จริงอยู่ว่า Toyota เปิดตัว Camry รุ่นปัจจุบัน มาตั้งแต่สิงหาคม ปี 2006
และจริงอยู่ว่า รุ่น V6 3.5 ลิตร เปิดตัวตามออกมาตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2006

แต่กว่าจะได้มีโอกาส ยืมรถรุ่นนี้มาทดลองขับเต็มรูปแบบ เวลาก็ผ่านพ้นไปเกือบจะครบขวบปี
โดยมีช่วงระยะเวลาเหลือทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า เพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น…

กระนั้น ก็ยังมีหลายคนที่สนใจ และยังคงรออ่านผลการทดลองขับของ ซีดานประกอบในประเทศ
ที่หรูสุด ไฮเทคที่สุด และแพงที่สุด เท่าที่ Toyota เคยสั่งมาขึ้นสายการผลิตในเมืองไทย รุ่นนี้อยู่บ้าง

ไม่ว่าจะอยากรู้ เพราะจะเซ็นเช็คสั่งซื้อ หรือจะอยากรู้ ตามประสาคนชอบรถ

สิ่งที่ผมได้พบเจอ และมาถ่ายทอดให้อ่านกันนั้น คงพอจะช่วยให้มองเห็นว่า อะไรคือข้อดี
และอะไรคือสิ่งที่ควรปรับปรุงในรุ่นท็อปของแคมรีใหม่ ที่มาพร้อมป้ายราคามหากาฬขนาดนี้ 


 
แต่ ก็คงต้องยอมรับว่า การเปิดตัวรุ่น V6 3.5 ลิตร ของแคมรี ด้วยค่าตัวที่สูงถึง 2.8 ล้านบาทนั้น
ถือเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ ให้กับคอรถยนต์ในบ้านเราได้พอสมควร

ส่วนหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขนาดความจุกระบอกสูบที่ใหญ่โตกว่าคู่แข่งนั้น ยังคงสร้างความเข้าใจ
ในหมู่ผู้บริโภคว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่น่าจะดีเท่าใดนัก และยิ่งโตโยต้า อัดอุปกรณ์เพื่อ
ความปลอดภัยสุดไฮเทคทั้งหลาย มาให้แบบไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆในโลกแล้ว ยิ่งทำให้
ความน่าสนใจ เพิ่มพูนมากขึ้น

 

สาเหตุที่โตโยต้า ตัดสินใจ เปิดตลาดซีดานขนาดกลางระดับนักบริหาร ขนาดเครื่องยนต์ 3,500 ซีซี นั้น
ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกสู่บางตลาดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน อันเป็นนโยบาย
ระดับภูมิภาค ดังนั้น ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ทำขายในประเทศด้วยไปเลยก็ไม่เลว

เพราะในอีกด้านหนึ่งนโยบายภายในประเทศเองนั้น มองว่าเป็นการวางตำแหน่งทางการตลาดแคมรี
เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตน ให้สูงขึ้นกว่าคู่แข่งในตลาดทั้งหมด ด้วยการเอาขนาดความจุกระบอกสูบ
ในเครื่องยนต์ที่มากถึง 3,500 ซีซี มาข่มขวัญคู่ต่อสู้

แต่จะเพิ่มขึ้นมากพอจะช่วยให้ตัวเลขยอดขายดูดีหรือไม่ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แยกต่างหากออกไป
 

 
การมองหาความแตกต่างจากภายนอก ระหว่าง แคมรี 2.4 ลิตร ตัวท็อป และรุ่น วี6 3.5 ลิตร นั้น
คุณต้องใช้ทักษะทางสายตา และสมองไม่ต่างอะไรกับการเล่นเกม โฟโตฮันท์ จับผิดภาพ ตาม
ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพราะหากดูผิวเผินเพียงผ่านๆ คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คันไหนเป็นรุ่นไหน

