ปรากฎการณ์ที่ Mercedes-Benz นำรถรุ่นเล็กของค่าย มาจำหน่ายในราคาที่สูงกว่ารถ D-Segment ของญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 25-30% นั่น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด นับตั้งแต่การเปิดตัว Mercedes-Benz 190 W201 ในปี 1982 ก่อนที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย หลังจากในปี 1991 นายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เริ่มนโยบายการเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์ที่เครื่องยนต์ขนาดต่ำกว่า 2,300 ซีซี

ปรากฎการณ์นั้น ทำให้การเป็นเจ้าของรถตราดาว ซึ่งครั้งหนึ่งสมัยหนึ่ง ถูกมองว่าเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางการเงินและสังคมขั้นสูง เพราะเดิมที การจะขับรถ Mercedes-Benz ที่ราคาถูกที่สุด คุณอาจจะต้องแลกเงินที่สามารถซื้อบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ในแถบที่ไม่ได้ชนบทจนเกินไป จำนวนถึง 4-5 หลัง ให้เป็นเรื่องที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ถ้าหากเปรียบเทียบดังเดิม ก็อาจจะเหลือเพียงบ้านชนิดเดียวกัน 1 หรือ 1.5 หลังเท่านั้น

ระยะเวลาผ่านมาเกิน 30 ปี หลังจากที่ W201 เลิกทำตลาดไป รถยนต์ Mercedes-Benz ที่ราคาจับต้องได้มากที่สุดในตอนนี้ Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวรุ่นปรับโฉม Facelift ไป

 

Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic หรือ A-Class Sedan รหัส V177 นี้ ถูกเปิดตัวครั้งแรก วันที่ 28 กรกฎาคม 2018 ก่อนจะถูกนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแบบ CBU ในเดือนสิงหาคม 2019 และรุ่น CKD ถูกเปิดตัวไปในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 เหมือนเวลาจะผ่านไปไม่นานนัก แต่คนไทยได้พบเห็นและสัมผัสกับ A-Class Sedan มาเป็นเวลาเกือบ 4 ปีเข้าไปแล้ว

ในวันที่ 5 ตุลาคม 2022 Mercedes-Benz A-Class Sedan Facelift ก็ได้ถูกเผยโฉมขึ้นมาในตลาดโลก ก่อนที่ในวันที่ 1 มีนาคม 2023 Mercedes-Benz A200 AMG Dynamic Facelift จะถูกเปิดตัว เปิดราคาในประเทศไทยกันอย่างเป็นทางการ

 

ทางทีมงานได้รับคำเชิญจากทาง Mercedes-Benz Thailand เพื่อไปทำการทดสอบรถรุ่นปรับโฉมนี้ โดยเป็นเส้นทาง กรุงเทพฯ-หัวหิน รวมแล้วระยะทางไปกลับ และขับวนทดสอบนอกเหนือเส้นทางในตัวเมืองเพชรบุรี ประมาณ 450 กิโลเมตร ทั้งหมดเพื่อหาคำตอบว่า ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั้น ส่งผลอย่างไรต่อ Baby Benz สำหรับปี 2023 นี้

ความเปลี่ยนแปลงของ Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic Facelift

  • เปลี่ยนลวดลายกระจังหน้าเป็นแบบ Star Pattern
  • ปรับรายละเอียดภายในโคมไฟหน้าใหม่
  • เพิ่มระบบ Adaptive Highbeam Assist
  • ปรับดีไซน์กันชนหน้าใหม่
  • ปรับรายละเอียดภายในโคมไฟท้ายใหม่
  • ปรับดีไซน์กันชนหลังใหม่
  • เปลี่ยนล้ออัลลอย ลาย AMG Twin-Spoke เป็นสีดำปัดเงา (เดิมเป็นสี Termolite Grey)
  • เปลี่ยนระบบเบรกเป็นแบบ Sports
  • เพิ่มระบบ Hands-free Access
  • เปลี่ยนพวงมาลัยดีไซน์ใหม่
  • ปรับระบบมัลติมีเดียเป็นแบบ MBUX7 เวอร์ชั่นใหม่
  • ปรับเครื่องปรับอากาศเป็นแบบ THERMOTRONIC 2 โซน
  • เพิ่มหลังคากระจก Panoramic Sunroof
  • ตัดระบบปรับลดแสงอัตโนมัติที่กระจกมองข้างฝั่งคนขับ
  • ตัดระบบสั่งงานแบบสัมผัส Touchpad
  • ราคาเพิ่มขึ้น 150,000 บาท

ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 2,320,000 บาท

Mercedes-Benz A200 Sedan Facelift ไม่มีรุ่นย่อย Progressive จำหน่าย โดยสาเหตุนั้นมาจากความต้องการเสริมภาพลักษณ์ของรุ่นให้เน้นไปที่ความสปอร์ต ดึงดูดฐานลูกค้าที่อายุน้อยลง มีความวัยรุ่นมากกว่าเดิม

มิติตัวถัง / Dimension

Mercedes-Benz A 200 Sedan AMG Dynamic Facelift ยังคงมีมิติตัวถังภายนอก เท่ากับรุ่นเดิม โดยเป็นเวอร์ชั่นที่เรียกว่า Short Wheelbase สำหรับตลาดโลก ในขณะที่รุ่นฐานล้อยาว Long Wheelbase จะมีจำหน่ายเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น

มิติตัวถัง ยาว 4,556 มิลลิเมตร กว้าง 1,796 มิลลิเมตร สูง 1,425 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว (Wheelbase) 2,729 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Front Track) 1,567 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track) 1,547 มิลลิเมตร พื้นที่หน้าตัดด้านหน้า (Frontal Area) 2.19 ตารางเมตร ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ Cd อยู่ที่ 0.22

รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior

ความเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นและเห็นชัดที่สุด อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอกของตัวรถ ซึ่งเราอยากจะกล่าวย้ำว่า ความพึงพอใจเรื่องรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องของปัจเจกว่าจะชื่นชอบ หรือไม่ชื่นชอบ ท่านจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

 

เริ่มต้นจากทางด้านหน้าซึ่งมีการเปลี่ยนลวดลายของกระจังหน้า เป็นแบบ Star Pattern จากเดิมเป็นแบบ Diamond Grille ซึ่งอาจจะสังเกตยากเล็กน้อย สิ่งที่สังเกตง่ายกว่าคือ เปลือกกันชนหน้าแบบใหม่ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนทั้งชิ้น โดยรูปทรงของช่องรับอากาศทั้งตรงกลาง และด้านข้างนั้นถูกเปลี่ยนใหม่ รวมไปถึงมีการตกแต่งแถบสีดำเงาที่ด้านข้าง เป็นเส้นแนวยาวต่อเนื่องมาจนถึงบริเวณกรอบป้ายทะเบียน

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่มีความชัดเจน คือไฟหน้านั้นถูกเปลี่ยนใหม่ โดยยังคงเป็นแบบ LED High-Performance แต่ว่า เปลี่ยนจากการใช้โคมฉาย Projector ให้กลายมาเป็นไฟหน้าแบบ Reflector แทน นอกเหนือจากนี้ ระบบไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive High Beam Assist ที่หายไปเมื่อครั้งรถรุ่นนี้ถูกเปลี่ยนนำเข้ามาประกอบในประเทศไทย ก็ถูกติดตั้งกลับมาให้ใช้กันในโฉม Facelift นี้

 

ในส่วนของท้ายรถก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยลวดลายของไฟท้ายแบบ LED นั้นถูกเปลี่ยนไปให้ต่างจากเดิม จากแบบ Y-Shape เป็นแบบแนวตรงยาวสองก้อน

ล้ออัลลอยสำหรับรุ่น AMG Dynamic ยังคงเป็นลายดาว 5 ก้านคู่ สีทูโทน ปัดเงา แต่เพื่อเป็นการรับกับการตกแต่งเปลือกกันชนหน้าสีดำเงา จึงมีการเปลี่ยนสีของส่วนด้านในจากเดิมสีเทา Tremolite Grey เป็นสีดำ ยางยังคงเป็นรุ่น Continental EcoContact6 ขนาด 225/45 R18 ประทับตรา M0 บ่งบอกว่าเป็นยางที่ผลิตเพื่อ Mercedes-Benz โดยเฉพาะ

 

นอกเหนือจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเด่นชัด คือการติดตั้งหลังคากระจก Panoramic Roof ที่สามารถเปิดได้ และมีตาข่ายกันแมลงมาให้

ระบบกุญแจ ยังคงเป็นแบบ KEYLESS-GO พร้อมกุญแจ Wave key ซึ่งปลดล็อกให้อัตโนมัติเมื่ออยู่ใกล้ประตู และหากต้องการสั่งล็อกประตู ก็สามารถทำได้โดยใช้นิ้วแตะที่ช่องสี่เหลี่ยมด้านข้างมือจับประตูทั้ง 4 บาน หรือจะกดปุ่มล็อก – ปลดล็อก จากกุญแจรีโมทก็ทำได้ นอกจากนี้ยังมีระบบสวิตช์ปลดล็อกฝาท้าย และระบบ Immobilizer สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในรุ่นปรับโฉม คือระบบเตะเปิดฝาท้าย Hands-Free Access

สีตัวถัง / Exterior Color

  • สีขาว Polar White
  • สีดำ Cosmos Black Metallic
  • สีเงิน Iridium Silver Metallic
  • สีเทา Mountain Grey Metallic

 

ภายในห้องโดยสาร / Interior

เมื่อเปิดประตูเข้ามาในห้องโดยสาร แผงหน้าปัด แผงประตู เบาะนั่งและวัสดุหุ้มเบาะ ยังคงเหมือนกับรุ่นเดิม โดยเบาะนั่งนั้นเป็นแบบ Sports Seat สีดำ ใช้ด้ายสีแดงตัด วัสดุในส่วนสัมผัสเป็นหนังสังเคราะห์ Artico และส่วนกลางเบาะเป็นผ้า Microfibre Dynamica ทริมการตกแต่งเป็นแบบอลูมิเนียม Light longitudinal-grain aluminium

  

 

เช่นเดียวกับก่อนปรับโฉม เบาะนั่งทั้งคนขับเดิมทีนั้นเป็นแบบปรับไฟฟ้า 10 ทิศทาง พร้อมระบบความจำ 3 ตำแหน่ง และมีการติดตั้งเบาะปรับไฟฟ้าแบบเดียวกันในฝั่งผู้โดยสารมาให้ตั้งแต่การปรับอุปกรณ์ MY2021 โดยเบาะนั่งยังมาพร้อมตัวปรับ Lumbar Support และส่วนเบาะรองนั่งสามารถดึงส่วนต่อขยายเพื่อมารองรับต้นขาได้เช่นเดิม

เนื่องจากทุกอย่างยังคงเดิม ตำแหน่งการนั่งขับจึงไม่ได้แตกต่างจากรุ่นก่อนปรับโฉม ยกเว้นในประเด็นเดียวคือ พื้นที่เหนือศีรษะ เพราะการติดตั้งหลังคา Panoramic Roof มานั่นเอง ความโปร่งโล่งสบายนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังคงสามารถทำได้ดี และเบาะนั่งปรับสูง-ต่ำ ช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับคนตัวสูงมากได้เช่นกัน

