ห่างหายจากซาบ ไปได้ไม่นานนัก

ได้เวลาจะหวนกลับมาเจอกับซาบอีกครั้ง

เช่นเคย ที่ พี่นพ เจ้าเก่าผู้อารี
หาวันเวลาที่ลงตัวพอดีสำหรับผมได้

ราวกับพี่นพจะหยั่งรู้ดินฟ้า ว่าฝนห่าใหญ่จะตกกระหน่ำใส่บ้านผม จนท่วมเจิ่งนองหน้าปากซอยใหญ่หมู่บ้านผม
ชนิดที่แทบจะเดินออกจากบ้าน
ไปขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างยังไม่ได้

เลยส่งคุณลุง 9-5 2.3 T Full Turbo มาให้ลองในช่วงนั้น
พอดี๊พอดี

 

 

ซาบ 9-5 ทำตลาดในไทยมานานพอดูแล้ว
ตั้งแต่ปี 1999
หลังจากเปิดตัวทั่วโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 1998
ก่อนจะมีรุ่นแวกอน ตามออกมาในปี 2000

และนี่จะเรียกได้ว่าเป็นการกระตุ้นตลาดด้วย “รุ่นพิเศษ”
มิได้ถือเป็นการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์แต่อย่างใด

ไมเนอร์เชนจ์ใหญ่หนะ สวีเดนเขาเปิดตัวไปแล้ว
ที่แฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ กันยายนที่ผ่านมา
แต่กว่าจะเข้ามาบ้านเรา คงเป็นปี 2006 ไปแล้ว

 

 

การกระตุ้นตลาด เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง

เกิดขึ้นในช่วงที่ผมต้องส่งคืนแลนด์โรเวอร์ดิสโก้ 3 คืนกับทางพี่ลักษณ์ แห่ง LandRover Thailand ไปหมาดๆ
จำวันไม่ได้ จำได้แต่ว่าเป็นวันอังคารวันหนึ่งในเดือนกันยายน

เห็นความแตกต่างจากรูปลักษณ์ภายนอกไหมครับ?

ผมว่าต้องมีคนเห็นนะ

เพราะตลอดเวลา 4 วัน  3 คืน ที่ผมขับไปตามสถานที่ต่างๆ

มีคนมองรถคันนี้ เยอะกว่า ตอนที่ผมนำ BMW 320 i SE มาทดลองเสียอีก

 

ส่วนหนึ่งคงเพราะ ไฟหน้า Bi-Xenon ของมัน 

 

 

…ล้ออัลลอยลายพิเศษ 18 นิ้ว
พร้อมยางมิชลิน Preceda

ที่มีการปรับเซ็ตให้ให้ล้อหน้ามีมุมแคมเบอร์ ติดลบ นิดๆ
ขณะที่ ล้อหลังตั้งตรงเท่าเดิม

และมีการปรับเปลี่ยนโช้คอัพกับสปริง เพื่อโหลด ลดความสูงตัวรถลงมาเล็กน้อย

อีกทั้งยังเปลี่ยนมาใช้จานเบรก
คู่หน้าและหลังแบบใหม่ มีขนาดใหญ่โตขึ้น
จนต้องเปลี่ยนเอาล้ออัลลอยที่มีขนาดใหญ่มาใส่แทน

 

 

 

และสปอยเลอร์ขนาดเล็ก ที่ฝากระโปรงหลัง

 

 

มาดูความแตกต่างในห้องโดยสารดีกว่า
การติดเครื่องยนต์ บิดกุญแจกันที่ คอนโซลด้านล่าง เป็นเอกลักษณ์
ทีในที่สุดก็บางยี่ห้อเอาไปใช้บ้างแล้ว

 

 

คอนโซลลายไม้ เปลี่ยนมาเป็นแบบอะลูมีเนียมทั้งหมด

แอร์ดิจิตอล แยกฝั่ง เย็นเร็ว

ชุดเครื่องเสียง เทป + CD
ซึ่งให้คุณภาพเสียงยังไม่น่าประทับใจนัก เสียงแบน ไปหน่อยไม่ค่อยมีมิติ
ภาครับวิทยุถือว่าใช้ได้