ถ้าดูยังไงก็ยังดูไม่ออก ผมจะเฉลยให้ก็ได้ว่า ให้ดูที่กระจังหน้า จะมีแผ่นพลาสติกใสๆ แปะไว้ที่
ใต้โลโก้สามห่วงของโตโยต้า แผ่นพลาสติกที่ว่านี้ มีประโยชน์อย่างไร อ่านไปอีกสักพัก คุณจะพบคำตอบ


 
จากนั้น มองไปที่ด้านข้างตัวถัง จะพบโลโก้ V6 แปะอยู่ด้านข้าง ก่อนถึงประตูคู่หน้า
มองมาทางบั้นท้าย ก็จะมีโลโก้ 3.5 Q ติดไว้ที่ฝากระโปรงหลัง มองลงต่ำไปอีกนิด
จะพบปลอกท่อไอเสียคู่ ทั้ง 2 ฝั่งมุมกันชน เป็นการยืนยันว่า คันนี้ วางเครื่องยนต์
V6 3.5 ลิตร ถ้าคิดจะเข้าใกล้ ก็ต้องทำใจไว้ได้เลยว่าอาจโดนทิ้ง…..

เปล่าหรอก มิใช่ใครจะมานอกใจกันแต่อย่างใด
ผมแค่หมายถึงว่า โดนทิ้ง…ไปหลายช่วงตัวต่างหาก

 

หรือถ้าชะเง้อมองหลังคา ก็จะเห็นว่า มีซันรูฟกระจก แถมมาให้อีกหนึ่งชุด
เลื่อนเปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมระบบดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง
แบบเดียวกับกระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน

หมดแล้วครับ ความแตกต่างจากรุ่น 2.4 ลิตร หากมองกันเฉพาะภายนอก
มีเท่านี้เองจริงๆ!
 
 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนเริ่มคิดแล้วว่า
อ้าว! ถ้ามันต่างกันเพียงแค่นี้ แล้วฉันจะควักตังค์มาเซ็นใบจองดี
หรือว่าควักแป๊ะฮวยอิ้ว มาสูดดมลดอาการหน้ามืดกันดี

ใจเย็นครับ ๆ ช้าก่อน

เพราะถ้านับรวมความแตกต่างที่อยู่ในห้องโดยสารแล้วละก็
ภายในของแคมรี V6 3.5 ลิตร นั้น มีรายละเอียดปลีกย่อย
ที่แตกต่างจากรุ่น 2.4 ลิตร อยู่หลายจุด

 
 
ทั้งการตกแต่งโทนสีภายในด้วยสีดำ ตัดกับลายไม้
ในขณะที่รุ่นอื่นๆ เขาตกแต่งกันด้วยสีโทนสว่าง

เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง ที่ลดปัญหาอาการเมื่อยหลัง ขณะ
ขับทางไกล ไปได้พอสมควร ฝั่งคนขับ มีสวิชต์ ปรับดันหลังมาให้เป็นพิเศษ

ตำแหน่งคันเกียร์ ถูกวางไว้ใกล้มือคนขับมาก และช่วยเพิ่มความสบาย
ในการเปลี่ยนเกียร์ได้ดีกว่าที่คิด

คันเกียร์ติดตั้งไว้ที่ คอนโซลกลาง ประดับด้วยลายไม้
พร้อมที่วางแขนที่สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า หรือถอยหลังได้
แถมเมื่อเปิดฝาในแต่ละตำแหน่งออก จะพบทั้งช่องเสียบ
อุปกรณ์ไฟฟ้า 12 โวลต์ ที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง
และกล่องเก็บซีดีขนาดใหญ่พอสมควร

ตรงนี้ยังไม่ต่างจากรุ่น 2.4 ลิตร


 
แต่เบาะนั่งปรับได้ด้วยไฟฟ้านั้น ไม่ได้มีมาให้เพียงแค่เบาะคู่หน้าเหมือนรถทั่วไป
เพราะแคมรี V6 3.5 ลิตร มีระบบปรับตำแหน่งเบาะนั่งด้วยไฟฟ้า มาให้กับเบาะนั่ง
คู่หลังอีกด้วย! เอาละ เริ่มแตกต่างจากรุ่น 2.4 ลิตร ขึ้นมาอีกจุดหนึ่งแล้ว…