แผงหน้าปัดนั้นยังคงเหมือนเดิม ใช้ชุดมาตรวัดดิจิตอลขนาด 10.25 นิ้วแบบเดิม ด้านข้างมีหน้าจอสัมผัสขนาด 10.25 นิ้วเช่นกัน ช่องแอร์แบบ Jet Turbine 5 ช่อง แผงควบคุมยังคงถูกล้อมรอบด้วยวัสดุ Piano Black ซึ่งเปื้อนรอยนิ้วมือได้ง่าย แต่เรายังชื่นชอบการรักษาไว้ซึ่งปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศ และปุ่มควบคุมระดับความดังของเครื่องเสียงตรงคอนโซลกลาง การวางตำแหน่งของปุ่มควบคุมต่าง ๆ นั้นยังคงความสมเหตุสมผล และใช้งานได้ง่ายอยู่เหมือนเดิม

ในตัวของแผง Dashboard ยังคงมีไฟ Ambient Light ที่สามารถปรับได้ถึง 64 สี บนลูกล้อวงกลมที่อยู่ในเมนูหน้าจอกลางของตัวรถ อีกทั้งยังสามารถปรับความมืดและสว่างได้ตามใจชอบ ถ้าหากอยากปิดก็สามารถทำได้เช่นกัน

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ มีปุ่มสำหรับเบรกมือไฟฟ้า และมีฟังก์ชัน Auto Brake Hold มาให้ด้วย

 

สิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด อยู่ที่พวงมาลัยแบบใหม่ รูปทรงแตกต่างจากเดิม และเป็นดีไซน์ที่ถูกยกมาจากรถ Mercedes-Benz รุ่นอื่น ๆ ในปัจจุบัน พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ใช้วัสดุหุ้มหนัง Nappa สีดำ ตัดด้ายสีแดง ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง สูง – ต่ำ และเข้าออกแบบ Telescopic ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของพวงมาลัย คือการเปลี่ยนตำแหน่งของปุ่มควบคุมระบบเสียใหม่ โดยมีการใช้ปุ่มกดระบบกึ่งสัมผัสสำหรับใช้ควบคุมการทำงานของระบบความบันเทิง และการแสดงผลข้อมูลบนมาตรวัด

ในส่วนของการควบคุมสั่งการระบบ Cruise Control หรือการรับ – วางสายโทรศัพท์ ยังคงใช้ปุ่มกดเช่นเดิม และด้านหลังของพวงมาลัยก็มีปุ่ม Paddle Shift สำหรับเปลี่ยนเกียร์เหมือนเดิม

 

ในส่วนของชุดมาตรวัดนั้น มีการปรับปรุงกราฟฟิคใหม่ สำหรับมาตรวัดโหมด Classic ยังคงเดิม แต่โหมด Sport และแบบเรียบง่ายนั้นมีความเปลี่ยนแปลงพอสมควร และไม่ได้ถูกจำกัดด้วยการวางตำแหน่งของหน้าจอแบบ วงกลม 2 วง และการแสดงผลตรงกลางอีกต่อไป และยังมีโหมด Assistance สำหรับแสดงผลระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่าง ๆ ให้เห็น

หน้าจอตรงกลางที่เชื่อมต่อจากชุดมาตรวัด มีการอัพเกรดระบบปฏิบัติการจากเดิม MBUX6 เป็น MBUX7 โดยเป็นระบบซึ่งใช้ AI มาช่วยเสริมการทำงาน โดยให้มีการเรียนรู้จากผู้ขับขี่ ซึ่งสามารถเรียนรู้ผู้ใช้งานเฉพาะคนได้ เมื่อท่านใช้งานมันมันบ่อยครั้งมากขึ้น ระบบจะทำการเรียนรู้สำเนียงที่คนสั่งการใช้ จึงสามารถรับคำสั่งได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยระบบ MBUX 7 รองรับการสั่งการด้วยเสียง 27 ภาษา รวมไปถึงภาษาไทย จึงสามารถสั่งการได้ด้วยการพูดคำว่า “สวัสดี เมอร์เซเดส”

 

ความตั้งใจที่จะให้ผู้ใช้งานรถหันไปใช้ระบบสั่งการด้วยเสียงนี้ ทำให้บริเวณคอนโซลกลาง มีการตัดปุ่ม Touchpad ออกไป เปลี่ยนมาเป็นแท่นวางของซึ่งมีแผ่นยางกันลื่นติดตั้งเอาไว้ การตัดปุ่ม Touchpad นี้ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นการลดทอนของที่ติดตั้งมาให้ แต่เมื่อใช้งานจริง ปุ่ม Touchpad นั้นไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว การตัดออกจึงสามารถทำได้แบบไม่กระทบต่อการใช้งาน

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการเพิ่มการรองรับการเชื่อมต่อระบบ Apple Carplay และ Android Auto แบบไร้สาย Wireless มาให้แล้ว

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงคือ ระบบปรับอากาศ THERMOTRONIC จากเดิมที่ไม่สามารถแยกฝั่งซ้าย-ขวาได้ รุ่นปรับโฉม ได้มีการเพิ่มฟังก์ชั่นปรับแยก 2 Zone อีกทั้งยังมีการติดตั้งช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลังกลับมาให้เสียที!

