รถซีดานเรือธงที่ถูกผลิตออกมาเพียงรุ่นแรกและรุ่นเดียวของ Volkswagen ภายใต้ชื่อ Phaeton บนพื้นฐาน Volkswagen Group D1 Platform ร่วมกับ Bentley Continental GT (2004–2018) และ Bentley Flying Spur (2005) (2005–2019) ซึ่งเปิดตัวและวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2002 ก่อนได้รับการปรับโฉมถึง 4 ครั้งระหว่างช่วงปี 2007-2014 และมีการปรับปรุงขุมพลังและอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วงแรกของการเปิดตัวมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซิน 3.2 ลิตร V6 ไร้ระบบอัดอากาศ ให้กำลังสูงสุด 241 แรงม้า (PS) เครื่องยนต์เบนซิน W12 6.0 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ ให้กำลังสูงสุด 420 แรงม้า (PS) และเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ V10 TDI 5.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 313 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุดกว่า 750 นิวตัน-เมตร ก่อนถูกแทนที่ด้วย เครื่องยนต์เทอร์โบ V6 TDI 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 245 แรงม้า (PS) ในขณะที่เครื่องยนต์เบนซินรุ่นเริ่มต้นถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 3.6 ลิตร V6 ไร้ระบบอัดอากาศ FSI 280 แรงม้า (PS)

 

ในวาระครบรอบ 20 ปีของรุ่นนี้ทาง Volkswagen จึงได้นำรถต้นแบบที่ถูกผลิตขึ้นมาในเวอร์ชั่น Production car ภายใต้พื้นฐาน MLB Evo Platform ในปี 2016 ซึ่งเป็นตัวแทน Phaeton เจเนอเรชั่นที่ 2 ก่อนที่จะถูกยุบโครงการ เนื่องจาก Volkswagen จะหันไปเน้นรถยนต์ขุมพลังไฟฟ้าบนพื้นฐาน MEB Platform แทนรถยนต์นั่งเครื่องดีเซลคันโต และปล่อยให้หน้าที่รถเรือธงเป็นของ Touareg และ Arteon แทน

โดยรถคันนี้มีชื่อว่า Phaeton D2 มีงานออกแบบภายนอกที่อ้างอิงจากรุ่นแรกอยู่พอสมควร แต่ได้รับการออกแบบด้านหน้าตามแนวเส้นสายยุคใหม่ที่ส่งต่อให้ Touareg แทน ในขณะที่ด้านท้ายมีความคล้ายคลึงกับ Skoda Superb ที่เน้นความเรียบง่ายไม่หวือหวา แต่ลงตัวและดูได้นาน โดยยังใช้นักออกแบบคนเดียวกันอีกด้วย

(Phaeton D2)

ด้วยความยาวกว่า 5,060 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,900 มิลลิเมตร และความสูง 1,450 มิลลิเมตร  ทำให้สามารถต่อกรกับคู่แข่งอย่าง BMW 7-series และ Mercedes-Benz S-Class ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ งานออกแบบที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบ Timeless design ด้านข้างมาพร้อมประตูขนาดใหญ่ ในขณะที่งานออกแบบไฟท้ายมาในรูปแบบเรียวยาว ซึ่งแตกต่างกับรุ่นแรกพอสมควร

ภายในมาพร้อมคอนโซลหน้าที่คุ้นตา ซึ่งพบได้ใน Volkswagen Touareg รุ่นปัจจุบัน ที่โดย Volkswagen เรียกว่า Innovision Cockpit แต่เดิมจะถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกใน Phaeton รุ่นที่ 2 นี้ จอมาตรวัดเชื่อมต่อกับจอ Infotainment คอนโซลหน้าแบบกว้างไร้รอยต่อเพื่อเพิ่มความหรูหรา คันเกียร์ไฟฟ้า กระจกมองหลังไร้กรอบ ด้านหลังมาพร้อมเบาะนั่งแบบแยกส่วน จอ Infotainment สำหรับ เบาะทั้ง 2 ที่นั่ง พร้อมจอตรงคอนโซลกลางด้านหลังสำหรับปรับเบาะนั่ง การตกแต่งภายในใช้หนังสีสว่างสลับด้วยลายไม้เพิ่มความหรูหรา แต่ไม่ผสมความสปอร์ตเข้าไปแบบ Audi A8 พร้อมติดตั้งหลังคาซันรูปแยก 2 ตอน

(Phaeton รุ่นแรก)

(Phaeton รุ่นแรก และ Phaeton D2)

ถึงแม้ว่า Volkswagen จะไม่ผลิต Phaeton รุ่นที่ 2 ต่อ แต่ในตลาดประเทศจีน มีตัวตายตัวแทนที่ถูกสร้างขึ้นบน MLB platform ที่เล็กลงมา 1 ขั้น ภายใต้ชื่อ Phideon โดยการผลิตจาก SAIC-VW เนื่องจากตลาดรถซีดานของประเทศจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Motor1