 
ทว่า อย่าเพิ่งดีใจไปเชียว
เพราะส่วนที่ปรับเอนได้นั้น มีแค่พนักพิงเท่านั้น ซึ่งเมื่อใช้งานจริงแล้ว ผมมองว่า ไม่ได้ช่วยให้เกิดความสบายในการเดินทางไกล
ของผู้บริหารที่มีอาการปวดหลังเท่าที่ควร แถมตำแหน่งของเบาะรองนั่ง ก็ยังไม่รองรับกับมุมเอนของพนักพิงได้ดีเท่าที่ควร
เปิดโอกาสให้ร่างของผู้บริหารที่นั่งด้านหลังรถนั้น ไหลไปกองกับพื้นได้โดยง่าย ถ้าเป็นคนขี้เกียจคาดเข็มขัดนิรภัย

 

แต่ถ้าอยากวางเท้าสบายขึ้น ขอให้บอกพลขับของคุณ
เลื่อนปรับเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารตอนหน้า เลื่อนเข้าเลื่อนออก ตามแต่ใจคุณ
ได้ง่ายขึ้น ด้วยสวิชต์ปรับเบาะที่ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ง่ายต่อการควบคุม

นี่คือ อีกผลงานหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้ เพราะผลวิจัยตลาด จากลูกค้าอย่างแท้จริง

 
 
ชุดสวิชต์ ควบคุม ทั้งระบบปรับพนักพิงเบาะให้เอนลงด้วยไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ
ม่านบังแดดไฟฟ้าที่กระจกบังลมหลัง และชุดเครื่องเสียง ซ่อนอยู่ในที่วางแขน
พับเก็บได้ ซึ่งสามารถเปิดทะลุไปถึงห้องเก็บของด้านหลังได้ เหมือนกับทั้งรุ่น
2.0 และ 2.4 ส่วน แอร์แถวหลังนั้นแยกฝั่งซ้าย-ขวา ยังไม่มีมาให้แต่อย่างใด

 
 
ชุดแผงหน้าปัด ในภาพรวมแล้ว อาจจะยากสักหน่อยหากจะมองหาความแตกต่าง ขณะหยุดนิ่ง
เพราะทุกสิ่งที่มีในรุ่น 3.5 ลิตรนั้น ล้วนแล้วแต่พบได้ในรุ่น 2.4 ลิตรด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
พวงมาลัยพร้อมลายไม้ ที่จับแล้วลื่นมือเอาเรื่อง มีสวิชต์แบบมัลติฟังก์ชัน ประกอบด้วยปุ่มฝั่งซ้าย
ไว้ควบคุมชุดเครื่องเสียง ซีดี ใส่แผ่นได้แค่ทีละแผ่น ต้องกดปุ่ม Eject เพื่อให้หน้าจอเลื่อนลง
มาก่อนจึงจะใส่แผ่นได้ เล่น MP3 และ Windoe Media ได้ อีกทั้งยังมีระบบ Bluetooth เชื่อมต่อกับ
โทรศัพท์ในรถยนต์มาให้เสร็จสรรพ ฝั่งขวาของพวงมาลัยมีสวิชต์ควบคุมการทำงานของระบบ
ปรับอากาศ ดิจิตอลแยกฝั่งได้ ซ้าย-ขวา เฉพาะผู้โดยสารตอนหน้า พร้อมระบบลดกลิ่นในห้องโดยสาร
ด้วยการปล่อยอีออน อย่าง Plasma Cluster อันเป็นลิขสิทธิ์ของ SHARP Corporation

 
 
