“จิม เราอยากขับ SX4 หวะ เรามีความรู้สึกว่า รถมันเหมือนมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่”
“แพน… เราบอกเลยนะ SX4 มันเป็นรถที่มีเรื่องราวเปรียบได้กับการที่ เราเดินเข้าผับ ไปเจอผู้หญิงสักคน
ซึ่งสวย แต่แต่งตัวแปลกตาไปสักหน่อย คนทั้งผับเขาไม่สนใจ แต่นายกลับสน จนเมื่อลองได้ เดินเข้าไป
ทักทาย พูดคุย และทำความรู้จัก นั่นแหละ ถึงได้รู้ว่า เราควรจะปล่อยเธอเอาไว้อย่างเดิมดีกว่า”
สารภาพว่า ทั้งหมดนั้น คือสิ่งที่ผมพูดกับ ตาแพน Commander CHENG ของเรา จริงๆ
ช้าก่อน! ถ้าคุณคิดว่าผมด่วนสรุปไปหรือเปล่า รถก็ยังไม่เคยได้ลองขับกันเลย….คงจะลืมกันไปแล้วว่า
ก่อนหน้านี้ Headlightmag.com ของเรา ก็เป็นสื่อมวลชนรายแรกในเมืองไทย ที่ทำบทความรีวิวฉบับสั้น
Exclusive First Impression : Suzuki SX4 เวอร์ชันญี่ปุ่น เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร กันแล้ว โดยคราวนั้น เรา
ไปลองขับกันไกลถึงญี่ปุ่น ก่อนจะเก็บบทความนั้นไว้ เงียบๆ มานานครบ 1 ปีพอดี จึงค่อยนำเสนอ
ออกมา ในวันที่ Suzuki พร้อมแล้วสำหรับการแนะนำรถรุ่นนี้ สู่ตลาดบ้านเรา
ยังจำได้ถึงช่วงวินาที ที่รู้ว่า Suzuki คิดจะนำ SX4 เข้ามาขายในบ้านเรา ปากผมก็พูดออกไปในสิ่งที่ใจคิดทันที
ว่า “คิดดีแล้วหรือ ที่จะสั่งรถรุ่นนี้เข้ามาขายในเมืองไทย?” ตอนนั้น แม้จะรู้ดีว่า น่าจะมีลูกค้ามาอุดหนุนอยู่บ้าง
แต่ผมไม่เชื่อว่ารถคันนี้จะขายดิบขายดี จนเป็นปรากฎการณ์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ Suzuki Swift ดังนั้น
ถ้ายอดขาย ได้ระดับ 50 คัน/เดือน ทั่วประเทศ ก็ถือว่าเก่งแล้ว
ปรากฎว่า หลังการเปิดตัว มียอดสั่งจอง สั่งซื้อ และปล่อยรถถึงมือลูกค้าไปทั้งหมด รวมแล้ว 60 คัน ถือว่า
เกินเป้าหมายที่คาดไว้ไปนิดหน่อย ทั้งที่ Suzuki Automobile Manufacturing Thailand (อันเป็นบริษัทใหม่
ที่เกิดขึ้น ในช่วง 1 ปีก่อนหน้าการหมดสัญญากับกลุ่ม พรประภา จะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา) ไม่คิดจะ
คาดวังตัวเลขยอดขายกับ SX4 มากนักก็ตามเถอะ
ผมชักอยากรู้แล้วละว่า เมื่อ SX4 มาอยู่บนถนนเมืองไทย บุคลิก และสมรรถนะของตัวรถหนะ มันจะดีพอ
ให้คุณจ่ายเงิน 799,000 บาท แลกกับการครอบครอง รถยนต์ Compact Crossover SUV รายแรกที่ทำตลาดใน
เมืองไทยในรอบ 10 ปีกว่าๆ จากแบรนด์อย่าง Suzuki หรือไม่
ผมมีคำตอบให้คุณแล้วครับ…อยู่ข้างล่างนี้ แต่บอกกันก่อนว่า มันอาจจะสั้นกว่า Full Review ฉบับปกติทั่วไป
สักหน่อย เปล่าหรอก ไม่ใช่ว่าขี้เกียจเขียน แต่อ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะรู้เอง ว่าทำไมรีวิวงวดนี้ สั้นกว่าปกตินัก
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้น เมื่อ ช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ ผ่านพ้นมาได้ไม่นานนัก สำนักงานใหญ่ของ Suzuki
ที่เมือง Hamamatsu กำลังอยู่ในระหว่าง การเตรียมโครงการพัฒนารถยนต์ ระดับ Compact ด้วยแนวคิดใหม่
ที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นคือ “Sport X-over for 4 Seasons” ซึ่งเป็นการผสานรูปแบบรถยนต์ Traditional SUV
หรือ SUV แบบดั้งเดิม ที่ Suzuki มีความเชี่ยวชาญมาตั้งแต่ทำรถจี๊ปขนาดเล็ก Jimny มาจนถึง Escudo / Vitara
และต่อยอดมาเป็น Grand Escudo / Grand Vitara ในปัจจุบัน เข้ากับ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก Compact แนวสปอร์ต
โดยมอบหมายให้ Osamu Honda จากฝ่าย Vehicle Line Executive VI แผนก Automobile Engineering รับหน้าที่
เป็น Chief Engineer หรือหัวหน้าทีมวิศวกรโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้
สิ่งที่ Suzuki เอง มองไว้ก็คือ ในเมื่อ เป้าหมายหลักของรถคันนี้ อยู่ที่ตลาดยุโรป ปัญหาก็คือ จะหาเครื่องยนต์
Diesel Turbo ได้จากที่ไหน? เพราะสำหรับตลาดยุโรปแล้ว ยอดขายรถยนต์ Diesel สูงทัดเทียม หรือเผลอๆจะ
มากกว่ารถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิ้น ด้วยซ้ำไป Suzuki เองก็รู้ดี แต่ตนเองก็ยังไม่ถึงกับเชี่ยวชาญมากนักใน
เทคโนโลยีเครื่องยนต์ Diesel ถ้าลงทุนพัฒนาเอง ก็จะไม่ค่อยคุ้ม และถ้าเกิดขายไม่ออกขึ้นมา ก็อาจส่งผล
ต่อสถานภาพการเงินได้อยู่ ดังนั้น การเลือกซื้อเครื่องยนต์ จากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งทำออกขายสำเร็จรูปอยู่แล้ว
คือทางออกที่ง่าย ประหยัดเงินในการพัฒนา และประหยัดเวลามากที่สุด แต่คำถามต่อมาก็คือ แล้วใครละ
จะมีศักยภาพมากพอจะผลิตเครื่องยนต์ Diesel ให้กับรถยนต์รุ่นใหม่คันนี้?
