11 ตุลาคม 2006
ผมเพิ่งกลับจากอัมพวา แหล่งท่องเที่ยว ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิต ชาวภาคกลางริมฝากฝั่งแม่น้ำ ของไทย ได้ดีที่สุด อีกแห่งหนึ่ง
ในจำนวนไม่กี่แห่ง ที่ยังหลงเหลือมนต์เสน่ห์ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ให้มาสัมผัสและดื่มด่ำบรรยากาศไปด้วยกัน
อันที่จริง เป็นทริปที่ ผมเดินทางไปทดลองขับ โตโยต้า อแวนซา ไมเนอร์เชนจ์
เพียงแต่ ด้วยการสับหลีักเวลาที่ไม่ลงตัว และผมต้องจัดรายการวิทยุ (ในขณะนั้น) ช่วง บ่าย 3 โมง – 5 โมงเย็น
ทำให้ต้องเดินทางตามไปสมทบทีหลัง โดยทาง โตโยต้า จัดรถกระบะ Hilux Vigo 4×2 G รุ่นยอดนิยม
มาให้เป็นพาหนะสำหรับเดินทางไปยัง อัมพวา รีสอร์ท จุดหมายปลายทางของเราในค่ำคืนนั้น
กว่าจะเดินทางฝ่าพายุฝนไปถึง
ก็ได้ทดสอบอัตราเร่งของวีโก้ไปด้วยในตัว
ถึงที่พัก อันเ็ป็นจุดหมายปลายทาง ก็ 1 ทุ่มพอดี
และเมื่อไปถึง กลุ่มพายุฝนจากกรุงเทพฯ ก็ไล่ตามหลังผม
มาถึงพอดีเป๊ะๆ!
ไฟดับไปแป๊บนึง
แล้วทุกอย่างก็กลับมาสนุกสนานกันต่อในช่วงมื้อเย็น
และคาราโอเกะ….
ซึ่งก็อย่างที่ได้บอกไปแล้วในรีวิว First Impression ทดลองขับ แคมรี ตอนแรกไปแล้วว่า
พีอาร์ โตโยต้านั้น นอกจากจะต้องทำงานในหน้าที่ได้อย่างดีแล้ว
ยังต้องหมั่นฝึกหัดร้องเพลงใหม่ๆอยู่ตลอด!
ไม่งั้นเดี๋ยวตกเทรนด์!
ผมไม่ทราบว่าหลังจากค่ำคืนนั้น เป็นอย่างไร
รู้แต่ว่า 4 ทุ่มครึ่ง ผมกับตาโจ้ ก็ขอตัวแยกย้ายเข้านอน
เดินเข้าห้องพักที่ “อัมพวา รีสอร์ต”
รีสอร์ต แห่งใหม่ ชั้นดี ที่เพิ่งเปิดดำเนินการได้แค่
เดือนเดียวเท่านั้น!!
ผมชอบบรรยากาศ ห้องพักเรือนไทยประยุกต์แบบนี้ครับ
เป็นบรรยากาศที่ ยังคงความสบาย แต่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆดี
แอร์เย็นกำลังดี เตียงก็ใช้ได้
แต่ผมนอนไม่ค่อยสนิท เพราะมีตัวอะไรไม่รู้ ยุกยิกๆ
อยู่ตลอดเวลาใต้ผ้าห่ม….
ก่อนนอน ก็ควรจะอาบน้ำ….
เดินเข้าห้องน้ำที ก็เหวอสิคร้าบ คุณผู้อ่าน!
ตู้อาบน้ำ แบบที่เขาวางขายที่ซีคอนสแควร์ และฟังวิทยุได้ด้วยในตัวนั่นเอง
ตูจะใช้ยังไงหว่า?
ต้องเปิดไฟ เปิดพัดลม จะเปิดวิทยุก็ได้ถ้าต้องการ
คลื่นก็เปลี่ยนได้ไม่มากนัก เพราะวิทยุแถวนั้น
รับได้แค่ 2 คลื่น ไม่มีหน้าปัดบอกคลื่นอีก ฮ่วย
แล้วตูจะใช้ยังไงฟะ?
พอจะอาบน้ำ ต้องหมุนลูกบิดด้านล่างก่อน เปิดน้ำ หมุนซ้าย ก็ร้อนไป หมุนขวา ก็เย็นกำลังดี
ลูกบิดด้านบน ก็หมุนเพื่อปรับทิศทางน้ำ….
สรุปแล้ว เพื่อความสะอาด ผมกับตาโจ้เห็นพ้องต้องกันว่า
ปรับลูกบิดเป็นแบบฝักบัวนั่นแหละดีกว่า
ไอ้แบบน้ำฝน กับแบบนวดตัว ให้จั๊กกระจี๋ นั่นมันไม่เวิร์กแหะ!
ก่อนนอน นอนดู รายการ Evo Challenge สักหน่อย
ผมบอกได้อย่างเดียวว่า
แนวคิดรายการหนะดีมาก
ไอเดียดีเลยละ
แต่มันแย่อยู่เรื่องเดียวคือ
กันตนาเป็นคนทำรายการ!!!
ผมเสียดายมิตซูบิชิ ที่เสียตังค์เป็นสปอนเซอร์รายการนี้เสียจริงๆ การโปรโมทรถ บางอย่าง โปรโมทไม่เนียนเลย
ถ่ายภาพก็ยังไม่ค่อยดีเท่าใดนัก
คุยกับใครบางคนก่อนนอน
แล้วก็ม่อยหลับไป…..ZZZZZzzzzzzzz……
เช้าวันรุ่งขึ้น
เช้าหลังคืนฝนปรอย
เช้านี้แล้วสินะ ที่จะได้ขับเจ้า อแวนซ่า กลับกรุงเทพฯ สักที….
ค่อยๆตื่น กลัวตาโจ้ ตื่นก่อน
(แต่ความจริง ตาโจ้มาเฉลยแล้วว่า “กรูตื่นก่อนมรึงอีก!
ตั้งแต่ ตี 5 ครึ่งแล้ว มึมแม่ม กรนชิกหัย….ใครจะไปนอนไหว”
อ้าว ตกลง กรูกรนหรอกเหรอเนี่ย? จริงเด่ะ?)
ดูเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 กับรายการข่าวช่อง 7 ยามเช้า
แป๊บนึง อัพเดทข่าวน้ำท่วม
แล้วก็อาบน้ำ (ผจญเวรกรรม กับไอ้ตู้อาบน้ำวุ่นๆนั่น)
แต่งตัวเรียบร้อย
ก็เอากุญแจ รถวีโก้ ไปคืน พี่เอก พีอาร์โตโยต้า
แลกมาด้วย กุญแจของเจ้าอแวนซ่า คันเขียว….
