“Yaris รุ่นใหม่ เหรอพี่? หน้าตา มันจะเป็นแบบ เหลี่ยมๆ ดูสปอร์ตๆ
กระจังหน้าเหมือน Mitsubishi RVR / ASX นะพี่”
ใครบางคน บอกกับผมไว้แบบนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน ฟังแล้ว ได้แต่ถอนหายใจ
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มันจะดีเหรอ? Mitsubishi Lancer EX เอง ก็เป็น
ตัวอย่างให้เห็นแล้วนะ ว่าไอ้รถหน้าตาดุๆ Masculin แมนๆ มากเกินไป
มันจะขายไม่ออกนะเว้ย ยิ่งตลาดรถยนต์กลุ่ม ECO Car เนี่ย ยอดขาย
เกินกว่า 30 – 40 % มาจากกลุ่มผู้หญิง ซึ่งชอบรถยนต์ที่มีเส้นสายโค้งมน
น่ารักๆมากกว่า
คืนนั่น ผมปิดคอมพิวเตอร์ แล้วล้มตัวลงนอนด้วยภาพจินตนาการในหัว
ชนิดที่เดาได้เลยว่า เส้นสายแทบทั้งคันของ Yaris ใหม่ น่าจะออกมาเป็น
รถยนต์ Hatchback 5 ประตูคันใหญ่กว่าเดิม ใช้เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
ร่วมกับ Vios ใหม่ (ซึ่งตอนนั้น ไม่มีใครเคยเห็นตัวจริงของมันด้วยซ้ำ)
แล้วผมก็เผลอหลับไป…
เช้าวันหนึ่ง ในเดือนเมษายน 2013
ผมตื่นมาพบเจอความจริงว่า สิ่งที่ผมเคยได้อ่านได้ยินมานั้น ดันเป็นความจริง
สิ่งที่ผมเห็น เป็นภาพถ่าย ส่งตรงมาจากงาน Auto Shanghai 2013 นอกจาก
ด้านหน้าของ รถคันใหม่ ที่จะถูกนำมาสวมชื่อรุ่น Yaris ในบ้านเรา จะมี
ชิ้นส่วนด้านหน้า เหมือนทั้ง นายจันหนวดเขี้ยว หรือไม่ก็ อาเหล่ากง แล้ง
มันยังมีชุดไฟท้ายที่ดูละม้ายคล้ายกับก้อนน้ำมูกในวันที่คุณเลือดกำเดาออก
อีกต่างหาก!
“จบกัน…แบบนี้ ขายผู้ชายได้ แต่ขายผู้หญิงยาก มีทางเดียว ใช้การตลาดแบบ
สีสัน Colorful marketing ได้เลย พยายาม หาเฉดสีตัวถังสวยๆ มาพ่นให้กับ
รถรุ่นนี้ ไม่อย่างนั้นแล้ว เสร็จแน่ ผู้หญิงไม่เหลียวแล….”
กอปรกับช่วงที่ Yaris รุ่นใหม่นี้ เปิดตัว เป็นช่วงเวลาที่โครงการคืนภาษีให้กับ
ผู้ซื้อรถคันแรกในชีวิต ของรัฐบาล ในรอบปี 2011 – 2012 ทำเอาตลาดรถยนต์
ในเมืองไทยปั่นป่วนใช้ได้เลยละ ผู้บริโภคหนะ เปรมปรีด์ (ยกเว้นบางราย
ที่ผ่อนส่งต่อไปไม่ไหว) แต่ผู้ผลิตทุกราย ต่างต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิต
สุดท้าย พอสิ้นสุดโครงการ กลายเป็นว่า กำลังซื้อในปี 2013 หดหายฮวบๆ
รถค้างสต็อกจอดกันเต็มลาน ถึงขั้นบางค่าย ต้องเช่าลานจอดเพิ่มเติม และ
ต้องออกโปรโมชันพิเศษ ระบายสต็อก กันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ที่แน่ๆ รถยนต์กลุ่ม B-Segment ทั้ง 1,500 ซีซี และ กลุ่ม ECO Car
1,200 ซีซี เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุด เพราะไม่ว่าจะขุด
สารพัดแคมเปญล่อตาล่อใจ ชนิดอัดหนักกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตัวเลข
ยอดขายก็ยังไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร
ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก ที่ค่ายใดก็ตาม พยายามจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
ในกลุ่ม ECO Car หรือ B-Segment ช่วงนี้ จะต้องทำใจรอไว้ล่วงหน้า
ถ้ากระแสไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร และต้องเตรียมใจไว้จากยอดขายที่หดหาย
เข้าไปเต็มๆ
Yaris เอง ก็ตกอยู่ในชะตากรรมนี้ ร่วมกับญาติผู้พี่ร่วม Platform อย่าง Vios
ไปกับเขาด้วย ชนิดที่ใครก็ช่วยไม่ได้ เพราะการที่ Toyota ต้องเปิดตัว Yaris
ในเวลานี้ ดูเหมือนเป็น ไฟท์บังคับ ชนิดเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น จะลากยาว
เลื่อนการเปิดตัวต่อไปจากนี้ คงไม่ไหวแล้ว และไม่เหลือความจำเป็นอื่นใดอีก
สุดท้าย เป็นไปตามคาด กระแสการพูดถึง Yaris ในสังคม Social Media จะ
บางตาอย่างผิดคาด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ Toyota เคยเปิดตัวรถยนต์
รุ่นใหม่ในอดีต น้อยคนที่จะถามไถ่ถึงมัน ยิ่งเมื่อเทียบกับ Nissan Teana
มวยคนละกลุ่มตลาด แต่ดันเปิดตัว ก่อนหน้ากันเพียงวันเดียว แทบจะกลบ
กระแสของ Yaris กลืนหายไปจนเกือบหมด…
เวลาผ่านไป ผมเริ่มไม่แน่ใจว่า จะต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองหรือเปล่า?
เพราะหลังจากนั้น…ดูเหมือนว่า กระแสการพูดถึงจะเริ่มกลับมาในโลก
Social Media มากขึ้น?
อีกทั้งปริมาณ Yaris ใหม่ ที่ผมเริ่มเห็นบนถนน มันเยอะขึ้นเรื่อยๆทุกวันๆ
แสดงว่า ตอนนี้ ลูกค้า เริ่มให้การยอมรับน้องใหม่ หน้าตาประหลาดคันนี้แล้ว?
วันนี้ คำถามที่หลายๆคนยังคาใจ ก็คือ อัตราเร่ง จะอืดหรือไม่? กินน้ำมัน
หรือเปล่า ประหยัดไหม? ขับดีไหม พวงมาลัยแก้ไขหรือยัง ช่วงล่างละ
เป็นอย่างไรบ้าง แล้วควรจะซื้อไหม หรือถ้าซื้อ ควรเลือกรุ่นย่อยใดดี
บางคนอาจสงสัยว่า Yarisกับ Swift ควรจะเลือกอะไรดี แต่บางคนก็
ถามเลยเถิดไปถึงขั้นว่า จะเปลี่ยนใจจาก Vios มาคบ Yaris ดีไหม?
ทำคำถามที่คาใจ รออยู่ในบทความรีวิวนี้ แต่ผมไม่แน่ใจนักว่า มันจะ
ยิ่งสร้างความกังขาให้คุณมากกว่าเดิมหรือเปล่า ถ้าผมจะบอกว่า ตัวเลข
อัตราเร่งที่ออกมา มันไวพอกันกับ Vios แถมประหยัดกว่า Vios และ
ได้พื้นที่ห้องโดยสาร กว้างขวางกว่า Vios (เฉพาะด้านหลัง) !!
ไม่เชื่อใช่ไหมละ? Yaris ก็ยังคงทำตัวเป็นรถยนต์ที่สร้างความแปลกใจ
ให้กับลูกค้าทั่วโลก ในแทบทุกครั้งที่เปิดตัว เหมือนเช่นรุ่นแรกของมัน
เมื่อ 15 ปีก่อนหน้านี้ นั่นแหละ!!
Toyota มีความพยายามบุกตลาดรถยนต์ ขนาดเล็ก Sub-Compact Hatchback
ยุโรปมาช้านาน ตั้งแต่สมัยที่พวกเขาเริ่มปรับปรุง ตระกูล Publica ต่อยอกออกมาเป็น
Toyota Starlet ซึ่งก็ทำตลาดมาได้เรื่อยๆ ไม่หวือหวานัก แต่นับวัน Starlet ดูจะ
กลายเป็น รถยนต์ขนาดเล็กที่น่าเบื่อ สำหรับชาวยุโรป และชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง
พวกเขาจึงมอบหมายให้ Sotiris Kovos นักออกแบบดาวรุ่ง แห่ง ศูนย์ออกแบบ
Toyota European Office of Creation (EPOC) ในยุโรป พยายามหา
แนวทางใหม่ในการพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็ก เพื่อเอาใจชาวยุโรปโดยเฉพาะ
เดือนกันยายน 1997 Toyota จึงเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบตระกูล Fun ครบ 3 รุ่น
ไม่ว่าจะเป็น FunTime , FunCoupe และ FunCargo ในงาน Frankfurt
Motor Show เพื่อจะส่งสัญญาณสู่ชาวโลกว่า รถยนต์ขนาดเล็กจาก Toyota
นับจากนั้น จะถูกผลิตขายจริง โดยมีเส้นสายที่ถอดแบบมาจากรถยนต์ต้นแบบ
ทั้ง 3 รุ่นนี้ และมาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานวิศวกรรม ใหม่หมด ที่เรียกกัน
เป็นการภายในว่า NBC (New Basic Car)
พอถึงปี 1998 Toyota ก็เผยโฉม Yaris ออกมาครั้งแรก และเริ่มทำตลาดในยุโรป
ช่วงปี 1999 ถือเป็นภาพลักษณ์ใหม่ที่ทำให้คนยุโรปหันมามองแบรนด์ Toyota
กันอีกครั้งอ่างจริงจัง
ชื่อ Yaris นั้น ใช้วิธีการตั้งชื่อที่แปลก Toyota จ้างนักตั้งชื่อสินค้า ชื่อดังคนหนึ่ง
เดินเข้าไปดูรถคันจริง ในสตูดิโอออกแบบ ให้เวลาดู 5 นาที แล้วกลับไปค้นหา
ชื่อที่เหมาะสม
เขาเลือกใชื่อ Yaris ด้วยเหตุผลที่ว่า คำว่า “Ya” เป็นคำในภาษาเยอรมัน แปลว่า
“Yes” หรือ “ใช่.ตกลง” ในภาษาอังกฤษ อีกคำหนึ่ง คือ “Charis” เป็นเทพแผ่ง
ความหรูหราและความงามในเทพนิยายกรีกโบราณ
และถูกนำไปเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น ด้วยชื่อ VITZ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 1999
ก่อนจะส่งไปเปิดตัวใน ตลาดออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ด้วยชื่อ ECHO
ส่วนตัวถัง Sedan 2 และ 4 ประตู ขายในญี่ปุ่นชื่อ Platz ขณะที่ตลาดอื่นๆ
จะใช้ชื่อ ECHO เหมือนกัน และเป็นเพียง 2 ตัวถังที่ขายไม่ค่อยดี เพราะ
รุ่น Hatchback ขายกันระเบิดเทิดเทิง
Yaris รุ่นแรก ประสบความสำเร็จด้านยอดขายในยุโรป และญี่ปุ่นสูงมาก
แถมยังคว้ารางวัล European Car of the Year ประจำปี 2000 ทั้งที่
ปกติ รางวัลนี้ จะมีแต่รถยุโรปเท่านั้นที่ครองบรรลังก์อยู่ แถมในอดีตที่ผ่านมา
มีเพียง Nissan March รุ่นปี 1991 เท่านั้น ที่เป็นรถญี่ปุ่นรายแรกซึ่งได้
รางวัลนี้มาครอง
รุ่นที่ 2 เปิดตัวในญี่ปุ่นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2005 มีรหัสรุ่น NCP90-NCP91,
NCP95 ถูกสร้างขึ้นภายใต้รหัสโครงการ 351L ภายใต้การดูแลโดย Chief
Engineer ที่ชื่อ Kousuke Shibahara เวอร์ชันไทย เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ
17 มกราคม 2006 หรือเกือบ 1 ปี ให้หลัง มีรหัสรุ่น NCP91R-AHPGKT
ถือเป็น Yaris รุ่นแรก ที่ถูกนำมาขึ้นสายการผลิตในประเทศไทย
ถึงแม้ยอดขายในตลาดโลก จะยังไปได้สวย แต่ในเมืองไทย ด้วยการตั้งราคา
ที่แพงกว่าความคาดหมาย เพราะอัดออพชันมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึง
ทำให้ยอดขายช่วงแรกไม่ดีเท่าที่ควร จนถึงขั้นที่ชมรมดีลเลอร์ Toyota ใน
กรุงเทพมหานคร ต้องประชุม และเรียกร้องให้ Toyota Motor Thailand
ออกแคมเปญมาช่วยกระตุ้นยอดขายจึงทำให้ Yaris ขายออกไปได้ในระดับ
เรื่อยๆ จาก 1,000 คัน/เดือนค่อยๆ ลดลงเหลือ 900 และ 800 คัน/เดือน
รุ่นที่ 3 เปิดตัวในญี่ปุ่น เมื่อ 22 ธันวาคม 2010 ที่ Yokohama คราวนี้
Toyota เลือกทำตลาด Yaris รุ่นนี้ แค่ในญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย กับ
นิวซีแลนด์ แต่ยอดขายก็ยังไม่ค่อยเปรี้ยงปร้างนักเมื่อเทียบกับ รถรุ่นก่อน
ทั้ง 2 รุ่น
ในตอนแรก คนไทยคาดหมายกันว่า Yaris เวอร์ชันญี่ปุ่น / ยุโรป และรุ่นที่ 3
นี่แหละ ที่จะเข้ามาประกอบขายในเมืองไทย แต่ไปๆมาๆ ความเปลี่ยนแปลง
ก็เกิดขึ้น โดยไม่คาดคิด และทั้งหมดนั้น เป็นผลพวงมาจากการที่ Toyota
ตัดสินใจร่วมเกาะขบวนผู้ผลิตรถยนต์กลุ่มแรก ที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ จาก
ภาครัฐ ตามโครงการ ECO Car ของรัฐบาล ในช่วงสุดท้าย แม้จะไม่เห็นด้วย
ในตอนแรก
คำถามที่ตามมาคือ คราวนี้ Toyota จะเลือกรถยนต์รุ่นใด มาทำตลาดกลุ่มนี้ดี?
จากสารพัดข้อจำกัดมากมายก่ายกอง จนในทีสุด ก็มาลงตัวว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน
ในเมื่อ ข้อกำหนดของ โครงการ ECO Car ในเมืองไทย ระบุไว้ชัดเจนว่า
จะต้องผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ที่ยังไม่เคยผลิตออกจำหน่าย ในประเทศใดมาก่อน
ดังนั้น การเอา Yaris รุ่นที่ 3 ที่เตรียมจะผลิตออกขายในญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่ง
ทั้งโครงการ เดินหน้ากันไปไกลมากแล้ว มาพัฒนา เพื่อผลิตขายในเมืองไทย
จึงเป็นไปไม่ได้
ครั้นจะเอา Aygo รถยนต์ที่พัฒนาร่วมกันกับ กลุ่ม PSA Peugeot Citroen
ซึ่งก็ได้เวลาพัฒนารุ่นต่อไป มาทำ ก็ดูจะเล็กไปสำหรับตลาดเมืองไทย ซึ่งลูกค้า
ให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์ทางสังคมมาก ไม่แพ้คุณสมบัติด้านต่างๆ
ที่จะต้องได้รับอย่างครบครัน จากการซื้อรถยนต์ 1 คัน แม้ราคาจะถูกแค่ไหน
ก็ตาม อีกทั้ง ยังมีข้อตกลงกับทาง PSA ว่า ไม่สามารถผลิตออกขายที่ไหนอื่น
ได้อีกนอกเหนือจากโรงงานในสาธารณรัฐเชค เท่านั้น และไม่สามารถขาย
ในโซนอื่น นอกจากยุโรปได้ อีกต่างหาก!
