ได้อย่าง เสียอย่างเนอะ

คนที่พูดกับผมด้วยประโยคนี้
คือพี่ ทหาร ท่านหนึ่ง ในสถานีวิทยุ ขสทบ. FM 102 MHz / AM 1269 KHz.
ผู้ที่เป็นเจ้าของวีออสรุ่นเดิมอยู่
และได้มีโอกาสมาผุดลุกผุดนั่ง ในเจ้าวีออส รุ่นใหม่ล่าสุด

ผมถึงกับ ลิงโลดอยู่ในใจ

จะไม่ให้ลิงโลดได้อย่างไรละครับ

ก็ในเมื่อ ผมใช้เวลาคิดหาวลีที่จะกล่าวถึงภาพรวมของวีออสใหม่ มานานมากแล้ว และผมนึกไม่ออกเสียที

พี่เขาเปิดมาง่ายๆแบบนี้
ผมก็ขออนุญาต นำมาใช้เป็นชื่อเรื่องกันเลยนั่นละครับ

เป็นประโยคที่ผมคิดว่า สามารถอธิบายตัวตนของ วีออสใหม่ได้ดีที่สุดแล้ว

บทความรีวิววีออสใหม่ ค่อนข้างเร็วทันใจ ไม่ต้องรอนานเหมือนรถรุ่นอื่นๆ

ส่วนหนึ่งก็คงเพราะความพร้อมของทางโตโยต้า ที่เตรียมรถไว้ให้สื่อมวลชนมากถึง 12 คัน สำหรับทริปทดลองขับ
กรุงเทพ-พัทยา ที่ผมมิได้มีโอกาสไปร่วมด้วย เนื่องจากติดพันสารพัดภาระกิจ

แต่เนื่องจาก ได้พูดคุยกับทาง ฝ่ายพีอาร์ ของโตโยต้าไว้เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้คราวนี้ ทันทีที่ผู้สื่อข่าวกลุ่ม 2
เดินทางกลับมาในวันอังคาร ผมก็เดินทางไปรับช่วงรถ
รุ่น E +SRS+ABS มาขับก่อนเป็นคิวแรกๆ กันถึงโรงแรมดุสิตธานี

จุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดทริป ของโตโยต้าเป็นส่วนใหญ่ ในระยะหลังๆนี้นั่นละครับ

6 วัน กับ วีออสใหม่ 2 คัน
ผมพบเรื่องราวมากมายมาชวนให้คุยกันเยอะเลยทีเดียว

 

 

 
 

 

ซับ-คอมแพกต์ซีดานรุ่นใหม่ที่เห็นอยู่นี้ มีรหัสรุ่น SCP92  KSP92 NCP96  เป็นซีดานขนาดเล็กรุ่นใหม่
ที่โตโยต้าตั้งใจจะเปิดตัวออกมาทำตลาด ด้วยภาระกิจหลัก 2 ประการ

1. ต้องทำตลาดแทน แพลตซ์ ซับ-คอมแพกต์ซีดานที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานของวิทซ์/ยาริส รุ่นแรก
ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1999 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรทั้งในตลาดญี่ปุ่นและในตลาดอเมริกาเหนือ
(ส่งไปขายในชื่อ เอคโค ; ECHO) เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูไม่ลงตัว ซุ้มล้อคู่หลังมีขนาดเล็กเกินไป
เมื่อเทียบกับบั้นท้ายที่ยาวขึ้นกว่าวิทซ์/ยาริสรุ่นแรกอยู่มาก และยังมีขนาดตัวถังเล็กกว่าซิตี้

2. ทำตลาดแทน วีออสรุ่นเดิม ในฐานะรุ่นเปลี่ยนโฉมของ วีออส ซับ-คอมแพกต์ซีดาน ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตลาด
ในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยความที่วีออสรุ่นเดิม เปี่ยมด้วย
การตอบรับที่ดีของผู้บริโภค ทำให้โตโยต้า ต้องคิดหนักในการพัฒนา

 
 

ถึงตอนนี้ โตโยต้า ดูเหมือนเริ่มคิดได้ว่า

ก็ในเมื่อ ซับ-คอมแพกต์ซีดาน ที่มีอยู่
ก็มีตั้ง 2 รุ่น แล้วเรื่องอะไรเราจะต้องแยกโมเดลกันทำตลาด
พัฒนารถใหม่อีกคันออกมา ซ้ำซ้อนเพื่ออะไร?

ทำไมไม่กลับไปทำรถรุ่นเดียว เพื่อขายทั่วโลกละ?
ต้นทุนมันก็ถูกกว่า ความแตกต่างของรสนิยมลูกค้า
ต่างกันก็จริง แต่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนการตกแต่งตัวรถ
ให้ดึงดูดลูกค้าได้หลากรูปแบบชีวิต

คิดได้ดังนี้ ก็จับรวม แพลตซ์ กับ โซลูนา วีออส เป็นรถรุ่นเดียวกันเสียเลยก็สิ้นเรื่อง!

ส่วนเรื่องชื่อรุ่น ต่อไปนี้เราจะไม่ได้เห็นชื่อ โซลูนา กันอีกต่อไป
เพราะโตโยต้า ต้องการลบภาพรถยนต์ราคาประหยัด ออกจากใจผู้บริโภคให้ได้
การนำชื่อ โซลูนา ออกไปให้พ้นหูพ้นตา ดูเป็นวิธีที่ง่ายสุดแล้ว

 
 

เมื่อทีมงานของ JUNICHI FURUYAMA ;CHIEF ENGINEER  จากศูนย์พัฒนายานยนต์ 2 ของโตโยต้า
ซึ่งดูแลโครงการรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดกลางจนถึงเล็ก ตัดสินใจจะพัฒนาซับ-คอมแพกต์ซีดานรุ่นใหม่
บนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมและพื้นตัวถัง NBC (NEW BASIC CAR) ร่วมกันกับวิทซ์/ยาริส รุ่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไป

จุดอ่อนต่างๆของแพลตซ์จึงถูกนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน พร้อมกับการประเมินว่า สามารถนำชิ้นส่วนอะไหล่
จากวิทซ์/ยาริสมาใช้กับเบลต้าเพื่อให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลงมากที่สุดได้มากน้อยแค่ไหน

 

 
 

เพื่อที่จะให้ออกมาโดนใจลูกค้ามากที่สุด

แต่…ผมเชื่อว่า วิศวกรโตโยต้าเอง ก็คงทราบดีว่า

เมื่อจะต้องทำรถออกมาเอาใจผลลัพธ์จากผลวิจัยตลาด
ก็คงต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่างไปบ้าง….