ใน Fleet รถทดสอบสำหรับสื่อมวลชนครั้งนี้
ไม่มีรุ่นท็อป 1.5 S นะครับ
มีแต่รุ่น 1.5 J เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
และ 1.5 E เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เท่านั้น
ได้กุญแจมาแล้ว ก็เดินตรงไปดูตัวรถทันที
แน่นอนว่า ขอ ถ่ายรูปๆๆ เก็บไว้เป็นสต็อก ก่อนดีกว่า
หามุมถ่ายสวยๆ
พอหาทางให้รถมันดูสวยในสายตาคุณๆได้บ้าง ไม่ยากเท่าไหร่
โครงการพัฒนา อแวนซ่า ถูกเปิดเผยมาเรื่อยๆ แต่รูปหลุดครั้งแรก และเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา
คือ ใน THAIDRiVER ฉบับ ราวๆ ปลายปี 2003
(ฝีมือตูเองแหละ คิคิ)
อแวนซ่า เผยโฉมครั้งแรกในโลกที่อินโดนีเซีย ธันวาคม 2003
ก่อนจะบินมาเผยโฉมครั้งแรกในงานบางกอกอินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์
มีนาคม 2004 ด้วยวิธีการ กั้นคอก ไม่ให้คนแตะต้อง
ส่งผลให้ผมโดนคนใน pantip.com ห้องรัชดา
ด่าผมเปิงในช่วงนั้น แค่ผมพยายามอธิบายเหตุผลของโตโยต้าให้ฟัง
ก็โดนด่าเละเทะ….เฮ้อ…เวรแท้ๆ
แล้วทุกวันนี้ ไอ้พวกที่ด่าผม ก็ไปมุดกระโปรงใครที่ไหนอยู่ ก็ไม่รู้ ลอยนวลกันเฉยเลย
จากนั้น การเปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทย จึงมีเมื่อช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2004
ในวันนั้น ผมกับหลายๆคน ได้พิสูจน์แล้วว่า
รถเล็กขนาดนี้ การบรรทุกผู้โดยสาร 7 คน นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย เหลือพื้นที่เยอะมากเพียงพอ
นั่งแล้วไม่ถึงกับอึดอัดอย่างที่คิด
แม้ว่าตัวเลขยอดขายจะอยู่ในระดับ 400 คัน/เดือน
ปัญหา ที่แท้จริง ที่ทำให้ยอดขายอแวนซ่า ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
อยู่ที่ปัญหาหลัก 2 ข้อ
1. เครื่องยนต์ 1,300 ซีซี ที่มีกำลังน้อยจนเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดตัวรถ และน้ำหนักตัวรวมผู้โดยสาร
2. คุณภาพการประกอบ จากโรงงานในอินโดนีเซียที่ ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ไม่ประณีต เก็บงานไม่เรียบร้อย
มาวันนี้ รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ มาถึงเมืองไทยแล้ว
ฝ่ายการตลาด และทีมโฆษณา คิดสโลแกนออกมาร่วมกันว่า
As you like !
ประมาณว่า เอาละ ฉันเอารถไปปรับปรุงในสิ่งที่พวกคุณลูกค้าต้องการแล้วนะ!
มาดูกันดีกว่า ว่า เขาจะปรับปรุงให้ดีขึ้นไปได้บ้างมากน้อยแค่ไหน?
และในด้านใดบ้าง
การปรับปรุงข้อแรก
คือการปรับปรุงรายละเอียดการตกแต่งให้ดึงดูดใจลูกค้าให้ได้มากขึ้น
เริ่มจาก กระจังหน้า และกันชนหน้า
คราวนี้ มีให้เลือก 2 แบบกันเลยทีเดียว!
คือมีทางเลือกรุ่นย่อย รวม 3 รุ่นเท่านั้น
1.5 J เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
1.5 E เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
1.5 S เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ถ้าในรุ่นมาตรฐาน
1.5 J เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
1.5 E เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
จะใช้กระจังหน้าแบบ 2 บั้ง
พร้อมกันชนหน้า ลายเหลี่ยมๆแปลกๆ
แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.5 S กระจังหน้า จะเป็นแบบ 3 บั้ง
พร้อมกับกันชนหน้า ลาย หน้ายิ้ม(แฉ่ง)
ส่วนชุดไฟท้าย
มีก้อนไฟเลี้ยว และก้อนไฟถอยหลัง วงกลมๆ มาติดเอาไว้
ที่ไฟเบรกหลัง
ส่วน ล้ออัลลอย เหมือนกันครับ ลายเดียวกัน มีขนาดเดียว
ล้ออัลลอยขนาด 5J x 15″
ยางติดรถเป็น DUNLOP ผลิตใน อินโดนีเซีย 185/65 R15
ซึ่งก็อย่าไปหวังอะไรกับมันมากไปกว่า ยางติดรถซึ่งรับใช้ในหน้าที่ กลิ้งไปกลิ้งมาบนถนนนั่นละครับ
สีตัวถังมีให้เลือกทั้งหมด 4 สี
คือ เขียวมะนาว เงิน ดำ และเบจ
ทีนี้ มาดูภายในห้องโดยสารกันบ้างดีกว่า
การเข้าออกจากเบาะคู่หน้า ทำได้สะดวกสบาย สมตามเจตนารมณ์ของรถในรูปแบบนี้
สิ่งที่ผมชื่นชอบในอแวนซ่า ทั้งรุ่นเดิม และรุ่นใหม่
ก็คือ เบาะนั่ง
เบาะนั่งคู่หน้านั้น ถึงแม้จะเล็ก
แต่ก็นั่งสบาย
ทั้งที่ท่านั่งขับของอแวนซ่า นั้น ก็ใกล้เคียงกับท่านั่งตีกลองชุด ของเบาะคนขับ
เชฟโรเลต ซาฟิรา ด้วยซ้ำ
ขับขี่ทางไกล กลับไม่รู้สึกเมื่อยล้า เท่ากับยาริส
ที่ประกอบในบ้านเราเลย
แปลกดีไหมครับ?
