27,000 คัน…
ตัวเลขนี้คือยอดขาย รวมกับ ยอดสั่งจองที่ค้างอยู่ ของรถยนต์นั่ง Hatchback ขนาดเล็ก
นับตั้งแต่เริ่มเปิดรับจอง ออกสู่ตลาด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2012 อาจนับรวมก่อนหน้านั้น
ไปอีกสัก 1 เดือน สำหรับลูกค้าที่สั่งจองโดยยังไม่รู้ราคาค่าตัวที่แท้จริงด้วยซ้ำ
ครับ…อ่านไม่ผิดหรอก…..!!!
เจี๊ยกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!!!!!!
แต่จนถึงวันนี้ โรงงานของ Suzuki Motor Manufacturing (Thailand) ที่อำเภอ ปลวกแดง
จังหวัดระยอง ซึ่งผมเคยไปเยือนมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 นั้น เพิ่งจะประกอบ
เจ้าเปี๊ยกแสบ รุ่นนี้ ส่งมอบให้ลูกค้าได้ราวๆ 9,000 คัน
จ๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!! (ส่งมอบได้แค่นี้เองเหรอ?)
ณ วันนี้ ว่ากันตามคิว Suzuki น่าจะส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่สั่งจอง ไปได้ถึงแค่เดือนพฤษภาคม
หรือ มิถุนายน นี่คิดกันแบบมองโลกในแง่ดีสุดๆแล้วนะ
แล้วที่เหลือละ? ถูกแล้วครับ หักกลบลบกันกับตัวเลขยอดส่งมอบไปแล้วทั้ง 9,000 คัน เท่ากับว่า
Suzuki จะยังเหลือ ยอดสั่งจองค้าง (Back Order) สะสมมาตลอดตั้งแต่ช่วงเดือน เหลืออยู่อีก
มากถึง 18,000 คัน
ว๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!! (หา!!)
นั่นหมายความว่า ถ้าหลังจากอ่านรีวิวนี้จบ คุณตัดสินใจได้ว่า จะเดินขึ้นโชว์รูม Suzuki ที่มีอยู่
จะครบ 70 สาขา ทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2012 เพื่อสั่งจอง Swift มาใช้สักคัน คุณอาจต้อง
เข้าคิวรอรับรถนาน อย่างช้าที่สุด คือ เดือน กันยายน 2013 หรืออีก 10 – 11 เดือนข้างหน้า..
แว๊กกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!!!!! (ก.ไก่ หมดโลก)
นี่มันปรากฎการณ์บ้าบออะไรกันโว้ยยย!!!?????
ก็ใครมันจะไปรู้ละ! ว่า รถคันนี้ จะสร้างปรากฎการณ์ “เจี๊ยก จ๊าก ว๊าก แว๊ก” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ได้มากขนาดนี้
มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผม หรือใครก็ตามที่ได้ทดลองขับ เจ้าเปี๊ยกนี่ แล้วถึงขั้นให้การยอมรับในตัวรถ
โดยมองข้ามแบรนด์ Suzuki กันไปเลย
มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับลูกค้า ผู้บริโภคทั้งหลาย ที่ส่วนใหญ่ ต่างพึงพอใจ เมื่อได้รับรถไปใช้งาน
(อาจมีบ้าง ที่ยังเจอปัญหา Defect นิดๆหน่อยๆ ซึ่งก็ทำเรื่อง เคลมเปลี่ยนชิ้นส่วนกันฟรีๆไป)
แต่ มันยังเกิดขึ้นกับ บรรดา พนักงานทั้งหลาย ใน Suzuki Motor Thailand ที่ต่างพากันอึ้ง ดีใจ
แล้วตามด้วยการ “กุมขมับ…หมู่”
ก็แหงละ แรกเริ่มเดิมที จากการประเมินตลาด ก่อนเปิดตัว บวกกับสถานการณ์ยอดจองของ Swift
รุ่นเดิม ก่อนหน้านี้ พวกเขาตั้งเป้าว่า ถ้าได้ยอดขายจนถึง 31 ธันวาคม 2012 รวมแล้ว 15,000 คัน
แค่นี้ ก็ปิดออฟฟิศ เลี้ยงฉลองได้แล้ว พอแล้ว ตอนนั้น พวกเขาคิดว่า เป้าหมายนี้ ก็ถือว่าโหดแล้ว
ยากเหมือนกันที่จะบรรลุไปถึง
พอบทความ Exclusive First Impression ลองขับ Suzuki Swift ใหม่ ก่อนใคร ไกลถึงระยอง เริ่ม
ออกสู่สายตาสาธารณชน ผ่านทางเว็บ Headlightmag.com ของเรา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2012
เท่านั้นแหละ…งานก็เริ่มเข้า…กระแส Swift ใหม่ ที่มีมาเรื่อยๆ ในช่วงก่อนหน้านั้น ก็เริ่มแรงขึ้น
แรงขึ้น แล้วก็แรงขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วเลย
จากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องก็คือ ทันทีที่คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของ Suzuki
Motor Thailand ประกาศราคา ขายปลีกบนเวที เช้าวันงานเปิดตัว ที่โรงแรมดุสิตธานี ปรากฎว่า
แม้จะแพงกว่าที่คาดไว้นิดหน่อย แต่โทรศัพท์ของ โชว์รูมผู้จำหน่ายทุกรายในตอนนั้น ต่างก็
เต็มไปด้วยสายของลูกค้าที่โทรเข้ามาถามแล้วก็ของสั่งจองทันที ลูกค้าพากันเดินเข้าไปดูรถ
คันจริง แล้วขอลองขับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แบบที่ ทุกโชว์รูมไม่เคยพบเจอมาก่อน
ใช่ครับ มันเป็นเหตุการณ์ที่อาจเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับช่วงเปิดตัวรถใหม่ ของค่ายอื่นๆระดับ
เจ้าตลาด ทั้ง Toyota Honda Isuzu Nissan แต่ มันไม่เคยเกิดขึ้นกับแบรนด์เล็กๆ อย่าง
Suzuki มาก่อนไง!
จนในที่สุด Sugiyama-san ประธานของ Suzuki Motor Thailand ต้องบินกลับไปญี่ปุ่น เพื่อ
เจรจากับสำนักงานใหญ่ที่ Hamamatsu ขอโควต้ายอดผลิตเพิ่ม อย่างเร่งด่วน จนสามารถ
เพิ่มกำลังการผลิตได้ จาก 15,000 คัน เป็น 24,000 คัน ตลอดจนถึงสิ้นปี โดยตั้งแต่เดือน
กรกฎาคมเป็นต้นมา สามารถผลิตได้ เดือนละ 2,000 กว่าคัน และในช่วงเดือนตุลาคมจะ
เพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่านี้อีก
“เนี่ย Swift ขายดีได้ขนาดนี้ เพราะคุณคนเดียวเลย!!”
คุณ “Peter” (นามสมมติ) ใครคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ใน Suzuki Motor Thailand หยอกเย้าผม
ในวันที่เราเจอกัน เพื่อรับ Swift มาทำรีวิว
ไม่หรอก มันก็อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ มันจริงแค่ไม่เกินครึ่งเดียว ผมยังเชื่อคำพูดเก่าแก่ใน
แวดวงการตลาดที่ว่า “สินค้าที่ดีจะขายได้ด้วยตัวของมันเอง” ถ้าผู้บริโภคไม่พบว่ามันไม่ดีจริง
คุณจะไม่มีวันเห็นยอดขาย ยอดจองมากมายขนาดนี้เด็ดขาด ดูกรณีของ Honda Brio เป็น
ตัวอย่างสิ! บทความที่ผมเขียน มันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่มันจะไม่ใช่องค์ประกอบ
หลักๆ ที่ทำให้เป็นอย่างนี้หรอก ท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภคเองนั่นละที่จะตัดสินใจ ว่าจะซื้อไหม
แต่!! อย่าเพิ่งคิดว่า Swift มันจะ เทพ ได้ขนาดนั้น โดยไม่มีข้อด้อยอะไรเลย..มันไม่จริงครับ!
เพราะเจ้าเปี๊ยกแสบคันนี้ ก็ยังมีข้อที่ต้องตำหนิติติงกันบ้าง เหมือนเช่นเดียวกับรถคันอื่นๆ
ทั่วๆไป ที่ผ่านมือผมมาแล้ว นั่นแหละ!
ถ้าอยากรู้ว่า Swift ใหม่ มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ควรค่าแก่การที่คุณจะไปต่อคิวรอคอยนานข้ามปี
เพื่อสอยมาขับ กันหรือไม่ บทความนี้จะช่วยไขความสงสัยให้คุณได้กระจ่าง
ที่แน่ๆ…เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของ Swift ใหม่ ในวันนี้ อีกส่วนหนึ่ง มาจากการที่
Swift รุ่นเดิม ทำชื่อเสียงเอาไว้ดี จนทำให้ Swift กลายเป็น รถที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีก
รุ่นหนึ่งของ Suzuki เท่าที่พวกเขาเคยผลิตมา นอกเหนือจากตระกูล Alto / Fronte ตระกูล
Escudo / Grand Escudo / Vitara / Grand Vitara และตระกูล Jimny / Samurai / Carribean
เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในโลก ในงาน Paris Auto Salon เดือนกันยายน 2004 และเริ่มออกสู่
ตลาดญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2004 Suzuki ส่ง Swift รหัสโครงการพัฒนา RS415 จากการผลิต
ของทั้ง 7 โรงงาน ไปเปิดตัวออกสู่ตลาดมากกว่า 100 ประเทศ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเอาชนะใจผู้คนทั้ง
ลูกค้า และบรรดาสื่อมวลชนสายรถยนต์ จนคว้ารางวัลจำพวก Car of the Year ทั้งหลายมากมายถึง 63
รางวัล ใน 19 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัล RJC Car of the Year ใน ญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทย Swift รุ่นที่แล้ว เปิดตัวครั้งแรก ในงาน Motor Expo ราวๆ เดือนธันวาคม 2006
แต่ในตอนนั้น เนื่องจากยังต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นล้วนๆ ซึ่งยังไม่มีข้อตกลง เขตการค้าภาษี
พิเศษ ที่ครอบคลุมถึงรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ต้องเก็บภาษีนำเข้า เต็มพิกัดอัตราที่มี และ
ส่งผลให้ค่าตัวของ Swift Made in Japan พุ่งไปสูงถึงราวๆ 1,500,000 บาท !!! เลยมีลูกค้าอุดหนุน
ไปแค่ 2-3 ราย ส่วนรถคันที่เหลือ จอดนอนอยู่บนโชว์รูมอนุเสาวรีย์ชัยฯ กันเป็นปีๆ นั่นแหละ
ต่อมา เมื่อ โรงงาน Suzuki ในอินโดนีเซีย เริ่มประกอบ Swift แล้ว อีกทั้ง Suzuki ญี่ปุ่น เริ่มเข้ามา
บุกตลาดเอง แทนสยามอินเตอร์เนชันแนล ที่กลายเป็น ดีลเลอร์รายหนึ่งไป คราวนี้ Suzuki ก็พร้อม
นำ Swift จาก อินโดฯ เข้ามาเปิดตลาดกันอีกครั้ง อย่างเป็นทางการ ในงาน Motor Expo 2009 เมื่อ
1 ธันวาคม 2009 ที่ผ่านมา ด้วยราคาที่หดหายไปจากเดิมถึงครึ่งหนึ่ง!! คือ จากล้านกว่าบาท เหลือ
649,000 บาท ในรุ่นท็อป และ 589,000 บาท ในรุ่น GA ที่ไม่มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า กับอุปกรณ์อื่นๆ
มาให้
ถึงจะเป็นการเปิดตัว เพื่อปูพื้นฐานให้กับแบรนด์ และไม่หวังยอดขายมากนัก แต่ที่ไหนได้ ยอดขาย
ที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ Suzuki เริ่มมั่นใจขึ้น ในการเตรียมความพร้อม เพื่อนำ Swift รุ่นใหม่
มาประกอบขายในเมืองไทย
เพราะกว่าที่ Swift รุ่นเดิม จะเริ่มขายในบ้านเราอย่างจริงจัง เวลาก็ล่วงเข้าสู่ปลายอายุตลาดแล้ว ขณะที่
ข่าวสารความเคลื่อนไหวในการพัฒนา Swift รุ่นต่อไป เริ่มหลุดเล็ดรอดมาถึงหูของพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ
Mr.NAOYUKI TAKEUCHI ผู้เป็นหัวหน้าวิศวกรโครงการพัฒนา Swift ทั้งรุ่นก่อนหน้า และรุ่นใหม่
คนที่ใส่เสื้อสีฟ้าอมม่วง ตำแหน่งตามนามบัตรก็คือ Vehicle Line Executive 2 แผนก Automobile
Engineering (ในวันที่ยังดูแลโครงการ Swift อยู่ และยังไม่ได้ ย้ายไปดูแลโรงงานของ Suzuki ที่
ฮังการี เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) เล่าให้ผมฟัง ในวันที่เราไปลองขับ Swift ใหม่ ที่โรงงาน Suzuki ณ
อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เดือนพฤศจิกายน 2011 ว่า
“อย่างที่เราทราบกันดี ว่า Swift รุ่นเดิมนั้น ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในทุกประเทศที่เข้าไปทำตลาด
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งที่ สามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก ดังนั้น โจทย์ที่ท้าทายผม และทีม
วิศวกรของ Suzuki มากๆ นั่นคือ ทำอย่างไรที่จะพัฒนา Swift รุ่นต่อไป ให้ยังคงถูกตาต้องใจลูกค้าอย่าง
ต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงตั้งแนวทางการออกแบบ Swift ใหม่ ไว้ว่า “MORE SWIFT!” นั่นคือ ตัวรถจะต้อง
ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวถังต้องใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ห้องโดยสารต้องนั่งสบาย
กว่าเดิม ตัวรถต้องดูโฉบเฉี่ยวขึ้น แต่ยังต้องไม่ทิ้งแนวทางของ Swift รุ่นเดิมไป อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
สมรรถนะการเกาะถนนจะต้องดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม รวมถึงการเก็บ เสียงจากภายนอก ก็ต้องดีขึ้นด้วย”
ในเมื่อตั้งเป้าไว้สูงขึ้นอย่างนี้ ต่อให้ตั้งใจทำรถออกมาแค่ไหน ถ้ารูปลักษณ์ภายนอกไม่โดนใจลูกค้า
ก็คงจะขายได้ลำบาก ดังนั้น ทีมงานจึงต้องมาศึกษากันว่า ความคิดเห็นของลูกค้าส่วนใหญ่ ต้องการให้
Swift รุ่นต่อไป มีเส้นสายตัวถังแบบไหน?
หลังการสำรวจวิจัยความเห็นของลูกค้าจากทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และเอเซีย
ทีมงานของ Takeuchi-san ได้ข้อสรุปว่า “รูปลักษณ์ภายนอก ของรุ่นเดิม ดีอยู่แล้ว อย่าปรับเปลี่ยน
ให้ฉีกแนวไปจากเดิมเด็ดขาด แต่ต้องขยายขนาดตัวรถให้กว้างกว่านี้อีกสักนิด จะลงตัวกับสรีระ
ของลูกค้าชาวยุโรปมากกว่าเดิม”
เมื่อคราวที่ Suzuki เริ่มต้นพัฒนา Swift รุ่นปี 2003 พวกเขาลงทุนบินไปถึง Italy เพื่อค้นหาแรง
บันดาลใจ ในการสร้างรถยนต์ขนาดเล็กออกมาเพื่อชาวยุโรป อย่างแท้จริง จุดเริ่มต้นทุกอย่าง
เกิดขึ้นบนกระดาษเปล่าๆ ทีมงานช่วยกันคิดและค้นหาแนวทางที่จะทำให้ Swift แตกต่างไปจาก
Suzuki รุ่นอื่นๆที่เคยสร้างมาและมันควรต้องตาต้องใจผู้คนทั่วโลกไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งนั่น
ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา พวกเขาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
คราวนี้ ถึงเวลาที่ต้องพัฒนา Swift รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน ทีมออกแบบของ Suzuki จึงบินกลับไป
ที่ Design Studio ใน Turin ประเทศ Italy อีกครั้ง ทั้งเพื่อทำงานออกแบบ ร่วมประชุมปรึกษาหารือ
กับทีมนักออกแบบชาวยุโรป เพื่อร่างรูปแบบแนวเส้นสาย ในขั้นตอน First Sketch ซึ่งจะเป็นการ
ค้นหาแนวทางการกำหนดลายเส้นบนตัวรถ เป็นหลัก
โจทย์หลักก็คือ ทำอย่างไร ที่จะทำให้ Swift ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ?