ขณะเดียวกัน Fiat Auto Spa. ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของอิตาลี และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของยุโรป
มองเห็นว่า ช่วงที่ตนกำลังกอบกู้วิกฤติจากปัญหาต่างๆที่รุมเร้าอยู่ในขณะนั้น พวกเขาต้องการรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่เคยมีมา และมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้า ที่มีรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) เป็นคนเมือง แต่ชอบ
ท่องเที่ยวพักผ่อนในชนบท ต้องการรถยนต์ขนาดเล็ก ที่พอจะพาเพื่อนฝูงไปด้วยอีก 2-3 คน พร้อมสัมภาระ
อีกนิดหน่อย ไปเที่ยวหรือตั้งแคมป์กันในช่วงวันหยุด อันเป็นตลาดที่มีลูกค้าไม่เยอะนัก เมื่อเทียบกับภาพรวม
ของทั้งตลาด แต่ก็ถือว่ามีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่มากพอให้ลงทุนทำรถขายสักรุ่นหนึ่ง แต่ครั้นจะให้ Fiat
ออกแบบและสร้างรถรุ่นใหม่นี้เอง ก็คงจะเสี่ยงต่อการขาดทุนเกินไป
ทั้งคู่ ก็เลยลงนามทำสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกันในการพัฒนารถยนต์ Crossover SUV รุ่นใหม่ เมื่อเดือน
เมษายน 2003 โดยจะให้โรงงาน Magyar Suzuki ใน Hungary เป็นฐานการผลิตหลัก เพื่อจะส่งออกไป
ขายทั่วยุโรป ให้ได้ปีละ 60,000 คัน โดย 2 ใน 3 จากยอดผลิตเป็นเวอร์ชัน Suzuki (ประมาณ 40,000 คัน)
และ 1/3 ที่เหลือ (ประมาณ 20,000 คัน) จะเป็นโควต้าของ Fiat อย่างไรก็ตาม ตามข้อตกลงในโครงการนี้
Fiat จะมีสิทธิ์ นำรถยนต์จากโครงการดังกล่าว ไปทำตลาดได้ แค่ในทวีปยุโรป เท่านั้น
งานออกแบบ เส้นสายภายนอก เป็นฝีมือของ Giorgetto Giugiaro แห่งสำนักออกแบบรถยนต์ Italdesign
อันโด่งดังจากอิตาลี ขณะที่งานออกแบบภายใน เป็นผลงานของทีม Suzuki เอง
Fiat เผยโฉมให้สาธารณะชนเห็น Fiat Sedici ครั้งแรก ร่วมกับ Suzuki SX4 เมื่อ 1 ธันวาคม 2005 ก่อนที่จะส่งไป
เปิดผ้าคลุมกันในงาน Geneva Motor Show เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 และยังคงทำตลาดมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรกมีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ แบบเบนซินจาก Suzuki รหัส M16A บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,586 ซีซี
106 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที และรุ่น Diesel จาก Fiat เป็น
บล็อก 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,910 ซีซี MultiJet 120 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร
ที่ 2,050 รอบ/นาที มีเฉพาะระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ i-AWD ต่อมา 2 ปีต่อมา จึงมีการเพิ่มรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้ามาให้
อีกด้วย
การปรับโฉม Minorchange มีขึ้นเมื่อ 27 เมษายน 2009 เปลี่ยนกระจังหน้า และเปลือกกันชนหน้า ให้เล็กลง
อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้ และมีการปรับปรุงเครื่องยนต์ M16A ให้แรงขึ้นเป็น 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,000
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 156 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที ส่วนเครื่องยนต์ Diesel เปลี่ยนมาใช้ขุมพลังใหม่
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,956 ซีซี พร้อมระบบ Diesel Multijet DPF 135 แรงม้า (PS) ที่ 3,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ที่ 1,500 รอบ/นาที
แล้วขายดีหรือไม่ ลองดูจากยอดผลิต ในปี 2005 อันเป็นปีแรกที่เริ่มเปิดตัว โรงงาน Suzuki ใน Hungary แจ้ง
ยอดผลิต Sedici ไว้ที่ 350 คัน แต่ในปีถัดมา คือ ปี 2006 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มทำตลาดครบขวบปี Sedici มียอดผลิต
24,943 คัน พอปี 2007 ตัวเลขก็พุ่งขึ้นเป็น 34,522 คัน แต่พอปี 2008 ตัวเลขก็เริ่มเข้าสู่ช่วงถดถอย ตามวัฏจักร
อายุตลาดรถยนต์ เหลือ 30,952 คัน และปี 2009 ตัวเลขก็ลดต่ำลงเหลือแค่ 19,315 คัน ส่วนยอดขายนั้น มีตัวเลข
แค่ถึงปี 2009 ในปีนั้น Sedici ขายไปได้กว่า 74,000 คัน โดยในจำนวนนี้ กว่า 44,000 คัน เป็นยอดขายเฉพาะ
ในอิตาลี เพียงประเทศเดียว
และทั้งหมดนั่น ก็คือเรื่องราวในฝั่งของ Fiat อันเกี่ยวข้องกับรถยนต์รุ่นนี้ ซึ่งคุณควรจะรับรู้ไว้สักหน่อย
มาดูฝั่ง Suzuki กันบ้าง
สำหรับทีมวิศวกรชาว Hamamatsu แล้ว SX4 ถือเป็นรถยนต์นั่งรุ่นที่ 3 ซึ่งอยู่ในแผน World Stratrgies เพื่อจะ
พลิกโฉมภาพลักษณ์ของ แบรนด์ Suzuki ในตลาดรถยนต์นั่ง ให้ก้าวกระโดดไปสู่ความเป็นสากล มากยิ่งขึ้น
กว่าที่เคยเป็นมา SX4 คลอดตามติด Swift และ New Grand Vitara ซึ่งมีลูกค้าต้อนรับอย่างดีในหลายๆประเทศ
ทั่วโลก
Suzuki ภาพถ่ายชุดแรกของ SX4 บน Internet เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2005 เผยให้เห็นรูปลักษณ์ของรถคันจริง
พร้อมกันกับ Fiat Sedici จากนั้น พวกเขาก็ส่งข่าวอีกครั้ง เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 ว่าจะเปิดตัว SX4 เป็นครั้งแรก
ในโลก ณ งาน Geneva Motor Show รอบสื่อมวลชนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2006 และพร้อมจะทำตลาดจริง ในช่วง
หลังจากนั้น ไม่กี่เดือน
ปัจจุบันนี้ Suzuki ผลิต SX4 จากโรงงานของตนทั้งหมด 4 แห่งทั่วโลก ได้แก่ โรงงาน Magyar Suzuki Corp
ในเมือง Esztergom ประเทศ Hungary โรงงาน Kosai จังหวัด Shizuoka ประเทศญี่ปุ่น โรงงาน Manesar
ใน India และโรงงาน Bekasi ในประเทศ Indonesia ซึ่งโรงงานหลังสุดนี้ เพิ่งเริ่มเปิดไลน์ผลิต SX4 เมื่อปี
2007 และเป็นโรงงานที่ผลิต Swift กับ SX4 ส่งมาขายในประเทศไทย
ในบางประเทศ SX4 จะมีตัวถัง Sedan 4 ประตู ซึ่งเป็นผลผลิตจากความร่วมมือกับทาง Maruti Suzuki Udyog
บริษัทร่วมทุนในอินเดีย ซึ่งในเมืองไทยนั้น ถูกสั่งเข้ามาใช้งาน 1 คัน (เป็นรถสีเงิน ของประธานใหญ่ Suzuki
ในบ้านเรา นั่นเอง)
รุ่นที่นำเข้ามาขายในไทย เป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange ซึ่งกว่าจะมีโอกาสเข้ามาขาย ก็นานเอาเรื่องเลยทีเดียว
ต้องรอเวลาจนรถใกล้จะหมดอายุตลาดแล้ว ถึงจะได้ฤกษ์สั่งเข้ามาขายคนไทยกัน
ตัวถังของ SX4 เวอร์ชันไทย มีความยาว 4,135 มิลลิเมตร กว้าง 1,755 มิลลิเมตร สูง 1,605 มิลลิเมตร และ
ระยะฐานล้ออยู่ที่ 2,500 มิลลิเมตร ซึ่งเท่ากันกับ Toyota Soluna Vios รุ่นแรก พอดีเป๊ะ น้ำหนักตัวอยู่ที่
1,210 กิโลกรัม สำหรับรถเปล่า และเมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกเข้าไป ก็จะอยู่ที่ 1,650 กิโลกรัม ระยะห่าง
จากพื้นรถ ถึงพื้นตัวถัง Ground Clearance อยู่ที่ 175 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ของ SX4 ตัวถัง Hatchback 5 ประตูนั้น มาในแนว Compact Crossover SUV ซึ่งมีขนาดไล่เลี่ย
กันกับ Toyota RAV4 รุ่นแรก การตกแต่งในเวอร์ชันตลาดโลกมีด้วยกัน 2 แบบคือ Urban Line จะมาใน
แนวบ้านๆ มีชุดแต่ง Aero Part รอบคัน และรุ่น Outdoor Line ซึ่งเป็นรุ่นที่สั่งเข้ามาขายในเมืองไทย จะมี
Rack หลังคา คิ้วพลาสติกสีดำ ตัดขอบเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 รวมทั้งบริเวณเปลือกกันชนหลัง ล้ออัลลอยที่ให้มา
เป็นขนาด 16 นิ้ว สวมด้วยยางขนาด 205/60 R16 เส้นรอบวงก็น่าจะมีมากกว่าชาวบ้านเขานิดหน่อย
มีไฟหน้า HID (High Intensity Discharge) พร้อม Multi Refector และมีไฟตัดหมอกที่กันชนหน้ามาให้
กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถัง แต่ไม่มีไฟเลี้ยวมาให้ เปลือกกันชนหน้า เป็นแบบเดียวกับเวอร์ชันญี่ปุ่น
กุญแจของ SX4 เป็นแบบมีสวิชต์รีโมทคอนโทรล สั่งล็อก – ปลดล็อก ได้ในตัว พร้อมระบบ Immobilizer
สิ่งที่น่าฉงนก็คือ ในเมื่อ รถขนาดเล็กกว่า มีราคาถูกกว่าอย่าง Swift มี รีโมทคอนโทรลแบบ Smart Entry
แค่พกกุญแจไว้กับตัว ก็เดินไปกดปุ่มปลดล็อก แล้วขึ้นรถไปบิดสวิชต์สตาร์ทเครื่องยนต์ได้เลย แต่ SX4
กลับยังต้องใช้วิธีการบิดกุญแจติดเครื่องยนต์แบบเก่าอยู่ดี
ไม่ต้องหาข้ออ้างอีกเลย ล็อตต่อๆ ไป ใส่มาให้ลูกค้าไทยซะดีๆ!