 

ระบบปรับอากาศนี้ ในการใช้งานระหว่างการทดสอบ ซึ่งอุณหภูมิอยู่ในระดับ 36 องศาเซลเซียส บางครั้งกระโดดไปถึงมากกว่า 40 องศา เราพบว่าถ้าหากเปิดอุณหภูมิเอาไว้ที่โหมดเย็นสุด และปล่อยให้ระบบทำงานเอง ก็เป็นระบบปรับอากาศที่สร้างความเย็นได้รวดเร็วพอสมควร และตอบสนองได้ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาแล้วว่ารถรุ่นนี้มีหลังคา Panoramic Roof กระจกเหนือผู้โดยสารตอนหน้า

สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ ระบบปรับอากาศ ถ้าหากเปิดใช้โหมดอากาศหมุนเวียนในรถ ความชื้นสะสมนั้นจะค่อนข้างสูง ต้องอาศัยการเปิดโหมดรับอากาศภายนอกเข้ามา ซึ่งตัวรถจะตัดเข้าโหมดนี้เองโดยอัตโนมัติอยู่แล้วตามสไตล์ Mercedes-Benz ซึ่งให้ความสำคัญกับการรักษาระดับ Oxygen ในห้องโดยสาร

ถ้าหากท่านกังวลว่าการรับอากาศภายนอกเข้ามา จะรับกลิ่นไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เราสามารถยืนยันได้ว่า ระบบกรองอากาศของ A200 สามารถกรองกลิ่นแม้กระทั่งระหว่างตามรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่า ซึ่งมีท่อไอเสียชี้ตรงมาบริเวณหน้ารถได้เป็นอย่างดี และมีกลิ่นเข้ามาในรถเพียงเล็กน้อย หลังจากที่จอดติดท้ายอยู่เป็นระยะเวลานาน แต่นั่นหมายความว่าการดูแลรักษากรองอากาศ ก็จะเป็นเรื่องสำคัญ และถ้าหากใช้งานในสภาพอากาศประเทศไทย ก็จะต้องบำรุงรักษามากกว่าปกติเสียหน่อย

ฟังก์ชั่นหนึ่งที่หายไปแบบงง ๆ เสียหน่อย คือระบบตัดแสงอัตโนมัติของกระจกมองข้าง เหลือเพียงแต่ของกระจกมองหลัง เราคาดว่าคงเกิดจากการจัด Package Option บางอย่าง ที่ทำให้ได้ของอย่าง Blind Spot Monitoring มาแทน

 

รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ

Technical Information & Test Drive

หลายท่านอาจจะอ่านข่าวเกี่ยวกับ Mercedes-Benz A-Class Facelift และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มระบบ Mild-Hybrid 48V มาให้ เราต้องเรียนให้ท่านทราบด้วยความผิดหวังว่า รถที่จำหน่ายในไทย ยังไม่ได้เครื่องยนต์ตัวนี้นะครับ

 

Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic Facelift เวอร์ชันไทย ยังคงใช้เครื่องยนต์แบบเดิม เป็นรหัส M282 DE 14 LA แบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharged พร้อม Intercooler กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.49 ก.ก.-ม.) มาเป็น Flat-torque ตั้งแต่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที

อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์นรุ่นปรับโฉมก็ไม่ได้เหมือนเดิมไปทั้งหมด รองรับน้ำมันเชื้อเพลิง Octane 95 ขึ้นไปเหมือนเดิม แต่มีการปรับจูนให้สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีปริมาณ Ethanol สูงสุดได้ถึง E85 อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตาม Eco Sticker อยู่ที่ 137 กรัม/กิโลเมตร และรองรับมาตรฐานไอเสีย EURO 6 เสียอัตราภาษีสรรพสามิต 20%

ระบบส่งกำลังยังคงเหมือนเดิม เป็นแบบเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ (7G-DCT) ที่พัฒนาร่วมกันกับ GETRAG ใช้ระบบคลัทช์เปียก พร้อมแป้น Paddle Shift เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า

 

Mercedes-Benz A 200 มาพร้อมโหมดการขับขี่ควบคุมผ่านปุ่มบริเวณคอนโซลกลาง 4 โหมด Comfort Eco Sport และ Individual เช่นเดิม

พละกำลังของเครื่องยนต์ 163 แรงม้านั้น อาจจะฟังดูธรรมดา แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขในตารางโบรชัวร์ ส่งผลออกมาเป็นอัตราเร่งที่ดีกว่าตัวเลขจะบ่งบอกได้ อานิสงค์จากระบบเกียร์ Dual Clutch ที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งกำลังลงสู่ล้อได้อย่างครบถ้วน และการวัดแรงม้าของ Mercedes-Benz ก็มาในสไตล์รถเยอรมันสมัยใหม่ ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก

เมื่อมาอยู่การใช้งานจริง เราเห็นเครื่องยนต์ขนาด 1.3 ลิตร ก็อาจจะคิดว่าไม่น่ามีอะไร แต่แรงบิดในรอบต่ำ ทำให้ตัวรถสามารถเร่งออกจากระยะหยุดนิ่งได้เป็นอย่างดี และการออกตัวสามารถทำการเหยียบเบรกค้างไว้ ดึงรอบมารอไว้ที่ 2,000 รอบต่อนาที ซึ่งสร้างแรงดันบูสต์ของ Turbocharger รอเอาไว้ได้ ทำให้อัตราเร่งนั้นสามารถทำได้ดีขึ้น เมื่อพูดถึงเรื่องอัตราเร่ง ตัวเลขที่ทำออกมานั้น กลายเป็นว่าไม่ได้ช้ากว่ารถที่ระบุตัวเลขเอาไว้ 200 แรงม้าบางรุ่น

สิ่งหนึ่งที่ขัดใจเสียหน่อย คือการตอบสนองของคันเร่งที่ไม่ได้แตกต่างจากรุ่นเดิม เราพบว่า ไม่ว่าจะในโหมด Normal Eco หรือ Sport การตอบสนองของคันเร่งนั้น ในระยะที่กดน้อย เครื่องยนต์จะตอบสนองคำสั่งไม่ได้ตามเท้านัก และเมื่อเรากดคันเร่งเพิ่มเพื่อให้รถเร่งออกไป จู่ ๆ ตัวรถจะพุ่งออกไปอย่างรวดเร็ว การควบคุมแป้นคันเร่งไม่สามารถทำให้อยู่ในระยะพอดีได้เสียเท่าไหร่