ยิ่งถ้าเป็นเบาะแถวกลางด้วยแล้วละก็…
นอกเหนือจากการขึ้นลงจากรถ ที่ทำได้ง่ายดาย ด้วยบานประตู และช่องทางเข้าออกที่กว้างขวางได้ใจผมไปแล้ว…
(มันกว้างขวางกว่า Premium SUV ระดับหรู หลายคันที่ผมเคยทำรีวิวมาด้วยซ้ำ)
เบาะนั่งแถวกลาง คือจุดขายของรถรุ่นนี้ได้เลยครับ
นั่งสบาย อย่างยิ่ง
และเหมาะกับผู้สูงอายุ ที่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อยๆ
พื้นที่วางแข้งวางขานั้น ถือว่ากำลังดีเลยทีเดียว
พนักพิงหลัง ก็นั่งได้นานดี ไม่ปวดหลังเร็วนัก
เหตุที่ผม เน้นในเรื่องการใช้ประโยชน์ ในการพาผ้สูงอายุ
ไป โรงพยาบาล
เหตุผลมันอยู่ตรงที่ว่า
7 ปีที่ผ่านมา
ผมมีประสบการณ์ ที่จะต้องไปเยี่ยมเยียน
หรือนำส่งผู้สูงอายุที่บ้าน หรือแม้แต่คุณพ่อ
เข้าโรงพยาบาล ทั้งในภาวะปกติ
และภาวะฉุกเฉิน ยามดึก
ผมมองเห็นข้อจำกัดต่างๆมากมาย ที่รถยนต์ซีดานทั่วไป
รวมทั้งรถยนต์ อย่าง แจ้ส หรือ ยาริส ไม่อาจมีให้ได้ในราคาระดับนี้
ผู้สูงอายุ ต้องการความสะดวกสบาย ในระหว่างการเดินทาง
ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บเรื้อรัง หรือ ในภาวะเร่งด่วนฉุกเฉิน
เบาะนั่งในรถยนต์ ซับ-คอมแพกต์ ส่วนใหญ่ในตลาด
ไม่อาจสร้างความสบาย และผ่อนคลายอาการปวดหลัง
ของผู้สูงอายุได้ดี ทั้งในด้าน ตำแหน่งท่านั่ง
การเข้าออกจากตัวรถ การรองรับสรีระของพนักพิง
และเบาะรองนั่ง การปรับเอนมุมองศา
สิ่งที่เป็นข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้
จำเป็นมาก สำหรับในกรณีที่ ผ้สูงอายุ มีอาการบาดเจ็บ
ที่กระดูกสันหลัง บั้นเอว ทั้งจากปัญหาด้านกระดูกเอง นิ่ว
หรือ ก้อนเนื้องอก มะเร็ง ฯลฯ
อีกทั้ง การปรับเบาะเอนลงไปได้แม้เพียงนิดเดียว อาจช่วยลดปัญหา
บางประการ ที่อาจเกิดขึ้น หลังจากที่ผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้
และจากที่ผมลองนั่งมา เบาะนั่งแถวกลาง ของอแวนซ่า
ลดข้อจำกัดตรงนี้ไปได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่รถยนต์
ในราคาแพงกว่านี้ มีมาให้
โดยเฉพาะลูกค้าที่งบไม่มากนัก มีเงินน้อย
และจำเป็นต้องมีรถเพียงคันเดียวในบ้าน
สามารถซื้อหามาใช้งานรองรับในกรณีนี้ได้อย่างดียิ่ง!
ใกล้เคียงกับรถยนต์ มินิแวน หรือ เอสยูวีราคาแพง เลยทีเดียว
นี่คือสาเหตุทั้งหมดที่ผมเขียนไปว่า
เหมาะกับการพาบุพาการีไปโรงพยาบาล
ผมเขียนประโยคนี้ เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ด้านดีของอแวนซ่า
จุดตรงนี้นั่นเองครับ
เบาะนั่งแถวกลางยังแบ่งพับได้ 50:50
สำหรับการเข้าออกเบาะแถว 3 นั้น
ต้องพับพนักพิงเบาะลงมาก่อน อย่าลืมเก็บพนักศีรษะลงให้สนิทด้วย
แล้วก็ยกหงายโน้มไปข้างหน้าแบบนี้…
ก่อนจะค่อยๆ ก้าวขึ้นไปนั่ง
เบาะแถว 3 นั้น ถึงจะเล็ก แต่ก็นั่งสบายครับคนอย่างผมยังไม่บ่นอึดอัดแต่อย่างใด
นั่งสบายกว่า สปอร์ต ไรเดอร์ และ ฟอร์จูเนอร์ ด้วยซ้ำ แต่ แน่นอนว่าต้องนั่งชันขากันนิดนึง
พื้นที่วางขา ก็วางได้ โดยที่ หัวเข่าไม่ติดพนักพิงเบาะแถวกลาง “ถ้าคุณปรับตำแหน่งให้มันดีๆ”
ด้านข้าง มีช่องวางของ และช่องวางแก้วน้ำไว้อำนวยความสะดวกเล็กๆน้อยๆให้กับผู้โดยสารแถว 3
แต่ไม่มีที่วางแขนมาให้
เมื่อคุณพับและยกเบาะแถว 3 ขึ้น
พื้นที่วางสัมภาระ ก็จะเพิ่มมากขึ้น
แต่ก็อดสงสัยไม่ได้
ไหนๆ จะทำให้มันยกพับได้แล้ว ทำไมไม่ทำให้มัน
สามารถยกตีลังกาหงายไปวางราบกับพื้นห้องโดยสาร
ตอนกลาง เพื่อให้สะดวกต่อการวางสัมภาระอย่างแท้จริงเลยละนั่น?
พิลึกแหะ….
แผงหน้าปัด ยังคงความเรียบง่าย และสะดวกต่อการใช้งานตามสมควร ช่องแอร์ ตรงกลาง
ถ้าไม่คิดมาก มันจะดูเหมือน Mercedes-Benz C-Class W203 แต่ที่เหลือ ก็ยังคงเป็นดีไซน์จากโตโยต้า
ในแบบที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ในรุ่นท็อป จะมีถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ มาให้ด้วย แต่ในวันที่เราทดลองขับกัน
โตโยต้า ไมไ่ด้จัดรถรุ่นท้อปเอาไว้ให้ จึงมีแต่รุ่นมาตรฐานมาให้ชมกัน
ชุดมาตรวัด 4 ช่องวงกลม เรียบง่าย ลงตัว และตกแต่งดีขึ้น
อ่านง่าย อันนี้ขอชมเลย
ชุดเครื่องเสียงติดรถมาให้ จาก JVC พอฟังได้
แต่คุณภาพเสียง
ดีกว่า ชุดเครื่องเสียงที่ติดมาให้ในยาริสแน่ๆ …
แต่ไม่มากนัก
สวิชต์แอร์ มีแค่ 2 วงกลมขนาดใหญ่
คันเกียร์ ชวนให้นึกถึงได้ชัดเลยว่า น่าจะยกมาจาก
โคโรลล่า 16 วาล์ว AE-92 รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ปี 1990
ช่องเก็บของ ลิ้นชักด้านหน้า มีขนาดเล็ก ชวนให้นึกถึงโตโยต้ารุ่นเก่าๆหลายรุ่นเลยทีเดียว
อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบ
คือการออกแบบช่องวางขวดน้ำขนาดใหญ่
แถมยังรอบคอบด้วยการเจาะรูไว้ด้านล่าง ระบายไอเย็นที่กลายเป็นหยดน้ำ ให้ร่วงลงที่พื้นพรมได้ดี
(แล้วพรมมันจะชื้นไหมอ่ะ?)
