ระยะหลังมานี้ วอลโว พยายามฮึดสู้เพื่อสร้างยอดขาย ให้ดีขึ้น ท่ามกลางสภาวะการถดถอย
ของตลาดรถยนต์ระดับพรีเมียมลักซัวรี และรถยุโรป ในเมืองไทย ที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ที่แน่ๆ การนำขุมพลังดีเซล มาเป็นจุดขายใหม่ ช่วยให้ยอดขายของวอลโวในภาพรวม ถือว่าดีขึ้นได้
ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะมันทั้งแรง และประหยัด อีกทั้งยังเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา
อันเนื่องมาจาก สร้างขึ้นบนพื้นฐานของบล็อก 5 สูบ ที่วอลโวใช้มาได้พักใหญ่แล้ว
เริ่มตั้งแต่ S80 D5 ตามด้วย V70 D5 แล้วก็ XC90 D5 ล่าสุดกับ New S80 D5
มาวันนี้ วอลโว ก็ได้ฤกษ์เสียที ที่จะปล่อย น้องใหม่ อุดช่องโหว่ของตนในสายพันธ์
ยานยนต์ขุมพลังดีเซล นั่นคือ S60 D5
ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่า วอลโวมัวรออะไรอยู่ ปล่อยให้ตลาดกลุ่มพรีเมียมคอมแพกต์ซีดาน ตกไปอยู่ในการยึดครอง
ของทั้ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส และ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ไปเสียตั้งนาน ทั้งที่รถของตนก็มีจุดขายที่ดีเด่น
ไม่แพ้ชาวบ้านเขาเสียเลย
แต่เอาเถิด การกลับมาให้ความสำคัญกับรถรุ่นที่เปิดตัวมานานมากแล้ว และแทบจะขาดความใส่ใจกันไปเลย
หลังการเปิดตัว ก็ยังดีกว่า ไมได้ทำอะไรเลย เพราะนั่นดูเป็นสิ่งที่ควรจะทำมาตั้งนานแล้ว มิใช่เพิ่งมาทำกันอย่างในบัดนี้
อีกทั้งเครื่องยนต์ดีเซล ของ S60 นั้น จะเรียกว่าเป็นขุมพลังใหม่ ก็ไม่อาจทำได้เต็มปาก
เพราะมันคือการนำเอาเครื่องยนต์ที่วางอยู่แล้วใน V70 D5 มาวางแหมะ ลงใน
ห้องเครื่องยนต์ของ S60 เท่านั้นเอง
แล้วมันจะมีความแตกต่างอะไรเพียงพอจะดึงดูดให้ลูกค้าเก็บ S60 D5 มาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม
นอกเหนือจาก ซี-คลาส และ ซีรีส์ 3 กันละ?
ขั้นแรก ก็คงจะต้องเหลาด้านหน้าให้โค้งมนอ่อนช้อย ช่วยให้รถดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น และดึงดูดใจผู้พบเห็นได้บ้างนิดหน่อย
กระจังหน้าลายสปอร์ต เปลือกกันชนหน้าดีไซน์ใหม่ ให้อ่อนโยน ชวนมองยิ่งขึ้น
จากนั้น ก็เปลี่ยนชุดไฟหน้าแบบใหม่ หากเป็นรุ่น 2.0T จะยังคงเป็นไฟหน้าแบบ ฮาโลเจน ธรรมดา แต่ในรุ่น D5
จะเปลี่ยนมาใช้ชุดโมไฟหน้าแบบ Active Bi-Xenon พร้อมที่ฉีดล้างทำความสะอาดไฟหน้า ในตัว และมีไฟตัดหมอก
ทั้งหน้า และหลัง แถมมาให้ ซึ่ง ใครที่มีมันแล้ว ก็ควรใช้ให้เป็นด้วย มิใช่ เปิดผิดเวลา ส่องแสงจ้าพาลหาเสียงสาบแช่ง
จากรถคันที่ตามมา และคันที่สวนมา
และเปลี่ยนมาใช้โทนสีภายนอก ให้สะดุดตากว่าเดิม พร้อมกับล้ออัลลอยลายใหม่ สำหรับรถรุ่นปี 2007-2008
เปลี่ยนคิ้วขอบรอบคันต่างๆจากสีดำ ให้เป็นสีเดียวกับตัวถัง
เพียงเท่านี้ ก็ได้รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์มาแล้ว อย่างง่ายดาย