ดังนั้น ก็เลยเหลือทางเลือก เพียงทางเดียว นั่นคือ Toyota ต้องพัฒนา Yaris
รุ่นใหม่ ขึ้นมา อีก 1 ตัวถัง เพื่อเอาใจตลาดศักยภาพสูงอย่าง จีน ซึ่งต้องการ
รถยนต์ hatchback ขนาดเล็ก แต่มีพื้นที่ใช้สอยเยอะกว่า Yaris เวอร์ชัน
ญี่ปุ่น/ยุโรป อย่างชัดเจน โดยใช้ Platform และ โครงสร้างวิศวกรรมบางส่วน
ร่วมกับ Vios แต่มีการปรับปรุงให้เข้ากับข้อกำหนด กฎเกณฑ์ของโครงการนี้
ไปเลยก็แล้วกัน (วะ)
TakeShi Matsuda : Chief Engineer ผู้พัฒนา ทั้ง Yaris และ Vios
รุ่นล่าสุด บอกว่า “ความตั้งใจของเขาตอนแรกก็คือ ทำ Yaris รุ่นนี้ ให้เป็นรุ่น
เปลี่ยนโฉม Full Model Change ของ Yaris สำหรับตลาดทั่วโลก ที่ไม่ใช่
ในยุโรป หรือญี่ปุ่น แต่ในเมื่อ ตลาดเมืองไทย มีนโยบายมาว่า ให้ทำ Yaris
รุ่นนี้ เป็น ECO Car เขาจึงต้องหาทางออกให้กับสารพัดคำถาม และข้อจำกัด
ซึ่งเกิดขึ้นมากมาย และผลลัพธ์ ก็ออกมาเป็น Yaris อย่างที่เห็นกันอยู่นี้
1 ปีก่อนการเปิดตัวเวอร์ชันจำหน่ายจริง Toyota เลือกจะเริ่มเกริ่นให้ทั่วโลกได้รับรู้
ในการมาถึงของ Hatchback รุ่นใหม่คันนี้ ด้วยการสร้างรถยนต์ต้นแบบ คันสีเขียว
ในชื่อ Toyota Dear Qin Hatchback เพื่อเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก
ควบคู่กันกับ Toyota Dear Qin Sedan คันสีแดงเลือดหมู ในงานแสดงรถยนต์
Bejing Automotive Show ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2012
Dear Qin ทั้ง 2 คัน เผยให้เห็นถึงแนวโน้มเส้นสายของ Vios และ Hatchback
5 ประตู รุ่นต่อไป สำหรับตลาดโลก ว่าจะแตกต่างไปจากรถยนต์รุ่นเดิม ที่ทุกคน
เคยเห็นกันมาก่อนหน้านี้ โดยสิ้นเชิง
การเผยโฉม Dear Qin คันสีเขียว อันเป็นตัวแทนของ Yaris ใหม่ที่จะต้อง
เปิดตัว ในอีก 1 ปี หลังจากนั้น เป็นการสื่อสารให้โลกได้รู้ว่า รถคันนี้ ถูก
ออกแบบขึ้นมาเพื่อเอาใจลูกค้าชาวจีน ในฐานะ ตลาดเป้าหมายหลักของ
รถคันนี้ นั่นเอง!
ในเมื่อ เป้าหมายในการพัฒนารถยนต์คันนี้ อยู่ที่การเอาใจลูกค้าชาวจีน ดังนั้น
พวกเขาก็เลยเลือกเปิดตัว Yaris รุ่นประหลาดนี้ เป็นครั้งแรกในโลก กันที่งาน
Auto Shanghai.ใหรือชื่อเต็มคือ Shanghai Automobile Industry
Exibition ครั้งที่ 15 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่
20 เมษายน 2013 กันเสียเลย
แต่กว่าจะพร้อมออกสู่ตลาดเมืองจีนกันจริงๆ GAC-Toyota บริษัทร่วมทุน
ของ Toyota กับชาวจีน ที่จะรับหน้าที่ผลิตและจำหน่าย Yaris ต้องรอถึง
วันที่ 26 สิงหาคม 2013 จึงจะเริ่มปล่อยข้อมูลตัวรถทั้งหมดออกมา และ
เริ่มส่งรถยนต์ขึ้นโชว์รูมทั่วเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ในชื่อ Yaris-L
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2013 ที่ผ่านมา
ไทย ถือเป็นประเทศลำดับ 2 ในโลก ที่ Toyota เผยโฉม Yaris ใหม่รุ่นนี้
งานเปิดตัว มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2013 ณ ห้างสรรพสินค้า Central
World สี่แยกราชประสงค์
TakeShi Matsuda : Chief Engineer ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนา
Vios และ Yaris สำหรับตลาดเกลุ่มอเซีย บอกว่า ในตอนแรก เขาตั้งใจ
สร้างรถคันนี้ให้เป็น B-Segment Hatchback ในฐานะรุ่นเปลี่ยนโฉม
ใหม่ทั้งคันของ Yaris เพื่อตลาดเอเซีย โดย…
“ไม่ได้ตั้งใจทำรถคันนี้ให้เป็น ECO Car มาตั้งแต่แรก”
ทว่า เมื่อนโยบายของผู้บริหาร กำหนดว่า สำหรับตลาดเมืองไทย รถคันนี้
ต้องเข้ามาทำตลาดในฐานะ ECO Car ดังนั้น มันจึงเกิดข้อจำกัดต่างๆ
มากมาย เขาและทีมงานจึงพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น อย่าง
ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้
Matsuda-san จึงเลือกที่จะไม่ประณีประณอม กับประเด็นเรื่องเส้นสาย
ของตัวรถ เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบภายนอก และภายใน ซึ่งต้อง
นั่งสบายไม่เบียดเสียดกันขณะเดียวกัน ต้องยกระดับความประหยัดน้ำมัน
ให้เพิ่มมากขึ้น ยกระดับความเงียบในห้องโดยสาร รวมทั้งการเกาะถนน
ชนิดที่ว่าถ้าเทียบกับรุ่นก่อนแล้ว ต้องเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
Yaris ใหม่ มีตัวถังยาว 4,115 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร
เมื่อเปรียบเทียบกับ Yaris รุ่นก่อน ซึ่งมีตัวถังยาว 3,800 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,520 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,460 มิลลิเมตร จะพบว่า Yaris ใหม่ ยาวขึ้นกว่าเดิมถึง
315 มิลลิเมตร กว้างขึ้นแค่ 5 มิลลิเมตร แต่เตี้ยลง 45 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวขึ้น
90 มิลลิเมตร
แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามมาก็คือ มิติในด้านต่างๆของตัวรถที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น
ระยะห่างระหว่างผู้โดยสารตอนหน้าและหลังเพิ่มขึ้นเป็น 912 มิลลิเมตร (มากกว่าเดิม 46
มิลลิเมตร) พื้นที่วางเท้าสำหรับผู้โดยสารด้านหลังมีความยาวถึง 663 มิลลิเมตร (ยาวกว่าเดิม
77 มิลลิเมตร) แผงพนักพิงเบาะหลังกว้างขวางขึ้นขนาด 1,310 มิลลิเมตร (มากกว่ารุ่นเดิม
10 มิลลิเมตร) ระยะห่างจากจุดกึ่งกลางล้อหลัง – กันชนหลัง มีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 690
มิลลิเมตร (ยาวกว่ารุ่นเดิม 110 มิลลิเมตร) ทำให้ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถมีความยาวถึง
734 มิลลิเมตร (ยาวกว่าเดิม 140 มิลลิเมตร) จนมีปริมาตรความจุถึง 326 ลิตร
เส้นสายภายนอก มาในสไตล์ เฉียบคม เน้นเหลี่ยมสัน พร้อมกระจังหน้าที่ดูคล้ายกับ
Mitsubishi RVR / ASX หรือ Lancer EX เสียด้วยซ้ำ แต่เพิ่มความแตกต่าง ด้วย
แถบสีเงิน แบบหนวดปลาดุก จนผมแทบอยากจะตั้งฉายารถคันนี้ว่า “Yaris รุ่นลุงหนวด!”
กระจังหน้าในรุ่น G กับ E จะเป็น หนวดสีเงิน ส่วน รุ่น J และ J ECO เป็น หนวดสีดำ
มือจับประตูด้านข้าง รุ่น G จะเป็นโครเมียม ส่วนรุ่นอื่นๆ จะเป็นสีเดียวกับตัวถัง
ชุดไฟหน้ารุ่น G จะเป็นโคมไฟแบบโปรเจคเตอร์ ส่วนรุ่นอื่นๆที่เหลือ จะเป็น
ไฟหน้าแบบ Multi Reflector ธรรมดา
กระจกมองข้าง รุ่น G E และ J จะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ส่วนรุ่น J CO จะเป็นสีดำ
เฉพาะรุ่น G จะมีไฟเลี้ยวติดตั้งมาให้ด้วย
รายละเอียดภายนอกบางชิ้น สามารถใช้ร่วมกับ Vios ได้ ตัวอย่างเช่น ครีบรีดอากาศ
ที่เสาขอบประตู ใกล้กับกระจกมองข้าง หรือมือจับประตูทั้ง 4 ชิ้น กระจกหน้าต่าง
คู่หน้า ก็สามารถใช้ทดแทนร่วมกันได้กับ Vios กระจกบังลมหน้า ในรุ่น G ก็ยัง
เป็นแบบ Acoustic Glass เสริม ฟิล์มสอดแทรกเป็นไส้กลาง ช่วยลดเสียงรบกวน
ขณะขับขี่
ส่วนบั้นท้ายนั้น ด้วยเหตุที่ ทีมออกแบบน่าจะอยากสร้างความต่อเนื่องของเส้นสาย
จากหน้าต่างประตูคู่หลัง จรดกระจกบังลมหลัง จึงต้องมีแผงพลาสติกสีดำ Glossy
มาแปะไว้ เชื่อมต่อไม่ให้เส้นสายสะดุด แล้วทำชุดไฟท้ายให้มีกรอบทรงประหลาดๆ
โดยใช้กรอบท่อนล่างของ Vios ลากเส้นขึ้นไปให้ยาว ในแบบที่ไม่เหมือนใคร และ
ไม่มีใครอยากเหมือน
เข้าใจละว่า อยากทำไฟท้ายให้ฉีกแนว ล้ำอวกาศ เหมือนในรถต้นแบบ Dear Qin
แต่พอออกมาจริงๆ นอกจากจะไปละม้ายคล้ายคลึงกับไฟท้ายของ Peugeot 208
รุ่นใหม่กันแล้ว มันยิ่งไปทำลายความลงตัว ของงานออกแบบฝาประตูคู่หลัง และ
บานประตูคู่หลัง จนทำให้บั้นท้าย ดูแปลกๆ ประดักประเดิด ในเส้นสาย อย่าง
น่าเสียดายยิ่ง
เหมือนมีใครเอาก้อนเลือดกำเดาไหล ไปแปะอยู่กับไฟท้ายของ Vios ยังไงยังงั้น!
ทุกรุ่นติดตั้ง ใบปัดน้ำฝน พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลังมาให้ เช่นเดียวกับ
ทับทิมสะท้อนแสง มุมกันชนด้านล่าง รวมทั้งมีสปอยเลอร์เหนือกระจกบานหลัง
มาให้ แทบทุกรุ่น
ส่วน แถบประดับเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ในรุ่น G จะเป็นแถบโครเมียม
รุ่น E เป็นสีเดียวกับตัวถัง ส่วนรุ่น J จะเป็นสีดำ
รุ่น G จะให้ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้วพร้อมยาง ขนาด 185/60 R15 ขณะที่รุ่น E
จะได้ล้อกระทะ 15 นิ้วพร้อมฝาครอบล้อแทนล้ออัลลอย แต่ถ้าเป็นรุ่น J จะได้
ล้อกระทะ 14 นิ้ว พร้อมฝาครอบล้อ ที่สวมยางขนาด 175/65 R14 แต่รุ่นถูกสุด
J Eco จะไม่มีแม้แต่ฝาครอบล้อมาให้เลย เป็นเพียงล้อกระทะเหล็กสีดำ พร้อม
ยางขนาดเดียวกันกับรุ่น J คือ 175/65 R14 ธรรมดา บ้านๆ โล้นๆ
ระบบกุญแจในรุ่น G จะเป็นรีโมทกุญแจแบบ Keyless-Entry หากพกรีโมท
รีโมทกุญแจไว้กับตัว ก็สามารถเดินเข้ามากดปุ่มสีดำ ที่มือจับ เพื่อเปิดประตูรถ
และกดปุ่มสีดำ เพื่อสั่งล็อก หากปิดประตูเพื่อออกจากตัวรถ ติดเครื่องยนต์ด้วย
การกดปุ่ม Push Start ซึ่งติดตั้งอยู่ฝั่งขวา ตำแหน่งเดียวกันกับ Vios พร้อม
ระบบกันขโมยนิรภัย Immobilizer และระบบเตือนการโจรกรรม TDS (Theft
Deterrent System มาให้ ส่วนรุ่น E จะเป็นกุญแจรีโมทแบบไข
แต่ในรุ่นอื่นๆ จะเป็นกุญแจแบบมาตรฐานสหกรณ์ ของ Toyota ตามปกติ
โดยเฉพาะรุ่น J กับ J ECO นั้น หน้าตาของกุญแจ ชวนให้นึกถึง ดอกกุญแจ
ของ Toyota Hilux Mighty-X รุ่นปี 1990 กันเลยทีเดียว!
