวณใต้กันชนหน้า เพื่อช่วยสร้างแรงกดด้านหน้า เพิ่มการทรงตัวที่ดีขึ้น ขณะแล่นด้วยความเร็วสูง
จุดเด่นของ L200 Forte อยู่ที่ การให้ความใส่ใจกับ ประเด็นด้าน NVH (Noise , Vibration & Harshness หรือ เสียงการสั่นสะเทือน หรืออาการสะท้าน) ด้วยการใช้วัสดุ Seal ตามจุดต่างๆ รวมทั้งการปรับปรุงเครื่องยนต์ให้เงียบ ด้วยเทคโนโลยี Silent Shaft ในรุ่นถัดๆมา ทำให้ L200 Forte กลายเป็นรถกระบะที่มีห้องโดยสาร เงียบ ในระดับแถวหน้าของตลาด เมื่อเปรียบเทียบกับรถกระบะในพิกัดเดียวกัน ณ ขณะนั้น นอกจากนี้ บรรยากาศในห้องโดยสารนั้น คล้ายคลึงกับ รถยนต์นั่ง อย่าง Mitsubishi Lancer และ Galant ในยุคหลังปี 1976 ขึ้นมาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะ พวงมาลัย 2 ก้าน ที่ยกชุดจาก Galant Sigma ปี 1976 มาทั้งพวง
สำหรับตลาดรถกระบะแล้ว ความแข็งแกร่ง ทนทาน คือเรื่องสำคัญมากที่สุด Mitsubishi Motors จึงพัฒนารถกระบะ L200 Forte รุ่นแรก โดยเน้นหนักไปที่การออกแบบ Frame Chassis ให้รองรับงานบรรทุกได้ดี ก่อนการผลิตขายจริง Mitsubishi Motors ได้สร้างรถต้นแบบหลายคัน เพื่อส่งไปทดสอบอย่างหนักบนสภาพถนนจริง ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศไทย และซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้มั่นใจในสมรรถนะและความแข็งแกร่ง
Frame Chassis ของ L200 Forte ได้ถูกนำไปปรับปรุง ประยุกต์ และ พัฒนาต่อเนื่อง เพื่อใช้กับรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นต่างๆ ทั้ง Mitsubishi Pajero รุ่นแรก ปี 1982 ไปจนถึง รถตู้ Mitsubishi L300 Delica ในกาลต่อมา

Japanesse Domestic Version : Forte
Mitsubishi Forte มีขนาดตัวถังยาว 4,690 มิลลิเมตร กว้าง 1,650 มิลลิเมตร สูง 1,560 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,780 มิลลิเมตร ขนาดของกระบะหลังกว้าง 1,430 มิลลิเมตร ยาว 2,030 มิลลิเมตร สูง 425 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,360 / 1,340 มิลลิเมตร กระบะหลังยาว 2,070 มิลลิเมตร กว้างสุด 1,630 มิลลิเมตร ความกว้างระหว่างขอบซุ้มล้อคู่หลัง 1,030 มิลลิเมตร สูง 425 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,080 กิโลกรัม นั่งได้ 3 คน น้ำหนักบรรทุกที่รับได้คือ 1,000 กิโลกรัม ตามกฎหมายญี่ปุ่น
ภายในห้องโดยสาร เป็นเบาะนั่งแบบยาว Bench Seat เวอร์ชันญี่ปุ่น ตัวพนักศีรษะ จะถูกออกแบบเพิ่มเติมต่อเนื่องจากพนักพิงเบาะ ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกัน ผิดกับเวอร์ชันส่งออกในตลาดโลก ที่ยังไม่มีพนักศีรษะในตอนแรก พวงมาลัยแบบ 2 ก้านบางๆ ยกมาจาก Mitsubishi Galant Sigma ปี 1976 มาแบบไม่ต้องคิดมาก แผงหน้าปัด ไม่มีมาตรวัดรอบมาให้ ส่วนเครื่องปรับอากาศ และวิทยุ AM เป็นอุปกรณ์สั่งซื้อติดตั้งพิเศษ ด้านความปลอดภัย ยังถือว่าดีที่มีเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด มาให้ ทั้งฝั่งซ้ายและขวา (เวอร์ชันส่งออก ในบางตลาด และเวอร์ชันไทยช่วงแรกๆ ยังไม่มีมาให้)
ช่วงแรกที่เปิดตัว มีเครื่องยนต์เพียงแบบเดียว เป็นตระกูล SATURN รหัส 4G32 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมเทคโนโลยีลดมลพิษ MCA-JET 92 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ รุ่น KM 130 พวงมาลัยแบบลูกปืนตัวหนอน (Ball & Nut) รัศมีวงเลี้ยว 5.6 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมคอยล์สปริง และช็อกอัพ 2 จังหวะ ด้านหลังเป็นแหนบแผ่น ช็อกอัพไขว้ ระบบห้ามล้อ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก แบบไฮโดรลิก 2 วงจรไขว้ พร้อมหม้อลมเบรก ตั้งราคาขายในญี่ปุ่น ตอนนั้น 749,000 เยน

หลังจากทำตลาดผ่านไปได้ 2 ปี ก็มีการปรับโฉม Minorchange ครั้งแรก เมื่อ 21 ตุลาคม 1980 โดยเปลี่ยนมาใช้ไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยม และเพิ่มรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part Time 4WD มาให้ เป็นครั้งแรก ในชื่อ Mitsubishi Forte 4WD มีทั้ง รุ่นย่อย Custom และ Deluxe
รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เพิ่มความสูงจากเดิมเป็น 1,620 มิลลิเมตร แถมยังมีระยะฐานล้อ เพิ่มขึ้นอีก 10 มิลลิเมตร เป็น 2,790 มิลลิเมตรส่วนกระบะหลังนั้น มี 2 แบบ คือ รุุ่น Custom เป็นแบบ เรียบ ฝาท้าย เปิดด้วยมือจับเปิดประตู One Touch มีความยาว 1,995 มิลลิเมตร กว้าง 1,365 มิลลิเมตร สูง 400 มิลลิเมตร และรุ่น Deluxe เป็นกระบะมาตรฐาน คันโยกปลดล็อกฝากระบะทั้งฝั่งซ้ายและขวา รวมทั้งมตะขอเกี่ยวเชือกรัดสิ่งของด้านนอกลำตัว มีความยาว 2,070 มิลลิเมตร กว้าง 1,430 มิลลิเมตร สูง 425 มิลลิเมตร
มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์มากพอสมควร เช่นเพิ่มเบาะนั่งแบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา ปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ 160 มิลลิเมตร และปรับเอนได้เล็กน้อย พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน สไตล์สปอร์ตร่วมยุคสมัย แผงหน้าปัดสีดำ พร้อม Trim ตกแต่งสีเงิน คันเกียร์ ย้ายจากคอพวงมาลัย (เกียร์มือ : Steering column Shift Type) ลงมาอยู่ที่พื้นรถ (Floor Shift Type)
รุ่น 4WD จะได้ใช้ขุมพลังใหม่ ตระกูล ASTRON 80 เป็นเครื่องยนต์รหัส 4G52 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว เพิ่มความจุขึ้นเป็น 1,995 ซีซี กำลังอัด เท่าเดิม 8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 100 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ พ่วงกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบกลไก คันโยก Transfer เป็นแบบ Z-Pattern ในขณะที่รุ่นกระบะตัวเตี้ย ยังคงใช้เครื่องยนต์เดิม
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ของ L200 Forte กลายเป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ รวมทั้ง Frame Chassis สำหรับใช้ใน Mitsubishi Pajero และรถตู้ Mitsubishi Delica Star Wagon ในกาลต่อมา