ในทุกสิ่งที่ปรับปรุงมานั้น ดูเหมือนว่าจะดีขึ้น ในหลายๆจุด
แล้วทีนี้ สิ่งที่ผมมองว่า โตโยต้ายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรละ?
เรามาดูกันแต่ละจุดเลยดีกว่า…
เริ่มจากข้อแรก
เพดานหลังคา บุด้วยวัสดุ วีนีล “ขึงพืด”
ถ้าคุณเอามือไปดันเต็มฝ่ามือ คุณจะสัมผัสได้ถึงความอ่อนนุ่ม
นุ่มนวล จนเมื่อดันขึ้นไปสุด มือของคุณจะไปสัมผัสเข้ากับแผ่นเหล็กหลังคารถเต็มๆ มือเลยทีเดียว !!!!!
เฮ้ยยยย นี่มันรถในยุค 2000 หรือ ว่า โคโรลล่า KE30
ปี 1975 ฟะ?
ตอนที่ถ่ายอนู่นี้ มือผมดันไปจนสุด และเจอแผ่นเหล็กหลังคาแล้วนะครับ
จะฉีดขึ้นรูป เป็นกระดาษอัด รีไซเคิล
เหมือนรถรุ่นลดต้นทุนอื่นๆในปัจจุบัน
ยังดีเสียกว่า!
รายการต่อไป…
นี่คนอินโดนีเซีย เขาใช้เครื่องฉีดพลาสติกรุ่นระเจ้าเหามหารูด ใช่ไหม?
ทำไมเขาถึงเก็บชิ้นงานได้ชุ่ยกี่โจ่ยโหลยโท่ยจริงๆเรย!
ขนาดว่า วีโก้บ้านเรา เก็บชิ้นงานตรงนี้ในช่วงแรกๆแย่แล้วนะ
รุ่นหลังๆมานี้ ก็ยังปรับปรุงจนละเอียดละออยิ่งขึ้น
แต่กลับอแวนซ่า ทำไมรุ่นเดิมเป็นอย่างไร
รุ่นใหม่ก็ยังเป็นอย่างนี้ละเนี่ย อิเหนา??
———————
แล้วบริเวณ ที่ครอบปิดทับกระจกมองข้าง จากด้านในรถนั่นหนะ ตามที่วงกลมสีแดงเอาไว้หนะ
จับคันไหน มันก็ไม่สนิทที่คันนั้น และเหมือนกับว่า
ติดตั้งแบบแปะไว้หลวมๆ พร้อมจะโดนถอดออกได้ทุกเมื่อ!?
ทำไมเรื่องแค่นี้ คนอินโดฯ ถึงประกอบออกมาได้ไม่แนวสนิท ได้อย่างที่ชนชาติอื่นรวมทั้งชนชาติไทย เขาประกอบรถกันบ้างเลย
—————-
ทั้งสองจุดนี้ ผมขอวงกลมสีแดงเอาไว้ให้เห็นกันชัดๆเลยนะครับ
อันนี้ “เดี๊ยนรับไม่ด้ายยยยย จริงๆๆๆๆๆ!”
ไม่เพียงเท่านั้น….
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า
จับมา 3 คัน ก็เป็นทั้ง 3 คัน
และเป็นเฉพาะคู่หน้า เวลาเปิดประตูกางออก
กล่าวคือ กดสวิชต์กระจกหน้าต่าง ให้มันเลื่อนลง
นี่เลยครับ แผงประตูส่วนบน จะมีอาการสั่นกระเพื่อมชัดเจน
เสียงมอเตอร์ของชุดกระจกไฟฟ้าก็ค่อนข้างดัง แต่อย่างหลังนี่ยังพอรับได้
แต่แค่กดปุ่มเลื่อนกระจกลง แล้วแผงประตูกระเพื่อมเนี่ย
โหย…..อิเหนา!
ย้อนมาดูห้องเก็บของด้านหลังกันบ้าง
ดูๆไปก็เหมือนจะเรียบร้อยดีอยู่หรอก
แต่ถ้าดูดีๆ
เห็นจุดยึดเบาะแถวสามกับพื้นรถ ตรงกลางนั่นไหมครับ
อันที่จริง มันก็แข็งแรงทนทานดีแน่ละ
แต่จะออกแบบให้ดูเรียบร้อย
เก็บงานดีกว่านี้สักนิด ให้มันดูต่างจากรถกระบะดัดแปลง
อย่างสปอร์ตไรเดอร์รุ่นที่มันขับแล้วร่อนๆนั่นไมได้เลยหรือยังไง?
อืมมม…อิเหนา….
ยังไม่หมดครับ…
มาดู การปูพรมของคนงานโรงงาน ไดฮัทสุ
ในเรือของ Astra อันเป็นเครือเดียวกับ โตโยต้า
ที่อินโดนีเซียดู
อินโนวา ประกอบอินโดนีเซียเหมือนกัน
แต่คนละโรงงาน
เขาปูพรมยังเรียบร้อยกว่าคนงานโรงงานไดฮัทสุที่นั่นเลยนะเนี่ย!!!
นี่ผมยังไม่นับการติดยางขอบประตูนะ
คือ ยังพอจะรับได้อยู่ครับ สำหรับยางขอบประตู
แม้จะควรทำให้ดีกว่านี้ก็ตาม
แต่รุ่นนี้ พอติดยางขอบประตูแบบ สองชั้น ขึ้นมา
การเก็บเสียงในห้องโดยสารถือว่าทำได้ดีครับ
ไม่ทราบว่ารุ่นที่แล้วเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยลองขับ มีแต่ลองขึ้นไปนั่ง
ที่แน่ๆ ยางขอบประตูรุ่นใหม่ ทำมาแน่นหนากว่าเดิม
และทำมาเป็น 2 ชั้น อันนี้ก็น่าชมเชยนะ
อีกฝั่งหนึ่ง พรมก็ปูไม่เรียบร้อยเช่นเดียวกัน
คราวหลังปูให้มันเรียบร้อยกว่านี้หน่อยเถอะ…อิเหนาๆๆๆๆๆๆ
ยังครับ ยังไม่หมด!