ถ้าหากเป็นผู้ขับขี่ที่ชอบขับแบบเร่งรีบตลอดเวลา การกดคันเร่งเต็มให้รถพุ่งออกไปอย่างรวดเร็วตลอด ก็อาจจะสนุกดี และสำหรับคนขับขี่ทั่วไป การออกตัวแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ก็คงจะไม่ขัดใจอะไรมากนัก แต่เราคิดว่า ถ้าหากคันเร่งตอบสนองได้ Linear มากกว่านี้ จะทำให้การขับขี่ทำได้อย่างนุ่มนวลมากขึ้น แต่ก็เข้าใจได้ว่านี่เป็นข้อจำกัดทางด้านการควบคุมมลภาวะ

การเก็บเสียงรบกวน และอาการสะท้าน NVH (Noise, Vibration & Harshness)

สิ่งหนึ่งที่ไม่คาดคิดสำหรับการทดสอบ A200 Facelift นี้ คือเมื่อใช้ความเร็วสูง ระดับ 120 กิโลเมตร / ชั่วโมง จากเดิมที่ภายในห้องโดยสาร จะมีเสียงลมเล็ดรอดผ่านมาบริเวณขอบกระจก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สำหรับรถรุ่นปรับปรุงโฉมนี้ เสียงที่เล็ดรอดเข้ามานั้น ลดหายลงไปเหลือเพียงบริเวณขอบกระจกด้านหลังประมาณ ¾ ของบานเท่านั้น

นั่นไม่ใช่เพราะว่า A200 Facelift มีการปรับปรุงตัวซีลยางรอบประตู หรือกระจกแต่อย่างใด ทั้งหมดนั้นเกิดมาจากการจัดการอากาศพลศาสตร์ล้วน ๆ

 

เปลือกกันชนหน้า และช่องดักลมด้านหน้าที่มีความเปลี่ยนแปลงนั้น ถูกออกแบบมาให้สามารถจัดการลมไปข้างตัวรถได้ดีขึ้น นอกเหนือจากนี้ บริเวณด้านในของกระจกมองข้าง ยังมีการเปลี่ยนแปลงตัวครีบดักลมใหม่ให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อลดการหมุนวนของอากาศบริเวณด้านข้างกระจก ทั้งหมดส่งผลทำให้เสียงที่เข้ามารบกวนภายในตัวรถนั้นลดน้อยลงไป ถ้าหากเป็นคนหูดี และจับเสียงเหล่านี้ได้ดี จะเห็นผลแตกต่างอย่างชัดเจน

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel

ยังคงเหมือนเดิม พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.5 เมตร ซึ่งกว้างกว่าที่อาจจะคาดการณ์เอาไว้ และสามารถปรับความหนืดได้ 2 ระดับตามโหมดการขับขี่ โดยแบ่งเป็นโหมด Normal และโหมด Sport

ความหนืดของโหมด Normal นั้น ก็มีความเบาหวิวตามสไตล์รถสมัยใหม่ และโหมด Sport ก็มีความหนืดเพิ่มเข้ามาให้เล็กน้อย ช่วยเสริมความมั่นใจขณะขับขี่ อย่างไรก็ตาม พวงมาลัยของ A 200 นี้ ก็ไม่ใช่พวงมาลัยของรถสปอร์ตที่เน้นการตอบสนองกลับมาสู่มือผู้ขับขี่แต่อย่างใด และเมื่อรถกำลังจะสูญเสียการยึดเกาะล้อหน้า ความรู้สึกที่ส่งมาถึงพวงมาลัยก็น้อยนิดตามสไตล์พวงมาลัยไฟฟ้าของรถสมัยใหม่ ถึงกระนั้น พวงมาลัยก็เซ็ตอัตราทดมาให้ค่อนข้างไว ซึ่งเมื่อรวมกับน้ำหนักที่เบาจึงให้ความรู้สึกคล่องตัวสูง

อย่างไรก็ตาม พวงมาลัยที่ Feedback กลับมาสู่มือคนขับน้อย ก็มีข้อดีแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจากสามารถที่จะดูดซับแรงสะเทือนจากผิวถนนต่าง ๆ ได้ดี จึงทำให้ในการเดินทางไกล ผู้ขับขี่จะไม่รู้สึกว่าพวงมาลัยสั่น หรือถูกผิวถนนดึงไปทางใดทางหนึ่งมากนัก ซึ่งทำให้การขับขี่นั้นมีความสะดวกสบายมากขึ้น

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ช่วงล่างของ Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic Facelift ยังคงเหมือนกับรุ่นก่อนปรับโฉม ทุกประการ ตั้งแต่รูปแบบของช่วงล่าง ไปจนถึงตัวช็อคอัพและสปริง รวมไปถึงเหล็กกันโคลง

ช่วงล่างด้านหน้าแบบ อิสระ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง และช่วงล่างด้านหลังแบบกึ่งอิสระ Torsion Beam พร้อมเหล็กกันโคลง โดยรุ่น AMG Dynamic จะใช้ช่วงล่างแบบ Lowered Comfort Suspension

ฟังดูเหมือนจะเป็นช่วงล่างเอาใจวัยรุ่น ในความเป็นจริง เมื่อรวมกับยาง Continental EcoContact6 ช่วงล่างของ A 200 AMG Dynamic เป็นช่วงล่างที่ซับแรงสะเทือนจากผิวถนนได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับ Mercedes-Benz CLA Class โฉมก่อนหน้านี้ที่เคยจำหน่ายในไทย มันถูกปรับให้มีความนุ่มมากขึ้น เมื่อเจอผิวถนนที่สภาพไม่ดี หรือเจอลูกระนาด A 200 AMG Dynamic ไม่ได้ส่งแรงสะเทือนมาถึงห้องโดยสารมากนัก ในแบบที่เราก็สงสัยเช่นกันว่านี่คือช่วงล่าง AMG จริงหรือ?

