“หนูยักษ์” !!!!

คำอุทานของน้อง V.Putin ผู้ที่ผมชวนมาร่วมทดลองขับ
ซางยอง สตาร์วิกในครั้งนี้เป็นพิเศษ ที่ร้องลั่นกรอกหูผม
ตลอดเวลาที่เราอยู่ในรถตู้ 11 ที่นั่งคันนี้
ยังคงดังก้องอยู่ในโสตประสาทของผม

ท่ามกลางสมองที่ใกล้จะไม่สั่งการแล้วในเช้าวันนี้
ผมกำลังจะเล่าเรื่องราวของ รถตู้ 11 ที่นั่ง
รถสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักชื่อ “ซางยอง”
ผู้ผลิตรถยนต์จากเกาหลีใต้ ผู้ที่ได้รับความร่วมมือจาก
เดมเลอร์ไครส์เลอร์ (ส่วนงาน เมอร์เซเดส-เบนซ์)
ดียิ่งขึ้น… 

 

 

ก็แหงละครับ!

ก็ดูรูปลักษณ์อันชวนให้ต่อมวิพากษ์วิจารณ์ ต้องสั่งการไปยังขากรรไกร ให้ง้างอ้าขึ้น เพื่อเตรียมวิพากษ์วิจารณ์
แนวทางการออกแบบภายนอก อันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก
“เรือยอร์ช” อย่างที่นักออกแบบชาวยุโรป ซึ่งรับ
ดูแลงานออกแบบครั้งนี้ให้กับซางยอง เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ นี่แล้วกัน

 

 

การหาความสวยงาม บนเส้นสายของรถคันนี้
ดูเหมือนจะยาก จนเกือบจะยอมแพ้ไปเลย

 

 

แต่ เอาเป็นว่า
ผมก็หาความสวยงาม
บนเส้นสายตัวถังที่มีความยาวสะใจถึง 5,125 มิลลิเมตรกว้างถึง 1,915 มิลลิเมตร สูง 1,845 มิลลิเมตร
และระยะฐานล้อนั้น ยาวสะใจถึง 3 เมตรพอดีๆ
เลยทีเดียว ได้บ้าง เป็นบางมุม…..ได้อยู่บ้างแล้วกันละน่า

 

 

ดีไซน์เนอร์ ชาวอังกฤษ ที่รับงานให้กับซางยอง คราวนี้ บอกเอาไว้ว่า

แนวคิดของรถคันนี้ ง่ายที่สุดคือ ในเมื่อ แบรนด์ ซางยอง เป็นแบรนด์ กำเนิดใหม่

ถ้าไม่ทำอะไรให้โดดเด่นไปเลย ก็ยากที่จะขายออก ดังนั้น เขาจึงเลือกจะสร้างความโดดเด่นแปลกตา

ให้เกิดขึ้นมาโลดแล่นบนถนน แทนที่จะสร้างความสวยงาม เร้าใจ 

 

 

เขามองว่า ถ้าในเมื่อต้องเรียกจุดสนใจจากผู้คน ก็ทำออกมา ให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ขึ้นมาเลยดีกว่า

 

 

คือ ถ้าไม่ชอบ แบบปานกลาง ก็เกลียดมันไปเลย เพราะไม่น่ามีใครบอกว่า  สตาร์วิค เป็นงานชิ้นเอกระดับ มาสเตอร์พีซ แน่ๆ…

 

 

แล้วก้ได้ผลจริง ทั่วโลก ต่างพากันขนานนามให้ว่า ซางยอง สตาร์วิค คือหนึ่งในรถ ที่มีงานออกแบบภายนอก ห่วยแตกที่สุด ตั้งแต่เคยมีการสร้างรถยนต์กันมา!!!

ซึ่งผมก็เห็นด้วย กับ ผลสำรวจต่างๆทั่วโลกนี้อยู่ เพราะขนาดตัวเอง ยังพยายามขุดหาความสวยของรถคันนี้ ให้งมเข้มใน สระว่ายน้ำบนโรงแรมหรู 6 ดาว ยังจะง่ายซะกว่า!

 

 

แต่เชื่อเถอะ นักออกแบบ ผู้ที่เราไม่อยากจะเอ่ยชื่อเสียงเรียงนามของเขา จะต้องภาคภูมิใจในงานชิ้นนี้บ้างละ ไม่มากก็น้อย ในฐานะที่ รถคันนี้

สร้างชื่อเสียงให้เขา โด่งดังขึ้นมา (แม้ว่าจะเป็นชื่อดัง ในแง่ลบ ก็ตามที) 

 

เอาละ
ถึงข้างนอกจะไม่เข้าตา

แต่ห้องโดยสาร ได้ใจผมไปหลายคะแนนในหลายๆเรื่อง
แม้จะต้องมีเรื่องให้ตำหนิกันต่อในบางเรื่องก็ตาม

เราเปิดประตูเข้าไปดูข้างในกันเลยดีกว่า

การเข้าออกจากรถนั้น เหมือนๆกับรถตู้ทั่วไปครับ
คุณอาจจำเป็นต้องโหนตัวขึ้นไปนั่ง
ถ้าคุณมีสรีระไม่สูงนัก
แต่ถ้าเป็นคนที่ใช้พื้นที่ในการหายใจสูงกว่าคนอื่นทั่วๆไปอยู่แล้ว
สบายครับ

 

 

แต่กลิ่นในห้องโดยสารเนี่ยสิ….

ผมไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี เพราะซางยอง จะใช้กลิ่นแบบนี้ทุกรุ่น

หลายๆคน ไม่มีปัญหากับกลิ่นนี้ ยกเว้นผม

เบาะคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้าครับ
แต่บริเวณเบาะรองนั่งนั้น ปรับได้ในลักษณะแบบ
เหมือน ไม้กระดกในสนามเด็กเล่น
คือ ลาดเทไปข้างหน้า หรือว่า ยกบริเวณรองรับน่องขึ้นมา
แล้วให้บริเวณที่ชิดอยู่กับพนักพิงหลัง ยุบตัวลงไป

ที่นั่งเกือบจะเรียกได้ว่า เอาใจคนขับและผู้นั่งตามหลักสรีระศาสตร์อยู่แล้วเชียว

 

 

พื้นที่โดยสารตอนกลาง และแถว 3 ถือว่าคือจุดน่าประทับใจของสตาร์วิคคันนี้

การเข้าออก ก็เป็นแบบเดียวกับด้านหน้าครับ
คือเข้าออกได้ค่อนข้างสบาย ถ้าคุณเป็นคนตัวสูงหน่อย

 

 

เบาะนั่งแถวกลาง ค่อนข้างอเนกประสงค์เอาการ 

ถาว่าอเนกประสงค์ยังไง? ลองมาแยกเป็นข้อๆ กัน

 

ข้อแรก
เบาะกลาง พับพนักพิงลงมาเป็นที่วางแก้ว หรือโต๊ะวางของได้

 

 

ข้อต่อมา

เบาะแถวกลาง สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้าถอยหลังได้
อีกทั้งยังสามารถจะดึงคันโยกปรับเบาะให้หมันกลับหลังหัน
เพื่อสันทนาการกันในครอบครัว ได้ ให้บรรยากาศคล้ายการนั่งรถไฟ…..

ด้านหลังของพนักพิงเบาะหน้า ที่เห็นนั้น สามารถดึงขึ้นมาเป็นถาดวางของ และวางแก้วได้

 

 

ส่วนเบาะแถว 3 จะมีพื้นที่เหลือให้นั่งมากน้อยแค่ไหน
เป็นหน้าที่ของคุณจะต้องไปบริหารปรับเลื่อนเบาะคู่กลาง
เอาเอง…

แต่เรียนตามตรง

บรรยากาศ เหมือนนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวอย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว!

เบาะ กลาง ของทั้ง 2 แถวดังกล่าวนี้ สามารถยกพับเก็บไว้ด้านข้างได้
เพื่อเปิดช่องทางเดินให้ทะลุไปได้ถึงเบาะแถวหลังสุด หรือ แถว 4
อันเป็นเบานั่งแถวที่ผมอยากสงวนไว้ให้กับ เด็ก สัตว์เลี้ยง
หรือสิ่งของ มากกว่าจะให้ผู้ใหญ่ร่างโตไปนั่ง

 

 

อีกทั้งปัญหาหนึ่งที่ผมพบคือ
เบาะแถว 4 นี้
พับได้ก็จริงอยู่ครับ
แต่ต้องพับลงมาทั้งแถวเลย
แยกพับไม่ได้

 

 

อีกทั้งเบาะแถว 4 นี้
ถ้าคิดจะยกออก ไม่ได้นะครับ เพราะเล่นฝังยึดกับ
พื้นห้องโดยสารมาเลย

ดังนั้น การจะบรรจุสัมภาระร่วมเดินทางไปกับคุณด้วยนั้น
คุณควรคิดและไตร่ตรองในการจะจัดสิ่งของบนพื้นที่
อันจำกัดนี้ให้ดี ถ้าคุณต้องเดินทางออกต่างจังหวัด
พร้อมกันมากกว่า 8 คน แต่ถ้าไม่เกิน 8 คน ผมว่ายังไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไหร่

 

 

เอาละครับ
มาดูแผงหน้าปัดกันดีกว่า

การออกแบบ ถือว่าทำได้ดีกว่าที่เห็นในรูป
แต่..ยังมีอะไรแปลกๆให้ต้องพบเจอ

เช่น

ลายไม้ สีอ่อนเกินไป
ไม่ได้ทำให้ดูสง่า
ทว่ากลับดูด้อยค่าลงไป

สวิชต์พัดลมของเครื่องปรับอากาศด้านหน้าแบบแยกฝั่งซ้าย-ขวา นั้น
ติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับรถพวงมาลัยซ้าย

แต่พอมาขึ้นไลน์พวงมาลัยขวา
วิศวกรขาวเกาหลั กลับไมได้เปลี่ยนย้ายข้างมาให้ด้วยเนี่ยสิ!
จะเปิดแอร์ที เอื้อมไปเปิดพัดลมกันเลย

เบรกมือ เปลี่ยนไปใช้เบรกเท้าสำหรับจอดแทน
ถอนเบรกเท้าขึ้นมาที ชวนให้นึกถึงเสียงอันดังสะนั่น
ของเบรกมือรถกระบะสมัยก่อนอยู่เนืองๆ

พวงมาลัยแบบ Multi Function ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียง
เป็นหลัก สะดวกดีครับ
Grip พวงมาลัย เป็นปกติของรถครับ
เหมาะสมกับตัวรถดี คือวงพวงมาลัยมีขนาดใหญ่โต

ท่านั่งขับ ก็ใกล้เคียงกับ มิตซูบิชิ สเปซแวกอน นั่นละครับ

ตำแหน่งที่วางแก้วนั้น
มีขนาดใหญ่โตดี
แต่ว่า จะให้ล็อกขวดน้ำ หรือแก้วที่มีขนาดเล็กกว่านั้น
อาจยังทำได้ไม่ดีพอ

คอนโซลกลาง ลึกสะใจจริงๆครับ! เปิดฝาขึ้นมานี่ส่งลงไปดูแล้ว
จุศพน้องหมาพันธุ์ชิสุ อย่างน้อยได้ตัวนึงแน่ๆ!