จากการทำงานอย่างหนักที่ Design Studio ในเมือง Turin ทีมออกแบบ ได้กำหนดแนวทางให้
Swift ใหม่ มี Theme การออกแบบ ที่ว่า Dynamic & Energetic โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ
1. Evolution : การพัฒนาให้ตัวรถสดใหม่ยิ่งขึ้น แต่ต้องคงไว้ซึ่งบุคลิกของ Swift รุ่นเดิม
2. Outstanding Style : รุปลักษณ์ ต้องสวยงาม โฉบเฉี่ยว ไม่แพ้รถยุโรป
3. Timeless Design : ไม่ว่า เวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เส้นสายของตัวรถต้อง เข้ากันได้กับ
ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย และตามแนว Trend แฟชันต่างๆ
หลังกำหนดแนวทางการออกแบบแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือกันละ! ภาพสเก็ตช์ในช่วงแรก รวม 13 แบบ
ถูกประเมินความเป็นไปได้ แล้วคัดเลือกออกมา เหลือเพียง 6 แบบ เพื่อจะนำไปสร้างขึ้นรูปเป็น
หุ่นดินเหนียว จำลอง ขนาด 1/3 ( 1 ใน 3 จากขนาดรถคันจริง) โดยแบบที่ถูกเลือกออกมานั้น คือ
แบบ A D E G I และ M อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้
แต่เมื่อถึงเวลาต้องเลือกมาเพียง 2 แบบสุดท้าย เพื่อที่จะนำไปขยายร่าง ให้เป็นแบบดินเหนียว
ขนาดเท่ารถคันจริง หรือ 1/1 แบบที่ถูกตัดสิน และเลือกออกมาเดินหน้าพัฒนาต่อ คือแบบ D
และ แบบ G ซึ่งมีบุคลิกที่คล้ายกับ Swift รุ่นเดิมที่สด แม้จะไม่ได้ใส่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
ให้เป็นสีดำก็ตาม
ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่า เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar แอบถอยหลังไปกว่าตำแหน่งเดิม ในรถรุ่นเดิม
เหตุผลที่ทีมออกแบบระบุไว้ ก็คือ ไม่ต้องการให้ Swift ใหม่ มีแนวเส้นลากยาวต่อเนื่องจากหน้ารถ
จนถึงหลังคา ในแบบ One-Motion Form เหมือนรถยนต์ขนาดเล็กจาญี่ปุ่นค่ายอื่นๆ แต่พอออกแบบ
มาแล้ว Overhang (ระยะห่างจากล้อรถจนถึงมุมกันชน) ด้านหน้า ยาวขึ้น จึงต้องปรับแก้ตำแหน่ง
ของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ให้สมดุล กับทั้งตำแหน่งของล้อคู่หน้า และระยะ Overhang ด้านหน้า
ของตัวรถ
ส่วนเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ที่ต้องทาสีดำ นั่นเพราะว่า ทีมออกแบบได้พยายามทดลองไม่ทาสีดำ
ลงไปบนเสาหลังคาคู่หน้า ในแบบดินเหนียว D และ G แต่สุดท้าย พอใส่ เสาแบบสีดำเข้าไป เมื่อ
ต้องทำหุ่นดินเหนียวขนาดเท่าของจริง อย่างชุดภาพข้างบนนี้ ลงไปในแบบ D และ G ยังไงๆ รถ
ก็ยังคงดูเป็น Swift อยู่ดี ทำให้ทีมงานเกิดอาการลังเลมากว่า จะเอาอย่างไรดี แต่ท้ายที่สุด ก็จบลง
ด้วยการกำหนดให้งานออกแบบของ Swift ต้องมีเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar สีดำอยู่นั่นเอง
ส่วนการออกแบบภายในนั้น ก็มีการปรับปรุงและยกระดับขึ้นไปอีกขั้น หลังจากได้รับความคิดเห็น
จากลูกค้าว่า รถรุ่นก่อน ติดตั้งแผงหน้าปัดที่ใช้ Plastic ราคาถูก จนสัมผัสได้ผ่านทางพื้นผิวของมัน
คราวนี้ ทีมออกแบบเลยตัดสินใจ บินไป Italy และศึกษาร่วมกับทีมออกแบบในยุโรป จนได้แนวทาง
การออกแบบภายใน มา 4 รูปแบบ คือ แบบ W X Y และ Z แต่ในท้ายที่สุด มติในทีมออกแบบกำหนด
ให้ใช้แนวทาง Y เป็นพื้นฐาน ในการปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมกับทั้งการใช้งานของผู้บริโภค และเพื่อ
ความสะดวกต่อการผลิต รวมทั้งการบริหารจัดการด้านต้นทุน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ทิ้งเรื่องการเลือกใช้
วัสดุที่ให้พื้นผิวสัมผัสที่ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม
หลังงานออกแบบ การพัฒนาด้านวิศวกรรม และการทดสอบอย่างหนักในแต่ละทวีปทั่วโลก ทั้งบน
สภาพถนนหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะ บนสนามแข่ง Nurburgring ที่เยอรมัน อันลือลั่นใน
ความโหดร้ายของทางโค้ง และสภาพผิวถนน จนพร้อมจะปล่อยรถออกสู่ตลาด Suzuki ก็จัดงาน
เผยโฉม Swift ใหม่ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2010
แต่แทนที่จะเปิดตัวในญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก เหมือนธรรมเนียมปฏิบัติ คราวนี้ Osamu Suzuki CEO
ของบริษัท ถึงขั้นบินไปยังโรงงาน Magyar Suzuki ในเมือง Esztergom ณ ประเทศ Hungary เพื่อ
เปิดสายการผลิตของ Swift ใหม่ ด้วยตัวเอง!
เหตุผลก็เพราะว่า โรงงาน Magyar Suzuki เป็นหนึ่งใน 4 โรงงานหลัก ที่ Suzuki วางแผนไว้เพื่อ
การผลิต Swift ใหม่ ให้รองรับกับความต้องการของทั่วโลก โดย โรงงาน ใน Hungary แห่งนี้ จะ
รับหน้าที่ผลิต Swift ใหม่ เพื่อป้อนตลาดยุโรปเป็นหลัก
สำหรับตลาดญี่ปุ่น และตลาดส่งออกอื่นๆทั่วโลก Swift ใหม่ ถูกผลิตขึ้นที่ โรงงาน Sagara Plant
ในจังหวัด Shizuoka ที่ผมเคยไปเยี่ยมชมมาแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2009 ถือว่าเป็นโรงงานผลิต
รถยนต์ ที่มีพื้นที่ใหญ่โตมาก และมีสนามทดสอบ ความเร็วสูง อยู่รอบบริเวณโรงงานไปด้วย
ผมไม่แปลกใจว่า Swift ใหม่ จะถูกนำมาผลิตที่โรงงาน Sagara เพราะเมื่อครั้่งที่ไปเยี่ยมชม
โรงงานกันมา ผมกับ คุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Channel มีโอกาสเห็น ไฟท้ายของรถ
รุ่นหนึ่งอยู่แต่ไกล ในโรงงาน เรามองเห็นแล้วว่า ไฟท้ายมันแปลกไปกว่า Swift ปกติที่เคย
เห็นกัน อีก 6 เดือนให้หลัง ผมกับ กล้วย ก็เพิ่งจะรู้ว่า รถที่เราเห็น นั่นแหละ คือ Swift ใหม่!
สำหรับตลาดเมืองจีน โรงงาน Chogqing Changan Suzuki Automobile Co., Ltd. ในเมืองใหญ่
ที่ชื่อว่า ฉางอัน จะรับหน้าที่ดูแลการผลิต Swift ใหม่ เพื่อป้อนตลาดในแดนมังกรโดยเฉพาะ
แต่สำหรับตลาดเมืองไทย ด้วยเหตุที่ ในช่วงระหว่างการพัฒนา Swift ใหม่ รัฐบาลไทย เพิ่งเริ่ม
กำหนดให้มีโครงการ รถยนต์ ECO Car พอดี ซึ่งในข้อกำหนดโดยสรุปก็คือ ต้องเป็นรถยนต์
รุ่นใหม่ ตัวถังใหม่ ที่ไม่เคยมีการผลิตหรือประกอบในเมืองไทยมาก่อน มีขนาดเครื่องยนต์
เบนซิน ไม่เกิน 1,300 ซีซี Diesel ไม่เกิน 1,400 ซีซี ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ใน
ไอเสีย ออกมา ต่ำกว่าระดับ 120 กรัม / 1 กิโลเมตร และต้องทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตาม
มาตรฐานการทดสอบ UNECE (สหประชาชาติ) ได้ที่ 20 กิโลเมตร/ลิตร Suzuki จึงสนใจจะ
เข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในตลาดรถยนต์ขนาดเล็กกลุ่มใหม่นี้ เช่นเดียวกับ Honda Mitsubishi
Nissan Toyota (ไม่นับ Tata Motors กับ Volkswagen ที่ถอนตัวออกไปในภายหลัง)
Suzuki ถึงขั้นยอมลงทุนมโหฬาร 9,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ของตน
เป็นแห่งแรกในเมืองไทย ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์
หลากรุ่น หลายตัวถัง ทั้งป้อนตลาดในเมืองไทย และส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมทั้งเจ้า
Swift รุ่นใหม่นี้ด้วย
แล้วไฉน? Suzuki ถึงได้เลือก Swift มาเป็น ECO Car แทนที่จะเป็นรถรุ่นอื่นๆ?
เหตุผลมีอยู่ว่า ในตอนแรก Suzuki มองมาที่ Splash รถยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี
ที่เคยทำตลาดมาแล้วในยุโรป แต่ ด้วยเหตุที่ ตัวรถมาในแนวสูงโปร่ง เอาใจชาวยุโรป ดังนั้น
การทำให้ Splash มีอัตราสิ้นเปลือง ประหยัดได้ถึง 20 กิโลเมตร/ลิตร ดูเป็นเรื่องยาก
ระหว่างการตัดสินใจ เมื่อเมียงมองไปยังโครงการพัฒนา Swift ใหม่ ก็พบว่า ในเมื่อรถยนต์
รุ่นนี้ จะต้องพัฒนาให้เน้นความประหยัดน้ำมันมากขึ้น และต้องลดความจุกระบอกสูบของ
เครื่องยนต์ ลงมาจากระดับ 1,500 ซีซี เหลือ 1,200 ซีซี (เบนซิน) กันอยู่แล้ว ไฉนเลย ทำไม
ไม่จับมาสวมเข้าโครงการ ECO Car ของเมืองไทยเสียเลยละ!?
หลังการพิจารณากันพักใหญ่ ในที่สุด Suzuki ตัดสินใจจะส่ง Swift รุ่นที่ 3 มาเป็นผู้เล่น
หน้าใหม่ในตลาดรถยนต์ ECO Car ด้วยการ ลดทั้งขนาดเครื่องยนต์ ลดทั้งตำแหน่งทาง
การตลาดลงมา จากเดิมที่ต้องแข่งขันอยู่ในตลาด กลุ่ม B-Segment Hatchback 1,500 ซีซี
กับทั้ง Honda Jazz Mazda 2 และ Toyota Yaris เปลี่ยนมาแข่งขันในตลาดที่มีลูกค้ารอ
อุดหนุนอยู่ในจำนวนมากกว่า อย่าง กลุ่ม Sub-B Segment ECO Car 1,000 – 1,200 ซีซี
ด้วยราคาขายปลีก ที่ถูกกว่าเดิม จนถือเป็นความได้เปรียบ เมื่อต้องประกบกับคู่แข่งอย่าง
Honda Brio Mitsubishi Mirage Nissan March และ Toyota Hatchback รหัสโครงการ
D80N (Agya) ที่เพิ่งเผยโฉมใน Indonesia Motor Show และเตรียมจะเปิดตัวในบ้านเรา
ช่วงปีหน้า (2013)
Suzuki เลยปล่อยให้ Swift รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นรุ่นเครืองยนต์ 1,500 ซีซี นำเข้าจากโรงงานใน
Indonesia สร้างชื่อในตลาดเมืองไทยให้ติดปาก รวม 2 ปีเต็มๆ ยอมขายรุ่นเก่ากันพักใหญ่
เพื่อรอการมาถึงของรถรุ่นใหม่ ที่มีขนาดใหญ่โตกว่าเดิม จนถือว่า อยู่ในพิกัด B-Segment
อย่างเต็มตัว ยิ่งกว่ารุ่นเดิม เสียด้วยซ้ำ
Swift ใหม่ มีขนาดตัวถังที่นอกจากจะใหญ่กว่ารถรุ่นเดิมแล้ว ยังมีขนาดใหญ่ ยาว และกว้าง กว่า
คู่แข่งในพิกัด Sub-B Segment ตัวถัง Hatchback 5 ประตู ทุกคันในตลาด ด้วยความยาวเพิ่มขึ้น
จาก 3,755 เป็น 3,850 มิลลิเมตร (ยาวขึ้น 95 มิลลิเมตร) กว้างขึ้นจากเดิม 1,690 มิลลิเมตร เป็น
1,695 มิลลิเมตร (กว้างขึ่น 5 มิลลิเมตร) ส่วนความสูงยังคงไว้ที่ตัวเลขระดับเดิม 1,510 มิลลิเมตร
แต่ระยะฐานล้อ หรือ Wheelbase นั้น แม้จะยาวขึ้นจาก 2,390 มิลลิเมตร เป็น 2,430 มิลลิเมตร
(ยาวขึ้นจากรุ่นเดิม 40 มิลลิเมตร) แต่ก็ยังถือว่า สั้นกว่า Nissan March อยู่ 20 มิลลิเมตร
หลายๆคน อาจแยกความแตกต่างระหว่าง Swift รุ่นเดิม กับรุ่นใหม่ ไม่ออก แต่ถ้าดูดีๆจะพบว่า
ไฟหน้าของรุ่นใหม่ โฉบเฉี่ยว และมีแนวเส้นกรอบไฟหน้า โค้งมนมากขึ้น ทำให้ด้านหน้า
ของรถ ดูบานและโค้งมนกว่าเดิม นอกจากนี้ แนวกรอบประตูคู่หน้า ที่เคยกินพื้นที่เข้าไปจน
หมดขอบเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar มาบัดนี้ ในรุ่นใหม่ กรอบประตูจะมีขนาดเล็กลงนิดหน่อย
และเผยให้เห็นแนวเสากรอบประตู ที่เชื่อมติดกับแผ่นหลังคามากยิ่งขึ้น ข้อดีก็คือจะช่วยเสริม
ความแข็งแรงขอตัวถัง ให้รองรับการชนกระแทก และกระจายแรงปะทะไปทั่วทั้งคันได้ดีขึ้น
แนวเส้นตัวถังจะเพิ่มความโค้งมนบ้างในบางจุด เช่นเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar แต่ยังคงเป็น
เส้นโค้งที่สร้างความรู้สึกโฉบเฉี่ยวให้กับตัวรถได้ดี เพิ่มบุคลิกความกระฉับกระเฉงให้มาก
ยิ่งขึ้นกว่าเก่า
ส่วนชุดไฟท้ายนั้น จะมีขนาดใหญ่โตขึ้น และมีลวดลายกราฟฟิคด้านในที่ต่างกัน ไฟเลี้ยวจะ
เป็นสีขาวใส แต่ใช้หลอดสีเหลืองส้มอำพันตามเคย และติดตั้งอยู่ฝั่งด้านนอกของชุดไฟท้าย
เช่นเดียวกับไฟถอยหลังที่ติดตั้งเรียงลงมาด้านล่างสุด
เหนือบานประตูห้องเก็บของด้านหลัง จะมีสปอยเลอร์ในตัว พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 ติดตั้งมาให้