เดือนตุลาคม 1983 มีการปรับโฉม Minorchange อีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนชุดกระจังหน้าแบบใหม่ พร้อมไฟหน้าแบบ สี่เหลี่ยมคู่ ให้ครบทั้ง 4 รุ่นย่อย โดยรุ่น 4WD Custom จะเปลี่ยนพวงมาลัยจากแบบ 3 ก้าน มาเป็น 2 ก้านลายสปอร์ต เพิ่มมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และเปลี่ยนโทนสีเบาะนั่งมาเป็นสีเทา ส่วนรุ่น 4WD Deluxe และ รุ่นตัวเตี้ย มาตรฐาน Deluxe จะ ถอดเอาพวงมาลัยของ Mitsubishi Galant รุ่นก่อนๆ มาสวมให้แทน เบาะนั่งเป็นแบบ Bench Seat มีพนักศีรษะมาให้ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นแบบ รวมเป็นชิ้นเดียวกับพนักพิง ซึ่งสามารถปรับโน้มมาข้างหน้า เพื่อใช้พื้นที่ด้านหลัง เก็บข้าวของได้เล็กน้อย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเปลี่ยนขุมพลังชุดใหม่ โดยรุ่น 4WD จะเปลี่ยนไปใช้ขุมพลังตระกูล Sirius เป็นเครื่องยนต์รหัส G63B เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,997 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 85.0 x 88.0 มิลลิเมตร คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อคู่ดูดลงล่าง 110 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.7 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
ส่วนรุ่นกระบะมาตรฐาน จะเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ตระกูล SATURN รหัส G32B เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อคู่ดูดลงล่าง 86 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
นี่คือการปรับโฉมครั้งสุดท้ายสำหรับ L200 Forte ในตลาดญี่ปุ่น เพราะหลังจากนั้น รุ่นกระบะมาตรฐานก็ยุติการผลิตไปในปี 1986 ก่อนที่รุ่น 4WD จะถูกยกเลิกตามมา ราวปี 1987 และกว่าที่ Mitsubishi Motors จะยอมเปิดตัวรถกระบะ L200 รุ่นที่ 2 ในตลาดญี่ปุ่น ด้วยชื่อ Strada ก็ปาเข้าไปถึงปี 1991 เท่ากับว่า ตลอด ปี 1988 – 1991 การทำตลาดรถกระบะ Mitsubishi ในบ้านเกิดตัวเอง ขาดช่วงขาดตอนไป 3 ปี
—————————————–

North America Version
(Dodge Ram50 / Plymouth Arrow Pickup / Mitsubishi Mighty Max)
เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ของ L200 Forte นั้น มีเรื่องราวที่เราต้องเล่าสู่กันฟังสักหน่อย เพราะในช่วงแรกที่ทำตลาด Mitsubishi Motors จำเป็นต้องพึ่งพาพันธมิตร อย่าง Chrysler Corporation ในการพารถยนต์ของพวกเขา เข้าไปชิมลางในตลาดเมืองลุงแซม
Chrysler เป็นใคร?
Chrysler Corporation สหรัฐอเมริกา เป็นอดีต 1 ใน Big Three ของวงการรถยนต์อเมริกัน (ทุกวันนี้ รวมตัวเข้ากับกลุ่ม Stellantis) ก่อตั้งโดยชายผู้เป็นตำนานในยุค ทศวรรษ 1920 อย่าง Walter P. Chrysler อดีตพนักงานการรถไฟ ก่อนมาทำงานที่บริษัทรถยนต์ Buick ไต่เต้าเติบโต แล้วเก็บหอมรอมริบ ลงทุนซื้อกิจการบริษัทรถยนต์ Maxwell Motor Company ซึ่งกำลังขาดทุนอย่างหนัก จากนั้นก็เข้าซื้อกิจการของ Chalmers company และแล้ว ในปี 1924 เขาก็ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ในชื่อของเขาเอง นั่นคือ Chrysler รวมทั้งยังเป็นคนสร้างตึก Chrysler ที่เคยสูงสุดในโลก ณ New York อีกด้วย!
แน่นอนว่า Chrysler เอง ก็ได้รับความนิยมในตลาดอเมริกาเหนืออย่างมาก ทั้งจากการยอมรับในด้านความก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีการออกแบบ การพัฒนา และการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะขุมพลัง HEMI ในตำนานอันบ้าพลังมหากาฬ ตลอดช่วงยุค 1950 – 1970 พวกเขามีรถยนต์หลายรุ่นที่โด่งดัง ไม่ว่าจะเป็น Chrysler LeBaron, Chrysler 300M, Chrysler Town & Country, Dodge Charger , Dodge Challenger , De Soto (ใครอ่าน พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต มาก่อน น่าจะพอจำได้ว่าเป็นรถที่ตัวละคร ดร.ดิเรก ขับอยู่) Dodge Dart, Dodge Coronet , รถสปอร์ต Dodge Viper ขุมลัง V10 สูบ , Plymouth Voyager , Eagle Talon (คู่แฝด Mitsubishi Eclipse 1st Gen.) โดยเฉพาะ รถกระบะ Dodge Ram ที่ถูกแยกออกมาเป็นแบรนด์ RAM ต่างหาก เมื่อปี 2009

