หลังจากที่ IIHS (The Insurance Institute for Highway Safety) หรือสถาบันประกันความปลอดภัยทางหลวงแห่งสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการทดสอบความปลอดภัยของห้องโดยสารรถยนต์นั่ง ตามมาตรฐานการชนแบบต่างๆ ที่มีการอัพเดทอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อปี 1995 ซึ่งมีการเริ่มนำการทดสอบการชนแบบเยื้องศูนย์หรือ overlap test มาใช้ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความปลอดภัยยามวิกฤติของผู้โดยสารตอนหน้าที่สำคัญมาก
ทั้งหมดนี้ทำให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างพัฒนาความสามารถในการรองรับแรงปะทะ รวมไปถึงการออกแบบโครงสร้างให้สามารถกระจายแรงดังกล่าว ไม่ให้พุ่งเข้าสู่ผู้โดยสารโดยตรง กล่าวคือ การพัฒนานี้สามารถลดอัตราการบาดเจ็บของผู้โดยสารในรถยนต์รุ่นปัจจุบันได้มากถึง 50% เมื่อเทียบกับรถยนต์เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้โครงสร้างตัวถังสามารถรองรับแรงกระแทกและไม่ส่งผลกระทบไปยังผู้โดยสารตอนหน้า มีผลข้างเคียงต่อแรงกระแทกที่ถูกส่งต่อไปยังผู้โดยสารตอนหลัง ซึ่งหากนับสถิติจากที่ IIHS ทดสอบมา จะพบว่าผู้โดยสารตอนหลังมีความเสี่ยงต่อการชนด้านข้างมากกว่าผู้โดยสารตอนหน้าถึง 46%
จึงเป็นที่มาของการอัพเดทการทดสอบการชนด้านข้างผ่านอุปกรณ์การทดสอบที่ปรับปรุงใหม่ รวมไปถึงการนำหุ่นทดสอบหรือ Dummy ที่เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี นั่งอยู่บริเวณด้านหลังผู้ขับขี่ ซึ่งติดตั้งเซนเซอร์ รวมไปถึงการใช้สีแต้มเพื่อตรวจสอบจุดกระแทกกับบริเวณภายในตัวรถ สำหรับอวัยวะที่ทาง IIHS ให้ความสำคัญและใช้เป็นดัชนีชี้วัดผลการทดสอบ ได้แก่ ศีรษะ คอ บริเวณอกและลำตัว รวมไปถึงสะโพก
Volvo XC40
โดยผลการทดสอบรถยนต์กลุ่ม Compact SUV สร้างความเป็นกังวลให้กับ IIHS เนื่องจากมีเพียง 2 รุ่น จาก 15 รุ่น ที่มีผลการทดสอบในระดับดี ได้แก่ Ford Escape และ Volvo XC40 เนื่องจาก ตัว Dummy ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย และไม่มีผลข้างเคียงจากแรงดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย
Ford Escape
ขณะที่ Toyota RAV4 มีผลการทดสอบในระดับพอใช้ เนื่องจากตัว Dummy ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ในบริเวณอกและลำตัว อย่างไรก็ตามบริเวณศีรษะก็อาจกระแทกเข้ากับกระจกหลัง เนื่องจากแรงดึงกลับของเข็มขัดนิรภัยที่ไม่เหมาะสม
สำหรับรถยนต์ 3 รุ่น ได้แก่ Audi Q3 Nissan Rogue รวมไปถึง Subaru Forester ที่ได้รับผลการทดสอบในระดับแย่ เนื่องจากตัว Dummy ได้รับการบาดเจ็บบริเวณ ศีรษะและคอ อีกทั้งตัวเข็มขัดนิรภัยยังเลื่อนตำแหน่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณอกและลำตัว
Subaru Forester
สำหรับ 9 รุ่น ที่เหลือ ซึ่งต้องปรับปรุงในการทดสอบครั้งนี้ ได้แก่ Buick Encore Chevrolet Equinox Honda CR-V Honda HR-V Hyundai Tucson Jeep Compass Jeep Renegade Mazda CX-5 และ Mitsubishi Eclipse Cross ทั้งหมดนี้ ได้รับการบาดเจ็บทั้งศีรษะ คอ บริเวณอกและลำตัว เนื่องจากมีแรงดึงกลับของเข็มขัดนิรภัยที่มากเกินควร ทำให้เกิดอวัยวะเหล่านี้กระแทกเข้ากับบริเวณเสา C และด้านหลังของเบาะคู่หน้า
Mazda CX-5
อย่างไรก็ตาม หลังจากการทดสอบรถ SUV กลุ่มนี้ ทาง IIHS อาจพิจารณาเกณฑ์การให้คะแนนรางวัล Top Safety Pick+ ใหม่ เพื่อให้ทางผู้ผลิตรถยนต์ตื่นตัวและปรับปรุงในส่วนนี้ในอนาคตอันใกล้
ที่มา: Autoblog