นับตั้งแต่ Camry HYBRID เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเมืองไทย เมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 ที่ผ่านมา
ผมเริ่มเห็น ปริมาณของรถยนต์ซีดานรุ่นนี้ เยอะขึ้น บนถนนในกรุงเทพมหานคร…เยอะขึ้นชนิดที่ว่า
หนาตากว่าที่คาดการณ์ไว้เลยทีเดียว เห็นเยอะจนแทบนับครั้งได้ว่าพอกันกับ การเห็นแคมรีรุ่นก่อนปรับโฉมด้วยซ้ำ
แน่ละครับ การตอบรับจากลูกค้า ที่ดีเกินคาด ทำให้ยอดผลิต ที่ประมาณการณ์ กันไว้ในระดับ 1,000 คัน/เดือน
เริ่มไม่พอ ตอนนี้ ถ้าจะสั่งจองเพื่อเป็นเจ้าของกัน ก็ต้องมี Back Order รอไปอีก 2-3 เดือนเลยทีเดียว!!
งานนี้ สงสัย รุ่น V6 3.5 ลิตร และรุ่น 2.0 ลิตร ปกติหนะ แทบไม่ต้องผลิตกันเลยแล้วกระมัง เอาสายการผลิต
มาเร่งปั้มรุ่น ไฮบริด ให้ทันใจลูกค้าก่อนจะดีกว่า…
หลังการทดลองขับครั้งแรก และนำรีวิว First Impression ขึ้นเว็บไซต์ Headlightmag.com ของเราก่อนใคร
ในสยามประเทศ ผมก็แทบจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับรถยนต์รุ่นนี้อีก ทั้งที่ใจหนะ อยากจะยืมมาทดลองขับ
เต็มแก่ แต่…ทางโตโยต้าเอง งานเขาก็เยอะแยะ ตารางเวลาของผมเอง ก็ยุ่งเหยิง หาเวลาให้ลงตัวตรงกันไม่ได้สักที
ในที่สุด ผมรู้สึกโล่งใจ ที่ได้เห็นรถคันสีเทาตะกั่ว คันนี้ จอดอยู่ตรงหน้าผม ในลานจอดรถด้านหลัง
ตึกสำนักงานใหญ่ ของ โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่สำโรง
รถคันนี้ละ ที่ผมรอคอยมาตลอด 3 เดือน…
กว่าที่กุญแจรีโมท Keyless Entry หน้าตาคุ้นเคย เหมือนรีโมทกันขโมยราคาถูก ของ รถคันนี้
(ซึ่งหน้าตา ก็เหมือนกับ กุญแจ Keyless Entry ของ Lexus LS460L นั่นแหละ)
จะถูกหยิบยื่นถึงมือผมนั้น นอกจากจะต้องผ่านเวลารอ มานานแสนนาน ยิ่งกว่า ครั้งใดแล้ว
ยังมีสารพัดเรื่องราวมากมาย แวะเวียนเข้ามาทักทายอยู่เนืองๆ แม้ไม่ชวนให้เคือง
แต่ก็แอบเปลืองเซลส์สมอง ในการหาทางออก ไปหลายร้อยเซลส์ อยู่
ผมเข้าใจดี ว่ามีหลายท่าน รอการมาถึงของ รีวิวนี้ เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
และผมเอง ก็เป็นคนหนึ่ง ที่ ต้องรอ ไม่ต่างจากทุกท่าน
ที่มาที่ไปของรีวิวในครั้งนี้ ก็คือ
ตอนแรก พอได้ทราบว่า โตโยต้ามีนโยบาย จะไม่ปล่อยรถ Camry HYBRID ให้สื่อทั่วไปยืม
ผมเองก็หวั่นๆ ว่า ทางโตโยต้า อาจจะไม่ปล่อยรถให้เรายืม ก็ได้ เพราะเราเอง
ก็เป็นแค่สื่อมวลชน หน้าใหม่ ระดับความสำคัญ มันก็ยังมีไม่มากนัก
ตอนนั้น ถึงกับต้องมองหา ทางเลือกสำรองไว้ มองดูว่า มีผู้คนรอบข้างคนใด ซื้อ Camry HYBRID
มาใช้แล้วบ้าง เผื่อจะได้ขอหยิบขอยืมรถมาทำการทดลอง และถ่ายรูป ทำรีวิวให้คุณๆได้อ่านกัน
อย่างเช่นในกรณีของ รีวิว Hilux Vigo Prerunner 2.5 VN Turbo (ชื่อยาวชะมัด) นั่น
จาก ลิสต์ทั้งหมด ที่มีอยู่ ผมพบว่า มี เจ้าของรถ Camry HYBRID ที่ยินดีให้ผมนำรถของเขา
มาทำรีวิว มากถึง 3 คัน!
แต่ท้ายที่สุด ผมตัดสินใจว่า ขอเลือกที่จะ รอ รถจากทาง โตโยต้า ดีกว่า เพื่อไม่ให้เป็นการน่าเกลียดจนเกินไป
อีกทั้ง ใจจริงแล้ว ผมไม่อยากรบกวน ผู้คนรอบข้าง อันมีน้ำใจไมตรี ให้กับผมนัก
และด้วยความกรุณา ของทางโตโยต้า รถคันที่เห็นอยู่นี้ ก็มีโอกาส โผล่มา
จอดอยู่ในรีวิวนี้ จนได้ ในที่สุด ท่ามกลาง ความรู้สึก แอบลุ้น อะ ลิตเติ้ล ระทึก อยู่ในใจ
ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะ ผมเอง ไม่ได้ไปร่วมทริปทดลองขับ วนรอบกรุงเทพฯ กับทางโตโยต้า
ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงที่ รถรุ่นนี้ เพิ่งจะเปิดตัวไปสดๆร้อนๆ
และเหตุผลของผม ที่แม้แต่ตัวผมเอง ก็ยังเชื่อว่า ไม่ควรค่าแก่การให้อภัยใดๆทั้งสิ้น ก็คือ
คืนก่อนหน้างานวันนั้น ผมเร่งทำงานอย่างหนัก เข้านอน เกือบเช้า และแล้ว ผมก็ นอนตื่นสาย….
เป็นไงครับ เหตุผลอันน่าทุเรศที่สุด ก็หลุดออกมาให้เห็นกันจนได้ ช่างนับอับอายสิ้นดีเลยจริงๆ
เป็นนิสัยไม่ดีของผม ที่คุณน้องๆหนูๆ มิควรเอาเยี่ยงอย่างนะครับ (แฮ่ๆๆๆๆๆ ปาดเหงื่อ…)
กระนั้น ถึงแม้ว่า เราจะได้รับรถจากทาง โตโยต้าแล้ว แต่ท้ายที่สุด เราต้องมองหา Camry HYBRID
อีกคันหนึ่ง มาใช้ในการทดลอง จับตัวเลขพร้อมกันไปด้วยแทนคันสีตะกั่วที่เห็นนี้…
เหตุผลก็เพราะว่า ทางโตโยต้า เติมน้ำมันเบนซิน แก็สโซฮอลล์ 91 มาให้เรา เรียบร้อยแล้ว!!!
ซึ่ง ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็ไม่อาจทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามปกติได้
เพราะว่า ปกติ อย่างที่บอกไว้เสมอ ก็คือ เราจะใช้ น้ำมันเบนซิน 95 เป็นมาตรฐานหลัก
ในการทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กัน มาตลอด 6-7 ปี ที่ทำรีวิวรถมา ดังนั้น
หากน้ำมันในถัง มีปริมาณของแก็สโซฮอลล์ 91 อยู่ในถังเยอะมาก น้ำมันเบนซิน 95 ธรรมดา
ที่เติมเข้าไป จะไม่มีความหมายอะไรเลย
โชคดีมากๆ ที่เมื่อโทรเช็คกับ ถัง เพื่อนสนิทผม ได้ความว่า คุณแม่ของถัง เพิ่งได้รับรถประจำตำแหน่งคันใหม่
มาเป็น แคมรี ไฮบริด และรถคันนี้ ก็แล่นมาได้สักพักนึงแล้ว น้ำมันในถัง ก็เป็นแก็สโซฮอลล์ 95 ที่เหลือเพียง
1 ใน 4 ของถัง ดังนั้น ทุกอย่างช่างลงตัวพอดี
แม้จะหมดค่าน้ำมันไป 2,100 กว่าบาท แต่ผลที่ได้มาก็คุ้มค่า เพราะทดลองกันเพียงครั้งเดียว
ตัวเลขก็ออกมาชัดเจน โดยไม่ต้องทำการทดลองซ้ำ
ถ้าตอนนี้ ในหัวคุณ เต็มไปด้วยคำถามที่ว่า แล้วตกลง แคมรี ไฮบริด กินน้ำมันกี่กิโลเมตร/ลิตร?
อัตราเร่งเป็นยังไงบ้าง จริงหรือเปล่า ที่เขาว่ากันมา ว่า มีการล็อคตวามเร็วเอาไว้ที่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แล้ว ในภาพรวม รถคันนี้ น่าซื้อหามาใช้งานไหม แบ็ตเตอรีจะแพงหรือเปล่า อะไหล่จะแพงกว่า
แคมรี ธรรมดา มากน้อยขนาดไหน?
ถึงเวลาแล้วละครับ ที่เราจะเริ่มต้น พาคุณ เดินทางไปพบคำตอบ นับจากบรรทัดข้างล่างนี้ เป็นต้นไป
ย้อนอดีตกันสักหน่อยว่า แคมรี เป็นซีดานขนาดกลางรุ่นใหญ่ขับล้อหน้า ที่แยกตัวออกมาจาก
ตระกูลรถสปอร์ต Celica เมื่อเดือนมกราคม 1980 (ตอนนั้น เอารถรุ่น Carina มาปรับปรุงด้านหน้า
กับด้านหลัง นิดหน่อย แล้วใช้ชื่อว่า Celica 4 Door CAMRY ขายเฉพาะในญี่ปุ่นก่อน 2 ปี
ก่อนจะแยกตัวเป็นเอกเทศอย่างแท้จริงเป็นรถรุ่นใหม่ เมื่อปี 1982 (เป็นฝาแฝดกับรถยนต์
ครอบครัวรุ่น VISTA) แล้วก็ทำตลาดต่อเนื่องทั้งในสหรัฐอเมริกา อันเป็นตลาดหลัก รวมทั้งญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นตลาดรอง และเริ่มไม่ค่อยสำคัญเท่ากับ ออสเตรเลีย จีน และ ไทย อันเป็นตลาดที่ แคมรี
ขายได้ดีกว่าในบ้านตัวเองมาหลายปีแล้ว ส่วนชื่อ Camry นั้น ไม่ได้มาจากภาษาอังกฤษ
หากแต่มาจากภาษาญี่ปุ่นที่ว่า Kanmuri ซึ่งแปลในภาษาญี่ปุ่นได้เป็นคำว่า “มงกุฎ” (ซึ่งก็เป็นปกติของ
รถยนต์โตโยต้าในยุคอดีต ที่มักจะตั้งชื่อรุ่นให้เกี่ยวข้องกับ มงกุฎ เช่น CROWN หรือ Corolla เป็นต้น)
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขฐานผลิตนอกญี่ปุ่นถึง 8 แห่ง ส่งออกขายสู่ 100 ประเทศทั่วโลก
แคมรี ทำยอดขายสะสมได้มากเกินกว่า 10 ล้านคัน และมียอดขายขึ้นแท่นอันดับ 1 ในกลุ่ม
รถยนต์ซีดานขนาดกลาง ระดับ D-Segment ของสหรัฐอเมริกา และเมืองไทย อีกทั้งยังเป็น
รถยนต์รุ่นสำคัญในยุทธศาสตร์การบุกตลาดโลกของโตโยต้า ดังนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าแคมรี
ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
โดยเฉพาะในเมืองไทย นับแต่การเปิดตัวครั้งแรก เมื่อ สิงหาคม 1993 ในฐานะ
รถนำเข้าทั้งคันจากออสเตรเลีย แคมรีเปิดตัวอย่างงดงาม เพราะมีคนรออุดหนุนกันเพียบเลย
รถนำเข้าทั้งคัน ราคากำลังดี แถมแบรนด์สามห่วงการันตีขนาดนี้ มีหรือคนไทยจะยอมพลาด
เวลาผ่านไปหลายปี จนถึงตอนนี้ โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) เอาแคมรี มาปั้มขายเอง
ที่โรงงานเกตเวย์ ก็ตั้งแต่ราวๆ ปี 1999 แล้ว จนถึงวันนี้ โตโยต้า เมืองไทย ผลิตแคมรี
ทั้งขายในประเทศ และส่งออกนอกบ้าน ไปได้เกิน 100,000 คันไปแล้ว!!!
