กริ๊งงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงง
ออดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด
เต๊งๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
สัญญาณกระดิ่ง หรือออดเตือน ว่าถึงเวลาเที่ยงดังขึ้นคราใด
เด็กนักเรียนชั้นประถม มัธยม นิสิต นักศึกษา หรือบรรดาพนักงาน ขององค์กร หน่วยงาน
บริษัท ห้างร้าน โรงงานต่างๆ ย่อมทราบดี ว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราทั้งหมดทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน
จะต้องเดิน วิ่ง หรือ พุ่งหลาว ไปยังโรงอาหาร Canteen ซึ่งตั้งอยู่ใต้ถุนอาคารเรียน อาคาร
สำนักงาน หรือแม้กระทั่ง เพิงมาแหงน นอกรั้วโรงงาน เพื่อพบกับ บุคคลสำคัญ กลุ่มหนึ่ง
ซึ่งเราจำเป็นต้องพึ่งพาพวกเขา ยามที่ท้องไส้เราหิวโหย ในช่วงพักเที่ยงของแต่ละวัน….
…ป้าขายข้าวแกง…!
เมื่อพูดถึง “ป้าขายข้าวแกง”….
ผมจะนึกถึง “เจ๊จู” แม่ค้าขายข้าวแกง ที่ ศิษย์เก่า หรือศิษย์ปัจจุบัน รวมทั้ง ครูอาจารย์ ใน
โรงเรียน กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ทุกคน จะรู้จักดี เจ๊จู เป็นคนทำข้าวขาหมู ได้อร่อย
ชนิดที่ผมว่า ขาหมูร้านที่ว่าดังๆในกรุงเทพ ร้านไหนก็ตาม ยังไม่อร่อยเท่า แถมยังขาย
ในราคากำลังดี ไม่ถูกไม่แพงจนเกินไป แถมโน่น นี่ นั่น ให้บ้าง ในบางคราว แต่อย่าให้
เจ๊จู อารมณ์เสียนะครับ ด่ากันที ลูกค้าอย่างผม ได้แต่ถอยกรูดกลับมาตั้งหลักแทบไม่ทัน!
แล้วคนอื่นๆ ละ คิดเห็นเช่นใดกันบ้าง?
พอเปิดให้บรรดา เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ลองตอบกันเข้ามา ทางหน้า Facebook ส่วนตัวของผม
คำตอบที่ได้ ก็มีหลากหลายความคิดเห็นผ่านไป แต่ผมเริ่มค้นพบว่า ป้าขายข้าวแกง ที่แต่ละคน
เคยเจอมานั้น จะมี บุคลิกร่วมกันอยู่ ก็คือ
– เป็นคนรุ่นป้า อายุ เกินกว่า 40 ปีขึ้นไป จนถึง 60 ปี
– หน้าตา…หากเรามองกันแค่ภายนอกในเบื้องต้น ถ้าบอกว่าสวยสมวัย ก็ดูจะสะตอเบอแหล เกินไป
เอาเป็นว่า มีตั้งแต่ คุณนายบ้านผีปอบ จนถึงระดับ ธิดาช้างยิ้ม ประจำตำบลหนองอึ่ง(อ่าง)
ก็แล้วกัน
– ปากคอเราะร้าย อย่าได้ทำอะไรให้เคืองเชียว อาจโดนด่าจนจำทางกลับบ้านไม่ถูก เลยละ!
– ในทางกลับกัน ก็บ้ายอ หากคิดอยากกินข้าวฟรี หรือมีของแถมใส่จานเยอะๆ ชมแกเข้าไป
ยอแกเข้าไป คุณอาจจ่ายค่าอาหาร 35 – 40 บาท แต่ปริมาณข้าว และแกงในจาน อาจอยู่ที่
ราวๆ 85 บาท ก็เป็นไปได้
– ส่วนใหญ่ ถึงจะปากจัด ด่าเก่งขนาดไหน แต่จิตใจมักดีเลิศได้โล่ห์ สวนทางกับหน้าตา
– และที่สำคัญ เหนือสิ่งอื่นใด คือ รสมือ มักจะอร่อย มีทั้ง แค่อร่อยพอที่จะทำขายคนทั่วไป
เขากินกันได้ หรือ อร่อยเหาะจนกระทั่ง ต้องบุกป่าฝ่าฝูงชน เบียดเสียดแทรกตัวไปต่อแถว
เข้าคิวอุดหนุนกันเลย
ทั้งหมดข้างบน ที่ผมพล่ามมายาวๆ หลอกให้คุณอ่านกันเพลินๆ นั้นคือ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัว
ตอนที่ผมกำลังยืนมองดู Forester รุ่นใหม่ Generation ที่ 4 คันจริง ที่จอดสงบนิ่ง
เคียงคู่กับ Subaru XV บนโชว์รูม ของ Motor Image Subaru ย่านสุขาภิบาล 2
เป็นครั้งแรก
สงสัยใช่ไหมละครับ ว่าทำไมผมถึงเปรียบเทียบ SUV หน้าตาเชยๆ ดูบ้านๆ ตรงกันข้าม
กับเจ้า XV ญาติสนิทร่วม Platform ที่หาความสวยได้ยากเย็นไม่แพ้การงมหาเข็มเย็บผ้า
ในมหาสมุทร Pacific คันนี้ ว่าเป็น “ป้าขายข้าวแกง”
แสดงว่า ภายใต้รูปลักษณ์ของมัน ต้องมีคุณงามความดีอะไรซ่อนอยู่ ใช่ไหมละ?
ถ้าคุณคิดอย่างนั้น ผมตอบเลยครับว่า “ใช่ เข้าใจถูกแล้วละ”
บางที การตัดสินรถยนต์สักคัน ประเด็นเรื่องรูปร่างหน้าตา มีส่วนสำคัญ เป็นอันดับแรกๆ
ไม่แพ้เรื่อง ราคา กับอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาให้ แต่ถ้าเราจะลองมองข้ามเส้นสายอันแสนเชย
เข้าไปข้างหน้า ก็จะพบกับสิ่งดีๆ หลายอย่าง ที่ รถยนต์รุ่นนี้ มีไว้ให้คุณ
แต่ก่อนที่เราจะเลื่อนเมาส์ Scroll Down ลงไปหาข้อดี และข้อที่ควรปรับปรุงของ Forester
ใหม่ ผมอยากพาคุณผู้อ่านย้อนเวลากลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1990 อันช่วงเวลาที่ โครงการ
พัฒนา Forester ยังเป็นเพียงแค่แนวคิดบนแผ่นกระดาษในห้องประชุม ที่สำนักงานใหญ่ ของ
Fuji Heavy Industries (FHI) ใจกลางย่านช็อปปิง Shinjuku กรุง Tokyo ว่าเหตุใด
Subaru บริษัทในเครือ FHI ถึง ตัดสินใจ สร้าง Compact SUV บนพื้นฐานรถเก๋ง รุ่นนี้ขึ้นมา?
ในทศวรรษ 1980 – 1990 ตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่น เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้น
เพราะนอกจาก ชาวอาทิตย์อุทัย จะให้ความนิยม รถยนต์นั่งขนาดกลาง ค่อนข้างใหญ่
หรือที่เรียกกันว่า ยุต Hi-So(Ciety) Car Boom แล้ว ตลาดรถยนต์เพื่อสันทนาการ หรือ
RV (Recreation Vehicles) ก็เริ่มได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก ที่นิยมขับรถ
ท่องเที่ยว พักผ่อน ตั้งแคมป์ ตกปลา ขี่จักรยาน เล่นสกี ดูนก หรือทำกิจกรรมร่วมกัน
กับครอบครัว ในต่างจังหวัด
ในเวลานั้น รถยนต์ RV (หรือที่ต่อมา ถูกเรียกว่า SUV – Sport Utility Vehicles) มักถูก
สร้างขึ้นบนพื้นฐานวิศวกรรมแบบ Body On Frame (โครงสร้างตัวถัง วางซ้อนทับลงบน
เฟรมแชสซี เหมือนรถกระบะ) เพื่อให้ลุยไปตามพื้นที่ป่าเขาได้อย่างสมบุกสมบัน รถยนต์
ประเภทนี้ถูกเรียกว่า On & Off-Road SUV ตัวอย่างเช่น Toyota Land Cruiser
Nissan Safari / Patrol , Mitsubishi Pajero/Montero/Shogun , Isuzu
Bighorn / Trooper , Jeep Cherokee , Land Rover Defender ฯลฯ
ในช่วงปี 1993 – 1995 ผู้บริโภคที่เคยซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าวมาใช้ เริ่มมีบางกลุ่ม
มองหา SUV ที่ให้ความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมือง แต่ยังต้องมีประสิทธิภาพในการ
ขับขี่ไปบนเส้นทางสมบุกสมบันหลงเหลืออยู่บ้าง พวกเขาไม่ได้ใช้ SUV หนักหนา ขนาด
ไปลุยป่าล่าเสือสิงห์กระทิงแรด แต่มันต้องเท่พอที่จะขับวนเล่นในเมือง เพื่อล่าชะนีหรือ
เก้งกวางได้อยู่ หมายความว่า มันควรเป็น SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของรถเก๋ง หรือที่
เรียกว่า Urban SUV / Compact SUV
ในช่วงนั้น แม้ว่า Toyota จะไหวตัวเร็ว ตั้งแต่ปี 1987 แล้วพัฒนา RAV 4 ออกขายครั้งแรก
เมื่อปี 1993 แต่ขนาดตัวถัง ก็เล็กไปสำหรับ พ่อแม่ลูก 4 คน จน Honda เห็นช่องว่าง เลย
เลือกที่จะพัฒนา CR-V รุ่นแรก ให้ตอบโจทย์ทั้งคนโสด และครอบครัว ออกขายในปี 1996
Subaru เอง ก็มีความคิดในแนวทางเดียวกันนี้ จึงซุ่มพัฒนารถยนต์ Compact SUV ของตน
บนพื้นตัวถัง และโครงสร้างวิศวกรรม ร่วมกับ Subaru Legacy ออกมาอวดโฉมครั้งแรก ณ
งาน Frankfurt Motor Show เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1995 ในฐานะ รถยนต์ต้นแบบที่ชื่อ
Subaru STREEGA
ตัวรถมีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,740 มิลลิเมตร สูง 1,570 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,580 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,320 กิโลกรัม ถูกสร้างขึ้นให้เป็นรถยนต์ 5 ประตู ตรวจการ
อเนกประสงค์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ (Multi Purpose Sport 4WD) ที่มีเบาะนั่งสูง แต่จุดศูนย์ถ่วง
ต่ำ วางเครื่องยนต์ 4 สูบนอน Boxer DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร พ่วงระบบอัดอากาศ Turbo
และ Intercooler 250 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 31.5 กก.-ม.ที่
5,000 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ Full Time 4WD ทำงานร่วมกับ
ระบบตัวช่วย ทั้ง ABS , TCS Traction Control ระบบกันสะเทือน อิสระ ทั้ง 4 ล้อ
หลังจากอวดโฉมที่ Frankfurt Motor Show แล้ว Streega ถูกส่งไปจัดแสดงต่อ ในงาน
Tokyo Motor Show ครั้งที่ 31 เมื่อ 27 ตุลาคม 1995 รวมทั้ง Detroit Auto Show ที่
สหรัฐอเมริกา เมื่อ 3 มกราคม 1995 เสียงตอบรับจากผู้บริโภคที่ดี ทำให้ผู้บริหารของ FHI
ตัดสินใจ เปิดไฟเขียว เดินหน้าลุยโครงการพัฒนาเวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Streega เพื่อให้
พร้อมสำหรับการเปิดตัว ในอีก 2 ปีต่อมา
Forester รุ่นแรก เปิดตัวที่ญี่ปุ่นก่อน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1997 และได้รับความสำเร็จ
อย่างต่อเนื่องมาตลอด ด้วยยอดขายรวมทั้งหมดเฉพาะตลาดญี่ปุ่นตลอดอายุตลาดมากถึง
139,780 คัน
อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่า มากกว่า 60% ของลูกค้า Forester ในสหรัฐอเมริกา เป็นสุภาพสตรี
ที่มีครอบครัวแล้ว โดยสามีของเธอจะเป็นเจ้าของ SUV รุ่นใหญ่กว่านี้อีก 1 คันเป็นอย่างน้อย
ขณะที่ลูกค้าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ตลอด 5 ปีในอายุตลาด
Subaru มักจะปรับโฉมหรือเพิ่มรุ่นพิเศษให้กับ Forester ในเดือนกุมภาพันธ์ของเกือบทุกปี
ถึงแม้จะเป็นรถยนต์ที่มีตำแหน่งเบาะนั่งสูง แต่ด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์ สูบนอน Boxer
ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ช่วยให้การเข้าโค้งมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ผ่านมาตรฐานด้าน
ความปลอดภัยจากงานทดสอบการชน NHTSA ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จนไม่จำเป็น
ต้องติดสติกเกอร์เตือนความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ เหมือนที่รถยนต์ SUV รุ่นอื่นๆ โดนกัน
Forester รุ่นที่ 2 เปิดตัวสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในงานชิคาโก ออโตโชว์ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2002
และเริ่มออกสู่ตลาดญี่ปุ่นในช่วงวาเลนไทน์ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น (12 กุมภาพันธ์ 2002) แต่
กว่าจะเดินทางมาถึงเมืองไทย เวลาก็ผ่านไปหลายปีเลยทีเดียว Motor Image Subaru เองก็
สั่งนำเข้ารถรุ่นที่ 2 มาขายในบ้านเรา ด้วยจำนวนไม่มากนัก ถือเป็นรุ่นที่ Subaru เริ่มแยก
