คุณผู้อ่านที่รัก

ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ Headlightmag.com ของเรา เปิดดำเนินการมา ผมเฝ้ามองหานักเขียนหน้าใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านรถยนต์ ตามแต่ละแขนงที่แตกต่างกันไป มาโดยตลอด และหนึ่งในเนื้อหาที่ผม อยากให้มีในเว็บไซต์ของเรามากที่สุด คือ การดูแลบำรุงรักษารถยนต์ ไปจนถึงเรื่องราวเบื้องหลังของวงการยานยนต์ ในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เว็บไซต์ของเรา มีความสมบูรณ์ และเป็นที่พึ่งพาของคุณผู้อ่านได้ในระยะยาว

ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะเฟ้นหานักเขียนรับเชิญ ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ปัญหาหลักของเราคือ การขาดความต่อเนื่องของนักเขียนรับเชิญแต่ละท่าน จากภาระหน้าที่การงานประจำซึ่งวุ่นวายมากพอแล้ว บางท่าน ทำได้พักใหญ่ ก็ถึงกับถอดใจ และเลิกส่งบทความไปอย่างเงียบๆ ซึ่งผมเข้าใจดีถึงข้อจำกัดของนักเขียนแต่ละท่าน

วันนี้ มีคุณผู้อ่าน แฟนประจำของเว็บไซต์เรา ท่านหนึ่ง ตัดสินใจเข้ามาช่วยเติมเต็มเนื้อหาที่ขาดหายไปเหล่านี้ เพื่อให้เว็บไซต์ของเรา มีเนื้อหาที่หากหลายมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา (พูดง่ายๆก็คือ ผมหลอกล่อน้องเขามาได้สำเร็จซะที ฮ่าๆๆ)

คุณผู้อ่านท่านนี้ ชื่อ Kasin Amarinsangpen อดีตวิศวกรของค่ายรถยนต์ที่ผมรักมากที่สุด และมีเรื่องให้ผมด่ามากที่สุด นั่นเอง (แฟนประจำของเราน่าจะเดาได้นะครับ) ทุกวันนี้ เจ้าตัวลาออกไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ทางภาคเหนือ และก็ดูจะมีความสุขดี จากการไม่ต้องมาวุ่นวายกับปัญหาผู้ใช้รถล้านแปด

ด้วยเหตุที่เจ้าตัวเป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อๆ แต่ปากคอเอาเรื่อง ผมมองว่า น่าจะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้กับบทความของ Headlightmag.com ได้ เลยเชิญเจ้าตัว มาร่วมกันให้ความรู้กับคุณผู้อ่าน โดยเราจะเริ่มต้นจาก บทความในหมวด Technical Guru ที่ไม่ได้ Update มาชาติเศษ และเริ่มต้นกันที่ การพาคุณผู้อ่าน ไปตรวจสอบสภาพรถยนต์คันเก่งของคุณ ก่อนที่จะนำไปขับขี่พาครอบครัวออกเที่ยว ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวๆ ที่ใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ด้วยสำนวนที่ค่อนข้างเข้าใจง่าย และเป็นกันเอง

ขอฝาก คุณ Kasin ไว้ในอ้อมอกของคุณผู้อ่าน Headlightmag.com ทุกท่าน นับแต่นี้เป็นต้นไปครับ

—————————————————

ตามปกติแล้ว ในหมู่คนทำ Content ทั้งบนสื่อสิ่งพิมพ์ รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ ไปจนถึงสื่อ Online และ Social media ต่างจะรู้ดีว่า เมื่อใดที่ปฏิทิน หมุนเวียนเปลี่ยนผันมาจนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่สากล หรือเทศกาลปีใหม่ไทยอย่างสงกรานต์ ในแต่ละปี ซึ่งมีวันหยุดยาวๆ ต่อเนื่องกัน เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับ การออกบทความ หรือคำแนะนำในการตรวจสภาพและดูแลรักษารถยนต์ ให้สาธารณชนได้อ่าน ดู เสพ เตือนสติตนเองกัน