ไปจนถึงระบบนำร่องผ่านดาวเทียม พร้อมระบบแจ้งข้อมูลด้วยเสียง ที่ยังคงใช้งานยากเย็นเข็ญใจ
ตามสมญานามที่ผมตั้งชื่อเล่นให้เค้าว่า “เจ๊หลง” เหมือนเดิม แม้ว่าจะใช้งานในการนำทางได้ดี
ตามอัตภาพ แต่ก็ยังต้องพัฒนากันต่อไป หน้าจอแม้จะพยายามออกแบบให้ดีกว่าแคมรีรุ่นเดิมแล้ว
แต่ยังไงๆก็ยังไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้  (User friendly) เท่าที่ควร ฟังก์ชันต่างๆ แทนที่จะอยู่ในกลุ่ม
เดียวกัน กลับไปอยู่อีกหน้าหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้น โหมดที่เราต้องการ บางทีก็อยู่ห่างกันไป ทำให้
ต้องคลำหากันอยู่พักใหญ่

ส่วนข้อมูลแผนที่นั้น ยังไม่อัพเดทเท่าที่ควร เพราะอย่างน้อย สนามบินสุวรรณภูมิที่ควรจะมี
กลับยังคงไม่มีเหมือนเมื่อตอนเปิดตัวในช่วงแรก

อีกทั้งข้อมูลของ POI (Point Of Interest) อันเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งของ ร้านอาหาร โรงแรม
สถานที่ท่องเที่ยว ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงเรียน มหาวิทยาลัย ปั้มน้ำมัน ตู้ ATM ตลาด ธนาคาร
ไนท์คลับ ไปรษณีย์ พิพิธภัณฑ์ โบสถ์ วัด มัสยิด รีสอร์ท โรงภาพยนตร์ โรงเรียน โรงแรม โรงละคร
โรงพยาบาล ศาล ศูนย์กีฬา ศูนย์การค้า สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง สถานีรถโดยสาร
สถานีรถไฟ สนามกอล์ฟ สนามบิน ฯลฯ ที่มีอยู่เยอะแยะมากมายนั้น หากเป็นร้านอาหาร
อาจต้องมีการอัพเดทข้อมูลกันทุกปี เพราะแถวบ้านของผม มีปั้มน้ำมันปิดกิจการไปแล้ว 1 แห่ง
ร้านอาหารในละแวกไม่เกิน 3 กิโลเมตร เจ๊งไปแล้ว 3-4 แห่ง ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
แต่ข้อมูลในระบบ ยังมีอยู่!

ล่าสุด ถ้าคุณอยากจะอัพเดทข้อมูลแผนที่ Toyota บอกว่า จ่าย 30,000 บาท นะคร้าบ!
เฮ้ยยยย ทำไมมันแพงอย่างนี้ แพงระดับที่คน Toyota ด้วยกันยังด่าเลยว่า เฮ้ย!
ใครมันเป็นคนตั้งราคาวะ!?


 
แต่สิ่งที่ผู้เป็นเจ้าของรุ่น วี6 3.5 ลิตร สามารถเอาไปคุยข่มทับเพื่อนฝูงได้เต็มปากเต็มคำ
เห็นจะได้แก่ของเล่นไฮเทคด้านความปลอดภัย ทั้ง ระบบ Redar Cruise Control เว้น
ระยะห่างจากรถคันข้างหน้า ด้วยความเร็วที่เหมาะสม ซึ่งจะทำงานตั้งแต่ความเร็ว
50 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป

ระบบนี้ จะมีเซ็นเซอร์ ซ่อนอยู่ด้านหลังของแผงพลาสติกใส ใต้โลโก้โตโยต้า
เพื่อส่งสัญญาณวิทยุไปข้างหน้า

 

 
สาธิตให้ดูกันที่ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เมื่อมีการสะท้อนกลับจากรถที่กีดขวางอยู่ข้างหน้า
ระบบจะส่งสัญญาณกลับมา ส่งต่อให้ระบบควบคุมทราบ
และส่งสัญญาณแจ้งเตือนผู้ขับขี่ ให้ลดความเร็วลง
ผ่านทางหน้าจอ Multi Information บนหน้าปัดนั่นละครับ

