จุดยืนของค่ายสามห่วงที่ได้ประกาศในเวทีโลกเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการสื่อให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาขุมพลังในอนาคต ที่มีความหลากหลายมากกว่าที่จะมุ่งเน้นเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง โดยเฉพาะขุมพลังไฟฟ้าล้วนที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เนื่องจากทางค่ายเอง ก็มีความสนใจทางด้านเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว

กระทั่งล่าสุด ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาของค่าย ที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรภายใต้ชื่อ Toyota Motor Manufacturing (UK) Ltd (TMUK) เพิ่งจะได้รับงบเพื่อพัฒนาขุมพลังสำหรับอนาคตที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์จากองค์กรของรัฐบาล Advanced Propulsion Centre (APC) ซึ่งมีหน้าที่จ่ายหน่วยทุนให้บรรดาบริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อยานยนต์ยุคหน้า เป็นการสนับสนุนเพื่ออุดช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีที่ต้องการการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงในอนาคตอันใกล้ โดยหน่วยทุนนี้จะมุ่งเน้นสนับสนุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาจากไอเดียต้นแบบที่มีความเป็นไปได้สูง

 

โดย TMUK จะนำงบที่ได้มาพัฒนาร่วมกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญขุมพลัง Hydrogen fuel cell ในสหราชอาณาจักร อย่าง Ricardo (เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งชุด Hydrogen fuel cell) ETL (เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการการไหลเวียนความร้อนของ Hydrogen fuel cell) D2H (เชี่ยวชาญด้านการจัดการอุณหพลศาสตร์) และ Thatcham Research (เชี่ยวชาญด้านการทดสอบการชนตามมาตรฐาน EuroNCAP) พร้อมความช่วยเหลือจากศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งภูมิภาคยุโรป Toyota Motor Europe (TME) โดยจะเป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีขุมพลัง Hydrogen fuel cell เจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งได้นำมาใช้ใน Toyota Mirai เป็นครั้งแรก เพื่อให้สามารถติดตั้งลงในรถกระบะ Hilux ได้

ด้วยประสบการณ์ของ Toyota ทางค่ายได้ศึกษาขุมพลังแห่งอนาคตแบบต่างๆ จนสรุปได้ว่าความหลากหลายของขุมพลังจำนำมาสู่ความยั่งยืนของวงการอุตสาหกรรมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Full hybrid Plug-in Hybrid Battery Electric Vehicle (BEV) หรือ Fuel Cell Electric Vehicle (FCEV) ที่จะร่วมตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายตามแต่ละภูมิภาคของโลก

 

เจ้า Hilux รุ่นต้นแบบขุมพลัง Hydrogen fuel cell จะถูกผลิตขึ้นในศูนย์พัฒนาที่เมือง Burnaston ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบอย่างจริงจัง ผ่านความร่วมมือบริษัทพาทเนอร์ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ ทางค่ายอาจผลิตรถต้นแบบในจำนวนจำกัด เพื่อนำมาใช้ศึกษาในการใช้งานจริงภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์ หรือ Decarbonisation ได้ตามวัตถุประสงค์ของทุนวิจัยนี้

นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่น่าจับตามอง สำหรับตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในรูปแบบของรถกระบะพิกัด 1 ตัน ที่ได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักรมากขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำมาใช้ได้จริงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน
ที่มา: Toyota