ทว่า คุณผู้อ่านหลายท่าน อาจรู้สึกว่า บทความ How to แบบนี้ ส่วนใหญ่ อ่านแล้ว งง เข้าใจยาก หรือไม่ก็ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่คนทำเนื้อหา เขาบอกเล่าให้คุณนั้น มันถูกต้องจริงหรือ? เพราะหลายครั้ง เราจะเห็นคำแนะนำประหลาดๆ โผล่มาในบทความประเภทนี้ จนเป็นประเด็นถกเถียงกันเรื่อยๆ อยู่เนืองๆ

ในฐานะที่ผม เป็นวิศวกรยานยนต์ และอยู่ในวงการรถยนต์มาเกินกว่า 10 ปี ผมอยากจะแก้ไขความเข้าใจต่างๆที่คุณเคยมี ด้วยการแนะนำวิธีตรวจสอบรถยนต์ก่อนเดินทางได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ประเด็นแรกก็คือ เราควรจะตรวจเช็ครถ ตอนไหน?

ในอดีต หลายๆ บทความจากหลายๆแหล่ง มักจะแนะนำว่า คุณควรตรวจสอบรถยนต์ก่อนเดินทางไกล แต่ถ้าสังเกตดีๆ บทความเหล่านั้น ส่วนใหญ่ ไม่ได้บอกเวลาที่เหมาะสม ว่าควรจะตรวจเช็ครถยนต์ในช่วงเวลาใด คุณผู้อ่านส่วนใหญ่ จึงมักใช้วิธี ตรวจสอบแบบง่ายๆ ก่อนออกเดินทาง หรือวันก่อนหน้านั้นแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ดังนั้น ในกรณีที่เกิดไปเจอปัญหา หรือข้อบกพร่องเข้า ด้วยเวลาอันน้อยนิด ไม่ได้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ทำให้คุณไม่สามารถแก้ไขตัวรถได้ทัน จนทำให้ต้องเดือดร้อนหารถยนต์สำรอง หรือว่าถึขั้นทริปล่มกันไปเลย

ฉะนั้น เวลาที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจเช็ครถก่อนออกเดินทาง คือวันหยุดสุดสัปดาห์ ก่อนวันเดินทางหรือช่วงเทศกาลสัก 1 สัปดาห์ครับ

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมีแผนที่จะเดินทางไกลในช่วงวันสิ้นปีที่ผ่านมา ดังนั้น ผมจึงเลือกที่จะตรวจสอบรถในเช้าวันที่ 30 ธันวาคม ปรากฏว่า เจอเรื่องไม่คาดฝัน น้ำในหม้อน้ำของรถที่ผมใช้เป็นประจำ หายไปต่ำกว่าขีด min ทำให้ผมต้องขับรถไปที่อู่ประจำเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม

ปรากฎว่าวันที่ 30 ธันวาคมนั้น เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของอู่ แล้วช่างก็ปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยงเมาแอ๋ไปแล้วครับ เมื่อผมเอารถไปให้ตรวจสอบ ด้วยความที่พวกเขากำลังมีความสุขกันอยู่ ช่างก็เฉไฉไปเรื่อย ว่ารถไม่ได้มีปัญหา พร้อมกับเติมน้ำหล่อเย็นให้เต็ม แล้วก็ให้ผมเอารถกลับไปขับไปก่อน สรุปว่าสัปดาห์นั้นที่ผมจะต้องออกเดินทางไกล ผมต้องยืมรถจากญาติไปแทน เพราะผมไม่สามารถให้รถที่มีปัญหาหนักน้ำหายแบบนี้ไปเดินทางไกลได้ หากว่าเครื่องยนต์ความร้อนขึ้น ผมจะเสียหายหลายหมื่นบาท แถมรถก็จะมีประสิทธิภาพไม่เหมือนเดิมอีกต่างหาก ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนว่า ควรตรวจสอบรถก่อนออกเดินทางล่วงหน้าสัก 1-2 สัปดาห์ เวลาเกิดปัญหาจะได้ไม่วุ่นวายจนเกินไป และถ้าเจอปัญหาอะไร จะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที

เมื่อเราเปิดฝากระโปรงหน้าขึ้นมา เราก็จะเจออุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ดังนี้ คุณอาจเห็นการติดตั้งสารพัดสิ่งอย่างเต็มไปหมด อย่าเพิ่งตกใจไป ไม่ต้องท่องจำ เดี๋ยวเราจะมาโฟกัสกันทีละจุดนะ

1. ตรวจสอบน้ำหล่อเย็น

โดยปกติแล้ว รถยนต์จะมีระบบหม้อน้ำ 2 แบบครับ คือ มีหม้อพัก กับไม่มีหม้อพัก ถ้ามีหม้อพักก็จะสบายหน่อย สังเกตง่ายๆตามนี้ครับ

อันนี้คือตัวอย่างที่ดีสำหรับการเติมน้ำยาหม้อน้ำ คืออยู่ที่ขีด Max พอดี และถ้าน้ำพร่องลงไปเหลือ Min ควรเติมให้กลับมาที่ Max เหมือนเดิม อย่าเติมให้เกิน Max เพราะว่าในบางจังหวะ น้ำหล่อเย็นเข้าไปในเครื่องยนต์เป็นจำนวนมากแล้วมีโอกาสที่จะไหลกลับมาในหม้อพัก จึงต้องเผื่อช่องว่างนี้ไว้เพื่อการย้อนกลับดังกล่าว

ส่วนรถที่ไม่มีหม้อพักหม้อน้ำ เราจะต้องระมัดระวังในการเปิดเป็นพิเศษ โดยเราจะต้องรอให้เครื่องยนต์เย็นเท่านั้นถึงจะเปิดได้ ดังนั้นแล้วจึงควรตรวจสอบในตอนเช้าก่อนสตาร์ทรถนั่นเอง วิธีการเปิดคือ กดฝาลงไปด้วยฝ่ามือแล้วปิดทวนเข็มนาฬิกา ถ้าเปิดดูแล้วมองไม่เห็นน้ำหล่อเย็น ก็เป็นไปได้ที่รถของคุณจะเกิดอาการ “น้ำหาย” นอกจากเติมน้ำยาให้เต็มถึงคอฝาปิดแล้ว จึงยังต้องคอยสังเกตอาการเป็นระยะอีกด้วย

โดยปกติแล้ว ระบบน้ำหล่อเย็นจะเป็นระบบปิด กล่าวคือ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ น้ำยาหล่อเย็นจะอยู่ที่ Max ตลอดเวลา ถ้าขับไปตามปกติ แล้วน้ำยาหล่อเย็นในถังพักค่อยๆ ลดระดับลง แปลว่าคุณกำลังเจอปัญหา “น้ำหาย” นั่นหมายถึงมีจุดรั่วซึมในระบบน้ำ ทำให้น้ำหาย

ถ้าเจอแบบนั้นแล้ว ก็เติมน้ำให้เต็มแล้วขับไปให้ช่างยนต์ตรวจสอบดูว่าจุดไหนที่ผิดปกติ แต่ถ้าหาน้ำหล่อเย็นยี่ห้อเดียวกันกับที่เติมในรถไม่ได้ ก็แนะนำให้เรียกรถสไลด์เอารถไปส่งที่อู่เลยครับ ยอมเสียเงินสักเล็กน้อย ดีกว่าไปวัดดวงว่าความร้อนเครื่องยนต์จะขึ้นระหว่างทางหรือไม่

ทำไม อาการ “น้ำหล่อเย็นหาย” ในรถยนต์นั้นเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตาย?