แต่เอาน่า ไม่ดูดกินซีดีเพลงลาว วง Overdance ของผม
เหมือนเจ้า 9-3 Aero ผมก็พอใจละ

คิกๆๆ

สวิชต์เซ็นทรัลล็อก อยู่ใกล้คันเกียร์ ในตำแหน่งที่ไม่สะดวกต่อการใช้งานนัก
แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่

ที่วางแก้ว มีเพียงตำแหน่งเดียว บนแผงหน้าปัด
จะกดใช้งานแต่ละทีมีลูกเล่นทุกครั้ง

 

 

ด้านบนเพดาน มีไฟอ่านแผนที่
สัญญาณเตือนให้รัดเข้มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ

 

 

ชุดมาตรวัดยามค่ำคืน

ฟังก์ชัน Night Pane ยกกเลิกการทำงานมาตรวัดอื่นทังหมด
เพื่อลดการรบกวนสายตาในค่ำคืน
เหลือแค่มาตรวัดความเร็ว กับสัญญาณไฟที่จะทำงานต่อเมื่ออุปกรณ์นั้นๆมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเท่านั้น lยังคงมีให้เลือกใช้งานได้อยู่

 

 

 

นอกจากนั้น รายละเอียดในห้องโดยสารอื่นๆ ยังเ้หมือนกับ 9-5 รุ่นอื่นๆ

เบาะคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า

ผมต้องใช้เวลาปรับให้เข้ากับท่านั่งขับรถปกติของผม
จากนั้น ใช้เมมโมรี จดจำตำแหน่งที่ปรับไว้ เอา

เบาะหลัง…

พนักพิงศีรษะปรับได้ 2 ระดับ เพื่อลดการบดบังทัศนวิสัย

นั่งหลังรถแล้วไม่ค่อยรู้สึกถึงแรงระชากเมื่อตอนออกตัว
แรงๆนัก

 

กล่าวโดยสรุปคือ รายละเอียดอื่นๆ เช่นเพบาะพับได้เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ที่วางแขนพับเก็บได้ ฯลฯ

ล้วนแล้วไม่แตกต่างจาก 9-5 รุ่นอื่นๆเลยแต่อย่างใด

ต่างแค่เพียงระดับการตกแต่งของรถคันนี้คือแบบ Vector ในขณะที่รุ่นอื่นคันอื่นที่ผมเคยลองขับเป็นแบบธรรมดานั่นเอง

 

ด้านความปลอดภัย มีครบทั้ง พนักศีรษะ SAHR (Saab Active Head Restraint)
ถุงลมนิรภัยคู่หน้าแบบ Adaptive SRS
ถุงลมด้านข้างอีก 2 ใบ รวมเป็น 4 ใบ
จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX
กุญแจอิมโมบิไลเซอร์
เสาหลังคากลาง B-Pillar มีช่องตาข่ายสำหรับใส่ของต่างๆ

รายละเอียดอื่นๆ เปิดดูเอาได้ตามสะดวกนะครับที่ www.saab.com 

 

——————–

 

 

*****รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ*****

เครื่องยนต์คุ้นหน้าคุ้นตากันดีสำหรับชาวซาบ
บล็อกเดิมที่ใช้มานานกาเล
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,290 ซีซี

220 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 31.589 กก.-ม.ที่ รอบต่ำเพียง 1,900 – 4,500 รอบ/นาที

ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมโหมดเปลี่ยนเกียร์บวก/ลบ
ที่พอมีอาการเกียร์กระตุกนิดๆ ตามธรรมชาติ

ตัวเลขจากซาบ เคลมว่า
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพียง 8.7 วินาที พร้อมอัตราเร่งสูงสุดอยู่ที่ 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

จากการทดสอบของโรงงาน ทำอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 10.3 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร

 

 

แล้วผมวัดได้เท่าไหร่  

ลองเอาตัวเลขจากรุ่นธรรมดา Light Turbo มาเทียบกันดูนะครับ

ผมจะไม่พูดอะไรทั้งสิ้นปล่อยให้คุณผู้อ่าน
เห็นตัวเลขแล้วคิดต่อเอาเองครับ

————————————

เราทดลองหาอัตราเร่งกันโดยมีผมและเพื่อนผู้โดยสารอีก 1 คน นั่นก็คือ
น้ากล้วย 910  เจ้าเก่านั่นเอง
รวมเป็น 2 คน น้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม เปิดแอร์ไปด้วย
อุณหภูมิขณะทดสอบ 32 องศาเซลเซียส