แต่ เมื่อถึงวันหนึ่ง แนวคิดของโตโยต้า ที่อยากจะขยายเทคโนโลยี ไฮบริด ให้ครอบคลุมไปยัง
รถยนต์รุ่นมาตรฐานทั่วๆไปมากขึ้น แคมรี เลยกลายเป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นหลัก ที่ถูกจับเข้าร่วม
ปฏิบัติการณ์ครั้งใหญ่ในคราวนี้ด้วย
การเปิดตัวของแคมรี ไฮบริด เป็นครั้งแรก เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนโฉมโมเดลเชนจ์ครั้งล่าสุด
เมื่อเดือนมกราคม 2006 กลางงาน ดีทรอยต์ ออโตโชว์ โดยในช่วงแรก เวอร์ชันอเมริกาเหนือ
ทำตลาดล่วงหน้าบ้านเราไปก่อน ประมาณ 2 ปี
หลังเริ่มออกสู่ตลาดตลาดอเมริกาเหนือ เป็นครั้งแรก มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2006
แคมรี ไฮบริด ก็เเก็บกวาดยอดขายไปได้เรื่อยๆ โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ
ในปี 2006 ทำยอดขาย รวม 31,341 คัน ปี 2007 ขายได้เพิ่มขึ้นเป็น 54,477 คัน และปี 2008 ที่ผ่านมา
ขายได้ทั้งสิ้น 46,272 คัน คิดเป็น 15 เปอร์เซนต์ ของยอดขายแคมรีทั้งหมด ในตลาดอเมริกาเหนือ
ถือเป็นการเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จใช้การได้เลยทีเดียว
กว่าที่ เวอร์ชันเอเซีย ของ แคมรี ไฮบริด (สำหรับตลาด จีน-ไทย-ไต้หวัน) จะเปิดตัวตามมา ก็ต้องรอให้
นาฬิกา และปฏิทิน เดินพาเหรดข้ามห้วย ข้ามเขาเหลียงซาน รอกันนานจนถึง ต้นปี 2009 และต้องรอ
ให้มีรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ของ แคมรี ไฮบริด เวอร์ชันอเมริกาเหนือ คลอดออกมาเสียก่อน
แคมรี ไฮบริด เวอร์ชันเอเซีย (ซึ่งจะมีรูปลักษณ์ภายนอก แตกต่างจากเวอร์ชันอเมริกาเหนือ)
จึงจะได้เริ่มต้นทะยอยเปิดตัวตามติดกันต่อเนื่อง เริ่มจาก จีน แล้วก็เมืองไทย เมื่อเดือน
สิงหาคม 2009 ที่ผ่านมา พูดกันให้เข้าใจง่ายๆก็คือ หน้าตาของ แคมรี ไฮบริด เวอร์ชันเอเซีย
จะไม่เหมือน แคมรีโฉมใดๆ ที่คุณเคยเห็นมาก่อนหน้านี้เลย
แต่ การเปิดตัว แคมรี ไฮบริด ในบ้านเรานั้น มีความสำคัญมากกว่า ตลาดอื่นๆ เพราะว่ารถยนต์ซีดานรุ่นนี้
ถือเป็นรถยนต์ไฮบริดรุ่นแรกในประวัติศาสตร์วงการรถยนต์เมืองไทย ที่ถูกนำมาขึ้นสายการประกอบ
ในประเทศ เพื่อการทำตลาดแบบเต็มรูปแบบ โดยคราวนี้ ใช้วิธีขายขาด ให้กับลูกค้าไปเลย
การปรับปรุง งานออกแบบ บนตัวรถที่มีความยาว 4,806 มิลลิเมตร กว้าง 1,821 มิลลิเมตร สูง 1,461 มิลลิเมตร
และมีระยะฐานล้อยาว 2,776 มิลลิเมตร มีเพียงไม่กี่จุด แต่ เมื่อดูในภาพรวม จะมองเห็นราวกับว่า แปลกหน้า
แปลกตา ไปกว่าแคมรี รุ่นมาตรฐานดั้งเดิมที่คุ้นเคยกันเลยทีเดียว
มีทั้งกระจังหน้า ดีไซน์เฉพาะรุ่น ซึ่งชวนให้สงสัยว่า ทำไมหน้าตามันเหมือน แมงมุม เมื่อมองจากหน้าตรง
ชุดไฟหน้าดีไซน์ใหม่ เฉพาะรุ่นเช่นกัน สวยงาม แถมมี Eye Shadow สีฟ้าระเรื่อ ตามแนวทางรถยนต์ไฮบริด
ของโตโยต้า ทุกรุ่นทั่วโลก นับจากปีนี้เป็นต้นไป เปลือกกันชนหน้าแบบใหม่ สไตล์ Transformer
รถคันสีเทาเข้มที่เห็นอยู่นี้ เป็นรุ่นแพงสุด ดังนั้น จึงมีไฟหน้าแบบปรับมุมองศาจานฉายตามการเลี้ยว
AFS (Adaptive Front’Lightning System) หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “ไฟหน้านักเรียนทุน” ติดตั้งมาให้
พร้อมกับโคมไฟหน้าแบบ HID (High Intensity Discharge Headlamp) และไฟตัดหมอกดีไซน์พิเศษ
ยางที่ติดรถมา เป็น ยาง Bridgestone TURANZA ER33 ขนาด 215/60R16
ซึ่งผมยังจดจำวีรกรรมของมันได้อย่างดี เพราะเมื่อกลางปีที่ผ่านมา มันเพิ่งพาผม
และเพื่อนพี่น้อง ประหวั่นพรั่นพรึงไปบน Lexus LS460 L มาหยก
ส่วนชุดไฟท้าย เป็นแบบใสไปหมด ดีไซน์เฉพาะรุ่นเช่นกัน แต่ดูคล้ายกับ นำไฟท้ายของแต่งรถ
จากไต้หวัน มาแปะใส่เอาไว้ มีสัญลักษณ์ HYBRID และ HYBRID SYNERGIE DRIVE แปะเอาไว้
ตามจุดต่างๆ รอบคัน แถมมีแถบโครเมียมตามจุดต่างๆ ที่ยังปรับปรุงให้ตัวรถดูเด่นเตะตาขึ้นมา…
…ว่านี่คือรุ่นไฮบริดนะ ไม่ใช่รุ่นธรรมดานะ…
เมื่อเปิดประตูรถ หลายๆท่านที่ใช้แคมรีรุ่นปกติอยู่แล้ว ก็ยังคงจะได้พบกับบรรยากาศเดิมๆ
กลิ่นในห้องโดยสารเดิมๆ ที่คุณคุ้นเคย การเข้า-ออก จากเบาะคู่หน้า ไม่เป็นปัญหาอะไร
เข้าออกได้สบายดี จากบานประตูที่เปิดได้กว้าง
เบาะนั่งคู่หน้า ปรับด้วยไฟฟ้า เฉพาะฝั่งคนขับ เพิ่มปุ่มบันทึกการจดจำตำแหน่งเบาะที่ปรับเอาไว้ได้ 2 ตำแหน่ง
ส่วนเบาะฝั่งซ้าย ของผู้โดยสาร จะมีสวิชต์ ปรับเบาะ เอนขึ้น-ลง หรือเลื่อนเบาะขึ้นหน้า-ถอยหลัง สำหรับ
ผู้ขับขี่ ที่จะปรับเลื่อนให้ผู้โดยสารตอนหลัง ได้รับความสะดวกเพิ่มมากขึ้น ติดตั้งอยู่ด้านข้าง ฝั่งขวา
แถมในรุ่นท็อป ยังมีพัดลมระบายอากาศใต้เบาะ หรือที่เจ้ากล้วย BnN The Coup Team ของเรา
ชอบเรียกว่า “แอร์ปั่นตด” ที่เจ้าตัวเรียกแบบนี้ เพราะว่า ใครขืนนั่งอยู่ แล้วเผลอปล่อยตด ออกมา
กลิ่นมันจะลอยฟุ้งไปทั่วรถ และเร็วกว่าเดิม เร็วชนิดที่ เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ พร้อมระบบ
Plasma Cluster แบบแยกฝั่ง ซ้าย-ขวา ที่แถมมาให้ รีบทำงานแทบไม่ทันเลยทีเดียว !
เบาะรองนั่ง เกือบจะเต็มมาถึงข้อพับขา ขาดอีกนิดเดียวจริงๆ
ดังนั้น แคมรี รุ่นต่อไป ในปี 2011 ช่วยขยายความยาวเบาะรองนั่ง
มาให้เต็มไปเลยเถอะนะครับ อีกนิดเดียวเอง นะนะนะนะนะ
ฝาปิดกล่องเก็บของ ที่คั่นกลางผู้ขับขี่และผู้โดยสารคู่หน้า
สามารถเลื่อนปรับระดับขึ้นหน้า-ถอยหลัง เพื่อวางแขนได้อย่างสะดวกสบาย
Camry รุ่นปัจจุบัน เป็นรถรุ่นหนึ่ง ที่ผมชื่นชอบตำแหน่งการวางแขน ของ
ผู้โดยสารคู่หน้า มากๆ เพราะมันวางได้สบายๆ และไม่ต้องปรับแก้ไขอะไรอื่นใด
อีกแล้ว (วิศวกร ที่ทำรถรุ่นต่อไปอยู่ ขอความกรุณา อย่าไปเคลื่อนย้าย
หรือเปลี่ยนตำแหน่งที่วางแขนเลยเชียวนะครับ! มันดีอยู่แล้วที่คุณยกทั้งหมดนี้
มาจาก Lexus หลายๆรุ่น)
พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ถึงกับโปร่งสบายนัก แต่มีพื้นที่เหนือศีรษะ เหลือเพียงพอแน่ๆ
เมือ่ปรับเบาะลงต่ำสุด สำหรับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตรอย่างผม จะมีพื้นที่บนหัว
เหลืออยู่ 1 ฝ่ามือเต็ม กับอีก 2 นิ้ว (นิ้วชี้ และนิ้วกลาง) ในแนวตั้ง
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า Power Windows ทุกบาน เป็นแบบ All Auto
เลื่อนขึ้นลง ได้ในการกดหรือดึงงัดสวิชต์ขึ้นเพียงครั้งเดียว
แะมยังมีระบบ ดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวางอัตโนมัติ อีกด้วย
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ Pretension & Load Limiter ดึงกลับอัตโนมัติ
ทางเข้าประตูคู่หลัง แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ การเข้าไปนั่งนั้น ก็ยังต้องระมัดระวังนิดนึง
เพราะหัวของคุณ อาจจะไปชนกับแนวขอบหลังคาได้ ต้องก้มหัวลงเยอะกว่าคู่แข่งคันอื่นๆ
เพื่อหลบแนวขอบหลังคา
แต่การลุกออกจากเบาะหลัง สำหรับผมแล้ว ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ ผมไม่แน่ใจนักครับ
เบาะนั่งด้านหลัง ยังนั่งได้ไม่ถึงกับสบายนัก อาจจะสบายแผ่นหลัง และก้น
แต่ไม่สบายช่วงขาเลย นั่งแล้ว เหมือนกับต้องนั่งชันขาอยู่หน่อยๆ
พื้นที่เหนือศรีษะ สำหรับคนสูง 171 เซ็นติเมตรอย่างผม ยังเหลืออีก 4 นิ้วมือแนวตั้ง
แผงประตูหลัง อย่างที่เคยพูดเสมอๆว่า แผงประตูของรถรุ่นก่อนหนะ ดีอยู่แล้ว
พอเป็นรถรุ่นนี้ การวางแขน กลับทำได้ไม่สบายเท่ากับรถรุ่นก่อน
ที่วางแขนพับเก็บได้ พร้อมฝาปิดช่องเจาะทะลุไปยังพื้นที่เก็บของเล็กๆ เหนือชุดแบ็ตเตอรี
และมีที่วางแก้ว พร้อมฝาปิดลายไม้ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ อาจจะมีขนาดเตี้ยไปอีกสัก
1-2 มิลลิเมตร สำหรับผม แต่ เท่าที่เป็นอยู่นี้ ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับคนทั่วๆไป
ยังไงๆ พื้นที่การเข้าออกด้านหลัง รวมทั้ง ตำแหน่งเบาะหลัง Nissan Teana ยังคงครองอันดับ 1
ในประเด็นนี้ไปได้อยู่ดี ขณะที่ Honda Accord ใหม่ ตำแหน่งเบาะหลังดีขึ้นกว่า Accord รุ่นก่อน
แม้จะมีเบาะนั่งที่ วัสดุยังไม่เนียนมือ หรือนั่งสบายนัก แต่ตำแหน่งนั่ง ก็ยังทำได้ดีกว่า Camry
เรื่องนี้ ยังไงๆ ก็คงต้องขอฝากให้ทีมวิศวกรญี่ปุ่น ปรับปรุงในรถรุ่นต่อไปแล้วละ ขอเป็นประเด็นแรกๆเลยนะครับ
แต่ที่ชอบจริงๆคือ ประตูคู่หลัง มีม่านบังแดดให้ทั้ง 2 ฝั่ง แบบดึงขึ้นด้วยระบบอัตโนมือ (ใช้มือดึงขึ้นเอาเอง) เหมือน BMW ซีรีส์ 5
และมีม่านบังแดด สำหรับกระจกบังลมหลัง มีสวิชต์ เปิดปิด อยู่ติดกับ สวิชต์ แอร์ปั่นตด นั่นละครับ
ซึ่ง เมื่อเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถ ม่านที่ว่า จะเลื่อนลงไปเก็บเองโดยอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัย
และเพิ่มทัศนวิสัย ขณะถอยเข้าจอดรวมทั้งยังมีพนักศีรษะสำหรับผู้โดนสารตรงกลางอีกด้วย
เข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง เป็นแบบ 3 จุด ทุกตำแหน่ง และมีไฟอ่านหนังสือ สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ซ้าย-ขวา
เมื่อเป็นรถยนต์ไฮบริด ก็ต้องมีการติดตั้ง แบ็ตเตอรี ไว้ด้านหลังรถ
โตโยต้า เลือกติดตั้ง แบ็ตเตอรี สำหรับระบบขับเคลื่อน ให้กับแคมรี ไฮบริด
ไว้ที่ด้านหลัง เบาะหลัง จะทำอะไรก็ตาม ต้องเปิดฝากระโปรงหลังเสียก่อน
เรายังจะไม่พูดถึงแบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อนกันในตอนนี้ และคุณจะได้รับรู้
เรื่องรราวรายละเอียดของมันเต็มที่ ในหัวข้อ รายละเอียดวิศวกรรม และการทดลองขับ
ซึ่งอยู่ด้านล่าง ของบทความนี้
แต่สิ่งที่เราเชื่อว่า มีหลายคนคงอยากรู้กันก็คือ ในเมื่อเอาแบ็ตเตอรี ลูกใหญ่ๆมาแปะไว้
ด้านหลังรถ แล้วพื้นที่ห้องเก็บของละ มันจะลดน้อยลงไปมากน้อยแค่ไหน?
ผมไม่รู้ว่าจะหาวิธีไหนแสดงให้คุณเห็น ได้ชัดเจน มากกว่า วิธีการดั้งเดิม
ที่หลายคน คงไม่ได้เห็นกันมานาน อย่างนี้ อีกแล้วละ….
ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรให้มันยุ่งยากวุ่นวายเลย
แค่ถอดรองเท้า นั่งลงบนปากช่องทางเข้าห้องเกบของด้านหลัง
แล้วค่อยๆ หมุนตัว ช้าๆ หย่อนเท้าเข้าไปก่อน จากนั้น ก้มหัวมุดลงไป
อันที่จริง มันเป็นที่ซุกหัวนอน ซึ่งสบายดีมากๆเลย ถ้าคุณไม่สนใจว่า
ด้านหลังของคุณ คือแบ็ตเตอรีของ Panasonic ที่มีขนาด 245 Volts
ติดตั้งตอกตรึงเข้ากับตัวรถ ด้วยน็อตยึด 4 จุด ซ้าย ขวา หน้า หลัง
และพร้อมจะเพิ่มกำลังไฟเป็น 650 Volt ตามการทำงานของ Inverter
ที่ติดตั้งไว้ในห้องเครื่องยนต์….