เมื่อเครื่องยนต์ขาดน้ำ จะทำให้อุณหภูมิของเครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้ตลอดเวลานั้น พุ่งสูงขึ้นเกินกว่าที่ควบคุมไว้ ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ในรถยนต์เกิดการ ขยายตัว และบิดตัว ไปเกินจุดที่จะกลับมาสู่สภาพปกติได้ นำไปสู่อาการเสียหายรุนแรงของตัวเครื่องยนต์ที่เรียกว่า “ฝาสูบโก่ง” เมื่อฝาสูบโก่งตัวขึ้นมา ไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ในห้องเผาไหม้ก็จะรั่วเข้าไปทำลายหน้าเสื้อสูบ ทำให้ไฟและอากาศร้อนรั่วเข้าไปในระบบน้ำ เกิดอาการที่เรียกว่า “น้ำดัน” ทำให้เครื่องยนต์ร้อนเกินไปตลอดเวลาจนพังเละเทะนั่นเอง

และนี่คือภาพการตรวจสอบเสื้อสูบและฝาสูบครับ ถ้าฟิลเลอร์เกจแหย่เข้าไประหว่างเหล็กบรรทัดกับเสื้อได้แบบนี้ก็ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ เตรียมค่าซ่อมไว้เลย ห้าหมื่นบาทขั้นต่ำ หลายๆ คนที่เจอปัญหานี้ก็มักจะตัดใจเปลี่ยนรถไปเลย เพราะต่อให้ซ่อมเสร็จแล้ว รถก็ไม่เหมือนเดิมเพราะเป็นงานซ่อมหนัก

2. ตรวจสอบน้ำมันเบรค

น้ำมันเบรค คือสิ่งสำคัญที่เราจะฝากชีวิตไว้กับมันเมื่อรถวิ่ง รถจะเบรกอยู่หรือไม่อยู่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันเบรก เพราะฉะนั้นนี่ก็คือสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในระบบของรถยนต์ที่มองข้ามไม่ได้

ฝาน้ำมันเบรกจะมีหน้าตาแบบนี้ครับ สังเกตง่ายๆ คือบนฝาจะมีการกำหนดเกรดน้ำมันเบรก ไม่ว่าจะเป็น DOT 3, DOT 4 ก็แน่ใจได้เลยนี่คือที่เติมน้ำมันเบรก

เช่นเดียวกับระบบน้ำ น้ำมันเบรกเป็นระบบปิด ถ้าระดับน้ำมันเบรกลดลงไป ก็แปลว่ามีการรั่วซึมส่วนในส่วนหนึ่งของรถยนต์ ควรเข้าอู่หรือศูนย์บริการเพื่้อตรวจเช็คนะครับ อีกอย่างที่ต้องสังเกตคือสีของน้ำมันเบรก มันควรจะใส ออกเหลืองนิดหน่อยได้ แต่ไม่ดำเหมือนซุปชาบูน้ำดำ ถ้าดำขนาดนั้นก็อาจจะแปลว่าถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกแล้วครับ
ในขณะที่ใช้รถ กรุณาสังเกตด้วยว่าในขณะที่เบรก มีเสียงแปลกๆ ออกมาจากระบบเบรกหรือไม่ เพราะผ้าเบรกอาจจะแข็ง หรือหมดก็เป็นได้ และควรสังเกตว่า เมื่อเรากดเบรกแล้ว เบรกทำงานตามที่หวังหรือไม่ หากรู้สึกว่าเบรกไม่อยู่ จากที่เคยชินว่ากดเบรกไปตามปกติแล้วมันอยู่ ก็ควรจะเข้าอู่หรือศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดอีกที

นอกจากระบบเบรกแล้ว ควรตรวจดูร่องยางด้วยว่า ยังเหลือร่องยางอยู่หรือไม่ มีรอยบวม ร้าว แตก ตำหรือไม่ หากร่องยางตื้นมากแล้ว หรือเจอความผิดปกติดังที่ว่ามา ก็ควรเปลี่ยนยางเพื่อการยึดเกาะถนนที่ดีที่สุดและป้องกันยางระเบิด ที่นำมาซึ่งการเสียการควบคุมรถโดยสิ้นเชิงด้วยครับ