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.  มีดังนี้ครับ

ครั้งที่      2.3 T Full Turbo     2.3t LPT Sedan      2.0t LPT Wagon
1                   8.73                      8.1                        9.2         วินาที
2.                  8.60                      8.2                        9.5         วินาที
3.                  8.53                      8.4                        9.2         วินาที
4.                  8.84                      8.6                        9.7         วินาที

เฉลี่ย             8.67                     8.32                      9.4         วินาที

อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. ซึ่งเป็นช่วงที่ผมใช้วัดประสิทธิภาพการเร่งแซง
เริ่มกดคันเร่งจนสุด เมื่อเข็มความเร็วชี้ที่ระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเข็มวัดรอบชี้ที่ 1,750 รอบ/นาที ในรุ่น 2.0 แวกอน
และ 1,600 รอบ/นาที ในรุ่น 2.3 ซีดาน

ครั้งที่       2.3 T Full Turbo      2.3t LPT Sedan      2.0t LPT Wagon
1                   7.16                          6.1                      7.2        วินาที
2.                  7.30                          6.1                      7.1        วินาที
3.                  7.01                          6.0                      6.9        วินาที
4.                  7.24                          5.9                      6.6        วินาที

เฉลี่ย             7.17                          6.02                   6.95      วินาที

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ อ่านตัวเลขจากมาตรวัด
รอบเครื่องยนต์ตัดเพื่อเปลี่ยนเกียร์ที่ระดับ 5,900 รอบ/นาที

                 2.3t Sedan                    2.0t LPTWagon
เกียร์ 1                  60                              60  กิโลเมตร./ชั่วโมง.
เกียร์ 2                  90                              90  กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 3                145                            150  กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 4                200                            200  กิโลเมตร./ชั่วโมง
(รอบตัดขึ้นเกียร์ 5 ณ 5,200 รอบ/นาที) (ตัดขึ้นเกียร์ 5  ณ 5,000 รอบ/นาที)

แต่รุ่น 2.3 Full Turbo นั้น

เกียร์ 1    60 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบตัดที่ 6,000 รอบ/นาที
เกียร์ 2    85 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบตัดที่ 5,800 รอบ/นาที
เกียร์ 3  140 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบตัดที่ 5,800 รอบ/นาที
เกียร์ 4  210 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบตัดที่ 5,800 รอบ/นาที

ความเร็วสูงสุดอยู่ที่เกียร์ 5

2.0 t  Wagon   220 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,400 รอบ/นาที
2.3 t  Sedan     240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,900 รอบ/นาที

และ 2.3 T Full Turbo 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,000 รอบ/นาที

ทั้งที่โบรชัวร์เวอร์ชัน International ภาษาอังกฤษ ของซาบ ระบุไว้ว่าความเร็วสงสุดอยู่ที่ 235 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ดูตัวเลขแล้วรู้สึกแปลกๆนิดหน่อยครับ

 

 

ซาบ ถ้ารักษาสภาพดีๆนะครับ
ตอนปล่อยเนี่ย เชื่อเถอะว่า กลุ่มคนเล่นซาบ มีคนแย่งกันรุมแน่ๆ…และคันนั้น ราคาจะสูงกว่าท้องตลาดพอสมควร

————————————–

เอาละครับ ผมต้องใช้เวลาย้อนความทรงจำกลับไปนานทีเดียวเพื่อที่จะพบความรู้สึกต่างๆ มองย้อนไป
ทั้งจากการลองขับรุ่น LPT และ Full Turbo

ตัวเลขมันดูแปลกๆก็จริงนะครับ

แต่ว่า รุ่น Full Turbo นั้น ผมกลับพบว่า มีแรงดึง
ในช่วงตีนต้น มากพอๆกันกับรุ่น LPT นั่นละ

เพียงแต่ว่า ในช่วงตีนปลายนั้น รุ่น Full Turbo
จะไหลขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เร็วและเนียนกว่ารุ่น LPT
ที่แทบจะแผ่วไปแล้วตั้งแต่ช่วงท้ายๆของรอบเครื่องยนต์
ช่วงกลางๆ