ทำไม Chrysler ต้องซื้อรถยนต์ Mitsubishi ไปขายละ?
อันที่จริง Mitsubishi Motors เริ่มต้นส่งออกรถ Scooter ไปยังสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก ในช่วงทศวรรษ 1950 ต่อมา เมื่อมีการลงนามในข้อตกลงการจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา (USDA) กับ Chrysler ในเดือนตุลาคม 1970 รถยนต์ Dodge Colt (Colt Galant ในญี่ปุ่น) จึงถูกส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ในเดือนเดียวกัน ในฐานะ รถยนต์ Mitsubishi สี่ล้อคันแรกสำหรับตลาดเมืองลุงแซม ทำให้ Chrysler มีสิทธิ์พิเศษในการจัดจำหน่ายรถยนต์ Mitsubishi ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ ข้อตกลง USDA ณ เวลานั้น
เหตุผลที่ Chrysler สั่งซื้อรถยนต์จาก Mitsubishi Motors เข้าไปจำหน่ายในแบรนด์ของตนเอง เนื่องจาก ในช่วงปี 1973 และ 1978 เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในตะวันออกกลาง รวม 2 ระลอก ส่งผลกระทบต่อความต้องการรถยนต์ขนาดใหญ่แบบ American Full Size ที่กินน้ำมันมหากาฬ ลดลงอย่างมาก อีกทั้ง บริษัทรถยนต์ทั้งจากเยอรมนี อย่าง Volkswagen ไปจนถึงฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Nissan ที่เริ่มมาลงหลักปักฐานในเมืองลุงแซม ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ก็เริ่มตีตลาดสหรัฐอเมริกา รุนแรงขึ้น
ขณะเดียวกัน ช่วงต้นทศวรรษ 1970 นั้น ตลาดรถกระบะขนาดเล็ก Compact Truck ก็เริ่มได้รับความนิยมขึ้นมาในหมู่ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะวัยรุ่นแถว California และคนทำงาน ที่อยากได้รถกระบะซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า และขับขี่ง่ายกว่าบรรดา Full-Size Truck ยุคโบราณ ทั้ง Ford F-Series ผู้เป็นเจ้าตลาด Chevrolet C/K หรือ แม้แต่ Dodge Ram 1500 Series ในเวลานั้น
Nissan เป็นบริษัทแรก ที่เปิดตลาดรถกระบะขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกา ด้วย Datsun 320 มาตั้งแต่ ปี 1959 ตามด้วย Datsun 520 กับ Datsun 620 (หรือรุ่น “ช้างเหยียบ” ในบ้านเรา) และได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อเนื่องถึงรุ่น 720 (บ้านเราเรียกว่า Professional D) จากนั้น ปี 1986 จึงช็อกตลาดด้วย Nissan Hardbody (BigM ในบ้านเรา ปี 1986 – 1997) จนเข้าสู่ยุคของ Nissan Frontier ที่ลากขายยาวนานมาก และเพิ่งเปลี่ยนโฉมใหม่ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี่เอง
Toyota เห็นความสำเร็จของ Datsun แล้ว ทนไม่ไหว ต้องส่งรถกระบะของตนเข้าไปบุกตลาดบ้าง เริ่มจาก Toyota Stout ในปี 1964 ก่อนจะตามด้วย Hilux ที่ใช้ชื่อว่า Toyota Trucks ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงปี 1996 ก่อนจะแยกรุ่นออกมาเป็น Toyota Tacoma ในปี 1997 และค่อยๆ แซงขึ้นหน้า กลายเป็นผู้นำในตลาดรถกระบะ Compact & Midsize Truck ของสหรัฐอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน
ทางออกระยะสั้นที่ Big Three หรือ 3 บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในอเมริกาเหนือทั้ง 3 ค่าย (GM , Ford , Chrysler) ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ สั่งซื้อรถยนต์จากญี่ปุ่น เข้ามาขายในแบรนด์ตัวเองเสียเลย ขณะที่ GM ร่วมพัฒนา และสั่งซื้อ รถกระบะ Isuzu Faster มาขายในชื่อ Chevrolet LUV ส่วน Ford ก็ร่วมพัฒนา และสั่งซื้อรถกระบะ Mazda B-Series มาขายเองในชื่อ Ford Courier ทั้งคู่เปิดตัวออกมามาช่วงปี 1972 ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมันเกิดขึ้นก่อนวิกฤติการณ์น้ำมันขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก จะเกิดขึ้นในปี 1973
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ Chrysler เอง จึงกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันเพียงรายเดียวที่ยังไม่มีรถกระบะ Compact Truck ขายในโชว์รูมตัวเองเลย นั่นจึงทำให้ Chrysler ต้องใช้วิธีทางลัดแบบนี้ เหมือนกัน แต่กว่าที่ พันธมิตรชาวญี่ปุ่น จะเปิดตัว Mitsubishi L200 Forte เวลาก็ล่วงเข้าสู่ปี 1978 เข้าไปแล้ว
คุณภาพของรถกระบะ L200 รุ่นแรก ไม่เพียงแค่เป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั่วโลก หากยังรวมถึง พันธมิตรคู่ค้า อย่าง Chrysler Corporation พวกเขาจึงตัดสินใจ ลงนามสั่งซื้อรถกระบะ L200 ผลิตจากโรงงาน Okazaki ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเข้าไปจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือ ผ่านแบรนด์ Dodge และ Plymouth ภายใต้ชื่อ Dodge Ram 50 และ Plymouth Arrow Pickup อีกด้วย
กระนั้น ก็ต้องแลกกับการที่ Mitsubishi Motors จะต้องช่วยสั่งซื้อรถยนต์ จากโรงงาน Chrysler ในสหรัฐฯ เข้าไปช่วยทำตลาดให้ในญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ Chrysler และ Dodge ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ขายได้ไม่ดีนัก เนื่องจากตัวรถใหญ่เกินความต้องการของชาวญี่ปุ่น

แล้วทำไมต้องขายรถกระบะ Mitsubishi ในแบรนด์ Dodge กับ Plymouth ?
เพราะตอนนั้น Mitsubishi Motors ยังไม่ประสีประสา กับการออกนอกญี่ปุ่น ไปตั้งบริษัทขายรถในต่างประเทศด้วยตนเอง ในอดีต ตอนพวกเขามาเมืองไทย ก็ต้องฝากให้ทางบริษัทแม่ Mitsubishi Corporation ช่วยติดต่อหา ดร.ถาวร พรประภา เจ้าของ สยามกลการ (Siam Motors) ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Datsun (หรือ Nissan ในปัจจุบัน) ช่วยเป็นเอเยนต์ให้ แต่ ดร.ถาวร ปฏิเสธ จึงติดต่อไปยังกลุ่มสิทธิผล โดยตระกูล ลี้อิสระนุกูล รับเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ โดยระยะแรก นำรถสามล้อ Leo จากญี่ปุ่นเข้ามาขายในบ้านเรา ก่อนจะมาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ ที่ลาดกระบัง และกลายมาเป็นโรงงานของ TC Subaru ในปัจจุบัน
หรือแม้แต่ในอังกฤษ เองก็เช่นกัน ในปี 1974 Mitsubishi Motors แต่งตั้งให้บริษัท Colt Car Company จำหน่ายรถยนต์ของพวกเขา ในสหราชอาณาจักรทั้งหมด (ก่อนจะ Take over กิจการมาดูแลเอง เมื่อ 3 ตุลาคม 2008) ดังนั้น กว่าที่ Mitsubishi Motors พอจะมีกำลัง สยายปีก ไปตั้งสำนักงานประจำภูมิภาค นอกญี่ปุ่นเอง ก็ต้องรอช่วงปี 1980 ขึ้นมา พวกเขาจึงต้องพึ่งพาพันธมิตรใหญ่ อย่าง Chrysler Corporation ไปก่อน เพื่อศึกษาเรียนรู้ตลาด ไปด้วยในตัว
ขณะเดียวกัน Chrysler Corporation ซึ่ง ณ เวลานั้น อยู่ในสถานะการเงินที่ไม่สู้ดีนัก ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยการำไม่จำเป็นต้องพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ใช้วิธีสั่งซื้อรถจากญี่ปุ่น เข้าไปขายผ่านแบรนด์ตัวเอง ซึ่งช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจไปได้มากโข แม้ว่าท้ายที่สุด Lee Iacocca อดีตผู้บริหารของ Ford จะถูกว่าจ้างเข้ามาพลิกฟื้นวิกฤติของ Chrysler ในปี 1979 จนสำเร็จในปี 1982 แล้วก็ตาม