 

 

คันเกียร์
ที่เล่นถอดเอาบริเวณมือจับของไม้เทนนิส
มาสวมหัวเกียร์ลงไปเลย
ไม่สวยเลยครับ แถมยังจับได้ไม่ถนัดมืออีก
และถ้าจะให้จับในลักษณะเหมือนถือกระป๋องน้ำอัดลม
เวลาโยกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ มันก็ชวนให้ผมนึกถึงภาพ…เอ่อ……

ติดเรทแล้วครับ พูดต่อไม่ได้! แหะๆๆ

 

 

การติดตั้งชุดมาตรวัดต่างๆไว้รวมศูนย์ตรงกลาง
เป็นเรื่องที่ผ้ผลิตรถทั่วๆไปเขาทำกันมานักต่อนักแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ปัญหาคือ มุมองศาที่เอียงเข้ามาให้ผู้ขับขี่อ่านนั้น
ยังไม่ดีเท่าที่ควร
และเหมือนว่าตั้งใจจะทำชุดมาตรวัดให้กับ
เจ้าของรถ ผู้ที่ต้องนั่งหลังรถเป็นอาจิณ
ได้อ่านข้อมูลต่างๆของรถ เพื่อที่จะทำตัวเป็น “Back seat driver”
ควบคุมการขับขี่ของพลขับด้านหน้าได้สะดวก

 

 

แต่ สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า รถคันนี้เหมือนเครื่องบินคือ

ขณะที่เรานั่งเครื่องบินนั้น อย่างน้อย เราได้รู้ความเร็วที่กำลังเดินทาง

แต่ ระบบสัญญาณไฟเตือนระบบขัดข้อง
คนขับรู้เท่านั้นที่รู้ได้…..

สิ่งที่น่าชมเชยอีกอย่างคือ
ตำแหน่งไฟเกียร์อัตโนมัติ
ที่บอกเราอยู่ว่ากำลังขับอยู่ในเกียร์ไหน
แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมด Shift บวก/ลบ
ที่ต้องเลื่อนคันเกียร์แบบรถไครส์เลอร์ หรือ ดอดจ์ คือต้องเลื่อน ซ้าย-ขวา
หากแม้แต่อยู่ในตำแหน่ง D เกียร์ก็จะบอกให้เรารู้ด้
ว่าอยู่ในตำแหน่งใด

นานๆทีจะหารถที่มีสัญญาณไฟบอกแบบนี้ได้ดีสักที

แม้จะเหมือนรถจักรยานยนต์ แต่ผมว่า
นี่คือเรื่องดีที่ต้องชมเชย

 

 

แล้วก็มาถึงสิ่งที่ผมภูมิใจนำเสนอ

นั่นก็คือ
ชุดเครื่องเสียงพร้อมหน้าจอแบบ Touch Screen
ที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างสนุกสนานทีเดียว

เริ่มจาก เป็น โทรทัศน์สี
รับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ที่พิมพ์ลงบนกระจกด้านหลังรถ

 

 

ให้มาครบทั้งช่องใส่แผ่น CD / DVD MP3
และ เครื่องเล่น เทปคาสเซ็ตต์

 

 

มาพร้อมจอมอนิเตอร์ ขนาด 6.5 นิ้ว
สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง

ซึ่งภาพอาจไม่ถึงกับชัดเท่ากับจอด้านหน้าบนแผงหน้าปัด
แต่ดูได้ดูดีมีให้ดูเหมือนกัน

 

 

บรรยากาศตอนนั่งอยู่ที่เบาะหลัง Captain Seat

โดยมีน้องแพน V.Putin ลองขับ

มันช่างแสนสบายจริงๆ….

การมีคนขับรถส่วนตัวให้เนี่ย

อ้าว ไม่ใช่เหรอ โทษทีนะ คิกๆๆ

 

 

ไหนๆก็ไหนๆ เรามาลองระบบเสียงกันเลยดีกว่า

เอาแผ่น Spacial DVD ที่แถมมาในงานเพลงของ Hiromi
มาเปิดดีกว่า แผ่นนี้ เพิ่งซื้อจากญี่ปุ่นมาครับ
เป็นงานสวิงแจ้ส ของค่าย TELARC
บอกได้เลยว่า ไม่เบาเลยฝีมือเธอคนนี้

 

 

หน้าจอ Touch Screen

 

 

ภาพที่ออกมา

 

 

คุณภาพเสียงนี่ ผมขอชมเลยว่า

ยิ่งย้ายไปนั่งที่เบาะแถว 3
เหมือนกำลังนั่งฟังคอนเสิร์ตจริงๆ!!!

โดยมีแผงหน้าปัดเป็นเวทีการแสดง!!

ผมว่าระบบเสียงของ สตาร์วิค นี่ถือได้ว่า
ต้องเก็บไว้ในลิสต์ลำดับต้นๆ
ของรถที่มีเครื่องเสียงดี จากโรงงาน โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม สำหรับผมแล้วแหะ!

ก็จะไม่ให้ดีได้อย่างไร ในเมื่อซางยอง เล่นใช้สายไฟแบบ
FIBER OPTIC ต่อเชื่อมกับลำโพงทุกตัว!!

 

 

มองแหงนขึ้นไปด้านบนหลังคา จะพบว่า

เย๋ยยยยยยยยยย!
ตั้งแต่ยืมรถมาทดสอบ ก็เพิ่งเจอคันนี้ละครับ
มีเจิมปิดทองซะด้วย!

สวิชต์ตรงกลางนั้น ซ้าย-ขวา จะเป็นไฟอ่านแผนที่คู่หน้า
ส่วนตรงกลางแนวยาว เป็นสวิชต์เลื่อนเปิด-ปิดซันรูฟครับ

รุ่นนี้ มีซันรูฟมาให้! แต่เยื้องไปทางด้านหลังหัวคนขับอยู่นิดหน่อย สงสัยตั้งใจให้รับลมอย่างเดียวเป็นหลัก

 

 

จอแสดงข้อมูล ที่เห็นนั่น นอกจากแสดงให้เห็น เข็มทิศแล้ว ยังแสดงผลเป็นระยะเวลาในการขับขี่..

