By Kanitha Panthong
หลังจากม้วนเสื่อเก็บข้าวของกลับประเทศจีน ไปอย่างเงียบๆ เมื่อหลายปีก่อน มาจนถึงวันนี้ ความร้อนแรงของตลาดรถยนต์เมืองไทย ซึ่งส่งผลให้ ตัวเลขยอดขายของยานยนต์เชื้อชาติจีนแผ่นดินใหญ่ เริ่มเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบ้านเรา ทำให้ ค่ายรถยนต์จากจีน อย่าง Chery Automobile (เฌอรี่) ตัดสินใจเปิดเกมรุก กลับเข้ามาเปิดตลาดรถยนต์ของตน ในประเทศไทยอีกครั้ง
แผนการ Come back to Thailand ของ Chery เริ่มก่อตัวอย่างเงียบๆมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการเปิด Fan Page “Chery Thailand บน Facebook เพื่อเริ่มทะยอยให้ข้อมูลของ “แบรนด์” บน Social Media มาเป็นระยะ พร้อมทั้งเริ่มว่าจ้างพนักงานคนไทย คนแรก ไปเมื่อช่วงครึ่งหลังของปี 2021
ด้วยเหตุผลที่ผู้บริโภคชาวไทย เริ่มเปิดใจทดลองอุดหนุน รถยนต์จากแดนมังกรเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเลือกติดตามความเคลื่อนไหวของ Chery ในบ้านเรา จนเกิดแรงส่งจากกระแสข่าวของแบรนด์ที่ถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านความสำเร็จ และการปฏิวัติพัฒนาแบรนด์ที่มีมากว่าทศวรรษ จนได้รับความนิยมที่สุดในยุโรป อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และตลาดอื่น ๆ ส่งผลให้ Official Fan Page ของ Chery Thailand มียอดผู้ติดตามล่าสุด นับจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2022 เป็นจำนวนมากกว่า 74,000 ราย
ย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์ของ Chery : หวังไต่บัลลังก์ระดับโลก
Chery Automobile Co. Ltd. , ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ Chery ซึ่งบางครั้งรู้จักกันในชื่อภาษาจีนว่า Qirui (奇瑞) นั้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของรัฐจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Wuhu มณฑล Ann Hui (อานฮุย) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประาชนจีน ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 1997 ปัจจุบัน ถือเป็นบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่อันดับ 9 ของประเทศจีน
ผลผลิตหลักของ Chery Automobile ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล Passenger Cars , Minivan , SUV ซึ่งถูกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Chery รวมทั้งกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ Karry
Chery ถือเป็นแบรนด์รถยนต์จีนรายแรก ๆ ที่ส่งออกรถยนต์, ชิ้นส่วนไปทั่วโลกกว่า 80 ประเทศและภูมิภาค ปัจจุบันมีโรงงานผลิต 10 แห่งในต่างประเทศ โดยมีตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการรวมกันกว่า 1,500 แห่ง มีลูกค้าสะสมรวม9.5 ล้านรายทั่วโลก และรั้งแชมป์ครองอันดับหนึ่งของผู้ส่งออกแบรนด์รถยนต์นั่งของจีน 19 ปีติดต่อกัน
แต่กว่าที่ Chery จะขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ติด Top 10 ของจีน นั้นดูจะต้องผ่านเส้นทางธุรกิจระดับเวิลด์แรลลี่ มีการเปิดศึกสู้รบทุกรูปแบบ ว่ากันตั้งแต่เปิดโต๊ะเจรจากับบิ๊กแบรนด์ของโลกทั้งฟากยุโรปและอเมริกา เพื่อซื้อKnow-how การผลิตและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบปกติและแบบ Fast track มีทั้งความสำเร็จและทั้งที่เป็นคดีความ แต่ท้ายที่สุด โลกก็ไม่อาจหยุด Chery ได้
1999 Chery Fengyun