เอาแค่แผงพลาสติก บริเวณนี้
ประกอบยังไม่เนียนสนิทเท่าไหร่
ไม่รู้ขึ้นโมลด์กันมายังไง
ชวนให้ผมนึกถึง ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ เมื่อสัก 3 ปีที่แล้ว
เป็นอย่างไร ตอนนี้ ดีขึ้นกว่าเดิมแค่กระจึ๋งนึง
อแวนซ่า ก็เป็นเช่นเดียวกัน
เฮ้อ…อิเหนา…!
อแวนซ่า มีจุดเด่นอีกจุดคือ ติดตั้งแอร์ สำหรับผู้โดยสารแถว 2 และ 3 มาให้จากโรงงาน นัยว่าเอาใจตลาดเมืองร้อน อย่าง อาเซียน เป็นอย่างดี
แต่ไหนๆ จะใส่มาทั้งทีแล้ว
ช่วยใส่ให้มันประตกว่านี้อีกสักหน่อยไมได้เลยเหรอออ?
โธ่เอ๋ย……อิเหนา!
เอาละ มาถึงของชิ้นสุดท้ายที่ผมจะต้องตั้งคำถามกันละครับ
รถระดับราคาตั้ง 5-6 แสนบาท
แต่คุณไม่คิดจะติดตั้ง ระบบพวงมาลัยปรับระดับสูงต่ำได้
มาให้สักหน่อยเลยเหรอครับ?????
นี่ดีแต่ว่า ระดับมุมองศาพวงมาลัยที่ล็อกมาให้นั้น
เหมาะสมดีอยู่แล้วนะ ไม่งั้นละก็ ฮึ่ม!
แต่ก็แปลกดีเหมือนกันนะ
ที่โตโยต้า และไดฮัทสุ ติดตั้ง แกนพวงมาลัยยุบตัวได้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุมาให้ด้วย!!??
อ้าว อะไรกันละเนี่ย?
สรุปแล้ว….เฮ้อออออออ…..อิเหนาประกอบรถ!
ก่อนที่จะปวดเศียรเวียนเฮด จนเซ็งเป็ดมากไปกว่านี้
เรามาดูความเปลี่ยนแปลงประการสำคัญรายการที่สอง ดีกว่า
รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ
เครื่องยนต์ เปลี่ยนมาใช้บล็อกใหม่ล่าสุด
ใครก็ตามที่บอกว่า รุ่นใหม่เปลี่ยนมาใช้เครื่องเดียวกับวีออส ขอเบิ๊ดกะโหลกทีนะครับ!
คิดหน่อยๆๆ พี่น้องๆๆๆ
รถมันเป็นรถขับล้อหลัง
จะเอาเครื่องยนต์ของรถขับล้อหน้ามาใส่ได้อย่างไรกัน?
จริงอยู่ว่าในอดีต โตโยต้าเคยมีเครื่องยนต์อย่างน้อย
2 รุ่นละ ที่วางได้ทั้งตามยาวเพื่อระบบขับหลัง
และตามขวางเพื่อระบบขับหน้า โดยแทบไม่ต้อง
เปลี่ยนแปลงปรับปรุงเป็นอีกเวอร์ชันแยกออกมาแต่อย่างใด
แต่ในกรณีนี้
อแวนซ่า เป็นรถที่สร้างขึ้นโดยมีไดฮัทสุเป็น แม่งาน
ก็ต้องหาข้าวของที่ใช้งานร่วมกันได้กับไดฮัทสุ มาใส่สิครับ
ไดฮัทสุ และโตโยต้าเลยพร้อมใจกันเลือกขุมพลังใหม่ล่าสุด
3SZ-VE
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,495 ซีซี หัวฉีด EFI
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT-i มาประจำการแทน
เครื่องยนต์ตระกูล K3 ที่ยกเลิกไปแล้ว สำหรับบ้านเรา
ด้วยความที่ไดฮัทสุ เป็นแม่งาน
ดังนั้น ความเจริญ จากระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า และระบบคอมพิวเตอร์ CAN Bus ก็เลยยังเดินทางมาไม่ถึง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี๊ดี สำหรับผม และชาวเอเซีย อีกหลายคน
ที่ยังพอหาช่างซ่อมและถอดล้างชุดปีกผีเสื้อแบบกลไก
รวมทั้งยังพอจะเปลี่ยนสายคันเร่งที่ติดตั้งอยู่นี้ กันได้
ในกรณีที่
ทั้งสองชิ้นนี้ มันถึงแก่กาลอันควรที่เราจะต้องเข้าไป
จัดการกับมัน ในวันข้างหน้า
แต่จะว่าไปก็แปลกดี
ที อุปกรณ์อย่างก้านปรับระดับพวงมาลัยสูงต่ำไม่ยักมีมาให้
แต่ระบบ เอบีเอส กลับมีมาให้เฉยเลยแหะ!