เมื่อเปิดประตูออกมา จะพบว่า ทางเข้าออกจะมีลักษณะประหลาดนิดนึง ช่องทางเข้าดูเหมือนจะแคบ
แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีปัญหาในการเข้าออกจากรถ แต่อย่างใด แค่เพียงเปิดประตู หย่อนก้น เหวี่ยงขา
ทั้งสองข้างขึ้นรถ เป็นอันเสร็จพิธี สะดวกสบาย แบบเดียวกับ SUV ยุคใหม่ๆ หรือไม่ก็ Nissan TIIDA
เลยนั่นละครับ
ตำแหน่งการวางแขนบนแผงประตูนั้น จะวางได้สบายพอดี หากคุณนั่งอยู่ในตำแหน่ง ต่ำสุดของ
เบาะคนขับ เพราะในฝั่งผู้โดยสาร เบาะนั่งด้านซ้ายนั้น เมื่อตำแหน่งของเบาะ ปรับระดับสูง-ต่ำ
ไม่ได้ แขนของผู้โดยสารก็จะลอย จากระดับของพื้นที่วางแขนบนแผงประตูฝั่งซ้ายนิดหน่อย
ตรงนี้ ไม่พอดี ไม่ลงตัวนัก
ตำแหน่งเบาะหน้า ติดตั้งมาให้สูงกว่ารถยนต์นั่งระดับ C-Segment ทุกรุ่นในตลาดอยู่มาก ออกแนว
ไปทางเบาะนั่งรถยนต์ Minivan กันเลยมากกว่า แต่ก็ไม่สูงขนาด รถกระบะ หรือ Off Road แท้ๆ
การหย้อนก้นลงไปนั่ง จึงยังทำได้ ไม่ต้องทำตัวเป็ลิงค่างบ่างชะนี ปีนป่ายขึ้นรถแต่อย่างใด
เบาะนั่งคู่หน้า มีเบาะรองนั่งที่ยาวเหมาะสมพอดีและลงตัวกับสรีระของผมมาก และผมมองว่า
ในระดับราคานี้ หากไม่นับผ้าหุ้มเบาะลายสากๆแข็งๆ แล้ว นี่คือ โครงสร้างเบาะนั่งที่ให้ความ
สบายในการโดยสารช่วงระยะทางไกลๆ เป็นที่สุด จะนั่ง หรือปรับเอนนอน ก็สบายกำลังดีมากๆ
เพียงแต่ว่า ปีกด้านข้าง อาจจะยื่นออกมาน้อยไปนิดเดียว ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหากับผู้คนส่วนใหญ่
เท่าใดนัก ก็แน่ละ เบาะคู่หน้าหนะ แทบจะเรียกได้ว่า ยกมาจาก Suzki Swift เลยด้วยซ้ำ!
เบาคนขับ มีก้านปรับระดับสูง – ต่ำให้โยกขึ้น – ลงเล่นๆ ที่ฐานพลาสติกรองเบาะฝั่งขวามือ
ขณะเดียวกันพื้นที่เหนือศีรษะ ก็โปร่ง และโล่งสบาย เพราะหลังคาถูกออกแบบมาให้สูงกว่า
รถทั่วไป ทำให้บรรยากาศในการเดินทาง ไม่เครียด ไม่สัมผัสถึงความอึดอัดคับแคบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดหายไป และผมเห็นว่า Suzuki ควรจะหามาติดตั้งให้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ไปเลย นั่นคือ พนักวางแขน แบบยกขึ้นพับได้ ติดตั้งที่ด้านข้างของพนักพิงหลังเบาะคนขับ
ถึงจะมีเป็นอปกรณ์ติดตั้งเสริม ให้เลือกสั่งซื้อกัน แต่สำหรับการขับรถในกรุงเทพฯ แล้ว พนัก
วางแขน จะช่วยลดความเมื่อยล้าได้ ขณะต้องจอดติดอยู่ยนถนนเป็นเวลานานๆ
การเข้าออกจากประตูคู่หลัง จะไม่เป็นปัญหากับคนตัวผอมๆ แต่กับคนตัวอ้วนอย่างผม ก็ต้อง
เล็งกันนิดนึง เพราะช่องทางเข้าประตูค่อนข้างสั้น ด้วยเหตุจากระยะฐานล้อหน้า-หลัง ถูก
กำหนดมาให้ยาวเพียงเท่าที่เห็น แต่หัวไม่ชนกับหลังคาแน่ๆ ถ้าก้มหัวดีๆ
ตำแหน่งเบาะนั่งด้านหลัง จะสูงกว่าด้านหน้าขึ้นไปอีกนิดหน่อย ในลักษณะคล้าย เบาะโรงหนัง
อันเป็นแนวคิดที่ Land Rover เคยนำมาใช้กับรถยนต์รุ่น Discovery จนถึงทุกวันนี้ รวมทั้ง Honda
ที่เคยนำแนวคิดเบาะโรงหนังแบบนี้ ไปใช้กับ Minivan รุ่น Odyssey ในช่วง 2 เจเนอเรชัน แรก
พนักพิงหลัง นั่งสบาย ฟองน้ำนุ่มกำลังดี เบาะรองนั่ง สั้นไปหน่อย ชวนให้นึกถึงเบาะของ
Suzuki Swift ขึ้นมาบ้างเหมือนกัน ทั้งที่เบาะรองนั่ง เป็นคนละชุดกัน พนักศีรษะ จะมีพื้นที่
รองรับศีรษะเยอะกว่า พนักศีรษะของเบาะหลังใน Swift ชัดเจน แต่อย่างว่าครับ แม้จะเป็น
การออกแบบที่ช่วยให้เกิดความสะดวกทั้งการผลิต และการติดตั้ง แต่เมื่อใช้งานจริงๆ ถ้าไม่
ยกพนักศีรษะขึ้นมาใช้เลย ขอบด้านล่างของพนักศีรษะ จะคอยดันต้นคอคุณตลอดเวลา
จนน่ารำคาญมาก ไม่ต่างจากพนักศีรษะของ Toyota Wish หรือ บรรดายนต์ Hatchback
ขนาดเล็กทั้งหลาย กันนักหรอก
อย่างไรก็ดี ถ้าให้ผมต้องเดินทางไปไกลๆ เบาะหลังของ SX4 ก็น่าจะทำให้ผมยังสามารถ
เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปได้ถึงเพชรบูรณ์ โดยอาจจะมีเมื่อยนิดหน่อย ไม่เยอะนัก แต่ถ้า
ให้นั่งถึงเชียงใหม่ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก แม้ัว่าพื้นที่ศีรษะจะสูงโปร่ง เหมือนกันกับด้านหน้า
และมีพื้นที่วางขาที่ เยอะพอตัว เท่าที่ระยะฐานล้อจะเอื้ออำนวยให้เป็นไปได้ ก็ตาม
เสียดายว่า เบาะหลังนั้น ปรับเอนลงไปไม่ได้อีกแล้ว ถ้าทำได้ จะดีกว่านี้มาก
การวางแขน บนพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ ตรงกลางชุดเบาะนั่ง และ พื้นที่วางแขน
บนแผงประตูด้านข้าง ทำได้ดี และอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เหมาะสม กับการใช้งานจริง
ของคนทุกเพศทุกวัย
นอกจากนี้ เบาะหลังยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง
ให้มากขึ้น ได้อีกนิดหน่อย วิธีการพับเบาะแถวหลัง มี 2 ขั้น ตอน คือ ปลดล็อกที่พนักพิงหลัง จะฝั่งซ้าย
หรือขวาก็ตามแต่ แล้วพับพนักพิงเบาะหลังลงมา
จากนั้น เดินไปเปิดฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง สวิชต์เปิดประตู เป็นสวิชต์ไฟฟ้า (ใช้ชุด
กลอนประตู ทุกบาน รอบคันรถ ยกมาจาก Suzuki Swift นั่นละ) เมื่อเปิดยกขึ้นมา จะสังเกตว่า
ที่ด้านล่างของพื้นห้องเก็บของ บริเวณ รอยต่อกับเบาะรองนั่ง จะมีเชือกสีดำ เป็นสาย U คล้องไว้
ออกมา ให้ดึงที่สายคล้องนั้น เพื่อยกชุดเบาะม้วนขึ้นไปข้างหน้า อย่างที่เห็นในภาพนี้ เป็นอัน
เสร็จพิธี
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีความจุมากถึง 270 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน แต่เมื่อพับเบาะหลัง
ลงไปแล้วทั้ง 2 ฝั่ง ความจุจะเพิ่มเป็น 625 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA มีไฟส่องสว่าง ในห้องเก็บของ
ด้านหลัง มาให้อีกด้วย สามารถเลือกเปิด – ปิด ได้ อยู่ที่แผงพลาสติก บุซุ้มล้อฝั่งขวาของรถ
แผงบังสัมภาระ ห้อยเอาไว้ด้วยเชือกเส้นบางๆ ที่ยึดอยู่กับตะขอเกี่ยวคล้อง บริเวณ ข้างกระจกบังลม
สามารถยก ถอดออกมาทั้งแผงได้ อย่างง่ายดาย เพื่อความสะดวกต่อการขนสัมภาระขนาดใหญ่
เมื่อ ยกพื้นห้องเก็บของขึ้น (มีขอเกี่ยวยึดไว้ ป้องกันพื้นห้องเก็บของกระเด้งขณะขับขี่) จะพบ
ยางอะไหล่ แบบบาง มาตรฐานญี่ปุ่น (ล้ออะไหล่เหลือง) ที่ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แถมมาให้ ส่วนชุดเครื่องมือประจำรถ หายไปไหนหว่า สงสัย คนของ Suzuki เขาคงเอาเก็บไว้ที่
สำนักงานใหญ่ ย่านคลอง 5 รังสิต กระมัง
แผงหน้าปัดถูกออกแบบให้ดูใหญ่โต แต่ใช้งานง่าย และเน้นเส้นสายการตัดขอบด้านข้างของ
แผงควบคุมกลาง ด้วยแถบสีเงินขนาบข้างทั้งซ้าย – ขวา กันตั้งแต่อยู่ในขั้นตอนร่างแบบเลย
ด้วยซ้ำ
การจัดวางอุปกรณ์ เน้นความสะดวกในการใช้งานเป็นหลัก ตามรูปบบ รถยนต์ที่ดีควรเป็น
ช่องแอร์ตรงกลาง จะเป็นแบบ สี่เหลี่ยม ตัดขอบมุมล่างให้โค้งมน เล่นลวดลายนิดหน่อย ส่วน
ช่องแอร์ฝั่งซ้าย และขวา เป็นแบบวงกลม หมุนรอบตัวเองได้ มี ประดับด้วยลายอะลูมีเนียม
มองไปด้านบน จะพบว่า แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้ามาให้ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสาร ส่วน