Chery Automobile เริ่มต้นการผลิตรถยนต์เป็นครั้งแรก ในปี 1999 ด้วยการนำรถยนต์ ที่ได้รับอนุญาตจาก กลุ่ม Volkswagen Group อย่าง SEAT Toledo มาดัดแปลงจน กำเนิดเป็น Chery Fengyun รถยนต์คันแรกของพวกเขา ซึ่งสร้างยอดขายได้เกือบ 30,000 คัน และเริ่มส่งออกแบรนด์จากประเทศจีนในปี 2001 และค่อยๆก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกรถยนต์นั่งรายใหญ่ที่สุดของจีนตั้งแต่ปี 2003
จากนั้น Chery เดินหน้าแผนบุกขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ด้วยโมเดลรุ่นราคาประหยัด เช่น Chery QQ small hatch และในปี 2550 Chery ได้เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในจีนได้สำเร็จ โดยมีพนักงานประมาณ 25,000 คนและมียอดขายรวมมากกว่า 400,000 คัน รวมถึงการส่งออกรถยนต์ 110,000 คันไปยังตลาดเกิดใหม่ เช่น รัสเซีย ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา และเมื่อรัฐบาลจีนสนับสนุนการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Chery ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันที และ ประกาศว่าได้สร้างรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งขณะนั้นเอง แบรนด์รถยนต์จากจีนยังไม่ได้เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีนี้มากนัก
ล่าสุด เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา Chery ประกาศความสำเร็จด้วยยอดขายรถยนต์ ในปี 2021 มากกว่า 960,000 คัน เติบโต 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมถึงยังส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนสำเรจรูป เกือบ 270,000 คันไปยังตลาดสำคัญๆ เช่น บราซิล รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และมาเลเซีย พร้อมความทุ่มเทในด้านการวิจัยและพัฒนาด้วยศูนย์ R&D ในระดับสากล 6 แห่งที่กระจายตัวหลายแห่งในโลก ทั้งในจีน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และบราซิล โดยมีพนักงานมากกว่า 5,500 คน
เดินเกมสยายปีกใช้ไทยปูฐานสู่อาเซียน
แม้อาเซียนจะมีประชากรรวมทุกประเทศแค่กว่า 600 ล้านคน เทียบแล้วก็ยังไม่ถึงครึ่งของจีนทั้งประเทศ แต่อาเซียนก็มีเสน่ห์ดึงดูดให้บรรดาค่ายรถยนต์แทบทุกแบรนด์มุ่งหน้าเข้ามาปักหลักลงทุนไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับ Chery ที่แม้จะเคยข้ามาชิมลางตลาดเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่โดยภาพรวมกลับไม่ประสบความสำเร็จมากนักโดยเฉพาะในตลาดไทย
แต่การกลับมาครั้งนี้ของ Chery ดูจะแตกต่างจากครั้งเก่าโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านรูปโฉม และเทคโนโลยีของโปรดักส์ ที่สร้างกระแสความสนใจไปทั่วทุกมุมโลก เป้าหมายของ Chery คือขยายตลาดสู่อาเซียน และใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิต และส่งออกทั่วอาเซียน เพราะไทย ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ในฐานะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ และมีขนาดตลาดมากสุดในภูมิภาคอาเซียน ณ ปัจจุบัน
ปลายปีที่ผ่านมา Chery ได้เปิดตัว OMODA 5 รถต้นแบบรุ่นแรกของค่ายที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิดใหม่นั่นคือ ศิลปะในการขับเคลื่อน (ART IN MOTION) ณ งาน Guangzhou Auto Show ที่ประเทศจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 โดย Chery คาดว่าจะเปิดตัวรถรุ่นนี้ในตลาดต่างๆ ทั่วโลก ภายในปี 2022-2023 นี้ ทั้งในเอเชีย อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และยุโรป