ถึงโตโยต้า จะรับประกันว่า ไฟไม่มีทางรั่วแน่นอน เพราะมีระบบตัดไฟ
อัตโนมัติทันทีที่ระบบเจอว่ามีการรั่ว ทำตัวเหมือนมี Safe-T-Cut มาให้
แต่ ก็ชวนหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย…
โดยเฉพาะ เมื่อได้ทราบว่า เคยมี อ้ายบ่าวลาว บ้าระห่ำขนาดฉีดน้ำ
ล้างทำความสะอาด ตรงเข้าไปที่ตัวแบ็ตเตอรี ซึ่งยังติดตั้งกับตัวรถ ที่ยังไม่มีการ
สับสวิชต์ตัดไฟ หรือ Braker ลงแต่อย่างใด!!!
เรื่องราวระทึกใจนี้ รอให้คุณอ่านไปถึงอยู่ที่ เบื้องล่างของบทความนี้ครับ
บรรยากาศของชุดแผงหน้าปัด และภายในห้องโดยสาร ยังคงคุ้นกลิ่น คุ้นตา คุ้นสัมผัส ชวนให้คุ้นจิต
แน่ละครับ มันเหมือนกันกับรุ่นเดิม ของแคมรี ที่เปิดตัวให้คุณได้ซื้อมาขับกันก่อนหน้านี้แล้ว
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แทบจะทุกสวิชต์ ทุกอุปกรณ์ ใช้งานในตำแหน่งเดิมได้เลย
ตั้งแต่ แผงบังแดด พร้อมไฟแต่งหน้าทั้ง 2 ฝั่ง ไฟในเก๋ง หน้า-กลาง-หลัง
ไปจนถึงระบบไฟฟ้าต่างๆ กล่องคอนโซลเก็บของ ที่วางกล้องลงไปทีไร เย็นเฉียบทุกที
ที่วางแก้วพร้อมฝาปิดลายไม้ ด้านข้างคันเกียร์ ช่องวางของเล็กๆด้านข้างคอนโซลกลาง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ รถคันนี้ ใช้ขุมพลังไฮบริด ดังนั้น อุปกรณ์บางอย่าง ก็จำเป็น
ที่ทางทีมวิศวกรของโตโยต้า ต้องปรับปรุงให้มันแตกต่างกัน ด้วยเหตุผลจำเป็นมากมาย
ข้อแรกก็คือ รูปแบบการติดเครื่องยนต์…ซึ่งก็จะเหมือนกับ Toyota PRIUS รถยนต์ไฮบริดแท้ๆ นั่นละ…
กุญแจ เป็นแบบ รีโมทคอนโทรล พร้อมระบบ ไฟฟ้า Immobilizer ซึ่ง หน้าตาตัวรีโมท เนี่ย เหมือนกัน
ตั้งแต่ Lexus ยัน Yaris เลยทีเดียว ได้โปรดเถอะ ช่วยำไป ดีไซน์มาใหม่ซะทีได้แล้วละครับ ให้มันดู
มีรสนิยมหน่อย ไม่ใช่ดูเหมือน รีโมทกุญแจกันขโมย ABT หรือ รีโมทสวิชต์เปิด-ปิดประตูรั้วบ้าน
อย่างนี้ เรื่องนี้ เขียนถึงไปหลายที แต่ชาวญี่ปุ่น เขาก็ยังไม่ปรับปรุงกันเสียทีเลยแหะ…
เมื่อได้ขึ้นไปนั่งบนหลังพวงมาลัยแล้ว อย่าไปกลัวครับ อย่าไปกลัวว่ารถยนต์ Hybrid จะขับยากขับเย็น
เพราะมันไม่เป็นเช่นนั้น แค่เพียง เหยียบเบรก แล้วกดปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start ซึ่ง ต้องเรียกกันเสียใหม่
เป็นพิเศษ เฉพาะรถยนต์ Hybrid ว่า ปุ่ม POWER (เหมือนสวิชต์เรื่องไฟฟ้า) เหมือนกับรถทั่วไป
ถ้าคุณไม่เหยียบเบรก ไฟสีแสดจะสว่างขึ้น และมันก็จะดำเนินขั้นตอน เหมือนกับโตโยต้าและเล็กซัส
รุ่นอื่นๆ คือ ถ้ายังไม่เหยียบเบรก ระบบก็จะปิดการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด แต่ถ้าเหยียบเบรก
ไฟสีเขียวจะสว่างขึ้น กดปุ่ม POWER ลงไป เท่ากับติดเครื่องรถให้ทำงานแล้ว
ดังนั้น เมื่อกดปุ่มแล้ว หากจะออกรถ ให้คุณสังเกตดูที่ไฟสัญญาณสีเขียว ขึ้นคำว่า READY
ถ้าติดขึ้นมาเมื่อไหร่ แสดงว่า เหยียบเบรก เลื่อนคันเกียร์เข้าตำแหน่ง D ออกรถได้ตามปกติเลย
ซึ่งปกติแล้ว ไฟ READY สีเขียว มักจะติดขึ้นมาทันที
แต่ คุณจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ เลย จนกว่า อีกสักแป๊บนึง เครื่องยนต์จึงจะติดขึ้นมาเอง
(เว้นแต่ว่า ไฟในแบ็ตเตอรีขับเคลื่อน มันน้อยเกินไป จนเครื่องยนต์ต้องติดทำงาน)
และด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากขอเตือนให้คุณระมัดระวังกันอีกสักนิด เพราะประเด็นนี้
คือประเด็นเดียว ที่จะแตกต่างจากรถทั่วไป แม้ไม่มากนัก แต่ก็สำคัญ ครับ
เพราะถ้ามัวแต่ฟังเสียงเครื่องยนต์กันแบบรถยนต์ปกติ
ถ้าแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน ยังมีกำลังไฟเต็ม หรือเพียงพอ
อย่าหวังเลยว่าจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ติดขึ้นมา เพื่อช่วยชาร์จไฟกลับเข้าแบ็ตเตอรี
และด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากจะขอเตือน บรรดาท่านที่มีบุตรหลานว่า อย่าได้ปล่อย
ลูกหลานของคุณไว้ในรถ แคมรี ไฮบริด ขณะที่ รถยนต์ มีสัญญาณไฟเตือนบนหน้าปัดขึ้นว่า
READY ต่อให้เข้าเกียร์ P เอาไว้ ก็ตาม
โอกาสพลาด เป็นไปได้เหมือนกัน ดังนั้น หลีกเลี่ยงการปล่อยเด็กน้อยเดียงสาไว้ในรถตามลำพัง เป็นการดีที่สุดครับ
ชุดมาตรวัด มีแต่ เข็มวัดความเร็วอยู่ฝั่งขวา มีเข็มวัดความร้อนอุณหภูมิหม้อน้ำ และมาตรวัด
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real-Time อยู่ฝั่งซ้าย และเจ้ามาตรวัดฝั่งซ้ายนี่แหละ ที่
ท่านผู้การจอมเกิน Commander CHENG (อ่านว่า คอมมานเดอร์ เช็ง) หรือ
เจ้าแพน ของเรา เรียกมันว่า “SEX METER”
หา?!! ยังไงเนี่ย แพน…ทำไมไปเรียกอย่างนั้น
ไม่กลัว โตโยต้า เค้าจะตัดสัมพันธ์ ขาดสะบั้นดีังฉับ กับเราไปอีกคนหรือยังไง?
(แหนะ ยังอุตส่าห์…เนาะ…หุหุหุ)
แพนย้อนผมกลับมา อย่างอารมณ์ดี โดยไม่สนใจสีหน้างุนงงของผมเลยว่า
“เอ๋า ก็มึมดูดิ มันเหมือนจริงไหมละ จู่ๆ มันนึกจะพุ่งปรี๊ด มันก็พุ่งขึ้นชี้โด่
พอเครื่องยนต์ติดขึ้นมาที เข็มมันก็พุ่งพรวดขึ้นตั้งเด่ เลย
จู่ๆ พอเครื่องยนต์ หยุดทำงาน มันก็ร่วงผล็อย หดเหี่ยวเหมือนขันที ไปเลย!”
เอา แหงเด่ะ ก็ พอเครื่องยนต์หยุดทำงาน มันก็ไม่มีการกินน้ำมันเพิ่มเติม ถ้าไม่มีน้ำมันไหลเข้าระบบ
แล้วมันจะพุ่งชี้โด่เด่ขึ้นมาหาพระแสงของ้าวด้ามยาวปลายแหลม (หอก) ทำไมละฟะ?
การทำงานเป็นอย่างไร โปรดชมได้ ใน Clip Video ที่เราถ่ายทำกันมาขำขำ
ขอย้ำ โปรดอย่า ซีเรียสกับความบันเทิงที่เรา จะมอบให้คุณ ในสไตล์ของเรา
เพราะคนทำ ไม่ได้คิดจริงจัง ดังนั้น โปรดอย่าจริงจังกับสิ่งที่เราทำ
นอกนั้น…ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม เครื่องปรับอากาศแบบ Digital แยกฝั่งซ้าย-ขวา
พร้อมระบบฟอกอากาศ Plasma Cluster ลิขสิทธิ์ โดย SHARP Corporation
แบบเดียวกับที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องปรับอากาศ SHARP แบบแปะฝาบ้านนั่นละครับ
เทคโนโลยีเดียวกันเลย ใช้ก้อนสีน้ำเงินสี่เหี่ยม หน้าตาคล้ายๆ บัลลาด สำหรับ
โคมหลอดนีออน นั่นแหละ ในการสร้างประจุ ION เพื่อช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ
ซึ่ง เราได้พิสูจน์แล้วว่า มันสามารถจัดการกับ กลิ่น ไก่ทอด และข้าวไข่เจียว ที่เราซื้อติดมือขึ้นรถ
มาได้จริง เพียงแต่ ต้องใช้เวลานานพักใหญ่สักหน่อย เท่านั้น อย่าคาดหวังว่าต้องฟอกอากาศ
ได้สะอาดทันใจ ราวกับ บรีส เอ็กเซล…ซึ่ง ไม่ใช่!
ภายในยังมีไฟ สร้างบรรยากาศ Ambient Light ในซอกหลืบต่างๆ อีกมากมาย
ในรุ่นท็อป ที่นำมาทดลองขับกัน และคุณๆเห็นอยู่นี้ ก็ยังคงจะมี ระบบนำทางผ่านดาวเทียม
GPS พร้อมข้อมลจากแผ่นแผนที่ DVD ซึ่งยังคงมีเสียง คุณยายวรนาฏ แห่งทายาทอสูร คอยตามหลอกด่า
พวกผม ตอนขับออกนอกเส้นทางที่ตั้งเอาไว้ ว่า “กรุณาปฏิบัติตามกฎจราจร” เหมือนเดิม เป๊ะ!
สิ่งที่จะแตกต่างจากเดิม มีอยู่เพียงแค่ว่า
1. มีการอัพเดทแผนที่ สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว (ไชโย!!!! กว่าจะมีมาให้ได้ ก็ 2 ปี)
2. แต่จนป่านนี้ ยังไม่มีแผนที่ ถนนกาญจนาภิเษก จากบางนา – ธนบุรี-ปากท่อ มาให้แต่อย่างใด
ทั้งที่เส้นทางสายนั้น ต้องตัดผ่าน สำนักงานใหญ่ และโรงงาน 1 กับ 2 ของ โตโยต้า ที่สำโรง ด้วยซ้ำ
3. ข้อมูลร้านอาหารหลายร้านในแผนที่ ยังคงมีอยู่ ทั้งที่ร้านเหล่านั้นบางร้าน มันเจ๊งบ๊งไปเรียบร้อยแล้ว
ตั้งหลายปีก่อน!!!
4. ถ้าคิดจะอัพเดทแผนที่ ติดต่อได้กับทางโตโยต้า ในราคาแผ่นละ 30,000 บาทนะจ้ะ! คนโตโยต้าด้วยกันเอง
ยังแทบจะก่นด่ากันเองเลยว่า “โอ้ยยย จะคิดราคามาแพงขนาดนี้ กันทำม๊ายยยๆๆๆๆๆๆ
เบ็ดเสร็จแล้ว..ข้าพเจ้าขอแนะนำว่า ซื้อ แคมรี ไฮบริด รุ่นที่มีเครื่องเล่น DVD หรือรุ่นกลาง
1.7 ล้านกว่าบาท ก็น่าจะเพียงพอ แล้วหาระบบนำทาง GPS แบบ Portable เช่นป้าขมิ้น (Garmin)
รุ่น “หนูหวี่” (Nuvi) หรือว่า ยี่ห้อ “เหมียว” (Mio) ตัวละไม่กี่พันบาท หรืออย่างเก่ง ก็หมื่นต้นๆ
มาใช้ทดแทนกันก็ได้ น่าจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ชุดเครื่องเสียงที่ให้มา คุณภาพเสียงดีมาก และ Nissan Teana กรุณา ดูเป็นแบบอย่างไว้นะจ้ะ
ด้านทัศนวิสัยนั้น อย่างที่เคยเขียนถึงไป ว่ายังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก…
ก็เลยถ่ายรูปมาให้ดูกัน ด้านหน้าหนะ ยังไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ เพียงแต่ว่า พื้นที่กระจกบังลมหน้า
ดูบีบไปนิดนึง ถ้าขอบด้านบน สูงขึ้นกว่านี้อีกนิด ก็จะช่วยเพิ่มความโปร่งตาขึ้นมาได้อีกนิด
ขณะเดียวกัน เสาหลังคา A-Pillar นั้น อยุ่ในตำแหน่งที่ บดบังการเลี้ยวโค้งทางขวา
บนถนนที่สวนกัน 2 เลน ได้อย่างชะงัดนัก กระจกมองข้าง มีขนาดกำลังดี แต่การมีเส้นประแบ่ง
เพื่อกั้นให้ฝั่งด้านนอก สามารถมองเห็นทัศนวิสัยได้กว้างกว่าเดิมอีกนิดนั้น พอจะช่วยได้บ้าง
แต่ไม่ถึงกับจริงจังนัก
แต่เสาหลังคาฝั่งซ้ายนั้น อย่างที่เคยบอกไปในรีวิวคราวก่อน คราวนี้ ก็ยังเหมือนเดิม
บดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะจอดรอจะเลี้ยวกลับ U-Turn กันเลยทีเดียว
แหงละ ยังแก้ไขไม่ได้นี่นา ต้องรอรุ่นต่อไป ที่กว่าจะคอลด ก็ต้อง ปี 2011 โน่นเลยทีเดียว
เสาหลังคาด้านหลัง ปิดทึบ ด้วยรูปลักาณ์ เส้นสายจากภายนอก ทำให้ การกะระยะ
ขณะถอยหลัง หรือเปลี่ยนเลน ต้องใช้ความระมัดระวังนิดนึง แต่อย่างน้อย ยังดีกว่า
Accord G7 ที่ตกรุ่นไปแล้ว รุ่นนั้น หนาเกินไป แคมรี บางลงมากว่ากันนิดนึง
แต่ ณ วันนี้ ทัศนวิสัยจากมุมมองเดียวกันนี้ของแคมรี ถือว่า ด้อยกว่าทั้ง Teana และ
Accord G8 รุ่นปัจจุบัน
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ถ้าให้พูดตรงๆ สิ่งที่ทำให้ รถรุ่นนี้ แตกต่างจากแคมรี รุ่นธรรมดา ก็คือระบบขับเคลื่อน HYBRID เท่านั้นเลย
ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดทางเทคนิคของตัวรถกัน ก็คงต้องปูพื้นฐานความเข้าใจของระบบ Hybrid ให้ตรงกันเสียก่อน
ถ้าถามว่า รถยนต์ Hybrid แตกต่างจากรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปทั่วไป
ที่เราท่านคุ้นเคยกันดี ตรงไหน?