จากโรงงาน ทุกคัน เป็นชิ้นสปอยเลอร์ ที่ออกแบบมาให้สอดรับกับบานประตูด้านหลังตั้งแต่แรก
และมี ใบปัดน้ำฝนพร้อมรูฉีดน้ำล้างกระจกมาให้ ในแทบจะทุกรุ่นย่อย
ในรุ่นตั้งแต่ GL และ GLX ไม่ว่าจะเลือกเกียร์อัตโนมัติ หรือ เกียร์ธรรมดา คุณจะได้กุญแจรีโมท
แบบ Keyless Smart Entry รูปเมล็ดข้าวสารแบบนี้ เหมือนกัน สั่งปลด หรือล็อกบานประตูได้
ครั้งละ 1 บาน แค่พกกุญแจ เดินเข้าไปใกล้รถ ในระยะ 80 เซ็นติเมตร แล้วกดปุ่มสีดำ บนมือจับ
เปิดประตู ฝั่งคนขับ หรือฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายก็ตาม ประตู จะปลดหรือล็อกให้ เพียงบานที่คุณจับ
แค่บานเดียว เพื่อความปลอดภัย ขณะขึ้นรถในลานจอดรถ
การกดปุ่มปลดล็อคที่กุญแจ 1 ครั้งจะเป็นการปลดล็อคเฉพาะบานคนขับ และหากกดซ้ำอีกครั้ง
ติดๆกัน คือการสั่งปลดล็อคประตูทุกบาน หรือหากไม่ต้องการควานหากุญแจในกระเป๋า ก็แค่
เดินเข้าไปใกล้รถในระยะ 80 ซ.ม. แล้วกดปุ่มสีดำบนมือจับเพื่อปลดล็อคก็ได้ กด 1 ครั้ง แต่
จะปลดล็อคเฉพาะบานที่กด ถ้ากดปุ่มสีดำ 2 ครั้งจะปลดล็อคประตูบานที่เหลืออยู่ มามุขเดียว
กับรถที่ขายในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเลย
รีโมท มีระยะรัศมีทำงานไกล 5 เมตร ถ้าหลังปลดล็อกด้วยวิธีการใดก็ตาม ภายใน 30 วินาที แล้ว
คุณยังไม่เปิดประตูรถ ระบบจะสั่งล็อกเองอัตโนมัติอีกครั้งทันที
รถรุ่นที่ใช้กุญแจรีโมทแบบเมล็ดข้าวสาร จะติดตั้งระบบกดปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start มาให้
นอกจากนี้ ยังมีระบบติดเครื่องยนต์ Immobilizer และมีสัญาณกันขโมยติดตั้งมาให้จากโรงงาน
ทำงานหลังล็อกประตูในเวลา 20 วินาที และร้องด้วยเสียงแตรรถ ดังลั่น สนั่นซอย ขอไม่เขียน
ถึงวิธีการปลดล็อก เพราะจะเป็นการชี้ช่องโอกาสให้เกิดการโจรกรรมได้
การเข้า – ออกจากพื้นที่เบาะนั่งคู่หน้า ทำได้สะดวกสบายดี ไม่ต่างจาก Swift รุ่นเดิม ประตูคู่หน้า
มีขนาดใกล้เคียงกับรุ่นเดิม ใหญ่ขึ้นนิดเดียว ต้องสังเกต หรือวัดด้วยตลับเมตร จึงจะพอมองเห็น
ความแตกต่าง การหย่อนบั้นท้ายลงไปนังในเบาะ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายนัก
ส่วนแผงประตูด้านข้าง นอกจากจะออกแบบให้มีพื้นที่วางแขน ลาดเอียงลงกว่าเดิมแล้ว ยังมีช่อง
ใส่เอกสาร และขวดน้ำขนาด 7 บาท มาให้ด้วย ประดับตกแต่งด้วยผ้าลายสาก แบบรถยุโรปบ้านๆ
ทั่วๆไป การวางแขน ยังทำได้สบายดี ไม่มีเรื่องให้ตำหนิ เช่นเดิม
มือจับเปิดประตูรถจากด้านในเป็นแบบ พลาสติก โครเมียม ทั้ง 4 บาน
เบาะนั่งคู่หน้า ดูเหมือนเป็นเบาะที่มีฟองน้ำหุ้มไว้หนาเอาเรื่อง ไม่ว่าจะเลือกรุ่นย่อยไหน ลายของ
ผ้าเบาะ ก็จะเหมือนกันหมด เป็นผ้าสีดำ และแอบมี ลวดลาย Texture เป็นเส้นบะหมี่ เรียงตัวห่างๆ
สีน้ำเงินเข้มๆ ดูดี และให้ผิวสัมผัสที่ดี เทียบเท่ากับรถยนต์นั่งระดับ Compact Class C-Segment
1,600 – 2,000 ซีซี บางรุ่น ที่ผลิตในบ้านเราด้วยซ้ำ
พนักพิงอาจจะคล้ายคลึงกับรุ่นเดิมอยู่บ้าง ยังคงรองรับแผ่นหลังได้ดี และอาจมีส่วนกลางที่ปุ๋มลงไป
พอสมควร แต่เบาะรองนั่ง แม้จะมีความยาวเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย กระนั้น ก็ยังถือว่าเป็นเบาะนั่ง
ที่สั้นอยู่ หากยาวกว่านี้ได้อีกนิดนึง ก็จะช่วยรองรับต้นขาได้มากกว่านี้อีก (จากเดิมที่รองรับได้กำลังดี)
พนักศีรษะมีขนาดใหญ่ รองรับส่วนหัวได้กำลังดี แม้จะปรับให้สูงขึ้น หรือกดลงต่ำจนสุดพนักพิงเบา
ก็ตาม ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ในตำแหน่งเบาะคนขับ ยังคงโปร่ง โล่งสบาย จะสัมผัสได้เลยว่า ตัวรถมี
ความกว้างเพิ่มขึ้นจากเดิมชัดเจน แม้เพียงแค่มองด้วยสายตา
เบาะนั่ง ฝั่งคนขับ ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ด้วยก้านโยกที่ด้านข้างฐานรองเบาะนั่ง แม้จะปรับให้ต่ำสุดแล้ว
ก็ยังมีความสูงของคนขับ จากพื้นถนน พอๆกันกับ Swift รุ่นเดิม ใครที่ชอบขับรถบนเบาะนั่งเตี้ยๆ อาจ
บ่นเสียดายอยู่บ้างเล็กน้อย แต่การติดตั้งเบาะไว้สูงแบบนี้ ก็มีข้อดี นั่นคือ ช่วยให้เข้า – ออก จากตัวรถ
ง่ายดาย สะดวกขึ้น และไม่ต้องใช้แรง ในการงัดร่างตัวเอง ลุกออกจากรถมากนัก
ภาพรวมของเบาะนั่ง คู่หน้าใน Swift ใหม่ ถือว่า นั่งสบายกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย และนั่งได้ดีที่สุดใน
กลุ่ม ECO Car ถึงจะเดินทางไกล โอกาสปวดหลัง ยังค่อนข้างน้อย
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับ สูง – ต่ำ ได้ ติดตั้งมาให้ ในขณะที่คู่แข่งบางรุ่น
ปรับระดับสูง – ต่ำ ไม่ได้
การเข้า – ออก จากประตูคู่หลังนั้น แม้ว่าช่องทางเข้าจะดูเหมือนใหญ่ และเข้าได้สะดวกกว่า ECO Car
Hatchback คันอื่นๆ ก็จริง แต่ความแตกต่าง ก็ไม่ได้มากมายอย่างที่คิด เพราะจริงๆแล้ว ช่องทางเข้า
ยังมีขนาดเล็ก และสั้นไปนิดนึง
ตอนเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง หัวของผม เฉียดกับขอบทางเข้าด้านบนมากๆ ถ้าไม่ก้มหัวช่วยอีกนิด
หัวของผมคงจะโขกกับตัวถังรถไปแล้ว
แผงประตูด้านข้าง ออกแบบในทิศทางเดียวกับแผงประตูคู่หน้า มีช่องวางกระป๋องน้ำอัดลม และขวดน้ำ
ขนาด 7 บาทได้พอดี รวม 2 ช่อง มีพื้นที่วางแขนได้ในระดับพอสบาย ลาดลงเล็กน้อย ตกแต่งด้วยผ้า
ลายสากๆ เหมือนกัน ที่สำคัญก็คือ กระจกหน้าต่าง สามารถเลื่อนลงมาได้จนหมดบาน สุดขอบล่าง
เบาะนั่งแถวหลัง ถือว่านั่งได้สบายกว่าที่คิด พนักพิงหลัง แบนราบ ไม่มีลูกเล่น เว้านูน เพื่อซัพพอร์ต
ร่าง ขณะเดินทาง ไม่ให้ เอียงกะเท่เร่ ขณะเข้าโค้งแต่อย่างใด กระนั้น ฟองน้ำที่หุ้มโครงเบาะ กับเบาะ
รองนั่ง ก็หนาและนุ่มแน่นใช้การได้ เบาะรองนั่งเหมือนจะสั้น แต่ถ้านั่งให้เต็มก้นแล้วจะพบว่า มันก็
ไม่ได้สั้นจนน่าเกลียดนั่งไม่ได้ แต่อย่างใด มีการออกแบบให้ขอบเบาะ เว้าเข้ามา เพื่อให้ก้าวขาเข้า
และออกจากรถสะดวกขึ้น
พื้นที่เหนือศีรษะนั้น สำหรับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตรอย่างผม ถือว่า ฉิวเฉียดมากๆ เหลือพื้นที่ให้
นิ้วชี้ นิ้วเดียว สอดแทรกเข้าไปคั่นกลางระหว่างศีรษะ กับ เพดานหลังคาแบบโฟม Recycle ขึ้นรูป
หมายความว่า คนตัวสูงอย่าง ผู้การจอมเกิน Commander CHENG ของเรา หมดสิทธิ์นั่งเบาะหลัง
อย่างแน่นอน เพราะรายนั้น ตัวสูงเกินไป และต้องนั่งเอียงคอ เอียงหัว เลยทีเดียว
พนักศีรษะ รูปตัว L คว่ำ ที่ผมไม่ชอบ มาโผล่ให้ได้พบเห็นกันอีกแล้วใน Swift ใหม่ ถ้าไม่ยกขึ้
ใช้งาน ขอบล่างของมัน ก็จะทิ่มตำต้นคอของผมไปตลอดทาง แต่พอยกขึ้นใช้งานแล้ว มันก็
รองรับหัวของผม ได้สบายในระดับหนึ่ง ผิดจาก พนักศีรษะ L คว่ำ ในรถคันอื่นๆ เล็กน้อย
พื้นที่วางขา ทำได้ดีกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับ การเลื่อน เบาะหน้าเป็นสำคัญ แต่ขนาดผมปรับตำแหน่ง
เบาะคนขับ ให้เหมาะสมกับตัวเองแล้ว ย้ายมานั่งด้านหลังดู พบว่า ยังมีพื้นที่วางขาเหลืออีก
1 ฝ่ามือและอีก 4 นิ้วชิดติดกันในแนวตั้ง ถือว่า แก้ปัญหาจากรุ่นเดิมได้ในเรื่องนี้
เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะคู่หลัง มีทั้งแบบ ELR 3 จุด ทั้งฝั่งซ้าย กับ ขวา และ แบบคาดเอว 2 จุด
ที่ตำแหน่งนั่งตรงกลาง และมี มือจับยึดเหนี่ยว (หรือที่เราเรียกมันว่า “ศาสดา” ซึ่งแปลได้ว่าเป็น
เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตอนนั่งบนรถ) มาให้ด้วย ทั้งฝั่งซ้าย และขวา
นอกจากนี้ เบาะแถวหลัง ยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของ
ด้านหลัง โดยดึงห่วงเชือกสีดำ บนบ่าพนักพิงทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อพนักพิงพับลงมาได้ อย่างไรก็ตาม
บริเวณตัวล็อกพนักพิงเบาะ กับตัวถัง ควรเก็บงานให้เรียบร้อยกว่านี้สักหน่อย ECO Car คันไหน
ก็ไม่เห็นจะเก็บรายละเอียดเล็กน้อยตรงจุดนี้ให้เลยสักคันเดียว
บานประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิดยกขึ้นมาด้วยระบบกลอนไฟฟ้า เหมือนเช่นบานประตูของ
รถทั้งคัน สังเกตดีๆ จะมีสวิชต์เปิดฝา ด้วยไฟฟ้า ข้างกันนั้น คือสวิชต์ล็อกบานประตู เหมือนเช่น
สวิชต์สีดำ บนมือจับประตูคู่หน้านั่นเอง ค่ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิก ถึง 2 ต้น ขณะที่รถบางรุ่น
จะใช้ช็อกอัพเพียงต้นเดียวในการค้ำยันเพื่อลดต้นทุน
ในรุ่น GLX จะมีไล่ฝ้ามาให้ นอกจากนี้ ทุกรุ่นย่อย จะมีใบปัดน้ำฝนหลัง พร้อมที่ฉีดน้ำ
ล้างกระจกบังลมหลัง มาให้ เพื่อช่วยเพิ่มทัศนวิสัยการขับขี่ทั้งยามค่ำคืน และยามฝนตกจนฝุ่น
ถูกดีดจากพื้นถนนขึ้นมาเกาะกระจกบังลมหลัง
เสียดายที่ การออกแบบเปลือกกันชน เน้นรูปแบบที่สวยงาม จนทำให้ขอบล่างของช่องทางเข้า
ห้องเก็บของ อยู่สูงไปหน่อย อาจไม่สะดวกสำหรับการยกสัมภาระขนาดใหญ่ ไว้ท้ายรถ แต่
อย่างว่าครับ Takeuchi-San บอกว่า Swift เป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจคนชอบขับขี่เป็นหลัก
ดังนั้น การเก็บของสัมภาระต่างๆ ก็อาจจะด้อยคุณสมบัติลงไปบ้าง เมือเทียบกับรถคันอื่นๆ
ห้องเก็บของมีขนาดความจุ 213 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน และจะใหญ่ขึ้นกว่านี้เป็น
562 ลิตร VDA เมื่อพับเบาะ หลังลงทั้ง 2 ฝั่ง เพิ่มพื้นที่เก็บของให้ใหญ่โตมากขึ้นกว่าเดิม
อันที่จริงแล้ว ขนาดของความจุ หากดูกันผ่านๆแล้ว เหมือนจะมากกว่า คู่แข่ง ในพิกัดเดียวกัน
คันอื่นอยู่นิดหน่อย ไม่ได้หนีไปกว่ากันมากนัก แต่การออกแบบให้มีแผงรีไซเคิล ป้องกัน
การมองเห็นสัมภาระจากบุคคลภายนอก ก็ช่วยให้อุ่นใจได้ในรดับหนึ่ง แม้จะไม่มีเชือกสาย
พร้อมห่วงคล้องตรึงเอาไว้กับฝาประตูห้องเก็บของ และอาจมีโอกาส กระดอนหลุดร่วงไปอยู่
กับพื้นห้องเก็บของด้านล่างก็ตาม
เมื่อเปิดยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา คุณจะพบว่า ด้านใต้ จะมีท่อนเหล็กขันน็อตล้อ ตะขอลากรถ
และเครื่องมือประจำรถแถมมาให้ ส่วนแม่แรงยกรถนั้น ซ่อนไว้ในแผงพลาสติกฝั่งขวามือ ต้อง
เปิดถอดออกมาจึงจะเห็น
แต่สิ่งที่ชวนงุนงงและสงสัยเป็นที่สุด หนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า ในรุ่น GL & GLX CVT ไม่มียางอะไหล่
มาให้เลย แถมมาแค่ชุดปะยาง จาก Continental ถึงจะรู้อยู่ว่า มีราคาแพงกว่า มันก็ยังรู้สึกแปลกๆ
แต่พอเป็นรุ่น GL 5MT กลับใส่ยางอะไหล่ ล้อเหล็กสีดำ ขนาดยางเท่ากับล้อปกติ ติดรถ มาให้เฉยเลย!
อย่างที่เห็นในภาพข้างล่างนี้
ไม่เข้าใจครับพี่ งงมาก ณ จุดนี้ ทำไม ไม่แถมให้เหมือนกันไปเลย จำได้ว่า ตอนไปลองขับที่
โรงงาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 ก็บอกกับทาง Suzuki ไปแล้วนี่นา ว่าคนไทยยังเลือกจะ
ขอใช้ยางอะไหล่ มากกว่าชุดปะยาง เหตุผล อาจเป็นเพราะว่า น้ำหนักยางอะไหล่ อาจหนักขึ้น
จนทำให้ตัวรถหนักขึ้น และมีสิทธิ์จะทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้อยกว่าที่ควรจะได้ พอ
อนุมัติผ่านแล้ว ก็เลยต้องยึดตามสเป็กในวันส่งรถไปทดสอบกับสถาบันยานยนต์หรือเปล่า?
นี่เดาล้วนๆนะ ใครทราบความจริง ช่วยชี้แจงแถลงไขให้ผมทีเถอะ!