ในเมื่อเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar กรอบช่องประตูคู่หน้า และเสาหลังคาคู่กลาง
B-Pillar ยกชุดมาจาก Vios ดังนั้น ถ้านำ Vios ใหม่ และ Yaris ใหม่ มาจอด
ขนาบข้างเคียงคู่กัน ถ้าคุณพบว่าการลุกเข้า – ออกจากเบาะนั่งคู่หน้า ของทั้ง
2 รุ่น มันเหมือนกันเปี๊ยบ! ไม่ต้องแปลกใจครับ มันก็จะเป็นไปตามที่คุณ
คิดเอาไว้เป๊ะเลยนั่นแหละ! ถ้ามันต่างกัน เนี่ยสิ แสดงว่า ประสาทสัมผัส
ของคุณต้องมีปัญหาแล้วแหงๆ
การเข้า – ออกขึ้นลงจากบานประตูคู่หน้า อาจต้องใช้ความระมัดระวังสักเล็กน้อย
เนื่องจาก เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ค่อนข้างลาดเอียง แนะนำว่า สำหรับคนตัวสูง
หรือศีรษะใหญ่โต ควรปรับตำแหน่งเบาะคนขับให้ต่ำที่สุดก่อน เพื่อช่วยลดโอกาส
จากศีรษะไปโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า
แผงประตูด้านข้าง ออกแบบให้ตำแหน่งวางแขน อยู่ในระดับที่เหมาะสมเหมือน
ใน Vios รุ่น G ที่ทดลองขับนี้ ตกแต่งด้วยวัสดุพลาสติก สีเงิน Metallic ประดับ
เข้ากับ พลาสติกสีดำ กัดลายขึ้นรูป เป็นลายฝีเย็บหลอกๆ เหมือนแผงหน้าปัด
มือจับประตูด้านข้าง ออกแบบเป็นช่องวางโทรศัพท์มือถือชั่วคราวได้ในตัว
ช่องวางของด้านล่างของแผงประตู ใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้สบายๆ และ
ยังพอมีพื้นที่เหลือพอให้เสียบ สมุดโน็ตเล่มเล็กๆได้อยู่
มือจับเปิดประตูด้านในรถ ของรุ่น G เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ทั้ง 4 จุด
เบาะนั่งคู่หน้า เป็นไปตามคาดครับ ยกเบาะผ้าสีดำจาก Vios ใหม่มาติดตั้ง
ให้ใช้กัน ยกชุด! เปลี่ยนแค่ ลายผ้าเบาะตรงกลาง จากสีน้ำเงิน มาเป็นสีส้ม
พร้อมตะเข็บเย็บเชื่อมผ้าหุ้มเบาะ สีส้ม เพื่อเพิ่มบุคลิก Sport ให้แตกต่าง
กันจาก Vios อีกเพียงนิดเดียว
แน่นอนว่า สัมผัสจากแผ่นหลังของผมที่พบเจอ จึงไม่ต่างจากเบาะของ
Vios ใหม่เลย
โครงสร้างเบาะนั่งคู่หน้า สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้มากขึ้น
จากเดิม 240 มิลลิเมตร เป็น 260 มิลลิเมตร และซอยจังหวะในการปรับเลื่อน
ให้ถี่ขึ้น จาก 16 เป็น 26 จังหวะ ส่วนเบาะคนขับสามารถปรับระดับสูง – ต่ำ
ได้ด้วยก้านโยก เพิ่มขึ้นจาก 45 เป็น 60 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบด้านหลังเบาะให้มีส่วนเว้าเพิ่มขึ้น 38 มิลลิเมตร
เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างหัวเข่าผู้โดยสารด้านหลัง กับเบาะหน้า เพิ่มขึ้นเป็น
48 มิลลิเมตร
พนักพิงศีรษะของเบาะหน้า ออกแบบมาให้รองรับได้สบายกำลังดี ขณะที่
พนักพิงหลัง ถูกออกแบบให้เว้าลึกเข้าไป โอบกระชับสรีระมากขึ้น อีกทั้งยัง
รองรับช่วงหัวไหล่ และสะโพกดีขึ้นกว่าเดิมชัดเจน ถือว่า แก้ปัญหาเบาะนั่ง
ไม่สบาย ใน Yaris รุ่นเดิม ได้จนเกือบจะจบ เพราะเบาะรุ่นเดิมนั้น ทำเอา
แผ่นหลังของผมเกิดอาการปวดหลังได้เพียง 15 นาที ที่ขึ้นไปนั่งขับ แต่
เบาะของ Vios / Yaris ใหม่ ผมต้องใช้เวลานานกว่านั้น ราวๆ เกือบ ชั่วโมง
จึงจะเริ่มมีอาการเมื่อยปรากฎขึ้นมา
แต่สิ่งที่ยังแก้ไม่จบ และควรปปรับปรุงกันต่อไป นั่นคือ เบาะรองนั่งยังคง
สั้นไปหน่อย ถ้าเพิ่มความยาวมากกว่านี้ อีกราวๆ 10 มิลลิเมตร น่าจะช่วย
ให้การรองรับต้นขา ขณะขับขี่ทางไกล สบายขึ้นกว่านี้อีกนิดนึง
อีกประเด็นที่น่าตำหนิเป็นที่สุด นั่นคือ เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด นั้น
ปรับระดับ สูง – ต่ำ ไม่ได้ ที่พบเจอใน Vios ยังโผล่มาให้เห็นใน Yaris
อีกด้วย ถือว่า เป็นการลดต้นทุนอย่างน่าเกลียดมาก ทีถุงลมนิรภัย ยังใส่
มาให้ตั้ง 2 ใบ แล้วทำไม อุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐาน อย่างระบบ
ปรับระดับความสูง – ต่ำ ของ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ทำไมจึงไม่ใส่มาให้?
นอกจากนี้ ยังไม่มี พนักวางแขน สำหรับคนขับมาให้เลยแม้แต่รุ่นเดียว
น่าเสียดายจริงๆ
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ก็ไม่ต่างไปจาก Vios ใหม่เลย สัมผัสได้ชัดเจนว่า
มีพื้นที่ โปร่งโล่งสบายกว่า Yaris รุ่นก่อน ชัดเจน แบบไม่ต้องสืบ แค่ลอง
สลับกันนั่ง ระหว่างรถรุ่นเก่า กับรถรุ่นใหม่ คุณก็จะรู้เอง
การลุก เข้า – ออก จากประตูคู่หลังนั้น แม้ว่าช่องทางเข้า จะกว้างขึ้นกว่า
Yaris รุ่นเดิม แต่ อย่าชะล่าใจเชียวละ! เพราะผมต้องก้มหัวลงเพิ่มจาก
ระดับปกติอีกพอสมควาร ไม่เช่นนั้น หัวของผม จะโขกเข้ากับด้านบน
ของกรอบทางเข้าไปเต็มๆ สภาพแบบนี้ ไม่ต่างจาก ที่เจอมาใน Vios
ใหม่ กันเลยแม้แต่น้อย
กระจกหน้าต่างไฟฟ้าคู่หลัง สามารถเลื่อนเปิดลงมาได้จนสุดขอบราง
แผงประตูคู่หลัง มีพื้นที่วางแขน ในระดับพอใช้งานได้ ข้อศอกเกือบจะ
วางลงไปได้ (แต่ถ้าเป็นเด็กตัวเล็กๆ หรือสูงน้อยกว่าผม คาดว่า น่าจะ
วางข้อศอกลงไปได้พอดีๆ แต่ไม่มีการบุหนังหรือวัสดุอ่อนนุ่มใดๆ และ
ไม่มีช่องใส่ของด้านข้างมาให้เลยทั้งสิ้น
จุดขายสำคัญของ Yaris ใหม่ อยู่ที่เบาะหลัง ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ และ
โอ่โถงที่สุด เบาะหลัง มีพนักพิงที่รองรับแผ่นหลังรวมทั้งช่วงหัวไหล่
พอสบายใช้ได้ ฟองน้ำแน่นกำลังดี ไม่แข็งและไม่นิ่มจนเกินไป
พนักศีรษะ ทั้ง 2 ฝั่ง ออกแบบให้ใช้งานได้จริง รองรับศีรษะได้สบาย
เว้นเสียก็แต่ พนักศีรษะตรงกลางรูปตัว L คว่ำ ซึ่งจะต้องยกขึ้นใช้งาน
จึงจะไม่ทิ่มตำต้นคอ และถ้าเป็นไปได้ จะถอดออกแล้วเก็บไว้ในบ้าน
ก็คงไม่เสียหายอะไรด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่มีพนักวางแขนแบบ
พับเก็บได้ และไม่มีช่องวางแก้วสำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้เลย
ซึ่งจะว่าไป ก็ไม่ต่างไปจาก ECO Car ตัวถัง Hatchback 5 ประตู
คันอื่นๆ ในตลาดกันนักหรอก
เบาะรองนั่ง ออกแบบมาได้กำลังดี แต่สั้นไปหน่อย กระนั้น ถ้าจะ
ให้ยาวกว่านี้ ก็คงทำได้แค่นิดเดียว มิเช่นนั้น อาจต้องมานั่งปาด
ขอบเบาะ เพื่อให้พอจะเหลือพื้นที่เหวี่ยงขา ขณะลุกเข้า – ออก
จากประตูคู่หลัง ซึ่งคงไม่ดีแน่ ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น
พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตร อย่างผม จะเหลือ
ให้สามารถสอดนิ้ว 3 นิ้ว ในแนวนอน แทรกกลางระหว่างปลายเส้นผม
กับเพดานหลังคาด้านบน ได้พอดีๆ ผมละนึกเสียดาย เพราอยากได้
พื้นที่เหนือศีรษะแบบนี้ ใน Vios ใหม่ชะมัด แต่ดูเหมือน Toyota
จะไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องนี้ได้ ใน Vios รุ่นปัจจุบันนี้
ส่วนพื้นที่วางขานั้น ใหญ่สะใจ สมกับที่ถูกออกแบบมาให้เป็นรถยนต์
B-Segment Hatchback ตั้งแต่แรก เพราะ คนตัวใหญ่อย่างผม
ยังสามารถ นั่งไขว่ห้างได้อย่างสบาย ทั้งที่ได้ปรับเบาะคนขับให้อยู่
ในระดับที่ขับใช้งานตามปกติด้วยซ้ำ!
ดังนั้น ผมจึงยืนยันให้ตรงนี้เลยว่า พื้นที่นั่งโดยสารของ Yaris ใหม่
ใหญ่โต โอ่อ่าโอลั่นล้า เป็นที่สุด ในบรรดา ECO Car ทุกคันที่ผลิต
ขายในประเทศไทย จนถึงปี 2016!
เหนือบานประตูทั้ง 4 บาน มีมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) มาให้ ครบทั้ง
4 ตำแหน่ง…เนี่ย ที่ของแบบนี้ มีมาให้ครบ ทีเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ปรับระดับ
สูง – ต่ำได้ เห็นถอดออกกันไปหน้าตาเฉยเลยเนี่ยนะ?
เข็มขัดนิรภัย สำหรับเบาแถวหลังนั้น มีมาให้เป็นแบบ ELR 3 จุด
ทุกที่นั่ง แต่สำหรับ ผู้โดยสารตรงกลางนั้น ถูกติดตั้งไว้กับเสาหลังคา
ด้านหลังสุด C-Pillar ฝั่งซ้ายของตัวรถ แล้วลากสาย โยงเชื่อมจุดยึด
มาที่กึ่งกลางเพดานหลังคา ก่อนจะลากเชื่อมลงมาให้ได้ใช้งานกัน
Matsuda-san บอกว่า ในช่วงพัฒนา มีการถกเถียงถึงประเด็นนี้เยอะมาก
เพราะเขาและทีมงาน ตั้งใจจะออกแบบให้มี เข็มขัดนิรภัย 3 จุด สำหรับ
ผู้โดยสารตรงกลางอยู่แล้ว แต่ราคาก็ต้องถูกพอที่ลูกค้าจะจ่ายได้ แถมยัง
ต้องออกแบบไม่ให้บดบังทัศนวิสัยในขณะถอยหลังเข้าจอดอีกด้วย ซึ่ง
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
ถ้าจะพับม้วนเก็บให้เรียบร้อย ต้องออกแบบให้สายเข็มขัดวางพาดผ่าน
หัวไหล่ ของผู้โดยสารตรงกลาง แต่ถ้าเช่นนั้น อาจถึงขั้นต้องออกแบบ
โครงสร้างของชุดเข็มขัด ฝังรั้งตรึงไว้ในชุดเบาะหลัง ซึ่งจะเพิ่มต้นทุน
ให้มากขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไม เข็มขัดนิรภัย 3 จุด
สำหรับผู้โดยสารตรงกลาง บนเบาะหลัง ถึงต้องออกแบบให้เป็นอย่างนี้
ส่วนเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสาร ฝั่งซ้าย และขวา มีสายล็อกป้องกัน
ไม่ให้สายเข็มขัดเคลื่อนตำแหน่ง มาในแบบใช้สายผ้าติดกระดุมแป๊ก
เหมือนกับที่พบได้บนบ่าข้างของเบาะคู่หน้าใน Toyota 86 และมี
ร่องสำหรับเสียบยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้
พนักพิงเบาะนั่งด้านหลัง ในรุ่น G กับ E จะแบ่งพับแยกฝั่งซ้าย – ขวา
ได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 แต่ถ้าเป้นรุ่น J กับ J ECO เบาะหลังพับได้
จริงอยู่ แต่ต้องพับพนักพิงทั้งแผง ลงมาเป็นก้อนเดียวกันไปเลย เหมือน
บรรดา ECO Car Hatchback รุ่นปี 2010 – 2011 ทั่วๆไป
ตำแหน่งของก้านปลดล็อกพนักพิงเบาะกับตัวถังนั้น ไม่ได้ติดตั้งที่
หัวไหล่ของพนักพิง หาแต่ติดตั้งอยู่ที่ฝานังด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง เป็น
ปุ่มกดลงไป เพื่อปลดล็อกแล้วพับพนักพิงลงมาได้ทันที
ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ใช้ระบบกลอนไฟฟ้า เชื่อมต่อสัญญาณกับ
รีโมทกุญแจ Keyless Entry แต่บางกรณี ถ้ายังติดเครื่องยนต์อยู่ ก็อาจ
ไม่ยอมปลดล็อกให้บ้างเหมือนกัน จำเป็นต้องดับเครตื่องยนต์ก่อน แล้ว
ค่อยเดินมาเปิดฝาประตูหลังกันอีกรอบ ให้หน่ายจิต เปลืองอุรา
รอบกรอบช่องทางเข้าห้องเก็บของด้านหลัง บุพลาสติกมาให้เรียบร้อย
ครบถ้วน ต่างจาก ECO Car หลายๆรุ่น ที่ยังปล่อยเปลือยให้เห็นผิวของ
เนื้อเหล็กสีตัวถังรถกันอยู่ ฝาประตูค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น
มีแผงบังสัมภาระ ที่สามารถปล่อยวางอยู่กับที่ หรือยกขึ้นพร้อมกับ
ฝาประตูหลังได้ เพียงแค่เกี่ยวห่วงที่สายเชือกเล็กๆทั้ง 2 ฝั่ง เข้ากับ
ขอเกี่ยวยึด บริเวณติดกับ ขอบกระจกบังลมหลัง ด้านใน
แต่บานประตูห้องเก็บของด้านหลังนั้น ไม่มีการบุพลาสติกใดๆมาให้
มีเพียงแค่บุผนังด้านใน และออกแบบช่องมือจับสำหรับดึงฝาประตู
ปิดลงมา บริเวณฝั่งขวาของกลอนประตู แค่นั้น
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความยาว 734 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจาก Yaris
รุ่นเดิม ถึง 140 มิลลิเมตร มีปริมาตรความจุ 326 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA
เยอรมันี สามารถบรรจุกระเป๋าเดินทางขนาดกลาง แบบ Hard Case ได้
3 ใบ พร้อมกระเป๋าเดินทางแบบสะพายไหล่ อีก 1-2 ใบ ถือว่ามีความจุ
เยอะสุดในบรรดา ECO Car ตัวถัง Hatchback ทุกคันในบ้านเราตอนนี้
ผนังด้านข้าง ฝั่งซ้าย มีไฟส่องสว่างในห้องเก็บของ เปิด – ปิดได้ด้วยสวิชต์
ที่ฝังมาในตัว และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ Dunlop
SP10 ขนาด 175/65 R14 อันเป็นขนาดยางมาตรฐานของรุ่น E รุ่น J และ
J ECO มาให้ พร้อมเครื่องมือ และแม่แรงประจำรถจากโรงงาน
แผงหน้าปัด หน้าตาคุ้นๆ ก็ไม่ต้องงงหรอกครับ ยกชุดมาจาก Vios ใหม่ทั้งดุ้น
เหมือนกันอย่างกับแกะ มากันครบไม่เว้นแม้กระทั่ง แนวตะเข็บเส้นด้าย หรือ
Stitch ซึ่งเป็นลายตะเข็บแบบหลอกๆ ด้วยวิธีปั้มชิ้นส่วนพลาสติกขึ้นรูปให้
มีลวดลายแบบที่เห็นอยู่นี้ เพื่อเพิ่มความหรูให้กับตัวรถ ก็ยังเหมือนกันชนิดที่
เรียกได้ว่า พิมพ์เขียวลงประทับตรา สำเนาถูกต้อง !
