MG 5 วางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2021 ด้วยตำแหน่งทางการตลาดรถยนต์นั่งซีดานพิกัด B-segment ด้วยราคาจำหน่ายที่เย้ายวนใจและขนาดตัวรถที่ใหญ่กระทบไหล่พิกัด C-segment จึงเป็นที่จับตาและกระแสอยู่พักใหญ่
จนกระทั่งล่าสุดได้มีกระแสระลอกใหม่อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นกระแสไปในเชิงลบ ซึ่ง MG 5 ที่ผลิตโดย SAIC ประเทศจีน ซึ่งได้ถูกนำเข้าไปจำหน่ายยังประเทศออกเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา โดยได้เข้าสู่การทดสอบการชนตามมาตรฐาน Australian New Car Assessment Program (ANCAP) และได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างน่าตกใจ ด้วยระดับ 0 ดาว นับว่าเป็นประเด็นด้านความปลอดภัยที่เป็นข้อถกเถียงอยู่ในกระแสโซเชียลในขณะนี้
ด้วยเส้นสายภายนอกที่ละม้ายคล้ายคลึงกับรถซีดานหรูจากเมืองเบียร์ ทั้งด้านหน้าและด้านท้าย จนเป็นที่กล่าวขานนับตั้งแต่เปิดตัวในประเทศไทย ซึ่งในออสเตรเลียมีเครื่องยนต์ให้เลือกถึง 2 รูปแบบ ได้แก่ เบนซิน 1.5 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ (เช่นเดียวกับประเทศไทย) ให้กำลังสูงสุด 127 แรงม้า สำหรับเวอร์ชั่นออสเตรเลีย และทางเลือกขุมพลังเบนซิน 1.5 เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุด 178 แรงม้า
มิติตัวถังรถ
- ความยาว 4,675 มิลลิเมตร
- ความกว้าง 1,842 มิลลิเมตร
- ความสูง 1,473 มิลลิเมตร
- ระยะฐานล้อ 2,680 มิลลิเมตร
ผลการทดสอบที่มาของ 0 ดาวนั้น ประกอบไปด้วย 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
- การปกป้องผู้โดยสารไซส์ผู้ใหญ่ ทำได้ 37 % หรือ 15.09 จาก 40
- การปกป้องผู้โดยสารไซส์เด็ก ทำได้ 58 % หรือ 28.81 จาก 49
- การปกป้องผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้รถจักรยาน และ คนเดินเท้า ทำได้ 42 % หรือ 26.78 จาก 63
- ระบบช่วยเหลือด้านความปลอดภัย ทำได้ 13 % หรือ 2.48 จาก 18
โดยอาการบาดเจ็บที่ตรวจพบเกิดขึ้นในบริเวณหน้าอกของคนขับระดับ “แย่” ทางสถาบันการทดสอบตรวจพบว่า สาเหตุของการบาดเจ็บ อย่างรุนแรงเกิดขึ้นจากโครงสร้างของคอนโซลหน้า จึงทำให้ไม่สามารถทำคะแนนได้เลยแม้แต่น้อยทั้งจากการทดสอบการชนด้านหน้าแบบตรงและแบบเยื้องศูนย์
ขณะที่ผลการทดสอบจากการชนด้านข้างและการกระแทกกับเสาทดสอบที่ตั้งอยู่นิ่ง กลับพบว่าสามารถทำคะแนนได้ 6/6 และ 5.59/6 ตามลำดับ ในทางกลับกัน การทดสอบหัวข้ออาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณต้นคอจากการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน กลับทำได้เพียง 1 จาก 4 คะแนนเท่านั้น รวมไปถึงการทดสอบการชนด้านข้างที่วัดผลการกระแทกระหว่างผู้โดยสารด้านหน้าและผู้ขับขี่ก็ได้ไม่สามารถเข้ารับการทดสอบ และรับไปเพียง 0 คะแนน เนื่องจากไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยระหว่างผู้โดยสารด้านหน้าและผู้ขับขี่
ในส่วนการปกป้องผู้โดยสารไซส์เด็กที่มีจุดบกพร่องในด้านอาการบาดเจ็บบริเวณคอและศีรษะ ที่ตรวจพบได้จากหุ่นจำลอง ซึ่งเปิดจากการออกแบบเบาะนั่งด้านหลังที่ไม่รองรับการกระแทกด้านข้างได้ดีพอ จึงทำให้ได้คะแนนไปเพียง 3.81 จาก 16 สำหรับการทดสอบการชนด้านหน้าตรง และ 6.38 จาก 8 สำหรับการทดสอบการชนด้านข้าง
เมื่อพิจารณาการปกป้องผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้รถจักรยาน และ คนเดินเท้า จะพบว่า การปกป้องศีรษะของหุ่นทดสอบทำได้เพียงแค่ 9.95 จาก 18 คะแนน แต่ก็ยังสามารถทำคะแนนได้บ้างจากการปกป้องหัวเข่าและกระดูกเชิงกราน สามารถทำได้ 5.6 จาก 9 และ 4.5 จาก 4.5 ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้เกิดจากการนำรถรุ่น MG 5 Vibe เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตรไร้ระบบอัดอากาศ ที่อาจมีรายการอุปกรณ์มาตรฐานตกหล่นไปบ้าง โดยเฉพาะระบบช่วยเหลือการขับขี่ หรือ AEB system ที่ทำให้ได้คะแนนเพียงแค่ 2.48 จาก 18 คะแนน เนื่องจากระบบเตือนก่อนการชนทำงานเพียงแค่การเตือนการชนระหว่างรถยนต์และรถยนต์เท่านั้น
ที่มา: Carnewschina