ระยะห่างนั้น จากรถคันหน้า ปรับได้ 3 ระดับ 

 

 
ในขั้นตอนนี้ ระบบจะสั่งชะลอความเร็วของรถลงส่วนหนึ่ง

“แต่มิใช่การช่วยเบรกในทันทีแต่อย่างใด” ต้องย้ำตรงนี้ให้ชัดเจนนะครับว่า
ระบบนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยเบรก แต่ทำได้แค่ช่วยชะลอความเร็วลงเท่านั้น
หน้าที่ในการเหยียบเบรก ยังไงๆ ก็ยังเป็นของผู้ขับขี่อยู่ดี!

แต่เมื่อรถคันข้างหน้า พ้นการกีดขวางไปแล้ว ระบบก็จะเร่งความเร็วกลับไปอยู่ที่
ความเร็วเดิม ที่ตั้งเอาไว้ โดยอัตโนมัติ…..จนกว่าจะมีรถคันอื่น มากีดขวาง ทำให้
ระบบต้องสั่งลดความเร็วลงเองอีกครั้ง

อีกระบบหนึ่งที่โตโยต้าติดตั้งมาให้เป็นพิเศษในแคมรี V6 3.5 ลิตร
นั่นคือระบบ PRE-CRASH SAFETY ระบบนี้ ทำงานควบคู่กับ
Redar Cruise control เพื่อช่วยในกรณีที่ผู้ขับขี่เกิดอาการง่วง หรือหลับใน

หาก รถคันข้างหน้าใกล้เข้ามาแล้ว ผู้ขับขี่ ยังไม่ถอนเท้า จากคันเร่ง ระบบจะส่งเสียงร้องเตือนผู้ขับขี่
แต่ถ้ายังไม่หยุด ยังไม่ยอมแตะเบรก อาจจะเพราะง่วงหรือหลับใน หรือหลับแบบไหลลึกลงไปเลย
ระบบจะเตรียมสั่งการให้เข็มขัดนิรภัย แบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
รวมทั้งถุงลมนิรภัยพร้อมทำงานได้ในเสี้ยววินาที


 
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ ยังคงมีมาให้ไม่แตกต่างจากรุ่น 2.4 ลิตรแต่อย่างใด
ไม่ว่าจะเป็นระบบพัดลมใต้เบาะนั่ง มีสวิชต์อยู่ที่แผงคอนโซลกลาง ใกล้คันเกียร์
ระบบกุญแจ Smart Entry เดินเข้าใกล้รถ ก็เปิดประตูหรือสั่งล็อกประตูได้
ติดเครื่องยนต์ด้วยปุ่มกด พวงมาลัยปรับระดับสูงต่ำด้วยก้านโยกไฟฟ้า
ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้าง

แต่ที่เพิ่มเข้ามา ก็คือปุ่มเลือกระดับระยะห่างจากรถคันหน้า 3 ระดับ สำหรับระบบ
Redar รวมทั้งปุ่มรับและวางสายโทรศัพท์บนพวงมาลัย

 

ไปจนถึงระบบเซ็นเซอร์กะระยะถอยเข้าจอดรอบคัน สวิชต์จำตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ
และพวงมาลัย 2 ตำแหน่ง รวมทั้งสวิชต์ตัดการทำงานของชุดไฟหน้าแบบปรับองศา
จานฉายด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าตามการหมุนของพวงมาลัย AFS

หรืออุปกรณ์ความปลอดภัยอื่นๆ ที่มีรายละเอียดเอาได้ในเว็บไซต์ของ โตโยต้า

 

 
*********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ ***********

เครื่องยนต์ของรุ่น 3.5Q เป็นรหัส 2GR-FE วี6 DOHC 24 วาล์ว 3,456 ซีซี DUAL VVT-i
ใช้ระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ ทั้งฝั่งวาล์วไอดี และฝั่งวาล์วไอเสีย จากเดิมที่มีเพียงแค่
ฝั่งวาล์วไอดีอย่างเดียว