ส่วนบรรยากาศภายในห้องโดยสารนั้น ยังมิได้แตกต่างอะไรไปจากเดิมมากนักในภาพรวม
การเข้าออกจากรถ ต้องระวังศีรษะนิดนึง เพราะแนวเสากระจกค่อข้างลาดกว่าวอลโวรุ่นอื่นๆ
ภายในยังคงนั่งสบาย และไม่เมื่อยล้าขณะเดินทางไกลได้ดีเช่นเดียวกับวอลโวเกือบจะทุกรุ่น
ชุดเบาะนั่งคู่หน้า ปรับด้วยไฟฟ้า และเฉพาะฝั่งคนขับ มีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะมาให้ 3 ตำแหน่ง
ซึ่งเชื่อมต่อกับการจดจำตำแหน่งการปรับกระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่งให้อีกด้วย
ที่วางแขนด้านข้าง พร้อมกล่องเก็บของยังคงใช้งานได้ดี เหมือนรุ่นเดิมๆก่อนหน้านี้
ส่วนทางเข้าประตูคู่หลังนั้น ด้วยการออกแบบที่มีเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ลาดเอียงเสียอย่างที่เห็น
ดังนั้น หลายๆคนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังนิดนึง มิเช่นนั้น ศีรษะอาจโขกกับเสาโรงตัวถังได้
เบาะหลัง นั่งสบายตามสไตล์รถวอลโว ตรงกลางเบาะ มีที่พักแขน ดึงลงมา เปิดฝาปิดออกดู
มีช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง และกล่องเก็บของขนาดเล็ก พอจะซ่อนสิ่งของส่วนตัวไว้ได้ เล็กน้อย
สำหรับคนตัวสูง นั่งแล้ว ศีรษะอาจจะเฉี่ยวๆกับเพดานหลังคาบ้าง แต่บางคน อาจบ่นว่าติด
อันนี้ต้องไปลองนั่งดูเอาเองว่า ศีรษะของคุณจะติดหรือไม่ เพราะสรีระแต่ละคนแตกต่างกัน
มีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISO-FIX มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน อันเป็นเรื่องน่าชมเชย
ฝากระโปรงหลังมีช็อกอัพค้ำยันเอาไว้ 2 ตำแหน่ง ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาดใหญ่…..
และลึกพอที่จะให้ผมลงไปนอนเล่นได้สบายๆ ไม่อึดอัด
(ถ้าใครไม่พิเรนทร์ มาปิดฝากระโปรงท้ายแกล้งผมเสียก่อน)
ส่วนแผงหน้าปัดนั้น แน่นอนละว่า วันนี้ บรรยากาศในห้องโดยสารของ S60 ที่ผมเคยชอบมาก
โดน S80 รุ่นใหม่ ฉีกนำทิ้งห่างไป จนผมแทบจะยกรางวัล รถยนต์ประกอบในประเทศ
ที่มีห้องโดยสาร ตกแต่งได้ดีที่สุด ให้เค้าไปครองเลย
แต่กระนั้น S60 ใหม่ ก็ยังมีการปรับปรุงรายละเอียเล็กๆน้อยๆที่สำคัญ อยู่บ้างในบางจุด
และผมเห็นว่า เข้าท่าที่จะปรับเปลี่ยนกัน
ถ้าคุณสังเกตให้ดีๆ จะเห็นว่า บริเวณชุดกรอบมาตรวัดนั้น ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น
เหตุผลนั้นก็เพื่อ จะลดการสะท้อนของแสงแดดที่จะเข้าสู่สายตาผู้ขับขี่นั่นเอง
การตกแต่งด้วยลายไม้ บนคอนโซลกลาง ยังพอทน (แต่ผมก็ไม่ถึงเห็นด้วยนักสำหรับรถทีต้นสังกัดพยายาม
สร้างภาพว่าเป็นซีดานติดสปอร์ตอย่างนี้) ทว่า การใช้ลายไม้กับพวงมาลัย ในรถยุคนี้ มันกลับชวนให้นึกถึง
รถวอลโวในสมัยที่ กุสตาฟ ลาร์สัน ผู้ก่อตั้ง ยังมีชีวิตอยู่ เสียมากกว่า
และยิ่งถ้าใครที่มีเหงื่อออกที่มือเยอะๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตด้วยแล้วละก็
วงพวงมาลัยจะสร้างความลื่นนนน มือ เอาเรื่องเลยทีเดียวเชียวละ!