—————————

ใครที่เคยค่อนขอด วีออส เอาไว้ว่า
เป็นรถที่โตโยต้าญี่ปุ่นยังไม่อยากเอาไปขายลูกค้าบ้านตัวเองนั้น

เลิกค่อนขอดแบบนั้นได้แล้วครับ!

เพราะว่า รุ่นนี้ เปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่น
เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2005 หลังโตเกียวมอเตอร์โชว์ เดือนเดียว
ทำตลาดในชื่อ เบลต้า (Belta)
ชื่อนี่อย่างกับ แบรนด์คอมพิวเตอร์ ของคนไทย เลยแหะ

เพียงแต่มีความแตกต่าง ในการตกแต่ง รายละเอียดอุปกรณ์
และวัสดุตกแต่งฟ้องโดยสารบางประการเท่านั้น

ในที่สุด เจ้ารถเล็กรุ่นนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถมาตรฐานทั่วโลก
ในแบบ World Standard Car เสียที!

 

 

และในเมื่อ สร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง NBC เวอร์ชันปรับปรุงใหม่
อันเป็นพื้นตัวถังของ วิทซ์/ยาริส

แล้วเหตุไฉนละ ที่จะต้องทำชิ้นส่วนด้านหน้า ให้แตกต่างกัน เพื่อเสียเวลา?

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราจะเห็นว่า ครึ่งคันหน้าของวีออส นั้น
โครงสร้างวิศวกรรมที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกตัวถังใหม่นั้น
ก็แทบจะยกมาจาก ยาริสใหม่ ทั้งดุ้น
(ไม่นับงานตกแต่งดีไซน์ต่างๆนะครับ)

หากสำรวจดูเส้นสายตัวถังรอบคันของเบลต้า / วีออส
ที่ออกแบบขึ้นด้วยแนวคิด SIMPLE IS COOL จะพบว่า
เบลต้า/วีออส มีประตูคู่หน้า เสาหลังคาคู่หน้า A-PILLAR เสาหลังคาคู่กลาง B-PILLAR และกระจกบังลมหน้า
ชุดใบปัดน้ำฝน  
ยกชุดมาจากวิทซ์/ยาริส

กระจังหน้า แบบ U-Shape นั้น ยังออกแบบมาได้ไม่ลงตัวเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับความเรียบง่ายจากรถรุ่นเก่า

 
 
 

ในขณะที่ครึ่งคันหลังถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้ดูลงตัวและสวยงามยิ่งขึ้นกว่าแพลตซ์อย่างมาก
และหากมองให้ดี ยังพอมีเค้าโครงของวีออสรุ่นปัจจุบันซ่อนตัวอยู่ในเส้นสายของเบลต้า/วีออสใหม่อยู่ด้วย

 
 
 

แนวเส้นตัวถังด้านข้าง มาในสไตล์เรียบง่าย ลงตัว
และยังแฝงกลิ่นของวีออสรุ่นเดิมไว้อยู่บ้าง

แต่ เพิ่มในสิ่งที่ผมอยากให้เพิ่มมานานแล้วเสียที

นั่นคือ ขอบประตูบริเวณเสาหลังคากลาง B-Pillar ทาสีดำเสียที

ไม่เพียงแค่ประตู
หากแต่ เมื่อเปิดประตูคู่หน้าเข้าไป
จะพบว่า ที่เสาหลังคากลาง จะมีแถบสติ๊กเกอร์สีดำๆ

เหตุผลที่เขามีมาให้ในคราวนี้ คือประเด็นเรื่องความสวยงามเป็นหลัก

อย่างเดียวเลย

จริงๆนะ!

 
 
 

ชุดไฟท้าย พยายามออกแบบให้เป็นทิศทางเดียวกับไฟท้ายของ ยาริส……

แต่ ได้โปรดเถอะ

นี่คืออีกจุดหนึ่งของงานดีไซน์ที่ผมว่าไม่ลงตัวเท่าไหร่

เพราะบั้นท้ายนั้น ดูไปดูมา เหมือนจงใจไปดึงเอาบั้นท้ายของ BMW 5 Series รุ่นล่าสุด E60
เป็นแบบต้นฉบับยังไงยังงั้นเลยทีเดียว

 
 
 

…หากเปรียบเทียบขนาดตัวถังของเบลต้า/วีออสที่มีความยาว 4,300 มิลลิเมตร
กว้าง 1,690 มิลลิเมตร สูง 1,460 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร

กับขนาดตัวถังของวีออส ซึ่งมีความยาว 4,285  มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,440 มิลลิเมตร  และระยะฐานล้อ 2,500 มิลลิเมตรแล้ว พบว่า…

 
 
 

เบลต้า/วีออส มีขนาดตัวถังใหญ่กว่าวีออสเล็กน้อย ทั้งความยาวที่ต่างกันเพียง  15 มิลลิเมตร
ความกว้างพอๆกัน ความสูงต่างกันแค่ 20 มิลลิเมตร แต่ระยะฐานล้อที่ยาวขึ้นอีก 50 มิลลิเมตร นั้น
กลับส่งผลมากมาย ทั้งด้านดี และด้านลบให้กับตัวรถ

 
 
 

คันสีเงิน เป็นรุ่น 1.5 G ส่วน คันสีแดง คือรุ่น 1.5 E 

ตั้งแต่รุ่น E หรือว่ารุ่นรองบ๊วยขึ้นมา

ให้ยางอัลลอย 15 นิ้วมา จากโรงงาน ลายจะเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวมากๆ

 
 
 
บรรยากาศในภาพถ่ายของรถคันสีแดง จงใจจะใช้โลเกชันเดียวกันกับ ภาพยนตร์โฆษณาในช่วงเปิดตัวของวีออสรุ่นนี้
 
 
 
ถ่ายทำกันที่ ข้างวังสราญรมณ์ 
 
 
 

อีกทั้ง รุ่น E ขึ้นไป ยังจะมีไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้างเพิ่มมาให้ด้วย!