แผงหน้าปัดคือจุดที่ทำให้หลายๆคน เกิดความรู้สึกอยากได้รถคันนี้ขึ้นมาดื้อๆ เพราะด้วยการ
ออกแบ การตกแต่งด้วยโทนสีดำ ประดับด้วยลายพลาสติก สีเงินอะลูมีเนียม ตามจุดต่างๆ ทั้ง
รอบช่องแอร์คู่กลาง หรือบนพวงมาลัย กับบริเวณ เหนือช่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ล้วน
มีส่วนช่วยให้แผงหน้าปัดดูสปอร์ต คมเข้ม หรู และดูมีราคาแพง กว่ารถยนต์ในพิกัดเดียวกัน
แถมยังข้ามขั้นไปเทียบกับรถยนต์ระดับสูงขึ้นไปอย่างกลุ่ม Compact C-Segment กันอีกด้วย!
ขนาดของสวิชต์ต่างๆ ใหญ่ขึ้นกว่าสวิชต์บนแผงหน้าปัดรถรุ่นเดิม ตำแหน่งการวางสวิชต์ต่างๆ
ก็สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม สัมผัสได้ถึงความตั้งใจ และใส่ใจในประเด็นด้านสัมผัส
แรกรับรู้ของลูกค้า หรือ Perceived Quality ซึ่งถือว่า ทำได้ดีเกินความคาดหมาย หากเทียบกับ
รถยนต์ขนาดเล็กด้วยกัน คันอื่นๆ
มองไปด้านบน แผงบังแดด มีมาให้ทั้ง 2 ฝั่ง แต่ติดตั้งกระจกแต่งหน้ามาให้แค่เพียงฝั่งคนขับ
เท่านั้น ไม่มีมาให้ในฝั่งผู้โดยสาร กระจกมองหลัง ก็เป็นแบบมาตรฐาน ไม่ได้เป็นแบบตัดแสง
แต่อย่างใด อีกทั้ง ยังไม่มี ไฟอ่านแผนที่ อย่างที่ Swift เวอร์ชันญี่ปุ่น เขามีติดตั้งมาให้ในรุ่นท็อป
(คือรุ่นล่างๆของเขาก็ไม่มีเหมือนกันกับบ้านเรา) นี่คืออุปกรณ์ที่ผมมองว่า ควรติดตั้งมาให้กับ
ลูกค้าคนไทยได้แล้วครับ
ไล่จากฝั่งขวา มาด้านซ้าย สวิชต์ควบคุมกระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีสวิชต์ล็อกกันเปิดหน้าต่างขอ ง
ผู้โดยสาร 3 บาน พร้อมระบบ Central Lock ที่มี สวิชต์สั่งล็อก – ปลดล็อก กลอนประตูไฟฟ้า มี
มาให้ครบ 4 บาน ทั้งในรุ่น GL และ GLX กระจกมองข้าง ปรับและพับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
นี่ก็เป็นอีกจุดหนุึ่งที่ต้องขอติติงกันมาละ ว่า ในเมื่อให้สวิชต์กระจกไฟฟ้าฝั่งคนขับเป็นแบบ
One-Touch ขาลง แล้ว ทำไมยังต้องดึงกระจกขึ้นด้วยนิ้วของผู้ขับขี่เองละ?
สำหรับประเทศไทย มันก็เหมือนกับอีกหลายประเทศ ที่มีทางด่วน และเราต้องลดกระจกลง
เพื่อจ่ายค่าผ่านทางอยู่บ่อยๆ การออกรถจากด่านเก็บเงิน โดยที่ยังต้องพะวงกับการหาที่เก็บ
เงินทอน แล้วยังจะต้องใช้นิ้ว ดึงสวิชต์ ยกกระจกขึ้นจนสุดนั้น เป็นเรื่องที่ ไม่ควรเกิดขึ้นใน
รถยนต์ที่ผลิตขาย ในสมัยนี้ได้แล้ว
แค่เพียงฟิวส์ ตัวเดียวเท่านั้นเอง มันคงไม่ทำให้ต้นทุนถึงกับเพิ่มขึ้นมากมายนักหรอกครับ
ในรุ่นปรับโฉมคราวต่อไป ใส่กระจกไฟฟ้าแบบ One-Touch ทั้งขาขึ้น และขาลง ด้วยเถิด!
ในรถทั้ง 2 รุ่นที่เรานำมาทดลองขับนั้น ติดตั้งระบบ ใช้ สวิชต์ กดปุ่ม ติดเครื่องยนต์ มาให้
ถือเป็นรถยนต์เกียร์ธรรมดารุ่นแรกๆ ในเมืองไทย ที่มีปุ่มติดเครื่องยนต์มาให้จากโรงงาน
พวงมาลัยของทั้งรุ่น GL และ GLX ประดับด้วยสีเงินสะท้อนแสงเงา สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ
ได้ 40 มิลลิเมตร และปรับระยะใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่ได้ 36 มิลลิเมตร แต่จะมีเฉพาะรุ่นท็อป
GLX CVT เท่านั้น ที่จะหุ้มหนังมาให้ แถมติดตั้งสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง Multi Function
มาให้บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ส่วนรุ่นอื่น ไม่มีมาให้ และพวงมาลัยก็หุ้มด้วยยูรีเทน ก้านสวิชต์
ระบบปัดน้ำฝน มีระบบหน่วงเวลามาให้ แต่ไม่สามารถตั้งเวลาให้หน่วงตามต้องการได้
ชุดมาตรวัดบนแผงหน้าปัด ก็ยังคง ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นต้นแบบ ที่เคยขับไปก่อนหน้านี้
จัดวางตัวเลขในแบบ เรียงไปตามแนวโค้งวงกลม ซึ่งในมาตรวัดรอบ การแยกตัวเลขให้ห่างกัน
อาจจะพอช่วยให้การมองเห็นในยามค่ำคืน แต่ตัวเลขในฝั่งมาตรวัดความเร็วนั้น อ่านในตอน
กลางคืนค่อนข้างยาก และต้องละสายตาจากพื้นถนนข้างหน้านานกว่าปกติ เสี้ยววินาที เรื่องนี้
ได้บอกกับทาง Takeuchi-San ไปแล้ว หวังว่าน่าจะเห็นการปรับปรุง ในรถรุ่นต่อไป แต่คงยัง
ไม่ใช่ในรุ่นนี้แล้วละ
ความแตกต่างระหว่าง มาตรวัดของรุ่น GLX เกียร์อัตโนมติ และ GL เกียร์ธรรมดา มี 2 จุด นั่นคือ
ไม่มไฟเตือนระบบ ABS ติดสว่างขึ้นมาด้วย กับหน้าจอแสดงข้อมูล MID (Multi Information
Display) มีการแสดงข้อมูลต่างกัน
เพราะในรุ่น GLX จะมีมาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ บอกตำแหน่งเกียร์แบบ Digital เพิ่มมาให้
ในขณะที่รุ่น GL เกียร์ธรรมดา จะมีมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบ Real Time และ
แบบเฉลี่ย รวมทั้งปริมาณน้ำมันในถังที่เหลือพอให้รถแล่นต่อไปได้ ต้องกดแท่งสีดำ ฝั่งขวามือ
ส่วน Trip Meter สำหรับการวัดระยะทางโดยผู้ขับขี่ตั้งเองได้นั้น มีมาให้ทั้ง Trip A และ Trip B
แต่ต้องกดแท่งสีดำ ฝั่งซ้ายมือ ติดตั้งใกล้กัน
โทนสีที่ใช้ กลางวันจะเป็นตัวเลขสีขาว กลางคืน เมื่อเปิดไฟหน้าจะเป็นเหลืองอำพันบนพื้นดำ
ซึ่งเชื่อว่า น่าจะช่วยให้สบายตาในการมองตอนกลางคืนมากขึ้น
อ้อ มีเข็มวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้ด้วยอีกต่างหาก! ของหายากในรถยนต์ยุคใหม่สมัยนี้
ชุดเครื่องเสียง มีมาให้เฉพาะรุ่น GL และ GLX รวม 3 รุ่นย่อย เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น
CD / MP3 1 แผ่น และช่องเสียบ USB พร้อมลำโพง 4 ชิ้น (คู่หน้า และคู่หลัง ติดตั้ง ณ แผงประตู
ทั้ง 4 บาน) เป็นแบบฝังในตัวท ออกแบบให้กลมกลืนกับแผงหน้าปัด เหมือนกันทั้ง 3 รุ่นย่อย
คุณภาพเสียง จัดอยูในเกณฑ์ดีมาก และถือว่า ดีที่สุดในกลุ่ม รถยนต์ พิกัด ECO Car แต่แน่นอนว่า
ยังเป็นรอง Honda City รุ่นปัจจุบันอยู่นิดหน่อย กระนั้น ถือว่า ยอมรับได้ และถ้าไม่ใช่นักฟังหูทอง
ก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงแต่อย่างใด แค่ปรับเสียงเบสและเสียง ใส Trebal
ให้เหมาะสมตามความชอบ ก็พอแล้ว
เครื่องปรับอากาศ ในรุ่น GLX CVT จะเป็นแบบปุ่มกด ปรับความเย็นได้อัตโนมัติ (Automatic
Air-Condition แบบ ไม่แยกฝั่งซ้าย-ขวา) ซึ่งเป็นออพชันที่รถยนต์ระดับนี้ ในรุ่นท็อป ต้องมีกัน
แล้ว ส่วนรุ่นรองๆ อื่นๆ จะใช้แผงควบคุมเป็นแบบสวิชต์มือบิดธรรมดา การกระจายความเย็น
ถือว่าทำได้เร็วกำลังดี สมกับรถยนต์ที่ควรจะมีแอร์ เย็นทันใจในประเทศเขตร้อน เพียงแต่ว่า
อาจต้องปรับอุณหภูมิ ให้ลงต่ำไว้ตั้งแต่แรก คือต่ำกว่า 22 องศาเซลเซียสกันไปเลย จึงจะเย็น
ได้เร็วทันใจขึ้น
ส่วนพื้นที่ใส่ของจุกจิกนั้น มีมาให้อยู่บ้าง ไม่ถึงกับมากนัก ลิ้นชักเก็บของ บริเวณผู้โดยสารฝั่ง
ซ้าย มีขนาดพอสำหรับการใส่คู่มือประจำรถ และเอกสารทะเบียน กับประกันภัย ซึ่งนั่นก็กิน
พื้นที่ไปแล้ว ครึ่งหนึ่ง แต่ยังเหลือพอให้ใส่ข้าวของได้อีกนิดหน่อย
ใต้ปลั๊กไฟ และช่องเสียบ USB จะมีช่องวางแก้วน้ำ ซึ่งเหมาะจะใส่เครื่องดื่มแบบกระป๋อง หรือ
ขวดน้ำ ขนาด 7 บาท เท่านั้น และใส่ได้เพียงแค่ ตำแหน่งเดียว ไม่เช่นนั้น ก็เอาไว้วาง โทรศัพท์
มือถือ หรือเครื่องเล่นเพลงแบบพกกา เพื่อเสียบชื่อมต่อกับปลั๊ก USB ไปเลย จะดีกว่า
ถ้าอยากจะหาช่องวางแก้วเพิ่มเติม ต้องหันลงไปมองข้างลำตัว แผงติดตั้งเบรกมือ แบบคันยก
จะมีช่องวางแก้วมาให้ 2 ตำแหน่ง ทั้งแบบ วางได้ทันที และสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ที่ต้อง
ดึงฝากางเปิดออกมา แนะนำว่า วางเครื่องดื่มกระป๋องได้ดี แต่ไม่เหมาะจะวางขวดน้ำทรงสูง
อันที่จริง ในรุ่นท็อป น่าจะทำกล่องเก็บของอเนกประสงค์ พร้อมฝาปิด ที่ออกแบบให้เป็น
พื้นที่วางแขน สำหรับผู้ขับขี่ไปด้วยเลยจะดีกว่า แต่อย่างว่าครับ เหตุที่รถยนต์ระดับราคานี้
สามารถตั้งราคาขายปลีกได้ต่ำขนาดนี้ ก็เพราะการตัดลดออพชันที่ จำเป็นลำดับรองๆ ออกไป
เป็นเรื่องน่าเสียดาย สำหรับลูกค้าไปแทน
ทัศนวิสัยจากตำแหน่งเบาะคนขับนั้น หากมองไปทางด้านหน้า ถือว่าชัดเจน เพียงแต่ขอบหลังคา
ด้านบน ถูกออกแบบให้พอที่จะบังแสงอาทิตย์ ให้กับมือของผู้ขับขี่อยู่เล็กน้อย ทำให้พื้นที่ในการ
มองเห็น ถูกบีบนิดๆ แต่ไม่มีปัญหาใดๆใหญ่โต
มองไปทางขวา เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา มีขนาด หนาพอประมาณ แอบบดบังรถที่แล่น
สวนทางมา บนทางโค้งขวา ของ ถนน 2 เลนสวนกันอยู่นิดหน่อย กระจกมองข้าง ถูกออกแบบ
ให้เล่นกับรูปลักษณ์ของรถ และแอบมีพื้นที่ด้านข้าง ริมนอกฝั่งขวา ถูกกรอบพลาสติกของตัว
กระจกมองข้างเอง กินพื้นที่เข้ามา ทำให้เสียโอกาสในการมองเห็นรถคันที่แล่นมาจากเลนขวา
ไปบ้างเหมือนกัน
แต่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา กลับบดบังพื้นที่การมองเห็นรถที่แล่นสวนมา ขณะเตรียม
เลี้ยวกลับรถ ไม่มากนัก กระจกมองข้างฝั่งซ้ายเอง มีพื้นที่มุมฝั่งขวาล่าง บดบังจากการออกแบบ
ตัวกรอบกระจกเอง และพื้นที่ฝั่งซ้ายของกระจก แอบถูกบดบังจากกรอบด้านนอกของกระจกนิดๆ
ดังนั้น กระจกมองข้าง อาจจะพึ่งพาได้แค่ส่วนหนึ่ง ที่เหลือ ขอแนะนำว่า เหลือบมองรถคันข้างๆ
ด้วยตาคุณเอง สักแว่บหนึ่ง เสี้ยววินาที จะดีกว่า
ทัศนวิสัยด้านหลัง โปร่งตามากขึ้น แม้จะมีเสาหลังคาท้ายสุด C-Pillar ขนาดค่อนข้างหนา บดบัง
รถจักรยานยนต์ ได้เต็มคันพอดี ก็ตาม แอบเสียดายแนวเส้นโค้ง บริเวณกรอบหน้าต่างของบาน
ประตูคู่หลัง ถ้าไม่ต้องออกแบบให้รับกับแนวเส้นตัวถังภายนอกแล้วเปิดโล่งไปเลยนั้น จะช่วย
ให้พื้นที่การมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาจากด้านหลัง ฝั่งซ้าย โปร่งขึ้นได้มากกว่านี้อีก
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ขุมพลังหลัก ของ Swift ใหม่ ทั่วโลก รวมทั้งเป็นขุมพลังเดียว สำหรับเวอร์ชันไทย เป็นเครื่องยนต์เบนซิน
รหัส K12B บล็อก 4 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.242 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 74.2 มิลลิเมตร
กำลังอัด 11.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ระบบ MPI (Multi-Point Fuel Injection)
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ทั้งวาล์วไอดี และไอเสีย ที่หัวแคมชาฟท์ Dual-VVT
เครื่องยนต์รุ่นนี้ ปรากฎตัวเป็นครั้งแรกใน Swift รุ่นปี 2007 สำหรับตลาดญี่ปุ่น แต่ถูกนำมาปรับปรุงใหม่
ด้วยสารพัดวิธี ตั้งแต่การ ลดน้ำหนักชิ้นส่วนอะไหล่จำนวนมาก ตั้งแต่ ฝาครอบเครื่องยนต์ จากเดิมเป็น
แบบอะลูมีเนียม คราวนี้ เปลี่ยนมาใช้พลาสติกชนิดพิเศษน้ำหนักเบาแทน (ลดน้ำหนักไปได้ 1,108 กรัม)
หรือชุดพัดลมหม้อน้ำ จากเดิมทำจากเหล็ก ก็เปลี่ยนมาเป็นพลาสติกแทน (ลดน้ำหนักไปได้อีก 1,522 กรัม)
แม้กระทั่ง ท่อไอเสีย ยังมีขนาดสั้นลง (ลดไปได้อีก 349 กรัม) นอกจากจะช่วยลดน้ำหนักชิ้นส่วนต่างๆ
เหล่านี้ ลงแล้ว ยังมีการออกแบบชิ้นส่วนในระบบ ให้มีแรงเสียดทาน (Friction) น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
อีกด้วย อีกทั้งยังออกแบบให้สามารถรองรับการเติมน้ำมัน Gasohol 95 ไปจนถึง E20 เรียบร้อยแล้ว
แม้ในตอนแรก Suzuki จะแจ้งตัวเลขกับผมว่า ทำได้ 94 แรงม้า (PS) แต่ในที่สุด ตัวเลขที่แท้จริงก็ออกมา
ว่า พละกำลังสูงสุด ก็เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น เป๊ะ นั่นคือ 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
12.0 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที
และที่เด็ดไปกว่านั้น คือ Swift ใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อม Sub-Planetary Gear จาก Jatco ลูกเดียวกัน
กับ Nissan March และ Mitsubishi Mirage เป๊ะเลย! ดังนั้น แทบไม่ต้องสืบ ก็ยืนยันให้ได้เลยแน่นอนว่า
อัตราทดเกียร์ ของ Swift ก็จะเท่ากันกับคู่แข่งด้วย คือ 4.006 – 0.550 : 1 เพียงแต่มีอัตราทด ต่างกันนิดเดียว ที่
เกียร์ถอยหลัง 3.771 : 1 ต่างจาก March (3.770 : 1) และอัตราทดเฟืองท้าย 3.757 : 1 (March 3.753 : 1)