 

 

แสดงความเร็วเฉลี่ย

 

 

แบ็ตเตอรี

 

 

เวลาและวันที่

รายละเอียดุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย
อาทิ ถุงลมนิรภัยมีมาให้เฉพาะคู่หน้า
และรายละเอียดอื่นๆ
เชิญเข้าไปชมได้ที่ www.ssangyong.co.th

 

 

รายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และผลการทดลองขับ

 

หากมองจากข้อมูลในแค็ตตาล็อกแล้ว
สตาร์วิค ถือได้ว่าเป็นการร่วมงานกันของ
4 สุดยอดผู้ผลิตชิ้นส่วนวิศวกรรมรถยนต์

ฟังดูเหมือนจะดีใช่ไหมครับ?
อ่านต่อไปเรื่อยๆก่อนครับ…

สตาร์วิค ทุกรุ่นในเมืองไทย ติดตั้งเครื่องยนต์เดียวกันหมด
ไม่ว่าจะเป็นรุ่นขับล้อหน้า หรือจะเป็นรุ่น AWD ที่นำมาลองขับ

– เป็นผลงานจาก “Mercedes-Benz”
เดิมทีเป็นเครื่องยนต์ OM 647 DELA
ดีเซล 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว
(ฟังดูไฮเทคใช่ไหมครับ เห็นหน้าตาโบราณๆแบบนี้
อย่าดูถูกเชียว)

แต่ด้วยการที่มีขนาดกระบอกสูบและช่วงชักที่ไม่เท่าเครื่องเดิม
ซึ่งวางอยู่ใน E-Class / M-Class และ G-Class
ทำให้ปริมาตรกระบอกสูบ เหลือ 2,696 ซีซี

– ชุดฉีดจ่ายเชื้อเพลิงระบบคอมมอนเรล
จาก DELPHY

– เทอร์โบจาก Garrett รุ่น M27

รวมกันแล้วให้พละกำลัง 165 แรงม้า (121 กิโลวัตต์)
ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 34.9 กก.-ม. ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800-3,250 รอบ/นาที
อันเป็นช่วงรอบเครื่องยนต์ที่เทอร์โบถูกปรับแต่งให้ทำงานพอดี

– เกียร์อัตโนมัติ จาก ZF แบบ 5 จังหวะ พร้อมโหมด บวก/ลบ ที่ใช้วิธีขยับ ซ้าย-ขวา เหมือนรถไครส์เลอร์ และดอดจ์ อันเป็นเกียร์ลูกเดียวกันกับที่ติดตั้งใน Kyron
ที่วางเครื่องยนต์ 141 แรงม้า นั่นละ!

 

แต่!!!! ช้าก่อน ท่านทั้งหลาย

ฝรั่งอั้งม้อ หลายบริษัท มาทำงานร่วมกัน

มีหรือที่จะไม่มีถกเถียงเกี่ยงงอนกันบ้าง?

 

ต้องบอกก่อนว่า
ในการทดสอบคราวนี้
ผมตัดสินใจ เปลี่ยนมาให้ น้อง V.Putin หรือน้องแพน
ผู้มีน้ำหนักตัวมากถึง 137 กิโลกรัม
มาเป็นผ้ช่วยผมในการทดลองขับครั้งนี้
เหตุผลง่ายๆคือ

1. คงไม่มีใครซื้อมินิแวนไป แล้วนั่งกันแค่ 2 คน….จริงไหมครับ?

2. จะหาคนที่ว่าง และมานั่งในมินิแวนคันนี้ ให้ได้ 3 คน
เป็นเรื่องยาก นายหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริณ
ก็วุ่นๆ และแต่ละคนที่โทรไป ก็ดูจะไม่ว่างกันทั้งนั้น

3. น้ำหนักตัวของน้องแพนคนเดียว
ก็เทียบเท่ากับคน 2 คนเข้าไปแล้ว!!!

4. แพนควรจะมีประสบการณ์ในเรื่องแบบนี้บ้าง

นั่นละครับ คือสาเหตุที่ผมชวนน้องแพนมาร่วมทดลองขับกันครั้งนี้

ลองมาดูกันดีกว่าว่า สมรรถนะเป็นอย่างไรบ้าง

เรายังคงใช้เส้นทางทดลองแบบเดิม ตามมาตรฐานที่เคยทดลองกันตลอดมา

ตัวเลขความเร็ว เป็นตัวเลขที่ยึดถือเอาจากการอ่านค่าบนแผงหน้าปัดของรถเท่านั้น และอาจมีความเพี้ยนเกิดขึ้นได้เป็นปกติ

เราทดลองหาอัตราเร่งกันโดยมีผมและ น้องแพน
เพื่อนผู้โดยสารอีก 1 คน รวมเป็น 2 คน
น้ำหนักประมาณ 137 + 90 =  227 กิโลกรัม
เปิดแอร์ตามปกติ

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.

ครั้งที่
1     15.6   วินาที
2.    15.0   วินาที
3.    15.2   วินาที
4.    15.3   วินาที

เฉลี่ย  15.27  วินาที

อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. ซึ่งเป็นช่วงที่ผมใช้วัดประสิทธิภาพการเร่งแซง
เริ่มกดคันเร่งจนสุด เมื่อเข็มความเร็วชี้ที่ระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเข็มวัดรอบชี้ที่ 1,800 รอบ/นาที

ครั้งที่
1     11.5   วินาที
2.    11.7   วินาที
3.    11.7   วินาที
4.    11.7   วินาที

เฉลี่ย  11.65  วินาที

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ พร้อมรอบเครื่องยนต์ที่ระบบ ECU สั่งเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์

อ่านตัวเลขจากมาตรวัด ซึ่งอาจเพี้ยนได้ตามวิสัยปกติ

เกียร์ 1 =   40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,000 รอบ/นาที
เกียร์ 2 =   70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,100 รอบ/นาที
เกียร์ 3 = 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,100 รอบ/นาที
เกียร์ 4 = 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,000 รอบ/นาที
เกียร์ 5 = 189 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,000 รอบ/นาที

ตัวเลขความเร็วสูงสุด 189 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,000 รอบ/นาที

ความเร็ว 80 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,800 รอบ/นาที
ความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,200 รอบ/นาที
ความเร็ว 110 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,450 รอบ/นาที

โปรดสังเกตการณ์วางตำแหน่งเครื่องยนต์กับช้อคอัพคูหน้า
นะครับ
ถือเป็นการวางตำแหน่งที่ดีทีเดียว

 

 

คือตัวเลขหนะ มันก็ดูโอเคอยู่หรอกครับ
ถ้าคิดว่าเครื่อง 2.7 ลิตร ต้องแบกน้ำหนักตัวกว่า 3 ตัน
และถ้ารวมสารพัดคนสัตว์สิ่งของเข้าไปเต็มพิกัด
ก็อาจทะลุเกือบๆ 4 ตัน