เวอร์ชันย่อยออกมามากมาย เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้า ที่มีรสนิยมแตกต่างกัน อาทิ รุ่นพิเศษ
L.L. BEAN Edition เอาใจลูกค้ากลุ่มชอบท่องเที่ยวผจญภัย หรือ Cross Sport จนถึงรุ่น
แรงพิเศษ WRX STi สำหรับลูกค้าที่อยากได้ความแรงสะใจ ทัดเทียม Impreza WRX
Sti แต่อยากได้ตัวถัง Crossover SUV อเนกประสงค์ ของ Forester
ครั้งหนึ่ง ในยุคสมัยที่ General Motors ยังถือหุ้นอยู่ใน Subaru ชาวอเมริกัน ถึงขั้น นำ
Forester เข้าไปขายในอินเดีย โดยใช้ชื่อ Chevrolet Forester แต่สุดท้าย ก็ทำตลาดได้
ไม่ค่อยดีนัก พอหมดสต็อก ก็ไม่มีการสานต่อโครงการอื่นใดอีก
เจเนอเรชันที่ 3 เปิดตัวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2007 ตรงกับวันคริสต์มาสพอดี ปรับเส้นสาย
เอาใจลูกค้าทั่วไปมากขึ้น นอกจากมีเครื่องยนต์ Boxer 2.0 ลิตร และ 2.5 ลิตร เหมือนเคย
ยังถือเป็น Forester รุ่นแรก ที่ถูกติดตั้ง ระบบ SI-Drive โปรแกรมปรับการตอบสนองคันเร่ง
อีกทั้งยังเป็นรุ่นแรกที่มีทางเลือก ขุมพลัง Diesel Boxer 4 สูบนอน 2.0 ลิตร ให้เลือกเฉพาะ
ตลาดยุโรป และออสเตรเลีย / นิวซีแลนด์ ในตอนแรก เคยมีข่าวว่า มีความพยายามผลักดัน
เครื่องยนต์บล็อกนี้ เข้ามาขายในบ้านเรา แต่ด้วยเหตุผลกลไดไม่ทราบ แผนดังกล่าว ค่อยๆ
เงียบหายเข้ากลีบเมฆในเวลาต่อมา
ในตลาดหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา Forester ทำยอดขายได้ค่อนข้างดี เพิ่มขึ้นจากระดับ
53,922 คัน ในปี 2002 มาเป็น 96,953 คัน ในปี 2013 (นับจนถึงวันนี้ Year to date)
ดังนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผู้บริหารของ FHI จะไม่เปิดไฟเขียวให้กับการพัฒนา
เจเนอเรชันต่อไปของ Forester
Takuji Dai วิศวกรผู้พัฒนา Forester รุ่นใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศเอาไว้ว่า
“Forester รุ่นที่แล้ว เป็นรถยนต์ที่ ไม่มีปัญหาอะไรร้ายแรง ลูกค้าของเรารู้ดีว่า มันเป็น
รถยนต์ที่ดี และพวกเขาก็ชื่นชมมัน ใน Forester รุ่นใหม่นี้ มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด
ที่สำคัญ นั่นคือ เราได้พัฒนาเครื่องยนต์ Direct Injection พร้อมกับ Turbocharger
แบบใหม่ ซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะให้ดีขึ้น และประหยัดน้ำมันมากขึ้น ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้
เรายังได้ปรับแต่ง ระบบกันสะเทือน และแชสซี (พื้นตัวถัง) ขึ้นใหม่ เพื่อให้ยึดเกาะถนนได้
ดีขึ้น ทรงตัวดีขึ้น ดังนั้นเท่ากับว่า เราได้พัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ทั้งคัน จากพื้นฐานของ
Forester รุ่นก่อน”
แน่ละครับ Forester ใหม่ ยังคงถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรม ร่วมกับทั้ง
Subaru Impreza ใหม่ และ Subaru XV ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงเมืองไทย
Subaru วางเป้าหมายให้ Forester ใหม่ ถูกสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
หลักๆ อยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มลูกค้าหลัก คือ ครอบครัว ที่มีบุตรหลานแล้ว จะเป็นคู่ชาย / หญิง อายุ 30 – 40 ปี ที่ยัง
แต่งงานอยู่ด้วยกัน หรือหย่าร้าง แยกกันอยู่ แต่มีลูกชาย / ลูกสาว จะคนเดียว หรือ 2 คน ก็ตาม
2. กลุ่มลูกค้า ที่มักใช้รถยนต์ ในชีวิตประจำวัน เพื่อขับไปทำงานในช่วง จันทร์ – ศุกร์ แต่มัก
ชอบออกไปทำกิจกรรม Outdoor เช่น ยิงนก ตกปลา ขี่จักรยาน ดำน้ำ เล่น Ski Snowboard ฯลฯ
กับครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ที่นิยมชมชอบรูปแบบการใช้ชีวิต แบบเดียวกันนี้
3. กลุ่มลูกค้าประเภท Heavy User ที่ต้องการรถยนต์ เพื่อการขับขี่ทางไกล ซึ่งต้องปลอดภัย
ไว้ใจได้ และ/หรือ ใช้ประโยชน์จาก Function ต่างๆ ในตัวรถ รวมทั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
แบบ AWD (All-Wheel-Drive) ให้คุ้มค่าที่สุด
4. กลุ่มลูกค้าทั่วไป ที่ใช้รถยนต์ เป็นเพียงพาหนะในการเดินทาง และแต่ให้ความสำคัญกับ
คุณค่าของรถยนต์ที่ตนตั้งใจจะซื้อ ในด้านความปลอดภัยสำหรับครอบครัว หรือสมรรถนะ
ที่ตอบโจทย์ในใจตนเอง
ที่สำคัญ Subaru ยังคาดหวังให้ กลุ่มลูกค้า Forester ใหม่ เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยใช้ Subaru
มาก่อน มากถึง 70% เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้ Subaru อยู่แล้ว 30% อีกทั้งยังมุ่งเน้น
การทำตลาดไปที่ ครอบครัว ที่มี พ่อบ้านแม่บ้าน วัย 30 – 40 ปี สูงถึง 30% เมื่อเทียบกับอีก
3 กลุ่ม รองลงมา (กลุ่ม ในข้อ 2 ถึง 4)
Generation ที่ 4 ของ Forester เปิดตัวครั้งแรกในตลาดญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2012
จากนั้น ตามติดไปเปิดตัวในตลาดอเมริกาเหนือ กันถึงงาน Los Angeles Auto Show เมื่อ
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2012
เพียงแค่เดือนเดียว หลังเปิดตัวในตลาดบ้านตัวเอง FHI ก็ออกมาเปิดเผยถึงการตอบรับของ
ลูกค้า ที่อุดหนุน Forester ใหม่ กันเกินความคาดหมาย จนมียอดสั่งจองมากถึง 8,149 คัน
จากเป้าหมายยอดขาย 2,000 คัน/เดือน
ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ ลูกค้าที่ตัดสินใจเลือกเครื่องยนต์ Turbo DIT นั้น มากถึง 38.6% แม้ว่า
ยอดขายของรุ่น 2.0 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศ จะเยอะกว่า คือ 61.4% ก็ตาม ไม่เพียงเท่านั้น
ลูกค้าชาวญี่ปุ่น ยังเลือกติดตั้งระบบ ช่วยเบรกเองอัตโนมัติ ด้วยกล้อง Redar ในชื่อ EyeSight
(มีเฉพาะตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น) มากถึง 86.6% และ ถ้าแบ่งตามรุ่นย่อยแล้ว จะพบว่า รุ่นท็อป
มีลูกค้าสั่งจองมากสุด รองลงมาคือรุ่น 2.0 i-L EyeSight ตามตารางข้างล่างนี้
2.0i 2.2 %
2.0i-L 8.7 %
2.0i-L EyeSight 32.5 %
2.0i-S EyeSight 18.0 %
2.0XT 2.5 %
2.0XT EyeSight 36.1 %
ส่วนเรื่องสีตัวถังนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเลือกสีขาว Satin White Pearl มากที่สุด ถึง 27.0%
ตามด้วยสีดำ Cyrstal Black 24.9 % สีเงิน Ice Cilver Metallic 19.3 % สีน้ำเงินเข้ม Deep
Sea Blue Pearl 9.1 % สีเทาเข้ม Dark Grey Metallic 7.0% สีแดง Vinecia Red Pearl
6.9% สี Deep Chery Pearl และสี Vanished Bronze อีก สีละ 2.9%
หลังการเปิดตัวออกสู่ตลาดโลก Forester ยังคว้ารางวัล SUV of the Year ประจำปี 2014
จากนิตยสาร Motor Trend ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งรับรางวัล Good Design Award
(G-Mark) จากรัฐบาลญี่ปุ่นมาแล้วอีกด้วย
ส่วนในเมืองไทย Motor Image Subaru ในกลุ่ม Tan Chong Group จากสิงค์โปร์ หรือ
ในชื่อใหม่ TC-Subaru ประกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2013 ว่าจะนำ Forester ไปจัด
แสดงเปิดตัวครั้งแรกในบ้านเรา ณ งาน Thailand Fast Auto Show ที่ BITEC บางนา
เมื่อวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2013 ที่ผ่านมา
Forester ใหม่ มีตัวถังยาว 4,595 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,735 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) 1,545 มิลลิเมตร
ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง (Rear Track) 1,550 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า รุ่น 2.0 XT
อยู่ที่ 1,613 กิโลกรัม ส่วนรุ่น 2.0 iL เบากว่าเล็กน้อย อยู่ที่ 1,495 กิโลกรัม
ถ้าเปรียบเทียบกับ Forester รุ่นที่ 3 เดิม ซึ่งมีความยาว 4,560 มิลลิเมตร กว้าง 1,780
มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร (รวม แร็คหลังคา) ระยะฐานล้อ 2,615 มิลลิเมตร
แล้ว จะพบว่า รถรุ่นใหม่ จะสั้นลงเพียง 5 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 15 มิลลิเมตร สูงขึ้น
35 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวขึ้น 25 มิลลิเมตร
แล้วถ้าต้องปรียบเทียบกับ Subaru XV ที่มีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,780
มิลลิเมตร สูง 1,570 มิลลิเมตร (รวม Rack Roof จะอยู่ที่ 1,615 มิลลิเมตร) ระยะ
ฐานล้อ ยาว 2,635 มิลลิเมตร น้ำหนักสุทธิ ในรุ่น 2.0 i CVT AWD อยู่ที่ 1,430
กิโลกรัม จะพบว่า Forester ใหม่ ยาวกว่า XV 145 มิลลิเมตร กว้างกว่ากันเพียง
15 มิลลิเมตร สูงกว่า XV ถึง 120 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ ยาวกว่าเพียงแค่
5 มิลลิเมตร
แต่ถ้าต้องเปรียบเทียบกับ Honda CR-V อันเป็นคู่แข่งโดยตรง ในต่างประเทศ
ซึ่งมีความยาว 4,535 มิลลิเมตร กว้าง 1,820 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง)
สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,620 มิลลิเมตร จะพบว่า Forester ใหม่
ยาวกว่า 60 มิลลิเมตร แคบกว่า CR-V 25 มิลลิเมตร สูงกว่า 85 มิลลิเมตร และ
ระยะฐานล้อ ยาวกว่า แค่ 5 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ภายนอก บอกได้เลยว่า มันอุดมไปด้วยเส้นสายที่ เชยสะบัด ดูเหมือน
รถยนต์รุ่นเก่า จากยุคต้นทศวรรษ 2000 หาความสวยได้ยาก มีครึ่งท่อนหลัง ที่ดู
คล้ายกับทีมออกแบบของ Subaru ยกบั้นท้าย ของ Forester รุ่นก่อนหน้านี้ มาใช้
ทั้งดุ้น แล้วแปลงไฟท้าย ให้ดูมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นนิดเดียว จากนั้น ก็ออกแบบ
หัวรถครึ่งคันหน้าให้ดุดัน และดูผิดแผกไปจากญาติผู้น้องสุดสวยอย่าง XV จน
แทบไม่อยากเชื่อว่า รถยนต์ 2 รุ่นนี้ จะคลอดออกมาจาก Studio ออกแบบเดียวกัน
ยิ่งเมื่อ นำ XV มาจอดเทียบกันกับ Forester ใหม่ แล้ว คุณจะเห็นความแตกต่าง
อย่างสิ้นเชิง และสุดขั้ว ของสองพี่น้องตระกูลดาวลูกไก่ยุคใหม่…
ถ้าเปรียบบุคลิกของ XV เป็นเหมือน สาววัยทำงาน ระดับ ผู้จัดการแผนก อายุราวๆ
25 – 30 ปี แต่มีเพื่อนฝูง ที่พร้อมจะไปดำน้ำ ดูปะการัง แถวสิมิลัน หรือไปตั้งแคมป์
กับแฟนหนุ่ม แถวๆ ปากช่อง หรือเขาใหญ่
Forester ก็จะมีใบหน้าดุดัน และดูเชย ไม่เป็นมิตร ราวกับ คุณป้าขายข้าวแกง ใน
ห้องอาหาร Canteen ชั้นใต้ดิน อาคารเดียวกับ ที่แม่สาว XV ทำงานอยู่นั่นแหละ!