OMODA 5 เป็นรถยนต์ Crosover SUV ซึ่งมีแนวทางการออกแบบ และติดตั้งเทคโนโลยี เพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ทั่วโลก และถูกออกแบบมาให้ตรงตามมาตรฐานการชนระดับสากลรวม 5 รายการ อีกทั้งยังมาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนและรูปแบบการขับขี่หลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ๆ นอกจากนี้ Chery ยังได้วางระบบบริหารจัดการ การผลิตรวมที่เป็นมาตรฐานในระดับสากลอย่าง CPS (Chery Production System) และได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบรรดาซัพพลายเออร์ระดับโลก เพื่อยกระดับสมรรถนะยานยนต์ทั้งกระบวนการให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ความน่าสนใจก็คือ ในการประชุมครบรอบ 20 ปี แห่งการพัฒนาตลาดต่างประเทศของ Chery Automobile หรือ 20th Anniversary Summit Forum of Chery Automobile’s Overseas Development ประจำปี ยังได้มีการเผยแพร่ภาพการทดสอบการชนแบบเยื้องเข้ากับสิ่งกีดขวางที่ยุบตัวได้ให้เห็นกันแบบสดๆ อีกด้วย โดยการทดสอบรถ OMODA 5 ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง และชนประสานงาเข้ากับสิ่งกีดขวางที่ 40% ของตัวรถ ผลการทดสอบการชนพบว่า เสา A-Pillar ไม่เสียรูป ส่วนประตูหน้าและหลังก็อยู่ในสภาพปกติและเปิดได้ แน่นอนว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของการพัฒนาและระบบทดสอบสำหรับรถใหม่ที่สอดรับกับมาตรฐานการชนระดับสากล โดย Chery ได้ทุ่มเงินลงทุนไปกับการทดสอบการชน โดยใช้รถจริงกว่า 300 ครั้ง และจำลองการชนกับรถลากกว่า 500 ครั้ง ในทุกปี เพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจัง และปั้นแบรนด์ให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
ล่าสุดเมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมา Chery OMODA 5 คันจริง คันแรกของโลก ได้เผยโฉมอย่างเป็นทางการจากสายการผลิต ที่สำนักงานใหญ่ของเชอรี (Chery) โดยมีขนาดความยาว 4.400 มิลลิเมตร กว้าง 1,830 มิลลิเมตร สูง 1,588 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,630 มิลลิเมตร จัดอยู่ในกลุ่ม พิกัด B+ – Segment Crossover SUV เป้าหมายของ Chery ในอนาคตแล้ว Omoda 5 จะไม่ได้เป็นเพียงแค่รถคันหนึ่ง แต่ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้ใช้งานด้วย เช่น โหมดไร้คนขับ หรือถ้าเจ้าของรถอยากไปปาร์ตี้กับเพื่อน ก็เพียงแตะเรียกรถครั้งเดียวพร้อมระบุสถานที่และเวลาที่ต้องการ รวมถึงเป็นห้องประชุมเมื่อต้องการเรียกประชุมงานกะทันหัน OMODA 5 จะโฟกัสที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของผู้ใช้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ให้ผู้ใช้สัมผัสกับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นตามความคิด ของผู้ใช้ ผสานการคิดแบบอินเทอร์เน็ต (user thinking + Internet thinking) และมีกำหนดเปิดตัวในตลาดต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พร้อมเป้าส่งออกต่อปีที่ 400,000 คัน
ที่จีน นั้น OMODA 5 จะมีหลายขุมพลัง แต่สำหรับการบุกตลาดเมืองไทย มีความเป็นไปได้สูง ที่ Chery จะนำ OMODA 5 เวอร์ชัน EV เข้ามาเปิดตลาดในบ้านเรา เนื่องจากปัจจุบัน อาเซียนกับจีน มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่กำหนดให้การส่งออก นำเข้า EV ระหว่างกันไม่เสียภาษีศุลกากร ทำให้การนำเข้ามาทำตลาดในไทย ไม่ต้องเสียภาษี แถมยังมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย หากสามารถเดินแผนงานตามข้อกำหนดของรัฐได้ โดยข้อมูลเบื้องต้นสำหรับรุ่นที่จะทำตลาดไทยคือ สามารถขับขี่ได้ระทางสูงสุดประมาณ 500 กม. ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง และติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติ ระดับ 2+ (L2+) และระบบช่วยผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย
ถอดบทเรียนในอดีตที่เมืองไทย สู่ความสำเร็จ?