การออกตัวนั้น แรงบิดมหาศาล

จะดึงตัวรถให้โจนทะยานออกไปจนกระทั่งพวงมาลัยมีอาการสะบัดเหมือนกัน ต้องดึงพวงมาลัยให้นิ่งๆ ดีๆ

ตลอดการนำรถมาลองขับครั้งนี้
เนื่องจากฝนตกอยู่เนืองๆตลอดๆ

ดังนั้น ผมจึงไม่คิดปลดระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP ออกเลย
ปล่อยให้ทำงานควบคุมการส่งแรงบิดไปยังล้อหน้าแต่ละง
ตอนออกตัวอย่างนั้นละดีแล้ว

อย่างที่บอกละครับ ผมไม่อยากให้เกิดอะไรขึ้นกับรถ

ผมมองว่า แรงบิดที่สามารถจะดึงให้พวงมาลัยของ รถขับล้อหน้า ที่หนักราวๆ เกือบๆ 2 ตัน
คันนี้สะบัดตอนออกตัวได้อย่างนี้
ไม่น่าจะถูกจำกัดอยู่เพียง 31 กก.-ม. โดยประมาณ
แต่เอาเถอะครับ
ในเมื่อ ตัวเลขอย่างเป็นทางการแจ้งมาไว้เท่านี้ ก็คงต้องเชื่อตามตัวเลขที่เขาแจ้งมาละครับ

 

 

ระบบกันสะเทือนที่ถูกปรับเซ็ตมาให้เตี้ยลงเล็กน้อยและเซ็ตให้ล้อหน้าแบะออกข้างเล็กน้อย (มุมแคมเบอร์ติดลบนิดหน่อย)
ช่วยในการเข้าโค้งที่ดีขึ้น

กล่าวคือ
ถ้าเป็น 9-5 ธรรมดา

โค้งทางลงทางด่วนรูปตัว S บริเวณทางลงพระราม 6
หากเป็นรถทั่วไป 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็มีเสียวแล้ว
ไม่ควรเกินนี้

9-5 ธรรมดา ใส่เข้าไป 80 กำลังดี

แต่ 9-5 Full Turbo
ความเร็วหน้าโค้งจนเข้าไปอยู่ในโค้งซ้ายโค้งไปแล้ว
ก่อนจะลดลงนิดนึง
อยู่ที่ 90 กม./ชม. ลดเหลือ 80 แต่ให้เร่งส่งเพิ่มอีกนิด
ก็คงแตะลีมิทของรถพอดี เมื่ออยู่ในโค้งขวา ก่อนถึงไฟแดง็ต้องชะลอแล้ว

ถือว่าเข้าได้เร็วเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง
สำหรับโค้งที่ลึกและอันตรายแบบนั้น

พวงมาลัย พอมีระยะฟรีนิดนึง แต่ถือว่าคม
ในสไตล์แบบที่เป็นซาบ

แต่เรื่องเบรก…

ต้องทำใจว่า ระยะแป้นเบรกมันลึกไปหน่อย ต้องเหยียบเบรกให้ลึกลงไปสักหน่อย
ถึงกระนั้น ก็ยังหยุดได้มั่นใจดีแน่ ถ้าเคยขับ 9000 ใก่อน จะรู้สึกว่า ดีกว่า 9000

ถ้าเทียบกับ 9-5 คันอื่นที่ขับมา ผมถือได้ว่าดีกว่ากันแบบสังเกตได้
แต่แน่นอนว่า สู้ 9-3 Aero ที่มี การตอบสนองของแป้นเบรก
ตื้นเขินกว่าเล็กน้อย แต่ให้ความมั่นใจพอกัน ไม่ได้

 

 

***การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง***

เหมือนเดิม

เติมน้ำมันที่ปั้มน้ำมันแถวพระราม 6 จนเต็ม แค่หัวจ่ายตัด
นั่งกันสองคน (นายหลุยส์ ยังคงเป็นคู่บัดดี้ร่วมับผมตามเคย
เพราะว่า ทั้งคู่เมื่อรวมกันแล้ว น้ำหนักจะไม่เกิน 150 กิโลกรัม)