She จะอยู่ในสภาพพร้อมเหวี่ยง ใส่ลูกค้า พี่สาวผู้เป็นลูกมือ และเด็กล้างจาน ใน
ร้านของเธอ แทบจะตลอดเวลา หน้าตาไม่รับแขก ตรงไปตรงมา และด่ากันตรงๆ
ไม่มีอ้อมค้อม ในแบบผู้หญิงญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “โอบะซัง” หรือถ้าให้เรียกกันเล่นๆ
ในภาษาไทย ก็คงจะแปลได้ว่า “คุณป้ามหาภัย”
เมื่อมองจากภายนอก การแยกความแตกต่างจากรุ่น s.0 i-L และ 2.0 XT Turbo
มีเพียงแค่ เปลือกกันชนหน้าของรุ่น XT ที่ดุดันกว่า อย่างชัดเจน รวมทั้งล้ออัลลอย
ของรุ่น 2.0 XT ออกแบบ 5 ก้าน สีเงินปัดเงา/ดำเงา ขนาด 18 นิ้ว x 7 J สวม
ยางขนาด 225/55R18 ส่วนรุ่น 2.0 i-L จะสวมล้ออัลลอย 17 นิ้ว x 7 J พร้อม
ยางขนาด 225/60R17 เส้นรอบวงพอๆกันทั้งคู่
ทุกรุ่นติดตั้ง Rack หลังคา บรรทุกสัมภาระ กรอบกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว
ชุดไฟหน้าแบบ HID พร้อมระบบปรับระดับลำแสงสูง – ต่ำอัตโนมัติ ไฟตัดหมอก
หน้า – หลัง สปอยเลอร์หลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED กระจกหน้าต่าง
กรองรังสี UV (Ultra Violet) รอบคัน เสาอากาศฝังบนหลังคา มาให้จากโรงงาน
การเข้า – ออกจากรถ แตกต่างจาก XV ตรงที่ ใช้กุญแจ Remote Control แบบ
Keyless Smart Entry ซึ่งมีสวิชต์ ปลดล็อกฝาประตูห้องเก็บของด้านหลังมาให้
รวมทั้งระบบล็อกกันขโมยแบบ Immobilizer ที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน หน้าตา
เหมือน รีโมทกุญแจที่ใช้กันอยู่แล้วในรถยนต์ Toyota แทบไม่ผิดเพี้ยน
พกแค่รีโมทกุญแจนี้ไว้กับกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง แล้วเดินเข้าใกล้รถ สามารถ
ดึงมือจับเปิดประตูรถออกมาได้ และถ้าต้องการจะล็อกรถ ก็ทำแบบเดียวกับใน
BMW คือ ปิดประตู แล้วใช้นิ้วแตะที่มือจับประตู เท่านี้ ก็ล็อกรถได้แล้ว เป็น
อุปกรณ์มาตรฐานมาให้ ทั้ง 2 รุ่น
การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ปลอดโปร่ง โล่งสบายมาก ไร้ปัญหา หัวชนเสา
หลังคาคู่หน้า A-Pillar โดยสิ้นเชิง ต่อให้คุณจะมีสรีระร่างใหญ่โต เหมือนอย่างเช่น
ตาแพน Commander CHENG ของเรา ก็ยังไม่มีปัญหากับ Forester ใหม่เลย
แผงประตูคู่หน้า ออกแบบให้แตกต่างจาก XV ตรงที่ แท่งมือจับประตูด้านใน สีเงิน
วางตัวในแนวตั้งเฉียง โน้มไปทางด้านหน้า เชื่อมต่อเนื่องกับมือจับเปิดประตู พร้อม
สวิชต์กลอนล็อกประตู และยังบุหนังไว้บริเวณพื้นที่วางแขน ซึ่งถือว่า วางได้สบาย
พอดีๆ ถ้าคุณนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับ และปรับเบาะในตำแหน่งต่ำสุด ด้านล่าง มี
ช่องใส่ข้าวของจุกจิก พอให้ใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ได้อยู่
สิ่งที่ต้องขอชมเชย ก็คือ ชายล่างของประตูทั้ง 4 บานจะแตกต่างจาก XV ตรงที่ มีการ
ออกแบบให้ด้านล่างของกรอบทางเข้า-ออกจากรถ ซ่อนรูปอยู่ด้านหลังบานประตูเมื่อ
ปิดสนิท พร้อมแถบยางกันฝุ่น กันสกปรก ทำให้การก้าว เข้า – ออก จากรถ ทำได้ดีขึ้น
ไม่ต้องกังวลกับเศษดินหรือโคลน ที่จะติดไปกับกางเกง หรือชายกระโปรงมากนัก
ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้ง เบาะหนังสีดำ มาให้จากโรงงานในญี่ปุ่น เบาะคู่หน้าเป็นแบบปรับได้
ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทั้งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอน ได้ แต่ไม่มีระบบบันทึก
จำตำแหน่งเบาะมาให้แต่อย่างใด ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เบาะนั่งคู่หน้าของ Forester
ใหม่ ใช้โครงสร้างเบาะข้างในเดียวกันกับ เบาะคู่หน้าของ XV เกือบเหมือนกันเป๊ะ
แต่ต่างกันบริเวณช่วงบ่า ของพนักพิง ที่ออกแบบมาให้รองรับสรีระผู้ขับขี่ บริเวณ
หัวไหล่ได้ดีกว่านั่งทางไกลจึงสบายเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง รวมทั้ง ยังมีปีกข้าง ที่มีแนว
ตะเข็บแตกต่างกันด้วย อีกทั้งเบาะของ Forester ยังมีมุมเงย ไม่มากเท่าเบาะ XV
ต่างกันเพียงนิดเดียวจริงๆ ต้องเปิดรูปเทียบกัน และสลับกันลองนั่ง ทั้ง 2 คันบน
โชว์รูมเท่านั้น จึงจะพบความต่างดังกล่าว
พนักศีรษะ แม้จะสามารถยกสูง – ต่ำ และปรับมุมองศาการดันหัวได้ แบบเดียวกับพนัก
ศีรษะของ BMW 3-Series F30 แต่ พนักแข็งเอาเรื่อง อีกนิดเดียว ก็จะแข็งเท่า พนักศีรษะ
ของ Volvo 240 GLE กันแล้วนะ แต่พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องพูดถึงครับ ต่อให้สูงระดับ
ยีราฟ มานั่ง ก็ไม่เป็นปัญหาแน่ๆ เพราะ Forester ใหม่เขาจงใจออกแบบให้หลังคาสูง
โปร่งยิ่งกว่ารุ่นก่อนๆ ชัดเจน
เบาะรองนั่ง สั้น แต่ถือว่า ความยาวกำลังดี เท่ากันกับเบาะรองนั่งของ XV นั่นละครับ
ไม่ผิดเพี้ยน ตำแหน่งนั่ง แลการรองรับช่วงต้นขอ เหมือนกันเปี๊ยบ! ส่วนตำแหน่ง
การวางแขน บนฝากล่องเก็บของ คอนโซลกลาง ที่เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ อยู่ใน
ระดับพอดี วางได้สบายแขน เช่นเดียวกับตำแหน่งวางแขนของแผงประตูคู่หน้า ถือว่า
ออกแบบได้ดีตามหลักสรีรศาสตร์ หรือที่เรียกว่า Ergonomics เฉกเช่นเดียวกับ XV
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ พร้อมระบบลดแรงปะทะ
และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter ยังคงมาพร้อมสัญญาณเตือนให้คาด
เข็มขัดฯ ที่ดังสนั่นสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น เป็นคลื่นความถี่ทำลายประสาทมาก การไม่คาด
เข็มขัด อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนกับถูกร้องเตือนให้อพยพจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ใกล้
หลอมละลาย กันเลยทีเดียว!
การเข้า – ออก จากประตูคู่หลัง ทำได้ดียิ่งขึ้นกว่า Forester ทุกรุ่นก่อนหน้านี้ ช่องทาง
เข้า – ออก กว้างขึ้น เท่ากับว่า คุณไม่ต้องเบียดเสียดสรีระร่างเข้าไปนั่งเบาะหลังอย่าง
ที่เคยต้องทำมาใน Forester รุ่นก่อนๆอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ ยังสามารถเข้า – ออก
ได้โดยไม่ต้องกลัวว่า หัวจะไปชนกับขอบหลังคาด้านบน เหมือนที่เจอใน XV อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กระจกหน้าต่างไฟฟ้า คู่หลัง ไม่สามารถเลื่อนเปิดลงมาจนสุดขอบประตู
ได้อย่างที่ XV เขาเป็น
แต่แผงประตูคู่หลังนั้น ออกแบบสไตล์เดียวกับ XV แม้จะมีแนวเส้นสาย และมือจับเปิด
ประตูที่ต่างกันชัดเจนก็ตาม เพราะมีพื้นที่ใส่ขวดน้ำดื่ม ด้านล่าง มาให้แค่ช่องเดียว ถ้าคุณ
ผู้อ่าน สังเกตดีๆ จะเห็นขอยึดบานประตู กับกรอบโครงเสาประตู คล้ายกับที่เคยพบมาแล้ว
ใน Impreza รุ่นก่อน และ XV แต่ในรุ่นนี้ มีการออกแบบตำแหน่งจุดยึดใหม่ เพื่อให้ผล
ที่ดีขึ้นในการรักษาความปลอดภัย ขณะถูกชนจากด้านข้าง
มือจับเปิดประตูด้านในทั้ง 4 บาน เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ทั้งหมด ส่วนตัวล็อก ก็จะ
ติดตั้งในแบบเดิมๆ คล้ายกับ Subaru รุ่นก่อนๆ คือ ใช้วิธีกด หรือเกี่ยวเข้าหาตัว ก็ยกชุด
มาจาก XV และ Impreza ใหม่นั่นแหละ!
ส่วนมือจับด้านบนเพดาน มีมาให้ ครบทั้ง 4 ตำแหน่ง และคู่หลัง จะมีขอเกี่ยวสำหรับ
แขวนเสื้อผ้ามาให้ด้วย
เบาะนั่งด้านหลัง จะมีชุดพนักพิงเบาะ เหมือนกันกับ XV ไม่มีผิดเพี้ยน ก็จริง แต่สิ่งที่
แตกต่างจาก XV อยู่ที่เบาะรองนั่ง ทั้งชิ้น ไม่เหมือนกัน และใช้ร่วมกันไม่ได้ จากที่เห็น
ด้วยตาเปล่า
พนักพิงหลัง จะเป็นแบบ แยกชิ้น ซ้าย – ขวา สามารถปรับเอนได้ 2 จังหวะ ด้วยวิธี
ดึงสลักล็อก ที่ฐานของพนักพิง มีมาให้ทั้ง 2 ฝั่ง มีมุมองศาการเอนที่ เหมือนกับ เบาะ
ด้านหลังของ XV ไปจนถึง Nissan Pulsar ภาพรวมแล้ว พอมีความนุ่มนวลให้คุณได้
สัมผัสอยู่บ้าง แต่พนักศีรษะ รูปตัว L ที่ผมแสนจะเกลียดเป็นการส่วนตัว มันยังคง
ทิ่มตำต้นคอ กับท้ายทอย ถ้าไม่ยกขึ้นมาใช้งาน และต่อให้ยกขึ้นมา ก็ทำได้แค่เพียง
จังหวะเดียว อีกทั้งตัวพนักศีรษะเอง ยังแข็งโป๊ก ถ้าต้องรองรับศีรษะของผู้โดยสาร
จากการเบรกกระทันหันผมว่า อาจถึงขั้นคอเคล็ดได้เหมือนกัน โดยเฉพาะพนักศีรษะ
ตรงกลางที่เพิ่มมาให้นี่ ยิ่งแล้วใหญ่ แข็งไปหน่อย เหมือนกับ XV ไม่มีผิด!
ส่วนเบาะรองนั่ง ต่างจาก XV ตรงที่ มีพื้นที่รองรับบริเวณข้อพับ ยาวเลยเถิดลงไป
จนถึงน่อง ถ้าคุณนั่งให้ตัวชิดกับเบาะ จะรู้สึกสบายกำลังดี ถือว่า ออกแบบมาได้
ดีกว่าเบาะรองนั่งของ XV ขณะเดียวกัน พนักวางแขนแบบพับเก็บได้นั้น ยังคง
วางแขนได้ดี เช่นเดียวกับตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง
พื้นที่วางขา ถือว่าเพิ่มจาก Forester รุ่นเก่าพอสมควร หัวเข่าไม่ชิดกับด้านหลังของ
เบาะคู่หน้า มากจนเกินไป นั่งสบายขึ้นกว่าเดิมมาก ขณะเดียวัน พื้นที่เหนือศีรษะ
แม้จะมีชุดหลังคา Sunroof แต่เพดานก็ยังมีพื้นที่เหลือพอให้คนตัวสูง 180 เซ็นติเมตร
นั่งแบบชิดกับเบาะแล้ว มีพื้นที่เหนือศีรษะ เหลืออยู่ นิดหน่อย สำหรับตัวผมเองซึ่ง
สูง 171 เซ็นติเมตร จะมีพื้นที่เหลือ อยู่ 3 นิ้ว ชี้ กลาง และนาง สอดเข้าไปในแนวนอน
เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งตรงกลาง
สายเข็มขัดจะติดตั้งไว้บนเพดานฝั่งขวาของตัวรถ ที่คุณเห็นในภาพ เป็นช่องดำๆ นั่นละ
ส่วนจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX ก็มีมาให้ครบทั้งฝั่งซ้าย และขวา
นอกจากนี้ พนักพิงเบาหลัง ยังสามารถแยกพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง วิธีการเปิดใช้งานพนักพิง มี 2 แบบ คือ ดึงสลักล็อก ที่ไหล่
ของพนักพิง ฝั่งที่ต้องการ แล้วพับพนักพิงลงมาได้ทันที หรือจะเดินไปเปิดประตูห้อง
เก็บสัมภาระด้านหลัง แล้วดึงสวิชต์ พับเบาะ ที่ผนังด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง พนักพิงจะพับลง
ไปเองโดยอัตโนมัติ อย่างรวดเร็ว!
ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ยกข้นได้สูง ค้ำยันด้วยช็อกอัพไอโดรลิก 2 ต้น ทั้ง
2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา กระจกบังลม มีไล่ฝ้า พร้อมใบปัดน้ำฝนหลังและที่ฉีดน้ำล้างกระจก
มาให้ การใช้งาน
เปลือกกันชนหลัง มีทับทิมสะท้อนแสงทั้ง 2 ฝั่ง ออกแบบให้แตกต่างกันเล็กน้อย ถ้าดูดีๆ
จะเห็นว่า รุ่น XT Turbo มีปลายท่อไอเสีย ทั้งซ้าย – ขวา แต่ในรุ่น 2.0 iL มีเพียงแค่ฝั่ง
ขวา เพียงฝั่งเดียว
ทั้ง 2 รุ่น มีม่านผ้าใบ เลื่อนมาปิดบังสัมภาระได้ ลดโอกาสการทุบกระจกขโมยของ
ลงไปได้บ้าง ตำแหน่งขอบกันชน ถูกออกแบบให้เตี้ยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้
สะดวกต่อการขนย้ายข้าวของ
อย่างไรก็ตาม ในรุ่น 2.0 XT Turbo จะพิเศษกว่า รุ่น 2.0 iL ด้วยการติดตั้ง ระบบควบคุม
เปิด – ปิด ประตูหลังอัตโนมัติพร้อมหน่วยความจำ Power rear gate with memory
function
บานประตูห้องเก็บของด้านหลังจะสามารถเปิด – ปิด ได้เอง ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า และถ้าใน
ระหว่างที่ปิดลงมา คุณ หรือใครก็ตาม พยายามขืนบานประตู เอาไว้ หรือเมื่อ มีสิ่งของ
ใดๆกีดขวางการปิดลงมา บานประตูจะดีดกลับยกตัวขึ้นไปเองอีกครั้ง โดยอัตโนมัติ
แต่ที่เด็ดว่า SUV คันอื่นๆ ในระดับเดียวกันก็คือ คุณสามารถตั้งความจำ ให้บานประตู
ยกขึ้น ในระดับความสูง เพียงเท่าที่คุณต้องการ เพื่อเลี่ยงปัญหาการเปิดยกขึ้นมาก
เกินไป จนบานประตู ไปชนกับขอบเหลี่ยมมุม หลังคา โรงจอดรถ หรืออาคารจอดรถ
จนก่อความเสียหายกับบานประตูได้ ด้วยการเปิดประตูท้ายไว้ ด้วยมือ ในตำแหน่งที่
คุณต้องการ จากนั้น เดินไปกดปุ่มล็อกตำแหน่ง หน่วยความจำ ที่แผงสวิชต์ ด้านข้าง
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความจุ 505 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน แต่
ในรุ่น 2.0 XT Turbo ที่ใช้ประตูบานหลัง แบบ Power Rear Gate จะลดเหลือ 488
ลิตร VDA กว้างสุด 1,583 มิลลิเมตร กว้างจากซุ้มล้อซ้าย – ขวา 1,073 มิลลิเมตร
ความกว้างช่วงเสาหลังคาแถว ประตูคู่หลัง C-Pillar 1,166 มิลลิเมตร และสูง 884
มิลลิเมตร (รุ่นมี Sun Roof เหลือ 862 มิลลิเมตร)
ผนังด้านข้างฝั่งขวา มีไฟส่องสว่าง ดวงเล็กๆมาให้ พอสว่างแบบเทียนไขในยาม
ค่ำคืน มีปลั๊กไฟ 12V สำหรับเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อยกพื้นห้องเก็บของ
ขึ้นมา จะพบถาดโฟม แบบ Recycle มีร่อง สำหรับใส่ของสดได้ โดยกลิ่นไม่คลุ้ง
ขึ้นมาในห้องโดยสาร
และเมื่อยกพื้นโหมออก จะพบยางอะไหล่สีเหลือง พร้อม อุปกรณ์ประจำรถ เช่น
แม่แร่งและอุปกรณ์ถอดล้อ วางอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก Subaru Impreza รุ่นล่าสุด และ Subaru XV กันทั้งดุ้น
แบบไม่ต้องคิดออกแบบขึ้นใหม่ให้มากเรื่อง แทบเรียกได้ว่า ถอดสลับสับเปลี่ยนร่วมกัน
ได้เลยทันที เพราะตำแหน่งน็อตยึดแผงหน้าปัดกับตัวถัง เหมือนกันเกือบทุกจุด! ตกแต่ง
ด้วยโทนสีดำ และมี Trim สีเงิน ยกเว้นฐานคันเกียร์รุ่น Turbo จะเป็นสีดำ Piano Black
สิ่งที่ต่างกัน จะมีเพียง ช่องวางของ ใต้แผงควบคุมกลาง ต่อเนื่องจนถึง ฐานคันเกียร์ และ
กล่องเก็บของ คั่นกลางระหว่าง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า เท่านั้น ที่ถูกออกแบบใหม่
ไม่ให้เหมือนกับ XV
มองขึ้นไปเหนือศีรษะ ทั้ง 2 รุ่น ถูกติดตั้ง ไฟอ่านแผนที่ พร้อมไฟส่องสว่าง คนละชุด
กับใน XV เป็นแบบ กดลงไปบนชุดไฟได้เลย ไม่ต้องกดที่สวิชต์เปิด-ปิด แยกตัวออกมา
แต่อย่างใด รวมทั้ง ยังมีช่องเก็บแว่นตากันแดดแบบมีฝาปิดหมุนเก็บซ่อนได้ (XV ไม่มีให้)
กระจกมองหลัง ตัดแสงได้แบบธรรมดา และแผงบังแดดขนาดใหญ่ พร้อมกระจกแต่งหน้า
แบบมีฝาพับ ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา จากรุ่น XV มาให้เหมือนกัน
ไล่จากขวา ไปซ้าย
แผงสวิชต์ ข้างประตู ออกแบบให้ตั้งชันกว่าใน XV สวิชต์ กระจกหน้าต่างแบบไฟฟ้า มีมาให้
ครบทั้ง 4 บาน ฝั่งคนขับ เป็นแบบ One-Touch ทั้ง ขาขึ้น และขาลง
สวิชต์ ปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า เป็นแบบลูกเต๋า มือหมุน อยากปรับกระจกมองข้างฝั่งไหน
ก็หมุนสวิชต์ไปฝั่งนั้น แล้วโยกขึ้นๆ – ลงๆ ซ้ายๆ – ขวาๆ ตามต้องการ มีสวิชต์ พับและกาง
กระจกมองข้างมาให้ แต่เมื่อดับเครื่องยนต์แล้ว กระจกมองข้างจะไม่พับให้เองแต่อย่างใด
เหมือน XV
ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีสวิชต์ปรับความสว่างของแผงมาตรวัด และสวิชต์ ปรับระดับสูง – ต่ำ
ของชุดไฟหน้า รวมทั้ง สวิชต์ เปิด – ปิด การทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ Traction
Control ถัดลงไป เป็นช่องเปิดสำหรับเปลี่ยนฟิวส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนใต้
คอพวงมาลัย เป็นบริเวณ สำหรับจัดการกับระบบถุงลมนิรภัย เช่นเดียวกับ XV
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ทรงสปอร์ต หุ้มหนัง ประดับด้วยแถบสีเงิน ยกชุดมาจาก XV และ
Impreza ใหม่ทั้งดุ้นตำแหน่งสวิชต์ Multi-Function บนก้านพวงมาลัย ก็เหมือนกันอีก ฝั่งขวา
ควบคุมระบบล็อกความเร็วคงที่ Cruise Control ขณะที่ฝั่งซ้ายนั้น ควบคุมการทำงานของชุด
เครื่องเสียงรอบๆปุ่ม รมดำ มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift หลังพวงมาลัยมาให้
แต่สิ่งที่แตกต่างจาก พวงมาลัยของ XV ก็คือ ใต้ก้านพวงมาลัยซ้าย มีแป้นสวิชต์ สำหรับ
กระดิกนิ้วเข้าหาตัว ควบคุมชุดหน้าขอ Multi Function Display ถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามาให้
ทั้ง 2 รุ่นย่อย
ส่วนก้านสวิชต์ คอพวงมาลัย ยังคงสร้างความงุนงงสับมสนให้กับคนที่คุ้นเคยกับรถญี่ปุ่น
อีกตามคาด เพราะในขณะที่ รุ่น XV ก้านสวิชต์ไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง ไฟตัดหมอกหน้า
อยู่ที่ฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายเป็นก้านสวิชต์ ใบปัดน้ำฝนคู่หน้า – หลัง พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก
แต่ Forester ใหม่ กลับด้านกลับฝั่งกันอีกแล้วครับ ก้านสวิชต์ไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง ไฟ
ตัดหมอกหน้า ย้ายไปอยู่ที่ฝั่งซ้าย ส่วนก้านสวิชต์ ใบปัดน้ำฝนคู่หน้า – หลัง พร้อมที่ฉีดน้ำ
ล้างกระจก สลับข้างไปอยู่ฝั่งขวา!
โอย..มึน กับ วิศวกร Subaru เขาจริงๆ จะทำอะไรให้มันน่าปวดหัวน้อยลงกว่านี้ได้ไหม??
ถุงลมนิรภัย มีมาให้เหนือกว่ารุ่น XV เพราะมีทั้งคู่หน้า สำหรับ คนขับและผู้โดยสาร
ถุงลมนิรภัยด้านข้าง ผู้โดยสารคู่หน้า ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ม่านลมนิรภัยทั้งฝั่งซ้าย – ขวา
แถมด้วย ถุงลมนิรภัย หัวเข่า สำหรับคนขับ ติดตั้งอยู่ ที่บริเวณใต้คอพวงมาลัย
ชุดมาตรวัด จะมีหน้าตาคล้ายคลึงกับ มาตรวัดของ XV กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะในรุ่น
2.0 iL นั้น แมบจะยกชุดกันมาทั้งดุ้นเลย ตำแหน่งไฟเตือน ฟอนท์ตัวเลข เหมือนกันเป๊ะ
เพียงแต่มีความแตกต่างกันอยู่บ้างดังนี้
1. ตัวเลขความเร็ว เฉพาะรุ่น 2.0 XT Turbo จะมีเผื่อมาให้ถึง 260 กิโลเมตร/ชั่วโมง
2. จอแสดงข้อมูลกลาง Multi Information Display จะเป็นพื้นสีเทาอ่อนๆ และเปลี่ยน
เป็นตัวสีขาว บนพื้นสีน้ำเงินเข้ม ตัวเลขและตัวอักษร เป็นสีขาว ในยามค่ำคืน ขณะที่
รุ่น XV จะเป็นพื้นขาว แต่มีตัวเลข และอักษร สี
3. มาตรวัดของ XV จะเรืองแสงด้วยสีแดงออกชมพู แต่มาตรวัดของ Forester ทุกคัน
จะใช้โทนสีขาวนวล สบายตา
เหนือแผงควบคุมกลาง จะมีหน้าจอ Multi Function Display ควบคุมการทำงานด้วย
แป้นสวิชต์ แบบกระดิกนิ้วเข้าหาตัว ติดตั้งที่ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย
ฝั่งซ้าย แสดงการทำงานของเครื่องปรับอากาศ Digital อัตโนมัติ แบบแยกฝั่ง ซ้าย – ขวา
มีมาให้ครบเหมือนกันทั้ง 2 รุ่น เย็นเร็วใช้ได้ ในวันที่จำเป็นต้องจอดรถตากแดดไว้กลางแจ้ง
ส่วนหน้าจอฝั่งขวา จะแสดงการทำงานของทั้ง ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ใน Mode ปกติ และ
X-Mode (คำอธิบายระบบนี้ อยู่ในส่วนของ งานวิศวกรรม ข้างล่าง) ถ้าคุณเลี้ยวพวงมาลัย
ทิศทางไหน ล้อคู่หน้า ในภาพกราฟฟิคนี้ จะเลี้ยวตามไปด้วย นอกจากนี้ยังแสดง อัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แบบ Real Time แบบเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้รถ
แล่นต่อไปได้ อีกกี่กิโลเมตร นาฬิกา พร้อมปรอทวัดอุณหภูมิภายนอกรถหน้าจอของชุด
เครื่องเสียง แสดงเพลง และชื่อศิลปิน
แต่ในรุ่น 2.0 XT Turbo จะพิเศษ เพิ่มขึ้นด้วยหน้าจอ มาตรวัด น้ำหนักคันเร่งที่คุณเหยียบ
ลงไป ว่าตอนนั้น เหยียบอยู่กี่ เปอร์เซนต์ มาตรวัด Boost ของ Turbo กับมาตรวัดอุณหภูมิ
น้ำมันเครื่อง ทำงานแบบ Real Time (ไม่มีในรุ่น 2.0 iL)
สวิชต์ไฟฉุกเฉินติดตั้ง แทรกกลางระหว่างช่องแอร์คู่กลาง อยุ่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการ
ใช้งาน เพราะทันทีที่จะบอกให้รถคันข้างหลังทราบว่า เราเพิ่งเบรกระทันหันไป คุณจะ
หันไปเห็นสวิชต์นี้ ณ ระดับสายตา แล้วเอื้อมมือไปกด ได้อย่างง่ายดาย
ชุดเครื่องเสียง ของทั้ง 2 รุ่น มีหน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบ เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น
CD/MP3 1 แผ่น เชื่อมต่อกับระบบ Bluetooth เพื่อใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ หรือดึงไฟล์
เพลงมาจากโทรสัพท์มือถือได้เลย เพียงแต่การใช้งาน อาจยากนิดนึง ต้องเลือก ต้องหมุน
กันอยู่พักใหญ่ รุ่น 2.0 i-L มีลำโพง มาให้ 6 ชิ้น คุณภาพเสียง ไม่ได้เทพมาก แต่ก็พอฟังได้
ส่วนรุ่น 2.0 XT Turbo จะยกระดับเป็นชุดเครื่องเสียง จาก Harman kardon 8 ลำโพง
พร้อม Sub-Woofer 1 ตัว ซึ่งผมว่า คุณภาพเสียง ดีขึ้นกว่ากัน แค่นิดหน่อย ไม่มาก
อย่างที่คาดคิด แต่ Front วิทยุ ก็มีหน้าตาเหมือนัน และใช้งานยากหากคิดจะเชื่อมต่อ