ชุดมาตรวัด เปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ เช่นเดียวกันกับ XC90 D5 และ V70 D5 คือใช้แสงไฟส่องเข้ามาที่ตัวหน้าปัด
แทนที่จะให้มันเรืองแสงจากด้านหลัง อย่างรถสมัยก่อนๆ เป็นชุดมาตรวัดที่อ่านง่าย สบายตา ไม่ดูพราวพร่าไปหมด
พร้อมขอ Multi Information System ที่ด้านซ้าย บอกความเร็วเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันซึ่งเหลือในถังจะแล่นไปได้
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย และข้อมูล่างๆ อีกหลากหลาย กดอ่านได้ โดยอุ่ม READ บนก้านไฟเลี้ยว
ฝั่งซ้ายมือจากตำแหน่งคนขับ
พวงมาลัย มีชุดควบคุมเครื่องเสียง อยู่ทางฝั่งขวา และชุดควบคุมระบบ ล็อกความเร็วคงที่อัตโนมัติ
Cruise Control อยู่ทางฝั่งซ้าย อันเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนทั่วไปเป็นหลัก
บอนคอนโซลกลาง ด้านล่าง มีทั้งปุ่มเปิดปิดระบบ ระบบช่วยถอยเข้าจอด Park Sensor
ที่กันชนหน้าและหลังรถ ระบบไฟส่องสว่าง แม้แต่ระบบพับพนักศีรษะ ของเบาะหลัง ลงมา
เพื่อลดการบดบังทัศนวิสัยด้านหลัง ขณะถอยหลัง หรือยามขับขี่
คุณภาพของชุดเครื่องเสียง ในวอลโวนั้น ก็ยังคงจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของบรรดาชุดเครื่องเสียง
ที่ผู้ผลิตรถยนต์ติดตั้งมาให้จากโรงงาน คือ อยู่ในเกณฑ์ดี ไม่เลวร้าย และสมราคา สมกับฐานะของรถ
ที่วางแก้ว ในตำแหน่งนี้ ราคาะไหล่ค่อนข้างแพง มีเสียงเล่าอ้างจากลูกค้าที่เคยทำมันพังมาเล่าให้ฟัง
ในกระทู้ที่ผมเคยรีวิว รุ่นมาตรฐาน S60 2.3 ไว้เมื่อ สองสาม ปีก่อน ว่า ราคาของมันนั้น ราวๆ 7 พันกว่าบาท!!
เล่นเอาผมสะดุ้งเฮือกไปเลย ไม่รู้ว่า วันนี้ ราคาอะไหล่ชิ้นนี้ จะลดลงมาแล้วหรือยัง?
หากดูจากตารางอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมาในรถแล้ว คงต้องบอกว่ารุ่นดีเซลนั้น ติดตั้งอุปกรณ์มาให้
ค่อนข้างจะดีกว่ารุ่นเบนซิน 2.0T เสียด้วยซ้ำ
แต่ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยนั้น มีมาให้ครบครัน พอกันทั้ง 2 รุ่น
ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย คู่หน้า และด้านข้าง เป็นแบบ Dual Stage พองตัวได้ 2 ระดับ
ตามความแรงในการพุ่งปะทะ และม่านลมนิรภัยด้านข้าง รวมแล้วมีถุงลมฯถึง 6 ใบ
พวงมาลัยยุบตัวตามการชน พนักศีรษะป้องกันการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ WHIPS
เข็มขัดนิรภัยแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
กุญแจอิมโมบิไลเซอร์ แบบมีสวิชต์รีโมทควบคุมอยู่บนตัวกุญแจ
เซ็นทรัลล็อก พร้อมรีโมท เปลี่ยนมาเป็นแบบ จังหวะเดียว ล็อกทุกบาน
แต่ปลดล็อก ต้องกด 2 จังหวะ เหมือนเดิม
**********รายละเอียดทางวิศวกรรม**********
ขุมพลังยังคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีมาแล้ว จาก วอลโว V70 D5
ยังคงเป็นเครื่องยนต์ 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว 2,400 ซีซี
อัดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ด้วย เทอร์โบแรงดันต่ำ LPT (Light Pressure Turbo)
กำลังสูงสุด 185 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.72 กก.-ม.) ที่ 2,000-2,750 รอบ/นาที