เออ รถรุ่นนี้มันแปลกๆดีเหมือนกันนะเนี่ย!~
พละกำลังที่ระบุไว้ในโบรชัวร์ ก็คือ
109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.4 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที
คือ เท่ากับเครื่องยนต์รหัสเดียวกันที่วางอยู่ใน โตโยต้า bB
กล่องติดล้อรักเสียงดนตรีของวัยรุ่นญี่ปุ่นนั่นละ
แต่… ผมขอยืนยันว่าเป็นคนละเวอร์ชันกับ bB
คือเป็นเครื่องรหัสเหมือนกัน แต่เป็นคนละเวอร์ชันกัน
ไม่ใช่เวอร์ชันเดียวกันตามแบบที่ เอกสารแจกสื่อมวลชนเขียนไว้
เพราะว่า bB / Daihatsu COO เป็นรถขับล้อหน้า
และวางเครื่องยนต์ 3SZ-VE ในแนวขวาง
ขณะที่ อแวนซ่า นั้น เป็นรถขับล้อหลัง
ดังนั้น จึงวางเครื่องยนต์ในแนวยาว
เฉกเช่นรถขับหลังทั่วไปที่พึงเป็น
ย้ำนะครับ
เรื่องรหัสเหมือน bB / COO
แต่เป็นคนละเวอร์ชันกับ bB / COO
ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ECT
เอาละ มาดูสมรรถนะ กันดีกว่า
ทั้งอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น
คราวนี้คนที่มาช่วยผมทดสอบ ยังคงเป็น ตาโจ้ เปรมศักดิ์ เพียรพาณิชย์
จากปั้ม คาลเท็กซ์ สุลิตดา ตรงสะพานใหม่ ดอนเมือง
หนัก 67 กิโลกรัม
ผมหนัก 90 กิโลกรัม
เปิดแอร์ เบอร์ 2 นั่ง 2 คน
ถือโอกาส หาถนนช่วงยังพอว่าง ทดสอบอัตราเร่ง
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 80-120 กิโลเมตร/ชัวโมง เสียก่อน
ตัวเลขออกมาดังนี้ครับ
0-100 กิโลเมตร / ชั่วโมง
ครั้งที่ 1 15.67 วินาที
ครั้งที่ 2 15.35 วินาที
ครั้งที่ 3 15.55 วินาที
ครั้งที่ 4 15.53 วินาที
เฉลี่ย 15.52 วินาที
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ครั้งที่ 1 13.44 วินาที
ครั้งที่ 2 13.35 วินาที
ครั้งที่ 3 13.25 วินาที
ครั้งที่ 4 13.06 วินาที
เฉลี่ย 13.27 วินาที
ความเร็วที่เกียร์ 4
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 2,500 รอบ/นาที
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,100 รอบ/นาที
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,400 รอบ/นาที
ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์
มีโอกาสวัดมาได้แค่เกียร์ 1 และ 2
เกียร์ 1 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,500 รอบ/นาที
เกียร์ 2 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,500 รอบ/นาที
ความเร็วสูงสุด ไมได้วัดมาให้ เพราะไม่มีเส้นทางยาวเพียงพอ
ให้ทดสอบ สภาพการจราจรไม่เอื้ออำนวย
โตโยต้าบอกว่า อัราทดเฟืองท้ายมีการเปลี่ยนแปลง
งั้นเอาอัตราทดเกียร์ไปนั่งดูเลยแล้วกัน
อัตโนมัติ ธรรมดา
เกียร์ 1 2.731 3.769
เกียร์ 2 1.526 2.045
เกียร์ 3 1.000 1.376
เกียร์ 4 0.696 1.000
เกียร์ 5 – 0.838
เกียร์ถอยหลัง 2.290 4.128
เฟืองท้าย 5.125 4.625
ผมไม่เคยลองขับรุ่น 1.3 ลิตร เลยบอกไม่ได้ว่า ดีขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน
แต่ดูจากตัวเลข และเสียงบ่นจากผู้คนรอบข้างที่ได้ขัรุ่นเก่ามาก่อน
ก็พอจะอนุมานได้ว่า
อย่างน้อย ก็น่าจะดีขึ้นบ้างแหละน่า
เผอิญว่า ทาง พี่อ๋อย ฝ่ายโปรดักต์แพลนนิง
ที่ร่วมทีมไปกับทางพีอาร์ ของโตโยต้า
บอกกับผมไว้ก่อนแล้วว่า
“ถึงตัวเลขจะเท่ากันกับวีออส แต่อย่าไปคาดหวังนะครับ
ว่ามันจะปรู๊ดปร๊าดเหมือนวีออส”
ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจที่ตัวเลขอัตราเร่งออกมาเป็นแบบนี้
ถามว่าอืดไหม?
ตอบตรงๆคือ “อืด”
แต่ถ้าถามว่าดีขึ้นกว่าเดิมไหม
ก็พอจะอนุมานเอาว่า ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
แต่ไม่น่าจะมากมายอย่างที่หลายคนคิดนัก
สิ่งที่คิดว่ามีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบกันสะเทือน
จากรุ่นเดิมที่หลายๆคนบ่นว่าแข็ง มารุ่นนี้
ด้วยการเปลี่ยนโช้คอัพใหม่ ดังนั้นความนุ่มนวลจึงเพิ่มมากขึ้น คือ ถึงจะมีอาการเด้งๆ อยู่บ้าง บนถนนเรียบ
แต่ก็ถือว่า ยังมีความนุ่มนวลใช้การได้ดี
พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วย
แม้จะหมุนง่ายและคล่องตัวในความเร็วต่ำ
แต่ในยามเดินทางไกล เมื่อใดที่เจอสภาพรอยต่อถนน
ล้อก็จะส่งอาการสะเทือนจากพื้นถนนขึ้นมาถึงมือคนขับ
ได้จากพวงมาลัย
อีกอาการหนึ่ง ที่ผมไม่คาดว่าจะได้พบเจอ
จากรถยนต์ในยุคหลังปี 2000 คือ อาการวูบไปทางขวา
ในขณะที่คุณ กำลังขับแซงรถบรรทุก 10 ล้อ
อาการนี้จะเกิดขึ้น เมื่อคุณกำลังแซงทางขวา
และหน้ารถของคุณเพิ่งจะผ่านพ้นด้านหน้าของรถสิบล้อ หรือหัวลากไป
จะมีอาการวูบไปทางขวาเล็กน้อย
การที่ตัวรถมีความสูงในลักษณะของรถยนต์แบบ TALL BOY
ซึ่งเป็นศัพท์ที่คนญี่ปุ่นเขาใช้เรียกรถที่มีความสูงของหลังามากๆแบบนี้ รวมทั้ง ความกว้างช่วงล้อ จากซ้ายไปขวา
ที่ยังไม่มากพอ
ไปจนถึงน้ำหนักของตัวรถ ต่างล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่น่าจะมีผลให้เกิดอาการวูบในลักษณะนี้
ระบบเบรก หน้า ดิสก์-หลังดรัม
ถึงจะมีเอบีเอสมาให้
แต่ดัวยตำแหน่งแป้นเบรกที่ต้องเหยียบลึกไปสักหน่อย
ทำให้ยังไม่อาจเรียกความมั่นใจจากการเหยียบเบรก
แต่ละครั้งได้ดีเท่าที่ควร
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร อย่างที่บอกไปแล้วว่า ทำได้ค่อนข้างดีขึ้น ขณะใช้ความเร็ว 120 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมไม่จำเป็นต้องเพิ่มเสียงพูดคุยในห้องโดยสารเท่าใดนัก
แต่หลังจากนั้น เป็นธรรมดาที่จะเริ่มมีเสียงลมปะทะตัวถัง ดังมากขึ้นเรื่อยๆ
การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
เมื่อเดินทางโดยใช้ถนนพระราม 2 มาถึง ทางด่วนพระราม 2
เราก็ขึ้นทางด่วน มาลงที่พระราม 6
ไปเติมน้ำมันกันที่ ปั้มเอสโซ่ เหมือนเดิม
งานนี้ อย่างที่บอกครับ ในเมื่อเป็นรถที่มีขนาดต่ำกว่า 2,000 ซีซี
ดังนั้น ขอเขย่ารถ เพื่อกรอกน้ำมันลงไปให้ได้เต็มที่ที่สุด
คือมันคงต้องเพี้ยนบ้างละครับ แต่จะพยายามให้เพี้ยนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เติมไปเขย่าไป จนกว่าจะเต็มจริงๆปรี่กันออกมาขนาดนี้
จากนั้น ออกเดินทาง ไปขึ้นทางด่วนพระราม 6 ไปลงเชียงราก แล้ววนกลับมาที่ปั้มเดิมออีกครั้ง
เพื่อเติมน้ำมันกลับ และเขย่ารถกันต่อ
น้ำมันที่ใช้ เป็น 95 ตลอดเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา
ขับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง บวกลบเล้กน้อยตามสภาพการจราจร ที่ไม่หนาแน่นเลย
เปิดแอร์ นั่งกันสองคน
ระยะทางจากมาตรวัด 90.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันที่เติมกลับ 7.252 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 12.43 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าเทียบในขบวนซับ-คอมแพกต์ ทั้งหมด
ตอนนี้ถือว่า อแวนซ่า กินน้ำมันมากที่สุด
แต่ตัวเลขนั้น อยู่ในระดับมาตรฐาน
คือถือว่ายังรับได้อยู่ ไมได้ลดต่ำไปอย่างน่าใจหาย
********** สรุป **********
“รถรับ-ส่งผู้ใหญ่ในเมืองหลวง ไปยัง รพ.