กับ Bluetooth เช่นกัน ทั้ง 2 รุ่น มีสวิชต์ ควบคุมชุดเครื่องเสียงและโทรศัพท์มาให้
บนพวงมาลัย
ข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า มีช่องวางแก้วน้ำแบบไม่มีฝาปิด ช่องใส่เศษเหรียญ
ใส่กุญแจ และของจุกจิกมาให้ ออกแบบไม่เหมือนกับใน XV
แต่กล่องเก็บของข้างลำตัวคนขับเนี่ยสิ ฝาเปิด เลื่อนเข้า-ออกได้ เหมือนกัน ไม่มีตัวล็อกใดๆ
ทั้งสิ้น ยกขึ้นได้อย่างง่ายดาย ข้างในจุกล่อง CD หรือกล้องถ่ายรูป Compact DSLR-Like
ลงไปได้สบายๆ มีช่องเสียบปลั๊กไฟ 12V และช่องเสียบ USB กับ AUX แถมมาให้อย่างละ
1 ตำแหน่ง บริเวณนี้ ยกชุดถอดสลับใส่กับ XV ได้เลย ยกเว้น ถาดใส่ของและเศษเหรียญ
ที่มีเพิ่มมาให้เป็นพิเศษ
Forester เวอร์ชันไทย ทั้ง 2 รุ่น จะติดตั้ง หลังคา Sunroof ขนาดใหญ่เบ้อเร่อมาให้
สามารถเปิด – ปิดได้ด้สวยสวิชต์ไฟฟ้า จะแค่เลื่อนกระดกยกขึ้น หรือจะเลื่อนเปิด
ถอยหลังไปทั้งหมด ก็ย่อมได้ มีม่านแข็ง บังแสงแดด ไม่ให้เข้ามายังห้องโดยสาร
ทัศนวิสัยด้านหน้า หายห่วงครับ ปลอดโปร่ง โล่งสบายสำหรับทุกสายตา การกะระยเะ
ไม่ยากเย็นอย่างที่คิด และถือว่าเป็น SUV คันหนึ่ง ที่มีทัศนวิสัยด้านหน้า และรอบคัน
ดีที่สุดในตลาดเมืองไทยตอนนี้
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ตั้งชันกว่า รุ่น XV มีส่วนช่วยให้การมองเห็นรถคันที่แล่น
สวนมาจากทางโค้งขวา บนถนนสวนกันสองเลน ทำได้ดีกว่า XV ลดการบดบังลง
เล็กน้อย กระจกมองข้าง ฝั่งขวา ยกชุดมาจาก XV ทั้งดุ้น ติดตั้ง ใกล้ตัวมากขึ้น แต่
ยังจำเป็นต้องออกแบบให้มีกระจกหูช้าง เพิ่มข้ามา มิเช่นนั้น จะไม่สะดวกต่อการ
เลื่อนขึ้น – ลงของกระจกหน้าต่างคู่หน้า
ยิ่งเมื่อเทียบจากภาพนี้ คุณจะยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่า เสาหลังคาด้านหน้า A-Pillar
ฝั่งซ้าย จะตั้งชันกว่า เสาหลังคาตำแหน่งเดียวกัน ใน XV แบบไม่ต้องเถียงกันอีก
การมองเห็น ยังคงทำได้ดี แม้ว่าเสาหลังคาจะมีพื้นที่กว้างกว่า เช่นเดียวกันกับ
กระจกมองข้าง ขนาดใหญ่ ที่ช่วยเพิ่มการมองเห็นรถยนต์ และจักรยานยนต์
ที่แล่นตามมาด้านซ้ายรถคุณ ชัดเจนขึ้น
แต่เมื่เทียบทัศนวิสัยด้านหลัง Forester ได้เปรียบกว่า XV ในทันที ด้วยการออกแบบ
เสาหลังคาคู่หลัง ทั้ง C-Pillar และ D-Pillar จนตั้งชัน มาในทรงกล่อง แน่นอนว่าช่วย
เพิ่มพื้นที่กระจกหน้าต่างรอบคันให้ใหญ่ขึ้น ทำให้การมองเห็นรถคันข้างหลัง ดีขึ้นอย่างมากๆ
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
Forester ใหม่ ที่ทำตลาดในเมืองไทยนั้น มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ระดับความแรง
เริ่มจากรุ่นพื้นฐาน 2.0 iL Premium ที่วางเครื่องยนต์หลัก รหัส FB20 บล็อก 4 สูบนอน
BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด
10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-Point Sequential Injection พร้อมระบบแปรผัน
วาล์ว AVCS (Active Valve Control System)
แม้จะมีหน้าตาเหมือนกับเครื่องยนต์ FB20 ที่วางอยู่ใน XV แต่จริงๆแล้ว แตกต่างกัน
อยู่เพียงแค่ประการเดียว นั่นคือ ระบบแปรผันวาล์ว AVCS ใน XV มีเฉพาะฝั่งไอดี
แต่ใน Forester 2.0iL จะเพิ่ม ระบบแปรผัน ที่ฝั่งวาล์วไอเสียด้วย
กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดเพิมขึ้นจากระดับ 196
เป็น 198 นิวตันเมตร หรือเพิ่มจาก 20.0 เป็น 20.2 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที
ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโบเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 11.8 วินาที ส่วน
ความเร็วสูงสุด 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง กินน้ำมันเฉลี่ย 7.9 ลิตร/100 กิโลเมตร และ
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ย 182 กรัม / กิโลเมตร
แต่ถ้ายังคิดว่า เครื่องยนต์ FB20 ธรรมดา ยังแรงไม่คณาเท้าขวา ต้องมาเจอขุมพลัง ใหม่
FA20 บล็อก 4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square) กำลังอัด 10.6 : 1 มีระบบแปรผัน
วาล์ว AVCS (Active Valve Control System) มาให้เหมือนกัน
แม้ว่า เครื่องยนต์นี้จะถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของขุมพลัง FB20 แต่รายละเอียด
ทางเทคนิค ที่มาเสริมเติมเต็มเข้าไป แตกต่างกัน นอกเหนือจากการติดตั้งระบบ
อัดอากาศ Turbocharger พร้อมระบบทำความเย็นให้ไอดี Intercooler ติดตั้งด้านบน
มาให้แล้ว ยังมีระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดแบบตรงสู่ห้องเผาไหม้ Di ( Direct
Injection) มาให้เป็นพิเศษ
ระบบ Direct Injection ของ Subaru จะฉีดจ่ายเชื้อเพลิง (น้ำมันเบนซิน) เข้าไป
ผสมกับอากาศ บริเวณหน้าห้องเผาไหม้ (หลังวาล์วไอดี) ด้วยแรงดันที่สูงถึง 15
เมกกะปาสคาล (MPa) หรือ 2,000 psi (ปอนด์/ตารางนิ้ว) ทำให้ ส่วนผสมไอดี
(น้ำมันเบนซินกับอากาศ) จะพุ่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ในจังหวะที่วาล์วไอดีเปิด
พอดี ดังนั้น การจ่ายเชื้อเพลิงจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับท่อร่วมไอดี และระบบ
แปรผันวาล์วมากมายเหมือนแต่ก่อน
นอกจากนี้ ระบบ Direct Injection ยัง ช่วยลดอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ จาก
ไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งยังช่วยลดโอกาส การเกิดอาการเขก
(Knock) ของเครื่องยนต์ ได้อีกทางหนึ่ง
กำลังสูงสุด 240 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ถึง 350 นิวตันเมตร
หรือ 35.7 กก.-ม.ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,400 – 3,600 รอบ/นาที
ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโบเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 7.5 วินาที ส่วน
ความเร็วสูงสุด 221 กิโลเมตร/ชั่วโมง กินน้ำมันเฉลี่ย 8.5 ลิตร/100 กิโลเมตร และ
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ย 197 กรัม / กิโลเมตร
ถ้าใครสงสัยว่า แล้วรุ่น Turbo ไม่มี Scoop รับอากาศบนฝากระโปรงหน้าหรอกเหรอ?
Subaru เขามาแปลกแหวกโลกอีกแล้วครับ ตามสไตล์ วิศวกรเด็กแนว พวกเขาเลือก
จะออกแบบเป็นท่อยางและวัสดุสังเคราะห์ ซ่อนไว้ใต้ฝากระโปรงหน้า รับอากาศ
จาดกระจังหน้า เข้าตรงสู่ Intercooler ด้านบนกันเลยทีเดียว การทำเช่นนี้ มีข้อดี
ตามมาอีกเรื่องคือ ช่วยให้ฝากระโปรงหน้า ไม่ร้อนมากจนเกินไป หลังจากดับ
เครื่องยนต์ทิ้งไว้ สักพักใหญ่ๆ
ทั้ง 2 ขุมพลัง ถ่ายทอดแรงบิด ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Lineartronic CVT ซึ่ง
เป็นเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับการติดตั้งตามยาว เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อน
4 ล้อ Subaru เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในโลก ที่ติดตั้งเกียร์ CVT ในลักษณะนี้
อย่างไรก็ตาม เกียร์ของทั้ง 2 รุ่นนี้ ไม่ได้แตกต่างกันแค่รูปแบบของคันเกียร์ ทว่า มีอัตราทด
ไม่เหมือนกัน อีกด้วย
โดยในรุ่น 2.0 XT Turbo นั้นอัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ตั้งแต่ 3.505 – 0.544 : 1 เกียร์ถอยหลัง
2.345 : 1 และอัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 4.111 : 1 เกียร์ CVT ของ รุ่น Turbo นั้น จำเป็นต้อง
มีช่วงอัตราทดกว้างขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อรองรับกับพละกำลังของเครื่องยนต์ DIT Turbo และจุดเด่น
ที่ต่างไปจากเกียร์ CVT รุ่นอื่นของ Subaru คือ สามารถล็อกอัตราทดได้ 8 จังหวะ
ส่วนรุ่น 2.0 i-L นั้น จะใช้เกียร์อัตโนมัติ Lineartronic CVT ลูกเดียวกันกับ Subaru XV โดยมี
อัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ตั้งแต่ 3.581 – 0.570 : 1 เกียร์ถอยหลัง 3.667 : 1 และอัตราทดเฟืองท้าย
อยู่ที่ 3.900 : 1 (ขณะที่ XV ทดเฟืองท้ายไว้ที่ 3.700 : 1)
Forester เวอร์ชันไทย ทั้ง 2 รุ่น จะมีแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift มาให้ เพื่อ
อำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่ เปลี่ยนเกียร์เล่นได้เอง อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ ใน
เวลาเพียงเสี้ยววินาที
ถ้าจะใช้แป้น Paddle Shift มี 2 วิธี
– จากคันเกียร์ D ผลักมาทางขวา เข้าสู่โหมด M จากนั้น คุณสามารถเปลี่ยนเกียร์ผ่านแป้น
Paddle Shift ได้เองทันที แต่ถ้าจะยกเลิกการใช้งาน ต้องผลักคันเกียร์กลับไปยัง เกียร์ D
– ต่อให้ค้างคันเกียร์ไว้ที่ D แป้น Paddle Shift สามารถสั่งการได้ แต่ถ้าต้องการจะยกเลิกการ
ทำงาน คุณอาจต้องกดแป้น บวก ค้าง หรือไม่ก็ผลักคันเกียร์ไปที่ M กลับ มาที่เกียร์ D เอง
อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ Forester ใหม่ ทั้ง 2 รุ่นย่อย ยังติดตั้ง ระบบ SI-Drive (Subaru Intelligent Drive)
อันเป็นสวิชต์เพื่อการควบคุมนิสัยการตอบสนองของคันเร่ง ที่ถูกพัฒนาเพื่อให้ผู้ขับขี่ ดึง
ศักยภาพของตัวรถ ออกมาใช้ในระดับที่ตนเองต้องการ มาคราวนี้ ระบบ SI-Drive ถูกปรับปรุง
ขึ้นไปอีกขั้น ให้เหมาะกับบุคลิกของ Forester และย้ายตำแหน่งสวิชต์ ไปที่ก้านพวงมาลัย
ฝั่งขวา ใต้ระบบ Cruise Control มีให้เลือก 3 Mode ดังนี้
Mode [I] – Intelligent สำหรับการขับขี่แบบปกติชนทั่วๆไป ถ้าคุณต้องการให้รถตอบสนอง
อย่างนุ่มนวล ไม่กระโชกโฮกฮาก และมีบุคลิกคันเร่งคล้ายกับ รถเก๋งบ้านๆ คันเร่งไฟฟ้า
ถ้าคุณต้องการขับรถเอาใจคุณแม่ แม่คุณทูนหัว หรือ แม่ยาย กดปุ่มนี้ไปเลย
Mode [S] – Sport คันเร่งจะถูกสั่งให้ตอบสนองไวขึ้น เพื่อเรียกอัตราเร่งได้ไวขึ้น
Mode [S#] – Sport Sharp จะเน้นการขับขี่แนวสปอร์ตเต็มตัว ปล่อยให้คันเร่งไวจัด
เพื่อให้ผู้ขับขี่ ควบคุมรถได้ดังใจ ตามต้องการ ราวกับใช้คันเร่งแบบสายในสมัยก่อน
แถมใน Forester ใหม่นี้ Mode S# จะสั่งให้เกียร์ CVT ลากรอบ ในลักษณะเดียวกัน
กับเกียร์อัตโนมัติ ทั่วๆไป ได้อีกด้วย!