Dodge กับ Plymouth เป็นใคร? มีที่มาคร่าวๆ อย่างไร?
แรกเริ่มเดิมที Dodge ก่อตั้งขึ้นโดย 2 พี่น้อง ตระกูล Dodge เจ้าของบริษัทระดับ Start Up ขนาดเล็กที่ชื่อ Dodge Brothers Company ในปี 1900 พวกเขาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น เพลา Chassis และชิ้นส่วนเครื่องยนต์กับระบบส่งกำลังบางส่วน ให้กับ Ford Motor Company
หลังจากเห็นลู่ทางธุรกิจ ในปี 1913 ทั้ง 2 พี่น้อง จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น Dodge Brothers Motor Car Company และเริ่มนำรถยนต์แบบแรก ของพวกเขา ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ 25 แรงม้า พร้อมระบบไฟฟ้า 12 Volt ออกจำหน่าย ในปี 1914
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 พี่น้อง ทะยอยเสียชีวิตตามกันไป ในปี 1920 และ 1921 บริษัท Dodge จึงถูกขายให้กับ Dillon, Read & Company ในปี 1925 จากนั้น Chrysler Corporation จึงซื้อกิจการของ Dodge ในปี 1928 และวางตำแหน่งการตลาด (Brand Positioning) เอาไว้ เป็นแบรนด์ ระดับกลาง ระหว่าง แบรนด์ De Soto ซึ่งขายรถยนต์ระดับกลางค่อนข้างหรู (แต่ไม่เท่า Chrysler และ Imperial ในเวลาต่อมา) กับแบรนด์ Plymouth ซึ่งเน้นขายรถยนต์ราคาถูกกว่า ก่อนที่จะเริ่มพลิกตัวเองกลายมาเป็น แบรนด์ สำหรับรถยนต์ แนว Sport ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบันเพื่อประกบกับ แบรนด์ Pontiac ของ GM โดย รถยนต์รุ่นดังของพวกเขา คือ Dodge Viper, Dodge Dart, Dodge Charger , Dodge Challenger , ตระกูลรถกระบะ Dodge Ram ในยุคที่ยังไม่แยกตัวออกมาเป็นแบรนด์ Ram เอง ฯลฯ


ส่วน Plymouth นั้น Chrysler Corporation เปิดตัวแบรนด์ Plymouth ครั้งแรกเมื่อปี 1928 ในฐานะ แบรนด์รถยนต์ราคาประหยัดสำหรับต่อกรกับ Chevrolet และ Ford ในช่วงแรก ด้วยการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพดี ทำให้มียอดขายดี ได้รับความนิยมมาก จนกระทั่งปี 1957 มีปัญหาด้านคุณภาพ ทำให้ยอดขายเริ่มลดลง และกลายเป็นแผลภาพจำในหมู่ชาวอเมริกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา
พอเข้าสู่ทศวรรษ 1980 Plymouth เป็นได้แค่แบรนด์ ที่นำรถยนต์ Chrysler และ Dodge มาปรับลด Trim การตกแต่ง ลดความหรูลงมา แล้วขายในราคาถูกกว่าเล็กน้อย เช่น Chrysler Town & Country เป็น Plymouth Voyager และ Dodge Neon เป็น Plymouth Neon หรือไม่ก็นำรถเก๋งจาก Mitsubishi Mirage / Lancer จาก ญี่ปุ่น มาสวมชื่อ Plymouth Colt ขายควบคู่กับ รถยนต์ของตนอย่าง Plymouth Sundance แต่ในประวัติศาสตร์ของแบรนด์นี้ ก็ยังพอมีรถยนต์รุ่นดังให้จำได้บ้าง เช่น Plymouth Barracuda หรือ Compact – Car อย่าง Plymouth Neon ที่เคยถูกนำเข้ามาขายในเมืองไทย ด้วยชื่อ Chrysler Neon ในปี 1995 ไปจนถึงรถสปอร์ตทรงย้อนยุค แนว American Hot Rod อย่าง Plymouth Prowler ในปี 1997 – 2000 สุดท้าย ในยุค DAIMLERCHRYSLER ชาวเยอรมันและอเมริกัน ตัดสินใจ ยุติบทบาทแบรนด์ Plymouth ไปในปี 2001





แล้วรายละเอียดของเวอร์ชันอเมริกัน เป็นอย่างไร?
Chrysler ปล่อยภาพถ่ายชุดแรก ของ Dodge Ram D-50 และ Plymouth Arrow Pickup เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1978 ก่อนจะเริ่มทำตลาดจริงในเดือนตุลาคม 1978 ในฐานะ รถยนต์รุ่นปี 1979 ตามระบบการนับรุ่นปี ของตลาดรถยนต์อเมริกัน ที่เริ่มนับรุ่นปี รถยนต์ รุ่นสำหรับปีถัดไป (เช่นรุ่นปี 2025) กันต้งแต่ 1 ตุลาคม ของปีเดิม (เช่น 2024) และสิ้นสุดที่ 30 กันยายน ของปีถัดไป เช่น 2025)
โดยในตลาดอเมริกาเหนือ ทั้งคู่จะมีให้เลือกทั้งรุ่นมาตรฐาน และรุ่น Sport ตกแต่งแนวสปอร์ตรอบคัน ไม่ว่าจะเป็น กระจังหน้าแบบตะแกรงสีเงิน สติ๊กเกอร์คาดด้านข้างตัวรถ ที่จะมีลวดลายแตกต่างกันเล็กน้อย ล้ออัลลอย เบาะนั่ง แยก ฝั่งซ้าย-ขวา Bucket Seat ลายเฉพาะรุ่น Sport และสามารถเลือกสั่งติดตั้งหลังคา Sunroof แบบเปิดยกเพื่อระบายอากาศได้ทังคู่ มาพร้อมไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยม ฝั่งละ 1 ชุดโคม




นอกจากนี้ ทั้ง D-50 และ Arrow Pickup จะเปลี่ยนไปใช้ขุมพลังเบนซินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งแบบ G63B 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,997 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อคู่ดูดลงล่าง MCA-Jet 92 แรงม้า (PS) หรือ 90 แรงม้า (HP SAE) และ 88 แรงม้า (HP SAE สำหรับ California) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 107 ฟุต-ปอนด์ (14.76 กก.-ม.) ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ
รวมทั้งเครื่องยนต์ G54B เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,555 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อคู่ดูดลงล่าง MCA-Jet 105 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 139 ฟุต-ปอนด์ (19.18 กก.-ม.) ที่ 2,500 รอบ/นาที ซึ่งมีให้เลือกครบทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ (รุ่นธรรมดา) และ 5 จังหวะ (สำหรับรุ่น Sport) หรือ เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ
กันยายน 1980 Dodge D-50 รุ่นปี 1981 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Dodge Ram 50 พร้อมทั้งเพิ่มรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ Part-Time 4WD ในชื่อ Dodge Power Ram 50 พร้อมๆกันกับตลาดญี่ปุ่น และยังคงมีการปรับโฉมเปลี่ยนอุปกรณ์กันทุกปี




9 กันยายน 1982 รถรุ่นปี 1983 ออกสู่ตลาด ด้วยชุดไฟหน้าแบบ สี่เหลี่ยมคู่ ยืนหยัดด้วย 2 ทางเลือกเครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 และ 2.6 ลิตร ตามเดิม แต่ มีการเพิ่มทางเลือกเครื่องยนต์ 4D55T Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,346 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 91.1 x 90 มิลลิเมตร พ่วงด้วย Turbocharger จาก Mitsubishi รุ่น TC-05 แบบ ไม่มี Wastegate 80 แรงม้า (HP SAE) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 125 ฟุต-ปอนด์ (17.25 กก.-ม.) ที่ 2,500 รอบ/นาที เข้ามาสำหรับตลาดอเมริกาเหนือ เป็นครั้งแรก
รุ่นปี 1984 -1985 มีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ Diesel มาเป็น 4D55T เวอร์ชันใหม่ เปลี่ยนมาใช้ Turbocharger จาก Mitsubishi รุ่น TC04 แบบ มี Wastegate เพิ่มกำลังขึ้นเป็น 86 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 182 นิวตันเมตร (18.54 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที

17 กันยายน 1985 Dodge Ram 50 Model Year 1986 ออกสู่ตลาด เปลี่ยนกระจังหน้าจากแบบซี่นอน สีดำ มาเป็นแบบโครเมียม ซี่นอน 4 ใน 5 ของพื้นที่กระจังหน้าทั้งหมด โดยรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อตัวเตี้ย ยังคงมีให้เลือก ทั้งรุ่นมาตรฐาน Ram 50 และ รุ่น Ram 50 Sport แต่รายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม และถือเป็นปีสุดท้าย ที่ Dodge Ram 50 รุ่นแรก และ Plymouth Arrow จะอยู่ในตลาด

Mitsubishi Mighty Max
Mitsbusihi Motors’ version of its own trucks in the U.S.
ยอดขายที่น่าพอใจของทั้ง Dodge Ram50 และ Plymouth Arrow Pickup รวมทั้งความสับสนในการทำตลาดรถยนต์ Mitsubishi ภายใต้แบรนด์ Chrysler , Dodge และ Plymouth ในสหรัญอเมริกา ในสายตาของผู้บริโภค ชาวอเมริกัน ทำให้ Mitsubishi Motors เริ่มมองเห็นช่องทางและโอกาสในการนำรถยนต์เข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ด้วยตนเอง พวกเขาจึงตัดสินใจก่อตั้ง Mitsubishi Motor Sales of America, Inc. (MMSA) ในปี 1981 เพื่อบุกตลาดรถยนต์นั่งและรถกระบะภายใต้แบรนด์ตนเอง โดยเริ่มต้นจากการสั่งนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจากญี่ปุ่น ทั้งรถยนต์ขนาดกลาง Sedan รุ่น Tredia ,รถยนต์ขนาดกลางแบบ Coupe รุ่น Cordia และรถสปอร์ต 2 ประตู อย่าง Starion
ต่อมา L200 ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 4 รถยนต์รุ่นแรกสำหรับการเปิดตลาดแบรนด์ Mitsubishi ในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก การเปิดตัวมีขึ้นเมื่อปี 1982 โดยใช้ชื่อ Mitsubishi Mighty Max โดยมีการเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ ให้มีไฟตัดหมอกฝังในตัว อยู่ด้านข้างไฟหน้าสี่เหลี่ยม
นอกจากจะใช้เครื่องยนต์ G63B และ G54B เหมือนกับ ทั้ง Dodge Ram50 และ Plymouth Arrow Pickup แล้ว ยังมีทางเลือกใหม่ เป็นเครื่องยนต์ 4D55 Diesel 4 สูบ SOHC 2,346 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 91.1 x 90.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 21.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยปั้มหัวฉีด พ่วง Turbocharger แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร (13.96 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที





Australian Version
Chrysler D-50 / Mitsubishi Express
ช่วงกลาง ถึง ปลายทศวรรษ 1970 นั้น จากความสัมพันธ์ ทางธุรกิจ ในฐานะหุ้นส่วนร่วมกับ Chrysler Corporation สหรัฐอเมริกา ณ วันที่ Mitsubishi Motors ยังไม่พร้อมบุกตลาดโลกด้วยตัวเอง Chrysler ก็จำเป็นต้องช่วยเหลือ Mitsubishi Motors หุ้นส่วนใหม่ ที่ Chrysler เข้าไปถือหุ้นอยู่ถึง 15% มาตั้งแต่ ปี 1971 ในการทำตลาดรถยนต์จากญี่ปุ่นสู่สายตาชาวโลก
สำหรับตลาดแดนจิงโจ้และโคอาล่า แล้ว Chrysler Australia ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1963 และตั้งโรงงานประกอบรถยนต์หลากรุ่น ในปี 1964 เมื่อถึงปี 1971 หลังการเข้าถือหุ้นในพันธมิตรฝั่งญี่ปุ่น Chrysler ก็เริ่มนำรถยนต์ Mitsubishi Galant เข้าไปประกอบ และจำหน่ายใน Australia ภายใต้ชื่อ Chrysler Valiant Galant และ Chrysler Sigma ไว้ต่อกรกับ เจ้าถิ่น อย่าง Holden Commodores , Ford Falcon หรือ เพื่อนร่วมชาติอย่าง Datsun Bluebird
ในช่วงปี 1977 – 1978 Chrysler Australia เห็นช่องทางการเติบโตของตลาดรถกระบะกลุ่ม Light Truck ใน Australia จึงสานต่อความสัมพันธ์จากฝั่งอเมริกาเหนือ สั่งนำเข้า รถกระบะ L200 Forte แบบสำเร็จรูปทั้งคัน จากโรงงาน Mitsubishi Motors ในญี่ปุ่น เข้าไปจำหน่ายในดินแดน Down Under เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 เมษายน 1979 โดยใช้ชื่อ “Chrysler D-50”
ช่วงแรกที่วางจำหน่าย Chrysler D-50 มีให้เลือก 2 รูปแบบ คือรุ่นพื้นฐาน Standard ไฟหน้าแบบวงกลมคู่ และรุ่น High Option ไฟหน้าสี่เหลี่ยม โดยรุ่น Standard จะวางเครื่องยนต์ 2 ขนาด ทั้งจากตระกูล Sirius รหัส 4G32 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8วาล์ว 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.5:1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อม Automatic Choke 92 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ แบบ Column Shift (เกียร์มือ ตรงคอพวงมาลัย)
ตามด้วยเครื่องยนต์ 4G52 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว เพิ่มความจุขึ้นเป็น 1,995 ซีซี กำลังอัด เท่าเดิม 8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 100 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ แบบ Column Shift (เกียร์มือ ตรงคอพวงมาลัย) ซึ่งติดตั้ง ในรุ่น Standard ไฟหน้ากลมคู่ และรุ่น High Option ไฟหน้าสี่เหลี่ยม
ส่วนรุ่น High Option ไฟหน้าสี่เหลี่ยม จะวางเครื่องยนต์ 4G53 เพียงอย่างเดียว มาพร้อมกับอุปกรณ์ ที่ดูดีขึ้นนิดหน่อย ทั้งยาง Radial เบาะนั่ง Bucket Seat (รุ่นธรรมดา จะเป็น ม้านั่ง Bench Seat เหมือนตลาดอื่นๆ) พรมปูพื้น คอนโซลกลาง วิทยุ AM และพวงมาลัย 2 ก้าน แบบสปอร์ต ปรับระดับสูง-ต่ำได้
หลังจากนั้น ปลายปี 1979 รุ่น Cab Chassis หัวเก่งเดี่ยว จึงตามออกมา สำหรับลูกค้าที่มักนิยม ซื้อรถกระบะแบบหัวเก่งเดี่ยว ไม่มีกระบะหลัง เพื่อจะไปต่อขึ้นโครงสร้างด้านหลังรถ หรือติดตั้งกระบะเรียบแบบ Flat Bed ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ชาว Australian กันเอาเอง และเมื่อถึงเดือนมีนาคม 1980 มีการเปลี่ยนชื่อรุ่น เป็น Chrysler L200 Express เพื่อให้สอดคล้องกับการนำรถตู้ L300 Express เข้าไปจำหน่ายในดินแดนแห่งจิงโจ้และโคอาล่า