 

ค่าลมยางตามมาตรฐานสำหรับใช้งานแบบไม่บรรทุกผู้โดยสาร ด้านหน้า 38 PSI หลัง 34 PSI

ช่วงล่างที่ซับแรงสะเทือนได้ดีนั้น ก็มีขีดจำกัดเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลต่อการขับขี่ กล่าวคือ ถ้าหากการใช้งานนั้นอยู่ในระดับปกติทั่วไป นั่นคือ วิ่งบนท้องถนน ตามทางหลวงข้ามจังหวัด หรือทางด่วนในกรุงเทพมหานคร ทั้งการใช้ความเร็วระดับปกติ หรืออาจจะขับเร็วเสียหน่อย ช่วงล่างของ A 200 ยังให้ความรู้สึกมั่นคง ไม่เกิดอาการดีดดิ้นจนผู้ขับขี่เสียความมั่นใจ กล่าวสรุปสั้น ๆ ได้ว่า มันยังคงเป็นช่วงล่างสไตล์รถเยอรมัน วิ่งทางไกลแบบไม่ถูกกระทบจากผิวถนนได้ และมีความมั่นคงที่ความเร็วสูงดี

ข้อแลกเปลี่ยนคือ ถ้าหากท่านอาจจะเป็นการขับมุดเพื่อทำเวลา หรือเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงจนถึงจุดลิมิทของการยึดเกาะเป็นประจำ ช่วงล่างที่ซับแรงสะเทือนได้ดี รวมไปถึงการตอบสนองของพวงมาลัย กลับกลายเป็นการตอบสนองของรถนั้นจะไม่มีความคม ในแบบที่คู่แข่งอย่าง BMW 220i ตอบสนองให้ได้

นอกเหนือจากนี้ Dynamic ของตัวรถ จากการกระจายน้ำหนัก รวมไปถึงรูปแบบของช่วงล่างหลัง ทำให้เมื่อมีการโยนตัวรถเข้าโค้งไป ท้ายรถนั้นจะกวาดออกมาก่อน แม้ว่าจะมีการเหยียบคันเร่งช่วยถ่ายน้ำหนักไปที่ด้านหลังอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะของ Handling ที่คล้ายกับ Mercedes-Benz CLA-Class เดิม แต่จากการสอบถามสาเหตุที่แท้จริงจากทีมงานของ Mercedes-Benz พบว่าต้นเหตุแตกต่างกัน

CLA 200 หรือ 250 รุ่นเดิมนั้น สาเหตุที่ท้ายรถนั้นกวาดออกได้ง่าย เกิดจากระยะ Suspension Travel ที่น้อยตามข้อจำกัดของรถ แม้ว่าจะใช้ช่วงล่างแบบ Multi-link ที่สามารถควบคุมมุมองศา Camber ได้ดีกว่า ในขณะที่ A 200 ใหม่นี้ อาการของรถดังกล่าว เกิดจากการใช้ช่วงล่างด้านหลังแบบ Torsion Beam ล้วน ๆ ซึ่งทำให้เมื่อตัวรถเอียงเข้าไปจนถึงระยะหนึ่ง ล้อหลังด้านในจะยกขึ้นจากพื้น อันเป็นข้อจำกัดของรูปแบบช่วงล่าง รวมไปถึงระยะ Suspension Travel ที่น้อยเช่นกัน

ถึงกระนั้น อาการท้ายกวาดออกง่ายนี้ ไม่ใช่ปัญหาในการใช้งานจริง เพราะระบบ Electronic Stability Program ถ้าหากเป็นโหมด Normal จะใช้การจับเบรกช่วยดึงรถให้กลับมาตรงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ถ้าเป็นโหมด Sport ตัวรถจะปล่อยให้ท้ายไหลออกได้นิด ๆ แต่สุดท้ายก็จะจับเบรกเพื่อดึงกลับมา โดยที่คนขับไม่ได้ต้องแก้ไขพวงมาลัยแต่อย่างใด เติมคันเร่งช่วยถ่ายน้ำหนักไปด้านหลังก็เพียงพอแล้ว

Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic เช่นเดียวกับรถที่ไม่ใช่ตระกูล AMG แท้ ๆ ของ Mercedes-Benz ทุกรุ่น ไม่สามารถปิดการใช้งาน ESP ได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะเข้าไปยังเมนูในหน้าจอ Infotainment เพื่อกดปิด OFF ไปเลย ซึ่งในอีกมุมหนึ่ง ส่งผลทำให้ Mercedes-Benz เช่นเดียวกับรถยุโรปค่ายอื่น เซ็ตช่วงล่างในลักษณะแบบนี้มา เพราะระบบ ESP จะช่วยไม่ให้เกิดการเสียอาการรถโดยสิ้นเชิง

ระบบห้ามล้อ / Brake

ระบบห้ามล้อเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของ Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic Facelift เนื่องจากมีการปรับระบบเบรกจากแบบธรรมดา ให้มาเป็น Sport Brake และเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจ (ในทางที่ดี) ของการปรับปรุงโฉมครั้งนี้

บางท่านอาจจะสงสัย ว่าเจ้า Sport Brake นี้มันคืออะไร?

 

ระบบเบรกคู่หน้าเป็นดิสก์เบรก แบบมีครีบระบายความร้อน จานเบรกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 305 มิลลิเมตร ส่วนด้านหลังเป็นดิสก์เบรกแบบธรรมดา จานเบรกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 276 มิลลิเมตร เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake-force Distribution) ระบบ ADAPTIVE BRAKE พร้อมระบบ Hold ระบบ ช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist

ทั้งหมดนี้ เหมือนกับรุ่นก่อนปรับโฉม Facelift ทุกประการครับ ทั้งขนาดของจานเบรก รวมไปถึงขนาดของผ้าเบรก ว่ากันง่าย ๆ คือ พื้นที่สำหรับเบรกนั้นเท่าเดิมเป๊ะ แม้แต่ตัวชิ้นส่วนของผ้าเบรก ก็ยังคงเป็นแบบเดิม อาจจะสงสัยกว่าเดิม แล้วสรุปมันแตกต่างกันอย่างไร?