ตอบง่ายมากเลยครับ ต่างกันแค่ระบบขับเคลื่อนนั่นแหละ
รถยนต์ทั่วไป มีแค่เครื่องยนต์ กับเกียร์ ก็เพียงพอแล้ว ที่จะพาคุณไปไหนต่อไหนได้
แต่รถยนต์ไฮบริด จะเพิ่ม มอเตอร์ไฟฟ้า และแบ็ตเตอรี รวมทั้งสายไฟ
และคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบ (Power Spilting Device) เพื่อตัดต่อและเชื่อมการทำงาน
ระหว่างเครื่องยนต์ และมอเตอร์ เสริมระโยงระยางเข้ามาอีกนิด
ทำไมต้องเพิ่มมันเข้ามา?
ก็เพราะ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป โดยปกติหนะ เครื่องยนต์ต้องติดทำงานตลอดเวลา
ไม่ว่าจะวิ่ง หรือจะเดินเบาตอนหยุดรถ ถามหน่อย ตอนติดไฟแดง หรือจอดนิ่งๆสนิท
แต่เครื่องยนต์ต้องทำงานในรอบเดินเบาไปด้วยหนะ มันสิ้นเปลืองน้ำมัน ไหมละ?
ดังนั้นการมีมอเตอร์ไฟฟ้า เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ในช่วงความเร็วต่ำ เช่น ตอนคลานไปตาม
สภาพการจราจรที่ติดขัดในเมือง คลานเข้าซอย เข้าที่จอดรถ หรือแม้แต่ช่วยขับเคลื่อน
ในช่วงความเร็วต่ำ ไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามหลักการแล้ว จะช่วยลดการใช้น้ำมัน
ลงไปได้เยอะพอสมควร นั่นเอง
และเมื่อมี มอเตอร์ไฟฟ้า ก็ควรจะต้องมี แบ็ตเตอรี เข้ามาเป็นแหล่งจ่ายกำลังไฟ ให้มอเตอร์ด้วย
เพราะ แบ็ตเตอรี ขนาดธรรมดาหนะ ไม่พอหรอกที่จะใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ไฮบริดทั้งคัน
แต่ การมีระบบเครื่องยนต์ พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า นั้น เราจะจัดการกับระบบอย่างไร
จึงจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแท้จริง?
โลกนี้ ก็เลยมีคนคิดวางรูปแบบการทำงานของ เครื่องยนต์ + มอเตอร์ไฟฟ้า แบบไฮบริด
กัน 2 รูปแบบ หลักๆ คือ Series HYBRID และ Pararell HYBRID
อธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆเลยดีกว่า แบบไม่ต้องซับซ้อน
Serial HYBRID = เครื่องยนต์ ปั่นไฟ ส่งให้ มอเตอร์ไฟฟ้า หมุนล้อขับเคลื่อนรถ
Pararell HYBRID = เครื่องยนต์ กับ มอเตอร์ จะช่วยกันหมุนล้อขับเคลื่อนรถ
แต่ มอเตอร์ จะทำหน้าที่แค่เป็นลูกกระจ๊อก ช่วยเสริมแรงขับเคลื่อน ตอนเร่งแซงบ้างนิดๆหน่อยๆเท่านั้น
(ตัวอย่างของระบบนี้ คือระบบ Honda IMA ใน Civic HYBRID, INSIGHT และ Jazz HYBRID ในอนาคต)
แต่ โตโยต้า มองข้ามช็อตไปเลยว่า แล้วถ้าเราจะดึงข้อดีของทั้ง 2 ระบบ มาทำงานร่วมกันซะเลยละ?
พวกเขาก็เลย ใช้วิธี เอา 2 ระบบนี้ มาผสมผสาน เข้าด้วยกัน เรียกกันว่า Serial/Pararell HYBRID
เครื่องยนต์ หรือ มอเตอร์ไฟฟ้า ต่างจะขับเคลื่อนรถได้ ทั้งเพียงลำพัง หรือจะช่วยกัน หมุนล้อขับเคลื่อน ก็ได้
– ในยามความเร็วต่ำระดับคลานๆ หรือใช้ความเร็วไม่มากนัก มอเตอร์ ก็จะหมุนปั่นล้อขับเคลื่อน ด้วยไฟจากแบ็ตเตอรี
– แต่ถ้าจะเพิ่มความเร็ว เหยียบคันเร่ง เพื่อเร่งรถให้เร็วขึ้น จะแค่ไหนก็ตาม เครื่องยนต์จะเข้ามาช่วยมอเตอร์ทำงานอีกแรง
– เมื่อถึงระดับความเร็วที่ต้องการ เครื่องยนต์จะทำงานอย่างเดียว หรือมอเตอร์ จะทำงานร่วมด้วย หรือไม่
ขึ้นอยู่กับสภาพการขับขี่ และเท้าขวาของคนขับ จะพาให้รถไปอย่างไรตามใจชอบ
– เบรกเมื่อไหร่ เครื่องยนต์ หยุดทำงานดื้อๆ มอเตอร์ ก็จะทำหน้าที่ ปั่นไฟกลับไปเก็บในแบ็ตเตอรี
– รถหยุดเมื่อไหร่ เครื่องยนต์ มอเตอร์ จะหยุดทำงานหมด เหยียบคันเร่งออกตัวเมื่อไหร่ ก็ค่อยเริ่มทำงานอีกครั้ง
ถ้าเหยียบเบาๆ มอเตอร์จะทำงานอย่างเดียว แต่ถ้าเหยียบครึ่งคันเร่ง หรือเต็มตีน เครื่องยนต์จะเข้ามาช่วยมอเตอร์อีกแรง
นั่นละครับ หลักการง่ายๆ คร่าวๆ ของ THS-II Hybrid Synergies Drive
โดยในแคมรี ไฮบริด ใช้เครื่องยนต์เบนซิน รหัส 2AZ-FXE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,362 ซีซี
ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 88.5 x 96.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 12.5 : 1
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT-i ที่ถูกปรับปรุงมาจาก เครื่องยนต์ 2AZ-FE
ซึ่งวางอยู่ใน แคมรี เบนซิน รุ่นมาตรฐาน ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีมาแล้ว
ซึ่งมีรายละเอียดหลายสิ่งที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการปรับแต่งให้ เครื่องยนต์ลูกนี้
มีการจุดระเบิดแบบ Atkinson Cycle ซึ่งบางท่านจะทราบดีว่า มีการเปิด-ปิด วาล์วไอดี
ให้มันเหลื่อมล้ำกันนิดหน่อย ในแต่ละช่วงเวลา
เครื่องยนต์ Atkinson นั้น อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ ปกติ ในระบบการเผาไหม้
ของเครื่องยนต์สันดาป 4 จังหวะ แบบ Otto ดั้งเดิมที่เรารู้จักกันดีนั้น
จะทำงานตามขั้นตอน 4 จังหวะ ต่อเนื่องกัน
ทั้งการ “ดูด” (ไอดีเข้าห้องเผาไหม้) “อัด” (ปิดวาล์วไอดี ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นไปถึงด้านบนสุด
เพื่ออัดส่วนผสมอากาศและไอดี) “ระเบิด” (หัวเทียนจะปล่อยประกายไฟออกมา จุดระเบิด
แรงระเบิดจะผลักลูกสูบให้เคลื่อนตัวลงต่ำไปจนสุด) และ “คาย” (วาล์วไอเสียเปิด ลูกสูบ
ดันไอเสียที่เผาไหม้แล้ว คายออกไปทางท่อร่วมไอเสีย)
ในช่วงจังหวะ “ดูด” ที่ลูกสูบเคลื่อนลงมาจนสุด หรีอที่เรียกว่าถึงจุดศูนย์ตายล่าง (Bottom Death Center)
ปกติ วาล์วไอดี จะต้องค่อยๆ ปิด ในช่วงที่ลูกสูบกำลังเคลื่อนตัวขึ้น
แต่เครื่องยนต์แบบ Atkinson จะยึดเวลาปิดวาล์วไอดีออกไปอีกนิดหน่อย ดังนั้น เมื่อ ลูกสูบเลื่อนดันขึ้น
วาล์วไอดีก็ยังเปิดค้างอยู่ ไอดีบางส่วน (ไม่ใช่ทั้งหมด) ก็จะไหลออกกลับไปทางท่อร่วมไอดีอีกครั้ง
ทำให้ไอดีไปค้างอยู่ในท่อร่วมไอดี เพื่อรอรอบจุดระเบิดครั้งต่อไป รอให้วาล์วไอดีเปิดอีกครั้ง
จึงจะไหลกลับเข้าไปยังห้องเผาไหม้อีกรอบ
พละกำลังจากเครื่องยนต์ อยู่ที่ 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 187 นิวตันเมตร หรือ 19.05 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบ/นาที
เครื่องยนต์จะถูกเชื่อมเข้ากับ ระบบถ่ายทอดกำลังสู่ล้อ อันประกอบไปด้วย
มอเตอร์ไฟฟ้า Syncronous (Motor/Generator ต่อจากนี้จะขอเรียกว่า MG) ซึ่งเป็นแบบไร้แปรงถ่าน
ไม่มีชิ้นส่วนใดต้องสัมผัสกัน และมี 2 ตัว อยู่ในชุดระบบส่งกำลัง ต่างทำหน้าที่ของตนไป
แยกจากกัน แต่ยังช่วยเหลือกันบ้าง ซึ่งมีติดตั้งมาให้ 2 ตัว
คือ MG 1 อยู่ฝั่งซ้ายของ ภาพข้างบนนี้ มีขนาดเล็กกว่า ทำหน้าที่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
สร้างกระแสไฟฟ้า ส่งให้มอเตอร์ขับเคลื่อน และส่งไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอร๊ระบบขับเคลื่อน (ลูกใหญ่)
อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็น มอเตอร์ ติดเครื่องยนต์ ในยามที่ระบบสั่งการว่าจำเป็นต้องให้เครื่องยนต์เข้ามาช่วยแล้ว
ทั้งตอนขับขี่ หรือเพื่อปั่นไฟตอนจอดอยู่กับที่
ส่วนอีกตัวหนึ่ง คือ MG2 อยู่ฝั่งขวาของรูปด้านบน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถ ไว้ชาร์จไฟเข้าไปเก็บในแบ็ตเตอรี
สร้างกระแสไฟขณะชะลอความเร็ว และช่วยทั้งการชะลอความเร็วของรถ กับการถอยรถในบางเวลา
มอเตอร์จะหมุนด้วยรอบคงที่ตลอด เครื่องยนต์จะต้องขับเคลื่อนผ่าน ชุด Planetary
ที่เรียกว่า Power Spilt Device (คั่นอยู่ตรงกลางระหว่าง มอเตอร์ทั้ง MG1 และ MG2)
ซึ่งอัตราทดมันต้องแปรผันอยู่แล้ว
มอเตอร์ทั้ง 2 ตัว จะทำหน้าที่ร่วมกัน ในฐานะ ระบบส่งกำลังของรถไปด้วย
ถ้าว่ากันเผินๆ หลักการคล้ายคลึงกับเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT…
Continuos Variable Transmission ? แบบเดียวกับ ทั้ง นิสสัน เทียนา ฮอนด้า แจ้ส
และซิตี้รุ่นที่แล้ว รวมทั้ง มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เซเดีย คือ อัตราทดแปรผัน ไม่แน่นอนตายตัว
แต่เอาเข้าจริง ในรูปลักษณ์กลไก มันไม่เหมือนกันเลย เพราะระบบส่งกำลังของแคมรี ไฮบริด
ไม่มีพูเลย์ขับ พูเลย์ตามเชื่อมคล้องด้วยสายพาน Serpentine แต่อย่างใด
ดังนั้น แม้โตโยต้า จะเลี่ยงการใช้คำว่า CVT เวลาโฆษณา
แต่ ถ้ามองตามหลักการทำงานแล้ว ระบบส่งกำลังของ แคมรี ไฮบริด
ควรจะถูกเรียกว่า เกียร์ CVT อยู่ดี
โตโยต้าเลยใช้คำว่า ECVTแทน…E ที่เติมเข้ามาข้างหน้า ก็คือ Electronics นั่นเอง
พละกำลังจาก มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมด รวมแล้ว 105 กิโลวัตต์ หรือ 142 แรงม้า (PS)
แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร หรือ 27.51 กก.-ม. ตั้งแต่ 0-1,500 รอบ/นาที
เมื่อรวมทั้ง 2 ระบบแล้ว แคมรี ไฮบริด จะให้กำลังสูงถึง 140 กิโลวัตต์
หรือ 190.4 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที ถือว่าสูงที่สุดในกลุ่ม
รถยนต์ซีดาน D-Segment พิกัดไม่เกิน 2,500 ซีซี ของเมืองไทย
การส่งกำลังนั้น ใช้คันเกียร์อัตโนมัติ ที่มีหน้าตาเหมือนรถยนต์ทั่วๆไป
แต่ในแคมรี ไฮบริด ตำแหน่งคันเกียร์ จะเป็นเช่นนี้
P-R-N-D-B…..ตำแหน่งอื่นๆ คุณก็คงจะคุ้นเคยกันอยู่แล้วว่า
P เอาไว้จอดรถอยู่กับที่ R คือเกียร์ถอยหลัง N คือเกียร์ว่าง
และ D คือเกียร์ขับเคลื่อนรถไปข้างหน้า
แต่ B เนี่ยละ?? มีไว้เพื่ออะไร?