เพียงแต่วัสดุการตกแต่ง แตกต่างกันเล็กน้อย ไปตามแต่ละรุ่นย่อย แถมวัสดุ
ประดับบริเวณกรอบนอกของชุดเครื่องเสียง ก็ยังเป็นพลาสติกพื้นผิวเรียบๆ
มิได้มี พื้นผิว Texture พิเศษ แบบหน้ากากชุดเครื่องเสียงแต่อย่างใด
แถบโค้งต่อเนื่อง จากช่องแอร์ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง เข้าหาแผงควบคุมกลาง จะเป็น
พลาสติก สีดำปกติ ไม่ได้ประดับด้วย Trim ดำเงา หรือสีเงิน อย่างใน Vios ใหม่
แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ทว่า ฐานคันเกียร์ แผงมือจับประตูทั้ง 4 บาน และ กรอบของช่องวางโทรศัพท์
มือถือ ใน Yaris รุ่น G ประดับด้วย Trim สีเงิน แทน…ช่างดูให้ชวนงุนงงจริงๆ
มองขึ้นไปด้านบน จะพบ วัสดุบุเพดานหลังคาแบบ Recycle เป็นสีดำ ตามปกติ
แต่ มีแผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้า แบบมีฝาปิดมาให้ทั้งฝั่งคนขับ และฝั่ง
โดยสาร แต่ไม่ยักมีไฟแต่งหน้ามาให้ คงคิดว่า ใช้ไฟส่องสว่างในเก๋ง พร้อม
ไฟส่องอ่านแผนที่แยกกดเปิด – ปิด ในตัว น่าจะเพียงพอแล้ว..ซึ่งความจริง
แสงแค่นั้นมันจะไปพออะไร้!
จากฝั่งขวา มาทางซ้าย ของแผงหน้าปัด ยังคงยกชุดสลับสับเปลี่ยนกับ Vios
ได้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน แบบมี
สวิชต์ Auto One-Touch กดเลื่อนลง หรือดึงเลื่อนขึ้น จนสุดเพียงจังหวะเดียว
พร้อมสวิชต์ ล็อกกระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสารทั้ง 3 บาน และ Central Lock
บนแผงประตูฝั่งคนขับ สวิชต์กระจกมองข้างปรับ และพับด้วยระบบไฟฟ้า
กับสวิชต์ติดเครื่องยนต์ Push Start ใต้ช่องแอร์ ฝั่งคนขับ ช่องวางแก้ว แบบ
เลื่อนเปิด-ปิดได้ ใต้ช้องแอร์ฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านซ้ายสุด
พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน พร้อมสวิชต์ Mullti Function ควบคุมชุดเครื่องเสียง บน
ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้่าย ยกมาจาก Vios มี Grip ที่จับถนัดมือ แต่มีระยะห่างจาก
ขอบด้านบนสุดของมาตรวัด น้อยมาก เท่ากันกับ Vios ไม่มีผิด ภาพรวมดูแล้ว
รู้ได้เลยว่า จงใจออกแบบให้เน้นต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด ยังดีที่ในรุ่น G
พวงมาลัยยังหุ้มหนังมาให้ด้วย
อยากบอกเลยว่า พวงมาลัย คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความรู้สึกดีๆ ให้ผู้คน
อยากขับรถคันนั้นๆ ถ้าออกแบบให้มันดูสวยไม่ได้ เพราะมานั่งคำนึงว่า
ต้นทุนจะแพงไปนั้น ผมว่า เลิกทำรถขาย แล้วกลับไปอยู่บ้าน เลี้ยงลูกเมีย
ยังดีซะกว่า! งกไม่เข้าเรื่อง ในเรื่องไร้สาระแบบนี้เนี่ยนะ??
บนก้านสวิชต์เปิดไฟหน้า ไฟเลี้ยว และไฟสูงบนคอพวงมาลัยฝั่งขวา
ไม่ต้องคลำหาสวิชต์ไฟตัดหมอกหน้านะครับ เพราะ Yaris ใหม่ ไม่มี
ไฟตัดหมอกหน้ามาให้เลยแม้แต่รุ่นเดียว
ส่วนก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝนพร้อมที่ฉีดน้ำด้านหน้า มีระบบหน่วงเวลา
และสามารถตั้งเวลาในการหน่วงให้ปัดเร็ว – ช้าได้ เฉพาะรุ่น G และ E
ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 3 วงกลม เหมือนกัน ตำแหน่งสัญญาณไฟเตือนต่างๆ
ก็เหมือนกัน ตอนกลางคืน ก็เรืองแสงสีขาวเป็นหลัก เหมือนกัน แม้กระทั่ง
Font ตัวเลข ที่อ่านง่าย แบ่งขีดความเร็ว ชัดเจน และดูคล้ายยกมาจากตัวเลข
ในป้ายโฆษณาของห้าง TESCO Lotus ก็ยังคงเหมือนกันกับ Vios รุ่น Top
1.5 S เพียงแต่ว่า ลวดลาย Graphic บนพื้นหลัง ถูกออกแบบให้ใช้โทนสีแดง
เป็นหลัก นัยว่า เพิ่มบุคลิก Sport ให้มากขึ้น
เฉพาะรุ่น G จอแสดงข้อมูลตรงกลาง เปลี่ยนมาเป็นสีส้ม ตัวเลข Digital สีดำ
บอกตำแหน่งเกียร์ มาตรวัดระยะทางรวมทั้งหมด ตั้งแต่รถเริ่มผลิต Odometer
มาตรวัด Trip Meter A และ B อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย
และระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้รถแล่นต่อไปได้อีกกี่กิโลเมตร
แต่ที่ยังคงต้องตำหนิกัน ตามเดิมก็คือ ลายกราฟฟิคบนพื้นหลังของมาตรวัดยังคง
เป็นพื้นเรียบๆ แบนๆ ไร้มิติ แบบเดียวกับที่เด็กประถม เขาลองหัดเล่น โปรแกรม
Paintbrush ใน Windows 98 แล้วพิมพ์ออกมาผ่านทาง Printer แบบ
Dot Matrix เก่าๆ ที่เอาไว้ใช้พิมพ์บิล หรือ ใบเสร็จ ก่อนจะมาตัดเป็นวงกลม
เพื่อ แปะเป็นพื้นหลังของมาตรวัด….
ช่วยออกแบบให้ดูดี มีมิติ ชัด ตื้น ลึก กว่านี้ และดูจงใจลดต้นทุนน้อยกว่านี้ได้ไหม?
ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมช่องใส่แผ่น CD/MP3/WMA ได้ 1 แผ่น
และมีช่องเสียบ USB และ AUX มาให้ ถ้าเป็นรุ่น G กับ E จะมีลำโพงมาให้
4 ชิ้น แต่ถ้าเป็นรุ่น J กับ J ECO จะมีเพียงแค่ 2 ชิ้น เท่านั้น
คุณภาพเสียง ก็ไม่ต่างจากใน Vios นั่นละครับ คือ ไม่ใช่ขั้นเทพ พอฟังได้
รับคลื่นชัด หน้าจอสีส้ม บอกภาษาได้ทั้ง อังกฤษ ไทย ญี่ปุ่น แม้แต่ภาษาจีน!
International กันดีเลยทีเดียว! อีกหน่อย จะอ่านภาษาฮิบรู ได้ด้วยเลยก็ดีนะ!
ส่วนสวิชต์เครื่องปรับอากาศ ในรุ่น G เป็นแบบ มีหน้าจอ Digital มาให้ ยกชุด
จาก Vios เช่นกัน ให้ความเย็นสะใจ ตามสไตล์ DENSO แต่การใช้งาน ยังคง
สร้างความสับสนได้ โดยเฉพาะสวิชต์ฝั่งซ้ายสุด ที่เลือกจะรวมการหมุนเลือก
ความแรงพัดลม ทิศทางลมจากช่องแอร์ และตัวเลขอุณหภูมิ ไว้ในสวิชต์หมุน
ชุดเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่า จะเลือกกดปุ่ม Mode ใด บางที ถ้าไม่ละสายตาจาก
ถนนข้างหน้า ลงมาเปลี่ยน Mode เอง ก็อาจสับสนได้
ชวนให้นึกถึงสวิชต์แบบมือบิด วงกลม 3 วง ในรุ่น E J และ J ECO ขึ้นมาชะมัด!
ใช้งานง่าย สะดวกสบาย คลำหาก็จำได้ว่านต้องหมุนต้องเปลี่ยนอะไร แต่ดัน
ออกแบบมาไม่สวย…เฮ้อ…!
ช่องวางโทรศัพท์มือถือ ใต้สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ด้านหลังคันเกียร์ ที่ผมเคย
บ่นด่ามาแล้วในบทความ รีวิว Vios ว่า จะทำมาให้วางมือถือกันแบบนี้ ทำไม
ก็ยังคงปรากฎตัวให้เห็นใน Yaris กันอีกด้วย ผมมองว่า เป็นการออกแบบที่
พยายามเอาใจลูกค้า แต่ไม่ค่อยสอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง เพราะ
ถ้าเจอถนนขรุขระ หรือเลอเลี้ยวซ้ายแรงไปหน่อย โอกาสที่โทรศัพท์จะ
หล่นลงมาอยู่บนพื้นที่วางขาฝั่งคนขับ มีอยู่เหมือนกัน และนั่นไม่ใช่
เรื่องดีแน่ๆ ในแง่ความปลอดภัย
สู้ทำเป็นช่องใส่ของลึกๆ ตามเดิม ไว้ให้เจ้าของรถเขาเลือกเอาเองว่าจะ
วางข้าวของอะไรตามอำเภอใจไปเลยจะดีกว่า ทำแบบนี้!
กล่องเก็บของ บนแผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า Glove Compartment
ยกมาจาก Vios เช่นกัน ดูจากฝาภายนอก เหมือนจะใหญ่ แต่เอาเข้าจริง แค่ใส่
คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกัน และเอกสารประกันภัย ก็ล่อเข้าไปครึ่งหนึ่งของพื้นที่
ทั้งหมดแล้ว แถมยังคงกั้นพื้นที่กล่องเก็บของฝั่งขวาไว้อย่างที่เห็นในภาพ สงสัย
ว่าขนาดของเครื่องปรับอากาศมันใหญ่ จนต้องงอกออกมาทางด้านข้างเลยหรือ?
เปลืองพื้นที่กล่องใส่ของโดยไม่จำเป็นจริงๆ
มองลงต่ำมานิดหน่อย ในขณะที่ Vios ให้กล่องเก็บของขนาดเล็ก พร้อมฝาเปิดที่
พยายามจะเป็นพนักวางแขนในตัว แต่ Yaris กลับไม่มีอะไรให้มาเกินไปกว่า
เบรกมือ 1 จุด ช่องวางแก้วน้ำ สำรับผู้โดยสารด้านหลัง 1 ตำแหน่ง ช่องเสียบกล่อง
CD ที่ใช้งานไม่ได้จริง เพราะใส่กล่อง CD ลงไป กล่องเดียวหนะ หลวม แต่พอ
ใส่กล่อง 2 เข้าไป ก็เบียดเสียดกันเกินไป แถมขับรถอยู่ดีๆ กล่อง CD ก็จะเลื่อน
ไหลหล่นไปอยู่บนพื้นที่วางขาของคนขับ เสียอย่างนั้น
อย่างกและดูแต่คู่แข่งเลยครับ แค่ใส่กล่องวางของ เพิ่มให้ ก็ได้ใจลูกค้าแล้ว!
ทัศนวิสัยด้านหน้า ไม่ได้แตกต่างไปจาก Vios เลย แม้แต่กะพีกริ้นเดียว ไม่ว่าคุณจะ
มองไปทางฝากระโปรงหน้า มองไปทางกระจกมองข้างฝั่งขวา หรือฝั่งซ้าย มุมมอง
จะไม่แตกต่างไปจาก ภาพที่คุณจะได้เห็น เมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัยของ Vios ใหม่
แต่ถ้าเทียบกับ Yaris รุ่นเดิมแล้ว ทัศนวิสัย ด้านหน้า ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมจนสัมผัสได้เลย!