ให้กำลังสูงสุดถึง 277 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35.3 กก.-ม.ที่ 4,700 รอบ/นาที
ถือได้ว่า เป็นรถยนต์ซีดานขนาดกลางจากญี่ปุ่น ประกอบในประเทศไทย ที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในกลุ่ม


  
ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมดบวก/ลบ อัตราทดเฟืองท้าย 3.685

เรายังคงทดลองจับเวลา ด้วยวิธีการเดิม คือ นั่ง 2 คน เปิดแอร์ และเปิดระบบไฟหน้า
และต่อไปนี้คือ ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับแคมรีรุ่นอื่นๆ หรือกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน
ที่ผมเคยรีวิวทดลองขับไปแล้ว

ตัวเลขออกมาดังนี้ครับ

 

 

แน่นอนว่า ขนาดความจุกระบอกสูบเยอะขนาดนี้ ตัวเลขอัตราเร่ง ย่อมต้องดีที่สุดในกลุ่ม เพราะในเวทีนี้
แม้ว่า Honda Accord V6 3.5 ลิตร จะออกมาแล้ว แต่ก็ยังทำตัวเลขออกมาได้ไม่ดีเท่า 

อัตราเร่งพุ่งไปได้เร็วแรงอย่างที่ใจต้องการ ทะยานจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างรวดเร็ว หนักแน่น
แถมยังให้เสียงรอบเครื่องยนต์ที่กวาดขึ้นอย่างหวานหู สมกับที่เป็นขุมพลัง วี6 และที่สำคัญ ความเร็วสูงสุดนั้น
ทำได้ถึงระดับ 230 กิโลเมตร/ชั่วโมงก็นับว่าสูงมากพอแล้ว สำหรับรถคันนี้

ถามว่าทำไม?

ก็เพราะว่าการตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้านั้น ก็ยังคงไม่ทันใจในทันทีที่กดคันเร่งเช่นเคย
หากเข้าเกียร์ในโหมด D การตอบสนองจะช้า พอๆกันกับสัมผัสที่ได้จากคันเร่งของรุ่น 2.4 ลิตร
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผลักคันเกียร์ไปยังโหมด บวก/ลบ การตอบสนองของคันเร่งจะฉับไวทันเท้าขึ้น
ทันทีอย่างน่าประหลาดใจ

ไม่มีอะไรในกอไผ่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตั้งใจของโตโยต้า ที่จะ เพื่อยืดอายุการทำงานของเกียร์
ให้ยาวนานขึ้น เลยสั่งให้สมองกลเกียร์ ทำงานตอบสนองช้าลงเล็กน้อย

ดังนั้น เมื่อเจอกับการตอบสนองของลิ้นเร่งไฟฟ้าเสริมเข้ามาด้วย ก็เลยสร้างความรู้สึกให้เกิดกับผู้ขับขี่ว่า
คันเร่งมันตอบสนองช้าด้วยประการฉะนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะช้า แต่ก็ยังไม่ช้าจนน่ากังวลใจ ขนาดวอลโว S80 ใหม่ 2.5 ลิตร ประกอบในประเทศนั่นแล้วกัน
รายนั้น จับเวลาเล่นๆแล้ว ช้าถึง 1.7 วินาทีเลยทีเดียว


 
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ สตรัท Dual-Link
พร้อมเหล็กกันโคลง เมื่อได้มาลองขับกันแบบเต็มที่แล้วพบว่า มีความหนักแน่น และนุ่มนวล มากขึ้นกว่ารุ่น
2.4 ลิตร เล็กน้อย เพราะมีการปรับปรุงสปริงและช็อกอัพ ให้ดูดซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้น เพราะในขณะแล่นผ่าน
เส้นทางขรุขระ หรือผิวถนนที่เป็นหลุมบ่อนั้น ตัวรถดูเหมือนจะแล่นผ่านพื้นผิวเหล่านั้น ในลักษณะลอยผ่านไป
ราวกับนั่งอยู่เรือด่วนที่กำลังล่องลอยผ่านคลื่นเล็กๆ มากกว่าจะปล่อยให้ล้อตกลงไปในพื้นหลุมบ่อเล็กๆเหล่านั้น