ไฟแต่งหน้า ก็คงต้องใช้ร่วมกันกับ ไฟอ่านแผนที่ รูปทรงสี่เหลี่ยมได้ใจจริงๆ แผงคอนโซล
ใต้แผงควบคุมกลาง มีงานประกอบจากโรงงานใน Indonesia ยังไม่เรียบร้อยนัก
กระจกหน้าต่าง เปิด – ปิดได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน โดยจะมีสวิชต์แบบ One Touch Auto
กดครั้งเดียว หรือดึงขึ้นครั้งเดียว ก็เลื่อนเปิด – ปิด เองได้ เฉพาะฝั่งคนขับ ตามธรรมเนียม
ฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด มีเพียงสวิชต์เปิด – ปิด ไฟตัดหมอก อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ทำจากยูริเทน สไตล์สปอร์ต ยกชุดมาจาก Swift เปี๊ยบเลย มีสวิชต์
ควบคุมชุดเครื่องเสียงมาให้ด้วย และถ้าสังเกตดีๆ ตำแแหน่งนั่งขับของ SX4 จะเยื้องมาทางซ้าย
เล็กน้อย คล้ายๆ Swift และรถยนต์พวงมาลัยขวารุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่นในสากลโลก นั่นละ
ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 4 วงกลม แยกฝั่งซ้าย – ขวา ใช้ตัวเลขที่อ่านง่าย สบายตามากว่า Swift
วางรูปแบบและตำแหน่งของมาตรวัดต่างๆ ในสไตล์เดียวกับรถยุโรป ใช้แสงสีขาวส่องสว่าง
คั่นกลางด้วยจอ Multi Information Display แสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบ
เฉลี่ย และแบบ Real-Time ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ นาฬิกา มาตรวัดอุณหภูมิภายนอก ระยะทาง
ที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้แล่นต่อไปได้อีกกี่กิโลเมตร มีเสียงเตือนเมื่อเปิดไฟหน้า หรือ
เสียบกุญแจค้างคาไว้ และแจ้งเตือนน้ำมันหมด แถมมีสัญญาณไฟเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย
แต่ไม่มีสัญญาณร้องเตือน ที่แน่ๆ มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำมาให้ด้วย
Trip Meter สำหรับให้ผู้ขับขี่วัดระยะทาง มีมาให้ทั้ง Trip A และ Trip B
ช่องแอร์ตรงกลางเป็นแบบ สี่เหลี่ยม ตัดขอบล้างให้โค้งมน เล่นดีไซน์ กันนิดหน่อย สวิชต์ไฟฉุกเฉิน
อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ถัดลงมา คือ สัญญาณไฟแดงกระพริบ สำหรับระบบกันขโมยที่ติดมาให้
กับตัวรถ
ชุดเครื่องเสียงติดรถ เป็นวิทยุ AM/FM เล่นแผ่น CD / MP3 ได้ครั้งละแผ่นเดียว มีช่องเสียบ AUX มาให้
เสียบกับเครื่องเล่นเพลงประเภทอื่น เช่น iPod มาให้อีกต่างหาก มีระบบปรับเพิ่มและลดระดับเสียงดังตาม
ความเร็วของรถ AVC (Audio Volume Control) กระจายเสียงผ่าน ลำโพงที่แผงประตู 4 ชิ้น ทวีตเตอร์ ที่
ด้านบนแผงประตู อีก 4 ชิ้น และลำโพง เหนือช่องแอร์คู่กลาง บนแผงหน้าปัด อีก 1 ชิ้น รวมแล้วให้ลำโพง
มากถึง 9 ชิ้น!! เยอะสุดในบรรดา รถยนต์ระดับเดียวกัน และมีเสาอากาศขนาดเล็ก อยู่บนหลังคา ด้านหลัง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ คุณภาพเสียงจากชุดเครื่องเสียงใน SX4 จัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นลำดับต้นๆ เมื่อ
เทียบกับรถยนต์กลุ่ม C-Segment Compact Class ด้วยกัน เพียงแต่ว่า ถ้าปรับเสียงกลางได้ก็น่าจะยิ่งดีกว่านี้
เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบธรรมดา ทำความเย็นได้เร็วมาก แถมยังเย็นฉ่ำดีอีกต่างหาก เสียอย่างเดียว
ในเมื่อ Swift มีสวิชต์เครื่องปรับอากาศ แบบกดปุ่ม พร้อมหน้าจอ Digital มาให้ แล้วทำไม รถที่ตั้งราคาไว้
แพงกว่า Swift อย่าง SX4 ถึงยังให้สวิชต์เครื่องปรับอากาศแบบมือบิดธรรมดามาให้ละ? ไม่ต้องบอกนะว่า
เวอร์ชันส่งออกไม่มีสวิชต์แอร์กดปุ่ม เพราะขนาดเวอร์ชันญี่ปุ่น ยังมีมาให้ติดตั้งกันได้เลย
รถนำเข้าล็อตต่อไป ใส่มาด้วย จะทำให้รถ ดูคุ้มค่า สมราคากว่านี้
ถัดจากสวิชต์เครื่องปรับอากาศลงไป เป็นชั้นวางของ 2 ชั้น ขนาดพอให้ใส่แว่นกันแดด หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่
จะวางเครื่องเล่น iPod หรือ iPhone เอาไว้ก็ไม่มีปัญหา
ลิ้นชักเก็บของ บนแผงหน้าปัด ผู้โดยสารฝั่งซ้าย จะพบว่า มีขนาด ไม่เล็ก และไม่ใหญ่โตนัก พอจะ
ใส่คู่มือผู้ใช้รถ สมุดทะเบียน กับกรมธรรม์ประกันภัยได้พอดีๆ โดยยังพอเหลือพื้นที่ให้เอกสารอื่นๆ
นิดหน่อย
มองลงมาข้างลำตัว ก็ขวนสงสัยว่า ทำไมไม่มีกล่องใส่ของใดๆมาให้เลย มีเพียงแค่ เบรกมือแบบมาตรฐาน
และ ช่องใส่แก้วน้ำได้แค่ 1 ตำแหน่ง เท่านั้น พูดกันตรงๆ นอกเหนือจากช่องใส่ของที่แผงประตูแล้ว
ช่องเก็บของในห้องโดยสารของ SX4 ถือว่ามีจำนวนน้อยไปหน่อย เมื่อเทีบบกับการใช้ชีวิตของคนเมือง
ซึ่งต้องการรถที่มีช่องใส่ของจุกจิกเยอะแยะกว่านี้
มาดูประเด็นด้านทัศนวิสัยกันบ้าง Suzuki SX4 ถูกออกแบบให้มีเสาหลังคายื่นล้ำมาข้างหน้า ในลักษณะที่
แปลกประหลาดปจากชาวบ้านเขาสักหน่อย นั่นคือ ทีมออกแบบ เลือกที่จะเพิ่มกระจกโอเปรา บานใหญ่
ทรงสามเหลี่ยม คั่นกลางระหว่างประตูคู่หน้า และเสาหลังคาคู่หน้า
ดังนั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ทัศนวิสัยด้านหน้า จะมีโคนเสาหลังคาคู่หน้า ยื่นเข้าไป บดบังบ้าง
ขณะขับขี่ ถ้าคุณใช้ความเร็วเดินทางทั่วไป หรือขับอยู่บนทางด่วน ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่ด้วยความหนาของโคนเสาหลังคา ทำให้การเข้าโค้งขวา บนถนนเลนเดียว สวนกัน หรือการเลี้ยวขวา
เข้าตรอก ซอกซอย มีปัญหา เป็นอย่างมาก เพราะเสาหลังคาคู่หน้า A- pilar ฝั่งขวา มีการบดบังทัศนวิสัย
ในระดับที่ผมมองว่า ค่อนข้างแย่ คือ เสามันบังจักรยานยนต์ ที่แล่นออกมาจากศซอยกันได้เลยทีเดียว
แถมยังมองไม่เห็นรถคันที่แล่นสวนมา บนทางโค้ง อีกด้วย นี่คือ หนึ่งในรถที่มีทัศนวิสัยค่อนข้างแย่
คันหนึ่งในกลุ่ม C-Segment Compact เลยทีเดียว
แต่เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้ายนั้น โชคดีที่กระจกโอเปรา มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้ยังพอจะ
มองเห็นรถที่แล่นสวนมา ขณะเลี้ยวกลับ ได้อยู่บ้าง แ ความหนาของเสาหลังคา ก็ยังคงมีผลกระทบ
อยู่ดี กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่โตใช้การได้ และช่วยเพิ่มการมองเห็นรถคันที่แล่นตามมา ได้ดีมาก
ทั้ง 2 ฝั่ง
ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ถ้าเราเอาพนักศีรษะลง แน่นอน มันก็ย่อมโปร่งตาในระดับหนึ่ง ดังนั้น
ถ้าเอาพนักศีรษะ ยกขึ้นมาจนอยู่ในตำแหน่งสูงสุดละ ก็จะเป็นเช่นที่เห็นในภาพ คือการบดบัง
ทัศนวิสัยด้านหลัง ถือว่า มี แต่ไม่เยอะนัก เนื่องจาก เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ค่อนข้างใหญ่ จนต้อง
มีการออกแบบกระจกโอเปรา เพิ่มที่เสาหลังคาคู่หลัง และนั่นก็ช่วยลดทอนปัญหาลงไปได้พอสมควร
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ในปัจจุบันนี้ Suzuki ผลิต SX4 ออกขายทั่วโลก โดยวางเครื่องยนต์มาให้ 3 ขนาด เริ่มจาก SX4 เวอร์ชันญี่ปุ่น
และรุ่นล่างสุด ของเวอร์ชันส่งออก วางเครื่องยนต์ รหัส M15A บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,490 ซีซี หัวฉีด