คงไม่ต้องสาธยายกันมากนัก เพราะมันแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าใดเลย
เชื่อมด้วย เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Mode บวกลบ
และมี Mode W สำหรับออกตัวบนพื้นลื่นๆ ด้วยเกียร์ 3
คงต้องย้ำกันอีกทีว่า วอลโว เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในเมืองไทย
ที่นำเครืองยนต์ดีเซล เทอร์โบ มาเชื่อม เข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
เรามาดูสมรรถนะของมันดีกว่า
การทดลองหาอัตราเร่งคราวนี้ เรายังคงใช้มาตรฐานเดิม
มีเพื่อนผู้โดยสารอีก 1 คน รวมเป็น 2 คน น้ำหนักประมาณ 150 – 160 กิโลกรัม
เปิดแอร์ตามปกติ และเปิดไฟหน้า เพราะจับเวลากันในตอนกลางคืน
เพื่อให้คุณผู้ชมเห็นภาพ
ขอนำผลตัวเลขจากวอลโว S60 และ V70 รุ่นต่างๆ ที่เคยทดลองขับไป
รวมทั้งรุ่นดีเซล มาโพสต์เปรียบเทียบให้ดูกันด้วย (ยกเว้น V70XC ที่ไม่มีข้อมูลให้)
หากสังเกตจากรุ่น D5 ในตารางที่เป็นแถบสีเทาอ่อน จะพบว่า
ตัวเลขสมรรถนะของ ตัวถัง ซีดานกับแวกอนนั้น หากวัดกันแต่เครื่องเพียวๆ
เอาเข้าจริงแล้ว มันไม่น่าต่างกันมากมายนัก แต่ด้วยน้ำหนักด้านท้ายที่เพิ่มขึ้นมา
อาจทำให้ รุ่นแวกอน หรือเอสเตท นั้น มีตัวเลขที่ด้อยกว่ากันนิดหน่อย อย่างที่เห็น
ในครั้งที่ทดลองขับ V70 D5 ผมเคยคอมเมนท์ไปว่า ผมชอบการทำงานของเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังชุดนี้
ที่สมัครสมานสามัคคีกันทำงานเป็นอย่างดี ขาดแต่ก็เพียงความมั่นใจได้ของระบบกันสะเทือน ผมจึงมองว่า
หากเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังชุดนี้ มาวางลงใน S60 ซึ่งเซ็ตระบบกันสะเทือนหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต
และด้านหลังแบบมัลติลิงค์ ให้หนึบกว่าใน V70 อีกสักหน่อย น่าจะออกมาดี
และเมื่อมาลองขับจริง ผมว่า ผมคาดไม่ผิดเลย
เพราะเรียกได้ว่า มันแทบเป็นส่วนผสมที่ลงตัวกันเลย สำหรับคนที่อยากได้ความแรง
ความประหยัด และความนุ่มเอาไว้ด้วยกันในคันเดียว มัน จบ เลย สำหรับรถแนวผู้ใหญ่ขับอย่างวอลโว
ที่อยากจะทำตัวให้ขับสนุกขึ้น โดยพบกันครึ่งทางระหว่างความนุ่มนวล และความร้อนแรง
การตอบสนองของช่วงล่าง แน่นหนา แต่ยังแฝงความนุ่มนวลเอาไว้นิดหน่อยตามสไตล์วอลโว
แต่ถือว่าน้อยกว่ารถรุ่นอื่นๆในไลน์อัพของวอลโวแล้ว น้ำหนักพวงมาลัย ที่หนักกำลังดี ให้ความมั่นใจที่ดี
ในขณะเดินทางด้วยความเร็วสูงๆ เอาเข้าจริงๆแล้ว มันยังคงคุณงามความดี จากในรุ่น S60 ดั้งเดิม แทบไม่เปลี่ยนไปเลย
หรือถ้ากลัวพลาด ก็มีระบบ ควบคุมเสถียรภาพ DSTC (Dynamic Stability & Traction Control)
แถมมาให้ พร้อมกับสวิชต์ เปิด หรือปิดระบบดังกล่าว ซึ่งพอจะช่วยลดโอกาสเสียการทรงตัวในขณะเข้าโค้ง
ไปได้ระดับหนึ่ง
การตอบสนอง และการหน่วงความเร็วของเบรก ยังคงทำได้อย่างดี และมั่นใจได้ แป้นเบรกยืดหยุ่นดี ไม่แข็งทื่อ
มีระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเพิ่มเรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Break Assist มาให้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมี 2 เรื่องที่ยังต้องปรับปรุงกันอยู่