อย่างไรก็ตาม อีกเพียงแค่เดือนเดียวถัดมา ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดรถยนต์ Australia ก็เกิดขึ้น วันที่ 30 เมษายน 1980 Chrysler ตัดสินใจ ขายกิจการของตนใน Australia ทิ้งทั้งหมด ให้กับ Mitsubishi Motors โดยฝ่ายญี่ปุ่น ได้เจรจาเข้าซื้อหุ้น 65% ของ Chrysler ด้วยเงินจำนวน 2 ล้านเหรียญ Australian Dollars จนฝ่ายญี่ปุ่น ได้ถือครองหุ้นในบริษัทนี้ถึง 98.9% ส่วนอีก 1.1 % เป็นของ นักลงทุนท้องถิ่น 690 ราย บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น Mitsubishi Motors Australia Limited PTY. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1980 นอกจากจะทำให้ การผลิตรถยนต์หลายๆรุ่น ต้องทะยอยยุติลงไปด้วยแล้ว L200 Express ก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในวันเดียวกันตามไปด้วย มาเป็น Mitsubishi EXPRESS
เดือนมิถุนายน 1981 มีการเพิ่มรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ให้กับ รุ่น Standard และรุ่นหัวเก๋งเดี่ยว Cab Chassis นอกเหนือจากรุ่น High Option โดยเป็นขุมพลังเดิม รหัส 4G52 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,995 ซีซี กำลังอัด เท่าเดิม 8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 100 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที
เดือนมกราคม 1983 มีการเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ รหัส 4D55 Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,346 ซีซี 74 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.0 กก.-ม.ที่ 2,500 รอบ/นาที เข้าไป
หลังจากนั้น ก็ทำตลาดกันยาวๆ จนถึงปี 1987 เป็นอันสิ้นสุดบทบาท และส่งต่อให้กับ L200 Generation ที่ 2 ซึ่งตลาด Australia / New Zealand เปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ Mitsubishi Triton นับเป็นภูมิภาคแรกของโลก ที่นำชื่อ Triton ไปใช้กับรถกระบะ ของตนเอง ก่อนที่เมืองไทย จะนำชื่อเดียวกันนี้ มาใช้ในรุ่นเปลี่ยนโฉมครั้งที่ 4 ของตระกูล L200 ในเดือน สิงหาคม 2005

General Export Version
Mitsubishi L200
ส่วนตลาดส่งออกอื่นๆ Mitsubishi L200 ทำตลาดในชื่อหลากหลายกันออกไป มีเครื่องยนต์ให้เลือกทั้งแบบ G63B เบนซิน 4 สูบ SOHC 1,997 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 85.0 x 88.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อคู่ ดูดลงล่าง จุดระเบิดด้วยอีเล็กโทรนิคส์ 99.2 แรงม้า (PS) หรือ 73 กิโลวัตต์ ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 147 นิวตันเมตร (14.97 กก.-ม.) ที่ 3,500 รอบ/นาที
และเครื่องยนต์ 4D55 Diesel 4 สูบ SOHC 2,346 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 91.1 x 90.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 21.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยปั้มหัวฉีด 67 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร (13.96 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที
L200 รุ่นแรก ทำตลาดทั่วโลกโดยมีการปรับโฉมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ส่วนมากจะเรียงลำดับจากไฟกลมคู่ เป็นไฟสี่เหลี่ยมเดี่ยว ตามด้วยไฟสี่เหลี่ยมคู่ กระจังหน้าธรรมดา สีดำ กระจังหน้าแบบตะแกรง ทั้งแบบธรรมดา และแบบมีแถบหนาด้านบน จนถึงช่วงปี 1988 ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ Generation ที่ 2

THAI Version :
Mitsubishi L200 / L200 Slender , L200 Power X , L200 Astron
สำหรับในเมืองไทย สิทธิผล มอเตอร์ส (Sitthipol Motor) ตัวแทนจำหน่าย รถยนต์ Mitsubishi จากญี่ปุ่น ในยุคนั้น เริ่มนำรถกระบะ L200 มาขึ้นสายการประกอบเป็นครั้งแรก ณ โรงงานของ บริษัท สหพัฒนายานยนต์ จำกัด (UDMI) ย่านลาดกระบัง (ก่อตั้งเมื่อ 6 ตุลาคม 1964) การประกอบรถกระบะ L200 ในโรงงานแห่งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อปี 1981
ช่วงแรก มีให้เลือกเพียงแค่รุ่นเดียว เป็น L200 กระบะมาตรฐาน ช่วงยาว วางขุมพลัง 4G32 เบนซิน 4 สูบ SOHC 1,587 ซีซี 92 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลังด้วย เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ KM130 รายละเอียดทางเทคนิคเหมือนกับ Mitsubishi Forte ในญี่ปุ่น ทุกประการ ราคาขายในเมืองไทย อยู่ที่ 118,000 บาท
ต่อมาในปี 1982 จึงปรับโฉม เปลี่ยนด้านหน้าเป็นแบบไฟสี่เหลี่ยมคู่ ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับเพิ่มทางเลือกใหม่ ด้วย เครื่องยนต์ Diesel รหัส 4D55 บล็อก 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,346 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 91.1 x 90.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 21.0:1 ปั้มเชื้อเพลิงแบบ Rotary พร้อมเพลาถ่วงดุล “Silent Shaft”67 แรงม้า (PS DIN) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม. ที่ 2,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ Syncromesh รุ่น KM132 เปิดตัวตามออกมา เพื่อทำตลาดควบคู่กับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน

ปี 1983 เพิ่มรุ่นกระบะช่วงยาว ซึ่งมีความยาวตัวถังเพิ่มขึ้นจาก 4,690 เป็น 4,945 มิลลิเมตร เพิ่มความยาวกระบะหลังจาก 2,030 เป็น 2,285 มิลลิเมตร ซึ่งส่งผลให้ ระยะฐานล้อ ยาวขึ้นตามไปด้วย จาก 2,780 เป็น 3,035 มิลลิเมตร โดยยังคงรักษาความกว้างของตัวถัง 1,650 มิลลิเมตร และความสูง 1,560 มิลลิเมตร ไว้ตามเดิม
พร้อมกันนี้ ยังมีการ Upgrade เครื่องยนต์ 4D55 Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,346 ซีซี ให้แรงขึ้นเป็น 74 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.0 กก.-ม.ที่ 2,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ KM132 ตามเดิม