แจ้งไว้ให้เป็นข้อมูลการซ่อมบำรุงว่า น้ำมันเกียร์ CVT นั้น Suzuki กำหนดให้ใช้ Suzuki CVT Fluid GREEN-1
หรือ Shell GREEN-IV
ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ นั้น มีคันเกียร์ที่กระชับ เข้าง่าย และแม่นยำใช้ได้ ให้ Shift Feeling ที่ดี
ตามความคาดหมายส่วนตัวของผม ใช้น้ำมันเกียร์ เบอร์ 75W-80 มาตรฐาน API GL-4 และมีอัตราทด
ของชุดเกียร์ ดังนี้
เกียร์ 1 3.454
เกียร์ 2 1.837
เกียร์ 3 1.280
เกียร์ 4 0.966
เกียร์ 5 0.757
เกียร์ถอยหลัง 3.272
เฟืองท้าย 4.388
คำถามคือ ในเมื่อเครื่องยนต์มีตัวเลขกำลังม้าในแค็ตตาล็อก เยอะที่สุดในกลุ่ม ECO Car แล้วอัตราเร่งจะ
ออกมาเร็วที่สุดในกลุ่มด้วยหรือเปล่า? ผมกับ คุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Channel ช่วยกันหาคำตอบ
ด้วยการทดลองตามมาตรฐานเดิม คือ จับเวลาในตอนกลางคืน เปิดแอร์ พัดลมเบอร์ 1 นั่ง 2 คน น้ำหนัก
จะไม่เกิน 160 กิโลกรัม เปิดไฟหน้า และผลลัพ์ที่ได้ออกมา เมื่อเทียบกับ คู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้
จากตัวเลขผลการจับเวลา แสดงให้เราได้เห็นความจริง 2 ประเด็น
ข้อแรก หากต้องเปรียบเทียบกับ Swift 1.5 ลิตร รุ่นเดิมแล้ว แน่นอนว่า ยังไงๆ เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี
ย่อมให้สมรรถนะที่ดีกว่า เป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างด้านตัวเลขนั้น ไม่ได้มากมาย
อย่างที่คิด เพราะ Swift ใหม่เกียร์ธรรมดา ทำอัตราเร่งแซงหน้า Swift เดิม เกียร์อัตโนมัติ ไปได้แบบ
ทิ้งห่างกันราวๆ 1.2 วินาที ในช่วงวัดอัตราเร่ง จากจุดหยุดนิ่ง ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนรุ่นเกียร์
CVT ยังไงๆ ก็ด้อยกว่าชัดเจน ประมาณ 1.2 วินาที เช่นเดียวกัน
แต่ถ้า วัดเฉพาะอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และไม่ต้องเอารุ่นเกียร์ธรรมดา ซึ่งยังไงๆ
ก็ย่อมทำตัวเลขได้ดีกว่าอยู่แล้ว มาเปรียบเทียบด้วยนั้น ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่า Swift 1.2 ลิตร
ใหม่ จะทำตัวเลข ในเกียร์ D ด้อยกว่า รถรุ่นเดิม ที่ใช้เครื่องยนต์ใหญ่กว่า ชัดเจน แต่ถ้าลองเข้า
เกียร์ L เพื่อลากรอบเครื่องยนต์ให้อยู่สูงขึ้นไปกว่าปกติ ในจังหวะเร่งแซงแล้วเหยียบคันเร่งมิด
คุณจะพบว่า Swift 1.2 ทำอัตราเร่งแซง ในเกียร์ L ได้ดีกว่า Swift เดิม ในเกียร์ D ราวๆ 0.3 วินาที
แสดงว่า ความจริงก็คือ เครื่องยนต์ ลูกใหม่นี้ ถูกปรับแต่งออกมาให้เน้นความประหยัด เสียจนต้อง
เค้นรอบเครื่องยนต์ กันที่ระดับตั้งแต่ 4,000 รอบ/นาที ขึ้นไป จึงจะสัมผัสได้ถึงแรงบิดที่เริ่มไหลมา
เทมา ตั้งแต่ช่วงนั้น จนสุดที่ราวๆ 5,500 รอบ/นาที
และนั่น ก็เป็นเหตุผลต่อเนื่อง สำหรับประเด็นที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องว่า ทำไมตัวเลขของ Swift ถึงออกมา
อยู่ในลำดับที่ 3 ของกลุ่มตลาด ECO Car เอาชนะได้ก็เพียงแค่ Nissan March และ Almera
ตามคาด ทั้งที่แรงม้าในแค็ตตาล็อกมีสูงกว่าใครเพื่อนเขา
ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เครื่องยนต์ HR12DE ของ March และ Almera ถูกปรับแต่งมาเพื่อเน้นอัตราเร่ง
แซง ในรอบกลางๆ เครื่องจึงจะทำงานไหลลื่นดีแค่ช่วงรอบกลางๆ แต่พอเข้าสู่รอบเครื่องปลายๆ
เรี่ยวแรงที่ถูกเค้นออกมาใช้จนหมดเกลี้ยงไปแล้ว ก็จะไม่ได้ช่วยให้ตัวเลขออกมาดีขึ้นได้อีก ขณะที่
Swift และ Brio นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นเครื่องยนต์ ที่เน้นทำอัตราเร่งในรอบปลายๆ เพราะเข็มมาตรวัด
จะไหลกวาดไปทางฝั่งขวาเร็วขึ้น เมื่อผู้ขับขี่ ลากเกียร์ ลากรอบเครื่องยนต์พ้น 4,000 รอบ/นาที ขึ้นไป
ส่วน Mirage ได้เปรียบกว่าเพื่อน ตรงที่ น้ำหนักตัวรถ เบากว่าชาวบ้านเขา ร่วม 100 กิโลกรัม จึงทำตัวเลข
นำหน้า Swift ราวๆ 0.4 วินาที แต่พอเป็นช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เวลาที่ทิ้งห่าง Swift
กลับไม่ได้มากมายนัก อย่าลืมว่า ในช่วงรอบสูงๆ นั้น Swift จะได้เปรียบกว่าเล็กน้อย เพราะแรงม้านั้น
มากกว่าใครเพื่อน แต่เหตุที่ยังขึ้นนำ Mirage ไม่ได้ ก็เพราะอัตราทดเกียร์ 3 ของ Mirage ทดมาได้
กระชับกว่าเล็กน้อย
กระนั้น ในรุ่นเกียร์ธรรมดา ด้วยกัน จะพบว่า Swift ทำความเร็วในแต่ละเกียร์ ได้ใกล้เคียงชาวบ้าน
แต่ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำกว่า อยู่ที่ 6,250 รอบ/นาที หมายความว่า อัตราทดเกียร์ของ Swift จะยาวกว่า
คู่แข่งสักหน่อย ช่วยไม่ได้ครับ ในเมื่อ โจทย์คราวนี้ เน้นว่า ขอประหยัดน้ำมันมากขึ้น แต่อันที่จริง
ถ้าปรับอัตราทดเกียร์ 1 – 4 ใหม่อีกสักหน่อย Swift เกียร์ธรรมดาจะยิ่งขับสนุกขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของ Swift แม้จะจัดอยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่ม แต่ตัวเลขก็เชือดเฉือนกันเพียงแค่
ระดับ เศษเสี้ยววินาที ดังนั้น ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่ Mirage ให้มา อาจจะจัดจ้านกว่านิดหน่อย
แต่ Swift กับ Brio จะสูสีกันในประเด็นนี้
อีกเรื่องตลก ที่เราตั้งข้อสังเกตกันไว้ก็คือ อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่น CVT นั้น
ถ้ากดปุ่ม Ds บนคันเกียร์ คุณจะทำเวลาได้เร็วพอกันกับ Chevrolet Cruze 1.8 ลิตร เครื่องเดิม!!
และ…..ตัวเลขอัตราเร่งที่ออกมานั้น ถือว่า พอๆกัน และไล่เลี่ยกับ Mazda 2 เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี
Sedan 4 ประตู เกียร์อัตโนมัติ เลย (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 14.46 วินาที ถือว่าเร็วกว่า แค่ 0.3 วินาที
แต่ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง 12.30 วินาที แพ้ Swift 1,200 ซีซี ใหม่ ราบคาบ หลุดลุ่ย!!)
ถ้าไม่เชื่อ ลองย้อนไปเช็คตัวเลขกันในรีวิวของรถทั้ง 2 รุ่น ที่ผมเอ่ยชื่อมา ได้เลยครับ!!!
ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น รุ่น CVT (ในภาพ) อยู่ที่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ณ รอบเครื่องยนต์ ระดับ
6,000 รอบ/นาที นับตั้งแต่เหยียบคันเร่งจมมิดติดเหล็กรถนั่นละครับ แม้ว่าจะมีช่วงไหลงเนิน
เล็กน้อย ก็ตาม เข็มความเร็ว และรอบเครื่องยนต์ ก็จะนิ่งสนิทอยู่ในระดับนี้ (อุณหภูมิตอน
ทดลองช่วงกลางคืน 27 องศาเซลเซียส)
ในการขับขี่ใช้งานจริงนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ครับว่า ผมมีความสุขกับรุ่นเกียร์ธรรมดา มากกว่าเยอะ
เพราะอัตราเร่งที่ทำได้ จะมาในเวลาที่ผมต้องการ สั่งได้ ควบคุมได้เอง ไม่ต้องมาหงุดหงิดกับ
โปรแกรมสมองกลเกียร์ใดๆทั้งสิ้น แต่ในบางช่วงจังหวะเร่งแซง ถ้าใช้ความเร็ว เหมาะสม แค่
อยู่ในเกียร์ 3 กดคันเร่งลงไปปุ๊บ แรงบิดนี่ ส่งมาทันที
คันเกียร์ธรรมดา ทำได้น่าประทับใจ กระชับ ช่วงเข้าเกียร์สั้น ลดโอกาสการเข้าเกียร์ผิดไปได้เยอะ
แถม Shift Feeling ก็ยังมาในสไตล์รถยุโรปชั้นดี คือ แน่น กระชับ เป็นธรรมชาติ หัวเกียร์ไม่มีการ
สั่นคลอน เสียดายแค่ว่า คันเกียร์ เตี้ยไปนิดนึง อันที่จริง ถ้าสูงขึ้นกว่านี้อีกนิดก็จะดี แต่ถ้าสูงขึ้น
มันก็จะดูไม่สวยงามเท่าไหร่ จะกลายเป็นคันเกียร์รถกระบะไปดื้อๆ อยากให้หลายๆค่าย มาดู
วิธีการทำเกียร์ธรรมดา ให้กระชับได้แบบนี้จังเลย
ส่วนรุ่นเกียร์ CVT นั้น อัตราเร่งช่วงออกตัว อยู่ในระดับ กลางๆ และจะเริ่มมีชีวิตชีวา เมื่อเข็ม
วัดรอบ กวาดขึ้นไปถึงระดับ 4,000 รอบ/นาที หรือเกินกว่า แต่ในการเร่งแซง ก้ไม่จำเป็นต้อง
เหยียบคันเร่งกันจนจมมิดแทบทุกครั้ง แค่เหยียบราวๆ ครึ่งเดียว ก็มีเรี่ยวแรงพอให้เร่งแซงแล้ว
อาจต้องใช้เวลาสักนิด แต่สำหรับคนที่ขับรถช้าๆ ไม่เร็ว กำลังเครื่องยนต์เท่านี้ เหลือเฟือละครับ
ไม่อืดอาดแน่ๆ เมื่อเทียบกับพิกัดของรถ แต่อาจไม่ทันใจบ้าง สำหรับคนที่พึ่งกระโดดลงมาจาก
รถแรงๆ แล้วจำเป็นต้องมาขึ้นขับ swift ใหม่กันต่อเลย
คันเร่งไฟฟ้า และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive by Wire ของทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ ถือว่า
ตอบสนองได้ไว ไม่ lack ไม่อืดอาดยืดยาด ไม่ต้องรอให้สมองกลใช้เวลาคิดนานนัก เรียกใช้งาน
ได้ทันทีทันใจ ถือว่า เซ็ตมาได้ดี แป้นคันเร่งตอบสนองได้ตามจริง Linear ดี ใกล้เคียงคันเร่งแบบ
สายสลิงดั้งเดิม แต่เนียนกว่า
ภาพรวม ในด้านอัตราเร่ง ถือว่า เพียงพอกับการใช้งานแล้ว แต่ถ้าสามารถ ปรับเซ็ตให้มีแรงบิดใน
รอบต่ำมากกว่านี้ และเรียกใช้งานได้ไวกว่านี้ น่าจะช่วยให้อัตราเร่งดีขึ้นกว่านี้ได้อีก ที่เหลือ
หลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ Suzuki มีอยู่แล้วว่า จะผลักดันสมรรถนะของ ขุมพลัง K12B
ให้สามารถ แรงขึ้นไปแตะระดับ 100 แรงม้า ได้โดยไม่ต้องพึ่งระบบอัดอากาศ และยังคงทำ
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ดี เหมือนเช่นในปัจจุบันได้หรือไม่
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ภาพรวมถือว่ายังทำได้ดี คือ ยังไงๆ ก็มีเสียงรบกวน น้อยกว่าเจ้า
Mirage กับ March แน่ๆละ แต่ ก็ยังต้องถือว่า มีเสียงกระแสลม และเสียงจากพื้นถนน บริเวณ
ซุ้มล้อคู่หลัง อยู่เยอะ อยากให้มีการติดตั้งวัสดุซับเสียง ที่บริเวณใต้เบาหลัง โดยเฉพาะ ซุ้มล้อ
คู่หลัง ให้หนาขึ้นกว่านี้อีกนิด ส่วนจุดอื่นๆที่เหลือ ถือว่า ทำได้ดี เสียงเบาสมราคา และเสียง
กระแสลม จะเริ่มเข้ามารบกวน เมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ถือว่า
อยู่ในระดับปกติ ยอมรับได้
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบ ไฟฟ้า
EPS ( Electronics Power Steering) เป็นจุดเด่นที่น่าประทับใจ เพราะเซ็ตอัตราทดมาได้
กำลังดีมีระยะฟรี ที่พอเหมาะแล้ว น้ำหนักกำลังดี ในการหมุนพวงมาลัยช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำๆคลานๆ
ในเมือง หรือหาที่จอด เหมาะกับทั้งผู้ชายและผู้หญิง เรียกว่า เซ็ตมาอยู่ในจุดที่สมดุลพอดี ถือว่า
ตอบสนองดีที่สุดในกลุ่ม ECO Car
ส่วนการเลี้ยว ควบคุม บังคับรถนั้น ไม่มีอะไรให้ตำหนิเลย ไม่ว่าจะเป็นในโค้ง ช่วงความเร็วสูง
ที่ผมใช้ประจำ เช่นบนทางด่วน ช่วงโค้งขวา รุปเคียง จากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้ามาทางขวา
เพื่อ ตรงเข้าโค้งซ้ายหนักๆ ช่วงโรงแรมเมอเคียว เชื่อมต่อกลับเข้าระบบทางด่วนขั้นที่ 1 แน่นอน
พวงมาลัยให้การควบคุมที่ เฉียบคม แม่นยำมาก ทั้งที่ใช้ระบบเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า การ
บังคับรถ เป็นไปตามสั่ง ไม่มีบิดพริ้ว หรือตอบสนองช้า ให้เห็นเลย
แต่ในช่วงความเร็วสูงนั้น บอกไว้ก่อนนะครับว่า พวงมาลัยจะ “ไว” ในแบบที่ คนชอบขับรถ จะ
ชื่นชอบ และชื่นชม ไวใกล้เคียงกับ รถสปอร์ต สัญชาติญี่ปุ่น อยู่บ้างเหมือนกันนะ ดังนั้น ถ้าคิด
จะเปลี่ยนเลนกระทันหัน อาจต้องใช้ความระมัดระวังนิดนึงนะครับ สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับ
รถที่มีพวงมาลัยค่อนข้างไว แต่ถ้าเป็นคนชอบรถขับสนุก คุณจะรักพวงมาลัยของ Swift เพราะ
เซ็ตมาได้ลงตัวจบข่าว แบบไม่ต้องแก้ไขอะไรอีก (เว้นเสียแต่ กรณีจำพวกความผิดพลาดของ
ทางซัพพลายเออร์)
ช่วงเลี้ยวเข้าโค้งกลับรถ ใต้สะพานข้ามแยกรัชโยธิน ความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขอบอกเลยว่า
“เนียนนนนนนนมากกกกกกก” เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่อให้เป็นโค้งทางลงสะพานข้ามแยก
รัชวิภา มุ่งหน้าย้อนไปยังห้าแยกลาดพร้าว ผมก็ใส่เข้าไปที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้นิ่งๆเนียนๆ
จะมีก็แค่รอยต่อของสะพานนิดหน่อยเท่านั้น ที่ลื่นและเกิดอาการรถแฉลบ เล็กๆ ซึ่งก็เป็นอาการ
ที่มาจากยางรถ จะว่าไป อากัปกิริยา จังหวะนี้ ก็เหมือนกับ MINI Coupe Cooper-S ไม่มีผิด!