แต่ อาการตอบสนองของตัวรถเนี่ยสิ ที่เป็นปัญหา

ข้อแรกที่ผมไม่ประทับใจเอาเสียเลยคือ คันเร่งไฟฟ้า ครับ
การตอบสนองนั้น ไม่ได้มีความแม่นยำ หรือต่อเนื่อง
ในแบบ Linear เอาเสียเลย

พอออกตัวจากไฟแดง ขนาดกดคันเร่งลงไปลึกครึ่งนึง
รถก็ยังออกตัวเอื่อยๆ แต่พอกดลงไปลึกอีกนิด
กลับกลายเป็นว่า เทอร์โบ ทำงานเสียจนตัวรถ “พุ่งกระโจน” ออกไปมาก เกินกว่าที่ผมต้องการ

3 วันที่สตาร์วิคคันนี้ มาอยู่ในมือผม
ผมไม่เคยชินกับคันเร่งของรถคันนี้ได้สักที
คือถ้าขับช้าๆ เรื่อยๆ ก็โอเคอยู่ครับ
ขับสบายๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการเร่งแซงขึ้นมาละก็
หากอยู่ในช่วงความเร็วต่ำ ถ้าผมกดคันเร่งจนสุด
กว่าคันเร่งจะตอบสนอง ก็ปาเข้าไปประมาณ 1-2 วินาที
แล้วรถก็จะพุ่งทะยานออกไปมากเกินกว่าที่ควรเป็น

คือ ผมหาตำแหน่งของแป้นคันเร่งที่ผมจะต้องกดลงไป
เพื่อเรียกอัตราเร่งเท่าที่ผมต้องการ ไม่ได้สักที
ค่อนข้างหงุดหงิดอยู่ไม่น้อย
เพราะจากมินิแวน หรือรถตู้คันอื่นๆในยุคสมัยเดียวกันที่ผมเคยผ่านมือมา
ก็ไม่ตอบสนองออกมาได้น่าผิดหวังอย่างนี้

การตอบสนองของเครื่องยนต์เองนั้น
ก็มีบุคลิกแบบแปลกๆ
คือ จะมีพละกำลังดีอย่างต่อเนื่อง
แค่ช่วงรอบแรงบิดสูงสุด
แต่ทั้งก่อนหน้า และหลังจากนั้น
ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเท่าใดนัก

เอาละ มันเป็นบุคลิกของเครื่องยนต์ ดีเซล เทอร์โบ
ที่มันก็เป็นของมันอย่างนี้

คือมันให้อารมณ์เหมือนกับ คุณเป็นเด็ผ้ชายคนหนึ่ง
กำลังทำอะไรลับๆล่อๆอยู่ในห้องของคุณ
ห้องที่กลอนประตูเสีย และเมื่อกำลังจะเข้าสู่ช่วง
ที่คุณรู้สึกยินดีปรีดาสุดขีด อยากจะก่ร้องให้ลั่นบ้าน
คุณกลับทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะกลัวว่าคุณพ่อจะเดินขึ้นมา
พบว่าคุณทำในสิ่งที่ไม่เป็นการบังควร

นี่ละครับ คือ บุคลิกที่ผมพอจะอธิบายให้คุณเห็นภาพได้
ในการมาถึงของแรงบิดจากเครื่องยนต์ของสตาร์วิค

ขณะเดียวกัน
ระบบกันสะเทือน หน้าปีกนกคู่ คอยล์สปริง
และระบบกันสะเทือนหลัง มัลติลิงค์ 10 จุดยึด คอยล์สปริงที่บอกว่า ยกชุดมาจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส รุ่นเดิม นั้น

กลับให้ความนิ่ม ในแบบที่ มากไปสักหน่อย
สำหรับรถตู้ที่ต้องใช้ในการเดินทางไกลแบบนี้

นิ่มประมาณไหน
เอาเป็นว่า ให้นึกถึง
ระบบกันสะเทือน ของรถตู้รับส่งผู้โดยสาร อายุ 10 ปี
ที่วิ่งในวินสี่แยกบางนา ซึ่งช็อกอัพแตกพร้อมกันทั้ง 4 ล้อ!!

คือมันนิ่มเสียจนกระทั่งผมต้องขับอย่างระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

กระนั้น เรื่องน่าแปลกใจที่ได้พบก็คือ
หากใช้ความเร็วสูง บนทางด่วน หรือทางหลวง
ตัวรถที่มีน้ำหนักมากถึง เกือบ 3 ตัน
กลับแล่นแหวกอากาศไปได้อย่างนิ่ง และนิ่มนวล

และเมื่อเจอคอสะพาน ด้วยความเร็วเดินทาง ช่วง 80-110 กม./ชม.นั้น
การตอบสนองจะคล้ายคลึงกับ วอลโว S80 D-5
ทว่า ยังไงๆ วอลโว ก็แน่นกว่า สตาร์วิค
ที่ออกอาการหน้ากระดก หลังกระเดิด อยู่ดี

ส่วนพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฮโดรลิกนั้น

หนืด และน้ำหนักดีตอนหยุดรถนิ่งๆ
แต่กลับเบาโหวงเมื่อตอนขับขี่ด้วยความเร็วสูง

อีกทั้งด้วยลมยางปกติ แรงสะเทือนจากพื้นถนน
จะถูกส่งขึ้นมายังพวงมาลัยอย่างง่ายดายที่ความเร็วเดินทาง

ระบบเบรกแบบ ดิสก์ 4 ล้อ
คู่หน้า จานขนาด 295 x 28 มม. ลูกสูบคู่
ค่หลัง จานขนาด 295 x 20 มม. ลูกสูบเดี่ยว
พร้อม ABS EBD และ Break Assist
ตอบสนองได้ดีกว่าที่คิด
คือ ต้องบอก่อนว่า แป้นเบรก อาจจะเซ็ตมาคล้ายกับนิสสัน มราโน
คือลึกนิดนึง และต้องการให้รถหยุดแค่ไหน
ก็เหยียบไปตามนั้น ไม่ใช่แบบแป้นเบรกตื้น ที่คนไทยทั่วไปชื่นชอบกัน