ที่เปลี่ยนเครื่องให้เหมือนว่าจะแรงขึ้น”
นี่คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องเขียนอย่างซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง และตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์
ของทั้งผู้บริโภค และของทั้งผู้ผลิตรถยนต์เอง
โดยที่ผม ก็ไมได้อะไรจากการเขียนในลักษณะที่ตรงไปตรงมาแบบนี้เลย
เขียนไป ทั้งที่ไม่ได้โกรธเคืองอันใดกับใครในโตโยต้า
เลยแม้แต่น้อย
เขียนไปทั้งที่เรายังเป็นมิตรร่วมสายอาชีพกันอยู่
เป็นเพื่อนร่วมสายอาชีพกัน
แต่ ที่บ้านผมสอนมาดีครับ
สอนว่า “ถ้าเราอยากจะเป็นเพื่อนที่ดีของใครแล้วละก็
หากเพื่อนทำอะไรไม่ดี เราก็คงต้องตำหนิติเตือนเพื่อนที่เรารักกันบ้าง”
เพราะบางครั้ง แม้เพื่อนจะไม่ตั้งใจทำอะไรไม่ดีให้กับเราหรือกับใคร
แต่ คนรอบข้างของเพื่อนเรานั่นเองแหละ ที่อาจก่อเรื่อง
ก่อราว สร้างคววามเสียหายให้กับเพื่อนเราเองได้
ดังนั้น อยากเรียนให้ทราบกันไว้ก่อน ออกตัวกันไว้ตรงนี้ว่า
ผมเขียนและแจกแจงมาทั้งข้อดี และข้อที่ควรปรับปรุง
ของตัวรถออกมาอย่างชัดเจนเท่าที่พอจะมีเวลาจับอาการกันได้
และเขียนออกมา อย่างที่คนในโตโยต้าเอง ก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า มันเป็นของมันแบบนี้
เขียนออกมาในความรู้สึกของ เพื่อน ที่อยากเห็นเพื่อนปรับปรุง
ด้วยว่าเพื่อประโยชน์ของตัวเพื่อนเองในภายภาคหน้า
แม้กระทั่งในบางจุดของบทความนี้
ยังเทียบให้เห็นเลยว่า เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆของโตโยต้า
ที่ผลิตในเมืองไทยแล้ว สภาพมันต่างกันอย่างไรบ้าง
สำหรับ รถอย่างอแวนซ่า นั้น
เวลาเพียงครึ่งวันสำหรับผม นั่นมากเพียงพอแล้ว ที่จะทำให้ผม
ได้ทำความรู้จักมักจี่ ทั้งอุปนิสัยด้านดี และด้านที่ควรปรับปรุง
โดยไม่จำเป็นต้องยืมรถรุ่นนี้มาทดลองขับต่อ
เหมือนอย่างเช่นรุ่นอื่นๆแต่อย่างใด
อแวนซ่าสำหรับผมแล้ว เป็นรถยนต์รุ่นหนึ่ง ที่ยังมีอนาคตที่สามารถปลุกปั้นให้ดีเด่นโดดเด้งได้อยู่
เพราะว่าแนวคิดดั้งเดิม ในการทำรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ต้นทุนไม่แพงนัก
ขายในภูมิภาคอาเซียน เป็นแนวคิด ที่น่าสนับสนุน และต่อยอดด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่า จริงอยู่ การให้ไดฮัทสุมาช่วยในการพัฒนานั้น
จะช่วยลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้กับฝั่งไดฮัทสุอยู่เอาเรื่องเลยทีเดียว
ทว่า การให้ความใส่ใจในคุณภาพการประกอบ
ที่ชาวอินโดนีเซีย ในโรงงานไดฮัทสุ ที่นั่น
ควรจะมีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
มิใช่ปล่อยให้ประกอบกันออกมาอย่างที่เห็น
แล้วจะต้องมาผลักภาระให้ โรงงานปรับสภาพรถ
ในเครือของโตโยต้า มอเตอร์ ไทยแลนด์
ที่นิคมอุตสาหกรรม บางปะกง
ต้องมานั่งช้ำอกช้ำใจ นั่งปรับสภาพกันไปตามยถากรรม
อย่างที่เป็นอยู่!
เราต้องไม่ลืมว่า นี่คือรถยนต์สำหรับผู้บริโภคในศตวรรษที่ 21
การจะนำเทคโนโลยีการผลิต แบบดั้งเดิมมาใช้ มันก็คงไมไ่ด้การ
ความไม่ละเอียด ทั้งในขั้นตอนการฉีดพลาสติก
ไปจนถึงขั้นตอนการประกอบ ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามว่า
แท้จริงแล้ว
ถึงแม้ไดฮัทสุ จะเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้า
หากแต่ว่า โตโยต้า ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง
มาตรฐานการทำงาน ตามแนวทาง Toyota Way
ให้กับ บุคลากรชาวอินโดนีเซีย ของกลุ่ม P.T.Astra Motor
ไปจนกระทั่งถึง โรงงานของไดฮัทสุ ที่อินโดนีเซีย
มากน้อยแค่ไหน และอย่างไรกันบ้าง?