ระบบกันสะเทือนยังคงใช้รูปแบบที่พบได้ในรถยนต์ขนาดเล็กทั่วๆไป รวมทั้ง Swift รุ่นก่อนๆ
ด้านหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม พร้อม
คอยล์สปริง
ผมยังคงยืนยันว่า ภาพรวมของการเซ็ตระบบกันสะเทือนของ Swift นั้น ทำได้ดีเยี่ยม จนแม้แต่
ทีมวิศวกรออกแบบรถยนต์ของค่ายอื่น ก็ควรจะซื้อไปรื้อถอดประกอบศึกษาดู เพื่อทำรถยนต์รุ่น
ที่ใหญ่กว่า Swift กันได้เลย
เพราะในการขับขี่ย่านความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูงนั้น Swift ใหม่ นิ่งขึ้นกว่าเดิมอยู่
เล็กน้อย แต่ถือว่า นิ่งกว่าคู่แข่งคันอื่นๆ อย่างโดดเด่นมากๆ แถมยังนิ่งกว่า รถยนต์กลุ่มพิกัด
B-Segment 1,500 ซีซี หลายๆรุ่น ด้วยซ้ำ
การดูดซับแรงสะเทือน ขณะใช้ความเร็ว ปานกลาง และความเร็วสูง ทำได้ดีมากเกินความ
คาดหมาย ในช่วงเดินทางไกล การเข้าโค้ง อาจสัมผัสได้ว่า ตัวรถเอียงออกไปทางด้านข้าง
ในระดับกำลังดี สำหรับรถประเภทนี้ (แต่สำหรับคนที่ชอบรถสปอร์ต ดิบๆ อาจจะมองว่า
นิ่มไป ต้องการความหนืดเพิ่มขึ้น ก็ต้งไปหาช็อกอัพชุดแต่ง ถอดเปลี่ยนใส่เอาเอง) และ
การเซ็ตช่วงล่างมาแบบนี้ ช่วยให้ ตัวรถ มี Handling ที่มั่นใจได้ เพิ่มความสนุกในการ
ขับขี่อีกมากโข
กระนั้น ยังมีประเด็นที่ขัดแย้งกันในตัวของมันเอง เพราะในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่
ในเมืองนั้น ถ้าเป็นถนนที่ มีหลุมบ่อ ตื้นๆ และเป็นหลุมเดียว โดดๆ รวมทั้งต้องเป็น
หลุมบ่อที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวยางมะตอย การดูดซับแรงสะเทือนของช่วงล่าง Swift ถือว่า
ทำออกมาได้ดีมาก ผมยังยืนยันว่า ดีกว่า Honda Civic FD รุ่นเดิม (ในแบบ เดิมๆ ที่ยัง
ไม่ได้เปลี่ยนช็อกอัพกับสปริง)
แต่ถ้าเป็นรอยต่อผิวถนนแบบพื้นปูน หรือ มีหลุมบ่อ ขรุขระ ต่อเนื่อง บนพื้นผิวถนนปูน
ช่วงล่างของ Swift จะส่งแรงสะเทือนขึ้นมาให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร สัมผัสชัดเจน ซึ่ง
ใครก็ตาม ที่ใช้รถในความเร็วต่ำ ในเมืองเป็นหลัก อาจจะรู้สึก่าช่วงล่าง Swift แข็งไป
แต่สำหรับคนที่ขับรถทางไกลเป็นหลัก จะบอกว่า ช่วงล่างของ Swift เซ็ตมาดีแล้ว
คราวนี้ เลยกลายเป็น เริ่องนานาจิตตัง กันไป
กระนั้น ในบรรดา รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ไม่เกิน 1,600 ซีซี ที่ผลิตขายในเมืองไทยตอนนี้
ผมกล้าพูด เลยว่า ไม่มีใคร ทำช่วงล่างมาดีไปกว่า Swift อีกแล้ว ในภาพรวม!
อย่างไรก็ตาม คงต้องเตือนกันเอาไว้ตรงนี้สักนิดนึงว่า Swift เป็นรถที่ถูกเซ็ตให้มีบุคลิกของ
รถขับเคลื่อนล้อหน้า ที่เน้นความสนุกในการขับขี่ เมื่อคุณ พา Swift เข้าโค้ง หนักๆ หน้ารถ
จะพยายามจิกอยู่ในโค้งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะมีอาการหน้าดื้อ (Understeer) โผล่
ปะปนมาให้เห็นเป็นปกติของรถขับล้อหน้าอยู่บ้างก็ตาม แต่ถ้าจิกจนถึงจุดที่เริ่มเกินขอบเขต
ของกฎทางฟิสิกส์จะยั้งรถไว้ได้ ท้ายของรถจะเริ่มปัดออก (Oversteer) สำหรับใครที่มีทักษะ
การขับขี่มาพอสมควร การแก้อาการให้รถตั้งลำสำหรับ Swift นั้น ไม่ยากนัก เพราะรถจะใช้
เวลาหลายเสี้ยววินาที ในการถ่ายน้ำหนักจากฝั่งหนึ่งไปยังฝั่งหนึ่ง (ถ้าคุณใช้ความเร็วไม่สูง
เกินไป หากไม่มั่นใจว่าจะคุมรถอยู่หรือไม่ ถอนเท้าออกจากคันเร่งและเบรก (ไม่ควรเหยียบ
เบรกโดยเด็ดขาด จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง) เลี้ยงพวงมาลัยไว้ โดยดูจากอาการของรถ
และทิศทางที่พวงมาลัยกำลังเลี้ยวอยู่ ใช้สติ ในการเลี้ยงให้รถกลับมาตั้งลำตรงๆ อยู่บนพื้น
ถนน ซึ่งไม่ยากอย่างที่คิด แต่ต้องแก้อาการไวๆ นิดนึง ถ้าคุณเคยแก้อาการของ Mazda 3
Saab 9-3 , Mitsubishi Lancer Cedia จนสำเร็จมาแล้ว ใช้วิธีการเดียวกันครับ
ระบบห้ามล้อ ของทุกรุ่น เป็นแบบ ดิสก์เบรกคู่หน้า และดรัมเบรกคู่หลัง แต่เฉพาะรุ่นเกียร์
CVT เท่านั้น ที่มีการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electromics Brake-Force Distributor)
มาให้ ซึ่ง การตอบสนองของระบบเบรกนั้น ถือได้ว่า ประสิทธิภาพดีมากๆ หน่วงความเร็ว
จากช่วงเกินกว่า 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้ลดต่ำลงมาจนหยุดนิ่งสนิทได้อย่างปลอดภัย
และยังไม่พบอาการ Brake Fade อันเป็นอาการเบรกไม่ค่อยจะอยู่ เพราะอุณหภูมิในระบบ
ร้อนจัดๆ แต่อย่างใด
แม้ว่าจะอยู่ในสภาพการจราจรติดขัด ก็ยังสามารถ เคลื่อนรถ คลานไปได้เรื่อยๆ โดยที่
ยังสามารถควบคุมแป้นเบรก ให้ช่วยในการหยุดรถ อย่างนุ่มนวล ถือว่า ภาพรวมของ
ระบบห้ามล้อนั้น ปรับเซ็ตมาค่อนข้างดีมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน
เสียดายที่รุ่นเกียร์ธรรมดาไม่มีติดตั้งมาให้สักรุ่นเลย ควรจะมีให้ในรุ่น GL ก็ยังดี
ด้านโครงสร้างตัวถังของ Swift ใหม่ ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวทาง Total Effective Control
Technology (TECT) ซึ่ง Suzuki นำมาประยุกต์ใช้กับรถยนต์ทุกรุ่นของตนมานานแล้ว แต่
คราวนี้มีการยกระดับโครงสร้างตัวถัง ด้วยการใช้เหล็ก High Tensile Steel ที่มีความแข็งแกร่ง
มากขึ้น มาใช้เป็นชิ้นส่วนในพื้นที่ต่างๆของตัวรถ มากกว่าคู่แข่ง ช่วยให้โครงสร้างตัวถังรถ
มีความแข็งแกร่ง และน้ำหนักเบา ทนทานต่อแรงบิดได้ดีกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังมีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ เสาหลังคากลาง B-Pillar โครงฐานกรอบประตู
ด้านล่าง คานนิรภัยเสริม ในประตูทั้ง 4 บาน ชุดคานกันชนหน้า ที่ช่วยรับและกระจายแรงชน
ไปยังเฟรมด้านล่างของตัวรถ ตามหลักการกระจายแรงปะทะ และเสริมคานเหล็กแนวขวาง
บริเวณโครงสร้างหลังคา อีกด้วย
ด้วยการออกแบบโครงสร้างมาอย่างดี ทำให้ Swift ใหม่ สอบผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจากการชน
ของ Euro NCAP ในระดับสูงถึง 5 ดาว ซึ่งถือว่า สูงที่สุดในตอนนี้ (จากการทดสอบของหน่วยงาน
เดียวกัน Nissan March ทำได้แค่ระดับ 4 ดาว) โดยได้คะแนนถึง 94% ในการปกป้องผู้ขับขี่ และ
ผู้โดยสารด้านหน้า 82% สำหรับการปกป้องผู้โดยสารอายุน้อยๆ บนเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก กับอีก
62% สำหรับการลดผลกระทบต่อการชนคนเดินถนน และ 71% สำหรับคะแนนด้านอุปกรณ์ตัวช่วย
ที่ติดตั้งมาให้ในรถ น่าสังเกตว่า การปกป้องในส่วนศีรษะ คอ สะโพก บั้นเอว ลำตัว และต้นขา นั้น
ทำได้ดีมาก ขณะที่บริเวณหน้าอกนั้น จัดอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องใส่หมายเหตุ ด้วยเครื่องหมายดอกจันตัวโตๆ ว่า การทดสอบที่ได้ 5 ดาวนี้
รถยนต์ที่เห็นในภาพ เป็นรถยนต์สเป็กที่จำหน่ายในประเทศยุโรป ซึ่งมีม่านลมนิรภัย ติดตั้งมาให้
เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งจะแตกต่างจากเวอร์ชันไทย ที่มีแค่ถุงลมนิรภัยคู่หน้าเท่านั้น ดังนั้น หาก
จะนำผลมาใช้ในการอ้างอิง ขอให้ดูเฉพาะในส่วนของการยุบตัว ที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างตัวถัง และ
ตำแหน่งของเบาะนั่ง หลังการชนเท่านั้น
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
ในเมื่อสมรรถนะของ Swift นั้น กลายเป็นเรื่องเด่นเด้งขึ้นแซงหน้าชาวบ้านชาวช่อง
ร่วมพิกัด ECO Car ด้วยกันแล้ว ทีนี้ ก็เหลือคำถามสำคัญนั่นคือ Swift ใหม่ จะประหยัด
น้ำมันมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เพราะในรถรุ่นเดิม นำเข้าจากอินโดนีเซีย วางเครื่องยนต์
1.5 ลิตร ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาได้ 14.2 กิโลเมตร/ลิตร เท่ากับ Toyota
Yaris และ Mitsubishi Lancer Cedia 1.6 ลิตร แม้จะยังถือว่าประหยัด แต่ตัวเลขก็ยังด้อย
กว่าบรรดาคู่แข่งร่วมพิกัดในตอนนั้น
และในเมื่อ Takeuchi-san ตั้งใจจะทำให้ Swift ใหม่ ประหยัดน้ำมันกว่าเดิม ทั้งด้วยวิธีการ
ลดน้ำหนักชิ้นส่วนต่างๆลง ลดขนาดความจุกระบอกสูบลง ฯลฯ อีกมากมาย ดังนั้น เราจะมา
พิสูจน์กันละว่า ผลงานคันล่าสุดของ Takeuchi-san จะทำตัวเลขออกมาได้ดีแค่ไหน
จากการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ตามมาตรฐานของ เรา Headlightmag.com
พักหลังมานี้ เราใช้เวลาในช่วงกลางคืน ทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกัน ด้วย
เหตุผลที่ว่า ปริมาณรถยนต์บนเส้นทางที่เราใช้กัน จะน้อยลง ตัดโอกาสเผชิญปัญหารถ
ติดขัดสะสม อันอาจส่งผลให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่เราทำมาถึงขั้นผิดเพี้ยน
ไปจากที่ควรเป็นได้
ความแตกต่างระหว่างกลางคืน กับกลางวันนั้น ไม่ได้มากมายอย่างที่คิด เพราะ ในช่วง
กลางวัน แม้ว่า อุณหภูมิภายนอกจะอยู่ที่ 30 – 35 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงกลางคืนนั้น
อุณหภูมิ ก็จะลดลงมาอย่ที่ระดับ 27 – 32 องศาเซลเซียสอยู่ดี นั่นจึงหมายความว่า สภาพ
อากาศที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย จึงไม่มีผลต่อตัวเลขของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่
เราทำการทดลองอยู่ดี ถ้าเราสามารถควบคุมตัวแปรในการทดลอง ให้ยังคงเป็นมาตรฐาน
ดั้งเดิมของเราต่อไปได้
เราทำการททดลองโดยใช้มาตรฐานเดิม คือ นำรถมาเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่
สถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน ช่วงสถานีรถไฟฟ้า
BTS อารีย์
ในเมื่อรถคันนี้ มีขนาดเครื่องยนต์ ต่ำกว่า 2,000 ซีซี และเป็นรถยนต์ที่มีผู้คนให้ความ
สนใจในด้านความประหยัดน้ำมันกันมาก เพื่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของตัวเลขที่ออกมา
น้อยที่สุด เราจึงทำการเติมน้ำมันแบบ เขย่ารถ อัดกรอกเข้าไป เพื่อจะไม่ให้มีฟอง
อากาศในระบบ เขย่า กรอก อัดน้ำมันกันเข้าไปจนแน่นเอ่อล้นขึ้นมาจนถึงปากคอถัง
น้ำมันกันแบบนี้เลยทีเดียว ผู้ร่วมทำการทดลอง ยังคงเป็นเจ้าประจำนั่นคือ น้องโจ๊ก
V10ThLnD จาก The Coup Team ของเรา ตามเคย
เนื่องจาก พนักงานเติมน้ำมัน เป็นลุงคนใหม่ ที่เข้ามาทำงานได้ไม่นาน ทำให้ผม
กลัวจะเกิดความผิดพลาดในการเติมน้ำมัน งานนี้ ผมเลยต้องยืนถือหัวจ่าย กรอก
น้ำมันเข้าไปในถังด้วยตัวเอง และต้องไปเขย่ารถด้วยตัวเองอีกต่างหาก เพราะลุง
เค้าซื้อมาก..ซื่อจนน่าปวดหัว เพราะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง กว่าจะเติมน้ำมันเสร็จได้
มันเป็นภาพที่ทุลักทุเลมากๆ และผมดีใจที่คุณผู้อ่านไม่ได้มาเห็นสภาพของผม
ในวันนั้น
เมื่อเติมน้ำมันเสร็จ เราเซ็ต 0 บน Trip Meter คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ แล้ว
เปิดเครื่องปรับอากาศ เอาไว้ที่เบอร์ 1 – 2 ปรับอุณหภูมิเอาไว้ที่ระดับ 25 องศาเซลเซียส
ออกรถช้าๆ จากปั้ม Caltex เลี้ยวลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ไปโผล่ที่โรงเรียนเรวดี แล้ว
เลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน บนถนนพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดของทางด่วนสายเหนือ
อุดรรัถยา เลี้ยวกลับที่ปลายด่าน บางปะอิน อยุธยา แล้วขึ้นทางด่วน มุ่งหน้า ย้อนกลับ
มายังทางด่วนสายเดิม ด้วยมาตรฐาน ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง
2 คน ตามปกติ
เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว เราเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถนนพหลโยธิน เราขับรถ
เลี้ยวกลับ บริเวณหน้าโชว์รูม เบนซ์ราชครู แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95
Techron ที่ปั้ม Caltex แห่งเดิม หัวจ่ายเดิม และพนักงานเติมน้ำมันก็คือคนเดิม นั่นคือ
ผมนี่แหละ! อย่างน้อย ตาโจ๊ก ก็มาช่วยผม และลุงแกขย่มรถไปได้บ้าง
เราก็ต้องเติมน้ำมันกรอกอัดให้เต็มแบบนี้อีกเช่นเดียวกัน สำหรับการวัดอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงของรถยนต์แล้ว หากไม่ใช้เครื่องมือ และจะทำการทดลองในสภาพการขับขี่
และใช้งานจริง ตัวเลขที่ออกมา จะขึ้นอยู่กับว่า ครั้งแรก คุณเติมน้ำมันลงไปอย่างไร
ถ้าคุณเติมแบบหัวจ่ายตัด หรือแบบขย่มอัดกรอก คุณก็ต้องเติมเหมือนกัน ด้วยวิธีการ
เดียวกัน ทั้งขาเริ่ม และขากลับตอนจบ มิเช่นนั้น ตัวเลขจะไม่สามารถอ้างอิงได้
ที่สำคัญ หากคุรเลือกวิธีขย่มหรือเขย่ารถ คุณจะต้องใช้ความอดทนมาก ในการขย่ม
หรือเขย่ากรอกอัดน้ำมันลงไป จนกว่าน้ำมันจะล้นปี่ขึ้นมาถึงคอถัง ชนิดที่ว่า ขย่ม
ลงไปเท่าไหร่ น้ำมันก็ไหลย้อนกลับมาอยู่ในตำแหน่งเท่าเดิม มันอาจะใช้เวลานาน
กันเป็นชั่วโมงๆ แต่คุณก็ต้องทำ ถ้าคิดอยากได้ตัวเลขที่รถคันนั้น ทำออกมาได้จริง
เรามาดูตัวเลขที่ Swift 1.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ CVT คันสีแดง ทำได้ กันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บน Trip Meter ของแผงหน้าปัด อยู่ที่ 92.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.42 ลิตร
เมื่อหารกันออกมาแล้ว จะได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.14 กิโลเมตร/ลิตร
ส่วนตัวเลขที่ Swift 1.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา คันสีขาวทำได้นั้น มีดังนี้
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บน Trip Meter ของแผงหน้าปัด อยู่ที่ 95.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.27 ลิตร
เมื่อหารกันออกมาแล้ว จะได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 18.04 กิโลเมตร/ลิตร
แม่เจ้าโว้ย! Takeuchi-san ! How can you do it!!!?? ทำได้ไงวะเนี่ย!!!??
