ตลาดรถมินิแวน 3 แถวขนาดกลาง เน้นขับขี่เองแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ร้อนระอุอีกครั้ง หลังจากเมื่อต้นปีมีการเปิดตัว Toyota Noah / Voxy และ Honda StepWGN ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรถตู้ทรงกล่องเน้นพื้นที่ใช้สอย ซึ่งยังคงได้รับความนิยมจากบรรดาครอบครัวชาวญี่ปุ่น ซึ่งจ่าฝูงในกลุ่มนี้ยังคงตกเป็นของ Nissan Serena นับตั้งแต่ เปิดตัวรุ่นแรกเมื่อปี 1991 ซึ่งยังได้รับความนิยมไปถึงภูมิภาคยุโรปถึงขั้นได้ขึ้นสายพานการผลิตที่โรงงานในเมือง Barcelona ประเทศสเปน ขณะที่คู่แข่งอีก 2 เจ้า ก็ยังคง มีการผลิตแต่เพียงโรงงานในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น รวมไปถึงการวางจำหน่ายที่ตลาดต่างประเทศ ก็ไม่ได้แพร่หลายเท่ากับ Nissan Serena
จุดเด่นอยู่ที่งานออกแบบภายนอกของรุ่นใหม่รหัสตัวถัง C28 นี้ ยังคงอ้างอิงรุ่นก่อนหน้า C27 จนต้องพิจารณาส่วนหน้าเป็นหลัก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากธีมการออกแบบของรถยนต์นั่งที่เพิ่งเปิดตัวไปก่อนหน้าอย่าง Versa (Almera) Minorchange และ Altima (Teana) Minorchange ด้วยการขยายขนาดกระจังหน้าให้ใหญ่ขึ้น ลดทอนความเป็น V-Shape ให้เด่นชัดน้อยลง และติดตั้งไฟหน้าที่กลมกลืนไปกับกระจังหน้าแนวใหม่
การใช้ไฟส่องสว่างรอบคันเป็นแบบ LED พร้อมประตูเลื่อนไฟฟ้าคู่ ทำงานด้วยระบบ Hands-free เพียงแค่คุณนำเท้าเข้าไปใกล้บริเวณชายล่างของตัวถัง ประตูสไลด์ไฟฟ้าก็จะเปิดอย่างง่ายดาย สำหรับฝากระโปรงท้ายยังใช้การเปิด-ปิดแบบอัตโนมือ ไม่ใช่การเปิดปิดแบบโช้คอัพไฟฟ้าเหมือนคู่แข่ง แต่ทางค่ายได้ติดตั้งฝากระโปรงท้ายแบบแยกชิ้นได้ 2 ส่วน ตามการใช้งานในที่จำกัด เพื่อให้สามารถบรรจุของได้อย่างสะดวก
มิติตัวถัง
- ความยาว : 4,690 มม.
- ความกว้าง : 1,695 / 1715 มม.
- ความสูง : 1,870/ 1,885 / 1,895 มม.
- ฐานล้อ : 2,870 มม.
- ระยะต่ำสุดจากพื้น : 135 มม.
- รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด : 5.7 ม.
ฟังก์ชั่นภายในมีจุดเด่นที่เบาะนั่งรุ่น 8 ที่นั่ง ที่สามารถปรับใช้ได้หลากหลาย โดยเบาะชิ้นกลางของแถวที่ 2 จะสามารถเลื่อนไปช้างหน้าแทรกกลางระหว่างเบาะคู่หน้าได้ เพื่อทำหน้าที่เป็นกล่องเก็บสัมภาระ พร้อมแปลงพื้นพที่แถวที่ 2 ให้เป็นเบาะแยกแบบ Captain seat หรือจะปรับเลื่อนให้เบาะทั้ง 2 ตัว เข้ามาชิดติดกันเป็นแถวเดียวก็ยังได้ เพิ่มเติมม่านบังแดดแบบพับเก็บได้ บริเวณประตูสไลด์ทั้ง 2 บาน เพิ่มเติมการปรับให้ตรงกลางห้องโดยสารเป็นช่องว่าง จนสามารถยกจักรยานทั้งคันไปวางได้อย่างลงตัว
รุ่นท๊อป e-POWER LUXION
จะใช้การจัดวางเบาะแบบ 7 ที่นั่ง โดยได้ติดตั้งกล่องเก็บของขนาดใหญ่บริเวณระหว่างเบาะคู่หน้า พร้อมหุ้มเบาะนั่งและชิ้นส่วนภายในด้วยหนังหรูหรา พร้อมทั้งติดตั้งระบบอุ่นเบาะที่เบาะ 2 ตัวบริเวณแถวกลาง
รุ่น 8 ที่นั่ง ภายในเบาะผ้าสีดำ
รุ่น 8 ที่นั่ง ภายในเบาะผ้าสีครีม
สำหรับใครที่ชอบทานอาหารหรือทำงานขณะโดยสาร สามารถใช้โต๊ะพับเก็บได้ ทั้งบริเวณเบาะผู้โดยสารแถวกลางและแถวที่ 3 ยิ่งไปกว่านั้น ยังออกแบบให้มีตะขอสามารถเกี่ยวถุงผ้าและรับน้ำหนักได้สูงถึงข้างล่ะ 1 กิโลกรัม พร้อมช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบ USB-C ครบทุกตำแหน่งที่นั่งตอนหลัง เพิ่มเติมปุ่มเปิดประตูสไลด์ข้างซ้าย บริเวณที่นั่งแถวที่ 3