3.ตรวจสอบลมยาง

นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะทำให้ได้เป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หากไม่มีอุปกรณ์ที่บ้าน ก็ใช้งานเครื่องเติมลมอัตโนมัติที่ปั๊มน้ำมันก็สะดวกดี วิธีใช้ก็แสนจะง่ายดาย ให้เราดูเลขที่ทางผู้ผลิตกำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่จะเขียนไว้ที่ขอบประตูฝั่งคนขับครับ อย่างตัวอย่างของน้องทับทิมก็ตามรูปข้างล่างนี้เลย

โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องเติมลมอัตโนมัติตามปั๊มมักจะใช้หน่วย psi หรือ ปอนด์ต่อตารางนิ้วเพราะมันดูง่าย อย่างสำหรับน้องทับทิมในวันนี้ เป็นรถเบนซิน และมีการบรรทุกที่ไม่มาก เราก็ดูที่ช่อง petrol เราก็จะเห็นได้ว่า ล้อหน้า 31 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และล้อหลัง 31 ปอนด์ต่อตารางนิ้วเช่นกันครับ เราก็กดเลขนี้ได้เลย
โดยปกติแล้ว เราจะไม่เติมลมยางอ่อนกว่าปกติ เพราะนั่นคือการลดอายุการใช้งานยางลง เพิ่มอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน และให้ความรู้สึกไม่มั่นคงในขณะขับขี่ แต่เราก็จะไม่เติมลมยางแข็งเกินเพื่อให้มันประหยัดน้ำมันที่สุด เพราะถ้าน้ำหนักบรรทุกเราไม่พอ แล้วเติมลมยางแข็ง ก็จะทำให้รถเรากระโดดเหมือนเกวียน และยังทำให้ไม่เกาะถนนเพราะหน้าสัมผัสยางต่อพื้นผิวถนนลดลงได้

4.ตรวจสอบน้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่องเปรียบเสมือนระบบไหลเวียนโลหิตของรถยนต์ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบว่ารถยนต์ของคุณมีน้ำมันเครื่องเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากมีน้ำมันเครื่องในระบบไม่เพียงพอ ชิ้นส่วนเคลื่อนไหวในรถยนต์จะเสียดสีกันอย่างรุนแรง จนเกิดความเสียหายที่ซ่อมแพงได้ไม่แพ้เครื่องที่ขาดน้ำจนความร้อนเกินเลยทีเดียว

วิธีการตรวจสอบน้ำมันเครื่อง อาจจะมีขั้นตอนที่ต้องฝึกเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้ เริ่มจากสังเกตก้านวัดน้ำมันเครื่องที่มักจะเป็นห่วงสีเหลือง หรือสีส้มในห้องเครื่อง ในแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นจะมีตำแหน่งต่างกันไป ดึงห่วงขึ้นมาได้เลย ยังไม่ต้องอ่านค่าอะไรทั้งนั้น

เมื่อดึงขึ้นมาแล้ว ให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้งด้วยทิชชู่หรือผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะผ้าจะเปื้อนน้ำมัน แล้วจุ่มกลับลงไปในรูเกจวัดน้ำมันเครื่อง ให้สังเกตตัวเกจวัดระดับว่ามีวิธีอย่างอย่างไร บางรุ่นก็จะเจาะรูสองรู บน และล่าง เพื่อบอกระดับน้ำมันต่ำสุดและสูงสุด ส่วนรุ่นนี้จะเป็นขอบบนและล่าง บอก Max และ Min อย่างชัดเจน

คราวนี้เราก็จะเห็นระดับน้ำมันเครื่องอย่างชัดเจน อย่างเครื่องนี้น้ำมันเครื่องติดค่า Min แล้ว อาจจะเป็นเพราะน้ำมันเครื่องถูกสูบไปใช้ทั่วเครื่องยนต์ เพราะถ่ายตอนบ่ายหลังจากใช้รถไปแล้ว ทางที่ดีที่สุดควรตรวจสอบน้ำมันเครื่องในช่วงเช้า เพราะเป็นเวลาที่รถถูกพักจากการใช้งาน น้ำมันเครื่องจะย้อนกลับลงไปในอ่างน้ำมันหมดแล้ว ถ้าอ่านค่าหลังจากที่รถยนต์ถูกใช้งานใหม่ๆ อาจจะทำให้อ่านค่าได้คาดเคลื่อนนั่นเอง