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา นั้น มีการบดบังรถที่แล่นสวนมาบนทางโค้งของถนน
สวนกันเลนเดียว น้อยลงไปจาก Yaris รุ่นเดิมมาก กระจกมองข้าง แม้จะให้การมองเห็นรถ
ที่แล่นมาจากด้านหลังได้ดี แต่พื้นที่กรอบพลาสติกด้านใน ยังแอบกินพื้นที่เข้ามายังขอบล่าง
ฝั่งขวา ของบานกระจกมองข้างอยู่บ้างนิดนึง แต่ก็ไม่มีการบดบังใดๆมากเท่ารถรุ่นเดิม
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ยังแอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะเลี้ยวกลับ
อยู่บ้างในบางรูปแบบของจุดกลับรถ แต่จะพบปัญหานี้ได้ ถ้าเกาะกลางถนน หรือคูน้ำ
กลางถนน ค่อนข้างกว้าง นอกนั้น จะไม่มีปัญหามากนัก ถือวาโปร่งขึ้นกว่า Yaris เดิม
กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็ยังมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาได้ดี เพียงแต่ ขอบกระจกด้านล่าง
ฝั่งซ้าย อาจถูกกรอบด้านในกระจก บดบังพื้นที่เข้ามาบ้าง กระนั้นก็ยังไม่มากนัก
แต่สำหรับทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ในเมื่อ เสาหลังคาคู่หลังมีขนาดใหญ่พอจะทำให้
นึกถึง เสาหลังคาคู่หลังของ Nissan TIIDA Hatchback 5 ประตู ก็ต้องทำใจ
ว่าอาจมีการบดบังจักรยานยนต์ ที่แล่นตามมาจากด้านหลังฝั่งซ้ายของรถได้อยู่บ้าง
ถ้าคิดจะเปลี่ยนช่องทาง เข้าเลนคู่ขนาน ควารเพิ่มความระมัดระวังสักหน่อย และ
อย่าพึ่งพากระจกมองข้างฝั่งซ้าย เพียงอย่างเดียว
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ในเมื่อ Toyota ตัดสินใจให้ Yaris ใหม่ เปลี่ยนกลุ่มตลาด จากเดิมที่เป็น B-Segment
Hatchback 1,500 ซีซี ให้ลงมาฟัดเหวี่ยงกับกลุ่ม B-Segment ECO Car Hatchback
1,200 ซีซี ทำให้ Toyota จำเป็นต้องลดขนาดเครื่องยนต์ ลงมาจากเดิม เลิกใช้บริการ
เครื่องยนต์เก่า รหัส 1NZ-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี หัวฉีด EFI
พร้อมระบบแปรผันวาล์วเฉพาะหัวแคมชาฟต์ ฝั่งไอดี VVT-i 109 แรงม้า (PS) ที่
6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตร (14.36 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที
พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ECT-i ที่เคยใช้พ่วง
ร่วมกันกับ Vios เดิม ทิ้งไป
แล้วแทนที่ด้วย เครื่องยนต์ 3NR-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ
เหลือแค่ 1,197 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.5 x 72.5 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ
Square สี่เหลี่ยมจตุรัส) กำลังอัด 11.5 : 1 หัวฉีด EFI มาพร้อม ระบบแปรผันวาล์ว ที่
หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่งวาล์วไอดี และไอเสีย Dual VVT-i มีระบบปรับตั้งระยะห่างของวาล์ว
อัตโนมัติ และมีระบบปรับความตึงของสายพานขับ อัตโนมัติ กำลังสูงสุด 86 แรงม้า (PS)
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร (11.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ รุ่นนี้ ผ่านการทดสอบ ตามมาตรฐาน ECO Car โดยใช้น้ำมันเครื่องที่มี
ค่าความหนืด 0W20 แต่สามารถใช้น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 5W-20 , 5W-30
5W-40 และ 10W-30 หรือ เกรด API SL “Energy-Conserving” , SM “Energy-
Conserving” , SN “Resource-Conserving” หรือ ILSAC 15W-40 และ 20W-50
โดยการเปลี่ยนถ่ายแต่ละครั้ง ถ้าเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องด้วย จะต้องใช้
ปริมาณ 3.4 ลิตร แต่ถ้าไม่เปลี่ยนไส้กรอง ก็จะเหลือ 3.2 ลิตร
น้ำมันเชื้อเพลิง เติมได้ทั้งเบนซินไร้สารตะกั่ว ทั่วไป ออกเทน 91 กับ 95 หรือ
แก็สโซฮอลล์ 91 กับ 95 (เฉพาะ E10 และ E20 เท่านั้น) หม้อน้ำ ใช้น้ำหล่อเย็น
4.2 ลิตร หัวเทียน เป็นของ DENSO รุ่น SC16HR11 ระยะห่างระหว่างเขี้ยว
ของหัวเทียน 1.1 มิลลิเมตร
เครื่องยนต์ลูกนี้ จะส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยทางเลือกที่มี
เพียงแค่ เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Super CVT-i แบบเดียวเท่านั้น
โดยไร้เงาของเกียร์ธรรมดา อย่างที่ควรเป็น
อัตราทดเกียร์เดินหน้าอยู่ที่ 2.386 – 0.426 : 1 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง
อยู่ที่ 2.505 – 1.736 : 1 ส่วนอัตราทดเฟืองท้าย สูงถึง 5.833 : 1
น้ำมันเกียร์ ต้องใช้ของ Toyota Genuine CVT Fluid FE เท่านั้น และ
ไม่สามารถใช้ร่วมกับน้ำมันเกียร์ CVT ของ Corolla ALTIS ได้! ปริมาณ
ในการเปลี่ยนถ่ายทั้งระบบ อยู่ที่ 6.4 ลิตร
เหตุผลที่ Yaris ใหม่ มีให้เลือกแค่ เกียร์อัตโนมัติ CVT ไม่มีรุ่นเกียร์ธรรมดา
Toyota อ้างว่า จากการสำรวจวิจัยตลาดในเมืองไทย พบว่า ตลาดรถยนต์นั่ง
กลุ่ม ECO Car นั้น มีความต้องการเกียร์ธรรมดา ไม่ถึง 5% จากยอดขายรวม
ดังนั้น พวกเขาจึงมองว่า เกียร์ CVT น่าจะเป็นทางเลือกเดียวสำหรับลูกค้า
ชาวไทย ไปเลยดีกว่า
อย่างไรก็ตาม มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างลอยมาว่า ส่วนหนึ่ง น่าจะเป็นผลมาจาก
การที่ Yaris ใหม่ รุ่นเกียร์ธรรมดา อาจไม่ผ่านการทดสอบด้านมลพิษ คืออาจ
ปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมามากกว่ารุ่น CVT ไป จนเกินกว่า
ค่ากำหนดของรัฐบาล ที่อ้างอิงมาตรฐานมลพิษจาก UNECE ว่าต้องปล่อย
ก๊าซ CO2 ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร จึงทำให้ไม่อาจวางจำหน่ายในไทยได้
เรื่องนี้ เป็นเพียงอีกเสียงหนึ่งที่ได้ยินมา แต่จะเป็นจริงหรือเปล่านั้น ไม่มี
ใครกล้ายืนยัน จึงต้องขอบันทึกเอาไว้ ว่า ครั้งหนึ่ง เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้
ในลักษณะนี้เกิดขึ้นด้วย แค่นั้น…
Toyota บอกว่า เกียร์รุ่นนี้ มีปุ่ม Shift Lock สำหรับกดล็อก เพื่อปลดเกียร์ P
ให้เลื่อนลงมาอยู่ในเกียร์ว่าง (N) เพื่อเลื่อนเข็นรถได้ นอกจากนี้ยังเคลมว่า
เกียร์ CVT ลูกนี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้น้ำมันเกียร์ CVT ของตน โดยเฉพาะ
และเป็นคนละเกรดกับที่ใส่ให้ใน เกียร์ CVT ของ Corolla Altis MY 2010
ถึง 2013 อีกทั้ง เกียร์ CVT ลูกนี้จะมีท่อหายใจ ยกไว้สูง จากเดิมที่เมื่อก่อน
มักอยู่ด้านหลังของเกียร์ ก็เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น โอกาสที่เกียร์
เกิดความเสียหายจากการลุยน้ำแบบไม่ตั้งใจ จะลดน้อยลงจากเดิม
ขณะติดเครื่องยนต์ ในรถบางคันอาจเห็นว่า เข็มวัดรอบ ค่อนข้างต่ำ บางครั้ง
อาจมีอาการสั่นกระพรือเล็กๆเกิดขึ้นได้ Toyota ชี้แจงว่า พวกเขาพยายามตั้ง
ค่ารอบเดินเบา ให้ต่ำที่สุด อยู่ที่ 600 รอบ/นาที เพราะออกแบบรถคันนี้ มาให้
ใช้งานในเมือง ดังนั้น เครื่องยนต์ต้องทำงานในรอบเดินเบาช่วงการจราจร
ติดขัด บ่อยมาก จึงอยากให้ประหยัดเชื้อเพลิง แต่เมื่อคลัชต์ คอมเพรสเซอร์
เครื่องปรับอากาศ ทำงาน รอบเครื่องยนต์ ก็จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 800 รอบ/นาที
(รถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 850 – 900 รอบ/นาที)
ตัวเลขสมรรถนะจากโรงงาน ระบุว่า จากการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ตามมาตรฐาน UNECE Reg.101 Rev.1 ของ UN (สหประชาชาติ) โดย
นำรถยนต์ มาวิ่งบนลูกกลิ้งของ Chassis Dynamo Meter ในห้อง Lab
ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในเมือง (Urban Condition) 6.0 ลิตร / 100
กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนอกเมือง (Extra-Urban Condition)
4.5 ลิตร/ 100 กิโลเมตร เฉลี่ย 5.0 ลิตร / 100 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซ CO2
ในเมือง (Urban Condition) 140 กรัม/กิโลเมตร นอกเมือง (Extra-
Urban Condition) 106 กรัม/กิโลเมตร เฉลี่ยได้ 118 กรัม / กิโลเมตร
สมรรถนะ จะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการจับเวลากันตามมาตรฐานเดิมคือ ทดลอง
ในเวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักรวมผู้ขับขี่ และผู้จับเวลา ไม่เกิน
170 – 180 กิโลกรัม ตัวเลขที่ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัด ECO Car
รวมทั้ง Toyota Vios 1.5 ลิตร รุ่นใหม่ และ Toyota Yaris รุ่นก่อน มีดังนี้
เป็นไงครับ…เหวอไหม?
นาฬิกา ไม่เคยโกหก และตัวเลขที่ออกมา ก็ทำให้ผม และน้องผู้ช่วยจับเวลา
ถึงขั้น อ้าปากหวอ ล่อแมลงวัน กันเลยทีเดียว!
ผมไม่อยากเชื่อครับคุณผู้อ่าน! ตัวเลขอัตราเร่ง ในเกมจับเวลา ทั้ง 0 – 100 และ
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ออกมาพอกันกับ Toyota Vios พี่น้องร่วมตระกูล
Platform ที่ใช้เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ อีกต่างหาก!
เราแทบไม่ต้องไปมอง คู่แข่งในพิกัดเดียวกันคันอื่นๆเลย เพราะจากตัวเลขนี้
แสดงใพวกเราได้ประจักษ์กันแล้วว่า Yaris 1.2 ลิตร CVT คือรถยนต์นั่งขนาด
เล็ก พิกัด ECO Car ประกอบในเมืองไทย ที่ทำตัวเลขอัตราเร่งได้เร็ว และแรง
มากที่สุดในตลาดบ้านเราตอนนี้!!! ทาบรัศมี Vios ญาติผู้พี่ รุ่น 4AT กันชัดๆ!
มันเกิดอะไรขึ้น?
จากการสันนิษฐาน ทำให้ผมเชื่อว่า สาเหตุที่ตัวเลขของ Yaris ออกมาได้ดี
มากกว่าชาวบ้านเขาไปไกลขนาดนี้ เป็นผลมาจาก…
1. อุณหภูมิ ในคืนที่เราทดลองจับเวลากัน อยู่ที่ 22 – 23 องศาเซลเซียส
ซึ่งถ้าเทียบกับ อุณหภูมิช่วงกลางคืน ที่เราใช้ในการทดลองตามปกติ มัก
อยู่แถวๆ 27 – 31 องศาเซลเซียส เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า ถ้าอากาศยิ่งเย็น
มวลของอากาศยิ่งมาก ก็จะยิ่งช่วยให้เครื่องยนต์ ไม่ร้อนมาก จุดระเบิด
เผาไหม้ได้ดีขึ้น
แต่ในความเป็นจริง ผมมองว่า อากาศที่เย็นขึ้นกว่ากันนั้น ถ้าต่างกันแค่
ไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส ตัวเลขอัตราเร่งจะแทบไม่ค่อยมีผลอะไรเลย
เพราะปกติเราเองก็จับเวลาในช่วงกลางคืนอยู่แล้ว ต่อให้ร้อนขึ้นกว่านี้
ตัวเลขที่เราคาดการณ์กัน ก็คือ 13 วินาทีต้นๆ ซึ่งก็จะยังเร็วกว่าชาวบ้าน
เขาทั้งหมดทั้งสิ้น อยู่ดี!
2. อัตราทดเกียร์และเฟืองท้าย..ดูตัวเลขแล้วตกใจ Toyota ทดเฟืองท้าย
ให้ Yaris ใหม่ ตั้ง 5.833 : 1 จะสูงจะจัดกันไปไหนครับพี่ เซ็ตมาซะราวกับ
กลัวว่ารถมันจะวิ่งไม่ออกอย่างงั้นแหละ! เป็นไงละ สมดังใจปองเลยทีนี้
รถทั่วไป เขาเซ็ตกัน 3.8 – 3.9 : 1 หรือไม่ก็ 4 – 4.5 : 1 นี่ล่อเข้าไป 5.8 เลย
มิน่าละ ช่วงออกตัว ถ้าไม่นับช่วงที่เกียร์เพิ่งเริ่มรู้ตัวว่าต้องทำงานหนัก
(ซึ่งก็ไม่เกิน เสี้ยววินาที) ช่วงไต่ขึ้นไป จาก 0 – 40 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
ยังธรรมดา แต่พอตั้งแต่ 40 กวาดขึ้นไปถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
ไหลลื่น ต่อเนื่อง ไม่ต่างจากรถยนต์ 1,500 ซีซี ที่แรงสุดในตลาดเลย!
3. ในวันที่เราเดินทางจากภูเก็ต ขึ้นมากระบี่ ในทริป Yaris ช่วงต้นเดือน
พฤศจิกายน นั้น ทราบมาว่า ทางทีมงาน Toyota เติมน้ำมันเตรียมไว้ให้
เป็น แก็สโซฮอลล์ 95 ของ ปตท. (ซึ่งปกติ เราไม่ใช้น้ำมันตัวนี้ในการ
ทดลองของเราอยู่แล้ว) แต่ในความเป็นจริง ผมไม่แน่ใจว่า เขาเติมอะไร
มาให้เรากันแน่ แต่ นั่นก็ไม่มีทางทำให้ตัวเลขแตกต่างกันถึง 2 วินาที
เต็มที่สุด อาจเป็นแค่ 1 วินาที แค่นั้น
ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น หลังจาก 5,000 รอบ/นาที ขึ้นไปแล้ว เครื่องยนต์
จะไต่ความเร็วต่อขึ้นไปค่อนข้างช้าครับ ผมต้องใช้แรงส่งจากเนิน ช่วยดัน
ให้รถพุ่งต่อเนื่องไปข้างหน้า เพื่อย่นเวลาและระยะทาง กว่าจะได้ตัวเลขนี้
คันเร่งถูกเหยียบมิด ชนิดแทบทะลุไปห้องเครื่องยนต์ ยาวไปพอสมควร
ในช่วงดึกๆ ปราศจากผู้คนสัญจรโดยสิ้นเชิง เพื่อให้มั่นใจว่า เข็มวัด
ความเร็วมันไปได้สุดเพียงแค่นี้ ก่อนจะถอนเท้า กลับมาขับความเร็วปกติ
ย้ำกันอีกทีนะครับ เราไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็วสูงสุด
เหมือนเช่นที่เราทำให้ดูนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร เราทำให้
ดูกัน ด้วยเหตุผลของการให้ความรู้ เพื่อการศึกษา ไม่ได้กดแช่กันยาว
หรือมุดกันจนเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทาง เราให้ความสำคัญ และ
ระมัดระวังกับเรื่องนี้มากๆ และเราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิต
มาทำตัวเลขแบบนี้กันเอาเอง ดังนั้น อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด
เพราะถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิตคุณเอง และเพื่อนร่วมทาง
เราจะไม่รับผิดชอบในความปลอดภัยของคุณแต่อย่างใดทั้งสิ้น!
ในการขับขี่ใช้งานจริง ถ้าคุณเข้าใจไว้ตลอดว่านี่คือรถยนต์ที่วางขุมพลัง
1,200 ซีซี และไม่ได้คาดหวังอะไรมาก่อน บอกเลยว่า อัตราเร่งที่มีมาให้
ถือว่า เพียงพอ และแรงเกินความคาดหมายของแทบทุกคนไปมาก เพราะ
ไม่ใช่แค่ตัวเลขเท่านั้น ที่ออกมาคล้ายคลึงกับรถยนต์ ขนาด 1,500 ซีซี
แต่การไต่ความเร็วขึ้นไป ก็ให้แรงดึงและความว่องไว พอๆกันกับ Vios
ใหม่ 1,500 ซีซี เสียด้วยซ้ำ!
