สงครามยูเครน-รัสเซียยื้อไม่จบ ผนวกล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ช่วงเมษายน – พฤษภาคม พ่นพิษส่งออกไทย ล่าสุดกลุ่มยานยนต์ยอมปรับเป้าผลิตรถปี 65 เหลือ 1,750,000 คัน ส่วนกระแสยอดผลิตยอดขายในประเทศพุ่งทยานจากมาตรการคลายล็อคโควิดภาครัฐ เป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายฝ่ายว่าท้ายที่สุดแล้วจะต้องมีการปรับแผนผลิตยานยนต์ในประเทศ ไทย จากปัจจัยหลายด้านที่ไม่อานควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตัวแปรในระดับกลไกการค้าของโลก

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทางกลุ่มยานยนต์ได้ปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2565 จาก 1,800,000 คัน เป็น 1,750,000 คัน เนื่องจากได้มีการโดยปรับเป้าผลิตส่งออกลงจาก 1,000,000 คัน เป็น 900,000 คัน และปรับเป้าผลิตขายในประเทศขึ้นจาก 800,000 คันเป็น 850,000 คัน

 

ทั้งนี้ปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลงมาจากสาเหตุหลักคือสงครามยูเครน- รัสเซียที่เกิดขี้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วขาดแคลนมากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศส่งออกรายใหญ่ก๊าซนีออนที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้การส่งออกรถยนต์ไปทั้งสองประเทศลดลงถึงกว่า 20,000 คัน

ขณะเดียวกันการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮในเดือนเมษายน – พฤษภคม 2565 ที่ผ่านมาอีกระลอก ยังตอกย้ำทำให้เกิดภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น เพราะโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้

นอกจากนี้การที่ประเทศเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ทำให้ส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 2,000 คัน รวมไปถึง ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่เช่น ไต้หวัน ตะวันออกกลาง เป็นต้น เช่นเดียวกับที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศชั้นนำของโลกอา จทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกของตลาดในไทยที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากค่ายรถจะมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ แล้ว ปัจจัยจากนโยบายรัฐถือว่ามีส่วนสำคัญ อาทิ การที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศ สะดวกขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางเข้าประเทศมากกว่า 3 ล้านคน การผ่อนคลายการล็อกดาวน์เรื่องโควิด 19 ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายการประชุม การจัดสัมมนา รวมถึงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ฯลฯ และการส่งออกยานยนต์ที่ยังคงเติบโตจากปีที่แล้วที่มูลค่าส่งออกทำสถิติสูงสุด ทำให้ประชาชนมีงานทำมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

ยอดผลิต 7 เดือนแรกยังโต

จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2565 มีทั้งสิ้น 142,958 คัน ขยับขึ้นจากเดียวกันของปีก่อน 16.07% จากปัจจัยการผลิตเพื่อส่งออกและผลิตเพื่อขายในประเทศที่เพิ่มขึ้น 2.07% และ 16.07% ตามลำดับ แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2565 ในอัตรา 0.04% ส่วนปริมาณรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,013,069 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.68%

ด้านการผลิตรถจักรยานยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 211,742 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมปีก่อน 61.74% แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 153,170 คัน และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 58,572 คัน ส่วนยอดการผลิต 7 เดือนแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 1,457,082 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.67% แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 1,087,625 คัน ลดลงจากปีก่อน 0.13% แต่ชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 369,457 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.90%

 

7 เดือนยอดขายรถโต 22.10%

ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,033 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 22.10% เพราะรัฐบาลผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางเข้าประเทศกว่าสามล้านคน รวมทั้งการส่งออกที่ยังคงเติบโต การประกันรายได้เกษตรกร การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ

ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 133,815 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.73% สรุปยอดขาย 7 แรกของปี 2565 รถยนต์มียอดขาย 491,329 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ในช่วงเดียวกัน 15.43% ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 1,040,440 คัน เพิ่มขึ้น 5.32%

 

 

ส่งออก 7 เดือนแรกยังรุ่ง

โดยภาพรวมการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ส่งออกได้ 83,086 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.70% จากการส่งออกรถกระบะและรถยนต์นั่ง จึงสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นทุกตลาดยกเว้นตลาดเอเชียที่ส่งออกลดลง เพราะผลิตรถ PPV ส่งออกลดลง มูลค่าการส่งออก 51,987.15 ล้านบาท รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนกรกฎาคม 2565 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 74,211.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ระดับ 13.28%

ส่วนรถจักรยานยนต์ เดือนกรกฎาคม 2565 มีจำนวนส่งออก 80,603 คัน (รวม CBU + CKD) โดยลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2564 ร้อยละ 7.43 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2565 ที่ 1.68% โดยมีมูลค่า 4,385.65 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีกลาย 30.58% รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ เดือนกรกฎาคม 2565 ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ 4,901.72 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อรวมยอดการส่งออก 7 เดือน ของปี 2565 นี้ จะมีปริมาณการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 532,730 คัน เมื่อรวมเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 521,140.82 ล้านบาท ขยับเพิ่มจากปีกลาย 0.19%


ตลาดรถไฟฟ้า 100% (BEV) คึกคักเกินต้าน คาดโกยยอดจดทะเบียนสิ้นปี 65 ทะลุ 10,000 คัน !