ปี 1984 เปิดตัว รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ด้วยแนวคิดใหม่ สร้างประวัติศาสตร์ เป็นผู้ผลิตรถกระบะรายแรกในเมืองไทย ที่มีงานออกแบบด้านหน้า ให้ผู้บริโภคได้เลือกพร้อมกันถึง 2 รูปแบบ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในขณะนั้น ในชื่อ L200 Slender และ L200 Power X แถมยังสร้างความฮือฮา ด้วยการดึงสุดยอดดารานักแสดงชื่อดังจากฮ่องกงอย่าง “เฉิน หลง” หรือ Jackie Chan มาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาทั้งโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ อีกด้วย!
รุ่นมาตรฐาน ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น L200 Power-X เปลี่ยนมาใช้กระจังหน้าแบบ American เพิ่มแถบคิ้วโครเมียม เหนือชุดไฟหน้า เพิ่มพนักศีรษะฝั่งคนขับ เพิ่มสติกเกอร์ Power X ที่ปลายกระบะหลัง มีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์ 4D55 Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,346 ซีซี 74 แรงม้า (PS) และ รุ่น 4G32 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,597 ซีซี 92 แรงม้า (PS) ซึ่งมีทั้งแบบมาตรฐาน และแบบติดตั้งระบบแก็ส LPG จากโรงงานมาให้ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
ส่วนรุ่น L200 Slender ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เป็นการนำชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าของ Mitsubishi Galant Sigma รุ่นหน้าเฉียง และรุ่นพิเศษ “Sarajevo Limited Edition” ฉลองการเป็นผู้สนับสนุนของกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว ณ เมือง Sarajevo มาติดตั้งให้กับ L200 และเพิ่มสติกเกอร์ Slender มาให้ที่ปลายกระบะหลัง มีให้เลือกเฉพาะรุ่น เครื่องยนต์ 4D55 Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,346 ซีซี 74 แรงม้า (PS) เท่านั้น รุ่น Slender ทำตลาดในจำนวนจำกัด เพียงประมาณ 1 ปีครึ่ง จนถึงปี 1985 ก็ยุติการผลิต

ปี 1985 มีการปรับโฉมอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ เป็นแบบโครเมียม ย้ายสัญลักษณ์ Mitsubishi ไปไว้ด้านบนฝั่งขวา เมื่อมองจากด้านหน้า (หรือฝั่งซ้ายของตัวรถ) เพิ่มตัวกันกระแทก สีดำที่กันชนหน้า เพิ่มสติกเกอร์คาดข้างตัวถังลายใหม่ นอกนั้น เหมือนเดิม
เรื่องน่าแปลกก็คือ ภาพหน้าปก Catalog ข้างบนนี้ แท้จริงแล้ว เป็นภาพสเก็ตช์ของ Mitsubishi L200 Cyclone รุ่นต่อไป แต่ตอนนั้น ดูเหมือนว่า ทางทีมโฆษณา คงพยายามจะสื่อสารเรื่องความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีของ Mitsubishi ก็เลยนำภาพนี้มาประกอบหน้าปกแค็ตตาล็อกไป โดยลืมนึกไปว่า นี่คือการเปิดเผยถึงรูปทรงของรถกระบะรุ่นใหม่ L200 Cyclone ที่จะเปิดตัวในเมืองไทย ในอีก 1-2 ปีต่อมา!!!

ช่วงต้นปี 1986 ขุมพลัง 4D55 Diesel 2,300 ซีซี ถูกยกเลิกการผลิต แล้วแทนที่ด้วย เครื่องยนต์ใหม่ 4D56 Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,477 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 91.1 x 95.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 21.0 : 1 กำลังสูงสุด 81 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม. ที่ 2,000 รอบ/นาที
ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ Sittipol Motor ก็เลยสั่งปรับโฉม Minorchange ให้ L200 กันอีกครั้ง โดยรุ่น Diesel 2.5 ลิตร จะเปลี่ยนกลับไปใช้กระจังหน้าของรุ่น Power X แต่ชุบโครเมียมทั้งชิ้น เปลี่ยนตำแหน่งโลโก้ Mitsubishi จากฝั่งซ้ายของตัวรถ กลับมาไว้ตรงกลางแทน และเปลี่ยนลายสติกเกอร์คาดข้างตัวรถแบบใหม่ ลาย 2.5 D ส่วนรุ่นเบนซิน ที่ปรับเปลี่ยนกระจังหน้าแล้ว ยังคงทำตลาดอยู่เป็นปีสุดท้าย
ปีนั้นเป็นปีที่น่าแปลกว่า Sittipol Motor เลือกทำ Brochure แบบแผ่นเดียว ด้วยกระดาษขาวดำ แทนที่จะพิมพ์ 4 สี เหมือนตามปกติ เพื่อหวังจะลดต้นทุน แต่สุดท้าย พวกเขาก็กลับมาทำ Catalog แบบ 4 สี ในช่วงหลังจากนั้น ทั้ง 2 รุ่นนี้ ออกขายในช่วงสั้นๆ ตลอดปี 1986




ปลายปี 1986 Mitsubishi L200 รุ่นแรก ถูกปรับโฉมครั้งสุดท้าย ในชื่อ Mitsubishi L200 Astron มีการปรับปรุงกระจังหน้า โดยเปลี่ยนเป็นสีดำ เปลี่ยนลายสติกเกอร์คาดด้านข้างตัวถัง เป็นลายใหม่ สีน้ำเงิน



จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การยกระดับความแรงให้เครื่องยนต์ 4D56 Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 2,477 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 91.1 x 95.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 21.0 : 1 ด้วยห้องเผาไหม้แบบ Swirl Chamber ระบบ หัวฉีด Oil Jet Spray และ ระบบ Oil Cooler ทำให้มีกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 84 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม. ที่ 2,000 รอบ/นาที
พวงมาลัยแบบลูกปืนตัวหนอน (Ball & Nut) รัศมีวงเลี้ยว 5.6 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมคอยล์สปริง และช็อกอัพ 2 จังหวะ ด้านหลังเป็นแหนบแผ่น ช็อกอัพไขว้ ระบบห้ามล้อ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก แบบไฮโดรลิก 2 วงจรไขว้ พร้อมวาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรก LSPV
L200 Astron ทำตลาดจนถึง เดือนพฤศจิกายน 1987 เพื่อหลีกทางให้กับการเปิดตัวรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ของ รถกระบะ Mitsubishi Generation ที่ 2 ในชื่อ L200 CYCLONE โดยบางโชว์รูม ยังมีสต็อกค้างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 1988
สำหรับตลาดเมืองไทย เท่าที่มีการรวบรวมตัวเลขยอดขายสะสมกันไว้ในอดีต ปี 1985 ยอดขายของ L200 รุ่นแรก รวมตลอดทั้งปี อยู่ที่ 3,681 คัน และในปี 1987 อันเป็นปีสุดท้ายที่ L200 Astron อยู่ในตลาดเมืองไทย ยังคงทำตัวเลขสะสมได้ทั้งหมด 3,968 คัน
ส่วนตัวเลขยอดขายสะสมทั่วโลกของ L200 รุ่นแรก อยู่ที่ ประมาณ 657,000 คัน เป็นผลผลิต ทั้งจากโรงงาน Ohe Plant รวมทั้งโรงงาน ของ บริษัท Sitthipol Motor จำกัด (ยุคก่อนเปลี่ยนมาเป็น MMC Sitthipol) ที่ ลาดกระบัง และอีกหลายๆแห่งรวมกัน
Mitsubishi L200 Forte คือปฐมบท จุดเริ่มต้น ของรถกระบะ Mitsubishi ขนาดกลาง ในกาลต่อมา ไม่ว่าจะเป็น L200 Cyclone ในวันที่ 5 พฤษภาคม 1987 ทำตลาดต่อเนื่องมาจนถึง เดือนสิงหาคม 1995 จึงเข้าสู่ยุคของ Mitsubishi L200 Strada จนกระทั่ง เดือน สิงหาคม 2005 Mitsubishi Motors จึงช็อกวงการด้วยรถกระบะทรงล้ำอนาคตอย่าง Mitsubishi Triton ตามด้วยการเปิดตัว รุ่นที่ 2 ของ Triton ในปี 2014 และ Trito รุ่นล่าสุด เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมาสดๆร้อน
ทุกวันนี้ Mitsubishi L200 Forte ที่มีสภาพดี เหลือน้อยมากๆ เข้าขั้นหายาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ ยังคงพอจะเห็นการนำรถรุ่นช่วงยาว สีขาว มาบูรณะใหม่ จนใกล้เคียงกับตอนออกจากโชว์รูมในยุคนั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รถกระบะรุ่นนี้ หลงเหลือทิ้งไว้ให้คนไทย ก็คือ ภาพจำของ ดาราดังอย่าง เฉินหลง ที่ผูกพันธมิตร กับ Mitsubishi Motors จนกลายเป็นความทรงจำของผู้คน ที่เกิดมาทันยุคทศวรรษ 1980 ไปแล้ว
———————-///———————-