สำหรับความเสียหายของเครื่องยนต์ เมื่อเสียดสีจากการขาดน้ำมันเครื่อง จะมีหลายเหตุการณ์ เช่น กระบอกสูบไหม้ ชาฟละลาย ลูกสูบไหม้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เครื่องยนต์เสียหายหนัก แต่ที่หนักที่สุดคือ เสื้อสูบแตก น่ากลัวมั้ยล่ะ

5. ตรวจสอบใบปัดน้ำฝน และน้ำล้างกระจกบังลมหน้า

สังเกตง่ายๆสำหรับที่ปัดน้ำฝน ส่วนใหญ่จะทำฝามาให้สีแตกต่างจากส่วนอื่น ในที่นี้คือสีน้ำเงิน และมีสัญลักษณ์ตามภาพเลย เหมือนกันทุกคัน ถ้าเราใช้งานบ่อย เราสามารถเติมน้ำยาปัดน้ำฝนได้ แต่ถ้าไม่ได้ใช้บ่อย แนะนำเติมน้ำเปล่าเพื่อป้องกันการอุดตันของที่ปัดน้ำฝนครับ วิธีเติมก็ง่ายๆ เปิดฝาขึ้นมาแล้วค่อยๆ เติม จะมีฟองน้ำย้อนขึ้นมาเรื่อยๆ ให้เรารออย่างใจเย็น และสลับเติมกับรอฟองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำยาปัดน้ำฝนเข้าไปในถังจนเต็ม แล้วปิดฝา
สิ่งที่เราต้องระวังสำหรับที่ปัดน้ำฝนคือ ถ้ากดที่ปัดน้ำฝนแล้วไม่มีน้ำออกมา ให้หยุดกด แล้วหาเวลามาตรวจดูน้ำที่ปัดน้ำฝน อย่ากดค้างนานเกินไปเมื่อไม่มีน้ำ เพราะมอเตอร์จะทำงานหนักจนไหม้ได้เมื่อไม่มีน้ำไหลผ่าน

ขอแถมอีกสักนิดสำหรับการตรวจสอบยางที่ปัดน้ำฝน ลองฉีดน้ำปัดน้ำฝนแล้วถ้าที่ปัดน้ำฝนทำงานแล้วมีคราบบนกระจกเหลือเยอะ แปลว่ายางปัดน้ำฝนเสื่อมแล้ว ควรเปลี่ยนใหม่เพื่้อความปลอดภัยครับ และหากเดินทางตอนกลางคืนด้วย ควรตรวจไฟหน้า ไฟท้ายทั้งหมดว่ายังทำงานดีหรือไม่ เพื่อป้องกันอันตรายจากการมองไม่เห็นในตอนกลางคืน

6. ตรวจเช็คระบบไฟในรถทั้งคัน ไม่ว่าจะเป็น ไฟหน้า ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟ Daytime Running Light ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟส่องป้ายทะเบียนหลัง ไฟถอยหลัง ไปจนถึงไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร ว่า ไม่มีตำแหน่งไหนที่ไม่ทำงาน คุณสามารถซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนเองได้ โดยคู่มือผู้ใช้รถยนต์บางรุ่น จะสอนวิธีเปลี่ยนหลอดไฟในแต่ละตำแหน่งอย่างง่ายๆ ยกเว้นชุดไฟหน้าแบบ Hi-Tech ทั้งหลาย ซึ่งมีราคาแพง และกำลังไฟสูงมาก อาจต้องพึ่งพาช่างในศูนย์บริการหรืออู่ที่คุณใช้บริการเป็นประจำ ช่วยเหลือคุณแทน

จบลงไปแล้วสำหรับวิธีการตรวจสอบรถก่อนเดินทาง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของรถทุกท่าน และขอให้เดินทางในวันหยุดโดยสวัสดิภาพ ทริปไม่ล่ม ไม่กินข้าวลิงนะครับ

———————-///———————-