ถ้าต้องการให้รถพุ่งออกไปทันอกทันใจ คุณก็ควรจะเหยียบคันเร่งลงไป
จมมิดแต่แรก เพื่อให้ Torque Converter ได้รับรู้ ว่าคุณต้องการอัตราเร่ง
อย่างรีบร้อน รถจะพุ่งทะยานออกไปอย่างว่องไว เช่นเดียวกันในตอน
เร่งแซง ถ้าเหยีบยบคันเร่งจมมิด เครื่องยนต์ และเกียร์ จะตอบสนอง
อย่างทันอกทันใจคนใจร้อนอย่างคุณใช้ได้เลย
คันเกียร์ในตำแหน่ง S จะช่วยเครื่องยนต์ เตรียมพร้อม รับการตอกฝ่าเท้า
ขยี้ลงไปบนคันเร่งได้ในแทบจะทันที เรียกอัตราเร่งแซงมาได้อย่างทันใจ
โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่งให้จมมิด เหมือนเช่นในตำแหน่งเกียร์ D ส่วน
เกียร์ B มีไว้ เพื่อใช้ในการช่วยขึ้น และ ลงเขา เหมือนเป็นเกียร์ 1 และ 2
ในรถยนต์ทั่วๆไป
แต่ถ้าคุณแตะคันเร่ง ลงไปอย่างแผ่วเบา หรือเหยียบคันเร่งในช่วงออกตัว
ไม่เกิน 30% ของระยะเหยียบคันเร่งทั้งหมด รถก็จะค่อยๆออกตัว เป็น
คุณแม่บ้านผู้ว่องไว ตามปกติ
และถ้าคุณกำลังขับอยู่ที่ความเร็วราวๆ 80 หรือ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ ต้องการเพิ่มความเร็วขึ้นอีกนิดหน่อย การเพิมน้ำหนักเท้าลงบนคันเร่ง
ลงไปอย่างช้าๆ จะให้ผลได้ไม่ดีเท่าการเหยียบคันเร่งลงไปในทันที อาจ
ไม่ต้องถึงกับจมมิด แต่ต้องเกินกว่า 60 – 70% ของ ระยะเหยียบของ
แป้นคันเร่ง
เพราะถ้าคิดจะเร่งแซงรถคันข้างหน้า รถสิบล้อ หรือรถพ่วง บนถนนแบบ
สวนกันสองเลน ถ้ารถคันข้างหน้าว่างพอ ขอแนะนำให้เหยียบคันเร่งจน
จมมิด ลากรอบขึ้นไป จะดีกว่า เพราะถ้าคุณตัดสินใจช้าไปเพียงเสี้ยววินาที
คุณอาจต้องลุ้นกับการเร่งแซง มากกว่าปกติ การเค้นพละกำลังให้รอบเครื่อง
เกินกว่าระดับ 3,000 – 4,000 รอบ/นาทีขึ้นไป จะทำให้รถพุ่งไปข้างหน้า
ได้ทันอกทันใจ และพาคุณเร่งแซงได้อย่างสบายใจกว่า
อย่างไรก็ตาม ขณะที่คุณ เค้นพละกำลังจากรถอยู่ เมื่อถอนเท้าจากคันเร่ง
อาจมีกลิ่น จากการทำงานของ เครื่องฟอกไอเสีย Catalytic Converter
ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายแอมโมเนียฉุนๆ จมูก (แบบเดียวกับที่ คนใช้ Mazda 2
หรือ Ford Fiesta รุ่นก่อนปรับโฉมพร้อมใจกันเคยเจอมานั่นแหละ)
ลอดเข้ามาให้ได้กลิ่นกัน”เต็มเหนี่ยว” ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ควรจะมีกลิ่น
แบบนี้เข้ามานะ
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิด ในช่วงความเร็วเดินทาง
100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมแทบไม่ต้องเพิ่มเสียงพูดของตนเองเลย
แม้แต่น้อย และผมมองว่า เลอๆ อาจเก็บเสียงดีกว่า Vios นิดนึง ด้วยซ้ำ!
แต่หลังจากนั้น เสียงกระแสลมที่ไหลผผ่านตัวรถจะเริ่มดังขึ้นมาเรื่อย
เป็นปกติ
พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS
(Electric Power Steering) ปรับน้ำหนักของพวงมาลัย ตามความเร็วรถ
ใช้แร็คชุดเดียวกันกับ Vios ก็จริง แต่ทีมวิศวกรได้ปรับปรุง ระยะรอบของ
มอเตอร์ให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้พวงมาลัยหน่วงมือมากขึ้นกว่าเดิม ตึงมือมากขึ้น
หวังสร้างความมั่นใจในการขับขี่ทางตรงดีขึ้น
หลายๆคนเป็นห่วงว่า พวงมาลัยจะดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ผมตอบได้ครับว่า
ถึงแม้จะยังคง ไร้ชีวิตชีวา ในแบบพวงมาลัยไฟฟ้า ที่ผลิตโดย Robocop
เหมือนๆกับ พวงมาลัยของ Vios นั่นละ แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยแล้ว
มันดีขึ้นกว่าเดิม กระนั้นถ้าถามว่า แค่ไหน? นั่นขึ้นอยู่กับว่า คุณมอง
และเปรียบเทียบกับอะไร?
ถ้าเปรียบเทียบกับ Yaris เดิม แน่นอนครับ พวงมาลัยของ Yaris ใหม่ดีขึ้น
ชัดเจนมาก นิ่งขึ้น ตอบสนองได้คล่องแคล่ว แต่ตึงมือ แอบเนือยนิดๆ และ
ยังหลงเหลือบุคลิกของพวงมาลัยที่ใช้เพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้ากันอยู่
แต่ถ้าเทียบกับพวงมาลัยของ Vios ใหม่แล้ว แม้จะใช้ชุดแร็คเหมือนกัน
แต่การปรับเซ็ตใหม่ ก็ช่วยให้เห็นความแตกต่างจากกัน ถึงไม่มากนัก แต่
ก็ชัดเจน หากสังเกตให้ดีๆ
อธิบายกันนิดนึงนะครับว่า ถ้าคุณหมุนพวงมาลัยในรถยนตทั่วไปนั้น
ตามปกติแล้ว วงพวงมาลัยก็จะต้องหมุนอยุ่ในระดับเดียวกัน นั่นคือ
พวงมาลัยตั้งอยู่ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางพอดีเป๊ะ
แต่พวงมาลัยของ Vios และ Yaris ใหม่ มาในสไตล์คล้ายกับพวงมาลัย
ของ Mercedes-Benz ทั่วๆไป คือ ถ้าคุณหมุนพวงมาลัยเลี้ยวซ้าย
หรือขวา เวลาที่วงพวงมาลัยหมุนรอบตัวมันเองอยู่นั้น ดูเหมือนว่าวง
พวงมาลัย จะขยับขึ้นๆลงๆ ตามการหมุนของคุณไปด้วย
นี่คือลักษณะของพวงมาลัยแบบ แกนเยื้องศูนย์ คือ จุดหมุนไม่ได้อยู่
ตรงกลางพวงมาลัยแบบรถยนต์ทั่วไป หากแต่ พวงมาลัยจะถูกออกแบบ
ให้จุดศูนย์กลางการหมุน เลื่อนลงไปอยู่ข้างล่างนิดนึง ทำให้ตำแหน่ง
ของพวงมาลัย เมื่อมองจากสายตาผู้ขับแล้ว จะเลื่อนขึ้นไปข้างบนจาก
ระดับปกติทั่วไป นิดนึง
เหตุผลที่ทำเช่นนี้ ก็เพราะว่า เวลาที่คุณถือพวงมาลัยตรงๆ มันจะให้
ความรู้สึกเหมือนกับว่าพวงมาลัยหนืดขึ้นนิดๆ พอมีอาการขืนมือให้
ได้สัมผัสอยู่บ้าง ว่าพวงมาลัยไม่ได้เบาโหวงเกินไป การออกแบบให้
จุดศูนย์กลาง เยื้องจากปกติแบบนี้ ทำให้การหมุนพวงมาลัยในช่วง
หนึ่งนิ้วแรก (ซ้าย และขวา) จะมีอาการขืนมือกว่าปกติ หมุนยากกว่า
ปกติเพียงเล็กน้อย แต่หลังจากจุดนั้นไป จะหมุนได้ง่ายเป็นปกติ
เจตนาของการออกแบบพวงมาลัยลักษณะนี้ เพื่อช่วยให้การประคอง
พวงมาลัยในความเร็วสูง เป็นไปด้วยความแม่นยำขึ้น
นั่นทำให้พวงมาลัยของ Vios และ Yaris ใหม่ ตอบสนอง เหมือนๆกัน
ในย่านความเร็วต่ำ เบาแรง หมุนได้คล่อง แต่ไม่เบาโหวงไปเสียทีเดียว
พอมีอาการขืนมือปรากฎอยู่บ้างไม่มากนัก แต่ไม่ขืนมือเท่าพวงมาลัยของ
Honda City รุ่นปัจจุบัน อุปนิสัยทั้งหมดนี้ ถือว่า เซ็ตมาได้ กำลังดี เมื่อ
คิดรวมว่ารถคันนี้ ต้องเอาใจทั้งคนที่ชอบขับรถ และคนที่ไม่คุ้นเคยกับ
การขับรถ และทั้งคู่ ต่างต้องการถอยรถเข้าจอดอย่างรวดเร็ว ในเวลาและ
สถานที่อันจำกัด
แต่ในการขับขี่ด้วยความเร็วเดินทางปกติ จนถึงช่วงความเร็วสูง สังเกตได้
ว่า ขณะขับขี่ทางตรงยาวๆ พวงมาลัยของ Yaris จะนิ่ง และให้การบังคับ
ควบคุม ไว้ใจได้กว่า ใน Vios ไม่ต้องเลี้ยงซ้ายเลี้ยงขวากันตลอด แบบใน
Vios ถือว่ามีการปรับปรุงให้ดีขึ้น
ส่วนการบังคับรถขณะเข้าโค้งนั้น ตอบสนองได้ในระดับที่ดีอย่างควรเป็น คือ
มีน้ำหนักขืนพอประมาณ เลี้ยงพวงมาลัยในโค้งให้นิ่งๆ ทำได้ไม่ยาก บังคับ
ควบคุมรถในทางโค้งได้นิ่งขึ้น จนสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ยอมนำ Setting
แบบนี้ ไปใส่ใน Vios ใหม่ตั้งแต่แรกกันเลยละเนี่ย?
ข้อที่ควรปรับปรุงก็คือ Toyota น่าจะใส่ ชุดปรับระยะใกล้ – ห่าง จากพวงมาลัย
มาให้เพิ่มเติมจากเดิมที่ปรับระดับได้แค่ สูง – ต่ำ กันเสียที เพราะระยะห่างของ
พวงมาลัย จาก ขอบด้านบนของชุดมาตรวัด ใน Vios และ Yaris ใหม่ น้อยไป
*หมายเหตุ* ภาพประกอบ ระบบกันสะเทือนนี้ ติดตั้งระบบดิสก์เบรกล้อหลัง
ซึ่งไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย และเป็นภาพจากทาง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ
Toyota Motor Thailand เอง โดยตรง ชี้แจงไว้ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลัง
เป็นแบบทอร์ชันบีม พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ยกชุดจาก Vios แต่ทาง
วิศวกรของ Toyota บอกว่า มีการปรับปรุง ให้เน้นความนุ่มนวลในการดูดซับแรง
สั่นสะเทือน จากพื้นถนนแบบขรุขระ และเพิ่มเสถียรภาพขณะขับขี่ด้วยความเร็ว
เดินทาง
ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ Yaris ใหม่ แข็งกระด้างกว่าที่คิดอยู่นิดหน่อย แต่
ไม่หนีไปจากช่วงล่างของ Suzuki Swift มากนัก การซับแรงสะเทือนตามหลุมบ่อ
ต่างๆ ทำได้ไม่ถึงกับดีนัก แต่ถ้าเจอลูกระนาด และใช้ความเร็วต่ำๆ จะพบการ
Rebound ของ ช็อกอัพและสปริง ให้พอรู้สึกได้ว่า จริงๆแล้ว มันยังหาความ
นุ่มได้อยู่ แม้เพียงเศษเสี้ยวก็ตาม
ในความเร็วเดินทาง ช่วง 40 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง การทรงตัวถือว่าทำได้ดี
และมาในสไตล์เดียวกับ Vios รุ่น E กับ G คือ วิ่งตรงไปข้างหน้าเรื่อยๆ ได้
สบายๆ รื่นรมณ์ ลดความหนื่อยล้าในการขับขี่ และโดยสารทางไกลลงได้
นุ่มหน่อยๆ ไม่มาก อยู่ในเกณฑ์กำลังดี ไม่แข็งเกินไปแบบ Vios รุ่น S
แต่เมื่อพ้นจากความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว จนถึงช่วงความเร็วสูงสุด
อาการหน้ารถดิ้นไปตามกระแสลม จะเกิดขึ้น อันเป็นปัญหาปกติที่รถยนต์
ขนาดเล็กต้องเจอกันแทบทุกคัน
แต่ ตั้งข้อสังเกตว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้น มีไม่มากนัก และด้วยการเซ็ตพวงมาลัยให้
On center feeling นิ่ง ตั้งตรงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ทำให้การควบคุมรถ
ขณะเกิดอาการดังกล่าว ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ และหวาดเสียวน้อยกว่าที่คิด
มีเสถียรภาพในการทรงตัวย่านความเร็วสูง ดีกว่าเพื่อนร่วมพิกัดอย่าง March
และ Mirage
ส่วนการเข้าโค้งนั้น Yaris ใหม่ ทำได้ดีกว่าที่คาดคิด ผมยังสามารถพารถเข้า
โค้งรูปเคียว บนทางด่วนชั้นที่ 2 เหนือย่านมักกะสัน และต่อเนื่องไปถึง
โค้งซ้าย ตรงข้ามโรงแรมเมอเคียว เชื่อมเข้ากับทางด่วนขั้นที่ 1 ได้สบายๆ
ด้วยความเร็ว 95 และ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลี้ยงนิ่งๆ ในโค้ง นี่เป็นเรื่อง
ที่ผมประหลาดใจเล็กน้อยว่า ว่า Yaris ถูกยกระดับเรื่องช่วงล่างขึ้นมาได้
ถึงขนาดนี้เลยทีเดียว เพราะความเร็วในระดับดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่ ต้อง
เป็นรถญี่ปุ่นขนาดกลางขึ้นไป หรือ รถยุโรป Premium ขึ้นไปเท่านั้น
ถึงจะใช้ความเร็วระดับดังกล่าว เข้าโค้งทั้ง 2 จุดต่อเนื่องกันอย่างนี้
ได้อย่างนิ่ง สบาย ปลอดภัย ไร้อาการขัดขืนจากตัวรถ Yaris ใหม่จึง
กลายเป็นรถยนต์บ้านๆ พะแบรนด์ Toyota อีกคันหนึ่ง ที่พาคุณสาด
เข้าโค้ง เล่นกับมัน ได้อย่างมั่นใจ
ยอมรับเลยว่า คราวนี้ Toyota ตั้งใจทำการบ้านเรื่องการปรับเซ็ตพวงมาลัย
และช่วงล่าง แต่ก็ไม่แปลกอะไร ถ้า Yaris ได้อานิสงค์ การ Set ค่าความหนืด
ของช็อกอัพ และสปริง จาก Vios รุ่น G กับ E มาอย่างชัดเจน
จริงอยู่ว่า ผมชื่นชอบในช่วงล่างชุดนี้ของ Yaris และมันสามารถเทียบเคียง
กับ Suzuki Swift ได้ และยังมีอาการกระเด้งกระดอน ของช่วงล่างด้านหลัง
ขณะแบกผู้โดยสาร 4 คน น้อยกว่า Swift ชัดเจน (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากระยะ
ฐานล้อที่ยาวกว่า) ช่วงล่าง Yaris คือสิ่งที่ผมถือเป็นจุดเด่นของรถคันนี้ไปแล้ว
มันเทียบเคียงได้กับ Swift สมดังความตั้งใจของ คนใน Toyota ที่อยากให้
มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ!