เรื่องแรกก็คือ ยังมีเสียงลมเล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร ตามขอบกระจก เมื่อใช้ความเร็วระดับ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เรื่องที่สอง ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะจอดนิ่ง ในรอบเดินเบา เครื่องยนต์มีอาการสั่นสะเทือนและมีเสียงดัง
เล็ดรอดเข้ามายังห้องโดยสารอยู่ไม่น้อยเลย ผิดกับ S80 D5 รุ่นใหม่ ผู้พี่ ที่ผมทดลองขับไปแล้วนั้น
เสียงเงียบลง และสั่นสะเทือนน้อยกว่า S80 D5 ตัวเดิม รวมทั้งวอลโวขุมพลังดีเซลคันอื่นๆอย่างชัดเจน
แต่ อย่างว่า S60 D5 นั้น ในยุโรปมีมานานแล้ว บ้านเราเพิ่งนำขุมพลังดีเซลมาวางให้กับตัวถังซีดานนี้
ก็คงต้องทำใจว่าเทคโนโลยีอาจล่าช้าไปจากเมืองนอกอยู่บ้าง จะให้สดใหม่ซิงๆ เลย ทั้งที่ตัวถังใหม่
ของ S60 ก็ใกล้จะเปิดตัวอยู่ในช่วง 1-2 ปีนี้แล้วนั้น เห็นท่าจะยาก
********** การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********
เนื่องจากรถคันนี้ เป็นรถยนต์ ดีเซล ใช้เครื่องยนต์ ดีเซล เทอร์โบ
เราจึงไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปั้มบางจาก และเติมแค่หัวจ่ายตัดเท่านั้น
จะว่าไปแล้ว ทุกวันนี้ น้ำมันดีเซล ทุกปั้ม อย่างต่ำๆ ก็เป็น น้ำมัน ไบโอดีเซล สูตร B2 หมดแล้ว
ดังนั้น รถดีเซล ทุกคัน จึงเติมไบโอดีเซล ได้ และ เติมไบโอดีเซลกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวันนะครับ!
เรายังคงหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันตามเดิม
โดยมีน้องถัง มานั่งเป็นหุ่นทดสอบให้ หลังจากที่ห่างหายกันไปนาน
เลี้ยวขวา ออกจากปั้ม ขึ้นทางด่วน พระราม 6 ไปลงปลายสุดเส้นเชียงราก
แล้วย้อนกลับมายางทางเดิม ลงทางด่วน พระราม 6 โค้งตัว S เช่นเดิม
ใช้ความเร็วคงที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิด Cruise Control เปิดแอร์
และนั่งกัน 2 คน ตามเคย
และต่อไปนี้ คือตัวเลขที่ทำได้ เมื่อเปรียบเทียบกับ รถรุ่นอื่นๆ
ในตระกูล S60 V70
เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมึงมีความแตกต่างกันขนาดนี้
เครื่องเดียวกัน ทำได้ 15.4 กิโลเมตร/ลิตร พอข้ามปีไป ก็เป็น 13.83 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าจะให้ผมตั้งข้อสัณณิษฐานไว้
ก็คงเป็นได้ 2 ประการ คือ ทั้งความผิดเพี้ยนที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการเติมในแต่ละหัวจ่ายที่ต่างกัน
และวันเวลาต่างกันเป็นปี อันที่สอง เป็นไปได้ไหมว่า อาจเกิดจากน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งอันที่จริงแล้ว
ประเด็นหลังนี้ ผมว่า ไม่ค่อยน่าจะเกี่ยวข้องกันเท่าใดนัก เพราะสูตรของ ไบโอดีเซลนั้น
มีส่วนผสมแค่ 2% เท่านั้น ไม่น่าจะมีผลต่อตัวเลขมากมายนัก ดังนั้น ยังไม่ขอสรุปให้ครับ
***** สรุป *****
***** วอลโว ที่ขับสนุก และขับดีที่สุด ในรอบปี 2006 – 2008 *****
ไม่ได้เวอร์ ไม่ได้พูดเกินจริง แม้จะอยู่ในตลาดมานาน และมีเค้าลางว่าใกล้จะตกรุ่นในต่างประเทศแล้ว แต่ S60 ก็ยังคงเป็นรถที่มีอะไรๆให้กับ
