กลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้บทสรุปการประชุม APEC ส่งสัญญาณดีหลังนายกฯประกาศจุดยืนดันไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ EV ในภูมิภาค คาดว่าค่ายรถและธุรกิจต่อเนื่องเตรียมทยอยตบเท้าเข้ามาลงทุนอีกกว่า 8 หมื่น ล้านบาท
การประชุมเขตผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 ซึ่งประเทศไทยรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพการประชุมหัวข้อหลักของการประชุมเอเปก คือ ‘Open. Connect. Balance.’ หรือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สร้างสมดุล’ ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy ได้ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ โดยในเวทีแห่งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศย้ำแนวนโยบายนำพาไทยสู่การเป็น Hub ผลิตยานยนต์ EV ในภูมิภาคอาเซียน
เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ HeadlightMag ว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีใช้เวที APEC ซึ่งเป็นเวทีการประชุมระดับโลกประกาศนโยบายดังกล่าว ถือเป็นการประกาศศักยภาพความพร้อมของของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน สู่อุตสาหกรรมสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มยานยนต์โลก และบรรดานักลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้แผนการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ EV ในอาเซียนบรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลบ่าเข้ามาอีกหลายหมื่นล้านบาท
ทั้งนี้จะเห็นได้จากก่อนหน้าการประชุมเอเปค 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน เพียงไม่กี่วัน บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (HORIZON PLUS) ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ผู้นำด้านระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. (PTT) กับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (FOXCONN) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 1 ของโลก ได้เดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ EV ด้วยการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าบนพื้นที่ 313 ไร่ ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี โดยมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ออกสู่ตลาดภายในปี 2567 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 หลังประกาศร่วมทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท เมื่อกันยายน ปี 2564
“ นอกจากฮอริษอน พลัส แล้ว จะเห็นได้ว่า ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางบริษัท บีวายดี ออโต้อินดัสทรี จำกัด ก็ได้ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการขยายการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกนอกประเทศจีน ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 การลงทุนในระยะแรก บีวายดี ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่า 17,891 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าจำนวน 150,000 คันต่อปีเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป ซึ่งการลงทุนของทั้ง 2 กลุ่มนี้จะส่งผลให้กลุ่มซัพพลายเออร์และเครือข่ายพันธมิตรบ่าไหลเข้ามาปักหลักตั้งโรงงาน และการลงทุนต่างๆอีกมากมาย คาดว่าจะเป็นเม็ดเงินอีกหลายหมื่นล้านบาท และเมื่อนับรวมกับการที่ ฟอร์ดมอเตอร์ได้ประกาศ ในงาน Detroit Motor Show ว่าจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต EV สำหรับรถเชิงพาณิชย์ วงเงินลงทุนของ EV ในไทยที่จะตามเข้ามาน่าจะทะลุ 50,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน”
โครงการลงทุน EV ที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนจาก BOI (ปี 2017 – 15 ส.ค. 2022)
สำหรับการลงทุนด้าน EV ไทยในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตั้งแต่ปี 2017 จนถึง กลางเดือน 17 ส.ค. 2022 มีโครงการที่ได้รับส่งเสริมในกิจการด้านนี้แล้ว รวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท ได้แก่
1. โครงการผลิตรถยนต์ Hybrid Electric Vehicle (HEV) จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ GWM, Honda, Mazda, MG, Mitsubishi, Nissan, Toyota
2. โครงการผลิตรถยนต์ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ BMW, BYD, GWM, Mercedes Benz, Mazda, MG, Mitsubishi, Toyota
3. โครงการผลิตรถยนต์ Battery Electric Vehicle (BEV) จำนวน 15 โครงการ ได้แก่ BYD, FOMM, GWM, Honda, Horizon, Mazda, Mercedes Benz, MG, Mine Mobility (2 โครงการ), Mitsubishi, Nissan, Skywell, Takano, Toyota
4. โครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า (E-bus) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Absolute Assembly และ “สกุลฎ์ซี”
(ทั้งนี้บางโครงการได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ประเภทในโครงการเดียวกัน ทำให้จำนวนโครงการเมื่อแยกตามรายประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว จะสูงกว่าจำนวนโครงการรวม)
เมื่อนับรวมทั้งหมดแล้ว ส่งผลให้ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนรวม 80,208.6 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมกำลังการผลิตจำนวน 838,775 คัน แยกเป็น HEV 38,623.9 ล้านบาท 440,955 คัน, PHEV 11,665.6 ล้านบาท 137,600 คัน, BEV 27,745.2 ล้านบาท 256,220 คัน และ Battery Electric Bus 2,173.8 ล้านบาท 4,000 คัน โดยบริษัทที่เริ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ Absolute Assembly, BMW, FOMM, GWM, Honda, Mercedes Benz, MG, Mitsubishi, Nissan, Takano, Toyota และยังมีอีกหลายโครงการที่มีแผนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ
—————-///—————–