ส่วนไฟตัดหมอกหน้า ต้องเป็นรุ่น G ขึ้นไปละครับ

 
 
 

 

มาดูห้องโดยสารกันบ้าง รุ่น G คันสีเงิน กับรุ่น E คันสีแดง นั้น เมื่อเปิดประตูเข้าไปในรถ แทบไม่แตกต่างกันเท่าใดนักเลย

 

 
 
 

ประเด็นแรกที่ต้องคุยกันตรงๆก็คือ
เบาะนั่งคู่หน้า

ด้วยความที่ต้องยกมาจาก ยาริส ทั้งดุ้น ดังนั้น ทุกสัมผัสของแผ่นหลัง จึงไม่ต่างจากยาริสเลย

อาการปวดหลัง บริเวณกลางแผ่นหลัง ใกล้กับกระดูกสันหลังของผม
จึงเกิดขึ้นมาง่ายมากๆ เช่นเดียวกับ ยาริสนั่นละ

ปัญหานี้ เหมือนจะแก้ไม่ตกเลยแหะ

การปรับเบาะสูงต่ำ ทำได้โดยโยกก้านขึ้นหรือลงตามต้องการ
ทำได้เฉพาะเบาะคนขับเท่านั้น

 
 
 

ไม่ว่าจะเป็นเบาะหนัง หรือเบาะผ้า อาการปวดหลัง จะโผล่มาพบกับคุณๆได้ง่าย พอกัน ไม่เลือกชั้นวรรณะเสียด้วยสิ

เบาะรองนั่งเองก็มีขนาดสั้น ในสไตล์รถเล็ก

ขับแล้วไม่ค่อยสบายเท่าไหร่

หนังที่หุ้มเบาะให้จากโรงงาน ของตัววีออสนั้น คุณภาพหนัง ก็เป็นธรรมดาปกติ
และยังสู้รถราคาแพงกว่านี้ไม่ได้แน่นอน

แต่ในรุ่นเบาะผ้านั้น การรองรับสรีระ ตลอดการเดินทาง ยังทำได้ไม่ดีนัก  
เบาะยังไม่ซัพพอร์ตตัวแผ่นหลังของผู้ใหญ่

การวางเท้า ของผู้โดยสารด้านข้างนั้น ต้องทนอึดอัดไม่น้อย
เพราะพื้นรถบริเวณที่วางเท้า มันลาดเอียง
ราวกับจงใจออกแบบให้เครื่องยนต์ ไหลลงไปอยู่ที่พื้นถนน เมื่อเกิดการชนอย่างหนัก

ก็ต้องแลกกันละครับ

ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง

 
 
 

ส่วนด้านหลังนั้น

การขยายระยะฐานล้อให้ยาวขึ้นอีก 5 เซ็นติเมตร หรือ 50 มิลลิเมตร

มีผลดีอยู่บ้าง ก็คือ ช่วยให้การเข้าออกจากห้องโดยสารด้านหลัง ทำได้ดียิ่งขึ้น สะดวก ในการเข้าออกมากขึ้น

(แผงประตูในรุ่น G จะตกแต่งด้วยผ้า ที่คล้ายกับกำมะหยี่ แต่ไม่ใช่กำมะหยี่)

 
 
 

 

ขณะที่ในรุ่น E จะตกแต่งด้วยผ้าแข็งๆ ตามสไตล์โตโยต้า รุ่นประหยัดในยุคหลังๆ 

นอกจากจะเข้าออกได้สบายขึ้นล้ว

การขยายพื้นตัวถังออกไปอีก 5 เซ็นติเมตร หรือ 50 มิลลิเมตร

ยังช่วยเพิ่มพื้นที่วางขา ให้กว้างใหญ่ขึ้น

 

 
 
 

เบาะหลังคราวนี้ เฉพาะในรุ่น G ขึ้นไป เพิ่มที่วางแขนตรงกลาง พับเก็บได้
พร้อมช่องใส่แก้ว/ขวดน้ำขนาดเล็ก 1 ช่อง

บางคนจินตนาการไปบรรเจิดเลยว่า สามารถใช้แทนเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก
โดยมี ร่องตรงกลางนั่นละ เอาไว้ให้คุณหนูๆ เค้า ฉี่ใส่!

ใครหนอช่างคิดได้……

และพนักศีรษะแบบ เดียวกับรถยุโรปและรถญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ
ซะแล้ว

 
 
 
 

และที่สำคัญคือ

เบาะหลังตั้งแต่รุ่น G ขึ้นไป สามารถพับเก็บได้
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง

 

 
 

แต่ในรุ่น E

เบาะหลัง ยังคงเป็นแบบธรรมดา เหมือนรุ่นเดิมที่เคยเป็น

—————–
ทว่า ข้อด้อยของเบาะนั่งด้านหลัง ในวีออส ก็คือ

– เบาะรองนั่ง ก็ยังคงสั้นเหมือนเดิม
– นั่งแล้วไม่สู้จะสบายนัก เพราะตัวเบาะ ยังถือว่าแข็งอยู่ดี
แม้จะไม่แข่งแบบน่ากลัวอย่างที่ ยาริส เป็นอยู่ก็ตาม
– และพื้นทื่เหนือศีรษะ แทบไม่มีเลย หรือ น้อยมาก

 

 
 

ที่ผมบอกไปว่า พื้นที่เหนือศีรษะสำหรับผู้โดยสารตอนหลังมันเหลือน้อยมากนั้น

ลองมาดูจาก คนนี้ก่อน

สูง 181 เซ็นติเมตร

ตา Bombe (RhinoMango) นั่นเอง

 
 

ส่วนน้องกล้วย หรือ น้องชายคนเล็ก

สูง 168 เซ็นติเมตร

หัวยังเฉี่ยวๆเพดานหลังคาเลย

 
 
 

ห้องเก็บของด้านหลัง คราวนี้ บุด้วยวัสดุรีไซเคิล และเก็บงานดีขึ้น

Future board ไม่มีหลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป

 
 
 
 

ภายในตกแต่งในสไตล์คล้ายคลึงกับวิทซ์/ยาริส

อย่างไรก็ตาม คอนโซลกลางบนแผงหน้าปัด ถูกออกแบบขึ้นใหม่ให้แตกต่างกันเล็กน้อย
นี่คือรุ่น G

 
 
 

ส่วนนี่คือแผงหน้าปัดรุ่น E

แทบไม่ต่างเลยใช่ไหมครับ?

 

 
 

แม้ว่า เป็นแผงหน้าปัดที่ใช้ชิ้นส่วนบางอย่างร่วมกับแผงหน้าปัดของยาริส

แต่การที่ไม่ต้องออกแบบให้มีช่องเก็บของจุกจิกมากเท่า
ทำให้ ชิ้นงานดูเรียบร้อยกว่า
และสร้างสัมผัสให้ผู้บริโภค คิดไปล่วงหน้าเองแล้วว่า
วัสดุ มันดูดีกว่า ยาริส

ทั้งที่พลาสติก รีไซเคิลได้ มันก็ชนิดเดียวกันนั่นละ!
ขึ้นอยู่กับการกัดลายพลาสติก การฉีด และกรรมวิธีการผลิตอื่นๆ

ถ้าปล่อยให้คุณผู้อ่าน เล่นจับผิดความแตกต่าง หรือ Photo hunt กับ 2 รูปข้างบนนี้ไปก่อน
น่าจะยังพอเล่นกันได้นะครับ

แต่เรากำลังจะแจกแจงต่อไปว่า อุปกรณ์ที่ให้มาเหมือนกันนั้น มีอะไรบ้าง..

และมีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง

แน่นอนครับ
จุดแรกที่เหมือนกันคือ
คอนโซลกลาง ที่ออกแบบมาให้ดูคล้ายคลึงกับ แผงคอนโซลกลางของ แคมรี ใหม่ นั่นเอง

รุ่น J จะมาเป็นแผงสีดำ
ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ผมว่า สวยกว่าสีเงิน ในรุ่น E G และ S
เสียด้วยซ้ำ

แผงควบคุมสวิชต์แอร์ เป็นรูป หัว Micky Mouse
มีสวิชต์ไล่ฝ้ากระจกหลังมาให้ ตรงกลางสวิชต์ วงกลม ปุ่มล่างสุด

ใช้เวลาในการสร้างความเย็นในห้องโดยสารหลังติดเครื่องยนต์
ไม่นานนัก เย็นเร็วตามสไตล์ของระบบปรับอากาศจาก DENSO
ซัพพลายเออร์คู่บารมีโตโยต้ามาแต่โบราณกาล

ผมจะเรียกอย่างนี้ของผมละครับ…

 
 
 
 

ที่วางแก้ว ตำแหน่งเดียวกับในยาริส
แต่เปลี่ยนดีไซน์ใหม่
มีฝาพับเก็บ ที่สามารถดีดตัวขึ้นมาได้เอง อย่างนุ่มนวล ราวกับรถหรูไฮโซ

ช่องแอร์ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง เป็นแบบ วงกลม หมุนได้รอบ
เหมือนกับยาริส

สวิชต์ ควบคุมการปรับตำแหน่งและพับเก็บกระจกมองข้าง
อยู่ในตำแหน่งมาตรฐานของโตโยต้าจริงๆ

ทุกรุ่นจะมีชิ้นหลังสุดนี้ครบ ยกเว้น รุ่น J ที่จะไม่มีมาให้??

 
 

ที่วางแก้วอีกตำแหน่งหนึ่งสำหรับผ้โดยสารตอนหลังมาแอบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ที่ด้านหลังกล่องเก็บของจุกจิก

วางเข้าจริง ก็พอจะวางขวดน้ำ 1.25 ลิตรได้ แต่ผมไม่รับประกันว่ามันจะนิ่งสนทอยู่อย่างนั้น
เหมือนกับที่วางแก้วบริเวณช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารคู่หน้าหรือเปล่า

————————-

สังเกตไหมครับว่า

พื้นห้องโดยสารด้านหลัง ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้เป็นแบบ “ไร้อุโมงค์เพลากลาง”

ช่วยลดการเบียดเสียดเยียดยัดให้การเข้าไปนั่งที่เบาะหลังหลายๆคน ลงได้อย่างดี

 
 
 
 

ส่วนกล่องเก็บของนั้น
แม้จะดูเหมือนเล็ก

แต่ก็ลึกพอสำหรับ CD 4-5 กล่อง วางเข้าไปในนั้นได้สบายๆ

ทว่า ผมยังสงสัยนิดหน่อยว่า

ในเมื่อจุดประสงค์ของการทำฝาปิดกล่องที่ว่านี้ ก็เป็นที่พักแขนด้วยไปในตัว

แล้วจะทำให้มันเตี้ยอย่างนี้ไปทำไมกันเล่าเนี่ย???

——————–

อีกจุดที่อยากให้สังเกตคือ

เห็นหัวล็อกเข็มขัดนิรภัยไหมครับ?

ดูก้านจุดยึดเขาสิครับ

มีซองหุ้มมาด้วย! คาดว่าน่าจะมีไว้เพื่อกันเสียงรบกวนเป็นหลัก

ดีครับ อันนี้ ดีมากเลยๆๆ ดูเรียบร้อยดี

 
 
 

เอาละครับ เมื่อดูความเหมือนกันไปแล้ว มาดูความแตกต่างกันบ้างดีกว่า

ข้อแรก อยู่ที่ ชุดมาตรวัดครับ

รุ่น E จะเป็นแบบนี้

 
 
 

จอแสดงข้อมูล จะบอกรายละเอียดได้ไม่มากครับ

การกดปุ่มเปลี่ยน ก็กดเอาที่ปุ่มเล็กๆฝั่งซ้าย ใต้สวิตช์ไฟฉุกเฉิน

 
 

ส่วนรุ่น G จะเปลี่ยนไปใช้แผงหน้าปัดแบบ Optitron เรืองแสงสวยเชียว

ถึงแม้จะอ่านชัดเจน และง่ายขึ้น

แต่การติดตั้งชุดมาตรวัดไว้ตรงกลางนั้น
ก็ยังถูกเพ่งเล็งเหตุผลไปที่การลดต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญ

อีกทั้งรุ่นเก่า ยังเอียงเข้าหาตัวของคนขับ
มากกว่ารุ่นปัจจุบัน และยาริสอีกด้วย
ความเป็นส่วนตัวของคนขับ ก็จะลดน้อยลง
เพาะอย่างน้อย พ่อตา แม่ยาย และแฟนคุณ ที่นั่งมาข้างๆ
เขาก็จะคอยดูมาตรวัดความเร็วแทนคุณ

 
 
 

ส่วนจอแสดงข้อมูลนั้น

จะสามารถเปิดดูได้ละเอียดกว่า

นอกจาก Trip A และ B  ตามปกติแล้ว
ยังมี อัตราสิ้นยเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
หรือแบบ Real time แปรผันจริงตามการขับขี่
ระยะทางที่เหลือจนกว่าน้ำมันจะหมดถัง

ต่อไปนี้ ก็ไม่น่าจะมีใครมาถามผมว่า วีออสใหม่ที่เขาใช้อยู่ กินน้ำมันกี่กิโลเมตร/ลิตรนะครับ

อิอิ

 
 
 

ชุดเครื่องเสียง ที่ให้มานั้น เมหือนกันทุกคัน ตั้งแต่รุ่น J ยันรุ่น S เลยทีเดียว!