เบาะนั่งแถวที่ 3 ยังคงใช้กลไกการพับเกรดแบบยกขึ้นไปไว้ที่ด้านข้างของตัวถังรถ มีการจัดวางเป็นแบบ 3 ที่นั่ง แต่ทว่ามีการ ออกแบบให้ชิ้นส่วนฐานเบาะสามารถพับเก็บได้แบบเรียบเนียนยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เสียพื้นที่บรรทุกสัมภาระ อีกหนึ่งไฮไลท์ คือความสามารถในการสไลต์เบาะแถว 3 หน้า-หลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายหรือเพิ่มพื้นที่วางขาของผู้โดยสารแถวที่ 3พร้อมกับติดตั้งช่องเก็บสัมภาระแบบมีฝาปิด ที่พื้นด้านท้ายรถอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีรุ่นที่ติดตั้งเตียงนอนแบบพับเก็บได้ในตัว โดยการถอดชุดเบาะนั่งแถวที่ 3 ออกไป เหลือเพียงเบาะ 2 แถว เน้นการใช้สอยพื้นที่ภายในสำหรับการแคมป์ปิ้ง
สำหรับขุมพลังจะมีทางเลือกให้ 2 แบบ ได้แก่ เบนซิน 2.0 ลิตร และ e-POWER
เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ รหัส MR20DD ขนาด 2.0 ลิตร 1,997 ซีซี. Direct Injection DOHC 16 วาล์ว กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 84.0 x 90.1 มิลลิเมตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 200 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Xtronic CVT พร้อม Manual Mode ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า หรือ 4 ล้อ
รุ่น e-POWER
ขับเคลื่อนล้อคู่หน้าด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า EM57 AC3 Synchronous Motor กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 315 นิวตันเมตร พ่วงด้วยแบตเตอรี่ Lithium-ion ติดตั้งบริเวณใต้เบาะคู่หน้า
โดยมีเครื่องยนต์รหัส HR14DDe เบนซิน 3 สูบ 1.4 ลิตร 1,443 ซีซี. Direct Injection DOHC 16 วาล์วกระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 78.0 x 100.0 มิลลิเมตร (ขยายความจุจากบล๊อค HR12DE เดิม) กำลังอัด 13.0 : 1 (เพิ่มจาก 12.0 : 1) กำลังสูงสุด 98 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 123 นิวตันเมตร ที่ 5,600 รอบ/นาที ทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าให้กับมอเตอร์ ความจุถังน้ำมัน 52 ลิตร
มาพร้อมระบบความปลอดภัยปรับปรุงเวอร์ชั่นล่าสุด ProPilot 2.0 ช่วยลดความเหนื่อยล้ายามขับขี่ในการจราจรที่คับคั่ง ที่ความเร็วตั้งแต่ 40 กม./ชม. โดยผู้ขับขี่จะสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย แต่ยังคงต้องสังเกตและพร้อมเข้าควบคุมตัวรถหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีระบบคอยตรวจจับดวงตาของผู้ขับขี่ติดตามภายในตัวรถ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบช่วยนำรถเข้าและออกจากช่องจอด ProPilot Park ในพื้นที่คับแคบ เป็นครั้งแรกของรถยนต์รุ่นนี้
Nissan Serena วางจำหน่ายแล้วในประเทศญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 9 รุ่นย่อย 2 ขุมพลัง ได้แก่ X XV Highway Star V e-POWER X e-POWER XV e-POWER Highway Star V e-POWER Luxion Autech และ e-POWER AUTECH มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 2,768,700 – 4,798,200 เยน (712,379 – 1,234,564 บาท)
โปรดติดตามความคืบหน้าการทำตลาดของ Nissan Serena e-Power ในประเทศไทยทาง Headlightmag เร็วๆ นี้
ที่มา: Nissan
พร้อมรุ่นตกแต่งพิเศษจาก AUTECH