Forester ใหม่ ยังคงใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Symmetrical All-Wheel Drive
เหมือนเช่น Subaru ทุกรุ่น จนเราคุ้นเคยกันมาตลอดกว่า 40 ปี แต่คราวนี้ พวกเขา
ติดตั้ง เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด X-MODE ลงไป ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อการขับขี่
บนพื้นถนนลื่น โดยจะทำงานร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC (Vehicle
Dynamic Control) ควบคู่ไปด้วย เพื่อรักษาการทรงตัวของรถ
พูดให้ง่ายๆก็คือ ในระบบขับเคลื่อน 4 ล้อปกติ แม้คุณจะขับผ่าน เส้นทางที่ลื่นไปด้วย
เลน โคลน ทั้งจากน้ำฝนที่ซึมผ่านผิวดิน หรือหิมะ แม้ว่า Forester จะลุยไปได้ด้วย
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อปกติ แต่ ระบบ VDC ก็จะต้องร้องเตือน และพยายามทำงาน
โดยตัดการจ่ายกำลังไปยังล้อที่กำลังหมุนฟรี ดังนั้น คุณอาจจะขับผ่านเส้นทางลื่นๆ
ไปได้อย่างช้าๆ แต่ก็ไม่ได้สะดวกโยธินมากนัก
แต่ถ้ากดปุ่ม X-MODE ปุ๊บ ระบบ VDC จะเข้าไปขอข้อมูลการหมุนของล้อทั้ง 4
มานั่งดู แล้วพยายาม ควบคุมไม่ให้ล้อข้างใดข้างหนึ่งหมุนฟรี ทันทีที่ตรวจพบว่า
ล้อฝั่งใด หมุนฟรี ก็จะรีบสั่งให้ล้อที่เหลือ หมุนเพิ่มขึ้น ลดการส่งแรงบิดไปยัง
ล้อข้างที่หมุนฟรี เพื่อช่วยดึงรถให้พ้นจากสภาพถนนลื่น ได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และ
ง่ายดายขึ้น
โดยการทำงานในทุกขั้นตอน ผู้ขับขี่ จะเห็นได้จาก หน้าจอ Multi Function Display
เหนือช่องแอร์คู่กลาง นั่นเอง
ถ้าอ่านย่อหน้าข้างบนนี้ไม่เข้าใจ ขอแนะนำให้คลิกเข้าไปดู Video สาธิตการทำงาน
ของ ระบบ X-MODE ได้ที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=wmFqfywu-OQ
สมรรถนะของ Foresgter ใหม่เป็นอย่างไร? เรายังคงจับเวลาทดลองหาอัตราเร่งด้วย
วิธีการดั้งเดิม คือ ทดลองในเวลากลางคืน เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุกับผู้ร่วม
ใช้เส้นทาง ให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เปิดแอร์ และเปิดไฟหน้าผู้โดยสารและ
ผู้ขับขี่ รวม 2 คน คือมีผม กับสักขีพยานช่วยจับเวลาอีก 1 คน
ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง มีดังต่อไปนี้
เมื่อดูตัวเลขเทียบกันเองในกลุ่มพี่น้องร่วมตระกูล Subaru ยุคใหม่แล้ว จะพบว่า รุ่น 2.0 i-L
แทบไม่ได้แตกต่างไปจาก XV 2.0 i เลย เพียงแต่ Forester จะด้อยกว่ากันแค่ 0.1 – 0.2 วินาที
ในแต่ละหมวดการจับเวลา เท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามคาด แต่ก็แอบแปลกใจว่า ระบบแปรผัน
วาล์วฝั่งไอเสีย ที่ติดตั้งเพิ่มเข้าไปจากเดิมทีมีแค่หัวแคมชาฟต์ฝั่งไอดี มันไม่ช่วยให้ตัวเลข
ดีขึ้นเลย เพียงแต่อาจช่วยให้เสียงเครื่องยนต์ Smooth ขึ้นนิดเดียวจริงๆ
ส่วนรุ่น Turbo นั้น แม้จะเห็นได้ชัดว่า อัตราเร่งของ Forester 2.5 XT Gen 2 ปี 2007 ยังไงๆ
ก็เร็วกว่า Forester 2.0 XT รุ่นล่าสุด แต่ตัวเลขก็ต่างกันไม่เยอะอย่างที่คิด เพราะในการจับ
เวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 2.0 XT รุ่นล่าสุด แพ้ รุ่น 2.5 Turbo Gen 2nd ไปเพียงแค่ราวๆ
0.5 วินาที ส่วนเกมจับเวลาอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็แพ้รุ่นเก่าอยู่เพียงแค่
0.2 วินาที เท่านั้น
ต้องถือว่า ถ้าตัวเลขห่างจากรุ่นก่อนๆเพียงแค่นี้ เท่ากับว่า การตัดสินใจ ลดความจุกระบอกสูบ
และเปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT ก็มีผลทำให้อัตราเร่งออกมาอยู่ในเกณฑ์ ใกล้เคียงกับรถรุ่นเดิม
แถมยังประหยัดน้ำมันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย (อ่านประเด็นนี้ต่อ ด้านล่างของบทความ)
แต่ถ้าลองเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเเดียวกันละ? คุณจะพบว่า ตัวเลขช่างน่าสนใจใช้ได้ เพราะ
ในรุ่น 2.0 i-L นั้น อัตราเร่งแซงช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น หาค่าเฉลี่ยออกมาได้เท่ากัน
กับ Honda CR-V 2.0 E 4WD พอดีเลย (9.15 วินาที) และถ้าเราไม่นับตัวเลขของ XV เข้ามา
อยู่ในตารางนี้ Forester 2.0 i-L ก็ยังทำตัวเลขออกมาได้ ดีกว่าคู่แข่งในพิกัดเดียวกันหลายๆคัน
ยกเว้นแค่ Nissan X-Trail 2.4 ลิตร รุ่นแรก (2005 – 2008) และ Skoda Yeti 1.2 TSi ซึ่ง
รายหลังต้องถือว่า มหัศจรรย์กึ่งปาฏิหารย์ละครับที่อาจหาญทำตัวเลขได้เท่ากับ SUV พิกัด 2.0 ลิตร
ทั้งที่เจ้าตัว ใส่เครื่องยนต์ แค่ 1.2 ลิตร Turbo เท่านั้น
ส่วนรุ่น 2.0 XT Turbo นั้น ถ้านับเฉพาะรถที่ยังมีขายอยู่ในปัจจุบันนี้ ต้องบอกว่า พี่เขาแรงสุด
ในกลุ่ม Compact SUV ที่เราเคยทำการทดลองมา ไปซะแล้ว เพราะทุกวันนี้ ไม่มีคู่แข่งคันใด
ทำอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ออกมาด้วยเลข หลักเดียว (8 วินาที เศษ) ได้อีกแล้ว
การติดตั้งระบบอัดอากาศอย่าง Turbo รวมทั้งเปลี่ยนมาใช้ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบตรง
เข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ไป ช่วยให้แรงขึ้นได้จริง
ส่วนความเร็วสูงสุด “บนมาตรวัด” ในรุ่น 2.0 i-L อยู่ที่ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ณ 6,000 รอบ/นาที
กว่าจะไต่ความเร็วขึ้นไปถึงจุดดังกล่าวได้นั้น ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เข็มวัดความเร็วจะกวาดขึ้นไป
อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง ไม่แตกต่างไปจาก XV เลย
แต่ในรุ่น 2.0 XT Turbo เข็มความเร็วจะไต่ขึ้นไปช้าลงนิดนึง หลังจาก 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไป จนไปหยุดอยู่ที่ 221 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,700 รอบ/นาที บอกได้เลยว่า หลังจากระดับ
180 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว เริ่มจะมีอาการหน้ารถลอยขึ้นนิดๆ พวงมาลัยเบาขึ้น
ชัดเจน ต้องใช้สมาธิในการควบคุมเพิ่มขึ้นพอสมควร อาการนี้ จะไม่พบใน XV เพราะรายนั้น
ไต่ขึ้นมาได้ไม่มีทางเท่ากับ Forester 2.0 XT ถ้าไม่ได้ไปปรับแต่งโมดิฟายเครื่องยนต์เพิ่มเติม
ทั้ 2 รุ่น ช่วงออกตัว จากจุดหยุดนิ่ง ถ้าเหยียบคันเร่งเต็มตีน ก็ยังจะมีอาการ Torque Converter
slip นิดๆ โผล่ให้เห็นอยู่ดี มันเป็นอาการที่ พบได้ในรถยนต์ เกียร์ CVT แทบทุกคัน คือ เข็มวัด
รอบเครื่องยนต์หนะ จะตวัดขึ้นไปรอยังรอบสักราวๆ 2,000 รอบ/นาที กันก่อนแล้ว แต่ล้อรถจะ
ยังไม่หมุนออกตัวไปในช่วงเสี้ยววินาทีแรก คล้ายอาการคลัชต์ลื่น แต่ไม่ใช่นะครับ อย่าเข้าใจผิด
คนละเรื่องกัน
ขอย้ำเตือนกันอีกเหมือนเช่นเคย แม้เราจะไม่มีสิทธิ์ห้าม แต่เราไม่สนับสนุนให้ใครก็ตาม
ทำการทดลองความเร็วสูงสุด ในแบบที่เราทำกันอยู่ เพราะแม้ว่าเราจะระมัดระวัง ตรวจเช็ค
สภาพรถกันอย่างดี รวมทั้งต้องรอจนกระทั่งดึกดื่นๆ ให้เส้นทางที่เราใช้ในการหาตัวเลขนั้น
ต้องปราศจากรถ คือต้องไม่เหลือรถยนต์เลยแม้แต่คันเดียว ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างยากมากๆ
แต่โอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็เป็นไปได้สูง ดังนั้น อย่าเสี่ยงทำเช่นนี้เองโดยเด็ดขาด
นอกจากจะผิดกฎหมายจราจรแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้!
ในการขับขี่จริง การตอบสนองของ รุ่น 2.0 iL แทบไม่แตกต่างอะไรจาก XV เลย ไม่ว่าจะเป็น
ช่วงออกตัว ช่วงเร่งแซง หรือจะเป็นย่านความเร็วสูง เครื่องยนต์ ไม่ต่างกัน ยิ่งตัวเลขที่ออกมา
ยิ่งสะท้อนให้เห็น และยืนยันในสิ่งที่รุ่น 2.0 i-L มันเป็น ได้เลยว่า เหมือน XV แทบทุกประการ
จนผมขอบอกว่า คุณสามารถเปิดย้อนกลับไปอ่าน บทความ Full Review ของ XV กันเอาเอง
โดยผมไม่ต้องสาธยายซ้ำเลยก็ได้
แต่ในรุ่น 2.0 XT Turbo นั้น แม้จะมีแรงม้า มากถึง 240 ตัว และแรงบิดมากถึง 350 นิวตันเมตร
แต่บุคลิกของรถ กลับไม่ได้ดีดออกตัวพุ่งพรวด ดึงกระชากหลังคุณจนติดเบาะอย่างเช่นที่คุณ
คาดหวังเอาเสียเลย ตรงกันข้าม ถ้าลองขับครั้งแรก กดคันเร่งไม่เต็มเท้านัก คุณอาจเข้าใจไป
ว่า มันคือ XV ที่แรงขึ่นกว่าเดิมนิดหน่อย
นั่นมาจากเหตุผลที่ว่า ในช่วงออกตัว วิศวกรจงใจออกแบบมาให้ รถคันนี้ต้องออกตัวอย่างนุ่มนวล
Smooth สบายๆ กันไว้ก่อน ตามนิสัยปกติ ของ รถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระชาก
มากเกินไปจนสายพานเกียร์ CVT ขาดกระจุยได้ แต่หลังจากออกรถแล้ว คุณต้องการความแรง
แค่ไหน จะเหยียบยังไงก็เรื่องของคุณ
Forester ใหม่ ก็เป็นเช่นเดียวกัน รุ่น Turbo จะออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง ด้วยความนุ่มนวล
ก่อนจะเริ่มพาคุณเร่งขึ้นไปจนเกิดอาการหลอนเล็กๆ เมื่อพ้นช่วง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว
เข็มความเร็วจะไหลไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงความเร็วระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ
มันไม่รู้สึกว่า มีพลังเลย แต่มันพุ่งทะยานไป แบบหลอนๆ เหมือนคุณกำลังเดินเข้าไปใน
ห้องที่มีแสงสว่างพอประมาณ จากยามบ่าย แต่ปิดไฟ จู่ๆ มีผู้หญิง ชุดขาว ผมยาว หน้าตา
สะสวยคนหนึ่ง เดินเข้ามาใกล้ๆคุณ ตรงหน้าคุณ ช้าๆ แล้วยื่นช็อกโกแล็ตให้คุณกิน 1 ชิ้น
นั้นแหละ! ที่เหลือ ขึ้นอยู่กับว่า คุณกล้ากินช็อกโกแล็ตนั่นเข้าปากไปหรือเปล่า!?