อีเล็กโทรนิคส์ EPI พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT ซึ่งอันที่จริง มันก็คือ เครื่องยนต์ของ Swift
เวอร์ชันไทย ที่ขายกันอยู่ตอนนี้นั่นเอง เพียงแต่มีพละกำลังสูงสุด มากกว่าใน Swift เวอร์ชันไทยนิดหน่อย คือ
111 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร หรือ 14.8 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที เวอร์ชัน
ญี่ปุ่น ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ i-AWD ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
แต่ถ้าเป็นเวอร์ชันส่งออกสู่ตลาดโลก จะถือเป็นรุ่นถูกสุด มีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหน้า เชื่อมด้วยเกียร์
ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น
ส่วนเวอร์ชันอเมริกาเหนือ จะวางเครื่องยนต์ J20B 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EPI
พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT 152 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 190 นิวตันเมตร
หรือ 19.36 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ สำหรับรุ่นขับล้อหน้า และ 4 ล้อ AWD แถม
ยังมีเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT มาให้ในรุ่นขับล้อหน้า อีกด้วย
แต่เวอร์ชันไทย ของเรา จะวางเครื่องยนต์หน้าตาแบบนี้ เป็นรหัส M16A 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,586 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ Multi-Point MPI
พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ VVT พละกำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นจากเครื่องยนต์ M15A แค่ 1 แรงม้า เท่านั้น
คือ 112 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร (15.28 กก.-ม.) ที่ 3,800 รอบ/นาที
ในรุ่นที่ทำตลาดต่างประเทศ จะมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือกใช้ แต่สำหรับเวอร์ชันไทย
มีเพียงแค่ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า ให้เลือกเพียงเท่านั้น ถ่ายทอดแรงบิดจากเครื่องยนต์
ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ มีอัตราทดเกียร์ ดังนี้
เกียร์ 1……………………….2.875
เกียร์ 2……………………….1.568
เกียร์ 3……………………….1.000
เกียร์ 4……………………….0.697
เกียร์ถอยหลัง…………………2.300
อัตราทดเฟืองท้าย……………4.375
เราทำการทดลองจับเวลา หาอัตราเร่งในตอนกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพการจราจรติดขัด และลด
ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แก่ผู้ร่วมสัญจรอื่นๆ โดยใช้มาตรฐานดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน และเปิด
ไฟหน้า ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ออกมาดังต่อไปนี้
ถ้าถามว่า ทำไมตัวเลขถึงออกมาแย่อย่างนี้ ผมคงจะพออธิบายได้เพียงแต่ว่า งานนี้ น้ำหนัก ก็ไม่น่าเกี่ยว
แม้ว่าตัวรถเปล่าจะหนัก 1,210 กิโลกรัม ซึ่งแน่นอนว่า หนักกว่าชาวบ้านชาวช่อง ในพิกัดเดียวกัน ราวๆ
100 กิโลกรัม ตัวรถเองมีความสูง ค่อนข้างต้านลมอยู่แล้ว แถมเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังเอง ก็มีส่วน
เกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ตัวเลขที่อกมาจะดูอืดอาดยืดยาดกว่าชาวบ้านชาวช่องเขา ทว่า ในการขับขี่จริง
ผมกลับพบว่า ช่วงออกตัว 0 – 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมาก สำหรับการขับรถในเมือง
เพราะเป็นช่วงที่คุณจะต้องพุ่งออกตัวไปจากสี่แยก ทันทีที่ไฟเขียวสว่างขึ้น ผมพบว่า SX4 ก็พุ่ง
ออกไปด้วยความพยายามกระฉับกระเฉง เท่าที่จะทำได้แล้ว คือสัมผัสจากรถมันเร็วกว่าตัวเลขที่ทำได้
อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า ไมได้ถึงขั้นน่าเกลียดมากนัก คือเรื่อง การเร่งแซง เมื่อใช้่งานจริง SX4
สามารถพาคุณลัดเลาะ และแซงรถที่ขับช้าๆ บนทางด่วน ได้อย่างคล่องแคล่ว และไปได้รวดเร็ว
จนทำให้ผมลืมตัวเลขที่รถทำออกมาได้ไปชั่วขณะ
ส่วนหนึ่ง ที่ทำให้รู้สึกว่ารถมันไม่อืด เป็นเพราะการตอบสนองของ คันเร่งไฟฟ้า ที่ไวมาก ไวพอกัน
กับคันเร่งไฟฟ้าใน Toyota Corolla Altis ใหม่ เลยทีเดียว แตะปุ๊บ ตอบสนองปั๊บ มีความหนืดในระดับ
เหมาะสมต่อการเลี้ยงความเร็วให้แช่นิ่งๆ แถมพกมาด้วยอีกต่างหาก แต่ก็ยังไม่ถึงกับไว ระดับถวายชีวิต
เกินเหตุ เหมือนอย่างคันเร่งของ Hyundai Tucson
แต่เราต้องไม่ลืมว่า การตอบสนองในภาพรวมของ SX4 ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรถยนต์ในยุค 10 ปีก่อน
ที่วางเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร และติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ จะให้ปรู๊ดปร๊าดแรงเร้าใจ เหมือนเช่น Nissan TIIDA
หรือ Toyota Corolla ALTIS เห็นทีจะยาก ใครซื้อ SX4 มา คงต้องทำใจในเรื่องอัตราเร่ง กันพอสมควร
การเก็บเสียง อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ตามมาตรฐานทั่วๆไป เสียงลมที่เข้ามาในห้องโดยสาร ก็ถือว่า ไม่ได้
ดังมากน้อยไปกว่ารถยนต์ Compact คันอื่นๆในตลาดเท่าใดนัก อาจจะมีเสียงยางติดรถ เข้ามาบ้าง ก็เป็น
เรื่องปกติ เพราะยางติดรถจากโรงงานมาให้นั้น เป็น Bridgestone Turanza รุ่นกลางๆ การเกาะถนนในโค้ง
ก็ทำได้ไม่ดีเท่าไหร่เลย
พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน นั้นน่าแปลกว่า เวอร์ชันไทยได้ใช้ระบบ พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง
แบบไฟฟ้า EPS (Eletronic Power Steering) ขณะที่เวอร์ชันญี่ปุ่น ยังไม่ใช้ระบบ EPS นี้แต่อย่างใด
รัศมีวงเลี้ยวอยู่ที่ 5.3 เมตร ให้การตอบสนองที่ คล่องแคล่ว ในช่วงความ เร็วต่ำๆ แถมยังมีวงเลี้ยวที่
แคบได้ใจ กว่าที่เราจะคาดคิดกันเสียอีก ไม่นึกเหมือนกันว่า จะเลี้ยวกลับรถได้พ้นแทบจะทุกครั้ง
โดยไม่ต้องตั้งลำกันใหม่ พวงมาลัยมีความหนืดที่เหมาะสม ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะมีน้ำหนัก
มากกว่ารถยนต์ทั่วไปอยู่นิดหน่อย ได้ความมั่นใจกลับมา แต่อาจจะต้องออกแรงกันนิดนึง แม้จะ
ไม่มากเท่ากับ Chevrolet Optra ก็ตามเถอะ
ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยมีน้ำหนักกำลังดี เพียงแต่ว่า ช่วงระยะฟรีที่มีนั้น ยังคงให้สัมผัสที่
จับยังไงก็รู้ว่าเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า คือไร้ชีวิตชีวา และทำหน้าที่ของมันไปตามเรื่องตามราว
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ ทอร์ชันบีม
พร้อมคอยล์สปริง บุคลิกของช่วงล่าง SX4 นั้น แม้ว่าจะให้สัมผัสที่หนึบและแน่น ในย่านความเร็วสูง
ได้ดีในระดับที่รถยนต์ขนาดเล็กพึงมีกันในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่า หลังจากที่ลงจาก SX4 กลับมาขับ
Honda City ของตัวเอง ผมได้แต่พึมพำในใจ “ทำไมรถเรามันเบาโหวงๆ ไม่หนักแน่นเหมือน SX4
เลยงะ?”
แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณใช้ความเร็วต่ำ คลานไปตามตรอกซอกซอย แล้วเจอพวกหลุม บ่อ ลูกระนาด
เนินสะดุด บอกได้เลยว่า แข็งเกินไป ไม่รู้ว่าจะแข็งกันไปไหน กระเทือนมาก ถ้าไม่ได้เบาะนั่ง
ช่วยซับแรงสะเทือนไว้ในระดับหนึ่ง เห็นทีมีหวังผมได้เปรียบเทียบช่วงล่างของ SX4 กับ
สุดยอดความแข็งระดับ MINI Cooper S กันแน่ๆ รายนั้นหนะ แข็งจนรถกระบะยังต้องยอมสยบ!
พอขับไปสักพัก ความแข็งกระเทือนของช่วงล่างใย่านความเร็วต่ำ ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์
ในวัยเด็ก ที่มีโอกาสได้ลองขับ Suzuki Escudo/ Vitara 3 ประตู รุ่นแรก ของเพื่อน คือช่วงล่างก็
แข็งใกล้เคียงกับ Vitara ในวันที่เพิ่งออกมาจากโชว์รูมนั่นละครับ เพียงแต่ว่า ไม่ได้หนึบแน่น
ในความเร็วสูงเท่ากับที่ SX4 เป็นอยู่
รถคันที่เราลองขับกัน แอบมีอาการดิ้นๆ ซ้าย-ขวา นิดๆ ขณะใช้ความเร็วสูง ระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไป ซึ่งพูดกันตรงๆนะครับ อาการแบบนี้ มันเป็นอาการที่มักพบได้จาก รถที่มีปัญหาเรื่องความรู้สึก
อันเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของพวงมาลัย (On-Center Feeling) อย่าง พวงมาลัยไฟฟ้าใน Toyota Vios
และ Yaris รุ่นปี 2007 รวมทั้ง Corolla Altis รุ่นปี 2008 – 2009 แต่ คราวนี้ อาการดังกล่าว ใน SX4 คันนี้
มันชัดเจนเลยว่า ไม่ได้มาจากพวงมาลัย หากแต่น่าจะมาจากการถ่วงล้อที่อาจจะยังไม่ได้สมดุลย์พอ
ทว่า พอได้ลองขับ SX4 อีกคันหนึ่ง ซึ่งเป็นรถทดลองขับ ของโชว์รูม iTOA ที่เพชรบุรีตัดใหม่ ผมก็พบว่า
มีอาการเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน สรุปว่า มันคงไม่ได้เป็นที่การถ่วงล้ออะไรทั้งสิ้นแล้วละ แต่อาจจะมาจาก
ยางรถ และลมยาง ถ้าลองเปลี่ยนยางให้ดีกว่านี้ อาการดังกล่าว ก็น่าจะดีขึ้นได้
ระบบห้ามล้อของ SX4 เวอร์ชันญี่ปุ่นเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม ก็จริงอยู่ แต่ในเวอร์ชันไทยนั้น ให้มา
เป็นแบบ ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีตรีบระบายความร้อน ถือว่า ออพชันดีกว่าญี่ปุ่นนิดนึง แถมยังมีระบบ
ป้องกันล้อล้อก ABS (Anti-Lock Brake System) และระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake force
Distribution) และมีระบบเพิ่งแรงเหยียบเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้เหมือนกันอีกต่งหาก
(ในภาพประกอบนี้ จะเห็นว่า เบรกด้านหลัง เป็นดรัมเบรก แตกต่างจากเวอร์ชันที่ขายในไทย ซึ่งเป็น
ดิสก์เบรก 4 ล้อ)
ระบบห้ามล้อนี่แหละ กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากที่สุด ในบรรดาอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมด ที่อยู่ใน
รถคันนี้ การตอบสนองของแป้นเบรกนั้น ต่อเนื่อง แม่นยำ Linea และ Progressive ดีมากๆ ให้ความรู้สึก
ที่ดีเทียบเท่า Volkswagen Golf GTi แถมยังไม่เบรกจิกๆ ขณะคลานในเมือง จนน่ารำคาญ แบบ Golf GTi
อีกต่างหาก หัวข้อนี้ ตาแพน Commander CHENG ของเรา ถึงขั้นยืนยันว่า แป้นเบรกให้สัมผัสที่ดีกว่า
แป้นเบรกของ Subaru Impreza WRX เดิมๆ เสียอีก ซึ่งประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยแบบไม่มีข้อกังขา เพราะ
ไม่ว่าคุณจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างไร แค่เพียงเหยียบเบรกในระดับที่ต้องการ SX4 พร้อม
จะชะลอรถตามน้ำหนักเท้าที่คุณสั่งลงไปบนแป้นเบรก อย่างแท้จริง ส่วนระยะหยุดนั้น การหน่วงความเร็ว
จากท็อปสปีด ลงมายังระดับ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นไปอย่างต่อเนื่อง นิ่ง หน้ารถทิ่มไปข้างหน้า แต่
ไปอย่างมั่นคง ตรงๆ ไม่มีท้ายออกซ้าย-ขวาให้เสียวเล่นแต่อย่างใด ถือว่า เป็นระบบเบรก ติดมาจากโรงงาน
ที่ดีที่สุดคันหนึ่ง เท่าที่เจอมาในรถยนต์พิกัด C-Segment กันเลยทีเดียว!!
โครงสร้างตัวถัง ใช้เทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างกระจายแรงปะทะ TECT (Total Effective Control
Technology) เพื่อช่วยดูดซับ และกระายแรงปะทะ จากการชน ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุลงได้ ขณะเดียวกัน
การเชื่อมต่อตัวถังที่แน่นหนา ทำให้ ระหว่างขับขี่ แทบไม่พบอาการบิดเบี้ยวของตัวถังมากมายนักอย่างที่
ควรจะเป็น แต่อย่างใด บริเวณพื้นที่สีแดงในภาพ แสดงถึง พื้นที่ที่มีการออกแบบให้รองรับและกระจาย
แรงกระแทก ด้วยเหล็กแบบพิเศษ ขึ้นรูปให้แข็งแกร่งได้ โดยไม่ทำให้น้ำหนักตัวถังเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ส่วนคานกันชนหน้านั้น ดูดีๆนะครับ มีมาให้ 2 ชั้นกันเลยทีเดียว!