อย่างไรก้ตาม ถึงแม้ระบบกันสะเทือนจะดูดซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นจากรุ่น 2.4 ลิตร แต่พวงมาลัย ยังคงตอบสนอง
ได้ไม่ดีเท่าที่ควร แทนที่จะเพิ่มความหนืดให้มากกว่านี้อีกสักหน่อย โตโยต้า กลับมองถึงความนุ่มนวลและเบาสบาย
ในการบังคับเลี้ยว ช่วงความเร็วต่ำเพื่อการขับขี่ในเมืองเป็นหลัก จนทำให้การตอบสนองในช่วงความเร็วเดินทางนั้น
ยังเบาเกินไป ช่างไม่ค่อยสอดคล้องกับพละกำลังมหาศาลของเครื่องยนต์บล็อกนี้เอาเสียเลย

และยิ่งเมื่อใช้ความเร็วสูงมากๆ ตัวรถมีอาการไม่มั่นคงเท่าใดนัก ลอยขึ้นจากพื้น จนค่อนข้างน่ากลัว ผิดกับ
เพื่อนพ้องร่วมตระกูลอย่าง Lexus GS หรือ IS ที่นิ่งสนิทกว่ากันมากโข

ระบบเบรก ยังเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ ที่มาพร้อมระบบ ป้องกันการล็อก ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD
ที่ให้สัมผัสจากแป้นเบรก นุ่มเท้าไปสักหน่อย เป็นอาการลักษณะเดียวกับที่คุณจะพบได้ในแป้นเบรกของ
Lexus RX350 หรือ Toyota Harrier รุ่น 2 ที่เพิ่งตกรุ่นไปแล้ว นั่นเอง สังเกตได้ว่า โตโยต้า พยายามตั้งใจเซ็ต
แป้นเบรกให้นุ้มเท้าเข้าไว้ และต้องเหยียบลงไปลึกนิดนึงแต่ไม่ถึงกับลึกมาก จนแทบจะจมพื้นรถเหมือน
หลายๆคันที่ผมเคยลองขับมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

 
 
**********การทดลองหา อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย**********

ครั้งนี้เราได้นาย “ถัง” มาเป็นผู้ช่วย และผู้โดยสารถ่วงน้ำหนัก ตามมาตรฐานเดิม
คือ การจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย “คร่าวๆ” ด้วยการเติมน้ำมัน จากปั้มน้ำมัน Esso
ย่านพระราม 6 ก่อนจะขึ้นทางด่วน ไปลงยังปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก ขับด้วยความเร็ว
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่งไปกัน 2 คน ทั้งคนขับและผู้โดยสาร 1 คน
แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน ขับย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิม ลงทางด่วนที่พระราม 6
แล้วย้อนกลับไปเติมน้ำมัน ที่ปั้มเดิม ตู้เดิมและหัวจ่ายเดิม อีกครั้ง

ตัวเลขที่ออกมามีดังนี้


 


 

ถ้ามองว่า นี่คือรถยนต์ขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่โต 3,500 ซีซี
และแล่นทางไกลได้ ด้วยอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงระดับนี้ ถือได้ว่า ประหยัดกว่าที่คิดไว้นิดหน่อย

รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ 3.5 ลิตร และแล่นได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในระดับเดียวกันนี้อีกคันหนึ่งที่ผมนึกออกในตอนนี้คือ
เอสยูวีอย่าง นิสสัน มูราโน วี6 3.5 ลิตร รายนั้นทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ 10.02 กิโลเมตร/ลิตร และเครื่องยนต์ใหญ่โตขนาดนี้
ทำตัวเลขออกมาได้ระดับนี้ กับการวิ่งทางไกล ถือว่า ทำได้ดีกว่าที่คิดไว้นิดนึงแล้วด้วยซ้ำ

 