เอาง่ายๆคือ มันเอาไว้ทำหน้าที่หน่วงความเร็ว คล้ายๆ Engine Brake นั้นเอง
เอาไว้ช่วยขับขี่ตอนขึ้น ลง เขา (เขาที่แปลว่า ภูเขา ไม่ใช่แปลว่า เขา ผู้ชาย)
ถอนคันเร่งเมื่อไหร่ รถก็จะโดนหน่วงมากขึ้น และยิ่งช่วยให้ MG2
ปั่นชาร์จไฟกลับไปเก็บยังแบ็ตเตอรี ได้ดียิ่งขึ้น
แม้จะทำหน้าที่คล้ายเกียร์ 1-2 แต่มันไม่ได้ช่วยให้คุณเร่งแซงได้ดีขึ้น
ดุจเกียร์อัตโนมัติแบบอื่นๆแต่อย่างใด ตรงนี้ ขอย้ำ!
ส่วนการถอยหลังนั้น เมื่อคุณเข้าเกียร์ R
ไม่ได้หมายความว่า จะมีเกียร์ เพื่อช่วยให้คุณถอยหลัง
หากแต่ ระบบควบคุมของรถ จะสั่งการไปยัง MG2 ให้หมุนย้อนกลับทาง
เพื่อช่วยให้รถถอยหลังได้ โดยเครื่องยนต์จะไม่ติดขึ้นมาช่วยแต่อย่างใด
ใช้โหมด EV หรือไฟฟ้า เพื่อนำรถถอยหลัง
ฟังดูเหมือนจะสับสน แต่รับประกันว่า ไม่อลหม่าน แถมง่ายกว่าที่คิด
ถ้าเข้าใจแล้ว จะเห็นภาพตามชัดเจนมาก
อัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 3.542 : 1 ครับ
มอเตอร์ทั้ง 2 ตัว จะรับ-ส่งกระแสไฟจาก แบ็ตเตอรี เป็นแบบ
นิกเกิล เมทัล ไฮไดร (Ni-Mh) เป็นผลงานของ Panasonic มีทั้งหมด 2 ลูก
ลูกแรก มีขนาดใหญ่โต เพราะต้องทำหน้าที่เป็น แบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อนรถ
มีทั้งหมด 34 Module 204 เซลส์ ขนาดแรงดันไฟฟ้า 244.8 Volt DC
กำลังไฟฟ้า 6.5 Amp-Hour (3 ชั่วโมง)
แบ็ตเตอรีของระบบขับเคลื่อน ได้รับการปรับปรุงให้ ลดการต้านทานภายใน โดยการใช้โครงสร้างใหม่
ทั้งหมดระหว่างเซลส์แบ็ตเตอรี ทำให้สารอิเล็กโทรด ดีขึ้น ส่งผลให้ ความหนาแน่นในการรับ/ส่งกำลังไฟ
ของแบ็ตเตอรีใหม่ ดีขึ้นกว่าเดิม
ส่วน การระบายความร้อนของแบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อน นั้น โตโยต้าใช้วิธี
ทำปล่องรับอากาศเย็น จากในห้องโดยสาร บริเวณแผงกั้นด้านบน
แล้วต่อท่อลงไปยังด้านใต้อย่างที่เห็น…
ปล่องที่ว่า พาให้อากาศเย็น จากระบบปรับอากาศในรถยนต์ ไหลลงไปเจอกับพัดลม
ซึ่งติดตั้งอยู่เหนือชุดแบ็ตเตอรี พัดลมจะช่วยกระจายความเย็น ไปยังชุดแบ็ตเตอรี
เพื่อลดความร้อนของตัวแบ็ตฯ เอง ลงมา และในกรณีที่แบ็ตฯ ร้อนจัดมากๆ
ระบบจะสั่ง ตัดการจ่ายไฟกลับเข้าไปยังระบบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนลูกที่ 2 มีขนาด 12 VDC กำลังไฟฟ้า 52 Amp-Hour ติดตั้งอยู่ที่ ผนังห้องเก็บของด้านหลัง ฝั่งขวามือ
เอาไว้จ่ายไฟสำหรับอุปกรณ์ในรถ ทั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียง สวิชต์ กระจกหน้าต่างไฟฟ้าต่างๆ
แบ็ตเตอรี ลูกเสริม นี้ จะมีโครงสร้างภายใน ต่างจากแบ็ตเตอรีทั่วไป ตรงที่จะมีวาล์วระบายก๊าซไฮโดรเจน
ควบคุมการระบายก๊าซไฮโดรเจน ให้ออกสู่ภายนอกตัวถังรถยนต์ (เพราะต้องติดตั้งอนู่ด้านหลังห้องเก็บของ
อย่างที่เห็น โดยจะมี เซ็นเซอร์ คอยตรวจเช็คอุณหภูมิภายในแบ็ตเตอรี เพื่อควบคุมปริมาณการชาร์จไฟเข้า
ให้เหมาะสม ถ้ามันเริ่มร้อนเมื่อไหร่ ก็จะสั่งให้ระบบชาร์จไฟเข้าน้อยลง อายุการใช้งานจะยาวนานกว่า
แบ็ตเตอรีทั่วไป
ดังนั้น ไม่สามารถ เอาแบ็ตเตอรีทั่วๆไป ระดับ ไก่กา มาใช้แทนได้เลย!
(ถ้าในกรณีที่จำเป็นต้อง พ่วงแบ็ตเตอรี เพื่อติดเครื่องรถ หลังจากไม่ได้ใช้มานานมากๆๆๆๆๆ
ซึ่งน้อยครั้งที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องพ่วงแบ็ตเตอรีของรถคันอื่น เข้ากับแบ็ตเตอรีลูกเล็กลูกนี้นั่นละครับ)
อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเหมือนว่า มีการแยกแบ็ตเตอรีกันอย่างชัดเจน ระหว่างแบ็ตเตอรี ขับเคลื่อนรถ
และ สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถ แต่ เมื่อใช้งานจริง หากพบว่าไฟในแบ็ตเตอรี ลดต่ำลงไปมาก
ขณะเปิดแอร์ และเครื่องเสียง หรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถ เครื่องยนต์ ก็จะติดขึ้นมา เพื่อปั่นไฟ
ชาร์จเข้าไปเก็บในแบ็ตเตอรี ให้เหมาะสมเพียงพอ เมื่อได้ระดับไฟเท่าที่ระบบต้องการแล้ว
เครื่องยนต์ก็จะดับลงไปเอง ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง และโดยอัตโนมัติ แม้ว่า เราจะใช้แอร์
เปิดวิทยุ อยู่ก็ตาม ทุกอย่างจะทำงานต่อเนื่อง โดยไม่ขัดขวางความสุขของเรา ขณะนั่งอยู่ในรถเลย
และเพื่อให้มั่นใจกันไปข้างหนึ่งเลย จะได้เลิกห่วงเลิกกังวลันซะที โตโยต้า เขาก็เลยออกมาตรการ
รับประกันคุณภาพของแบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อน ลูกหลักมาให้เลยว่า จากเดิมที่ผู้ผลิต คือ Panasonic
จะรับประกันให้แค่ 3 ปี แต่ โตโยต้า จะขยายการรับประกันออกไปให้เป็น 5 ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง!!
ส่วน แบ็ตเตอรีลูกที่ 2 สีดำๆนี้ จะรับประกันไปเลย 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร แล้วแต่กรณีใดจะมาถึงก่อน
ส่วนการกำจัดแบ็ตเตอรี เมื่อถึงเวลาสิ้นอายุขัยของมัน ในช่วง 3 ปีแรกนี้ โตโยต้า จะรับผิดชอบด้วยตัวเองทั้งหมด
โดยจะส่งแบ็ตเตอรี ที่พังแล้ว กลับไปเข้ากระบวนการ Recycle ที่ประเทศญี่ปุ่น!! (ค่าใช้จ่าย ครั้งละประมาณ
200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 ลูก) แต่หลังจากปีที่ 4 เป็นต้นไป ก็จะเริ่มมองหา บริษัทในประเทศไทย ที่สามารถ
รับกำจัดและ Recycle แบ็ตเตอรี เหล่านี้ได้
และในกรณีที่ แบ็ตเตอรี เกิดเจ๊งบ๊ง ขึ้นมาในช่วง 2 ปีแรก โตโยต้า เปลี่ยนให้ไปเลยฟรีๆ!
ใช่ครับ ลูกละ 90,000 บาท ไม่รวมตัว Inverter (และดูเหมือนว่าจะยังไม่รวม VAT 7% ด้วยกระมัง) นั่นแหละ!
แต่ ถ้าในปีที่ 3 ขึ้นไป แบ็ตเตอรี เกิดพังขึ้นมา โตโยต้า จะช่วยเหลือ โดยให้ส่วนลดลูกค้า ออกค่าแบ็ตเตอรี
เพียงครึ่งเดียว!! ก็คือ ประมาณ 45,000 บาท โดยคร่าวๆ
—————————————————
มาถึงตรงนี้ ใครก็ตาม ที่สงสัยว่า แบ็ตเตอรี ไฮบริด อายุการใช้งานนานแค่ไหน มันจะทนหรือเปล่า
แล้วราคา ตั้ง 9 หมื่นกว่าบาท (ซึ่งก็ถูกลงมากว่า แบ็ตเตอรี ของ Prius ตัวแรก กับ Alphard Hybrid เยอะแล้ว)
เปลี่ยนที ก็กินแกลบกันพอดี
ต่อไปนี้ จะขอ เล่า ในสิ่งที่ผม ได้ เห็น และจับต้อง มากับตา กับมือ ของตัวเอง กัน นะครับ
เมื่อ 3 เดือนก่อน มีเหตุ ให้ต้องเข้าไปทำธุระที่ Toyota Motor Thailand สำนักงานใหญ่ สำโรง นั่นละครับ
มีนัดกับ ผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่ง นั่นก็คือ อ.มนัส ดาวมณี ท่านเป็น รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ของ โตโยต้า
ปรากฎว่า โดยไม่ได้คาดคิด จู่ๆ อ.มนัส ก็ ใจดี พาไปดู ของจริง กันถึงที่เลยทีเดียว
แม้ตรงนั้น จะมีป้ายห้ามถ่ายรูป ข้าพเจ้า ก็มิได้นำพา เพราะว่า ไม่ทันได้เห็น
ยังคงสนุกกับการถ่ายรูปต่อไปอย่างกระจุยกระจาย ท่ามกลางสายตาอันหวาดหวั่นของผู้คนรอบข้าง
ขอย้ำว่า ถ่ายกันชนิด กระจุยกระจายจริงๆ มาเห็นป้ายอีกที ก็ตอนจะเดินกลับออกมานั่นละ! เอาแล้วไง….
เอ้อ…ทำไงดี
ดังนั้น ถ้าใครในโตโยต้า อ่านมาถึงตรงนี้ โปรด โทษ ด่าทอ ที่ผมคนเดียวนะครับ
ที่ดันทะลึ่งทำผิดกฎบริษัทของคุณเข้า 3 ภาพข้างบนนี้ ก็ถ่าย แถวๆนั้น นั่นแหละ…
แต่ การทำผิดกฎครั้งนี้ ก็ทำให้ผมได้เห็นอะไรดีๆ ที่หลายคนน่าจะได้รับรู้ และเชื่อว่า จะยิ่งทำให้ คลายความกังวลใจ
เรื่องความทนทานของแบ็ตเตอรี ลูกละ 9 หมื่นกว่าบาท (ไม่รวม Inverter) ของแคมรี ไฮบริด กันเสียที!!
ท้าวความกันสักหน่อย
สิ่งที่คุณเห็นอยู่นี้ คือ สภาพของ แบ็ตเตอรี จาก รถ แคมรี ไฮบริด เวอร์ชัน อเมริกาเหนือ จากทาง โตโยต้า ในลาว
ตัวรถหนะ เป็นเวอร์ชันอเมริกา คือรุ่นหน้าเรียว ผู้จำหน่ายที่เวียงจันทร์ สั่งจากสหรัฐอเมริกา ผ่านมาทางสิงค์โปร์
เข้าไปขายในประเทศลาว ก่อนหน้าเมืองไทย ได้พักใหญ่
แบ็ตเตอรี ลูกนี้ ผลิตโดย Matsushita Electric หรือ ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ Panasonic นั่นเอง!
แม้น้ำหนักจะเบาลงกว่า แบ็ตเตอรีของรถไฮบริดรุ่นก่อนๆ แต่ก็ต้องใช้แรงคน ถึง 2 คน ช่วยกันสับสวิชต์ Safety
ปลดล็อก ขันน็อต แล้วยกดึงมันออกมากองอยู่กับพื้นอย่างที่เห็น
แล้ว… แบ็ตเตอรี ลูกนี้ มันมาอยู่ที่เมืองไทยได้ยังไง?
แล้วทำไม สารรูปมันถึงดูเน่าได้ขนาดนี้กันละ?
เรื่องของเรื่องก็คือ รถ Camry HYBRID คันเกิดเหตุ หนะ ถูกจอดเอาไว้ ที่ด่านตรวจสอบรถเข้าประเทศแห่งหนึ่ง
แล้วปรากฎว่า ในช่วงเดียวกันนี้ (สิงหาคม โดยประมาณ) ของปีที่แล้ว ระดับน้ำริมฝั่งโขง เพิ่มสูงขึ้น จนล้นทะลัก
ขึ้นมาท่วมพื้นที่ริมชายโขง เยอะแยะอยู่มาก
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Camry HYBRID คันที่ แบ็ตเตอรี ลูกที่เห็นนี้ สิงสถิตย์อยู่…นำท่วมเข้าไป ครึ่งคันรถครับ!!!!!
ท่วมเยอะขนาดไหน เอาเป็นว่า กระแสน้ำหนะ ท่วมขึ้นมาถึงเบาะหลัง หนะ คุณว่า มันท่วมหนักไหมละ?
ท่วมเกือบจะถึงชุดแบ็ตเตอรี ของรถ ที่ติดตั้ง กันด้านหลังของเบาะหลังกันเลยทีเดียว!!
