ขณะนี้มีจุดชาร์จไฟสาธารณะประมาณ 30,000 แห่งทั่วเกาะ แต่ต้องรองรับรถ EV จำนวนกว่า 420,000 คันในปัจจุบัน แน่นอนว่าอัตราส่วนระหว่างจำนวนรถต่อที่ชาร์จ 1 จุด ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะจำนวนรถไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เป็นที่มาของงบการลงทุนกว่า 1.6 พันล้านปอนด์ (7 หมื่นล้านบาท) เพื่อให้การชาร์จรถ EV สะดวกยิ่งขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยต้องมีความคงทนและมีจำนวนครอบคลุมทั้งสหราชอาณาจักร

แต่ทว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ได้กล่าวถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานของระบบส่งไฟให้กับจุดชาร์จ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครือข่ายจุดชาร์จ EV และภาพรวมของระบบมีความแข็งแกร่งและก้าวทันเทคโนโลยีได้

ในส่วนเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.6 พันล้านปอนด์นั้น แบ่งออกเป็น 950 ล้านปอนด์สำหรับรองรับจุดชาร์จแบบเร็ว ซึ่งสามารถสร้าง super-fast charger ได้มากถึง 6,000 จุดทั่วทางหลวงระหว่างเมืองของสหราชอาณาจักร

ที่เหลืออีก 450 ล้านปอนด์ จะส่งต่อให้กับกองทุนระบบชาร์จไฟระดับท้องถิ่น Local Electric Vehicle Infrastructure (LEVI) ซึ่งจะเน้นการขยายจุดชาร์จตามสองข้างทาง เพื่อให้ประชาชนที่ไม่สามารถติดตั้งจุดชาร์จไฟ ณ บ้านพัก สามารถหันมาใช้รถ EV ได้สะดวกยิ่งขึ้น (ทางแหล่งข่าวอ้างว่า กว่า 1 ใน 3 ของปริมาณครัวเรือนทั้งหมด ไม่มีที่จอดรถเป็นของตนเอง ต้องพึ่งพาการจอดสองข้างทาง)

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Boris Johnson กล่าวว่า “การพัฒนาการขนส่งพลังงานสะอาดไม่เพียงแต่จะทำให้สิ่งแวดล้อดีขึ้นเท่านั้น ยังสามารถสร้างงานที่อาศัยความเชี่ยวชาญระดับสูงให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานในประเทศ พร้อมทั้งทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ง่ายยิ่งขึ้น”

แผนการพัฒนาและเพิ่มจุดชาร์จครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยการสร้างมาตรฐานใหม่ของจุดชาร์จในที่สาธารณะ เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทางภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ก็คิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า กลยุทธการเพิ่มจุดชาร์จไฟให้กับรถ EV ของรัฐบาล ยังคงขาดคำมั่นสัญญาในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการจ่ายไฟให้กับจุดชาร์จ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเป็นรากฐานสำคัญเพื่อจะทำให้ระบบสามารถตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน ไปจนถึงรองรับความต้องการในอนาคต เพื่อคลายความกังวลของผู้บริโภคที่กำลังหันมาใช้รถ EV พร้อมทั้งเร่งให้เข้าสู่ยุคแห่งการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มตัวได้อย่างรวดเร็ว

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มจุดชาร์จตามถนนรองต่างๆ นอกเหนือไปจากเส้นทางหลักหรือถนนหลวงข้ามเขตเมือง และการขยายความคลอมคลุมไม่เพียงแต่รถยนต์ส่วนตัวและรถขนส่งสินค้า หากแต่ควรขยายระบบชาร์จไฟเพื่อรองรับนโยบายการลดปริมาณคาร์บอน หรือ “Decarbonisation” ไปยังรถบรรทุก หรือแม้กระทั่งการขนส่งทางราง ทางน้ำ และอากาศยานเป็นลำดับถัดไป

————————///————————

ที่มา: moveelectric