เล่น CD และ MP3 ได้ 1 แผ่น 4 ลำโพง
ยกเว้นรุ่น G ขึ้นไป มีทวีตเตอร์ มาให้เพิ่มอีก 2 ชิ้น
ที่สามเหลี่ยมบริเวณกระจกมองข้าง

ภาครับวิทยุนั้น ชัดเจน และให้คุณภาพเสียงที่ดีมากกว่ายาริสเยอะ

แต่พอเล่น CD แล้ว รุ่น G ที่มีทวีตเตอร์ เพิ่มมาให้
คุณภาพเสียงอยู่ในระดับที่ ดีแบบพอฟังได้
ไม่เลวร้ายขนาดยาริสแน่ๆครับ

แต่ที่แน่ๆ สู้ชุดเครื่องเสียงของ Honda City ใหม่ ไม่ได้ รายนั้น คุณภาพเสียงดีที่สุดในกลุ่มรถซับ-คอมแพก์ด้วยกัน

 
 
 

และตั้งแต่ในรุ่น G ขึ้นไป

โตโยต้า สร้างมาตรฐานใหม่ เป็นครั้งแรกของเมืองไทย
ในรถยนต์ระดับ ซับ-คอมแพกต์

ด้วยสวิชต์ ควบคุมชุดเครื่องเสีงบนพวงมาลัย
ที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่วุ่นวาย
แต่ผมก็เผลอเปลี่ยนแทร็คเพลงเฉยเลย แทนที่จะ
เพิ่มลดความดังระดับเสียงไปเสียนี่

 
 
 
 

– รุ่นใหม่ของวีออส มีฟีลเตอร์แอร์ มาให้แล้ว
ติดตั้งที่บริเวณ เก๊ะลิ้นชักครับ

– ถุงลมนิรภัย คราวนี้ ให้มาเป็นคู่หน้า  2 ใบ
และมีตั้งแต่รุ่น E SRS+ABS เป็นต้นไป

– ห้องโดยสารมี 2 โทนสี คือ ดำ และ ไอวอรี
รุ่นที่แล้ว ลูกค้าอยากได้ภายในแบบไอวอรี ต้องเพิ่มเงิน
แต่รุ่นใหม่ ไม่ต้องเพิ่มเงินเลยครับ!

รายละเอียดเพิ่มเติม ไปเดินเล่นดูต่อได้ที่
http://www.toyota.co.th

 
 
 

*****รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ*****

เวอร์ชันญี่ปุ่น ในชื่อเบลต้านั้น มีเครื่องยนต์ให้เลือก
เป็นแบบ DOHC  ขนาด 1,000-1,300 ซีซี เท่านั้น
(ไม่มี 1,500 ซีซี ในช่วงแรกที่เปิดตัว)

ทั้งรหัส 1KR-FE 3 สูบ 12 วาล์ว 996 ซีซี 71 แรงม้า (PS) ที่ 6,000
รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 9.6 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที

ตามด้วยรหัส 2SZ-FE 4 สูบ 16 วาล์ว 1,296 ซีซี 87 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
 แรงบิดสูงสุด 11.8 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที สำหรับรุ่นขับล้อหน้า จะเชื่อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ
SUPER CVT-i ทั้ง 2 เครื่องยนต์

ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ V-FLEX  จะมีขุมพลังรหัสเดียว 2NZ-FE 4 สูบ 16 วาล์ว 1,298 ซีซี
แรงม้าเท่ากับ 2SZ-FE แต่เพิ่มแรงบิดเป็น 12.2 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที  เชื่อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
SUPER ECT ขนาดเล็กกว่าเดิมเพียงอย่างเดียว

 

แต่เวอร์ชันไทย

เครื่องยนต์ของเรา แรงกว่าเวอร์ชันญี่ปุ่นครับ

แถมยังเป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ไว้ด้วย

คือ ยังคงใช้เครื่องยนต์ 1NZ-FE
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT-i
109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.4 กก.-ม.ที่ 4,200  รอบ/นาทีเช่นเดิม

แต่ จะเรียกอย่างนั้นก็ไม่เต็มปาก
เพราะโตโยต้า จับเอา 1NZ-FE เวอร์ชันของยาริส
ที่เปลี่ยนจากลิ้นปีกผีเสื้อแบบกลไก มาเป็นไฟฟ้า
มาวางในวีออสใหม่นั่นเอง!

 
 
 

ถ้าเทียบกับเครื่องยนต์ 1NZ-FE ในวีออส รุ่นเดิมที่เรานำภาพมาเปรียบเทียบกันจะจะนี้ แล้ว

จะเห็นความแตกต่างอยู่หลายจุดเหมือนกันครับ

 
 
 
 
ข้อแรก

ดูยางแท่นเครื่องนะครับ

ข้างบนนี่คือรุ่นเก่าส่วนข้างล่าง คือรุ่นใหม่ี

 
 
 

ต่อมา
ตำแหน่งแบ็ตเตอรี
ตำแหน่งของชุด component ที่เกี่ยวข้อง มีการเปลี่ยนแปลงครับ

 
 
 
ข้างบนนี้คือรุ่นเก่า วางแบ็ตเตอรีในแนวตั้ง ส่วนข้างล่างคือรุ่นใหม่ วางในแนวขวาง
ตำแหน่งของปีกผีเสื้อก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยเปลี่ยนมาเป็นแบบไฟฟ้า
 
 
 
กล่อง ECM (Engine Control Module)
ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งผนังห้องเครื่องยนต์
 
 
 

ยังคงส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ Super ECT 4 จังหวะ
(อัตราทดเฟืองท้าย 4.237 : 1) เปลี่ยนมาเป็นแบบขั้นบันได ให้ดูหรูขึ้นเล็กน้อย
และเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (อัตราทดเฟืองท้าย 4.058 :1)

 

 
 

ผมทำการทดลองหาตัวเลขอัตราเร่ง
โดยคราวนี้ ผู้ช่วยของผมคือ น้องกล้วย หรือชื่อล็อกอิน “น้องชายคนเล็ก” ในห้องรัชดา
น้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัม รวมน้ำหนักผมแล้ว ก็ 140 กิโลกรัม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
ผมขอนำตัวเลขของโตโยต้า วีออส iรุ่นเดิมและ ยาริส รวมทั้ง ฮอนด้า แจ้ส
มาเปรียบเทียบให้เห็นด้วยในคราวนี้เลย นะครับ

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

……………..New-VIOS……VIOS (เก่า)………..YARIS…….JAZZ…….AVEO
ครั้งที่ 1………..12.13………….12.65…………..12.87……..13.08……..14.39… วินาที
ครั้งที่ 2………..12.02………….12.23…………..12.24……..13.14……..14.37… วินาที
ครั้งที่ 3………..12.18………….12.62…………..12.69……..13.23……..14.16… วินาที
ครั้งที่ 4………..12.10………….12.88…………..12.51……..13.09……..14.59… วินาที

เฉลี่ย…………….12.10………….12.59…………..12.57……..13.13……..14.37… วินาที

สรุปว่า อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ชัดเจนแล้วครับว่า วีออส ใหม่ ให้อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง
ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม ประมาณ 0.5 วินาที
และถือว่า เร็วที่สุดในการทดสอบนี้

————————-

อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

……………..New-VIOS……VIOS (เก่า)………..YARIS…….JAZZ…….AVEO
ครั้งที่ 1………..9.59……………..8.47……………10.71……….9.85……..12.10… วินาที
ครั้งที่ 2………..9.60……………..8.90……………10.44……….9.92……..12.12… วินาที
ครั้งที่ 3………..9.57……………..8.66……………10.75……….9.97……..12.31… วินาที
ครั้งที่ 4………..9.54……………..8.66……………10.54……….9.60……..12.22… วินาที

เฉลี่ย…………….9.59……………..8.67……………10.61……….9.83……..12.18… วินาที

สังเกตเห็นอะไรไหมครับ?