ด้านความปลอดภัย มีถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ทุกคัน เข็มขัดนิรภัยด้านหน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับ
สูง – ต่ำได้ และมีระบบดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioner และผ่อนแรงปะทะ Force Limiter ส่วนเข็มขัดนิรภัย
คู่หลัง เป็นแบบ ELR3 จุด ฝั่งซ้าย และขวา ส่วนตรงกลาง เป็นแบบ ELR 2 จุด ธรรมดา มีระบบล็อกนิรภัย
กันเด็กเปิดประตูหลัง มาให้
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
เรายังคงทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย ด้วยวิธีการดั้งเดิม คือเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 จาก
สถานีบริการน้ำมันของ Caltex ริมถนนพหลโยธิน ฝั่งตรงข้ามปากซอยอารีย์ และอารีย์สัมพันธ์ทั้งหลาย
กันจนเต็มถังน้ำมันขอ SX4 ซึ่งมีความจุประมาณ 50 ลิตร
สักขีพยาน และผู้ร่วมทดลองคราวนี้ ยังเป็น ตาหลุยส์ เจ้าของร้านเป็ดย่างแมนดาริน ทองหล่อ ซึ่งตอนนี้
พวกเราก็ลงความเห็นให้กลายเป็นสมาชิกของ The Coup Team ไปด้วยแล้ว เพราะมาร่วมงานกัน 5 ปีแล้ว
เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของเรา ที่ว่า รถคันใดก็ตาม ซึ่งมีเครื่องยนต์ พิกัดต่ำกว่าระดับ 2,000 ซีซี ลงไป
หรือรถกระบะ เวลาเติมน้ำมันจะต้องเขย่ารถทุกครั้ง เพื่อกรอกน้ำมันลงไปให้แน่นที่สุด ลดปริมาณฟองอากาศ
ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ยกเว้น ในกรณีของรถยนต์ ที่มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี แต่มีราคาค่าตัว
แพงเกินไปกว่า 1 – 2 ล้านบาท ขึ้นไป ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป)
แต่ในกรณีนี้ จำเป็นต้องเขย่ารถ เพราะในเมื่อวางเครื่องยนต์ พิกัด 1,600 ซีซี แถมค่าตัวก็ยังไม่เกิน 1 ล้านบาท
ก็ต้อง ทำกันตามมาตรฐาน ดั้งเดิมที่วางเอาไว้ อย่างที่เห็นอยู่นี้
เมื่อเติมน้ำมันเต็มถังเสร็จแล้ว ก็ Set 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ขับอกจากปั้ม เลี้ยวกลับทันที
มุ่งหน้าไปยังซอยอารีย์ ลัดเลาะ ไปขึ้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6 ขับตรงๆ ยาวๆ ไปจนถึงปลายสุดสายทางด่วน
อุดรรัถยา จากนั้น เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน ย้อนกลับเส้นทางเดิม ด้วยมาตรานเดิม ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน
พอลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้แล้ว ก็เลี้ยวซ้าย ย้อนมาทางถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่หน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู แล้วชิดซ้าย มาเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่ปั้ม Caltex แห่งเดิม และหัวจ่ายเดิม
ซึ่งแน่นอนว่า เราต้องเขย่ารถกันให้น้ำมันไหลกลับเข้าไปจนเต็มแน่นเช่นเดียวกัน อีกครั้งหนึ่ง
ดูสีหน้าตาหลุยส์ตอนเติมน้ำมันเอาก็แล้วกันครับ เจ้าตัวแอบเซ็ง ใครจะไปนึกว่า เจ้าของร้านเป็ดย่าง
ที่มีลูกค้าเศรษฐี ไฮโซ มาอุดหนุนเป็นประจำ จะกลายร่างมาเป็น เด็กปั้มจำเป็นแบบนี้
ทีนี้มาดูกันดีกว่า ว่า SX4 1.6 ลิตร จะทำตัวเลขออกมาได้เท่าไหร่?
ระยะทางแล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 95.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.33 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.02 กิโลเมตร/ลิตร
เห็นตัวเลขแล้ว อาจจะยังพอใจชื้นอยู่บ้าง แม้ว่าจะไม่ได้ประหยัดน้ำมันเลิศเลอดีเด่น แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ที่พอจะยอมรับได้ คือ ทำตัวเลขออกมาดีกว่า Mitsubishi Lancer EX, Mazda 3 เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร และ Ford Focus
2.0 เบนซิน…ดูเหมือนจะแค่นี้จริงๆนะ เพราะที่เหลือ ต่อให้เทียบกับรถยนต์ พิกัดเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรเหมือนกัน
งานนี้ SX4 หล่นมาอยู่ที่โหล่ ท้ายกลุ่ม
กระนั้น ในการใช้งานจริง กว่าที่เข็มวัดน้ำมันจะเหลือลงไปถึงขีดเกือบต่ำสุด ก็มี 407 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า
น้ำมัน 1 ถัง ถ้าคุณขับแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ ไม่ได้รีบร้อนเร่งอะไรเกินเหตุบ่อยๆนัก น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ประมาณ
500 กิโลเมตร แน่ๆ ถ้าคุณใช้งานบนทางด่วนเป็นหลัก และไม่ค่อยเจอรถติด เหมือนอย่างที่ผมทำได้ในคราวนี้
********** สรุป **********
ถ้าตัดเรื่องเครื่องยนต์ที่อืด ช่วงล่างกระเทือน และทัศนวิสัยไม่ดีนักออกไป รถคันนี้ ก็น่าซื้อมาใช้อยู่นะ!
ตลาดรถยนต์นั่งท้ายตัดขนาดเล็ก แต่มีบุคลิกคล้าย SUV หรือที่เรียกว่า Compact Crossover SUV กำลังจะได้รับ
ความนิยมในเมืองไทยแน่ๆ ในอีกไม่นานนี้ เหลือเพียงแค่ว่า ใคร จะก้าวเข้ามาเปิดเกมบุกตลาดก่อนกัน
มีผู้คนไม่น้อย ยังอยากได้ รถยนต์อย่าง Toyota RAV4 รุ่นแรก หรือ Honda CR-V รุ่นแรก ซึ่งมีขนาดตัวรถ
กำลังดี ไม่เล็กหรือใหญ่เกินเหตุ ราคาเหมาะสม สมรรถนะพอใช้งานได้ดี ควรประหยัดน้ำมันอย่างสมเหตุผล
ในราคาที่พวกเขาจะจ่ายกันไหว คือ ในช่วงไม่เกิน 700,000 – 900,000 บาท
การที่ Suzuki ตัดสินใจ นำ SX4 เข้ามาเปิดตัวในเมืองไทยนั้น ต่อให้ผมจะเคยใช้ความคิดส่วนตัวมองว่า ไม่ค่อย
จะดีเท่าไหร่ เพราะโอกาสขายไม่ออก มีสูง แต่ว่า ถ้ามองด้วยเหตุผลกันแล้ว พวกเขาตัดสินใจกันได้ดีทีเดียว
เพราะรถยนต์ประเภทนี้ กำลังจะมีแนวโน้มอนาคตสดใสในบ้านเราต่อไป ดังนั้น ต่อให้จะบอกว่า ไม่ได้เน้นการ
ทำตลาดจริงจังนักและเป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า บนโชว์รูม Suzuki ในเมืองไทย ที่เพิ่งจะยกโขยง
ปรับโฉมครั้งใหญ่แทบทุกแห่ง จนดูหรูเริ่ดอลังการกว่า โชว์รูม Mazda กับ Mitsubishi ในบ้านเรากันไปแล้วนั้น
แต่ก็เชื่อแน่ว่า ในเบื้องลึกแล้ว นี่อาจจะเป็นการเบิกทางสู่ การนำ SX4 รุ่นต่อไป ซึ่งมีกำหนดคลอดในต่างประเทศ
อีกไม่น่าจะเกินปีนี้ หรือ ปีหน้า ให้เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย อย่างเต็มตัว มากขึ้นกว่านี้ได้ น่าจะราวๆ ปี 2013
กว่าจะถึงวันนั้น Suzuki คงจะต้องรับภาระอันเหนื่อยยาก มิใช่น้อย ในการเข็นยอดขายของ SX4 ให้ได้มากกว่านี้
เพราะแม้ว่า SX4 จะมีเสน่ห์และจุดขายในตัวของมันเองอยู่ โดยเฉพาะ บุคลิกกึ่ง SUV ที่แฝงตัวอยู่ในโครงสร้าง
ตัวรถแบบ Compact Hatchback 5 ประตู ซึ่งผู้หญิงมักจะชื่นชอบรถยนต์แบบนี้กันอยู่แล้ว เพราะมีตำแหน่งเบาะนั่ง
สูงพอให้เห็นสภาพการจราจรข้างหน้าชัดเจน พื้นที่ห้องโดยสาร ก็เหมาะแก่การเดินทางในเมือง หรือไปเที่ยวกัน
3 – 4 คนได้สบายๆ อยู่ เบาะนั่งคู่หน้าก็สบาย ไม่ปวดเมื่อยหรือปวดหลังเลย (Toyota กรุณามาศึกษาเบาะนั่งคู่หน้าของ
SX4 โดยด่วน) แต่เบาะหลังอาจจะไม่ถูกใจคนนั่งไปบ้างนิดหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าเบาะนั่งแถวหลังของ Honda Jazz
ก็แล้วกัน ชุดเครื่องเสียงจากโรงงาน ก็ให้มาค่อนข้างดี อุปกรณ์ก็ให้สิ่งจำเป็นมาครบครัน ค่าตัวก็แค่ 799,000 บาท
ขับในเมือง ก็คล่องแคล่ว กำลังดี ขึ้นลง เข้าออก จากรถ ก็ง่ายดาย ฟังดูแล้ว SX4 เหมือนจะไม่มีข้อเสียอะไรเลย….
แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า คุณจะตัดสินใจเลือกรถสักคัน โดยมองที่มุมไหน?
ถ้าคุณมองในฐานะ คนธรรมดาๆ หรือคุณแม่บ้าน สักคน อยากได้ รถอย่าง Honda CR-V หรือ Chevrolet Captiva
แต่งบน้อย เงินไม่ถึง และไม่ได้จำเป็นขนาดจะต้องหา SUV แท้ๆ ไปใช้งานกันถึงลูกถึงคนขนาดนั้น SX4 คือรถ
ที่น่าจะตอบโจทย์คุณได้แน่ๆ เพราะเบาะนั่งสูง พอกันกับ SUV 2 รุ่นนั้น แต่ แอบเตี้ยกว่านิดเดียว
ยิ่งถ้าคุณไม่ได้ต้องการรถที่แรงมาก แต่ต้องการรถยนต์ขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ห้องโดยสารมาใน
แนว กว้าง และสูงโปร่ง สำหรับ 5 คน และใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้อย่างคล่องตัว ท่ามกลางสภาพการจราจร
อันติดขัดวุ่นวาย ของกรุงเทพมหานคร คุณยังต้องการอะไรที่มากไปกว่านี้อีกละ?