ถามว่าการกลับมาอีกครั้งของ Chery ในตลาดไทยอีกครั้งจะเป็นอย่างไร,….. ??
อาจต้องมองย้อนไปมองในยุคแรกของการเข้ามา….
Chery เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2008 ภายใต้การนำเข้าและทำตลาดโดยกลุ่ม “ไทยยานยนตร์” ในนาม “บริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนตร์ โอโต้เซลส์ จำกัด” มีเสี่ยเล็ก “วิทิต ลีนุตพงษ์” นั่งบริหาร ช่วงนั้นกลุ่ม “ไทยยานยนต์” เป็นผู้ถือสิทธิ์รถยนต์โฟล์คสวาเกนในไทย และยังคงเรืองอำนาจมากมายในธุรกิจค้ารถเมืองไทยในฐานะเจ้าพ่อรถยุโรป โดยมี เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP เป็นผู้ที่ดึง Chery เข้ามาทำตลาด
คุณวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร ไทยยานยนต์กรุ๊ป เคยให้สัมภาษณ์กับ Manager Online ไว้ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2009 ถึงการเตรียมนำ Chery เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย ดังนี้…
“อุตสาหกรรมยานยนต์จีนมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ที่สำคัญมีแบรนด์รถยนต์มากกว่า 100 ยี่ห้อ ซึ่งผมและทีมงานใช้เวลาศึกษาและเจรจากว่า 3 ปี ถึงได้รับความมั่นใจจากเฌอรี่ และเซ็นสัญญาเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทย
“เฌอรี่ เป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ4 ของจีน และเราเชื่อมั่นในความเข้มแข็ง ทั้งด้านการเงินที่รัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คุณภาพและสมรรถนะที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากยุโรป ด้านการออกแบบใช้สำนักอิตัล ดีไซน์ จากอิตาลี” ทั้งนี้คาดว่ากลังการเปิดตัวในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2009 เดือนมีนาคม จะได้การตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างดี โดยจะมีรถยนต์ทำตลาดในช่วงแรก 3 รุ่นคือ ซิตี้คาร์ “คิวคิว” และเอสยูวี 5 ที่นั่ง รุ่น “ทิกโก้” รวมถึง เอ็มพีวี 7 ที่นั่งรุ่น “ครอส” และบริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมทุกรุ่น 3,000-5,000ต่อปี”
สำหรับบริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนตร์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนระหว่าง ไทยยานยนตร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี โดยถือหุ้นสัดส่วน 50/50 และตามข้อตกลงคือ ทางซีพีจะดูแลด้านการเงิน บัญชี รวมทั้งการประสานสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงของ เฌอรี่อินเตอร์เนชันเนล ประเทศจีน ขณะที่ไทยยานยนตร์ จะดูแลด้านการตลาดและการขายทั้งหมด ทั้งนี้บริษัทกำลังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมขึ้นไลน์ผลิต เฌอรี่ในไทยเช่นกัน
ส่วนการเลือกใช้ “ฌ” ในชื่อ แทนที่จะใช้ “เชอรี่” นั้น ต้องยอมรับว่า เฌอรี่เป็นรถยนต์น้องใหม่ ดังนั้นเราก็พยายามสร้างมูลค่าของแบรนด์ และสร้างการยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในวัยทำงาน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นจึงใช้“ฌ” ที่ทำให้ชื่อดูเท่และแปลกตา