ท่วมนานเท่าไหร่ ไม่ปรากฎ รู้แต่ว่า ตั้งแต่กระแสน้ำมันลดลงมา ก็ไม่มีใคร ไปเปิดรถ เพือทำความสะอาด
และนำรถออกมาใช้งานเลย เป็นเวลา ปาเข้าไป เกือบ 1 ปีเต็มๆ!! อย่างมากก็แค่ยกรถขึ้น Slide-On เข้าเวียงจันทร์
และ แค่นั้นเลย..!
จนเมื่อเดือน กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยประมาณ ก็มีอ้ายบ่าวลาว ฝั่งโน้น เขาตัดสินใจ ปลดล็อก เปิดประตูรถกัน
เพื่อจะทำความสะอาด และนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง ข้างในรถนี่ ทั้งรา ตะไคร่ ฯลฯ อีกมากมาย เสวยสุขกัน
สนุกสนาน ออกลูกหลานแพร่พันธ์บานตะเกียง เต็มคันรถเลยทีเดียว
ปรากฎว่า ทางฝั่งลาว รายงานมาว่า รถมันไม่ยอมทำงาน ไม่ยอมวิ่ง คาดว่ามันคงเสียแล้วละ ก็เลยจะส่งมา
ที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ในฐานะที่บ้านเรา มีเครื่องไม้เครื่องมือ เยอะกว่า และ เป็นตัวกลางประสานงาน
ได้ดีกว่า
ที่ บ้าดีเดือด จนพอได้ฟังแล้ว ผมถึงกับ ร้องจ๊ากไปเลย ก็คือ
ก่อนจะส่งแบ็ตเตอรี และอุปกรณ์ทั้งหมดมาเมืองไทย
ก่อนที่คนของ ทางฝั่งไทยเราจะเข้าไปชันสูตรสภาพศพ(รถ)
อ้ายน้องลาว ถอดเบาะ ถอดพรม ของรถออกมาทำความสะอาดซะเกลี้ยง
แถมยัง พิเรนทร์สุดขั้วโลก ดันเอาสายยางล้างรถ ฉีดน้ำจากฝากระโปรงท้าย
ฉีดตรงๆ ใส่แบ็ตเตอรีลูกนี้ เข้าไปเต็มๆ คิดเพียงแค่จะล้างคราบสกปรกออก โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นแหละ!!!
“….!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!! แว๊กกก จะบ้าเรอะ? !!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!….”
ก็บ้า หนะสิครับ บ้าดีเดือดซะด้วย เดี๋ยวมันช็อตขึ้นมาละยุ่งตายห่าน….
ครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งละ ที่คิดอย่างนี้ ในครั้งแรกที่รับรู้
แต่พอเจอของจริงเข้าไป ก็อึ้งไปเลย
เพราะเมื่อ แบ็ตเตอรีลูกนี้มาถึงเมืองไทย
ทางฝ่ายเทคนิคของ โตโยต้า ก็ใจตุ้มๆต้อมๆ
เอาวะ ลองเสียบไฟชาร์จดู ว่ามันจะยังใช้การได้ไหม?
คือคิดหวังแค่เพียงว่าจะใช้การได้ก็บุญโขแล้วละครับ
แต่ ทุกคน ก็ตะลึงไปเลย เพราะว่า ในแบ็ตเตอรีลูกนี้
ยังมีกระแสไฟเหลืออยู่ 60% ตามตำราที่ โตโยต้าญี่ปุ่น เขียนส่งมาให้ศึกษากันเป๊ะ ทุกประการ!!!!!!!!!
สิ่งที่เสีย และต้องเปลี่ยนทิ้ง มีเพียงแค่ กล่องเซ็นเซอร์ ควบคุมการจ่ายกำลังไฟ เท่านั้นเลย แหงละ
แผงวงจรไฟฟ้า โดนน้ำ โดนความชื้นสารพัด นานขนาดนั้น ไม่พังก็เจ๋งขั้นเทพแล้วครับ
แถม พอเอาอุปกรณ์ต่อพ่วง ที่ยังใหม่ เสียบเข้าไป
ไฟที่ยังเหลืออยู่ ยังพาให้ รถแคมรี ไอบริด คันทดลองประกอบ
ที่ทางทีมงานคนไทย ยกแบ็ตเตอรีลูกนี้ ไปติดตั้งไว้แทนนั้น
แล่นได้ฉิว ตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น!!!!!!!!
บ้าไปแล้ววววว คุณผู้อ่านนนนน!!!!!!!!
เป็นยังไงครับ….ชัดเจนแล้วใช่ไหม?
ว่า เจ้าแบ็ตเตอรี ลูกนี้ มัน ทน มันอึด ได้บ้าดีเดือด ขนาดไหน!
ดังนั้น คนที่ขับ จนกระทั่งทำให้แบ็ตเตอรี รถไฮบริด พังได้ อาจต้องลองพิจารณาตัวเองดูได้แล้วนะครับ
ว่า ตกลงแล้วที่แบ็ตมันพัง เสื่อม หนะ รถแย่ หรือคนขับกันแน่ ที่ต้องกลับไปสอบใบขับขี่กันใหม่
ส่วนใครที่อยากจะเห็นว่าข้างในแบ็ตเตอรีลูกนี้ เป็นอย่างไรนั้น
ต้องขออภัย ที่มิอาจจะ นำมาโพสต์ให้ชมกันตรงนี้ได้ เพราะแต่ละภาพที่ถ่ายมา มันชัดเจนเหลือเกิน
คือชัดเจนทั้งภาพ และชัดเจนอย่างมากว่า ถ้าปล่อยหลุดข้างนอกออกไป คนที่เสียหายหนะ
ไม่ใช่ผม แต่จะเป็น Toyota กับ Panasonic เองนั่นแหละ
เราคำนึงถึงเรื่องนี้ ก็เลยปรึกษากับทางโตโยต้าดู และเราก็เห็นตรงกันว่า
เก็บไว้ดูกันเอง ตรงนี้ จะดีกว่า ครับ
ดังนั้น ขออภัยมา ณ โอกาสนี้ ที่ผมสามารถนำมาโพสต์ให้ดูกันได้เฉพาะ
สารรูปภายนอกของแบ็ตเตอรี เจ้ากรรม ลูกนี้ เพียงอย่างเดียวเลย นี่แหละ
——————————————
เรามาดูตัวเลขอัตราเร่งกันดีกว่า
คราวนี้ สักขีพยานของเรา เป็น น้องถัง เพื่อนสนิทของผม
และเป็นผู้ที่นำ แคมรี ไฮบริด คันสีดำ มาให้เราได้ทดลองขับกันนั่นเอง
เจ้าตัวเลยยินดีจะร่วมทดลองรถ ไปกับผม เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต
และต่อไปนี้ คือตัวเลขที่ แคมรี ไฮบริด ทำได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด
รวมทั้ง เพื่อนพ้องร่วมตระกูล แคมรี ด้วยกันเอง…ดังนี้ครับ
เป็นไงครับ ตัวเลขที่ออกมา น่าตกใจดีไหมครับ?
ต่อไปนี้ ใครที่เชื่อว่า รถยนต์ไฮบริด เป็นรถเพื่อสิ่งแวดล้อม ขับไม่สนุกหรอก สงสัยจะอืดน่าดู
ช่วยรีบเอาความคิดเหล่านั้น ขยำๆๆ แล้วเขวี้ยงอัดลงถังขยะหน้าบ้านตัวเอง ไปอย่างด่วน!
การมีมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูง เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ร่วมกับเครื่องยนต์ ในยามที่ผู้ขับขี่
ต้องการพละกำลังอย่างฉับพลัน นี่ละ คือ 1 ในเคล็ดลับสำคัญ ที่ทำให้อัตราเร่งของ แคมรี ไฮบริด
ออกมาประเสริฐอย่างที่เห็น ดีกว่าคู่แข่งในพิกัดต่ำกว่า 2,500 ซีซี ลงมา “ทุกคัน” ไม่เว้นแม้แต่
Teana 2.5 ลิตร ซึ่ง ขนาดทำได้ต่ำในระดับ 9.75 วินาทีแล้ว ก็ยังโดน แคมรี ไฮบริด เฉือนแซงนิ่มๆ
ไปอีกประมาณ 0.7 วินาที!!
เพราะ หากพึ่งพากำลังจากเครื่องยนต์ 2AZ-FXE ซึ่งเป็นการนำ เครื่องยนต์ 2AZ-FE ที่คนไทย
คุ้นเคยกันดีใน แคมรี รุ่นปกติ มาปรับปรุงการทำงาน ให้มีลักษณะการจุดระเบิดแบบ Atkinson
โดยลองคิดดูว่า ไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้า มาช่วยเลยนั้น อย่าหวังเลยว่า แคมรี ไฮบริด จะแรงได้มากขนาดนี้
และให้อัตราเร่งที่พุ่งกระฉูดเกินใครในบรรดารถยนต์ ซีดานระดับ D-Segment เช่นกันได้เช่นนี้
อีกเคล็ดลับที่เหลือ ก็คือ การนำระบบส่งกำลังในรูปแบบ CVT มาใช้ ทำให้ พละกำลังที่ทั้ง
เครื่องยนต์ และมอเตอร์ ช่วยกันผลิตออกมา ถูกส่งลงไปที่ล้อคู่หน้า (แน่ละ ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า นี่หว่า)
เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ไม่ต้องไล่รอบขึ้นมา เหมือนอย่างรถยนต์ เกียร์อัตโนมัติทั่วไป
(นี่ละ คือสาเหตุที่ทำให้ รถยนต์รุ่นใหม่ๆ หลังจากนี้ จะเริ่มหันมาใช้เกียร์ CVT กันมากขึ้น)
จากสัมผัสในการใช้งานจริง อัตราเร่งของ แคมรี ไฮบริด นั้น สร้างความตื่นเต้นในการขับขี่ได้ทุกครั้ง
ที่คุณคิดจะเร่งแซง แค่เพียงเหยียบคันเร่งลงไป รถก็จะพาคุณพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว จากความเร็ว
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เผลอแป๊บเดียว เข็มความเร็ว ก็ไจ่ขึ้นไปป้วนเปี้ยนแถวๆ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อย่างรวดเร็ว จนต้องรีบถอนเท้าออกมาจากคันเร่งกันเลยทีเดียว แรงทันเท้า เกินห้ามใจ ตอบสนองฉับไว
แทบไม่แพ้ รุ่น V6 3.5 ลิตร กันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การขับสนุกของ แคมรี ไฮบริด นั้น เกิดขึ้น เพราะพละกำลังจากระบบขับเคลื่อน ล้วนๆ
มิได้เกิดขึ้นจาก ระบบกันสะเทือน และการบังคับควบคุมรถแต่อย่างใด
ระบบกันสะเทือนพื้นฐานของแคมรี ไฮบริดนั้น ไม่ต่างจาก แคมรีรุ่นธรรมดาทั่วไป
ด้านหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต หลังเป็นแบบ Dual-Link สตรัต
แน่นอนว่า เมื่อมีการนำแบ็ตเตอรี มาวางไว้ที่ด้านหลังของรถ อีกทั้ง เครื่องยนต์ยังถูกเชื่อมกับ
มอเตอร์ไฟฟ้า ถึง 2 ตัว ใน 1 ชุด เป็นเหตุให้ น้ำหนักตัว เพิ่มขึ้นประมาณ 100 กิโลกรัม
ดังนั้น การปรับแต่งระบบกันสะเทือน จากแคมรีรุ่นมาตรฐาน ให้รองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
แต่ยังต้องคงความนุ่มสบายในการขับขี่ คืออีกงานหนึ่งที่วิศวกรโตโยต้า จำเป็นต้องทำ
ควบคู่ไปกับการปรับปรุงสมรรถนะ และความทนทานของตัวรถให้เหมาะสมกับสภาพอากาศอันร้อนเป็นบ้า
และสภาพถนนของเมืองไทย ที่บ้าบอยิ่งกว่าสภาพอากาศ เสียอีก
ด้วยเหตุนี้ ช็อกอัพ และสปริง จึงถูกปรับปรุง ให้แตกต่างจาก แคมรี รุ่นมาตรฐาน เล็กน้อย
การตอบสนองจึงหนักแน่นขึ้น และมั่นใจได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ นุ่มนวลขึ้น ไปพร้อมๆกัน
ทั้งการเข้าโค้ง ในความเร็วสูงที่ไว้ใจได้มากขึ้น หรือจะเป็นการหักเลี้ยวเข้าโค้งในความเร็วต่ำๆ
ที่ แม้จะยังเหลือบุคลิกของแคมรี ในแบบเดิมๆ เอาไว้ให้พบบ้าง แต่ ทำได้ดีขึ้นในภาพรวม
การขับผ่านคอสะพาน ข้ามคลอง หรือผ่านลูกระนาดต่างๆ ชัดเจนว่า ช่วงล่างของแคมรี ไฮบริด
ซับแรงสะเทือนได้ดีมาก กว่า แคมรีรุ่นเครื่องยนต์สันดาบ ทั่วไป แม้จะมีอาการสะเทือนนิดๆ
ให้สัมผัสได้บ้าง แต่ถือว่าน้อยลงกว่าเดิม ดังนั้น เรื่องระบบกันสะเทือนนั้น ผมถือว่า
งานนี้ โตโยต้า สอบผ่านครับ
พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS นั้น แม้จะถือว่าหนืดแล้ว กำลังดี มีระยะฟรี
ที่ เอาละ มาก แต่ อย่าลืมว่า นี่คือรถซีดาน สำหรับผู้คนทั่วไป ขืนปรับมาไวมากไป เดี๋ยวเกิดคนขับตกใจ
หักพวงมาลัยนิดเดียว รถเบนหัวออกไปเป็นทุ่ง ก็จะเป็นได้เสียหลัก กันโดยง่าย และเชื่อว่า การเซ็ตพวงมาลัย
ไฟฟ้า ออกมาประมาณนี้ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะชอบแล้ว แต่อยากให้ปรับเพิ่มความหนืด ในช่วงหลังความเร็ว
60 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปอีกสักหน่อย น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ให้กับผู้ขับขี่จำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะกลุ่มนักขับรถ ที่มีอดีตชาติ เป็นนักแข่งรถทางเรียบ กลับมาเกิดใหม่ เช่นพวกคนขับรถ
ประจำตัวของผู้บริหารที่ซื้อรถรุ่นนี้ ไปเป็นรถประจำตำแหน่ง
นอกจากนี้ แคมรี ไฮบริด ทุกคัน ไม่ว่าจะมี หรือไม่มีระบบนำทาง
จะถูกติดตั้ง ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ ที่ติดตั้งระบบ ECB (Electronically Controlled Brake)
ซึ่งจะต้องเชื่อมระบบเบรกทั้งหมด ให้สามารถ นำพลังงานที่เกิดขึ้นจากการเบรก