คำตอบก็คือ ตัวปั้ม Caliper ของเบรกหน้า จากเดิมที่เป็นแบบ 1 Pot ขนาดใหญ่ ถูกปรับมาให้เป็นแบบ 2 Pot

แล้วความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ส่งผลอย่างไร?

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ข้อจำกัดของเบรก 1 Pot ขนาดใหญ่นั้น ไม่ได้อยู่ที่แรงซึ่งสามารถกดผ้าเบรกกับจานนั้นได้ เราสามารถทำให้ขนาดของลูกสูบนั้นใหญ่ได้ตามต้องการ แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การควบคุมแป้นเบรกนั้นจะไม่สามารถทำได้อย่างแม่นยำ เพราะแรงที่กดจะไม่มีความ Linear เนื่องจากลูกสูบนั้นต้องกระทำต่อผ้าเบรกในพื้นที่ที่น้อย รวมไปถึงการกระจายน้ำหนักลงบนผ้าเบรกก็ทำได้ไม่ดีเท่ากับถ้าหากแบ่งพื้นที่ออกไปเป็น 2 Pot หรือมากกว่านั้น

ลองทดสอบดูได้ครับ ลองหาของชิ้นเล็ก ๆ ที่พอมีน้ำหนัก แล้วเราลองใช้นิ้วชี้ 1 นิ้ว ดันมันให้ขยับออกไปดู หลังจากนั้น ลองทำแบบเดียวกัน แต่ใช้นิ้วชี้ กับนิ้วกลาง รวม 2 นิ้ว ทำท่า Peace แล้วดันของชิ้นเดียวกันนั้นไปดู แบบไหนสามารถควบคุมน้ำหนักได้ง่ายกว่ากัน?

สิ่งที่เราแปลกใจมากที่สุดคือ เบรกของ Mercedes-Benz A 200 Pre-Facelift นั้น ก็ไม่ได้แย่เลยแม้แต่น้อย เป็นระบบเบรกสไตล์ Mercedes-Benz ที่ตอบสนองได้ดีมากอยู่แล้ว ควบคุมกะน้ำหนักแป้นได้ง่าย แต่ว่า เมื่อปรับปรุงโฉม และเปลี่ยนระบบเบรกใหม่ การตอบสนองนั้นทำได้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอีก การควบคุมน้ำหนักและกะระยะเบรกนั้น สามารถทำได้ดีมากในสไตล์เบรกหลาย Pot สมชื่อกับ Sport Brake

ระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่ / Safety & Driving Assistance

ระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งมาให้ใน Mercedes-Benz A200 Sedan AMG Dynamic มีดังนี้

ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน Active Safety

  • ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System)
  • โปรแกรมควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESP (Electronic Stability Program)
  • ระบบเบรก ADAPTIVE BRAKE
  • ระบบช่วยเบรกแบบแอคทีฟ ABA (Active Brake Assist System)
  • ไฟเบรกกระพริบฉุกเฉิน (Adaptive Brake Light)
  • ระบบจำกัดความเร็ว (SPEEDTRONIC)
  • ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (ATTENTION ASSIST)
  • ระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง (Tyre Pressure Loss Warning System)
  • ระบบเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง (Blind Spot Monitoring)
  • ระบบแจ้งเตือนยานพาหนะขณะเปิดประตู (Exit Warning Function)
  • ระบบไฟสูงอัตโนมัติ (High Beam Assist)

ระบบความปลอดภัยเชิงปกป้อง Passive Safety

  • ถุงลมนิรภัยด้านหน้า 2 ตำแหน่ง
  • ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ตำแหน่ง
  • ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง ป้องกันศีรษะ 4 ตำแหน่ง
  • ถุงลมนิรภัยหัวเข่าคนขับ 1 ตำแหน่ง
  • เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด 5 ตำแหน่ง

ระบบช่วยเหลือการขับขี่ Driving Assistance

  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control)
  • เซ็นเซอร์ช่วยนำเข้าจอด (PARKTRONIC)
  • ระบบช่วยนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ (Active Parking Assist)

 

เรียกได้ว่า ระบบความปลอดภัยขั้นสูง ADAS มีมาให้อย่างครบมากขึ้น แต่ก็ยังขาดระบบ Adaptive Cruise Control หรือระบบ Lane Keep Assist อยู่ ซึ่งสำหรับรถราคา 2,320,000 บาท เราก็ยังคงมองว่ามันออกจะให้ความรู้สึกขาด ๆ ไปเสียหน่อย…


สรุป / Conclusion

Facelift ดูเหมือนจะเปลี่ยนไม่เยอะ แต่ก็ปรับปรุงข้อบกพร่องหลายจุด น่าใช้มากขึ้น

ออปชั่นครบถ้วนมากขึ้น ราคาก็กระโดดขึ้น แต่ไม่กระโดดมากจนเกินไป

Mercedes-Benz A 200 AMG Dynamic Facelift ถ้าหากดูผิวเผิน ท่านก็อาจจะคิดว่ามันเป็นความเปลี่ยนแปลง ปรับหน้าตานิด ๆ หน่อย ๆ ให้พอขายต่อไปได้ แต่ถ้าหากได้มาสัมผัสจริง ๆ ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั้นมีมากกว่าที่ตาเห็นในรูปภาพ หรือในตารางสเปค