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ออกมานี้ แม้ว่า จะทำให้ Swift รั้งไปอยู่อันดับ 3 ในตลาด และ Mitsubishi
Mirage ก็ยังคงครองแชมป์ ทำตัวเลขอัตราเร่ง กับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ดีที่สุดในกลุ่ม ECO Car
ไปตามความคาดหมาย แต่ตัวเลขที่ Swift ใหม่ ทำได้ ก็ตามติดอันดับ 2 คือ Nissan March ชนิดหายใจ
รดต้นคอเลยทีเดียว
รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT March ทำได้ 17.2 แต่ Swift ก็ได้ 17.1 กิดลเมตร/ลิตร รุ่นเกียร์ธรรมดา ตัวเลข
ออกมาต่างกันแค่ 0.1 กิโลเมตร/ลิตร อย่างไรก็ตาม ต้องมีวงเล็บหมายเหตุกันเอาไว้ด้วยว่า ตัวเลขการ
เติมกลับของ Swift ถึงจะมากกว่า March นิดหน่อย แต่ด้วยเลขไมล์ของ รุ่นเกียร์ธรรมดา มันสูงขึ้น
กว่าค่าเฉลี่ยปกติของรถคันอื่นๆ จนกลายเป็นว่า ต้องยกประโยชน์ให้จำเลยไป แต่เมื่อมาดูปริมาณ
น้ำมันที่เติมกลับ ยังไงๆ Swift ก็ยังทำตัวเลขได้ในอันดับ 3 และใกล้เคียงกับ March ชนิดไม่ทิ้งห่าง
กันเลย Bumper to Bumper กันชัดๆ
ที่สำคัญ การทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่ารถรุ่นเดิม ถึง 3 – 4 กิโลเมตร/ลิตร ได้ ทั้งที่ต้นทุนของรถเป็นตัวบีบ
และมีสารพัดอุปสรรคมากมาย ทั้งจากข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ นั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้อง
ยกนิ้วให้ Takeuchi-San และลูกทีมนับร้อยๆคนของเขา กันเลยทีเดียว ที่ทำผลงานออกมาได้ดีขนาดนี้
แม้แต่การใช้งานจริง ผมต้องขับ Swift เกียร์ CVT นานถึง 550 กิโลเมตร กว่าที่ไฟเตือนน้ำมันหมดจะ
สว่างขึ้นมา ซึ่งหมายความว่า ยังแล่นได้อีก ราวๆ 50 กิโลเมตร เท่ากับว่า รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ทำตัวเลข
น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ 600 กิโลเมตร แน่ๆ ถ้าเติมน้ำมันจนเอ่อขึ้นมาถึงคอถัง
แต่ ในรุ่นเกียร์ธรรมดานั้น คาดว่า น่าจะทำตัวเลขได้ดีกว่า คือ 700 กิโลเมตร ด้วยรูปแบบการเติมน้ำมัน
เหมือนกัน เพราะในวันส่งคืนรถ ตัวเลขยังอยู่ที่ 579 กิโลเมตร และยังเหลือน้ำมันในถังอีกถึง 1 ใน 3
กว่าที่เข็มน้ำมันจะเริ่มลดระดับลงมารจากขีดสูงสุด คือ Full นั้น รถต้องแล่นไปแล้วถึง 270 กิโลเมตร
ทำเอาผมเสียววาบเลยว่า เข็มน้ำมันค้างหรือเปล่า แต่ทุกอย่าง ก็ไม่มีปัญหา ผ่านไปได้ด้วยดี
********** สรุป **********
ผลิตให้ทัน คุม QC ให้ละเอียดยิบ แก้จุดด้อยตามที่บอก ลงดาบโชว์รูมกับเซลส์ขี้โกง และเร่งฝึกอบรมช่างซ่อมทั่วไทย แค่นี้ จบ!!
ผมรู้ดีว่า หลายๆคน รอคอยจะอ่าน บทความ Full Review ของ Swift มานานมากแล้ว นานตั้งแต่
รถเพิ่งเริ่มเปิดตัวใหม่ๆ นานจนบางคน ได้รับรถไปแล้ว ขับใช้งานไปแล้ว อีกหลายคน ยังไม่ได้
รับรถ ยังไม่รู้ชะตากรรม ว่าจะได้รับรถเมื่อไหร่
สิ่งที่น่าลำบากใจคือ หลายคนคิดว่า ผมเขียนเชียร์ รถคันนี้ และถึงขั้นหาว่า ผมได้รับผลประโยชน์
หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย กับ Suzuki!! โอ้ย บ้าบอกันเข้าไปใหญ่ ถ้าได้รับจริง ป่านนี้ ผมรวยเละแล้ว
ไม่มานั่งอดตาหลับขับตานอน เขียนรีวิว ให้คุณอ่านกัน ดึกๆดื่นๆ เข้านอนตอนที่พวกคุณตื่นมา
แต่งตัวไปทำงาน ให้สุขภาพเสื่อมทรามลงกันอย่างนี้หรอก! อย่ามองหรือกล่าวหาคนอื่นในแง่ร้าย
กันนักเลย! หัดทำใจให้มันสะอาดๆ เหมือนน้ำเปล่า ที่ตนต้องดื่มทุกวัน กันเสียบ้างเถอะ!
ขอโทษทีเถอะนะ ขนาด ญาติแท้ๆของผม สั่งจอง Swift ตัวท็อปสีเงินไป ช่วงงาน Motor Show
กว่าจะได้รับรถ ก็ปาเข้าไป ปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา รอคอยกันนานพอๆกับคนอื่นๆ นั่นละ!
คุณน้าของผม ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ทำการบ้านมาพอสมควร และตกลงปลงใจเลือก Swift เหมือนเช่น
เพื่อนๆ และผู้คนรอบตัวผม อีกกว่า 10 คน ที่ตัดสินใจเลือก Swift ไปแล้ว (แต่ละคน ก็รอรถกันนาน
เหมือนกันแทบจะทั้งนั้น จะมีเพียงรายเดียว ที่จองรถเกียร์ธรรมดาเอาไว้ ช่วงเปิดตัวพอดี เลยได้
จังหวะรับรถเร็วกว่าบชาวบ้าน แต่ รถคันนั้น เขาก้ไปจัดการกันมาเอง โดยที่ผมไม่ได้รับรู้เรื่องราว
ใดๆทั้งสิ้น
การตัดสินใจเลือก Swift ของพวกเขา เหตุผล หลักๆ ก็คือ คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงของรถ
ทั้งรูปร่างหน้าตา ที่โดนใจวัยรุ่น การตกแต่งห้องโดยสาร ด้วยวัสดุมาตรฐาน แต่จัดวาง และทำออกมา
ได้ดีจนดูเหมือนรถที่มีราคาแพงกว่านี้มาก และที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณภาพการขับขี่ ที่มองในภาพรวม
ต้อง ถือว่า ดีเยี่ยม จนผมกล้ายืนยันความเห็นเดิมว่า นี่แหละ คือ ECO Car ที่ขับดีที่สุดในเมืองไทย
ตอนนี้! เซ็ตพวงมาลัย ช่วงล่างดีที่สุดในกลุ่ม ทรงตัวดีที่สุด อัตราเร่งปานกลาง ประหยัดน้ำมันเท่าๆ
กันกับคู่แข่ง แถมยังให้ความสนุกในการขับขี่ บังคับควบคุม อย่างมั่นใจกว่าที่คุณคาดคิดอีกด้วย!
ผมคงเขียนถึงข้อดีของรถ เพียงเท่านี้ เพราะที่เหลือ ผมว่า คุณคงจะสัมผัสได้เอง เมื่อลองเข้าไปนั่ง
หรือลองขับรถคันจริง ต่อให้ชอบ หรือไม่ชอบ แต่ยอมรับเถอะว่า ตัวรถ มันดีกว่าที่คุณคิดไว้เหมือนกัน
เอาละ ทั้งหมดนั่นก็คือ ข้อดีที่ Swift จะมีให้กับคุณ ส่วนข้อที่ต้องตำหนิติติงกัน เพื่อให้นำไปปรับปรุง
แก้ไขกันต่อไปนั่น หากมองกันแค่เฉพาะตัวรถ ผมต้องยกประเด็นจำพวกอุปกรณ์จุกจิกที่ควรจะติดตั้ง
มาให้ แล้วกลับไม่พบ เป็นประเดิม
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ฝั่งคนขับ แบบ One-Touch นั้น ไหนๆ จะมีมาให้เมื่อกดกระจกลงแล้ว ก็ควร
จะมีมาให้รวมถึงช่วงยกกระจกขึ้นด้วย จะดีกว่า นอกจากนี้ ที่วางแขนฝั่งคนขับ น่าจะมีมาให้เป็น
อุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรุ่น GLX และ GL ได้แล้ว ไม่ว่าจะมาในรูปของ กล่องคอนโซลเก็บของ
ข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า หรือว่าจะมาในรูปของ ที่วางแขนแบบยกพับได้ เหมือน
Honda Jazz รุ่นก่อน ก็ตาม แถมด้วยเรื่อง การปรับ Font ตัวเลขบนมาตรวัดให้อ่านง่ายกว่านี้
กระจกแต่งหน้า และแผงบังแดด แม้จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานไม่บ่อย แต่หลายคนก็ใช้งานเรื่อยๆ
มันควรจะมีความแข็งแรงกว่านี้ และมีชิ้นงานการประกอบจากซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่
ดูแล้วเรียบร้อยกว่าที่เป็นอยู่นี้ จะดีมาก เช่นเดียวกับ ไฟอ่านแผนที่ ซึ่งในเวอร์ชันญี่ปุ่นเองก็มี
ติดตั้งมาให้อยู่แล้วในบางรุ่น แต่ในเวอร์ชันไทย กลับถูกถอดออกไปเสียอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
เรื่องยางอะไหล่ ให้มาในรุ่น GL 5MT กับ GA แต่ไม่มีใน GL & GLX CVT นั้น เป็นเรื่องแปลก
เพราะสำหรับถนนเมืองไทย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานจริง อย่างน้อยๆ ยางอะไหล่ขนาดเล็กแบบ
ล้อเหลือง ในญี่ปุ่น ก็ยังดูเป็นทางออกที่พอรับได้ ไม่น่าเกลียดนัก ฝากด้วยเถิด สำหรับรุ่นต่อไป
นอกเหนือจากนี้ แม้ว่า ทีมวิศวกร จะให้ความสำคัญกับพื้นที่การขับขี่ มากกว่าเบาะนั่งแถวหลัง
แต่อย่างน้อย การออกแบบให้มีพื้นที่วางขาเพิ่มขึ้นอีกสัก 10 มิลลิเมตร และมีพื้นที่เหนือศีรษะ
เพิ่มขึ้นอีกสัก 30 มิลลิเมตร น่าจะช่วยให้ คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร นั่งได้สบายขึ้น
ส่วนด้านเครื่องยนต์นั้น แม้ว่าจะทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ดีเยี่ยม เกินความคาดหมายไปแล้ว
แต่พละกำลังในช่วงออกตัวของรุ่นเกียร์ CVT นั้น ควรจะพุ่งเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกนิดหน่อย การปรับปรุง
ให้เครื่องยนต์ ตอบสนองได้ดีขึ้น มีแรงบิดเพิ่มขึ้นอีกนิด ในช่วง 2,000 – 4,000 รอบ/นาที นั้น
น่าจะช่วยให้เกิดความสนุกในการขับขี่ เพิ่มขึ้นได้อีก เพราะในรุ่นปัจจุบัน คุณจะพบอัตราเร่งที่ไหลลื่น
อย่างแท้จริง เมื่อเข็มวัดรอบ แตะขึ้นไปที่ระดับ เกินกว่า 4,000 รอบ/นาที ถือว่าสูงไปหน่อย
อีกเรื่องที่อยากฝากถึงไม่แพ้กันคือ การเก็บเสียงในช่วงล้อหลัง อยากเห็นการปรับปรุงด้านวัสดุ
ซับเสียง ที่บริเวณด้านหลังรถ เพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกสักหน่อย เพื่อช่วยให้เสียงรบกวนขณะขับขี่
จากด้านหลังของรถ ลดน้อยลงไปกว่านี้อีกหน่อย
ทั้งหมดนี้เป็นข้อที่ควรปรับปรุง สำหรับ Swift รุ่นต่อไป ที่น่าจะเริ่มต้นโครงการพัฒนากันได้ในช่วง
ปี 2013 – 2014 เป็นต้นไป และคาดว่าน่าจะทำคลอดกันได้ในอีก 3 – 4 ปีหลังจากนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คำถามจากผมก็คือ หากคุณเป็นลูกค้า หรือผู้บริโภค จะเลือกแนวทางไหน?