อัตราเร่งของวีออส ตัวเก่า ที่ใช้ลิ้นเร่งกลไก และมีน้ำหนักตัวรถเบานั้น
ยังคงทำตัวเลขได้ดีอันดับ 1

แต่จากที่ผมเคยคาดหมายว่า อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของวีออสใหม่
น่าจะมี 10 วินาที กลางๆค่อนปลาย แบบที่ยาริสเป็นนั้น
พอเอาเข้าจริง กลับไมได้เป็นเช่นนั้นเลย แถมยังเร็วกว่ากันอีก 1 วินาทีเศษๆอีกด้วย

ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆก็คือ เป็นไปตามคาดว่า จะให้สมรรถนะในการเร่งแซง ขณะเดินทางไกล
ด้อยกว่าวีออสเดิม เล็กน้อย แต่ยังดีกว่ายาริสแน่ๆ
แถมยังออกตัวจากจุดหยุดนิ่งดีกว่าใครเพื่อนอีกด้วย

———————–

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ อ่านจากมาตรวัด

เกียร์ 1……60   กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,250 รอบ/นาที
เกียร์ 2…..105  กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,250 รอบ/นาที
เกียร์ 3…..162  กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,250 รอบ/นาที
เกียร์ 4…..178  กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,600 รอบ/นาที

ความเร็วสูงสุด 178 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,600 รอบ/นาที

วีออสรุ่นเก่า  ทำได้ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 
 

คำถามก็คือ….

ทำไมเวลามันหายไปไหน 1 วินาที?

ผมว่าผมมีคำตอบนะ

และคำตอบมันน่าจะมาจาก การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้า
ที่ดูเหมือนว่า โตโยต้า ยังไม่คิดจะแก้ไขอะไรเพิ่มเติม
จากยาริส และแคมรี ให้มันทำงานได้เร็วไปกว่าที่เป็นอยู่นี้เลย

ทันทีที่กดคันเร่ง ไม่ว่าคุณจะกดลงไปในช่วงไหน
จะเป็นช่วงออกตัวจากรถติด ไปจนถึงช่วงกำลังเร่งแซง

ตามหลักการทำงานแล้ว ทันทีที่เหยียบคันเร่ง
แป้นคันเร่งจะต้องส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECM
ให้ประมวลผล และสั่งให้หัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิงเข้าไปในห้องเผาไหม้ ในปริมาณที่เหมาะสม

สิ่งที่ผมเจอก็คือ อาการของรถ ที่เหมือนกับว่า
“ขอกรูคิดก่อนนะว่ากรูควรจะทำยังไงกับชีวิตกรู”

ระยะเวลาที่มันคิดนั้น ยาวนานประมาณ เกือบๆ 1 วินาที
เลยทีเดียว

จากนั้น มันก็จะพาให้เครื่องยนต์เร่งขึ้นไปตามองศาของเท้าเราที่กดลงไปบนคันเร่ง

ซึ่งนั่นก็มากพอแล้ว ที่อาจจะก่อให้เกิดเหตุไม่คาดคิดในการเร่งแซง จากการคำนวนของผู้ขับที่ตัดสินใจกดคันเร่ง
ไปจนถึงความชะงักงัน ขาดความต่อเนื่องในกระบวนการคิด

เครื่องหนะมันไม่อืดลงแน่
แต่ปัญหา เดิม ก็ยังคงน่าจะอยู่ที่ลิ้นเร่งไฟฟ้านั่นละครับ

และนั่นคือ..ประเด็นแรกที่ผมพบ…จากวีออสใหม่

——————————-

ประเด็นต่อมา

รุ่นเดิมของวีออสนั้น คนไทยด้ใช้ช่วงล่างที่แน่น
แข็ง ติดสปอร์ตหน่อยๆ แต่ให้ความนิ่ง ในการขับขี่ที่ความเร็วสูงได้ดีมากๆ

คือถ้ายังแล่นไม่เกิน 150-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
มันจะนิ่ง และให้ความมั่นใจได้ดีมากๆ ราวกับรถยุโรป
ชั้นดี

แต่กับ วีออสใหม่ คุณสมบัติที่ดีในด้านนี้

มันเปลี่ยนไป….

ผมชักเริ่มสงสัยว่า ในบางขณะ
อากัปกิริยาของรถ มันเหมือนกับยาริสเลย
นั่นคือ ถ้าแล่นบนถนนเรียบ ที่ความเร็ว 90-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในบางครั้ง คณจะสัมผัสได้ถึง อาการ วูบขวาที วูบซ้ายที
นี่ขนาดว่า กระแสลมสงบนิ่งนะครับ ที่เจอมาหนะ
หากเจอกระแสลมบน บางนา-บางปะกง ตอนกลางวัน
จะเป็นยังไงบ้างละเนี่ย

ความนิ่งของตัวรถ…..คือประเด็นที่ 2 ที่ผมเจอ

——————————-

การตอบสนองของระบบกันสะเทือนหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต
ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม นั้น

ด้วยเหตุที่รุ่นก่อน วิศวกรคนไทย พยายามงัดข้อกับวิศวกรญี่ปุ่นหัวชนฝาเลย

จนเราได้ใช้ชุดช็อกอัพ ที่มีความหนืดในระดับ 3
ซึ่งใกล้เคียงกับ ยาริส TTE เวอร์ชันตัวแรงสุดในยุโรป
ของยาริสรุ่นก่อน

แต่พอมาวันนี้
ถึงแม้จะมีการคอมเมนท์ ไปยังทีมวิศวกรแล้วว่า
ความมั่นใจของระบบกันสะเทือน คือจุดเด่นที่สำคัญ
ซึ่งควรจะยังรักษาให้คงไว้อยู่อย่างเดิม

แต่พอออกมาเป็นคันขายจริง
ผมก็สัมผัสได้ถึงความนุ่มลง ในบางช่วงที่เจอถนนแบบคลื่นลอน