มาสร้างกระแสไฟ ปั่นไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี่ ระบบขับเคลื่อน
แถมยังมีการติดตั้ง ระบบ VDIM (Vehicle Dynamic Integrated Management)
ซึ่งรวมการทำงานของระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง VSC
และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC Traction Control) เข้าไว้ด้วยกัน มาให้อีกด้วย
แต่ VDIM จะเชื่อมการทำงานของแต่ละระบบทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ให้สัมพันธ์กันมากขึ้น
ให้นุ่มนวล และ “เนียนขึ้น” โดยไม่ต้องพึ่งพา โลชันไวเทนนิ่งใดๆทั้งสิ้น
ดูตามแผนภาพข้างบนนี้ไปเลยนะครับ
หลักการทำงานก็คือ จะมี สมองกลของระบบ Skid Control ECU
จะดูความต้องการของคนขับว่า ต้องการให้รถเบรกมากน้อยแค่ไหน
แล้วก็จะสั่งการไปยังระบบ Hydraulic Brake Control ส่งไปควบคุมการเบรกที่ล้อ
อีกช่องทางหนึ่ง ที่ทำงานควบคู่กันไปเลย กับระบบข้างบน ขณะที่คุณเหยียบเบรก
คือ Skid Control ECU จะคำนวนแรงเบรกที่ต้องใช้ ส่งไปยัง ECU ของแบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อน
ซึ่งจะควบคุมไปยังตัวตัดต่อกำลัง ต่อเนื่องไปยัง MG2 แรงส่วนหนึ่ง จะถูกส่งไปที่ล้อ ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง
MG2 จะหมุนปั่นไฟ ไปเก็บที่แบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อน รอการดึงไปใช้ในลำดับต่อไป
เมื่อระบบมันแปลกไป ก็อย่าแปลกใจ ที่สัมผัสจากแป้นเบรก จะเปลี่ยนตาม
แถมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นซะด้วย ภาพรวมแล้ว แคมรี ไฮบริด มีระบบห้ามล้อ
ที่ทำงานได้ดีขึ้นกว่า แคมรี รุ่นมาตรฐาน ชัดเจน การหน่วงความเร็ว ในทุกช่วงความเร็ว
จะแค่คลานในเมือง หรือพุ่งหลาวลงมาจากทางด่วนด้วยความเร็ว หลักร้อย กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก็สามารถให้ความไว้วางใจกับการหน่วงความเร็วลงมาได้เยอะมาก และรวดเร็ว ทันใจต้องการ
ไม่แพ้อัตราเร่ง ของรถ นอกจากนี้ แป้นเบรก ก็ยังไม่แข็ง เหยียบลงไปเท่าไหร่ รถก็ชะลอลง
เพิ่มขึ้นจากที่ต้องการอีกนิดนึง เหมาะกับคนที่ขี้กลัว ขี้กังวล ขับไปเบรกไปบ่อยๆ
เพราะจะสัมผัสได้เลยว่า รถชะลอลงอย่างทัดเจน
ทีนี้ ไหนๆ ก็ไหนๆ ในรีวิวของ Nissan Teana เราเคย นำภาพโครงสร้างตัวถังของ รถรุ่นนั้น
มาให้คุณได้ชมกันแล้ว คราวนี้ ก็ควรจะเอาภาพโครงสร้างตัวถังของ แคมรี ไฮบริด มาให้ชมกันบ้างดีกว่า
จะได้เห็นไปเลยว่า โครงสร้างนิรภัย GOA ของ แคมรีนั้น มาพร้อมคานกันชนหน้า คานเหล็กเหล็กนิรภัย
เสริมในประตู ทั้ง 4 บาน และการเสริมความแข็งแกร่ง ทนต่อการบิดตัวของโครงสร้างตัวถังขณะขับขี่ได้ดี
********** การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นแล้วว่า รีวิวครั้งนี้ เราจำเป็นต้องใช้รถถึง 2 คัน เนื่องมาจาก คันสีเงินนั้น
โตโยต้า ปราถนาดี ทำตามหน้าที่โดยมิขาดตกบกพร่อง จับเติมแก็สโซฮอลล์ 91 มาให้ซะเต็มถังเลย
ถ้าจะต้องให้ผมเอาไปขับผลาญน้ำมันทิ้ง ให้ได้ 300 กิโลเมตร เหมือนครั้งที่ทดลองขับ Altis 2.0
สงสัยจะไม่ไหวแน่ๆ เพราะขนาด Prius รุ่นที่ 2 ที่เคยทำการทดลองมา กว่าน้ำมันจะหล่นลงไปเกินกว่า
ครึ่งถัง ต้องแล่นไปมากถึง 500 กิโลเมตร
พอถามเรื่องนี้กับ ตาโบ็ต พีอาร์ โตโยต้า ว่า ทำยังไงดี
โบ้ตตอบสวนกลับมาอย่างทันที แบบกวนอวัยวะเบื้องต่ำ มากมาย…
“มึงก็ขับไปเชียงใหม่เลยดิ!”
แว๊ก! อีโบ้ตบ้า! แล้ว ฉันจะต้องขับ ไป-กลับ กทม. – เชียงใหม่ – กทม. ถึง 12 ชั่วโมง
(เหยียบเต็มตีน สุดชีวิต) เพื่อให้น้ำมันในถังมันหมดเนี่ยนะ?? โอย คิดได้ไงเนี่ยยยยยยยย
โบ้ตตตตคุงงงงว้อยยยยย
โชคยังดี ที่นึกขึ้นได้ว่า คุณแม่ของ ตาถัง เพื่อนสนิทรอบข้างของเรา พึ่งได้รถ Camry HYBRID
คันสีดำที่เห็นอยู่นี้ มาเป็นรถประจำตำแหน่ง แถมคุณแม่ของน้องถัง ก็ยังใจดี ให้ความอนุเคราะห์
รถคันนี้ มาให้เรายืมทดลองทำตัวเลขกันแทน…
(ด้วยเหตุผลที่ว่า คุณแม่กำลังหาโอกาส ขับ Civic FD ของคุณลูก ได้ซะที ดีใจ ได้ขับรถลูก…
อ้าว มีวาระแอบแฝงนี่นา ครับ อิอิ)
ผมกับ ตาถัง ก็เลยหาวันว่าง 1 วัน เมื่ออังคาร ที่ผ่านมา เป็นเวลาอันดี ที่จะทำการทดลองจับ
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ Camry HYBRID กัน โดย งานนี้ ตาถังยินดี ขับรถมารับผม
ถึงหน้าบ้านเลยทีเดียว…
เหตุผล หนะไม่ใช่อะไรหรอก จะได้ ผลาญน้ำมัน แก็สโซฮอลล์ 95 ในถัง ที่มีอยู่
ระดับ 1 ใน 4 ของถัง ให้มันหมดไปมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะเติม
เบนซิน 95 เข้าไปให้เต็มหนะสิ….
(อึ้ม นะ…ค่าน้ำมันงานนี้ ก็บานบุรีคุณกรูพอดีเลยนะฮะคุณมึง…!)
ในที่สุด เราก็มาถึงปั้มน้ำมัน เชลล์ ปากซอยอารี ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารี
อันเป็นสถานีบริการน้ำมัน ขาประจำของเราไปเสียแล้ว
เติมน้ำมัน เบนซิน 95 V-Power ลงไป ให้เต็มถัง…เซ็ต Trip Meter บนหน้าปัด ให้เป็น 0
ก่อนออกเดินทาง งานนี้ เติมแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เพราะ Camry รุ่นเดียวกัน คันอื่นๆ รวมทั้ง
รถยนต์ซีดานกลุ่ม D-Segment ทุกคันที่ผมทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น เราไม่เขย่ารถกันครับ
คราวนี้ แค่ลองแหย่ตาถังว่า เออ คราวนี้จะเขย่ารถด้วยดีไหมหว่า ตาถังตอบมาทันใจว่า
“คราวนี้ มึงเขย่าเองแล้วกันนะ กูไม่เอาด้วยแล้ว คราวก่อนๆ แม่งงงง โคตรเมื่อยเลย”
อืม คุณกรู รู้แล้วฮะ คุณมึง! ไม่เขย่าหรอก (โว้ย)
ด้วยเหตุที่ รถคันนี้ เป็นรถใช้งานในชีวิตประจำวันจริงๆ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพรางป้ายทะเบียนไว้
ค่อนข้างโชคดีของผม ที่ ตาถัง มีพุงมากพอ ที่จะช่วยให้การยืนด้านข้างของเขา บดบังป้ายทะเบียน
ของรถคันนี้ ได้มิดชิด โดยที่ผมไม่ต้อง พึ่งพาบริการ Photoshop แต่อย่างใด
คิกๆ
สรุปว่า เราเติมน้ำมัน ให้เต็มกัน จาก 1 ใน 4 จนเต็มถัง หมดตังค์ไป 2,167 บาท…
ขนหน้าแข้งข้าพเจ้า ร่วงไป 21 เส้นรวด…. (T_T)
จากนั้น เราเริ่มขับลัดเลาะ ออกจากปั้ม เลี้ยวซ้าย ขับเข้ามาตามซอยอารีย์ เลี้ยวขวาลัดเลาะ
ออกมายัง ทางขึ้นทางด่วน พระราม 6 ฝั่งขาออก กรุงเทพฯ จนเรียบร้อย ระหว่างนั้น
ส่วนใหญ่แล้ว ผมแตะคันเร่งเบาๆ รถก็แล่นในโหมด ไฟฟ้า ให้เอง มีบ้างครั้ง ที่ระบบ
จะตัดเข้าสู่โหมดใช้เครื่องยนต์ช่วย แต่ก็แค่ 2-3 ครั้ง
แต่ พอขึ้นทางด่วนได้ ยิงยาวไปจนถึง ปลายสุดทางด่วนเส้นเชียงราก ตรงอยุธยา
ไม่ว่าเราจะขับแบบ เปิด ระบบ ควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control หรือใช้วิธี
เลี้ยงคันเร่งให้อยู่ในระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป๊ะๆ เปิดแอร์ และนั่งกัน 2 คน
ตามมาตรฐานการทดลองของเรา ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
งานนี้ มอเตอร์ไฟฟ้า ก็ไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือเครื่องยนต์เท่าใดนัก
เข็มวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็ขึ้นบ้าง ลงบ้าง ตามแต่สภาพถนน และ
จังหวะการใช้กำลังของเครื่องยนต์ จะเกี้ยวพามันไป
แต่ถ้าลงเนินยาวๆ แล้วละก็ เข็มวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
จะเข้าสู่โหมด ประหยัดสุดๆทันที
จนกระทั่ง ไปถึงปลายทางด่วน ก็เลี้ยวย้อนกลับมาขึ้นทางด่วนใหม่อีกรอบ มุ่งหน้าเข้า กรุงเทพฯ
มาลงยัง ทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน มุ่งหน้ากลับไปเติมน้ำมัน
ที่ปั้มเชลล์ แห่งเดิม และหัวจ่ายเดิม ตามมาตรฐานของเรามาโดยตลอด
ทีนี้ มาดูตัวเลขระยะทางที่รถคันนี้แล่นไป บนเส้นทางเดียวกันกับทุกครั้งที่ผ่านมา
ตัวเลขบนมาตรวัด อยู่ที่ 92.3 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 V-Power ที่เติมกลับเข้าไป… 5.53 ลิตร
ดังนั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย ที่ Camry HYBRID คันสีดำ ทำได้ อยู่ที่….
16.69 กิโลเมตร/ลิตร หรือ ประมาณ 16.7 กิโลเมตร / ลิตรนั่นเอง!!
โอ้ ดูเหมือนประหยัดขึ้นอย่างชัดเจน หนะจริงอยู่
แต่ถ้าดูตัวเลข เปรียบเทียบกันกับ Camry รุ่นอื่นๆ ในตัวถังเดียวกัน
และเป็นรถรุ่นปีก่อนๆ แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ตัวเลขของ รุ่น ไฮบริดนั้น
ทำได้ดีกว่า รถรุ่น 2.4 ลิตร ซึ่งถือว่า เคยทำตัวเลขได้ดีที่สุดในบรรดา แคมรี ด้วยกันตอนนั้น
แค่ประมาณ 2 กิโลเมตร/ลิตร….
แต่ ตัวเลขทั้งหมดนี้ คือตัวเลขของการวิ่งทางไกล
แล้วถ้า ตั้งแต่รับรถมา เมื่อถึงวันส่งคืนรถ แน่นอนว่าเราไม่ได้เติมน้ำมันเพิ่มเติมแต่อย่างใด
เราอยากจะรู้ว่า รถแล่นไปเมื่อถึงวันส่งคืนปุ๊บ เราจะใช้น้ำมันหมดไปเท่าไหร่ เมื่อวัดจากเข็มบนหน้าปัด
ไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ชมกัน แต่ การเติมน้ำมันกลับเข้าไปนั้น เกิดขึ้นเมื่อ รถแล่นไปได้ระยะทาง 468 กิโลเมตร
โดยน้ำมันในถังยังเหลืออยู่ ประมาณ 1 ขีดล่างสุดท้าย ก่อนถึง ขีด E ซึ่งไฟเตือนน้ำมันหมด จะสว่างขึ้นมา
นั่นหมายความว่า การขับในแบบ ที่ มีทั้งเร่งแซง จับเวลาหาอัตราเร่ง ทำท็อปสปีดไปด้วย 3-4 ครั้ง
ขับแบบธรรมดา ไปเรื่อยๆ บนทางด่วนเป็นลัก รวมทั้งคลานในเมือง ตามสภาพการจราจร ครบทุกรูปแบบ
ใช้น้ำมันไปประมาณนี้ แล่นได้ระยะทางเท่านี้ผมถือว่าดีแล้ว และถ้าขับกันแบบเนียนๆ ไม่รีบร้อน
เผลอๆ น้ำมัน 1 ถัง อาจวิ่งได้ไกล 500-600 กิโลเมตร ก็น่าจะทำได้
********** โตโยต้า เตรียมพร้อม จะดูแลลูกค้ายังไงบ้าง? **********
สิ่งที่หลายคน เป็นห่วงกันก็คือ โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) เขาพร้อมจะดูแล และเตรียมบริการ
หลังการขาย ให้กับลูกค้าที่ซื้อรถรุ่นนี้ กันอย่างไร เพราะ ทุกคนจะมองรถคันนี้ว่า เป็นรถที่ใช้เทคโนโลยี
พิเศษกว่ารถทั่วไป และอาจต้องการการดูแลมากกว่ารถปกติ หรือเปล่า?