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า
EPS (Electronics Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร ถ้าให้อธิบายกันง่ายๆ
เลยก็คือ เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ยกชุดมาจาก XV นั่นแหละ เพียงแต่ปรับปรุงให้มี
น้ำหนักในการหมุนพวงมาลัย เบาขึ้นกว่า XV
ถ้าต้องขยายความกันต่อ ก็คือ ถึงจะเบากว่าพวงมาลัยไฟฟ้าของ XV ชัดเจน แต่ในรุ่น 2.0 iL
ต้องถือว่า ปรับเซ็ตมาให้หนืดขึ้นกว่า Forester รุ่นเดิม 2.0 ลิตร N/A ที่ผมเคยขับ เพราะ
รุ่นก่อน ได้ชื่อว่า มีพวงมาลัยเบาหวิว ไร้ชีวิตชีวา และการควบคุมแย่มาก มาคราวนี้ ปรับปรุง
น้ำหนักของพวงมาลัยจนดีขึ้น ทุกอย่างจะสมดุลกันพอดี เลี้ยวกลับรถได้ วงเลี้ยวแคบพอดีๆ
ส่วนการขับขี่ในช่วงความเร็วเดินทาง และความเร็วสูงกว่านั้น จะพบว่าพวงมาลัยมีระยะฟรี
เพิ่มขึ้นจาก พวงมาลัย XV อยู่นิดหน่อย แต่ยังคงนิ่ง และให้ความมั่นใจได้ดีในการบังคับ
ควบคุม ไม่ว่าจะถือตรงๆนิ่งๆ หรือจะเลี้ยวเข้าโค้ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเลนกระทันหัน
อาจต้องใช้ความระมัดระวังเพราะพวงมาลัยค่อนข้างจะไวต่อการตอบสนอง คล้ายกับ XV
เป็นพวงมาลัยไฟฟ้า ที่เซ็ตมาใกล้เคียงกับพวงมาลัยเพาเวอร์แบบ ไฮโดรลิก เบากว่า XV
แต่อัตราทดน่าจะใกล้เคียงกัน เบาและหมุนคล่องกว่า พวงมาลัย XV ในช่วงความเร็วต่ำๆ
และมั่นใจได้ในขณะใช้ความเร็วเดินทาง หรือการเข้าโค้ง แต่ค่อนข้างไว ถ้าใช้ความเร็ว
สูง ควรระวังเพิ่มขึ้น ขณะเปลี่ยนเลน
ตั้งข้อสังเกตว่า การปรับเซ็ตพวงมาลัยมาแบบนี้ ทำให้ผม พา Forester ใหม่ทั้ง 2 คัน ลัดเลาะ
ไปตามสภาพการจราจรที่ติดขัด ของกรุงเทพฯ ได้คล่องแคล่วกว่า XV นิดหน่อย เสียด้วยซ้ำ
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่ การปรับเซ็ต
มาในสไตล์เดียวกันกับ XV คือ หนึบแน่น มั่นใจได้ในทุกโค้ง แต่ความแตกต่างอยู่ที่ ช่วงล่าง
ของ Forester นั้น ถูกปรับเซ็ตให้ ดูดซับแรงสะเทือน บนพื้นผิวขรุขระ หรือเนินลูกระนาด
ในช่วงความเร็วต่ำ ได้นุ่มนวลกว่าช่วงล่างของ XV อยู่ชัดเจน
การทรงตัวในย่านความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูงนั้น ยังคงนิ่ง มั่นใจได้ ตามแบบฉบับ
ของ Subaru ที่นิ่ง มั่นคง และวางใจได้ เพียงแต่ว่าอาจเริ่มไม่มั่นใจนักในช่วงความเร็วที่
เกินกว่า 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง แอบมีอาการด้านหน้าลอยขึ้นนิดหน่อย แต่ภาพรวม ยังเป็น
SUV ที่ หนักแน่น เกาะถนน มั่นใจได้อันดับต้นๆของกลุ่ม Compact SUV
ส่วนการเข้าโค้งนั้น บนทางโค้งขวารูปเคียว บนทางด่วนในกรุงเทพฯ ในช่วงความเร็ว ระดับ
80 – 98 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติ แต่อย่าตกใจกับอากัปกิริยาของตัวรถ
ที่จะเอียงออกทางด้านข้างมากไปหน่อย เพราะช่วงล่างเซ็ตมาให้นุ่มและแน่น สำหรับ
ทางเรียบ จนหลายคนอาจไม่ชิน แค่นั้นเอง
ระบบห้ามล้อ ของทั้ง 2 รุ่น เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ ความแตกต่างอยู่ที่ว่า รุ่น 2.0 i-L จานเบรก
จะมีรูระบายความร้อนให้เฉพาะคู่หน้า ส่วน 2.0 XT จะมีมาให้ครบทั้ง 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วย
ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัส ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจาย
แรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่ม
แรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist พร้อมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC (Vehicle
Dynamic Control System) แบบมีสวิชต์ เปิด – ปิดการทำงานที่ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ
ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) และ ระบบช่วยขับลงเนิน HDC
(Hill Descent Control)
ภาพรวมแล้ว ระบบห้ามล้อ ของ Forester ตอบสนอง ได้พอๆกันกับ XV คือมันก็เบรกดีอยู่
ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับแบบคลานๆในเมือง หรือจะใช้ความเร็วเดินทางไกลแบบ
ไม่ต้องสวมวิญญาณนักแข่ง รถแรลลี WRC ยังไงๆ ระบบเบรก ก็ทำงานได้ดีตามหน้าที่
เพียงแต่ ขอตั้งข้อสังเกตว่า การหน่วงรถลงมาจากช่วงความเร็วสูง น่าจะหน่วงได้ดีกว่านี้
น่าจะมั่นใจได้มากกว่านี้ อีกสักหน่อย วิธีที่น่าจะช่วยได้คือ การเปลี่ยนผ้าเบรกจากโรงงาน
ไปใช้ผ้าเบรกที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่านี้อีกนิดหน่อย แค่นั้น ผมเชื่อว่า การตอบสนองจะดีขึ้น
อยู่มือขึ้น แต่ถ้าคุณไม่ใช่นักขับตีนโหด ผ้าเบรกโรงงานธรรมดา ก็ถือว่า เอาอยู่ในระดับหนึ่ง
และสำหรับใครที่สงสัยว่า Forester ทั้ง 2 รุ่น ปรับเซ็ต พวงมาลัย ช่วงล่าง และเบรกมาให้
เหมือนกันหรือเปล่า คำตอบที่ผมยืนยันให้คุณได้ก็คือ “คุณเข้าใจถูกแล้วครับ Forester
ทั้ง 2 รุ่นย่อย เซ็ต พวงมาลัย ช่วงล่าง และเบรก ของทั้ง 2 รุ่น มาให้เหมือนๆกัน ชนิด
แทบไม่ต่างกันเลย”
ด้านโครงสร้างตัวถัง ถูกออกแบบให้เพิ่มความแข็งแรงเป็นพิเศษ บริเวณ ด้านข้างของ
จุดยึดช็อกอัพ ยาวต่อเนื่องมาจนถึง เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ตั้งแต่ฐานจนถึงกึ่งกลาง
ของเสา เชื่อมต่อไปถึงแนวกรอบประตูทางเข้า ด้านหน้า และธรณีประตูคู่หลัง
อีกทั้งยังมีการเสริมความแข็งแรง ให้กับเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar จุดยึดเชื่อมต่อระหว่าง
ซุ้มล้อคู่หลัง และเสากรอบประตูด้านหลัง ให้ทนต่อการบิดตัว ไปพร้อมกับการรับและ
กระจายแรงปะทะ จากด้านหลังให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการเสริม SubFrame ด้านล่าง ใต้ท้องรถ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง
เสริมวัสดุซับเสียงที่ซุ้มล้อทั้ง 4 เพื่อลดเสียงรบกวนจากใต้ท้องรถ ให้ลดลง (แต่ก็ยัง
มีเสียงรบกวนเข้ามาบ้างอยู่ดี)
ด้วยการออกแบบอย่างรัดกุม ตามแบบฉบับ Subaru ทำให้ Forester ใหม่ ผ่านมาตรฐาน
ทดสอบการชน Euro NCAP ของยุโรป ซึ่งถือเป็นการทดสอบการชน ที่เชื่อถือได้ที่สุดใน
บรรดาโปรแกรมทดสอบการชนจากทั่วทุกมุมโลก ในระดับ 5 ดาว โดยปกป้องผู้ขับขี่และ
ผู้โดยสารด้านหน้า รวมทั้ง ผู้โดยสารเด็กบนเบาะนิรภัย ได้ถึง 91% ปกป้องคนเดินถนน
73% และระบบตัวช่วยต่าง ๆ ทำงานได้ดี ในระดับ 86% รายละเอียดต่างๆ เข้าไปอ่านได้
ที่นี่ http://www.euroncap.com/results/subaru/forester.aspx
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
หลายคนยังไม่กล้าซื้อ SUV ก็คงเพรากลัวว่าจะกินน้ำมันกว่ารถเก๋ง Headlightmag
ของเราจึงยังคงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เหมือนเช่นเดียวกับที่เราได้ทำ
ต่อเนื่องกันมา กับรถยนต์แทบทุกรุ่น ทุกคัน เพราะผมเชื่อ ว่าหลายๆคน คงอยากรู้ว่า
Forester ใหม่ ประหยัดน้ำมันมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดทั้งหมด?
เราจึงยังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95
Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS
อารีย์ ในช่วงกลางคืน
และในเมื่อ Foresterเป็นรถยนต์นั่งกลุ่ม SUV ค่อนข้างใหญ่ ถึงแม้จะมีคนอยากรู้ถึง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ลูกค้าในกลุ่มนี้ ไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดนั้น
เราจึงตัดสินใจ เติมน้ำมัน ด้วยวิธี เติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัด ก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถ
อย่างเช่นที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า 2.0 ลิตร และรถกระบะ
เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราคาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถไป
เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกตรงปากซอย
โรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ
จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนจะเลี้ยวกลับ
ย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ
ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน คราวนี้ เพื่อรักษาความเร็ว
ให้นิ่งยิ่งขึ้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control ในรถทั้ง 2 คัน ซึ่งยังคง
รักษาความเร็วของรถ และรอบเครื่องยนต์ ได้ยังไม่คงที่นัก หากเจอทางลาดชัน
พอถึง ทางลง ของทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับ
ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้ง
เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง เอาแค่หัวจ่ายตัดพอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง
คราวนี้ เรามาดูตัวเลขที่ ทั้ง 2 รุ่นทำได้กันดีกว่า
รุ่น 2.0 ลิตร XT Turbo CVT
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 6.53 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.18 กิโลเมตร/ลิตร
ถือว่าทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว สำหรับขุมพลัง เบนซิน Direct Injection Turbo
รุ่น 2.0 ลิตร iL CVT
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 6.32 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.77 กิโลเมตร/ลิตร
ประหยัดขึ้นกว่ารุ่น 2.0 XT Turbo ราวๆ 0.6 กิโลเมตร/ลิตร นับว่าไม่ต่างมากอย่างที่คิดไว้
ยิ่งเมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับพี่น้องร่วมตระกูล รวมทั้ง คู่แข่งร่วมพิกัด จะยิ่งเห็น
ความแตกต่างอย่างชัดเจนขึ้น
หากเป็นยุคสมัยก่อน เราอาจจะได้ยินใครหลายๆคนพูดว่า ถ้าอยากได้รถขับสนุก จงซื้อ
Subaru และถ้าอยากได้รถประหยัดน้ำมัน จงซื้อยี่ห้ออื่น
แต่วันนี้ โลกเปลี่ยนไปครับคุณผู้อ่าน ถ้าอยากได้รถขับสนุก แรงหลอน แถมยังประหยัด
น้ำมันอีกด้วย จงซื้อ Subaru…..เฮ่ยยย! โลกมันกลับตาลปัตรไปแล้ว
ก็ดูตัวเลขเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสิครับ กลายเป็นว่า Forester ประหยัดน้ำมันกว่า
ชาวบ้านชาวช่องในพิกัดเดียวกันทั้งหมดไปได้ยังไงกันวะเนี่ย? แต่มันก็เป็นไปแล้ว
ยิ่งรุ่น Turbo ทำตัวเลขออกมา เล่นเอาผมงงไปเลยว่า ทำไมมันต่างจากรุ่น 2.0 i-L
น้อยกว่าที่คิดไว้
คำถามต่อมาก็คือ ถ้าใช้งานจริง น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นไปได้ไกลแค่ไหน บอกได้เลยครับ
ว่า ไกลใช้การได้ ถ้าขับแบบไม่บันยะบันยัง เร่งแซงเรื่อยๆ ทำความเร็วสูงเรื่อยๆ ถังหนึ่ง
จะอยู่แถวๆ 500 – 530 กิโลเมตร แต่ถ้าเป็นรุ่น Turbo ตัวเลขอาจจะต่ำลงมากว่านั้น
อยู่สักหน่อย แถวๆ 450 – 500 กิโลเมตร
********** สรุป **********
แฝดร่วม Platform ของ XV แต่โปร่งกว่า คล่องกว่า แรงกว่า และ…แพงกว่า
ในอดีตที่ผ่านมา Forester ถือได้ว่าเป็น Crossover SUV รุ่นแรก ที่มีบุคลิกใกล้เคียง
กับรถยนต์ แนว Sports Wagon มากที่สุด และนั่นเป็นจุดขายที่ทำให้ Forester อัน
แปลตามชื่อให้ดูดีว่า “ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ในป่า” ได้รับความนิยมจากบรรดา ผู้คนที่ใช้ชีวิต
อยู่ในป่าคอนกรีต มากไม่แพ้ ลูกค้าที่ใช้ชีวิตอยู่ตามป่าเขาและทะเลสาบ ในวัยใกล้เกษียณ
มาวันนี้ Subaru พยายามทำ Forester ใหม่ออกมาให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม ในทุกด้าน
พวกเขาะยายาม พา “คนป่า” เข้ามาอยู่ในเมือง ลดความดิบเถื่อนลง เอาใจผู้บริโภค
มากยิ่งขึ้น ทั้งการขับขี่ที่คล่องแคล่วขึ้น ช่วงล่างที่ให้ความมั่นคง หนักแน่น และมั่นใจ
ในการเข้าโค้งได้ดีขึ้น พวงมาลัยตอบสนองได้ดี สมเหตุสมผล กับรถยนต์ประเภทนี้
ที่สำคัญกว่านั้นคือ รุ่น 2.0 XT Turbo ยังมีขุมพลังที่ทั้งแรงพอให้ตื่นจากภวังค์
อย่างรวดเร็ว ให้อัตราเร่งที่ แรงแบบหลอนๆ เหมือนไม่แรงตอนออกตัว แต่พอ
ผ่านไปสักแป๊บเดียว คราวนี้ แรงจนหลอนเลย อีกทั้งประหยัดน้ำมันในแบบที่
SUV คู่แข่งคันอื่น ยังทำได้ ไม่ดีเท่า แถมพกด้วยความปลอดภัยทั้งจากระบบ
ขับเคลื่อน 4 ล้อ ตามสไตล์ Subaru และ โครงสร้างตัวถังซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าเป็น
รถญี่ปุ่นที่ให้ความปลอดภัยสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆในตลาด
สรุปแล้ว คุณงามความดีของ Forester ใหม่ ล้วนแล้วเทน้ำหนักไปอยูที่งาน
ด้านวิศวกรรมแทบจะทั้งสิ้น เหมือนเช่นเคย
เพียงแต่ว่า คราวนี้ พวกเขากลับฉาบเปลือกนอกด้วยหน้าตาแบบ ป้าขายข้าวแกง!