เพราะเชื่อแน่ว่า ถ้าได้มีการจัดการตามระบบโตโยต้า เวย์
อย่างเข็มแข็งแล้ว
อแวนซ่า จะคลานออกมาจากสายการผลิต ด้วยสภาพที่
ดีกว่าที่ส่งมาถึงมือผู้บริโภคชาวไทยในวันนี้แน่ๆ
ในเรื่องสมรรถนะของรถนั้น
พอเข้าใจอยู่ว่า ในเมื่อต้องสร้างรถขึ้นมา
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชาวอินโดนีเซีย
ซึ่งต้องการรถยนต์ที่สามารถขนกันไปได้ยกครอบครัว
แต่ไม่อาจขับเร็วได้มากนัก
เพราะว่าทางหลวงแผ่นดินของอินโดนีเซียนั้น
ยังมีสภาพ สวนกันสองเลน ไม่ได้ต่างอะไรกับเมืองไทย
ในยุค 30 ปีก่อน
ฉะนั้น การเซ็ตรถในแบบที่ชาวอินโดนีเซียชื่นชอบ
กลับกลายเป็นความอึดอัดใจของทีมงานโตโยต้าฝั่งไทย
อยู่พอสมควร
ฉะนั้น พอเป็นรุ่นใหม่ การปรับแต่งระบบกันสะเทือนที่
อนุมานว่าน่าจะดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม ช่วยให้การขับขี่
น่าจะลดความเร็วร้ายจากเดิมลงไปได้พอสมควร
ทว่า อาการวูบ ขณะแซง ยังคงมีอยู่
ความไม่นิ่ง ของพวงมาลัย ในย่านความเร็วสูง
ยังพอมีอยู่
และที่สำคัญ
แม้จะติดตั้งเครื่องยนต์ใหม่เอี่ยมอ่องมาให้
แต่ผมก็ยังสงสัยว่า
ขนาดตัวถังที่ใหญ่โตในแนวดิ่ง (สูงนั่นเอง)
ทำให้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ น่าจะมีสูงตามสมควร
น่าจะส่งผลต่ออัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ของอแวนซ่า ตามไปด้วยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ไปจนถึง การที่ตัวรถมีความกว้างไม่มากพอ
เพราะต้องสร้างขึ้นบนพื้นฐานงานวิศวกรรม ของ
ไดฮัทสุ เทริออก รุ่นที่แล้ว
ทำให้ อแวนซ่า จึงยังไม่ค่อยให้ความมั่นใจในการเกาะถนนมากนัก ในย่านความเร็วระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อันเป็นความเร็วระดับเดินทางของคนไทย
ถ้าจะเถียงว่า รถคันนี้ เป็นรถที่เหมาะจะใช้ในเมือง
เป็นหลัก ไม่ได้มีไว้ให้ขับเร็ว
นั่นก็ถูกเลยครับ ผมเห็นด้วย ไม่แย้งกลับเลยเอ้า!
ถ้าคุณหรือใครจะแย้งผมกันแบบนั้น
ผมก็จะได้กลับไปยืนยันในความเห็นแบบเดิมว่า
“อแวนซ่า เป็น ซับ-คอมแพกต์ มินิแวน อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง
ที่เหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในเมือง
โดยเฉพาะคนที่มีกำลังซื้อรถคันเดียวในบ้าน
และมีภาระหน้าที่ ต้องพาผู้สูงอายุในบ้าน
จะเป็นอากง อาม่า อาเจ๊ก ไปหาหมอที่โรงพยาบาลบ่อยๆ”
เพราะเบาะนั่งทั้งคู่หน้า แถวกลาง และด้านหลัง
ถือว่าเป็นจุดขายเด่นของรถรุ่นนี้เลย นั่งสบายกว่าที่หลายคนคิด
และนั่งสบายกว่า ยาริส แบบสัมผัสได้ชัดเจน!”
เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
แม้กระทั่งรุ่นใหม่ อแวนซ่า ก็ยังคงมีบุคลิกแบบเดิมอยู่
ครบถ้วน ไม่หล่นหายไปสักกระเบียด แม้จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่
ให้มีกำลัง(เหมือนจะ)มากขึ้นแล้วก็ตาม
มาถึงตรงนี้
ผมอยากให้คุณหยุดคิดสักนิด
ก่อนจะถามผมว่า
อแวนซ่า น่าเล่นไหม?
เพราะถ้าคุณถามผมมา
ผมก็จะย้อนถามคุณกลับไปว่า
ปกติใช้ชีวิตแต่ในเมือง ไม่ค่อยออกต่างจังหวัดใช่ไหม?
ขับรถไม่เร็วใช่ไหม?
รับได้ไหมถ้าการออกตัว อาจยังไม่ปรูดปร๊าดเท่าที่วีออสเป็น
ที่บ้านมี ผู้สูงอายุ ต้องพาไปโรงพยาบาลอยู่บ้างหรือเปล่า?
รับได้ไหม กับคุณภาพการประกอบในแบบอินโดนีเซีย
จากโรงงานของไดฮัทสุ แบบที่เห็นทั้งหมดนี้?
รับได้ไหม กับอัตราเร่ง และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ พอจะขับให้ประหยัดได้
แต่จะทำได้ไม่ดีเท่ากับรถยนต์ซับ-คอมแพกต์คันอื่นๆ
แต่คุณจะแลกมาด้วย พื้นที่ใช้สอยที่ยาว (แต่ยังกว้างไม่พอ) สำหรับผู้โดยสาร 7 คน นั่งอัดเบียดๆกันกำลังพอไหว
ในแบบที่ ซับ-คอมแพกต์คาร์คันอื่น ก็จะให้คุณไม่ได้เท่านี้
ถ้าคำตอบทั้งหมดของคุณคือ “ใช่”
อแวนซ่า ก็เหมาะจะเป็นรถยนต์คันใหม่ของครอบครัวคุณครับ
ไม่ว่าจะเป็นคันแรก หรือคันที่ 2 ก็ตาม
——————————————-///———————————————-
ขอขอบคุณ
คุณกิจ มหาจุนทการ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณปรีชา โพธิ (พี่ซ่า)
คุณจักรกฤษณ์ รัตนกำเนิด (พี่แจ๊คกี้)
และ คุณมหาสมุทร สายสวรรค์ (โบ้ท)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับความเอื้อเฟื้อทั้งหมดในทริปนี้
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก : 16 ตุลาคม 2006 ใน Pantip.com ห้องรัชดา
ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 22 กุมภาพันธ์ 2009 สำหรับ www.headlightmag.com