คำตอบก็คือ ไม่ถึงกับต้องดูแลมากกว่ารถทั่วไป เพียงแต่ มีชิ้นส่วนบางอย่าง เพิ่มเข้ามา
และต้องมีขั้นตอนการทำงาน หรือจัดการ ที่เพิ่มเติม จาก แคมรี รุ่นธรรมดา นิดหน่อย
โตโยต้าบอกว่า ข้อแรก พวกเขาเตรียมความพร้อมในการบริการ อย่างเต็มที่ คือ ถ้ารถมีปัญหา
ให้ส่งเข้าศูนย์บริการ ซึ่ง ในทุกศูนย์ฯ “ทั่วประเทศตอนนี้” จะมี ช่างระดับ Master Technician
ที่ได้รับการฝึกอบรม ด้านระบบไฮบริดมาอย่างดี ประจำอยู่ อย่างน้อย ศูนย์บริการละ 1 คน
ถ้าสมมติว่า เจอเคสหนักหนา ก็จะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่จาก ศูนย์วิเคราะห์ด้านเทคนิค
Technical Diagnosis Center หรือ TDC สำหรับ กรุงเทพ และภาคกลาง ร่วมกับศูนย์
สนับสนุนด้านเทคนิคประจำภูมิภาค RTSB หรือ Regional Technical Service Branch
คอยรับเรื่อง ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา
ถ้ายังไม่จบอีก เอ้า ส่งต่อมาที่ ทีมงาน HYBRID MASTER ของ โตโยต้า สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีกันอยู่
ราวๆ 5 คน เห็นจะได้ มาช่วยกันแก้ไขวิเคราะห์ต่อไป โดย โตโยต้า ถึงกับลงทุน ทำระบบ
PC Conference ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อช่วยให้เกิดการพูดคุยโต้ตอบ กับช่างประจำศูนย์ฯ
ในต่างจังหวัด กันได้แบบสดๆ Real Time
แต่ถ้ายังไม่หายอีก ก็จะยิงผ่านดาวเทียม ไปยัง โตโยต้า สำนักงานใหญ่ ที่ญี่ปุ่น
ได้โดยตรง ทันที อีกเช่นกัน เล่นเตรียมความพร้อมกันขนาดนี้ หวังสร้างความมั่นใจกับลูกค้า
กันสุดๆไปข้างนึงเลย เอาให้อุ่นใจกันแบบ เต็มพิกัด…
นอกจากนี้ ดีลเลอร์ แต่ละแห่ง ก็ลงทุนซื้อเครื่องมือวิเคราะห์ปัญหา รุ่นใหม่เพิ่มเติม
ประจำสำนักงานใหญ่ของแต่ละดีลเลอร์ ชุดละ 22,000 บาท และในแต่ละสาขา
จะเตรียม อุปกรณ์เบทื้องต้น เช่นถุงมือแบบมีฉนวนกันไฟ สำหรับทำงานกับชุดแบ็ตเตอรี
และระบบไฮบริดโดยเฉพาะ สีส้มๆ ฯลฯ อีก 2,500 บาท ต่อ 1 โชว์รูม
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการฝึกอบรม เจ้ากน้าที่หน่วยกู้ภัยต่างๆ ทั้งเฮียปอฯ เฮียร่วมฯ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัคร พยาบาลต่างๆมากมายก่ายกอง หลายคอร์ส
เพื่อให้การช่วยเหลือ ผู้ประสบเหตุในรถยนต์ไฮบริด เป็นไปอย่างปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย
ดูตารางที่เขาอบรมกันมาสิครับ เยอะขนาดไหนเนี่ย….
ส่วนราคาอะไหล่ และค่าบำรุงรักษานั้น โตโยต้าบอกเลยว่า ถ้าชิ้นไหน เหมือนแคมรี รุ่นทั่วไป ก็จะเท่ากันเป๊ะ ไม่แพงกว่าแน่ๆ
ค่าบำรุงรักษาตลอดระยะทาง 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ก็จะเท่ากัน 23,700 บาท ดังชาร์ตข้างบนนี้ ชัดเจนแล้วนะครับ?
********** สรุป **********
***ถ้า Commander CHENG ยังอยากได้ นี่ก็ไม่ใช่ Toyota ทั่วๆไปแล้วละ!! ***
แทบไม่น่าเชื่อว่า คุณงามความดีของระบบขับเคลื่อน HYBRID จะทำให้ คัมรี หรือ แคมรี กลับมา
เป็นรถที่น่าสนใจมาก ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
จนถึงขั้นที่ ผู้การจอมเกิน Commander CHENG เอง ก็ยัง จะยินดี ถ้าคุณพ่อ จะซื้อหามาไว้เป็น
รถยนต์ประจำตัว และรถครอบครัวคันใหม่ ของบ้าน…
ผมเองก็ หายข้องใจแล้วละ ว่าทำไม ตาแพนจะชอบ และเช่นเดียวกับที่ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ
คือ รถออกมาดูดี โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่ การประกอบโอเค ประหยัดน้ำมันขึ้นได้จริง
แม้จะยังควรประหยัดกว่านี้ได้อีกก็ตาม แถมยังเตรียมการช่วยเหือรองรับบริการหลังการขาย ซัพพอร์ตมาดี
งานออกแบบก็ดึงดูดใจ
งานนี้ ถือว่า โตโยต้าเอง ก็ได้ทั้งเงินทั้งเสียงปรบมือ จากผู้คนมากมาย สมกับความเหนื่อยยาก
ในความพยายามผลักดันให้มีรถยนต์ไฮบริด ประกอบในประเทศไทย เป็นรายแรก จนได้
อีกทั้ง ยังแก้เกม ด้วยการพลิกบทบาท จากการที่ รถรุ่นปกติ มีหลายสิ่งด้อยกว่าชาวบ้านเขา
พอได้ความแรง และความประหยัดจากเครื่องยนต์ไฮบริด เข้ามาช่วย ก็ทำให้ แคมรี ไฮบริด
กลายเป็นรถยนต์ ที่ทำให้เราต้องหันกลับมามองโตโยต้า กันอีกครั้งหนึ่ง
งานนี้ ถ้าให้ต้องเลือกจริงๆ ผมยอมรับเลยว่า เลือกลำบาก ว่าจะเอา Teana หรือ Camry HYBRID ดีกว่ากัน
เพราะทั้งคู่ เด่นและด้อยต่างกัน พอๆกัน Camry HYBRID ได้ความแรง และความประหยัด ความมั่นใจ
ในบริการหลังการขาย และราคาขายต่อ ส่วน Teana ก็ยังเด่นกว่าในเรื่อง การประกอบ คุณภาพวัสดุ
การออกแบบภายในห้องโดยสาร ช่วงล่าง และพละกำลังเครื่องยนต์ที่สูสีกัน กับ แคมรี ไฮบริด
ด้อยกว่ากันนิดนึง แค่ 0.7 วินาที
แน่นอน ลูกค้ากลุ่มที่จะซื้อ Teana และ Camry HYBRID จะเป็นคนละกลุ่มกับ Accord
ซึ่งชอบตำแหน่งนั่งขับ ที่ติดสปอร์ตกว่ากันนิดนึง แน่ๆ ผมถึงไม่พูดถึง Accord
ในบทความนี้เท่าใดนักเลย นั่นเอง
ส่วนความเห็นที่ตาแพน เค้ามีให้กับรถรุ่นนี้ก็คือ
– มันคือ Toyota ประกอบในประเทศคันแรกนับตั้งแต่ Vios Turbo ที่ทำให้แพนรู้สึกว่า ถ้ามีเงินล่ะก็ซื้อไปแล้ว
– ห้องโดยสาร แพนรู้สึกว่าพื้นที่มันสู้คู่แข่งไม่ได้ และสำหรับสรีระมหามหึมาอย่างแพนแล้ว จะสบายก็ต่อเมื่อนั่งหน้าเท่านั้น ไม่ขอนั่งหลังเด็ดขาด
– ใครคิดว่ารถรักสิ่งแวดล้อมจะต้องอืด เรื่อยเปื่อย น่าเบื่อ…เปลี่ยนความคิดได้เลย
ถ้ามีเงินพอ จะต้องซื้อรถรุ่นนี้ ผมจะคิดยังไง
บอกเลยว่า แม้โตโยต้ารุ่นอื่นๆ ในช่วงนี้ จะทำให้ผมรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่บ้าง
แต่สำหรับ Camty HYBRID แล้ว… ผม Happy นะ ที่จะเป็นเจ้าของรถคันนี้
และไม่คิดกังวลอะไรเท่าไหร่นัก
คุณพ่อของแพน ทำท่าจะอยากได้ Camry HYBRID ขึ้นมาจริงๆ ซะแล้วสิเนี่ย….
และถ้าแพนเอง ยังรู้สึก appreciate ถ้าคุณพ่อเกิดซื้อขึ้นมาจริงๆ
ผมว่า คุณ ก็ไม่ควรกลัว Camry HYBRID ไปเกินเหตุ อย่างเมื่อก่อน แล้วละ!
ที่นี้ ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกซื้อ แคมรี ไฮบริด คำถามก็คือ จะเอารุ่นไหนดี?
เมื่อคำนึงถึงป้ายราคา เริ่มต้นที่ 1,599,000 บาท สำหรับรุ่นเครื่องเสียง CD 6 แผ่น
1,659,000 บาท สำหรับรุ่นที่มีเครื่องเล่น DVD และ 1,779,000 บาท สำหรับรุ่นที่มี
ระบบนำทาง Navigation System
ต้องยอมรับว่า โตโยต้า ใช้ความพยายามอย่างมาก ในการจะกดราคา แคมรี ไฮบริด ลงมา
ทุกรูปแบบ เพื่อให้ ผู้คนทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ ง่ายต่อการเป็นเจ้าของ มากกว่าที่คิดกันไว้
มองอีกมุมหนึ่ง พูดกันตรงๆก็คือ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อรุ่นท็อป
ที่มีระบบนำทางเลย เพราะราคาของ ระบบนำทาง แบบ Portable ที่สามารถถอดพกพา
ไปไหนต่อไหนได้นั้น ทุกวันนี้ ถูกลงมาพอสมควรแล้ว 8,000 กว่าบาท ก็หาซื้อมา
ติดตั้งกันเอาเองได้แล้ว นำทางด้วยเสียงได้เช่นเดียวกัน อัพเดทแผนที่ และข้อมูลต่างๆ ก็ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ยังสามารถปรับปรุงกันต่อให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกคือ
1. การตอบสนองของพวงมาลัย
แม้ว่า ทุกวันนี้ จะเซ็ตมา เอาใจผู้ใหญ่ดีอยู่แล้ว แต่ การตอบสนองของพวงมาลัย
หากไวขึ้นมามากกว่านี้อีกนิด แม่นยำกว่านี้อีกหน่อย จบเลยครับ แทบไม่ต้องแก้ไขอะไรกับรถคันนี้อีก
2. ทัศนวิสัยของรถ ซึ่งเรื่องนี้ คงต้องศึกษากันให้ดีๆ สำหรับรถ แคมรี รุ่นต่อไปแล้วละ
ผมว่า ยังไงก็ต้องปรับปรุงจริงๆซะที
3. แม้ว่าราคาแบ็ตเตอรี มันจะถูกลงมากว่าเดิมเยอะแล้ว แต่ ถ้ายิ่งถูกกว่านี้ได้อีก ก็น่าจะดีกว่า
เพราะ ราคา 90,000 บาท นั้น แม้จะถูกลงมากว่าเจ้า Alphard HYBRID และ Prius รุ่นก่อนๆ
ซึ่ง มีราคาลูกละ 2 แสนกว่าบาท แต่นั่นก็ยังไม่ถูกพอที่จะจูงใจให้ลูกค้าที่ยังระแวงอยู่
เกิดความมั่นใจขึ้นมาได้โดยง่ายนัก
4. ความสบายในห้องโดยสาร
กรุณาไปศึกษาจาก Nissan Teana ใหม่ซะเถอะ ทั้งการออกแบบห้องโดยสาร การเลือกใช้วัสดุ
ที่ไม่ค่อยจะแคร์เรื่องต้นทุนเท่าไหร่เลย รวมทั้งการปรับแต่งระบบกันสะเทือน ที่ ยังคงเป็น
อันดับ 1 ของกลุ่ม D-Segment ซีดานอยู่ดี
5. อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
แม้ว่า แคมรี ไฮบริด รุ่นปัจจบัน จะทำได้ดีแล้ว แต่ อย่าหยุดยั้งการพัฒนา
เป้าหมายต่อไปในวันข้างหน้าคือ ทำอย่างไร ให้การขับขี่ ทางไกล
สามารถทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้ประหยัดมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ในปัจจุบัน ขึ้นไปอีก มันคือความท้าทาย ที่ผมเชื่อว่า ระดับโตโยต้าแล้ว
ถ้ามี Know-How มากพอที่จะทำให้ Prius รุ่นใหม่ ประหยัดกว่าเดิมได้เยอะ
ดังนั้น สำหรับ Camry HYBRID ก็ไม่น่าจะยากเกินความสามารถของวิศวกรไปได้
ขออย่างเดียว
อย่าทำงานหนัก กับโครงการ จนถึงขั้น น็อคตาย ในหน้าที่
เหมือนเช่นที่มีข่าวเกิดขึ้น กับวิศวกรผู้ดูแลโครงการ แคมรี ไฮบริดในญี่ปุ่น…
ก็แล้วกัน…
————————————–///—————————————–
ขอขอบคุณ
คุณกิจ มหาจุนทการ
ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์
คุณ Suchaya Chianklawkla (พี่แข)
Assistant Manager, Product & Marketing Communication
สำนักประชาสัมพันธ์
คุณจักรกฤษณ์ รัตนกำเนิด
สำนักประชาสัมพันธ์
และ อ.มนัส ดาวมณี
รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการเทคนิค และทีมงาน
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
สำหรับการเอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
และการเปิดโลกทัศน์ความรู้เบื้องลึกของระบบไฮบริด
อย่างละเอียดยิบ ในครั้งนี้
———————————————-
บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
Full Review ทดลองขับ Nissan TEANA J32 2.0 & 2.5 CVT : ละเอียดกว่านี้ มีอีกไหม?
———————————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
18 พฤศจิกายน 2009
Copyright (c) 2009 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 18th,2009