*********** สรุป ***********
แรงเร้าใจ ป้องกันภัยเต็มพิกัด สไตล์รถผู้ใหญ่ แต่ขับเร็วๆ ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ พวงมาลัยตอบสนองไม่ดีพอ

ความเห็นของผมที่มีต่อ การยกระดับภาพลักษณ์ของซีดานระดับผู้บริหารคันนี้ ด้วยเครื่องยนต์ที่ใหญ่โตขึ้น แรงขึ้น
และมีระบบความปลอดภัยที่เพียบพร้อมเกินหน้าเกินตาคู่แข่งค่ายยุโรปขนาดนี้ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว เกือบ 1 ปีที่รถรุ่นนี้ออกสู่ตลาด

อย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่า โตโยต้า พยายามจะวางฐานลูกค้าตัวเองไว้ ในกรณีลูกค้าเบื่อเบนซ์ หรือ บีเอ็ม
สังเกตได้จากความพยายามในการจัดวางตำแหน่งการตลาดของแคมรี V6 3.5 ลิตร ให้เป็นรถหรูรุ่นใหม่
ที่สามารถใช้งานแทนกันได้กับ Mercedes-Benz E-Class หรือ BMW 5 Series E60 ที่มีราคาระดับ 3.8 ล้าน
จนถึง เกือบ 5 ล้าน แต่ไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยเหล่านี้ใส่มาให้ครบเท่า

กระนั้น ต่อให้ผมพูดออกมาว่า นี่คือ โตโยต้า ที่ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ มาเต็มพิกัด มากที่สุด เท่าที่โตโยต้าเคยทำมา
กับรถประกอบในประเทศไทย ในรอบ 40 กว่าปีที่ขายรถยนต์ในบ้านเรา

 
 
แต่ด้วยราคาคันละตั้ง 2.85 ล้านบาท อย่างนี้ แม้จะพอกันกับเงินที่คุณจะควักจ่ายให้กับ รถยนต์ระดับพรีเมียม
คอมแพกต์ จากยุโรป ทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส และบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ประกอบในประเทศ

ทว่า คุณคงต้องถามตัวเองให้ดีๆ ว่า คุณต้องการ แคมรี ราคาคันละ 2.85 ล้านบาท
ที่แตกต่างจากรุ่น 2.4 NAVI ตัวท็อป ตรงที่ โลโก้รอบคันจากภายนอก ท่อไอเสียคู่
เครื่องยนต์ วี6 DOHC 24 วาล์ว 3.5 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด บวกลบ
ระบบ Redar Cruise control , ระบบ Pre-Crash Safety ซันรูฟไฟฟ้า ห้องโดยสารโทนสีดำ
และ เบาะหลังปรับเอนได้ด้วยไฟฟ้า ซึ่งก็นั่งไม่ได้สบายอย่างที่คิด

แค่นั้น……

เหตุที่ราคาดูเหมือนจะแพงขนาดนี้ นั่นเพราะ นอกจากค่าเครื่องยนต์กับค่าเกียร์ มันแพงสาหัสอยู่แล้ว
ยังต้องเจอกับภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บกับรถยนต์ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี
ในอีกพิกัดอัตราที่แพงขึ้นไป ยิ่งทำให้ราคารถคันนี้ พุ่งสูงขึ้นไปอยู่ในจุดที่ ผู้ซื้อต้องถามตัวเองให้ดี
ว่า อยากได้จริงๆ มีรถในบ้านอยู่แล้วอย่างน้อย 1 คัน และมีเงินเหลือจริงๆ

การตอบรับของผู้บริโภค เป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว บนท้องถนน…

(ปล.เพราะโตโยต้าเอง ก็ทำใจไว้แล้วว่า วางเป้าหมาย ผลิตขายเดือนละ 10-20 คันก็พอ)…

 
——————///—————–

 

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย)จำกัด
สำหรับความเอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

————————————— 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
4 ตุลาคม 2007

Copyright (c) 2007 – 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 4th,2007