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เนื่องจากการตกลงกับทางจีนสะดุด เพราะฝ่ายจีนไม่ยอมร่วมลงทุนด้วย กลุ่ม CP จึงตัดสินใจถอยจากการร่วมหัวจมท้ายไปในที่สุด
กระนั้น ไทยเฌอรี่ยานยนตร์ ก็ยังเดินหน้าต่อ ด้วยการจัดงานแถลงข่าว เปิดตัวแบรนด์ Chery ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2009 ประกาศส่งรถขนาดเล็ก Chery QQ รถยนต์ SUV Chery Tiggo และ รถยนต์ Chery Cross เข้าสู่ตลาด โดยเลือก เผยโฉมสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ ครั้งแรก ในงาน Bangkok International Motor Show 2009 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม – 6 เมษายน ธันวาคม 2009 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ (BiTEC)
ช่วงแรกที่เปิดตลาด Chery เปิดตัวรถยนต์รวมทั้งหมด 3 รุ่นหลัก 6 รุ่นย่อย ราคามีดังนี้
– QQ 1.1 เกียร์ธรรมดา 5MT Dual Air-Bag ล้ออัลลอย 14 นิ้ว สปอยเลอร์หลัง ราคา 389,400 บาท
– QQ 1.1 เกียร์ธรรมดา 5MT High Line Dual Air-Bag สปอยเลอร์หลัง เพิ่ม ใบปัดน้ำฝนหลัง ราคา 393,900 บาท
– QQ 1.1 เกียร์อัตโนมัติ AMT ABS Dual Air-Bag ล้ออัลลอย 14 นิ้ว สปอยเลอร์หลัง ราคา 429,900 บาท
– QQ 1.1 เกียร์อัตโนมัติ AMT High Line ABS Dual Air-Bag เพิ่มใบปัดน้ำฝนหลัง ราคา 434,400 บาท
– Tiggo 2.0 4AT Tiptronic ABS Dual Air-Bag ล้ออัลลอย 16 นิ้ว แม็ก 16″ ราคา 825,000 บาท
– Cross 2.0 4AT Tiptronic ABS Dual Air-Bag ล้ออัลลอย 16 นิ้ว ราคา 915,000 บาท
สำหรับ Flagship Showroom นั้น ไทยยานยนตร์ ใช้วิธี Renovate โชว์รูมและศูนย์บริการ BMW เดิม ริมถนนสุขุมวิท ปากซอย 87 ให้เป็น โชว์รูมและ ศูนย์บริการ ของรถยนต์ Chery แห่งแรกของประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อ 23 มีนาคม 2009 รวมทั้งตั้งเป้าหมายเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการในปีแรกให้ได้ 20 แห่ง ทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ Chery
การทำตลาดของ Chery ถือว่าค่อนข้างโชคร้าย เพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลไทย เปิดโครงการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี กลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ประหยัดพลังงาน หรือ โครงการ ECO Car ทำให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น เข้าร่วมรับสิทธิ์ และลงทุน ขึ้นสายการผลิต พร้อมทั้งเปิดตัวรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ เข้าสู่ตลาด เป็นจำนวนมาก ด้วยชื่อชั้นของรถญี่ปุ่นและราคาที่แทบไม่แตกต่าง หรือยังต่ำกว่า Chery เยอะ ทำให้ผู้คนหันไปอุดหนุนรถยนต์ ECO Car สัญชาติญี่ปุ่น กันเป็นจำนวนมาก
เหนือสิ่งอื่นใด Chery ยังประสบปัญหาคุณภาพการประกอบที่ไม่ดี มาตรฐานของรถ ยังดูด้อกว่ารถญี่ปุ่นอย่างเป็นได้ชัด อีกทั้งยังมีการเลือกรุ่นรถยนต์ที่ไม่ตรงกับความต้องการของคนไทย มาจำหน่าย เพราะส่วนใหญ่ ลูกค้าชาวไทย อยากได้รถยนต์ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ บวกกับปัญหาการประกอบ และการส่งมอบรถจากทางจีน