ถึงแม้จะให้ความมั่นใจได้ตามสมควร
แต่จงคำนึงไว้เสมอขณะขับรถคันนี้ว่า
น้ำหนักตัวค่อนข้างอุ้ยอ้าย
ดังนั้น ควรเผื่อระยะเบรกไว้สักหน่อย จะดีกว่าครับ

 

 

การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

 

ถ้าคุณคิดว่า คน 2 คน น้ำหนักรวม 227 กิโลกรัม
จะทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของสตาร์วิค แย่ลงแล้ว

ไม่เสมอไปครับ…

เราไปเติมน้มันดีเซลที่ปั้มบางจาก พระราม 6
ขับขึ้นทางด่วน ออกไปเชียงราก แล้ววนกลับ ตามเคย
เปิดแอร์ ขับกันที่ความเร็ว 110 กม./ชม.
ทางค่อนข้างโล่ง รถค่อนข้างน้อย
เปิด Cruise Control  

เติมน้ำมันงวดนี้ ไม่เขย่ารถนะครับ
ใครจะถามว่า อ้าว แล้วผลมันก็เพี้ยนหนะสิ
ก็คุณคนถามนั่นแหละ ตอนนั้น มาช่วยผมเขย่ารถสิครับ
แล้วคุณจะพบว่า การเขย่าเจ้า “หนูยักษ์”
มันก็เป็นเรื่อง “เขย่าประสาท” เอาเรื่องทีเดียว

รถหนักตั้ง 3 ตัน จะให้ผมเขย่ารถ??
เขย่าเสร็จ ไขมันหาย ละลายไปกองที่ตาตุ่มกันพอดี!

ระยะทางที่แล่นไป อ่านจากมาตรวัด 85.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันที่เติมกลับ                    4.95  ลิตร (เหย อะไรกันเนี่ย)
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย          17.31 กม./ลิตร

“เฮ้ยยยยยยย~!”

ผมร้องออกมาด้วยความไม่เชื่อตัวเอง ตกใจมาก

นี่ขนาดเอาคนตัวยักษ์พอๆกับรถ อย่างน้องแพน
มานั่งประกบแล้วด้วยเนี่ยนะ!

มันจะประหยัดกว่า ซีวิค 1.8 วีออส ยาริส และคันอื่นๆ
หลายๆคัน แทบจะเกือบหมดลิสต์ ที่ผมทดลองขับมาทั้งหมดเลย มีนจะเป็นไปได้อย่างไรกันเนี่ย???

แพนโทรถามเพื่อน ซึ่งใช้เมอร์เซเดส-เบนซ์ E220 CDI
ซึ่ง รายนั้น เขาบอกว่า มันเป็นไปได้ เพราะขนาดเขาเอง
ยังทำได้ที่ระดับ 19 กม./ลิตร เลย
ด้วยความเร็ว 100-110 กม./ชม. นี่ละ

ผมก็เลยต้องสรุปตัวเลขกันแบบนี้อย่างไม่เต็มใจสรุปเท่าไหร่
เพราะ ผมต้องเรียนให้ทราบว่า ผมไม่เชื่อ
ว่ามันจะประหยัดได้ขนาดนี้

ไม่ทำทดลองซ้ำให้แล้วนะครับ
เพราะรถคันนี้ ซางยองไมได้เติมน้ำมันให้ผมมา
เข็มมันลงไปอยู่จะใกล้ขีดล่างเลยทีเดียว
และผมต้องเติมเอง หมดเงินไป ทั้งหมด ตลอด 3 วัน
1,500 บาท โดยประมาณ
งานนี้ เอาเงินตัวเองออกล้วนๆครับ

เอาอย่างนี้ดีกว่า
นักเลงรถ ทำทดสอบเอาไว้ เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
ตัวเลขได้ 11.71 กม./ลิตร
ที่ 110 กม./ชม.
ถ้าเปิด Cruise Control ที่ 90 กม./ชม. ก็ได้ 12.19 กม./ลิตร

 

 

*** สรุป ***
หนูยักษ์คันใหญ่ เพื่อครอบครัวรสนิยมแปลก

ผมต้องบอกคุณผู้อ่านก่อนว่า
สตาร์วิค เป็นรถที่สร้างขึ้นและออกสู่ตลาดมาได้ 2 ปีแล้ว
ดังนั้น งานวิศวกรรมต่างๆ คือเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน
ซึ่งอาจจะยังมีความไม่สมบูรณ์ เมื่อเทียบกับรถรุ่นหลังๆ
ของซางยอง อย่าง Kyron หรือ Actyon ที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น

ดังนั้นอย่าแปลกใจ ว่าทำไมจึงเห็นข้อเสียของตัวรถผุดขึ้นมาเยอะแยะ ถ้าเทียบกับคุณงามความดีของไครอน
ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นมาเรื่อยๆ

แต่ ที่น่าแปลกคือ ด้านที่เราไม่ได้คาดถึง กลับทำได้ดีเกินหน้าเกินตาใครต่อใครเขามากมาย เช่นอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ไปจนถึงชุดเครื่องเสียงระดับสุดยอดเกินคาด!
และการโดยสารบนเบาะแถวกลางที่สุนทรีย์เกินยั้งใจ

ซางยอง สตาร์วิค เป็นรถที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนให้น่าประหลาดใจ เกินกว่าที่คิด

จริงอยู่ว่า
ในทันทีที่ผมขับออกมาจากโชว์รูมซางยองพระราม 9
ผ่านไปเพียงแค่เสาไฟฟ้าเดียว ผมแทบอยากจอดรถ เข้าเกียร์ถอยหลัง แล้วเอารถไปคืนเดี๋ยวนั้น

แต่เมื่อยิ่งขับไป ก็ยิ่งพบในเรื่องราวประหลาดใจที่ซุกซ่อนอยู่

จนคิดไปว่า “นี่ดีนะ ที่เราไมได้ถอยรถไปคืนเขาในวันนั้นเลย”

 