แต่เวลาเจอคอสะพานแข็งๆ อาการกระเทือนมันก็จะคล้ายกับยาริสเลย และในบางช่วงที่ขึ้น หรือลงคอสะพาน
บนถนนบางนา-ตราด เหมือนว่ารถจะเหิรๆหน่อย
ทั้งที่จริงแล้วมันก็ยังอยู่ติดกับพื้นถนนนั่นละ

กล่าวคือ ผมเลยยังไม่รู้ว่าจะชอบระบบกันสะเทือนของรุ่นใหม่ หรือไม่

เพียงแต่ผมพบเจอว่า
มันนิ่มลงจาก ยาริส รุ่น E ซึ่งถือว่า เซ็ตช่วงล่างมาในแนวแข็งแล้ว นิดหน่อย

แต่เอาเข้าจริง ผมยังประทับใจระบบกันสะเทือนของ วีออสรุ่นเดิมมากกว่า

——————————-

ในช่วงที่ถนนโล่งๆ ว่างๆ
ผมใช้ความเร็ว 10-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง
โยกพวงมาลัย ซ้ายที ขวาที นิดๆ ไม่เยอะ

ถ้าเป็นวีออสตัวเก่าละก็ รถจะยังนิ่ง
และแล่นไปตามไลน์ที่เราขับ

แต่สิ่งที่ผมเจอในวีออสใหม่คือ
อาการท้ายเหวี่ยงออกเล็กๆ

สัมผัสได้ทันทีจากการออกตัว หน้าห้างสยามพารากอน
เลี้ยวขวาเข้าถนนอังรีดูนังต์
คนนั่งกัน 4 คน รวมคนขับ

ผมเจออาการท้ายเหวี่ยงออกนี้ สอง-สาม ครั้ง
ตลอดเวลาที่รถอยู่ในการดูแลของผม

คำถามคือ เป็นไปได้ไหมว่า
มันอาจมีส่วนเกี่ยวข้องจากการขยายความยาวฐานล้อ
จาก 2,500 มิลลิเมตร ออกไปอีก เป็น 2,550 มิลลิเมตร
เพื่อผลในเรื่องของการโดยสาร ของผู้โดยสารตอนหลัง
ตามผลวิจัยตลาด

จนรถเสียความสมดุลย์ในเรื่องน้ำหนักแบบที่มันเคยมีไป?

ไม่เถียงละว่า โดยปกติ รถขับล้อหน้า น้ำหนักจะเทมาที่ด้านหน้า ประมาณ 70% อยู่แล้ว

——————————-

ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม

คือสิ่งที่น่าชื่นม สำหรับวีออสใหม่

เพราะ นานๆที เราจะได้เห็นรถที่ใช้เบรกแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม
ให้การตอบสนองที่ดีเหนือกว่ารถที่ใช้ดิสก์เบรก 4 ล้อในระดับเดียวกัน

ยิ่งมีการตอบสนองทีไว และไม่ซี้ซั้วทำงานพร่ำเพรื่อของ เอบีเอส

ผมว่าคนไทยน่าจะชอบ แป้นเบรกที่ตื้นๆหน่อย  แต่หยุดได้มั่นใจ
เหยียบเท่าไหร่ แป้นเบรกสัมผัสกับหน้าจานเท่าที่กดแป้นเบรกลงไป

——————————-

นอกจากนี้ น้ำหนักของพวงมาลัยเพาเวอร์
พร้อมปัมแรงดันไฟฟ้า  ก็ยังเป็นอีกจุดที่ไม่ต้องถึงกับแก้ไข

แม้ว่าจะเบา แต่ให้ความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับวีออสเดิมแล้ว
รุ่นเดิมแน่น และให้ความมั่นใจกว่านี้
เพราะพอมีระยะฟรีอยู่บ้าง แต่น้อยมากๆแล้ว

——————————–

การเก็บเสียงนั้น

ผมไม่แปลกใจว่า โตโยต้า ให้ ชุดเครื่องเสียงพร้อมระบบ ASL
Auto Sound Leveling เพิ่มความดังเสียงได้ตามความเร็วของรถ
มาให้ทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่น J เพื่ออะไร

จนมาพบว่า เสียงลมปะทะเล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร ตั้งแต่ความเร็วประมาณ
90-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เลยพอเข้าใจว่าทำไม

กะว่าจะเอาเสียงดนตรีมากลบเสียงลมนั่นเองกระมัง ฮ่าๆๆ

 
 
 

******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******

ใช้มาตรฐานเดิมครับ

วิ่งไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ นั่งสองคน
จาก ด่านพระราม 6 ไปขึ้นทางด่วน ลงเชียงราก
เลี้ยวรถกลับมา ลงทางลงพระราม 6 อีกครั้ง
กลับมาเติมน้ำมันที่หัวจ่ายเดิม

 
 
 

ผู้ร่วมทดลองคราวนี้ คือนายหนึ่ง เจ้าเก่า
งานนี้ มีเขย่ารถ ตามมารฐานของการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง กับรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,000 ซีซี และรถกระบะ
จนน้ำมันไหลขึ้นมาถึงคอถังจริงๆ ทั้งขาไป และกลับ

 
 
 

ผมเลือกใช้น้ำมัน ออกเทน 95 ตลอดในทุกการทดลองครับ

ระยะทางที่แล่นไป อ่านจากมาตรวัด     88.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันที่เติมกลับ                 6.067 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย     14.52 กิโลเมตร/ลิตร

แล้วลองมาดูรุ่นอื่นๆเขาทำไว้ ในมาตรฐานเดียวกันของผมนี้บ้าง

Vios เก่า    15.1  กิโลเมตร/ลิตร
Yaris        14.2  กิโลเมตร/ลิตร
Aveo       14.42 กิโลเมตร/ลิตร

 
 
 
 

*****สรุป*****

คิดถึงวีออสเก่าจังเลย…..