1. ถ้าคุณจอง Swift อยู่แล้ว จะถอนจองหรือไม่? นั่นเป็นสิทธิ์ ของคุณ ตัดสินใจกันเอาเองนะครับ
2. ถ้ายังไม่ได้จอง Swift แต่อ่านบทความนี้แล้ว คิดว่าจะเลือก Swift คำถามคือ ควรเลือกรุ่นย่อยไหนดี?
รุ่นท็อป GLX CVT และรุ่นรองท็อป GL ทั้งเกียร์ CVT กับ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ คือรุ่นที่คุณควร
ให้ความสำคัญ และให้ความสนใจที่สุด เพราะเป็น 3 รุ่นย่อย ที่ให้อุปกรณ์มาเหมาะสมกับราคารถ
มากที่สุด
แต่ถ้าคุณคิดว่า ไม่ได้คิดจะนำรถไปแต่งอะไรเพิ่มติม การใช้ยางแค่ 15 นิ้ว พร้อมกระทะล้อเหล็ก และ
ฝาครอบล้อแบบเต็ม ก็ไม่มีปัญหาอะไรกับชีวิต ไล่ฝ้าหลังไม่จำเป็น เพราะมีใบปัดน้ำฝนหลังมาให้แล้ว
สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ก้ไม่เห็นจำเป็นต้องกดปุ่มได้ แบบมือบิดธรรมดาก็พอ มองหารุ่น GL ทั้งเกียร์
ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์ CVT ไปเลย น่าจะได้รับรถเร็วกว่ารุ่นอื่นด้วยซ้ำ
เพราะจากยอดสั่งจอง และปล่อยรถไปแล้ว ทั้งหมดนั้น ผู้ที่สั่งจองรุ่นท็อป GLX มีมากถึง 90% ที่เหลือ
เป็นรุ่น GL ส่วนรุ่น GA นั้น น้อยมากๆ และสีที่ลูกค้าสั่งจองเกินกว่าร้อยละ 70 ก็คือ … แน่นอนครับ
สีขาว….รองลงไปก็เป็นสีแดง .เฮ้อ…!
แต่…ปัญหาเดียวที่คุณอาจจะต้องทำใจยอมรับสภาพ ก็คือ การรอรับรถที่น่าจะนานมากกกกกกกกกก
ยอดสั่งจองที่ยังค้างเติ่งอยู่อีกราวๆ 18,000 คัน นับจากวันที่บทความนี้ ถูกเผยแพร่ และตั้งโจทย์ว่า ใน
แต่ละเดือน Suzuki จะผลิต Swift ได้ ตีเสียว่า 2,000 คัน ถ้วนๆ เลขกลมๆ ผมว่า Suzuki ต้องใช้เวลา
อย่างต่ำๆ ก็ต้องมีอีก 9 เดือน กว่ายอดจองที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ จะหมดเกลี้ยง
3. ไม่ว่าคุณจะจอง Swift อยู่แล้ว หรือยังไม่ได้จองรถยี่ห้อไหนเลย แต่ถ้าหากคุณคิดว่า นานขนาดนี้
ฉันรอไม่ได้ รอไม่ไหวหรอก ไม่เป็นไรครับ รถยี่ห้ออื่น รุ่นอื่น เวลานี้ ระดับราคาเดียวกันนี้ ก็ต้อง
รออย่างน้อยๆ 2-3 เดือน เช่นเดียวกัน
Honda Brio เจ้าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาติดล้อของเรา ดูเหมือนจะเป็นรถรุ่นเดียวที่ “ไม่ต้องรอ รับรถได้เลย”
แน่ละ เล่นผลิตออกมา เกินกว่ายอดสั่งจอง (ซึ่งก็น้อยอยู่แล้ว) ถึงขั้นต้องเล่นอัดแคมเปญส่งเสริมการขาย
กันในช่วงกลางปีด้วยซ้ำ ทั้งที่ตัวรถ ก็ถือว่า ขับขี่ใช้ได้ เรี่ยวแรงก็มี ทรงตัวไม่เลว เสียดายแค่ บั้นท้ายที่ดัน
ออกแบบมาชวนให้หวั่นใจว่า ถ้าเจอ Fortuner สอยตูด กลางสี่แยกไฟแดง จะมีสภาพเป็นเช่นไรบ้าง
คงต้องฝากให้ Sedan คันใหม่ บนพื้นฐานของ Brio ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
มาช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์และยอดขายของ Honda ในตลาดกลุ่มนี้ ให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด
Mitsubishi Mirage ยังคงเป็นอีกรายที่ ทะยอยส่งมอบกันไปตามปกติ ระยะหลังมานี้ จะเริ่มส่งมอบได้
เร็วขึ้่น เยอะขึ้น ตัวรถก็พอวิ่งได้ แถมยังแรงสุด ประหยัดสุดในกลุ่ม แต่ช่วงล่าง นิ่มไปหน่อย ถ้าซื้อมา
เปลี่ยนช็อกอัพกับสปริงที่เหมาะสม แข็งขึ้นกว่านี้อีกหน่อย น่าจะช่วยให้การเกาะถนน ดีขึ้นไปอีก
และจะทำให้คุณใช้ชีวิตกับ Mirage ได้ ลงตัว สมบูรณ์ จบข่าวกรมประชาสัมพันธ์ กันเลยทีเดียว
กระนั้น ในรุ่นท็อป มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ครั้งแรกของรถระดับ
ราคานี้ ก็ช่วยให้ Mirage เป็นอีกทางเลือกที่น่าจะเก็บไว้พิจารณา
Nissan ก็เป็นผู้ผลิตอีกรายที่ยังมี Back Order ของ March และ Almera เหลืออยู่บ้าง ถ้าคุณ
ไม่เรื่องมาก บางโชว์รูม มีรถรอให้คุณ ทำสัญญารับมอบกันได้เลยในเวลา 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่ถ้า
อยากได้สีและรุ่นที่หลายโชว์รูม ไม่มีในสต็อก อาจต้องลงชื่อสั่งจองไว้ ซึ่งก็มีราวๆ 3 เดือน จากนั้น
เมื่อจัดสรรกันแล้ว ผ่านพ้น คุณจะได้รับเลข Chassis Number เอาไว้คอยเช็คดูว่า รถขึ้นสายการผลิต
แล้วหรือยัง ส่วนตัวรถเอง ก็ถือว่า เอาไปวิ่งใช้งานในเมืองได้ ออกต่างจังหวัด พอใช้งานได้สบายๆ
ไม่เลวร้าย และไม่ได้ถึงกับดีเด่น อยู่ในระดับปานกลาง และลุกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อไป ก็ Happy กันดี
แต่ถ้าหวังให้สมรรถนะดีขึ้น ก็ต้องนำมาปรับแต่งโมดิฟายต่อยอดกันเอาเองตามระเบียบ
ส่วน Toyota พี่เขาบอกว่า “ผมไม่รีบ” ECO Car Hatchback คันแรกของพวกเขา จะเสร็จสิ้น และ
พร้อมออกสู่ตลาดได้ในปี 2013 อย่างแน่นอน แต่ไม่อยากให้คาดหวังอะไรมากนัก เพราะจะใช้
เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ตระกูล KR ตามประสา รถยนต์ที่ร่วมกันพัฒนา กับทาง Daihatsu บริษัทลูก
ของตน แม้จะมีภาพหลุดเปลือกกันชนหน้า-หลังออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับสร้างความตื่นเต้น
ได้มากมายนัก ถ้าไม่คิดจะรีบคว้าสิทธิ์ คืนภาษีรถคันแรก จะรอดู Toyota กันก่อน ก็ได้ แต่ถ้าหาก
เงิน 100,000 บาท มีความหมายสำหรับคุณเอาเรื่องแล้วละก็…มองข้าม Toyota ได้เลยครับ ปี 2012
นี้ ยังไงก็ผลิตมาขายไม่ทัน เว้นเสียแต่ จะมีกลยุทธ์ประหลาดๆ อะไรให้ทั้งวงการ อึ้ง ทึ่ง เสียว
ก็ต้องมาคอยดูกันต่อไป
ท้ายที่สุดนี้ ปัญหาที่อยากจะฝากเอาไว้ ทั้งสำหรับคุณผู้อ่าน ที่คิดจะซื้อ Swift ให้อ่านแล้วระวังไว้
และฝากไว้สำหรับ Suzuki Motor Thailand ให้ช่วยดำเนินการแก้ไข อย่างที่กำลังทำกันอยู่นี้ต่อไปด้วย
ก็คือ การดูแลลูกค้าของ บรรดา โชว์รูม ผู้จำหน่าย และศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นปัญหาต่อเนื่อง มาตั้งแต่
Swift รุ่นก่อนหน้า มาถึงรถรุ่นใหม่ ก็ยังไม่ดีขึ้น และมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นในบางโชว์รูมด้วยซ้ำ
ทุกท่าน อาจจะเคยได้ยิน หรือรับรู้ปัญหาต่างๆ ของบรรดาโชว์รูม ผู้จำหน่าย ทั้งหลาย มาบ้างแล้ว
ไม่มากก็น้อย บางราย ก็อาจประสบพบเจอด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่ หนีไม่พ้น ความกังวลใจของบรรดา
ลูกค้าที่สั่งจองรถไปแล้ว กลัวว่าจะไม่ได้รับรถกันตามกำหนด ทันเวลา ยื่นเรื่องคืนภาษีรถคันแรก
ทั้งที่ตอนนี้ รัฐบาล เปิดทางให้ว่า ใคร ที่”จองรถ” ก่อน 31 ธันวาคม 2012 จะยังทำเรื่องคืนภาษีได้
ทั้งหมด จะรับรถช่วงใดของปี 2013 ก็ได้ (แต่ถ้าจองหลังจาก 31 ธันวาคม 2012 ถือว่าไม่ได้สิทธิ์แล้ว)
บางโชว์รูม ก็เลยนำความกังวลใจของลูกค้า มาเล่นเล่ห์สร้างรายได้เข้ากระเป๋าตัวเองกันอย่างสำราญ
ท่ามกลางเสียงก่นด่าของลูกค้า ผู้อิดหนาระอาใจเกินจะสรรหาคำหยาบคายในสากลโลกนี้มาด่าทอ
กันต่อไปได้อีก
อันที่จริง มีโชว์รูม Suzuki ที่ไว้ใจได้อยู่หลายโชว์รูมมากๆ ในกรุงเทพฯ เท่าที่ผมนับได้ อย่างน้อยๆ มี
6-7 แห่งละ ที่ภาพรวม ผมถือว่าสอบผ่าน ปัญหาคือ จะให้เขียนออกสื่อกันเลย เกรงว่ามันจะไม่เกิดความ
ยุติธรรม กับโชว์รูมที่เหลือ เอาเป็นว่า โชว์รูมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ทั้งหลาย และเป็นรายใหญ่ๆ หรือแม้แต่
รายที่เคยขายมอเตอร์ไซค์ให้กับ Suzuki มาก่อน เดินเข้าไปได้เลย รวมทั้งโชว์รูมรายใหม่ ขนาดกลางๆ
ปัญหาจะไม่มี หรือถ้ามี ก็จะน้อย ส่วนโชว์รูมเล็กๆ อาจจะได้โควต้าส่งรถขึ้นโชว์รูม น้อยกว่า โชว์รูม
ขนาดใหญ่ ทำให้รับรถช้ากันนิดนึง
แต่ทีนี้ โชว์รูมที่มีปัญหานั้น ส่วนใหญ่ เกิดจาก พนักงานขาย คิดไม่ซื่อ เล่นตุกติก ต้องบังคับให้ลูกค้า
จ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้ออุปกรณ์ตกแต่ง ซึ่งตนก็ได้รับค่าคอมมิชชันอยู่ด้วยแล้วอีกส่วนหนึ่ง ถือว่าเป็นการ
กระทำที่ ทุเรศมาก! ซ้ำร้าย บางราย เจ้าของโชว์รูมนั่นแหละ ตัวดี สั่งการกับลูกน้องเองเลย ลูกค้าเดิน
เข้าไปถึงปุ๊บ ขอค่ากินเปล่าเลยก็มี ลูกค้าบางราย อยากรับรถเร็ว ก็ยอมจ่ายเพิ่มกันไป ซึ่งจริงๆแล้ว
มันไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย
ถ้าเจอเรื่องแบบนี้เมื่อไหร่ แจ้งไปที่ Call Center ของสำนักงานใหญ่ด้วยตัวคุณเองได้เลย เท่าที่ทราบมา
มีหลายราย โดนผู้บริหารของสำนักงานใหญ่ สั่งลงดาบ เชือดทิ้งให้ดูกันไปแล้ว
อีกปัญหาที่ตามมาอีกสิ่งหนึ่งก็คือ การบริการหลังการขาย จริงอยู่ว่า โชว์รูมที่มีอยู่ในประเทศไทย 57 แห่ง
น่าจะรองรับปริมาณการซ่อมบำรุงได้เกือบจะทั้งหมด แถม Suzuki เอง ก็กำลังเตรียมจะขยายโชว์รูมแห่ง
ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ทุกปี และตามแผนการเดิม ปีนี้ จะมีโชว์รูม เพิ่มขึ้นทั่วประเทศถึง 70 แห่ง
หลังจากนี้ ปีหน้าขึ้นไป จะต้องมีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 100 โชว์รูม ถือว่า เป็นการขยายตัวที่เร็วมากๆ เมื่อเทียบ
กับการขยายตัวของรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ที่เคยมีมาในบ้านเรา
แต่ในแง่ความชำนาญ ของช่างซ่อม หัวหน้าช่าง และ Technician ทั้งหลายเนี่ยสิ ที่เรายังแอบเป็นห่วง
อยู่นิดหน่อย การดูแล และแก้ปัญหาให้ลูกค้าจนจบลงด้วยดี วิเคราะห์ปัญหาให้ขาด อ่านปัญหาให้ออก
และลงมือซ่อม อย่างไม่ต้องกลัวเสียศักดิ์ศรี ว่าจะต้องเปิดกางตำรา เพราะลูกค้าจะ Happy กว่า
และที่สำคัญคือ พูดจากับลูกค้าดีๆ เป็นมืออาชีพ เข้าใจหัวอกลูกค้า อย่าหัวหมอ ไม่ด่าทอ หรือพุดจาแบบ
ขอไปที ประเภทอ้างว่า “อาการแบบนี้ เป็นปกติแหละครับ” จะต้องไม่มีให้เราได้ยินกันอีก สร้างความ
พึงพอใจให้ลูกค้า สูงที่สุด
และถ้าเป็นไปได้ จะต้องทำงานหนัก ให้เทียบเท่ากับ Honda เมื่อครั้งมาเปิดกิจการ ขายรถยนต์ในบ้านเรา
เต็มตัว ช่วงปี 1984 – 1990 นั่นคือ กรณีศึกษา ที่ ทุกคนใน Suzuki ควรเรียนรู้เอาไว้อย่างหนัก
นั่นคือสิ่งที่ผมคาดหวังจะเห็น จาก โชว์รูมทุกแห่งของ Suzuki ในเมืองไทย นับจากนี้
เพราะช่วงเวลานี้ นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดของคุณ เท่าที่เคยมีมาในเมืองไทย!
————————————///———————————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม
ผู้อำนวยการฝ่ายการขาย การตลาดและประชาสัมพันธ์
Suzuki Automobile (Thailand) Co.,ltd
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานต่างๆอย่างดียิ่ง
รวมทั้ง…
บริษัท TOA Paint (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อสถานที่ ถ่ายภาพนิ่ง (รถคันสีแดง)
และ คุณ Book Amporndanai
สำหรับการแปลเอกสารข้อมูล จากภาษาญี่ปุ่น
————————————————–
รวม บทความ รถยนต์กลุ่ม Sub-B-Segment 1,000 – 1,300 cc. (ECO Car) ทุกรุ่น คลิกอ่านได้ ที่นี่
————————————————–
เอกสารประกอบการเขียน
– เอกสารต่างๆ ของ Suzuki Motor Corporation
– นิตยสาร Motor Fan ฉบับ New Model No. 444 Suzuki Swift
————————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทย ทั้งหมด
เป็นผลงานของผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายต่างประเทศทั้งหมด เป็นของ Suzuki Motor Corporation.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
8 ตุลาคม 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 10th,2012
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome , CLICK HERE!