ก็เครื่องยนต์ที่แรงกว่านี้ แต่ประหยัดกว่านี้ได้อีกนิดหน่อย ยังไงละ!
เพราะถ้าคุณมองในมุมของ ตาแพน Commander CHENG ของเรา ที่มอง “อัตราเร่ง และความเร็ว เป็นประเด็นหลัก”
บอกได้เลยครับ SX4 “สอบตก” เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ที่มีแรงม้าในแค็ตตาล็อก มากกว่า Nissan TIIDA แต่กลับทำผลงาน
ออกมาแย่กว่า TIIDA อย่างกระจุยกระจาย นี่เรายังไม่ต้องนับคู่แข่งในพิกัด C-Segment คันอื่นๆ เขาอีกด้วยนะ และ
SX4 ก็ทำได้ดีที่สุด แค่เพียงเอาชนะแบบใสกิ๊ง กับรถเพียงรุ่นเดียวคือ Mazda 3 เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร อันโคตรจะอืด
แถมยังชนะกันแค่เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น สรุปได้ว่า เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร บล็อกนี้ อืดดดด ในช่วงเกียร์ 1 คำถามก็คือ
จะทำอย่างไร ให้อัตราเร่ง ในช่วงเกียร์ 1 จัดจ้านกว่านี้อีกนิด และช่วงเกียร์ 2 ตั้งแต่ 50 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้องไต่
ขึ้นไปได้เร็วกว่านี้ ช้าแบบนี้ โดน Suzuki Swift แซงปรู๊ดดดดดดด ไปหน้าตาเฉยเลยนะเนี่ย!
ยังนึกเสียดายอยู่เลยว่า ตอนที่ ทางผู้เกี่ยวข้อง มาสอบถามความคิดเห็นของผม ว่าควรจะนำ SX4 รุ่นใดเข้ามาขาย
เมื่อต้นปี 2010 ถ้าย้อนเวลากลับไปใหม่ได้ ผมน่าจะตอบไปว่า ควรเอาเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร มาเปิดตัว น่าจะดีกว่า แต่
ในตอนนั้น ผมมัวนึกถึงแค่ว่าราคาค่าตัว รุ่น 2.0 ลิตร อาจจะแพง จนแตะ 9 แสน บาท ไม่สามารถทำได้ถูกอย่างที่รุ่น
1.6 ลิตร เป็นอยู่ในตอนนี้ แถมอัตราเร่งในเมืองของรุ่น 1.5 ลิตร ที่ผมเคยลองขับสั้นๆในญี่ปุ่น ก็ไม่หวือหวาเลย
อีกทั้งถ้านำรุ่น 1.5 ลิตรเข้ามา SX4 ก็จะมีตำแหน่งการตลาด ไปทับซ้อนกับ Swift เสียอีก เลยต้องตอบไปว่า สั่งรุ่น
1.6 ลิตรเข้ามาขายเถอะ
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ สั่งรุ่น 1.6 ลิตรมาขาย เท่ากับว่า การทำราคาให้ถูกลง เป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะแล้ว พอเปิดตัว
ออกมา ผมก็อยากรู้มากเลยว่า ใครเป็นคนกำหนดสเป็กอุปกรณ์ของรถรุ่นที่เข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา? ทีรถคันเล็ก
อย่าง Suzuki Swift คุณท่านเล่นจัดมาเกือบเต็ม ตั้งแต่ กุญแจรีโมท Smart Key สวิชต์แอร์กดปุ่ม พร้อมหน้าจอ
Digital ขายคันละ 649,000 บาท แต่พอเป็น SX4 ราคาคันละ 799,000 บาท กลับไม่ให้อุปกรณ์เหล่านี้ติดรถมาด้วยเลย
อีกทั้ง ที่วางแขนแบบพับเก็บได้ ก็ยังต้องสั่งซื้อเป็นอุปกรณ์พิเศษอีกแหนะ ของแบบนี้มันควรจะแถมมาให้เสร็จสรรพ
จากโรงงานได้แล้ว จะเอามาขายแยกทำกำไร ได้กี่บาทกี่สตางค์ต่อชิ้น กันเชียว?
อีกเรืองหนึ่งที่น่าจะต้องปรับปรุงกันเลยก็คือ ระบบกันสะเทือน ในช่วงความเร็วต่ำนั้น มันไม่ได้ทำหน้าที่ ดูดซับ
แรงสะเทือนก่อนจะส่งขึ้นมายังห้องโดยสารเลย ช็อกอัพทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ต่างปล่อยแรงกระเทือนขึ้นมา
ให้ผู้ขับได้รับรู้กันทุกรอยต่อผิวถนนเลยทีเดียว ยิ่งถ้าคุณนั่งด้านหลังละก็ คุณจะได้รับอานิสงค์ ไปเต็มๆ
แต่พอเป็นการเดินทางไกล ช่วงล่าง กลับทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี เหมาะสมกับบุคลิกตัวรถ คือ มาในแนวหนึบ
ตามสไตล์ ช็อกอัพที่ยุบตัวค่อข้างช้า และเพราะการยุบตัวที่ค่อนข้างช้านี่แหละ ที่ส่งผลให้ ช่วงความเร็วต่ำนั้น
สะเทือนเลื่อนลั่น จนนึกถึงช่วงล่างของ Suzuku Vitara 3 ประตูรุ่นแรก สมัยที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ๆ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
เลยทีเดียว!!
แต่ต่อให้ผมจะมองเห็นทั้งข้อดี และข้อเสียของรถคันนี้มากแค่ไหนก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่ผมจะต้องถอยรถคันนี้
เข้าไปจอดในบ้าน ผมก็พบคุณค่าข้อหนึ่งในตัวของมัน และเป็นสิ่งที่ รถยนต์สมัยนี้หลายๆรุ่น ขาดหายไป
นั่นคือ User’s Friendly! และผมค้นพบคุณงามความดีข้อนี้ ทั้งที่ปกติแล้ว ผมไม่ชอบรถที่มีตำแหน่งเบาะสูงๆ
เอาละ ถ้าตัดประเด็นเรื่องของ ทัศนวิสัย จากเสาหลังคาคู่หน้า ที่ยื่นล้ำออกมาเป็นตะเกียบ จนบดบังการขับขี่
ในบางจังหวะแล้ว การใช้ชีวิตกับรถคันนี้ คือเรื่องที่ทำให้ผมสบายใจ เปิดประตูก้าวขึ้นรถ ไม่ต้องคิดจะก้มหัว
ค่อยบรรจงหย่อนก้น หาที่กดปุ่มติตเครื่องยนต์ ไม่ต้องคลำหาสวิชต์เปิดแอร์ หรือเครื่องเสียง จะเลี้ยว หรือ
เดินหน้า ถอยหลังเข้าจอด ทุกอิริยาบถ ทำได้อย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไม่ต้องมีพิธีรีตรอง ไม่ต้อง
ยุ่งยาก ไม่ต้องมีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย จนชีวิตวุ่นวายเกินเหตุ แถมหลังคาก็สูงโปร่ง มีบรรยากาศ
ที่ดีใช้ได้ในระดับหนึ่ง
แอบแปลกใจตัวเองเหมือนกันว่า ทั้งที่เกลียดรูปลักษณ์ของเสาหลังคาคู่หน้าอย่างมาก แต่พอมาขับใช้งานด้วยกัน
5 วัน 4 คืน SX4 ก็ให้ประสบการณ์ที่ ไม่เลวร้ายเลยทีเดียว ผมแอบชอบเจ้านี่ และได้แต่หวังว่า น่าจะมีรุ่นเครื่องยนต์
2.0 ลิตร เข้ามาขายในบ้านเรา ด้วยค่าตัว แถวๆ 850,000 – 880,000 บาท ที่เปลี่ยนช็อกอัพใหม่ และเพิ่มของเล่นที่
ควรจะมีมาให้เหมือนอย่าง Swift แค่นี้ ผมว่า พอแล้ว
แต่..ยังหรอก..ยังไม่ชอบถึงขั้น ไม่อยากคืนรถหรอกครับ หากทีมวิศวกรที่ Hamamatsu บ้านเกิดของ Suzuki อยากจะ
ทำรถ SX4 ออกมาให้ดี ให้ผมรัก จนผมไม่อยากคืน และถึงขั้นยอมจ่ายเงินเป็นเจ้าของกันเลยนั้น
พวกเขายังต้องทำการบ้านกันอีกนิดหน่อย…ใช่ แค่อีกนิดหน่อยจริงๆ !!!!
—————————————-///——————————————–
ขอขอบคุณ
บริษัท Suzuki Automobile Manufacturing Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
www.suzuki.co.th
และ บริษัท TOA Paint (ประเทศไทย) จำกัด
คุณวิชา เจ็งเจริญ
Senior Manager
Automotive Bussiness Department
เอื้อเฟื้อความช่วยเหลือในด้านต่างๆ
www.itoa.co.th
———————————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
31 มกราคม2011
Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 31st,2011