เรื่องนี้ จะว่าไปแล้ว ก็ชวนให้ผมคิดได้อยู่เรื่องนึงคือเรื่องของความรัก

ในขณะที่เราไล่ตามหาคนที่เราคิดว่าใช่
บางที คนที่ยืนอยู่ให้เราเห็นทุกวัน
แม้ว่าหน้าตาจะไม่ได้เรื่องเลย
แม้ว่านิสัยอาจจะไม่ค่อยดีนัก
แต่บางที ใครจะไปรู้ คนคนนั้นอาจจะรักเราจริงก็ได้…

ผมเขียนตรงไปตรงมามากขนาดนี้
ตรงจนผมชักไม่แน่ใจว่า ซางยองจะโกรธเอาหรือเปล่า
แต่ถ้าจะโกรธ ก็ต้องบอกกันตรงนี้ละครับว่า

ความตั้งใจของบทความชิ้นนี้
คือสะท้อนให้เห็นถึงข้อความปรับปรุงของรถคันหนึ่ง
ที่ผมเชื่อว่า ยังมีอนาคตไปได้ในตลาดเมืองไทย
ถ้าทีมงานทุกคนยังตั้งใจอยู่อย่างนี้

ฝากไปถึงทีมงานที่เกาหลี ว่า รถที่ยังมีอนาคตพอไปได้อยู่อย่างนี้ ต้งการการปรับปรุงอย่างไรบ้าง ซางยองถึงจะ
ได้รับการยอมรับยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

ยิ่งการได้คุยกับคุณ อภิเชต สีตะกลิน
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของซางยอง ผู้คร่ำหวอดในวงการรถยนต์ อย่างสนุกสนาน กว่า 1 ชั่วโมงนั้น
ยิ่งทำให้ได้ทราบว่า วิธีคิดของซางยองนั้น
ค่อนข้างจะรับฟังความเห็นของคนไทย มากกว่า ญี่ปุ่นและอเมริกัน

รับฟังปุ๊บ แก้ไขทันที
นี่ละคือจุดได้เปรียบของเกาหลี ที่มีต่อญี่ปุ่น อย่างชัดเจนละ

และต่อให้ผมเขียนกันตรงไปตรงมาถึงขนาดนี้
ผมก็ยังมองว่า
บทความชิ้นนี้ มันคงไม่น่ามีผลอะไรกับกลุ่มลูกค้าเดิม
ที่คิดจะซื้อรถคันนี้อยู่แล้ว

กลุ่มลูกค้าที่ว่าก็คือ ชายสูงวัย มีครอบครัว
หารถตู้ ไว้ให้ภรรยา ขับไปรับ-ส่งบุตรหลาน ที่โรงเรียน
โดยรถคันดังกล่าว ต้องมีที่ว่างให้พอรองรับความซนของเจ้าทโมนน้อยเหล่านั้น

ค่าตัว 2 ล้านบาทมีทอน ในรุ่นขับล้อหน้า
และ 2 ล้านกว่าๆ นิดหน่อย ในรุ่น AWD
จะคุ้มหรือไม่

มันไม่ใช่หน้าที่ผมที่จะตัดสินครับ
ท้ายสุดแล้ว อยู่ที่คุณผู้อ่านต่างหาก

 

—————————————–///——————————————–

 

 

ขอขอบคุณ

บริษัท ซางยอง ประเทศไทย จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อรถให้ทดลองขับกันในครั้งนี้ครับ

 

 

——————————————–

“Back Seat’s Driver”

 

Back Seat Driver เป็นภาคผนวก อันเป็นการนำความคิดเห็น ของ ผู้ที่มีโอกาส สัมผัสรถยนต์แต่ละรุ่นแต่ละคัน ไปพร้อมๆกับผม

 

และในครั้งนี้ เป็นความคิดเห็นของ คุณ พันธุ์สวัสดิ์ ไพฑูรย์พงศ์ หรือน้องแพน ซึ่งเคยบันทึกเอาไว้ ในนามของ V.Putin

ณ กระทู้ รีวิวทดลองขับ STAVIC ใน Pantip.com ห้องรัชดา เมื่อ 27 มิถุนายน 2006

 

ความเห็นส่วนตัวหลังจากที่ได้ใช้ชีวิตกับจิมมี่ในฐานะ เนวิเกเตอร์และคนขับในซังยอง ตัวนี้มาพอสมควรก็คือ

“หนูยักษ์!”

นั่นคือfirst impressionที่ผมได้รับตั้งแต่เห็นหน้าStavicครั้งแรกเมื่อนานมาแล้วและตอนนี้ก็ยังคิดเช่นนั้นอยู่

การ ออกแบบภายนอก สวยหรือไม่สวย วัดจากอะไร คงพูดได้ยาก เอาเป็นว่าถ้าคุณเอารถตู้ที่เคยขายในไทยในประวัติศาสตร์รอบ10ปีมาตั้งเคียง ข้างกับStavicทั้งหมด คุณคงบอกได้ง่ายขึ้นว่าStavic สวยหรือไม่สวยนะครับ สำหรับความเห็นผม คนออกแบบเจ้ารถตู้คันนี้ใช้เวลา3ปีในการออกแบบภายในและใช้เวลา 1วันในการออกแบบภายนอกและ 1นาทีในการคิดว่าจะเอาด้ามไม้แบดมาออกแบบทรงหัวเกียร์

ซังยองยังต้อง ทำงานอีกมากในการเรียนรู้ว่าบางครั้ง ยิ่งน้อยยิ่งดี เส้นสายบางอย่างที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำมาให้มันขัดลูกกะตาเล่นก็ได้ ผมไม่ต้องการให้ซังยองเอาเรือยอทช์มาทำเป็นรถ  ผมอยากให้ซังยองทำรถที่ดูเป็นรถให้ได้ซะก่อนตอนนี้ เพราะอย่าลืมว่าหน้าตาของรถ ก็คือหน้าตาของเจ้าของ  ระหว่างรถสองคันที่ทุกอย่างเหมือนกันหมด คุณย่อมเลือกขับคันที่รูปทรงสวยทั้งในสายตาคุณ และสายตาของคนอื่นด้วย