เดิมทีรถรุ่นนี้ ก็สามารถดึงดูดลูกค้าที่สนใจรถ D-Segment ญี่ปุ่นเดิมมาได้ในระดับหนึ่ง ด้วยความเป็นรถตราดาวที่ราคาจับต้องได้ง่าย หลายคนเลือกมาเป็นรถเบนซ์รุ่นแรกในชีวิต ซึ่งสิ่งที่มันสามารถตอบสนองให้ ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

 

แม้จะเป็น Mercedes-Benz ขนาดเล็ก แต่ในการใช้งานเดินทางไกล มันก็สามารถทำได้อย่างหนักแน่นและมั่นคง ตามสไตล์รถที่ออกแบบมาในเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องทางด่วน Autobahn การขับขี่แบบดุดันอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักมากนัก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะฐานลูกค้าของรถรุ่นนี้ไม่ได้ต้องการที่จะขับรถแบบโหด ดุดัน 100% ตลอดเวลาอยู่แล้ว ในขณะที่พละกำลังของเครื่องยนต์นั้นก็สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดี และดูเหมือนจะดีกว่าตัวเลขแรงม้าจะบ่งบอกเสียด้วยซ้ำ

ในส่วนของการจัดการพื้นที่ภายในก็เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีความกว้างขวางด้วยมิติตัวถังที่จำกัด แต่ก็มีความสะดวกสบาย วัสดุที่ใช้ตกแต่งนั้นดูดีมีราคา การออกแบบทั้งภายนอกและภายในก็มีความเป็น Mercedes-Benz ในแบบที่หลายคนถวิลหา

 

ถ้าหากจะมีเรื่องใดที่ทำให้รู้สึกขัดใจ ก็คงเป็นการจัดการออปชั่น ที่ต้องเรียนตามตรงว่า ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งทั้งยุโรป และญี่ปุ่นที่ราคาถูกกว่าได้ แต่คำถามคือออปชั่นที่หายไป แลกกับการได้รถตราดาวสามแฉกมาอยู่ในบ้าน นั่นคือเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญจริง ๆ หรือไม่? ถ้าหากถามความคิดเห็นของเรา นี่ไม่ใช่ยุคสมัยที่ Mercedes-Benz จะขายรถเพราะแค่มีตราสามแฉกอยู่หน้ารถอีกต่อไป แต่สำหรับคนที่สนใจรถรุ่นนี้จริงละ?

การปรับปรุงโฉม Facelift ของ A 200 ในครั้งนี้ ประเด็นสำคัญ ดูเหมือนจะการเพิ่มออปชั่นมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ราคาไม่กระโดดเกินไปจนทำให้ลูกค้าหนีไปซื้อรุ่นพี่ C-Class หรือย้อนกลับไปเลือกรถ D-Segment ญี่ปุ่น หรือรถคู่แข่งแบรนด์อื่นที่อัดออปชั่นมาให้มากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องที่ตรงตามคำเรียกร้องของคนส่วนมาก ราคาที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถ้าหากพิจารณาถึงราคาของรถรุ่นอื่น ซึ่งในปี 2023 นี้ ถูกปรับขึ้นแทบจะยกตลาด เราคิดว่าเม็ดเงิน 150,000 บาท นั้น ก็สมเหตุสมผลดีแล้ว

นอกเหนือจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งก็เกิดจากคำติชมดั้งเดิม เช่นการเก็บเสียง และระบบเบรก ก็เป็นเหมือนโบนัสที่ช่วยทำให้รถรุ่นนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น น่าใช้งานมากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รุ่นย่อย Progressive ที่หายไป ก็ชวนทำให้เราสงสัยว่า ตลาดของรถ Premium Compact ในประเทศไทยจริง ๆ จะรองรับความพยายามที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของรถรุ่นนี้ให้ดูวัยรุ่นมากขึ้น จริงหรือ? เพราะการตอบสนองของตัวรถ การขับขี่ต่าง ๆ ก็ยังคงเดิม และการเพิ่มออปชั่นต่าง ๆ เข้ามา เราไม่คิดว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมีมากพอที่จะดึงดูดลูกค้ารูปแบบใหม่มา

อธิบายให้เข้าใจคือ ในบทสรุปของ Full Review รถรุ่นก่อนปรับโฉมที่เราเคยทำเอาไว้ ทั้ง QCXLOFT และ J!MMY ให้ข้อสรุปตรงกันว่า ลูกค้าของรถ A 200 นั้น ดูเหมือนจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ ลูกค้าผู้ใหญ่มีฐานะ ที่ซื้อรถคันแรกให้กับลูกหลานที่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องรถมากนัก จึงอยากได้รถที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยเหนือกว่ารถญี่ปุ่น และมีภาพลักษณ์ของความหรูหราตามสไตล์รถเบนซ์ อีกแบบหนึ่งคือ ลูกค้าที่อาจจะเคยใช้รถญี่ปุ่นมาก่อน เก็บเงินมาเป็นเวลานาน และอยากที่จะทำตามความฝัน มีรถเบนซ์ในบ้านซักคันเป็นรางวัลแก่ชีวิต สังเกตได้ว่า ลูกค้าทั้งสองกลุ่มนี้ ไม่ใช่ลูกค้าวัยรุ่น

หลังจากที่ใช้เวลาอยู่กับมัน 2 วัน 1 คืน เรายังคงมองว่า กลุ่มลูกค้าของ A 200 Facelift ก็ยังคงเหมือนรถรุ่นก่อนปรับโฉม ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด


ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

Burapat Roongluksamesri (BorisJeam)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ เป็นผลงานของ Puttiphat W. และ Mercedes-Benz (Thailand)

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
7 มิถุนายน 2023

Copyright (c) 2023 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
7 June 2023