ผมทำนายไว้ไม่มีผิดไปจากที่คิดสักเท่าใดนัก
สำหรับบุคลิกของวีออสใหม่

ตั้งแต่แรกเห็นรูปโฉม ในภาพ
จนถึงวันที่ได้ลองขับจริง
เวลาก็ผ่านมานานพอสมควรเหมือนกัน
น่าจะประมาณ 1 ปีกับอีก 4 เดือน หลังการเปิดตัวในญี่ปุ่น

ทุกสิ่งที่คิดไว้ มันแทบจะเป็นเช่นนั้นหมดเลย

ทำไม?
เหตผลง่ายๆคือ

ก็ในเมื่อรถคันนี้ ถูกสร้างขึ้นมา โดยใช้โครงสร้างวิศวกรรมพื้นฐานต่างๆ ร่วมกับ
โตโยต้า ยาริส โดยเฉพาะครึ่งคันหน้า ทั้งดุ้นแล้ว

ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งข้อดี และข้อเสีย
ที่ปรากฎอยู่ในยาริส จะถูกส่งผ่านมาจนถึงวีออสใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน

 
 
 

เราต้องยอมรับกันว่า

วีออส ใหม่ คือหนึ่งในรถที่สร้างขึ้นโดยใช้วิธี
พุ่งเป้าไปที่ การปรับปรุงรถที่ดีอยู่แล้ว ด้วยความคาดหวังว่า
รุ่นใหม่ ปรับปรุงแล้ว น่าจะดีขึ้น

แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งปรับปรุง เอาใจลูกค้ามากขึ้นเท่าใด
คุณงามความดี ในด้านสมรรถนะที่เคยเรียกได้ว่าลงตัวที่สุด
เท่าที่เคยมีมาสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กในระดับนี้ของเมืองไทย
ยิ่งเริ่มห่างไกลไปจากจุดที่มันเคยเป็นผู้นำ
ออกมาทุกที

เอาละ

ถึงแม้ผมจะลองขับทุกรุ่นมาหมดแล้ว

ผมก็ยังพบว่า

วีออสใหม่ ยังคงเรียกได้ว่าเป็นรถยนต์ ซับ-คอมแพกต์ที่ดีที่สุดในตลาดอยู่

แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า คุณงามความดีเหล่านั้น
มันเริ่มดร็อปลงจากเดิมไป ถ้าเรื่องเครื่องยนต์ ก็อยู่ที่ลิ้นเร่งไฟฟ้า
(ที่ไม่รู้ว่าจะใส่มาทำไมกับรถระดับนี้)
แต่ถ้า เรื่องการทรงตัวละก็ พอสมควรเลยทีเดียว

เกือบทุกสิ่งในยาริส ทั้งดีหรือร้าย พบได้ในวีออสใหม่ ซับคอมแพกต์ซีดาน
ที่ให้คุณ ได้อย่างใจมากขึ้น แต่ต้องยอมเสียเอกลักษณ์ที่เคยดีบางอย่างไปบ้าง

วีออสใหม่ ก็ถือเป็นอีกตัวอย่างที่ดี ซึ่งแสดงให้ผู้บริโภคเห็นได้ประจักษ์ชัดเจนเลยว่า

การสำรวจและวิจัยตลาดนั้น มันมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้
ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือลบ

ขณะเดียวกัน
คนในบริษัทรถยนต์ทุกแห่งหนะ ส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วละว่า
เมื่อใดที่ต้อง ทำตามใจลูกค้าต้องการมากเกินไป
คุณสมบัติอันดีที่พึงจำเป็นต้องมีทางด้านวิศวกรรม
มักจะถูกบั่นทอนลดความสำคัญลงมา
อย่างน่าเสียดาย
กับสิ่งของ ที่เราใช้งานมันอยู่ในชีวิตประจำวัน

เรื่องที่อยากจะฝากไว้ก็คือ
คราวต่อไป
ถ้าบริษัทรถยนต์รายใด คิดจะทำวิจัยตลาดอีก

ผมจำเป็นต้องฝากถึง พวกบริษัทวิจัยตลาดทั้งหลาย
ตั้งแต่ A.C Nelson ผู้ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ในระยะหลังๆ
ไปจนถึง Synergies และอีกหลายๆบริษัท

คราวต่อไป ถ้าคุณจะทำสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับรถยนต์แล้ว

อย่าคิดแค่เชิญคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ
กับวงการรถยนต์ ไปเข้าร่วมทำคลีนิก กรุ๊ปเทสต์ของคุณกันอยู่เลย

ถ้าเป็นไปได้ อยากให้หาคนที่พอจะมีความรู้เรื่องรถยนต์บ้าง ไม่ต้องมานั่งระแวงหรอกว่า การทำงานของคุณ
มันจะหลุดรอดรั่วไหล จนกลายเป็นข่าวสาร
ในสื่อมวลชน

เพราะเอาเข้าจริง คนวงในเขาก็รู้กันอยู่แล้ว ทั้งนั้น!

ไม่ต้องป็นผม เพราะผมหมายถึงใครก็ได้
ผมเชื่อว่า พวกเขาจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคุณ

เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ ไม่รู้หรอกว่า
การขยายระยะฐานล้อออกไปอีก 5 เซ็นติเมตร
จะส่งผลกระทบอย่างไร กับปฏิกิริยาของตัวรถ
เขาไม่รู้หรอกว่า มันจะทำให้บั้นท้ายง่ายต่อการเหวี่ยงออกมากขึ้นหรือเปล่า?
พวกเขาไม่รู้หรอก พวกเขารู้แต่ว่า ต้องการพื้นที่ห้องโดยสารให้มี Leg room มากขึ้น

บริษัทรถยนต์นั้น ก็ย่อมอยากจะขายรถให้ได้มาก
เพื่อให้บริษัทยังอยู่ได้ และเอาเงินมาทำรถขายกันต่อไปได้

แต่ การเอาใจลูกค้าเป็น ประเด็นหลัก
ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ

แต่..คุณคิดจะทำแต่ข้าวแกงขายกันไปตลอดชาติเลยเหรอ?
ไม่คิดจะสอนใหลูกค้ารู้จักรสชาติความอร่อยของเนื้อสเต็กบ้างเลยหรือ?

เปล่า ผมไม่ได้หมายถึงว่า ต้องทำรถให้ดี

แต่อยากเห็นการ ให้ความรู้กับ ผู้บริโภค ว่า อะไรคือสิ่งที่มีผล
ต่อการทำรถออกมา สักรุ่น สักคัน

ถ้าผู้บริโถครู้มากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น
เขาจะเริ่มรู้ถึงความต้องการของตัวเองมากขึ้น
ยิ่งผนวกกับความทนทาน ตามแบบฉบับของโตโยต้าแล้ว

และเมื่อนั้น เราก็จะได้เห็นรถที่น่าขับ น่านั่ง
ไม่มีเสียงบ่นจากลูกค้าอย่างแท้จริง

ผมบอกตรงๆว่า

ผมเสียดาย ที่ผลวิจัยการตลาด บางครั้ง ทำให้รถยนต์รุ่นนึง ที่เคยดี ต้องผิดเพี้ยนไป

ผมยังคึดถึงวีออสรุ่นเก่าอยู่….

ยังคิดถึงอยู่

และจะยังคิดถึงตลอดไป……

 
————————————///———————————–
 
 

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

 

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.pantip.com ห้องรัชดา 27 มีนาคม 2007

ปรับปรุง เพื่อเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com

16 เมษายน 2009 

————————————————————————————-