แต่มันขาดความสนุกในการขับขี่อย่างที่ Swift จะให้คุณได้ พวงมาลัยของ
Swift ทำตัวเป็นธรรมชาติมากกว่า และการเซ็ตช่วงล่างของ Swift ก็เอื้อ
ให้คุณพามัน มุดลัดเลาะไปตามถนนแคบๆ หรือ แทรกตัวไปบนทางด่วนได้
อย่างคล่องแคล่ว และเป็นธรรมชาติกว่ากันนิดหน่อยอยู่ดี
ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ หน้าดิสก์ – หลังดรัม ทุกรุ่นจะติดตั้ง ระบบป้องกัน
ล้อล็อคขณะเบรค ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจาย
แรงเบรก EBD (Electronic Brake force distribution) และ ระบบ
เสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน (Brake Assist)
ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า ระยะห่างแป้นเบรกจากพื้นรถต่ำสุด เมื่อเหยียบ
ด้วยแรง 300 นิวตัน หรือ 31 กิโลกรัม หรือ 64 ปอนด์ เครื่องยนต์ทำงาน
ทุกรุ่นจะอยู่ที่ 67 มิลลิเมตร (2.64 นิ้ว) เท่า Vios รุ่นที่ใช้ดรัมเบรกหลัง
แบบมี ABS / EBD ระยะฟรีของแป้นเบรกทุกรุ่น อยู่ที่ 1-6 มิลลิเมตร ระยะ
เลื่อนคันเบรกมือ 8 – 11 คลิก ใช้น้ำมันเบรกแบบ DOT 3 เหมือน Vios
นอกจากนี้ยังมีระบบ Brake Override เช่นเดียวกับ Vios เป็นระบบที่ช่วย
ป้องกันปัญหา คันเร่งค้าง ถ้า คุณเหยียบคันเร่งอยู่ แล้วเกิดเหยียบแป้นเบรก
ไปด้วยพร้อมกัน ระบบคอมพิวเตอร์จะเข้าใจว่า คุณเจอปัญหาคันเร่งค้าง
ECU จะรีบสั่งให้เครื่องยนต์ ชะลอความเร็วลงมา ให้รถค่อยๆหยุดนิ่ง
เข้าข้างทางได้ (แต่ถ้าปล่อยเบรกกับคันเร่งเมื่อไหร่ รถก็จะเคลื่อนตัวต่อไป)
การตอบสนองของเบรก มาในสไตล์เดียวกับ Vios คือ เบรกจิกๆ ดี หรือ
จะเบรกให้นุ่มนวล ก็ทำได้ ผ้าเบรกจับจานเบรกไว แป้นเบรกค่อนข้างตื้น
ระบบป้องกันล้อล็อก ABS ทำงานกำลังดีแต่ต้องกะน้ำหนักเท้ากันสักหน่อย
ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ในเมือง เบรกตอบสนองไว หน้ารถจิก
และหน่วงความเร็วได้มาก มั่นใจได้เลยว่า ถ้ารถคันข้างหน้า เกิดมีเหตุให้
ต้องเบรกกระทันกัน แล้วคุณเป็นคนที่ ไวต่อการตอบสนอง ชนิดเหยียบ
แป้นเบรกลงไปในเสี้ยววินาทีถัดมา หากใช้ความเร็วไม่มากนัก และไม่ใช่
คนชอบขับจี้ตูดชาวบ้านเขา โอกาสจะทิ่มบั้นท้าย ทักทายรถคันข้างหน้า
แทบจะน้อยมากๆ จนเกือบจะไม่มีเลย เพราะขณะที่เหยียบเบรกลงไป
ครึ่งหนึ่ง สมองกลเกียร์ จะสั่งปรับอัตราทดเฟืองพูเลย์ ตามไปด้วย เพื่อ
ช่วยหน่วงความเร็วลงมาให้อีก ดังนั้น ในบางครั้ง ถ้าเหยียบแป้นเบรก
เพื่อชะลอตามรถคันข้างหน้า มากถึงครึ่งหนึ่งของระยะเหยียบทั้งหมด
รถอาจจะหน่วงความเร็วลงมาจนหยุดเกือบสนิท เหลือราวๆ 5 – 10
กิโลเมตร/ชั่วโมง และนั่นอาจทำให้คุณจำเป็นต้องมองกระจกมองหลัง
เพื่อตัดสินใจปล่อยรถให้ไหลต่อไป หรือ เร่งเพิ่มขึ้นไปชิดคันข้างหน้า
มิให้รถคันที่ตามมา ชนท้ายคุณได้
แต่หลายคน อาจไม่ชอบสไตล์เบรกแบบจิกๆ ของ Toyota อย่างนี้ก็มี
ในช่วงความเร็วเดินทาง หรือความเร็วสูง การหน่วงความเร็ว ยังทำได้ดี
อย่างที่หลายๆคน คาดหวังได้จากรถยนต์นั่งขนาดเล็กสักคัน เพียงแต่ว่า
ถ้าต้องการชะลอรถลงมา แบบไม่รีบร้อนนัก การเหยียบแป้นเบรกลงไป
ประมาณไม่เกิน 30 % จากระยะเหยียบทั้งหมด อาจทำให้รถชะลอลงมา
ไม่มากนัก แต่ยังพอจับอาการได้ว่า เริ่มหน่วงความเร็วลงมาให้แล้ว ถ้า
ต้องการให้เห็นผลจริงๆ ควรเหยียบลงไปในระดับประมาณ 40% ของ
ระยะเหยียบทั้งหมด คราวนี้ ผลจะชัดเจนมาก รถจะหน่วงความเร็ว
ลงมาให้มากขึ้น
ด้านโครงสร้างตัวถัง ยังคงใช้เทคโนโลยีการออกแบบให้ดูดซับแรงปะทะ
จากการชน GOA เหมือนเช่นเดิม และมีการออกแบบชิ้นส่วนตัวถังให้ใช้
ร่วมกันได้ กับ Vios ใหม่ ดังนั้น รายละเอียดด้านงานวิศวกรรมตัวถัง จึง
แตกต่างจาก Vios อยู่เพียงแค่บริเวณครึ่งคันด้านหลังเท่านั้น น่าเสียดาย
ที่ Toyota เอง ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลในประเด็นนี้มากมายเท่าใดนัก
รู้แต่เพียงว่า กว่า 50% ขึ้นไป ของเหล็กที่ใช้ขึ้นรูปโครงสร้างตัวถังและ
พื้นแชสซีทั้งหมด (Chassis คือ พื้นตัวถัง หรือ Platform ทั้งหมด ทั้งคัน
ในที่นี่ มิได้หมายถึง Frame Chassis ของรถกระบะแต่อย่างใด) ใช้เหล็ก
รีดร้อน High Strength Steel ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ สัดส่วนของการใช้
เหล็กประเภทนี้ ไม่เป็นที่เปิดเผยว่ามีจำนวนมากน้อยเท่ากับ Vios
หรือไม่
ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัย ถุงลมนิรภัยคู่หน้า SRS มีมาให้ครบตั้งแต่รุ่น
J ECO พนักศีรษะคู่หน้าแบบ WIL (Whiplash Injury Lessening)
ลดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ เมื่อเกิดการชนจากทางด้านหลังของรถ
เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 5 ตำแหน่ง พร้อมระบบดึงกลับ
ดุึงกลับอัตโนมัติ แต่ยังคงปรับระดับสูง-ต่ำไม่ได้ เหมือน Vios ไม่มีผิด!!
และมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ที่เบาะหลัง
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
ไม่ต้องทายก็เดาได้เลยว่า หนึ่งในประเด็นที่คุณผู้อ่านอยากรู้ เกี่ยวกับ Yaris ใหม่ คือ
รถยนต์รุ่นใหม่นี้ จะประหยัดน้ำมัน ดีกว่า เท่ากัน หรือด้อยกว่ารุ่นเดิม มากน้อยเพียงใด
เราจึงนำ Yaris ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนน
พหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าBTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน
เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานดั้งเดิม ในเมื่อ รถรุ่นนี้ เป็นรถยนต์ ที่คุณผู้อ่านอยากรู้เรื่อง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และซีเรียสกับตัวเลขมากพอกันกับกลุ่มรถยนต์นั่งผลิตในไทย
เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี และค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท หรือพิกัด ECO-Car รวมทั้ง
B-Segment กับ C-Segment และรถกระบะทุกรุ่นทุกแบบ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันกัน
แบบเขย่ารถ จนกระทั่งน้ำมันจะเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถังแบบนี้
ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD หนุ่มแว่นเงียบๆ จอมกวน
แห่งกลุ่ม The Coup Team ของเรา ตามเคย
เมื่อเติมน้ำมันลงไปจนเต็มถังขนาด 42 ลิตร (ไม่รวมคอถัง อีกพอสมควร) เราก็เริ่มต้น
การทดลองขับ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ ที่ระดับพัดลมแอร์
เบอร์ 1 อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วเลี้ยวซ้าย
เข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไป
บนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง ปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ
มาขึ้นทางด่วน อีกรอบ รักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน
เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถที่ใต้สถานี
รถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95
Techron ให้เต็มอีกครั้ง
พอหัวจ่ายตัด เราก็เริ่มเขย่ารถ เหมือนเช่นในช่วงเริ่มต้นทำการทดลอง เพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไป
ให้ได้เยอะมากที่สุด ให้น้ำมันเข้าไปอยู่ในถัง แทนที่อากาศในถัง ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็น
ไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงในตัวแปรเรื่องปริมาณน้ำมันที่เติมเข้าไป ซึ่งอาจมีผลให้การทดลอง
ผิดเพี้ยนไปไกลกว่าที่รถควรจะทำตัวเลขออกมา
ในที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้ ของ Yaris 1.2 L CVT มีดังนี้
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.54 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 16.64 กิโลเมตร/ลิตร
ตัวเลขที่ออกมานี้ ถือว่า ทำได้ดี เป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ไว้ เพราะเราต้อง
ไม่ลืมว่า Yaris คือ รถยนต์นั่ง B-Segment Hatchback ที่ติดตั้งเครื่องยนต์
แค่ 1,200 ซีซี เพื่อลงมาสู้ในพิกัด ECO Car จากนี้ มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะ
เปรียบเทียบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่เห็นอยู่นี้ กับใคร?
ถ้าคุณเปรียบเทียบกับ กลุ่ม ECO Car ด้วยกัน แน่นอนครับ Yaris ทำตัวเลข
ออกมาในระดับเดียวกันกับ Honda Brio CVT (ต่างกันแค่ 0.05 กิโลเมตร/ลิตร)
และยังไม่ใช่ตัวเลขที่แย่สุดในกลุ่ม (แต่ก็รั้งปลายแถวแล้วนะ) เพราะตัวเลข
แย่สุด คือ Brio เกียร์ธรรมดา ถ้าอยากหาความประหยัดน้ำมัน อาจต้องมอง
ไปทางคู่แข่ง ซึ่งก็จะทำตัวเลขได้ดีกว่ากันไม่เกิน 1 – 2 กิโลเมตร/ลิตร
แต่ถ้าคุณเปรียบเทียบกับ รถยนต์นั่งกลุ่ม B-Segment อย่าง Vios ละก็
เครื่องยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบน้อยกว่า ตามหลักการแล้ว มันควรจะ
ประหยัดน้ำมันมากกว่า และตัวเลขที่ออกมา ก็เป็นไปตามหลักการ
ดังกล่าว Yaris ใหม่ ทำตัวเลขสมรรถนะได้เท่าๆกับ Vios 4AT แถม
ยังประยัดน้ำมันกว่าด้วย ทั้งที่แรงม้า แรงบิด ก็น้อยกว่า
ยิ่งถ้าเทียบกับรถยนต์กลุ่ม B-Segment ทั้งหมดแล้ว มีเพียง Ford Fiesta
1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ เท่านั้น ที่ทำตัวเลขออกมาได้พอกัน คือ 16.4
กิโลเมตร/ลิตร ที่เหลือ Yaris ทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่าชาวบ้านเขาหมด
ตามความคาดหมาย
********** สรุป **********
Vios 5 ประตู เครื่องเล็กกว่า เกียร์ CVT แต่แรงเท่ากัน แถมประหยัดกว่า
Toyota เป็นบริษัทขนาดยักษ์ ที่มักเน้นสร้างรถยนต์เพื่อมวลมหาประชาชน เพื่อทำ
ยอดขายและรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำก็จริง แต่ผลงานของพวกเขา ก็มักเรียกเสียง
วิพากษ์วิจารณ์ออกมาได้อย่างแตกต่างสุดขั้ว อยู่เนืองๆ
คิดดูแล้วกันครับ บริษัทที่ทำรถยนต์บ้านๆ น่าเบื่อ อย่าง Corolla และรถกระบะที่
ยุให้คนขับเกิดนิสัย บ้าพลัง โดยไม่จำเป็น อย่าง Hilux Vigo จะลุกขึ้นมาสร้าง
รถสปอร์ตขับสนุกๆ อย่าง Toyota 86 หรือ Supra แม้กระทั่ง ทำรถยนต์หรู
อย่าง Lexus LS หรือ Toyota Century ชนิดที่ ชาวเยอรมันยังต้องค้อนขวับ!
Yaris อาจไม่ใช่ผลงานที่ดีเด่นมากมายนัก และเป็นผลงานที่ออกมาภายใต้
การประณีประณอมข้อจำกัดต่างๆมากมาย จนออกมาเป็น Hatchback
คันเล็ก วางเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี ECO Car ทั้งที่วิศวกรเขาก็ไม่ได้ตั้งใจ
ให้เป็นเช่นนั้นในตอนแรก แต่กลับทำอัตราเร่งออกมาได้ดีเกินคาด จน
Vios 1,500 ซีซี เอง ถึงขั้นอ้าปากหวอ ว่าน้องสาวตูทำได้ขนาดนี้เลย!?
ช่วงล่าง ดีเทียบเท่ากับ Suzuki Swift เทพประจำในพิกัด ECO Car แถม
บางด้านยังแอบดีกว่าเสียด้วย เช่นอาการเด้งที่เกิดขึ้นเมื่อบรรทุกคนเยอะ
ช่วงจัมพ์คอสะพาน ก็น้อยกว่ากันมาก เข้าโค้งต่อเนื่องยาวๆ ได้เนียน
และนิ่งกว่าที่ทุกคนคิด เบรก ก็จิกดี ประหยัดน้ำมันใช้ได้ ภายในห้อง
โดยสาร ก็มีพื้นที่ด้านหลัง ให้นั่งไขว้ห้างได้ แถม พื้นที่ศีรษะ ยังเยอะ
กว่า Vios ผู้พี่ด้วยซ้ำ…
ไม่แปลกใจ ถ้า Toyota จะบอกว่า พวกเขา ดู Swift ไว้ แล้วพยายามจะ
เอาชนะ รถคันนี้ให้ได้ การเซ็ตรถออกมาแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเขาได้ทำใน
ทิศทางเดียวกับที่ผมอยากเห็น
จุดเด่นของ Yaris อยู่ที่ สมรรถนะภาพรวม เหนือความคาดหมายเล็กๆ
และมีพื้นที่ห้องโดยสารโอ่โถง จะนั่ง หรือจะวางของ ก็ทำได้ดีกว่า
คู่แข่งทุกคันในพิกัด ECO Car
แต่ ข้อที่ควรปรับปรุง ก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การปรับเซ็ตพวงมาลัย
ที่นอกจาก จะต้องมีชุดปรับระยะใกล้ – ห่างจากตัวคนขับ กันเสียทีแล้ว
ยังต้องลดอุปนิสัย ไร้ชีวิตชีวา เหมือน Robocop อย่างที่ผู้การแพน
Commander CHENG ของเรา แซวไว้ กันเสียที เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า
ก็ควรจะปรับระดับสูง-ต่ำมาให้ได้แล้ว มัวเอาต้นทุนไปทำชิ้นส่วน
ประดับตัวถ้ังบั้นท้าย ให้มันแพงขึ้นโดยไม่จำเป็นกันทำไมก็ไม่รู้
รวมทั้งการเซ็ตออพชันบางอย่าง ที่น่าจะให้มาคุ้มค่ากับค่าตัวได้แล้ว
ไปจนถึงการปรับปรุงในรายละเอียดการออกแบบและตกแต่งห้อง
โดยสาร ซึ่งก็คงจะไม่ต่างจาก ความคิดเห็นเดิมๆที่ผมเคยบอกไป
ก่อนหน้านี้แล้ว ในบทความรีวิว Vios ถ้าแก้ไขได้ทั้งหมดตามนี้
(ซึ่งมันก็มีหลายข้ออยู่) ทั้งคู่ จะกลายเป็น 2 ศรีพี่น้อง ที่เอาชนะ
ใจของลูกค้าชาวไทยได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ขึ้นไปอีก
มาถึงตรงนี้ ถ้าคุณกำลังชั่งใจอย่างหนักว่า จะเลือก Yaris ดีไหม? นอกจาก
จะสำรวจเงินในกระเป๋าตัวเองดูแล้ว ผมอยากให้ลองเมียงมองไปยังทางเลือก
อื่นๆ เพิ่มเติมกันให้รอบคอบสักหน่อย ว่าคู่แข่งของ Yaris ตอนนี้ มีอะไรบ้าง?
จากการสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าในช่วงนี้ แบบคร่าวๆ ผมพบความจริงว่า
คนที่คิดจะซื้อ Yaris นั้น น่าแปลกมากว่า ส่วนใหญ่ ไม่ได้มอง ECO Car
ตัวถัง Hatchback 1.2 ลิตร ซึ่งเป็นคู่แข่งในพิกัดเดียวกันเท่าใดนักเลย
Nissan March ถูกมองข้ามไปเพราะขาดความสดใหม่ ตัวรถมีขนาดเล็ก
และเมื่อมีตัวเลือกในตลาดมากขึ้น ลำพังตัวรถเอง ยังดึงดูดใจไม่พอ แถม
สมรรถนะ รุ่นเกียร์ CVT ก็จัดว่า อืด พวงมาลัยไร้ชีวิตชีวา
Mitsubishi Mirage ถูกมองข้ามไป ทั้งที่เด่นด้วยเครื่องยนต์ 3 สูบ ยังคง
แรงและประหยัดน้ำมันมากที่สุดในกลุ่ม ECO Car แต่ทั้งหมดนั้นต้อง
แลกมาด้วย ขนาดตัวถังที่เล็กกว่านิดหน่อย แถมพวงมาลัย ยังตอบสนอง
ไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร แถมช่วงล่างยังยิ่มเกินไปจนน่าสะพรึงกลัว
เมื่อใช้ความเร็ว แถวๆ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือเกินจากนั้น
ส่วน Honda Brio ที่หลายคนร้องยี้ไปแล้ว กลับกายเป็นว่ายังพอหาที่ยืน
ในตลาดได้อยู่ เพราะบรรดา วัยรุ่นขาซิ่ง จำนวนมาก กำลังตามหาโชว์รูม
ที่มีสต็อก รุ่นเกียร์ธรรมดา ไว้เยอะ เพราะพวกเขาตั้งใจซื้อไปทำรถแข่ง
คันเล็กๆ ไว้วิ่งเล่นสนุกๆ ตามสนามแข่งต่างๆ ในวันหยุด
มีเพียง Suzuki Swift เท่านั้น ที่ลูกค้ากลุ่มซึ่งมองหา Yaris อยู่ เลือกจะ
เปรียบเทียบกันด้วย นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ Toyota เองก็วางให้
Swift เป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ พวกเขาต้องการแย่งชิงหัวใจลูกค้ากลุ่ม
ที่เน้นในด้านสมรรถนะการควบคุมรถ มากกว่าปกติ อยู่แล้ว กระนั้น
ลูกค้าที่ซื้อ Swift จะเป็นคนกลุ่มที่ “ทะเลาะกับพ่อแม่เพื่อจะซื้อรถ”
ด้วยเหตุผประมาณว่า “ฉันของของฉัน อย่างนี้ ขอให้ฉันได้เลือก
รถคันนี้เป็นคันแรก เป็นของขวัญให้ชีวิตตัวเองด้วยเถอะ” ลูกค้า
กลุ่มนี้ มักเปนคนโสด มีรสนิยมชอบงานศิลปะ เข้าใจดีว่าตนเอง
ต้องการอะไร และชอบการขับรถลัดเลาะไปตามสภาพการจราจร
ที่ติดขัด ชอบความสนุกในการขับขี่
ถึงแม้ Swift จะเคยเป็นเทพด้าน Handling ของ กลุ่ม ECO Car
และ Yaris ใหม่ก็ทำได้ดีกว่าในด้านการเซ็ตช่วงล่างด้านหลัง ให้
ไม่เด้งไม่เท่า Swift ทว่า ในภาพรวมแล้ว Swift จะยังเอาใจคนรัก
ความสนุกในการขับขี่ได้ดีกว่า Yaris อยู่นิดนึง ที่เหลือ คือเรื่อง
ความคุ้มค่า Swift รุ่นท็อปให้อุปกรณ์มาพอกันกับ Yaris รุ่นท็อป
ในราคาที่ถูกกว่ากันราวๆ 40,000 บาท แต่คงต้องยอมแลกกับพื้นที่
ห้องโดยสารของ Yaris ที่กว้างใหญ่และมีเบาะหลัง นั่งสบายกว่า
แถมมีพื้นที่วางของด้านหลังรถ เยอะกว่าชัดเจน
ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ตรงพิกัด นั่นคงจะมีแค่นี้ แต่เรื่องแปลก
สำหรับ Yaris ใหม่ก็คือ มีลูกค้าจำนวนไม่น้อย ที่นำมันไปเทียบกับ
Toyota Vios Sedan 1.5 ลิตร กันเต็มๆ และมีจำนวนน้อยมาก
ที่จะเปรียบเทียบกับ B-Segment ECO Car Sedan 1.2 ลิตร
อย่าง Nissan Almera และ Mitsubishi Attrage กันไปเลย
เหอ?
ไม่เชื่อก็ลองดูราคาขายปลีกหน้าโชว์รูมสิครับ
Yaris ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อย ดังนี้
– 1.2J ECO เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i 469,000 บาท
– 1.2J เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i 519,000 บาท
– 1.2E เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i 549,000 บาท
– 1.2G เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i 599,000 บาท
แล้วลองมาดูราคาของ Vios ใหม่ กันสักหน่อย ดีกว่า
1.5 J 5MT เกียร์ธรรมดา 559,000 บาท
1.5 J 4AT เกียร์อัตโนมัติ 589,000 บาท
1.5 E 5MT เกียร์ธรรมดา 614,000 บาท
1.5 E 4AT เกียร์อัตโนมัติ 649,000 บาท
1.5 G 4AT เกียร์อัตโนมัติ 699,000 บาท
1.5 S 4AT เกียร์อัตโนมัติ 734,000 บาท
ดูไปดูมา Yaris นี่สงสัยว่าจะเกิดมาเพื่อฆ่าพี่ชายตัวเอง (Vios) ตายโดย
ทางอ้อม เหมือนกันนะ ไม่แปลกหรอกที่มีคนเอามันไปเทียบกับ Vios
มากพอๆกับที่เอาไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในเซกเมนต์เดียวกัน
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น..?
ก็ดูราคาขายสิครับ มันเหลื่อมล้ำทับซ้อนกันอยู่ 3 รุ่นย่อยรวด!
ง่ายๆครับ ถ้าเรามองแบบคนที่ยังมีภาพเก่าของ Yaris รุ่นเดิมอยู่ในหัว
พวกเขาก็จะนึกว่า Yaris ใหม่นี้ ก็ยังเป็น B-Segment คู่แฝดกับ Vios
เหมือนรุ่นที่แล้วนั่นล่ะ อันที่จริงมันก็เป็นไปตามที่เขาเข้าใจส่วนหนึ่ง
เพราะระยะฐานล้อ ความกว้างตัวถัง และแพลทฟอร์มที่ใช้ก็ยกมาจาก
Vios แม้แต่หน้าปัดกับแผงประตูก็มีดีไซน์ที่เหมือนกันเป๊ะ แต่วาง
เครื่องยนต์ขนาดเล็กลงจากเดิมเหลือ 1,200 ซีซี แล้วพ่วงเกียร์ CVT
ก็แค่นั้น
เมื่อมองการใช้งานของ ลูกค้าส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้เน้นสมรรถนะ หรือ
อัตราเร่งเป็นหลัก ก็จะพบว่า Yaris แม้จะดูแพงกว่า ECO Car ตัวถัง
Hatchback รุ่นอื่นๆ ทั้งหมด แต่ในทางกลับกัน สำหรับคนที่ไม่ได้
มีความรู้เรื่องรถยนต์มากนัก Yaris จะกลายเป็น “Vios ที่ถูกลงมาก”
จนกลายเป็นทางเลือกอันสมเหตุสมผล ถ้าคุณไม่แคร์ว่า บั้นท้ายรถ
เป็น Hatchback ท้ายตัด เพราะอัตราเร่ง ก็พอๆกัน ในช่วงฤดูหนาว
และน่าจะด้อยกว่ากันนิดหน่อย แบบไม่เลวร้าย ในช่วง ฤดูร้อน (จาก
12.4 วินาที น่าจะลดเหลือ ไม่แย่ไปกว่า 13.4 วินาที ในเกมจับ
เวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง) แถมช่วงล่าง ก็ยังยก Setting
มาจาก Vios รุ่น G กับ E ที่เน้นความสบายในการเดินทางไกล
แต่ยังคงเข้าโค้งต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงกว่าปกติได้สบายๆ แม้
จะสะเทือนกว่านิดหน่อยในช่วงความเร็วต่ำ แต่ยังสบายกว่า
Vios 1.5 S ที่พยายามจะทำช่วงล่างให้สปอร์ต แต่ยังไม่ดีพอ
แถมพื้นที่โดยสารด้านหลังของ Yaris ก็กว้างขวาง และนั่งได้
สบายกว่า Vios เห็นๆ!
ยิ่งเปรียบเทียบราคากับอุปกรณ์ ของ Yaris และ Vios ในแต่ละ
รุ่นย่อยแล้ว จะยิ่งพบประเด็นให้ประหลาดใจ เชื่อไหมว่า ถ้าคุณ
เลือก Yaris 1.2 G ตัวท็อป คุณจะจ่ายเงินถูกกว่าการซื้อ Vios
ถึง 100,000 บาท พอดี แต่ Yaris ใส่อุปกรณ์มาให้คุณมากกว่า
2 รายการ คือ มือจับเปิดประตูภายนอกเป็นโครเมียม และระบบ
Push Start / Smart Entry นอกนั้น อุปกรณ์ แทบจะเท่ากัน
ไม่เว้นแม้แต่ เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ที่ใช้ยากไปหน่อย ถุงลม
นิรภัย 2 ใบ และ ระบบ ABS / EBD กับพวงมาลัย Multi Function
เท่ากับว่า ถ้าไม่แคร์อัตราเร่ง ไม่แคร์บุคลิกของรถท้ายตัด แต่สนใจ
ค่าน้ำมันต่อเดือน แล้วเลือก Yaris คุณจ่ายน้อยกว่า แต่ได้ข้าวของ
เกือบเหมือนกันเลย!
ดังนั้น ใครที่มอง Vios รุ่น 1.5J A/T ไว้ ก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง
แล้วล่ะว่า
1. คุณชอบรถมีท้ายเพราะจะติดแก๊สแล้วมีที่เหลือเพื่อสบายใจงั้นใช่มั้ย?
หรือคุณจำเป็นต้องใช้รถเก๋ง Sedan 4ประตู มีท้าย จริงๆ หรือเปล่า
2. หรือว่าคุณมี DNA แห่งความเป็น Minimalism สูง ชอบรถยนต์ที่
“สละแล้วซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ” ออพชันไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ขอให้มี
แค่กระจกหน้าต่างไฟฟ้า กับพวงมาลัยเพาเวอร์ แอร์ และวิทยุ
มาให้ก็พอ
3. คุณเกลียดเกียร์ CVT ยิ่งกว่าเกลียดขี้หน้าคนข้างบ้านรั้วติดกัน
คุณไม่ชอบมันมากๆ! และยังไงก็คิดว่ารถเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหว
กะคันเร่งได้ง่ายกว่า หรือทนทานกว่าเมื่อใช้ไปนานๆ
เพราะถ้าคุณไม่ได้คิดอะไรแบบ 3 ข้อนี้ ผมก็จะบอกว่า Vios J 4AT
ราคา 589,000 บาท มันถูกกว่า Yaris ตัว 1.2G แค่ 10,000 บาท
เท่านั้นเอง หากเปลี่ยนเป็น Yaris ยอมลดความแรงลงมานิดนึง จาก
1,500 เหือ 1,200 ซีซี (อัตราเร่ง ด้อยกว่ากันนิดเดียว แต่ประหยัด
น้ำมันขึ้นชัดเจน) คุณจะได้อุปกรณ์ ของเล่นต่างๆมากมาย มีตั้งแต่
ล้ออัลลอย เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ Push Start/Smart Entry
จอ MID มีพวงมาลัย Multi Function แถมไม่ต้องวานคนนั่งข้างให้
ช่วยปรับกระจกซ้ายอีกต่อไป คุณมีที่ปัดน้ำฝนที่ปัดเป็นจังหวะได้
และมีเบรก ABS / EBD เพิ่มมาให้ ..น่าสนเหมือนกันนะ
แต่ถ้าถาม J!MMY แล้ว ว่า ถ้าเป็นส่วนตัวคุณ J!MMY จะซื้อ Yaris
ใหม่หรือไม่? ขอย้ำว่า “นี่คือความเห็นส่วนตัว หลังจากที่วิเคราะห์
กันอย่างเป็นกลาง ตามเนื้อผ้า มาตลอดทั้งบทความข้างต้นแล้ว”
ตอบได้ทันทีเลยครับว่า “ไม่”!
ทำไมละ?
ผมรับไม่ได้ กับการที่ต้องซื้อรถยนต์ ที่เต็มไปด้วยการติดตั้ง
ชิ้นส่วนหลายชิ้น ซึ่งไม่มีความจำเป็น แปะมาให้กับตัวรถ
แล้วทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่พวกเขากลับ
ไม่ยอมหาทางตัดทอนชิ้นส่วนเหล่านั้นลง เพื่อนำต้นทุน
ส่วนเกินนี้ ไปเพิ่มให้เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐาน
กับลูกค้า
ผมรับไม่ได้กับรถยนต์ ที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยปรับสูง – ต่ำมาให้
ผมอยากได้ พวงมาลัย ปรับระยะ ไกล – ห่าง จากตัวคนขับได้
(ซึ่งสำหรับผม ตอนนี้ จำเป็นมาก ตำแหน่งเบาะ กับพวงมาลัย
ที่ไม่สัมพันธ์กัน มันทำให้ผมเริ่มปวดหลังได้เร็วขึ้น)
และ ผมไม่อยากซื้อรถที่มีงานออกแบบด้านหน้า ชวนให้ผม
นึกถึง วีรบุรุษ บางระจัน อย่าง นายจันหนวดเขี้ยว หรือ
อากง หนวดเฟิ้ม และมีไฟท้ายที่ดูคล้าย ก้อนเลือดกำเดา
ไหลเปรอแก้มของเด็กประถม 2
ถ้า Toyota จะไปแก้ไขปรับปรุง ใน 3 ย่อหน้าข้างบนนี้ได้ครบ
กันเมื่อไหร่ วันนั้นแหละ ผมอาจจะเปลี่ยนใจ ยอมซื้อ Yaris
มาจอดอยู่ในบ้าน
เพราะภาพรวมของรถ มันสอบผ่าน มาตรฐานในใจผม ไปหมดแล้ว!
—————————///—————————
ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน (ภาพกราฟฟิค เป็นของ Toyota Motor Corporation)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
25 ธันวาคม 2013
Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 25th,2013
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome CLICK HERE!