ภาคผนวก
Jackie Chan เฉินหลง
Presenter (เกือบ) ตลอดกาล ของ Mitsubishi Motors
ช่วงปี 1983 ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ของ Mitsubishi Motors Corporation ประเทศญี่ปุ่น ในตอนนั้น คิดไม่ตกว่า จะทำอย่างไรดี ถึงจะโปรโมท รถยนต์ Mitsubishi ให้โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยงบประมาณที่อาจจะไม่ต้องมากนัก ในยุคที่โลกยังไม่มี Internet Social Media ให้สื่อสารกัน อย่าว่ากระนั้นเลย ตอนนั้น การส่ง Fax ข้ามทวีป ยังถือเป็นเรื่องใหม่ถอดด้าม สำหรับสำนักงานใหญ่ของ Mitsubishi Motors ที่ Shinagawa ในตอนนั้น ด้วยซ้ำ เพราะคนยุคนั้น ยังคุ้นชินการการสื่อสารระหว่างประเทศ ผ่านโทรศัพท์ และเครื่อง Telex!
ขณะเดียวกัน ทางฝั่ง Hong Kong ในยุคที่ยังเป็นอาณานิคม ของ สหราชอาณาจักร ผ่านสัญญาเช่าดินแดนกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ในตอนนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของ Hong Kong กำลังเบ่งบานได้ที่ Studio ยักษ์ใหญ่สุด อย่าง Golden Harvest กำลังขยันทำหนังบู๊ Action หนังกำลังภายใน สารพัดเรื่อง ออกมาตีตลาดทั่ว Asia และ เฉินหลง หรือ Jackie Chan ก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะ ดาราสายบู๊ยอดฮิต เล่นจริง เจ็บจริง ไม่ใช่ตัวแสดงแทน หรือ Stunt Man เลย!
ทีมการตลาดฝั่งญี่ปุ่น ทราบมาว่า หนึ่งในผู้บริหารของ Golden Harvest เป็นลูกค้าที่ใช้รถยนต์ Mitsubishi อยู่แล้วใน Hong Kong และอยากจะร่วมงานกันกับทางญี่ปุ่นพอดี การเจรจากันระหว่างค่ายหนังจาก Hong Kong และค่ายรถจากญี่ปุ่น ทั้ง 2 ฝ่าย จึงเกิดขึ้น
ผลลัพธ์จากการเจรจาก็คือ Mitsubishi Motors ตอบตกลง จึงส่งมอบรถยนต์ “ปีละประมาณ 50 คัน” ให้ เฉินหลง และ Golden Harvest เอาไปปู้ยี่ปู้ยำทำแกงอะไรก็ได้ทั้งสิ้น เพียงให้ได้ปรากฎอยู่ใน “หนังของเฉินหลงทุกเรื่อง!”
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราทุกคนได้เห็นรถยนต์ Mitsubishi สารพัดรุ่น ปรากฎตัวอยู่ใน “หนังของเฉินหลง” แทบจะทุกเรื่อง นับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะเรื่องที่โด่งดังและสร้างชื่อเสียงให้กับทั้ง เฉินหลง และ Mitsubishi Motors มากที่สุดคือ ภาพยนตร์เรื่อง “Thunderbolt” หรือ”เร็วฟ้าผ่า” ซึ่งนอกจาก เฉินหลง จะใช้ Mitsubishi Lancer EVO III คันสีเหลืองโดดเด่นเป็นรถคู่ใจของพระเอกในเรื่องแล้ว Mitsubishi Motors เองก็ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการถ่ายทำในช่วงนั้น ด้วยการปิดสนามทดสอบรถยนต์ของตน ที่ Okazaki เป็นสถานที่ถ่ายทำ ฉากเปิดเรื่อง อีกทั้งยังระดม รถยนต์รุ่นต่างๆมากมายมาเข้าฉาก ไม่เว้นแม้กระทั่ง รถยนต์ต้นแบบ Mitsubishi HSR-III รถยนต์ Sport Coupe อย่าง Mitsubishi FTO และ รถสปอร์ต Mitsubishi GTO / 3000GT ที่ใช้แข่งขันในฉาก รวมทั้งบรรดารถบรรทุก Trailer และอุปกรณ์ต่างๆ ของทีมแข่ง RALLIART ในยุคนั้นทั้งฝูง อีกด้วย
ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ตัวแทนของ Mitsubishi Motors ใน Hong Kong ถึงกับ นำ Mitsubishi Lancer Evolution มาตกแต่งใหม่เป็นพิเศษ ในชื่อ Jacky Chan Version ซึ่ง เฉินหลง เอง ก็มีส่วนร่วมในการออกแบบชุด Aero Part รอบคันด้วย รถรุ่นนี้ เปิดตัวในเดือนกันยายน 2005 และถูกผลิตออกมาในจำนวนจำกัดสุดๆ น่าจะราวๆ ไม่เกิน 50 คัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อล่วงเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ปี 2010 ด้วยเหตุที่ เฉินหลง เริ่มมีผลงานในระดับโลก และเริ่มทำหนังโดยไมได้อยู่ในสังกัดดั้งเดิม ข้อตกลงพันธมิตรที่ยืนยาวมานานนับทศวรรษ ระหว่าง เฉินหลง และ Mitsubishi Motors จึงยุติลงในที่สุด เหลือทิ้งไว้เป็นเพียงตำนานในความทรงจำของ ลูกค้ากลุ่มแฟนพันธ์แท้รถยนต์ Mitsubishi เพียงเท่านั้น
Special Thanks to :
คุณชัชรินทร์ วงศ์สงวน (ผู้ล่วงลับ)
รวมทั้งอดีตทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Public Relation)
ของ Mitsubishi Motors (Thailand) ยุคก่อนจะย้ายสำนักงานใหญ่มายังตึก FYI
ที่เก็บโบรชัวร์เก่า และข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างดี จนถึงทุกวันนี้
Mr.Pathompong Poomratchayakul
สำหรับ ความเอื้อเฟื้อภาพโบรชัวร์ Mitsubishi L200 Astron
————————————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ ทั้งหมด เป็นของ Mitsubishi Motors Corporation
Chrysler Corporation (Stellantis) , Mitsubishi Motors (Thailand)
และ MMC Sitthipol co.,ltd.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
5 มีนาคม 2024
Copyright (c) 2025 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 5th, 2025