ขับด้วยความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ตลอดทาง
วิ่งขึ้นทางด่วนไปจนสุดเชียงราก แล้ววนกลับมาลงพระราม 6 ใหม่
กลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิม ระยะทางประมาณ
90 กิโลเมตร

แถมคราวนี้ เปิดครุยส์คอนโทรล แช่นิ่งๆที่ 110 กม./ชม.
มาตลอดทาง

9-5 Full Turbo ทำได้ดังต่อไปนี้

ระยะทางที่แล่นทั้งหมด 85.4 กิโลเมตร
น้ำมันที่เติมกลับ 7.097 ลิตร

เฉลี่ย สิ้นเปลืองระดับ 12.03 กิโลเมตร/ลิตร

ลองดูผลจากรุ่นก่อนๆ เทียบกันดูบ้างดีกว่า

————————-
ระยะทางที่แล่นไป 90 กิโลเมตรวัดจากมาตรวัดของ 9-5 Sedan

ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมเข้าไป

9-5 Sedan 2.3t = 6.688 ลิตร
9-5 Wagon 2.0t = 8.217 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

9-5 Sedan 2.3t = 13.456  กิโลเมตร/ลิตร
9-5 Wagon 2.0t = 10.952  กิโลเมตร/ ลิตร

น้ำมันที่ใช้ ออกเทน 95 นะครับ

 

 

**********สรุป**********

“ONE OF THE BEST FOR CRUISING below 4 MILLION BAHT”

“ซาบ 9000 เวอร์ชัน ปี 2004 + ความดุดันตามประสา
คุณลุงอารมณ์ร้อน”

สำหรับคนที่ไม่เคยลองซาบ…

ไปลองซะ! เขาเปิดโอกาสให้คุณลอง ไม่ซื้อไม่ว่า ขอแค่ว่าให้มาลอง! (เอากับเขาสิ!)

 
 

สำหรับคุณที่คิดจะซื้อ 9-5

ถ้าคุณจะต้องจ่ายเงิน 3,750,000 บาท
แลกกับซีดานที่เซ็ตมาให้เน้นการขับขี่สบายๆ
ที่ให้ความดุเดือดในการไต่ระดับความเร็วมากกว่าปกติ

คงต้องคิดดีๆว่า คุณ เป็นคนขับรถเร็ว แบบไหน?

ถ้าต้องการรถที่ไต่ความเร็วขึ้นไปในสภาพการจราจร
หลากหลายได้ดีกว่า และต้องการเน้นความนุ่มสบาย
ช่วงล่างเดิมๆ เข้าโค้งไว้ใจได้ สบายๆ

9-5 t (ตัว t เล็ก) แบบ LPT (Light Pressured Turbo)
ค่าตัวถูกกว่า น่าจะให้การตอบสนองที่ดีกว่า ในด้านเครื่องยนต์ เฉพาะช่วงออกตัวและเร่งแซงในช่วงสั้นๆ ไม่นานนัก

 

 
แต่ถ้าคิดว่า การทำความเร็วได้อย่างต่อเนื่อง
หนีภรรยาไปตีกอล์ฟบ่อยๆ
และไม่ต้องการให้ใครกวดไล่ตามทันได้ง่ายนัก

อีกทั้งต้องการช่วงล่างที่รองรับความแรงในระดับที่เพิ่มขึ้น
สูงมหาศาล ซึ่งผมก็ไม่อยากจะเชื่อเท่าไหร่นักหรอกว่า แรงบิดแค่ 31 กก.-ม.
(หึหึ) ด้วยแล้ว…..

9-5 Full Turbo
น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

 

และ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ ตอนนี้ ออโต้เทคนิค (ประเทศไทย) ยุิติบทบาท การทำตลาด ซาบในเมืองไทย ไำปแล้วราว 1-2 ปี

โอกาสที่เราจะได้เห็นซาบ กลับมาทำตลาดในไทย นับจากนี้ ช่างริบหรีั่เหลือเกิน

 

 

ขอขอบคุณ
พี่นพ LongHorn Said SO

บริษัท ออโต้เทคนิก (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับความเอื้อเฟื้อรถยนต์ทดสอบทั้ง 3 คันครับ

 

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.pantip.com ห้องรัชดา 15 พฤศจิกายน 2005

ดัดแปลงแก้ไข เพื่อนำมาเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com

15 มีนาคม 2009