แม้ช่วงหลังในปี 2012 ไทยยานยนตร์ จะหันมาลองรุกตลาดอีกครั้ง ด้วยการนำเข้า รถตู้ Chery Big D เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร Turbocharge 168 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 235 นิวตันเมตร ราคาคันละ 959,000 บาท แต่ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน สุดท้ายจึงค่อยๆ หยุดทำตลาด และไม่มีกิจกรรมใดๆ ยกเว้นงานบริการหลังการขายเท่านั้น ดีลเลอร์ได้ทยอยปิดตัวลงจำนวนมาก ขณะที่ความหวังจากรถตู้บิ๊กดีที่จะนำเข้ามาตอบสนองลูกค้า ทางจีนเองก็แทบจะไม่มีการตอบสนองเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้บริหารจีนเคยประกาศ จะเข้ามาลงทุนในไทยเป็นหมื่นล้านบาท
ทุกอย่างสิ้นสุดลง อย่างเงียบๆ บริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนตร์ โอโตเซลส์ จำกัด เลิกกิจการไปแล้ว เมื่อ 29 ธันวาคม 2020 และเพิ่งจะมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้นไป เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา
แต่วันนี้ดูจะแตกต่างเพราะว่า Chery Automobile Co., Ltd เป็นผู้เข้ามาทำตลาดเอง ซึ่งในยุคนี้ง่ายกว่าเดิมมากด้วยโลกเทคโนโลยีเชื่อมถึงกัน Chery เริ่มต้นด้วยการเปิด Facebook Page Chery Thailand ที่เริ่มให้ข้อมูลจากแบรนด์โดยตรง และเตรียมนำนวัตกรรมยานยนต์ใหม่มาบุกคือ “LIFE PLUS” ที่คาดว่าจะเป็นโมเดลการขายแบบเดียวกับ GWM ที่ดำเนินการผ่านแอพฯ ที่สำคัญครั้งนี้ Chery มีการรีแบรนด์และภาพลักษณ์ใหม่หมด ผลิตรถยนต์เจาะกลุ่มคนเจนฯ Z ที่นำแนวคิดการประยุกต์ โลก Digital มาใส่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปรับโครงสร้าง พัฒนา Application ที่ยกระบบการซื้อขายรถยนต์ไว้บนมือถือ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและบริการที่ทันสมัย ใส่ AI และ Internet รวมถึงนวัตกรรม multi-path อื่น ๆ หรือแม้กระทั่งพรีเซ็นเตอร์ที่เมืองจีน ก็เลือกใช้ Virtual Influencer ที่มีชื่อว่า “Axi”
อย่างไรก็ตาม กว่าที่ Chery จะพร้อมเริ่มทำตลาดในเมืองไทยได้ อย่างเร็วสุด ก็ต้องมีช่วงปลายปี 2023 จนถึง ต้นปี 2024 เพราะในขณะนี้ Chery กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการเปิดตลาด มาเลเซีย และในขั้นสุดท้าย น่าจะเริ่มจำหน่ายรถยนต์ได้ ภายในช่วง กลางปี 2023 ก่อนหน้าไทย ในเวลาไม่นานนัก นอกจากนี้ ผู้บริหารของ Chery เอง ยังให้ความสำคัญกับตลาดเมืองไทย ในฐานะ ตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาที่มีขนาดใหญ่ ด้วยการเตรียมวางแผนการนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในอนาคต ด้วยทางเลือกขุมพลังที่หลากหลาย ทั้ง Hybrid , Plug-in Hybrid ไปจนถึง EV เข้ามาให้คนไทยได้สัมผัสกัน ในอนาคต อย่างแน่นอน
ต้องติดตามว่า Chery จะเปิดเกมรุกในตลาดปราบเซียนอย่างประเทศไทยเรา อีกครั้ง ได้สำเร็จหรือไม่ งานนี้ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง
————////————