คนที่คิดจะซื้อมันได้อย่างสมราคาอยู่ ยิ่งเมื่อมาเจอกับขุมพลัง ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ ด้วยแล้ว ทุกอย่าง มันเหมือนจะยนิ่งลงตัวมากขึ้นกว่าเก่า
และอย่าแปลกใจ ถ้าผมจะบอกว่า มันขับได้สนุก และมีช่วงล่างที่ผม ไว้ใจมากกว่าพี่ใหญ่รุ่น S80 ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปนี้เสียอีก! มันนุ่มและหนึบแน่น
กำลังดี ไม่เหมือนเจ้า S80 ใหม่ที่ย้วย เสียจนน่ากลัว
ที่พูดเช่นนี้ได้ เพราะก่อนหน้าที่ผมจะขับเจ้า S60 D5 นั้น ผมเพิ่งลงจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซีคลาส ทั้งรุ่นก่อน และรุ่นล่าสุด มาหมาดๆ เมื่อวันพฤหัสฯ
ก่อนจะมากระโดดขับเจ้า S60 D5 คันนี้ ในวันรุ่งขึ้น ผมอยากจะบอกว่า สัมผัสจากบรรยากาศในห้องโดยสารนั้น แตกต่างกันจนสัมผัสได้ชัดเจน
ความอบอุ่น นุ่มนวล และเป็นมิตร จากห้องโดยสารของวอลโว ก็ยังชวนให้หลงไหลและน่าสัมผัสกว่าใน ซี-คลาส และซีรีส์ 3
แม้ว่า ในแง่ความคล่องตัวในการขับขี่นั้น ซี-คลาส ใหม่ จะคล่องแคล่วว่องไวกว่า แต่ S60 ก็ยังผสมผสาน ท่วงท่าแบบรถยนต์ขนาดใหญ่
เข้ากับความปราดเปรียวในแบบที่รถขนาดเล็กกว่าพึงมีเอาไว้
อย่างแนบเนียน
และที่สำคัญ ค่าตัวของ S60 D5 อยู่ที่ 2,649,000 บาท ขณะที่ 320d ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ อยู่ที่ 2,890,000 บาท
ฟังดู ก็เริ่มน่าคิดขึ้นมาในทันที
แต่กระนั้น สิ่งที่ต้องปรับแก้ ก็ยังพอมีอยู่บ้าง และหนักไปทางการประดับตกแต่ง เสียเป็นหลัก พวงมาลัยลายไม้ ช่วยเอาออกไปทีเถอะ
เช่นเดียวกับการแก้ปัยหา เสียงลม ที่เล้ดรอดเข้ามาได้ และดังขึ้นในช่วงความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป คือขอให้มันเบาลงกว่านี้นิดเดียว
น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะเป็นธรรมดาของรถที่แล่นไปอย่างเร็วเสียขนาดนั้น มันต้องมีเสียงลมไหล่ผ่านตัวถัง เล้ดรอดเข้ามาให้ได้ยินบ้างแหละน่า
เพียงแต่มันไม่น่าจะดังเกินรำคาญนัก
รวมทั้งราคาอะไหล่ที่ ยังถือว่าพงหูฉี่อยู่ ซึ่งประเด็นหลัง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่น่าเป็นห่วง ต่อความพยายามในการกลับมา
เป็นที่ 2 ในตลาดรถยนต์หรูของวอลโวในไทย
ยิ่งตอนนี้ บีเอ็มดับเบิลยูเอง ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากจากยอดขายที่พึ่งพากันได้เฉพาะ ซีรีส์ 3 ตัวถัง E90 เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าการปรับลดราคาอะไหล่ครั้งใหม่ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในอีกไม่ช้านี้ สำเร็จลง วอลโวก็น่าจะกลับมาอยู่ในความสนใจ
ของผู้คนได้มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่ ราคาอะไหล่วอลโว ถูกลง? พูดเป็นเล่นหรือเปล่า? มันจะเป็นจริงไปได้มากน้อยแค่ไหนกันละ?
อย่าเพิ่งถามผมครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
———————————-///———————————
ขอขอบคุณ
คุณ ฉันทนา วัฒนารมย์ (พี่ตุ้ม)
และ คุณ ณัฎฐา จิตราคม (พี่ต่าย)
บริษัท Volvo Cars (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
17 มีนาคม 2008
Copyright (c) 2008 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com / March 17th, 2008