อย่าง น้อย ช่วยหาไฟท้ายใหม่ที่มันดู “ตื่นเต้น”น้อยลงกว่านี้ และเอากระจังหน้าทรงฟันหนูมหึมาที่บางคนว่าแบบเหมือนฝารองนั่งโถส้วมออกไปซะ แล้วเอากระจังที่มันธรรมดาที่สุด ไม่ต้องเล่นมิติเล่นโค้งอะไรมาก สิ่งที่เหลือทั้งคันนั้นถือว่าไม่ได้แย่อะไร ..ทำเหอะผมจะได้หาชื่ออย่างอื่นมาเรียกมันที่ไม่ใช่หนูยักษ์

ส่วนเรื่องของภายใน ผมกลับชอบสีสันที่ซังยองให้มาพอสมควร รวมไปถึงการออกแบบและรูปทรงของคอนโซล ส่วนที่ผมไม่ชอบเอามากๆ ก็คงจะมีเพียงแค่ลายไม้สีเหมือนนมข้นที่เปิดฝาเอาไว้นานครึ่งเดือน …บางท่านอาจชอบ ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับคุณภาพโดยรวมของรถ แต่สำหรับแผงมาตรวัด อะฮ้า..อยากถามหน่อยว่าระหว่างคนขับกับคนนั่งเบาะหลัง ใครกันแน่ที่สมควรจะเป็นผู้ที่สามารถอ่านค่าต่างๆของมาตรวัดได้ชัดเจน

สีของมาตรวัดยามค่ำคืน ตัวเลขและการออกแบบดีแล้ว แต่กรุณาหันมาหาคนขับหน่อยก็ดีจ้า

เบาะ ดูเหมือนจะสบาย ซึ่งก็สบายแน่ถ้าคุณตัวไม่ใหญ่นัก
เพราะ ฐานรองก้นของเบาะนั้นค่อนข้างสั้น หุ่นแม่ผมซึ่งสูง155ซ.ม.นั้นสามารถนั่งได้สบาย แต่สำหรับผมซึ่งสูง183ซ.ม.รู้สึกว่ารองก้นยาวไม่พอ เลยต้องนั่งแบบฮาล์ฟแอสไปตลอดทาง ..ต้องเลือกเอา ถ้าไม่เมื่อยก้น ก็จะเมื่อยหลัง

การโดยสารทางไกลน่าจะไม่สบายนัก ถ้าคุณเทียบกับรถตู้ชั้นสูงยี่ห้ออื่น(ที่ราคาแพงกว่า) เว้นเสียแต่ว่าคุณเอาไปเทียบกับรถตู้โดยสารที่วิ่งอยู่บนถนนทั่วไปล่ะก็ Stavicก็เหมือนนั่งรถไฟชั้นพิเศษ เลยทีเดียว

ชุดดิสเพลย์ไฟสี เขียวๆตรงเพดานที่เป็นเข็มทิศได้ เป็นนาฬิกาได้นั่นก็ถือว่าแปลกดี ในโหมดเข็มทิศ ผมเห็นอนิเมชั่นของไฟสีเขียว(ที่วาบเป็นแนวๆไป ดูแล้วเกือบไร้สาระ) ที่ดูไปดูมาอาจจะพาให้ผมนึกได้ว่าผมกำลังขับยานEnterpriseโดยมีชาวคลิงก้อน ที่ชื่อจิมมี่นั่งแหกขาบนเบาะแถวที่สองคอยกำกับการขับยานของผมอยู่

การ ขับStavicนั้น ถ้าคุณอ่านที่จิมมี่พิมพ์ให้ความเห็นไว้ข้างต้นแล้วอาจจะนึกว่ารถคันนี้ขับ ไม่สนุก ขับแล้วเกร็ง ..หรือเปล่า? ผมเองมีความเห็นต่างกับจิมมี่บ้างเหมือนกัน

คืออย่างงี้ครับพี่ ขอเท้าความยาวหน่อย… ในวันแรกของผมกับStavic ผมรับหน้าที่เป็นผู้โดยสาร ซึ่งในระหว่างนั้นผมถือว่าใช้ชีวิตอยู่บนเบาะหน้า ข้างๆจิมมี่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เซ็งเอาการอยู่เหมือนกัน เพราะหลายสิ่งหลายอย่างรวมถึงตำแหน่งของเบาะยังไม่ได้ใจผมเท่าไหร่ ซ้ำเติมอีกที่ด้วยช่วงล่างที่ผมไม่รู้จะนิยามยังไงเหมือนกัน ..แข็งกระด้างต่อสภาพพื้นผิวถนนที่ความเร็วต่ำๆ ยางแก้มสูงพ่อเกิดขนาดนั้น เหยียบแมงสาบสักตัวบนพื้นถนนผมยังรู้สึก(เปรียบเทียบนะครับ ไม่ได้แย่ขนาดนั้น) ถ้าใครคิดเอาไปใส่ล้อ24นิ้วยางแก้มเตี้ย ไม่เกิดแน่
แถม ช่วงล่างยังย้วยๆ นิ่มนุ่ม แปลกๆ ไอ้คำว่าย้วยนี่คือมันดูยวบยาบอย่างแรง ชนิดถ้าเจอคอสะพานบ่อยๆแล้วเมา ขนาดผมซึ่งนั่งเบาะหน้าวิ่งรถทางไกลบ่อยมาก ผมก็ยังอดเมาไม่ได้

ตอนนั้นผมอยากเขียนจดหมายหาซังยองด้วยซ้ำว่า
“ถึง ซังยองที่รัก

ช่วยเอาoptionเสริมมาให้ผมด้วย ให้ผมเลือกหน่อยอย่างใดอย่างนึงก็ยังดีระหว่าง
1. ช่วงล่างSport/Cruising
2. ถุงอ้วกการบินไทย

จากคุณ : หมีไฟฟ้า (V.Putin) – [ 27 มิ.ย. 49 10:24:13 ]

—————————————–///——————————————–

 

 

๋J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครังแรก : 27 มิถุนายน 2006 ใน Pantip.com ห้องรัชดา

ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 15 กุมภาพันธ์ 2009 For HEADL!GHT Magazine

www.headlightmag.com