นั่นละคือ ข้อด้อยประการแรก Forester ใหม่ ไม่มีจุดเด่นอะไร ให้ผู้คนนึกถึง
เมื่อพวกเขาคิดจะซื้อรถยนต์ SUV ในระดับราคา 1.2 – 2.5 ล้านบาท เอาเสียเลย
ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับ คู่แข่งต่างกลุ่มตลาด เงินจำนวนนี้ หลายคน คงจะมองหา
Volvo V40 ทั้งรุ่นธรรมดา (เริ่มต้น 1.68 ล้าน บาท) หรือ V40 Cross Country
(1,92 ล้านบาท) ไม่เช่นนั้น ก็อาจไปมอง Mercedes-Benz A180 เลยเถิดไป
ถึง BMW 316i ก็เป็นไปได้
ประการต่อมา อุปกรณ์ที่ได้ แม้ว่าจะใกล้เคียงกับคู่แข่ง แต่คุณจำเป็นต้องจ่าย
ในราคาแพงกว่าคู่แข่ง ถ้าจะต้องเปรียบเทียบ Forester กับ คู่แข่งร่วมพิกัด
Compact SUV ด้วยกันแล้ว Forester จะเสียเปรียบในเรื่อง ราคา เพราะเป็น
รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นทั้งคัน ดังนั้น ภาษีจึงไม่สามารถคิดในอัตรา
5% เหมือนเช่นรถยนต์ที่นำเข้ามาจากประเทศในกลุ่ม ASEAN ตามข้อตกลง
ทางการค้า AFTA (Asean Free Trade Area) ได้ และต้องจ่ายภาษีนำเข้ากับ
ทางศุลกากรกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เหมือนกับ CR-V กับ Captiva ที่
ประกอบในเมืองไทย หรือ CX-5 ที่ประกอบใน มาเลเซีย กับ X-Trail ที่
ประกอบในอินโดนีเซีย
นั่นเท่ากับว่า ข้อด้อยที่สำคัญของ Forester มันไม่ได้อยู่ที่ตัวรถ ไปเสียทั้งหมด
แต่กลับไปอยู่ที่ ข้อจำกัดในการทำตลาด ณ เมืองไทย มากกว่า
เพราะถ้าจะมองไปยังคู่แข่งในตลาดกลุ่มนี้ ผู้บริโภคมีทางเลือกอื่นๆอีกมาก
แท้จริงแล้ว Forester เป็นคู่ท้าชนโดยตรงกับ Honda CR-V , Mazda CX-5 ,
Nissan X-Trail และ Chevrolet Captiva เพียงแต่ ค่าตัวของ Subaru XV ในบ้านเรา
สูสีกับคู่แข่งทั้งหลายเหล่านี้มากกว่า อีกทั้งขนาดตัวรถก็ไม่ได้ใหญ่โตเลยเถิดกว่ากัน
เท่าใดนัก จึงถูกมองให้เป็นคู่แข่งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ถ้าจะต้องเปรียบเทียบในแง่คุณสมบัติของตัวรถกันเพียวๆ แล้วละก็ Forester ไม่เป็นสอง
รองใครเขาเลยละ!
Honda CR-V เอง ก็ยังให้ความโปร่งสบาย ไม่ได้ดีเท่า ขับขี่คล่องแคล่ว เบาสบาย และคุ้นมือ
ในฐานะ Everyday SUV ที่ถูกจริตคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากระบบ
ขับเคลื่อน 4 ล้อ มากนัก แต่ CR-V ไว้ใจได้ ทั้งอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลือง ค่าบำรุงรักษาต่ำลง
จนหลายๆคน ปักใจ ภาพรวมแล้ว ตัวรถถือว่าอยู่ในระดับกลางๆของตลาด แต่ขายดีเป็น
อันดับ 1 ในตลาดกลุ่มนี้ อย่าคาดหวังอะไรมากไปกว่านั้น แล้วคุณจะมีความสุข
Chevrolet Captiva เป็นมวยรอง ที่มีจำนวนเบาะนั่งเยอะกว่า คือ 7 ที่นั่ง ช่วงล่างมาในแนว
หนักแน่น สไตล์ Chevrolet แต่พวงมาลัยไม่หนักและไม่มั่นใจเท่า อัตราเร่ง แค่พอไหว แต่
ระบบส่งกำลัง ก็ยังตอบสนองไม่ทันใจ ทว่า นั่นยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เท่า บริการหลังการขาย
ของ GM ที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน หลังจากหมักหมมเอาไว้นานแล้ว
Mazda CX-5 เป็นอีกคู่ต่อกรที่ Subaru หวั่นใจที่สุด แต่ความจริงแล้ว บุคลิกการขับขี่ของ
CX-5 จะเบา และคล่องตัวกว่า Forester นิดนึง ยิ่งได้ขุมพลัง Skyactiv ทั้งเบนซิน 2.0
ลิตร 2.5 ลิตร และ Diesel Turbo Common Rail 2.2 ลิตร เล่นเอาหลายค่ายถึงกับปาดเหงื่อ
เลยทีเดียว
ส่วน Nissan X-Trail รุ่นใหม่เผยโฉมไปแล้ว ทำเอารุ่นเก่าที่ยังค้างสต็อกอยู่อีกนิดหน่อย
ราศีหมองหันไปเลย การเปิดตัวในเมืองไทย คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง เดือนมีนาคม 2014
ก่อนงาน Bangkok Iternational Motor Show จะเริ่มขึ้น ส่วนรุ่นเก่านั้น ถ้าชอบ SUV
ทรงกล่อง กับขุมพลังและเกียร์ CVT จาก Teana 2.0 ลิตร J32 ก็พอจะคบหากันได้
แม้จะปรับปรุงอุปกรณ์ใหม่ จนดูน่าใช้ขึ้น แต่ก็อยู่ในช่วงปลายของอายุตลาดแล้ว
รุ่นใหม่จะมาถึงอีกที ก็ราวๆ ปี 2014 ซี่งก็จะมาถึงในปีหน้าอยู่แล้ว
แต่…ถ้าตัดสินใจแล้วว่าอยากลองของแปลก คุณควรจะเลือกรุ่นไหนดี?
Forester ใหม่ มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย
2.0 i-L CVT ราคา 1,890,000 บาท
2.0 XT Di-Turbo CVT ราคา 2,420,000 บาท
ถ้าคุณกำลังมองรุ่น 2.0 i-L อยู่ ผมบอกได้เลยว่า ค่าตัวที่แพงขึ้นนั้น มันมาจาก
การที่ผู้จำหน่ายในบ้านเรา ต้องนำเข้ารถคันนี้มาจากญี่ปุ่น ทำให้เสียภาษีนำเข้า
ในอัตราปกติ แต่สมรรถนะในภาพรวมแล้ว ไม่ได้แตกต่างไปจาก XV เท่าใดเลย
ทั้งอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง การตอบสนองของพวงมาลัย และช่วงล่าง
แม้กระทั่งระบบเบรก ก็แทบจะหาความต่างไม่เจอ อาจมีอุปกรณ์บางอย่างที่
ไม่เหมืนกันอยู่บ้าง แต่มันไม่ต่างกันมากพอที่จะทำให้คุณตัดสินใจขยับจาก
XV ขึ้นมาเล่น Forester 2.0 i-L ได้เลย
ดังนั้น ถ้ามองรุ่น 2.0 i-L อยู่ การหันกลับไปเลือก Subaru XV จากมาเลเซีย
ในราคา 1,350,000 บาทจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าเงินมากกว่ากันเยอะ เก็บเงิน
ส่วนต่าง ไว้เติมน้ำมัน จ่ายเบี้ยประกันภัย และบำรุงรักษารถไปอีกหลายปี จะดีกว่า
แต่ถ้าคุณอยากได้ความแรงขึ้นอีกระดับ พร้อมกับสมรรถนะในภาพรวม ที่สามารถ
นำไปคุยโม้โอ้อวด กับเพื่อนฝูงได้ จาก Forester การเพิ่มเงินขึ้นไปเล่นรุ่นแพงสุด
2.0 XT Turbo ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะเอาเข้าจริง ค่าตัว ก็มิได้โหดร้ายจน
เกินไป ยิ่งเมื่อเทียบดูกับรถยนต์ระดับราคาใกล้เคียงกันแล้ว แม้ว่าเงินเท่ากันนี้ คุณ
อาจจะออกรถเก๋ง Premium Compact จากฝั่งยุโรป ได้ แทบทุกรุ่น ก็จริงอยู่
แต่สำหรับคนที่เลือก Subaru แล้ว วิธีคิด และการมองจะแตกต่างไปจากคนทั่วไป
อยู่พอสมควร คนกลุ่มนี้ จะมีมุมมองเรื่องความคุ้มค่าในแบบฉบับของพวกเขาเอง
และ Subaru ก็เป็นรถยนต์ ที่ตอบโจทย์ ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ดีมาก เพราะจะมีแค่เพียง
ลูกค้ากลุ่มนี้เท่านั้น ที่จะมองเห็นเนื้อแท้คุณงามความดี ที่ซ่อนอยู่ในทุกอณุของ
ตัวรถ จนบางที บางคน อาจถึงขั้นมองข้ามรูปร่างและหน้าตา แบบ ป้าขายข้าวแกง
ของ Forester ไปเลยด้วยซ้ำ!!
แต่สำหรับใครที่ยังคิดไม่ตก ไม่แน่ใจ ว่าจะซื้อ Subaru มาใช้ดีไหม?
ถ้ายังกังวลเรื่องบริการหลังการขาย บอกเลยว่า ไม่ต้องห่วง เพราะอานิสงค์ จากยอดขาย
ของ XV ที่พุ่งพรวดๆ ทำให้ตอนนี้ ชาวญี่ปุ่นจาก Subaru (FHI) และ ชาวสิงค์โปร์ จาก
Tan Chong Group ให้ความสนใจกับเมืองไทยอย่างมาก จนตอนนี้ บินมาบ้านเราไม่เว้น
แต่ละเดือน เริ่มทุ่มงบโฆษณาไม่อั้น ทะยอยเปิดโชว์รูมในต่างจังหวัด กันอย่างต่อเนื่อง
ตามหัวเมืองใหญ่ๆ จะเริ่มเห็นโชว์รูมและศูนย์บริการ Subaru กันแล้ว หลายราย ดังนั้น
ปัญหาเรื่องศนย์บริการมีน้อยไป น่าจะไม่ใช่ประเด็นต้องกลัวอีกต่อไป
หลังจากนี้ ก็แค่รอดูกันว่า การเตรียมบุคลากร เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงรถยนต์ของลูกค้า
จะทำได้ดีแค่ไหน ประทับใจลูกค้าหรือไม่ แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จบ ภายในเวลาเท่าไหร่
ราคาอะไหล่ จะลดลงมา เพื่อช่วยดึงดูดใจ ให้ลูกค้าไม่ต้องกระเป๋าฉีกเวลาซ่อมบำรุง
ได้หรือเปล่า? ที่สำคัญที่สุด คือ Service Mind ของทุกๆคน ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร จนถึง
พนักงานรักษาความปลอดภัยหน้าโชว์รูม ทุกแห่ง จะสร้างความประทับใจให้ลูกค้า
ได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนกันหรือไม่?
เพราะนั่นละ คือสิ่งที่จะผูกรั้งใจลูกค้าเอาไว้ ให้ยังคงอุดหนุน Subaru กันต่อไป แถมยัง
จะชี้ชวนคนรอบข้างมาซื้อไปขับตามๆกันด้วย
และนั่นก็จะยิ่งช่วยให้โอกาสที่ Subaru จะมาลงทุน ประกอบรถยนต์ในเมืองไทย จะ
ไม่ไกลเกินความฝันของหลายๆคนกันเสียที
—————————///————————-
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณอภิชัย ธรรมศิรารักษ์ และ คุณตะวัน คำฤทธิ์
บริษัท Motor Image Subaru (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานต่างๆ อย่างดียิ่ง
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพ illustration ทั้งหมด เป็นของบริษัท Fuji Heavy Industry จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
10 พฤศจิกายน 2013
Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 11th,2013
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!